ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 23/11/09 at 09:26 Reply With Quote

เรื่องเทวดา ภาค ๒ (ตอนที่ ๑) "เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก" โดย ก.ษ.ป.


« ตอนที่ 1



สารบัญ

เรื่องที่ 21.
ท่านกฬารขัตติยฟ้องพระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้า (คำอ่าน = กะฬาระขัตติยะ)
เรื่องที่ 22. ความรู้บางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 23. พระเจ้าอัมพสักขระกับเปรต
เรื่องที่ 24. ทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์
เรื่องที่ 25. ปั้นผี
เรื่องที่ 26. ผลการกล่าวโทษพระอริยะ
เรื่องที่ 27. อายุขัย
เรื่องที่ 28. พระอรหันต์บางองค์
เรื่องที่ 29. สมถะ – วิปัสสนา
เรื่องที่ 30. ปัญหาการทำแท้ง
เรื่องที่ 31. พระปัจฉิมวาจา
เรื่องที่ 32. ลักษณะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 33. จูฬสัจจกนิครนถ์ เบ่งทับพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 34. ศีล
เรื่องที่ 35. นิพพานเป็นอย่างไร? ตอน ๑
เรื่องที่ 36. นิพพานเป็นอย่างไร? ตอน ๒
เรื่องที่ 37. พรหมโลก
เรื่องที่ 38. เรื่องเทวดา ภาค ๒ (ตอนที่๑)



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 23/11/09 at 09:27 Reply With Quote



ท่านกฬารขัตติยฟ้องพระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้า


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๐

คนสมัยก่อน... ในอินเดียช่างว่าช่างฟ้องไม่เบา เป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาตั้งหลายข้อ (เพื่อความเลื่อมใส) โดยเฉพาะพวกภิกษุละช่างฟ้องดีนักทีเดียว

เช่น อย่างท่านพระโมคัลลานะบอกว่าเห็นเปรต อีกท่านหนึ่งก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่าเห็นได้จริง พระองค์เองก็เคยเห็นแต่ไม่ได้พูด เพราะพูดไปแล้วคนไม่เชื่อ คนฟังจะตกนรกเปล่าๆ

ข้อนี้ต้องสำนึกไว้ให้ดีๆอย่าทำอวดเก่งว่าเป็นสิทธิของฉัน ฉันจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ เพราะถ้าบอกว่าไม่เชื่อก็เท่ากับเป็นการพูดว่าพระพุทธเจ้าโกหก บาปลงนรกไปเลย

พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดไม่ใช่เพราะกลัวคนไม่เชื่อ แต่เพราะไม่ต้องการให้คนตกนรก คราวนี้มีท่านพระโมคลานะมาช่วยเป็นพยานกันก็เลยตรัสได้ เพราะใครละจะไม่เชื่อ ( เว้นแต่ “นักปราชญ์” สมัยปัจจุบัน)

ถึงท่านพระสารีบุตรก็ถูกฟ้อง อย่างใน

กฬารขัตติยสูตร ในพระสุตตันตปิฏก สังยุคนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๖ หน้า ๕๓

( นิทานวรรค คือ เรื่องราวที่มีมา ไม่ใช่ที่เราเข้าใจในปัจจุบันเป็นนิยายแต่งขึ้น)

ซี่งขอเรียบเรียงเสียให้อ่านง่ายๆต่อไปนี้ ( ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)

ณ พระเชตะวัน.. อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ กฬารขัตติภิกษุ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ทักทายกันเรียบร้อยแล้วบอกท่านสารีบุตรว่า

“โมลิยผัคคุณ ภิกษุได้ลาสิกขา (สึก) เวียนมาทางฝ่ายต่ำ เสียแล้ว”

( ควรตั้งข้อสังเกตว่าสมัยที่ท่านบวชกันนั้น บวชเอาดีกันจริงๆการสึกออกมาแสดงว่ามาทาง ฝ่ายต่ำ มาในสมัยปัจจุบัน ปรากฏว่าพระที่บวชเข้าไปเพื่อพระนิพพาน พยายามศึกษากันขึ้นไประดับมหาวิทยาลัย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปในอินเดียบ้างลังกาบ้าง กลับมาไม่ยักทำตัวเป็นพระอรหันต์ กลับลาสิกขาเวียนมาทางฝ่ายต่ำ เสียฉิบ)

พระสารีบุตร : - “ท่านโมลิผัคคุณน่ากลัวจะไม่ได้พอใจในพระธรรมวินัยนี้แน่ๆ”

กฬารขัตติยภิกษุ : - “ท่านพระสารีบุตรคงได้ความพอใจในพระธรรมวินัยนี้ละสิ..?”

พระสารีบุตร : - “ผมไม่มีความสงสัยเลย”

กฬารขัตติยภิกษุ : - ต่อไปก็ไม่สงสัยหรือ...?

พระสารีบุตร : - “ถึงต่อไปก็ไม่สงสัย”

เท่านี้แหละ กฬารขัตติยภิกษุ ลุกออกจากอาสนะไปฟ้อง พระพุทธเจ้าว่า

“ท่านพระสารีบุตรอวดอ้างพระอรหัตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี”

( เอาเข้าแล้วแปลงสารซึ่งๆหน้า ในสมัยปัจจุบันเรื่องเช่นนี้ปรากฏบ่อย เหตุเกิดอย่างหนึ่งคนพูดอย่างหนึ่ง เอาไปพูดตามสำนวนของตนเองกลายเป็นอย่างอื่นไป ซึ่งบางที่ผู้นำมาพูดก็ไม่ตั้งใจ อีกอย่างหนึ่งขอให้จำข้อความตั้งแต่ “ชาติสิ้นแล้วฯลฯ” ไว้ เพราะพบบ่อยในพระไตรปิฏก แสดงว่าเป็นพระอรหันต์ บางทีเราพูดกันสั้นๆว่า จบกิจพระพุทธศาสนา แล้ว )

พระพุทธเจ้า : - จึงทรงเรียกพระภิกษุรูปหนึ่งมาสั่งว่า

“เธอจงไปเรียกสารีบุตรมาตามคำของเราว่า พระศาสดารับสั่งเรียกหาท่าน” ( ข้อสังเกตสำคัญ คือ ความรัดกุมในคำพูด ในสมัยของเรานี้ เราก็จะสั่งแบบว่า “นี่..ไปเรียกพระสารีบุตรมาทีซิ”

แต่สมัยนั้นจะบ่งลงไปทีเดียวว่าให้ไปพูดอย่างนี้ นี่แหละเป็นความสำคัญที่ดูเหมือนกับจะไม่สำคัญ พระไตรปิฏกซึ่งจารึกประมาณ ๔๐๐ ปี หลังทรงพระปรินิพพานยังทรงข้อนี้ไว้ คือความรัดกุมถูกต้อง ไม่พลาด แต่คนเป็นจำนวนมากมักคิดเอาเอง ไม่ใช่รู้ว่า พระไตรปิฏกนั้นมาเขียนเล่ากันตามใจความ ตามเนื้อเรียง ควรจะคลาดเคลื่อนหรือมีการแต่งเติม จะต้องรู้ไว้ว่า สมัยพุทธกาลนั้น ต้องละเอียดถี่ถ้วนและรัดกุม ไม่ใช่ชุ่ยๆแบบสมัยนี้)

เมื่อพระสารีบุตรมาเฝ้าแล้ว จึงตรัสถาม

“ดูกร...สารีบุตร เขาว่าเธออวดอ้างอรหัตผล เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี ดังนี้ จริงหรือ...?”

พระสารีบุตร : - ไม่ได้กล่าวเนื้อความตามนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า : - “ก็ต้องอวดอ้างอย่างใดอย่างหนึ่งละน่า คนอื่นได้ยินเข้า ถึงเข้าใจว่าอวดอ้าง”

( แสดงถึงว่าบางทีพระพุทธเจ้าก็ล้อเป็นเหมือนกัน)

พระสารีบุตร : - “ก็อย่างที่กราบทูลไม่ได้กล่าวเนื้อความตามนั้นเลย”

( ท่านสารีบุตรคงชักงงไม่รู้ว่าทรงมาไม้ไหน ทูลตอบเป็นกลางๆไว้ก่อน)

พระพุทธเจ้า : - “สารีบุตร ถ้าเขาถามว่า รู้เห็นอย่างไร จึงอวดอ้างอรหัตผลว่า เราย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี เธอจะตอบว่าอย่างไง...?”

พระสารีบุตร : - “ก็จะตอบว่า เพราะรู้ได้ว่า เมื่อปัจจัยแห่งชาติสิ้นแล้ว เพราะปัจจัยอันเป็นต้นเหตุสิ้นไป ชาติจึงสิ้นไปพระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า : - “ก็ถ้าเขาถามว่า ชาติมีอะไรเป็นต้นเหตุ( สมุหทัย) มีอะไรเป็นแดนเกิด จะตอบอย่างไร...?”

พระสารีบุตร : - “ตอบว่าชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด”

พระพุทธเจ้า : - “ถ้าเขาถามว่า ภพมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุหทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด...?”

พระสารีบุตร : - “ตอบว่าภพ มีอุปาทานเป็นเหตุ เป็นสมุหทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด”

พระพุทธเจ้า : - “ถ้าเขาถามว่า อุปาทานมีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?”

พระสารีบุตร : - “ตอบว่ามี ตัณหาเป็นเหตุ ฯลฯ”

พระพุทธเจ้า : - “ถ้าเขาถามว่า ตัณหา มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?”

พระสารีบุตร : - “ตอบว่า ตัณหา มี เวทนา เป็นเหตุ ฯลฯ”

พระพุทธเจ้า : - “ถ้าเขาถามว่า เวทนา มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?

พระสารีบุตร : - “ตอบว่า เวทนา มี ผัสสะ เป็นเหตุ ฯลฯ”

พระพุทธเจ้า : - “ถ้าเขาถามว่า รู้เห็นอย่างไร ความเพลิดเพลินในเวทนาจึงไม่ปรากฏ จะตอบว่าอย่างไร...?

พระสารีบุตร : - “ข้าพเจ้ารู้ว่า เวทนา ๓ เหล่านี้ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ความเพลิดเพลินในเวทนาจึงไม่ปรากฏ”

พระพุทธเจ้า : - “ถูกละ ตามที่เธอตอบมาโดยย่อนั้นก็ได้ใจความว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้...ถ้าเขาถามว่า

ท่านสารีบุตร เพราะความหลุดพ้นเช่นไร ท่านจึงอวดอ้างอรหัตผลว่า ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี อย่างนี้จะตอบว่าอย่างไร...?”

พระสารีบุตร : - “ก็ตอบว่า อาสวะทั้งหลายไม่ครอบงำผู้ที่มีสติอยู่อย่างใด ข้าพเจ้าก็เป็นผู้มีสติอยู่อย่างนั้น เพราะความหลุดพ้นภายใน เพราะอุปาทานทั้งปวงสิ้นไป ทั้งข้าพเจ้าก็ไม่ได้ดูหมิ่นตนเอง ดังนี้พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า : - “ถูกละสารีบุตร ตามที่เธอกล่าวมาโดยย่อก็ได้ใจความว่า อาสวะเหล่าใดอันพระสมณกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลงในอาสวะเหล่านั้นว่า อาสวะเหล่านั้นข้าพเจ้าละได้แล้วหรือยัง...?”

ตรัสดังนี้แล้วก็เสด็จเข้าไปในพระวิหาร

เมื่อเสด็จเข้าไปแล้วไม่นานนัก ท่านพระสารีบุตรก็พูดกับพระภิกษุทั้งหลายว่า

สรุปความว่าทีแรกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหามาไม่รู้ท่าเลยตอบช้าไปหน่อย พอทรงอนุโมทนาแล้วก็มาคิดได้ว่า ยังงี้ตรัสถามมาทั้งวันทั้งคืนไปตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน ก็คงทูลตอบได้ทั้งเจ็ดคืนเจ็ดวัน

เอาอีกแล้ว.. .พระกฬารขัตติยลุกขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลฟ้องอีกว่า ท่านพระสารีบุตรพูดอย่างนี้

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “ก็สารีบุตรแทงตลอดในพระธรรมธาตุแล้วนี่ ถึงถามไปตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน ก็ตอบได้ทั้งเจ็ดคืนเจ็ดวันนั้นแหละ”

( ข้อพิจารณา...ผู้เรียบเรียง

๑. สงสัยว่ากฬารขัตติยภิกษุคงจะเป็นลูกกษัตริย์เพิ่งบวชใหม่ กำลังฟิตทางพระวินัย

๒. เมื่อมาฟ้องพระพุทธเจ้า ท่านก็ย่อมทรงทราบแล้วว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร

๓. ต่อมาจึงได้ถือโอกาสสอนปฏิจจสมุปบาทให้กฬารขัตติยภิกษุเสียเลย โดย
วิธีถาม ให้ท่านสารีบุตรตอบ แล้วสรุปเป็นใบ้ๆว่า วิธีบอกความเป็นพระอรหันต์ เขาบอกกันเป็นนัยๆ เช่นไม่สงสัยแล้วว่าละอาสวะได้หรือยัง ไม่มีใครพูดโต้งๆว่าข้าพเจ้าเป้นพระอรหันต์แล้วหรอก

๔. เสร็จแล้วท่านสารีบุตรจึงบ่นว่า เสียท่าไม่รู้แกวว่า พระพุทธเจ้าท่านจะทรงสอนกฬารขัตติยะ ถ้ารู้เจ็ดคืนเจ็ดวันก็ได้

เรื่องนี้แสดงว่าถ้าอ่านพระไตรปิฏกดีๆแล้ว ก็จับได้ว่า

สำหรับท่านพระสารีบุตรนั้นหลวงพ่อพระราชพรหมยานเล่าว่าท่านเป็นคนรื่นเริง ไปไหนเด็กตอมเกรียวกราว ดูก็รับกันกับในตอนนี้ ใครๆมักเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์แล้วต้องไม่มีความรู้สึกอะไร จะให้เป็นเหมือนตอไม้ให้ได้ ที่จริงแล้วพระอรหันต์ท่านปล่อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องคุมอีก เวลาพูดท่านก็บอกว่าพูดอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกัน โดยตรงกันข้ามพวกที่นั่งเคร่งคอยระวังโน่นระวังนี่ ก้แสดงว่าท่านยังต้องระวังตัวเองอยู่ ฟังดูแล้วก็ชอบกล)

เรื่องพระอารมณ์ขัน ...ของพระพุทธเจ้านี้ ประเดี๋ยวจะหาว่านึกเอาเองจึงควรหาพยานมาอีกสักเรื่องหนึ่งคือ... เล่ม ๑๓ หน้า ๕๐๑ สุภสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมมปัณณาสก์

สุภมาณพโตเทยบุตร ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักหนทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม” (ทางที่จะไปเกิดเป็นพรหม)

แทนที่จะทรงตอบว่ารู้จักหรือไม่รู้จักตรงๆ กลับมีบทสนทนาที่แสดงพระอารมณ์ขันดังนี้

พระพุทธเจ้า : - “ท่านรู้จักนฬการคามที่อยู่ใกล้ๆนี้ไหม...?”

สุภมานพ : - “อยู่ใกล้ ท่านพระโคดม”

พระพุทธเจ้า : - “คนที่เกิดและโตในนฬการคามเวลาออกมาจากหมู่บ้าน ถ้าถูกถามทางในบ้านนฬการคาม จะพึงชักช้าหรือตกประหม่าไหม...?

สุภมานพ : - “ไม่หรอกท่านพระโคดม เพราะเขาย่อมรู้จักทางของบ้านนฬการคามทุกแห่งดีอยู่แล้ว”

พระพุทธเจ้า : - “ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้าหรือตกประหม่า เช่นเดียวกัน ดูกรมานพ...เราย่อมรู้จักทั้งพรหมโลกและปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก อนึ่ง...ผู้ปฏิบัติด้วยประการใดจึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย”

( เทียบกับคำถามตอบของคนธรรมดา เมื่อถูกถามว่ารู้จักหนทางเป็นพรหมไหม ก็ตอบว่าของมันคล่องอยู่แล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าสุภมานพโตเทยยบุตร หวังว่าถามคำถามนี้แล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบ คงจะตกประหม่า จึงทรงตอบให้คลุมไปถึงความในใจของพราหมณ์นั้นก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี มีจุดน่าสนใจอยู่ว่า ฝ่ายไม่เชื่อเทวดาและพรหม อ้างตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบิดามารดาเสมือนพรหมของบุตร เพราะฉะนั้นที่ว่าพรหมๆก็คือบิดามารดานั้นเอง เมื่อมาดูที่ทรงตอบสุภมานพโตเทยยบุตรก็เห็นได้ว่าไม่ใช่ดังนั้น เพราะตรัสถึงพรหมโลก และทางปฏิบัติให้ถึงพรหมโลก ทำอย่างไรจึงจะถึงพรหมโลกด้วย

การเป็นบิดามารดานั้น ไม่ต้องมีการปฏิบัติแต่อย่างใดเลย ลูกเกิดมาบิดามารดาก็เท่ากับเป็นพรหมของบุตรอยู่แล้ว )


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 22/12/09 at 07:56 Reply With Quote



ความรู้บางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า


โดย ก.ษ.ป.
จากธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๒

เล่ม ๑หน้า ๓๘๙

“พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม

พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ

พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่างคือ

- จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง

- จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง”

เล่ม ๑ หน้า ๑๔

“ประเพณีของพระตถาคต ยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้วจะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท”

เล่ม ๑ หน้า ๕๐๗

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ ถ้าเราพยากรณ์สัตว์แล้ว และคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นชั่วกาลนาน”

( เรื่องท่านพระโมคคัลลานะเห็นเปรต ใจความข้างบนนี้สรุปว่า ผู้ไม่เชื่อคำที่พระพุทธเจ้าเล่ามาตามความเป็นจริง จะถึงกับตกนรก เข้าใจว่า น่าจะเป็นคล้ายกับหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสคำเท็จ คือเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า)

เล่ม ๔ หน้า ๙

“พุทธประเพณี-พระตถาคตทั้งหลายไม่รับวัตถุด้วยมือ”

เล่ม ๔ หน้า ๔๑

“ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

เล่ม ๔ หน้า ๔๕

“พระรัศมีสีต่างๆคือ สีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายพระอังคีรส”

เล่ม ๔ หน้า ๑๖๔

“ตถาคตทั้งหลายมีพรอันล่วงเลยเสียแล้ว” (คือไม่ให้พร)

เล่ม ๕ หน้า ๘๓

“ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก”

(นี่คงจะรับมาเป็นธรรมเนียมการตั้งพระพุทธรูปโดยทั่วไปกันในภายหลัง)

เล่ม ๗ หน้า ๘๖

“พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในสุญญาคาร”

เล่ม ๗ หน้า ๑๕๑

“ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตพระตถาคต ด้วยความพยายามของผู้อื่น นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส”

( เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น)

เล่ม ๑๑ หน้า๑๑

“ตถาคตเคยกล่าววาจาเป็นที่สองไว้บ้างหรือ”

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๐๔

“พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตเป็นผู้มีความรู้เสมอกับองค์ปัจจุบันในสัมโพธิญาณ”

เล่ม ๑๒ หน้า ๒๑๖

“เธอกล่าวตู่เรา ขุดตนเองและประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยทิฎฐิอันลามกอันตนถือเอาเอาชั่วแล้ว กรรมนั้นแลจักมีแก่เธอเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน”

( ข้อนี้พวกไม่เชื่อพระไตรปิฏก ไปสอนเอาเองตามที่ตัวเองคิดแล้วอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นหรือทรงหมายความว่าอย่างนั้น อย่างนี้ พึงระวังให้ดีจะตกนรกง่ายๆ ฐาน “กล่าวตู่”พระพุทธเจ้า)

เล่ม ๑๓ หน้า ๔๘๗

“ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน”

( ข้อนี้น่าแปลกที่พระพุทธรูปยืนปางลีลา มักปั้นก้าวพระบาทข้างซ้าย เช่นที่พุทธมณฑลเป็นต้น ชะรอยจะมีเหตุผลอะไรที่ผู้เขียนยังไม่พบ)

เล่ม ๑๔ หน้า ๗๒

“ดูกร พราหมณ์ ฉันนั้นก็เหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี

ดูกร พราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้”

เล่ม ๑๘ หน้า ๓๔๒

“พระพุทธเจ้าไม่อาจสวดอ้อนวอนให้คนตายไปแล้วขึ้นสวรรค์ได้”

เล่ม ๑๘ หน้า ๔๐๕

“พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป”

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๑

“ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระคถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต”

เล่ม ๒๑ หน้า ๒๖

เรียกว่า “ตถาคต” เพราะ

- กล่าวอย่างใดเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอื่น

- กล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดกล่าวอย่างนั้น

เล่ม ๒๒ หน้า ๒๑๗

“พระตถาคตย่อมไม่ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏด้วยไม่มีเหตุ”

(ข้อนี้เห็นจะหมายถึงว่าอยู่ดีๆก็แย้มพระโอษฐ์ขึ้นมา)

เล่ม ๒๒ หน้า ๓๖๐

“ใครเล่านอกจากตถาคตจะรู้กระแสธรรมในบุคคล”

เล่ม ๒๒ หน้า ๔๑๒

“ข้อที่เราพยากรณ์แล้วโดยส่วนเดียวจะเป็นสองได้อย่างไร”

( เช่นตรัสถึงสวรรค์ก็คือสวรรค์ ไม่ใช่จิตใจมีความสุขก็คือสวรรค์”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๙๙

“พระพุทธพจน์ ระหว่าง ตรัสรู้กับปรินิพพาน ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น”

เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐๔

“เราเที่ยวไปด้วยความเป็นสัพพัญญู”

เล่ม ๒๙ หน้า ๑๘๙ ,๓๘๑

“สิ่งที่ไม่ทรงรู้ เห็น แจ้ง ไม่มี”

เล่ม ๒๙ หน้า ๓๘๔

“ทรงทราบจริตของคนต่างๆ”

เล่ม ๒๙ หน้า ๔๙๔

“ทรงพระนามว่าพระสยัมภู เพราะไม่มีอาจารย์”

เล่ม ๓๒ หน้า ๑

“พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆนับไม่ถ้วน”

เล่ม ๓๒ หน้า ๒๓

“น้ำในมหาสมุทรอาจประมาณได้ด้วยมาตราตวง แต่ใครๆไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตาญานของพระองค์ได้เลย”

เล่ม ๓๓ หน้า ๓๓๑

“พระวาจาพระพุทธเจ้าไม่เป็นสอง ไม่เปล่าประโยชน์ ไม่ตรัสคำไม่จริง”

อุตส่าห์นำพระพุทธคุณมาแสดงไว้มากมาย ก็เพื่อสนับสนุนที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้แล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสอนตามที่ตรัสรู้มามาแล้ว และเป็นความจริงที่ไม่แปลได้หลายอย่าง จึงรับไปปฏิบัติได้เลย ไม่ใช่ตรึกตรองให้เห็นจริงเสียก่อนเพราะนอกจากจะเสียเวลาเปล่าๆแล้ว ยังอาจคิดไม่ออก (เพราะปัญญาตื้น) อีกด้วย.


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 12/1/10 at 08:40 Reply With Quote



พระเจ้าอัมพสักขระกับเปรต


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖

พระเถระหลายองค์ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ ท่านควัมปติ ท่านนราฑะ ท่านวังคีสะ ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาผู้มีฤทธิ์ มักจะคุยกับเทวดาบ้าง เปรตบ้าง ถามว่า ทำกรรมอะไรมาจึงปรากฏผลดังนี้ มีบ่งไว้แทบทุกเรื่องว่าองค์ไหนเป็นองค์ที่ถาม แต่เรื่องของพระเจ้าอัมพสักขระกับเปรตนี้ไม่ได้บ่งว่าองค์ไหนเอามาเล่า...

มหาวรรคที่ ๔ เรื่องที่ ๑ อัมพสักขระเปตวัตถุ พระสุตันตปิฏก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๒๘ หน้า ๒๑๑ ถึง ๒๒๓

เรื่องมีว่า...ในนครเวสาลีของชาววัชชี มีกษัตริย์ลิจฉวี ทรงพระนามว่า อัมพสักขระได้เห็นเปรตตนหนึ่งมาพูดกับชายผู้ถูกหลาวไม้สะเดาเสียบอยู่ว่า

อัมพสักขระ : - ผู้ถูกหลาวเสียบนี้ใครก็พาละทิ้งไปแล้ว พวกมิตรสหายทราบว่าผู้ใดขาดแคลนย่อมละทิ้งไป ผู้ใดมั่งคั่งย่อมห้อมล้อม นี่เป็นธรรมดาของโลก บุคคลผู้นี้ถูกแทงเป็นแผล พรุ่งนี้ก็จะตายอยู่แล้ว เหตุใด...? ท่านจึงมาพูดอยู่ละว่า อย่าตายเสียเลย การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ

เปรต : - ได้ระลึกชาติดู รู้ว่าชายนี้เป็นญาติ รู้ว่าชายที่ทำกรรมชั่วนี้ถ้าตายไป ก็จะต้องตกนรกที่ยัดเยียดไปด้วย สัตว์ผู้ทำบาป มีความเร่าร้อน เผ็ดร้อนน่ากลัว เสียบหลาวอยู่นี่ ยังดีกว่าตกนรกตั้งหลายพันเท่า ถ้าเขาได้ยินอย่างนี้คงเสียใจถึงแก่ความตาย จึงสงเคราะห์ได้แค่พูดแต่ว่า จงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ

อัมพสักขระ : - ทราบละ...ทีนี้อยากถามเรื่องของท่านบ้าง... อย่าโกรธเลยนะ

เปรต : - ได้เคยปฏิญานว่าคนไม่เลื่อมใส ถาม ก็จะไม่ตอบ พระองค์ก็เป็นผู้ไม่เลื่อมใส แต่เอาเถอะ...ตอบเท่าที่สามารถ

อัมพสักขระ : - เห็นอะไรด้วยตาแล้วก็เชื่อซี ถ้าไม่เชื่อยอมให้ลงโทษ ขอถามว่าท่านขี่ม้าขาวงามไปที่คนถูกเสียบหลาวน่ะ ได้ม้าเพราะผลกรรมอะไร...?

เปรต : - ที่กลางเมืองเวสาลี มีหลุมอยู่ในทางลื่น ข้าพระองค์ก็มีจิตเลื่อมใส(เมตตา)เอากะโหลกวัวไปวางทอดในหลุมให้เป็นสะพาน ม้าสวยนี้ได้มาเพราะกรรมอันนั้น

อัมพสักขระ : - ท่านมีรัศมีเปล่งไปทั่ว มีกลิ่นหอมฟุ้ง มีฤทธิ์เหมือนเทวดาแต่เปลือยกาย นี่เพราะผลกรรมอะไร...?

เปรต : - เมื่อก่อนขี้โกรธ แต่มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ พูดจากับคนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน ผลกรรมนั้นทำให้มีรัศมีทิพย์สว่างไสว

เมื่อก่อนมีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญยศและชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผลกรรมนั้นทำให้มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งตลอดเวลา

เมื่อก่อนพวกเพื่อนไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ได้เอาผ้าของเขาไปซ่อนที่บนบกโดยไม่ประสงค์จะลักขโมย ไม่มีจิตคิดร้าย ผลกรรมนั้นทำให้เปลือยกาย เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง

อัมพสักขระ : - ทำบาปเล่นๆยังมีผลเช่นนี้ ทำบาปจริงๆผลจะเป็นอย่างไร...?

เปรต : - ลงนรกไม่ต้องสงสัย ใครปรารถนาสุคติต้องยินดีในทาน

อัมพสักขระ : - (ไม่เชื่อการชี้แจงนี้ ) เราจะเห็นได้ชัดๆยังไง...? จึงจะเชื่อได้ว่านี่เป็นผลกรรมดี กรรมชั่ว

เปรต : - ได้เห็นแล้วได้ยินแล้ว ก็ทรงเชื่อเถอะว่านี่เป็นผลของกรรมดี กรรมชั่ว มีกรรมดี กรรมชั่ว จึงได้มีสุคติ และทุคติ

ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์โลกไม่ทำกรรมดีและกรรมชั่ว ผู้ไปสู่สุคติและทุคติก็ไม่มี กรรมที่ข้าพระองค์ทำในชาติก่อน ที่จะเป็นเหตุให้ได้เครื่องนุ่งห่มในเวลานี้ก็ไม่ได้ทำไว้ ส่วนคนที่เขาให้ผ้านุ่งผ้าห่ม ที่นอนที่นั่ง ข้าวและน้ำแก่สมณพราหมณ์แล้วอุทิศมาให้ก็ไม่มี จึงได้เปลือยกายมีความเป็นอยู่ฝืดเคืองดังนี้

อัมพสักขระ : - มีวิธีอะไรที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่มไหม...?

เปรต : - ในเมืองเวสาลีเวลานี้มีภิกษุชื่อ...กัปปีตกะ...เป็นผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์หลุดพ้นแล้ว บรรลุวิชชาสาม ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ เพราะท่านปิดบังไว้ ถ้าพระองค์ถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่ภิกษุนั้น แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ เมื่อถวายแล้วและท่านรับผ้านั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงเห็นข้าพระองค์นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย

อัมพสักขระ : - สมณะนั้นอยู่ที่ไหน...?

เปรต : - อยู่ที่เมือง...กปินัจจนา

อัมพสักขระ : - จะไปทำตามท่านว่าแล้วจะคอยดู

เปรต : - โปรดอย่าเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควร การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควรนี้ ไม่เป็นธรรมเนียมที่ดีของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ทรงเข้าไปในเวลาที่ควรก็จะผ่านอยู่ในที่สงัดนั้น

พระเจ้าลิจฉวีก็เลือกผ้า ๘ คู่จากหีบไปหาสมณะนั้น แนะนำพระองค์ทักทายกันแล้ว

อัมพสักขระ : - ขอถวายผ้า ๘ คู่นี้แก่ท่าน

พระเถระ : - โดยปกติสมณะพราหมณ์ทั้งหลายพากันหลีกห่างไกลทีเดียวจากพระราชนิเวศน์ของท่าน เพราะหากเข้าไป ไม่ถึงบาตรแตกก็สังฆาฏิฉีกขาด เท้าพลาดหัวซุกหัวซุน มหาบพิตรไม่เคยพระราชทานแม้น้ำมันสักหยดหนึ่ง เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวม เปรียบเหมือนคนหลงมาบอกทาง พบคนตาบอดก็แย่งไม้เท้า บัดนี้...เกิดเห็นผลอะไรจึงมาแจกทานเล่า...?

อัมพสักขระ : - ขอรับผิดในเรื่องเบียดเบียนสมณะ เพียงแต่อยากล้อเล่นไม่มีจิตประทุษร้าย เมื่อได้ทำกรรมนั้นแล้วได้มาพบเปรต ต้องเปลือยกายเพราะกรรมที่ทำเพื่อล้อเล่น จึงขอถวายผ้า ๘ คู่นี้ ขอทักษิณานี้จงเป็นผลให้แก่เปรตด้วย

พระเถระ : - ขอรับผ้า ๘ คู่นี้ไว้ และขอทักษิณาทานนี้จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้นด้วย

พระเจ้าลิจฉวีทรงชำระพระหัตถ์และพระบาทแล้วถวายผ้า พอพระเถระรับประเคน พระราชาก็เห็นเปรตนั้นนุ่งห่มผ้ารียบร้อย มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ทำให้เกิดความปิติ เพราะทรงเห็นกรรมและวิบาก(ผลของกรรม) แจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง จึงเสด็จเข้าไปขอบใจเปรตนั้น ตรัสว่าจะให้ทานแก่สมณะพราหมณ์ทั้งหลายด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่

เปรต : - ทานนั้นทำให้ข้าพระองค์เป็นเทวดา จะขอเป็นสหายกับพระองค์

อัมพสักขระ : - ต่อไปปรารถนาจะได้เห็นท่านอีก

เปรต : - ถ้าทรงเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใสก็จะไม่ได้เห็นกันอีก

ถ้าทรงเคารพธรรม ยินดีในการบริจาคทาน สงเคราะห์สมณะพราหมณ์ทั้งหลายก็จะได้เห็นข้าพระองค์อีก

ขอทรงโปรดปล่อยบุรุษเสียบหลาวนี้เสียเถิด เขาพ้นไปแล้วจะเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยเคารพ พ้นจากนรกอย่างแน่นอน เมื่อปล่อยแล้วก็พึงไปถวายทานแก่ภิกษุนั้นตรัสถามดูแล้ว ท่านจะแสดงธรรมให้ถึงสุคติ

เมื่อจากกันแล้ว เปรตก็ไปกล่าวกับบริษัทกษัตริย์ลิจฉวี พร้อมด้วยบุตรที่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ ว่าจะขอปล่อยบุรุษถูกหลาวเสียบ โปรดขออนุญาตด้วย

เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีองค์นั้นกลับมาถึงก็ปล่อยบุรุษถูกหลาวเสียบ จัดให้หมอรักษาพยาบาลแล้วไปถวายทานต่อท่าน กัปปีตกภิกษุ และถามว่าได้ปล่อยคนถูกหลาวเสียบไปแล้ว เหตุที่เขาจะไม่ต้องตกนรกมีอยู่หรือ

พระเถระ : - ถ้าเขาเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมทั้งหลายโดยเคารพตลอดคืนและวัน ก็จะพ้นนรกได้แน่ กรรที่จะให้ผลต้องเว้นไปไม่มี

อัมพสักขระ : - ถ้าเช่นนั้นขอท่านช่วยโปรดไม่ให้ต้องตกนรกบ้าง

พระเถระ : - พึงเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ถือศีล ๕ อย่าให้ด่างพร้อย สมาทานอุโบสถศีล พระราชทานจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะในภิกษุผู้มีจิตซื่อตรงทั้งหลาย

ทรงถวายแด่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบรูณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูตรให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ เมื่อบุคคลเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมโดยเคารพตลอดคืนและวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น กรรมที่เว้นจากการให้ผลพึงมี

อัมพสักขระ : - ขอถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอสมาทานศีล ๕ อุโบสถศีล และจะถวายทานต่างๆต่อไป

ด้วยการคบสัปบุรุษ คือ ท่านกัปปีตกภิกษุผู้ประเสริฐ คนทั้งสองก็ได้บรรลุสามัญผล คือ พระเจ้าอัมพสักขระได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนบุรุษถูกหลาวเสียบ เมื่อหายแล้วก็บรรพชาและบรรลลุผลอันยอดเยื่ยม...(ควรแปลว่าเป็นพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยก็พระอริยะ)


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 11/2/10 at 08:02 Reply With Quote



ทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๘

ผู้เขียนไม่ได้เป็นพระอรหันต์ และไม่ขอกล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ เพราะเรื่องนี้พระคุณเจ้า พระราชพรหมยานมหาเถระ (วัดจันทาราม อ. เมือง จ. อุทัยธานี ) ท่านบรรยายไว้ละเอียดแล้ว

ที่เอามาเขียนนี้สาเหตุเป็นเพราะได้ยินบางคนสอนว่า ทำจิตว่างก็เป็นนิพพานแล้ว ด้วยนัยนี้คนที่ไถนาอยู่ ทำจิตว่างก็เรียกว่า นิพพาน แต่ผู้ที่จะนิพพานนั้นก็ต้องเป็นพระอรหันต์ด้วย ดังนั้นตามหลักก็ต้องสรุปได้ว่า ทำจิตว่างก็เป็นพระอรหันต์

ท่านผู้สอนอย่างนั้น ความจริงท่านก็รู้พุทธศาสนามาจากพระไตรปิฏก ผู้เขียนก็อ่านพระไตรปิฏก ไม่เห็นมีตรงไหนที่ท่านว่าไว้ว่า จิตว่างแล้วเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นจึงขอทำหน้าที่อย่างเคยคือ คัดลอกจากพระไตรปิฏกมาแสดงว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อย่างไร (ตามหลักมหาประเทศ ๔ คือให้สอบสวนในพระสูตรและพระวินัย)

หากคัดลอกมาหมดก็เห็นจะต้องเป็นเล่มโตทีเดียว ดังนั้นส่วนมากจะเอาหัวข้อมาแสดงย่อๆ ท่านที่สนใจรายละเอียดโปรดพลิกอ่านดูเอง

๑. เล่ม ๑๑ หน้า ๘๗ (อัคคัญญสูตร)

“ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สำรวมกาย สำรวมใจ อาศัยการเจริญ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว”

โพธิปักขิยธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, สัมมัปปธาน ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, และ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวม ๗ เรื่อง แต่นับจำนวนข้อเป็น ๓๗ บางทีจึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ และบางทีก็เรียกว่า เอกายนมรรค ด้วย

๒. เล่ม ๑๒ หน้า ๕๓ (อากังขยสูตร)

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เถิด ดังนี้ ภืกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริสุทธิ์ ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร”

(ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ )

๓. เล่ม ๑๒ หน้า ๕๗ (อากังขยสูตร)

(ย่อ) ภิกษุมีใจประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหคตะ ไม่มีประมาณทั่วทิศ ฯลฯ

“ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมรู้ชัดว่าสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวทรามมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งแห่งสัญญานี้มีอยู่ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

(ธรรมหมวดนี้คงจำกันได้ว่าคือ พรหมวิหาร ๔ แต่ไม่พึงเถรตรง ถือไปว่าทำพรหมวิหาร ๔ อย่างเดียวก็เป็นพระอรหันต์ได้ ควรเข้าใจว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นโยงถึงกันหมด เมื่อมีธรรมนี้ธรรมอย่างอื่นจึงมีตามมา พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ไว้ในธรรมหลายหมวด เช่น สีเลนะนิพพุติงยันติ รักษาศีลเป็นทางให้ถึงพระนิพพาน เพราะมีศีลจึงมีสมาธิได้ มีสมาธิจึงมีปัญญาได้ พรหมวิหาร ๔ ถ้าไม่มีก็มีศีลไม่ได้

อนึ่งพึงสังเกตคำว่า “กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว” เพราะจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาเพื่อความหลุดพ้น หากยังไม่หลุดพ้นก็เรียกว่ามีกิจต้องทำ เมื่อกิจต้องทำยังทำไม่เสร็จเหตุใดจึงมัวไปสนใจในเรื่องอื่น ซึ่งทำให้ได้ชื่อว่าทำกิจที่ไม่ควรทำ ภิกษุสมัยใหม่มักจะมีความเห็นว่า ควรทำประโยชน์ให้ชาวบ้านด้านสังคม ท่านจะคิดหรือเปล่าไม่ทราบว่า ฝ่ายปกครองบ้านเมืองเขาทำกันอยู่แล้วและในฐานะเป็นพระตัวท่านเองก็ทำอะไรไม่สะดวก หากรักจะช่วยจริงๆแล้ว สึกออกไปเสียจะทำหน้าที่ได้ โดยมีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่าเป็นพระเสียอีก)

๔. เล่ม ๑๒ หน้า ๘๔ (สติปัฏฐานสูตร)

“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑, พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา...., พิจารณาเห็นจิตในจิต...., พิจารณาเห็นธรรมในธรรม....ฯลฯ”

ในหน้า ๑๐๐ ทรงแสดงว่าถ้าทำตลอดไปถึง ๗ ปี “เขาพึงหวังผล ๒ ประการ คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธปัญจกยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี”

ธรรมข้อนี้คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งฝ่ายนิยมวิปัสสนาอย่างเดียว และรังเกียจสมาธิ พากันนึกว่านี่คือทางไปทางเอกทางเดียว ทางอื่นไม่มี โดยศัพท์ว่า เอกายนมรรค ซี่งความจริงแล้วในเล่ม ๒๙ หน้า ๔๙๓ บ่งว่า

“พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะอรรถว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรค สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปธาน๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗,และอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าเอกายนมรรค ( ธรรมเป็นหนทาง เป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว )”

บุคคลคณะนี้มักอธิบายสติปัฏฐาน ๔ ว่าได้แก่การรู้ตัวในอิริยาบถต่างๆ เช่น การก้าวไปข้างหน้า ข้างหลัง การครองจีวร ฯลฯ ก็ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะ ซึ่งไม่ใช่เป็นความสำคัญของสติปัฏฐาน เพราะข้อนี้เป็นเพียง ๒ บรรพของข้อกายในกาย คืออิริยาบถบรรพ กับ สัมปชัญญะบรรพ คือ ( เล่ม ๑๐ หน้า ๒๕๗)
- กาย (มี อานาปานบรรพ, อิริยาบถบรรพ, สัมปชัญญะบรรพ, ธาตุมนสิการบรรพ, นวสีกิกาบรรพ)
- เวทนา
- จิต
- ธรรม (มี นิวรณ์บรรพ, ขันธบรรพ, อายตนบรรพ, โพชฌงค์บรรพ, สัจจบรรพ)

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ต้องครบ กาย - เวทนา – จิต – ธรรม ไม่ใช่เอาแค่อิริยาบถ สัมปชัญญะ เท่านั้น แล้วมาพูดว่านี่แหละคือ สติปัฏฐาน ๔

จุดหมายของการพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ท่านก็แสดงไว้แล้วว่าเพื่อให้ “กำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้”

สติปัฏฐาน ๔ ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือเป็นธรรมที่ทำให้ธรรมอื่นเกิดขึ้นแล้ว จึงจะหลุดพ้นในภายหลัง เพราะ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ สัมมาสติ ในอริยมรรคมีองค์ ๘

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๕ ( อรณวิภังคสูตร )

“ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็สัมมาสติเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียรรู้สึกตัวมีสติกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา... จิตในจิต... ธรรมในธรรม...ฯลฯ”

ส่วนสัมมาสมาธิ บ่งว่าเข้าปฐมฌานถึงจตุตถฌาน

และ เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๔ บ่งว่า “เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้”

ดังนี้สติปัฏฐาน ๔ จึงทำให้มีสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธิทำให้มีส้มมาญาณต่อไป สัมมาญาณทำให้เกิดสัมมาวิมุติ หลุดพ้น

๕. เล่ม ๑๒ หน้า ๑๐๕ จุฬสีหนาทสูตร

“สมณะรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณโทษและการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่าง (ภวทิฏฐิและวิภาวทิฏฐิ) ตามความจริง ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์”

๖. เล่ม ๑๒ หน้า๑๐๘ จุฬสีหนาทสูตร

“ภิกษุละ อวิชชาได้ เกิดวิชชาไม่ถือมั่นในอุปาทาน (กามุปทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน) ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน”

๗. เล่ม ๑๒ หน้า ๒๒๕ อลคัททูปมสูตร

“เห็นรูป (อดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกลหรือใกล้) เวทนา.... สัญญา.... สังขาร.... วิญญาณ .... ด้วยปัญญาอันชอบว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา.... ดังนี้ย่อมเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่านคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น”

( ความเห็นว่าว่าง ตัวเราไม่มี อะไรก็ไม่มีแบบมหายานนั้นไม่ตรงกับข้อนี้ เพราะข้อนี้บ่งว่า ขันธ์ ๕มี อัตตามี แต่ให้เห็นว่าไม่ใช่ของเรา เมื่อไม่ใช่ของเราจึงเบื่อ ไม่ใช่รู้สึกว่างๆ)

๘. เล่ม ๑๒ หน้า ๒๔๒ รกวินีตสูตร

“ สีลวิสุทธ เป็นประโยชน์แก่ จิตตวิสุทธิ
จิตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ทิฏฐิวสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ กังขาวิตรณวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ
มัคคามัคญาณทัสนวิสุทธ เป็นประโยชน์แก่ ปฏิปทาญาทัสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาทัสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ญาณทัสนวิสุทธิ
ญาณทัสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ อนุปาทาปรินิพพาน”

๙. เล่ม ๑๒ หน้า ๔๑๖ มหาอัสสปุรสูตร

“ภิกษุกำจัดอกุศลกรรมลามกอันเศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ต่อไปเสียแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่าอรหันต์”

๑๐. เล่ม ๑๒ หน้า ๔๒๓ จุฬอัสสปุรสูตร

“ทำให้สิ้นอาสวะด้วยเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุตติ”

๑๑. เล่ม ๙ หน้า ๒๒๑ มหาลิสูตร

“มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ทำให้ภิกษุสิ้นอาสวะด้วยบรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุคิ”

๑๒. เล่ม ๑๓ หน้า ๑๕ อัฏฐกนาครสูตร

“ธรรมที่ทำให้จิตที่ยังไม่หลุดพ้นได้หลุดพ้น ได้แก่การเข้าฌาน ๑ถึง ๔ (รูปฌาน) มีใจประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ เข้าอากาสานัญจายตน ไปถึงอากิญจัญญายตนฌาน”

๑๓. เล่ม ๑๓ หน้า ๒๑๔ มหาวัจฉโคตรสูตร

“ภิกษุละตัณหาได้ขาด ไม่เกิดขึ้นอีก เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ”

๑๔. เล่ม ๑๓ หน้า ๒๒๖ ทีฆนขสูตร

“เห็นเวทนา ๓(สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา)ไม่เที่ยง คือเกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป ดับไป ย่อมหน่ายในเวทนา ย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น”

๑๕. เล่ม ๑๔ หน้า ๓๓ ปัญจัตตยสูตร

“รู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ ตามความเป็นจริง หลุดพ้นได้ด้วยไม่ถือมั่น”

๑๖. เล่ม ๑๔ หน้า ๖๕ อาเนญชสัปปายสูตร

“ปฏิบัติแล้วได้อุเบกขา เมื่อไม่ติดใจในอุเบกขาวิญญาณก็ไม่เป็นอันอาศัย ไม่ยึดมั่นในอุเบกขานั้น ย่อมปรินิพพานได้

๑๗. เล่ม ๑๔ หน้า ๑๗๗ อานาปานสติสูตร

“เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุติ ให้บริบูรณ์ได้”

๑๘. เล่ม ๑๔ หน้า ๑๘๘ กายคตาสติสูตร

“เสพกายคตาสติมากๆแล้ว ย่อมสิ้นอาสวะได้”

๑๙. เล่ม ๑๔ หน้า ๔๔๖ ฉฉักสูตร

“ละราคานุสสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฎิฆานุสสัยเพราะทุกขเวทนา กวนอวิชชานุสสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้แล้ว จักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้”

๒๐. เล่ม ๑๕ หน้า ๔ คติฉินทิสูตรที่ ๕

“ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง สังโยชน์เบื้องบน ๕ อย่าง ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่าง เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว”

(สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้แก่ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพตปรามาส, กามฉันทะ, พยาบาท

สังโยชน์เบื้องบน ๕ อย่างได้แก่ รูปราคะ, อรูปราคะ, ปฏิฆะ, อุทธัจจะ, อวิชชา

ธรรมเครื่องข้องใจ ๕ อย่างได้แก่ ตะปูตรึงใจ ๕ คือ เคลือบแคลงสงสัยไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, สิกขา และขัดเคืองผูกใจเจ็บในเพื่อนพรหมจรรย์)

๒๑. เล่ม ๑๕ หน้า ๒๒ เอณิชังคสูตรที่ ๑๐

“บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นทุกข์ได้อย่างนี้”

๒๒. เล่ม ๑๘ หน้า ๓๘๙ อสังขตสังยุตต์วรรคที่ ๑

ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
- สมถะและวิปัสสนา
- สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร, ที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร, ที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
- สุญญตสมาธิ อนิมิตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
- สติปัฏฐาน ๔ ....ฯลฯ.... อริยมรรคมีองค์ ๘
- (สุญญตสมาธิไม่ใช่ว่าง เพราะสมาธิคือการมีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งเดียว)

๒๓. เล่ม ๑๙ หน้า ๔๑๒ พราหมสูตร

“อุทยคามินีปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า....ในพระธรรม....ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ”

(คงจำกันได้ว่าคือองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน)

ตามที่อ้างมาจนจะหมดพระสูตรอยู่แล้วนี้ (ที่คล้ายๆกันแต่ไม่ได้ยกมาอ้างก็มาก) จะเห็นได้ว่าตามพระไตรปิฏกแล้ว ไม่มีที่ใดที่ท่านสอนไว้ว่า ทำจิตว่างแล้วเป็นนิพพาน

โดยที่แท้แล้วท่านสอนอริยสัจ ๔ มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีปฏิบัติ ธรรมทั้งปวงที่อ้างมาแล้วนี้ล้วนเป็นวิธีปฏิบัติที่ทรงสอน หรือตอบคำถามแก่หลายๆคน ซึ่งเป็นการตอบให้เหมาะแก่จริตพื้นฐานธรรมที่มีอยู่แล้วในบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ดีธรรมทั้งปวงก็ลงในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งนั้น

พูดให้ง่ายในทางปฏิบัติแล้ว ท่านให้ทำตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปจนได้ฌาน ๔ เป็นอย่างน้อยเพื่อใช้อบรมจิต และขณะอยู่ในฌานทำวิปัสสนา พระไตรลักษณ์ในหัวข้อต่างๆไปตามอัธยาศัย ในที่สุดก็จะหลุดพ้นได้

คือทำสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ทำจิตว่างๆ

หากผู้สอนจิตว่าง ตั้งใจจะพูดว่าทำจิตให้ว่างจากกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ควรพูดให้ชัดว่าทำจิตให้ว่างจากกิเลส หรือพูดว่าตัดกิเลสอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเป็นการอัญเชิญคำสอนของพระพุทธเจ้ามา ถ่ายทอดต่อ

การสอนว่าจิตว่างคือนิพพาน (เคยอ่านมาว่าถึงจะทำนาอยู่ หากทำจิตให้ว่างก็นิพพานได้) นั้นเป็นการแสดงว่าไม่แยแสต่ออริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งบ่งว่ามีมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติเอาเสียเลย

อนึ่งคำสอนของสายจิตว่าง ออกจะบ่งๆอยู่ว่าตายแล้วก็สูญไป นิพพานของเขาคือนิพพาน ที่ถึงได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี่เอง ถือจิตว่างเมื่อใดก็นิพพานเมื่อนั้น (น่าจะบ่งไปเสียเลยว่านั่นแหละเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะนิพพาน) คำสอนเช่นนี้ไม่สามารถอธิบาย อนุปาทิเสสปรินิพพานได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่ามีทั้ง สอุปาทิเสสปรินิพพาน (เมื่อยังมีชีวิตอยู่) กับ อนุปาทิเสสปรินิพพาน (เมื่อตายไปแล้ว) (เล่มที่ ๒๕ หน้า ๒๓๑)

อีกอย่างหนึ่งนิพพานนี้ ถ้าเรียกกันให้เต็มยศก็เรียกว่ามหาอมตะนิพพาน นิพพานที่ไม่ตาย แต่นิพพานจิตว่างนั้นตาย นิพพานที่ไม่ตายนั้นท่านตรัสว่าคือนิพพานที่ไม่เกิดด้วย คือเมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีการตาย ดำรงอยู่โดยไม่ต้องเกิด จึงเป็นอมตะ

เชิญท่านนักศึกษาพิจารณาเอาเอง


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 10/5/10 at 07:32 Reply With Quote



ปั้นผี


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๙๐

วันหนึ่งผู้เขียนกำลังหาหลักฐานจะเขียนในเรื่องที่มีผู้พูดกันมาก จนทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า

๑. พระพุทธเจ้าไม่เคยยืนยันเลยว่าคนตายแล้วเกิดอีก

๒. การพูดว่าเมื่อคนตายแล้วมีจิตไปเกิดใหม่นั้น เท่ากับพูดว่ามีอัตตาซึ่งเป็นสัสสตทิฐิอันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฐิ

ครั้นหาได้จะลงมือเขียนก็ต้องนึกว่า เอ..จะตั้งชื่อเรื่องว่ายังไงดีเพราะตั้งชื่อยาก ก็มี
คำปรากฏขึ้นในใจว่า “ปั้นผี” เอ๊ะยังไง เลยนึกในใจว่าขออนุญาตไม่ตั้งชื่อนื้ คำก็ปรากฏขึ้นอีกว่า
“เขียนลงไปว่า ปั้นผี” เอ้าปั้นก็ปั้นจะได้ไม่เปลืองสมองคิดค้นหาชื่อ คราวนี้ก็เริ่มเรื่องกันได้แล้ว

ประการแรกทีเดียวต้องชี้กันเสียก่อนว่าเลยว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น มีเจ้าลัทธิความเชื่อความเห็นที่มีต่างๆอยู่มากมายหลายท่าน ผู้คนไม่รู้จะเชื่อใครกันแน่ พากันเอาคำถามนี้มาทูลถามพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า เช่น ตายแล้วมีอยู่หรือ อัตตาและโลกเที่ยงหรือ ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัญหาของลัทธิอื่นเขา เวลามาถามพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่อยากจะตอบ เพราะไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ไม่ว่าข้อที่ถามนั้นจะผิดหรือถูก จะผิดก็ตาม ถูกก็ตาม เป็นเรื่องที่ไม่น่าตอบ เพราะตอบไปแล้วก็จะเอาไปยึดถือกัน จะเป็นโทษ

เวลาอ่านพระไตรปิฏกกันก็มักจะข้ามความสำคัญข้อนี้ไปหมด กระโดดไปจับเอาตัวปัญหามาถกกันโดยตรง เช่น ตายแล้วเกิดอีกไหม มีอัตตาหรือไม่มีอัตตากันแน่ คือไปปฏิบัติอย่างคนในลัทธิอื่นกัน ไม่หาสาระในพระพุทธศาสนา เมื่อมีความเข้าใจไว้อย่างนี้ในเบื้องต้นแล้วก็เข้าใจได้ง่าย

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๒๕ (ปาสาทิกสูตร)

พระพุทธเจ้าตรัสกับสามเณรชื่อ จุนทะ

“ดูกร จุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีสิ่งนี้และจริง สิ่งอื่นเปล่า หรือหนอแล ดังนี้

ดูกร จุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้แล อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะสัตว์ย่อมมีสิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯลฯ”

ถึงแค่นี้ก็เอาไป “ปั้นผี” กันแล้วว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยืนยันเลยว่าตายแล้วเกิดอีก

พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปอีก (ขอย่อ)

- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมไม่มีฯ
(พวก “ปั้นผี” ไม่ได้เอาข้อมูลนี้ไปพูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยืนยันว่าตายแล้วก็สูญ)

- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีด้วย ย่อมไม่มีด้วยฯ

- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีหามิได้ ย่อมไม่มีก็หาไม่ฯ

ซึ่งพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็อาจถามว่า “ก็เพราะเหตุไร ข้อนี้พระสมณโคดมจึงไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้เล่า” ก็ให้ตอบว่า

“ดูกร อาวุโส เพราะว่าข้อนี้ไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นไปเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฉะนั้นข้อ นั้นพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้”

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า เขาคงถามอีกว่า พระสมณโคดมทรงพยากรณ์ไว้อย่างไรเล่า ก็ให้ตอบว่า

“ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกข์... นี้ทุกขสมุทัย... นี้ทุกขนิโรธ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้แล” ทั้งนี้เพราะ

“เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม ข้อนี้เป็นเบื้องต้นแห่งแห่งพรหมจรรย์ ย่อมเป็นไปด้วยความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว”

ต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ไม่ทรงพยากรณ์ ทิฐินิสัย คือไม่ทรงคล้อยตามพวกอัญญเดียรถีย์ที่ว่า

- อัตตาและโลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

- อัตตาและโลกไม่เที่ยง ฯลฯ

- อัตตาและโลกเที่ยงด้วย ไม่เที่ยงด้วย ฯลฯ

- อัตตาและโลก สัดว์ทำได้เอง ฯลฯ

- อัตตาและโลก ผู้อื่นทำให้ ฯลฯ

- อัตตาและโลก สัตว์ทำให้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ฯลฯ

- อัตตาและโลก สัตว์มิได้ทำเอง และผู้อื่นมิได้ทำ เกิดขึ้นลอยๆ ฯลฯ

- สุขและทุกข์ เที่ยง ฯลฯ

- สุขและทุกข์ ไม่เที่ยง ฯลฯ

- สุขและทุกข์ เที่ยงด้วย ไม่เที่ยงด้วย ฯลฯ

- สุขและทุกข์ เที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้ ฯลฯ

- สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เอง ฯลฯ

- สุขและทุกข์ ผู้อื่นทำให้ ฯลฯ

- สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ฯลฯ

- สุขและทุกข์ สัตว์มิได้ทำเองด้วย ผู้อื่นมิได้ทำเองด้วย ฯลฯ

“ดังนี้เราไม่ย่อมคล้อยตามคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ดูกร จุนทะ เพราะว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์จำพวกหนึ่งแม้เป็นผู้มีสัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่”

(ข้อความว่า “เป็นผู้มีสัญญาเป็นอื่น” คงจะแปลความได้ว่ารู้ไม่ตรงกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้เกิดโต้แย้งกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับลัทธิอาจารย์อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ตอบไปว่า ไม่คล้อยตาม ซึ่งอาจแปลว่า ถูกก็ไม่คล้อยตามผิดก็ไม่คล้อยตามก็ได้ ดังนี้แล้วไม่เป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกับใคร)

พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่านี้เป็น ทิฐินิสัย อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้น (คงหมายถึงฝ่ายข้างเกิด)

สำหรับทิฐินิสัยในส่วนเบื้องปลายก็มี ที่สมณพราหมณ์ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ

- อัตตามีรูป หาโรคมิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

- อัตตาไม่มีรูป ฯลฯ

- อัตตามีรูปด้วย ไม่มีรูปด้วย ฯลฯ

- อัตตามีรูปก็หามิได้ ไม่มีรูปก็หามิได้ฯลฯ

- อัตตามีสัญญา ฯลฯ

- อัตตาไม่มีสัญญา ฯลฯ

- อัตตามีสัญญาด้วย ไม่มีสัญญาด้วย ฯลฯ

- อัตตามีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ ฯลฯ

- อัตตาย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี ฯลฯ

นี่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงคล้อยตาม

“เพราะว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์พวกหนึ่งแม้เป็นผู้มีสัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่”

ครั้นแล้วทรงสรุปว่า เพื่อละ เพื่อก้าวล่วงทิฐินิสัย อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้นด้วย ประกอบด้วยส่วนเบื้องปลายด้วย จึงทรงแสดงปฏิปัฏฐาน ๔ ประการคือ

- พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้...

- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนื่องๆ...

- พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ...

- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ... ฯลฯ

นี่เป็นลีลาของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ตรัสถึงความเชื่อ ของลัทธิหรือศาสดาอื่น ครั้นแล้วก็ทรงแสดงธรรมของพระองค์เองไปด้วย ในพระสูตรนี้ทรงแสดง อริยสัจ ๔ กับมหาสติปัฏฐาน ๔

ผู้ที่ไม่เข้าใจกลับเอาอาการที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัส(ไม่พยากรณ์) เรื่องตายแล้วมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงยืนยันว่าตายแล้วเกิดอีก
(แล้วไม่ยอมพูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงยืนยันเหมือนกันว่าตายแล้วไม่เกิด)
ท่านผู้ตั้งชื่อเรื่องเลยตั้งว่า “ปั้นผี”


บุคคลสำคัญในการตั้งคำถามแบบนี้ได้แก่ วัจชโคตตปริพาชก ขยันถามจริงๆ ถามกับพระพุทธเจ้าบ้าง ถามกับพระสาวกบ้าง เช่น

เล่ม ๑๘ หน้า ๒๐๗ (อัคคิวัจฉโคตตสูตร)

วัจฉโคตตปริพาฉก ทูลถามว่า

“ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

คำถามต่อๆไป พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น” ทั้งสิ้น

คือมีความเห็นว่า

- โลกไม่เที่ยง

- โลกมีที่สุด

- ชีพอันนั้น สรีระอันนั้น

- ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง

- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่

- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่

- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี

- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่

วัจฉโคตตทูลถามว่า “ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฐิเหล่านี้
โดยประการทั้งปวงเช่นนี้ ฯ

ทรงตอบว่า “ดูกร วัจฉะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง... ฯลฯ ดังนี้นั้นเป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง

เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้เป็นไปกับด้วยความทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน

ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฯลฯ”

วัจฉโคตตทูลถามว่า “ก็ความเห็นอะไร ของท่านพระโคดมมีอยู่บ้างหรือ”

ทรงตอบว่า “ดูกร วัจฉะ ก็ความเห็นดังนี้นั้นตถาคตกำจัดเสียแล้ว

ดูกร วัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า

ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป

ดังนี้เวทนา.... ดังนี้สัญญา.... ดังนี้สังขาร.... ดังนี้วิญญาณ....

เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะความคลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่นซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเรา ของเรา และความถือตัวอันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง ฯ”

นี่ก็อีก พระพุทธเจ้าไม่ทรงมีความเห็น(ทิฐิ) ในปัญหาที่พวกลัทธิอื่นชอบถามกัน แต่ทรงแสดงธรรมในเรื่องขันธ์ ๕ ความเกิดและความดับแห่งขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ความเห็น หากเป็นความรู้(เห็นแล้ว)

สำหรับเรื่องทิฐินี้ไม่มีในพระพุทธศาสนา (ดังที่ตรัสว่า ทรงกำจัดเสียแล้ว) หากจะมีปรากฏในพระไตรปิฏกก็เป็นการกล่าวถึงทิฐิของลัทธิอื่น จะเป็นทิฐิถูกหรือผิดตามความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ตรัส เพราะฉะนั้นใครจะพูดถึงทิฐิอะไร ถือมีทิฐิว่าอย่างไร ก็เป็นอันว่าผิดทั้งหมด คือผิดในฐานที่มีทิฐิ

เล่ม ๑๘ หน้า ๔๒๘ (กุดุหลสาลาสูตร)

วัจฉโคตตผู้นี้หลักแหลมไม่เบา เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่พยากรณ์ ว่าคนตายแล้วมีอยู่หรือไม่ ท่านก็มาถามทีเดียวบอกว่า เจ้าคณะทั้งหกมี ปูรณกัสสป เป็นต้น พยากรณ์สาวกว่าตายไปแล้วเกิดเป็นนั่นเป็นนี่

“แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น....ดังนี้เหมือนกัน”

คงจะตั้งใจมาต่อว่า ไหนว่าไม่พยากรณ์เรื่องตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่ไงละ

ถ้าเป็นเราๆก็คงเว้ากันซื่ออย่างนี้แหละ แต่คนสมัยโน้นไม่โง่และไม่หยาบอย่างสมัยนี้

ท่านวัจฉโคตตจึงใช้คำถามว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้นมีความเคลือบแคลงสงสัยแท้ว่าอย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่งฯ”

ถ้าเป็นเราก็คงหมดท่า แต่พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า จริงทีเดียววัจฉโคตตควรสงสัย

“ดูกร วัจฉโคตต เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้น แก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่”

ทรงตอบอย่างนี้เลยเป็นการจัดวัจฉโคตตเข้าไว้ในพวกไม่มีอุปาทานไปเลย(เจ้าตัวคงชอบใจ)

บางท่านอาจอ่านพบคำถามเดียวกัน แต่พระพุทธเจ้าทรงตอบคนละอย่าง หากสงสัยก็ต้องดูจากคำตอบของพระพุทธเจ้าข้อนี้ คือทรงตอบให้เหมาะกับผู้ฟังที่ถามมานั้น

เล่ม ๑๘ หน้า ๔๒๙(อานันทสูตร)

วัจฉโคตตทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัตตามีอยู่หรือ” เมื่อวัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงดุษณีเสีย

วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ” แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงดุษณีเสียเหมือนกัน

ครั้นแล้ว วัจฉโคตตปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป

เมื่อวัจฉโคตตไปแล้ว ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เหตุใดเมื่อเขาทูลถามจึงไม่ทรงพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า

“ดูกร อานนท์ เรา อันวัจฉโคตตปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่าอัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสตทิฐิ

ดูกร อานนท์ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่าอัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมอยู่กับลัทธิสมณพราหมณ์อุจเฉททิฐิ

ดูกร อานนท์ เรา อันวัจฉโคตตปริพาชกถามว่าอัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่าอัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ของเรานั้นจักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้างหรือหนอ

หามิได้ พระเจ้าข้า

ดูกร อานนท์ ถ้าหากเรา อันวัจฉโคตตปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่าอัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงายแก่วัจฉโคตตผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอน บัดนี้อัตตานั้นไม่มี ฯ”

จากตรงนี้ก็เอาไป “ปั้นผี” กันว่า ถ้าพูดว่ามีอัตตาก็เป็นสัสสตทิฐิซึ่งผิด ถ้าพูดว่าไม่มีอัตตาก็เป็นอุทเฉททิฐิซึ่งผิด ก็เลยทิ้งกันไว้แค่นั้นว่าผิดทั้งคู่ วิญญูชนจะเห็นได้ว่าคงถูกสักอย่างซีน่า คือมีหรือไม่มี แต่ไม่ได้คบคิดกันต่อไป

ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตัดสินเลยว่า อัตตามีหรือไม่มี และตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า

- ถ้าตรัสอะไรลงไปจะเป็นการรับรองคำสอนของลัทธิอื่น ข้อนี้ได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีลีลาที่จะไม่พูดถึงคำสอนของลัทธิอื่น เนื่องจากไม่มีประโยชน์แก่พรหมจรรย์ และทำให้เกิดข้อโต้แย้ง

- ถ้าตรัสก็เป็นการแสดงว่ามีทิฐิ ขัดกับที่ตรัสไว้ว่าทิฐินั้นทรงกำจัดเสียแล้ว

- ถ้าทิฐิอันใดก็ดีเป็นการถูกต้องตามความจริง หากตรัสออกไปกลับเป็นโทษกับวัจฉโคตตปริพาชก (พึงระลึกว่าสิ่งใดเป็นจริงแต่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ตรัส)

อย่างไรก็ดีการเอาไปพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พูดว่ามีอัตตาผิดเป็นสัสสตทิฐิและพูดว่าไม่มีอัตตาก็ผิดเพราะเป็นอุจเฉททิฐิ ต้องนับว่าเป็นการ ปั้นผี เพราะว่าท่านไม่ได้ตรัสอย่างนั้น

ในที่สุดวัจฉโคตตปริพาชกก็บวชแล้วเป็นพระอรหันต์ไป


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 5/7/10 at 13:51 Reply With Quote


(Update 5 ก.ค. 53 ตอนที่ 26)


ผลการกล่าวโทษพระอริยะ


โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๖

คนไทยเรามีนิสัยไม่น่าชมอย่างหนึ่งคือชอบว่าเขา (และชอบฟังใครๆเขาว่ากัน) คนธรรมดาว่ากันก็คงจะไม่เป็นไรเท่าไหร่ ใครสุ่มสี่สุ่มห้าไปว่าพระอริยเข้าเป็นเจ็บตัวแน่ ถึงท่านผู้ถูกว่าจะไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ตาม

จาก พยสนสูตร อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต พระไตรปิฏกฉบับบหลวง เล่ม ๒๔ หน้า ๑๖๘

(อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต โกกาลิกสูตร)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อมพรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวโทษพระอริยะภิกษุนั้น จะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส

ความฉิบหาย ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ

- ภิกษุนั้นไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ๑

- เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑

- สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑

- เป็นผู้เข้าใจว่าตนได้บรรลุในสัทธรรมทั้งหลาย ๑

- เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑

- ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑

- ย่อมถูกโรคอย่างหนัก ๑

- ถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่าน ๑

- เป็นผู้หลงใหลกระทำกาละ(ตาย) ๑

- เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง ทุคติ วินิบาต นรก ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวโทษพระอริยะ
ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
(คือเป็นไปไม่ได้)

ถัดจากนั้นเป็นโกกาลิกะสูตร เรื่องมีว่า ภิกษุโกกาลิกะ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคัลลานะ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก”

พระพุทธเจ้าทรงห้ามว่าอย่าพูดอย่างนั้น

“เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”

โกกาลิกะภิกษุก็ยังย้ำอีกถึงวาระที่สาม โกกาลิกะภิกษุได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ เป็นผู้มีพระพุทธพจน์อันข้าพระองค์ฟังเชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า”

แล้วก็ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วก็หลีกไป

ไม่นานตามร่างกายของภิกษุโกกาลิกะก็เกิดตุ่มเท่าเมล็ดพันธ์ผักกาดขึ้นทั่วตัว ตุ่มนั้นโตขึ้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็เท่าเมล็ดถั่วดำ แล้วเท่าเมล็ดพุทรา เมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม เท่าผลมะตูมอ่อน เท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกมีหนองและเลือดไหลออกมา ว่ากันว่าต้องนอนบนใบตองกล้วยเหมือนปลากินยาพิษ

ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหมเข้าไปหา ยืนอยู่กลางอากาศ บอกแก่โกกาลิกะภิกษุว่า

“ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคัลลานะเถิด เพราะพระสารีบุตรและพระโมคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”

โกกาลิกะ “ท่านเป็นใคร...?”

ตุทิปัจเจก “เราเป็นตุทิปัจเจกพรหม”

โกกาลิกะ “พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านเป็นอนาคามีมิใช่หรือ มาทำอะไรที่นี่ละ นี่ผิดใช่ใหม่...?”

ตุทิปัจเจก (กล่าวเป็นคาถา) “ผรุสวาท เพียงดังจอบซึ่งเป็นเครื่องตัดทอนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลที่เป็นบุรุษพาล

ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นเชื่อว่าสะสมโทษไว้ด้วยปาก ย่อมไม่ประสบความสุขเพราะโทษนั้น

การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นพนันด้วยตนเองจนหมดตัวนี้ เป็นโทษมีปริมาณน้อย การที่บุคคลยังใจให้ประทุษร้ายในพระอริยเจ้าผู้ดำเนินดีแล้วนี้เป็นโทษมากกว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันเป็นบาปแล้วติเตียนพระอริยะ ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นหนึ่งแสนนิรัพพุทกัป กับอีก ๓๖ นิรัพพุท และ ๕ อัพพุท”

ต่อมาโกกาลิกะภิกษุก็ตายเพราะโรคนั้น ไปเกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตอนปฐมยาม ท้าวสหัมบดีพรหมไปทูลให้พะพุทธเจ้าทรงทราบแล้วหายตัวไปในที่นั้นเอง

รุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง

ภิกษุทูลถามว่า “อายุในปทุมนรกนานเท่าใด”

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “นานนักยากจะกำหนดได้ว่า กี่ปี ภิกษุ”

ภิกษุ “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์อาจเพื่อที่จะทำการได้หรือพระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อาจอยู่ภิกษุ” แล้วได้ตรัสว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหนึ่งเกวียนเมล็ดงาของชนชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี(๑ ขารี เท่ากับ ๒๔๖ ทะนาน) เมื่อล่วงไปแสนปี บุรุษนำเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งออกจากเกวียนนั้น พึงถึงความสิ้นไป หมดไป โดยทำนองนี้(หมดงา) เร็วกว่านั้นยังไม่ถึงหนึ่งอัพพุทในนรกเลย ดูกรภิกษุ

๒๐ อัพพุท ในนรกเป็น ๑ นิรัพพุท

๒๐ นิรัพพุท -- เป็น ๑ อพพะ

๒๐ อพพะ -- เป็น ๑ อหห

๒๐ อหห -- เป็น ๑ อฏฏ

๒๐ อฏฏ -- เป็น ๑ กุมุท

๒๐ กุมุท -- เป็น ๑ โสคันธิก

๒๐ โสคันธิกะ -- เป็น ๑ อุปปล

๒๐ อุปปล -- เป็น ๑ ปุณฑรีก

๒๐ ปุณฑรีก -- เป็น ๑ ปทุม

ดูกรภิกษุ โกกาลิกะภิกษุเกิดในปทุมนรกเพราะยังจิตให้อาฆาตในสารีบุตรและโมคคัลลานะ แล้วตรัสคาถาประพันธ์อย่างเดียวกับท่าน ตุทิปัจเจกพรหม”

(เรื่องนี้มีแสดงในที่อื่นอีก มีบอกว่า ท่านตุทิปัจเจกพรหมเป็นญาติโกกาลิกะภิกษุ มีจิตเมตตามาสงเคราะห์)

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ของการว่าพระอริยะ(แน่ละจะว่าก็ต้องมีจิตอาฆาตหรือคิดไม่ดีอยู่ก่อน)ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ตกนรกนานหายห่วง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านอัมพปาลีภิกษุณี (เป็นพระอรหันต์) เล่าในประวัติของท่าน ว่าเคยเกิดในสกุลพราหมณ์

(อัมพปาลีเถริยาปทาน ขุททกนิกายอปาทาน พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๓๓ หน้า ๓๐๙)

สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สิกขี เธอมีความโกรธแล้วด่าภิกษุณีองค์หนึ่งที่มีจิตหลุดพ้นแล้วจากกิเลส(เป็นพระอรหันต์)ว่า ท่านเป็นหญิงแพศยา ประพฤติตัวอนาจารประทุษร้ายพุทธศาสนา ตายแล้วไปนรก จากนรกมาเกิดเป็นหญิงแพศยาอยู่หมื่นชาติ ยังไม่พ้นบาปกรรมนั้น

ไม่ใช่แต่ด่าพระอริยะจะตกนรกเท่านั้น การติเตียน ถ้าติเตียนสุ่มสี่สุ่มห้าก็ตกนรกได้เหมือนกัน หรือไม่ก็ให้ผลร้ายอย่างอื่น อย่างใน

ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒๖ หน้า ๒๐๙

ท่านพระมหากัสปถามเปรตตนหนึ่งว่า “มีกลิ่นเน่าและหนอนกินที่ปากเพราะกรรมอะไรไว้”

เปรตตอบว่า “ได้ห้ามปรามภรรยา ธิดา และลูกสะใภ้ฃองกระผม ซึ่งพากันนำพวงมาลา ดอกอุบลและเครื่องลูบไล้อันหาค่ามิได้ไปสู่สถูปเพื่อบูชา บาปนั้นกระผมได้ทำไว้แล้ว จึงได้เสวยทุกขเวทนาเห็นประจักษ์ แล้วจักไหม้อยู่ในนรกอันหยาบช้าทารุณ ๘๖,๐๐๐ ปี เพราะติเตียนการบูชาพระสถูป”

เห็นตัวอย่างจากเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงการที่มีผู้ตำหนิการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปว่าโง่เง่างมงาย กราบเข้าไปได้ กราบอิฐกราบปูน ก็สถูปในเรื่องนี้ถ้าไม่เป็นอิฐเป็นปูนก็คงเป็นดิน ถึงเป็นดินก็บรรจุพระบรมธาตุอันเป็นเครื่องให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส พระพุทธรูปถึงจะเป็นเหล็กเป็นปูนก็เป็นเครื่องให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสเช่นกัน ผู้ติเตียนน่าจะได้รับผลอย่างเดียวกัน

จากการกล่าวโทษพระอริยะเลยเลื่อนเปื้อนมาถึงการตำหนิติเตียนในเครื่องยังความเลื่อมใสให้ผู้อื่น ซึ่งก็เป็นโทษเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านลกุณฏกภัททิยเถระ(พระอรหันต์) ท่านเล่าประวัติของท่านไว้ใน

ลกุณฏกภัททิย เถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๓๓ หน้า ๑๖๕ ว่า

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามตามพระโคตรว่า กัสสป เสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว ประชุมชนเป็นอันมากจะทำสถูปบูชาให้สูงเจ็ดโยชน์ประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ

ครั้งนั้นท่านเป็นจอมทัพของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นกาสีพระนามว่า กิกี ได้พูดให้ลดขนาดลงเหลือโยชน์เดียว ผลของกรรมดี จึงไปเกิดในดาวดึงส์ ในชาติสุดท้ายคือชาตินี้ ได้เกิดในสกุลเศรษฐีมั่งคั่งสมบูรณ์มีทรัพย์มากมายในนครสาวัตถี แต่ว่า

“เพราะกรรม คือการลดประมาณของพระเจดีย์เราได้ทำไว้ เราจึงมีร่างกายต่ำเตี้ย ควรจะเป็นร่างกายกลม” (เตี้ยจนดูกลม)

แม้การติเตียนพระธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นบาปตกนรกได้ อย่างที่ธิดาของท้าวปันชุนนะ ชื่อ โกกนทา มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อเลยปฐมยามที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวันเขตพระนครเวสาลี (ปบฒปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๙ สังยุตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑๕ หน้า ๓๙) ทูลเรื่องพระธรรมของพระพุทธเจ้ามีความตอนหนึ่งว่า

“ชนเหล่าใด เหล่าหนึ่ง มีปัญญาทราม ติเตียนธรรมอันประเสริฐเที่ยวไปอยู่ ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงโรรุวนรกอันร้ายกาจ”

นี่เป็นเรื่องที่เทวดาทูลพระพุทธเจ้า ใครจะไม่เชื่อก็แล้วแต่

คราวนี้มาในด้านความศรัทธาเลื่อมใส

(ขุททกนิกาย อปทาน พระสุตตันตปิฏก ในพระไตรปิฏกฉบับหลวง เป็นเรื่องที่พระอรหันต์ทั้งหลายเล่าประวัติว่าได้ทำกรรมอะไรไว้ ผลจึงทำให้ได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้)

หน้า ๗๐ ปิลินทวัจฉ เถราปทานที่ ๕ ได้ทำการบูชาพระสถูปของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สุเมธ ที่นิพพานแล้วด้วยความเลื่อมใส

หน้า ๑๓๕ สกจิตตนิย เถราปทานที่ ๑ ท่านพระสกจิตตนิยะ เอาไม้ไผ่มาทำเป็นสถูปแล้วโปรยดอกไม้ต่างๆไหว้พระสถูป ดุจถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ตรงหน้า

(นี่ก็เป็นเรื่องของการไหว้ไม้ไผ่ที่ตนทำเอง)

หน้า ๑๖๔ ติปุปผิย เถราปทานที่ ๖ เป็นพรานเห็นไม้แคฝอยอันเขียวสดที่เป็นไม้โพธิของพระพุทธเจ้านามว่า วิปัสสี (เป็นไม้ชนิดเดียวกัน ไม่ใช่ต้นเดียวกัน)ในป่า จึงกวาดใปใม้แห้งไปทิ้งแล้วกราบไหว้ไม้แคฝอย เหมือนดังถวายบังคมพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี

(นี่กราบไหว้ต้นไม้)

หน้า ๑๙๗ คันธปุปผิย เถราปทานที่ ๙ เห็นพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า วิปัสสี เสด็จออกจากพระอาราม ได้บูชาทางที่เสด็จดำเนินด้วยความเลื่อมใส

(นี่ไหว้ถนน)

หน้า ๓๖๔ ตีณิกิงกณิปูชก เถราปทานที่ ๔ เก็บดอกหงอนไก่ ๓ ดอก มาบูชาผ้าบังสุกุลที่แขวนห้อยอยู่บนยอดไม้ด้วยจิตโสมนัสยินดี อปทานนี้มีต่อในเล่ม ๓๓

(นี่ไหว้ผ้าบังสุกุล)

หน้า ๙๖ ปุฬินถูปิย เถราปทานที่ ๘ เป็นฤาษีชื่อนารทะ ไม่มีอะไรเป็นที่เคารพจึงไปที่แม่น้ำชื่อ อเมริกา ตะล่อมทรายมาก่อเป็นเจดีย์ทราย สมมติเป็นพระสถูปของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ปิดทอง ถวายดอกไม้ มาไหว้พระเจดีย์ทรายที่ตนก่อขึ้นเอง ทั้งเย็น ทั้งเช้า เหมือนถวายบังคมอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า

“เราได้บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ก็เพราะได้ก่อพระสถูปทราย เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยกรรมเล็กๆน้อยๆที่ได้ทำไว้แล้ว จึงข้ามพ้นสงสารไปได้”

(ท่านนี้ไหว้ทราย แล้วได้เป็นพระอรหันต์)

ตัวอย่างของจริงที่พระอรหันต์ท่านเล่ามานี้จะเห็นได้ว่า จะไหว้อิฐปูน(พระสถูป) จะไหว้ต้นไม้ก็ดี จะไหว้ถนนหนทางก้ดี ไหว้ผ้าก้ดี ไหว้กองทรายก็ดี เมื่อมีจิตเลื่อมใสกระทำการไหว้กราบเหมือนไหว้กราบพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วก็เป็นผลให้เป็นพระอรหันต์ได้

พวกที่ประฌานการบูชาพระพุทธรูปนั้น พูดเหมือนคนที่ไม่มีปัญญา เพราะเวลากราบไหว้ คนกราบไหว้ก็ระลึกถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กันทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่มีใครกราบลงไปโดยในใจนึกว่าข้าพเจ้าขอกราบไหว้เหล็ก ขอกราบไหว้อิฐ ขอกราบไหว้ปูนกันสักคน

พวกที่กล่าวตำหนิเช่นนี้ หากไม่ถอนคำพูดเสียก็ขอให้ย้อนไปอ่านเรื่องเปรตที่ทำกรรม คือติเตียนการไหว้สถูปนั้นอีกที ส่วนพวกที่กราบไหว้พระพุทธรูป ก็อย่ากราบองค์พระพุทธรูปไปอย่างส่งเดช ควรถือตัวอย่างจากพระอรหันต์เหล่านี้คือ ให้นึกกราบด้วยความเลื่อมใสเหมือน....

พระพุทธเจ้าท่านเสด็จมายืนตรงนั้น


◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 18/8/10 at 13:28 Reply With Quote


(Update18 ส.ค. 53 ตอนที่ 27)



อายุขัย


โดย ก.ษ.ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๕

เราเคยได้ยินคำว่า....อายุขัย เมื่อหมดอายุขัยก็ต้องตาย แต่เรื่องนี้อ่านไม่พบรายละเอียดในพระไตรปิฏก มาพบในธรรมบท พระธัมมปทัฏฐานกตแปล ภาค ๔ ของมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๑๗๖ เรื่อง.... อายุวัฒนกุมาร ที่ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เคยเล่าบ่อยๆ

เรื่องมีว่าพระพุทธเจ้าทรงเล่าที่กุฏิในป่าของ ทีฆสัมพิกนคร ใจความ (เรียบเรียงใหม่)ดังนี้

มีพราหมณ์ ๒ คน ชาวทีฆสัมพิกนครบวชบำเพ็ญตบะอยู่นอกพระพุทธศาสนา คนหนึ่งเกรงประเพณีของชาวตนจะเสื่อมไป ก็เลยสึกออกมาแต่งงานมีลูกคนหนึ่ง
ส่วนเพื่อนได้ไปเสียที่ต่างถิ่น แล้วย้อนกลับมาที่นครนั้นอีก พราหมณ์ที่สึกจึงพาลูกพาเมียไปเยี่ยม ไปถึง ตัวผัวให้เมียอุ้มลูกตัวเองไหว้ก่อน เสร็จแล้วรับลูกมาให้เมียไหว้บ้าง
เวลาสองคนนี้ไหว้ พราหมณ์ผู้ยังบวชก็พูดว่า “ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน”
แต่เมื่อพ่อแม่ให้ลูกไหว้ เพื่อนของตนก็นิ่งเสีย เขาจึงถามว่า เวลาเขากับเมียไหว้ทำไมให้พรว่า ให้เป็นผู้มีอายุยืน เวลาเด็กไหว้ถึงไม่ให้พรอย่างนั้น

เพื่อน “อันตรายอย่างหนึ่งของเด็กนี้มีอยู่”
พราหมณ์ “เด็กจะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าใด...?”
เพื่อน “๗ วัน”
พราหมณ์ “มีวิธีป้องกันไหม...?”

เพื่อน “เราไม่รู้วิธีป้องกัน”
พราหมณ์ “มีใครรู้ไหม...?”
เพื่อน “มีพระสมณโคดม ไปถามที่สำนักของพระสมณโคดมซี”
พราหมณ์ “ไปเดี๋ยวตบะเสื่อมหมด...”
เพื่อน “ถ้ารักลูกก็อย่ากลัวตบะเสื่อมซี...ไปถามเถอะ”

พราหมณ์ก็ไปถึงสำนักของพระพุทธเจ้า พอพราหมณ์ไหว้พระศาสดาตรัสว่า “ท่านจงมีอายุยืน”
เหตุการณ์ปรากฏซ้ำอย่างคราวก่อน คือเด็กไหว้พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น และเมื่อทูลถามก็ทรงบอกกับเขาตรงกัน
พราหมณ์ “มีวิธีป้องกันหรือไม่พระเจ้าข้า...?”
พระศาสดา “มีอยู่”
พราหมณ์ “มีอย่างไร”

พระศาสดา “ทำมณฑปเข้าใกล้ประตูเรือน ทำตั่งไว้กลางมณฑป แล้วปูอาสนะไว้ ๘ หรือ ๑๖ ที่ล้อมตั่งนั้น ให้สาวกของเราล้อมอาสนะเหล่านั้น ทำ(สวด)พระปริตร ๗ วัน อย่าให้มีจังหวะว่าง(ไม่มีระหว่าง)อันตรายของเด็กนั้นจะเสื่อมไป”
พราหมณ์ “มณฑปทำได้ แต่ยังติดขัดเรื่องสาวกของพระองค์”
พระศาสดา “ทำเสร็จแล้วจะส่งสาวกไป”
เมื่อเรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าก็ส่งภิกษุไป พราหมณ์ให้เด็กนอนบนตั่ง ภิกษุสวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืนไม่หยุด ในวันที่ ๗ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเทวดาทั้งหลายในจักรวาลก็ตามเสด็จด้วย

มี... อวรุทยักษ์ ตนหนึ่งรับใช้ท้าว...เวสสุวัณ มา ๑๒ ปี ได้พรจากสำนักท้าวเวสสุวัณว่า “ในวันที่ ๗ จากวันนี้ ท่านพึงจับเอาเด็กนี้”

ยักษ์ตนนั้นก็ไปเฝ้าอยู่ พอวันที่ ๗ เมื่อเทวดาศักดิ์ใหญ่ไปประชุมกัน เทวดาศักดิ์น้อยใหญ่ก็ต้องถอยห่างออกไป ๑๒ โยชน์ ถึงอวรุทยักษ์ก็ถอย ๑๒ โยชน์(เพราะที่ไม่ว่าง)เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าทรงทำพระปริตรตลอดคืนยันรุ่ง เมื่อครบ ๗ วัน อวรุทธยักษ์ก็ยังเอาเด็กไปไม่ได้
รุ่งขึ้นวันที่ ๘ สองผัวเมียนำเด็กมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ขอเจ้าจงมีอายุยืนเถิด”
พราหมณ์ “พระโคดมผู้เจริญก็เด็กจะมีชีวิตอยู่นานเท่าใด”
พระศาสดา “๑๒๐ ปี”
สองผัวเมียจึงตั้งชื่อเด็กนั้นว่า “อายุวัฒนกุมาร”

(ข้อสังเกตุ:- พิธีนี้สมัยนี้คงเรียกกันว่าต่ออายุ พราหมณ์ผู้พ่อก็บังเอิญจริงๆพาลูกไปเยี่ยมเพื่อนจึงได้รู้ว่าลูกมีเคราะห์ร้ายจะตาย ถ้าไม่พาไปก็คงตายเปล่าแล้ว พราหมณ์ผู้ยังบวชก็เก่งจริงๆรู้เสียอีกว่าพระพุทธเจ้าแก้ไขได้ทั้งที่คนละศาสนา และคงจะไม่เคยไปมาหาสู่ด้วย เพราะเกรงตบะจะเสื่อม

และเรื่องการต่ออายุนี้ก็ไม่เคยมีปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเคยทำให้ใครที่ไหนมาก่อน เนื่องจากเกรงเคราะห์ร้ายจะมีมาโดยไม่รู้ตัวนี่กระมัง คนจึงชอบไปดูหมอดูกัน ดีไม่ดีไปเจอะประเภทดูใครคนนั้นก็เคราะห์ร้ายทุกที หมอเลยรวยไป

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือพวกเอาชีวิตคนนี้ โดยปกติก็ต้องเป็นลูกน้องของพระยายมราชที่มักเรียกกันว่ายมทูต แต่ยักษ์อวรุทกนี้เป็นลูกน้องท้าวเวสสุวัณ เป็นเทวดาจาตุมหาราช ซึ่งไม่มีหน้าที่เอาชีวิตมนุษย์

ฉะนั้นก็ต้องสันนิษฐานว่า คงจะมีเวรกันมาก่อน และจังหวะของกุมารกรรมเปิดพอดี ที่จะไปเอาชีวิตก็น่ากลัวจะเอาตัวมาเป็นลูกน้องเสียมากกว่า เรื่องอย่างนี้ทางธรรมไม่ได้กล่าวไว้ ต้องตีความเอาเอง อาจผิดก็ได้ ช่วงเวลาเปิดให้ก็แค่ ๗ วันนี้เท่านั้น เลยไปหมดสิทธิ์

ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า
“ผู้มีคุณทั้งหลาย ดูซิ ข่าวว่าอายุวัฒนกุมารจะต้องตายภายใน ๗ วัน ตอนนี้กลับจะมีอายุตั้ง ๑๒๐ ปี เหตุที่ทำให้อายุยืน(เครื่องเจริญอายุ) ของสัตว์เหล่านี้เห็นจะมี”
พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วตรัสถามถึงเรื่องราวที่พูดกันแล้วทรงอธิบายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ ก็สัตว์เหล่านี้ไหว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่จนอายุขัยทีเดียว” แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

“ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมท่านผู้เจริญเป็นนิตย์”
ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงคำ “อยู่จนตลอดอายุ” นี้ ทำให้นึกว่าอายุของคนคงจะมีความยาวที่แน่นอนอันหนึ่ง

ในคำแก้อรรถ บทว่า “จัตตาโร ธัมมา” แก้ไว้ว่า
“ด้วยว่าผู้ใดทำบุญกุศลที่ยังอายุ ๕๐ ปีให้เป็นไป อันตรายของชีวิตผู้นั้นพึงเกิดขึ้น แม้ในกาลมีอายุ ๒๕ ปี อันตรายนั้นย่อมระงับเสียได้ด้วยความเป็นผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้นั้นย่อมดำรงอยู่ได้จนตลอดอายุทีเดียว แม้วรรณะเป็นต้นของผู้นั้นย่อมเจริญพร้อมกับอายุแล”

คำแก้อรรถนี้ตรงกับที่สันนิษฐานไว้คือคนเราเกิดมาจะมีอายุเท่าใด(เรียกว่าอายุขัย) ก็แล้วแต่ที่ได้ทำบุญทำกุศลไว้ แต่แม้อยู่ไปยังไม่ตลอดครบอายุขัยนั้น ก็อาจจะตายเสียก่อนได้ด้วยกรรมหนักที่ทำไว้มาตัดรอน หลวงพ่อ(พระราชพรหมยาน) เรียกการตายชนิดนี้ว่า “อุปฆาตกรรม” หากแก้ตามวิธีที่ผู้รู้บอกไว้ก็อาจจะไม่ตายผ่อนหนักเป็นเบา อยู่ได้ตลอดอายุ (ขัย) เมื่อครบแล้วยังไงก็อยู่ไม่ได้... ต้องตาย

หลวงพ่อ(พระราชพรหมยาน) เล่าไว้ว่า คนที่ตายโดยไม่ครบอายุขัยนี้ ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเกิดที่ไหน ยังไม่ไปสรรค์ ไม่ไปนรก คงจะเป็นพวกที่เรียกว่า...สัมภเวสี กำลังรอหาที่เกิด และผู้เรียบเรียงสันนิษฐานว่า พวกนี้และที่เรียกกันว่า “ผี”

พวกที่ทำบุญทำงานไว้ ถึงตายไปเป็นสัมภเวสีก็สบายอิ่มหนำสำราญไม่ต้องไปกวนใคร ส่วนพวกไม่ได้ทำทานก็คงจะเป็นสัมภเวสีที่หิวโหย ต้องไปปรากฏตัวบ้าง เข้าสิงคนบ้างขอความช่วยเหลือ หรือร้องจะกินนั้นกินนี่ดีไม่ดีถูกพวกมีอาคมจับไปเลี้ยงไว้ใช้อีก อยู่ครบอายุขัยแล้วจึงไปเกิด (อาจเกิดในนรก) ได้

แต่บทเรียนที่อยากจะชี้คือตรงที่ว่า ถ้ากราบไหว้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์แล้วก็จะพ้นอันตรายชนิดนี้ได้และประกอบด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ

เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้เวลาเราไปคารวะผู้ใหญ่สมัยก่อนๆท่านจึงให้พรว่าขอให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ (เนื่องด้วยความประพฤติกราบไหว้อ่อนน้อมนั้น) แต่ในสมัยนี้เวลาเราจะให้พรใครเราก็มักให้พรอย่างนี้ แม้แต่กับผู้ใหญ่ ซึ่งเขาไม่ได้มากราบไหว้อ่อนน้อมแก่เราอันเป็นเหตุให้มีความเจริญอย่าวนั้น น่ากลัวว่าการให้พรเช่นนั้นจะเป็นการจะเป็นการไม่ถูกเรื่องเสียมากกว่า

อนึ่ง...การที่ผู้ใหญ่ฝึกเด็ก (เด็กไทยสมัยก่อนส่วนมาก)ให้กราบไหว้อ่อนน้อมไว้เสมอก็คงจะได้ความรู้ไปจากเรื่องนี้น่ะเอง เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ไม่ใช่แสดงว่าเกรงกลัวผู้อื่น นอกจากนี้การที่เราแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ใดด้วยความจริงใจก็มักจะเป็นด้วยความเมตตาของเราเองอีกด้วย

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
“เหตุใดจึงทำความเคารพอ่อนน้อมด้วยเมตตาต่อพระองค์เล่า”. ..เป็นต้น
ความเคารพอ่อนน้อมเป็นนิสัยที่ดีมีประโยชน์ของคนชาติไทยแต่ไหนแต่ไรมา แต่ครั้นถึงสมัยประชาธิปไตย คนถูกสอนให้รู้สึกว่าเราเสมอกันหมด “ฉันก็หนึ่งเหมือนกัน” คนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักประโยชน์ จึงมองเห็นการคารวะอ่อนน้อมเป็นการแสดงความด้อยของตัวเอง จึงมักวางผื่งไม่มีการคารวะต่อผู้ใด บางคนถึงกับพูดออกมาว่า

“ไหว้ไปทำไม...?”
“ทำไมต้องไหว้...?”
หารู้ไม่ว่าแสดงความโง่ออกมาอย่างถนัดใจ

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 11/9/10 at 15:53 Reply With Quote


( Update11 ก.ย. 53 ตอนที่ 28 )



พระอรหันต์บางองค์


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๗

พระอรหันต์บางองค์สำเร็จด้วยวิธีแปลกๆ จะขอนำมาเล่าสู่กันฟัง แต่ก่อนจะเล่า ขอตอบปัญหาที่ชอบข้องใจกันว่า คนธรรมดาจะบำเพ็ญจนเป็นพระอรหันต์ได้หรือ...? คือส่วนมากนึกว่าพระภิกษุเท่านั้นจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้

ตัวอย่างคฤหัสน์ที่เป็นพระอรหันต์ก็มีอยู่ อย่างที่ หลวงพ่อ(พระราชพรหมยาน) เล่าบ่อยๆคือ ท่านพาหิยะทารุจีริยะ

ท่านผู้นี้ขอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ฟังคราวเดียวก็เป็นพระอรหันต์ ขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

“มีเครื่องบวชแล้วรึ...? เมื่อไม่มีก็ให้ไปหาเครื่องบวช”

ไม่ทันไร ก็ออกไปถูกวัวขวิดตายเสียก่อนยังไม่ทันจะบวช

(หลวงพ่อพระราชพรหมยานบอกว่า ถ้าไม่บวชก็อยู่ได้ไม่ทันตะวันตกดิน ส่วนมากมักตายเพราะอุบัติเหตุ เพราะร่างกายทรงไม่ได้ ถ้าบวชทันทีก็ไม่เป็นไร )

รายแรก ที่จะนำมาเล่า

ได้แก่ ท่าน...พระโคธิกะ ท่านเบื่อร่างกายขึ้นมาไม่ต้องการละใช้มีดเฉือนคอตายไป พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้หลวงพ่อพระราชพรหมยานเล่าไว้บ่อยแล้ว ไม่นำรายละเอียดมากล่าวอีก เพียงแต่จะอ้างถึงเท่านั้น ท่าน...พระวักกลิ ก็เช่นกัน

รายที่สอง. ..ท่านภเวสี

ในสมัย...สมเด็จพระพุทธกัสสป ซึ่งปรากฏใน...อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต ภเวสิสูตร พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๒๒ หน้า ๒๑๗

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เมื่อเข้าสู่ป่าสาละก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ท่านพระอานนท์จึงทูลถามสาเหตุ เพราะพระตถาคตย่อมไม่ทรงทำการแย้มให้ปรากฏด้วยไม่มีเหตุ

พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าว่าตรงนี้เคยเป็นเมืองมั่งคั่ง คนหนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยทรงอาศัยอาศัยอยู่ในพระนครนั้น

มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ... ภเวสี เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในศีล อุบาสกอื่นอีก ๕๐๐ ที่ ภเวสีอุบาสก ชวนมาก็เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในศีล

ภเวสีอุบาสก มาคิดว่าเราเป็นคนชักชวน เป็นหัวหน้าเขา ศีลของเรากับพวกเหล่านั้นต่างก็ไม่บริบูรณ์ คือเท่าๆกัน เราควรจะทำให้เหนือกว่าเขา

ดังนั้นจึงบอกพรรคพวก...ว่า
“โปรดทราบ ตั้งแต่วันนี้ไปเราจะทำให้บริบูรณ์ในศีลละ”

พรรคพวกก็คิดว่า ก็หัวหน้าทำให้บริบูรณ์ในศีลได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

เข้าไปหาภเวสีอุบาสก...ว่า
“ตั้งแต่วันนี้ก็จะทำให้บริบูรณ์ในศีลเหมือนกัน”

ภเวสี..เห็นว่าเท่ากันอีกแล้ว ต้องให้เหนือขึ้นไปอีก บอกพรรคพวกว่า
“ตั้งแต่วันนี้ จะประพฤติพรหมจรรย์ เว้นไกลจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้านละ”

พรรคพวกมาคิดว่า พวกเราทำไมจะทำไม่ได้ล่ะ
ไปบอกภเวสีอุบาสกว่า จะประพฤติพรหมจรรย์บ้าง

ภเวสี...ต้องการทำให้เหนือขึ้นไปอีกบอกว่า
“ทีนี้จะกินอาหารมื้อเดียวไม่กินเวลากลางคืน”

พรรคพวกเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า หัวหน้าทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ ไป
บอกภเวสีว่า จะกินอาหารมื้อเดียวเหมือนกัน

ภเวสี...ทำเหนือขึ้นไปอีก ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทูลขอบวช บวชแล้วหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียวไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดียว ไม่นานก็เป็นพระอรหันต์

พรรคพวกมาคิดกันว่า ภเวสีอุบาสกบวชได้ ทำไมเราจะบวชไม่ได้ล่ะ เลยมาขอบวชกันทั้ง ๕๐๐ คน แล้วไม่นานก็เป็นพระอรหันต์หมด ๕๐๐ องค์

เรื่องนี้ก็ขำดีปฏิบัติไล่กวดกันจนเป็นพระอรหันต์ แต่พระพุทธเจ้า ประทานหลักว่า นี่เป็นเรื่องของการบำเพ็ญธรรมให้สูงๆขึ้นไป ประณีตขึ้นไป

“ดูกร อานนท์ เพราะฉะนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราทั้งหลายจักพยายามบำเพ็ญธรรมที่สูงๆขึ้นไป ประณีตขึ้นไป จักทำให้แจ้งซึ่งวิมุติอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยม

ดูกร อานนท์ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”

รายสุดท้าย.... พระโปฐิลเถระ
จาก พระธัมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๗ หน้า ๑๑๒ ความว่า

พระโปฐิละซึ่งเป็นซึ่งเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์

(หมายเหตุ..น่าจะเป็นสำนวนแสดงว่ารู้มากจริงๆ เพราะพระไตรปิฏกของพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ก็เหมือนกันหมด เนื่องจากตรัสรู้อย่างเดียวกัน ยกเว้นในรายละเอียดของแต่ละพระองค์) บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป

พระพุทธเจ้าทรงดำริภิกษุนี้ไม่มีความคิดว่าจะสลัดทุกข์ออกจากตน เห็นจะต้องจัดการให้สังเวชตัวเอง ตั้งแต่นั้นมา เวลาพระเถระผู้นี้มา ท่านก็ตรัสว่า

“มาเถิดคุณใบลานเปล่า นั่งเถิดคุณใบลานเปล่า ไปเถิดคุณใบลานเปล่า”

เวลาที่ท่านผู้นี้ลุกไป ก็ตรัสว่า
“คุณใบลานเปล่าไปแล้ว”

พระโปฐิละก็มาคิดว่า เราทรงพระไตรปิฏกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่พระภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ พระศาสดายังตรัสเรียกเราบ่อยๆว่า... “คุณใบลานเปล่า”

ที่เป็นอย่างนี้เห็นจะเป็นด้วยความที่เราไม่มีคุณวิเศษไม่มีฌานเป็นต้นอย่างแน่แท้ เกิดความสังเวช คิดว่าจะต้องเข้าป่าทำสมณธรรมละ แล้วจัดแจงบาตรและจีวรด้วยตนเอง ไปถึง ๒,๐๐๐ โยชน์ ก็ไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ในอาวาสที่ราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้วกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม”

พระสังฆเถระ “ท่านเป็นพระธรรมกถึก เราได้รู้อะไรๆมาก็เพราะอาศัยท่านนี้แหละ ทำไมท่านมาพูดอย่างนี้...?”

พระโปฐิละ “ท่านผู้เจริญขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึงของกระผม”

พระเถระเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์มีความคิดว่า “ภิกษุผู้นี้มีมานะเพราะอาศัยการเรียนแท้ๆ” (มานะว่ารู้ตำรามาก)

จึงบอกให้โปฐิละไปยังสำนัก พระอนุเถระ พระอนุเถระพูดอย่างเดียวกันอีก ส่งพระโปฐิละไปสำนักสามเณรอายุ ๗ ขวบบวชใหม่กว่าใครทั้งหมดซึ่งนั่งเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน

พระโปฐิละหมดความถือตัวแล้วจึงลงนั่งไหว้สามเณรกล่าว่า “ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม”

สามเณร “ตายจริงท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นคนแก่เป็นพหูสูตร ผมซีควรไปเรียนในสำนักท่าน”

พระโปฐิละ “ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้”

สามเณร “ถ้าท่านจะเป็นผู้อดทนต่อโอวาทของผมได้ ผมก็จะเป็นที่พึ่งของท่าน”

พระโปฐิละ “ผมเป็นได้ ถ้าบอกว่าให้เดินเข้าไปในกองไฟ ก็จะเข้าทีเดียว”

สามเณรพาไปที่สระน้ำในที่ไม่ไกลนัก สั่งท่านโปฐิละลงสระ ทั้งยังนุ่งห่มอย่างนั้นโดยรู้ว่าจีวรนั้น ๒ ชั้นราคาแพง เพื่อเป็นการทดลอง

พระเถระได้ฟังสั่งครั้งเดียวก็ลงไปเลย พอชายจีวรเปียกสามเณรก็เรียกให้ขึ้นมา กล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ...ในจอมปลวกแห่งหนึ่งมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ในช่องเหล่านั้นเหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆหนึ่ง บุคคลผู้ประสงค์จะจับมันจึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้วจึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง บรรดาทวารทั้ง ๖ แม้ท่านจงปิดทวาร ๕ ที่เหลืออย่างนั้นแล้ว จงเริ่มต้นกรรมไว้ที่มโนทวาร” (คือปิดทวารอื่นให้หมด ใช้ใจตั้งกรรมฐาน)

พูดเท่านี้ความแจ่มแจ้งก็เกิดแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตร กล่าวว่า “ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละ พอละ”

แล้วจึงหยั่งญาณลงในกรชกาย ปรารภสมณธรรม ในที่สุดก็เป็นพระอรหันต์

สรุปแล้วอาจารย์ใหญ่ผู้คล่องตำรากลับเป็นพระอรหันต์ได้เพราะสามเณร

ความสำคัญคงจะอยู่ที่ละความถือตัว ยอมฟังผู้อื่นปัญญาก็เกิด

แต่ที่ยกมาเล่านี้ จุดประสงค์จริงๆอยู่ที่คำเดียวคือคำว่า... “ใบลาน”

พระพุทธเจ้าทรงเรียกท่านโปฐิละว่า “ท่านใบลานเปล่า” ก็แสดงว่าพระไตรปิฏกนั้นจารึกอยู่บนใบลาน แต่เมื่อไม่ได้นำเอามาปฏิบัติเลยก็เท่ากับว่าใบลานนั้นไม่มีตัวหนังสือนั่นเองเป็นใบลานเปล่าๆ

ข้อนี้แสดงว่าสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ก็มีการจารึกพระไตรปิฏกลงใบลานอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าไม่ใช่ต้องการจารึกไว้เป็นหลักฐาน หากจารึกเพื่อเอาไปไว้ท่องจำตามที่พระพุทธเจ้าทรงกำชับ คือต้องคล่องปากขึ้นใจ

ลองคิดดูว่าพระหลายหมื่นองค์จะรับเอาพระธรรมไปท่องจำได้อย่างไรให้ถูกต้องเหมือนกัน? ที่จะมานั่งต่อทีละคนนั้นไม่มีทาง ทางเดียวที่เป็นไปได้คือคัดลอก(ลงใบลาน)ไปท่องกัน

สมัยนั้นมีหนังสือใช้แล้วไม่ใช่ไม่มี เพราะในพระวินัยบ่ง(อนาปติวาร)ว่า เรียนหนังสือหนึ่ง เรียนวิชาป้องกันตัวหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

ในเมื่อมีการคัดลอกไปท่องจำกันเช่นนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่าเวลาทำสังคายนาความถูกต้องก็คงจะมีอยู่เป็นส่วนมาก ไม่ใช่มาแต่งเอาในภายหลังอย่างที่บางคนว่า

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/9/10 at 10:40 Reply With Quote


(Update 27 ก.ย. 53 ตอนที่ 29)



สมถะ – วิปัสสนา


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๗

ผู้เขียนไม่ได้เก่งสมถะ ไม่ได้เก่งวิปัสสนา แต่เก่งในทางรำคาญ รำคาญอะไร?

รำคาญผู้ไม่รู้ แล้วนึกว่ารู้
ไม่รู้แล้วนึกว่ารู้อย่างไร?

ตรงนี้ตอบยาก จะต้องเข้าจุดไปเลย คือรำคาญพวกวิปัสสนา ที่ชอบพูดว่าสมถะเป็นเรื่องไม่ถูกทาง ไม่ใช่ทางตรง
วิปัสสนาถึงจะเป็นทางตรงสำหรับหลุดพ้น
เพราะสมถะนั้นไม่ใช่เครื่องขักเกลากิเลส ต้องวิปัสสนาถึงจะขัดเกลากิเลส

พูดอย่างนั้นไม่ถูกหรือ?
พูดว่าสมถะไม่ใช่เรื่องขัดเกลากิเลส วิปัสสนาขัดเกลากิเลสน่ะถูก

แล้วอะไรที่ไม่ถูก?
ไม่ถูกที่ว่าไม่ต้องทำสมถะ จะทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว ข้อนี้แสดงว่าไม่รู้จริงเพราะตามพระไตรปิฏกท่านว่าไว้อีกอย่างหนึ่ง

ไปเจอะเข้าก็อยากเอามาเสนอให้ท่านวิปัสสนาล้วนๆ (ที่ดูถูกสมถะเลยไม่ปฏิบัติ) ได้ทราบไว้เป็นการสงเคราะห์กันในทางธรรม ไม่ใช่อวดเก่งว่าข้ารู้

จะพูดกันก็ต้องวางหลักกันก่อน ว่าสมถะได้แก่อะไร? จำกัดความรวมกันไปเลยว่าได้แก่สมาธิต่างๆ ไปถึงฌานต่างๆ

เรื่องที่ว่าฌานไม่ใช่เครื่องขัดเกลานี้มีใน เล่ม ๑๖ หน้า ๖๐
“แต่ปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริย เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ”

และตรัสอย่างเดียวกันถึง ทุติยฌาน ไปจนถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

ผู้ที่รู้แค่นี้แล้วเอาไปเป็นบรรทัดฐานทำแต่วิปัสสนาไม่ทำสมถะเสียเลย อย่าเพิ่งนึกว่าทำถูกแล้ว ยังมีตอนอื่นๆอีกมากที่จะต้องเอามาพิจารณาประกอบ

ข้อแรก ดูอริยสัจ ๔ ก่อน ทางที่จะพ้นทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

ใน เล่ม ๑๔ หน้า ๓๔๔ บ่งว่า “สัมมาสมาธิ”ได้แก่การสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน....จตุตถฌานอยู่

และใน เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๔ กล่าวถึง สัมมาทิฏฐิ เป็นประธาน กล่าวคือ

มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้
มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา จึงพอเหมาะได้
ฯลฯ

มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จึงพอเหมาะได้
แสดงว่าเริ่มข้อ ๑ สัมมาทิฏฐิ เพื่อบรรลุข้อ ๘ คือ สัมมาสมาธิ นี่เป็นสมถะใช่หรือไม่?

ในเมื่อทางให้พ้นทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าท่านบ่งออกมาเป็นสมถะแล้ว พวกวิปัสสนาล้วนๆที่พูดว่าสมถะเป็นทางอ้อม ท่านจะโปรดว่ากระไร?

ท่านจะกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนทางอ้อมหรือ?

ในเมื่อการเข้าฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ เป็นทางให้พ้นทุกข์ และในเมื่อตรัสไว้ด้วยว่า ฌานไม่เป็นเครื่องขัดเกลา คือไม่กำจัดกิเลส ข้อความทั้งสองนี้ก็ขัดกันละซี?

ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะ พระธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อตรัสแล้วย่อมเป็นความจริง ย่อมเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องแปลว่าตัวเรานั้นแหละไม่รู้จริง แทงไม่ตลอดเสียมากกว่า

ดูกันต่อไป เล่ม ๑๓ หน้า ๑๔ อัฏฐกนาครสูตร กับ
เล่ม ๒๔ หน้า ๓๖๑ ทสมสูตร

เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ทสมคฤหบดีชาวเมืองอัฆฐกไปหาท่านพระอานนท์ ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี ถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสธรรมอย่างเอก อันเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็นที่ถึงความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่หมดสิ้นฯลฯไว้มีหรือ

ท่านพระอานนท์ตอบว่ามีอยู่
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ ...ไปจนถึงจตุตถฌาน...ฯลฯ”

นี่ก็รับกันกับ สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘
เขยิบขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
เล่ม ๒๐ หน้า ๖๙

“ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉนคือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต

จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้”
บุคคลไม่ละราคะก่อน(ผลจากสมถะ) แล้วจะกระโดดไปละอวิชชานั้น ได้หรือ

เล่ม ๑๔ หน้า ๔๕๐
“เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรค อันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามี สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ ถึงความบริบูรณ์

บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสอง คือ สมถและวิปัสสนาคู่เคียงกันไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง”

เล่ม ๓๑ หน้า ๑๔
ตรัสถึง “สภาพที่ไม่ฟุ้งซ่านแห่งสมถะ สภาพที่พิจารณาเห็นแห่งวิปัสสนา สภาพที่มีกิจเสมอกันแห่งสมถะและวิปัสสนา”

เล่ม ๓๑ หน้า ๓๗๙
“สมถะเป็นธรรมเพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน วิปัสนนาเป็นธรรมเพราะอรรถว่าพิจารณาเห็น สมถวิปัสสนาเป็นธรรมเพราะอรรถว่ามีกิจเป็นอันเดียวกัน”

ถ้าผู้ใดสามารถพิจารณา(วิปัสสนา)ได้สำเร็จด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านได้(ไม่ใช้สมถะ)ก็ให้รู้กันไป

เล่ม ๒๐ หน้า ๑๑๒
“เพื่อรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งราคะ จึงควรอบรมสมถะ ๑ วิปัสสนา ๑”

เล่ม ๓๑ หน้า ๑๓-๑๔
“ญาณย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสมาธินั้น อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วยญาณนั้นสมถะมีก่อน ญาณมีภายหลังด้วยประการดังนี้ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมีได้ด้วยญาณนั้น

เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการตัดอาสวะขาด เพราะความบริสุทธิ์แห่งสมาธิอันเป็นเหตุไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอานันตริกสมาธิญาณ”

บางคนยกคำ “หลุดพ้นด้วยปัญญาอย่างเดียว” มาแสดงโดยเข้าใจว่าไม่ต้องทำสมถะก็ได้ ขอให้ผู้นั้นไปดูใน

เล่ม ๒๓ หน้า ๔๑๕
จะพบคำว่า “หลุดพ้นด้วยปัญญา” นั้นได้แก่บรรลุปฐมฌาน และย่อมทราบชัดด้วยปัญญา(ต่อด้วยทุติยฌาน ไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ) แสดงว่าใช้ฌาน(สมถะ)เหมือนกัน

อันที่จริงแล้วในเรื่องดังกล่าว ท่านผู้นั้นถูกถามในหัวข้อของอภิญญา ๖ เช่นถามว่ามีอิทธิวิธีหรือ ฯลฯ ซักไปจนผู้ตอบ ตอบว่าหลุดพ้นด้วยปัญญาอย่างเดียว ซึ่งอย่างน้อยก็ประกอบด้วยฌานอันเป็นสมถะนั่นแหละ ไม่ใช่วิปัสสนาล้วน

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๔๓
พระเจ้ามหานามะ ทูลถามว่า ตัวท่านทรงทราบอยู่ดีว่าต้องละ ราคะ โทสะ โมหะ แต่เหตุใดจึงยังวียนมาในกาม(ตัดไม่ได้)

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า หากยังไม่บรรลุปิติและสุข จะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๔๔
ปรากฏว่า ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือวิตก, วิจาร, ปิติ, สุข, เอกัคคตา

นี่ก็ตรงกับที่นำมาแสดงแล้วทั้งหมดว่าถ้าหากไม่ทำสมถะก่อนแล้ว วิปัสสนาก็ทำไม่สำเร็จ ถึงแม้สมถะจะไม่เป็นตัวกำจัดกิเลสโดยตรง แต่ก็เป็นเครื่องอบรมจิตให้ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ

ขอยกตัวอย่างสรุปจาก เล่ม ๑๓ หน้า ๑๔๐ มหามาลุงโกยวาทสูตร
“ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน

ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้....บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปิติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ภายในสมาบัตินั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญมิใช่ตัวตน

เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้วย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่าธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

ดังนี้เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมเป็นโอปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ฯลฯ”

(ต่อไปตรัสอย่างเดียวกันสำหรับฌานขั้นสูงขึ้นไป)
นี่ก็แสดงว่าทำสมถะก่อน แล้วจึงทำวิปัสสนาในสมถะนั้นอีกทีหนึ่ง ฌานยิ่งสูงขึ้นก็ประณีตขึ้น พิจารณาละเอียดขึ้น (กระมัง?)

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๕๖
ธรรมทินนาภิกษุณี ตอบคำถามของวิสาขาอุบาสิกาใจความว่า

“ย่อมละราคะด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในปฐมมฌานนั้น” และ
“ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌาน อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตถฌานนั้น”

คำว่าย่อมละนี้น่าจะหมายถึงสงบระงับไม่ปรากฏ ไม่ใช่หมายว่าหมดไปอย่างถาวร
หากไม่เป็นเช่นนั้น(ฌานสูงขึ้น พิจารณาได้ละเอียดขึ้น) แค่ปฐมฌานอย่างเดียวก็คงพอ แต่ก็ปรากฏในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ทรงให้ทำถึงฌาน ๔

ต่อจากฌาน ๔ (เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๔) จึงมีอีกว่า
เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้(อย่าลืมเรื่องสมถะเกิดก่อน ญาณเกิดที่หลัง) เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุติจึงพอเหมาะได้

“ด้วยประการนี้แหละ พระเสขะประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วย องค์๑๐”

สรุป
๑. ผู้หวังหลุดพ้นต้องทำสมถะก่อนเพื่ออบรมจิต และขณะที่จิตอยู่ในฌานนั้นๆก็ใช้วิปัสสนาพิจารณา พระไตรลักษณ์จิตจึงจะหลุดพ้นได้

๒. บทความนี้
๒.๑ เพื่อชี้แก่ผู้วิปัสสนาแท้(รังเกียจสมถะ) ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น หากไม่ทำสมถะ ญาณก็ไม่เกิด ตัดกิเลสไม่ได้

๒.๒ เพื่อให้ผู้ถูกถาม (หรือถูกประณามจากท่านวิปัสสนาล้วน) สามารถชี้แจ้งสงเคราะห์ผู้มีความสงสัยได้
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๗

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/11/10 at 13:11 Reply With Quote


(Update 3 พ.ย. 53 ตอนที่ 30)



ปัญหาการทำแท้ง


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๖

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า จะให้มีกฎหมายทำแท้ง มีเสียงค้านกันไปค้านกันมาแล้วรู้สึกว่าเรื่องยังคาราคาซังกันอยู่
ข้อใหญ่ใจความคงจะเถียงกันที่ว่า การทำแท้งเป็นการฆ่าหรือไม่?
ข้อสงสัยข้อนี้มีมูลมาจากที่ไม่รู้กันว่า เด็กในครรภ์มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
บางคนก็อาจจะถือว่าคลอดออกมาร้องแว้ๆ ได้แล้วจึงจะถือว่ามีชืวิต
บางคนอาจจะถือว่าเด็กอาจจะมีชีวิตแล้วตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่ก็ไม่รู้ว่าเริ่มมีชีวิตเอาตอนไหนกันแน่

ความจริงเรื่องนี้มี หลักฐานให้ค้นได้ในพระไตรปิฏก จะขอยกมาแสดงดังต่อไปนี้
จากพระวินัยปิฏก ฉบับหลวง เล่ม ๑ หน้า ๓๗๗ มหาวิภังค์ ปฐมภาค ตติยปาราชิกกัณฑ์ วินีตวัตถุ เรื่องให้รีด

ก็โดยสมัยนั้นแล หญิงมีครรภ์คนหนึ่งได้บอกกับภิกษุผู้อุลุปกะว่า
“นิมนต์เถิดเจ้าข้า ท่านจงรู้เภสัชที่ทำให้ครรภ์ตก”
ภิกษุนั้นบอกว่า “น้องหญิง ถ้าเช่นนั้นท่านจงรีด”
นางจึงได้รีดครรภ์ตกไป เธอมีความรังเกียจว่าเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมั้งหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว”

พระปฐมบัญญัติ เรื่องการฆ่ามีดังนี้ (หน้า ๓๔๔ เล่มเดียวกัน)
“อนึ่งภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

คำว่า “กายมนุษย์” มีแสดงในสิกขาบทวิภังค์ (หน้า ๓๔๘ เล่มเดียวกัน) ดังนี้
“ที่ชื่อว่ากายมนุษย์นั้น ได้แก่จิตแรกเกิด คือมีปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงการเป็นที่ตาย อัตภาพระหว่างนี้ชื่อว่า กายมนุษย์”

ตามเรื่องข้างบนนี้สรุปว่า ภิกษุนั้นให้ยาสำหรับให้แท้งแก่หญิงผู้นั้นไป เป็นการพรากกายมนุษย์จากชีวิต เลยเป็นอาบัติปาราชิกไป
แต่เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่ามีครรภ์กี่เดือนแล้ว ประเดี๋ยวจะเกิดแย้งขึ้นมาว่า เอาละเป็นอันว่าเด็กในครรภ์ถือว่ามีชีวิต คือมีเมื่อจิตลงมาเกิดทำให้เกิดเป็นวิญญาณขึ้นนั้นน่ะ อาจจะลงมาเมื่อเด็กในครรภ์นั้นมีอายุหลายเดือนแล้วก็ได้

เรื่องจิตลงมาเกิดแล้วทำให้เกิดเป็นวิญญาณนี้ มีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งใน
พระวินัยปิฏก เล่ม ๔ หน้า ๑๘๑ มหาวรรคภาค ๑ มหาขันธกะ นับอายุ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละ เป็นความเกิดของสัตว์นั้น”

ตรงนี้ควรจะจำกันไว้ให้มั่นๆว่าจิตเป็นตัวลงสู่ครรภ์ ลงมาแล้วจึงเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณวิญญาณนี้ถือเป็นการเริ่มของชีวิต ฉะนั้นถ้าคิดถึงเวลาตายก็คงเป็นกรรมวิธีกลับกัน คือวิญญาณดับไป จิตก็ไปเกิดในคติที่สมควรแก่กรรมไว้ต่อไป

เรื่องที่จิตมาเกิดยังดูได้จากที่อื่นอีก เช่น ในพระสุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์เล่ม ๑๒ หน้า ๓๙๘ มหาตัณหาสังขยสูตร ตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี”

คำว่าทารกที่จะมาเกิด ก็แปลว่ายังไม่ได้เกิด แต่เป็นผู้ที่จะลงมาเกิด ต้องพร้อมอยู่แล้วการเกิดจริงๆจึงจะมีได้ในพระสุตตันตปิฏก อังคุตรนิกายติกนิบาตร เล่ม ๒๐ หน้า ๒๐๐ ภยสูตร

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะถือมั่นธาตุ ๖ สัตว์จึงลงสู่ครรภ์ เมื่อมีการลงสู่ครรภ์จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ”
ตรงนี้ต้องระลึกว่า จิต หรือสัตว์ หรือทารก ลงสู่ครรภ์แล้วนามรูปจึงเกิดทีหลัง
เล่ม ๑๕ หน้า ๒๘๖

“รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้นมีผม ขน เล็บ เป็นต้น
มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดาก็ยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น”
ตรงนี้ได้ความอีกว่า ที่ว่าจิตมาเกิดจึงทำให้มีนามรูปนั้น พูดกันเฉพาะแต่รูปก็นับแต่เป็นกลละ ผ่านมาอีกหลายขั้นจึงจะมีหัวและแขนขาเกิดขึ้น

อีกแห่งหนึ่งเก็บจากชาดก เล่ม ๒๐ หน้า ๕๕ พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกายชาดก โสณนันทชาดก
“เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้นมารดาจึงแพ้ท้อง”
ทั้งหมดนี้ย่อมยืนยันได้ว่า เด็กในครรภ์นั้นมีชีวิตตั้งแต่แรก คือตั้งแต่แขนขาและหัวยังไม่งอก ตั้งแต่ก่อนแพ้ท้องทีเดียว
สรุปแล้วการทำแท้ง เป็นการทำชีวิตให้ตกล่วงไปอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดีจะนำเอาไปใช้กับการออกกฎหมาย โดยอ้างว่าเป็นการผิดหลักพระพุทธศาสนานั้น ถึงแม้จะเป็นความคิดที่ดีก็ไม่แน่ว่าเป็นการเหมาะแก่สังคมหรือการปกครอง
เพราะในด้านสังคมนั้นในปัจจุบันเรามีโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการพรากชีวิตแต่ถูกกฎหมาย เรามีการอนุญาตให้ตั้งโรงฆ่าสัตว์ นั่นเป็นการฆ่าการเบียดเบียนสัตว์แต่ถูกกฎหมาย หากเอาศาสนาเป็นหลักแท้ๆก็จะต้องเลิกไปเสีย

ความจริงพระพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้มุ่งพระนิพพาน สละหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองหรือสังคมเลย แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วท่านก็ไม่ได้กลับเข้าปราสาทราชวัง สละทางโลกไปเลย บิณฑบาตอาหารชาวบ้านไป แทนที่จะอยู่แต่ในวังเสวยพระกระยาหารดีๆ

ข้อที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่บ้านเมืองเขาดำเนินอยู่นั้น หากดูจากดิรัจฉานกถา คือเรื่องที่พระโดยปกติท่านไม่พูดถึงกันก็จะเห็นได้ชัด
พระวินัยปิฏก เล่ม ๒ หน้า ๗๒๗ มหาวิภังค์ ทุติยภาค รตนวรรค สิกขาบทที่ ๓ เรื่อง พระฉัพพัคคีย์

กล่าวถึงพระฉัพพัคคีย์เข้าไปในบ้านในเวลาวิกาล นั่งในที่ชุมนุมชน กล่าวถึงดิรัจฉานคาถา “มีเรื่องต่างๆคือเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องขุนพล เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ”

ผู้คนได้ยินเข้าเลยติเตียนต่างๆ พระพุทธเจ้าเรียกมาถามว่า ไปคุยดิรัจฉานคาถาในที่ชุมนุมชนในบ้านยามวิกาลหรือ
รับว่าใช่ จึงทรงพระบัญญัติว่า
“อนึ่ง ภิกษุใดเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาลเป็นปาจิตตีย์”
อันนี้ต้องเข้าใจให้ดีว่าคงจะทรงหมายถึง เข้าไปคุยโอ่ตามบ้านเวลากลางคืน คงไม่ใช่ไปในกรณีอื่นไม่ได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นพระก็รับนิมนต์ไปสวดพระอภิธรรมศพที่ตั้งที่บ่านไม่ได้กันละ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรสำเหนียกไว้ ๕ ข้อ
๑. การปกครองบ้านเมืองเป็นคนละเรื่องกับพระพุทธศาสนาซึ่งมุ่งพระนิพพาน อย่าเอามาเกี่ยวกัน เพราะใช้ด้วยกันไม่ได้ทุกกรณีไป จะพูดว่าพระพุทธศาสนาไม่เกื้อกูลแก่สังคมนั้น พูดไม่ได้ และพูดไม่ถูก เพราะพระพุทธศาสนาทำให้คนเป็นคนดีอยู่แล้ว เมื่อคนดีสังคมก็ดีตาม แค่รักษาศีล ๕ อย่างเดียวก้ช่วยสังคมโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จะไม่มีการฆ่ากัน ขโมยกัน อย่างทุกวันนี้

๒. การไปเอาพระมาทำโน่นทำนี่เพื่อ “ความเจริญ” ของสังคมและเศรษฐกิจนั้น น่าจะเป็นการรังแกพระท่านเปล่าๆ เพราะแม้แต่พูดท่านก็ยังไม่ค่อยพูดกันเลย ท่านพูดแต่ธรรมะ

๓. ดิรัจฉานกถา ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการหลุดพ้นเข้านิพพาน ไม่ใช่เรื่องที่ทรงบัญญัติว่าพระพูดแล้วต้องอาบัติ ต้องขอเน้นไว้ตรงนี้เดี๋ยวจะไปได้ยินพระพูดเข้า แล้วไปหาว่าท่านอาบัติ

๔. เวลาคนตายวิญญาณดับ จิตไม่ดับ ไปเกิดอีกตามกรรมที่ทำไว้ ถ้าจิตไม่ไปเกิดก็ตรงกับนิพพาน ท่านจึงกล่าวว่า “นิพพานที่ไม่เกิด”

๕. เด็กๆสมัยปลุกระดม(อาจจะมีบ้างในสมัยนี้) กล่าวว่าเขาเกิดมาเพราะความสนุกของพ่อแม่ต่างหาก คล้ายกับว่า นั้นเป็นความผิดของพ่อแม่เขาจึงเกิดมา ดังนั้นก็ไม่เห็นเป็นเรื่องที่ต้องมีบุญคุณอะไรกัน

ดูตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้ว เด็กนั่นแหละเป็นตัวการที่ทำให้เกิดตั้งครรภ์ เพราะถ้าเด็กไม่ตั้งใจมาเกิด คือ สัตว์ที่จะมาเกิดไม่ปรากฏ การตั้งครรภ์ก็มีไม่ได้

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๖

◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/11/10 at 15:29 Reply With Quote


(Update 17 พ.ย. 53 ตอนที่ 31)



พระปัจฉิมวาจา


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๓

พระปัจฉิมวาจาพระพุทธเจ้ามีปรากฏอยู่ ๒ แห่งที่ไม่ตรงกัน

แห่งแรก ในพระไตรปิฏก(ฉบับหลวง) เล่ม ๑๐ หน้า ๑๔๘ มหาปรินิพพานสูตร



“ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต
นักศึกษาผู้หนึ่งตีความว่าเนื่องจากภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่ฟังอยู่นั้นอย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นจึง แปลว่าหากประมาทแล้วก็ย่อมเสื่อมได้ คือพระอรหันต์ก็เสื่อมได้ พระโสดาบันก็เสื่อมได้

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเพราะว่า
๑. พระวาจาของพระพุทธเจ้าแม้ตรัสกับพระสาวก ก็ย่อมทรงตั้งพระทัยให้เป็นที่เปิดเผยแก่คนทั่วๆไป เช่นดังพระธรรมอื่นๆ

๒. ถ้าหากเสื่อมได้ พระวาจาของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นจริง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) เนื่องจากตรัสไว้ว่า ผู้ที่เป็นโสดาบันแล้ว ไม่เสื่อม ไม่ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ว่าผู้ที่เป็นโสดาบันแล้ว อย่างมากเกิดอีก ๗ ชาติก็นิพพาน พระสกิทาคามี ๑ ชาติ พระอนาคามีไม่ลงมาเกิด นิพพานในภพนั้น

หรืออย่างใน เล่ม ๑๕ หน้า ๑๖ อรณสูตร ที่ ๑๑
“พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม”
นี่เป็นเรื่องของ ฐานะ-อฐานะ คือความจริงปรากฏอยู่ดังนี้

แห่งที่ ๒ ปรากฏใน เล่ม ๑๕ หน้า ๒๒๐ ปรินิพพานสูตร



“ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอาเถิดบัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ดังนี้ เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต

เปรียบทียบจาก ๒ แห่ง จะเห็นได้ว่า แห่งแรกเป็นความลอย เป็นเหตุให้ตีความไปต่างๆและมีปัญหาว่า การทำความประมาทให้ถึงพร้อมนั้นคือทำอย่างไร พระพุทธวิสัยนั้นคำที่มีความกำกวมจะไม่ตรัส

ส่วน แห่งที่ ๒ ได้ความสมบรูณ์ว่า ให้ทำกิจทั้งปวงเสียให้เสร็จด้วยความไม่ประมาท เพราะสังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา(เดี๋ยวจะตายเสียก่อน)
กิจของท่านที่ยังไม่จบกิจ คือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็คือทำตัวให้จบกิจ
กิจของท่านที่จบแล้วก็คือยังภิกษุอื่นที่ยังไม่จบกิจ อุบาสก อุบาสิกา ให้จบกิจ

ดังนี้เห็นได้ว่ามีความสมบูรณ์ดี ตีความได้ทางเดียว น่าจะมีความถูกต้องมากกว่า

อนึ่ง พระวาจานี้ก็ลงกันกับใน เล่ม ๑๖ หน้า ๒๘ ทสพลสูตรที่ ๒ ดังนี้
“เพราะเหตุนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง

เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า บรรพชาของเราทั้งหลายนี้จักไม่ต่ำทราม ไม่เป็นหมั่น มีผล มีกำไร พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ของชนเหล่าใด สักการะเหล่านั้นของชนเหล่านั้นจักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลายดังนี้

ภิกษุทั้งหลายอันบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ตน สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถีงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ผู้อื่น สมควรแท้เพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็หรือว่าผู้มองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สมควรแท้จริงเพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทดังนี้”

หากเราพิจารณาว่า พระปัจฉิมวาจาก็คือการตรัสคำสอนนี้โดยย่อ เป็นการสรุปก็น่าจะไม่ผิด

ทีนี้จะรวบรวมพระธรรมที่เกี่ยวกับความไม่ประมาทมาไว้ให้ทราบ

เล่ม ๑๙ หน้า ๖๗ ตถาคตสูตรที่ ๑

“กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘”

ในตถาคตสูตรที่ ๓ (หน้า ๖๘)
ทรงแสดงว่า ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาสมาธิอันหยั่งลงสู่อมตะ.........มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๘ ปติฏฐิตสูตร

“ธรรมอันเอกเป็นไฉน คือความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่ประมาทเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ เมื่อเธอรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ แม้ปัญญินทรีย์ ก็ย่อมถึงความเจริญบริบรูณ์ฯ”

(น่าจะหมายถึงพิจารณาอาสวะและธรรมที่มีอาสวะว่ายังมีอยู่หรือไม่ เพื่อตัดให้สิ้นไป)

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๕๐

“ดูกรบันทิยะ ก็อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร...(ย่อ...ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า......ในพระธรรม.......ในพระสงฆ์......ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว).... อริยสาวกไม่พอใจด้วย.....(ความในวงเล็บ)....แล้วพยายามให้ยิ่งขึ้นไปเพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลาวคืน

เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีใจประกอบด้วยปิติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท

ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้แล”

ในหน้าเดียวกัน วรรคเหนือขึ้นไปทรงแสดงถึงอริยสาวก (ซึ่งเห็นได้ว่าพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ) เมื่ออยู่ด้วยความไม่ประมาท(คือไม่ทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างข้างบน) ผลที่จะได้รับคือ

“ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ” ไม่ตรัสว่าย่อมเสื่อมไป

เล่ม ๑๔ หน้า ๔๖๙ อินทริยภาวนาสูตร

“เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท”
(ตรงนี้ทำให้ระลึกถึงผู้กล่าวว่าทำสมาธิ ทำฌาน ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่เพ่งฌานคือประมาท)

เล่ม ๒๑ หน้า ๓๖ ปริพาชกสูตร

“บุคคลผู้ไม่พยาบาท มีสติในกาลทุกเมื่อ มีจิตตั้งมั่นในภายใน ศึกษาในการกำจัดอภิฌาอยู่ เราเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท”

เล่ม ๒๑ หน้า ๑๔๑ อัปปมาทสูตร
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน....(ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิ)”

หน้าเดียวกัน อารักขสูตร
“(ย่อ) ทำความไม่ประมาทคือมีสติเครื่องรักษาใจ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน...(อย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด, อย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง, อย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง, อย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา)”

เล่ม ๒๒ หน้า ๓๗๗ อัปปมาทสูตร
พราหมณ์ทูลถามว่า “ธรรมที่ยึดถือประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพมีอยู่หรือหนอ”
ทรงตอบว่า คือ ความไม่ประมาท

(คงจำได้ว่าธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล พราหมณ์ทูลถามมาเช่นนี้ ตอบได้กว้างมาก เพราะธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งก็ให้ผล ดังนั้นทรงตอบความไม่ประมาทก็คลุมได้หมด)

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๐
“ธรรมอันมีอุปการะมาก เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท”

พิจารณาดูรวมๆแล้วก็สรุปได้ว่า ธรรมทั้งปวงมีมูล คือความไม่ประมาท และความไม่ประมาทก็คือ การตั้งจิตพิจารณาและปฏิบัติธรรมทั้งปวงวนกันไปมาอยู่อย่างนี้

สรุปลงไปอีกที ธรรมทั้งปวงก็รวมอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ผู้ไม่ประมาทย่อมปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ และผู้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นผู้ไม่ประมาท

สรุปกลับไปหาพระปัจฉิมวาจาอีกที ก็ทรงให้ปฏิบัติตามธรรมทั้งปวงที่ทรงสอนมาเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
คือ ให้จบพรหมจรรย์เสียเร็วๆเพราะสังขารย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่างนี้คงจะถูก อย่าไปแปลว่าถ้าประมาทแล้วพระอรหันต์ก็เสื่อมได้เข้าก็แล้วกัน.

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๓



◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/12/10 at 13:12 Reply With Quote



(Update 1 พ.ย. 53 ตอนที่ 32)

ลักษณะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๕

ในสมัยปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวว่า พระไตรปิฏกคลาดเคลื่อนมีการแต่งเติม ส่วนที่ตัวเองสอนนั้นแหละคือศาสนาที่แท้จริง
ปัญหามีว่าเขาไปเอาความ “แท้จริง” มาจากไหน ใครเป็นคนรับรองและมีหลักฐานอะไร

ในเมื่อหลักฐานของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่เพียง พระไตรปิฏก ดังนั้นคำสอน “แท้จริง” ก็ต้องเป็นคำสอนที่คนผู้นั้นกล่าวขึ้นมาเอง และคงเชื่อเอาเองว่าอย่างนั้นแหละถูก
ลองพิจารณาดูจาก พระไตรปิฏกแล้วตัดสินเอาเองคงจะดีกว่า

เล่ม ๑ หน้า ๓
“เรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลายอย่างนี้แล”
(ท่านไม่ได้กล่าวความขาดสูญแห่งจิตอย่างที่บางคนพูดว่า นิพพานคืออันตรธานสาบสูญไปเลย)

เล่ม ๑ หน้า ๙
“ธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงเพื่อ
ความคลายกำหนัด
ความพราก
ความไม่ถือมั่น

เป็นที่สำรองแห่งราคะ
เป็นที่สร่างแห่งความเมา
เป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย
เป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย

เป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ
เป็นที่สิ้นตัณหา
เพื่อความดับทุกข์
เพี่อนิพพาน”

(คนสมัยนี้จะเกณฑ์ให้พระพุทธศาสนาเข้าไปทำงานให้สังคม ซึ่งเป็นการเอาตัวเข้าไปผูกมัด ไม่ใช่ความพราก)

เล่ม ๔ หน้า ๑๑
“ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งสู่ความตรึกละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้แจ้ง”

(นิพพานเป็นสิ่งอันเห็นได้ยาก ตรึกตรองดูก็ไม่เห็น แต่ศิษย์ของบางเกจิอาจารย์อธิบายว่า การทำงานหรือปฏิบัติไปให้ดีในวันหนึ่งๆ นี่แหละคือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บ้างก็ว่าเกิดมาตายแล้วก็หมดเรื่อง อย่างนี้ไม่เห็นจะลึกล้ำอะไรที่ไหน พระพุทธเจ้าไม่ต้องตรัสก็เห็นๆกันอยู่แล้ว)

เล่ม ๑ หน้า ๓๐
ตรัสกับพระสุทิน “ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อความถือมั่นมิใช่หรือ”

เล่ม ๗หน้า ๒๖๒ ลักษณะวินิจฉัยพระธรรมวินัย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่าธรรมเหล่านี้
เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่ใช่เพื่อความพราก

เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสม
เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่เพื่อความสันโดษ
เป็นไปด้วยความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ใช่เพื่อความสงัด

เป็นไปด้วยความเกียจคร้าน ไม่ใช้เพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย
ดูกรโคตมี เธอพึงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่านั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์”

เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๑ มหาปรินิพพานสูตร
ทรงแสดงมหาประเทศ ๔
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ได้ แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าสอบสวนในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงคำในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอนและภิกษุนี้จำมาผิด”
(อีก ๓ ข้อมีลักษณะเดียวกัน) แต่ภิกษุกล่าวว่า

“สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาฯภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูตร มีอาคาอันมาถึงแล้วเป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาฯ

ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูตร มีอาคมอันมาถึงแล้วเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัย ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาฯ”

(ในสมัยนี้คนเป็นอันมากได้ยินภิกษุผู้เป็นเถระ กล่าวอ้างว่านี้แหละคือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ยังไม่ทันเรียนบทพยัญชนะให้ดี ยังไม่ทันสอบสวนกับพระสูตร เทียบเคียงกับพระวินัยก็เชื่อเสียแล้ว)

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๑
“ดูกรสุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาเป็นที่สองไว้บ้างหรือ”
(แสดงว่าตรัสอย่างใดเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น พระธรรมก็เช่นกัน)

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๑๙
“ดูกร จุนทะ เราไม่แสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่องปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่เป็นไปในปัจุบันแก่พวกเธอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ดูกร จุนทะ อนึ่งเราไม่ได้แสดงธรรมเพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายที่เป็นไปในสัมปรายภพอย่างเดียวเท่านั้น
ดูกร จุนทะ แต่เราแสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่องปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นเครื่องกำจัดอาสวะทั้งหลายที่เป็นไปในในสัมปรายภพด้วย”

เล่ม ๑๑ หน้า ๒๗๕
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นไปเพื่อความดับ ให้ถึงความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศไว้

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๐๙
“ดูกร สารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็นญาณทัสนะอันวิเศษ พอแก่ความอริยสาวกของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง

ดูกร สารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก”
(เมื่อท่านตรัสว่าพระธรรมของท่านไม่ใช่ตรึกตรองเองมาสอน หากมีญาณทัสนะด้วย การใช้สมองธรรมดามาคิดก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจ หรือเห็นจริงได้เป็นธรรมดา)

เล่ม ๑๔ หน้า ๓๔
“เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ มหาสติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, โพชฌงค์ ๗, และอริยมรรคมีองค์ ๘
เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น”

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๓๐
“ธรรมที่กล่าวไม่ดี ประกาศไม่ดี ไม่เป็นนิยยานิกธรรม ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ”

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๘๔
“อริยสัจอย่างอื่นๆมิใช่ฐานะที่จะมีได้”

เรื่องนี้ที่ยกมากล่าวด้วยความประสงค์อยากจะชี้สัก ๒ จุด
๑. ธรรมของพระพุทธเจ้ามุ่งพระนิพพาน ตัดออกจากโลกเพื่อชี้ทางให้ มนุษย์ถึงความสุขอันเป็นอมตะ ในปัจจุบันมีการพยายามจะดึงพระศาสนาไปให้ใช้กับสังคม ซึ่งเป็นคนละจุด ความมุ่งหมายใช้ด้วยกันไม่ได้ เพราะสังคมเป็นความสุขทางโลก

ผู้พยายามทำดังนั้นอาจมีความประสงค์จะชี้ว่าพระพุทธศาสนาช่วยสังคมไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์

๒. คนจำพวกหนึ่ง(จำนวนมาก) พยายามจะใช้ความคิดตรึกตรองไปหาเหตุผล ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทราบมาด้วยญาณทัสนะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถเห็นได้จริง

ดังนั้นจึงหาว่าเป็นเรื่องเหลวไหล หาว่าหลอกลวง ได้ยินว่าศิษย์สำนักหนึ่งอ้างอาจารย์ของตนว่า อาจารย์กล่าวว่าสมัยนี้นักวิทยาศาสตร์มีเทคโนโลยีสูงมาก ก็ยังไม่เห็นสวรรค์แสดงว่าไม่มีจริง เป็นต้น

เรื่องอย่างนี้ต้องถามว่านักวิทยาศาสตร์มีฌาน ๔ อันเป็นญาณทัสนะเครื่องเห็นสวรรค์หรือเปล่าด้วย การพูดไปตามความเห็นของตนโดยไม่รู้จริงนั้น อาจเป็นอันตรายได้มาก

เล่ม ๒๕ หน้า ๓๑
“ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิอันลามก ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้อรหันต์ เป็นพระอริยเจ้ามีปรกติเป็นอยู่โดยธรรม การคัดค้านและทิฏฐิอันลามกของผู้นั้น ย่อมเผล็ดผลเพื่อฆ่าตนเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น”

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๕

◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 20/12/10 at 15:08 Reply With Quote



(Update 20 ธ.ค. 53 ตอนที่ 33)

จูฬสัจจกนิครนถ์ เบ่งทับพระพุทธเจ้า


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓๙

สมัยนี้...ลูกศิษย์พระตถาคตร่ำเรียนตำรา(ก็พระไตรปิฏกนั่นแหละ) หนักๆเข้าบ้างคนถึงกับปรารภว่า พระพุทธเจ้าไม่ควรสอนอย่างนั้นอย่างนี้ บางรายก็ว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด สอนไม่สมบูรณ์ ขนาดใครๆฟังแล้วชักจะเข้าใจว่า เขาผู้นั้นตั้งต้นว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้า

(คำเบา สำหรับหมายว่า ตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ตัดหน้าสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรไปเสียแล้ว)
ในสมัยพระพุทธกาล... คนที่เข้าใจว่าตัวเองเก่งก็มี เก่งไม่เบาเสียด้วย เก่งกว่าใครๆหมดและไม่เข้าใจเฉยๆพูดออกมาโต้งๆเสียอีกด้วย

ความปรากฏอยู่ใน... จูฬสัจจกสูตร จากพระสุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฏก พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๒ หน้า ๓๕๐
จะขอเรียบเรียงย่อพออ่านเข้าใจสู่กันฟัง (ความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นประทับอยู่ที่... กูฏาคาร ศาลาป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี มีสัจจกนิครนถ์ ลูกของนิคันถอยู่ในเมืองนั้น ผู้คนยกย่องว่ามีความรู้ดีพูดเก่ง

เขาผู้นี้พูดในที่ประชุมชนว่า
“สมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่คณะ เป็นคณาจารย์หรือแม้ว่าผู้ที่กล่าวตัวเองเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี เมื่อจะต้องมาปะทะคารมกับเราแล้ว ที่จะไม่ประหม่าสะทกสะท้านไม่หวั่นไหวจนเหงื่อไหลจากรักแร้น่ะ ไม่มีเสียละ ถึงแม้เสาที่ไม่มีชีวิต ถ้าเราบอกว่าจะไปประคารมด้วยยังต้องประหม่าสะทกสะท้านหวั่นไหว อย่าว่าแต่มนุษย์เลย”

(ท่านผู้นี้นักคุยสมัยนี้แพ้ราบ ชิดซ้ายไปเลย)
วันหนึ่ง...สัจจกนิครนถ์เดินยืดแข้งยืดขาอยู่ในเมือง เห็นท่านพระอัสชิเถระ เข้าไปบิณฑบาตจึงถามว่า “พระสมณโคดม แนะนำพวกสาวกอย่างไร...? และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไร...? ที่เป็นไปมากในพวกสาวก”

ท่านอัสชิเถระตอบว่า ทรงสั่งสอนว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน”
(ตรงนี้ขอให้ท่านย้อนระลึกไปถึง ตอนที่มีชื่อเสียงเอาไปอ้างกันมาก คือตอนที่ท่าน โกลิตะ คือท่าน พระสารีบุตร พบท่าน อัสชิ ก็ถามว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร...?”

ท่านอัสสชิตอบว่า “ท่านเป็นพระใหม่อธิบายไม่ถนัด แต่สรุปแล้วท่านทรงสอนว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความเกิดและความดับของธรรมเหล่านั้น หรือทำนองนี้ แล้วเอาไปยกย่องกันใหญ่โตว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนา มีความลึกซึ่งมาก”

คราวนี้...ด้วยคำถามเดียวกัน ท่านอัสสชิยักไม่ตอบอย่างที่ท่านตอบ ท่านโกลิตะ คือความเกิดและความดับ
มาคิดดูอีกทีว่า...ตอนตอบท่านโกลิตะนั้นท่านยังเป็นพระใหม่ จะเป็นพระอรหันต์หรือยังไม่ได้ระบุไว้ แต่ที่ตอบกับสัจจกนิครนถ์นี้ ตอนตอบท่านเป็นพระเถระแล้ว อาจได้บทเรียนว่า ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นตอบได้หลายทาง

ฉะนั้นไม่ควรยึดว่าอย่างหนึ่งอย่างใดถูก อย่างอื่นผิดหรือค้านกัน ปัญหาข้อเดียวกัน คนหนึ่งถามพระพุทธเจ้าทรงตอบอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งถามทรงตอบอีกอย่างหนึ่งก็มี ทั้งนี้เข้าใจว่าจะทรงเลือกตอบให้ตรงกับนิสัยและธรรมที่คนผู้ถามมีอยู่เป็นหลัก
ฉะนั้นเวลาอ่านต้องอ่านให้ดี อย่ายึดคำตอบแก่บุคคลหนึ่งๆไปเป็นหลักทั่วไปเสียทุกที)

สัจจกนิครนถ์...ฟังคำตอบแล้วกล่าวว่า “พระสมณโคดมสอนอย่างนั้นไม่เป็นเรื่อง หากได้พบจะช่วยปลดเปลื้องพระสมณโคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นเสีย”
วันหนึ่ง...ก็ไปหาพวกเจ้าลิจฉวี ที่ประชุมกันอยู่ราวๆ ๕๐๐ องค์ บอกว่า

“วันนี้จะไปสนทนากับพระสมณโคดมไปฟังกันไหมละ ถ้าหากพระสมณโคดมยังยืนยันตามที่สาวกผู้มีชื่อเสียงที่ชื่ออัสสชิบอกข้าพเจ้าอยู่อีกละก็ ข้าพเจ้าจะใช้ถ้อยคำของข้าพเจ้าฉุดกระฉากถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย

ให้เหมือนคนมีกำลังมากจับแกะขนยาวที่ขนนั้นแล้วลากมาลากไป หรือคนที่เอาเสื่อลำแพนใส่ลงไปในน้ำแล้วจับที่มุมชักลงฟัดฟาดไปมา หรือเหมือนนักเลงสุราจับหูถ้วยสลัดไปสลัดมาอย่างนั้นเชียว”

(บอกแล้วว่านักคุยสมัยนี้ต้องชิดซ้าย)ว่าแล้วก็พากันไปเฝ้า

สัจจกนิครนถ์... “ถ้าพระโคดมจะให้โอกาสจะขอถามสักหน่อยหนึ่ง”
พระพุทธเจ้า... “ก็ประสงค์จะถามปัญหาใดก็ถามเถิด”
สัจจกนิครนถ์... “พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก”
พระพุทธเจ้า... “เราสอนและแนะนำว่า รูปไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้”
(นี่ตรงกับคำตอบของท่านอัสสชิ)

สัจจกนิครนถ์... “พระโคดมขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า”
(สำนวนนี้มีบ่อยๆในพระไตรปิฏก จับความได้ว่าข้าพเจ้าฯขออนุญาตทำการอุปมาให้แจ่มแจ้ง)
พระพุทธเจ้า... “อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด”
(เชิญอุปมาได้)

สัจจกนิครนถ์... “ต้นไม้จะงอกงามได้ ก็ต้องอาศัยแผ่นดิน การงานอย่างใดที่ต้องทำด้วยกำลังบุคคลก็ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดินจึงจะทำกันได้ฉันใด คนเรามีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงประสพผลบุญผลบาปได้ฉันนั้น”
(เชิญท่านคิดโต้ตอบ คิดแล้วค่อยดูปัญญาของพระพุทธเจ้า)

พระพุทธเจ้า... “ท่านกล่าวอย่างนี้ใช่ไหมว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา”
(วิธีการของพระพุทธเจ้าคือซ้อมทบทวนความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าพูดเรื่องเดียวกันยังไม่ผลีผลามตอบ เดี๋ยวจะมีการเบี้ยวว่าไม่ได้พูดอย่างนั้นสักหน่อย)

สัจจกนิครนถ์... “ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น”
(กลยุทธ์ไม่เลวจับพระพุทธเจ้าเป็นจำเลยเสียก่อนว่าฝืนประชามติ)

พระพุทธเจ้า... “ดูกรอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากจักทำอะไรแก่ท่าน เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด”
(ก็ท่านเลิศกว่าที่ประชุมชนอยู่แล้วนี่ อย่าเอามาอ้างเลย โปรดยืนยัน)

สัจกนิครนถ์... “เป็นความจริงข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเราดังนี้”

พระพุทธเจ้า... “ถ้าอย่างนั้นขอถามว่า พระราชาเช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้ามคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร(ที่เป็นเจ้าของประเทศและชีวิตผู้คน) มีอำนาจสั่งฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในอาณาเขตของพระองค์ได้ไม่ใช้หรือ...?”
สัจจกนิครนถ์... “มี ต้องให้เป็นไปได้ดังนั้น และควรเป็นดังนั้นด้วย”

พระพุทธเจ้า... “ถ้าอย่างนั้น ข้อที่ท่านกล่าว่า รูปเป็นตนของเรา ท่านมีอำนาจไหนที่จะสั่งว่า รูปจงเป็นอย่างนั้นเถิดอย่าเป็นอย่างนี้เลย”
สัจจกนิครนถ์... ถูกคำถามนี้เข้าสองครั้งนั่งเงียบทั้งสองครั้ง

พระพุทธเจ้า... “กาลบัดนี้ท่านจงแก้ (ตอบปัญหา) ไม่ใช่กาลที่ควรนิ่ง นี่แนะ..ถ้าตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก้เหตุแล้วถึงสามครั้งแล้วไม่ตอบ หัวของคนนั้นจะแตกเป็นเสี่ยงๆนะ”
(พบในที่อื่นๆคล้ายจะเป็นสำนวน หมายถึงปวดหัวเหมือนหัวจะแตกเป็นเสี่ยงๆ)

ตอนนั้น... พระอินทร์ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟ เหนือสัจจกนิครนถ์ประกาศว่า “สัจจกนิครนถ์นี้...หากพระพุทธเจ้าตรัสถามแล้วไม่ตอบถึงสามครั้ง จะผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์ให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยงอยู่ตรงนี้แหละ”

พระอินทร์ที่ปรากฏนี้มีแต่พระพุทธเจ้ากับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นที่เห็นอยู่
ถ้าสัจจกนิครนถ์ใช้ไม้ดื้อไม่ยอมตอบเสียเฉยๆก็อาจจะตัดสินไม่ถนัดว่าจำนน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องช่วยมาขู่ การปรากฏนี้ก็เป็นอำนาจของพระอินทร์นั่นแหละ ที่ทำให้เห็นองค์ของท่านในขณะโต้ตอบกัน ซึ่งไม่ใช่เวลาทำอภิญญาสมาบัติอะไร

บทเรียนตรงนี้คือข้อสังเกตว่า เทวดาจะแสดงตนให้เห็นเฉพาะแก่ผู้ที่ท่านต้องการให้เห็นเท่านั้นก็ได้ นอกจากเทวดาแล้ว เคยได้ยินคนเคยเห็นผีเล่าว่าอยู่ด้วยกันหลายคน แต่เวลาเห็นผีมีเขาคนเดียวที่เห็นนี่ก็คงลักษณะเดียวกัน นักปราชญ์สมัยใหม่คงจะหาว่าประสาทหลอน ถ้าผี(หรือเทวดา)ปรากฏ ทำไมคนอื่นที่อยู่ด้วยกันในที่นั้นถึงไม่มีใครเห็นอีกล่ะ...?)

สัจจกนิครนถ์... คงกลัวจนตาเหลือกรีบไปพึงพระพุทธเจ้า ทูลถามเถิดจะตอบละ

พระพุทธเจ้า... “ท่านกล่าวว่ารูปเป็นตนของเราดังนี้ ท่านมีอำนาจบอกรูปว่า จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าเป็นอย่างนี้เลยกระนั้นหรือ...?”
สัจจกนิครนถ์... “เป็นไปไม่ได้เลย”
พระพุทธเจ้า... “นึกให้ดี นึกให้ดีค่อยพูด เพราะที่พูดไว้เมื่อก่อนนี้ไม่ตรงกับคำพูดในตอนนี้เสียแล้ว”
(ทรงไล่เดียะทีเดียว ดูคล้ายๆจะทรงมีอย่างที่สมัยนี้เรียกว่าอารมณ์ขันหน่อยๆ)

พระพุทธเจ้า... “เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ ที่ว่าเป็นคนของเราท่านสั่งให้เป็นดังนั้นดังนี้ได้หรือ...?”
สัจจกนิครนถ์... “ไม่ได้เลย”
พระพุทธเจ้า... “ถ้างั้นจำไว้ให้ดี จำไว้แล้วค่อยตอบ นี่แนะ..รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
สัจจกนิครนถ์... “ไม่เที่ยง”

พระพุทธเจ้า... “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ...?”
สัจจกนิครนถ์... “เป็นทุกข์”

พระพุทธเจ้า... “ก็สิ่งที่เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาน่ะ ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเป็นตนของเรา...”
สัจจกนิครนถ์... “ไม่ควรเลย”
(โดนเข้าไปอีกระทงหนึ่ง กระทงแรกสั่งร่างกายให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กระทงทงที่สองเห็นทุกข์ว่าเป็นเราเป็นของเรา)

พระพุทธเจ้า... “นี่แนะใครที่ติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์อยู่แล้ว ยังเห็นทุกข์ว่าเป็นของเรา เราเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นตนของเราน่ะ คนนั้นจะกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำให้ทุกข์สิ้นไปได้ไหม...?
สัจจกนิครนถ์... “จะได้ยังไง ไม่ได้เลยแหละ ท่านพระโคดมผู้เจริญ”

พระพุทธเจ้า... “ก็เป็นอันว่าท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์อยู่แล้ว ยังเห็นว่านั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเราใช่หรือไม่...?
สัจจกนิครนถ์... “ไฉนจะไม่ใช่พระเจ้าข้า ข้อนี้ต้องเป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดมผู้เจริญ”
(เป็นอันว่าถูกน๊อคต้อนเข้ามุมไปเรียบร้อย)

พระพุทธเจ้า... “นี่ก็เหมือนกับบุคคลต้องการแก่นไม้ เข้าป่าไปตัดเอาต้นกล้วย เพราะเห็นต้นตรงดี แล้วจะไปพบแก่นที่ไหนล่ะ...?
นี่แนะ...ท่านน่ะ เราไล่เรียงด้วยถ้อยคำที่ท่านพูดออกมาเองก็ปรากฏว่าเหลว แพ้ไปเอง ก็ท่านได้พูดในที่ประชุมชนเมืองเวสาลีไม่ใช่หรือว่า

เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่คณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเราจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไคลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกับเสาก็ต้องประหม่า สะทกสะท้านหวั่นไหว จะป่วย กล่าวไปใยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้

นี่แนะ...หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่ม แล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในการของเราเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย” (แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเปิดให้ดูพระวรกาย)

ต่อจากนั้นสัจจกนิครนถ์ก็กล่าวยอมรับว่า ตนพูดไปอย่างเพ้อๆเท่านั้น แล้วทูลถามว่า

“ข้าแต่พระโคดม... ด้วยเหตุเท่าไหร่ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ”

พระพุทธเจ้า... “ดูกรอัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ ด้วนปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง

ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งเกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี

ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้จึงพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น

ดูกรอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ”

(สรุปว่าเป็นพระอรหันต์ได้เห็นด้วยปัญญาว่า ขันธ์ห้านี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วจึงหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น
ข้อแตกต่างของคนทั่วไปนี่ก็รู้ล่ะ เห็นด้วยละว่าขันธ์ห้านี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็อยู่ตรงที่ว่า
คนทั่วไปยังถือมั่น แต่พระอรหันต์ท่านไม่ถือมั่นแล้ว

ข้อสังเกตประการที่ ๑ คือไม่เห็นท่านตรัสว่า ต้องจิตว่างจึงเป็นพระอรหันต์
ข้อสังเกตประการที่ ๒ เวลาท่านตรัสถึงขันธ์ ๕ นั้น ท่านตรัสถึงขันธ์ ๕ ทั้งปัจจุบัน ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่หยาบ ที่ละเอียด ที่เลว ที่ประณีต ที่อยู่ใกล้ ที่อยู่ไกล นับว่านำมาใช้เป็นข้อพิจารณาได้อย่างละเอียดทีเดียว ไม่ใช่พิจารณาแต่ร่างกายที่เราเห็นอยู่ภายนอกเท่านั้น)

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตอบอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็เป็นคนกล้าพูดเหมือนกัน ยอมรับว่าตนเองเป็นคนที่คอยแต่จะว่าคนอื่นไม่เก่งไม่ดี นึกว่าจะปราบพระโคดมด้วยถ้อยคำแต่ว่า
“บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี เจอะกองไฟอันกำลังลุกโพรงก็ดี เจอะงูพิษที่พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่มาเจอพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีเอาตัวรอดได้เลย”

(นี่ขนาดที่ประชาชนยกกันทั้งเมืองแล้วว่าเป็นปราชญ์คารมดี ยังพูดอย่างนี้ น่าสงสารสมัยคนปัจจุบันที่ทำท่าจะคุยว่า ฉันเก่งกว่าพระพุทธเจ้า เห็นทีจะเก่งได้ก็เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่เสียแล้วตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีนี้แหละจึงเก่งได้ หากเจอะพระพุทธเจ้าเข้าจริงๆ น่ากลัวจะไม่เป็นเรื่องยิ่งกว่าท่านสัจจกนิครนถ์นี่สักร้อยเท่า)

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓๙

◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 26/3/11 at 15:25 Reply With Quote



(Update 26 มี.ค. 54 ตอนที่ 34)

ศีล


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๐

ใครที่คุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา ก็ต้องคุ้นเคยกับเรื่อง ศีล ยิ่งเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ ด้วยแล้ว ต้องเห็นว่า ศีล เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องมี ดูๆก็ไม่น่าจะต้องเอามาพูดกันอีก

แต่ว่าวันหนึ่งผู้เขียนไปงานศพญาติที่วัดแห่งหนึ่ง มีพระมีชื่อเสียงท่านเป็นเจ้าอาวาส วันนั้นท่านเทศน์บอกว่า ศีล น่ะไม่ต้องถือก็ได้ เลยตะแคงหูฟังว่าท่านจะมีมุขดีอะไรละมั้ง แต่ฟังๆไปก็ไม่เห็นท่านว่าอะไร จับความไม่ถูก ดูๆไปคล้ายจะกล่าวว่าถือ ศีล ตะบันไป โดยไม่ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นหรือสังคม

คิดไปคิดมาดูท่าเราจะฟังไม่ดีเอง แต่มีคนมารายงานอีกว่าท่านผู้หนึ่งเคยนับถือ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้รักษาศีล ๕ เป็นอันดี ต่อมาไปฟังธรรมของพระองค์นั้นเข้า เดี๋ยวนี้ดื่มสุราแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็แปลว่าฟังไม่ผิด

ข้อนี้เลยเป็นสาเหตุให้มาค้น พระไตรปิฏก กันในเรื่อง ศีล ว่าท่านให้ความรู้ไว้อย่างไรบ้าง ขอคัดมาแต่จุดสำคัญๆ จาก พระไตรปิฏกฉบับหลวง (ย่อเอาเฉพาะใจความ)

๑. เล่ม ๕ หน้า ๘๓
พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรด อุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลปาฏลิถึงโทษแห่ง ศีลวิบัติ ของคน ทุศีล ๕ ประการ

๑. เข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท
๒. ชื่อเสียงอันลามกย่อมฟุ้งไป
๓. เข้าไปหาบริษัทใดๆย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน
๔. เป็นผู้หลงทำกาละ
๕. เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ นรก


ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ถือ ศีล ก็เกิดโทษ “พระใหญ่” ผู้นั้นบอกว่า ศีล ไม่ต้องถือก็ได้ดังนี้แสดงว่าท่านผู้นั้นสอนค้านพระพุทธเจ้า คือท่านไม่ใช้พระไตรปิฏก ท่านสอนเอาเองตามความคิดของท่าน

เราจะอนุมานได้ไหมว่าในเมื่อท่านสอนว่าไม่ต้องถือ ศีล ก็ได้ ตัวท่านเองก็ย่อมไม่ถือ ศีล ไม่มีศีลอยู่แล้ว? เพราะหากท่านเองถือศีลแต่สอนไม่ให้คนอื่นถือศีล ก็ฟังดูไม่รับกัน

๒. เล่ม ๕ หน้า ๓๒๒
ท่านอุบาลีทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไรจึงมีอุปการะมาก เป็นคนชนิดไรจึงควรยกย่องในพระธรรมวินัยนี้
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เบื้องต้นภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล ฯลฯ

๓. เล่ม ๙ หน้า ๑๔๘
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ปัญญาอันศีล ชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญา ชำระให้บริสุทธิ์ ศีล มีในบุคคลใด ปัญญา ก็มีในบุคคลนั้น ปัญญา มีในบุคคลใด ศีล ก็มีในบุคคลนั้น ปัญญา เป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าว ศีลกับปัญญาว่า เป็นยอดในโลก ฯลฯ”

ทีนี้เราจะจัด “พระใหญ่” นั้นไว้ในประเภทไหนล่ะ อย่างน้อยท่านก็สอน ไม่ให้ถือศีลเสียแล้ว ผู้ถูกสอนก็เลย ไม่มีปัญญาไปด้วย ถ้าถือตามข้อความข้างบนดูท่าพระใหญ่นั้นจะเป็นภิกษุในธรรมวินัยอื่นเสียก็ไม่รู้

๔. เล่ม ๑๑ หน้า ๒๖๕
ท่านสารีบุตร แสดงธรรมีกถาแก่พระภิกษุทั้งหลายมากข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งกล่าวถึงท่านปฏิบัติ ๘ อย่าง ว่าบุคคลผู้ทำทาน ๘ อย่างนั้น หากมีความประสงค์ว่า

“เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขาน้อมไปในสิ่งที่เลว มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูงย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น ก็ข้อนั้นแลเรากล่าวสำหรับ ผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับ ผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้ เพราะเป็นของบริสุทธิ์...”

(ในข้อต่อไป กล่าวถึงผู้ตั้งจิตเป็นสหายของพวกเหล่าจาตุมหาราชิกา เทพเหล่าดาวดึงส์, เทพเหล่ามายา, เทพเหล่าดุสิต, เทพเหล่านิมมานรดี, เทพเหล่าปรนิมมิตวสวัสดี, เทพนับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งสำเร็จได้ทั้งนั้น)
ข้อนี้แสดงว่า มีศีล แล้วทำบุญ ตั้งใจจะไปเกิดที่ไหนก็สำเร็จได้ด้วย ความบริสุทธิ์ของศีล (สำหรับพรหมนั้น เพราะปราศจากราคะด้วย)

๕. เล่ม ๑๐ หน้า ๙๕
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยาย ชื่อธรรมทาส ต่อพระอานนท์ว่า บุคคลจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเป็นพระโสดาบัน มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ธรรมปริยายนั้นคือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

- เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า...(พระพุทธคุณ)
- เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า...(พระธรรมคุณ)
- เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า...(พระสังฆคุณ) คือบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘.....


- เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะใคร่แล้วอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ

อนึ่ง คำจำกัดความของพระโสดาบันยังมีอีกว่าเป็นผู้มีสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เช่น จาก เล่ม ๑๙ หน้า ๔๐๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“อุบาสิกาชื่อว่าสุชาดากระทำกาละแล้ว เป็นพระโสดาบันเพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า”

สังโยชน์ ๓ เบื้องต่ำได้แก่
- สักกายทิฏฐิ
- วิจิกิจฉา
- สีลัพพตปรามาส

เมื่อเทียบกับ ธรรมทาส แล้ว
สิ้นสักกายทิฏฐิ แสดงว่าเป็นผู้เข้าสู่ในทางธรรม ไม่เห็นว่ารูปเป็นตัวตนของเรา(ขั้นหยาบ)
สิ้นวิจิกิจฉา ไม่สงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
สิ้นสีลัพพตปรามาส ไม่รักษาศีลพรตอย่างลูบๆคลำๆตามใจชอบ รักษาอย่างที่พระอริยเจ้าท่านทำกันคือ ไม่ด่างพร้อย ไม่ทะลุ

เห็นได้ว่าตรงกัน
ใจความสำคัญที่ต้องการแสดงก็คือหากไม่รักษาศีล ก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้ ไม่เป็นพระโสดาบันก็เป็นพระสกิทาคามีไม่ได้ เรื่อยขึ้นไปถึงพระอรหันต์ สรุปแล้วเข้าหานิพพานอันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนาไม่ได้

ดังนั้นจะสรุปได้ว่าการสอนผู้อื่นไม่ให้ถือศีลนั้น ย่อมเป็นการตัดผู้อื่นไม่ให้ถึงพระนิพพานไปด้วย

๖. เล่ม ๑๙ หน้า ๗๖
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดินดำรงอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ การงานที่พึงทำได้ด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมทำได้ด้วยอาการอย่างนี้แม้ฉันใด

ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วจึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน”
เราทราบว่าใจความใหญ่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ ซึ่งมีทางปฏิบัติคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ในที่นี้ท่านบ่งว่า ศีลเป็นฐานของการปฏิบัตินั้นอีกทีหนึ่ง

๗. เล่ม ๒๑ หน้า ๔๘
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อมรอบ ชื่อว่าประพฤติใกล้นิพานทีเดียว ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย ศีล ๑..(คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย, รู้ประมาณในโภชนะ, ประกอบเนื่องๆซึ่งมีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่)...”

บางทีอาจจะมีคนเห็นว่าศีลเป็นเรื่องของภิกษุที่แสวงหานิพพานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับฆราวาส ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่ ฆราวาสที่ปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์โดยยังไม่ทันบวชก็มีตัวอย่างอยู่ เช่นท่าน พาหิยะ ทารุทีริยะ เป็นต้น
ฆราวาสอาจจะปฏิบัติค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็ต้องอาศัยศีลเป็นฐานเช่นกัน และฆราวาสที่ค่อยๆปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน ก็ยังดีกว่าภิกษุที่บวชเข้ามาแล้วไม่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน

๘. เล่ม ๒๑ หน้า ๒๗๑
“ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔” ในหน้าเดียวกันทรงอธิบายว่า
สมณะที่ ๑ สิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน
สมณะที่ ๒ สิ้นสังโยชน์ ๓ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางเป็นพระสกิทาคามี
สมณะที่ ๓ โอรัมภาคิสังโยชน์สิ้นไป เป็นอุปปาติกะ(เป็นพระอนาคามี)
สมณะที่ ๔ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ หาอาสวะมิได้(คือพระอรหันต์)

ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ ๕ ว่า ไม่มีศีลก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้ การเป็นพระโสดาบันฯลฯ ไม่ใช่ว่าจะเป็นจะเป็นกันแต่พระภิกษุ เพราะท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ก็เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน
ดังนั้นควรสรุปได้ว่าภิกษุที่สอนว่าไม่ต้องถือศีล ซึ่งเป็นการสอนไม่ให้เป็นสมณะทั้ง ๔ ย่อมเป็นภิกษุในลัทธิอื่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา

๙. เล่ม ๒๒ หน้า ๑๕
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย...ข้อที่ภิกษุไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์แล้ว จักอบรมสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์นั้นไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่อบรมสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้วจักเจริญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้...”
ความนี้ยืนยันกับข้อ ๖ ที่ว่าศีลเป็นฐานของอริยมรรคมีองค์ ๘

๑๐. เล่ม ๒๒ หน้า ๑๔๙
“สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมศีล”
“สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติคือศีล หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติคือทิฏฐิ”
ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบาย

๑๑. เล่ม ๒๒ หน้า ๓๗๓
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออินทรีย์สังวรไม่มี ศีลของภิกษุผู้มีอินทรีย์สังวรวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด
เมื่อศีลไม่มีสัมมาสมาธิของผู้มีศีลวิบัติย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด
เมื่อสัมมาสมาธิไม่มียถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด
เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกขจัด
เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมีอุปนิสัยถูกขจัด”

พูดง่ายๆไม่มีอินทรีย์สังวรก็ไม่มียถาภูตญาณทัสสนะแล้ว เลยไม่มีนิพพิทาวิราคะ และไม่มีวิมุตติญาณทัสสนะ คือหลุดพ้นไม่ได้
สำหรับข้อนี้เลยอริยมรรคมีองค์ ๘ มานิดหนึ่ง คือจากข้อสัมมาสมาธิ ก็มาสัมมาญาณ และสัมมาวิมุติ
สรุปรวบยอด ถ้าขาดศีลก็หลุดพ้นไม่ได้ ตรงกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

๑๒. เล่ม ๒๒ หน้า ๒๐๗
พระพุทธเจ้าตรัสกับอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า “ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละเว้นภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกดัวย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”
ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบาย

๑๓. เล่ม ๒๒ หน้า ๒๗๒
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ยังคฤหัสน์ให้สมาทานในอธิศีล ๑.....”
เจ้าอาวาสท่านที่ว่าแทนที่จะอนุเคราะห์ให้พ้นภัยเวร ๕ กลับอนุเคราะห์ให้ลงนรกไปเลยด้วยการไม่ถือศีล

๑๔. เล่ม ๒๓ หน้า ๒๒๐
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้เป็นมหาทาน อันบัณฑิตถึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริย เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ทาน ๕ ประการเป็นไฉน...(ย่อ)

- งดเว้นจากปาณาติบาต(ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้)
- งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ
- ละกาเมสุมิสาจาร ฯลฯ
- ละมุสาวาท ฯลฯ
- ละการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯลฯ”


๑๕. เล่ม ๒๓ หน้า ๓๖๒
พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้อนาถบิณฑิกเศรฐีฟังว่า สมัยที่เสวยพระชาติเป็นเวลามพราหมณ์ ได้ทำทานมากแต่ไม่ได้ผลมาก เพราะไม่มีใครเป็นทักขิไณยบุคคล และตรัสถึงผลทานที่มากขึ้นไป ๑๐๐ เท่าตามลำดับคือ

- ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ(โสดาบัน)
- พระสกิทาคามี
- พระอนาคามี
- พระอรหันต์

- พระปัจเจกพุทธเจ้า
- พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
- ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
- สร้างวิหารทานถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ

- มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
- มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท(คืองดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ)
- เจริญเมตตาจิตแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม
- เจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือเดียว

ขนาดเวลามพราหมณ์ทำทาน คือ(อย่างละ ๘๔,๐๐๐) ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ, ถาดรูปิย เต็มด้วยทอง, ถาดสัมริดเต็มด้วยเงิน, ช้างมีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง, รถหุ้มหนังสัตว์ต่างๆ, ผ้ากัมพลเครื่องประดับทอง, แม่โคนมใช้ภาชนะเงินรองนม, หญิงสาวประดับแก้วมณีและกุณฑล, บัลลังก์ผ้า(นับหน่วยโกฏิ)และ ข้าว น้ำ ของลูบทา ที่นอน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังมีผลสู้ทานจากการเชิญพระโสดาบันองค์เดียวบริโภคไม่ได้

การถือศีลยังมีผลสูงกว่านั้นอีก ๑๐ อันดับๆละ ๑๐๐ เท่า
ดังนั้นการสอนว่าไม่ต้องรักษาศีลก็ได้ จึงเป็นการตัดการทำทานที่มีผลสูงมากของผู้อื่น เท่ากับเป็นการตัดประโยชน์ของเขา

๑๖. เล่ม ๒๔ หน้า ๑
พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาพระอานนท์ต่อเนื่องกันไปว่า
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลแป็นอวิปฏิสาร
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นปราโมทย์
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นปิติ

- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นปัสสัทธิ
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นสุข
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นสมาธิ
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นยถาภูตตญาณทัสสนะ

- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นนิพพิทาวิราคะ
- ศีลที่เป็นกุศล มีผลเป็นวิมุตติญาณทัสสนะ
“ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหันต์โดยลำดับด้วยประการดังนี้แล”

ตรงนี้คงจะเป็นหลักฐานของที่พระท่านพูดหลังเวลาให้ศีลว่า “สีเลนะ นิพพุติงยันติ” นั่นกระมัง
ที่นำมาแสดงไว้นี้ เรียงตามลำดับเล่ม อาจไขว้เขวคือสลับตอนในสาระ

จึงขอสรุปว่า การมีศีลนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า
- มีผลสำหรับปัจจุบันในโลก (เช่นคนนับถือ)
- มีผลสำหรับปรโลก (ตายแล้วไปสวรรค์)
- เป็นมหาทาน
- เป็นฐานของการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘
- ทำให้ถึงพระนิพพานได้โดยลำดับ


การสอนว่าไม่ต้องถือศีล เป็นการตัดประโยชน์ของผู้รับการสอนหมดทุกระดับ และตัดนิพพานอันเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนิกชน ดังนั้นผู้สอนเห็นจะไม่ใช่ภิกษุในลัทธินี้ในวินัยนี้แน่นอน

ภิกษุในลัทธินี้วินัยนี้จะชี้แต่ทางนิพพาน และการบรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นอมตสุข ยอดปรารถนาของทุกคนนั้น แต่ละคนต้องปฏิบัติให้บรรลุด้วยตนเอง คนอื่นจะมาบรรลุให้ไม่ได้ เมื่อบรรลุแล้วจึงจะสามารถแนะคนอื่นให้บรรลุได้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตัวของภิกษุในธรรมวินัยนี้ จึงอยู่ที่การมุ่งปฏิบัติให้บรรลุ ไม่ใช่ตะลอนๆไปช่วยชาวบ้านเขาอย่างเดียว

อย่างที่ในวัชชีปุตตเถรคาถา เล่ม ๒๖ หน้า ๒๗๘ ที่ท่านพูดว่า
“ดูกรอานนท์ ผู้โคตมโคตร ท่านจงเข้าไปอยู่ป่าชัฏแห่งโคนไม้ จงหน่วงนิพพานไว้ในหทัย แล้วจงเพ่งฌานและอย่าประมาท การใส่ใจถึงประชุมชนจักทำประโยชน์อะไรกับท่านได้”

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๐

◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/4/11 at 13:49 Reply With Quote



(Update 27 เม.ย. 54 ตอนที่ 35)

นิพพานเป็นอย่างไร? ตอน ๑


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่๗๙

บัณฑิตผู้ปฏิบัติแล้วจะไม่สงสัยว่า นิพพาน เป็นอย่างไร
บัณฑิตผู้ไม่ปฏิบัติ บัณฑิตผู้ปฏิบัติยังไม่สำเร็จ และผู้ไม่ใช่บัณฑิต มักจะมีความสงสัย แต่แค่สงสัยก็ยังดี พวกที่คิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วยืนยันว่าตนถูกนั้นแย่หน่อย

บางคนว่า นิพพานมีจริง มีที่อยู่
บางคนว่า นิพพานแล้วสูญไป หมดไป อันตรธานไป ไม่มีอะไรเหลือ
บางคนว่า ทำจิตว่างก็นิพพาน
จะเอากันแน่ๆก็ต้องปฏิบัติจนรู้ได้ด้วยญาณ

จะเอากันแน่ๆขั้นรองลงมาก็พอมีทาง คือทางค้นตำรา พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสไว้(มหาประเทศ ๔) ว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่แท้ของท่านนั้นให้ไปสอบกับพระวินัยและพระสูตร คนเคารพครูบาอาจารย์ก็ควรไปค้นดูในพระวินัยและพระสูตร
ไม่ใช่มานั่งนึกเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นกระมัง เป็นอย่างนี้กระมัง เป็นอย่างนี้แน่ๆ!
ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่าพระไตรปิฏกว่าไว้อย่างไร (ค้นจากพระไตรปิฏกฉบับหลวง)

๑. สภาพของนิพพาน
๑.๑ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๙๒ (นิพพานสูตรที่ ๒)
“ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก ชื่อว่านิพพานไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย”
คนที่จิตว่างไม่คิดอะไร ไม่ใช่ว่าหมดตัณหา ตัณหาอาจยังมีอยู่ได้ แต่ขณะนั้นไม่ปรากฏเพราะไม่มีสิ่งมากระทบ

๑.๒ เล่ม ๑๒ หน้า ๓๔๙ (จุฬโคปาลสูตร)
“เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งสรรพโลก ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอันมัจจุถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงพระนิพพานอันเป็นแดนเกษม”

ในข้อนี้มี ๒ จุด
จุดแรก คือนิพพานนั้น ความตายเข้าถึงไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกที่สอนว่าจิตว่างเมื่อใดก็เป็นนิพพาน ก็สอนไม่ตรงกับพระพุทธเจ้า เพราะจิตว่าง “มัจจุ” ยังถึงได้ คือยังตาย
จุดที่สอง พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้ทางคืออริยมรรค(มีองค์ ๘) ท่านที่สอนจิตว่างท่านมีทางของท่านเอง ซึ่งไม่ใช่ทางที่พระที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ใครจะเชื่อข้างไหนดี?

๑.๓ เล่ม ๑๖ หน้า ๑๒๘ (โกสัมพีสูตร)
(ท่านมุสิละ) “ดูกรท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า ภพดับ เป็นนิพพาน”
ท่านมุสิละ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ว่า จิตว่างเป็นนิพพาน ส่วนภพดับกับไม่เกิดก็เป็นอันเดียวกัน ไม่เกิดก็ไม่มีภพ

๑.๔ เล่ม ๑๗ หน้า ๑๖๒ (นาวาสูตร)
“จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น”
ความนี้ค่อยใกล้กับจิตว่างเข้าไปหน่อย คือไม่ถืออะไรๆมั่น แล้วก็คงเป็นจิตว่างละมัง
ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าไม่ถือโน่นนี่แล้วจิตจะว่าง ต้องมีการอบรมจิตก่อนจึงจะไม่ถือมั่นได้ เพราะข้อความต่อไปจากข้างบนยังมีอีกดังนี้

“...จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถีอมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธออบรม เพราะอบรมอะไร
เพราะอบรม สติปัฏฐาน ๔
เพราะอบรม สัมมัปปธาน ๔
เพราะอบรม อิทธิบาท ๔

เพราะอบรม อินทรีย์ ๕
เพราะอบรม พละ ๕
เพราะอบรม โพชฌงค์ ๗
เพราะอบรม อริยมรรคมีองค์ ๘”

ทางปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านว่าต้องอบรมตั้งหลายอย่าง ไม่ใช่นั่งทำจิตว่างๆ แล้วจะไม่ถือมั่นได้ โดยเฉพาะข้อ ๘ คือ สัมมาสมาธิ ก็เป็นการทำฌาน ๑ ถึง ๔ อยู่แล้ว

๑.๕ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๘๗ (ชัมพุชาทกสังยุตต์)
“ดูกรท่านสารีบุตร ที่เรียกว่านิพพานๆดังนี้ นิพพานเป็นไฉนหนอ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ดูกรท่านผู้มีอายุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน”
(ตอบคำถามต่อไปว่า มรรคา ปฏิปทาเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้งคือ อริยมรรคมีองค์ ๘)

ถ้าหากว่า “จิตว่าง” หมายถึงว่างจากกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ อย่างนี้ก็ไม่ตรง เพราะ “ว่าง” กับ “สิ้น” นั้นไม่เหมือนกัน และทางปฏิบัติก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส

๑.๖ เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓๑ (ธาตุสูตร)
ทรงกล่าวถึงนิพพานธาตุ ๒ ประการ
“ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วปลงภาระได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ

ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งมั่นอยู่นั่นเทียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้นนี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

สรุป ได้ว่าผู้ที่นิพพานเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่ตายคือมีอินทรีย์ ๕ อยู่ ก็ยังเสวยอารมณ์ต่างๆ เสวยสุขทุกข์ (โดยปราศจากกิเลส) เมื่อนึกถึงว่าท่านผู้หนึ่งเคยเขียนว่า เวลาไถนาอยู่หากจิตว่างก็เป็นนิพพานได้แล้ว ลองนึกถึงว่าพระอรหันต์กำลังไถนาอยู่ มันก็ผะอืดผะอมดีเหมือนกัน

“ก็อนุปาทิเสสนิพพาทธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของพระภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น ให้เพลิดเพลินมิได้แล้วจัก(ดับ)เย็น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
ในข้อนี้ ไม่มีอินทรีย์ ๕ มาเกี่ยวข้อง มีแต่บ่งว่าเวทนาดับ จะแปลว่าเพราะอินทรีย์ไม่มีแล้ว(ดับ)จึงไม่มีเวทนาได้หรือไม่?

ในพระสูตรนี้ ตรัสคาถาประพันธ์ว่า
“นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ พระตถาคตผู้มีจักษุอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ประกาศไว้แล้ว อันนิพพานอย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้ ชื่อว่าสอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ส่วนนิพพาน(อีกอย่างหนึ่ง)เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง อันมีในเบื้องหน้าชื่อว่า อนุปาทิเสส ฯลฯ”

ในคาถาประพันธ์นี้ ขยายความมาอีกนิดหนึ่งคือ อนุปาทิเสส ปรินิพพานนั้น ภพทั้งหลายดับหมด คือเข้าไปในภาวะที่ไม่เกิด ซึ่งก็คงจะต้องตายแล้วนั่นแหละ เพราะหากยังไม่ตายก็เป็น สอุปาทิเสส

เป็นธรรมดาที่จะเข้าใจให้แจ่มแจ้งไม่ได้ในขั้นนี้ แต่จุดประสงค์ที่จะแสดงก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ฝึกทำจิตให้ว่างๆ หากจะแย้งว่าเป็นคำสอนที่มีความหมายเหมือนกัน ก็ยังน่าตำหนิในทางปฏิบัติ เพราะผู้มีมารยาทย่อมอ้างหรืออัญเชิญคำสอนของครูบาอาจารย์ที่สอนถูกแล้วดีแล้ว มากกว่าจะใช้คำสอนของตนเอง อย่างไรก็ดี ผู้อื่นอาจไม่เห็นด้วยในข้อนี้ก็ได้

๒. นิพพานสูญหรือ ?
๒.๑ เล่ม ๑๒ หน้า ๓๙๙ มหาตัณหาสังขยสูตร
“ฯลฯ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลกรรมอันลามก ฯลฯ”

๒.๒ เล่ม ๑๕ หน้า ๓ นิโมกขสูตรที่ ๒
“พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาโดยคาถานี้ว่า ท่านผู้มีอายุ เพราะความสิ้นภพ อันมีความเพลิดเพลินเป็นมูล

เพราะความสิ้นแห่งสัญญาและวิญญาณ
เพราะความดับ
เพราะความสงบแห่งเวทนาทั้งหลาย เราย่อมรู้จัก มรรคเป็นทางหลีกพ้น
ผลเป็นทางหลุดพ้น
นิพพานเป็นที่สงัดของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ ฯลฯ”

๒.๓ เล่ม ๑๗ หน้า ๒๑๑ ภวเนตติสูตร
“เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นธรรมที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำไปในภพ”

๒.๔ เล่ม ๒๐ หน้า ๒๖๗ สิกขาสูตรที่ ๒
“ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุติอันเป็นที่สิ้นตัณหา ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม เพราะวิญญาณดับสนิทเหมือนความดับของประทีปฉะนั้น”
วิญญาณดับสนิท แต่จิตหลุดพ้น หลายท่านเอาจิตกับวิญาณมาปนกัน

เล่ม ๔ หน้า ๑๘๑
“จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้วอาศัยจิตดวงแรกวิญญาณดวงแรกนั่นแหละ เป็นความเกิดของสัตว์”

เล่ม ๑ หน้า ๓๔๘
“กายมนุษย์ได้แก่จิตแรกเกิดขึ้น จิตก็ไม่ไปเกิด คือไม่ทำให้เกิดวิญญาณขึ้นอีกต่อไป วิญญาณจึงชื่อว่าดับสนิท แต่จิตยังอยู่”

๒.๕ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๘ คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗
“อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนื่องๆทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี”

๒.๖ เล่ม ๒๕ หน้า ๔๒๘ ทวยตานุปัสสนาสูตร
“นามรูปมีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาบสูญไปเป็นธรรมดา”

๒.๗ เล่ม ๓๐ หน้า ๒๒ อชิตมาณวกปัญหานิเทส
“เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วยปรินิพพานอันเป็นอนุปาทิเสส
ธรรมเหล่านี้คือ ปัญญา สติ และนามรูป ย่อมดับ คิอย่อมสงบ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมระงับไป

ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณดวงก่อน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่านามรูปนั้นก็ดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ”
ข้อนี้ยืนยันว่าอนุปาทิเสสปรินิพพาน คือนิพพานเมื่อตายแล้ว

๒.๘ เล่ม ๓๑ หน้า ๔๕๕ ปัญญาวรรค วิปัสสนากถา
“เมื่อพิจารณาเห็นความดับแห่งปัญจขันธ์เป็นิพพาน เป็นสุข”

หน้า ๔๕๖
“เมื่อพิจารณาความดับแห่งเบญจขันธ์ เป็นนิพพานสูญอย่างยิ่ง”

สองข้อนี้น่าจะตรงกับ นิพพานัง ปรมัง สุขัง และ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ซึ่งความจริงเป็นธรรมข้อเดียวกัน คือความดับแห่งเบญจขันธ์ ซึ่งจะเป็นอะไรก็แล้วแต่จะพิจารณาไป มี ๔๐ ประการ

ตามที่อ้างมาจะเห็นว่าที่ดับไปสูญไปนั้น ได้แก่ อาสวะ กิเลส อกุศลกรรม นามรูป ฯลฯ ไม่ใช่ว่าจิตจะสูญไป ไม่ใช่ไม่มีอะไรเหลือ

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่๗๙

◄ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 29/8/11 at 13:07 Reply With Quote



(Update 29 ส.ค. 54 ตอนที่ 36 )

นิพพานเป็นอย่างไร ตอน ๒


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๗๙

๓. ลักษณะต่างๆของพระนิพพาน

๓.๑ เล่ม ๒๐ หน้า ๑๗๐ อสังขตสูตร
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณธรรม ๓ ประการเป็นไฉน
คือ ไม่ปรากฏความเกิด ๑
ไม่ปรากฏความเสื่อม ๑
เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณของอสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล” ไม่ปรากฏความเกิด คือมีอยู่แต่ไม่ได้เกิด ตรงกับที่ว่า “นิพพานที่ไม่เกิด” หรือ “ภิกษุนี้(พระอรหันต์) ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” ส่วนข้อไม่เสื่อมและไม่แปรปรวนตรงกับ อมตะ

๓.๒ เล่ม ๒๒ หน้า ๓๐๖ (ภัททกสูตร)
“ส่วนผู้ใดละธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในบทธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้นั้นย่อมได้ชมนิพพานที่เกษมจากโยคะหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้”

๓.๓ เล่ม ๒๒ หน้า ๓๒๓ (ภยสูตร)
“เพราะเห็นภัยในการยึดถือ ซึ่งเป็นแดนเกิดของชาติและมรณะ ชนทั้งหลายจึงหลุดพ้น ดำเนินไปในพระนิพพาน อันเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ ชนเหล่านั้นถึงแดนเกษมมีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ผ่านพ้นเวรและภัยทั้งปวง”

ความนี้แสดงว่าถึงสิ้นชาติและมรณะ คือไม่เกิดไม่ตาย ก็ยังมีการ “ดำเนินไป” และ “มีสุข” (ย่อมไม่สูญและอันตรธานไป)

๓.๔ เล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๓ (นิพพานสูตร)
ท่านอุทายีถามท่านสารีบุตรว่า “ดูกร อาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า“ดูกร อาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข”

ต่อไปจึงอธิบายว่า นิพพานเป็นสุขอย่างไร จะพึงทราบโดยปริยาย โดยบรรลุปฐมฌานไปจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ “อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจึงทราบแม้โดยปริยายแม้นี้ฯ”

เล่ม ๑๓ หน้า ๘๗ (พทุเวทนิยตสูตร)
พระพุทธเจ้าทรงแสดงกับพระอานนท์ว่า สุขในฌานต่างๆประณีตกว่าในกามสุข (สุขอาศัยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)

เล่ม ๑๓ หน้า ๑๖๔
“ดูกรกรอุทายี ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ เรากล่าวว่า กามสุขความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ
อันบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น”

“ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน...ฯลฯ...บรรลุจตุตถฌาน ฌานทั้งสี่นี้เรากล่าวว่า
ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม
ความสุขเกิดแต่ความสงัด
ความสุขเกิดแต่ความสงบ
ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ
อันบุคคลควรเสพ ควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัวแต่ความสุขนั้น ดังนี้ฯ”

รวมความว่านิพพานเป็นสุขได้ ไม่ใช่สุขเกิดจากกิเลส(กามคุณ ๕) แต่เป็นความสุขในการออกจากกิเลส ที่เรียกว่านิรามิสสุข คือสุขไม่มีอามิส

๓.๕ เล่ม ๒๕ หน้า ๒๔ (คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗)
“นรชนใดไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพาน อันปัจจัยอะไรๆทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อ มีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวังอันคลายแล้ว นรชนนั้นแลเป็นบุรุษผู้สูงสุด”
ที่ว่าปัจจัยทำอะไรๆไม่ได้ คงจะหมายถึงว่าจิตไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณฯลฯ

๓.๖ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐ (คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑)
“จิตของเราถึงแล้วซึ่งพระนิพพานอันปราศจากสังขาร”

๓.๗ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๕ (คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕)
“บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

๓.๘ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๘ (คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗)
“เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์ มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก”
ความนี้ “สถานที่ไม่จุติ” ก็มีการไปถึง หากนิพพานสูญก็ไม่ควรมีการไปไหนทั้งนั้น

๓.๙ เล่ม ๒๕ หน้า ๓๙ (คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘)
“ท่านเป็นผู้มีมลทินอันขจัดแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน จักถึงอริยชนอันเป็นทิพย์”
ข้อนี้ชัดว่านิพพานไม่สูญ หากเป็นภูมิอันเป็นทิพย์

๓.๑๐ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๖๐ (สุภูติสูตร)
“ผู้ใดกำจัดวิตกทั้งหลายได้แล้ว ถอนขึ้นด้วยดีแล้วไม่มีส่วนเหลือในภายใน ผู้นั้นล่วงกิเลสเครื่องข้องได้แล้ว มีความสำคัญนิพพานอันเป็นอรูป ล่วงโยคะ ๔ ได้แล้ว ย่อมไม่กลับมาสู่ชาติ”

๓.๑๑ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๖ (นิพพานสูตรที่ ๒)
“ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพานไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่าย”

๓.๑๒ เล่ม ๒๕ หน้า ๔๒๘ (นิพพานสูตรที่ ๓)
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้วมีอยู่”

๓.๑๓ เล่ม ๒๕ หน้า ๔๒๘ (ทวยตานุปัสนาสูตร)
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เล็งเห็นว่านิพพานนี้เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริง”

๓.๑๔ เล่ม ๒๖ หน้า ๒๕๓ (สุปปิยเถรคาถา)
“บุคคลผู้มีความเพียร ถึงจะแก่ แต่เผากิเลสให้เร่าร้อน พึงบรรลุนิพพาน อันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส เป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะอันยอดเยื่มม”

๓.๑๕ เล่ม ๒๖ หน้า ๓๙๙ (ปุสสเถรคาถา)
“จงอบรมอัฏฐังคิกมรรค เมื่อทำได้ดังนี้แล้วย่อมจะบรรลุนิพพาน อันเป็นทางไม่เกิดไม่ตาย”

๓.๑๖ เล่ม ๒๙ หน้า ๒๙ (คุทัฏฐก สุตตนิเทศที่ ๒)
“อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ ถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นวิสังขาร”

๓.๑๗ เล่ม ๓๐ หน้า ๒๓๕ (โมฆราชมาณวก ปัญหานิเทศ)
“เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่พึงปรารถนาภพ หรืออัตภาพอะไร เว้นไว้แต่นิพพานอันไม่มีปฏิสนธิ”

๓.๑๘ เล่ม ๓๐ หน้า ๒๙๔ (โสฬสมาณวก ปัญหานิคมนิเทศ)
“ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มีย่อมปรากฏอยู่ โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอันอะไรๆนำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ”

๓.๑๙ เล่ม ๓๓ หน้า ๒๑๒ (มหาปชาบดีโคตมี เถริยาปทานที่ ๗)
“เมื่อดิฉันทั้งหลายออกจากภพนี้ไปสู่บุรีคือนิพพานอันอุดม
ดิฉันทั้งหลายก็จักไปพร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน”


๓.๒๐ เล่ม ๑๕ หน้า ๔๓ (อัจฉราสูตรที่ ๖)
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า“ทางนั้นชื่ออว่าทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรมะ หิริเป็นฝาของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามเขาย่อมไปสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ”

พึงสังเกตว่า ตรัสไว้ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ (ซึ่งมีสัมมาสมาธิเป็นหัวหน้า)คือทางตรง สำหรับไปพระนิพพาน ผู้ใดเชื่อถือพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ก็ไม่ควรต้องหาทางอื่นอีก

๓.๒๑ เล่ม ๑๓ หน้า ๑๗๙ (นฬกปานสูตร)
“ดูกรอนุรุทธะทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ฟังว่าภิกษุชื่อนี้ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าดำรงอยู่ในอรหัตผลฯล”
หากนิพพานแล้วสูญ ก็คงไม่มีการดำรงอยู่

๓.๒๒ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๐ (นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ)
“มนุษย์สมบัติ ความยินดีในเทวโลกและนิพพานสมบัติ อิฐผลทั้งปวงนี้เทวดาและมนุษย์ย่อมได้บุญนิธินี้”
ถ้านิพพานสูญ ก็ไม่ควรนับง่าเป็นสมบัติ

๓.๒๓ เล่ม ๑๒ หน้า ๑๔๓ (จูฬบันถกสูตร)
“ภิกษุมีกายตั้งมั่นแล้วยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ควบคุมสตินี้ไว้อยู่ เธอพึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว พึงถึงสถานที่เป้นที่ไม่เห็นมัจจุราช”

๓.๒๔ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๓๕ (อุโปสกสูตร)
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น”

๔. สถานที่อันเป็นนิพพาน

จากที่แสดงมาแล้ว แม้นิพพานจะไม่เป็นภพ แต่ก็บ่งว่ามีที่อะไรสักอย่างเหมือนกัน ซึ่งแสดงว่านิพพานไปแล้วก็ไปสู่ที่แห่งนั้น

๔.๑ เล่ม ๙ หน้า๓๗๓ (เกวัฏฏสูตร)
“ปฐวีธาตุธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปทายรูปที่ยาวและสั้นละเอียดและหยาบที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนดังนี้”
(ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่านามรูปดับหมดในนิพพาน)

ในปัญหานั้นมีพยากรณ์ดังต่อไปนี้
“ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ อุปาทยรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้”
ในที่นี้ทรงเรียกว่าเป็นธรรมชาติ และเป็นธรรมชาติรูแจ้งด้วย แจ่มใสด้วย

๔.๒ เล่ม ๒๕ หน้า ๔๘๘ (พรหทนิมันตสูตร)
“ถ้อยคำของท่านอย่าได้ว่างเสียเลย อย่าได้เปล่าเสียเลย นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะนั้น(ไม่เห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ) เป็นอนันตะ(ไม่มีที่สุดหรือหายไปจากความเกิดขึ้นและความเสื่อม) มีรัศมีในที่ทั้งปวง”
ในที่นี้ทรงบ่งว่า นิพพานมีรัศมีสำหรับอทิสสนะนั้น ต้องดูในรูปสังคหะ ๓ อย่าง

ในเล่ม ๑๑ หน้า ๑๙๗ (สังคีติสูตร)
๑.สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป รูปที่เป็นไปด้วยการเห็น ทั้งเป็นไปด้วยการกระทบ
๒.อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป รูปที่ไม่มีการเห็น แต่เป็นไปกับด้วยการกระทบ
๓.อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป รูปที่ไม่เห็น ไม่กระทบ
คนธรรมดารู้จักแต่ข้อ ๑ ข้อ ๒ คงจะกระทบได้ด้วยทิพจักขุญาณ
ข้อ ๓ คงจะรู้ได้ด้วยญาณของผู้ปฏิบัติถึงนิพพานแล้ว ข้อนี้ต้องสำเหนียกให้มากไว้ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น แล้วจะพูดว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่นั้น ควรหรือ?

๔.๓ เล่ม ๒๕ หน้า ๗๒ (พาหิยสูตร)
“ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้นดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี”
ข้อนี้เห็นจะตรงกับข้อ ๔.๒ ที่ว่ามีรัศมีในที่ทั้งปวง

๔.๔ เล่ม ๒๕ หน้า ๑๗๔ (นิพพานสูตรที่ ๑)
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาสนัจจาขตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิจจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

ในข้อนี้คงจะเป็นการชี้ว่านิพพานไม่ใช่ที่ของอรูปพรหม ซึ่งไม่มีรูปให้เห็น ซึ่งบางคนก็เข้าใจว่าไปเห็นเอานิพพานเข้าแล้ว

สู้อุตส่าห์อ้างมาเสียมากมาย ขอสรุปเอาอย่างง่ายๆไว้ว่า
ถ้าหากนิพพานไม่เป็นยอดปรารถนา หรือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหา พระพุทธเจ้าก็คงไม่สอน ที่ทรงสอนก็เพราะทรงผนวชเพื่อแสวงหาความสุข อันเป็นอมตะมาสอนมนุษย์ และทรงพบพระนิพพานอันเป็นความสุขที่อมตะจึงนำมาสอน

แต่หากนิพพานสูญก็คงไม่ทรงนำมาสอนเพราะปกติคนก็กลัวตายอยู่แล้ว การสูญนั้นยิ่งกว่าการตายเสียอีก หากถามคนทั่วไปว่าจะให้คุณสูญไปเลยเอาไหม เขาก็คงตอบว่า ไม่เอาละ สุขบ้างทุกข์บ้างก็ขออยู่ยังงี้ละ

คนเป็นอันมากอาจจะเข้าใจว่านิพพานแล้วสูญ จึงไม่มีศรัทธาต้องการพระนิพพานเอาเสียเลย หวังว่าบทความนี้คงทำความเข้าใจให้ถูกต้องได้บ้าง.

ธัมมวิโมกข์ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๗๙

ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 5/10/11 at 10:23 Reply With Quote



(Update 5 ต.ค. 54 ตอนที่ 37 )

พรหมโลก


โดย ก. ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๙

ดูเหมือนว่าพุทธศาสนิกชนจะเข้าใจว่า พรหม กับ พระพรหม นั้นคืออย่างเดียวกัน แม้แต่คนดังๆเช่นอย่าง “ท่านพระพุทธทาสภิกขุ” เมื่อบรรยายถึงตอนพระพุทธเจ้าเล่าว่าทรงท้อพระทัย จะไม่สั่งสอนพระธรรมที่ทรงตรัสรู้กับมนุษย์ ก็บรรยายว่า “เขาเขียนไว้ว่า พระพรหมลงมาจากข้างบน ลงมาอาราธนา” ความนี้มีปรากฏในหนังสือ “บรมธรรม” ภาคต้นหน้า ๓๐

เรื่องตอนนี้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ หน้า ๒๕๘ (ปาสราสิสูตร) มีว่า
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นสหัมบดีพรหม ทราบความดำริของเรา จึงได้มีความปริวิตกว่า...”

พระไตรปิฎกที่ท่าน สุชีพ ปุญญานุภาพ ย่อมา (หนังสือพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน) หน้า ๓๑๕ มีหัวข้อ
“มานพถามถึงทางไปสู่พระพรหม” ความว่า
“วาเสฏฐมาณพกราบทูลถามถึง ทางที่จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พระองค์ทรงรู้จักพระพรหม พรหมโลก ข้อปฏิบัติเพื่อให้ไปสู่พรหมโลก ตลอดจนพระพรหมผู้ปฏิบัติอย่างไรจึงเข้าถึงพรหมโลกได้”

ตามเล่ม ๑๒ หน้า ๔๑๖ (เตวิชชสูตร) มีความจริงดังนี้
“วาเสฏฐมานพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก ไม่มีความชักช้าหรืออำอึ้งเลย เรารู้จักพรหม รู้จักพรหมโลก รู้ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก และรู้ถึงว่าพรหมปฏิบัติอย่างไรจึงเข้าถึงพรหมโลกด้วยฯ”

จะเห็นได้ว่าต้นฉบับไม่ได้พูดถึง “พระพรหม” หากพูดถึง “พรหม” เฉยๆ แสดงให้เห็นว่าผู้คนมักจะถือว่าเป็นอย่างเดียวกัน แล้วก็เลยเกิดความเห็นว่า เรื่องพรหมนี้เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ ทางพุทธสมัยหลังไปรับเอามาปน ความเชื่อหรือความเข้าใจจึงคลอนแคลนกันไปใหญ่ว่าเรื่อง นรก สวรรค์ เทวดา อะไรก็ไปรับกันมาจากทางพราหมณ์ทั้งนั้นแหละ

(ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ขอให้สังเกตข้อความที่ว่า “รู้ถึงว่าพรหมปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงพรหมโลกด้วย” อาจมีผู้สงสัยว่า เอ๊ะยังไงกัน ก็เป็นพรหมอยู่แล้วยังต้องปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพรหมโลกอีกหรือ?
ข้อนี้อธิบายว่าพรหมนั้น เมื่อกินบุญในสภาพพรหมมีความสุขจนหมดอายุ ก็ต้องตายแล้วไปเกิดอีก หากไม่ปฏิบัติความดีในระหว่างเป็นพรหม ตายแล้วก็ลงนรกไปเลย

ดังนั้นหากต้องการเกิดเป็นพรหมอีก เมื่อตายจากพรหม ก็ต้องมีข้อปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติก่อนหมดอายุเช่นกัน)
ความจริงแล้วคำว่า “พรหม” กับ “พระพรหม” นี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพราะพรหมเป็นชื่อพวก ชื่อเหล่า แต่ “พระพรหม” เป็นชื่อจำเพาะเจาะจงบุคคล เช่น

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๑๒ พระสูตรเดียวกัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร วาเสฏฐ ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่

กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอีสาน พระปชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ฯ...
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนาหรือเพราะยินดี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”
คำว่า “พระพรหม” นี้ทางพระพุทธศาสนาไม่เรียก เพราะจัดเป็นเทวดาพวกหนึ่งเรียกเป็นพรหมเฉยๆ(ดูเอาตามที่ใช้ในพระไตรปิฎก) ผู้เป็นใหญ่ในบรรดาพรหมคงมีชื่อตำแหน่งว่า สหัมบดีพรหม ขอยกหลักฐานมาแสดงดังนี้

เล่ม ๔ หน้า ๑๑
กล่าวถึง “ท้าวสหัมบดีพรหม” ทราบปริวิตกของพระพุทธเจ้าว่าจะไม่สั่งสอนหลังตรัสรู้

เล่ม ๑๐ หน้า ๑๙๓
กล่าวถึง “สนังกุมารพรหม นิรมิตอัตภาพ ๓๓ อัตภาพ”

เล่ม ๑๐ หน้า ๒๓๓
กล่าวถึง “ท้าวมหาพรหมปกครองโลกพันหนึ่ง”

เล่ม ๑๒ หน้า ๓๒๕
กล่าวถึง “พวกเทพที่นับเข้าไปในจำนวนพรหม”

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๘๔
พระพุทธเจ้าตรัส “สมัยนั้นแล พวกพรหมมีทิฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานที่นี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเป็นเหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งนอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี”

เล่ม ๑๕ หน้า ๒๐๓
“พรหมปาริสัชชะ”

เล่ม ๑๕ หน้า ๒๐๘
“ตูทุปัจเจกพรหมยืนในเวหาส พูดกับโกกาลิกะภิกษุ”

เล่ม ๒๑ หน้า ๗
“แม้เทวดาก็ชมเชย พรหมก็สรรเสริญ”

เล่ม ๒๗ หน้า ๔๒๔ ชาดก
“เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหมโลกมาเกิดเป็นพระโอรสของพระราชา”

เล่ม ๒๓ หน้า ๓๖๙
“เหมือนเทวดาผู้อยู่ในชั้นพรหม”

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเวลาพูดถึงพรหมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ทรงเรียก “พระพรหม” ทรงเรียก “พรหม” เฉยๆหรือ “เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม” “เทวดาผู้อยู่ในชั้นพรหม” ซึ่งหมายถึงเทวดาพวกที่ประณีตไปกว่าเทวดาชั้นกามาจรสวรรค์ (คือจาตุมหาราชิกาไปจนถึงปรนิมมิตวสวัสดี)

ที่ประณีตขึ้นไปนี้ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ได้ฌาน ไม่หลงลืมตายในฌานนั้นก็เป็นเทวดาชั้นพรหม หากนับตามความประณีตสูงขี้นไปตามลำดับก็มี (ตามเล่ม ๑๔ หน้า ๑๙๓) สหัสสพรหม ทวิสสหัสสพรหม จตุสหัสสพรหม ปัญจสหัสสพรหม ทสสหัสสพรหม สตสหสพรหม

ต่อจากนี้ไปเรียกเป็นเทวดาชั้น อาภา ปริตตภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา สุภา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปปผลา อริหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา เทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ เทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ เทวดาผู้ขาถึงอากิญจัญญายตนภพ เทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ (เทวดาชั้นอริหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา เป็นพรหมอนาคามี ไม่ลงมาเกิดอีก นิพพานในชั้นที่อยู่นั้นเอง เรียกว่าพรหมชั้นสุทธาวาส)

ที่เรียกกันว่า “พระพรหม” นั้น เห็นจะเป็นเรื่องของพราหมณ์ พราหมณ์คงจะมีทั้งพรหมธรรมดาและพระพรหม สำหรับพรหมธรรมดาก็คงจะเหมือนกับทางพุทธ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ ผู้ที่มีฌานย่อมเห็นได้ด้วยตาทิพย์ ไม่ว่าศาสนาใดหากฝึกได้ตาทิพย์ก็ย่อมเห็นได้

แต่พรหมของพุทธกับพรหมของพราหมณ์นั้นต่างกันอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่า ทางพุทธฯกล่าวว่า พรหมเป็นเทวดาพวกหนึ่ง ทางพราหมณ์ถือว่า “พระพรหม”เป็นผู้สร้างอะไรๆทั้งหมด “พระพรหม” ก็คงจะหมายถึงหัวหน้าของพรหมนั่นกระมัง

เรื่องที่ “พระพรหม” เป็นผู้สร้างนี้พระพุทธเจ้าทรงเล่าไว้ใน เล่ม ๑๑ หน้า ๒๓ (ปาฏิกสูตร)
คือเล่าให้ภัคควะมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีฟังว่า เคยทรงถามสมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ตามลัทธิอาจารย์ว่า “ท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น” [/color]

ทรงเล่าว่าถามเขาต่อไปว่ามีแบบอย่างไรก็ตอบไม่ถูก กลับย้อนถามพระพุทธเจ้าเข้าอีก จึงได้ตรัสตอบไป(ขอย่อ)ว่า สมัยที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม อยู่ในภพนั้นยาวนาน สมัยที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า
สัตว์ที่จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญย่อมเข้าถึง(เกิด?)ในวิมานพรหมที่ว่างเปล่า สัตว์นี้อยู่แต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน “จึงเกิดความกระสันดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง” [/color]

ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นบุญหรือสิ้นอายุ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น “ดูกร ท่านทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อนผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ ฯลฯ” (เพราะว่าตั้งใจให้เกิดมีผู้อื่นแล้วก็มีมาจริงๆ)

“แม้พวกสัตว์ที่มาเกิดภายหลังก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ แลเป็นพรหมโลก เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น
พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนิรมิตแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็นท่านพรหมผู้นี้เกิดก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลังฯ”

ต่อมาปรากฏว่า สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้(เป็นมนุษย์) เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้วมีความเพียรมนสิการโดยชอบ “บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้

เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่าท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ที่เป็นแล้วและกำลังเป็น
พระพรหมผู้เจริญใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้นเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้
ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือไม่ใช่
สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แลฯ”

สรุปแล้วได้ความว่าพรหมผู้มาเกิดก่อนนึกอยากได้เพื่อน วันหนึ่งก็มีผู้ที่หมดอายุมาเกิดอีก พรหมผู้เกิดก่อนนึกว่าผู้เกิดหลังมีขึ้นเพราะตนนิรมิต พรหมผู้เกิดหลังนึกว่าตนเกิดมาเพราะถูกนิรมิต ครั้นเกิดมาเป็นมนุษย์เจโตสมาธิได้แค่นั้น ก็ลงความเห็นว่า พรหมผู้เกิดก่อนนั้นเป็นผู้สร้าง ผู้นิรมิตเรียกเป็นพระพรหม-พระอิศวรผู้สร้างไป นี่คือพระพรหมของศาสนาพราหมณ์

พระพรหมนี้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า แสดงว่าในทางพุทธแล้วพระพรหมไม่ได้เป็นผู้สร้าง หากพวกพราหมณ์เข้าใจผิดกันไปเอง ถึงพระพุทธเจ้าจะตรัสว่ามีพรหม ก็เป็นพรหมในฐานะเทวดาประเภทหนึ่งเท่านั้น และในฐานะเทวดาตาย(หมดอายุ)แล้วจะเกิดในนรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน มากกว่าเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา (เล่ม ๑๙ หน้า ๕๒๘)

พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงตำหนิพวกพราหมณ์ว่าโง่เง่าเต่าตุ่นหรืองมงาย ทั้งที่ทรงทราบว่าเขาเชื่อกันอย่างผิดๆ ทรงปฏิบัติตามแนวของพระองค์คือ “ตรัสแต่ธรรม” ซึ่งได้แก่การเล่าความจริงให้ฟังว่าเป็นดังนี้เท่านั้น
ความจริงการประณามเรื่องพราหมณ์ที่เชื่อว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างนี้มีว่าไว้แรงๆเหมือนกัน ไม่ใช่พระพุทธเจ้าทรงว่าดอกหากเป็นเรื่องในชาดก
เหตุผลที่ว่าไว้นั้นทำให้เห็นได้ชัดว่า คนในสมัยนั้นไม่ใช่ไร้เหตุผลหรืองมงาย กลับมีเหตุผลมากที่เดียวลองพิจารณากันดู

เล่ม ๒๘ หน้า ๒๒๕ (ภูริทัตชาดก)
“พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตในโลกนี้ กล่าวว่าพระพรหมครอบงำได้ทั้งหมดและว่าพระพรหมบำเรอไฟ พระพรหมมีอานุภาพกว่าทุกสิ่ง และมีอำนาจไม่มีใครสร้าง กลับไหว้ไฟที่ตนสร้างเพื่อประโยชน์อะไร คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ ไม่ควรเพ่งเล็ง ไม่เป็นความจริง”

เล่ม ๒๘ หน้า ๒๒๖
“พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อลาภและสักการะเกิดขึ้นจึงร้อยกรองยัญพิธีว่า เป็นธรรมสงบระงับด้วยการฆ่าบูชายัญ

พวกพราหมณ์ถือการทรงไตรเพท
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดการไถนา
พวกศูทร์ยึดการบำเรอ
วรรณะทั้ง ๔ นี้ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมา เฉพาะอย่างนั้น กล่าวกันว่ามหาพรหมมีอำนาจจัดไว้

ถ้าคำนี้พึงเป็นคำจริงเหมือนดังกับที่พราหมณ์กล่าวไว้ คนที่ไม่ใช่กษัตริย์ไม่พึงได้ราชสมบัติ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่พึงศึกษามนต์ คนนอกจากแพศย์ไม่พึงทำการไถนา และพวกศูทร์ก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น
เพราะคำนี้เป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ พวกคนหาเลี้ยงท้องกล่าวไว้ คนไม่มีปัญญาหลงเชื่อ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง
เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บส่วยจากแพศย์ พวกพราหมณ์ถือศาสตราเที่ยวฆ่าสัตว์

เพราะเหตุไรพระพรหมจึงไม่ทำโลกอันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย ถ้าแหละพรหมเป็นนั้นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวงให้มีความสุข

ถ้าแหละพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือมารยาและเจรจาคำเท็จ มัวเมา ถ้าแหละพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ก็เชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตที่อยุติธรรม

เมื่อธรรมมีอยู่ พรหมนั้นก็จัดโลกไม่เที่ยงธรรม ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทริ์ ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของพระอริยะ เป็นธรรมผิดๆ ของชาวกัมโพชรัฐเป็นอันมากฯ”

ชาดกต่างๆเป็นเรื่องประกอบพระพุทธศาสนา ท่านคงเห็นกันได้ว่าแม้ความคิดสมัยของชาดกก็เป็นความคิดของบัณฑิต การที่จะเหมาเอาว่าพระไตรปิฏกแต่งเรื่องเทวดามาหลอกแล้วจะได้ผลสำเร็จ คือมีคนเชื่อโดยงมงายนั้นเห็นจะเป็นการสมมติที่ไกลความจริงมากอยู่

สรุป แล้วกล่าวได้ว่าในลักษณะเดียวกัน การกล่าวว่าศาสนาพุทธไปรับเอาพรหมมาจากศาสนาพราหมณ์ก็ผิดอีกนั่นแหละ โดยเฉพาะที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นความเข้าใจผิดของเขา

พรหมในศาสนาพุทธ(คือที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้)ได้แก่เทวดาพวกหนึ่งเท่านั้น พรหมเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทางศาสนาพุทธเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น อย่างเดียวกับว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงมนุษย์เข้าไว้ เราจะเอามาพูดว่าในพระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีมนุษย์นั้นไม่ได้ดอก

ในเมื่อพรหมมีอยู่ ทางพราหมณ์เขาได้เจโตสมาธิเขาก็เห็นได้ ทางพุทธศาสนา(หรือศาสนาอื่น)มีเจโตสมาธิก็เห็นได้เป็นการยืนยันตรงกัน ของเขามีอยู่แล้ว จะว่าเป็นของลัทธินั้น ศาสนานี้ นั้นไม่ถูก อย่างเทวดาเป็นต้น เป็นของที่มีอยู่ เทวดาที่ไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าก็ถมไป.

ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๘๙

ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 6/10/12 at 15:00 Reply With Quote



เรื่องเทวดา ภาค ๒ (ตอนที่๑)


โดย ก.ษ. ป.
ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่๙๔ ปี ๒๕๓๑

ท่านเชื่อว่ามีเทวดาหรือ?
ท่านไม่เชื่อว่ามีเทวดาหรือ?
ถ้าท่านเชื่อ มีเหตุผลอะไรถึงไม่เชื่อ?
ถ้าท่านไม่เชื่อ มีเหตุผลอะไรถึงไม่เชื่อ?

คำตอบของคำถามทั้งสองนี้คงจะมีทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายเชื่อก็บอกว่าพระท่านสอน
ฝ่ายไม่เชื่อก็บอกว่าพระท่านบอกและถ้าเทวดามีก็ต้องปรากฏให้เห็นบ้าง
เราจะเห็นได้ว่าพระที่ใช้ตำราเดียวกันนี้ ศาสนาเดียวกันนี้ ที่ให้คำตอบเรามาคนละอย่าง
และเราก็เชื่อไปตามที่ท่านบอกโดยไม่มีความรู้อะไรของตัวเองเลย

ในเมื่อมีการสอนเป็นสองฝ่ายเช่นนี้ จึงเกิดความจำเป็นขึ้นว่าเราควรจะหาความรู้เอาเองบ้างว่าอะไรเป็นอะไร

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงอาศัยหลักฐานอย่างเดียวของพระพุทธศาสนาคือ พระไตรปิฏกฉบับหลวง ดีงเอา ข้อความที่เกี่ยวกับเทวดาออกมาทั้งหมด ให้เป็นที่รู้กันว่าท่านพูดไว้อย่างไรบ้าง จากนั้นท่านผู้อ่านจะได้สรุปความเห็นเอาเองได้ว่าที่ถูกต้องนั้นควรเป็นอย่างไร
มีข้อเตือนใจอย่างหนึ่งคือ ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เชื่อว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่าน รู้ ทีเดียวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จริงๆ เพราะถ้าไม่รู้อย่างนั้นจริงๆท่านก็ไม่ทรงนำมาสอน

คำถามอาจจะเกิดขึ้นในตอนนี้ว่าหากเป็นสิ่งที่มองเห็นไม่ได้จะรู้ได้จริงจริงอย่างไร หรือเรื่องนั้นๆเป็นอย่างนั้นจริง
คำตอบก็มีอยู่ว่า ถ้ามีทิพยจักษุและมีญาณก็เห็นได้ รู้ได้ และความจริงของคำตอบนี้จะพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติหรือฝึกให้มีความสามารถเช่นนั้นเกิดขึ้นในตัวท่านเองเท่านั้น
(เพราะว่าถึงผู้อื่นจะฝึกได้แล้วมายืนยันกับท่าน ท่านก็ไม่เชื่ออยู่ดี พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้ด้วยตนเอง)

๑. ความขัดแย้งในเรื่องเทวดา
ความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ว่าเทวดามีหรือไม่นั้นเป็นปัญหาที่พูดกันมานานเต็มที ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นปัญหาเดียวกันกับ ปัญหาว่านรกสวรรค์มีจริงหรือไม่นั่นเอง เพราะว่าเทวดาก็ต้องมีสวรรค์สำหรับอยู่ ส่วนพรหมนั้นจัดว่าเป็นเทวดาประเภทหนึ่งเหมือนกัน ท่านเรียกเทวดาที่นับเข้าในจำนวนพรหม
ความเห็นว่ามีเทวดานั้นเป็นความเห็นตามแบบ เอาไว้ไปค้นหลักฐานกันดูในตอนหลัง
สำหรับในขั้นนี้ขอพิจารณาความเห็นด้านของฝ่ายที่ว่าเทวดาไม่มีไปก่อน

1. ความเห็นว่าความจริงพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบอยู่แล้วว่าเทวดาไม่มี หากแต่ว่าคนในสมัยนั้นเชื่อกันอยู่ว่าเทวดามี ท่านก็เลยเอออวยไปด้วย
นี่ไม่ใช่ความรู้ เพราะเป็นความเห็นของคนสมัยหลังพระพุทธเจ้าตั้งสองพันห้าร้อยปี เป็นแต่เพียงสันนิษฐานเอาเองเท่านั้น แต่คำกล่าวเช่นนี้ก็เท่ากับกล่าวว่ามีเทวดาทั้งๆที่รู้อยู่เต็มพระทัยแล้วว่าเทวดาไม่มี คือเป็นการกล่าวว่าพระพุทธเจ้าผิดศีลข้อมุสาวาทโดยตรงทีเดียว ทำให้มองได้ว่าน่าจะเป็นความเห็นของพวกนอกศาสนา เพราะว่าขาดความรู้ในด้านศีลและขาดความเคารพในองค์พระพุทธเจ้า

2. ความเห็นว่าสวรรค์-นรกนั้นที่จริงแล้วไม่มีดอก ใจเป็นสุขเมื่อใดก็ขึ้นสวรรค์ ใจเป็นทุกข์เมื่อใด นั่นคือการตกนรก
ความเห็นเช่นนี้เป็นของเกจิอาจารย์ดังๆและเป็นที่นิยมเลื่อมใสในหมู่ปัญญาชนสมัยใหม่ แต่หากท่านจะใช้ปัญญาคิดต่อไปอีกสักนิดเดียวท่านก็จะนึกออกทีเดียวว่า คนเรานั้นสามารถทำบาปได้ด้วยใจเป็นสุข

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อย่างพวกล่าสัตว์(ที่ไม่ผิดกฏหมาย) เวลาล่าได้ก็จะเกิดความยินดีปรีดายิ้มย่องผ่องใสด้วยความภูมิใจ ถ่ายรูปกับสัตว์ที่ล่าได้ ไว้เป็นที่ระลึก ตัดหัว ตัดเขา มาประดับไว้ในห้อง ข้างพวกตกปลาก็ตั้งสมาคมตกปลากันขึ้น ใครตกได้ตัวโตที่สุดก็พากันยินดีเอาลงหนังสือกินเนสเป็นสถิติโลกไปเลย

อย่างนี้แปลว่าทำบาปได้ชึ้นสวรรค์ ในทางตรงกันข้าม ตำรวจทำความดี จับเฮโรอีนได้ ปรากฏว่าเป็นของคนใหญ่คนโตเข้าเลยลงกระป๋อง ได้รับความทุกข์ไป นี่คือทำความดีแล้วตกนรก(เพราะใจเป็นทุกข์)

คำสอนใดที่ค้านได้นั้น จำไว้เถิดว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของท่านเป็นความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ค้านไม่ได้
เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่าผู้สอนให้มีความคิดดังกล่าวนั้นมีปัญญาขนาดไหน

3. คำอธิบายว่าเทวดาก็ดี พรหมก็ดี เป็นภาษาธรรม หมายถึงคนที่ประพฤติดี เช่นอย่างกล่าวว่าพ่อแม่คือพรหมของบุตรเป็นต้น
สำหรับผู้ที่เคยอ่านพระไตรปิฏกมาแล้ว จะต้องเห็นว่านี่เป็นคำอธิบานที่หลอกชาวบ้านที่ไม่เคยอ่านพระไตรปิฏกอย่างหน้าตาเฉยยังงั้นแหละ ข้างผู้ฟังก็หลงเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นพระผู้ใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดัง จะขอยกข้อความในพระไตรปิฏกมาแสดงให้เห็นชัดๆว่า ไม่มีทางที่จะแปลให้เป็นดังนั้นได้เลยทีเดียว

เล่ม ๑๐ หน้า ๑๘๘ ชนวสภสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า ในวันนั้นหลังจากที่ทรงดูคติของชาวมคธที่มาเฝ้าก็ได้ยินเสียงยักษ์พูดมาโดยไม่เห็นตัวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่า ชนวสภ พระอานนท์เคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างหรือเปล่า พระอานนท์ทูลตอบว่าไม่เคยได้ยิน คราวนี้ยังขนลุกชูชันเลย น่ากลัวจะไม่ใช่ยักษ์ต่ำๆเป็นแน่

“อานนท์ ในระหว่างที่มีเสียงปรากฏ ยักษ์มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งปรากฏต่อหน้าเรา แม้ครั้งที่สองก็เปล่งเสียงให้ได้ยินว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้านามว่า พิมพิสาร ข้าแต่พระสุคต ข้าพระพุทธเจ้ามีนามว่า พิมพิสาร ครั้งที่เจ็ดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าถึงความเป็นสหายของ ท้าวเวสสุวัณมหาราช ข้าพระพุทธเจ้านั้นจุติจากนี้แล้ว สามารถเป็นพระราชาในหมู่มนุษย์”

พระเจ้าพิมพิสาร นี้คงจะจำกันได้ว่าคือ พระราชบิดาของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ถูกพระโอรสปลงพระชนม์ไป ท่านมารายงานว่าไปเกิดในเทวดาชั้นจาตุมหาราชเป็นครั้งที่ ๗ แล้ว
(คำว่ายักษ์นี้คือเทวดาที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ)

เล่ม ๑๔ หน้า ๔๐๐ อนาถบิณฑิโกวาทสูตร
“ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล ครั้งนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรมีรัศมีงามส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อย ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาเหล่านี้ว่า....”

เล่ม ๒๖ หน้า ๗๕ วิหารวิมาร
ท่านพระอนุรุทรเถระ ถามนางเทพธิดาว่า “ขอท่านจงบอกคติของนางวิสาขานั้นแก่อาตมาด้วยเถิด”
นางเทพธิดานั้นตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้เป็นสหายของดิฉัน ได้สร้างมหาวิหารถวายแด่สงฆ์ เป็นผู้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง เธอได้บังเกิดในหมู่ทวยเทพชั้นนิมมานรดี เป็นประชาบดีของท้าวสนิมมิตวดี ผู้เป็นใหญ่ในชั้นนิมมานรดีนั้น”

ตามที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่าเมื่อพูดถึงเทวดาก็เป็นเทวดาจริงๆ ที่ว่าเป็นภาษาธรรมก็ไม่เห็นทีท่าว่าจะมีความหมายอะไรได้เลย

เล่ม ๓๐ หน้า ๑๐๐ โธตกมาณวกปัญหานิเทส
“เทพ”ในคำว่า “เทว”ในอุเทศว่า “ปสฺสามหํ เทวมนุสฺสโลเก”ดังนี้มี ๓ คือ
สมมติเทพ๑ อุปปัติเทพ๑ วิสุทธิเทพ๑

“สมมติเทพเป็นไฉน พระราชา พระราชกุมาร และ พระเทวี เรียกว่าสมมติเทพ
อุปปัติเทพเป็นไฉน เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา เทวดาชาวดาวดึงส์ เทวดาชาวยามา เทวดาชาวดุสิต เทวดาชาวนิมมานรดี เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัสดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาที่ชั้นสูงกว่านั้น เรียกว่า อุปปัติเทพ
วิสุทธิเทพเป็นไฉน พระอรหันต์ขีณาสพ สาวกของพระตถาคตและพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ

พระผู้มีพระภาคเป็นเทพ เป็นเทพยิ่งกว่าสมมติเทพ กว่าอุปปัติเทพ และกว่าวิสุทธิเทพทั้งหลาย เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสีหะยิ่งกว่าสีหะ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นเจ้าคณะยิ่งกว่าเจ้าคณะ เป็นมุนียิ่งกว่า เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชาฯ”

เทวดาที่เอามาเถียงกันมากก็ได้แก่เทวดาที่มองไม่เห็นตัว คืออุปัตติเทพนี่แหละ ตามพระไตรปิฏกท่านก็แสดงให้เห็นอยู่ชัดๆว่ามี เพราะฉะนั้นคำอธิบายที่ว่าเทวดาเป็นภาษาธรรม ก็ฟังเหลวเปล่าไม่ได้อีกน่ะแหละ

4. ความเห็นว่า เรื่องเทวดานี้เป็นเรื่องที่รับเอามาจากศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพราหมณ์นั้นผู้เขียนไม่ได้ศึกษา จึงต้องกล่าวไปเท่าที่คิดว่าจะถูก คือเข้าใจว่าทางพราหมณ์นั้นถือว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง เรียกว่าเป็นพระเจ้ากันทีเดียวละ
ถ้าหากว่ารับเอาเทวดาจากทางพราหมณ์เข้ามา เราก็จะต้องรับว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างพระพุทธเจ้า ซึ่งความจริงแล้วทางพุทธเราถือว่าเทวดา(ถ้ามีพระอิศวรก็ต้องรวมพระอิศวรด้วย) ต่ำกว่าพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้านั้นทรงสอนทั้งเทวดาและมนุษย์)

ดังนั้นที่ว่ารับเอามาจากทางพราหมณ์ก็ไม่เข้าเรื่องอีกแหละ ในพระไตรปิฏกนั่นนั้นไม่ปรากฏว่ามีเทวดาชื่อพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ หรือพระพิฆเณศวร์ อยู่เลย
พิธีกรรมทางศิลปะต่างๆนั้นคงจะใช้ทางพราหมณ์เป็นหลักกัน ดังนั้นก็มีการบูชาครูของทางฝ่ายพราหมณ์ เมื่อเป็นฝ่ายพราหมณ์ก็ควรจะรู้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องของทางพุทธ จะเอาเรื่องพิธีนอกศาสนามาอ้างว่าศาสนาพุทธได้รับอิทธิพลเทวดามาจากพราหมณ์นั้น อ้างไม่ได้ อ้างไม่ถูก

5. ความเห็นว่า ได้มีการแต่งเติมเข้ามาในพระไตรปิฏก เพื่อจะใช้ปกครองคนในสมัยนั้น ซึ่งยังโง่เง่าเต่าตุ่น ความเห็นนี้แย้ได้หลายทาง

5.1 การแต่งเติมความไม่เป็นจริงเข้าไปในพระไตรปิฏกนั้น ทำไม่ได้ และไม่ทำกัน ทั้งนี้เพราะว่า

- พระไตรปิฏกไม่ใช่ของที่ใครจะมาแต่งเอาได้ตามใจชอบ เพราะถ้าแต่งได้ ในปัจจุบันคงมีพระไตรปิฏกที่ใจความไม่เหมือนกันเลยตั้งหลายร้อยฉบับแล้ว
- ความถูกต้องของพระไตรปิฏกนั้น ทำด้วยการสังคายนา บุคคลที่เกี่ยวข้องในการสังคายนานั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์(ครั้งแรก ๕๐๐ องค์ ครั้งที่สอง ๗๐๐ องค์) หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นพระเถระผู้ใหญ่จำนวนมาก แล้วยังมีพระราชาเป็นองค์อุปถัมภกอีก

5.2 การสังคายนานั้นไม่ใช่เป็นการรจนาเพิ่มเติม หากเป็นการเอาของเดิมที่มีอยู่มาจัดเรียงหมวดหมู่และดูความถูกต้อง มีจุดสำคัญที่ต้องระลึกคือ
ก. นิกายเถรวาทอย่างของเราไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงบัญัติไว้
ข. การแต่งเติมสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส ไม่ได้ทรงบัญัตินั้น พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ว่าเป็นอธรรมวาที เป็นบ่อเกิดแห่งการทะเลาะวิวาท เป็นบ่อเกิดแห่งสังฆเภท และเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า

การกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ก็เป็นกรรมที่ทำให้ลงนรกได้แล้ว (เล่ม ๑๒ หน้า ๒๑๖ )
คนสมัยนี้อาจไม่กลัวการลงนรก จึงนึกว่าจะบิดเบือนพระไตรปิฏกเล่นได้ง่ายๆตามใจ แต่คนสมัยนั้นเชื่อตามพระพุทธเจ้า กลัวนรก

พระยายมราชเองก็ยังกลัวนรก (เล่ม ๑๔ หน้า ๒๙๔)
การเติมลงไปว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงเทวดาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆที่ผู้เติม(พระที่ทำสังคายนา) รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ตรัสไว้นั้นก็คือการกล่าวมุสาโดยตรง ไม่น่าเป็นไปได้ว่าบรรดาพระผู้ใหญ่ที่ร่วมในพิธีจะพร้อมใจกันทำ มิหนำซ้ำยังทำต่อหน้าพระราชาอีกด้วย

ค. ที่เข้าใจกันว่าคนในสมัยพุทธกาลเป็นคนโง่ๆ คนในสมัยนั้นไม่แน่นักว่าจะเป็นดังที่คิด ถ้าพูดในด้านวิทยาศาสตร์ อิเลคทรอนิคส์ และคอมพิวเตอร์ อะไรเหล่านี้ก็ยอมรับว่าความรู้สู้สมัยปัจจุบันไม่ได้ แต่ในทางปรัชญาแล้วไม่แน่นัก

ง. ขอให้ดูตัวอย่างที่คัดมาจากพระไตรปิฏกดังต่อไปนี้
เล่ม ๑ หน้า ๗๔๓
“คนผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ ฝ่ายคนผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้ ก็ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ”
เล่ม ๒ หน้า ๒๗๔
“บุคคลควรกล่าวแต่ถ้อยคำเป็นที่จำเริญใจ ไม่ควรกล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นที่จำเริญใจในที่ไหนๆ”

เล่ม ๓ หน้า ๑๒๕
“ได้สิ่งใดแล้วควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภจัดเป็นเหตุให้เสื่อม”
เล่ม ๑๐ หน้า ๒๘๗
“บุคคลนั้น เมื่อจะพูดให้ถูก จะพูดว่าเราไม่รู้สิ่งนี้ เราไม่เห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นจึงไม่มี ดังนี้ หาได้ไม่”
เล่ม ๑๓ หน้า ๑๐๓
พระพุทธเจ้าตรัส “ส่วนเราเองเล่า เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น จะพึงถือเอาโดยส่วนเดียวแล้วกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ข้อนั้นพึงเป็นการสมควรแก่เราหามิได้”

เล่ม ๑๓ หน้า ๑๑๗
คำว่าของพระรัฐบาล “จงมาดูภาพอันวิจิตร มีกายเป็นแผลอันคุมกันอยู่แล้ว กระสับกระส่าย เป็นที่ดำริของชนเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง
จงมาดูรูปอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล มีกระดูกอันหนังห่อหุ้มไว้ งามพร้อมด้วยผ้า(ของหญิง) เท้าที่ย้อมสีแดงสด หน้าที่ไล้ด้วยจรุณ พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
ผมที่แดงงาม ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้
กายเน่าอันประดับด้วยเครื่องอลังการ ประดุจทนานยาหยอดอันใหม่วิจิตร พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้”

ถ้าจะว่าคนสมัยก่อนโง่ คนสมัยนี้ก็ยิ่งโง่ไปกว่า เพราะคนสมัยนี้ก็ยังถูกหลอกด้วย การแต่งประดับอันวิจิตร มิหนำซ้ำยังเอาไปประกวดจนถึงระดับโลกเสียด้วย

เล่ม ๑๓ หน้า ๔๙๐
พระพุทธเจ้าตรัส
“ดูกร ภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อกันด้วนดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ไม่เป็นอื่นก็มี
อนึ่งสิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว สิ่งที่ตรึกด้วยดีทีเดียว สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี
ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี
ดูกร ภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้ง เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรถึงความตกลง ในข้อนั้นในส่วนเดียวว่าสิ่งนั้นแหละจริง สิ่งอื่นเปล่า”

เล่ม ๑๓ หน้า ๔๙๙
“ดูกร พราหมณ์ เราจะได้กล่าวว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูงก็หามิได้ แต่จะได้กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูงก็หามิได้”
เล่ม ๑๔ หน้า ๓๓๙
“ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แลกรรมไม่ควรส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี และกรรมที่ควรแท้ๆส่องให้เห็นว่าควรก็มี ให้เห็นว่าควรก็มี”

เล่ม ๑๕ หน้า ๙
“ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี”
“แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
เล่ม ๑๕ หน้า ๒๘
คำของเทวดา “ทานและการรบเสมอกัน พวกวีรบุรุษแม้มีน้อยย่อมชนะคนขลาดที่มากได้”

เล่ม ๑๕ หน้า ๓๐๑
ท้าวสักกะ“บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสบสุขได้ ณ ที่ใด หากความสุขจะมีได้ โดยไม่ต้องทำงาน ไม่ว่าในที่ไหนๆใครๆย่อมทรงชีพอยู่ไม่ได้”
เล่ม ๑๙ หน้า ๒๗๑
“ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติดความแก่อันทำให้ผิวพรรณทรามไป รูปอันน่าพึงใจก็คงถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง”

เล่ม ๒๐ หน้า ๑๖๗
“ขึ้นชื่อว่าความลับ ไม่มีในโลกสำหรับผู้ทำบาปกรรม ดูกร บุรุษ จริงหรือเท็จตัวของท่านเองย่อมรู้ได้”
“แน่ะ ท่านผู้เจริญ ท่านสามารถที่จะหาความดีได้หนอ แต่ท่านดูหมิ่นตัวเองเสีย”
เล่ม ๒๐ หน้า ๑๖๗
“ดูกร สรภะ สุนัขจิ้งจอกแก่ในป่าใหญ่คิดว่าจะบันลือสีหนาท มันคงบันลือเป็นสุนัขจิ้งจอกอยู่นั่นเอง บันลือไม่ต่างสุนัขจิ้งจอกไปได้เลย”

เล่ม ๒๑ หน้า ๖๑
“คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่าเป็นพาลหรือบัณฑิต”
เล่ม ๒๒ หน้า ๓๐
“อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมมีอุจจาระและปัสสาวะเป็นผล”

เล่ม ๒๓ หน้า ๑๒๓
ศาสดาชื่ออรกะ “ดูกร พราหมณ์ แม่น้ำไหลจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยว พัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันหยุด แต่ที่แท้ แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยลงไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา เช่นนั้นเหมือนกัน”

เล่ม ๒๕ หน้า ๑๘
“ภมร ไม่ยังดอกไม้อันมีสีให้ชอกช้ำ ลิ้มเอาแต่รสแล้วย่อมบินไป”
เล่ม ๒๕ หน้า ๑๙
“บุคคลไม่พึ่งใส่ใจในคำแสลงหูของชนเหล่าอื่น ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของชนเหล่าอื่น พึงพิจารณาจากกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น”
“ดอกไม้งาม มีแต่สีไม่มีกลิ่นฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำฉันนั้น”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๐
“ราตรียาวแก่ผู้ตื่นอยู่ โยชน์ยาวแก่คนผู้อื่นเมื่อยล้า สงสารยาวแก่คนพาลผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม”
“คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำหวาน ตลอดกาลที่บาปยังไม่ให้ผล แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น”
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓
“รอยเท้าของพระภิกษุนั้น(พระอรหันต์) ไปตามได้โดยยากเหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๔
“บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม ส่วนบุคคลใดพึงชนะผู้เดียว บุคคลนั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม”
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๖
“บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่ทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป”
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่ามีปริมาณน้อยจักมาไม่ถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกที่ละหยาด”

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๗
“ความแก่และความตายย่อมต้อนชีวิตสัตว์ไป”
เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐
“บุรุษผู้มีสุตะน้อยย่อมแก่เหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อมเจริญ ปัญญาของเขาหาเจริญไม่”
“สรีระอันกรรมสร้างให้เขาเป็นเมืองแห่งกระดูก มีเลือดเนื้อเป็นเครื่องไล้ทา เป็นที่ตั้งแห่งความแก่และความตาย ความถือตัว และความลบหลู่”

เล่ม ๒๕ หน้า ๓๕
“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์”
เล่ม ๒๕ หน้า ๓๘
“ดูกรอตุละ การนินทาและการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียวหรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้”

เล่ม ๒๕ หน้า ๓๙
“นักปราชญ์ทำกุศลทีละน้อยๆ ย่อมขจัดมลทินของตนออกได้โดยลำดับ”
“สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในเหล็กเอง”
เล่ม ๒๕ หน้า ๔๐
“โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก”

เล่ม ๒๕ หน้า ๕๑
“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงพูดมาก”
เล่ม ๒๕ หน้า ๑๙๐
“ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์”
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๖๐
“ห่อปลาเน่าไว้ด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้านั้นย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้ง”

เล่ม ๒๖ หน้า ๓๓๖
“คนเราย่อมไม่เป็นโจรเพราะคำบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น”
เล่ม ๒๖ หน้า ๓๗๔
“บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความแก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่”
เล่ม ๒๗ หน้า ๑๕
“ศัตรูผู้เป็นปราชญ์ยังดีกว่าคนโง่เขลา ถึงจะเป็นผู้อนุเคราะห์ จะดีอะไร”

เล่ม ๒๗ หน้า ๑๖
“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้”
เล่ม ๒๗ หน้า ๓๖
“ไก่ตัวนี้ไม่ได้เติบโตอยุ่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จักกาลที่ควรขันและไม่ควรขัน”
เล่ม ๒๗ หน้า ๓๙
“เหตุอย่างเดียวกันนั้นแหละเป็นผลดีแก่คนหนึ่ง แต่เป็นผลร้ายกับอีคนหนึ่งได้ เพราะฉนั้น เหตุอย่างเดียวกันมิใช่ว่าจะเป็นผลดีไปทั้งหมด และมิใช่จะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด”

เล่ม ๒๗ หน้า ๗๙
“มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาเขลาไม่เห็นอริยธรรม พูดกันแต่ว่าเงินของเรา ทองของเราดังนี้ ทั้งกลางวันและกลางคืน”
เล่ม ๒๗ หน้า ๙๑
“กาล ย่อมกินสัตว์ทั้งปวง กับทั้งตัวเองด้วย”
เล่ม ๒๗ หน้า ๑๗๙
“ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

เล่ม ๒๗ หน้า ๑๙๒
“บุคคลย่อมทำความดีและความชั่วด้วยตนเอง คนอื่นจะทำความดีหรือความชั่วให้กับคนอื่นไม่ได้ไม่ได้เลย”
เล่ม ๒๗ หน้า ๒๖๕
“ความโกรธเกิดแต่ไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อยแต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ”

เล่ม ๒๗ หน้า ๒๗๖
“ความโกรธ เป็นของคนไร้ปัญญา”
เล่ม ๒๗ หน้า ๓๒๙
“คนที่รักกันถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันก็เหมือนอยู่ร่วมกันด้วยหัวใจ
ด้วยการอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกัน ย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันได้”

คำสอนในพระพุทธศาสนานี้เห็นได้ว่า เป็นคาพูดของนักปราชญ์และสำหรับสอนคนที่เป็นนักปราชญ์ ดังจะเห็นได้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้าในเล่ม ๑๒ หน้า ๒๖๖ (และในที่อีกหลายแห่ง) ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุนี้ ลึก เห็นได้โดยยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต อันความตรึกหยั่งไม่ถึง ละเอียด รู้ได้แต่บัณฑิต”

จ. คำสอนของพระพุทธเจ้าเน้นหนักด้านปัญญา
เล่ม ๑๒ หน้า ๔๕๒
“อริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วย ขันธ์ ๓ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์”

เล่ม ๙ หน้า ๑๔๘
“ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์
ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น
ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น
ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปํญญา
และนักปราชญ์ย่อมกล่าว ศีลกับปัญญาว่าเป็นยอดในโลก”

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๖๕
“ธรรม ๔ ประการ คือ
การคบสัตบุรุษ๑ การฟังสัทธรรม๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม๑ เมื่อเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว จะเกิดผลหลายประการและสำหรับผลในด้านปัญญา แล้วจะทำให้

มีปัญญามาก
มีปัญญาแน่นหนา
มีปัญญาไพบูลย์
มีปัญญาลึกซึ้ง
มีปัญญาประมาณมิได้
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
มีปัญญาเร็ว
มีปัญญาที่เบา
มีปัญญาร่าเริง
มีปัญญาไว
มีปัญญาคมกล้า”

ผู้ที่ตำหนิคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ควรตรวจดูตัวเองเสียก่อนว่ามีศีลครบหรือไม่ (ไม่ต้องมาก เอาแค่ศีล ๕) ถ้าหากไม่มีก็แปลว่าปัญญายังใช้ไม่ได้ ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะมาวิจารณ์คำสอนของท่าน
จุดสำคัญที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านทรงมีปัญญาเป็นเลิศ ทรงมีพระสัพพัญญุตตาญาณ(ไม่มีอะไรที่ต้องการรู้แล้วรู้ไม่ได้)เช่นนี้แล้ว ท่านจะถ่อมพระองค์ไปใช้วิธีหลอกคนให้เชื่อด้วยวิธีบอกว่ามีเทวดา(หากว่าเทวดาไม่มีอยู่จริง)ทีเดียวหรือ
แม้คนธรรมดาปัญญาน้อยๆอย่างเราๆ ก็ยังมีความหยิ่งพอที่จะไม่ใช้วิธีหลอกหลวงต่ำๆในลักษณะนั้นมิใช่หรือ?

อนึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นห่วง เกรงว่าคนจะไม่เชื่อจนถึงกับต้องหลอกกันให้เชื่อ
เล่ม ๑๔ หน้า ๗๒
“ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้”
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๒
“พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อหลอกหลวงคน”

สรุปแล้วเป็นอันว่าในทัศนะของผู้เขียนแล้วความเห็นที่ว่า การบรรจุเรื่องเทวดาลงไปในพระไตรปิฏกเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองหรือเพื่อเป็นวิธีการให้คนโง่ในสมัยนั้นไม่กล้าทำความชั่วก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เช่นเดียวกับความเห็นอย่างอื่นข้างต้น.

ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่๙๔ ปี ๒๕๓๑

ll กลับสู่สารบัญ



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved