ตามรอยพระพุทธบาท

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 2)
webmaster - 10/2/08 at 21:07

(Update 12 - 13 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 2

ปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค"

นักวิชาการมอง "บั้งไฟพญานาค" ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง


บั้งไฟพญานาคกำลังเป็นที่สนใจกันทั่วไป หลายคนสงสัยว่าเป็นของจริงตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งซึ่งมีมนุษย์บางคนทำขึ้น ในขณะที่บางคนยังเชื่อว่าอาจมีพญานาคจริงและสามารถสำแดงฤทธิ์ทำให้เกิดลูกไฟได้จริงตามตำนาน ความจริงจะเป็นอย่างไรยังไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน

บั้งไฟพญานาค นับเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ ในคืนวันออกพรรษา หรือ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ระหว่างเวลาประมาณ 19 น.ถึง 22 น. จะมีลูกไฟกลม โตประมาณลูกไข่หรือผลส้ม สีแดงชมพู (บ้างก็ว่าสีหมากสุก) ผุดขึ้นจากแม่น้ำโขงและลอยสูงขึ้น 20-30 เมตรในเวลา 2-3 วินาทีก่อนที่จะหายไปโดยไม่มีเสียงใดๆ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง บริเวณ อำเภอโพนพิสัย และ กิ่งอำเภอรัตนวาปี เป็นระทางยาวประมาณร้อยกิโลเมตร ตำแหน่งที่เกิดลูกไฟไม่เฉพาะที่ คือเปลี่ยนที่ไปมาหลายจุดที่ผู้ชมจะต้องหันมองไปมาอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ จึงมีประชาชนเดินทางไปชมปรากฏการณ์นี้เป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี

ผู้เขียนเองก็ทึ่งในปรากฏการณ์ดังกล่าว และมีโอกาสได้เดินทางไปชมมาครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือเป็นปรากฏการณ์ที่มุษย์สร้างขึ้น (เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง) และด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ในเชิงวิทยาศาสตร์

บังเอิญในปีที่ไปชมนั้น เกิดลูกไฟให้เห็นได้ไม่มากนัก เห็นได้เพียงประมาณ 10 ลูก รวมทั้งลูกที่เห็นได้ทันเป็นบางส่วน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสามารถถ่ายภาพได้ดีภาพหนึ่ง ความจริงได้เตรียมอุปกรณ์แยกแสง(เกรตติง) ที่จะแยกสเปกตรัมของแสงจากลูกไฟไปด้วย แต่ไม่สามารถเห็นสเปกตรัมได้เนื่องจากความเข้มของแสงต่ำกว่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าสามารถเห็นสเปกตรัมได้ก็จะทำให้ทราบว่าต้นกำเนิดของแสงเป็นธาตุอะไร

และอาจจะทราบทันทีว่าลูกไฟที่เป็นต้นกำเนิดแสงเป็นการเผาไหม้ของแก๊ส หรือวัตถุที่เป็นของแข็งประเภทพลุ สีของลูกไฟตามที่เห็น เป็นสีแบบเดียวกับสีจากหลอดสเปกตรัมของแก๊สไฮโดรเจนที่มีในห้องปฏิบัติการของโรงเรียน ต่างกันที่ความเข้มของแสง ซึ่งลูกไฟมีความเข้มน้อยกว่าย่อมทำให้เห็นเป็นสีแดงมากขึ้น

ผู้เขียนสรุปว่า บั้งไฟพญานาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และสามารถจะหาคำอธิบายปรากฏการณ์ตามหลักการของวิชาวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์และเคมีได้ค่อนข้างสมบูรณ์ เพียงแต่หากจะให้แน่ชัดคงต้องทำการทดลองเลียนแบบหรือตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การทำให้เกิดลูกไฟเช่นนั้นเพื่อเป็นการแสดง ทำได้ไม่ง่ายนัก เช่น

หากทำพลุ จะทำอย่างไรให้ยิงขึ้นโดยไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่นและไม่มีซากหลงเหลือ และมีความเข้มของแสงและสีแบบเดียวกันทุกลูก เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำขึ้น การทำให้เกิดขึ้นที่หลายจุดในแม่น้ำโขงเป็นระยะทางยาวไกลดังที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก





(คลิปวีดีโอ "บั้งไฟพญานาค")

อุบลราชธานี 15 ต.ค. - นอกจากบั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นจำนวนมากที่ จ.หนองคาย แล้ว
และที่ จ.อุบลราชธานี ก็มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเช่นกัน


ชาวอุบลราชธานีและนักท่องเที่ยวกว่า 40,000 คน เดินทางมาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และทุกคนก็ไม่ผิดหวัง เมื่อบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นลูกแรกเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. โดยลูกไฟสีแดงพุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขง

ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ และมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเป็นระยะ ชาวบ้านบอกว่า ปีนี้บั้งไฟพญานาคมีสีแดง ต่างจากปีที่ผ่านมา และรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นบั้งไฟพญานาคตามความตั้งใจ.

ที่มา - สำนักข่าวไทย



ข้อสมมติฐาน

จาก..ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล



(ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายได้โดยเปิดหน้ากล้องแบบ B ค้างไว้จากที่เริ่มเห็นประมาณ 4 วินาที เปิดหน้ากล้องกว้างสุดและฟิลม์ ASA 400 กล้อง Canon T60 lens 35-70 mm ใช้ที่ 35 mm ในภาพจะเห็นลูกไฟเป็นเส้น ไฟที่สว่างในแม่น้ำหลายจุดเป็นเรือไฟที่ลอยตามน้ำ)

บั้งไฟพญานาคอาจจะเป็นลูกไฟที่เกิดจากการติดไฟของแก๊สมีเธน (methane,สูตรเคมี CH4) ผสมกับแก๊สฟอสฟีนหรือไฮโดรเจนฟอสไฟด์ (phosphine,สูตรเคมี PH3 ) ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักของซากพืชและซากสัตว์ที่บ่อหลุมใต้น้ำ เมื่อแก๊สนี้รวมตัวกันเป็นก้อน ผุดขึ้นเหนือน้ำจะมีอากาศอยู่โดยรอบ แก๊สฟอสฟีนมีสมบัติที่สามารถติดไฟได้เองโดยการสลายตัวและมีปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน(นับเป็นการเผาไหม้) ซึ่งจะทำให้แก๊สมีเธนติดไฟไปด้วย

ข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่สังเกตได้อาจอธิบายจากสมมติฐานดังต่อไปนี้
ทำไมบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นจากน้ำเป็นดวงกลมขนาดเท่าๆกัน เริ่มเห็นได้เมื่อสูงกว่าผิวน้ำประมาณ 1-2 เมตรเป็นอย่างน้อยและลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว (ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 10 เมตรต่อวินาที) ขึ้นสูงประมาณ 20-30 เมตรก่อนที่ลูกไฟจะดับในขณะยังเคลื่อนที่


คำตอบคือ แก๊สผสมดังกล่าวแล้วเมื่อปุดจากใต้น้ำจากช่องที่ไม่โต จะมีขนาดเท่าๆกันโดยอัตโนมัติ คล้ายๆกับหยดน้ำยาหยอดตาที่หลุดจากหลอดที่หยอดตาซึ่งมีขนาดหยดประมาณเท่ากัน หากมีแก๊สมากก็อาจจะแบ่งเป็นสองสามลูกไล่ตามกันมาดังที่เห็นได้ในบางครั้ง แก๊สทั้งสองชนิดดังกล่าวไม่ละลายน้ำ

เมื่อหลุดจากผิวน้ำใหม่ๆ แก๊สยังคงรวมตัวกันเป็นก้อนทรงกลมเหมือนเมื่ออยู่ใต้ผิวน้ำ และคงความเร็วในการลอยขึ้นประมาณเท่าเดิม หรืออาจช้าลงเล็กน้อยในอากาศเนื่องจากแรงยกน้อยลง แรงยกในอากาศมาจากความหนาแน่นที่แตกต่างกันระหว่างแก๊สผสมกับอากาศ ซึ่งแก๊สผสมเบากว่าอากาศ (มีเทนเบากว่าอากาศประมาณครึ่งหนึ่งฟอสฟีนหนักกว่าอากาศเพียงเล็กน้อย)

ปฏิกิริยาระหว่างแก๊สฟอสฟีนกับอากาศ เกิดจากการที่แก๊สฟอสฟีนสลายตัวให้แก๊สไฮโดรเจนที่พร้อมจะรวมตัวกับอ๊อกซิเจนที่บริเวณผิวของทรงกลมแก๊ส พร้อมๆกับการเกิดความร้อนและการปล่อยแสงของอะตอม ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้แก๊สมีเธนสลายตัวและเกิดปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจนด้วย

สรุปคือเกิดการเผาไหม้ที่ผิวของทรงกลมที่สัมผัสอากาศ ผลผลิตของปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่เป็นไอน้ำธรรมดา การเรืองแสงที่มองเห็นด้วยตาจะมาจากแสงของอะตอมไฮโดรเจนเป็นหลัก ซึ่งจะให้แสงเป็นสีแดงปนชมพู (เป็นส่วนผสมของสเปกตรัมสีแดง น้ำเงิน และม่วง) ระยะ 1-2 เมตรนับว่าใช้เวลาสั้นมากก่อนที่จะเกิดแสงมีความเข้มที่เห็นได้

อัตราเร็วในการลอยขึ้นนั้นเป็นไปได้ เทียบกับการคำนวณตามหลักการทางวิชาฟิสิกส์ ลูกไฟดับไปก่อนหยุดแสดงว่าไม่ใช่การวัตถุที่หนักยิงหรือขว้างขึ้นไป ไม่มีเสียงใดๆเนื่องจากเป็นการปลดปล่อยแสงของอะตอมที่ผิวทรงกลมแก๊สซึ่งไม่รบกวนอากาศโดยรอบมาก แก๊สภายในทรงกลมยังไม่มีโอกาสพบอ๊อกซิเจนก็ยังไม่เกิดปฏิกิริยา

จึงเหมือนมีผนังไฟที่ผิวและอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ทรงกลมแก๊สรักษาตัวอยู่ได้หลายวินาที หากไม่มีแก๊สฟอสฟีน มีเฉพาะแก๊สมีเธน ผิวทรงกลมจะไม่ติดไฟ เราจะมองไม่เห็น ทรงกลมแก๊สอาจกระจายผสมกับอากาศเร็วขึ้น ลูกแก๊สเช่นนี้น่าจะขึ้นในช่วงกลางวันด้วย แต่แสงในช่วงกลางวันมีมากเราจะไม่สามารถเห็นลูกแก๊สได้

ขนาดของทรงกลมแก๊สที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร สามารถที่จะให้ความเร็วในการลอยตัวทั้งจากในน้ำและในอากาศที่อาจเป็นไปได้จากการคำนวณประมาณการทางวิชาฟิสิกส์ คำนึงถึงความต้านทานของน้ำและอากาศต่อการเคลื่อนที่ ซึ่งจะเป็นปฏิภาคกับความเร็วยกกำลังสองและความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้

ดังนั้นจึงน่าเป็นไปได้ที่ลูกไฟพญานาคในแม่น้ำโขงเกิดจากแก๊สที่ผ่านกระบวนการหมักตามธรรมชาติของซากพืชซากสัตว์ที่ไหลมากับน้ำช่วงฤดูฝน ผุดขึ้นพอดีในวันออกพรรษา

ต่อคำถามสำคัญที่ว่า ทำไมจะต้องผุดขึ้นเฉพาะวันออกพรรษา ไม่ผุดขึ้นในเดือนอื่นหรือวันอื่น มีเหตุผลสองประการประกอบกันที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้คือ

ประการแรก เดือน 11 อาจเป็นเดือนที่ระยะเวลาของการหมักพอดี คือเกิดแก๊สสะสมได้มากกว่าเดือนอื่น

และประการที่สองคือ วันขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ ของทุกเดือนเป็นวันที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน เป็นวันที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดและลงมากที่สุดในรอบวัน น้ำทะเลขึ้นและลงประจำวันมาจากอิทธิพลแรงดึงดูดของดวงจันทร์เป็นหลักและดวงอาทิตย์เป็นรอง ขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ เป็นวันที่อิทธิพลทั้งสองเสริมกัน ไม่เพียงเฉพาะทำให้น้ำขึ้นและลง ยังอาจทำให้เปลือกโลกบางแห่งขยับเผยอขึ้นหรือยุบลง

และประการหลังนี้ที่เป็นไปได้ว่า บริเวณใต้แม่น้ำโขงส่วนนั้นอาจมีการขยับตัว หรือมีการบีบให้แก๊สผุดขึ้นมากที่สุดในวัน 15 ค่ำ (อาจจะคลาดเคลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในแนวเดียวกันมากกว่า)

ข้อมูลต่างๆที่ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหนองคาย ได้รวบรวมไว้จากการศึกษาหลายปี ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่ง ไม่มีข้อใดขัดแย้งกับสมมุติฐานนี้ ข้อแตกต่างกับทฤษฎีของนายแพทย์มนัสอยู่ที่ในสมมุติฐานนี้เชื่อว่ามีแก๊สฟอสฟีนเกิดขึ้นด้วย ไม่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเปอรเซนต์ของอ๊อกซิเจนในอากาศและความชื้นในอากาศ และการให้เหตุผลเกี่ยวกับการเกิดในวันออกพรรษา

เรื่องพญานาคจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคิดว่า อาจมีพญานาคในคนละภพกับมนุษย์และสัตว์ คล้ายในภพของเทพหรือเทวดา ซึ่งไม่ยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ เป็นไปไม่ได้ที่พญานาคจะเป็นสัตว์โลกที่ต้องหายใจ ต้องการอาหาร คงไม่สามารถซ่อนตัวอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์เคยพบเห็น ความเชื่อแต่โบราณยังเป็นส่วนของวัฒนธรรมอันดีงาม เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ตามวัฒนธรรมนั้นได้

ส่วนความจริงตามธรรมชาติที่เข้าใจได้สมัยนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ยังคงเป็นที่น่าทึ่งและน่าสนใจแม้จะไม่มีพญานาคจริง หากพิสูจน์ได้ชัดเจนขึ้น น่าจะมีคำอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ น่าจะถูกใจนักท่องเที่ยว มากกว่าพยายามทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อว่ามีพญานาค ทางจังหวัดหนองคายน่าจะดูแลให้เห็นปรากฏการณ์ได้ดีขึ้น โดยการลดสิ่งรบกวนต่างๆ เช่นการจุดพลุ โคมไฟ ประทัด และการไหลเรือไฟที่จัดเวลาให้เหมาะสม

สมมุติฐานนี้อาจจะตรวจสอบได้โดยการเตรียมแก๊สฟอสฟีนและมีเธนขึ้นในห้องปฏิบัติการ ผสมกันด้วยอัตราผสมต่างๆ โดยไม่ให้สัมผัสอากาศ แล้วปล่อยขึ้นจากใต้น้ำเพื่อเลียนแบบ จากหนังสือ General Chemistry แก๊สฟอสฟีนอาจจะเตรียมจาก การต้มฟอสฟอรัสขาวในน้ำที่เป็นด่าง หรือการละลายน้ำของ calcium phosphide (Ca3P2) จะเกิดแก๊สฟอสฟีนขึ้น จะต้องให้แก๊สแทนที่น้ำ หนังสือบางเล่มอธิบายว่า แก๊สที่เกิดขึ้นจะมี แก๊สไดฟอสฟีน (H4P2)ผสมอยู่ด้วยเล็กน้อยเสมอและแก๊สนี้เป็นตัวที่ทำให้เริ่มติดไฟ

อีกประการหนึ่งอาจทำการสำรวจแบบธรณีวิทยาโครงสร้างดินและหินใต้แม่น้ำโขงด้วยระบบโซนาร์ (Sonar) เลือกใช้ความยาวคลื่นที่เหมาะสม อย่างน้อยจะทำให้ทราบสภาพว่ามีบ่อหรือแอ่งเป็นที่หมักเแก๊ส

ผู้เขียน รศ.ดร. วิจิตร เส็งหะพันธุ์ ฟิสิกส์ราชมงคล

มหัศจรรย์ระดับโลก การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจากงานวิจัยของ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2536-2541 พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น กับการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอากาศระดับชิดผิวโลก

จากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์,โลก, ดวงจันทร์ และพลังงานรังสีจากดวงอาทิตย์ และเมื่อดวงจันทร์,ดวงอาทิตย์ อยู่ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดส่วนประกอบอากาศใหม่ที่ผิวโลกที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟองแก๊สธรรมชาติที่มีขนาด และส่วนประกอบที่เหมาะสมผุดขึ้นแทบทุกวัน ลุกติดเป็นดวงไฟ ณ ตำแหน่งและเวลาเดิม ขณะโลกขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

โดยจะพบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม,เมษายน,พฤษภาคม รวม 1-3 วัน และฤดูหนาว กันยายน,ตุลาคม รวม 2-5 วันโดยวันที่พบจำนวนลูกไฟมากที่สุดคือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ แรม 1 ค่ำเดือน 11 สิ่งที่ทำให้หนองคายแตกต่างจากทุกแห่งในโลก

ที่มา - เว็บ rmutphysics.com



บั้งไฟพญานาคทางด้านวิทยาศาสตร์ (ต่อ)


เรื่องการเกิด”บั้งไฟพญานาค” ในทางวิยาศาสตร์ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลหนองคาย ได้เฝ้าติดตามศึกษาปรากฏการณ์การเกิดบั้งไฟพญานาคเป็นเวลา 4 ปี ได้ทดลองวิเคราห์การเกิดปรากฏการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์และได้อธิบายไว้อย่างละเอียด * สรุปคร่าวๆ ดังนี้ (พนิดา 2538 : 78-79)

“ บั้งไฟพญานาคน่าจะเป็นสสารและจะต้องมีมวล เพราะแหวกน้ำขึ้นมาได้ น่าจะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เองและจะต้องเบากว่าอากาศ โดยเงื่อนไขของสถานที่เกิดปรากฏการณ์จะต้องเป็นที่ที่มีแม่น้ำลึกประมาณ 4.55-13.40 เมตร หรือมีหล่มดินใต้น้ำเป็นที่หมักก๊าซ

ก๊าซดังกล่าวเชื่อว่ามีกำเนิดมาจากอินทรีย์วัตถุ เช่นมูลสัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ มีสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว หมักแล้วเกิด Bacteria Ferment ได้ก๊าซมากพอที่จะพลิกหรือเผยอหล่มโคลนใต้น้ำนั้นได้ โดยมีก๊าซที่ได้เป็นลูกๆ นั้น แต่ละลูกมีขนาด 200 ซีซี ซึ่งพอลอยจากระดับความลึก 20 ฟุต มาถึงระดับผิวน้ำขนาด 100-200 ซีซี จะขยายตัวเป็นฟองก๊าซขนาด 310 ซีซี

และเมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมาถึงระดับ 1-4 เมตร ก๊าซนั้นจะเหลือขนาดแค่ 100-200 ซีซี ซึ่งโตไม่เกินผลส้มก็จะเริ่มติดไฟได้ด้วยตนเอง คุณสมบัติดังกล่าวมีครบถ้วนในก๊าซร้อนที่มี มีเทนและไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ”

ที่มา - เว็บ thaifolk.com



พญานาค

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ลี้ปิยะชาติ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์


สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง เมื่อมีการกล่าวขานถึงเรื่องของบั้งไฟพญานาคว่าจริงหรือเท็จ เป็นเรื่องของธรรมชาติหรือคนทำขึ้น วันนี้รายการของเราก็จะนำเรื่องของพญานาคซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวอีสานแต่โบราณมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

คำว่า "พญานาค" เขียนได้สองแบบด้วยกันคือ "พญานาค" หรือ "พระยานาค" สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในความเชื่อของคนไทยมานานแสนนาน ไม่เฉพาะคนในภาคอีสานแต่ยังรวมไปถึงภาคต่างๆของประเทศไทยด้วย เวลาที่ท่านผู้ฟังไปเที่ยว หรือไปไหว้พระ ทำบุญที่วัดต่างๆ คงเคยเห็นบันไดที่เป็นรูปพญานาคกันมาบ้างใช่ไหมคะ

เรือที่ใช้ในขบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคก็มี "เรืออนันตนาคราช" ที่มีหัวเรือเป็นรูปพญานาคเด่นเป็นสง่าอยู่ ทับหลังของปราสาทหินพิมายที่มีชื่อเสียง แกะสลักหินเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์คือ พระยาอนันตนาคราชขดตัวให้พระนารายณ์นอน จะเห็นว่าเราพบเห็นรูปปูนปั้น หรือรูปสลักของพญานาคอยู่ทั่วไปในประเทศไทยเรา

สำหรับภาคอีสาน พญานาคมีความสำคัญมากและเป็นความเชื่อที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่ในธรรมเนียมประเพณีต่างๆของภาคอีสานมาช้านาน เช่นในงานบุญบั้งไฟ มักจะนิยมแต่งบั้งไฟเป็นรูปพญานาค ในการหล่อเทียนพรรษาซึ่งเป็นประเพณีของเทศกาลเข้าพรรษาก็ทำต้นเทียนเป็นลายพญานาค รวมถึงเทศกาลออกพรรษาที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำคัญของพญานาคที่มีอยู่ในความเชื่อของผู้คนชาวอีสาน

ใน ตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงเรื่องการทะเลาะกันของพระยานาค จนนำไปสู่การเกิดของแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือและอีสาน เรื่องมีดังนี้ค่ะ

ในสมัยก่อนมีพระยานาค 2 ตนชื่อว่า พระยาสุวรรณนาค และ พระยาสุทโธนาค พระยานาคสองตนนี้ทะเลาะกันจนมนุษย์และสัตว์เดือดร้อน พระยาแถน ซึ่งก็เป็นเทพเจ้าในความเชื่อของชาวอีสานเช่นกัน ได้บอกให้พระยานาคทั้งสองขุดแม่น้ำแข่งกัน ใครขุดออกทะเลก่อนถือว่าชนะ และจะส่งปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาให้

พระยาสุทโธนาคใจร้อน รีบขุดโดยเร็ว แต่ขุดอ้อมไปอ้อมมา จนมาถึงตอนใต้ของจังหวัดหนองคายเกิดหลงทิศ ขุดย้อนขึ้นไปทางเหนืออีกแล้วรีบวกกลับเมื่อรู้ว่าผิดทาง จึงทำให้เกิดบึงขนาดใหญ่เรียกว่า “บึงโขงหลง” เป็นชื่อ "อำเภอบึงโขงหลง" จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน

พระยาสุทโธนาคเกรงจะไม่ทันจึงเรียกเพื่อนมาช่วยอีกสองตนคือ พระยาชีวายนาค และ พระยาธนมูลนาค แม่น้ำที่พระยาชีวายนาคขุดกลายเป็น "แม่น้ำชี" ส่วนแม่น้ำที่พระยาธนมูลนาคขุดกลายเป็นแม่น้ำมูล มาพบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันไปพบกับพระยาสุทโธนาคที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดหนองคาย ผ่านประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามลงสู่ทะเล

เมื่อพระยาสุทโธนาคขุดถึงก่อนเช่นนี้ พระยาแถนจึงส่งปลาบึกมาอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้นตามสัญญา ส่วนพระยาพระยาชีวายนาคถือเป็นผู้ขุด แม่น้ำชี และพระยาธนมูลนาคกลายเป็นผู้ขุด แม่น้ำมูล ซึ่งแม่น้ำทั้งสามสายนี้ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน

ส่วนพระยาสุวรรณนาค คู่วิวาทของพระยาสุทโธนาคนั้นเป็นผู้ที่สุขุม ค่อยๆขุดเป็นแนวตรงลงมากลายเป็นแม่น้ำน่าน จากตำนานนี้ทำให้มีความเชื่อว่าแม่น้ำทั้งสองสายนี้ไม่ถูกกัน เนื่องจากผู้ขุดทะเลาะกัน มี่ความเชื่อว่าหากน้ำแม่น้ำน่านผสมกับแม่น้ำโขงจะทำให้แก้วแตกได้

ในตำนานนิทานพื้นบ้านของอีสานเรื่อง ผาแดงนางไอ่ ที่รู้จักกันทั่วไป ก็ยังมีพระยานาคมาเกี่ยวข้องด้วย จนดูเหมือนเป็นธรรมเนียมนิยม ที่จะต้องกล่าวถึงพระยานาคในแง่ของผู้ที่มีฤทธิ์เดช

ชาวหนองคายและชาวเวียงจันทน์ยังมีความเชื่อว่า พระยานาคเป็นผู้สร้างเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ ซึ่งปัจจุบันเป็นบางส่วนในจังหวัดหนองคาย
ท่านผู้ฟังคงจะพอเข้าใจได้ว่าพญานาคเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากในความเชื่อของชาวอีสานมาเป็นเวลานาน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวอีสานจะคิดว่าลูกไฟที่ลอยขึ้นมาจากน้ำนั้นเป็น "บั้งไฟพญานาค" ผู้มีความเกี่ยวข้องอยู่กับแม่น้ำ และโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เป็นหัวใจสำคัญของชาวอีสานมาช้านาน

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13 สกลนคร, จังหวัด – สุริวงศ์ : วรรณกรรมนิทาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรม ธาคารไทยพาณิชย์. 2542.

ที่มา - เว็บ uniserv.buu.ac.th (มหาวิทยาลัยบูรพา)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »