ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 16/11/10 at 08:37 Reply With Quote

นิทานชาดก (เรื่องที่ 38) นังคลีสชาดก - ชาดกว่าด้วย "คนพูดจาโลเล"


...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 38 มีชื่อว่า "นังคลีสชาดก" (อ่าน..นังคะลีสะชาดก) เป็นเรื่องของ "คนเลวพูดจาโลเลเชื่อถือไม่ได้" โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "อาจารย์ทิศาปาโมกข์" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred.

Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.38 called "Nungkhalisa Jataka" The come into the Buddha "Principal"

นังคลีสชาดก : ชาดกว่าด้วย "คนพาลกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว"


มูลเหตุที่ตรัสชาดก

...พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระโลลุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสพฺพตฺถคามึ วาจํ ดังนี้.

ได้ยินว่า พระเถระนั้น เมื่อกล่าวธรรม มิได้รู้ข้อที่ควรและไม่ควรว่า ในที่นี้ควรกล่าวข้อนี้ ในที่นี้ไม่ควรกล่าวข้อนี้ ในงานมงคล ก็กล่าวอวมงคล (งานที่ไม่เป็นมงคล) กล่าวอนุโมทนาอวมงคล นี้ว่า

"เปรตทั้งหลายพากันยืนอยู่ที่นอกฝาเรือน และที่กรอบประตูและเช็ดหน้าเป็นต้น"

ครั้นถึงงานอวมงคล เมื่อกระทำอนุโมทนากลับกล่าวว่า

"เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ได้คิดมงคลทั้งหลายกันแล้ว เป็นต้น" แล้วกล่าวย้ำว่า ขอให้พวกท่านสามารถกระทำมงคลเห็นปานนั้น ให้ได้ร้อยเท่า พันเท่าเถิด.

ครั้นวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย พากันยกเรื่องนี้ขึ้นสนทนากัน ในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระโลลุทายีมิได้รู้ข้อที่ควรและไม่ควร กล่าววาจาที่ไม่น่ากล่าวทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง.

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.

"ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่โลลุทายีนี้ มีไหวพริบช้า เมื่อกล่าวก็ไม่รู้ข้อที่ควรและไม่ควร แม้ในครั้งก่อน ก็ได้เป็นอย่างนี้ เธอเป็นผู้เลื่อนเปื้อนเรื่อยทีเดียว" แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-


เนื้อความของชาดก

.......ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี. พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล เจริญวัยแล้ว เล่าเรียนสรรพศิลปวิทยาในเมืองตักกสิลา ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในพระนครพาราณสี บอกศิลปวิทยาแก่มาณพ ๕๐๐.

ครั้งนั้น ในบรรดามาณพเหล่านั้น มีมาณพผู้หนึ่ง มีไหวพริบย่อหย่อน (ปัญญาอ่อน) เลื่อนเปื้อน เป็นธัมมันเตวาสิก เรียนศิลปะ แต่ไม่อาจจะเล่าเรียนได้ เพราะความเป็นคนทึบ แต่ได้เป็นผู้มีอุปการะต่อพระโพธิสัตว์ ทำกิจทุกๆ อย่างให้เหมือนทาส.

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์บริโภคอาหารเย็นแล้ว นอนเหนือเตียงนอน กล่าวกะมาณพนั้น ผู้ทำการนวดมือ เท้าและหลังให้ แล้วจะไปว่า

พ่อคุณ เจ้าช่วยหนุนเท้าเตียงให้ก่อน แล้วค่อยไปเถิด. มาณพหนุนเท้าเตียงข้างหนึ่งแล้ว ไม่ได้อะไรที่จะหนุนเท้าเตียงอีกข้างหนึ่ง ก็เลยเอาวางไว้บนขาของตน จนตลอดคืน.

พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นในตอนเช้า เห็นเขาแล้ว ถามว่า พ่อคุณ เจ้านั่งทำไมเล่า?
เขาตอบว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ผมหาอะไรหนุนเท้าเตียงไม่ได้ เลยเอาวางไว้บนขาของตน นั่งอยู่.

พระโพธิสัตว์สลดใจ คิดว่า มาณพมีอุปการคุณแก่เรายิ่งนัก ในกลุ่มมาณพมีประมาณเท่านี้ เจ้านี้คนเดียวโง่กว่าเพื่อน ไม่อาจศึกษาศิลปะได้ ทำอย่างไรเล่าหนอ เราจึงจะทำให้เขาฉลาดขึ้นได้.

ครั้นแล้ว ก็ได้เกิดความคิดขึ้นว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง เราต้องคอยถามมาณพนี้ ผู้ไปหาฟืนหาผักมาแล้วว่า วันนี้ เจ้าเห็นอะไร เจ้าทำอะไร.

เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจะต้องบอกเราว่า วันนี้ ผมเห็นสิ่งชื่อนี้ ทำกิจชื่อนี้. ครั้นแล้วเราต้องถามว่า ที่เจ้าเห็น ที่เจ้าทำเช่นอะไร?

เขาจักบอกโดยอุปมาและโดยเหตุว่า อย่างนี้ ด้วยวิธีนี้ เราให้เขากล่าวอุปมาและเหตุแล้ว จักทำให้เขาฉลาดได้ ด้วยอุบายนี้.

ท่านจึงเรียกเขามาบอกว่า พ่อมาณพ ตั้งแต่บัดนี้ไป ในที่ที่เจ้าไปหาฟืนและหาผัก เจ้าได้เห็นได้กินได้ดื่ม หรือได้เคี้ยวสิ่งใดในที่นั้น ครั้นมาแล้ว ต้องบอกสิ่งนั้นแก่เรา.

เขารับคำว่า ดีละ ขอรับ. วันหนึ่งไปป่าเพื่อหาฟืนกับมาณพทั้งหลาย เห็นงูในป่า. ครั้นมาแล้ว ก็บอกว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมเห็นงู.

ท่านอาจารย์ถามว่า พ่อคุณ..ขึ้นชื่อว่างู เหมือนอะไร?

ตอบว่า แม้นเหมือนงอนไถครับ. อาจารย์ชมว่า ดีแล้ว ดีแล้ว พ่อคุณ อุปมาที่เจ้านำมาว่า งูเหมือนงอนไถเป็นที่พอใจละ. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ดำริว่า อุปมาน่าพอใจ มาณพนำมาได้ เราคงอาจจะทำให้เขาฉลาดได้.

ฝ่ายมาณพ วันหนึ่งเห็นช้างในป่า มาบอกว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมเห็นช้าง.
อาจารย์ซักว่า ช้างเหมือนอะไรเล่า พ่อคุณ?
ตอบว่า ก็เหมือนงอนไถนั่นแหละ

พระโพธิสัตว์คิดว่า งวงช้างก็เหมือนงอนไถ อื่นๆ เช่นงา เป็นต้น ก็พอจะมีรูปร่างเช่นนั้นได้ แต่มาณพนี้ไม่อาจจำแนกกล่าวได้ เพราะตนโง่. ชะรอยจะพูดหมายเอางวงช้าง แล้วก็นิ่งไว้.

อยู่มาวันหนึ่ง มาณพได้กินอ้อยในที่ที่เขาเชิญไป ก็มาบอกว่า ท่านอาจารย์ครับ วันนี้ ผมได้เคี้ยวอ้อย. เมื่อถูกซักว่า อ้อยเหมือนอะไรเล่า?
ก็กล่าวว่า เหมือนงอนไถอย่างไรเล่าครับ.

อาจารย์คิดว่า มาณพ กล่าวเหตุผลสมควรหน่อย แล้วคงนิ่งไว้.

อีกวันหนึ่ง ในที่ที่ได้รับเชิญ มาณพบางหมู่บริโภคน้ำอ้อยงบกับนมส้ม บางหมู่บริโภคน้ำอ้อยกับนมสด. มาณพนั้นมาแล้วกล่าวว่า ท่านอาจารย์ครับ วันนี้ผมบริโภคทั้งนมส้มและนมสด.

ครั้นถูกซักว่า นมส้ม นมสดเหมือนอะไร? ก็ตอบว่า เหมือนงอนไถอย่างไรเล่าครับ.

อาจารย์กล่าวว่า มาณพนี้ เมื่อกล่าวว่า งูเหมือนงอนไถ เป็นอันกล่าวถูกต้องก่อนแล้ว. แม้กล่าวว่า ช้างเหมือนงอนไถ ก็ยังพอกล่าวได้ด้วยเล่ห์ที่หมายเอางวง.

แม้ที่กล่าวว่า อ้อยเหมือนงอนไถ ก็ยังเข้าท่า. แต่นมส้ม นมสดขาวอยู่เป็นนิจ ทรงตัวอยู่ด้วยภาชนะ ไม่น่าจะกล่าวอุปมาในข้อนี้ได้ โดยประการทั้งปวงเลย เราไม่อาจให้คนเลื่อนเปื้อนผู้นี้ศึกษาได้

จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า :-

......“ คนโง่ ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว ทุกอย่างได้ในที่ทุกแห่ง คนโง่นี้ไม่รู้จักเนยข้น และงอนไถ ย่อมสำคัญ เนยข้นและนมสด ว่าเหมือนงอนไถ ” ดังนี้.

ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ :-

วาจาใดที่ไม่เหมาะในที่ทุกแห่ง ด้วยสามารถแห่งอุปมา. วาจาที่ไม่เหมาะสมในที่ทุกแห่งนั้น คนโง่พูดได้ทุกแห่ง เช่น ถูกถามว่า นมส้มเหมือนอะไร? ก็ตอบทันทีว่า เหมือนงอนไถอย่างไรเล่า?

เมื่อพูดอย่างนี้ เป็นอันไม่รู้จักทั้งนมส้ม ทั้งงอนไถ. เหตุไร? เพราะเหตุว่า แม้นมส้ม เขายังสำคัญเป็นงอนไถไปได้.

อีกนัยหนึ่ง เพราะเขามาสำคัญทั้งนมส้มและนมสดว่า เหมือนงอนไถเสียได้ มาณพนี้โง่ถึงอย่างนั้น.

พระโพธิสัตว์คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยมาณพนี้ จึงบอกกล่าวแก่ พวกอันเตวาสิกทั้งหลายให้เสบียง แล้วส่งมาณพนั้นกลับไป.

.......พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
มาณพเลื่อนเปื้อนในครั้งนั้น ได้มาเป็น โลลุทายี
ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.



ที่มา - 84000.org



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved