ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 20/9/09 at 05:58 Reply With Quote

นิทานชาดก (เรื่องที่ 25) กาญจนักขันธชาดก - ชาดกว่าด้วย "ธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ"


...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 25 มีชื่อว่า "กาญจนักขันธชาดก" (อ่าน..กาญจะนักขันธะชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "ชาวนา" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

กาญจนักขันธชาดก : ชาดกว่าด้วย "ธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

......สมัยหนึ่ง ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี มีชายผู้หนึ่งได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้ว เกิดความเลื่อมจึงทูลขออุปสมบท

บวชแล้วมีกิริยางามและอ่อนน้อม พระเถระผู้ใหญ่จึงเมตตาเอ็นดู ช่วยกันเอาใจใส่อบรมสั่งสอนเป็นพิเศษให้ศึกษาข้อธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พระอาจารย์ล้วนไม่รู้จักประมาณกำลังสติปัญญาของลูกศิษย์ มีแต่ความปรารถนาดีจึงกลายเป็นยัดเยียดคำสอนให้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ไม่นาน ศิษย์ก็เริ่มท้อแท้ใจเพราะการศึกษาหนักมาก จึงคิดอยากลาสิกขาไปครองเรือนตามเดิม จึงเข้าไปกราบลาพระอุปัชฌาย์ ด้วยท่านไม่อาจรักษาศีลให้ครบถ้วนได้

พระอุปัชฌาย์ ได้ทราบความแล้วก็ให้รู้สึกเสียใจ เมื่อท่านอาจยับยั้งได้จึงพาไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอบถามพระอุปัชฌาย์ถึงวิธีการสอน

จากนั้นจึงตรัสว่า พระองค์จะรับเป็นธุระในการสอนให้เอง แล้วตรัสกับพระภิกษุบวชใหม่รักษาศีลเพียง ๓ ข้อ

“จงรักษาทวารทั้งสามไว้ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร คือ ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยวาจา และไม่กระทำกรรมชั่วด้วยใจ จงรักษาศีล ๓ ข้อนี้เท่านั้นเถิด”

ตั้งแต่นั้นมาภิกษุก็ตั้งใจประคับประคองควบคุม กาย วาจา ใจ อย่างเคร่งครัด ๒- ๓ วันต่อมา สามารถเข้าถึงอรหัตผล หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ท่านถึงกับเปล่งอุทานออกมาว่า

“เท่านี้เองหนอ... ศีลตั้งมากมายที่พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ อ้อมค้อมบอกแก่เราจนเหลือกำลังรับ แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงประมวลไว้เพียง ๓ ข้อ เท่านี้เอง”

เหล่าพระภิกษุต่างสนทนากันในเรื่องนี้ สรรเสริญในความเป็นเอกบุรุษของพระบรมศาสดา ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องแล้ว จึงตรัสเรื่อง กาญจนักขันธชาดก ดังนี้


...ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีชายชาวนาผู้ขยันคนหนึ่ง ได้จับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อถากถางเป็นที่นาของตน ซึ่งที่ดินแห่งนี้เมื่อในอดีต เคยเป็นที่ตั้งบ้านของเศรษฐีผู้มาก่อน

ชายหนุ่มได้ออกไปไถนาทุกวัน วันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่นั้น ผาลไถ ( เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ) ก็ไปสะดุดติดอยู่กับของแข็งๆ ท่อนหนึ่งในดิน วัวที่เทียมไถไม่สามารถลากต่อไปได้จึงหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่

เมื่อแรกเขาคิดว่าเป็นรากไม้ จึงเอามือขุดคุ้ยก้อนดินดู แต่กลับเป็นแท่งทองคำขนาดใหญ่ฝังอยู่ในดิน ทองคำแท่งนี้ เศรษฐีเจ้าของบ้านคนเดิมได้ฝังซ่อนไว้ แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

ขณะนั้นเพิ่งจะบ่าย ยังมีเวลาเหลืออีกมาก ชาวนาผู้รักงานจึงค่อยๆ ทำงานต่อ แล้วโกยดินกลบท่อนทองคำไว้ดังเดิม จนกระทั่งโพล้เพล้ เขาจึงหยุดทำงาน แล้วย้อนกลับไปยังที่ฝังแท่งทองคำ คุ้ยดินออก ตั้งใจจะแบกกลับบ้าน

แต่ทองมีน้ำหนักมากแบกไปไม่ไหว เขาจึงคิดที่จะแบ่งแท่งทองนี้ออกเป็นสี่ส่วน ส่วนที่ ๑ ขายนำทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ส่วนที่ ๒ ฝังไว้ที่เดิมเก็บไว้ยามขัดสน ส่วนที่ ๓ เป็นทุนค้าขาย ส่วนที่ ๔ ทำบุญให้ทาน

เขาจึงตัดทองคำออกแบกกลับบ้านคราวละท่อนๆ นำไปใช้ตามจุดประสงค์นั้น โดยไม่มีความกังวลว่า ทองคำส่วนที่กลบดินจะสูญหายหรือไม่

แต่เพื่อความไม่ประมาท ชาวนาจึงไม่ปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครทราบแม้แต่กับลูกเมีย ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การจับจ่ายภายในบ้าน ก็ยังให้เป็นไปตามปกติ

จนไม่มีใครล่วงรู้เบื้องหลังในความเป็นผู้มั่งมีของเขาเลย เข้าใจเอาเองว่า เป็นเพราะความขยันขันแข็งในการทำงานของเขา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า...

“ นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ”

ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า "ชาวนา" ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก

๑. ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ ต้องศึกษาอัธยาศัยของผู้รับคำสอนเสียก่อน แล้วพลิกแพลงวิธีการให้เหมาะสม มิฉะนั้น จะกลายเป็นยัดเยียดคำสอน อย่างไรก็ดี ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยฝึกคุณสมบัติ ๔ ประการ คื

( ๑) แตกฉานในการขยายความ ( ๒) แตกฉานในการย่อความ ( ๓) แตกฉานในการพูดโน้มน้าวให้สนใจ ( ๔) มีปฏิภาณไหวพริบ ในการถามและตอบปัญหา

๒. ถ้าต้องการให้งานใหญ่สำเร็จ ต้องรู้จักแบ่งงานเป็นส่วนย่อย

๓. ผู้นำต้องฉลาดในการเก็บความลับด้วย เรื่องบางอย่างบอกใครไม่ได้



ที่มา - kalyanamitra.org



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved