|
|
|
posted on 31/3/10 at 16:38 |
|
เล่าเรื่องไป "เมืองพม่า" วันที่ 11 ก.พ.- 2 มี.ค. 2553 (ตอนที่ 2)
◄ll ตอนที่ 1| ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 ll►
ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตาม "เล่าเรื่องการเดินทาง ครั้งที่ 1" มาแล้ว คงจะนึกวาดภาพออกว่า ผู้เขียนเดินทางไปพม่าครั้งที่แล้ว
ไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เนื่องจากไม่ได้ไปกับทัวร์ จึงไม่มีไกด์นำทางแต่อย่างใด ความรู้สึกหนักอกหนักใจพอสมควร ความคิดที่จะไปสะสางงานที่ค้างอยู่นานนับ
10 ปีนั้น แทบไม่น่าเชื่อว่าจะไปได้ถึงเลย การไปครั้งแรกจึงไปแบบเดาสุ่มนั่นเอง
ฉะนั้น ถ้าไม่ไปเริ่มต้นพักค้างคืนที่ในย่างกุ้ง พนักงานต้อนรับไม่แนะนำไปกับรถทัวร์ ที่เขากำลังจะจัดไปไหว้ รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทต่อว์"
พอดี และถ้าไม่พบกับ พระสุวรรณ สุวัณโณ ที่เป็นชาวมอญพอพูดภาษาไทยได้ดีนั้น การเดินทางครั้งที่ 2 นี้คงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน อนึ่ง
การออกเสียงสำเนียงของพม่าและมอญไม่ค่อยเหมือนกัน หากสะกดคำชื่อพระเจดีย์และสถานที่เพี้ยนไปบ้าง ทางทีมงานต้องขออภัยด้วย เพราะฟังยากเหลือเกิน
ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อนี้ หลังจากผู้เขียนได้สมหวังกับการที่ไปครั้งแรกล้ว จึงได้กำหนดการเดินทาง ครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมาย 2
จุด (ภาคใต้และภาคเหนือของพม่า) คือ จุดแรกจะไปทางใต้ของพม่าก่อน นับตั้งแต่เมืองเมาะละแหม่ง ไปถึงเมืองกเลงอ่อง
แล้วย้อนกลับมาเพื่อเดินทางขึ้นทางเหนือของพม่า หากดูแผนที่ประกอบ จะเห็น เมืองมิตจิน่า อยู่เกือบเหนือสุดของประเทศ
เป็นอันว่า สถานที่ตกค้างที่ได้เคลียไปแล้ว และที่ยังเหลืออยู่ในบัญชี พอสรุปได้ง่ายๆ ดังนี้
1. รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" เมืองมินบู อยู่ใกล้เมืองแม็กเว (ชาวพม่าเรียก "มะกรวย") เลยไปทางเมืองแปร ก่อนถึงเมืองพุกาม ไปครั้งแรกปี 2543
(ค้างมานาน 10 ปี ได้ไปสมหวังแล้ว)
2. พระเจดีย์ซานดอว์เซน เมืองกเลงอ่อง จังหวัดทวาย อยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า (ได้รับข้อมูลปี 2545)
3. รอยพระพุทธบาทเกาะกูด จังหวัดเย (ลงบัญชีไปแล้ว แต่ยังไม่เคยไป)
4. พระเจดีย์ชเวมิตสุ ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา (สถานที่นี้ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ในระหว่างพักในย่างกุ้ง
เจ้าของสถานที่พักมาให้ข้อมูล)
ความจริงจะเห็นว่าสถานที่ตกค้างมีอยู่ไม่กี่แห่ง แต่พอถึงวันเดินทางจริงๆ ได้ให้ "ท่านสุวรรณ" แปลจาก ตำนานชาวมอญ
ปรากฏว่าได้พบพระเจดีย์ที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" เพิ่มเติมขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง (ตามที่วงเล็บไว้)
แต่ก่อนอื่นขอสรุปสถานที่ทั้งหมดมาให้ทราบดังนี้
การเดินทางครั้งที่ 2
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2553
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ย่างกุ้ง - เมาละแหม่ง - ละมาย) รัฐมอญทางภาคใต้ของพม่า
๑. วัดธรรมะโลกะ (ชื่อเดิม "เมียนจันทร์") เมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine)
๒. พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท วัดไจ้มะยอว์ เมืองเมาะละแม่ง
๓. พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ (พระเกศาธาตุ ) วัดใหญ่ละมาย เมืองละมาย จังหวัดเย
๔. วัดเกาะโด๊ด บ้านเกาะโด๊ด เมืองละมาย จังหวัดเย
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ละมาย - เกาะกูด)
๕. พระเจดีย์ไจ้มังไหว้ อยู่กลางทะเล บ้านเกาะโด๊ด เมืองละมาย จังหวัดเย
๖. รอยพระพุทธบาท "เกาะกูด" หมู่บ้านไนเต้า เมืองละมาย จังหวัดเย
๗. พระเจดีย์วัดเกาะชะ เมืองละมาย จังหวัดเย
วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ละมาย - กเลงอ่อง)
๘. พระเจดีย์ซานดอว์เซน (พระเกศาธาตุ ๔ พระองค์ องค์ละ ๓ เส้น รวม ๑๒ เส้น) บ้านกเลงอ่อง เมืองทวาย
๙. วัดอัตเตมอดปราด (วัดสามเณรน้อย) จังหวัดเย ท่านกำลังสร้างพระพุทธรูปสูง ๘๖ ศอก ๔ ทิศ (อุณาโลมทองคำ ๓๐ หนักกิโลกรัม สร้างเสร็จแล้ว)
ด้านหน้าสร้างวิหารครอบซากพระเจดีย์เก่า "สามเณรน้อย" ปัจจุบันบวชเป็นพระแล้วบอกว่า พระเจดีย์เก่าองค์นี้บรรจุพระเกศาธาตุไว้
นอกจากนี้ท่านยังสร้างวิหารพระพุทธรูปปางจักรพรรดิ และพระยืนปางประทานพรอีกด้วย
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ละมาย - มุเดิง (Mudon) - เมาะละแหม่ง)
๑๐. วัดบ้านกะมะวัค มีพระบรมธาตุและพระธาตุของพระอรหันต์จำนวนมาก อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๑. พระเจดีย์แจ๊ดแซ (พระเกศาธาตุ) บ้านมุเดิง เมืองเมาะละแหม่ง
๑๒. พระเจดีย์ไจ้เตตะเมาะ (ใหญ่) (พระเกศาธาตุ) บ้านกะมะวัค อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๓. พระเจดีย์ไจ้เตตะเมาะ (เล็ก) (พระเกศาธาตุ) บ้านกะมะวัค อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๔. พระเจดีย์กันยี Kangyi (พระเกศาธาตุ) บ้านมุเดิง อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๕. พระพุทธรูปใหญ่ "เตตะเมาะ" บ้านลิตัก อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๖. พระเจดีย์ไจ้เกริงเด้ย (เกศาธาตุ) บ้านเกาะคะเมีย อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
๑๗. วัดเวนเซโตยะ (WIN SEIN TAW YA) พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ยาว ๒๐๐ เมตร เมืองมุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมาะละแหม่ง - ปิเลน)
๑๘. สำนักแม่ชี "ตาตะนามันได" เมืองเมาะละแหม่ง
๑๙. พระเจดีย์กุสินาเยา (พระเกศาธาตุ) บนภูเขาโตกะโรล เมืองปิเลน ใกล้เมืองสะเทิม
๒๐. พระเจดีย์ไจ้ปะแต (พระเกศาธาตุ) เดิมเรียก "ไจ้แต" บนภูเขาส้มเค เมืองปิเลน
๒๑. พระเจดีย์แมรัล (พระเกศาธาตุ) บนภูเขาแมรัล เมืองปิเลน (ไปไม่ได้ แต่ถ่ายรูปไว้)
๒๒. พระเจดีย์นอละบู (พระเกศาธาตุ) เดิมเรียก "พันธิเศลา" เมืองป่อง ใกล้เมืองเมาะตะมะ (ไปไม่ได้)
๒๓. พระเจดีย์ไจ้กะเลาะ (พระเกศาธาตุ) บ้านกะเลาะ เมืองเย (ไปไม่ได้เพราะไกลมาก)
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมาะละแหม่ง - พะอ่าน)
๒๔. พระเจดีย์ไจ้เซ่ย (ไจ้เติ๊บ) พระเกศาธาตุ ในตัวเมืองเมาะละแหม่ง
๒๕. พระเจดีย์อูซีนะ (UZINA) พระเกศาธาตุ ในตัวเมืองเมาะละแหม่ง
๒๖. พระเจดีย์ไจ้มุปอน (พระเกศาธาตุ ๒ เส้น) เป็นเจดีย์ขนาดเท่ากัน ๒ องค์ ในตัวเมืองเมาะละแหม่ง
๒๗. พระเจดีย์ไจ้ปกาเยา (พระทันตธาตุ) อยู่ติดแม่น้ำใหญ่ บ้านสาตะเพียน เมืองเมาะละแหม่ง
๒๘. พระเจดีย์ซอยกะเปน (พระเกศาธาตุ) บ้านคะโล (คะลาโน) เมืองพะอ่าน (ระหว่าบ้านอินดูกับพะอ่าน อยู่บนภูเขาสูง ขึ้นไม่ได้)
วันที่ ๑๘ - ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมาะละแหม่ง - ย่างกุ้ง) พักผ่อนเอาแรง
เดินทางไปทาง "ภาคเหนือ" ของพม่า วันที่ 11 - 28 กุมภาพันธ์ 2553
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ย่างกุ้ง - มัณฑเลย์)
๒๙. สะพานไม้อูปึงกะตา เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๐. พระเจดีย์สัมพุทเธ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๑. พระเจดีย์บนยอดเขามัณฑเลย์ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๒. พระมหามุนี (องค์น้อง) เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มัณฑเลย์ - โมก็อก)
๓๓. วัดพองดอร์อู บ้านเทมชูชั่น เมืองโมก็อก (MOGOK) มัณฑเลย์
๓๔. วัดนาคาเยา เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๕. วัดพระอุปคุต เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๖. พระมหามุนีจำลอง เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๗. พระเจดีย์ชเวกูจี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๘. พระเจดีย์ทอง วัดซันดอว์จี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมก็อก - มะอู)
๓๙. วัดตะเกาพญา เมืองตะเกา มัณฑเลย์
๔๐. พระพุทธรูปไม้สัก วัดนันเฌย์ยอ บ้านนันเฌ มัณฑเลย์
๔๑. วัดสิริมังคลา เมืองมะอู มัณฑเลย์
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มะอู - โมรู)
๔๒. พระเจติยะ เมืองกะตา จังหวัดสกาย
๔๓. วัดซ่วยกู๋จี เมืองกะตา จังหวัดสกาย
๔๔. พระเจดีย์โลกะมัญจะ เมืองโมรู จังหวัดสกาย
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมรู - อินตอยี)
๔๕. พระเจดีย์ยานอ๋องเมียน เมืองโมเยี้ยน
๔๖. พระเจดีย์ชเวมิตซุ (เยเลพญา) ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา (Myitkyina)
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (อินดอยี - มิตจินา)
๔๗. พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา))
๕๑. วัดธรรมรักขิตะวอนโต เมืองมิตจินา
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา - มัณฑเลย์)
๕๒. พระพุทธสีหไสยาสน์ วัดละเยาโตมูทยา เมืองมิตจินา
๕๓. พระเจดีย์ วัดโลกะมันอ๋อง เมืองมิตจินา
๕๔. พระพุทธรูปยืน วัดยานโตมูพญา เมืองมิตจินา
๕๕. พระเจดีย์ วัดอันโตเชน (พระทันตธาตุส่วนกรามด้านขวา) อัญเชิญมาจากประเทศจีนได้ประมาณ ๕๙ ปี เมืองมิตจินา
๕๖. พระเจดีย์อองยานอ๋องเส เมืองมิตจินา
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มัณฑเลย์ - ย่างกุ้ง)
๕๗. พระพุทธรูป "มหามุนีพญา" เมืองปินอูลวิน (PYIN OO LWIN)
๕๘. วัดมหานันทะคู (ถ้ำน้ำตก) เมืองปินอูลวิน
๕๙. วัดมหาอานชุกันดา เมืองปินอูลวิน
๖๐. วัดจุละมุริยะมันสุ่น พระพุทธรูป ๔ ทิศ เมืองปินอูลวิน
๖๑. วัดพระงู (โมยพญา) บ้านปะเลย เมืองมัณฑเลย์
สรุปสถานที่ ๖๐ แห่ง ตั้งแต่ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๓
- พระเจดีย์ที่มี "เกศาธาตุ" ทั้งหมดรวม ๑๖ แห่ง (ไม่แน่ใจ ๑ แห่ง)
- รอยพระพุทธบาท ๑ แห่ง
- พระพุทธรูป ๑๒ แห่ง
- พระทันตธาตุ ๑ แห่ง
- วัด ๑๔ แห่ง
- สำนักแม่ชี ๑ แห่ง
- หมู่บ้านที่มีพระบรมธาตุ ๑ แห่ง
- พระเจดีย์ ๑๐ แห่ง
- สะพานไม้ ๑ แห่ง
- รูปปั้นตามตำนาน ๑ แห่ง
- เงินทำบุญทั้งหมด ๒๒๗,๐๐๐ จ๊าด, เงินไทย ๑๙,๐๐๐ บาท, เงินยูเอส ๕๘๐ ดอลลาร์
- ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๘๕๒,๐๐๐ จ๊าด, เงินไทย ๖๕๐ บาท, เงินยูเอส ๗๖ ดอลลาร์
- รวมทั้งสิ้น ๑,๐๗๙,๐๐๐ จ๊าด, และเงินไทยอีก ๑๙,๖๕๐ บาท, เงินยูเอส ๖๕๖ ดอลลาร์
จึงขอให้ผู้อ่านทุกท่านกรุณาอ่านสถานที่ทุกแห่งให้ละเอียด เพื่อจะได้ตั้งจิตอนุโมทนามหากุศลด้วยกันทุกท่านเทอญ.
แผนที่ประเทศพม่า
คลิกขยายภาพ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 (กรุงเทพ - ย่างกุ้ง - เมาะละแหม่ง)
เวลา ๐๓.๓๐ น. ออกจากวัดท่าซุงถึงกรุงเทพที่ดอนเมืองเวลา ๐๖.๐๐น. ฉันเช้าที่บ้านน้องสาวคุณบุ๋มพร้อมกับถวายข้าวกล่องไว้ฉันเพล ๐๖.๓๕ น.
ออกจากดอนเมืองด้วย taxi ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ คุณทนงฤทธิมาต้อนรับ พร้อมถวายปัจจัย ๖๗ ดอลลาร์ เวลา ๐๘.๐๐ น.
ผ่านพิธีการทางสนามบินแล้วเข้าไปเตรียมขึ้นเครื่อง เวลา ๑๐.๓๐ น. ขึ้นเครื่องด้วยสายการบินเมียนมาร์แอร์เวย์ ฉันเพลบนเครื่องบิน ถึงพม่าเวลา ๑๑.๐๐ น.
(พม่าเวลาช้ากว่าไทยครึ่งชั่วโมง) พระสุวรรณมาต้อนรับและนำไปพักที่ วัดแดทดอนซัน (DAT DON SON TEMPEL) ในเมืองย่างกุ้ง
ก่อนจะถึงวัดแวะที่ทัวร์ SHWE KYAC SI (ชเวไจ้ซี) เพื่อติดต่อไปทะเลสาป "อินดอยี" เมืองมิตจินา และแวะแลกเงินสกุลจ๊าด
เตรียมตัวเพื่อจะเดินทางต่อไปเมาะละแหม่งด้วยรถทัวร์ประจำทาง ซึ่งจะออกเวลา ๑๙.๐๐น. เวลา ๑๘.๐๐ น. ออกจากวัดมาท่ารถ กว่ารถจะออกได้ก็เวลา ๒๐.๐๐ น.
เพราะภายในท่ารถมีผู้คนมากมาย
ค่าตั๋วรถประมาณ ๓๐,๐๐๐ จ๊าด
ค่าแท็กซีทั้งหมด ๑๑,๐๐๐ จ๊าด
ค่าแท็กซีเมืองไทย ๓๐๐ บาท
รวม ๔๐,๐๐๐ จ๊าด กับ ๓๐๐ บาท
ภายในบริเวณ "วัดแดทดอนซัน" (วัดของชาวมอญ) เมืองย่างกุ้ง
เวลา ๑๖.๐๐ น. เข้าพบเจ้าอาวาสซึ่งท่านมีอายุมากประมาณ ๙๐ ปี และได้ทำบุญดังนี้ ถวายเจ้าอาวาส ๒,๐๐๐ บาท ถวายพระที่จะไปอินเดีย
๔๐ ดอลลาร์ ถวายพระสุวรรณ ๕,๐๐๐ บาท และ ๔๐ ดอลลาร์ รวม ๗,๐๐๐ บาท กับ ๘๐ ดอลลาร์
ภายในวัดท่านได้สร้างพระพุทธรูปนั่ง (จำลอง) ที่มีชื่อเสียงว่าสวยงามมาก ชื่อว่า "พระพุทธรูปไจ้มะยอว์" จากเมืองเมาะละแหม่ง (คนมอญเรียก "เมาะลำไย"
เดิมคนไทยเรียก "เมาะลำเลิง" ) ซึ่งผู้เขียนจะเดินทางไปในคืนนี้แหละ
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 22/4/10 at 15:31 |
|
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 (ย่างกุ้ง - เมาะละแหม่ง - ละมาย)
1. วัดธรรมะโลกะ (ชื่อเดิม "เมียนจันทร์") เมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine)
การเดินทางไปพม่าครั้งที่ 2 นี้ ความจริงผู้เขียนก็เพิ่งฟื้นจากการป่วย หลังจากเป็นหวัดลงคออย่างแรง จากการเดินทางครั้งที่แล้ว ในครั้งนี้
คุณทนงฤทธิ์จึงขอถอนตัว เนื่องจากสุขภาพไม่ไหว ทนสู้สภาพอากาศที่มีแต่ฝุ่นไม่ได้ อีกทั้งอาหารการกินก็ลำบาก ซึ่งคุณทนงฤทธิ์มีอาการท้องเสียอย่างแรง
โดยเฉพาะสภาพถนนหนทาง เมื่อครั้งที่แล้วต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์เป็นเวลานานเกือบค่อนวัน ในคราวที่เดินทางไป "เมืองดาลา" กรุงย่างกุ้ง
ในคราวนี้ ผู้เขียนจึงได้เดินทางมาพร้อมกับ คุณวัชรพล (บุ๋ม) ศรีขวัญ โดยได้เตรียมกล้องถ่ายรูปและเสบียงอาหารไปด้วย
หลังจากนั่งรถทัวร์จากย่างกุ้งสู่เมาะละแหม่งตลอดทั้งคืน ผ่านเมืองหงสาวดี เมืองไจ้โท (พระธาตุอินทร์แขวน) และเมืองสะเทิม จนถึงเมืองเมาะละแหม่งในเวลาตีห้า
ในสภาพถนนที่ดีกว่าเดิม
แตกต่างกับเมื่อปี 2543 ซึ่งมีสภาพถนนขรุขระมาก บ้านเมืองเงียบเหงายังไม่เจริญเหมือปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะเมืองสะเทิมร้านค้าร้านขายมีมากมาย
นับตั้งแต่เมืองหงสาวดีเป็นต้นมา จะเป็นเขตของมอญเดิม มีเมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองหลวง ซึ่งพม่าได้แบ่งเขตทางตอนใต้ให้เป็นเขตปกครองตนเอง เรียกว่า
"รัฐมอญ" (Mon state)
ท่านสุวรรณได้นำพวกเรามาพักที่ วัดธัมมะโลกะ ซึ่งได้นัดหมายกับเจ้าอาวาสไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้นำย่ามมาถวายท่านเจ้าอาวาสและท่านสุวรรณด้วย
พร้อมกับปัจจัยสร้างศาลา ซึ่งกำลังสร้างอยู่ด้านหน้าวัด ภาพนี้คือด้านหน้า วัดธัมมะโลกะ ที่อยู่บนเนินเขา หลังจากฉันเช้าแล้ว
ตอนบ่ายจึงได้เดินทางต่อไปกับรถยนต์ของวัด เพื่อเดินทางไปที่ วัดไจ้มะยอว์ซึ่งอยู่ห่างไปจากเมืองเมาละแหม่งประมาณ 24 ก.ม.
2. พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท วัดไจ้มะยอว์ เมืองเมาะละแม่ง
Kyaikmaraw Pagoda - Mon State
Located 24 km south east of Mawlamyine. The famous of the town is Kyaikmaraw Pagoda. The main Buddha image sits in the position of the legs hanging
down as if sitting on a chair. The name Kyaikmaraw stands for Distinctive Image, where the sitting position of the Buddha Image differs from others.
Kyaikmaraw Pagoda was the temple built by Queen Shin Saw Pu in 1455 in the late Mon regional style. Queen Shin Saw Pu was a well-known Queen who
devoted and donated gold to the Shwedagon Pagoda. The Pagoda festival is usually held annually during the transition of Myanmar New Year in April.
It is accessible via a sealed road. Many Muslim and Hindu communities live along the picturesque road. The temple is famous for the Buddha which is
sitting in the "western manner." The temple is also well known for its hundreds of beautiful glazed tiles.
There are limestone caves with stalactites and stalagmites in the vicinity of Kyaikmaraw town and mineral springs in nearby Yebu (Hot Water) village.
ที่มา - myanmartravelinformation.com
รถได้วิ่งมาประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อมกับท่านอาจารย์โกศล ซึ่งเป็นชาวมอญแต่ไปสร้างวัดที่เพชรบูรณ์ แต่ท่านได้มาพักที่เมาะละแหม่งเกือบเดือนแล้ว
นับว่าท่านได้ช่วยประสานในการเดินทางครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี หลังจากมาถึงวัดไจ้มะยอว์แล้ว ท่านสุวรรณได้นำเข้าไปชมพระพุทธรูปสำคัญภายในพระวิหารใหญ่
ภายในจะมีพระพุทธรูปสวยงามมากมาย
โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงองค์นี้ มีลักษณะนั่งห้อยพระบาท เอาพระหัตถ์ข้างหนึ่งวางไว้ที่ข้างอาสนะ ท่านั่งเรียบร้อยเหมือนกับผู้หญิงนั่งนั่นแหละ
ตามประวัติบอกว่า "เจ้าหญิงองค์หนึ่ง" ซึ่งเป็นพระราชธิดาของเจ้าเมืองนี้เป็นผู้สร้าง
ในตอนนี้ ผู้เขียนได้เข้าไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดไจ้มะยอว์ พร้อมกับถวายปัจจัยร่วมสร้างวิหารหลังใหม่
ภาพต่อไปคือพระชาวมอญที่ร่วมเดินทางมาด้วย องค์ที่พิงเสาด้านซ้ายมือ คือ พระสุวรรณ ถัดไปคือเจ้าอาวาสวัดธัมมะโลกะ (ลืมชื่อท่านไปแล้ว)
และด้านขวานั่งข้างผู้เขียน คืออาจารย์โกศล จากเพชรบูรณ์ จากนั้นเจ้าอาวาสวัดธัมมะโลกะและท่านโกศลขอตัวไปธุระข้างนอกก่อน
ส่วนท่านเจ้าอาวาสวัดไจ้มะยอว์ได้ให้ชาวบ้านช่วยจัดที่พักให้บนศาลา พร้อมกับจัดอาหารเพลถวาย หลังจากผู้เขียนและท่านสุวรรณพักผ่อนและสรงน้ำแล้ว
เวลาประมาณ 14.00 น. ท่านโกศลและท่านสุวรรณก็ได้ขอยืมรถจิ๊ปพร้อมคนขับจากเจ้าอาวาสวัดไจ้มะยอว์ เพื่อเดินทางต่อไปที่เมืองละมาย จังหวัดเย
3. พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ (พระเกศาธาตุ ) วัดใหญ่ละมาย เมืองละมาย จังหวัดเย
ระยะทางไปเมืองละมายไกลพอสมควร รถไม่มีแอร์ อากาศก็ร้อน จึงต้องแวะดื่มน้ำอ้อยดับกระหายกันในระหว่างทาง ก่อนที่จะเดินถึงหน้าซุ้มประตูทางเข้า
พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ วัดใหญ่ละมาย
บางทีก็เรียกกันว่า "ไจ้ละมาย" นับเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชาวมอญ ที่มีความศรัทธาเคารพนับถือกันมาก
เพราะเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ไว้ ซึ่งตามประวัติเล่าว่า บริเวณนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ คือเคยเกิดเป็น
"ม้า" และ "กิ้งก่า" อยู่แถวนี้ด้วย
เดิมผู้เขียนเข้าใจว่า พระเจดีย์ไจ้ทีซอง (ไจ้ทีละสะ) เมืองเกลาสะ (ตามลำดับที่ 63 ในหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่มที่ 1) มีแค่แห่งเดียว
แต่ภายหลังที่ได้พบกับพระสุวรรณ ท่านบอกว่ายังมีอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเหมือนกัน นั่นก็คือที่เมืองละมายแห่งนี้ นับว่าโชคดีเป็นอย่างมาก
ทำให้การตามหาสถานที่สำคัญครบถ้วนและเพิ่มเติมไปจากเดิม
อีกทั้งข้อมูลที่ได้รับมานานหลายปีแล้ว จากคนงานชาวมอญทำงานอยู่ที่ภูเก็ต โดยได้ให้ข้อมูลไว้ตรงกันว่า "พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ"
มีอยู่ที่วัดใหญ่ละมาย จังหวัดเย ซึ่งมีอยู่ในลำดับที่ 10 ตรงตาม ตำนาน "พระเกศาธาตุ" ของชาวมอญมีเรื่องเล่าว่า ฤาษีเกลาสะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น
บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ เมืองละมาย รัฐเย (กรุณาอ่าน "ตำนานพระเกศาธาตุ" ด้านล่าง)
พวกเราได้เดินเข้าไปกราบไหว้บูชา ด้วยทองคำเปลวและน้ำหอมที่เตรียมไปด้วย พร้อมกับร่วมทำบุญกับทางวัด แล้วจึงเดินดูภาพที่ข้างวิหาร
ปรากว่าเป็นคนที่ขึ้นไปขโมยของมีค่าบนยอดพระเจดีย์ แต่พลาดตกลงมาตายในตอนกลางคืน รุ่งเช้าจึงมีคนมาพบศพตามที่เห็นในภาพนี่แหละ
4. วัดเกาะโด๊ด บ้านเกาะโด๊ด เมืองละมาย จังหวัดเย
จึงออกเดินทางต่อไปถึง "วัดเกาะโด๊ด" ในเวลาค่ำแล้ว พวกเราได้พักที่วัดนี้ 3 วัน พร้อมกับได้นมัสการและทำบุญกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสด้วย
ชาวบ้านที่นี่มีอัธยาศัยดีมาก อาจารย์โกศลและพระสุวรรณเคยมาที่นี่ จึงรู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านเป็นอย่างดี
พร้อมทั้งวางแผนที่จะหาเช่ารถสองแถวเดินทางไปไหว้ พระเจดีย์ชเวซานดอว์ ที่เมืองกเลงอ่องต่อไป.
(( โปรดติดตามตอนต่อไป ))
|
|
|
|
Posts: 462 |
Registered: 12/3/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 6/5/10 at 12:05 |
|
(Update 6-05-53)
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 (ละมาย - เกาะกูด)
5. พระเจดีย์กลางน้ำ "ไจ้มังไหว้" อยู่กลางทะเลบ้านเกาะโด๊ด เมืองละมาย จังหวัดเย
ในตอนเช้าของวันนี้ หลังจากฉันอาหารเช้าแบบชาวมอญ คือฉันด้วยมือ ซึ่งผู้เขียนก็ต้องปรับไปตามสภาพเดิมๆ เพื่อไม่ให้เขาดูหมิ่นว่า
ชาวไทยก็ยังไม่ลืมช้อนที่พ่อแม่ให้มาแต่กำเนิด และตามธรรมเนียมของวัดที่นี่ ฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านจะนิมนต์มานั่งฉันน้ำชาต่อ
โดยเข้าไปในห้องของหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านใจดีให้คำแนะนำในการเดินทางเป็นภาษามอญ โดยผ่านล่ามคือ อ.โกศล และท่านสุวรรณ ช่วยกันแปลให้ฟัง
(พระเจดีย์สำคัญประจำหมู่บ้านเกาะโด๊ด เมืองละมาย จังหวัดเย)
วันนี้พระมัคคุเทศน์สองรูป จะนำไปที่ "พระเจดีย์กลางน้ำ" อีกแห่งหนึ่ง (ไม่ใช่ที่เมืองสิเรียมนะ) ท่านผู้อ่านลองมานึกภาพเที่ยวชมไปตามสถานที่ต่างๆ
ซึ่งยากที่จะมีคนไทยไปถึง และอาจจะยังไม่ทราบว่า "พระเจดีย์กลางน้ำ" ยังมีอีกหลายแห่งในประเทศพม่า โดยเฉพาะแถวนี้ที่อยู่ในเขต "รัฐมอญ"
แต่ก่อนที่จะไปกันนั้น คนขับได้นำรถจิ๊ปขับออกจากวัดเกาะโด๊ด มุ่งตรงไปที่พระเจดีย์ประจำหมู่บ้านก่อน หลังจากกราบไหว้ยืนถ่ายรูปกันแล้ว
รถได้วิ่งต่อไปถึงหมู่บ้านชายทะเล
พระเจดีย์ไจ้มังไหว้ มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ
เป็นเหมือนเกาะอยู่กลางทะเล เจ้าอาวาสได้เข้ามาสนทนาด้วย
มองดูเห็นน้ำทะเลลดลงไปจนเห็นชายหาดกว้างไกล คนขับรถจากวัดไจ้ปอลอขับลงไปในชายหาดที่น้ำเพิ่งแห้งหมาดๆ แต่พื้นดินกลับไม่ใช่ดินเลน
เป็นพื้นหินปนทรายวิ่งไปได้อย่างสบาย ระยะทางประมาณกิโลเมตรเศษ ซึ่งมองเห็นพระเจดีย์อยู่บนแนวโขดหินใหญ่แต่ไกล
เมื่อลงจากรถกันแล้ว จึงเข้าไปกราบไหว้ "พระเจดีย์ไจ้มังไหว้" ชาวบ้านที่มาด้วยเล่าว่า พระเจดีย์กลางน้ำแห่งนี้ ชาวบ้านจะเคารพนับถือกันมาก
ถ้าน้ำขึ้นจะไม่สามารถนำรถมาได้เลย ฉะนั้น จึงได้รีบเดินทางกันมาในตอนเช้า ซึ่งตามกำหนดเดิมเราจะไปที่ "รอยพระพุทธบาทเกาะกูด" แต่เนื่องจากน้ำลดในตอนเช้า
จึงต้องไปไหว้พระบาทในตอนบ่าย นี่ถ้าเรามากันเองคงจะไม่สมหวังอย่างนี้ คนที่นำทางได้ชี้มือออกไปกลางทะเล บอกว่าเกาะข้างหน้าไกลลิบนั่นแหละ คือ "เกาะกูด"
ที่เราจะไปกันตอนบ่ายนี้
สำหรับพระเจดีย์อยู่กลางทะเลแห่งนี้ น้ำไม่เคยท่วมมาถึงบนเกาะนี้เลย และจะมีงานประจำปีในเทศกาล "ลอยกระทง" ภายในวัดมีพระเณร 3-4 รูป อาศัยประจำอยู่ที่นี้
เป็นสาขาของวัดเกาะโด๊ด ผู้เขียนจึงได้ทำบุญ 5,000 จ๊าด เพราะได้ทราบว่าท่านกำลังจะเดินทางไปสร้างพระเจดีย์อีกที่หนึ่ง
พร้อมกับถวายเงินจ๊าดแก่พระภิกษุสามเณรที่นี่ทุกรูปอีกด้วย
จากนั้นได้เดินออกจากนอกเขตพระเจดีย์ ตรงนี้เป็นหน้าผาหินขรุขระมาก บางช่วงก็มีซอกเป็นเหมือนถ้ำ พระที่วัดเล่าว่าด้านล่างมีถ้ำ
เคยมีสามเณรมานั่งสมาธิที่ภายในถ้ำนี้แล้วมรณภาพไป ถ้าหากน้ำทะเลขึ้นมาและมีคลื่นซัดเข้าไปภายใน
ก็จะมีเสียงดังและมีสายน้ำพุ่งขึ้นเหมือนน้ำพุกระจายสายงามมาก เสียดายที่ไม่ได้เห็น แต่ถ้าอยากเห็น ต้องอยู่รอน้ำขึ้น ซึ่งคงหาทางกลับยังไม่ได้
ภาพก่อนจะออกเดินทางนี้ ผู้เขียนขอให้ยืนถ่ายรูปร่วมกัน เพื่อจะได้เห็นบริเวณพระเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งยังพอเห็นเสาไฟตั้งเรียงอยู่ ถ้าผู้อ่านเห็นภาพนี้แล้ว
คงจะเรียกเป็น "เกาะ" ยังไม่ได้ เพราะอีกไม่นานกี่ชั่วโมงน้ำทะเลขึ้น เราจะไม่สามารถมายืนอยู่อย่างนี้ได้ ซึ่งมีชาวบ้านเกาะโด๊ดติดตามมาด้วย 2-3 คน
โดยเฉพาะผู้หญิงพอพูดไทยได้ เพราะเคยไปทำงานที่สมุทรสาครกันมาแล้ว พอมีเงินเก็บก็นำมาสร้างใหม่ บางรายก็ซื้อที่ปลูกยางพารา
ซึ่งในระหว่างการเดินทางล่องลงมาทางใต้ นับตั้งแต่เมืองมะกะแหม่งไปจนถึงทวาย จะเห็นต้นยางพารานับแสนๆ ไร่ ปลูกเต็มไปหมดสองข้างทาง
(โปรดสังเกตภาพตอนเช้า - ยืนถ่ายรูปบนพื้นทรายปนหินแข็งทางเข้า "พระเจดีย์กลางน้ำไจ้มังไหว้")
คิดว่าสภาพความเป็นอยู่ของชาวมอญนี้ ต่อไปในอนาคตน่าจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะโอกาสที่เขาไปทำงานที่เมืองไทย แล้วได้ตักตวงผลประโยชน์
อันเกิดจากแรงกายของตนเองไปทำมาหากิน ซึ่งเหมือนกับอู่ข้าวอู่น้ำของชาวไทย ตรงกันข้ามกับคนไทยในเวลานี้ งานหนักไม่เอางานเบาไม่สู้
ปล่อยให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำมาหากินอย่างสบาย ส่วนตัวเองก็มัวทะเลาะกันเรื่องประชาธิปไตย ผลปรากฏว่า "ประชาธิปะตาย" กันเป็นแถวๆ
ซึ่งแตกต่างกับชาวมอญในถิ่นนี้ เขาอยู่อย่างสงบเงียบมีความสุข
โดยเฉพาะชาวบ้านเกาะโด๊ด เช้ามืดตั้งแต่ตีสี่ จะเห็นผู้หญิงชาวบ้านตักน้ำมาถวายวัด ด้วยการเอาน้ำใส่กระป๋องแล้วทูนหัวเดินเข้ามาเป็นแถว
พอสายหน่อยก็เตรียมทำอาหารมาถวายพระเณรในวัด บางคนก็ช่วยกันถูศาลาปัดกวาดบริเวณวัด ตอนเย็นก็นำสิ่งของมาถวายพระอีก วิถีชีวิตของเขาเรียบง่ายแบบโบราณ
เพราะความเจริญยังเข้าไม่ถึงนั่นเอง มีความเคารพนับถือพระสงฆ์ เวลาคุยก็นั่งพับเพียบลงไปกับพื้น เวลากราบก็กราบลงไปบนพื้นดิน
เห็นพระพุทธรูปหรือพระเจดีย์ก็ยกมือไหว้เป็นต้น
หลังจากนั่งรถจิ๊ปเข้ามาที่ชายหาด ริมชายทะเลแห่งนี้มีศาลาหลังหนึ่ง มองเห็นพระภิกษุชาวมอญนั่งอยู่หลายรูป จึงได้ทราบว่าที่นี่เป็นสำนักสงฆ์
คงจะเป็นเขตเดียวกับพระเจดีย์ที่กลางน้ำ พระสุวรรณบอกว่า ขณะนี้เขากำลังจัดการปฏิบัติธรรมอยู่พอดี มีชาวบ้านมาทำอาหารถวายพระด้วย
พระที่นั่งอยู่ได้นิมนต์ผู้เขียนเข้าไปฉันน้ำชา ก่อนจะกลับผู้เขียนก็ได้ร่วมทำบุญถวายปัจจัยส่วนองค์พระทุกรูปด้วย
6. รอยพระพุทธบาท "เกาะกูด" หมู่บ้านไนเต้า จังหวัดเย
หลังกลับจากพระเจดีย์กลางน้ำแล้ว พวกเราก็กลับไปฉันเพลที่วัดเกาะโด๊ด แล้วออกมาลงเรือที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีการประสานกับชาวบ้านหลายคน
จนกระทั่งเจรจาค่าเหมาเรือในราคา 25,000 จ๊าด แต่ต้องรอพูดต่อรองกันอยู่นาน เกือบจะไม่ตกลงกันซะแล้ว มีญาติโยมข้างวัดเกาะโด๊ดร่วมเดินทางไปด้วย 4-5 คน
(หลังจากต่อรองราคากันแล้ว จึงลงเรือไปที่เกาะกูด
ตามภาพที่เห็น "รอยพระพุทธบาท" อยู่ท้ายเกาะที่ไกลออกไป)
(โปรดสังเกตภาพตอนบ่าย - จะเห็นน้ำท่วมทางไป "พระเจดีย์กลางน้ำไจ้มังไหว้" หมดแล้ว)
เมื่อลงเรือกันแล้ว ต้องใช้เวลานั่งเรือหางยาวจากท่าเรือไปถึงเกาะกูดประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างทางมีคลื่นลมพอสมควร
ได้มองเห็นพระเจดีย์ที่เราไปเมื่อเช้าได้แต่ไกล ตอนบ่ายนี้น้ำขึ้นเต็มหมดแล้ว เป็น "พระเจดีย์อยู่กลางน้ำ" มองจากกลางทะเลเช่นนี้
จะเห็นเป็นเกาะกลางทะเลจริงๆ
ตอนนี้เรือวิ่งเข้าไปมาใกล้เกาะกูด ซึ่งบนเกาะนี้มีหมู่บ้านถึง 3 หมู่บ้าน เรือได้วิ่งผ่านหมู่บ้านอื่นมาจนสุดท้ายถึง "หมู่บ้านไนเต้า"
มองหลายหลังคาเรือนเหมือนกัน เรือได้จอดริมชายหาดทันที แต่ก็ยังต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ต่อไปอีก เพราะตามภาพจะเห็นรอยพระพุทธบาทอยู่บนเทือกเขาไกลออกไปอีก
ภาพนี้จะเห็นจุดสีขาวเล็กๆ อยู่บนยอดเขา (คือ ยอดมณฑปครอบพระบาท) รถเครื่องได้นำพวกเราวิ่งผ่านไร่นาออกไปนอกหมู่บ้าน
จนถึงชายทะเลเขาชี้บอกให้เดินขึ้นไปตามบันได โอ้โฮ..นึกว่าถึงแล้ว จะต้องเดินขึ้นบันไดหลายสิบขึ้นไปอีกหรือนี่..?
ตอนบ่ายอากาศร้อนพอสมควร ต้องนั่งพักเหนื่อยกันซะหน่อย ตอนนี้พวกเราเดินตามทันกันมาแล้ว หลังจากนั่งรถเครื่องตามๆ กันมา
เดินขึ้นไปจนถึงลานวัดมีศาลาหลังใหญ่กำลังสร้างอยู่ เดินต่อไปด้านหลังศาลา แหงนมองขึ้นไปบนโขดหินใหญ่ (ถ่ายภาพออกมาคล้ายมีแสงรุ้งที่หน้าผาด้วย)
มีบันไดทางขึ้นอีกต่อหนึ่ง
เดินขึ้นไปถึงศาลาบนยอดเขาบนเกาะกูดแล้ว ปรากฏว่าไม่พบพระหรือชาวบ้านเลย ท่านสุวรรณพาเดินต่อขึ้นเชิงบันไดทางขึ้นโขดหิน
ซึ่งมองเห็นศาลาครอบพระพุทธบาทแต่ไกล เดินผ่านแผ่นหินศิลาจารึกบอกประวัติการสร้างเอาไว้ว่า เคยมีพระจากที่นี่ไปเรียนที่ศรีลังกา
และได้พบว่าในตำนานของศรีลังกาเล่าว่า พระอานนท์ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาท เพื่อให้บุคคลไว้บูชากราบไหว้ รวมไปถึงเหล่าพญานาคและเทวดา
พระภิกษุที่ไปศึกษาที่ศรีลังกากลับมาแล้วจึงได้ออกค้นหา ท่านได้อธิฐานจิตว่ารอยที่ว่านี้อยู่ที่ไหน ในเวลาต่อมาก็ได้พบรอยปรากฏอยู่บนหินก้อนนี้
และท่านได้อธิฐานจิตว่าจะใช่รอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่ เทวดาก็ได้มายืนยันเนรมิตให้เห็นว่าเป็นของจริง
สมัยก่อนเคยมีนักเดินเรือมาที่เกาะนี้และคิดจะระเบิดหินก้อนนี้นำลงเรือไปสร้างถนน ปรากฏว่าระเบิดไม่ทำงาน และเครื่องจักรก็ระเบิด เรืออับปางจมลงไป
ทิ้งสมอเรือใหญ่ขึ้นสนิมที่ริมชายหาดไว้ให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ สถานที่นี้จะมีงานฉลองประจำปีทุกปี ประมาณ 7-8 วัน ตั้งแต่วันพระ 8 ค่ำ ถึงวันพระ 15 ค่ำ
เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี พวกเราได้มาหลังจัดงานผ่านไปแล้ว เพราะเห็นเศษขยะเกลื่อนทางเดินขึ้น
หลังจากเดินขึ้นบันไดไปถึงมณฑปครอบพระพุทธบาท ซึ่งทาสีทองเอาไว้ ภายในเป็นรอยพระพุทธบาทข้างซ้าย
ทาสีทองไว้เหมือนกัน จนมองไม่เห็นพื้นหินเดิมเลย เสียดายที่ไม่มีรูปภาพเดิม ๆ อยู่เลย สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้
ผู้เขียนได้เข้าบัญชีทำเนียบพระพุทธบาทไว้ใน "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 1" นานแล้ว แต่เพิ่งจะมีโอกาสย้อนหลังมาสำรวจว่า
จะมีอยู่จริงตามข้อมูลที่ได้รับจากชาวมอญที่มาทำงานที่ภูเก็ตหรือไม่
ปรากฏว่ารอยพระพุทธบาทอยู่ภายในพระมณฑป เขาได้ทำลูกกรงกั้นไว้ จึงไม่สามารถจะเข้าไปกราบให้ถึงพระบาทได้ คงทำพิธีบวงสรวงดอกไม้ที่เตรียมไป
แล้วสรงน้ำหอมและปิดทองจากด้านนอก ถึงอย่างไรก็ตาม คุณบุ๋มก็ยังสามารถเอากล้องลอดเข้าไปถ่ายมาให้ชมอย่างเต็มตาจนได้
ผู้เขียนดีใจปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เดินทางโดยเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศพม่า แล้วยังต้องนั่งรถไปเมืองเมาะละแหม่ง
และนั่งรถจิ๊ปไปเมืองละมาย แล้วต้องนั่งเรือไปเกาะกูด จนกระทั่งนั่งรถมอเตอร์ไซด์ต่อมาถึงรอยพระพุทธบาท กว่าจะเดินขึ้นมาถึงบนยอดสุดได้
ซึ่งขณะนั่งเรืออยู่เราก็พอจะมองเห็นได้ นับว่าลำบากยากเกินที่บรรยายจริงๆ
ถ้าหากไม่ได้เจอกับท่านสุวรรณ หรือท่านอาจารย์โกศลไม่ได้ร่วมเดินทางมาด้วย และไม่ได้ญาติโยมที่เห็นในภาพอยู่นี้ ซึ่งเป็นผู้เจรจาต่อรองกับเรือหางยาว
ภาพที่เห็นนี้เช่นนี้คงไม่มี ผู้เขียนก็อาจจะไม่ได้มายืนให้ถ่ายภาพเช่นกัน
(นั่งรถเครื่องในหมู่บ้านเพื่อมาลงเรือที่ท่าเรือ มีชาวบ้านมานั่งคุยที่ศาลาท่าน้ำพอพูดไทยได้บ้าง)
เป็นอันว่าได้รับผลสำเร็จทุกอย่าง รวมทั้งสะดวกและปลอดภัย ถึงแม้จะหวั่นไหวไปกับคลื่นลมบ้าง แต่เราก็ไปได้จังหวะและโอกาส นับว่าสถานที่นี้ไปยากมาก
เพราะถ้ากระแสลมแรง วันนั้นคงจะเดินทางไปไม่ได้ แล้วโอกาสจะไปอีกก็แสนยาก นี่ก็ต้องรอมานานนับสิบปีกว่าจะมากันได้
ว่าแล้วก็ลงจากยอดเขา นั่งรถเครื่องที่รออยู่ ซึ่งคนขับรถก็เดินนำขึ้นไปด้วย นับว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยดีจริงๆ เพราะว่าบางคนไม่เก็บค่ารถ
เนื่องจากเขาไปเคยไปทำงานที่ระนอง จึงพอพูดไทยกับเราได้ อือ..ค่อยโล่งอกไปเหมือนกัน ไม่งั้นอึดอัดแย่ เพราะฟังภาษาเขาไม่รู้เรื่อง ได้เป็นบางคำ
อุตส่าห์เอาหนังสือคำแปลภาษาไทย-พม่า แต่ไม่รู้หายไปไหน ไม่เข้าใจก็ถามท่านสุวรรณ ซึ่งต้องพยายามแปลให้ฟังเรื่อยๆ
รถเครื่องบางคันเขาก็เก็บ ผู้เขียนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะทุกคนถือว่ามีส่วนเป็นผู้นำทาง จึงได้จ่ายไป 10,000 จ๊าดเท่านั้น
ส่วนคนที่ขับให้ผู้เขียนเขาไม่เอาตังต์ จึงได้ให้ "เหรียญแหนบหลวงพ่อฯ" เป็นที่ระลึก นับว่าเขามีน้ำใจประเสริฐจริงๆ แม้จะอยู่ห่างไกลความเจริญ
กว่าจะไปไหนได้ต้องอาศัยเรือเป็นยานพาหนะเท่านั้น นับเขายังเห็นศาสนาสำคัญกว่าเงิน "ธุรกิจไม่สำคัญเท่าจิตใจ" พูดง่ายๆ
ว่ายังมีน้ำใจให้หลงเหลือจากผู้คนที่อยู่ห่างไกลความเจริญนั่นเอง
ในภาพก็ได้ร่ำลา "ชาวบ้านเกาะกูด" ที่ศาลาของสะพานลงเรือ จากนั้นก็เรือก็ออกจากท่าเดินทางกลับ ทิ้งหมู่บ้านไนเต้าไว้เบื้องหลัง
คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน ยังจำคำคนขับรถของผู้เขียนที่ย้ำข้างหูก่อนลงเรือว่า... "กลับไปแล้วอย่าลืมผมนะครับ" ผู้เขียนก็บอกว่า
อย่าให้ใครรู้ก่อนนะว่าให้ "พระเหรียญแหนบ" นะ แต่พอลงเรือยังไม่ทันออก เหลียวกลับไปเห็นเขากำลังล้วงออกมาอวดเพื่อน อย่าคิดอะไรไปมาก
เพราะผู้เขียนเหลือติดย่ามมาแค่เพียงเหรียญเดียวเท่านั้นเอง
เรือออกมาจากท่าประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างนี้อยู่กลางทะเล ตอนขามาก็ได้เห็นเกาะเล็กอยู่ระหว่างทาง ในตอนนี้คนขับเรือได้พยายามขับเข้าไปไกล้กว่าเดิม
ผู้นำทางเล่าวว่า เกาะเล็กๆ นี้มีพระเจดีย์สำคัญอยู่ด้วย แต่เรือของเราไม่สามารถจะเข้าไปจอดได้ เกรงว่าน้ำจะพัดเรือเข้ากระแทกเกาะ จึงได้แต่ถ่ายรูปไว้
เขาเล่าว่าหน้าเทศกาลไหว้พระเจดีย์นี้ น้ำจะแห้งเป็นชายหาด จนสามารถจอดเรือเดินขึ้นไปกราบไหว้ได้ นับเป็นที่อัศจรรย์ใจจริงๆ
7. พระเจดีย์ วัดเกาะชะ เมืองละมาย จังหวัดเย
ผู้เขียนและอาจารย์โกศลได้ถ่ายรูปร่วมกับท่านเจ้าอาวาส วัดเกาะชะ (ภาพขวามือของเรา) ต่อหน้าพระบรมฉายาทิสลักษณ์ล้นเกล้าสองพระองค์ของชาวไทย
ที่แขวนไว้ภายในศาลาแห่งนี้ นอกจากจะมีที่วัดนี้แล้ว ยังพบเห็นรูปในหลวงติดอยู่ตามบ้านของชาวมอญแห่งนี้อีกหลายแห่ง
ซึ่งพวกเขาต่างก็มีจิตใจให้ความเคารพนับถือ เหมือนกับชาวไทยทั้งหลาย พวกเขาเหล่านี้คงจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ที่ตนเองและญาติมิตรได้เดินทางมาทำงานในผืนแผ่นไทยภายใต้ร่มโพธิสมภาร บางคนก็นำเงินที่ทำงานได้เก็บหอมรอมริบไว้มากแล้ว บางคนก็นำมาปลูกบ้านใหม่
บางรายก็นำมาซื้อสวนยางพาราเป็นของตนเองเป็นต้น
สำหรับรูปภาพที่เห็นนี้ เป็นการเดินทางกลับไปอีกวัดหนึ่ง แต่หลังจากจ่ายค่าเรือหางยาวแล้ว โยมได้นำไปแวะฉันน้ำอ้อยก่อน
โดยมีเจ้าของร้านในหมู่บ้านชายทะเลเป็นผู้ถวาย จากนั้นพระได้นำไปที่พระเจดีย์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ริมถนนสองด้าน หมายถึงวัดอยู่ตรงกลาง
ได้เข้าไปสนทนาและถวายปัจจัยกับเจ้าอาวาส วัดเกาะชะ
ซึ่งวัดนี้ภายหลังได้ทราบว่ามีความสำคัญเหมือนกัน คือตามที่ได้เล่าไปแล้วว่า พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ ที่วัดละมาย นมีประวัติเล่าว่า
ในคราวที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น "พญาม้าอัศดร" นั้น พระองค์ได้มาหากินหญ้าแถววัดเกาะชะนี้ด้วย แล้วไปนอนที่บริเวณวัดใหญ่ละมาย
ด้วยเหตุนี้สถานที่สำคัญแต่ละแห่ง จึงได้สร้างพระเจดีย์ไว้ เพื่อบรรจุสิ่งของสำคัญของพระพุทธเจ้า อีกทั้งเพื่อเป็นเครื่องหมายว่า
สถานที่บริเวณนี้เคยเป็นที่พระโพธิสัตว์ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาแล้ว เหมือนกับในเมืองไทยบ้านเรา ตามประวัติเล่าไว้หลายแห่ง
และผู้เขียนได้เคยวินิจฉัยไว้ตรงกันว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับรอยพระพุทธบาท หรือประทานพระเกศาธาตุนั้น
เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้ในอดีตชาติของพระองค์ หมายถึงเสด็จกลับบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของพระองค์นั่นเอง
ฉะนั้นในตอนหน้า ผู้เขียนจะได้นำรายชื่อสถานที่สำคัญตาม "ตำนานมอญ" ที่จารึกไว้ว่า สถานใดเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ"
นำไปประดิษฐานไว้อยู่ใน "อาณาจักรรามัญ" ที่ไหนบ้าง อาจมีรายชื่อที่ตรงกับสมัยนี้บ้าง และที่เกินไปจากตำนานบ้าง
หรือที่ยังหาไม่พบเนื่องจากกาลสมัยผ่านไปบ้างเป็นต้น.
((( โปรดติดตามตอน "บุกตลุยไหว้พระเกศาธาตุ เมืองกเลงอ่อง" ต่อไป )))
◄ll ตอนที่ 1
|
|
|
|
Posts: 2038 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/5/10 at 10:37 |
|
(Update 7-05-53)
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 (ละมาย - เย - กเลงอ่อง)
แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องกันต่อ ตามที่เกริ่งไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า จะขอนำ "ตำนาน" ที่บันทึกการประดิษฐานของ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ"
ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตตอนใต้ของประเทศพม่า รวมทั้งสถานที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้รวมอยู่ด้วย นั่นก็คือ "พระธาตุอินทร์แขวน" (ไจ้ทีโย)
หรือที่เรียกกันว่า "Golden Rock" นั่นเอง
เรื่องการแปลนี้ผู้เขียนได้ขอให้ท่านสุวรรณเป็นผู้แปลให้คุณวัชรพล (บุ๋ม) เป็นผู้บันทึก กว่าจะได้แต่ละแห่งต้องให้ท่านสุวรรณออกเสียงอยู่หลายครั้ง
เพราะภาษามอญฟังแล้วเขียนเป็นภาษาไทยยากมาก หากเขียนผิดเพี้ยนไปบ้างต้องขออภัยท่านผู้รู้ด้วย สำหรับสถานที่แต่ละแห่งนี้ สถานที่ไหนผู้เขียนไปมาแล้ว
จะวงเล็บหมายเหตุไว้ด้วย เพื่อความเข้าใจง่ายๆ
(ภาพวาด : แสดงถึงพระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุให้แก่พระฤาษี)
ตำนาน "พระเกศาธาตุ" ในรัฐมอญ
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ในสุวรรณภูมิ (รัฐมอญ) มีพระเกศา ๑๕ พระองค์บรรจุไว้ในพระเจดีย์ต่างๆ ดัวนี้
๑. พระเจ้าติสสะธรรมะสีหะราชา มีพระเกศาธาตุ ๒ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ.๑๑๘ ยังไม่ทราบว่าบรรจุอยู่พระเจดีย์องค์ไหน
๒. ติสสะกุมาร มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์สินไจ้ บนภูเขาคัชชะคีรี มีพญานาคดูแลรักษา เป็นพญานาคเพศเมีย (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๓. ฤาษีสีหะกุมาร มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ซอยกะเปน (ภาษามอญเรียกเป็น "ไจ้ซอยบาง") อยู่ที่พะอ่าน
๔. ฤาษีพุทธญาณะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ทิโย ภาษามอญเรียกว่า "ไจ้อินเสาะเยอ" หรือรู้จักกันในนาม พระธาตุอินทร์แขวน
เมืองไจ้โท (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๕. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์กุสินาเยา (กุสินารมย์) บนภูเขาชื่อ "โตคะโรล" เมืองปิเลน ใกล้เมืองสะเทิม
(ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๖. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปี พ.ศ.๑๑๙ ไว้ที่ "แมรัลเจดีย์" หรือ "นาคะปุบพะ" (เป็นภาษาบาลี) บนภูเขาแมรัล
ปัจจุบันเรียกเป็น "ไจ้เต๋าลองนัด" หรือ "เจดีย์ลูกหิน" อยู่ที่เมืองปิเลน (ไปไม่ได้ มีรูปและหนังสือประวัติด้วย)
๗. ฤาษีอัลละกัปปะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น และพระบรมธาตุ ๘ องค์ บรรจุเมื่อปีพ.ศ.๑๑๓ ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ปะแต บนส้มเคภูเขา อยู่ที่เมืองตองซ่น
(ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๘. ฤาษีกัปปะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ. ๑๑๔ ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้มอระอิ บนภูเขาชื่อ "มอระอิ" เมืองเมาะลำเลิง
(ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ต..ตะนอทะ เมืองเมียวดี ต้องเข้าทาง อ.พบพระ จ.ตาก) (ผู้เขียนไปมาแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553
หลังจากกลับมาจากพม่าแล้ว )
๙. ฤาษีนาระทะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ. ๑๑๔ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้มอระอะ บนภูเขาชื่อ "อะโรนเทนโปดอพญา" ไม่ทราบเมือง
(ปัจจุบันอยู่ใกล้ภูเขามอระอิ แต่ต้องเข้าไปทาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก)
๑๐ .ฤาษีเกลาสะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ เมืองละมาย รัฐเย (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๑๑. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์มอจีพญา บนภูเขาไจ้คามี อยู่ใกล้กับพระเจดีย์กลางน้ำ ไม่ทราบเมือง (ปัจจุบัน คือ
พระเจดีย์ไจ้คำ เมืองไจ้คามี) (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๑๒. พญาสุตโตดนัจปรจีเนานาคราช (พญานาค ๒ พี่น้อง) มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้กะรดแตต ไม่ทราบเมือง
๑๓. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้โตยะนะ บนภูเขาชื่อ "โตยะนะ" ไม่ทราบเมื่อง
ตำนานพระทันตธาตุ (ฟัน) ในรัฐมอญ
๑. พระเจดีย์ไจ้ตาลาน เมืองเมาะละแหม่ง บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ" (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๒. พระเจดีย์มุปอน เป็นเจดีย์ ๒ พี่น้อง มี ๒ องค์เท่ากัน อยู่เมืองเมาะละแหม่ง บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ" (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๓. พระเจดีย์ไจ้คาเมา ปัจจุบันนี้เรียก "ไจ้มุน๋าย" บ้านมุทาย เมืองเกาะคะมาย เมืองเมาะละแหม่ง บรรจุพระทันตธาตุ ๑ องค์
๔. พระเจดีย์จ๊ะปันเจ๋า ปัจจุบันเรียก "ไจ้ปกาเยา" หมู่บ้านสาตะเพียนเฉาวะ อยู่ติดแม่น้ำ ระหว่างรัฐกะเหรียงกับรัฐมอญ บรรจุ "พระทันตธาตุ"
เมื่อพ.ศ. ๒๓๗ (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
๕. พระเจดีย์ไจ้ก้า (ชื่อในสมัยโบราณ) ต่อมาเรียกเป็น "ไจ้อบ" พอมาถึงปัจจุบันนี้เรียก "ไจ้กะตา" อยู่ติดแม่น้ำสะโตง ไม่ทราบชื่อเมือง
บรรจุพระทันตธาตุ
๖. พระเจดีย์ไจ้กะลอนปอน บนภูเขา "เชยะปับปะตะ" ใกล้แม่น้ำสะโตง ไม่ทราบเมือง บรรจุพระทันตธาตุ
๗. พระเจดีย์เต๋าสะยับ หมู่บ้านเต๋าสะยับ เมืองหงสาวดีสถาปนาไว้ อยู่ทางขวามือของแม่น้ำสะโตง บรรจุพระทันตธาตุ
๘. พระเจดีย์ไจ้มูกะเกาะโน๊ด หรือเรียก "พระเจดีย์มุคาจี" ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านมุคาจีกับหมู่บ้านมุคากเล เมืองหงสาวดี
๙. พระเจดีย์ไจ้มุเตา (พระธาตุมุเตา) เมืองหงสาวดี บรรจุ "พระเกศาธาตุ พระทันตธาตุ" พระบรมธาตุน้อยใหญ่
๑๐. พระเจดีย์ไจ้กะวะ ปัจจุบันเรียก "พระเจดีย์เลนมิดซ๋วย" สร้างเมื่อพ.ศ.๒๓๗ อยู่ทางหมู่บ้านหงสาวดีทางใต้ ชื่อว่า "กะวะ" เมืองหงสาวดี
บรรจุพระทันตธาตุ
พ่อค้าชื่อ "ปุสสะ" และ "ภัลลิกะ" นำพระเกศาธาตุ และพระทันตธาตุมาประดิษฐานไว้ในรัฐมอญ อยู่ที่พระเจดีย์ชเวดากอง ๔ พระเกศา เยตะนะต่อง ๑ เส้น
เยสิตต่อง ๑ เส้น ตองเวต่อง ๑ เส้น สันตอกัต ๑ เส้น
8. พระเจดีย์ซานดอว์เซน บ้านกเลงอ่อง เมืองทวาย
ภาพทางอากาศ : จะเห็นหลังคาบันไดทางขึ้นไปจนถึงบนยอดเขาสูง "พระเจดีย์ซานดอว์เซ็น" บ้านกเลงอ่อง
(นี่คือภาพเดิมที่เหลืออยู่เก็บไว้นานแล้ว)
พระเจดีย์ซานดอว์เซน เจ้าหน้าของวัดเล่าว่า เป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ 4 พระองค์ องค์ละ 3 เส้น รวมทั้งหมด 12 เส้น
ตามตำนานเล่าว่าเป็นประเพณีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะต้องเสด็จมาประทานพระเกศาธาตุไว้ ณ สถานที่นี้
ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านหรือได้ยินมาถึงตอนนี้ คงจะต้องดิ้นรนสืบค้นหาอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับผู้เขียนที่ได้ยินชื่อ "พระเจดีย์ซานดอว์เซน"
แห่งนี้มานานเกือบสิบปี นับตั้งแต่เดินทางไปเมืองทวาย เมื่อปี 2545 ในตอนนั้นมีคนเอารูปภาพมาให้ดู พวกเราก็ได้ซื้อไว้ 1 ภาพ แล้วหมายเหตุว่า
"พระเจดีย์ซานดอว์เซ็น" เมืองเกงอ่อง
ท่านเชื่อไหมว่า แค่ฟังเสียงผิดเพี้ยนจากคำว่า "กเลงอ่อง" เป็น "เกงอ่อง" จึงทำให้ต้องสืบค้นหาอยู่นาน
เพราะไปถามใครในเมืองย่างกุ้งก็ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งได้พบกับพระภิกษุชาวมอญรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระสุวรรณ สุวัณโณ ท่านได้ไปศึกษาที่เมืองไทย
พอผู้เขียนถามด้วยถ้อยคำว่า "เกงอ่อง" ท่านรีบตอบทันทีว่ารู้จัก เขาเรียกว่า "กเลงอ่อง" อ๋อ..มันเพี้ยนไปนิดเดียวเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการบุกตลุยกันต่อไป หลังจากเมื่อวานได้ลุยกันไปที่ "รอยพระพุทธเกาะกูด" สำเร็จไปสมความตั้งใจมานานแล้วเหมือนกัน
คืนนั้นหลังจากกลับมาถึงวัดเกาะโด๊ด พระนำทางสองรูปและชาวบ้านได้ช่วยหารถเช่า โดยเหมารถสองแถว (สภาพตามที่เห็นในภาพนี้แหละ) เป็นเงิน 150,000 จ๊าด
เนื่องจากรถจิ๊ปที่มาจากเมาะละแหม่งจะต้องเดินทางกลับ ผู้เขียนจึงมอบเงินเป็นค่าน้ำมันอีก 35,000 จ๊าด
ในวันเดินทางวันนี้วันที่ 14 ก.พ. 53 หวนคิดถึงเมืองไทยว่าตรงกับวันสำคัญของฝรั่งคือ "วันวาเลนไทม์" พอดี และเป็นวันสำคัญของชาวจีน นั่นก็คือตรงกับ
"วันตรุษจีน" พอดีอีกเช่นกัน จะสำคัญแค่ไหนก็ว่ากันไป จะขอย้อนเล่าเรื่องต่อไปว่า...
การเดินทางในวันนี้ มีชาวบ้านร่วมเดินทางนับสิบคน เพื่อสร้างภาพให้เหมือนกับรถประจำทางท้องถิ่น หากพบด่านตรวจจะได้ปลอดภัย
เนื่องจากตั้งแต่เมืองเมาะละแหม่งลงถึง เมืองเย และ เมืองทวาย เมืองมะริด การเดินทางไปตามถนนนี้ ทางการพม่ายังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทาง
เพราะไม่ปลอดภัยจากชนกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่เมืองเยเป็นต้นไป ถนนจึงเต็มไปด้วยฝุ่น และทางลูกรังตลอดเส้นทาง
(สภาพรถสองแถวพื้นบ้านจริงๆ คือมีคนนั่งขึ้นไปบนหลังคา ผ่านด่านของเจ้าหน้าที่พม่า
ไปได้อย่างสบายๆ และผู้เขียนกำลังชี้มือไปที่ภูเขาเบื้องหน้า นั่นคือเป้าหมายของเรา)
รถสองแถวออกเวลาเดินทาง 7.30 น. เดินทางผ่านเมืองเย และกว่าจะไปถึงบ้านกเลงอ่องก็เป็นเวลา 14.00 น. แล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังสภาพถนนมีทั้งทางขึ้นเขา
และถนนแคบเป็นหลุ่มเป็นบ่อ มีหมู่บ้านมอญเป็นระยะ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นยางพารา หาร้านอาหารไม่ได้เลย ต้องฉันเพลในระหว่างทาง
โชคดีที่ชาวบ้านเตรียมไปด้วย
และทางช่วงสุดท้ายใกล้ถึงกลับเป็นทางลาดยางอย่างดี มีคนบอกว่าถนนสายนี้ คนไทยเป็นผู้สร้างมาจาก บ้านปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
แต่ยังไม่ได้เปิดใช้เป็นทางการ เนื่องจากความไม่ปลอดภัยจากชนกลุ่มน้อย
รถวิ่งมาตามทางลูกรังผ่านหมู่บ้านที่อยู่เชิงเขา พวกเรานั่งรถเขย่ากันมานาน ทุกคนดีใจใกล้เกือบถึงวัดแล้ว จะมองเห็นพระธาตุอยู่ยอดเขาแต่ไกล
รถวิ่งผ่านป้ายวัดที่อยู่ริมทางเข้า
ภาพนี้ได้รถได้เข้ามาถึงเชิงเขา จะเห็นซุ้มประตูทางเดินขึ้นไป โดยมีญาติโยมบางคนสมัครใจเดินขึ้น ส่วนบางคนและผู้เขียนนั่งรถสองแถวขึ้นต่อไป
ขณะที่เดินทางไปถึง มีชาวบ้านถิ่นอื่นมาถึงก่อนเรา 2 รถบัส
ระหว่างทางนี้ คุณบุ๋มได้ถ่ายรูปไว้ เพราะเป็นภูเขาสูง โชคดีที่เขาทำถนนไว้เป็นอย่างดี ไม่นานรถก็ขึ้นมาถึงซุ้มทางขึ้นบนพระเจดีย์ รถจอดที่ลานบนยอดเขา
มีที่กว้างพอสมควร มีร้านจำหน่ายน้ำดื่มเย็นๆ ข้างบนนี้ และมีจำหน่ายรูปภาพและประวัติของสถานที่นี้ด้วย
ทางพม่าเขาดีกว่าบ้านเรา แม้ทางเดินขึ้นบันไดก็มุงหลังคาไว้ไม่ให้เดือดร้อน บันไดนับร้อยขั้น จะมีชาวบ้านมาบูชากันมากมายในงานประจำปี
ซึ่งจะหลังจากพวกเรากลับไปแล้ว
ส่วนซุ้มหลังคาทางเดินขึ้นช่วงสุดท้าย เขาจะทำลวดลายประดับสวยขึ้น เพื่อเดินขึ้นไปบนองค์พระธาตุ
ผู้เขียนได้ยืนถ่ายรูปเพื่อให้เห็นทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องล่าง
พระเจดีย์ซานดอว์เซนนี้ แปลตรงๆ ว่า "พระเกศาธาตุ" เป็นความฝันของผู้เขียนมานานแล้ว หลังจากทราบข้อมูลมาก่อนหลายปีว่า
เป็นสถานที่เสด็จของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาแล้ว 4 พระองค์
แต่ครั้นเมื่อมาถึงจึงได้ทราบมากกว่านั้นอีกว่า พระเจดีย์นี้ได้บรรจุพระเกศาธาตุแต่ละพระองค์รวมแล้ว 12 เส้น นับว่าเป็นความโชคดีเหลือเกิน
จึงได้กราบไหว้บูชาด้วยการปิดทองและสรงน้ำหอมไปรอบๆ
ถ้าหากมองฐานพระเจดีย์ให้ดี จะเห็นมีโขดหินโผล่ออกมาด้วย แสดงว่าบนยอดเขานี้มียอดหินไม่เรียบ จึงจำเป็นต้องสร้างพระเจดีย์ครอบไว้
โดยไม่ทำลายก้อนหินเหล่านี้ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติเดิมๆ เอาไว้
หลังจากพวกเราได้กราบไหว้บูชากันครบถ้วนทุกคนแล้ว จึงได้มายืนถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และได้แวะทำบุญกับเจ้าหน้าที่ของวัด 10,000 จ๊าด
แล้วขึ้นรถสองแถวออกเดินกลับทันที
9. วัดอัตเตมอดปราด (วัดสามเณรน้อย) เมืองเย
พวกเรานั่งรถวิ่งโขยกเขยกกันมา หลังจากผ่านช่วงถนนลูกรังระหว่างภูขา จนมาถึงทางลาดยางดีแล้ว ได้มาถึงทางเข้า วัดอัตเตมอดปราด (วัดสามเณรน้อย)
เป็นเวลามืดค่ำแล้ว ประมาณ 19.30 น.
รถวิ่งเข้าไปถึงหน้าวัดจะมีพระเจดีย์องค์ใหญ่ ท่านได้สร้างครอบซากพระธาตุองค์เก่าไว้ บอกว่าภายในบรรจุ "พระเกศาธาตุ" มานานแต่โบราณเหมือนกัน
จากนั้นรถวิ่งเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร จะเป็นอาณาเขตใหม่ ท่านได้สร้างศาลา, ซุ้มประตู, วิหารพระพุทธรูปปางจักรพรรดิ, วิหารพระยืนปางประทานพร
สร้างไว้ได้วิจิตรสวยงามมาก (แต่ลวดลายคล้ายกับ "ลายไทย" วัดบ้านเรา) โดยเริ่มสร้างมา 13 ปีแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ขณะนี้บวชเป็นพระได้ 10
พรรษาแล้ว
ความจริงได้รับข้อมูลจากคนมอญที่ไปทำงานที่ภูเก็ตมานานแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจคำว่า "วัดสามเณร" เพิ่งจะมาถึง "บางอ้อ" ในตอนนี้
เพราะสมัยที่ท่านบวชเป็นเณร มักจะไปนั่งสมาธิตามป่าเขาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยจะให้ใครพบ หรือไม่พูดกับใคร จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่วประเทศจนมาถึงเมืองไทยด้วย
ตอนนั้นท่านจึงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก กับถ้อยคำว่า "สามเณรน้อย" ชื่อนี้ก็ยังเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
อีกทั้งคนไทยก็ยังเดินทางมานมัสการท่านอยู่เสมอ
สำหรับด้านหน้าบันไดทางเดินขึ้นพระวิหารใหญ่ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ 4 ทิศ สูงประมาณ 86 ศอก ไว้ด้านหน้าด้วย แต่ไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ชมได้
เนื่องจากเป็นเวลาค่ำมืดแล้ว คงได้แต่ถ่ายรูป "อุณาโลม" ทำด้วยทองคำแท้หนัก 30 กิโลกรัม ตามที่เห็นในภาพนี้แหละ
อาจารย์โกศลท่านเคยมาที่นี่และรู้จักกับท่านสามเณรน้อยเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงได้ร่วมทำบุญทุกอย่าง 40 ดอลลาร์
หลังจากสนทนาและทำบุญกับท่านแล้ว ท่านได้พาเดินชมไปที่ศาลาหลังอื่นโดยรอบ ภายในศาลาจะเห็นซุ้มพระพุทธรูปทรงพม่า และมีพระพุทธรูป "ทรงสุโขทัย"
ที่นำมาถวายจากเมืองไทยอีกด้วย
เมื่อไม่สามารถ่ายภาพการก่อสร้างพระพุทธรูปสี่ทิศในเวลากลางคืนได้ คุณบุ๋มจึงได้ถ่ายภาพวาดแบบจำลอง และผู้เขียนได้นำภาพ "พระพุทธรูปไจ้ปุ้น"
จากเมืองหงสาวดี (ภาพจาก trekkingthai.com) มาเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างให้ดูด้วย
หลังจากนั้นท่านพาเดินชมมาที่รูปปั้นตัวอย่าง "พระพุทธรูปสี่ทิศ" จำลอง ท่านบอกว่าจะสร้างให้เหมือนแบบที่เห็นนี้ พวกเราก็โชคดีอีกเช่นเคย
ที่ได้มีโอกาสร่วมสร้างพระใหญ่ๆ ในอาณาจักรมอญนี้อีก
ครั้นได้เดินชมผลงานการสร้าง สรุปแล้วว่ามีพระพุทธรูปมาจากเมืองไทยหลายองค์ และศิลปะการสร้างลวดลายกนกก็คล้ายศิลปของไทย คิดว่าท่านคงจะชอบคนไทย
เพราะได้นำความเจริญมาถึงท้องถิ่นนี้ อีกทั้งอาณาเขตนี้ก็เคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน การที่พวกเราได้มีโอกาสไปในครั้งนี้
เหมือนกับได้กลับไปเยือนบ้านเกิดเมืองนอนกันอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง.
((( โปรดติดตามตอน "ไหว้พระเกศาธาตุ เมืองมุเดิง" กันต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 2038 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 19/5/10 at 10:02 |
|
(Update 19-05-53)
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 (ละมาย - มุเดิง - เมาะละแหม่ง)
10. วัดบ้านกะมะวัค อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง (มีพระบรมธาตุและพระธาตุจำนวนมาก)
ในตอนเช้าของวันนี้ ผู้เขียนและคณะได้ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว จึงได้เข้าไปกราบลาหลวงพ่อเจ้าอาวาส พร้อมกับได้ถวายปัจจัยร่วมทำบุญ เป็นเงินไทย 1,000 บาท
เพราะทราบว่าท่านจะเดินทางมาเมืองไทย อีกทั้งได้ลาพระภิกษุภายในวัดและญาติโยมชาวบ้านเกาะโด๊ด ที่ได้ช่วยสงเคราะห์ทุกอย่าง
หลังจากนั้นได้ออกเดินทางกลับโดยการเช่ารถสองแถวคันเดิม ซึ่งมีปัญหาเล็กน้อยจากการต่อรองราคาเมื่อวันก่อน เนื่องจากมีการฟังแล้วไม่เข้าใจกัน
แต่เจ้าของรถก็ยินยอมขับรถมาส่งที่เมืองเมาะละแหม่ง ทั้งนี้มีอาจารย์โกศลได้ช่วยเจรจาให้เป็นอย่างดี การเดินทางกลับมาในวันนั้น มีญาติโยมตามมาส่งด้วยประมาณ
4 - 5 คน
รถได้วิ่งกลับมาทางเดิมตามถนนลาดยางจาก เมืองละมาย สู่เมืองเมาะละแหม่ง ในระหว่างทางรถได้แวะชมวัดแห่งหนึ่งใน "หมู่บ้านกะมะวัค"
วัดนี้เก่าแก่สร้างมานานแล้วเมื่อ พ.ศ. 2170 ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆ พร้อมกับพระธาตุของพระสาวกอีกมากมาย ประดิษฐานอยู่ในศาลา 3 หลังติดต่อกัน
สามารถเดินชมได้โดยรอบ
พวกเราได้เดินชมภายในศาลาหลังแรก จะเห็นภาพพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในผอบบ้าง อยู่ในมณฑปเล็กๆ บ้าง มีการประดับด้วยแสงสีรัศมีสวยงามยิ่ง
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ เขาไม่มีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ แต่ได้ประดิษฐานไว้ให้ชมตามที่เห็นภาพต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมีการจัดทำไว้หลายรูปแบบ
มีการประดิษฐ์ลวดลายไว้สวยงาม
พวกเราได้เดินตามเจ้าหน้าที่ไปเรื่อยๆ ทางเดินต่อเนื่องไปทุกศาลา ภายในศาลาหลายหลัง จะเน้นพระบรมสารีริกธาตุที่หลากหลาย บรรจุไว้ภายในพระเจดีย์แก้วบ้าง
บรรจุไว้หลายรูปแบบยากที่จะบรรยายได้ครบถ้วนจริงๆ
ก่อนจะกลับผู้เขียนและคณะชาวบ้านเกาะโด๊ดได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก พร้อมกับผู้เขียนได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน 2,000 จ๊าด เพื่อขอมีส่วนร่วมเป็น "พุทธบูชา"
ด้วย โดยเฉพาะแสงสว่างที่เจิดจ้าอร่ามตาไปหมด
11. พระเจดีย์แจ๊ดแซ (พระเกศาธาตุ) บ้านมุเดิง เมืองเมาะละแหม่ง
สำหรับการเดินทางย้อนกลับนี้ ท่านโกศลกับท่านสุวรรณได้บอกไว้ก่อนหน้าแล้วว่า ขากลับจะแวะกราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" ซึ่งมีหลายแห่งในเมืองมุเดิงนี้
สถานที่นี้มีงานเทศกาลตรงกับ "วันออกพรรษา ตักบาตรเทโว" ของทุกปี ผู้เขียนจึงเข้าไปสรงน้ำพระปิดทอง เพื่อเป็นการบูชา "พระเกศาธาตุ" อีกทั้งได้ทำบุญ
3,000 จ๊าดด้วย
12. พระเจดีย์ไจ้เตตะเมาะ (ใหญ่) พระเกศาธาตุ บ้านกะมะวัค อ. มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
รถสองแถวได้วิ่งมาถึงบริเวณนี้ ซึ่งเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" อีกเช่นกัน ผู้เขียนเสียดายที่ไม่สามารถนำประวัติมาเล่าได้
เนื่องจากหนังสือประวัติเป็นภาษาพม่าและภาษามอญ ได้แต่กราบไหว้ด้วยความเคารพ ด้วยการสรงน้ำปิดทอง และทำบุญ 3,000 จ๊าด
13. พระเจดดีย์ไจ้เตตะเมาะ (เล็ก) บ้านกะมะวัค อ. มุเดิง จ. เมาะละแหม่ง
พระเจดีย์แห่งนี้อยู่ริมสระน้ำ "กันดอยี" ใกล้เคียงกับ "พระเจดีย์ไจ้เตตะเมาะใหญ่" ถ้ามองออกไปไกล จะเห็นพระเจดีย์มากมายอยู่บนภูเขา
ผู้เขียนได้ถ่ายภาพร่วมกับท่านโกศลและท่านสุวรรณบริเวณริมสระน้ำ "กันดอยี" (Kandawgyi Lake)
14. พระเจดีย์กันดอยี Kandawgi (พระเกศาธาตุ) บ้านมุเดิง อ. มุเดิง จ. เมาะละแหม่ง
>
ก่อนจะเข้าไปไหว้ "พระเกศาธาตุ" ด้านในวัด จะมองเห็น ด้านหน้าทางเข้าพระเจดีย์มีการสร้างพระนอนไสยาสน์ยาวประมาณ 20 เมตร )ดังจะเห็นภาพถ่ายตัวอย่างนี้
ทั้งนี้ คงจะสมกับเจตนาของผู้เขียน เพราะการเดินทางไปพม่าครั้งนี้ หวังที่จะกราบไหว้บูชาสถานที่สำคัญในอดีตแห่ง "อาณาจักรมอญ" เช่น "พระเกศาธาตุ" หรือ
"พระทันตธาตุ" เป็นต้น
ถ้าหากไปที่ไหนได้พบการบูรณะพระเจดีย์ หรือมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นต้น ผู้เขียนก็ได้ร่วมทำบุญไปด้วย เป็นการสร้างสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เพราะแผ่นดินแห่งนี้ ส่วนใหญ่เขามีนิสัยชอบสร้างอะไรให้ใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นความสูงของพระเจดีย์ หรือความใหญ่โตของพระพุทธรูปทั้งหลาย
ต่างก็สร้างให้มากกว่ากัน
ด้วยเหตุนี้ หลังจากได้จึงได้ทำบุญสร้างพระนอน 5,000 จ๊าด แล้วจึงได้ถ่ายรูปร่วมกับชาวบ้านคนหนึ่งที่ตามมาส่งด้วย จะเห็นว่าด้านหน้ามีสระใหญ่อยู่ด้วย
15. พระพุทธรูปใหญ่ เตตะเมาะ บ้านลิตัก อ.มุเดิง จ. เมาะละแหม่ง
ตามที่ได้เล่าไปแล้วว่า ในประเทศพม่านิยมสร้างพระใหญ่ ฉะนั้นระหว่างการเดินทาง ผู้เขียนได้เห็นมีการสร้างพระใหญ่ ขนาดหน้าตักคงไม่อาจทราบได้
จึงได้แวะลงถ่ายรูปก่อน เพราะพระชาวมอญที่นำทางได้บอกว่า หลวงพ่อที่สร้างพระนอนใหญ่ (เมาะละแหม่ง) เป็นผู้สร้าง เราค่อยไปทำบุญกับท่านก็แล้วกัน
16. พระเจดีย์ไจ้เกริงเด้ย (เกศาธาตุ) บ้านเกาะคาเมีย อ.มุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
สำหรับสถานที่แห่งไม่มีรูปภาพ เพราไม่สามารถเดินทางไปได้ คงบันทึกไว้ตามคำบอกพระสุวรรณ สุวัณโณ ผู้นำทางบอกว่า
เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" อีกแห่งหนึ่ง (รายชื่อใน "ตำนานพระเกศาธาตุ" อาจจะไม่ตรงกับของจริงบ้าง)
17. วัดเวนเซโตยะ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เมืองมุเดิง จ.เมาะละแหม่ง
พระนอนใหญ่ (ปางปรินิพพาน) ที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองเมาะละแหม่ง ภายในจะแบ่งเป็นห้องๆ มีภาพวาดพุทธประวัติ
ผู้เขียนเดินทางมาถึง วัดเวนเซโตยะ ก่อนจะเดินเข้าไปชม "พระนอนใหญ่" ความยาว 200 เมตร (400 ศอก)
ด้านหน้าประตูจะเห็นมีรูปปั้นพระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาตนำหน้า พร้อมพระสาวกเดินตามเป็นแถวยาวเหยียด
เมื่อนำรถเข้าไปจอดด้านในวัด มองเห็นพระนอนใหญ่โตระหว่างภูเขา (ยังสร้างไม่เสร็จ) เข้าไปถามพระเจ้าหน้าที่ในศาลาข้างพระนอน ท่านบอกว่าเจ้าอาวาส คือ
"หลวงพ่อเกสาระ" หรือ "หลวงพ่อเจ๊าตะเลิง" อยู่ในป่าหลังวัด พวกเราจึงเดินข้ามเขาหลังวัดทันที
เมื่อปี 2545 ผู้เขียนได้เคยเดินทางมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่พบท่าน จึงได้ฝากเงินร่วมทำบุญสร้างพระนอนไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จึงได้มีโอกาสพบท่าน
ซึ่งในเวลานั้นมีพระภิกษุมาล้อมรอบท่านเต็มไปหมด
ทราบต่อมาว่าท่านมีชื่อเสียงว่าท่านใบ้หวยแม่นมาก วันที่ไปถึงเป็นวันที่ 15 ใกล้หวยออกพอดี (ชาวพม่านิยมเล่นหวยไทยกันมาก)
จะเห็นว่ามีญาติโยมมาหาท่านเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ผู้เขียนจึงได้ทำบุญร่วมสร้าง "พระนอนใหญ่" และ "พระนั่งใหญ่" ที่บ้านลิตัก รวมทั้ง 2 องค์กับท่านเป็นจำนวนเงิน 100 ดอลลาร์ (ทำบุญเป็นครั้งที่ 2)
ตามรูปภาพนี้ จะเห็นว่าท่านเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงใน "รัฐมอญ" แห่งนี้
((( โปรดติดตามตอน "ไหว้พระเกศาธาตุ ในเมืองปิเลน" กันต่อไป )))
|
|
|
|
Posts: 2038 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 25/5/10 at 10:33 |
|
(Update 25-05-53)
16 กุมภาพันธ์ 2553 (เมาะละแหม่ง - เมืองปิเลน)
18. สำนักแม่ชี ตาตะนามันได เมืองเมาะละแหม่ง
วันนี้ในตอนเช้า ผู้เขียนได้รับทราบจากอาจารย์โกศลว่า ให้ไปฉันเช้าที่ สำนักแม่ชี ตาตะนามันได ซึ่งอยู่ในเมืองเมาะละแหม่งนี่เอง
สำนักแม่ชีแห่งนี้มีทั้งหมด 35 รูป รักษาศีล 8 นุ่งห่มสีชมพูอ่อน ไม่เหมือนชุดขาวบ้านเรา ผู้ที่ปลงผมออกบวชแล้ว ส่วนมากจะบวชตลอดชีวิต
ส่วนหัวหน้าแม่ชีจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ตั้งสำนักมาทั้งหมด 24 ปี บวชมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ขณะนี้อายุ 57 ปี แม่ชีเคยเดินทางไปประเทศอินเดียมาแล้ว
แม่ชีในประเทศพม่าจะออกบิณฑบาตด้วย ผู้เขียนจึงได้ร่วมทำบุญ 20 ดอลลาร์ หลังจากฉันเสร็จแล้ว จึงได้ถ่ายภาพร่วมกัน แล้วออกเดินทางต่อไปทางเมืองปิเลน
19. พระเจดีย์กุสินาเยา (พระเกศาธาตุ) บนภูเขโตกะโรล เมืองปิเลน (ใกล้เมืองสะเทิม)
ผู้เขียนพร้อมคณะฯ ได้ออกเดินทางย้อนกลับไปทางเมืองสะเทิม ทางเข้าพระธาตุอินทร์แขวน แถวนั้นเรียกว่า "เมืองปิเลน" เพื่อติดตามกราบไหว้ "พระเกศาธาตุ"
ที่มีอยู่ใน "ตำนาน" ต่อไป แต่ในระหว่างทางเห็นมีพระเณรเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาวเหยียด จึงให้ช่างภาพของเราลงไปถ่ายมาให้ชมกัน
จากนั้นก็เดินทางไปถึงทางขึ้นภูเขา "พระเจดีย์กุสินาเยา" จึงได้ถ่ายภาพกับชาวบ้านแถวนั้น
คนขับรถเก๋ง (ภาพบน : "คนขับ" คือคนที่ใส่เสื้อสีขาวนุ่งโสร่งสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นรถที่เจ้าอาวาสวัดธรรมะโลกะให้ยืมมา แต่ผู้เขียนเป็นคนออกค่าน้ำมันเอง
รถมีสภาพที่ใช้งานได้พอสมควร และสามารถขึ้นภูเขาได้ตามสภาพถนนที่เห็นนี่แหละ สูงชันเกินไปก็ต้องลงเดินบ้าง
เมื่อรถขึ้นมาถึงยอดเขาสูงสุด จะเห็นมีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่บนนี้ มีพระและแม่ชีอาศัยอยู่ แม่ชีได้ออกมาต้อนรับ พร้อมกับพาเข้าไปในวิหารหลังใหญ่
โดยเดินขึ้นไปตามบันไดที่เห็นนี้ ภายในวิหารจะเห็นพระเจดีย์กุสินาเยา (ท่านสุวรรณบอกว่า ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า "กุสินารมย์") เป็นพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ
ตาม "ตำนานพระเกศาธาตุเมืองมอญ" (ลำดับที่ 5) บอกว่า "พระฤาษี" นำพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุในพระเจดีย์บนภูเขาสูง
พระเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานอยู่ตรงกลางวิหาร
ส่วนด้านข้างจะเป็นรูปปั้น พระอุตระ และ พระโสณะ เคยขึ้นมาบนภูเขาที่นี้ สร้างเป็นวิหารจำลองของพระโสณะแลพระอุตระไว้ที่นี่ด้วย
มีงานประจำปีกลางเดือนมีนาคมทุกปี ได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน 5,000 จ๊าด อีก 2,000 จ๊าด ถวายให้แก่พระและแม่ชีที่นี่
นอกจากวิหารใหญ่หลังนี้แล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาท (จำลอง) อยู่ด้านข้างภูเขานี้ด้วย บริเวณนี้มีการแกะสลักเข้าไปเป็นอุโมงค์ภายใน
สามารถเดินทะลุผ่านเข้าไปจนถึงวิหารหลังเล็กตามภาพที่เห็นนี้
พวกเราเดินลอดเข้าไป แล้วเดินลงบันได เขาเจาะให้เดินไปได้ตลอดจนถึงวิหารหลังเล็ก ภายในถ้ำอุโมงค์แห่งนี้ มีการแกะสลักพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไว้หลายแห่ง
แต่ส่วนใหญ่เหลือแต่ฐาน องค์พระคงจะถูกขโมยไปบ้างแล้ว
20. พระเจดีย์ไจ้ปะแต (เกศาธาตุ) เดิมเรียก ไจ้แต บ้านตองซ่น บนภูเขาส้มเค เมืองปิเลน
พวกเราเดินทางลงมาจากภูเขา ออกมานอกถนนใหญ่ ได้แวะฉันอาหารเพลที่ร้านอาหารแถวทางเข้า "พระธาตุอินทร์แขวน" จากนั้นเดินทางย้อนไปอีก จะเป็นป้ายทางเข้า
"พระเจดีย์ไจ้ปะแต" รถวิ่งเข้าไปลึกพอสมควร ผ่านทุ่งนาและหมู่บ้านไปไกล
ป้ายอักษรบอกทางเข้า "พระธาตุอินทร์แขวน" ท่านผู้อ่านที่เคยไปคงจะคุ้นๆ ตาบ้าง ส่วนอีกภาพหนึ่งคือร้านอาหารแถวนี้
มีตำรับอาหารของชาวพม่าเหมือนกันหมดทุกร้าน คือ มีผักจิ้มน้ำพริก และน้ำแกงจืดออกรสส้มเปรี้ยวๆ เป็นต้น
พวกเราออกเดินทางจากร้านอาหาร จนกระทั่งถึงทางเข้ามีแม่น้ำขวางอยู่แต่น้ำแห้งหมดแล้ว จอดรถแล้วต้องเดินข้ามสะพานไป ตามสภาพที่เห็นนี่แหละ
ต้องเดินด้วยความระมัดระวัง เพราะเดินพร้อมกัน สะพานจะโยกไปเยกมา ท่านสุวรรณบอกว่า ความจริงเดินทางผ่านถนนเส้นนี้อยู่บ่อยๆ (ถนนสายย่างกุ้ง - เมาะละแหม่ง)
แต่ไม่เคยอ่านป้ายพระเจดีย์ข้างถนนนี้
พระเจดีย์ไจ้ปะแตแห่งนี้ ตรงตาม "ตำนานพระเกศาธาตุเมืองมอญ" (ลำดับที่ 7) แต่เดิมเรียก "พระเจดีย์ไจ้แต" พระฤาษีอัลละกัปปะได้อัญเชิญ พระเกศาธาตุ
1 เส้น และพระบรมธาตุ 8 องค์ บรรจุไว้เมื่อ ปีพ.ศ. 113 พระเจดีย์แห่งนี้มีความสำคัญมาก เจ้าอาวาสท่านเล่าว่า แต่ก่อนถูกทิ้งร้างไว้นานแล้ว
ท่านได้เข้ามาบูรณะจนเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะเห็นศิลาจารึกเก่าแก่มาแต่โบราณ
ขณะไปถึงพบว่าพระธาตุกำลังเข้าเฝือก (มีไม้นั่งร้านตั้งอยู่โดยรอบ) นับว่าโชคดีที่จะได้มีโอกาสซ่อมแซมส่วนที่ปูนมีรอยร้าว และฉัตรที่จะต้องปิดทองใหม่
พระธาตุองค์นี้อยู่ห่างจากความเจริญมาก แต่เดิมเป็นพระธาตุร้าง เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเริ่มมาบูรณะ
ผู้เขียนถือว่าได้มาพบสถานที่สำคัญ จึงได้ถือโอกาสทำพิธีบวงสรวงเปิดเสียงหลวงพ่อฯ แล้วปิดทองสรงน้ำพระเจดีย์ พร้อมกับทำบุญบูรณะ 200 ดอลลาร์
และทำบุญกับพระทำงานและคนงานอีก รวมเป็นเงิน 6,000 จ๊าด
21. พระเจดีย์แมรัล (พระเกศาธาตุ) บนภูเขาแมรัล เมืองปิเลน
พระเจดีย์แห่งนี้มีใน "ตำนานพระเกศาธาตุเมืองมอญ" (ลำดับที่ 6) ฤาษีไม่ทราบชื่อมีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ.119 ไว้ที่ "แมรัลเจดีย์"
หรือ "นาคะปุบพะ" (เป็นภาษาบาลี) บนภูเขาแมรัล ปัจจุบันเรียกเป็น "ไจ้เต๋าลองนัด" หรือ "เจดีย์ลูกหิน" อยู่ที่เมืองปิเลน
สำหรับสถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนได้รับหนังสือประวัติ (กำลังแปลอยู่) จากเจ้าอาวาส "วัดพระเจดีย์ไจ้ปะแต" ท่านได้บอกทางไว้ด้วย ปรากฏว่า "พระเจดีย์แมรัล"
อยู่ทางเดียวกับทางไป "พระเจดีย์กุสินารมย์" นั่นเอง
ด้วยเหตุที่ต้องเสียเวลาย้อนกลับไปอีก จึงทำให้ไปไม่ทัน เนื่องจากรถเก๋งไม่สามารถจะขึ้นภูเขาสูงได้ ถึงแม้ทางการพม่าจะเพิ่งเกรดทางขึ้นไปใหม่ๆ
นับว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง จึงได้แต่ถ่ายรูปซุ้มประตูทางขึ้นไว้เท่านั้น แต่ก็นับว่าโชคดีที่เจ้าอาวาสวัดไจ้ปะแตให้รูปถ่ายพระเจดีย์ไว้
จึงได้นำมาให้ชมเป็นภาพแรกนี่แหละ
พระเจดีย์สินไจ้แห่งนี้มีใน "ตำนานพระเกศาธาตุเมืองมอญ" (ลำดับที่ 2) เล่าว่า "ติสสะกุมาร" เป็นผู้บรรจุพระเกศาธาตุ 1 เส้น ไว้ที่ "สินไจ้เจดีย์"
บนภูเขาคัชชะคีรี มีพญานาคดูแลรักษา เป็นพญานาคเพศเมีย
พวกเราเดินทางกลับจาก "พระเจดีย์แมรัล" เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ผู้เขียนก็พยายามทำเวลาให้ทัน เพื่อจะได้แวะถ่ายรูป "พระเจดีย์สินไจ้"
นับว่าโชคดีที่ได้ถ่ายซุ้มประตูทางเข้าทันเวลาพอดี
สำหรับสถานที่นี้ไม่ได้นับลำดับการเดินทางเข้าไปด้วย เพราะมีชื่ออยู่ในบัญชี "พระธาตุเจดีย์" นานแล้ว แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้ถ่ายรูปไว้
เบื้องหลังทางเข้าคือภูเขาสูงนั่นแหละ พระเจดีย์อยู่บนโน้น พวกเราไม่มีโอกาสได้ขึ้นไป เนื่องจากถ่ายรูปเสร็จก็มืดพอดี ได้แต่ยกมือพนมไหว้พระเกศาธาตุ
ซึ่งได้บรรจุไว้สมัยเดียวกับ "พระธาตุอินทร์แขวน" นั่นเอง
หลังจากนั้นก็ได้เดินทางกลับมาพักค้างคืนที่เดิม คือ "วัดธรรมะโลก" เมืองเมาะละแหม่ง พรุ่งนี้คือวันที่ 17 ก.พ. 53 จะได้เดินทางไปกราบไหว้
"พระเกศาธาตุ" ในเมืองพะอ่าน กันต่อไป
22. พระเจดีย์ไจ้กะเลาะ (พระเกศาธาตุ) บ้านกะเลาะ เมืองเย (ไม่ได้เดินทางไป ซึ่งไม่มีข้อมูลและรูปภาพ)
สำหรับลำดับที่ 22 - 23 นี้เป็นข้อมูลจาก "ท่านสุวรรณ" บอกไว้ในระหว่างเดินทางกลับว่า ยังมี "พระเกศาธาตุ" (ที่ไม่มีในตำนาน) อีก 2 แห่ง
ที่ไม่สามารถเดินทางไปไม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลมาก ผู้เขียนจำเป็นต้องรวบรวมไว้ เพื่อไม่ให้ข้อมูลสูญหายไป ผู้คนภายหลังที่เกิดมาจะได้ทราบว่า
ยังมีสถานที่สำคัญเป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ไว้ตามหัวเมืองต่างๆ ในชมพูทวีป โดยเฉพาะใน "อาณาจักรรามัญ" ที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต
(เสียดายที่ไม่มีเวลาไปสำรวจ "พระทันตธาตุ" ในเมืองหงสาวดี)
โดยเฉพาะใน "ตำนานมอญ" นี้ ปรากฏว่าพระฤาษีนำไปบรรจุไว้บนภูเขาสูงทั้งสิ้น ยากที่พวกเราจะเดินขึ้นไปได้ในโอกาสที่กระชั้นชิดนี้ แต่ท่านสุวรรณบอกว่า
ถ้าถึงเทศกาลไหว้ "พระเจดีย์สินไจ้" จะมีรถจาก "พระธาตุอินทร์แขวน" มาบริการผู้โดยสารด้วย ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในอาณาจักรมอญ
ส่วนใหญ่เขาจะพิมพ์ภาพรวม "พระเจดีย์" ในสถานที่ต่างๆ รวมกันไว้ในแผ่นเดียวกัน เพื่อไว้จำหน่ายให้นำไปบูชากัน ซึ่งผู้เขียนก็ได้ซื้อภาพรวม "พระเจดีย์"
นี้ที่แม่สอด จ.ตาก
เป็นอันว่า การเดินทางวันนี้ได้มีโอกาสกราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" หลายแห่ง ทั้งที่มีอยู่ในตำนานและที่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่อยู่ในตำนานหรือไม่
แต่ก็พยายามเร่งเดินทางกราบไหว้เท่าที่จะเป็นไปได้
(ภาพเปรียบเทียบในอดีตและปัจจุบัน นับว่าเป็นสถานที่อัศจรรย์มากจาก : flickr.com)
23. พระเจดีย์โป๊ะเกลีย (พระเกศาธาตุ) เดิมเรียก พันธิเศลา เมืองป่อง ใกล้เมืองเมาะตะมะ (ไม่ได้เดินทางไป
ซึ่งไม่มีข้อมูลมีแต่รูปภาพ แต่ในเว็บพม่าเรียกว่า "Nwa-la-bo-taum")
(พระเจดีย์มอระอิ - พระเจดีย์มอระอะ อยู่ฝั่งพม่า ตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก)
สรุปว่าในวันนี้ได้ไปกราบไหว้ตาม "ตำนาน" นับลำดับที่ 5 - 6 - 7 แล้ว ส่วนลำดับที่ 8 - 9 (พระเจดีย์มอระอิ - พระเจดีย์มอระอะ)
ได้สืบหาตั้งแต่เมาะละแหม่ง จนทราบจากโยมที่มาจากเมืองเมียวดี จึงได้ทราบว่า "พระเจดีย์มอระอิ - พระเจดีย์มอระอะ" นั้น อยู่ในเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยง
ต้องไปเข้าที่ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งหลังจากกลับมาจากพม่าแล้ว ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปตามเก็บสถานที่สำคัญดังกล่าวแล้วครบถ้วน โปรดติดตามอ่านได้ต่อไปเลย...
คลิกที่นี่
((( โปรดติดตาม "ไหว้พระเกศาธาตุ ในเมืองพะอ่าน" ซึ่งเป็นการจบตอนที่ 2 )))
|
|
|
|
Posts: 2038 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 2/6/10 at 06:17 |
|
(Update 02-06-53)
17 กุมภาพันธ์ 2553 (เมาะละแหม่ง - พะอ่าน)
การเดินทางในวันนี้ คงจะเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางลง "ภาคใต้" ของประเทศพม่าในครั้งนี้ เพราะว่าได้สำรวจเกือบครบถ้วน (เท่าที่จะเดินทางไปได้)
ในเย็นวันนี้ ก่อนจะเดินทางขึ้นรถทัวร์กลับไปเมืองย่างกุ้ง เวลาที่ยังเหลืออยู่ พวกเราจึงได้ปรึกษาที่จะเดินทางไปที่ เมืองพะอ่าน
ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ "รัฐกะเหรี่ยง"
แต่ก่อนที่จะออกไปนั้น ท่านสุวรรณและท่านโกศลได้นำไปกราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" ในเมืองเมาะละแหม่งกันก่อน เพื่อจะได้เก็บสถานที่ในเมืองหลวงของ "รัฐมอญ"
แห่งนี้ให้ครบถ้วน เพราะโอกาสที่จะกลับมาอีกนั้นแสนยากเหลือเกิน จึงเริ่มเดินทางออกจากวัดธรรมโลกะ โดยเจ้าอาวาสให้ยืมรถเก๋งของวัดอีกเช่นเคย
24. พระเจดีย์ไจ้เซ่ย (ไจ้เติ๊บ) พระเกศาธาตุ ในตัวเมืองเมาะละแหม่ง
พระเจดีย์ไจ้เซ่ย (ไจ้เติ๊บ) ไม่ทราบว่าจะตรงกับตำนานหรือไม่ แต่ท่านสุวรรณบอกว่า คนมอญได้กราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" แห่งนี้มานานแล้ว
ซึ่งตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีฤาษี 2 ตน ได้นำ "พระเกศาธาตุ" มาบรรจุไว้ ในสมัยต่อมาพระมหากษัตริย์จีงได้สร้างพระเจดีย์ครอบไว้
แล้วบริเวณนี้จึงกลายเป็นบ้านเมืองในที่สุด ผู้เขียนจึงได้สรงน้ำหอมปิดทอง พร้อมกับร่วมทำบุญ 3,000 จ๊าด
25. พระเจดีย์อูซีนะ (พระเกศาธาตุ) ในตัวเมืองเมาะละแหม่ง
พระเจดีย์อูซีนะนี้ก็เช่นกัน เป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" มานานแล้ว ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบมาก่อน เดิมนึกว่าในเมืองเมาะละแหม่งมีแต่
"พระเจดีย์ไจ้ตาลาน" แห่งเดียว อันเป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ" ตาม ตำนาน "พระทันตธาตุ" ของมอญ (ลำดับที่ 1)
ซึ่งผู้เขียนได้มากราบไหว้มาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว
(พระเจดีย์ "ไจ้ตาลาน" เป็นสถานที่คู่บ้านคู่เมือง "เมาะละแหม่ง" มานานแล้ว)
Mawlamyine is the third largest city in Myanmar after Yangon and Mandalay situated 165 kilometers east of the nation's capital
across the Gulf of Mottama at the mouth of the Thanlwin river. It is the capital of Mon State with a population of almost 300,000 people. Formerly
known as Moulmein, it was once a thriving teak port and the administrative capital of British Lower Burma.
The town's signature landmark is Kyaikthanlan pagoda built in 875 AD and thought to be the site from where Rudyard Kipling wrote his famous poem,
'The Road to Mandalay'. It's unlikely that Kipling was referring to Mandalay Ward located at the base of Kyaikthanlan pagoda, but rather the
'Mandalay' in central Myanmar.
The Thanlwin bridge, the longest road and rail bridge in Myanmar is the most prominent landmark in the area. It stretches a distance of 11,000 feet
over the Thanlwin river connecting the country's south eastern region with its capital, Yangon.
Mawlamyine is generally considered to be off the main tourist trail for most travellers to Myanmar but the town does have a charm of its own with its
rich history, buildings with colonial style architecture, World War II era wooden buses, and its close proximity to the infamous Siam-Burma "death
railway", making it a fascinating place to visit!
By : mawlamyine.com
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้สรงน้ำและปิดทอง "พระเกศาธาตุ" พร้อมกับร่วมทำบุญ 3,000 จ๊าด ซึ่งจะได้เรียงลำดับเพิ่มเติมในกระทู้ "พระบรมธาตุ"
ที่เพิ่งค้นพบใหม่ เมื่อปี 2549 - 2553 ท่านสามารถติดตามอ่านได้
คลิกที่นี่
U Zina Pagoda
This pagoda is named after a person called U Zina, but no one really knows who he was. Some say that U Zina was a sage who lived at thc time of king
Asoka, and that U Zina was just a villager who while collecting shoots on the hill where the pagoda now stands, found a pot of gold buried in a bamboo
grove.
The villager and his wife became rich and built this pagoda on the hill which gave up its treasure to them. The old Mon name for this pagoda is
Kyaikpatan, named after thc white hill on which it stands. Legend says it was first built in the 3rd century B.C.
There is a record that u lugalay and his wife Daw Mi rebuilt the pagoda in 1832. They were They were buried near a water tank to the north of this
pagoda. Soon after the annexation 1886 the pagoda was rebuilt by U Moe and his wife Daw Nyein to the present height of 112 feet. Their stone
inscription can still be seen on the platform.
There is a reclining Buddha Image. Visitors should also see the four life-like figures, a decrepit old man leaning on a staff, a man suffering from a
loathsome disease, a putrid corpse and finally a monk in yellow robes free from all worldly cares. These four figures represent the four signs that
made Lord Buddha leave the palace for the life of a religious recluse.
By - pacificasiatours.com
26. พระเจดีย์ไจ้มุปอน (พระเกศาธาตุ) เมืองเมาะละแหม่ง
หลังจากนั้น ท่านสุวรรณและท่านโกศลได้นำผู้เขียนออกเดินทางไปนอกเมือง แต่ก็ไม่ไกลมากนัก ซึ่งไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้ เพียงแต่ใน ตำนาน
"พระทันตธาตุ" ของมอญ (ลำดับที่ 2) บอกว่าเป็นเจดีย์สองพี่น้อง มี 2 องค์เท่ากัน อยู่เมืองเมาะละแหม่ง บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ"
แต่เมื่อได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ของวัด กลับบอกว่าพระเจดีย์ 2 องค์นี้ เป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ทั้งสององค์
ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะกาลเวลาผ่านมานาน ถึงอย่างไรก็มีความสำคัญเท่ากัน จึงได้สรงน้ำหอมและปิดทอง กับร่วมทำบุญอีกเป็นเงิน 5,000
จ๊าด นับว่าได้กราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" ในเมืองเมาะละแหม่งเพิ่มเติมอีก 3 แห่งครบถ้วนแล้ว จึงได้ออกเดินทางไปสู่ "เมืองพะผ่าน" ทันที
ประวัติพระเจดีย์ 2 องค์ (Update 03-08-53)
......ต่อมาได้นำประวัติที่ได้ไปให้ "ลิ้นจี่" คนงานชาวพม่าที่ร้านคุณมายิน จ.พิจิตร แปลจากภาษาพม่ามีใจความว่า พระเจดีย์นี้มีชื่อว่า
"พระเจดีย์ไจ๊แดโต๊ะซานดอว์เซ็น" อยู่ที่เมาะลำไย (เมาะละแหม่ง) จังหวัดมุปีแนมุโป่งยะเอ้าลามะยี
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่เมืองเมาะลำไย (เดิมชื่อ เมืองยะมะยะไต) พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาธาตุไว้กับพระฤาษี 2 องค์
.......ต่อมามีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า "เดอะมาเดอะสะ" ได้นำญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายช่วยกันสร้างพระเจดีย์ แล้วอัญเชิญพระเกศาธาตุบรรจุไว้
เมื่อพระพุทธเจ้าเข้านิพพานแล้ว ปี พ.ศ. 1057 พระมหากษัตริย์ชื่อ "ยามียะยาสะ" ได้ทำบุญและบูรณะพระเจดีย์ใหม่พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปไว้อีกด้วย
.......พระเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้อานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก วันดีคืนดีจะมีแสงสว่างออกมาด้วย ในคราวที่เกิดศึกสงครามได้ทิ้งระเบิดลงมา
ปรากฏว่าพระเจดีย์ปลอดภัยไม่เป็นอะไรเลย นอกจากนี้ภายในวัดยังมีระฆังที่เก่าแก่มานาน 150 ปีด้วย และยังมีศิลาจารึกที่ศักดิ์สิทธิ์
เพราะก่อนหน้านี้มีขนาดก้อนเล็กมาก ต่อมาได้ขยายใหญ่ขึ้น สูง 7.8 เมตร กว้าง 4.8 เมตร
27. พระเจดีย์ไจ้ปกาเยา บ้านเสาตะเพียน เมืองพะอ่าน
รถได้วิ่งข้ามสะพานแม่น้ำยาวเหยียด (คิดว่าน่าจะเป็นแม่น้ำไหลสู่ "อ่าวเมาะตะมะ) ระหว่างข้ามสะพานได้มองเห็นยอดพระเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ (ด้านขวามือ)
จึงได้เลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้านเสาตะเพียน พวกเราต้องจอดรถไว้ แล้วเดินข้ามสะพานเล็กๆ ไปอีก จนกระทั่งถึง "พระเจดีย์ไจ้ปกาเยา" อยู่ภายในวัดริมแม่น้ำ
แต่ก็ไม่พบพระภิกษุที่จะได้ซักถามประวัติการสร้างเลย
ตาม ตำนาน "พระทันตธาตุ" ของมอญ (ลำดับที่ 4) ซึ่งได้เล่าว่า เดิมชื่อว่า "พระเจดีย์จ๊ะปันเจ๋า" ปัจจุบันเรียก "ไจ้ปกาเยา"
หมู่บ้านสาตะเพียนเฉาวะ อยู่ติดแม่น้ำ ระหว่างรัฐกะเหรียงกับรัฐมอญ บรรจุ "พระทันตธาตุ" เมื่อพ.ศ. 237 แต่ท่านสุวรรณได้เข้าไปชมภาพวาดประวัติของวัดแล้ว
จึงไม่แน่ใจว่าพระเจดีย์องค์นี้ จะเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" หรือ "พระทันตธาตุ" กันแน่ แต่ก็ได้กราบไหว้บูชาพร้อมกับทำบุญในตู้บริจาค 3,000 จ๊าด
28. พระเจดีย์ซอยกะเปน (พระเกศาธาตุ) บ้านคะโล (คะลาโน) เมืองพะอ่าน
HPA-AN :
Is the capital of Kayin State. Recently removed from the restricted list of travel destinations. Possible to reach it by road from Yangon across a new
Bridge ( Thanlwin ) over the Thanlwin River. Hpa-an is small town but busy commerce center where you can see farmers coming to town in horse-carts or
trishaws. There is a small Lake with Mt. Zwegabin in the distance.
Mt. Zwegabin:
The Zwekabin Hill has a very unusual shape, which, once seen, is not easily forgotten. Rises around 650 Meter steeply from the plains. A pagoda is on
top for those who are fit enough to walk up to the top. It takes app. 2 hours, but the view over the river and the plains will compensate you for the
strenuous walk. There is also a monastery on the top.
By : travel-myanmar.net
(ทัศนียภาพบริเวณ "พระเจดีย์คะเจากะและ" เมืองพะอ่าน)
ความจริงเมืองพะอ่านนี้ ผู้เขียนเคยไปมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2545 ในตอนนั้นได้ไปกราบนมัสการ "หลวงพ่อธัมมัญญะ" (ออกเสียงว่า
"ตัมมัญญะ) ณ วัดธัมมัญญะต่องเมียซองี่นองพญา ซึ่งเป็นพระเถระที่ชาวพม่าและชาวมอญตลอดจนถึงชาวกะเหรี่ยง แม้แต่ชาวไทยบางคนก็มีความเคารพนับถือท่านมาก
แต่ท่านได้มรณภาพหลังจากผู้เขียนกลับมาได้ไม่นานนัก พร้อมทั้งได้กราบไหว้ "พระเจดีย์คะเจากะและ" ซึ่งมีรูปร่างแปลกๆ อีกด้วย
ตามที่ได้นำรูปภาพมาจากเว็บของพม่า
รถวิ่งไปตามถนนลาดยางผ่านซุ้มประตูทางเข้า "พระเจดีย์ซอยกะเปน" ซึ่งจะมองเห็นสูงตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองพะอ่าน รถวิ่งเข้าไปถึงเชิงเขาแล้ว
มองดูเวลาไม่สามารถจะเดินขึ้นไปได้ จึงได้แต่ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพราะเป็นสถานที่สำคัญมากของชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง และชาวพม่าทั้งหลายในเขตนี้
เนื่องจากใน ตำนาน "พระเกศาธาตุ" ของมอญ (ลำดับที่ 3) เล่าว่า "ฤาษีสีหะกุมาร" ได้อัญเชิญ "พระเกศาธาตุ" ไปบรรจุไว้ 1 เส้นที่
"พระเจดีย์ไจ้ซอยกะเปน" (ภาษามอญเรียกเป็น "ไจ้ซอยบาง") เมืองพะอ่าน (อยู่ระหว่างบ้านอินดูกับพะอ่าน)
เมื่อไม่สามารถจะขึ้นได้ จึงได้เดินทางเข้าตัวเมืองพะอ่าน แล้วได้เข้าไปขอ copy รูปภาพจากร้านถ่ายรูปดิจิตอล ซึ่งมีหลายภาพที่สวยงามมาก
ยากที่จะหาชมได้ตามเว็บไซด์ต่างๆ คงจะต้องสงวนการคัดลอกไว้ด้วย
พระเจดีย์กลางทะเลสาปอินดอยี (Indawgyi Lake) ที่ยิ่งใหญ่กว่า "ทะเลาสาปอินเล"
สวยและศักดิ์สิทธิ์กว่า "พระเจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม" ที่ชาวไทยส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึง (ภาพ : sinpets.com)
วันที่ 17 ก.พ. 2553 เวลา 20.00 น. ผู้เขียนได้ออกเดินทางพร้อมกับพระสุวรรณและคุณวัชรพล (ปุ๋ม) จากเมืองเมาละแหม่ง
ได้กลับมาพักที่ย่างกุ้ง ที่วัดแดทดอนซัน ในวันที่ 18 - 19 ก.พ. เตรียมมาพบกับที่นัดหมายไว้กับ "ชเวไจ้ซีทัวร์" เพื่อซื้อตั๋วเดินทางไป
"ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิจิน่า" ในวันที่ 20 ก.พ. ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าต่อไปใน ตอนที่ 3 "เจาะลึกทางตอนเหนือของประเทศพม่า"
โปรดอย่าได้พลาดการติดตาม...
◄ll ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ll►
|
|
|
|
Posts: 2038 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|