ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 9/3/11 at 11:01 Reply With Quote

*..New..* งานพิธีฉลองชัย ณ อาณาจักรรัตนโกสินทร์ วันที่ 23 พ.ค. 2542


ตอน "อาณาจักรศรีอยุธยา"



งานพิธีฉลองสมโภชครบรอบ ๑๐๐ ปี

พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒





(ชมคลิปวีดีโอได้ที่นี่)

สำหรับ งานพิธีฉลองชัย ณ กรุง ศรีอยุธยา ก็ได้เล่าผ่านไปแล้ว ต่อจากนี้ไปจะเล่าเรื่องการจัดงานเป็น ตอนที่ ๑ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ โดยมีคณะญาติโยมที่มาจากต่างจังหวัด ต่างก็ แยกย้ายกันเข้ามาพักค้างคืนในกรุงเทพฯ ส่วนที่ไม่สามารถจะมาร่วมงานได้ คง จะเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยจากวันงานที่อยุธยา แต่คงจะไม่เป็นไร เพราะผู้เขียนก็เห็นใจ จึง ขอเล่าถึงเหตุการณ์ต่อไปว่า...

หลังจากทุกคนเสร็จงานที่อยุธยาแล้ว ประมาณ ๒๐.๐๐ น.เศษ พวกเราต่างก็แยกย้ายกันกลับ โดยผู้จัดได้ย้ำก่อนเลิกงานว่า ขอให้ไปพบกันที่ วัดสระเกศ เวลา ๗ โมงเช้านะ เพราะได้ประสานงานกับผู้ที่จะมาเลี้ยงอาหาร ในตอนกลางวันไว้แล้ว ฉะนั้น คืนวันที่ ๒๒ จึงต้องเดินทาง ไปที่ วัดสระเกศ ทันที ระหว่างทางฝนตก ตั้งแต่อยุธยาถึงกรุงเทพฯ พอไปถึงวัดสระเกศ เวลาประมาณ ๓ ทุ่มกว่า ฝนก็ยังไม่หยุด พระเอกภพ (ต้า) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานอยู่ ที่นั่นบอกว่า ฝนตกตั้งแต่กลางวันแล้ว



(ภาพมุมบนที่มองลงไปเบื้องล่าง จะเห็นปะรำพิธีและเครื่องบายศรีบวงสรวงครบชุด)


ครั้นไปถึงบริเวณศาลาใหญ่ ก็เห็น คุณหมอนพพร - คุณหมอเตือนใจ พร้อม กับคณะผู้ร่วมงาน ๑๐ กว่าคน กำลังจัดทำบายศรีกันอยู่ ส่วนพวกเจ้าหน้าที่ของเรา ก็ไม่สามารถจะจัดสถานที่ได้ ต้องแยกย้ายกัน กลับไปพักผ่อนก่อน โดยนัดกันไว้ว่าจะมาจัด กันตั้งแต่เช้ามืดเลย คงเหลือแต่ คณะคุณ แย้ม และ คณะคุณอ้อย จากหาดใหญ่ พัก ค้างคืนกันที่วัดสระเกศ

พอถึงตอนเช้าประมาณตี ๕ ผู้จัด พร้อมคณะก็ออกเดินทางจากบ้าน เจ๊รัตนา (เจ้าของร่ม “ลีโอ”) พร้อมด้วยอาหารเช้า สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกคน เมื่อมาถึงวัดต่างก็ช่วย กันจัดโต๊ะบายศรี โต๊ะเลี้ยงอาหาร จัดเก้าอี้ใน เต้นท์ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ ส่วนพระที่ไปจากวัดด้วย ต่างก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ พร้อมทั้งตั้งเครื่องขยาย เสียง จนเสร็จเรียบร้อยก่อน ๗ โมงเช้า ตอนนี้ญาติโยมเริ่มทยอยกันเข้ามา โดยจอด รถไว้บริเวณรอบๆ ภูเขาทอง


หลวงพี่โอและผู้จัดก็มอบหนังสือที่ ระลึกให้กับผู้ที่มาทำบุญ ต่างก็เข้าแถวเพื่อ ถวายเงินเป็นทุนค่าทาสีพระเจดีย์ หรือที่ เรียกกันว่า “ภูเขาทอง” โดยมี คุณอัจฉรา (ต๋อย) พร้อมคณะช่วยกันจัดทำ พุ่มเงินพุ่ม ทอง อย่างสวยงาม ตั้งเป็นกองผ้าป่าสมทบอีก ด้วย โดยมีพวกเราเอาเงินเข้าไปปักไว้หลายคน


สำหรับจำนวนคนในวันนี้ ที่มองดูอาจ จะน้อยกว่างานอยุธยา ภายหลังทราบว่า บางคนเหน็ดเหนื่อยจนลุกไม่ขึ้น แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม ทุกคนที่มาต่างก็ยังมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยความปลื้มใจจากงานที่อยุธยา

แต่ละคนก็เข้ามาทักทายด้วยความมี อัธยาศัยที่อ่อนโยน ตามที่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อได้สั่งสอนไว้แล้วด้วยดี จริยามารยาท ที่งดงามอย่างนี้ พวกเราไปที่ไหน ก็สร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นทั้งหลาย นับ ว่าเป็นที่เชิดชูของวงศ์ตระกูล คือไม่ทำลาย ชื่อเสียงของครูบาอาจารย์นั่นเอง


บางแห่งถึงกับปรารภว่า อาจารย์ไม่อยู่เสียแล้ว แต่ลูกศิษย์ยังสามัคคีด้วยดี ดัง เช่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ท่านได้กล่าวชื่นชมพวกเรา ทุกคนที่วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตรว่า

“...อาตมาเห็นความเรียบร้อยของญาติโยม คือเงียบสงัดไม่จุ้นจ้านเหมือนวัดอื่นๆ คือญาติโยมไม่จ๊อกแจ๊กจอแจ ไม่ใช้เสียงรุน แรง ถ้าหากจะพูดก็พูดด้วยการกระซิบกระ ซาบ นี่น่าอนุโมทนาบุญของญาติโยมอย่างหนึ่งว่าญาติโยมฝึกมาดี หรือได้รับการแนะนำ สั่งสอนมาดีแล้ว

และอีกอันหนึ่งมาโมทนาบารมีของหลวงพ่อ ที่สั่งสอนบรรดาศิษยานุศิษย์ให้ เป็นผู้เรียบร้อยหนักแน่นในธรม หรือประ พฤติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งผิดกับศาลาอื่น หรือ ที่อื่นไม่ว่าที่ไหนหมด ถ้ามาถึงก็คุยกัน คน โน้นทักคนนี้ คนนี้ทักคนนั้น แทบจะไม่รู้ เรื่อง พระเทศน์ก็ไม่ฟัง นี่ถือว่าเป็นบุญบารมีของญาติโยม ที่ ได้ฝึกมาดีอย่างหนึ่ง และเป็นบุญบารมีของ หลวงพ่อ ที่มีบารมีแผ่มาถึงบรรดาศิษยานุศิษย์ และลูกๆ ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ...”

จึงเป็นอันว่า เมื่อมาถึงสมัยนี้ ผู้เขียน จึงไม่รู้สึกหนักใจ เพราะคนที่ไปร่วมงานทุกคน รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าว ก่ายซึ่งกันและกัน รักษาเวลานัดได้เป็นอย่างดี รู้จักเวลาควรหรือไม่ หรือจะพูดจะทำกับบุคคล อื่น ก็รู้จักกาลเทศะ ไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ


รวมความว่า ทุกคนเป็นคนดี โดย เฉพาะในวันนี้ ส่วนใหญ่แต่งกายเข้ากับยุค สมัยปัจจุบัน นั่นก็คือทุกคนอยู่ในเครื่องแต่งกายยุค “รัตนโกสิทนร์” ผู้หญิงก็อยู่ในชุดไทยหลายหลากสี ผู้ชายก็แต่งชุดราชปะแตน กันหลายคน ต่างก็เดินทักทายซึ่งกันและกัน ครั้นได้เวลาอันสมควรแล้ว คือมีบาง คนยังไม่ทานอาหารเช้า ก็ได้ข้าวต้มกับขนมปัง และกาแฟ ที่เจ๊รัตนานำมาเลี้ยง ก็คงจะประทัง ความหิวกันไปก่อน เพราะเราเตรียมกันเฉพาะ อาหารกลางวันเท่านั้น

หลังจากทุกคนนั่งอยู่ในปะรำพิธีบ้าง นั่งอยู่ด้างข้าง พระวิหารพระอัฏฐารส บ้าง ภายในบริเวณวัดสระเกศแล้ว โดยมีโต๊ะบาย ศรีเป็นประธานอยู่ข้างหน้า พร้อมด้วยโต๊ะ หมู่บูชาอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของ พระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๙ โดยเจ๊จาก “ไทยเส็งยนต์” และ เจ๊รัตนา เป็นผู้ให้ยืมมากระทำพิธีในครั้งนี้

<

ทั้งนี้โดยมีตราสัญลักษณ์ เฉลิมพระ ชนมพรรษาครบ ๖ รอบ และตราพระปรมา ภิไทย่อ ภ.ป.ร. มีอักษร “ทรงพระเจริญ” ตั้งอยู่สองข้างโต๊ะบวงสรวง โดยมี ธงชาติ ธงธรรมจักร พร้อมทั้ง ธงพระบรมราชจักรีวงศ์ ภายใต้ฉัตรสีทองและฉัตรสี่ทิศของท้าวมหาราช

เมื่อเครื่องสักการบูชาครบถ้วน ทั้ง การสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ และพิธีถวาย ราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยที่ทุกคนนั่งอยู่ในความสงบ ท่ามกลาง บรรยากาศในยามเช้าของ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒

ผู้ร่วมพิธีสามารถมองเห็นเครื่องพิธี ที่อยู่ด้านหน้าของตนเอง และถ้าแหงนมอง ขึ้นไปเบื้องบน จะเห็นภาพ ภูเขาทอง ตั้ง ตระหง่านสูงเด่นเป็นสง่า ซึ่งอยู่ใจกลางของ เมืองหลวง แลดูน่าเลื่อมใส เพราะเพิ่งจะทาสี ใหม่ได้สวยงาม จากนั้นผู้จัดจึงเริ่มอารัมภบทว่า


“ภูเขาทอง” ที่เพิ่งจะทาสีใหม่

เรื่องการจัดงานพิธี ณ ภูเขาทอง วัดสระเกศ อันเป็นภาคสุดท้ายของประเทศ ซึ่ง ได้จัดงานย้อนยุคมาตั้งแต่อดีต นับตั้งแต่สมัยโยนกเชียงแสน และ สุโขทัย เรื่อยมาจนถึง สมัย อยุธยา ก็จะได้ครบถ้วนจนถึงยุคปัจจุบัน นี้คือ กรุงรัตนโกสินทร์

ตามกำหนดงานที่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ รอเวลาที่จะมาถึงปี ๒๕๔๒ เดิมทีก็ไม่รู้จะประสานงานกับทางวัดสระเกศอย่างไรดี เพราะเป็นวัดที่พระผู้ใหญ่อาศัยอยู่ ตัวเราเองก็เป็นพระเด็ก ๆ จึงมีความกังวลว่าใกล้เวลาที่จะจัดงานแล้วเราจะทำอย่างไรดี

จนกระทั่งวันที่ ๕ ม.ค. ๒๕๔๒ ท่านพระครูปลัดอนันต์ ได้มอบหมายให้นำทองคำมาสกัดให้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะเตรียมหล่อพระ พุทธรูป สมเด็จองค์ปฐม ทองคำ จึงได้มา แวะที่บ้านสายลม ในระหว่างที่ท่านมาสอน พระกรรมฐาน แต่ยังไม่ถึงคิวของผู้เขียน

ในตอนบ่าย จึงนัดกับคณะเจ้าหน้าที่พร้อมบอกว่าจะไปดูสถานที่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็ให้ไปดูมาบ้างแล้ว ทั้งนี้ใกล้จะถึงกำหนดงานแล้ว เราควรจะไปดูด้วยตนเองบ้าง ระหว่างที่เดินทางผ่าน วัดเบญจมบพิตร นั้น มองเห็นนั่งร้านตั้งอยู่รายรอบพระวิหาร จึงบอกให้แวะเข้าไปทำบุญ เพื่อร่วมบูรณะพระวิหารด้วย

ต่อจากนั้นก็ออกเดินทางต่อไป จนกระทั้งรถเลี้ยวเข้ามาในบริเวณวัดสระเกศ เห็นมีรถตู้เลี้ยวตามหลังเข้ามาด้วย ๑ คัน แต่ก็ ไม่ทราบว่าเป็นใคร ในระหว่างที่พวกเรากำลัง ลงจากรถ เพื่อจะเดินขึ้นไปบนภูเขาทอง

ขณะนั้นก็ได้ยินเสียงร้องเรียก เมื่อเหลียวหลังมาดูก็เห็นเป็น อ.ประยงค์ กำลังก้าวลงจากรถเหมือนกัน ทั้งนี้ มาพบกันโดยบังเอิญ จึงได้ทราบว่า หลวงพ่อสมเด็จฯ นัดให้มารับของที่จะไปแจกเด็กนักเรียนที่ อ.ประยงค์สอนอยู่ ซึ่งท่านเคยบอกให้มารับเป็นประจำ

เมื่อทราบความมุ่งหมายของอาจารย์แล้วแกก็ถามว่า แล้วหลวงพี่มาที่นี่ทำไมล่ะ ความจริงคิดจะปิดบังเรื่องที่จะจัดงานที่นี่ในเดือนพฤษภาคม จึงได้บอกโยมไปว่า จะมาชมบริเวณเท่านั้น อ.ประยงค์ จึงบอกว่า วันนี้หลวงพ่อสมเด็จอยู่ จะเข้าไปพบท่านไหมล่ะ

เมื่อผู้เขียนได้ยินเท่านั้น ก็รู้สึกอึ้งทันที เพราะตั้งใจแค่มาดูสถานที่เพียงลาดเลาเท่านั้น ในใจคิดว่าไว้คอยหาโอกาสมากราบเรียน ให้ท่านทราบภายหลัง จะเป็นช่วงที่ท่านไปวัด ท่าซุงใน งานประจำปี เดือนมีนาคม ๒๕๔๒ ก็ได้ จึงได้ตอบปฏิเสธไป

แล้วก็แยกกันไปคนละทาง คือคณะผู้เขียนก็ไปดูที่จอดรถ สถานที่ตั้งบายศรี สถานที่เลี้ยงอาหาร เป็นต้น จนกระทั่งเวลาผ่านไปสัก ครู่หนึ่ง อ.ประยงค์ ก็เดินออกมาจากกุฏิหลวงพ่อสมเด็จฯ พร้อมกับชวนผู้เขียนอีกครั้งหนึ่งว่าจะเข้าไปกราบหลวงพ่อสมเด็จไหมล่ะ

ผู้เขียนเห็นว่าคงจะโอกาสมาถึงแล้ว และคงจะเป็นไปตามที่อธิษฐานก่อนนานแล้ว ว่า เมื่อถึงเวลาขอให้ดำเนินงานได้โดยสะดวก คิดว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ สุวรรณบรรพตหรือที่เรียกว่า “ภูเขาทอง” นั่นเอง พวกเราจึงได้มีโอกาสเข้าไปกราบหลวงพ่อสมเด็จฯ ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจหรือนัดกับท่านไว้ก่อนเลย และเป็นการประจวบเหมาะทุกอย่าง

เมื่อเข้าไปในศาลาที่ท่านพำนักอยู่ ก็มีท่านเจ้าคุณเทพฯ (เลขาหลวงพ่อสมเด็จฯ) ท่านเจ้าคุณ สุวรรณฯ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภูเขาทองอยู่พอดีนับว่าพอเหมาะพอดีเหลือเกิน จึงได้กราบเรียนท่านถึงการจัดงานทั้งหมด แล้วได้กราบอาราธนาท่าน พร้อมทั้งพระเถรานุเถระภายในวัดอีกรวม ๙ รูป เพื่อรับผ้าป่าในวันนั้นด้วย


ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นจังหวะที่ผู้จัดได้มาบ้านสายลมกับท่านเจ้าอาวาส จึงได้มาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง มองขึ้นไปข้างบน แทบตกตะลึง เห็นนั่งร้านตั้งอยู่รายรอบภูเขาทอง ภาพอย่างนี้มิใช่ได้เห็นกันง่าย ๆ นับตั้งแต่ภาคเหนือ พระวิหารครอบพระพุทธบาท ๔ รอย, ภาคใต้ที่ พระธาตุนครศรีธรรมราช, ภาคอีสานที่ พระธาตุพนม, และภาคกลางที่ พระพุทธบาทสระบุรี มาแล้ว

ภาพเหล่านี้ ยังติดตรึงใจไม่เลือนหายไปจากใจ เพราะภาพ ลักษณะที่เห็นนี้ เป็นการบอกว่าทางวัดกำลัง จะบูรณปฏิสังขรณ์ จึงหาโอกาสยากมากที่จะได้สร้างมหากุศลเช่นนี้ เพราะเป็นเวลาหลายปีจึงจะมีสัก ครั้ง บางครั้งเกิดมาในชีวิตหนึ่ง อาจจะไม่พบโอกาสเช่นนี้ เวลานี้ก็ได้พบการบูรณะแทบทุกภาคของประเทศ

เมื่อเห็นโอกาสดีเช่นนั้น ผู้เขียนจึง ได้กราบเรียนหลวงพ่อสมเด็จฯ และท่านเจ้า คุณสุวรรณฯ ว่าผ้าป่าที่จะทอดในวันนั้น จะได้ เงินเท่าไรก็ตาม ขอมีส่วนร่วมในการทาสีใหม่ ด้วย ซึ่งทางวัดจัดซ่อมแซมครั้งนี้ เพื่อน้อม ถวายพระราชกุศลเนื่องในวาระครบ ๗๒ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

ฉะนั้น พวกเรารู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่การประสานงานกับทางวัดสระเกศ ได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยลงตัวทุกประการ หลวงพ่อสมเด็จฯ ก็ได้ประทานคำแนะนำหลายอย่าง โดยมี พระเอกพล ซึ่งเคยรู้จักกันที่วัดท่าซุง เพิ่งมาบวชอยู่ที่วัดสระเกศ คอยช่วยอำนวย ความสะดวกให้ ทั้งนี้ก็มี ตุ๊ก กับ ทิพย์ คอยประสานกับพระที่วัดนี้ด้วย ส่วนเรื่องอาหารการกินก็มีการเตรียมไว้พร้อม โดยมีผู้รับเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงดังนี้

๑. คณะคุณเล็ก, คุณพลอย, คุณต้อย (การบินไทย) เลี้ยงข้าวหน้าไก่ ๕๐๐ ที่
๒. ครอบครัวทองแท้ มีพี่เขยและ พี่สาวของ คุณซ้ง และ คุณปุ้ย เลี้ยงข้าว ขาหมู และกระเพาะปลา ๑,๐๐๐ ที่
๓. คุณอธิก เป็นเจ้าภาพข้าวราดแกง ๕๐๐ ที่ โดยมีพิเชษฐ์และอ้อยเป็นผู้จัดทำ
๔. พระอาจารย์สุรพงษ์ และ คุณท้ง นำฝรั่งมาจากสระบุรี ๑๐ เข่ง และข้าว ต้มมัดอีก ๕๐๐ อันมาเลี้ยง

๕. เจ๊รัตนา (เจ้าของร่มลีโอ) เลี้ยง ข้าวแกง ๒,๐๐๐ ที่ พร้อมน้ำดื่มอีก ๑๐,๐๐๐ ขวด (ตอนเช้าก็นำข้าวต้มและกาแฟขนมปัง มาเลี้ยงก่อนแล้ว)
๖. คุณหมู คุณอรทัย คุณวิชัย พร้อม กับคณะ ได้นำไอสครีมมาเลี้ยง ๕ ถัง
๗. บริษัท ศรีเจริญเทปลูกไม้ โดย คุณโกวิท คุณกิตติมา พฤกษาชื่น เลี้ยงน้ำเก็กฮวยและน้ำเปล่า
๘. "คณะทิพย์ฉับพลัน" และตุ๊ก นำ กระเพาะปลามาเลี้ยงจากร้านที่มีชื่อเสียง


รวมความว่า ทุกคณะได้นำอาหารมา จัดเลี้ยงกันอย่างเต็มที่ ทำให้บริเวณที่จอด รถด้านหน้าวัด จึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ร้านอาหารอยู่เรียงรายเป็นทิวแถว มีเสียง เรียกเสียงบอกเชิญชวนกัน อาหารที่นำมาจัดเลี้ยงนี้ ส่วนใหญ่จะ เป็นมืออาชีพทั้งนั้น ทราบว่าเป็นที่เอร็ดอร่อย มาก เจ้าภาพทุกคณะจึงได้บุญทุกอย่าง คือ ได้ทำทานกับญาติโยม และได้ทำบุญกับพระ ภิกษุสามเณรหลายสิบรูปด้วยกัน

รวมความว่า งานนี้มีผู้ร่วมงานมาก มาย อาจจะกล่าวตกบกพร่องไปบ้าง ต้อง ขออภัยด้วย แต่ขอให้ช่วยกันต่อไปนะ ส่วน การจัดสถานที่ก็เป็นทีมงานของผู้เขียน คณะจเร รับหน้าที่จัดรถในบริเวณวัด คณะถาวร และ คณะรวมใจภักดิ์ ช่วยจัดรถ เป็นต้น

เมื่อได้กล่าวถึงผู้ร่วมงานแล้ว ก่อน ที่จะเล่าเหตุการณ์ในวันงานต่อไป จะขอเล่า ย้อนก่อนงานอีกสักเล็กน้อย นั่นก็คือเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ผู้เขียนได้มาที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประสานงานกับ ท่าน เจ้าคุณสุวรรณฯ แล้วท่านได้บอกว่า บริเวณนี้มี "หมุด" เป็นเครื่องหมาย คือเป็นศูนย์กลางของประ เทศด้วย พวกเราได้ฟังแล้วรู้สึกดีใจ ที่เลือก สถานที่ประกอบพิธีเรื่องบ้านเมืองได้ตรงเป้าโดยบังเอิญ

พอดีวันนั้น คุณหมอนพพร กับ คุณหมอเตือนใจ ตามมาด้วยจากบ้านสายลม จึง รับเป็นผู้จัดทำบายศรีให้ด้วย ส่วนหนังสือที่จะพิมพ์แจกเป็นที่ระลึก อ.ศรีลักษณ์ (หมู) ก็รับเป็นผู้จัดทำให้ พิมพ์เสร็จแล้วก็ได้นำมาส่งให้ถึงวัดสระเกศ

สำหรับตาลปัตรและย่าม ก็มี คุณชาญ วิทย์ - คุณลักษมี (แมว) พร้อมด้วย คุณหลี และ คุณก๊วยเจ๋ง (คณะลูกหลวงพ่อสัมพเกษี) เป็นผู้ดำเนินการทุกอย่าง จนกระทั่งเสร็จครบ ถ้วนแล้ว การเริ่มงานก็มีขึ้นทันที ต่อผู้ที่นั่ง รอคอยอยู่ โดยผู้จัดได้เริ่มอารัมภบทว่า...

“สำหรับการจัดงาน ณ สถานที่นี้ นับ ว่าเป็นการจัดงานพิธีเป็นสถานที่สุดท้าย ตาม ที่ลำดับมาให้ทราบตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่า นับตั้งแต่ ปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา นับเป็นเวลาหลายปี กว่าที่จะเดินทางตามรอยพระพุทธบาท และพระ บรมธาตุเจดีย์ ให้ครบทุกภาคของประเทศ

และเพื่อเป็นการกราบไหว้บรรพบุรุษ ทั่วราชอาณาจักรไทย ที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต นับตั้งแต่ยุค อาณาจักรเชียงแสน หริภุญชัย สุโขทัย อยุธยา ลงมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ ณ “อาณาจักรรัตนโกสินทร์” จึงได้เลือกสถานที่ สำคัญในเมืองหลวง และเป็น “เซ็นเตอร์” คือจุดศูนย์กลางของประเทศตามหลักภูมิศาสตร์ นั่นก็คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แห่งนี้

ก่อนอื่นต้องขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบว่า การจัดงานทุกครั้งในแต่ละภาคของประเทศ จนมาถึงใจกลางเมืองหลวงนี้ ได้วางกำหนดการ ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อมาถึงปีนี้เราจะมาทำ พิธี ณ สถานที่แห่งนี้กัน เพราะมีสิ่งที่สำคัญ และบุคคลสำคัญ พร้อมอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้มานานแล้ว โดย กำหนดวันเดือนปีไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ ๗ ปีก่อนว่า จะมาทำพิธี ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่ทราบว่าจะตรงกับวันอะไร

ครั้นเมื่อปฏิทินพิมพ์ออกมาแล้ว ปรากฏว่าตรงกับ วันอาทิตย์ พอดี นับว่าเป็นโอกาสดี ที่คนสามารถเดินทางมาร่วมงานได้โดยสะดวก งานครั้งนี้ จึงถือเป็นการปิดท้ายงานตามรอย พระพุทธบาทไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ด้วย จึงเรียก ว่า งานฉลองสมโภช เป็นการเดินทางมากราบ ไหว้พระบรมธาตุที่สำคัญแห่งนี้ และจะกราบไหว้ บูรพมหากษัตริย์ไทยในอาณาจักรนี้เป็นที่สุดท้าย

อาตมาจึงขอขอบคุณและอนุโมทนาทุก ท่าน ที่ได้เดินทางมาร่วมงานกันโดยตลอด ถึง แม้จะไม่ครบทุกภาคก็ไม่เป็นไร เพราะงานนี้เป็น งานเฉพาะกิจ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็ถือว่าหมด หน้าที่ในภาระที่มีอยู่ แล้วจะมีหน้าที่อะไร ก็จะ ทำไปตามที่พอจะทำได้ต่อไป (ขณะที่เรียบเรียงนี้ ปรากฏว่าต้องไปสร้างพระที่ศรีสัชนาลัยอีก ๓ ปี)

ประวัติพระบรมบรรพต




(ภาพเก่าแก่ “ภูเขาทอง” สมัยรัชกาลที่ ๕)

เป็นอันว่า ทุกท่านคงจะอยากทราบว่า ทำไมจึงได้เลือกเอาวันนี้มาจัดงานพิธี ณ สถานที่นี้ วันนี้เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนโน้น มีความสำคัญอย่างไร อาตมาจะขอนำเรื่องราวความเป็นมาในอดีต จาก หนังสือ ประวัติของวัดสระเกศฯ โดยท่านเจ้า ประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เรียบเรียงไว้ว่า

วัดสระเกศนี้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” ส่วนมูลเหตุที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรง พระราชทานเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสระเกศ” นี้มีว่า เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร พระองค์ได้ทรงสระเกศา คืออาบน้ำแต่งตัวที่นี่ สระน้ำนั้นโปรดให้ถม แล้วสร้างวิหารให้เป็นที่อยู่ของพระราชาคณะบัดนี้



สภาพเจดีย์ “ภูเขาทอง” เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ (ปี ๒๔๐๘)

ส่วน พระบรมบรรพต หรือภูเขาทองนี้ ก็มีประวัติอันยาวนาน โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ แล้วมาสำเร็จใน รัชกาลที่ ๕ นับเป็นเวลาสร้างถึง ๓ รัชกาลทีเดียว ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกได้บรรจุเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุไว้ในพระ เจดีย์ใหญ่

ส่วนครั้งที่ ๒ อันเป็นครั้งสำคัญ ที่ พวกเรามุ่งหวังนั้น มีเรื่องเล่าในหนังสือ จดหมายเหตุเรื่อง “พระบรมสารีริกธาตุเมืองกบิลพัสดุ์” ซึ่งได้พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) เมื่อปี ๒๕๐๘ จะขอนำมากล่าวโดยย่อว่า...


“เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ นายวิลเลียม แคลคัสตัน เปปเป นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ทำการสำรวจวัดโบราณบริเวณ หมู่บ้านปิปราห์วะ เมืองบาสติ ใกล้ชายแดน ประเทศเนปาล คือกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วได้ขุดพบผอบพระบรมธาตุภายในพระสถูปเก่า ที่ฝาผอบมีคำจารึกของ “ชาวศากยะ”


ส่วนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดค้นพบที่สถูปโบราณ ณ หมู่บ้านปิปราห์วะ เมืองบาสติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ (ค.ศ.๑๙๗๒) เป็นการพบครั้งที่ ๒ พระบรมสารีริกธาตุนี้มีลักษณะเป็นกระดูกเผาไฟ นักโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียร และรัฐบาลอินเดียให้อัญเชิญมา ๔ องค์ เพื่อประดิษฐาน ณ พระวิหารพุทธมณฑล เป็นการร่วมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงนิวเดลี

ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่มีคำจารึก รัฐบาลอินเดียขุดค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ พร้อมกับสิ่งของมีค่ามากมาย ซึ่งบรรจุรวมอยู่ในหีบศิลา ได้ฝังอยู่ภายในพระสถูป หมู่บ้านปิปราห์วะ เมืองบาสติ คำจารึกใช้ตัว “อักษรพราหมี” พุทธศตวรรษที่ ๒-๔ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า...

“นี้ที่บรรจุพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของศากยราชสุกิติ กับพี่น้องผู้ชาย พร้อม ทั้งพี่น้องผู้หญิง ลูกและเมีย สร้างขึ้นอุทิศ ถวายไว้”

ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงคิดว่า พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบได้นี้ ทางกรุงกบิลพัสดุ์คงจะได้รับส่วนแบ่งจาก โทณพราหมณ์ หลังจาก ถวายพระเพลิงแล้ว ตามที่ได้เล่าไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ พระแท่นดงรัง ว่ากษัตริย์ทั้ง ๘ เมืองต่างก็ยกทัพมาเพื่อขอแบ่งปันพระบรมธาตุ

หีบศิลาบรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุ


หีบศิลาบรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุ พร้อม ด้วยเครื่องพุทธบูชา ที่ขุดค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑


ในคราวนั้น ก็มี เจ้าศากยราช มาขอรับพระบรมธาตุด้วย อาตมาก็ได้ทิ้งปริศนาไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๓๙ ว่าเมื่อถึงปี ๒๕๔๒ ก็จะเฉลยว่า พระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้น บัดนี้ได้มาประดิษ ฐานอยู่ที่ไหนของประเทศไทย

จะขอเล่าต่อไปว่า เมื่อขุดพบผอบพระ บรมธาตุแล้ว เวลานั้น นายมาควิส เคอร์ซัน ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการประจำประเทศ อินเดีย แต่ก่อนเคยอยู่กรุงเทพฯ มีความคุ้นเคย กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้วยเห็นว่ามีแต่พระมหากษัตริย์ไทย พระองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในโลกปัจจุบันนี้ คือมีแต่ ราชอาณาจักรไทย เท่านั้น ที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง สมควรที่พระบรมสารีริกธาตุนั้น จะได้ประดิษฐาน ให้ชาวสยามได้กราบไหว้บูชา จึงทำหนังสือขอทูลเกล้าถวายพระบรมสารีริกธาตุนี้แด่พระองค์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งต่อมาได้เป็น เจ้าพระยายมราช เดินทางไป อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยทางเรือ เมื่อ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๔๑ แล้วเดินทางกลับ มาทางภาคใต้

ขณะที่ผ่านมาทาง จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา ก็ได้มีพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก พากันมารอรับ พร้อมทั้งจัดขบวนอัญเชิญพระบรมธาตุแห่แหนเข้าสู่ตัวเมือง เพื่อให้ชาวใต้ได้ สักการบูชากันโดยทั่วหน้า

.........ต่อจากนั้นจึงได้อัญเชิญลงเรือออกจาก เมืองสงขลา มาถึงปากน้ำสมุทรปราการ ในวันที่ ๑๕ มีนาคม โดยสวัสดิภาพ ในตอนนี้ ตามข้อ เขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ว่า ในขณะที่เรือมาถึงปากน้ำ พระบรมสารีริกธาตุ ได้แสดงปาฏิหาริย์ คือเปล่งรัศมีสว่างไสวในห้องเคบินในเรือ ต่อหน้า เจ้าพระยายมราช และ ข้าราชบริพารหลายคน

ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์ไปดูถึงความเชื่อ อันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ต่างก็มีเสียงร่ำลือกันว่า....
“ถ้าไม่ใช่พระสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจริงแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงจะไม่โปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญมาคง เป็นพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจริงๆ เป็นศิริสวัสดิ์แก่บ้านเมืองเรา...“

นี้เป็นเสียงราษฎรในเวลานั้นพูดกันอยู่ดังนี้ ครั้นได้จัดงานฉลองสมโภชที่เกาะสมุทร เจดีย์แล้ว บัดนี้ ถึงสมัยที่เป็นศุภฤกษ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดการที่จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์ที่บรมบรรพต วัดสระเกศ ใน วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒ เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสียก่อน จึงทรงโปรดให้ สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา เสด็จมาบรรจุพระบรมธาตุแทนพระองค์ พร้อมทั้งมีคำจารึกไว้ว่า

“เพราะมีอักษรจารึกบอกไว้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐเอกอัครศาสนูปถัมภก เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ ณ ประเทศนี้ จึงทรง บรรจุไว้ในพระมหาสถูปนามว่า “บรมบรรพต” ที่เรียกกันว่า “ภูเขาทอง” อันตั้งอยู่ที่บริเวณแห่ง วัดสระเกศ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ราชธานี ใน สยามประเทศนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำการ ฉลองพระธาตุ อุทิศถึงพระผู้มีพระภาคองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว สำเร็จด้วย เครื่องสักการะอันใหญ่หลวง และทำการฉลอง สมโภช ด้วยการละเล่นของสาธุชน ทรงบรรจุ พระสารีริกธาตุนี้ตามที่ทรงได้มาไว้ ณ ที่นี้ เมื่อ ปี ๒๔๔๒ แต่พุทธปรินิพพาน”

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม เวลาเช้าถวาย ภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เวลาบ่ายตั้งบายศรี เวียน เทียนสมโภชเหมือนเมื่อวานอีกเวลาหนึ่ง และในเวลาค่ำวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากสวนดุสิต เสด็จพระราชดำเนินมาที่บรมบรรพตด้วย การมหรสพสมโภชครั้งนั้น มีการแสดงโขนและงิ้ว เป็นต้น แล้วจุดดอกไม้เพลิงตามธรรมเนียม

จากกิตติศัพท์การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่ประเทศไทย ได้เลื่องลือไปในหมู่ ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ครั้งนั้น องค์กรพุทธศาสนิกชนจากประเทศญี่ปุ่น พม่า ลังกา และไซบีเรีย ต่างก็กราบบังคมทูลขอพระราชทาน แห่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน ณ ประเทศของตน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรี และยังให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปสู่นานาประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ทุกๆ ประเทศ




ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ คืออีก ๗๕ ปีต่อมา ก็ได้ขุดพบพระบรมธาตุลึกลงไปจากที่ขุดไว้เดิมอีก มีอักษรจารึกไว้ว่า...
“ที่นี่เป็นวัดของภิกษุแห่งกรุงกบิลพัสดุ์” จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีที่ เมืองปิปราห์วะ คือที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์

สำหรับพระบรมธาตุที่ขุดพบใหม่นี้ ทางรัฐบาลไทยได้อัญเชิญมาชั่วคราว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้กราบไหว้บูชา ณ พุทธมณฑล เพื่อเป็นมิ่งมหามงคลในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในขณะอัญเชิญมาใน วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ ฝนได้ตกลงมาทั่วบริเวณพุทธมณฑลนั้น

เป็นอันว่า สถานที่นี้เป็นที่สำคัญดังที่กล่าว แล้ว และเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราคณะศิษย์ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เป็นประธาน (เดิมท่านจะเดินทางมาด้วย แต่มีเหตุต้องผ่าตัดที่ถุงน้ำดี พอดี) จะได้จัดงานพิธีฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุของชาวศากยะ เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญมาจากกรุงกบิลพัสดุ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี

ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ชาวเมืองกบิลพัสดุ์เป็น “ไทยอาหม” ผลที่สุดสมบัติของคนไทย ก็จะต้องกลับมาอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ณ อาณาจักรสยามประเทศ นี้อีกครั้งหนึ่ง

ณ โอกาสนี้ ตามที่ทางวัดสระเกศ อันมีท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ และท่านเจ้าคุณสุวรรณเจติยาภิบาล ได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์ด้วยการทาสีใหม่ พวกเราเหล่าคณะศิษยานุศิษย์วัดท่าซุง และวัดต่างๆ ที่ได้เป็นตัวแทนจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขอเป็นเจ้าภาพในการทาสีใหม่ในครั้งนี้

พร้อมทั้งได้จัดงานพิธีอันเป็นมหามงคลร่วมกับทางวัดสระเกศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง องค์พระเจดีย์ เนื่องในวโรกาสที่ พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ครบ ๑๐๐ ปีพอดี

ทั้งนี้ จึงได้นัดหมายกันไว้ โดยการแต่งกายทั้งชายและหญิง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แด่พระองค์ ถ้าจะนับเนื่องจากงานเมื่อวันวานนี้ ก็ได้จัดงานย้อนยุคเมื่อสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี จนมาถึงวันนี้พวกเราก็ได้แต่งกายเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบัน อันมี กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี ถือว่าทุกท่านได้มาร่วมงานพิธีครบถ้วนทั้ง ๒ สมัยแล้ว

อีกทั้งเมื่อปี ๒๕๓๖ ตามที่ได้ดำริไว้แล้ว อาตมาก็ไม่ทราบว่า ปีนี้จะเป็นปี อะเมซิ่งไทยแลนด์ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และเชิญชวนให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนม์พรรษาครบ ๖ รอบ

ฉะนั้น งานตามรอยพระพุทธบาท จึง ได้เริ่มงานมาตั้งแต่คราวนั้นจนถึงบัดนี้ ถือว่า เป็นอุดมมงคลเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้วว่า อาตมาได้ตั้งคำปริศนาไว้นานแล้วว่า พระบรมธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระพุทธเจ้านั้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

เวลานี้ก็ได้กลับมาประดิษฐานอยู่ที่แผ่นดินไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวไทย และพวกเราจะพิทักษ์รักษาสมบัติ อันประเสริฐสุดของพระพุทธเจ้า ให้เหมือนกับที่พระองค์ ได้ทรงประทานให้ไว้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ เพื่อดำรงไว้ให้วัฒนาถาวร ตลอดชั่วอายุพุทธศาสนาครบ ๕ พันปี

ทั้งนี้คงเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเลือกสถานที่แห่งนี้ ไว้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวง และเป็นทั้งใจกลางของประเทศด้วย

ตามที่อาตมาเลือกสถานที่แห่งนี้ เพื่อเป็นสถานที่กระทำพิธี เรื่องความมั่นคงของ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อความร่มเย็น เป็นสุขและปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศ จึงได้รอคอยเวลามานานหลายปีแล้ว

อาตมาจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เวลามาถึงแล้ว รอโอกาสที่จะได้เชิญชวนลูกหลาน หลวงพ่อ เพื่อร่วมกันประกาศเกียรติคุณของ สถานที่นี้ ว่ามีความสำคัญกว่าที่อื่นใดในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำพิธี ซึ่งความจริงก็ยัง มีที่สำคัญแห่งอื่นๆอีก แต่เราไม่มีเวลา จึงถือ จุดนี้เป็นจุดรวมที่จะทำพิธีกราบไหว้สถานที่อื่นๆ ทั้งหมดในเมืองหลวง.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 9/3/11 at 15:28 Reply With Quote


พิธีบวงสรวงสักการบูชา



การที่กำหนดงานในวันนี้ไว้ในใจ จากเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว ก็ไม่ทราบว่าวันที่จัดงานที่นี่จะตรง กับวันไหน เพราะถ้าไม่ตรงกับวันเสาร์วันอาทิตย์ คนก็จะเดินทางมาร่วมงานไม่สะดวก หมายความว่าคนอาจจะน้อย เพราะการจัดงานที่สำคัญเรื่องของประเทศ ตามที่ได้ลำดับอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองมาแล้ว โดยการกราบไหว้บรรพบุรุษไทยนับตั้งแต่โบราณกาล จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์เป็น ราชธานีนี้ เพื่อขอให้ท่านช่วยเหลือบ้านเมือง ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นการครบ ๗๒ พรรษาของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พอดี

และประการที่สำคัญการจัดงานวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒ อันเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้นั้น จะเวียนมาบรรจบครบ รอบ ๑๐๐ ปีในวันนี้ และไม่น่าเชื่อว่าจะตรงกับวันหยุดพอดี

นับว่าเป็นวันมหามงคล พอที่พวกเราจะ เดินทางมาร่วมงานกันได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นสักขีพยานในการจัดงานฉลองสมโภชครั้งนี้ เพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น พร้อมทั้งอนุโมทนาไปด้วยกัน ฉะนั้น หลังจากพิธีบวงสรวงแล้ว ขอเชิญชวนพวกเราทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ ในการทอดผ้าป่าเพื่อทาสีองค์พระเจดีย์


ต่อไปนี้ จึงขอให้ประธานคือ พระครูสมุห์พิชิต (หลวงพี่โอ) ได้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี แล้วขอให้ทุกท่านตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอบุญบารมีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมดในอดีตและปัจจุบัน และบารมีของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกท่าน ตลอดถึงพระอรหันต์ทั้งหมด และบรรดาพรหมเทวดา ทั้งหลาย รวมทั้งบรรดาบรรพบุรุษทั้งปวง ที่มีคุณต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังความ สันติสุขให้แก่ปวงชนชาวไทย ที่สามารถยังทรง ความเป็นไทยไว้ได้

เพื่อขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นประธาน พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด พระอรหันต์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ พรหมและเทวดาทั้งหมด ทั้งที่รักษาอาณา เขตนี้ และที่รักษาขอบเขตประเทศไทยทั้งหมด มีพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง เจ้าพ่อหลักเมือง ทั่วทั้งเมืองไทย

ผู้ที่อารักขารอยพระพุทธบาท และพระบรมธาตุทั้งหลาย ผู้ที่รักษาป่าเขา แม่น้ำ อากาศ ลม และฝน เป็นต้น พระสยามเทวาธิราชทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งบรรดาบรมกษัตริย์ อันมี สมเด็จพระเจ้าตากสิน และ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นต้น

ขอได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน และอนุโมทนาความดีที่พวกเราทำนี้ และขอให้ประ เทศไทยทั้งหมด จงเป็นสถานที่กำหนดพระพุทธศาสนาทรงอยู่ได้ครบ ๕ พันปี ขอให้คนดีมี ศีลธรรม ได้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย เพื่อจะได้ช่วยกันค้ำจุนชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ตลอดไป ขอให้ชาวไทยได้สำนึกในความเป็นไทย ขอให้มีพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรม และมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม สืบไปชั่วกาลนาน

ขออำนาจพระบารมีของท่านผู้ทรงศักดิ์ ผู้ทรงฤทธิ์ ผู้ทรงเดชทั้งหลาย พร้อมทั้งบุญบารมี ที่พวกเราทั้งหลายได้บำเพ็ญมานี้ จงได้เป็นเสมือนเกราะแก้วกำบังภัย ที่อาจจะเกิดต่อไปในอนาคต เช่น ภัยจากอาวุธร้ายแรง ภัยจากธรรมชาติ ภัยจากอุบัติเหตุ ภัยจากโจรผู้ร้าย ภัยจากโรคติดต่อ ภัยจากความยากจนเข็ญใจ เป็นต้น

ขอภยันตรายทั้งหลายเหล่านี้ จงพินาศหมดสิ้นไป ทั้งนี้ ด้วยพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ พรหมเทวานุภาพ เพื่อความสันติสุขแก่ชาวโลก นับตั้งแต่บัดนี้เป็น ต้นไป จนถึงยุคชาวศรีวิไล ประเทศไทยก็จะรุ่งเรืองใหญ่ ด้วยแร่ธาตุธรรมชาติ ชาวโลกจะหัน มานับถือพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

มรรคผลจะปรากฏอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับสมัยพุทธกาล ผู้บริหารบ้าน เมืองก็ทรงธรรม ไพร่ฟ้าหน้าใส ประพฤติอยู่ในจารีตประเพณีอันดี มีอาชีพที่สุจริต ค้าขายด้วย ความซื่อตรง พืชสวนไร่นาได้ผลสูงค่า เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

สาธุ...สาธุ...สาธุ...ขออำนาจคุณพระสยามเทวาธิราชเจ้าทั้งหลาย ขอจงได้โปรดดลใจให้คนไทย ที่ยังมีความเป็นไทย จงได้มารวมตัวกัน เพื่อกอบกู้ความเป็นไทย ให้กลับคืนมา อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสืบสานให้ลูกหลานไทย ได้มีความภูมิใจ มีความรักชาติ มีความเสียสละ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยต่อไป เฉพาะคนดี มีศีลธรรมเท่านั้น

สำหรับคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ทุจริตคดโกง ไม่ตั้งมั่นอยู่ในความเที่ยงธรรม จง แพ้ภัยตนเองไปในที่สุด ส่วนผู้ที่รักชาติมั่นคง สร้างประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น ประพฤติแต่ ศีลธรรม ขอจงเจริญก้าวหน้า ชนะภัยอันตรายที่จะมากล้ำกราย ศัตรูทั้งหลายจงมลายสิ้น ทรัพย์สินจงรุ่งเรืองทวี หน้าที่การงานจงเรือง อำนาจ สุขภาพจงเรืองกำลัง ลาภยศจงเรืองเดช ผลปฏิบัติธรรมจงเรืองฤทธิ์ เพื่อพิชิตอธรรม เทอญฯ...”

ในขณะที่กล่าวนำคำอธิษฐานอย่างนี้ ก็ เป็นเวลาที่ประธานจุดธูปเทียนเสร็จ ผู้ร่วมพิธี ทุกคนต่างพนมมือกำหนดจิต ขออัญเชิญผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไปตามกระแสเสียงที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าวบวงสรวง จนกระทั่งจบไปแล้ว

ทุกคนจึงได้กล่าวคำนมัสการพระเจดีย์ “ภูเขาทอง” โดยหลวงพี่โอนำพระสงฆ์และญาติโยมทั้งหลาย สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและสถานที่นี้ โดยเฉพาะในระหว่างที่พวกเราไปทำพิธีกันนี้ เป็นเวลาที่ทางวัดกำลังเจอมรสุมใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องของสำนักอื่นที่จังหวัดปทุมธานี ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ระยะนั้นจะมีผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ และทีวีรออยู่แถวนั้นเป็นประจำ จนกระทั่งท่าน เจ้าคุณสุวรรณฯ เป็นห่วงได้แนะนำผู้เขียนว่า ถ้ามีผู้สื่อข่าวมาขอสัมภาษณ์ อย่าพูดกันหลายคน ควรให้ใครคนหนึ่งคนใดเป็นผู้ให้ข่าว มิฉะนั้น เขาจะเอาไปเขียนกันเอง เพราะฉะนั้น ในวันงานท่านจึงมีหนังสือ ชี้แจงเตรียมไว้แจกแก่ผู้สื่อข่าวทุกคน แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก และเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ หรือจะเป็นด้วยอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระ บรมบรรพตก็มิอาจทราบได้

เมื่อถึงวันงานที่จะทำพิธี พวกเรากลับไม่เห็นผู้สื่อข่าวสักคนเดียว ไม่รู้หายไปไหนหมด ทั้งที่ก่อนหน้าสักวันสองวัน มีพระมาให้กำลังใจ ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ กันมากมาย จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ไปลงกันว่า ทางวัดสระเกศไปเกณฑ์พระมารวมกำลังกัน

แต่ความเป็นจริงทางวัดไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องที่พระผู้น้อยท่านมีน้ำใจต่อพระผู้ใหญ่กันเอง แต่ด้วยความหวังดีเช่นนี้ ยิ่งซ้ำทำให้ท่านต้อง ตกเป็นข่าวอีก ในเรื่องนี้พวกเราก็หนักใจเหมือนกัน ที่ดันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนที่เราจะจัดงาน

แต่ถ้าจะคิดในมุมกลับ อาจจะเป็นเรื่อง เสี่ยงกับชื่อเสียงของวัดท่าซุงเหมือนกัน เพราะถ้าบังเอิญหนังสือพิมพ์เอาไปลงข่าว เจ้าอาวาสต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย เรื่องที่เราจะทำความดี กลับกลายเป็นสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น

เรื่องนี้ถ้าเป็นท่านผู้อ่าน หรือผู้ที่ร่วมเดิน ทางไปด้วย คงจะหนักใจเหมือนกัน อาจจะคิด ว่าเราจะไปช่วยท่าน หรือจะไปซ้ำเติมท่านกันแน่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามความหนักใจของท่านเหล่านี้ คงจะเทียบไม่ได้กับผู้ที่มีหน้าที่จัดงาน และตระเตรียมงานทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว

ท่านผู้อ่านคงจะถามว่า แล้วผู้จัดทำใจอย่างไร ในเมื่อพบกับเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะเป็น งานใหญ่ เตรียมการไว้หมดแล้ว จะมายุติลงกลางคันได้หรือ ผู้จัดก็ขอบอกว่า ขึ้นชื่อว่าทำความดี ที่มีความบริสุทธิ์ใจ ทั้งมั่นใจในงานที่ทำตลอดมาว่า

งานตามรอยพระพุทธบาทนี้ มิใช่งานของเราเอง ถือว่าเป็นงานของพระพุทธศาสนา ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีจริง งานที่ทำมาตลอด ๗-๘ ปีมานี้ คงจะพังไปนานแล้ว คงจะไม่เป็นที่ศรัทธาแก่พุทธบริษัททั้งหลาย ตามปกติไม่ว่าไปจัดงาน พิธีที่ไหน มักจะต้องเสี่ยงกับอันตราย จะต้องเสี่ยงกับดินฟ้าอากาศเป็นประจำอยู่แล้ว

ครั้นมาถึงวันนี้ที่จะต้องรอมานานถึง ๗ ปีแล้ว ถ้ามันจะมีอะไรก็ให้เป็นไป ยอมทุกอย่าง เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อพระพุทธศาสนา และพระมหาษัตริย์ ทั้ง ๓ สถาบันนี้ เรายอมพลีทุกอย่าง แม้ว่าใครจะด่าจะว่าจะนินทาอย่างไรก็ตาม

ฉะนั้นด้วยอำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย คุณพระสยามเทวาธิราช คุณของพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย คุณของบิดามารดาครูบาอาจารย์ จึงช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคทุกอย่าง แม้กระทั่งฝน ก็เพิ่งจะมาหยุดตกในตอนเช้ามืด คือประมาณ ตีห้าที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง หลังจากตกลงมาตั้งแต่ เมื่อวานตลอดทั้งวันทั้งคืน ท่านก็ยังให้โอกาส ฝนหยุดตกในวันงาน

แต่ที่ประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือ ว่านอกจากจะปลอดโปร่งจากฝนแล้ว ในวันงาน ยังแคล้วคลาดจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย นั่นก็คือไม่มีผู้สื่อข่าวอยู่เลย พวกเราหลายคน แปลกใจ แม้แต่ ท่านเจ้าคุณสุวรรณฯ และ พระต้า ที่มีความกังวลในเรื่องนี้ ต่างก็พูดกันว่าพวกนี้มันหายไปไหนกันหมดนะ

เป็นอันว่า หลังจากพิธีบวงสรวงไปแล้ว เหตุการณ์ภายในก็เงียบสงบไป คลื่นมรสุม ทั้งหลายก็บรรเทาเบาบางลง ทั้งนี้คงจะเป็นด้วยอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่พวกเราได้ช่วยกันอธิษฐานจิต ในระหว่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อบวงสรวงอยู่นั้น

อีกทั้งก็เป็นด้วยพระบารมีของพระบรมบรรพต โดยเฉพาะท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จฯ พวกเราถือว่าท่านเป็นผู้มีคุณแก่วัดท่าซุงเป็นอันมาก การมาจัดงานพิธีครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประจวบเหมาะโดยบังเอิญ ที่ได้มีโอกาสมาบูชาพระคุณท่าน ในยามที่มีลมมรสุมพัดผ่าน

พิธีบวงสรวงครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งแรก ณ สถานที่นี้ และการจัดงานที่รอมานาน ๗ ปี ก็ได้ประจวบกับกาลเวลาที่ทางวัด ซึ่งเป็นหมุดเซ็นเตอร์ของประเทศกำลังเผชิญพอดี พิธีกรรม ทั้งหมดที่ทำนี้ จึงมิได้มุ่งหวังเรื่องของโลกธรรม ทั้งหลาย เพราะหลังจากนั้น เหตุการณ์ก็คลาย ไปจากกระแสข่าวรายวัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามที่สุด คืองานพิธีที่อยุธยา พอทำเสร็จแล้ว กลับมีข่าวดังขึ้นสุด ๆ นั่นก็คือเรื่องขุดคุ้ยการทำลายโบราณวัตถุ ส่วน งานพิธีที่กรุงเทพฯ เมื่อเสร็จงานพิธีแล้ว ปรากฏ ว่าเรื่องที่ดังก็กลับเป็นเงียบสงบไป



เป็นอันว่า จะเป็นผลดีหรือไม่ก็ตามที แล้วแต่ท่านผู้อ่านทั้งหลายจะวิเคราะห์ ขอเล่า เรื่องงานพิธีกันต่อไป หลังจากหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวง แล้วก็เป็นธรรมเนียมพิธีกรรม คือ การฟ้อนรำถวายมือ ชุด “กฤษฎาภินิหาร” จาก คณะรวมใจภักดิ์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาฝึกซ้อมกัน นานพอสมควร ผู้ร่วมพิธีต่างก็ปรบมือให้


ผู้ร่ายรำทุกคนถือพานดอกไม้ พร้อม ร่ายรำไปตามเสียงเพลงที่ดังเฉพาะบริเวณนั้น ซึ่งพระผู้ควบคุมเสียงพยายามไม่ให้เสียงออกไปรบกวนภายนอก เราทำพิธีกันเฉพาะภายในวัดเท่านั้นเอง

แต่ก็มีชาวบ้านร้านค้าแถวนั้นบ้าง เพราะหลังจากงานแล้ว มีคนมาขอหนังสือที่แจกในงาน บอกว่าอยู่ใกล้วัดมานานแล้ว แต่ยังไม่รู้ประวัติของวัดเลย ไม่นึกว่าจะมีความสำคัญถึงเพียงนี้ นี่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาเล่าให้ฟังกันภายหลัง


เมื่อรำบวงสรวงชุดแรกจบแล้ว ผู้เขียน จึงได้เริ่ม พิธีถวายพระราชสดุดีเทิดพระเกียรติแด่พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากเมื่อวานนี้ ก็ได้กล่าวถวายแด่ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ไปแล้ว จึงถือว่าได้ทำครบถ้วนจนถึงสมัยปัจจุบันนี้

แต่คงจะไม่สามารถเล่าต่อไปได้ เพราะคำนวณหน้ากระดาษแล้ว คงจะต้องนำไปเล่าต่อ ในฉบับหน้า ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้าย คิดว่าผู้ที่เคยไปร่วมงานคงจะย้อนความทรงจำกันได้ ส่วนที่ไม่ได้ไปร่วมงาน ก็จะทราบรายละเอียดได้ หลังจากจัดงานผ่านมานานถึง ๒ ปี

สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะติดตาม กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรงกันไป ทั้งผู้เขียน และผู้อ่าน ส่วนหนังสือรวมเล่ม คงจะต้องรออีกนาน ไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อใด เนื่องจากยังมีข้อเขียน อีกหลายแห่ง จึงยังไม่มีโอกาสที่จะรวมเล่มได้

แต่ก็ยังมีผู้หวังอานิสงส์ “ธรรมทาน” ร่วม ทุนกันเรื่อยๆ เช่น พระจำเนียร วัดท่าซุง ๕๐๐ บาท นางสมคิด, ปียานันท์ นาคพันธ์ ๑๐๐ บาท จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย..

ประวัติการสร้างพระบรมบรรพต


“การสร้างบรมบรรพตนี้ ได้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์ ให้เหมือนอย่าง ภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรี อยุธยา จึงโปรดให้สร้างตรงที่ติดกับชายคลองมหานาค แต่พื้นดินตอนนั้นเป็นที่ลุ่ม พระเจดีย์ ที่ก่อขึ้นได้ทรุดลงมา จำต้องหยุดการก่อสร้าง

ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๐๘ จึง โปรดให้นายช่างก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้บนยอด ซึ่งแต่เดิมต้นไม้ขึ้นปกคลุมรกรุงรัง แต่ก็มาทำสำเร็จสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต้องใช้เวลาสร้าง ๓ รัชกาล จึงได้สำเร็จเรียบร้อย

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์โปรดให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถึง ๒ ครั้ง คือครั้งแรกโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รักษาไว้ในพระบรมราชจักรีวงศ์ พร้อมทั้งเสด็จ พระราชดำเนินมาทรงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหญ่ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๐


การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุครั้งที่ ๒ นั้นตามที่เล่าผ่านไปเมื่อฉบับที่แล้วว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ มีการขุดพบพระบรมธาตุในพระสถูปที่เมืองกบิลพัสดุ์ มีอักษรจารึกว่าเป็นพระบรม สารีริกธาตุที่กษัตริย์ศากยราชในกรุงกบิลพัสดุ์ ได้รับแบ่งปันเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธ สรีระ ณ กรุงกุสินารา

เวลานั้นชาวอังกฤษที่ปกครองอินเดีย ก็ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุนี้แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๔๔๒

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน พระทันตธาตุ ที่คนทั่วไปเรียกว่า พระเขี้ยวแก้ว มาถวายไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชน พระทันตธาตุนี้ เดิมอยู่ที่ห้องภูษามาลา มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏชัด

บรมบรรพตนี้ คนทั้งหลายนิยมเรียกว่า “ภูเขาทอง“ แม้จะเป็นนามไม่ถูกต้อง แต่ก็เรียกกันจนชินติดปากมานานแล้ว และยังมีบางคน เรียกว่า “สุวรรณบรรพต” ก็มี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คงจะทรงรำคาญด้วยชื่อดัง กล่าว จึงมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ให้ เปลี่ยนชื่อภูเขาทองว่า “บรมบรรพต” เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๘

ครั้นถึงสมัยรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ด้วย การบุด้วยโมเสคสีทอง พร้อมกับสร้างพระเจดีย์ องค์เล็กขึ้นอีก ๔ มุม เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์บนลูกแก้ว เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๙...”

จึงเป็นอันว่า การเล่าประวัติโดยย่อ พอจะประเมินได้ว่า บรมบรรพตนี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีการบรรจุพระบรมธาตุไว้ถึง ๓ ครั้งด้วยกัน



(ภาพจาก kusaladhamma.igetweb.com)



(ภาพเจดีย์ภูเขาของในเวลากลางคืน สมัยรัชกาลที่ ๙ นี้เอง)




พิธีถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ

แด่พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์




ตอนนี้ขอกลับมาเล่าเหตุการณ์ปัจจุบันต่อไป คือเมื่อ วันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๔๒ หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อบวงสรวงจบแล้ว จึงได้มีการฟ้อนรำบวงสรวงชุด กฤษฎาภินิหาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นจึงกล่าวต่อไปว่า..

“ตามที่ได้กล่าวถวายราชสดุดีแด่ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ไปแล้วเมื่อวานนี้ว่าการเดินทางมาในวันนี้ นอกจากทำพิธีกราบไหว้ภูเขาทองแล้ว ก็จะทำ พิธีถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ แด่ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ อีกด้วย

เพราะการจัดงานครั้งก่อนๆ พวกเราก็ได้ทำพิธีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระพรหมโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง ที่ได้รับอาสาจาก ท้าวผกาพรหม ลงมาตามมโนปณิธานตามที่ท่าน เคยกล่าวไว้ว่า...
“พ่อเห็นว่าชีวิตไม่สำคัญ ความสำคัญมี อยู่อย่างเดียว คือว่าทำอย่างไร...เราจะทำให้ไทย เป็นไทตลอดไป...!”


ฉะนั้น นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลจากชาติ ที่เป็น พระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วก็มาเป็น พระเจ้ามังรายนราช และ พระเจ้าตวันอธิราช จนมาถึง พระเจ้าพรหมมหาราช และ พระเจ้ารามราช จนถึงที่พระองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นในแผ่นดินสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา พวกเราก็ได้เดินทางไป กราบไหว้แผ่นดินพ่อและแม่กันมาแล้ว

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ พวกเราก็ติดตามท่านมาอีก เพราะคราวเสียกรุงให้พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ท่านก็ได้เป็นขุนดาบคู่พระทัยของ พระเจ้าตาก ในตอนนี้ท่านผู้เฒ่าเล่าว่า...

“..อยุธยาเราแตกครั้งหลังเพราะอะไร เพราะคนไทยเราแตกความสามัคคี ไม่รักความเป็นไท คล้ายๆ กับคนไทยใกล้ๆ สมัยปัจจุบัน ที่ชาวบ้านเขาไม่รู้จักว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นยังไง ก็ร้องเรียกรัฐธรรมนูญ

ชาวบ้านเขารังเกียจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพราะมาเคี่ยวเข็ญเขา เข้าไปแล้วไม่ได้เป็นผู้แทนจริงๆ ไปกอบโกยอำนาจ กอบโกยทรัพย์สิน ทำให้เขาเสียหายมาก

คนที่อยากจะเป็นผู้แทนก็ให้คำมั่นสัญญา กับบรรดาประชาชนไว้ แต่เวลาเข้าไปในสภาแล้ว ก็อยากเป็นรัฐบาล แทนที่จะเข้าไปควบคุมรัฐบาล กลับอยากไปเป็นรัฐบาลเสียเอง การเมืองของ ประเทศใดก็ตาม ที่ยังมีพรรคการเมืองอยู่ เราก็ ยังไม่เรียก “ประชาธิปไตย” ถ้าเป็นพรรคเป็น กลุ่ม เขาเรียก “คณาธิปไตย” แต่อย่างไหนจะ ดีไม่ดีไม่ขอวิจารณ์...”

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้น พระองค์ทำเพื่อความสุขของประชาราษฎร์จริงๆ ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ คือเมื่อพระเจ้าตากสินตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว พระองค์ก็ได้ตกลงเป็นการภายใน มอบราชสมบัติให้ขุนดาบคู่พระทัยไปครองแทน แล้วแกล้งทำเป็นสติฟั่นเฟือน เพื่อเป็นกลอุบาย จากหนี้สินของชาวจีน แล้วไปเจริญสมณธรรม อยู่ในถ้ำ จนสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราช



(เจ้าหน้าที่เดินแจกเนื้อร้องเพลงปลุกใจรักชาติ)

จึงขอให้พวกเราชาวไทย จงได้รำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงสละ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพื่อให้พระสหายได้นำชาติพ้นภัยต่อไป ถึงแม้จะเป็นที่เสื่อมเสีย พระเกียรติคุณก็ตาม แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศเป็นสำคัญ จึงทรงเสียสละทุกอย่าง แม้แต่ชื่อเสียงของพระองค์

ฉะนั้น คนไทยที่เคยร่วมสมัยกันมาแต่ ปางก่อน ยังมิเคยลืมเหตุการณ์ในครั้งนั้น การเกิดมาชาตินี้ อย่าให้เสียชาติเกิด ขอพวกเราทุก คนจงยืนขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณ น้อมระลึกถึงวีรกรรมคุณความดีอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ อันยากนักที่บุคคลในโลกนี้จะกระทำได้ จงช่วยกันร้องเพลงนี้เพื่อสรรเสริญพระบารมี แด่ พระเจ้ากรุงธนบุรี ณ บัดนี้เถิด...”



(คณะพุฒตาน หรือ "คณะจเร" ออกมาร้องนำเพลงปลุกใจ)


ครั้นสิ้นเสียงบรรยาย เสียงเพลงปลุกใจ “ทหารเสือพระเจ้าตาก” ก็ดังขึ้น คณะพุฒตาล หลายคนแต่งชุดราชปะแตน ออกมายืนร้องเพลง นำที่ด้านหน้าโต๊ะบวงสรวง ทุกคนที่ได้รับเนื้อร้อง ไปแล้ว ต่างก็ลุกขึ้นยืนร้องตามไปด้วยว่า....

“ชาติเสือเชื้อชาติไทยอดทน สู้ทุกคนนะ ลูกแม่ไทย ขี้ข้าเขา เขาทำกับไทยอย่างกับควาย ไถนา ทหารเสือพระเจ้าตากรักชาติแรงกล้า พ่อกูสั่งสอนให้ฆ่า แม้นใครมาบุกรุกไทย...”

รวมความว่า แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ได้อุบัติขึ้นนี้ ก็ด้วย พระบารมีแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้เสียสละ โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๑ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ แล้วสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ณ โอกาสนี้ จึง ขอให้ทุกท่านร้องเพลงนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระ เกียรติแด่พระองค์ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์...

“แผ่นดินไทยลุกเป็นไฟ เพราะใครมารุกราน จะครอบครองโดนรังควาน คอยผลาญบ้าน เมือง ผู้คนทุกชีวิตที่สิ้นไป ต่างไว้ต้านทรชน สู้จน สุดกำลัง ฝากชีพฝังพสุธา ดั่งฟ้ามาโปรด แผ่ร่มบุญคุ้มภัย เอกราช ของชาติไทย ข้าภูมิใจทุกครา จากฟ้ามาสู่กู้บ้าน เมืองล้ำค่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า สร้างรัตน โกสินทร์มา ดุจสวรรค์อันอำไพ...”

แหม...เสียงพวกเราร้องเพลง “สงครามเก้าทัพ” ฟังแล้วเสียงหนักแน่นและมั่นคง ทุกคนร้องออกมาด้วยความปลื้มปีติยินดี แม้กระทั่งบัดนี้ เสียงเนื้อร้องและทำนอง ยังดังก้องอยู่ในโสตประสาทมิลืมเลือน... “สดุดีพระปรีชาชาญ ด้วยพระบุญญาธิการ...แผ่ไพศาลพระบารมี..”

เป็นอันว่า นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงบัดนี้เป็นเวลา ๒๑๗ ปีแล้ว ชาวไทยภายใต้ พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ก็อยู่กันอย่างสันติและมีความผาสุขสืบมา
การรักษาอธิปไตยที่พวกเราหวงแหนไว้ มิยอมเสียแผ่นดินให้ใครอีก นับตั้งแต่เสียเมืองโยนกให้ขอม และต้องยอมเป็นทาสขอมในสมัยกรุงสุโขทัย จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเราก็เสีย ให้แก่พม่า เมื่อปี ๒๓๑๐ เพียงแค่ ๑๕ ปีเท่านั้น ที่ชาวไทยสูญเสียเอกราชไป แล้วก็ช่วยกันกู้ชาติ กลับคืนสู่อิสรภาพตามเดิม

ทั้งนี้ ด้วยอาศัยพระบารมีแห่งพระโพธิสัตว์เจ้า ตามคำอาราธนาจากท้าวผกาพรหม เพื่อลงมากอบกู้เอกราชกลับคืนมาเกือบทุกครั้ง ฉะนั้นพวกเราลูกหลานไทย ผู้รู้ซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่มิอาจจะทดแทนได้หมด แต่ก็ได้อดทนเดิน ทางไปกราบไหว้พระคุณความดีของท่านทั่วทั้ง แผ่นดิน นับตั้งแต่พระองค์เสวยพระชาติใน แผ่นดินโยนกนครเชียงแสน พวกข้าพระบาท ก็ได้ไปประกาศพระเกียรติคุณกันมาแล้ว

ครั้นมาถึงกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระองค์ก็ทรงอุบัติมาเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ผู้มีวาจาสิทธิ์ พ่อขุนศรีเมืองมาน ผู้ประสานคน ไทยไปถึงภาคใต้ ลูกหลานทั้งหลายก็ได้ไปจัด งานเทิดพระเกียรติกันมาเมื่อปีที่แล้ว (๒๕๔๑)

จนถึงปีนี้อันเป็นปีสุดท้าย และแผ่นดินสุดท้ายของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของ คนไทยทั้งชาติ พวกเราก็ตามมาถึงมาตุภูมิ คือแผ่นดินเกิดของพระองค์ ซึ่งในรัชสมัยนี้หน่อเนื้อ พระบรมพงศ์โพธิสัตว์ก็ได้อุบัติมากกว่าสมัยใด ๆ

เพราะสมัยกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองนาน ถึง ๔๑๗ ปี ในครั้งนี้พระพรหมโพธิสัตว์จึงได้ อุบัติในแผ่นดินนี้ถึง ๖ สมัยด้วยกัน ตามที่ กล่าวไปแล้วเมื่อวานนี้ แต่วันนี้จะขอสรุปไว้ เป็น การปิดท้ายงานตามรอยพ่อทั่วทั้งแผ่นดิน คือ

๑. สมัยขุนหลวงพะงั่ว
๒. เศรษฐีอำไพ
๓. ขุนแผน (เจ้าพระยากาญจนบุรี)
๔. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
๕. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และ
๖. เจ้าพระยาโกษาเหล็ก

พระราชภารกิจที่ทรงรับอาสาลงมาช่วย ชาติบ้านเมืองในคราวยุคเข็ญนั้น พระองค์ก็ได้ใช้ความกล้าหาญ ความเสียสละ ทรงปลูกจิตสำนึก ให้คนไทยรักชาติ รักความสามัคคี และทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ทรงปกป้องขอบขัณฑสีมา ให้ไพร่ฟ้าได้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากข้าศึกมารุกราน ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา สั่งสอนลูกหลานไทยให้มีศีลธรรม เพื่อรักษาจารีต ประเพณีอันดีงามไว้

ฉะนั้น เพื่อความตั้งมั่นแห่งชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงปวงชน ชาวไทย นับตั้งแต่พระองค์ทรงสร้างชาติสร้าง แผ่นดินมา ได้ถอยร่นเมืองหลวงลงมาจากทางเหนือเรื่อยๆ จนสุดลุ่มน้ำเจ้าพระยา พอที่จะดำรงพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี และ เพื่อเป็นการสร้างสมพระโพธิญาณ โดยมีผู้อาสาติดตามร่วมสร้างบารมีกันมากมาย

ท่านสัมพเกษีพรหมโพธิสัตว์พระองค์นี้ ก็ได้อุบัติมาในสมัยรัตนโกสินทร์อีก ๓ ชาติ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินสุดท้ายของพระองค์ก็ว่าได้ จึงขอให้ทุกท่านร้องเพลง รัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดินนี้เถิด



(คุณอนันต์, คุณแสงเดือน และคณะ แต่งชุดไทยรัตนโกสินทร์ ร่วมร้องเพลงปลุกใจด้วย)

เมื่อเสียงเพลงนี้ดังขึ้น ทุกคนลุกยืนขึ้นร้องเพลงด้วยความภาคภูมิใจ ถือว่าเป็นเกียรติ ประวัติชีวิตของตนเอง ที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย เสียงเพลงทุกคนฟังแล้ว พาให้เคลิบเคลิ้มไปกับ เนื้อร้องและทำนอง ที่มีความหมายลึกซึ้งและ หวานเย็นปนเศร้าเคล้าน้ำตาชวนให้ถวิลหาว่า...

“รัตนโกสินทร์..คือแผ่นดินที่หล่อหลอม หัวใจ ร้อยความรักรวมผู้คนมากมาย อาศัยอยู่ ร่วมชายคา เชื้อชาติไหนก็พี่น้อง ล้วนพวกพ้อง คล้องเกี่ยวนานเนิ่นมา ทุกชีวิตมีสุขใจใต้ฟ้า ใต้ บารมีจักรีวงศ์

และมีความรักของเราเกิดขึ้น จากดวงใจสองดวงที่ซื่อตรง บนแผ่นดินความรัก ด้วย ศรัทธาที่มั่นคง รักยั่งยืนยงตลอดไป ขอแค่มี เธอกับฉัน และมีรักที่ผูกพันหัวใจ ก็สุขแล้วบน แผ่นดินกว้างไกล แห่งรัตนโกสินทร์...”

นอกจากจะช่วยพระสหาย คือ พระเจ้าตากสิน ซึ่งหวังพุทธภูมิมาด้วยกันแล้ว ดังที่ท่านเล่าไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลพระเจ้าตากสินได้เกิดเป็น พันธุละเสนาบดี ผู้เป็นพระสหายกับ พระเจ้าปเสนธิโกศล กันมาก่อน

จนถึงสมัยนี้ ท่านทั้งสองก็ยังมาเป็นพระสหายกันอีก ได้ร่วมศึกสงครามกับพม่ามาอย่าง โชกโชน แต่ด้วยชะตากรรมของประเทศใน คราวนั้น..หนักมาก ถ้าไม่อาศัยการรวมกำลัง พระบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งสองช่วยกัน กอบกู้ไว้ ป่านนี้เราไม่รู้ว่าจะซุกหัวนอนกันที่ไหน

ฉะนั้น คณะตามรอยพระพุทธบาท จึง ได้เดินทางไปประกาศพระเกียรติคุณ เพื่อปลุกจิตให้คนไทยได้รำลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ ทุกชาติทุกสมัย จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ พระองค์ก็ได้ลาพุทธภูมิไปแล้ว ถือเป็นชาติสุดท้ายของท่าน

และจัดงานพิธีสุดท้ายในวันนี้ ณ อาณาจักรนี้ เพื่ออานิสงส์แห่งภพสุดท้ายเช่นเดียว กับท่าน จึงขอให้พวกเราร้องเพลงนี้ เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของ คณะตามรอยพระ พุทธบาท ที่ได้ก่อตั้งมาได้ครบ ๗ ปี และก็จะส่งท้ายกันในวันนี้แล้ว

(ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ ปรากฏยังจบไม่ได้เสียแล้ว เพราะจะต้องไปสร้าง พระจุฬามณี ที่ศรีสัชนาลัยต่ออีก ๓ ปี ในปี ๒๕๔๕ จะจบงานนี้แน่นอน)

ต่อจากนั้น จึงได้เปิดเพลง “ธรรมเป็นอำนาจ” อันเป็นเพลงที่มีความหมายสำหรับการ ตามรอยพระบาท ซึ่งต่อไปจะเป็นเพลงประจำของพวกเราตลอดไป...

“ธรรมะคือคุณากร คำสอนของพุทธองค์ผองเราชาวไทย ใต้ร่มพุทธศาสนา ตามรอยพระ บาทศาสดาสูงส่ง พระพุทธศาสน์คู่ชาติไทยยั่งยืน ยง อยู่ดำรงคงผูกพัน
หลักธรรมเลิศล้ำอมตะ พึงละโลภโมโท สัน เมตตาปรานีกันและกัน ยึดถือมั่นสุขสันต์ สวัสดี จงถือธรรมเป็นอำนาจ ห่างชาติชั่วร้ายราศี สาธุ...!”


ครั้นเพลงนำของชาวคณะตามรอยพระพุทธบาทจบแล้ว จึงได้เชิญ คณะรวมใจภักดิ์ ออกมาฟ้อนรำ เพื่อเป็นการฉลองสมโภชกันในชุด รำอวยพร ๔ ภาค ซึ่งแต่ละคนจะแต่งกายชุดไทยประจำภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง เป็นต้น ซึ่งมีความ สวยสดงดงามแตกต่างกัน

ถึงแม้ “คณะตามรอยพระพุทธบาท” จะหมดภาระหน้าที่จากการฟื้นฟูรอยพระพุทธ บาท และพระบรมธาตุเจดีย์ ได้ช่วยปฏิสังขรณ์ ทุกสถานที่ พร้อมทั้งรณรงค์วัฒนธรรมไทยด้วย การแต่งกายย้อนยุค ปลุกจิตสำนึกให้หวลคิดถึง ความเป็นไทย

ด้วยการจัดงานพิธีฉลองชัย เป็นการ “ตัดไม้ข่มนาม” เพื่อแก้เคล็ดแก่ดวงชะตาของประเทศ ให้ผ่านพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง จึงได้จัด กิจกรรมนี้ พร้อมทั้งได้มีโอกาสได้รู้จักกับลูกหลานของหลวงพ่อทั่วทุกภาคของประเทศ จนกระทั่งได้มาสรุปเอาที่เมืองหลวง ณ สถานที่ แห่งนี้แล้ว

ฉะนั้น ความสำเร็จ ความปลอดภัย ความสามัคคี ทั้งผู้ร่วมงานและคณะเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหาร จัดสถานที่ ช่วยจัดรถ จัดทำบายศรี และ เครื่องสักการบูชาทั้งหลาย ตลอดถึงเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยเหลืองานทุก ๆ ท่าน

นับตั้งแต่เริ่มปีแรกได้จัดงานที่ วัดพระบาทสี่รอย ก็ได้ทอดกฐินเพื่อบูรณะ พระวิหารครอบรอยพระพุทธบาท ปีต่อมา ๒๕๓๗ ก็ได้ ไปจัดงานที่ภาคใต้ ได้ร่วมกันสร้างห้องส้วมและ พระพุทธรูปยืน “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” พร้อมทั้งอัญเชิญรูปหล่อ หลวงพ่อและหลวงปู่ปาน ไปที่ วิหารน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วได้ไปบูรณะ พระเจดีย์ ที่นครศรีธรรมราช

ภาคเหนือ ปี ๒๕๓๖ ร่วมบูรณะ “พระวิหารครอบพระพุทธบาท ๔ รอย” จ.เชียงใหม่



(ในภาพจะเห็นทางวัดกำลังรื้อกระเบื้องหลังคา)



ภาคใต้ ปี ๒๕๓๗ บูรณะ “พระวิหารน้ำน้อย” จ.สงขลา และบูรณะ “พระธาตุนครศรีธรรมราช”



ภาคอีสาน ปี ๒๕๓๘ บูรณะพระธาตุพนม และภาคกลาง บูรณะพระบาทสระบุรี

ครั้นถึงปี ๒๕๓๘ ก็ได้ไปสร้างห้องส้วม และอัญเชิญพระพุทธรูปไปที่ วัดพระบาทภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แล้วไปบูรณะ พระธาตุพนม จ.นคร พนม และ พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

ในปีเดียวกันก็ได้ไปบูรณะมณฑป วัดพระพุทธบาท และ วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี จนถึงปี ๒๕๓๙ ก็ได้จัดงานรวมภาคที่ วัดพระ แท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี และงาน “ในหลวง” ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ณ วัดท่าซุง

ต่อมานับตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ก็ได้จัด งานพิธีตัดไม้ข่มนาม ขึ้นที่อาณาจักร เชียงแสน หริภุญชัย สุวรรณภูมิ สุโขทัย และ อยุธยา ตามลำดับ ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงพอดี

นอกจากนี้แล้ว ยังได้เดินทางไปกราบไหว้ สถานที่สำคัญยังประเทศต่างๆ อีก เช่นประเทศ ลังกา อินเดีย พม่า อินโดนีเซีย จีน ลาว เขมร เป็นต้น งานพิธีทั้งหมดนับตั้งแต่ต้น จนกระทั่ง มาสรุป ณ บรมบรรพต แห่งนี้ ซึ่งก็ได้จัดรวม ตัวกันโดย “คณะตามรอยพระพุทธบาท”

แต่ถึงแม้จะเลิกงานแล้ว คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ก็ยั่งยืนอยู่ตลอดไป ซึ่งผลงานตามที่กล่าวมาแล้วโดยย่อนั้น พวกเราได้ ทำกันด้วยความรัก เพื่อสมานสามัคคีในกลุ่ม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ที่ได้ทำความรู้จักกันและ จัดกิจกรรมนี้ทั่วทั้งประเทศ

อีกทั้งได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีที่ครูบาอาจารย์กระทำมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงปวงชน ชาวไทย ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข หวังที่จะสืบ ต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรตลอดไป จนครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี

โดยได้ร่วมเสียสละทรัพย์สินสิ่งของ เพื่อ เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์อันเป็นสถานที่สำคัญ และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา ณ แหลมทอง ถิ่นของไทยนี้ ถ้ารวมเป็นเงินโดยประมาณ ๑๐ ล้านบาท นับเป็นเวลา ๗ ปี ตามที่กล่าวมานี้

อนึ่ง ถ้าดูตามที่ประมวลรูปภาพมานี้ จะสังเกตได้ว่า ในขณะที่จัดงานตามรอยพระพุทธบาทนั้น จะเป็นจังหวะที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ พอดี โดยที่เราไม่ทราบกันก่อน ดังจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะเห็นรูปภาพมีไม้นั่งร้านตั้งอยู่รายรอบ

ภาพนี้มิใช่มีได้เห็นกันง่าย ๆ ถ้าเป็น สถานที่คู่บ้านคู่เมืองมานาน เพราะเป็นการบอก เหตุถึงการซ่อมแซม ความจริงเป็นโอกาสที่หา ยากมาก เนื่องจากแค่ไปไหว้ก็ได้บุญมากมายอยู่ แล้ว และถ้าเราตั้งใจจะไปซ่อมจริงๆ ก็ไม่รู้เมื่อไร เพราะการบูรณะในแต่ละคราว จะต้องใช้งบ ประมาณจำนวนมหาศาล และจะต้องได้รับ อนุญาตจากกรมศิลปากรเสียก่อน

ฉะนั้น ด้วยเจตนาที่เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่พวกเราตั้งใจเพื่อเผยแผ่พระเกียรติคุณอัน ไพศาลขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร และพระ คุณของครูบาอาจารย์ เหล่าเทพยดาอารักษ์ทั้ง หลาย จึงดลบันดาลให้มีการบูรณะสถานที่สำคัญ ครบทุกภาคของประเทศ เพื่ออานิสงส์บุญราศรี ของผู้ที่มุ่งคุณงามความดีถึงที่สุดในพุทธศาสนา

ทั้งนี้ คงจะมีเหตุแห่งผลบุญอันมหาศาล นั่นเอง เพราะเรื่องการที่เกิดมาแล้ว มีชีวิตอยู่ ได้ทันการสร้างก็ดี หรือได้ทันการซ่อมแซมก็ดี มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่าย ถ้ามิใช่อานุภาพแห่งบุญ บันดาล เราคงจะพบโอกาสได้ยากมาก อาจจะ ต้องใช้เวลาเกิดอีกหลายแสนชาติ ถึงจะได้มี โอกาสทำได้ครบถ้วนเช่นนี้

อีกประการหนึ่ง นอกจากซ่อมพระธาตุ แล้ว พวกเราก็ยังมีการสร้างพระพุทธรูปครบถ้วน ทุกสมัยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมัยเชียงแสน อู่ทอง สุโขทัย ลพบุรี เป็นต้น โดยเฉพาะครบถ้วนทุก อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้แก่พระพุทธรูปประทับนั่ง ประทับยืน ประทับนอน (ปรินิพพาน)และเดิน นั่นก็คือ “ปางประทับรอยพระบาท” ซึ่งจะเททองเป็นองค์แรกของโลก ณ ศรีสัชนาลัย


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 9/3/11 at 15:55 Reply With Quote


อันเป็นความหมายอย่างลึกซึ้ง และเป็น สิริมงคลแก่ตนเอง ที่ได้สร้างเพื่ออานิสงส์ในการเดินเข้าสู่พระนิพพาน จะด้วยกำลังของพระโพธิ ญาณ พระปัจเจกโพธิญาณ พระอัครสาวก และ พระสาวกทั้งหลายก็ตาม เหมือนกับปูหนทางให้ ก้าวสู่มรรคผลของตนเองได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญอันยิ่งใหญ่ เพราะอาศัยเส้นทางที่พระองค์ได้ทรงดำเนินมา แล้ว จึงเป็นเสมือนประทีปแก้วส่องทาง ให้พวกเราได้เดินตามอย่างไม่ผิดทางแน่นอน การพบหนทางอันประเสริฐในชาตินี้ ย่อมบังเกิดมีแก่ ผู้ถวายการบูชาแล้วด้วยดี

การที่บรรยายมาอย่างละเอียดเช่นนี้ ขอท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจว่าเพื่ออวดกัน เพราะนั่นเป็น เรื่องของกิเลส แต่การทำความดี จะต้องมีจิตเข้าถึงความดีซึ่งกันและกัน เพราะในชีวิตก็ไม่เคย พบเหตุการณ์เช่นนี้ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟังด้วย ความแปลกใจว่า ทำไมถึงได้บังเอิญอย่างนี้ แล้ว ก็ทำไมลงตัวพอดีไปหมดทุกแห่ง

คำว่าพบโดย “บังเอิญ” และ “ลงตัวพอดี” นั้น หมายถึงผู้เขียนไม่มีความรู้พิเศษล่วงหน้า ว่าที่ไหนเขาจะมีการบูรณะบ้าง เพราะมีแต่ความ รู้แค่บนหน้ากระดาษเท่านั้น นี่มิใช่ถ่อมตัวนะ ขอพูดกันจริง ๆ ใครจะมาถามเรื่องอดีตหรือ อนาคต นี่ไม่รู้จริง ๆ รู้แต่เรื่องปัจจุบันเท่านั้น

(และมีบางท่านที่มีความเคารพนับถือกัน บางทีก็รู้จักกันมานาน บางคนก็เพิ่งจะเข้ามาใหม่ บางครั้งก็มาร่วมทำบุญด้วย บอกว่าขอเห็นธรรม ตามที่เห็นแล้วด้วยนั้น ผู้เขียนอายจังเลย เพราะ รู้ตัวดีว่า เรายังไม่ได้อะไรเลย เพียงเพิ่งจะเริ่มต้น เท่านั้นเอง จึงบอกไปว่าขอให้เห็นตามที่หลวงพ่อ เห็นก็แล้วกันนะ เพราะไม่ผิดอย่างแน่นอน

แต่มีบางรายเรียกว่า “อาจารย์” ตัวเอง ฟังแล้วก็แทบจะอานเหมือนกัน จึงบอกว่าขอให้ เรียกธรรมดาว่า “หลวงพี่” ก็แล้วกัน มันมีความ สนิทสนมเป็นกันเองดีกว่า แล้วก็ยังไม่อยากจะ ตั้งตัวเป็นครูของใคร ต้องขอโทษด้วยนะ ที่อาจ จะไปกระเทือนใครเข้า ไม่มีเจตนาอื่นใด เพราะ ความจริงก็คือความจริง)

นั่นก็เป็นเรื่องที่ผ่านมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยสรุปนำมาประมวลกัน แต่ท่านผู้อ่านอย่าคิดว่าหมดแล้วนะ นี่เป็นแค่บูรณะในแต่ละภาคใหญ่ ๆ ที่สำคัญเท่านั้น ยังมีภาค ย่อยของแต่ละภาคอีก ซึ่งจะประมวลทั้งหมด อีกครั้งหนึ่ง หลังจากจบงานปี ๒๕๔๕ ไปแล้ว ถือว่าเป็นการประมวลทั่ว “ชมพูทวีป” เลย ไม่ใช่ “รวมภาค” เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

ส่วนที่ประมวลในงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานภายในประเทศก่อน ตอนนี้ขอเล่าเหตุการณ์ ที่ผ่านมา ณ วัดสระเกศฯ ต่อไปว่า ผู้จัดได้กล่าวขอให้พวกเราร่วมกันเฉลิมฉลองความสำเร็จ ในครั้งนี้ เหมือนอย่างที่ชาวสวรรค์ชั้นฟ้า เขาบันเทิง เริงใจกัน ที่เรียกว่า เทพบันเทิง นั่นเอง


ทุกคนก็ได้ออกมาร่ายรำกัน แล้วแต่ใคร จะประดิษฐ์ท่ารำเอาเอง ถือว่าเป็นการฟ้อนถวาย เป็นพุทธบูชา คงไม่มีใครบ้าที่คิดว่า “ผี” มาแอบ แฝงคนรำดอกนะ พวกผีด้วยกันจึงพูดเช่นนั้น

เป็นอันว่า เทพธิดาทั้งหลายบันเทิงผ่าน ไปแล้ว ต่อจากนั้นก็จึงได้กล่าวถวายราชสดุดีว่า..

“การตามรอยพระพุทธบาท นอกจากจะตามรอยพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็ยังตามครูบา อาจารย์ ถือเป็นการตามรอยท่านพ่อท่านแม่ และ ตามรอย ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย อีกด้วย เพื่อ อานิสงส์ครั้งนี้ จะได้ช่วยให้เราเดินเข้าสู่มรรคผล นิพพาน อันเป็นหนทางที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ที่กุลบุตรกุลธิดาทั้งหลายต่างมาเกิดในชาตินี้ ก็หวังที่จะทำกิจในพระพุทธศาสนาให้จบสิ้นไป

จึงขอขอบคุณและอวยชัยให้ผู้ร่วมงานทุกท่าน ผู้เป็นเหล่ากอของ พระสัมพเกษีโพธิสัตว์จงได้กำจัดกิเลสให้มลายสิ้นทั้งอินทรีย์นี้ ขอให้พวกเราได้รำวง เพื่อเป็นการฉลองไว้ล่วงหน้า ขอเชิญชาวฟ้าทั้งหลาย จงมาเป็นสักขีพยาน ณ กาลบัดนี้เถิด...”


ครั้นแล้วเสียงเพลง “รำวงชาวฟ้า” ก็ดัง ขึ้น คราวนี้รู้สึกทุกคนออกมารำกันอย่างมากมายหลายคนสนุกสนานรื่นเริง ลืมความเศร้าความ ทุกข์ ความอาลัยไว้ชั่วคราว ผู้จัดก็กล่าวต่อไปว่า

“ผลงานที่สำเร็จแต่ละครั้ง นอกจากพระ พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ พรหม เทวานุภาพ และพระสยามเทวาธิราชเจ้าทั้งหลาย ขอให้พวกเราจงร้องเพลงนี้ เพื่อถวายแด่พระบารมีปกเกล้าทั้งหลาย ตลอดถึงพระบรมจักรีวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อขอให้ทรงคุ้มครองป้องกัน ภยันตรายทั้งหลาย”

“พระบารมีปกเกล้าชาวไทยในกรุณา ร่มเย็นเช่นสายพระพิรุณ พระกรุณาธิคุณล้นค่า พระราชกิจเพื่อไทยประชา ข้าวรพุทธเจ้าภูมิใจ อ้า..องค์พระจงเกษมสำราญ พระบุญญาธิการสด ใส พระเกียรติยศ จงปรากฏเกริกไกร เป็นหลัก ไทยยิ่งใหญ่ไชโย..ไทยร่วมใจ..(ไชโย)..ถวายพระพร ทรง..อมร..(ไชโย)..อมตะคู่ไผทของชาวประชา”


แหม..เสียงไชโย..! ดังลั่นแต่ก็ไม่สนั่น เป็นที่รบกวนใคร คงดังก้องอยู่ในหัวใจคนไทย ผู้รักชาติรักแผ่นดิน ด้วยเพลง พระบารมีปกเกล้า จบไปแล้ว ผู้จัดก็กล่าวต่อไปอีกว่า...

“วันนี้วันดี..เป็นวันที่มีความสุขที่สุด คือจะได้พ้นจากภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบมา นานถึง ๗ ปีเต็ม จะต้องเสี่ยงภัย เสี่ยงอันตรายทุกอย่าง เสี่ยงต่อคำติฉินนินทา แต่ก็ได้รับ ความอุปถัมภ์ด้วยดีตลอดมา จากเพื่อนพระ ภิกษุทั้งหลาย ทั้งภายในวัดและที่อยู่ต่างวัด

โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ในวัดท่าซุง อันมี พระครูปลัดอนันต์ พระครูสมุห์พิชิต เป็นต้น จึงขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ และขออวยพรให้ทุกท่านจงมีความสุขเช่นกัน ช่วยมาร้องมา รำกันอีก เพื่ออำนวยอวยพรให้กันและกัน ด้วยเพลง.. “วันนี้วันดี”


ณ โอกาสนี้ ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงยิ่ง แด่พระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จฯ และท่านเจ้าคุณพระสุวรรณเจติยาภิบาล ตลอดถึงพระเถรานุเถระวัดสระเกศทั้งหลาย ที่ ได้กรุณาให้การอุปถัมภ์ในการจัดงานครั้งนี้


เพื่อร่วมกันกับวัดท่าซุง จัดงานฉลอง สมโภช พระบรมบรรพต เพื่อถวายพระราชกุศล เป็นการเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ ๖ รอบ จึง ขอให้พวกเราทุกคนร้องเพลงนี้ เพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงเจริญพระชนมายุยิ่งยืน นาน ด้วยการร้องเพลง “ภูมิแผ่นดิน ฯ” จากนั้นก็ออกมารำวงเพลง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์




เมื่อจบเพลงทั้งร้องทั้งรำ เพื่อเป็นการบูชาคุณพระมหากษัตริย์ไปแล้ว พวกเราก็ทำการถวายความเคารพ พร้อมกับเชิญ คณะรวมใจภักดิ์ ออกมา รำกลองยาว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองกันต่อไป ทุกคนออกร่ายรำพร้อมกันทั้งหญิงและชาย ด้วยท่วงท่าทำนองที่สนุกสนาน ผู้ชมต่างปรบมือด้วยความชื่นชม แล้วก็มาระทมกับเพลง “พ่อ” ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณต่อลูกอย่างเหลือล้น



(กลองยาวรุ่นจิ๋วก็มาด้วยนะ)

สุดท้ายนี้ ขอให้พวกเราได้จากลากัน ด้วยเพลง “มาลีที่รัก” และเพลง “ลา” เพื่อเป็นการบอกอำลางาน ณ แผ่นดิน รัตนโกสินทร์ แห่งนี้ ทุกคนออกมารำวงกันเป็นเพลงสุดท้าย แล้วเสียงเพลง สรรเสริญพระบารมี ก็ดังขึ้น


ทุกคนยืนถวายความเคารพ เป็นอันจบ งานพิธีบวงสรวงและงานพิธีถวายราชสดุดี แด่พระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อไปก็จะเป็น งานพิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลต่อไป


(ภาพจาก i114.photobucket.com)

จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ทุกคนขึ้นไปบนพระเจดีย์ โดยเฉพาะผู้เขียนได้อัญเชิญผ้าห่มสีทองขึ้นไปห่มโดยรอบ พร้อมกับสรงน้ำหอมและ โปรยดอกไม้ เพื่อเป็นการถวายเครื่องสักการบูชา เสียดายที่ช่างภาพไม่มีเวลาขึ้นไปถ่ายภาพ แต่ช่างถ่ายวีดีโอขึ้นไปบันทึกภาพไว้ได้ กรุณาคลิกชม "คลิปวีดีโอ" อันเป็นประวัติศาสตร์นี้ได้ เพราะไม่สามารถจัดงานพิธีแบบนี้ได้อีกแล้ว.


พิธีทอดผ้าป่ามหากุศล


ครั้นได้เวลาก็มารวมกัน ณ ศาลาทำบุญ โดยที่มีพระเถรานุเถระจำนวน ๙ รูป นั่งอยู่บน อาสนสงฆ์ อันมี ท่านเจ้าคุณธรรมกิตติโสภณ เป็นประธาน จากนั้นก็มีการรับศีล เจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ส่วนญาติโยมก็ รับประทานอาหารกลางวันกันข้างนอก





(พระชัยวัฒน์เข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อสมเด็จฯ ก่อนจะเริ่มพิธีทอดผ้าป่า)

จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว คืออาหารหมดแทบไม่มีเหลือ ใกล้เวลาเที่ยงวัน ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ จึงเดินเข้ามา โดยแวะเยี่ยมชมร้านค้า พร้อมกับทักทายบรรดาเจ้าภาพเลี้ยงอาหารที่หน้าศาลาก่อน

ในระหว่างนั้น มีคนบอกว่า “พระอาทิตย์ทรงกลด” พอดี หลังจากท่านเข้าไปนั่งบนอาสนะสงฆ์แล้ว ผู้จัดจึงได้กราบนมัสการ พร้อมทั้งกล่าว ถวายรายงาน เรื่องงานตามรอยพระพุทธบาทว่า...

คำกล่าวถวายรายงาน


“กราบนมัสการท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมขอกราบถวายรายงานความเป็นมาในภารกิจงาน "ตามรอยพระพุทธบาท" ซึ่งได้ร่วมปฏิบัติกันในนาม คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เพื่อประสานความรักความสามัคคีกันในระหว่างลูกหลานหลวงพ่อทั่วทุกภาคของประเทศ

อันเป็นกิจกรรมหลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อมรณภาพแล้ว เพื่อสืบสานงานของ ท่านที่เป็นคุณประโยชน์ต่อ ชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยการจัด “งานพิธีบวงสรวงสักการบูชา” และร่วมกันปฏิสังขรณ์โบราณ สถานที่สำคัญทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยความอุปถัมภ์จาก ท่านพระครูปลัดอนันต์พทฺธญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย เพื่ออธิษฐานขอพรจากคุณพระรัตนตรัย คุณของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดถึงพระสยามเทวาธิราชเจ้าทั้งหลาย ให้ชาวไทยที่มีศีลธรรมทั้งหลาย ได้พ้น จากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย ทั้งหลาย

ฉะนั้น งานฟื้นฟูรอยพระพุทธบาทและ พระบรมธาตุ ที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองทุกแห่งของประเทศ จึงได้เริ่มต้นที่ภาคเหนือ เมื่อปี ๒๕๓๖ ด้วยการบูรณะ วิหารครอบพระพุทธบาท ๔ รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ต่อมาที่ภาคใต้ ปี ๒๕๓๗ ก็ได้จัดงาน ฟื้นฟูประเพณี ลอยกระทง เพื่อเน้นให้เห็นว่า เป็นการบูชา รอยพระพุทธบาท ณ นัมทานที ซึ่งตามหลักฐานจารึกไว้ว่าอยู่ที่ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต

จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางประทับรอย พระพุทธบาท ขนาดสูง ๙ ศอก ไว้ที่นั่น ต่อจาก นั้นก็ได้บูรณะพระวิหารที่หลวงพ่อเคยสร้างไว้ที่ ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วได้ไปร่วม บูรณะ พระธาตุนครศรีธรรมราช

ในปี ๒๕๓๘ ก็ได้จัดงานฟื้นฟูรอยพระพุทธบาท และรณรงค์วัฒนธรรมต่อไปทางภาค อีสาน ณ วัดพระบาทภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แล้วได้เดินทางไปบูรณะ พระธาตุพนม ในปีเดียวกัน ก็ได้ไปจัดงานที่ภาคกลาง เพื่อบูรณะ วัดพระ พุทธฉาย และ วัดพระพุทธบาทสระบุรี

จนถึงปี ๒๕๓๙ ก็ได้จัดงานรวมภาค เพื่อย้อนเหตุการณ์วันปรินิพพาน ณ วัดพระ แท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี ปีต่อมา ก็ได้ไปซ่อม แซมพระเจดีย์องค์เล็ก ที่หลวงพ่อเคยสร้างไว้ แล้วจัดงานพิธีตัดไม้ข่มนาม ณ พระธาตุจอม กิตติ เมื่อตอนต้น ปี ๒๕๔๐

ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจพังพินาศพอดี ในตอนกลางปี จนถึงปี ๒๕๔๑ ก็ได้เดินทางไป ทำพิธีฉลองชัย ด้วยการแต่งกายย้อนยุคสวยงาม เพื่อข่มความยากจนข้นแค้นทั้งหลาย เป็น พิธีการตัดไม้ข่มนามอีกครั้งหนึ่ง ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อบรรเทาความเลวร้าย เพราะดวงชะตาของประเทศตอนนี้ คล้ายกับ ตอนเสียกรุงให้แก่พม่า ตามที่โหราจารย์กล่าวไว้

ครั้นถึงปี ๒๕๔๒ อันเป็นปีสุดท้ายที่ได้ ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อปี ๒๕๓๖ ว่าจะทำพิธีกราบ ไหว้รอยพระพุทธบาท และพระบรมธาตุเจดีย์ และกราบไหว้คุณความดีของบรรพบุรุษไทยให้ ทั่วทั้งแผ่นดิน

เมื่อวานนี้จึงได้จัดงานแต่งกายย้อนยุค ณ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นงานพิธีตัดไม้ข่มนามเป็นครั้งสุดท้าย (ครบ ๓ ครั้ง และ ๓ สมัย) เพื่อแก้เคล็ดประเทศ ขอให้ท่าน ช่วยในเรื่องภัยของเศรษฐกิจ ภัยจากสงคราม นิวเคลียร์ และภัยธรรมชาติ เป็นต้น

เป็นอันว่า การลำดับงานพิธีกรรมเรื่องของชาติบ้านเมือง เพื่อให้ชาวไทยกลุ่มหนึ่งนี้ ได้แสดงออกซึ่งความรักชาติ ความกตัญญูรู้ คุณแผ่นดินของตน เพื่อสถาปนาชาติ พระพุทธ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่คู่กับ แผ่นดินไทย

และช่วยกันสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้ กับเมืองไทยตลอด ๕,๐๐๐ ปี ตามพุทธประสงค์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หวังจะวางรากฐานพระศาสนาไว้ ณ สยามประเทศแห่งนี้ จึงได้เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาท และประทานเส้นพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุไว้ในพระเจดีย์ ได้ประดิษฐานอยู่ในขอบ เขตประเทศนี้นับเป็นร้อยๆ แห่ง

ซึ่งเกล้ากระผมพร้อมด้วยคณะฯ ได้เดิน ทางไปสำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งที่ได้เดินทางไป ต่างประเทศ เช่น อินเดีย ลังกา พม่า อินโดนีเซีย จีน ลาว และเขมร เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างที่จัดงานนั้น มักจะเป็นเวลาที่กำลังซ่อมแซมพอดี จึงได้มีโอกาส ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ทุกแห่ง ครบทุกภาคของประเทศ ซึ่งเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของประ เทศทั้งสิ้น เช่น...

ภาคเหนือ วิหารครอบพระบาท ๔ รอย
ภาคใต้ พระธาตุนครศรีธรรมราช
ภาคอีสาน พระธาตุพนม
ภาคกลาง พระพุทธบาทสระบุรี

การจัดงานแต่ละครั้ง ก็ไม่ทราบมาก่อน ว่าทางวัดจะมีการบูรณะ พอถึงวันเดินทางจะเห็น ไม้นั่งร้านตั้งไว้พอดี ซึ่งรวมทั้งที่นี่ด้วย คือเมื่อ เดือนมกราคมนี้ ได้มากราบเรียน ท่านเจ้าประคุณ หลวงพ่อสมเด็จ และท่านเจ้าคุณสุวรรณฯ ว่าจะ จัดงานที่นี่ เพราะทราบความสำคัญสถานที่นี้ จากหนังสือประวัติวัดสระเกศมา ๒๐ กว่าปีแล้ว



(พุ่มผ้าป่าถวายเป็นค่าทาสีองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ณ วัดสระเกศฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี)

ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้เดินทางมาที่นี่ อีกครั้งหนึ่ง เห็นไม้นั่งร้านผูกไว้รอบองค์พระเจดีย์ จึงกราบเรียนว่า ผมจะขอรับเป็นเจ้าภาพในการทาสีครั้งนี้ ซึ่งท่านเจ้าคุณสุวรรณฯ ก็บอกว่า จะเร่งทาสีให้แล้วเสร็จก่อนงาน

จึงเป็นอันว่า การกราบไหว้พระเจดีย์คู่ บ้านคู่เมืองที่สำคัญมาในอดีต ก็มีอานิสงส์มาก อยู่แล้ว แต่ถ้าได้ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย ก็จะเป็นบุญวาสนาบารมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิใช่จะมี โอกาสได้ง่ายๆ ที่จะตรงกับเวลาบูรณะพอดี บาง ทีต้องรอเป็นชั่วอายุคน จึงจะมีจังหวะได้ซ่อม แซมสักครั้งหนึ่ง ซึ่งมีอานิสงส์เหมือนกับได้ร่วม สร้างด้วย

ฉะนั้น งานครั้งสุดท้ายที่จะปิดภาค ณ อาณาจักรรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งได้ลำดับมาตั้งแต่ อาณาจักรเชียงแสน หริภุญชัย สุโขทัย และอยุธยา ก็ได้จัดงานพิธีมาแล้ว ซึ่งจะครบถ้วน ณ สถานที่แห่งนี้ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่สำคัญของชาวกรุง กบิลพัสดุ์ มาก่อน จึงถือว่าสถานที่นี้เป็นมงคลแก่เมืองหลวง

และที่สำคัญมีหมุดเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศ ด้วย ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เกล้ากระผม จึงได้หมายเอาสถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอันสำคัญ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ประเทศ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงความ ผาสุขของคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยทั้งหลาย

จึงได้จัดงานพิธีบวงสรวง เพื่อเป็นการสักการบูชาท่านผู้มีคุณทั้งหลาย ทั้งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ด้วยการแต่งกายย้อนยุค นอกจาก จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแล้ว ก็เป็นการเทิดทูน พระเกียรติคุณแด่ พระบรมราชจักรีวงศ์ และจะได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล ร่วมสมทบทุนเป็น การบูรณะคือการทาสีองค์พระธาตุเจดีย์แห่งนี้ เพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้วายชนม์ทั้งหลาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ได้ร่วมกันดำรงพระบรมราช จักรีวงศ์ตลอดมาทุกรัชกาล

และในปีนี้ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคล ที่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จะได้ บำเพ็ญคุณประโยชน์ เพื่อน้อมเกล้าถวายพระราชกุศลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง เจริญพระชนม์พรรษาครบ ๖ รอบ

การจัดงานพิธีในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นสิริมงคลเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ตรงกันบังเอิญพอดี ตามที่ได้จารึกอักษรไว้ที่ตาลปัตรและย่ามว่า วันนี้เป็น วันเฉลิมฉลองที่พระบรมสารีริกธาตุของชาวศากยราช ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า ชาวกรุงกบิลพัสดุ์เป็น “ชาวไทยอาหม”

ฉะนั้น สมบัติของชาวไทยก็ต้องตกมาเป็นของคนไทย โดยได้เสด็จมาประดิษฐาน ณ แผ่นดินชาวสยามนี้ แต่ครั้งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีอายุกาล ครบ ๑๐๐ ปี ซึ่งตรงกับวันนี้ แล้วก็เป็นวันอาทิตย์พอดี พอที่จะเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองกันได้ ทั่วทุกภาคของประเทศ

การจัดงานนับเป็นเวลา ๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ก็ได้จัดไปตามลำดับอาณาจักรไทยสมัย ที่เคยรุ่งเรือง และที่เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน จนมาถึงบัดนี้ก็ครบถ้วนแล้ว จึงขอสรุปไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ แล้วก็จะยุติไว้เพียงแค่นี้

สำหรับจำนวนเงินและมูลค่าของสิ่งก่อสร้าง ที่ลูกหลานหลวงพ่อได้ช่วยกันทนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปแล้วทั่วทุกภาคของประเทศ รวมเป็น เงินทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ ล้านบาท

งานพิธีกรรมเรื่องของส่วนรวมนี้ ตามที่มีผลสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี ก็ด้วยความดีจาก ลูกๆ ของหลวงพ่อ ทุกคนมีความเคารพในระเบียบวินัย มีความอดทน ตรงต่อเวลาเสมอ เพราะสถานที่ บางแห่งต้องเสี่ยงภัยอันตราย

แต่ด้วยความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันเป็นอันดี เกล้ากระผมมีความสบายใจ จึงได้ทุ่มเทกำลังใจที่จะยอยก รอยพระพุทธบาท และ พระบรมธาตุ ไว้เหนือเศียรเกล้า เพื่อให้ชาวไทย สมัยนี้ได้รู้คุณค่า บัดนี้งานดังกล่าวก็มีผลดี คือ ได้รับความสำเร็จครบถ้วนทุกประการ


ทั้งนี้ คณะญาติโยมพุทธบริษัท และพระสงฆ์วัดท่าซุง อันมี พระครูปลัดอนันต์ เป็นหัวหน้า และพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ที่มีความเคารพถือหลวงพ่อ ก็ได้ร่วมเดินทางมาครั้งนี้ด้วย คงจะมีผลเกิดเป็นแรงบันดาลใจ จากการที่ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้เดินทางไปร่วม งานที่วัดท่าซุงทุกครั้ง นับตั้งแต่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่

นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิด ขึ้นแก่ลูกศิษย์หลวงพ่อทั้งหลาย หลังจากแทบ หมดกำลังใจที่ครูบาอาจารย์จากไป ดังคำโอวาท ที่ได้กล่าวไว้ในงานครบรอบหลวงพ่อมรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ มีความตอน หนึ่งว่า...

“ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นลูกของหลวงพ่อทุกคน ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีท่านพระครูปลัดอนันต์เป็นประธาน ได้พยายามสืบสานสิ่งงดงาม ของหลวงพ่อไว้ได้ ไม่ให้เสื่อมคลาย ให้สิ่งที่หลวงพ่อมีอยู่ และสิ่งที่หลวงพ่อเคยสั่งเคยสอน ได้เกิดเป็นอมตะ ปรากฏแก่ชีวิตของท่านทั้งหลาย

ถ้าหากว่าศิษยานุศิษย์ซึ่งตั้งอยู่ในฐานะ เป็นลูกของหลวงพ่อไม่พยายามสืบสานไว้ ความเป็นอมตะนั้นก็จะปรากฏอยู่ในที่อื่น แต่ไม่ปรากฏอยู่ในท่ามกลางของศิษยานุศิษย์ซึ่งเป็นลูก อาจจะไปปรากฏอยู่ในพรหมโลก หรืออาจจะไปปรากฏอยู่ในเมืองนิพพาน ไม่ปรากฏในท่าม กลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

แต่ว่าเพราะท่านทั้งหลายมีท่านพระครูปลัดอนันต์เจ้าอาวาส เป็นต้น มีสติปัญญาพอ ที่จะหยั่งทราบได้ว่า อะไรเป็นเพชร อะไรเป็นทอง อะไรเป็นสิ่งเลอเลิศ อะไรเป็นสิ่งประเสริฐ

จึงได้พยายามประคับประคองให้อมตะของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ คือท่านเจ้าพระคุณพระราชพรหมยาน ยังปรากฏความเป็นอมตะ เปล่งปลั่งส่องรัศมีอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของท่าน ทั้งหลายอยู่จนถึงขณะนี้...”


นี่เป็นข้อความตอนหนึ่ง ที่ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาท เหมือน กับหยาดน้ำทิพย์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจของคณะศิษย์ทั้งหลาย ให้เกิดกำลังกายกำลังใจมุ่งมั่นใน ความดีต่อไป

บัดนี้คณะศิษย์ทั้งหลายอันมีท่านพระครูปลัดอนันต์เป็นประธาน ซึ่งบังเอิญท่านมาไม่ได้ เนื่องจากเพิ่งได้รับการผ่าตัดที่ถุงน้ำดี ยังรวมตัวกันได้ เพื่อรักษาสมบัติของพ่ออันเป็นอมตะ เอาไว้ และจะช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต ตามคำสั่งสอนจากน้ำใจอันหาประมาณมิได้

กอร์ปด้วยพระคุณอันใหญ่หลวง ที่ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จให้ความเมตตาปรานี ตลอดมา ย่อมเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจอย่างยิ่งยากที่จะพรรณนาหาสิ่งใดมาทดแทนให้หมด สิ้นได้

ณ โอกาสนี้ เกล้ากระผมในนาม “คณะศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน” อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์พทฺธญาโณ เป็นประธานวัดท่าซุง ที่ได้ร่วมประสานกับทางวัดสระเกศ ร่วมกันจัดงานนี้จนเป็น ผลสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงขอน้อมกราบขอบพระคุณท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นอย่างสูงยิ่งไว้ ณ โอกาสนี้

และขอตั้งจิตอธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีแห่งพระเจ้ากรุงสยามทั้งหลาย ตลอดถึงบารมีของเทพเจ้าผู้รักษาพระบรมบรรพตแห่งนี้ โปรดช่วยดลบันดาลให้ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จ ได้ปราศจากสรรพโรคาพาธ อุปัทวันตรายทั้งหลาย ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ลูกหลาน หลวงพ่อตลอดไปขอรับ...”


เมื่อได้กล่าวถวายรายงานดังนี้แล้ว จึงได้ร่วมกันถวายผ้าป่า รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๒๓๐,๑๘๐ บาท ซึ่งได้ถวายเป็นส่วนองค์แด่ หลวงพ่อสมเด็จฯ จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับพระพุทธรูป “ปางประทับรอยพระบาท” สูง ๙ นิ้ว ประดับเพชรอยู่ในตู้กระจกอย่างสวยงาม

นอกจากนี้ก็ยังถวายปัจจัยกับพระสงฆ์ทุกรูปด้วย พร้อมกับญาติโยมร่วมกันถวาย เครื่องไทยทาน อันมีย่ามและตาลปัตร เป็นต้น หลังจากนั้น ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ประทานพระโอวาทแล้วพระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธี โดยมีการถวายพระราชกุศลว่า

อิทังปุญญะ ผะลัง..ผลบุญใดที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ ขออุทิศถวายพระราชกุศลนี้ แด่พระเจ้าตากสินมหาราช และพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ทุก ๆ พระองค์ อันมี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช เป็นต้น ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุก ๆ พระองค์ ขอได้โปรดเสด็จมาอนุโมทนา เพื่อเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศล ของข้าพระพุทธเจ้า ในครั้งนี้ด้วยเถิด

และขออานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย และพระสยามเทวาธิราชเจ้าทั้งหลาย ได้ทรงโปรด อภิบาลรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสพระราชธิดา และพระราชนัดดาทั้งหลาย ตลอดถึงเหล่าข้า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และปวงประชาชาวไทยผู้ตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรมอันดี

ขอให้มีความปลอดภัย จากสัพพทุพภิกขภัย สัพพโรคาพยาธิ สัพพอุปัทวันตราย ทั้งหลายเหล่านี้ จงถึงความพินาศหมดสิ้นไป ขอลมและฝนจงตกต้องตามฤดูกาล อย่าได้มี อันตรายจากน้ำท่วมใหญ่ ลมแรง แผ่นดินไหว และสงครามอาวุธสมัยใหม่ เป็นต้น

ขอสัพพมงคลทั้งหลาย จงประสิทธิโชค สิทธิชัย สิทธิลาภัง สิทธิธนัง จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็น ผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จทุกประการ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจแห่งสัจจะอธิษฐาน และด้วยอำนาจ แห่งการบูชา ที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้เดินทางไปทั่วชมพูทวีป เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท และพระบรมธาตุ

ขอพระศาสนาของพระองค์ จงได้ตั้งมั่น ในประเทศอันสมควร และสยามประเทศแห่งนี้ ครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี และขอบุญกุศลในครั้งนี้ จงสำเร็จประโยชน์สูงสุด ทั้งทางโลกและทางธรรม แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในชาติปัจจุบันนี้ เทอญฯ...”



(ด้านขวามือ คือท่านพระมหาปรีชา จากบ้านโป่ง จ.ราชบุรี มาร่วมงานด้วย)

เป็นอันว่างานพิธีทั้งสองวัน ๒ สมัย ใน ๒ อาณาจักร ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ท่ามกลาง ความปลาบปลื้มยินดีของทุกคน ต่างก็แยกย้าย เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของตน บางคนก็เดินขึ้น ไปบนบรมบรรพต ปรากฏพระอาทิตย์ยังทรงกลด คือแผ่รัศมีแวดล้อมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เป็นการบอกเหตุแห่งพิธีกรรม ที่ได้กระทำทุกประการ อันเป็นผลของความสำเร็จ ที่จะมีต่อส่วนรวม คิดว่าคงจะปรากฏในอนาคต ต่อไป จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาผู้ร่วมงานทุกท่าน รวมทั้งท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอได้โปรดติดตามตอนต่อไปในเรื่อง “งานทำบุญฉลองวิหาร สมเด็จองค์ปฐม” เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๔๒

แต่ก่อนที่จะจบกันในตอนนี้ ขอนำพระ โอวาทของ ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่ได้กล่าวไว้เป็น “สัมโมทนียกถา” เมื่อวันงานฉลองสมโภช วันที่ ๒๓ พ.ค. ๔๒ เพื่อมอบให้ แก่ผู้อ่านทุกท่านที่มิได้ไปร่วมงานในวันนั้น...



โอวาท "หลวงพ่อสมเด็จฯ" วัดสระเกศ

“ขอเจริญพรบรรดาคณะศิษย์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ทั้งฝ่ายพระเณรและญาติโยมทุกท่าน ตามที่ท่านชัยวัฒน์ ได้กล่าวให้ท่านทั้งหลาย ได้รับทราบร่วมกันในครั้งหนึ่งในที่นี้คือ เรื่องการบวงสรวงบูชาที่ได้ทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖

และปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญคือ “ในหลวง” มีพระชนม์พรรษาพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี คณะท่านทั้งหลายแม้จะไม่ได้ คิดไว้ก่อนหรือคิดไว้บ้างว่า เวลาที่มาทำพิธี ที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ปี ๔๒ นี้ เป็นปีที่ “ในหลวง” มีพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี แต่เหตุการณ์ก็ เป็นจริงอย่างที่ท่านได้กล่าวแล้ว

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทรงนิยมการเคารพบูชา และทรงสอนมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ก็ทรงเน้นให้ผู้นับถือพระศาสนาของพระองค์ ได้เคารพบูชาสิ่งที่ควรเคารพบูชา ท่านผู้ที่ควรเคารพบูชา และผู้นับถือพุทธศาสนา ทั้งฝ่าย พระและญาติโยม ก็ได้ปฏิบัติธรรมในครั้งนี้



(ถวายภัตตาหารแด่พระเถรานุเถระวัดสระเกศ และพระสงฆ์ที่มาร่วมงานทั้งหมด)

เวลามีการ “บวงสรวง” ตามโบราณประเพณี ได้ทำตามแบบอย่างของบรรพบุรุษบูรพาจารย์ ไม่ได้คิดเอาเอง และท่านได้นำทำเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นชีวิต ลูกศิษย์ของท่านดี แม้ท่านจะมรณภาพล่วงไปแล้ว แต่ลูกศิษย์ทั้งฝ่ายพระ ฝ่ายเณร และญาติโยม ก็ได้พากันปฏิบัติตามแบบอย่างที่หลวงพ่อท่านเคยแนะนำไว้

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จุดที่สำคัญ ก็คือการปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ที่ได้แนะนำพร่ำสอนในทางที่ดีงามถูกต้อง พ่อแม่ที่ แนะนำพร่ำสอนลูกๆ ให้ทำในทางที่ดีงามถูก ต้อง ถ้าลูกได้ทำตาม ลูกก็เจริญ ไม่มีเสื่อม

เพราะได้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน ตามที่ท่านแนะนำ ทุกคนที่ยังครองชีวิตเป็นมนุษย์ธรรมดาก็ต้องการสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำให้เราหลงใหลมัวเมาประมาท



(หลวงพ่อสมเด็จฯ และพระเถระวัดสระเกศ ให้พรโดยถือตาลปัตรที่พวกเราได้ถวายไว้นั้น)

แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความสะดวก ในการที่จะทำความดีต่าง ๆ เช่นให้ทาน รักษาศีล จะให้ทานได้ก็ต้องมีสิ่งของที่จะให้ จะรักษาศีลได้ ก็เพราะจิตใจปลอดโปร่งสบาย ถ้าจิตใจไม่ปลอดโปร่ง สบายก็เป็นห่วงนั่น เป็นห่วงนี่ จะรักษาศีลได้ยังไง

ปากก็ว่าไปใจก็คิดอะไรต่อร้อยแปดพันเก้า แต่ถ้าเรามีสิ่งที่มนุษย์ต้องการก็สามารถที่จะให้ทานและรักษาศีล ซึ่งเป็นเบื้องต้นได้โดยสะดวก ท่านทั้งหลายทราบกันอยู่ดีแล้วและอ่านคำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำกันมาเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องจริงลูกของหลวงพ่อคนไหนทำได้ ลูกหลวงพ่อคนนั้นก็ชื่อว่าทำได้ไม่ต้องสงสัย

แม้จะมีปัญหาอุปสรรคบ้าง ซึ่งเป็น เรื่องธรรมดาของคนที่อยู่กันมาก ๆ แต่ผลที่ สุดก็ปลอดโปร่งไปได้ ที่ปลอดโปร่งไปได้ ก็ปลื้มใจว่าเราได้มาทำ คนอื่นเรือนหมื่นเรือนแสนเท่าไหร่ก็ไม่ได้ทำ เพราะเป็นเรื่องที่เขา ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำได้ ยังมีมารผจญอยู่



(ก่อนจะกลับที่พัก หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้เดินทักทายกับญาติโยมที่มาร่วมงานทุกคน)

แต่ว่าเรานั้นมาทำได้แล้ว จึงตั้งใจให้ได้ ตักตวงให้เต็มที่ด้วย การนึกว่าเรามาทำ ความดีแล้ว อย่าทำเฉยๆ นะ อย่าทำตามกันไป พอบอกว่าไหว้ก็ไหว้ พอบอกว่าถวายก็ถวาย ให้นึกในใจให้ดี นึกอย่างหลวงพ่อ สอนนั้นแหละ แล้วท่านทั้งหลายก็จะเห็นเองว่าที่ท่านทั้งหลายทำอย่างนี้น่ะ เป็นความดีของท่าน เป็นความเจริญงอกงามทั้งทางกายและทางใจของท่าน

เพราะทั้งหมด นี่ว่าฉลองกันให้หมดนะ ฉลองก็คือช่วยทานกันให้หมด ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ใช่มีหน้าบึ้งหน้าตึงเคร่งเครียดเพราะอะไร เพราะเราตั้งใจมาเหมือนกันคือมาทำความดี คนนั้นเร็วบ้าง คนนี้ช้าไป ก็ไม่ได้ ถือกัน ต่างคนต่างก็ทานของที่เคยทานกัน ทั้งนั้นแหละ

แต่ยิ่งกว่าทาน..รักษามรดกอันมีค่า ซึ่งไม่เป็นตัวเป็นตน อยู่ในใจของท่านนี่นะนั่งกันเต็มนี่อยู่ในใจของท่าน อยู่เป็นจุดๆๆๆมองไม่เห็น แต่เป็นมรดกที่ทุกคนเก็บไว้ได้ เก็บไว้ในใจ เก็บไว้ให้ดี รักษาไว้ให้ดี ไม่รู้จักตายกลายเป็นธรรมจักร มีคุณค่าราคาสูงยิ่งนัก

ถ้าพูดกันตามราคา ก็ประเมินไม่ได้ว่าราคาเท่าไหร่ แต่คุณค่านั้นสูงส่ง อย่างที่ท่านชัยวัฒน์ ท่านพูดว่าจะเป็นเหตุให้เราได้ประสบความสุขสูงเรื่อยๆ ขึ้นไปจนถึงนิพพาน ที่เราต้องการและให้ได้โดยเร็วพลันฉับไว


สำคัญเสียงข้างนอกไม่ค่อยจะได้ยิน แต่ไม่เป็นไร เสียดาย.เพราะตะกี้ถามเขาว่า ลำโพง..ไมค์..ไม่คอยดี ก็ฟังแว่ว ๆ เอาก็แล้วกัน แว่ว ๆ แล้วค่อยฟังใหม่ ฟังดังชัดก็ คือที่วัดท่าซุง คอยฟังเอาที่โน่น วันนี้พูดที่นี่ ไม่ได้ตั้งเครื่องไว้ข้างนอก..ไมค์ไม่มี

แต่ว่าค่อยถามเขาดูก็แล้วกัน ว่าบอกว่ายังไง พูดว่ายังไง เพราะบอกแล้วนี่ ง่ายนิดเดียวว่า บอกว่าพูดอย่างที่หลวงพ่อท่าน เคยสอนไว้ เราคราวนี้เข้าใจง่าย เมื่อท่านทั้งหลายได้ถวายผ้าป่าสมทบทุน เท่าไหร่ยังไม่ทราบยังไม่ได้ถามท่านชัยวัฒน์ ยังไม่ต้องถามก็ได้ยอดเท่าไหร่

อาตมาก็ขอน้อมถวายพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ “ในหลวง” คือ รัชกาลที่ ๕ พระปิยะมหาราช ทรงมาบรรจุไว้ครบ ๑๐๐ ปีแล้ว แล้วเอาพระธาตุไว้ข้างใน พอวางเสร็จแล้วเทคอนกรีตกลบ ไม่มีทางที่จะเห็นได้เลย ท่านกลัวว่า..ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวคนโน้นคนนี้ก็อยากจะดูแล้วดึงกันไปยื้อกันมา เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้นอย่างนี้..!



หลวงพ่อพระราชพรหมยานกับสมเด็จพระพุฒาจารย์

เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นไป เพราะเดี๋ยวก็เสร็จแล้ว ก็ถ้าไม่มีธุระอะไรที่ สำคัญนะ พากันเดินขึ้นไป แล้วก็เดินลงมา ขึ้นไปแล้วไม่ลงไม่ได้นะ ต้องเดินลงมา เดินลง มาแล้ว จะเดินรอบภูเขาทองอีกทีก็ได้

แล้วขึ้นไปข้างบนนั้นน่ะ นอกจากภายในพระมณฑปแล้ว ก็ให้ขึ้นไปถึงข้างบนมีอีก ชั้นหนึ่ง ขึ้นไปดูว่าเป็นอย่างไร ก็จะได้รู้ว่า ถ้าอยู่บนโน้น..บนหอระฆังนั้นน่ะ เราไม่สามารถ จะขึ้นไปได้เลย อยู่สูง เพราะงั้นใครที่เคยขึ้นแล้วขึ้นซ้ำอีกได้ ถ้ายังไม่เคยจะได้ขึ้น ขึ้นซะ..วันนี้นะ

แต่ว่าคนไหนที่ขาแข้งไม่ดีก็ไม่ต้องขึ้นนะ หามขึ้นไปก็แล้วกัน เดินกันขึ้นไปธรรมดา ใครขึ้นไม่ได้ก็ไหว้อยู่ข้างล่างนะ ใครเดินได้ ก็เดินขึ้นไปเหอะดี ได้ไปดูบ้านดูเมืองด้วย ได้บุญด้วย ได้เข้าไปใกล้พระธาตุไปอีกด้วย

จึงขอให้ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมา บำเพ็ญกุศลร่วมกันในวันนี้ เกิดปีติยินดีใน สิ่งที่ได้ทำ คือความดีนะ เป็นทานบ้าง เป็น ศีลบ้าง เป็นภาวนาบ้าง ทาน ศีล ภาวนา นี่แม้จะตั้งใจให้ดีช่วงละนิดเดียว โบราณว่าชั่วช้างกระพริบหู ช่วงงูแลบลิ้นเท่านั้นแหละเป็นพลังที่สูงมากนัก เราก็ทำได้ทุกคน

จึงขอผลทานนี้ ให้ถึงพ่อถึงแม่ คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยายนะ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และที่ลืมไม่ได้ก็ถวายหลวง พ่อฤาษีลิงดำ ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน อีกด้วย ขอให้ท่านตั้งใจนะ...ฯ”

เป็นอันว่า "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๕" คงจะหมดเนื้อเรื่องแต่เพียงแค่นี้

สวัสดี



◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 23/3/11 at 17:07 Reply With Quote


(Update 23-03-54 )


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved