ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 10/11/09 at 13:46 Reply With Quote

หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 5 (ตอนที่ 3) พระธาตุหริภุญชัย






สารบัญ

01.
วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่
02. พระราชชีวประวัติ พระแม่เจ้าจามะเทวี
03. วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/2/10 at 12:16 Reply With Quote



ตอนที่ ๓


วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่



ทิวทัศน์บริเวณบน "พระธาตุดอยคำ" มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ

เมื่อฉบับที่แล้วได้เล่าเรื่องมาถึงตอนออกมาจาก วัดพระธาตุศรีจอมทอง แล้วเดินทางมาค้างคืนที่ วัดโขงขาว รุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๐ จึงเดินทางต่อไปยังจุดที่ ๔ คือ วัดพระธาตุดอยคำ

ครั้นเมื่อรถขึ้นมาถึงวัดแล้ว เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องบายศรี และนำผ้าห่มขึ้นห่มรอบพระเจดีย์พร้อมด้วยดอกดาวเรืองแล้ว ทุกคนมานั่งแวดล้อมอยู่บนลานขององค์พระธาตุ เพื่อรับฟังเรื่องราวความสำคัญของปูชนียสถานที่นี้ต่อไป ตามตำนานและประวัติ พระธาตุดอยคำ ได้เล่าไว้ว่า

เอกัง สมายัง... ในกาลสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วได้ประมาณ ๑๙ พระพรรษา มีพระชนมายุได้ ๕๐ เศษ พระองค์มาทรงจินตนาการว่า หากว่าพระองค์ปรินิพพานไปจากโลกนี้แล้ว ปวงมนุษย์ที่อยู่ต่างแดน จะประสบเคราะห์กรรมในปวงกิเลสต่าง ๆ ยังมิรู้มิแจ้งในธรรมของพระองค์อีกมากมาย ควรที่พระองค์จำต้องไปโปรดเขาเหล่านั้น ที่ยังมัวเมาอยู่ในโลกีย์วิสัย ในทิศานุทิศต่างๆ ในแคว้นแดนไกลให้พ้นจากหายนะ จักได้เป็นที่ตั้งรากฐานแห่งพุทธบัญญติของพระองค์สืบไป

เมื่อพระองค์ทรงรำพึงดังนั้นแล้ว จึงได้นำภิกษุอรหันต์พร้อมด้วยพระยาอินทร์ มุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนือ เมื่อเห็นว่าเมืองใดที่ฝูงชนยังหนาด้วยกิเลสต่าง ๆ ก็พยายามนำหลักธรรมของพระองค์ เข้าขัดเกลากิเลสของฝูงชนนั้น ๆ โดยลำดับ และเมื่อสถานที่ใดในกาลข้างหน้าประชาชนชาวเมืองจะเคารพเลื่อมใส และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นรากฐานสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักประทับ รอยพระบาท และทรงประทาน พระเกษาธาตุ ประดิษฐานไว้ให้ ณ ที่นั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของฝูงชนสืบไป

พระองค์พร้อมทั้งพระอรหันต์ทั้งหลายได้บำเพ็ญพระกรณียกิจโดยมิได้หยุดยั้งท้อถอยแม้จะต้องเสด็จฝ่าทางที่ทุรกันดาร ฝ่าอุปสรรคแสนยากเพียงใดก็ตาม พระองค์ก็ทรงเสด็จต่อ ๆ ไป จนกระทั่งถึงเมือง บุรพนครคือ "ลำพูน" เดิม และจากนั้นได้ทรงเสด็จผ่านขึ้นเหนือของเมืองบุรพนคร ทรงยังยั้งอยู่ ณ หมู่บ้านนั้นแล้วได้เสด็จสู่ ดอยคำ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ขณะที่พระองค์และพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้เสด็จไปถึงดอยคำนั้น

ปรากฎว่า ณ ที่นั้น เป็นที่อาศัยของยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ยักษ์ทั้งสามตนนี้ยังชีพอยู่ด้วยเนื้อมนุษย์และเนื้อสัตว์ มนุษย์และสัตว์จึงถูกยักษ์ทั้งสาม จับกินเป็นอาหารดังที่เคยปฎิบัติมา แต่พระองค์ทรงทราบวิสัยสัตว์ดี ได้ทรงแผ่เมตตาห้ามกิเลสนั้นให้อ่อนลง โดยบุญญาธิการแห่งพระองค์ ยักษ์ทั้งสามต่างเกรงขามพระบารมี

ยักษ์ผู้ผัวนามว่า จิคำยักษ์ผู้เมียนามว่า ตาเขียว กับลูกก็เกิดเกรงขาม ต่างก็ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระทัยเอ็นดูยักษ์ทั้งสามทรงดำริว่า เขาทั้งสามนี้เป็นผู้หลงได้กระทำบาปไว้มากมาย แต่มีตนหนึ่งต่อไปเบื้องหน้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จักปฏิบัติตามธรรมแห่งพระองค์

เมื่อทรงทราบโดยพระญาณดังนั้นแล้วได้ทรงเทศนาขัดเกลากิเลสให้แก่ยักษ์ทั้งสามนั้น ก็ปรากฏว่ายักษ์ผู้บุตรได้ปฏิบัติตามวินัยได้ดี เว้นแต่ยักษ์จิคำและตาเขียว ไม่สามารถจะรับศีลห้าได้ตลอดไป คือยักษ์ขอร้องกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน พระพุทธองค์ก็มิทรงอนุญาต ยักษ์ทั้งสองจึงเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ ก็มิทรงอนุญาต แต่ตรัสให้ยักษ์ทั้งสองไปขอต่อเจ้าบ้านผ่านเมืองยักษ์ทั้งสองก็ปฏิบัติตาม

ผู้ครองนครก็ยินดีอนุญาตให้ เพราะย่อมเป็นการดีที่พระองค์จะเสียสัตว์แทนมนุษย์ แต่นั้นมาจึงมีพิธีฆ่าโคเผือกเขาเพียงหูให้ "ปู่แสะ" และ "ย่าแสะ" โดยมีพิธีทำกันคนละแห่ง คือทำพิธีให้ "ปู่แสะ" ที่วัดฝายหิน และพิธีของ "ย่าแสะ" ที่เชิงดอยคำ

พระพุทธเจ้าประทานเส้นพระเกษาแล้วตรัสพยากรณ์



เจ้าหน้าที่แต่งชุดล้านนาขึ้นไปห่มผ้าบูชาพระธาตุ, ศาลพระแม่เจ้าจามะเทวีและพญากากะวานร

ส่วนยักษ์ผู้บุตรได้ขออุปสมบทตามรอยพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงอนุญาตและได้แสดงธรรมให้ยักษ์ผู้บุตรฟัง และให้โอวาทอบรมจิตใจ เมื่อจบแล้วได้ทรงดึง พระเกษาของพระองค์ออกมาปอยหนึ่ง และอธิษฐานให้เป็นพระธาตุแห่งพระองค์ เสร็จแล้วทรงมอบให้ "ปู่แสะ-ย่าแสะ" แล้วรับสั่งว่า

"ดูก่อนเจ้าทั้งสอง จงรับเอาพระเกศาธาตุแห่งเรานี้ไว้ แล้วจงรักษาไว้ให้ดีเถิด วันข้างหน้าจักเป็นที่เคารพบูชาแทนเรา และ ณ สถานที่นี้ จักเป็นสถานที่ชุมนุมของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย เมื่อเราปรินิพพานได้สองพันกว่าพรรษาแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้จักปรากฎ.."

ยักษ์ทั้งสองได้รับเอาพระเกษาธาตุ เข้าบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกต และบูชากราบไหว้เป็นนิจสิน จากนั้นได้เกิดศุภนิมิต มีฝนตกสามวันสามคืน แล้วเม็ดฝนได้กลายเป็นทองคำไหลเข้าสู่ถ้ำ จึงเรียกนามว่า ถ้ำคำหรือ ถ้ำทองคำ แต่นั้นมา

แล้วพระพุทธองค์ได้ทรงประทับ รอยพระบาทไว้แท่นศิลา ระหว่างหมู่ไม้พยอมทางทิศตะวันออกของดอยคำ และศิลานั้นก็จมหายไปในพื้นดิน โดยเทพเจ้ารักษาไว้ ซึ่งในกาลเบื้องหน้าจักขึ้นมาปรากฏแก่มหาชนทั่วไป

ส่วนยักษ์ผู้บุตรอุปสมบทอยู่ได้ไม่นานได้ขอลาสิกขา และขออนุญาตบวชเป็นพระฤาษี พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตและให้ชื่อยักษ์นั้นว่า วาสุเทพฤาษี หรือ เทพฤาษี แล้วพระองค์ได้เสด็จต่อไป

ตามประวัติ คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันที่ได้เรียบเรียง "พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี"เวลานี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้กล่าวต่อไปว่า

ท่านครูบาศรีวิชัย ได้เคยมาบูรณะวิหาร สร้างพระเจดีย์ใหญ่คร่อมองค์เล็กเก่า สร้างศาลาและบันไดขึ้น เมื่อพ.ศ.๒๔๖๖ และมีประวัติเล่าว่า มีเพชรนิลจินดา ของใช้ต่าง ๆ และเครื่องบวชครบครัน ภายในถ้ำดอยคำนี้ ต่อมามีผู้ทุศีลยืมของไปแล้วไม่นำส่งคืน เทพยาดาจึงบันดาลให้มีหินก้อนใหญ่มาปิดปากถ้ำเสีย

และถ้ำนี้ก็มีประวัติเกี่ยวข้องกับ ขุนแผนก่อนจะเข้าตีเมืองเชียงใหม่ ได้มากับทหารร่วมใจ ๓๕ คน กับ พระไวย ผู้บุตรชายเท่านั้น ก็ได้มาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตามประวัติกล่าวว่า สถานที่นี้ นอกจากจะเป็นที่บรรจุพระเกษาธาตุแล้ว ยังเป็นที่ เด็กหญิงกุมารีวี เติบโตอยู่ที่นี่ โดยท่าน สุเทพฤาษีองค์ที่ ๘ เป็นผู้เลี้ยงดู พร้อมกับพญาวานรทั้งหลาย สมัยนั้นเรียกว่า "สุวรรณบรรพต"ซึ่งต่อมาเด็กหญิงกุมารีวีคนนี้ ก็ได้มาเป็น พระแม่เจ้าจามะเทวี นั่นเอง

สมัยต่อมาเมื่อได้ขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระแม่เจ้าได้รับสั่งให้พระโอรสทั้งสองคือ พระเจ้ามหันตยศ และ พระเจ้าอนันตยศดำเนินการสร้างอารามและพระสถูปเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่เคยอยู่เมื่อครั้งเยาว์วัย แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ สร้างเสร็จในปลายปี พ.ศ.๑๒๓๐ แล้วให้มีงานสมโภช ๑๐ วัน ๑๐ คืน (คือเมื่อ ๑,๓๑๐ ล่วงมาแล้ว)

พระธาตุดอยคำจึงเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่แห่งลานนาไทยมาในอดีตแห่งหนึ่ง ควรที่พวกเราจะได้กราบไหว้บูชา เพื่อผลานิสงห์แห่งพระนิพพานต่อไป จึงขอนำ "พระราชชีวประวัติของพระแม่เจ้า" มาเล่าแต่โดยย่อ ดังนี้

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/2/10 at 12:17 Reply With Quote



พระราชชีวประวัติ


พระแม่เจ้าจามะเทวี


โดยประวัติเล่าไว้ว่า ท่านวาสุเทพฤาษี องค์ที่ ๘ คือนับลำดับมาตั้งแต่องค์ที่ ๑ ในสมัยพระพุทธเจ้ามาจนถึงองค์ที่ ๘ ซึ่งมีชื่อเดียวกันทุกองค์ ท่านได้บำเพ็ญพรตอยู่ ณ ฉุตบรรพตคือ ดอยสุเทพ

ในคืนวันหนึ่ง ได้นิมิตไปว่า อสูรตนหนึ่งได้นำดวงมณีมาบนนภากาศ ขณะนั้นเป็นเวลาที่กำลังอยู่ในสถานที่เก็ฐอัฐิของปู่ย่าบรรดาฤาษีทั้งหลาย ครั้นอสูรตนนั้นมาถึงก็ปล่อยดวงมณีลงมาให้ เมื่อสว่างแล้วจึงทราบด้วยญาณว่า ในวันรุ่งขึ้นจักมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ต่อมาในขณะที่ฤาษีวาสุเทพได้มายังที่อาศรม คือสถานที่เก็บอัฐิของปู่แสะ-ย่าแสะผู้เป็นบรรพบุรุษ ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าไม่พยอมแล้วจึงเลยมาพักผ่อนอยู่เชิงดอยคำ ขณะนั้นมีพญาเหยี่ยวตัวหนึ่ง กำลังโฉบเอาทารกน้อยบินผ่านมาพอดี จึงเพ่งกระแสจิตบังคับให้นกปล่อยทารกลงมายังภาคพื้นดิน

ขณะที่ทารกกำลังร่วงหล่นมายังเบื้องล่าง ก็พอดีมีลมแรงพัดทารกลงกลางสระบัวหลวง ซึ่งบัดนี้สระนั้นยังปรากฏอยู่ ร่างของทารกน้อยก็ได้ตกลงมาค้างอยู่กลางดอกบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านฤาษีวาสุเทพเห็นว่าทารกเป็นหญิงก็ประหลาดใจ ชะรอยมิใช่ทารกธรรมดาสามัญ เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

"ผิว่าทารกนี้ประกอบด้วยบุญญาธิการ จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ "วี" ของเรานี้ รองรับร่างของทารกไว้ได้ โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด"

และก็น่าประหลาดยิ่งนัก เมื่อเอา "พัด" ซึ่งทางเหนือเรียกว่า "วี" ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อย ก็ปรากฏว่าทารกน้อยวัย ๓ เดือนนี้ สามารถอยู่บนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงขนานนามว่า"หญิงวี"แล้วได้เรียก พญากากะวานรซึ่งเป็นหัวหน้าบรรดาวานรทั้งหลาย ให้เป็นผู้เลี้ยงดูทารกนี้ ให้หาผลไม้และรีดนมแม่โคที่เลี้ยงไว้ให้แก่เด็กหญิงวีและให้ระมัดระวังรักษาอย่าให้ได้รับอันตราย ณ ดอยคำแห่งนี้

ชาติกำเนิด




คุณแสงเดือน แม้นวงศ์ อดีตนางสาวไทย ร่วมเดินทางในงานนี้ด้วย

ตามประวัติบอกว่า เด็กหญิงวี ได้ถือกำเนิดในตอนสายัณห์พระจันทร์เต็มดวง พุทธ ศก ๑๑๗๖ เป็นบุตรีของ ท่านเศรษฐีอินตา มีภรรยาเป็นชาวเม็ง คือชาวรามัญ อยู่ ณ ตำบลหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หรือบุรพนคร เดิมนั่นเอง

ครั้นเด็กหญิงวีเจริญวัยได้ ๗ ปี ก็ได้ เรียนอักขระ วิทยาการ พระเวทย์มนต์คาถาและการดนตรีโดยครบถ้วน มีความเฉลียวฉลาด เรียนวิชาได้รวดเร็ว ทั้งยิงธนูหน้าไม้ได้แม่นยำ

จวบจนกระทั่งอายุได้ ๑๓ ปี เด็กหญิงวี มีรูปโฉมงดงาม ยากจะหาสตรีใด ๆ ทั่วแคว้นจะงามเท่า ท่านวาสุเทพฤาษีเห็นว่าดวงชะตา ของกุมารีวีจะได้เป็นใหญ่ในแคว้นไกล จึงคิดที่จะส่งนางไปตามกรรมลิขิต แล้วได้ทำการต่อนาวายนต์ขึ้น วันหนึ่งจึงได้บอกว่า

"วีลูกรัก... ตั้งแต่พ่อได้เลี้ยงและสั่งสอน วิทยาการต่าง ๆ ให้ลูกจนครบถ้วน แต่กระนั้น ลูกรักของพ่อยังจำต้องเรียนวิชาการให้สูงกว่านี้อีก พ่อจำใจจะต้องให้ลูกจากไปศึกษาวิชาความรู้ยังถิ่นไกล

ขอลูกรัก...จงอย่าได้คิดว่า พ่อนี้คลายความรักในลูกแต่ประการใดเลย เจ้าจะอยู่กับพ่อในป่าดงพงพีกับฝูงวานรนี้เสมอไปมิบังควร ลูกจะต้องไปอยู่ร่วมกับชนทั้งหลาย ภายภาคหน้าลูกจะเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย

พ่อจะให้ลูกลงนาวายนต์พร้อมกับกากะวานรและบริวาร เป็นผู้ปกป้องกันภยันตรายให้ลูกระหว่างทาง และถึงอย่างไรลูกกับพ่อจะต้องได้พบกันอีกในเบื้องหน้า..."

เมื่อเด็กหญิงวีได้ทราบเช่นนั้น ก็ร้องให้คร่ำครวญ เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เมื่อรู้ว่าจะต้องจากพ่อฤาษีผู้เป็นเสมือนบิดาบังเกิดเกล้า จึงได้ตัดพ่อต่อว่า

"ท่านบิดา...ผู้เป็นร่มโพธิร่มไทรของลูก อันลูกนี้มีกรรม เกิดมาแต่เล็กก็ต้องจากบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ก็ได้ท่านบิดาชุบเลี้ยงให้มีชีวิตดำรงอยู่กระทั่งจำความได้ ก็สั่งสอนวิชาความรู้ให้ พระคุณของท่านบิดา ลูกยังมิได้ตอบแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยามท่านบิดาชรา...ลูกก็มิได้อยู่ปรนนิบัติ อย่าให้ลูกต้องจากไปไกลเลย แล้วลูกจะได้ใครเป็นที่พึ่งเล่า..."

ท่านฤาษีก็ได้แต่ปลอบโยนให้คลายความวิตก ชี้แจงให้รู้ว่าภายภาคหน้าจะต้องเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย ฉะนั้นต้องรู้สรรพสิทธิ์วิทยาการให้มาก และการเดินทางก็มีกากะวานรและคณะไปด้วย ย่อมไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นได้และอีกมิช้ามินาน ก็จะได้กลับมาอยู่กับพ่อ ขอลูกจนปฏิบัติตามนี้เถิด

ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีมะเมียพุทธศก ๑๑๙๐ ได้ศุภฤกษ์ดีงาม จึงให้กุมารีวี พร้อมพญากากะวานรและบริวาร รวม ๓๕ ตัว ลงนาวายนต์ยังท่าน้ำชัยมงคล ล่องลอยไปตามกระแสน้ำระมิงค์ลงสู่ทิศเบื้องใต้ด้วยความอาลัย ทั้งฝ่ายบิดาและกุมารีจะเป็นอย่างไร และเรือแพจะล่องลอยไปที่ใด ไว้ต้องคอยติดตามต่อไป ในโอกาสนี้จะขอเริ่มพิธีบวงสรวงสักการะบูชาพระเกษาธาตุเจดีย์กันก่อน


หลังจากหลวงพี่โอทำพิธีบวงสรวงแล้ว พวกเราได้รวบรวมปัจจัยถวายแด่เจ้าอาวาสทันที

ครั้นหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงจบ จึงให้สรงน้ำองค์พระธาตุกัน แล้วไปรวมกันที่ศาลารายข้างองค์พระธาตุ ร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยทาน เพื่อร่วมสร้างพระอุโบสถที่ยังค้างอยู่ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ เมื่อเจ้าอาวาสให้พรจบแล้ว จึงเดินทางกลับมาที่วัดโขงขาว เพื่อเดินทางสู่จังหวัดลำพูนต่อไป

◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/2/10 at 12:18 Reply With Quote



วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน



(ภาพจาก thailandhub.net)

ครั้นมาถึง วัดพระธาตุหริภุญชัย แล้วก็ได้เวลาพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลพอดี ญาติโยมก็รับประทานอาหารกลางวันกันที่นั่นแล้ว จึงมารวมตัวกันที่ด้านหลังวิหาร ซึ่งอยู่ตรงหน้าองค์พระธาตุเจดีย์พอดี เมื่อเจ้าหน้าที่จัดเตรียมบายศรีและเครื่องสักการบูชาเรียบร้อย พร้อมทั้งมอบผ้าห่มและดอกดาวเรืองให้เจ้าหน้าที่ของวัด เพื่อนำขึ้นไปห่มรอบองค์พระธาตุแล้ว จึงได้บรรยายประวัติความเป็นมาของพุทธสถานที่นี้สืบต่อไป

การ "ตามรอยพระอาจารย์" ในครั้งนี้ เราได้ย้อนรอยท่านมาถึงเมืองลำพูน ซึ่งหลวงพ่อพร้อมด้วยคณะของท่านได้มาถึง ณ สถานที่นี้ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ คือ เมื่อ๒๓ ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อท่านเล่าไว้ว่าดังนี้

"ตามเขาเล่ากันว่า ยอดเจดีย์ตั้งแต่เลยคอระฆังขึ้นไป มีทองคำ ๑๐๐ % หุ้มอยู่ ที่คอระฆังมีทองคำ ๘๐ % แล้วก็ลดหลั่นต่ำกันลงมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงตอนต่ำเป็นทองคำ ๔๐ % เขาว่ากันอย่างนั้น จริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ แต่รู้สึกว่าพระธาตุหรือพระเจดีย์องค์นี้มีความสวยสดงดงามมาก

ก่อนที่จะไปไหว้พระธาตุหริภุญชัย เราก็มาดูตำนานของพระธาตุหริภุญชัยก่อน ตำนานนี่จะหาที่ไหน... เอายังงี้ดีกว่า.. ถามใครสักคนดีกว่า ขณะที่นั่งไปในรถ ก็ปรากฏว่ามีบุคคลคนหนึ่งได้มาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของพระธาตุหริภุญชัยให้ทราบ..."

แต่ก่อนที่รับฟังเรื่องราวจากหลวงพ่อกันต่อไป ผู้เขียนใคร่ขอชี้แจงว่า ในตอนนี้ ได้นำเรื่องที่ท่านเล่าไว้นั้น มาเทียงเคียงกับหนังสือ "ชินกาลมาลีปกรณ์" ไปด้วย ซึ่งรจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระ เป็นชาวเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๐๖๐ คือ เมื่อประมาณเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้ว ปรากฏว่าน่าอัศจรรย์ใจจริง ๆ ตรงกันหมด...!

แม้แต่ตัวเลขบอกจุลศักราช ๔๐๙ ก็ตรงกัน เมื่อเทียบตามพุทธศักราชจะได้ ๑๕๘๙ ปี หนังสือเล่มนี้ได้เล่าว่า ลำดับกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย โดยนับตั้งแต่ พระแม่เจ้าจามเทวี เป็นต้น จนถึง พระเจ้าอาทิจจ์ ที่จะเล่าเรื่องดังต่อไปนี้ รวมกษัตริย์แห่ง "จามเทวีวงศ์" ได้ ๓๒ พระองค์ นัดได้ ๓๘๗ ปีเต็ม นี่..เป็นเรื่องที่มีใสตำนาน ทีนี้มาฟังหลวงพ่อท่านเล่าบ้างว่าเป็นอย่างไร ท่านเล่าตามที่มีผู้มาบอกในขณะนั่งไปในรถนั้นว่า

" เหตุมีมาแต่จุลศักราช ๔๐๙ มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอาทิจจ์ ครองเมืองหริภุญชัย พระองค์ทรงโปรดให้สร้างปราสาท ขึ้นหลังหนึ่งท่ามกลางพระนคร เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ มาถวายทานตลอด ๗ วัน แล้วทรงประกาศขายปราสาทหลังนั้น เพื่อเอาเงินมาซื้อของถวายพระ เพราะว่าอาศัยที่ท่านมีศรัทธาเป็นกรณีพิเศษ จึงได้ทำแบบนางวิสาขา คือขายเครื่องแต่งตัวของตัวเองแก่บุคคลอื่น เมื่อคนอื่นเขาไม่ซื้อ ก็เลยซื้อตามราคาเดิม เอาเงินมาซื้อของถวายพระ เรียกว่าเป็นการทำบุญหมดตัว

เมื่อจะเสด็จไปที่ซุ้มพระบังคน คือไปส้วม ในขณะที่กำลังถ่ายอุจจาระอยู่นั้น ได้มีกาตัวหนึ่งถ่ายรดลงบนพระเศียรของพระราชา พระองค์ทรงตกพระทัย แหงนหน้าขึ้นไปดู เห็นกาบินลอยอยู่ข้างบนตรงพระเศียรพอดี ก็อ้าปากจะพูดว่า นี่มันยังไงกัน อีกาก็ขี้แมะ... อีกพอดี

พระเจ้าอาทิจจ์ทรงพระพิโรธโกรธจัด จึงรับสั่งให้จับกามาเพื่อจะลงโทษ ครั้นจับมาได้แล้วก็จะฆ่า อำมาตย์จึงทูลให้สอบสวนเสียก่อน แล้วเรียกโหรมาพยากรณ์จนได้ความว่า ให้เอากาไปเลี้ยงไว้ในกรง แล้วต่อไปความดีมันก็จะปรากฏขึ้นเอง

เมื่อพระเจ้าอาทิจจ์ทรงโปรดให้เลี้ยงกาตัวนั้นไว้เป็นอย่างดี ถึงเวลากลางคืน ก็ทรงเข้าบรรทมทรงสุบินนิมิตฝันไปว่า มีเทวดาองค์หนึ่งเข้ามาบอกว่า

"ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะทราบเรื่องราวที่กาขี้รด ก็ให้ไปเอาเด็กที่เกิดได้ ๗ วัน มาเลี้ยงไว้ให้อยู่ใกล้กับกา ภายในไม่ช้าเด็กก็จะรู้ภาษากา...แล้วก็รู้ภาษาคน...! เป็นอันว่าไม่กี่วันก็ได้เด็กอายุ ๗ วัน ให้เขานำเด็กคนนั้นมาเลี้ยงไว้ใกล้ ๆ กา เลี้ยงอยู่ ๗ ปี มาวันหนึ่ง เขาจึงได้นำเด็กเข้าเฝ้าพระเจ้าอาทิจจ์ พระองค์จึงได้ทรงรับสั่งให้ถามเรื่องที่กามาขี้รดหัวครั้งก่อนนั้น เป็นเรื่องราวอะไร ขอให้เด็กตามกา เด็กก็ได้ถามว่า

"นี่...ลุงกา พระราชามีความประสงค์อยากจะรู้เรื่องราวว่า ถอยหลังไปจากนี้อีก ๗ ปีที่พระราชาทรงนั่งถ่ายพระบังคน และก็ลุงกานี่ มาถ่ายอุจจาระรดศรีษะพระราชาและก็ถ่ายใส่ปากนี่ เรื่องราวมันเป็นอย่างไร... ?

กาตัวนั้นจึงได้พูดกับเด็กว่า เมื่อสมัยก่อนโน้นนะ มีกาตัวหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่า "ปู่เฒ่า" เป็นบรรพบุรุษของเรา เป็นต้นตระกูลของเรา เขาเรียกพ่อปู่เฒ่าว่า "พญากาเผือกเฒ่า"

พญากาเผือกเฒ่าตัวนี้มีความแก่เฒ่าชรามาก และในสมัยก่อนนั้นท่านอยู่ในที่นี้ และก่อนที่จะจากไปสู่ป่าหิมพานต์ได้สั่งพวกเราไว้ว่า สถานที่ตรงนั้น หมายถึงที่ที่พระเจ้าอาทิจจ์ ไปสร้างส้วมสำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้น มีพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุอยู่

และก็สั่งให้พวกเราบรรดากาทั้งหลายที่อยู่ในบริเวณนี้รักษาสถานที่นี้ไว้ เพราะว่าพญากาเผือกเวลานี้ได้ไปอยู่ป่าหิมพานต์ เพราะท่านแก่เฒ่ามาก การที่เราขี้รดหัวพระราชา พอพระราชาแหงนหน้าไปอ้าปากจะพูด เราขี้ใส่ปาก เพราะห้ามพูด เพราะอะไร...เพราะจะเตือนว่า ที่ตรงนี้ไม่ควรจะทำเป็นส้วม เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

แต่ว่าถ้าอยากจะทราบรายละเอียดยิ่งกว่านี้ละก้อ เรารู้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะท่านปู่เฒ่าบอกไว้เพียงเท่านี้ ถ้าอยากจะรู้รายละเอียดยิ่งกว่านี้ ก็จงให้ไปตามพญากาเผือกมาจากป่าหิมพานต์ เมื่อเด็กทราบจากกาดังนั้นแล้ว จึงได้กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์จึงได้ทรงรับสั่งให้เด็กไปบอกกับกาให้เชิญพญากาเผือกมา ในขณะนั้น เด็กจึงไปบอกกา กาก็เลยบอกว่าก็ฉันอยู่ในกรง ฉันจะไปได้อย่างไรล่ะ...พ่อคุณ..!

พระราชาจึงได้สั่งอำมาตย์ให้ไปปล่อยกาออกจากกรง เมื่อกาตัวนั้นออกจากกรงไปแล้วก็บินตรงไปป่าหิมพานต์ ไปบอกกับพญากาเผือกเฒ่า ว่าเวลานี้พระราชา คือพระเจ้าอาทิจจ์ ต้องการทราบความเป็นจริงถึงเรื่องความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ ขอเชิญพ่อปู่เฒ่าให้ไปเฝ้าพระราชา

พญากาเผือกก็บอกว่า เรามันแก่มากแล้ว อ้ายหนูเอ๋ย...บินไม่ไหว...เจ้าจงไปตามเอากาหนุ่ม ๆ มา ๒ ตัว แล้วก็บอกให้คาบไม้คนละข้าง เมื่อคาบไม้คนละข้างแล้ว พญากาเผือกก็เกาะตรงกลางไม้ท่อนนั้น แล้วให้กาตัวหนุ่มๆ ๒ ตัวบินมา แล้วท่านก็เกาะมาตรงกลางบินมาบ้าง พักมาบ้างจากป่าหิมพานต์ กว่าจะถึงเมืองหริภุญชัยก็ต้องสิ้นเวลาถึง ๗ วัน

เมื่อพญากาเผือกมาแล้ว พระเจ้าอาทิจจ์ จึงได้เชิญพญากาเผือกให้มาลงที่พระลานหลวง แล้วพระราชทานอาหารให้บริโภค ให้กากินให้อิ่มหนำสำราญ ให้พักผ่อนเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้มีกระแสพระราชดำรัสตรัสสั่งเด็กที่รู้ภาษากาซักถาม เด็กถามตามพระราชประสงค์ว่า เรื่องราวที่ปล่อยให้กาลูกน้องมาขี้รดหัว เรื่องมันเป็นอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา ณ เมืองหริภุญไชย พญากาเผือกจึงได้เล่าให้เด็กฟังว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าครั้งที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ประทับอยู่ที่เมืองพาราณสี ตอนเช้าวันหนึ่ง พระองค์ทรงบาตรและจีวรแล้ว ก็เสด็จจากเมืองพาราณสีมาทางอากาศลำพังพระองค์เดียว แล้วเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านในดงแห่งหนึ่ง คนก็พากันเลื่อมใส และพากันถวายของแก่พระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

พระพุทธองค์ทรงเทศน์โปรดตามสมควรแก่ฐานะ ให้คนทั้งหลายเหล่านั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ หรือไตรสรณาคมณ์ คำว่า "ไตรสรณาคมน์" ก็คือว่า นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และก็ตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการ

นี่...พระเขาเทศน์กันนะ เขาบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยเสด็จมาสู่ประเทศไทย แต่ความจริงนี่...ไม่ใช่ประเทศไทย นี่...เมืองหริภุญชัย คนสมัยนั้นเป็นคนไทย คนเจ๊ก หรือว่าเป็นคนแขก คนลาว คนมอญ เขาไม่ได้บอก ท่านก็เทศน์ถูกเหมือนกัน ท่านเทศน์ตามอัธยาศัยของท่าน ท่านลืมไปว่าองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยะ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ลืมไปเสีย..! ชอบเอารอยเท้าไปวัดกับพระพุทธเจ้า

จากนั้น เมื่อพระองค์ทรงเทศน์แล้ว ก็ทรงเสด็จออกจากหมู่บ้านนั้นมา ถึงสถานที่ตรงนี้ คือที่ที่พระราชาสร้างส้วมไว้ พระองค์จึงได้ ทรงวางบาตรไว้ตรงที่พื้นหิน และก็ได้ทรงฉันภัตตาหารที่ตรงนั้น นี่ไง...เป็นที่ฉันอาหารของพระพุทธเจ้า ที่ตรงไหนรู้ไม๊..?
หลวงพ่อท่านถาม

ท่านตอบว่า ก็ตรงที่เขาสร้างพระเจดีย์หริภุญชัยนั่นเอง และที่เรียกกันว่า "พระธาตุหริภุญชัย" ตรงนั้น นี่เป็น "เมืองไทย" หรือเป็น "เมืองเจ๊ก" ก็ไม่ทราบ ฟังแล้วก็ฟังกันไป เขาเล่ามาอย่างนี้ก็เล่าไปอย่างนี้ คนบอกให้ฟังโกหก คนเล่านี่ก็โกหกด้วย

แต่คนพูดให้ฟังไม่โกหก เขาพูดตามความเป็นจริง คนพูดจริงก็พูดตามความเป็นจริงด้วย เพราะเกิดไม่ทัน เพราะอีตาคนนั้นโกหกพูดตามความจริง ก็คือว่าเป็นเรื่องพูดตามความจริงต่อกันไป แล้วท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ...!

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ เมื่อพระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารเสร็จ พระพุทธองค์ก็ทรงมีพระพุทธพยากรณ์ว่า เมื่อเรานิพพานไปแล้ว สถานที่ตรงนี้ จักเป็นมหานคร (นครใหญ่) จะมีพระราชาองค์หนึ่งมีนามว่า พระเจ้าอาทิจจ์ และพระธาตุของเรา จะประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงนี้ แต่ท่านไม่ได้บอกวากระดูกตรงไหน เป็นอันว่ากระดูกของพระองค์ก็แล้วกัน

เมื่อเด็กฟังคำพญากาเฝือกแล้ว ก็กราบทูลเรื่องราวที่พญากาเผือกเล่าให้ฟังทุกประการ เมื่อพระองค์ทรงฟังคำของเด็กแล้วก็ดีพระทัยอย่างยิ่ง ทรงสั่งให้รื้อพระบังคน คือส้วม แล้วปราบที่นั้นให้ราบเสมอ เผาเครื่องเผาที่มีกลิ่นหอม กระทำสถานที่นั้นให้สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ป่าวประกาศให้บรรดาประชาชนทั้งหลายมารวมกัน อาบน้ำดำหัว ขัดสีฉวีวรรณให้ดีที่สุด ให้สะอาดที่สุด

แต่งเสื้อผ้าให้มันดีที่สุด สะอาดที่สุด เอาไอ้ชุดที่ใหม่ที่สุด แต่คนจน ๆ แกก็มีชุดใหม่ที่สุด แต่ก็ขาดมากที่สุด รุ่งริ่งมากที่สุด แต่งดีเต็มที่ไม่ได้นะซี เมื่อดีเต็มที่ไม่ได้ก็สั่งว่า ยายคนนั้น ตาคนนี้ไม่ได้เรื่อง ฉันสั่งให้แต่งตัวให้สวยที่สุด ใหม่ที่สุด แกเอาผ้าอย่างนี้มานุ่งได้รึ..?

ตายายผู้นั้นแกก็บอกว่า ผ้าที่นุ่งมา..เสื้อผ้าที่สวมมานี่..มันดีที่สุดเท่าที่มีอยู่แล้ว พระราชาก็เลยบอกว่า ไอ้ผ้าอย่างนี้มันเลวที่สุดสำหรับฉันจะใช้ ฉันไม่ใช้มันแล้วนะ แกว่ามันดีที่สุดได้ยังไง...? พระราชาบอก ไม่ได้...พวกแก พวกท่านทั้งหมดต้องประชุมกันอยู่ที่นี่ แต่งตัวให้ใหม่ที่สุด...แล้วก็ดีที่สุด..! ผ้าเก่าอย่างนี้ต้องทิ้งไป แต่ก่อนจะทิ้ง...ประเดี๋ยวก่อน...ใครอย่าเพิ่งทิ้งก่อนนะ ถ้าทิ้งก่อนถูกประหารชีวิต เพราะจะกลายเป็นทรงเชิ๊ตชุดวันเกิด

จึงรับสั่งให้บรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพารไปเบิกผ้ามาจากคลัง เอาผ้าที่ดีที่สุด ราคาแพงที่สุด มาให้บรรดาประชาชนนุ่ง คนที่เขาจน ๆ นะ ไอ้คนที่เขามีอยู่แล้ว...ไม่ต้อง..! แล้วตรัสสั่งให้หาเครื่องสักการะบูชามา เอากันให้เต็มที่ ให้ดีกว่าเก่า ตามเสด็จมายังสถานที่ตรงนั้น ก็ทรงบูชาสถานที่นั้นแล้วก็ยกพระหัตถ์ขึ้นพนมสมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงกล่าวขอขมาโทษแก่พระพุทธเจ้า

"ในการที่ข้าพระพุทธเจ้ามานั่งถ่ายพระบังคน คือนั่งขี้ตรงนี้ ก็เพราะไม่ทราบว่าพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ก็ไม่เคยคิดเคยทราบมาก่อนว่า ที่นี้เป็นปูชนียสถาน เป็นสถานที่ควรแก่การเคารพบูชา เพราะว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยมาประทับอยู่ตรงนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ และเคยทรงเสวยพระกระยาหารตรงนี้ไม่ทราบ

ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยบรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพาร และบรรดาประชาชนทุกท่าน ที่มีความเคารพในพระรัตนตรัย ขอน้อมเศียรแด่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงให้งดโทษแก่บรรดาข้าพระพุทธเจ้า ที่มีความเคารพในพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า..."

พระบรมธาตุแสดงปาฎิหาริย์


เมื่อพระเจ้าอาทิจจ์กำลังขอขมาและก็ได้ อาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง ก็ปรากฏว่า มีผอบทองคำผุดขึ้นจากพื้นที่ดิน และก็สูงขึ้นจากดินไปประมาณ ๓ ศอก ด้วยอำนาจของเทวดา และก็รัศมีพุ่งออกมาจากผอบเป็นฉัพพรรณรังษี รัศมีออกตระการสวยงามมากเหมือนกับดาวที่ลอยอยู่กลางพื้นนภากาศ

เมื่อลอยอยู่โดยรอบ ๆ ที่พระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ก็ลอยวนไปวนมา..สวย..! เป็นประกายใสสะอาด...สวยมาก..! อีตาคนนั้นแกทำภาพให้ดู แพรวพราวสวยสดงดงามเป็นพิเศษ พระเจ้าอาทิจจ์และข้าราชบริพารได้เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้น ก็รู้สึกประหลาดใจและปลื้มใจ พร้อมกันไป ดีใจคล้ายกับตัวจะลอยขึ้น แต่ตัวไม่ได้ลอยหรอก...ใจมันลอย..! มีความปลื้มปีติเป็นอย่างมาก ดูคล้าย ๆ กับพวกเราที่ไปไหว้พระดีกันนะ ไปแต่ละแห่งที่ไหน ๆ ก็รู้สึกเกิดธรรมปีติ ควักสตางค์ทำบุญกันอย่างชนิดที่เรียกว่า... "เจ้าของไม่ต้องเรี่ยไร"

เจ้าของวัดไม่ทันเรี่ยไร ไปถึงไหนก็ว่ากัน ๒ พัน ๓ พัน ๔ พัน รวมแล้วนับเงินเป็นหมื่น นี่ความดีของสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มีความดีขนาดนี้ดึงพวกเราให้เกิดศรัทธา ขนาดพระสาวกเท่านั้น ยังสร้างธรรมปีติให้เกิดแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทได้ และหากว่าเป็นความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาแล้ว ความรู้สึกของท่านมันจะเกิดเป็นประการใด

ที่นี้เมื่อบรรดาประชาชนทั้งหลายพร้อมทั้งพระเจ้าอาทิจจ์เห็นปรากฏการณ์แบบนั้น ก็มีความปีติเป็นล้นพ้น แล้วก็มีความยินดี พากันเปล่งเสียง..สาธุการ..! และทำความเคารพสักการะด้วย บูชาด้วยดอกไม้ของหอมและธูปเทียน

ของอะไรที่ยังไม่มี วิ่งกันไปวิ่งกันมา วิ่งกันมาวิ่งกันไป ของอย่างนี้บูชาแล้ว เอ้า...ไม่ชอบใจไม่พอใจ วิ่งไปเอาอย่างโน้น พระบรมสารีริกธาตุก็ยังไม่ลง ลอยอยู่อย่างนั้นแหละ ลอยอยู่ได้... ตั้งแต่เช้าจนเกือบค่ำ แหม... อัศจรรย์..! คนทั้งหลายเหล่านั้น ก็เลยไม่ต้องกินข้าวกินปลา ด้วยอำนาจธรรมปีติ มันชื่นอกชื่นใจ

ทีนี้ในเมื่อบูชาไปบูชามา พระเจ้าอาทิจจ์ คิดใหม่ เอ...ที่ตรงนี้นี่เรามาทำส้วมขี้เอาไว้นี่.. ถ้าเราจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ตรงนี้ ท่าไม่เหมาะ เพราะมันเป็นสถานที่ไม่สะอาด เราจะย้ายที่ไปที่ตรงโน้นดีกว่า ที่อื่นที่มันสะอาดกว่า จึงได้ทรงตรัสสั่งให้ขุดสถานที่ตรงนั้น บอกว่าเราจะย้ายไปที่ตรงนั้น ท่านทั้งหลายช่วยกันขุดอีก ตรงนี้มันเป็นหลุมขี้ ไม่ดีหรอก...! เดี๋ยวพระบรมสารีริกธาตุจะคลายอำนาจเสีย

พอพระเจ้าอาทิจจ์สั่งให้คนขุดหลุมใหม่จะฝังใหม่เท่านั้น ก็ปรากฏว่าอำนาจเทวานุภาพ ทำให้ผอบทองคำที่มีพระบรมสารีริกธาตุจมลงไปในแผ่นดินตรงที่เดิม จนมองไม่เห็น เมื่อพระบรมสารีริกธาตุจมไปแล้ว ก็เสียใจ เหงื่ออแตกพลั่ก..! ทุกคนหมดกำลังใจว่าเราทำไม่ถูกเรื่องเสียแล้ว พระเจ้าอาทิจจ์ก็เสียใจเหมือนกัน คิดว่าการที่เราดำริอย่างนี้ พระบรมสารีริกธาตุหรือเทวดาคงไม่พอใจ ไม่เอาละ

เมื่อท่านต้องการที่ตรงนี้ เราก็จะบรรจุไว้ที่ตรงนี้ จึงบูชากันใหม่...! อีคราวนี้...บูชากันเป็นทวีหลายสิบเท่าแต่งตัวกันใหม่ให้ดีที่สุด..อาราธนาใหม่..! พระบรมสารีริกธาตุก็ผุดขึ้นมาใหม่...ลอยอีกตามเดิม..มีรัศมีผ่องใสเท่าเดิม...!

คราวนี้ก็กราบขอขมาโทษกัน บอกไม่เอาแล้ว..ไม่ขอย้ายที่แล้ว เมื่อองค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีความประสงค์จะให้พระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่ตรงนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ตามใจพระองค์ จะทำเป็นสถูปเจดีย์ให้เป็นที่บูชาให้สมพระเกียรติ เป็นที่ควรแก่การนมัสการ เป็นปูชนียสถานประจำประเทศเขตพระนคร

เมื่ออธิษฐานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุก็ลอยลงมาตรงพระพักตร์ของพระเจ้าอาทิจจ์แล้ว พระองค์ก็ยื่นพระหัตถ์น้อมพระเศียรเข้าไปรับด้วยความเคารพ ผอบพระบรมธาตุก็เสด็จลอยลงมาในพระหัตถ์

แล้วพระเจ้าอาทิจจ์ได้ทรงมีรับสั่งให้ขุดสถานที่ให้ลึก ทำที่ให้มั่นคง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไป เอาดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เครื่องเพชรนิลจินดาทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งของบรรดาประชาชนทั้งหลาย ฝังเข้าไว้ บรรจุในที่นั้น มีค่าในสมัยนี้ จะนับประมาณได้สัก ๓๐ ล้านเศษ สิ่งของที่ถวายไว้ในที่นั้น แล้วก็กลบทำแข็งแรงดีแล้ว ก็สร้างสถูปทรงปราสาทสูง ๑๒ ศอก มีเสา ๔ เสา มีประตู ๔ ด้าน ก็เป็นศาลาเล็ก ๆ (บางแห่งว่าเป็นเจดีย์ทรงมอญ)

ทีนี้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บรรดาประชาชนทั้งหลายก็พากันมาบูขาพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งมีพระเจ้าอาทิจจ์พระบรมกษัตริย์ทรงเป็นประธาน (ด้วยเหตุนี้ จึงได้ถือกันในโบราณว่า หากผู้ใดปลูกบ้านสร้างเรือนในเมืองลำพูน จะต้องสูงไม่เกิน ๑๒ ศอก เพราะเกรงว่าจะสูงกว่าพระธาตุไป แล้วหลวงพ่อก็ได้สรุปต่อไปว่า)

นี่...เรื่องราวของพระบรมธาตุหริภุญชัย ที่พวกเราพากันไปถวายนมัสการนั้นมีดังนี้ เรื่องที่ดี ๆ มีความสำคัญยังมีอยู่อีก การที่บอกว่าองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ไม่เคยเสด็จมานี้ไม่จริงแล้วนะ ประเทศไทยตำนาน ท่านเล่าไว้อย่างนั้น ว่ามีมาและก่อน

ความเป็นมาของพระธาตุหริภุญชัยว่า เป็นสถานที่ชุมนุมของพระอรหันต์ สถานที่นี้..ก่อนที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์เข้าพระปรินิพพาน ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จมาความเดียวเท่านั้น ยังเสด็จมาอีกตั้งหลายคราว และก็มีพระสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประจำจริง ๆ ก็คือ พระมหากัจจายนะ มาประจำเป็นกรณีพิเศษ ส่วน พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร
พระอนุรุทธ มาเป็นคราว ๆ

ท่านบอกว่าในสถานที่นี้ ย่อมเป็นที่ชุมนุมของบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย คือเป็นแหล่งที่รวมพระอริยสงฆ์ถึง ๗๐๐ พระองค์ คือพระอริยสงฆ์ที่เป็น พระอรหันต์ ในบริเวณที่ใกล้กัน และไกลบ้าน เวลาจะมาประชุมกันก็มาที่ตรงนั้น ถือว่าสถานที่พระพุทธเจ้า เคยมาฉันภัตตาหารที่ตรงนั้น เคยพักแรมที่ตรงนั้น และพยากรณ์ไว้ว่า ที่ตรงนั้นจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ฉะนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงพากันมาประกาศพระศาสนา และเวลาที่จะประชุมกัน ก็มาประชุมตรงที่สร้างพระธาตุหริภุญชัยตรงนั้น เพราะกล่าวกันว่า เคยมีพระอรหันต์ในเขตแคว้นนี้ ประมาณถึง ๗๐๐ รูปเศษ ในสมัยนั้น เมื่อได้คุยกันถึงความเป็นมาของพระธาตุหริภุญชัยเรียบร้อยแล้ว นั่นเป็นระยะของตอนต้น และก็การทำนุบำรุงพระธาตุหริภุญชัยนี้

ตามที่ทราบมาว่า พระนางจามเทวี บำรุงวาระหนึ่ง แล้วก็การที่สวยสดงดงามที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องของ พ่อขุนเม็งราย ในตอนนี้ หนังสือ "ชินกาลมาลีปกรณ์" เล่าว่าเมื่อพระเจ้าอาทิจจ์ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาในรัชกาล พระเจ้าสัพพาสิทธิ์ โปรดให้ก่อเสริมพระธาตุตรง "ปราสาท" ที่ พระเจ้าอาทิจจ์ สร้างไว้เป็นสูง ๒๔ ศอก กษัตริย์รัชกาลหลัง ๆ ได้ทรงทำนุบำรุงต่อมา จนกระทั่งเมืองหริภุญชัยตกอยู่ในอำนาจของพ่อขุนเม็งราย

พระองค์จึงโปรดให้เปลี่ยนจากรูปทรง "ปราสาท" มาเป็น "ทรงกลม" ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ โดยเอาทองจังโก คือทองตีเป็นแผ่น ๆ หุ้มพระเจดีย์ ตั้งแต่ชานจนถึงยอด แลดูเหลือง อร่ามเปล่งประกายสวยสดงดงามมาก ภาพที่ปรากฏกับหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านได้เล่าต่อไปว่า

เมื่อเข้าไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ก็เรียกว่าไหว้พระพุทธเจ้านั่นเอง ขณะที่ก้มลงกราบครั้งแรก ก็ปรากฏเป็นภาพของพระพุทธเจ้า และภาพของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และตลอดจนกระทั่งบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเกี่ยวข้องในการทำนุบำรุง สถานที่นี้ที้งหมดทุกสมัย ปรากฏกายภาพชัด บางท่านก็เป็นพระ บางท่านก็เป็นพรหม บางท่านก็เป็นเทวดา มาแสดงความชื่นชมยินดีเป็นอย่างมาก..."

"เรื่องที่หลวงพ่อเล่าก็จบลงแค่นี้ เป็นอันว่าพระเจดีย์ได้ปรากฏขึ้นในหริภุญชัยอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัย พระเจ้าอาทิจจ์ ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยมาแล้วได้ ๑๖ ปี นับเป็นปีที่พระศาสดาปรินิพพานแล้วได้ ๑๖๐๗ ปี คือเกือบพันปีล่วงมาแล้ว นับว่าเป็นพุทธสถานที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ควรที่พวกเราจะจดจำประวัติเอาไว้ว่า

สถานที่ตรงพระเจดีย์นี้ เคยเป็นที่วางบาตรขององค์สมเด็จพระชินสีห์ และเป็นที่ฉันภัตตาหารของพระพุทธองค์ ต่อจากนั้นอีกประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ พระบรมสารีริกธาตุของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้ถูกอัญเชิญนำมาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่นี้..."



หลวงพี่โอเป็นประธานจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรีแล้ว จึงได้เปิดเทปหลวงพ่อบวงสรวงต่อไป

เมื่ออ่านประวัติวัดพระธาตุหริภุญชัยจบ ประธานได้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวงแล้ว จึงได้เปิดเทป "บวงสรวง" ขออัญเชิญพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กระทำพิธี ณ สถานที่นี้สืบต่อไป

ครั้นหลวงพ่อบวงสรวงและนำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว จึงได้กลับเข้ามาในพระวิหาร เพื่อร่วมกันบำเพ็ญกุศล เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ณ สถานที่นี้ ตามประเพณีที่ครูบาอาจารย์ได้เคยกระทำมา เพื่อหวังเป็นอานิสงส์เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสติดตามไปกับหลวงพ่อกันในสมัยนั้น



เจ้าหน้าที่ในชุดล้านนาต่างก็ช่วยกันถวายปัจจัยไทยแด่
ท่านเจ้าคุณพระราชมหาเจติยาบาล เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดลำพูน

เมื่อรวบรวมเงินได้ประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ จึงได้มอบให้กับท่านเจ้าอาวาส พร้อมกับเครื่องไทยทานทั้งหลาย อันมีพระพุทธรูป หน้าตัก ๙ นิ้ว ๑ องค์ ผ้าไตรจีวร และพานสังฆทาน ๑ ชุด พร้อมด้วยตาลปัตร ๑ อัน

หลังจากท่านเจ้าอาวาส คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระราชมหาเจติยาบาล ให้พรจบแล้ว พวกเราต่างก็กราบลาท่าน พร้อมกับขอบพระคุณในน้ำใจไมตรีจิตของท่าน ที่ได้ให้ญาติโยม "ชาววัดพระธาตุหริภุญชัย" มาช่วยกันจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท พร้อมทั้งจัดอาหารเพลถวายแด่พระสงฆ์

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง นั่นก็คือท่านได้กรุณาติดต่อรถเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงมานำขบวนพร้อมกับจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่ขบวนรถของเราทั้งหลมดจะผ่านไป นับว่าได้รับความสะดวกมาก

มิฉะนั้นการเดินทางเขาไปยังตัวเมืองของจังหวัดลำพูน ที่จัดระบบการจราจรแบบ "วันเวย์" ทั้งนี้ ด้วยจำนวนรถบัส ๑๒ คัน และขบวนรถเล็กอีกประมาณ ๕๐ คัน พวกเราคงจะต้องเสียเวลาเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พวกเราสามารถเดินทางต่อไป ณ วัดจามเทวี ได้โดยสะดวก และทันเวลาตามกำหนดนัด

สำหรับเรื่องราวที่ วัดจามเทวี จะต้องนำไปเล่าในตอนหน้า โดยจะเป็นเรื่อง "พระราชชีวประวัติของพระแม่เจ้าจามะเทวี" ที่ได้ค้างเอาไว้จากตอนนี้ อันเป็นตอนที่พระแม่เจ้ายังทรงพระเยาว์ โดยได้อาศัยอยู่กับ ท่านวาสุเทพฤาษีที่ "ดอยคำ" แล้วได้ลงนาวายนต์ไปพร้อมกับฝูงลิง อันมี พญากากะวานร เป็นผู้คอยอารักขา

ทั้งนี้ ได้เล่าเรื่องนี้ค้างไว้ที่ วัดพระธาตุดอยคำ แต่ก็ต้องมาเว้นช่วงที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน และทำพิธีบวงสรวงสักการบูชากันที่นั่นก่อน แล้วในตอนต่อไปนาวายนต์ของ "กุมารีวี" หรือ "เด็กหญิงวี" จะล่องลอยไปที่ใด ท่านผู้อ่านจะติดตามเรื่องราวกันได้ที่วัดจามเทวี

แต่ก่อนที่จะย้อนเหตุการณ์กันต่อไป ณ วัดจามเทวีที่จะลงในฉบับหน้านั้น ผู้จัดขอนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ณ วัดพระธาตุดอยคำ มาเล่าไว้ฟังแถมท้ายว่า "ท่านแม่" ได้มาบอกลูก ๆ ทุกคนดังนี้ว่า

"แม่ดีใจด้วย...ที่ลูกมากันมากมาย ขอให้ทำ "ทาน" กันเรื่อย ๆ นะ แม่ไป "นิพพาน" ได้ก็เพราะ "ทาน" นะ...ลูกนะ...!" ตามประวัติในตอนต่อไป จะเป็นจริงดั่ง คำสอนของท่านหรือไม่...ไว้รอพบกัน...สวัสดี

((( โปรดติดตามตอนที่ ๔ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน )))


◄ll กลับสู่ด้านบน



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved