ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 5/3/08 at 04:06 Reply With Quote

ภาพข่าว..การเดินทางไปประเทศจีน (สิบสองปันนา) ครั้งที่ 4 ปี 2549




เมื่อปี พ.ศ. 2542-2543 หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้เคยเดินทางไปสิบสองปันนาเป็นครั้งแรก มีงานฉลองพระธาตุบ้านผาย เมืองงาด เชียงรุ้ง ได้อัดเทปเด็กๆ สวดมนต์แบบชาวไตลื้อไว้นานแล้ว เสียงน่ารักและน่าฟังมาก การที่เด็กสาวๆ เหล่านี้สามารถสวดคาถาเงินล้านได้ เป็นเพราะมีพระชื่อ อาจารย์เบญจมินท์ เดินทางไปเผยแพร่ พร้อมทั้งบูรณะพระธาตุในสิบสองปันนาไว้หลายสิบแห่ง




การเดินทางไปสิบสองปันนา ครั้งที่ ๔

เมื่อ วันที่ ๑๗ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙


๑. วัดบ้านจา (งานพิธีฉลองพระประธาน) เมืองฮำ
๒. พระพุทธหัตถ์ไขว้ เมืองเชียงกู่
๓. วัดมหาราชฐานหลวง บ้านบ่อ เมืองเชียงกู่
๔. วัดพระธาตุเต่าคำ เมืองต้าล่อ
๕. วัดปะต๊ะ (รอยพระหัตถ์) บ้านปื้น เมืองลา เขตว้าแดง
๖. พระธาตุหลวงเมืองลา เขตว้าแดง
๗. พระธาตุกำลังสร้างใหม่ เมืองต้าล่อ
๘. พระพุทธบาทข้างหุน เมืองหุน
๙. พระธาตุใจเมือง เมืองออง
๑๐. พระพุทธบาทน้ำแกน บ.ฝาย เมืองออง
๑๑. พระธาตุสิริมงคล บ.ผาย เมืองออง
๑๒. พระพุทธบาทส้มป่อย บ.ผืนหลวง เมืองฮาย
๑๓. พระธาตุกู่คำ (ดอยปูคำ) บ.ฝาง เมืองสูง
๑๔. พระธาตุจอมหมอก (อังคาฬเจดีย์) และ พระธาตุจอมทอง เมืองเชียงรุ่ง
๑๕. พระพุทธบาทหมอนอิง บ้านน้ำเขม เมืองเชียงรุ่ง
๑๖. พระธาตุปางเยอ บ้านน้ำเขม เมืองเชียงรุ่ง
๑๗. พระพุทธบาท บ้านนาจวง เมืองลวง
๑๘. พระธาตุศรีใจเมือง (พระธาตุจางใจ) เมืองเชียงรุ่ง
๑๙. พระธาตุจอมคาง เมืองเชียงรุ่ง
๒๐. วัดป่าเชตวัน (วัดป่าเจ) เมืองเชียงรุ่ง

เชียงรุ่ง - เมืองฮำ

เนื่องจากมีผู้ปรารภว่า อยากจะไปเที่ยวทำบุญที่ สิบสองปันนา จึงได้ติดต่อกับ ท่านครูบาบุญศรี วัดพระธาตุ
ดอยเกิ้ง จ.เชียงใหม่ พอดีท่านก็กำลังจะหาพระพุทธรูปไปถวายที่สิบสองปันนาด้วย จึงได้บอกบุญ คุณสิทธิ - คุณนุช เป็นเจ้าภาพ ซึ่งสองสามีภรรยากำลังสร้างพระไว้หลายองค์พอดี มีทั้งพระพุทธรูปไม้ตะเคียน และ พระที่เป็นโลหะ จะเอาขนาดไหนก็ได้ทุกอย่าง

แต่ท่านบุญศรีต้องการ ๑๑ องค์ คือ องค์ใหญ่ ๑ องค์ และองค์เล็ก ๑๐ องค์ องค์ใหญ่หน้าตัก ๖๐ นิ้ว จะไปถวายไว้ที่ วัดบ้านจา เมืองฮำ สิบสองปันนา ส่วนที่เหลือจะนำไปไว้ที่ วัดปะต๊ะ เมืองลา แล้วจะมอบให้ เจ้าสิทธิชัย เจ้าอาวาส
วัดพระธาตุหลวงเมืองลา ถวายไปตามวัดต่างๆ

เมื่อผู้เขียนได้ประสานงานจนกระทั่งเดือนเมษายน ท่านบุญศรีก็ได้จัดส่งพระพุทธรูปไปทางเรือที่ท่าเรือเชียงแสนก่อน แล้วพวกเราจึงตามไปใน วันที่ ๑๗ มิ.ย. ๔๙ โดยแวะรับคณะท่านบุญศรีที่เชียงใหม่ก่อน ขณะที่เครื่องบินขึ้นจากสนามบินเชียงใหม่ มองเห็นฝนตกเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น จึงนึกขึ้นได้ว่า สมัยก่อนแคว้นสิบสองปันนาเคยขึ้นอยู่กับล้านนาเชียงใหม่

ท่านคงจะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้เป็นสิริมงคลก่อน แล้วเครื่องบินก็บินสู่ เมืองเชียงรุ่ง ในเวลา ๑๖.๑๐ น. มีรถบัสมารับคณะเพื่อเดินทางต่อไปที่ เมืองฮำ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง มีชาวบ้านจัดขบวนแห่มาต้อนรับอย่างเอิกเกริก ประเพณีเหมือนกับทางเหนือบ้านเรา มีการร่ายรำนำขบวนด้วยการตีฆ้องกลอง

ถวายพระประธาน วัดบ้านจา เมืองฮำ

เมื่อเดินทางไปถึง มีชาวบ้านจัดขบวนแห่มาต้อนรับอย่างเอิกเกริก ประเพณีเหมือนกับทางเหนือบ้านเรา
มีการร่ายรำนำขบวนด้วยการตีฆ้องกลอง


ชาวบ้านคอยยืนโปรยข้าวตอกดอกไม้อยู่สองข้างทาง พร้อมทั้งจุดประทัดเป็นการต้อนรับ ตามโบราณประเพณีเหมือนบ้านเรา


ชาวบ้านทั้งหลายเหล่านี้ แต่งกายในชุดชาวไตลื้อหลายหลากสี คือนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อรัดรูปแขนสั้น ประดับดอกไม้บนเรือนผม เดินไปพร้อมกับร่ายรำไปด้วยอย่างเชื่องช้า ตามจังหวะเสียงฆ้องกลอง ระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร ผ่านบ้านเรือนหลังคารูปแบบชาวไตลื้อทั่วไป


พอใกล้จะถึง วัดบ้านจา จะมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งคอยยืนโปรยข้าวตอกดอกไม้อยู่สองข้างทาง พร้อมทั้งจุดประทัดเป็นการต้อนรับ จนกระทั่งถึง วัดบ้านจา ภายในวัดก็มีการตีกลอง ตีระฆัง เป็นที่ครึกครื้นไปทั้งหมู่บ้าน นี่เป็นธรรมเนียมไทยแท้ พวกเราก็ยกมือไหว้ทักทายกับท่านผู้เฒ่าผู้แก่ คงจะคล้ายกับคนไทยที่ไปจากหมู่บ้านนานๆ แล้วเพิ่งจะกลับมา
นั่นแหละ

มีคณะของเราบางคนเพิ่งจะเคยเห็น จึงมีความประทับใจในการต้อนรับ แล้วก็เดินเข้าไปในวิหาร ภายในยังมี
ชาวบ้านนั่งรออยู่เต็มไปหมด พระภิกษุสามเณรนั่งบนอาสนสงฆ์ หลายรูป คงจะรอคอยคณะชาวไทยมานานจึงได้มี
การจัดเตรียมต้อนรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้มีท่านอาจารย์บุญศรีเป็นผู้ประสานงาน ด้วยการให้พระภิกษุที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน อัญเชิญพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์แบบสุโขทัย หน้าตัก ๖๐ นิ้ว โดยทางเรือนำมาถวายเป็นพระประธาน ในตอนนี้พระพุทธรูปได้ประดิษฐานอยู่บนแท่นภายในวิหารเรียบร้อย แล้ว เพื่อรอคณะของเราเดินทางมาร่วมพิธีฉลอง


หลังจากนั้นพระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์ คณะพวกเราได้ร่วมทำบุญกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยมี คุณสิทธิ - คุณนุช เป็นตัวแทนถวาย และ คุณก๊วยเจ๋ง - คุณหลี นำย่ามและอาหารแห้งถวายแด่พระภิกษุสามเณรภายในวัดทุกรูป แล้วก็มีพิธีมอบพระประธาน (บรรจุพระบรมธาตุแล้ว) อย่างเป็นทางการ

พวกเราได้นำผ้าห่มและผ้าตุงไปบูชาด้วย ท่ามกลางชาวไตลื้อที่ได้มาร่วมพิธีกันเต็มพระวิหาร หลังจากนั้นชาวบ้าน
ก็ได้จัดเลี้ยงอาหารเย็นแบบพื้นบ้าน มีข้าวเหนียว น้ำพริก ผักต่างๆ คล้ายอาหารอีสานบ้านเฮา มีหลายคนบอกว่ารสชาติ
อร่อยดี...แซบเหลือหลายเน้อ..!

ก่อนจะอำลาชาวบ้านบางจา เขาก็มีการฟ้อนรำแบบชาวไตลื้อ พร้อมชักชวนให้พวก เราเข้าไปรำด้วย โดยร่ายรำวนไปรอบๆ แล้วมีการจุดพลุไฟพะเนียง ก่อนที่รถบัสของเรา จะเคลื่อนออกไป หันมองทางหน้าต่าง จะมองเห็นรอยยิ้มพร้อมกับคราบน้ำตาของแม่ออก บางคน พวกเราก็ตื้นตันใจนึกไม่ถึงว่า ช่วงวันเวลาได้พบกันเพียงชั่วขณะหนึ่ง จะสร้างรอยยิ้มและความอาลัยได้ถึงเพียงนี้

แต่ก็ต้องหักใจโบกมืออำลา ท่ามกลางความประทับใจในผลบุญเป็นจุดแรก ที่พวก เราได้เดินทางมาร่วมงานฉลองพระประธานในครั้งนี้ จึงเดินทางกลับที่พักด้วยความอิ่มใจ พร้อมกับอิ่มจากรสชาติของอาหารพื้นบ้าน ทำให้นอนหลับกันอย่างสบายๆ เตรียมพลังไว้ในวันรุ่งขึ้นต่อไป

เชียงรุ่ง - เชียงกู่

วันที่ ๑๘ มิ.ย. ๔๙ วันนี้ต้องตื่นกันแต่เช้ามืด เพราะต้องนั่งรถกันไปไกล ก่อนจะไปท่านบุญศรีได้นำรูปภาพมาให้ดู เป็นรูป รอยพระหัตถ์ไขว้ บอกว่าอยู่ที่เมืองเชียงกู่ แต่ต้องนั่งรถไปไกล ความจริงผู้เขียนเคยไปสิบสองปันนามา ๓ ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ เห็นว่ายังมีที่ใหม่อีก จึงตอบตกลงว่าไปทันที

โดยมี คุณชำนาญ และ คุณอนิสา เป็น ผู้จัดการเดินทางรวมทั้งหมด ๓๐ ชีวิต ออกเดิน ทางจากเชียงรุ่งขึ้นไปทาง ซือเหมา (เดิมเรียก เสียมมั่ว) ระยะทางไปกลับประมาณ ๗๐๐ ก.ม. ก่อนจะถึงได้แวะที่ วัดกุ่ยหลง เพื่อรับอาหารกลางวันตามที่นัดหมายกันไว้ ก่อนจะถึงทางเลี้ยวที่ เมืองพูเออร์ มองเห็นพระเจดีย์โบราณสูงใหญ่บนยอดเขาด้วย

ถ้าดูแผนที่ตามเส้นทางหมาย ๑๒๖ ระยะทางจากเชียงรุ่งตรงไปคุนหมิง ประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตร แต่เราเลี้ยวซ้ายที่ เมืองพูเออร์ เพื่อไป เมืองเชียงกู่ หรือ เมืองบ่อ (เมืองหว่อ) ตามที่ หมอด็อดด์ เคยเข้าไปสำรวจชาวไทยกลุ่มนี้อยู่เหนือเมืองเชียงรุ่ง ที่เรียกตนเองว่า ไทยเหนือ และอยู่ใต้เมืองเชียงรุ่งลงไปเรียกว่า ไทยลื้อ หากลงไปทางเชียงตุงเรียก ไทยเขิน

ชาวไทยเหนือในจีน

ตามบันทึกการเดินทางในตอนนี้ หมอด็อดด์ ได้เล่าไว้ว่า ไทยเหนือมีเมืองที่สำคัญ คือ เมืองขวัน เมืองกึงม้า และ เมืองบ่อ

“..เมืองบ่อ หรือชนในตำบลนั้นเรียกว่า หว่อ จีนเรียกว่า ไวยวน มีชื่อเสียงว่ามีบ่อ เกลือมาก เมืองบ่ออยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำโขง (ในยูนนาน) เมืองกึงม้าอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวิน แต่เมืองขวันอยู่ทางตะวันตกของ
แม่น้ำสาละวิน ชาวไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในที่เหล่านี้ มีขนบธรรมเนียมการแต่งกาย และคำพูดอย่างเดียวกันเว้นแต่
เสียงภาษาต่างกันไปบ้าง

พระพุทธศาสนาลัทธิยวน (ลาวเชียงใหม่) ได้แพร่หลายเข้าไปในระหว่างไทยเหนือ แถบแม่น้ำสาละวิน
(ตอนที่อยู่ในจีน) โดยมีหนังสือยวนเป็นภาษาบาลีใช้เล่าเรียนกันสืบมา (ผู้เขียนว่าคงจะเป็น “ภาษาล้านนา” หรือเรียก
ว่า อักษรธรรม ) การที่พุทธศาสนาฝังลงในจิต ใจพวกไทยเหนือนั้น คงเป็นเพราะคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นหลัก ใต้ลงไปจน
ถึงเชียงใหม่ ระยะทางเกวียนจากแคว้นไทยเหนือราว ๓๕-๔๐ วัน

ข้าพเจ้าเดินทางไปทางทิศใต้ของเมืองเชียงขึง ในตำบล เมืองฮุน มีวัดและปูชนียสถานหลายแห่ง เช่นมีพระเจดีย์เหลี่ยมมาก อย่างเดียวกับเจดีย์เหลี่ยมในกรุงเทพฯ ยอดพระเจดีย์ปิดทอง มีโบสถ์งาม หลังคาโบสถ์ก็งามมีแสงเลื่อม
แต่พระเจดีย์เล็กๆ ที่สร้างไว้เหนือหลุมฝังศพของพระหรือผู้เป็นหัวหน้าไม่ได้ปิดทอง

ข้าพเจ้าได้เดินทางพบวัดร้างเช่นนี้อีกหลายแห่ง บางแห่งบ้านและศาลาที่พักก็ยังสม บูรณ์ดี แต่ไม่มีคนอยู่ เมื่อมาถึง เชียงขึง แล้วก็หยุดพัก ในถิ่นนี้มีการถือพุทธศาสนาแข็งแรง มีวัดอยู่ในเชียงขึงถึง ๑๘ วัด พระรูปหนึ่งได้บอกข้าพเจ้าว่า มีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือเมื่อถึงฤดูที่จะเพาะปลูกข้าว ชาวบ้านทุกๆ บ้าน มักเอาข้าวสารมาถวายพระคนละถัง

เมื่อออกจากเชียงขึงก็ไปถึงตำบล บ้านหลวง เป็นทุ่งราบทำการเพาะปลูกเป็นหย่อมๆ แล้วมาถึงที่พักตำบล
หนองพูม มีบ้านเรือน ประมาณ ๔๐ หลัง ชนชาติลื้อที่อยู่ในตำบลนี้ ทำไร่ข้าวบนไหล่เขาอย่างเดียวกับชนชาวเขา
ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงลำธารนั้น ได้พบหญิงชาวเขาที่มีนามว่า ข่าและว้า กำลังไปทำนา

การแต่งกายและภาษาพูดของพวกทั้งสองนี้ ก็อย่างเดียวกับชาติไทยลื้อนับถือพุทธ ศาสนา พุทธศาสนานี้เองทำให้พวกนี้เปลี่ยน สภาพจากความเป็นป่าเถื่อน มีวัดและพระอยู่ ตัวหนังสือใช้หนังสือไทย (ลาว) พวกก้อ พวก ข่า พวกว้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยพบนั้น มีรูปร่าง คล้ายพวกมลายู ญี่ปุ่น และอเมริกันอินเดียน ผู้ชายโดยมากไม่มีหนวด

ที่ๆ ข้าพเจ้าหยุดพักในเวลาเย็นนั้นใกล้ “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นปูชนียสถานอยู่ในแผ่นหินแข็ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นดินด้านเหนือของแผ่นหินรอยพระบาทนี้ สูงกว่าพื้นดิน ๑๐ ฟุต และเอียงเทไปทางใต้ ตัวแผ่นหินกว้าง ๑๐ ฟุต ยาว ๑๒ ฟุต รอยพระพุทธบาทเป็นรอยลึกอยู่กลางแผ่นหินนี้ มีมณฑปสร้างครอบพระบาทนี้ไว้...”

เรื่องที่หมอด็อดด์พบรอยพระพุทธบาทนี้ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปสืบหา แต่คำว่า เมืองฮุน น่าจะเป็น เมืองหุน ที่เคยไปก็ได้ เท่าที่ได้อ่านข้อเขียนนี้จะสังเกตได้ว่า สมัยก่อนนี้แค่ผ่านไปเพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น พระพุทธ ศาสนาในเขตดังกล่าวแทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย จึงพอจะทราบได้ว่าชาวไทยเหนือก็สืบเชื้อสายจากพวกยวน (โยนก) เชียงใหม่นี่เอง

รอยพระพุทธหัตถ์ไขว้ และ รอยพระพุทธบาท เมืองตู เมืองเชียงกู่ สิบสองปันนา


เป็นอันว่าขอเล่าเรื่องการเดินทางต่อไป หลังจากเดินทางออกมาจากเมืองเชียงรุ่งแล้ว จึงได้หยุดพักฉันอาหารเพล
ที่ร้านอาหารในระหว่างทาง เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างหนัก จนรถบัสไม่สามารถจะวิ่งต่อไปได้ พวกเราต้องช่วยกันขนข้าวกล่องลงไปรับประทานกัน โดยมีพระหลวงจีนหนุ่มๆ และโยมผู้หญิงชาวจีนตามมาด้วย

หลังจากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป รถบัสปรับอากาศวิ่งฝ่าสายฝนมาจนถึงบริเวณมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท
ซึ่งอยู่ ริมแม่น้ำสายหนึ่ง บริเวณนี้คงเคยเป็นวัดมา ก่อน มองเห็นต้นโพธิ์ใหญ่มาก ๒ - ๓ ต้น เราลงจากรถก็ต้องกางร่ม
เดินไปที่มณฑปหลังใหญ่ ด้านข้างมีภาพวาดมังกรไว้ด้วย

ภายในมีก้อนหินใหญ่ ๒ ก้อน อยู่ตรงด้านหน้าพระประธาน ข้างในมืดไม่มีใครอยู่ จึงไม่มีใครเปิดไฟ พวกเราได้เข้าไปทำความสะอาดก้อนหินที่เป็น รอยพระพุทธบาท และ รอยพระหัตถ์ไขว้ (ฝ่ามือหงายข้างขวาไขว้ กับข้างซ้าย)
มีการทาสีทองไว้ด้วย

ครูบาบุญศรีเล่าว่า เดิมก้อนหินนี้อยู่ในแม่น้ำ สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพญา มังกร ให้มีความเลื่อมใส
ในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงประทานรอยพระพุทธบาทและรอยพระหัตถ์ไว้ ณ ก้อนหินนี้ ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นมา
ไว้ข้างบนนี้ แล้วได้สร้างพระมณฑปไว้เป็นที่กราบไหว้บูชาต่อไป

เมื่อผู้เขียนเข้าไปตรวจดูแล้ว ปรากฏว่ามีการแต่งที่รอยพระหัตถ์ คงจะทำกันไว้นาน แล้ว รอยเดิมคงมีอยู่แต่อาจไม่ชัดก็ได้ ส่วนที่รอยพระพุทธบาทมีรอยเส้น ๔ รอยด้วย ไม่ แน่ใจว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต จะเคยเสด็จมายังสถานที่นี้หรือไม่ พวกเราได้ช่วย กันเอาผ้าสไบทองไปห่ม พร้อมดอกดาวเรืองบูชาไว้โดยรอบ จากนั้นก็เปิดเทปหลวงพ่อ ฯ ทำพิธีบวงสรวงกันต่อไป

หลังจากที่ได้ปิดทองสรงน้ำโปรยดอกไม้แล้ว จึงเดินชมภาพวาดที่ข้างฝาผนังพระ มณฑป เกี่ยวกับประวัติที่
พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพญามังกร แล้วเดินกลับออกมาที่จอดรถ ระหว่างนั้นได้แวะชมแม่น้ำที่อยู่เบื้องล่าง ในตอนนี้
คุณมายิน ได้เล่าว่า ก่อนจะเดินทางมาในครั้งนี้ ได้ฝันเห็นรอยพระพุทธบาทอยู่ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง ครั้นได้มาเห็นที่นี่
แล้ว ปรากฏว่าตรงตามภาพที่ฝันไว้ก่อนทุกอย่าง

วัดมหาราชฐานหลวง บ้านบ่อ เชียงกู่ สิบสองปันนา


เมื่อกลับมาหมดทุกคนแล้ว จึงเดินทางย้อนกลับไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่มี ความสำคัญมาก ชื่อว่า
วัดมหาราชฐานหลวง จะมองเห็นพระวิหารอยู่ตรงกลาง ส่วนด้านข้างทั้งสองด้าน จะมีต้นโพธิ์ใหญ่เกาะอยู่บนยอด
พระเจดีย์ นับว่าเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เป็นซากเจดีย์เก่าแก่มาแต่โบราณ แต่ปลายยอดสุดถูกรากต้นโพธิ์ใหญ่
หุ้มเอาไว้ และสามารถทรงตัวอยู่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นับว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง

ส่วนภายในพระวิหารจะมีพระประธานองค์ใหญ่ พุทธลักษณะแบบล้านนาไทย คุณกุ้ง (เอไอเอ) ได้เล่าว่า ก่อนจะเดินทางได้ฝันเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง พอได้มาเห็นพระประธานองค์นี้ ปรากฏว่าตรงกับความฝันเช่นเดียวกัน จึงได้เข้าไปกราบไหว้บูชากัน ส่วน คุณสิทธิ ได้เอาไม้เท้าหัวพญานาคถวายไว้ด้วย

ต่อจากนั้นได้เดินไปที่รอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดมหาราชฐาน หลวง ประมาณ ๕๐๐ เมตร แต่ต้องเดินเลี้ยวลัดเข้าไปในตรอกเล็กๆ จนกระทั่งเห็นศาลาโปร่งอยู่หลังหนึ่ง ภายในจะมีก้อนหินเล็กๆ จึงได้เข้าไปปัดกวาดและชำระล้าง มองดูแล้วคล้ายกับรอยพระหัตถ์เบื้องซ้าย

พวกเราได้นำผ้าตุงซึ่งปักเป็นรูปรอยพระพุทธบาทขึ้นไปแขวนไว้ แล้วจึงได้กราบไหว้บูชากันทั่วทุกคน ตอนนี้เห็นชาวบ้านมา ยืนมองดูพวกเราอยู่ห่างๆ แต่ไม่ได้เข้ามาซักถามอะไรกัน เพราะคงไม่ค่อยมีคนไทยเดินทางมาถึงที่นี่ เขาจึงไม่สนใจอะไรกับพวกเรา

หลังจากได้กราบไหว้บูชาครบถ้วนแล้ว จึงเดินทางกลับนับว่าได้มีโอกาสมาเยือนถึง ถิ่นไทยเหนือ แต่เสียดายที่เรามาสายไปหลายสิบปี จึงไม่สามารถจะทักทายในฐานะที่เป็นคนไทยเหมือนกัน เพราะถูกวัฒนธรรมของจีนกลืนไปแทบไม่เหลือแล้ว คงไม่เหมือนกับสมัยที่ หมอด็อดด์ เดินทางมาในครั้งนั้น

เป็นอันว่า เมืองบ่อ ในอดีตที่เคยเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดใน ๔ แคว้น ที่เป็น ไทยเหนือ ด้วยกัน แม้แต่ชื่อ วัดมหาราชฐานหลวง ก็เช่นกัน บอกให้รู้ว่าเป็นวัดที่เจ้าเมืองทรงสร้างไว้ คำว่า เชียงกู่ ในบันทึกของหมอด็อดด์ไม่ได้กล่าวถึงไว้ อาจจะเป็นชื่อเรียกของพระเจดีย์คู่ ที่มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าก็เป็นได้

ผู้เขียนรู้สึกดีใจที่ได้เดินทางไปครั้งนี้มิเช่นนั้นจะไม่รู้จักกลุ่ม “คนไทยเหนือ” เลย คงรู้แค่พวกไทยเขินและไทยลื้อเท่านั้นเอง ในเรื่องราวเหล่านี้ คงจะเป็นหลักฐานได้ดียิ่งว่าคนไทยเหล่านี้มิได้อพยพลงมาจาก “ภูเขาอัลไต” อย่างที่ประวัติศาสตร์เขียนไว้ให้เรียนกัน แต่ คนไทยอยู่ในผืนแผ่นดินนี้มานานกว่าชนชาติอื่น แล้วได้กระจัดกระจายออกไปต่างหาก

เชียงกู่ - เมืองฮาย - ปะต๊ะ

การเดินทางในวันนั้น ด้วยระยะทางที่ห่างไกลและเวลาที่มีจำกัด แทนที่จะกลับไป พักที่เชียงรุ่ง แต่พวกเราก็เลยไปค้างคืนที่ใน เมืองฮาย กัน เผื่อว่าวันพรุ่งนี้จะย่นระยะทาง ที่จะไป ปะต๊ะ ใกล้เข้าไปอีกนิด ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเราก็ต้องนอนดึกตื่นเช้าอีกเช่นเคย โดยนัดรถตู้ขนาด ๗ ที่นั่งให้มารับ ๔ คัน

ท่านครูบาอุ่นดี วัดพระธาตุเต่าคำ เมืองต้าล่อ


รุ่งขึ้นวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๔๙ จึงต้องออกเดินทางกันแต่เช้ามืดอีก ทั้งนี้ มีนัดกันไปทาน ข้าวเช้าที่ วัดพระธาตุเต่าคำ เมืองต้าล่อ พอไปถึงพบว่าวัดนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แทบจำไม่ได้เลย สมัยเมื่อ ๕ - ๖ ปีก่อน มี แต่เจดีย์เก่าๆ ยังไม่สวยงามเหมือนปัจจุบันนี้ ผู้เขียน รู้สึกปลื้มใจเพราะแต่ก่อนได้มาทำบุญในการบูรณะไว้พอสมควร

ตอนนี้พระธาตุทาสีทองอร่าม พวกเราได้ถวายผ้าห่มพระเจดีย์และร่วมทำบุญกับ ท่านครูบาอุ่นดี เป็นเงิน ๒,๐๐๐ หยวน ฉัน อาหารเช้าแล้ว จึงเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถกระบะแทน ๔ คัน แต่ได้รถโฟรวีลเพียง ๑ คัน เพราะต้องขึ้นเขากัน อีกทั้งฝนก็ลงมาตั้งแต่เมื่อคืนนี้

ฉะนั้น ท่านครูบาบุญศรีจึงให้คนไปซื้อเสื้อฝนมาด้วย แล้วปีนขึ้นรถกระบะเปิดประทุนตามกันไป บางช่วงก็เป็นที่ลุ่มน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาไหลแรง รถก็ต้องวิ่งลงไปน้ำ จนบางคัน เครื่องดับต้องช่วยกันลากขึ้นไป ทุลักทุเลพอสมควรกว่าจะไปถึงกันได้ พอใกล้จะถึงรถกระบะที่เช่ามาเสียไป ๒ คัน คนก็ต้องมาอยู่รวมกัน คุณแดง อยู่ที่เชียงใหม่ ได้ช่วยเหลือดีมาก

การเดินทางไป พระหัตถ์สี่รอย (ปาต๊ะ) เมืองลา เขตว้าแดง


ระหว่างทางได้พบรถของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงเมืองลา คือ เจ้าสิทธิชัย พอได้ พบกันท่านๆ ทักว่าพวกเราเอาฝนมาด้วย ความจริงแล้งมานาน ฝนเพิ่งตกเมื่อคืนนี้เอง ฉะนั้น ด้วยอานิสงส์ไหว้พระบาทคราวไร เป็นต้องเจอฝนสาหัสสากรรจ์อย่างนี้ทุกที

โค้งสุดท้ายใกล้จะถึง รถที่ไม่ใช่โฟรวีลก็ไม่สามารถจะขึ้นได้อีก ต้องจอดไว้ข้างล่าง พวกเราก็ใจถึงไม่ง้อรถกันละ อัตตา หิ อัตต โน นาโถ ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งของตน จึงพา กันลงจากรถ แล้วเดินย่ำเท้าขึ้นไปบนยอดเขา ประมาณ
๑ - ๒ กิโลเมตร พอขึ้นไปถึงวัด แล้ว พบว่ามีชาวบ้านมารอรับพระพุทธรูปกันหลายหมู่บ้าน

ทุกคนเดินขึ้นไปบนศาลาช่วยกันถวายภัตตาหารเพล และรับประทานอาหารกัน จากนั้นก็ได้ทำบุญกับพระภิกษุที่ประจำอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นพระที่ท่านบุญศรีส่งมา ถวายเป็นเงินไทย ๕,๐๐๐ บาท เงินจีน ๑,๕๐๐ หยวน พร้อมเสบียงอาหารแห้งที่เตรียมไปจากเมืองไทยด้วย


วัดปะต๊ะ หรือพระพุทธหัตถ์ ๔ รอยนี้ นับว่าเป็นสถานที่สำคัญแต่อยู่ไกลหมู่บ้าน และเป็นจุดที่อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเชียงแสน โดยทางเรือ ๒ วัน แล้วมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือ ซึ่งอยู่ห่างจากปะต๊ะ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทางภูเขาทั้งนั้น ต้องเอารถบรรทุก ๖ ล้อไปบรรทุก ใช้เวลาเดินทางถึง ๖ ชั่วโมง กว่าจะขนพระพุทธรูปกันมาได้ จะเห็นว่ายากลำบากแค่ไหน

พระที่อยู่ที่นี่บอกว่า ยังมีรอยพระพุทธบาทอยู่แถวนั้นอีกหลายแห่งที่อยู่ในป่าในเขาคือ บ้านปุก สามเต้า, บ้านหนองเปียง, พระบาทบ้านมาย, พระหัตถ์บ้านท่าปางใต้, พระบาท บ้านโก้ (พระบาทกูมา) เมืองหุน, พระบาทดอยปางกาน,
ตุงรอน เมืองแช่ (เมืองเจ) แต่พวกเรา ก็ไม่มีเวลาคงจะไปได้แค่ขึ้นไปไหว้ รอยพระพุทธหัตถ์ แค่นั้น
จะไม่เล่ารายละเอียดมาก


คงจะเล่าตอนกลับลงมาถวายพระพุทธรูปกัน เพราะเห็นชาวบ้านมานั่งรอกันตั้งแต่เช้า นี่ก็เป็นเวลาบ่ายแล้ว จึงให้ คุณสิทธิ ผู้เป็นเจ้าภาพเป็นผู้มอบให้ตัวแทนของชาวบ้าน แต่ละหมู่บ้านเข้ามารับมอบพระพุทธรูป แบบสุโขทัย หน้าตัก ๒๕ นิ้ว จำนวน ๗ องค์ ส่วนอีก ๓ องค์ ถวายให้แก่ท่านเจ้าสิทธิชัยไป


ชาวบ้านที่มากันนี้มีความเลื่อมใสมาก เวลาจะเข้ามารับเขาจะมีถาดข้าตอกดอกไม้ คลานเข้ามารับ น่าสรรเสริญจิตใจของคนที่อยู่ห่างไกล เขามีจริยาที่อ่อนน้อมดีมาก ทั้งที่อยู่ ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร กว่าจะมากันได้ก็ต้องใช้เวลานาน ส่วนใหญ่จะเอารถบรรทุก ๖ ล้อ กันมา ซึ่งพวกเราที่เดินขึ้นมาในตอนแรกก็ได้ ขออาศัยรถของชาวบ้านนี่แหละกลับลงไปด้วย


จากนั้นรถทุกคันก็ทยอยลงมา พบรถของท่านเจ้าสิทธิชัยเสียอยู่ระหว่างทาง แต่ก็ไปพบกันที่วัดของท่าน คือ วัดพระธาตุหลวงเมืองลา ได้เข้าไปกราบไหว้พระเจดีย์และทำบุญกับท่านเจ้าสิทธิชัยแล้ว จึงเดินทางกลับโดยมีฝนโปรยลงมาเป็นละอองเล็กน้อย คงจะเหมือนกับน้ำพระพุทธมนต์ที่อวยพรให้พวกเรา หลังเสร็จจากงานที่เป็นบุญเป็นกุศลใหญ่


ในขณะที่เดินทางกลับไปเมืองฮายนั้น ระหว่างนี้ได้เห็นรุ้งขึ้นสองชั้นในยามเย็น จน กระทั่งไปถึง เมืองต้าล่อ มองเห็นพระธาตุกำลังสร้างใหม่อยู่บนเนินเขาแต่ไกล จึงแจ้งทางวิทยุสื่อสารให้เลี้ยวเข้าไป มีรถบางคันเลยไปแล้ว ต้องวกกลับมาร่วมทำบุญกันอีก รวมประมาณ ๑,๕๐๐ หยวน แล้วจึงไปพักที่เมืองฮายตามเดิม



เมืองหุน - เมืองออง




วันที่ ๒๐ มิ.ย. ๔๙ เดินทางไปไหว้ พระพุทธบาทข้างหุน เมืองหุน โดยมีชาวบ้าน มาต้อนรับกันมาก ในขณะที่พระสงฆ์กำลัง สวดมนต์แบบล้านนา ภายในศาลาครอบแท่น ที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่นั้น มีโยมแม่ออกคนหนึ่งนั่งซับน้ำตาด้วยความปลื้มใจ คงไม่คิดว่ามีคนไทยมาไหว้ด้วยความศรัทธาถึงขนาดนี้


หลังจากนั้นก็เดินทางไปที่ เมืองออง มีขบวนพระเณรและชาวบ้านมาต้อนรับกันมากมาย คล้ายกับไปที่เมืองฮำ โดยครูบาบุญศรีได้มาประสานงานไว้ก่อนแล้ว พวกเราที่เดินทางไปรู้สึกประทับใจในครั้งนี้มาก เพราะได้ไปเห็นประเพณีไทยสมัยโบราณ ซึ่งนานวันก็จะหาดูได้ยากในสมัยปัจจุบันนี้



เมื่อขบวนแห่ไปถึงวิหารภายในวัดเมืองอองแล้ว พวกเราได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส เป็นเงิน ๒,๐๐๐ หยวน พร้อมกับไทยทานที่เตรียมไปด้วยทุกแห่ง จากนั้นก็แห่ผ้าห่มไปที่ พระธาตุใจเมือง แล้วทำพิธีบูชาสักการะ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้
ผู้เขียนเคยมาเมื่อหลายปีก่อน เสร็จพิธีแล้วจึงเดินกลับมาฉันเพลที่เดิม


ระหว่างที่พวกเรารับประทานอาหารกลางวัน มีพวกชาวบ้านสาวๆ มาฟ้อนรำไปด้วย สร้างความครึกครื้นพอสมควร แล้วได้ถ่ายรูปร่วมกันหน้าวิหารวัดเมืองออง ขณะนั้นมีละอองฝนโปรยลงมาเล็กน้อย และก่อนจะเดินทางต่อไป ผู้เขียนได้แจกขนมให้แก่เด็กๆ ด้วย จากนั้นชาวบ้านก็นำไปไหว้รอยพระพุทธบาทที่อยู่ในป่า ชื่อว่า พระพุทธบาทน้ำแกน คือมีน้ำล้อมรอบ

เมื่อเข้าไปนมัสการแล้วก็ย้อนกลับมาไหว้ พระธาตุสิริมงคล ได้ถวายผ้าห่มและร่วม ทำบุญ ๑,๕๐๐ หยวน จากนั้นก็ร่ำลาชาวบ้านเมืองอองเดินทางไปที่ พระพุทธบาทส้มป่อย อันเป็นที่ประทับนั่งฉันภัตตาหารของพระพุทธเจ้าในอดีต ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญเช่นเดียวกัน


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 14/8/08 at 20:46 Reply With Quote




คลิปวีดีโอ วิถีชีวิตประเพณีชาวไตลื้อ มี 2 ตอน จาก oknation


ตอนที่ 1 ตอนที่ 2



เมืองสูง - เชียงรุ่ง


ต่อจากนั้นก็ล่องกลับไปทางเมืองสูง เพื่อไปไหว้ พระธาตุกู่คำ (ดอยปูคำ) ซึ่งเป็นที่ พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็น พญาปูทอง แต่ก็ก่อนจะไปถึงได้ต้องพบกับอุปสรรคในระหว่างทาง เพราะเขากำลังทำถนนพอดี เจ้าหน้าที่ปิดทางไม่ให้รถผ่าน รถติดเป็นแถวยาวเหยียด เวลาเราก็มีไม่พอจะต้องไปให้ถึงเมืองเชียงรุ่ง พวกเราต้องช่วยลุ้นช่วยกันอธิษฐาน แม้ผู้เขียนเองก็ต้องเดินลงมาจากรถ เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่บางคน จนสามารถไปได้ในที่สุด



ปรากฏว่าพอมาถึงสถานที่สำคัญแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ผู้เขียนเคยร่วมสร้างพระเจดีย์ กับ ท่านอาจารย์เบญจมินทร์, ท่านอาจารย์นพดล แห่งพระบาทตะเมาะ, ท่านครูบาอุ่นดี เป็นต้น ในตอนนี้ฝนได้เทกระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ก็ไม่หวั่นไหวยืนไหว้อยู่ที่ “ รูปู ” พระโพธิสัตว์ทั้งที่ฝนตกนั้นแหละ เมื่ออุทิศส่วนกุศลเสร็จแล้ว ฝนจึงหยุดตกขาดเม็ดเดี๋ยวนั้นทันทีเหมือนกัน

พระธาตุจอมหมอก


วันรุ่งขึ้น วันที่ ๒๑ มิ.ย. ๔๙ ออก จากที่พักในตัวเมืองเชียงรุ่งแล้ว เดินทางไปขึ้น กระเช้าไฟฟ้า เพื่อข้ามแม่น้ำของ (แม่น้ำโขงเส้นเดียวกับที่ไหลไปเมืองไทยนี่แหละ) ไปที่ พระธาตุจอมหมอก และ พระธาตุจอมทอง ในสมัยพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาทรงจำพรรษา ณ ที่แห่งนี้ เรียกว่า อังคาฬเจดีย์ สมัยนั้น เมืองนี้มีชื่อว่า เมืองอาฬวี


ผู้เขียนได้เคยมาที่นี่แล้วเช่นกัน แต่เวลานั้นได้มาถึงในเวลากลางคืน จึงมองเห็นอะไรไม่ชัดเจนนัก ครั้งนี้จึงสามารถเดินชม ทิวทัศน์ระหว่างที่ข้ามแม่น้ำโขงอันสวยงาม พอข้ามมาแล้วก็จะเป็นสวนสัตว์ อยู่ในเขตรักษาของป่าไม้ ภายในร่มรื่นบรรยากาศดีมาก เดินไปตามบันไดสูงบ้างต่ำบ้าง เพราะบริเวณนี้เป็นภูเขา แต่ก็จัดเป็นสวนหย่อมปลูกต้นไม้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ในบริเวณนี้เป็นเขตเมืองเก่าของเมืองอาฬวี จะมีกำแพงอิฐโบราณเป็นแนวยาว มี บ่อน้ำทิพย์ ที่พระพุทธเจ้าอธิษฐานไว้ ซึ่งอยู่ใกล้กับ พระธาตุจอมหมอก อันเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมธาตุส่วนมันสมอง ของพระพุทธเจ้าไว้ และ พระธาตุจอมทอง ชื่อนี้นับเป็น ๑ ใน ๕ แห่งที่เราได้มีโอกาสมาถึง

พระธาตุจอมทอง


พวกเราได้นำผ้าไปห่มและจัดบายศรีทำพิธีบวงสรวง หลังจากพระสงฆ์เจริญพระ พุทธมนต์แล้ว จึงได้ถวายปัจจัยและไทยทานทุกรูป เป็นเงิน ๒,๕๐๐ หยวน เพื่อเป็นการ ฉลองสมโภช ในโอกาสที่พวกเราได้เดินทางมากราบไหว้ในครั้งนี้ มีญาติโยมบางคนถึงกับ ปีติจนน้ำตาไหล เมื่อได้ฟังประวัติความเป็นมา

เมื่อได้มากราบสถานที่สำคัญสุดยอดในเมืองอาฬวีแล้ว พวกเราก็เดินทางกลับด้วย ความประทับใจ แวะฉันอาหารเพลในตัวเมืองแล้ว จึงเดินทางต่อไปที่ พระพุทธบาทหมอนอิง บ้านน้ำเขม จะต้องนั่งรถไปในป่าสวนยาง


สมัยก่อนผู้เขียนเคยมาครั้งแรก ป่าจะโล่งโปร่งกว่านี้ จะมองเห็นก้อนหินที่เป็นเหมือน แท่นบรรทม และมีก้อนหินอีกก้อนหนึ่งวางอยู่ข้างบน คล้ายกับเป็นหมอนอิงอยู่กลางป่า เขาได้อย่างชัดเจน สวยเด่นเป็นธรรมชาติ แต่เวลานี้สวนยางที่ปลูกไว้โตขึ้นเต็มไปหมด จึงมองดูทึบไปไม่เด่นเหมือนแต่ก่อน


ครั้นได้เข้าไปปัดกวาดทำความสะอาด และนำผ้าห่มไปบูชาไว้โดยรอบ จากนั้นก็ทำ พิธีบวงสรวง ในระหว่างนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษ คือ พระอาทิตย์ทรงกลด ในขณะที่กำลังสักการบูชาอยู่นั้น ทุกคนแหงนมองดูด้วยความปลื้มใจในพุทธานุภาพ

พระธาตุปางเยอ



พระธาตุจอมคาง


จากนั้นก็ไปไหว้พระธาตุที่สำคัญอีกหลายแห่งในเมืองเชียงรุ่ง คือ พระธาตุปางเยอ พระพุทธบาทบ้านนาจวง พระธาตุจางใจ และ พระธาตุจอมคาง ในระหว่างนั้น ผู้เขียนก็ได้ถวายปัจจัยแก่พระที่ร่วมเดินทางไปด้วยประมาณ ๑,๕๐๐ หยวน เพราะเห็นว่าแต่ละท่าน ได้มีส่วนช่วยประสานงานการเดินทางครั้งนี้ให้ได้รับความสะดวกทุกอย่าง


วันที่ ๒๒ มิ.ย. ๔๙ เป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง จึงได้ไปที่ วัดป่าเชตวัน (วัดป่าเจ) เป็นวัดที่สำคัญภายในเมืองเชียงรุ่ง และเป็นวัดสุดท้ายในรายการของเรา เมื่อได้ทราบว่าเจ้าอาวาสกำลังจะสร้าง พุทธสถาน ภายในเนื้อที่ ๖๐๐ ไร่ เหมือนกับ พุทธมณฑล


เวลานี้ท่านได้เริ่มงานไปประมาณ ๓๐ เปอร์เซนต์แล้ว จึงร่วมทำบุญ เป็นเงิน ๓๖,๑๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้างอาคารสถานที่, พระเจดีย์สูง ๘๐ เมตร, และพระพุทธรูปยืนสูง ๔๕ เมตรด้วย ตามแผนผังที่อยู่หน้าวัด ซึ่งพวกเราได้สลักชื่อลงไว้บนแผ่นกระเบื้องวิหารไว้ด้วย ท่านจะสร้างให้เสร็จภายในสองปี

ในขณะนั้น ผู้เขียนได้เดินเข้าไปด้านในพบพระธาตุองค์ใหญ่สีขาวตรงกลาง มีเจดีย์ บริเวณรอบๆ ด้วย พอดีผ้าตุงที่ หนูเล็ก ปักเป็นรูปรอยพระบาทเหลืออยู่ผืนหนึ่ง จึงได้ถวายพร้อมกับเครื่องบูชาทั้งหลาย เป็นการปิดท้ายรายการไว้ที่นี่ทั้งหมด ซึ่งตาม ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมานั่งฉันภัตตาหารที่นี่ แล้วพยากรณ์ว่าต่อไป เมืองนี้จะมีชื่อว่า เมืองเชียงรุ่ง(คนจีนออกเสียงว่า จิ้งหง)

สรุปความได้ว่าการเดินทางไปสิบสองปันนาครั้งนี้ ถือว่าคุ้มค่ามหาศาล เริ่มแรกได้ร่วมกันถวาย พระพุทธรูปถึง ๑๑ องค์ และ ปิดท้ายได้ทำบุญกับวัดของเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเคยอยู่ที่เมืองไทยมาก่อน พวกเราจึงร่วมทำบุญ พระภิกษุสามเณรที่ช่วยเหลือในการเดินทางกันเต็มที่ รวมเวลา ๖ วัน ทำบุญไปแล้วทั้งสิ้น คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๘๗,๑๐๐ บาท

ทำพิธีขอขมาพระภิกษุสามเณร


ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าพระพุทธรูปของ คุณสิทธิ และ คุณนุช เครื่องไทยทานของ คุณก๊วยเจ๋ง และ คุณหลี หรือค่าสิ่งของเครื่องบูชาทั้งหลาย ก่อนจะกลับพวกฆราวาสก็ได้ทำพิธีขอขมากรรมพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ตลอดระยะเวลา ๖ วัน อาจจะประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินไปบ้าง จึงเป็นอันว่าไม่มีโทษไม่มีภัยต่อกัน จากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ

ในระหว่างที่นั่งอยู่บนเครื่องบิน ได้เห็นแสงสีรุ้งขึ้นแต่ไม่เป็นรูปโค้ง คือเป็นเส้นไม่ ยาวมากนัก ขึ้นอยู่เป็นเวลานาน เดี๋ยวขึ้นข้างซ้ายขึ้นข้างขวา บางทีขึ้นข้างบนขึ้นข้างล่าง สลับกันไปมาอย่างนี้ตลอดเวลา นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เพียงแค่นี้ ฯ

*****************




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved