|
|
|
posted on 28/2/08 at 22:03 |
|
ประวัติพระพุทธศาสนา โดย.."อุณากรรณ" ( เล่มที่ 1 )
ประวัติพระพุทธศาสนา ณ สุวรรณภูมิ
โดย..."อุณากรรณ" เรียบเรียง
สารบัญ
(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)
01. "สุวรรณภูมิ" อยู่ที่ไหนกันแน่..?
02. พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี
03. ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัย
04. การเฉลยปัญหาธรรม
05. ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา
06. ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย
07. ประวัติ "รอยพระพุทธบาท" ที่สระบุรีและภูเก็ต
08. ชาติไทยกับพระพุทธศาสนา
09. ชาติไทยกับหนังสือไทย
10. สุวัณณภูมิฟื้นชื่อ
11. เมืองสรวง (สมัยพระกุกกุสันโธพุทธเจ้า)
12. พุทธศาสนารุ่งเรืองในสุวรรณภูมิ
13. โลกวิทยา
14. ยุคที่ ๑ ขุนสรวง และ นางสาง
15. อนาคตวงศ์
16. ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชา
17. ถวายเศียรเกล้าบูชาธรรม
18. ช้างปาลิไลยกะ
19. ยุค ๒ (พุทธันดรที่ ๒) ขุนแถนเทียนฟ้า-สีทองงาม
20. พระพุทธโกนาคมน์เสด็จโปรด "อาณาจักรแถนไทย"
ตอนที่ ๑
"สุวรรณภูมิ" อยู่ที่ไหนกันแน่..?
ผู้อ่านได้เคยติดตามประวัติผลงานของ "พระมหินทเถระ" ซึ่งท่านได้นำ "คณะสมณทูตสายที่ ๘"
เดินทางไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองในประเทศลังกามาตราบเท่าถึงทุกวันนี้
ซึ่งเคยลงในหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" เมื่อหลายปีก่อนเป็นตอนๆ มาแล้ว นับเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านโดยทั่วไป
สำหรับตอนแรกนี้ เรามาศึกษาผลงานการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของ "พระโสณะ" และ "พระอุตตระ"
กันบ้าง ซึ่งท่านได้นำ "คณะสมณทูตสายที่ ๙" เดินทางมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ "สุวรรณภูมิ"
แต่ตามหลักฐานทางคัมภีร์ ต่างๆ ไม่มีรายละเอียดมาก ฉะนั้น ก่อนที่จะถึงเรื่องราวต่อไปเราต้องมาศึกษา
ค้นคว้าดินแดน "สุวรรณภูมิ" ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่...?
นับตั้งแต่พุทธปรินิพพานมาจนถึงปัจจุบันนี้ ประเทศต่างๆ ที่รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท (หินยาน)
เช่น ประเทศอินเดีย ลังกา พม่า เขมร และลาว เป็นต้น เราจะสังเกตได้ว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเจริญ
วัฒนาถาวรอยู่ในอาณาเขตประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติไทยเพราะเมื่อเราแหงนดูไปเบื้องหน้าจะเห็นยอดช่อฟ้าใบระกา หรือยอดพระปรางค์เป็นต้นปรากฏเป็นสัญลักษณ์อยู่ทั่วไป
พระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๕
ส่วนกิจการด้านพระศาสนา มีการจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้าน
พระศาสนา พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกามีสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และยังมีตำราเรียนทางพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน
อีกทั้งสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานก็มีอยู่ทั่วไป
ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศดังกล่าวมาแล้วนี้ ด้านการพระศาสนาของเรา มีความเจริญมั่นคงกว่า
ประเทศใดๆ ในปัจจุบันนี้เรามีพระมหากษัตริย์ธรรมิกราช ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก อีกทั้งมีพระมหาเถระ
ผู้ทรงความรู้ ความสามารถอีกมากมาย จึงเป็นการยืนยันได้ว่าประเทศของเรายังมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ครบถ้วน
ทั้ง ๓ ประการ สมกับเป็นประเทศที่สืบต่ออายุพระศาสนาอย่างเต็มภาคภูมิ ตามเหตุผลดังที่กล่าวมานี้
อนาคตังสญาณ
คราวนี้เราจะลองย้อนกลับไปในอดีต ถึงเจตนารมย์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช และ พระโมคคลีบุตรติสสเถระ
ที่ได้จัดส่ง "คณะสมณทูต" ออกไปประกาศพระศาสนาตามประเทศต่างๆ นั้นตามที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า
พระโมคคลีบุตรติสสะ ท่านเป็น "พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ" ท่านจะต้องทราบด้วย "อนาคตังสญาณ"
คือการรู้เหตุการณ์ในอนาคตของท่านว่า
ในกาลต่อไป เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากชมพูทวีป อินเดีย แล้ว อาณาเขตประเทศไทยในเวลานี้
ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะต้องเป็นดินแดนที่สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตลอด ๕๐๐๐ปี
คงจะเป็นไปไม่ได้ที่ท่าน จะไม่ส่ง "คณะสมณทูต" มาทางด้านนี้ เพราะในเวลานั้น พระเจ้าอโศกมหาราช
กำลังมีพระราชอำนาจในการปกครอง แผ่ไปทั่ว พระองค์จะต้องทรงปรึกษากับพระมหาเถระอย่างรอบคอบ
จะต้องสอบถามว่าสถานที่ใดสมควรหรือไม่
การที่ท่านส่ง "คณะสมณทูต" ไปทั้ง ๙ สายในเวลานั้น หลังจากการทำ สังคายนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕
กลับเป็นผลดีแก่พระศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิด และลังกาก็เป็นประเทศที่รับช่วง
ต่อมา แม้แต่ พม่า เขมร และลาว พระพุทธ ศาสนาก็เคยรุ่งเรืองมาก่อน แต่ก็ต้องมาเสื่อมโทรม
ในกาลภายหลัง
ทั้งนี้ เหตุเพราะพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สถานการณ์ของ
บ้านเมือง ตลอดจนผู้นำของประเทศ เป็นต้น ถ้าบ้านเมืองมีความสงบสุข เศรษฐกิจดี มีความมั่นคง
พระศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์ เป็นอย่างดี หากบ้านเมืองประสบปัญหาถูกข้าศึกรุกราน หรือมีปัญหา
การเมืองภายในประเทศ พระศาสนาต้อง พลอยได้ รับความกระทบกระเทือนไปด้วย
รวมความว่า ตามสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ประเทศที่รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่กำลังมี
ความเจริญมั่นคงอยู่ในขณะนี้ ก็มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น เราเพียงแต่หาหลักฐานมายืนยันเท่านั้นว่า
พระโสณะ และ พระอุตตระ เดินทางมา "สุวรรณภูมิ" นั้น
อยู่ที่ไหนกันแน่...?
พลิกประวัติศาสตร์และโบราณคดี
อันดับต่อไปจะขอนำเอกสารต่างๆ มา เป็นหลักฐานประกอบ เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษา ขอให้
ท่านผู้อ่านที่กำลังสนใจติดตาม "ประวัติพระพุทธศาสนา" ตามที่ได้เคยเรียบเรียงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อินเดีย ลังกา
กำลังจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ขอได้โปรดช่วยกันวินิจฉัยด้วยว่า พอจะเป็นจริงหรือมีเหตุผลพอเพียงหรือไม่
เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยสันทัดในเรื่องนี้ จึงขอทำหน้าที่แต่เพียงค้นคว้าหาให้อ่านกันเท่านั้น
สำหรับหนังสือที่นำเป็นหลักฐาน ส่วนมากจะกล่าวอ้างมาจากพงศาวดารบ้าง ตำนาน บ้าง จากศิลปวัตถุโบราณ
ที่ขุดพบได้บ้าง จากศิลาจารึกที่ปรากฏอยู่บนพื้นดินบ้าง และที่เป็น หลักฐานที่ดีที่สุดที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินเรียกกันว่า
"กระเบื้องจาร" จะนำมาเสนอเป็นตอนสุดท้าย
ตามหลักสูตรการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนมากเราจะรู้จักแต่อาณาจักรที่ครอบครองอยู่ในดินแดน
แถบภาคเหนือทั้งสิ้น เช่น อาณาจักรเชียงแสน เป็นต้น ต่อมาอาณาจักรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็ คือ อาณาจักรสุโขทัย
ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา แล้วเราจึงเริ่มรู้จักคำว่า กรุงศรีอยุธยา กัน โดย พระเจ้าอู่ทอง เป็นผู้สร้าง
เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ "อาณาจักรศรีอยุธยา" จึงได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น
เป็นอันว่า ประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น
นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี หรือที่ใครเขาวิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็นเขตของ "อาณาจักรทวารวดี"
หรือ "อาณาจักรสุวรรณภูมิ" มาก่อน อันนี้เราไม่มีตำราเรียนกัน นอกจากจะค้นคว้าหาจากตำนานที่พอเหลืออยู่บ้าง
แต่ก็ หาสมบูรณ์ครบถ้วนได้ยากเต็มที คงจะถูกทำลายไปเสียหมด ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จึงหาย ไปนับพันๆ ปี
ฉะนั้น ในดินแดนภาคกลางที่เราอาศัย เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอยู่ในเวลานี้ นับตั้งแต่ ก่อนพุทธกาลมา
เราไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานเลย นอกจากจะขุดพบศิลปโบราณวัตถุ แล้วนำมาวินิจฉัยกันว่าเป็นสมัยใดบ้าง
โดยเฉพาะชื่อของประเทศนี่เอาแน่นอนไม่ได้ มักจะเปลี่ยนชื่อไปตามยุคตามสมัย เมืองหลวงก็ย้ายกันอยู่เสมอ
ถ้าลองย้อนหลังเพียงไม่กี่สิบปี เรียกประเทศไทยว่า "ประเทศสยาม" เรียกกรุงเทพว่า "บางกอก" อย่างนี้เป็นต้น
ต่อไปนี้เรามาลองศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์กันบ้าง คือ คุณกฤษณา เกษมศิลป์
ได้เขียนลงในหนังสือ "๒๔๐๐ ปีในแหลมทอง" ขอนำมาโดยย่อ ดังนี้
พระบรมราโชบายของ รัชกาลที่ ๕
เป็นธรรมเนียมของคนไทยทุกคน เมื่อมีโอกาสได้เดินทางผ่านวัดพระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ใน บริเวณเดียวกับ
พระบรมมหาราชวัง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา จะต้องพนมมือสิบนิ้วขึ้นนมัสการพระแก้วมรกต ซึ่งสถิตประดิษฐาน
อยู่ในพระอุโบสถนั้น
ภายในกำแพงจะเห็นเจดีย์ และปราสาท ราชมณเฑียรมียอดแหลมหลากสี งดงามตั้ง เรียงรายเป็นระเบียบ
เป็นภาพที่งดงามนักดังหนึ่งสร้างจากสวรรค์ ล้วนแล้วสำเร็จด้วยฝีมือ อันบรรจงวิจิตรของช่างชาวไทย เป็นแบบอย่าง
ของชนชาติที่เจริญแล้วโดยแท้
ชนชาติใดที่มีฝีมือสร้างเวียงวังของตนได้ใหญ่หลวงงดงามถึงเพียงนี้ ชนชาตินั้นน่าจะมีอดีตที่รุ่งโรจน์
และน่าศึกษายิ่งนัก คงมิใช่ชาติเล็กที่ไร้ระเบียบแบบแผนประเพณี คงเป็นชาติใหญ่มีคุณลักษณ์อันดีล้วนชวนให้ค้นคว้า
แต่อันใดหนอที่ทำให้พวกเราชาวไทย บางคนยังเข้าใจว่าเราอพยพมาจากที่อื่น ไม่ใช่เจ้าของดั้งเดิม
ของแผ่นดินอันเราได้ยืนอยู่ ณ แทบเท้านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เข้าใจตามนั้นว่า ชนชาติไทยอพยพมาจากที่อื่น
เช่นจากใจกลาง ประเทศจีน เป็นต้น
ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อเช่นนั้น เพราะตำนานเก่าๆ ของเราไม่ได้ว่าไว้เช่นนั้นเลย ผู้ใดข้องใจหรือสงสัยก็ได้
โปรดติดตามอ่านดู โดยเฉพาะข้อเขียนนี้พยายามยึดตามพระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัลกาลที่ ๕
ซึ่งได้ตรัสคราวเปิดสโมสรโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่า
...ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็น ชาติและเป็นประเทศขึ้น ย่อมถือเรื่องราวของ ชาติและประเทศ
ตน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะพึงศึกษาและพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิด และ
ความประพฤติ ซึ่งจะพึงเห็นได้ เลือกได้ ใน การที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติแล
รักแผ่นดินของตัว
เรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งมนุษย์อาจจะทรงจำได้ ย่อมมีหลักฐานอยู่เพียง ๖,๐๐๐ ปี แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราว
อันไม่น่าเชื่อเจือปนเป็นนิทาน ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน ๓,๐๐๐ ปี แต่ประเทศโดยมาก ในชั้นปัจจุบันนี้
มักจะตั้งตัวได้เป็นปึกแผ่นราว ๑,๐๐๐ ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่เป็นแต่ใช้เครื่องหมาย
เป็นรูปนกรูปกา หรือรูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ
แต่ความรู้ยืดยาวขึ้นไปเช่นนี้ ย่อมมีในประเทศที่แบบแผนเป็นหลักในบ้านเมือง ที่ถึงความรุ่งเรืองแล้ว
ในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเป็นเมืองที่ยังคงเป็นป่าเถื่อน ไม่รู้จักหนังสือ และไม่รู้จักเล่าต่อกัน ก็รู้ได้เพียงชั่วอายุหรือ
สองชั่วอายุคน บ้านเมืองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่ กรุงสยามนี้ เป็นประเทศที่เคราะห์ร้าย ถูกข้าศึกศัตรูทำลายล้างอย่างรุนแรง
เหลือเกิน ยิ่งกว่าชาติใด ๆ ที่แพ้ชนะกันในสงคราม หนังสือเก่าๆ ซึ่งควรจะสืบสวนได้ ได้สาบสูญไปเสียเป็นอันมาก
ทั้งเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดี ที่เราสามารถ อาจจะหาเรื่องราวจากต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเซีย
ซึ่งได้เคยคบหากับเรามาแต่ในปางก่อน แม้ถึงเมืองที่เป็นปัจจามิตร เช่นพม่า เราก็อาจจะสืบสวนหาข้อความได้
มีหลักอยู่ซึ่งเราจะพิจารณาข้อความอันได้มาจาก ต่างประเทศนั้น ให้รู้ว่าประเทศใดมีอัธยาศัยชอบอวดอ้าง
บารมีเจ้าแผ่นดินปรากฏแก่ใจ เมื่อเราได้อ่านหนังสือนั้น เราก็ควรพิจารณาหารความลงในทางนั้น
ฝ่ายเรื่องราวซึ่งฝรั่งเล่า มักจะแต่งให้อัศจรรย์ เพื่อให้คนอ่านพิศวง จะได้ซื้อหนังสือ นั้นมาก เช่นกับที่กล่าวกัน
อยู่ในปัจจุบันทั่วไปว่า เมืองไทยมีวังอยู่ใต้น้ำเป็นตัวอย่าง ข้างฝ่ายจีนนั้น ไม่ใคร่จะออกความอย่างจีนคือจะให้เราเป็นจีน
หรือไม่ก็เป็นฮวน ทำอะไรให้ผิดปกติไปต่าง ๆ เป็นต้น
วิธีจะวินิจฉัยเรื่องราวอันได้มาแต่ต่างประเทศนั้น มีข้อสำคัญอยู่ที่จะจับหลักน้ำใจ และความคิดข้างไทยให้มั่น
ถ้าเรื่องราวอันใดแปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้ เราควรจะพิจารณาในข้อนั้น ไม่ควรจะด่วนเชื่อ
ทั้งเคราะห์ดีซึ่งมี "พระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ได้เขียนเรื่องราวพระศาสนาอัน ประดิษฐานในแถบประเทศ
เหล่านี้ไว้ในภาษาบาลี และมีเรื่องราวประเทศซึ่งนับว่าเป็นไทย เช่น ล้านช้าง และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือ
อาจจะสอบสวนเอาความจริงได้มีอยู่
แต่เรามักจะไปถือเสียว่าเป็นหนังสือศาสนา ไม่มีผู้แลดูด้วยความหมายจะค้นคว้า เรื่องราวประกอบพงศาวดาร
หรือเรื่องราวของประเทศ ถึงว่าจะมีบางตอนซึ่งเรายังแลไม่เห็นว่า จะหาทางใดที่จะสืบสวนข้อความให้แจ่มแจ้งได้
เหตุไฉนจะทอดธุระไม่สืบสวนต่อไป
ความคิดอันนี้ ใช่ว่าจะมุ่งหมายให้สำเร็จ เป็นหนังสือเรื่องราวประเทศสยามโดยเร็วนั้น มิได้หวังว่าพวกเรา
จะช่วยกันสอบหา รวบรวมเรื่องราวหลักฐาน และช่วยกันดำริวินิจฉัยข้อความซึ่งยังไม่ชัดเจนให้แจ่มแจ้งขึ้น
ตามปัญญาตัวที่คิดเห็น ไม่จำเป็นจะต้องยืนยันว่า เป็นการถูกต้องนั้นหรือไม่ เมื่อมีความเห็นอย่างไรเขียนลงไว้...
วันที่ ๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๖
ชาติไทยกับถิ่นดั้งเดิม
อนึ่ง ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้อีกว่า
"ชนชาติไทยเป็นชนชาติใหญ่อันหนึ่ง ในเอเซียตะวันออกมาตั้งแต่พุทธกาล แม้ในทุกวันนี้ นอกจาก
ประเทศไทยนี้ ยังมีชนชาติไทย ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นๆ อีกเป็นอันมาก อยู่ในดินแดนประเทศจีน
ก็หลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย พม่า ตลอดไปจน มณฑลอัสสัม ในแดนอินเดีย
แต่คนทั้งหลายต่างหากเรียกชื่อต่างๆ กันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่นเรียกว่าชาวสยามบ้าง ลาวบ้าง เฉียงบ้าง
ฉาน ลื้อ เขิน เงี้ยว ขำติ อาหมบ้าง ที่แท้ได้นามต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัว
ว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งสิ้น"
ทีนี้ว่าถึงถิ่นดั้งเดิมของไทย ตามตำนานไทยเหนือก็ดี พงศาวดารโยนกก็ดี พงศาวดารของไทยแท้ๆ ก็ดี
ล้วนกล่าวต้องกันว่า ชนชาติไทยมีอาณาจักรอยู่ดังนี้
ทางเหนือสุดลงมาทางใต้ คือแคว้นสิบสองปันนา แคว้นเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นเชียงตุง แคว้นลานนา
แคว้นหลวงพระบาง แคว้นฉาน (เงี้ยวหรือไทยใหญ่) แคว้น เชียงใหม่ แคว้นสุโขทัย แคว้นอิสานบุรี (ภาคอิสานทั้งภาค) แคว้นอยุธยา แคว้นทวารวดี แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด และแม้ปัจจุบันนี้ คนไทยก็ยังอยู่ในแคว้นเหล่านี้ทั้งสิ้น
เป็นแต่ว่าบางแคว้นไม่ได้เป็นอาณาเขตของประเทศไทยเท่านั้น..."
คนไทยอยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว
มีเหตุอันน่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง คือนักโบราณคดีก็ดี นักประวัติศาสตร์ก็ดี บางท่าน มักเกิดงุนงงและสับสน
ในเรื่องของชนชาติไทย ทั้งนี้ก็เพราะไปเข้าใจเอาว่า ชนชาติไทยอพยพจากใจกลางประเทศจีน แต่ก็เข้าใจผิด
ว่าชนชาติเร่ร่อนและชาวป่าชาวเขา เช่น พวกข่า ละว้า ขมุ ว่าเป็นเจ้าของถิ่นเดิมในแหลมทอง โดยไม่เฉลียวใจ
และไม่คิดบ้างว่า ไทยเราก็อยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้วด้วย ทั้งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย และเป็นกลุ่มใหญ่
หลายกลุ่ม อยู่กระจัดกระจายกันทั่วไปในถิ่นแหลมทองนี้
เพราะชนชาติไทยอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมานานดึกดำบรรพ์ ตอนหลังจึงได้แยกย้ายห่างกันออกไปทุกที
จากเหนือสุดและใต้สุดของแหลมทอง ภาษาไทยของเราจึงได้เพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็เป็นภาษาไทยแท้ที่ใช้พูดกัน
รู้เรื่องตลอดแหลมทอง และเราก็ได้รู้จัก กันว่าใครเป็นใคร คือรู้ว่าพวกเรายังเป็นไทยด้วยกัน ก็เพราะภาษาไทย
ของเรานี่เอง แม้บัดนี้จะต้องไปอยู่กันห่างไกลเพียงไร
ฉะนั้น เมื่อเราเกิดไขว้เขวว่าพวกชาวป่าเป็นเจ้าของถิ่น ไทยเรายังไม่อพยพลงมา เมื่อไปพบหลักฐาน
โบราณคดีที่เกี่ยวกับชาติเราเข้า เราก็เกิดความไม่แน่ใจ แล้วก็เลยโมเมว่า "ไม่ใช่ของๆ เราไป" มาพูดกันให้
ชัดแจ้งเลยว่า ถ้าชนชาติป่าเถื่อนเหล่านั้น เป็นเจ้าของถิ่นแต่ผู้เดียวไซร้ เหตุไฉนเมื่อพวกเหล่านั้นหายสาบสูญไป
จึงไม่มีที่ใดกล่าว ให้ชัดออกมา อยู่ๆ ก็หายหน้าไปเฉยๆ จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ทั้งเรื่องราวของชนเหล่านั้นที่เกี่ยวกับชาติไทยเรา ก็ไม่ปะติดปะต่อเลย ไม่ต้องดูอื่น ไกลดูแต่ขอม
เมื่อขอมสูญชาติไป เราเองก็ยังไม่รู้ว่าสูญได้อย่างไร และคำว่า "ขอม" เราก็ยังแปลไม่ออกจนกระทั่งบัดนี้
แต่อย่าลืมว่า แม้ขอมจะสูญชาติไปแล้ว แต่หนังสือขอม ก็ยังเป็นหนังสือสำคัญทางวัดของเราจนทุกวันนี้
นักประวัติศาสตร์ต่างชาติ
ในสมัยหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๖๐ ประเทศไทยเราเริ่มสนใจเรื่องโบราณคดีได้มีนักโบราณคดี
ชาวต่างประเทศท่านหนึ่งมาช่วยงานด้านนี้ จนพวกเราได้รู้เรื่องราวต่างๆแต่โบราณของเราเป็นอันมาก แต่มี
บางสิ่งบางอย่าง ที่ท่านผู้นี้ ได้แปลและตีความหมายไว้ ซึ่งทำให้พวกเราชาวไทยเข้าใจผิด เช่นว่า เขมร หรือ ขอม
เคยมีอำนาจครอบครองประเทศไทย
สมัยก่อนพ่อขุนรามคำแหง เมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองของพวก มอญ มาก่อน สุโขทัยเคยเป็นเมืองขึ้นของขอม
แล้วแปลคำและความหมายให้บิดเบือนไป แต่บัดนี้ นักปราชญ์ไทยหลายท่านก็ได้คัดค้าน พร้อมทั้งอ้างหลักฐานจาก
โบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ใหม่มายัน เราจึงได้ทราบความจริงว่า
ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจใน "นครวัด นครธม" นั้น ขอมไม่เคยมามีอำนาจในอาณาจักรไทยเลย และลพบุรีก็ไม่เคยเป็นเมืองของมอญมาก่อน
เพียงแต่อาจมีเจ้าครองนครมีเชื้อสายเป็นมอญ เช่น พระนางจามเทวี เป็นต้น นั่นไม่ได้หมายความว่าราษฎรทั้งเมือง จะต้องกลายเป็นมอญไปด้วย
การกระทำดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นได้เด่นชัดว่า แม้แต่ทางโบราณคดี ก็ได้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะในครั้งนั้นเรารู้ดีว่า อังกฤษกับฝรังเศสพยายามที่จะแบ่งแยกประเทศไทยออก เป็น ๒ ส่วน โดยถือเอา
แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นพรมแดน เพื่อชาติทั้งสองจักได้ครอบครองประเทศไทยไปคนละครึ่ง เขาจึงพยายามทุกวิถีทาง
ที่จะโฆษณาชวนเชื่อให้เราหลงเชื่อ เริ่มต้นด้วยการแต่งหนังสือ อ้างว่าเราไม่ได้อยู่ในดินแดนแหลมทองนี้มาก่อน
พวกเราชาวไทยล้วนอพยพมาจากใจกลางประเทศจีนโน้น
ขั้นสอง เมื่อขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีอะไร ที่เกี่ยวข้องถึงชนชาติที่ตกเป็น เมืองขึ้นของเขา
เช่น มอญก็ดี เขมรก็ดี เขาก็จะบีบหรือบังคับกรายๆ ให้นักปราชญ์ชาติเขา พยายามบิดเบือนความจริงว่า
ของนี้เป็นของมอญบ้าง ของนี้เป็นของเขมรบ้าง แล้วสรุปให้ได้ว่า ดินแดนที่พบของเหล่านี้ ส่อเป็นดินแดนของมอญ
มาก่อนบ้าง ส่อเป็น ดินแดนของเขมรมาก่อนบ้าง เพื่อว่าเขาจะอ้าง ได้ถนัดเมื่อมีโอกาสจะฮุบเอาดินแดนของเราอีก
นี่แหละคือ มูลเหตุที่ว่า ทำไมนักประวัติศาสตร์ของไทยก็ดี นักโบราณคดีของไทยก็ดี จึงสับสนเหลือเกินในการ
สืบสาวราวเรื่องชาติของตนเอง และต้องจดจำสิ่งที่ผิดๆ มาเป็นอันมาก
และตามหนังสือ "พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย" สามอาณาจักรไทยโบราณ (ไศเลนทร์) เรียบเรียง โดย "ธรรมทาส พานิช"
ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
"...ชื่อ กิมหลิน - สุวรรณภูมิ นี้ แต่เดิมนักโบราณคดีมักจะชี้ไปที่ เมืองสะเทิม คือชี้ตามข้อความในจารึกของ
พระเจ้าปิฎกธร สมัย พ.ศ. สองพันเศษ ในหนังสือ ตำนานมูลศาสนา แต่งก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐ พระพุทธพุกาม และ
พระพุทธญาณ ท่านระบุว่า พระโสณะ และ พระอุตตระ มาแจกธาตุ (พระนิพพาน) ไว้ที่ สุวรรณภูมิ
คือ เมืองราม และ เมืองละโว้ บัดนี้ เมืองราม คือที่ อู่ทอง เคยเป็นกรุงทวาราวดีของ
"พระราม" ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ ตามความรู้ของภิกษุไทยสมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐ "สุวรรณภูมิ" คือที่
อู่ทอง
ในหนังสือ โกลเด็น เคอรโซนิส ของ ปอล วีทลีย์ หน้า ๑๑๖ - ๑๑๗ ได้คัดเรื่อง "กิมหลิน"
จากหนังสือจีนมาลงไว้พร้อมทั้งต้นฉบับภาษาจีน มีว่า
"...กิมหลิน อยู่พ้น ฟูนัน ไปอีกสองพันลี้ เป็นถิ่นมีแร่เงิน ชาวเมืองชอบจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน
เมื่อช้างตายก็ถอดเอางา..."
ความรู้จากศาลาวัด
ในเรื่องนี้ลองมาศึกษาหาความรู้จาก "ศาลาวัด" กันบ้าง ตามพระบรมราโชวาทของ "รัชกาลที่ ๕" ได้ตรัสไว้ว่า
"ประเทศไทยซึ่งมีพระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ดังนี้
อดีตท่านเจ้าคุณพระราชกวี (อ่ำ ธัมมทัตโต) ได้เขียนคำนำไว้ในหนังสือ
"พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ"
เรื่องของท่านมีอยู่ว่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมาท่านได้เจอจารึก "กระเบื้องจาร" ที่บ้านคูบัว จ. ราชบุรี จึงได้อ่านรู้เรื่องประวัติ
ชนชาติไทยได้ตลอดว่า ไทยนี้ต้องเป็นเผ่าแรกต้น ที่ทำความเจริญแก่โลกมนุษย์แน่นอน เช่น
คิดลายไทย ลายสือไทย ลายตัวเลขไทย เป็นต้น
ต่อมาได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นของที่ทำปลอมขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์ปั่นป่วน ท่านจึงเขียน ชี้แจงไว้ว่า
ความจริงมีอยู่ เรื่องไม่จริงนั้นโกหกกันได้ไม่นาน เพราะตัวของมันเองยืนยันตัวเอง อยู่แล้ว ส่วนที่ทำให้ตัวเอง
เสียหายน่าอับอายขายหน้า เช่นแต่งให้ไทยวิ่งหนี ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย อย่าง "ทวารวดี" ซึ่งไม่รู้และไม่มีหลักฐาน
ยืนยันว่าที่ไหน เมื่อไร ของใคร และอะไร เพียงเอาหลักฐานที่ชาติฝรั่งลบแผนที่ของไทยโบราณกุให้ฟังแล้วสร้างเรื่องขึ้น
สิ่งที่ไทยได้กระทำมาเป็นไทยและของไทย ไทยไม่ยอมรับ แถมยกไปให้เขาอื่น เหตุนี้ของไทยทุกชนิด
จึงไม่ขึ้นเป็นหลักฐาน แม้ในขั้นการเรียนเพียงชั้นประถมก็ยังไม่มี ที่มีอยู่ก็ต้องอาศัยฝรั่ง เฉพาะในเรื่องต่างๆ
ของไทยที่มีขึ้น ก็ต้องไปลอกแปลที่ฝรั่งเขาเขียนไว้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ายังขลาดอยู่อีกคนหนึ่ง ไทยก็สูญสิ้นสัญลักษณ์
และเอกลักษณ์คือระบบแบบไทย และสิ่งของไทยที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะกลายเป็นไม่มี จึงจำเป็นต้องกล้าเอาหน้ารอด
เพราะไม่ได้ดีอะไรเลย
ทั้งได้แต่ถูกแช่งด่าตลอด และสิ้นเนื้อประดาตัว จึงไม่ต้องพูดถึงความดีความชอบ มีแต่จะต้องจมลึกลงไป
ยิ่งกว่าปิดทองหลังพระ และยืนยันได้อย่างเปิดเผยว่า ทำให้ไทยเป็นไทยอยู่ได้เพียงเท่านี้ ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้ว
ทั้งยังได้เกิดจิตสำนึกอยู่เสมอว่า "มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น" ถึงจะมีอุปสรรคอย่างไร ก็ต้องทำเพื่อไทยได้ฟื้นคืนตัวเป็นไทยอยู่
ตามเดิมตามที่ "ท่านต้นไทย" ได้ขอร้องให้กระทำ
(หลวงพ่อของเราก็ยืนยันว่า หลวงพ่อวัดโสมนัสองค์นี้ เกิดมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ)
จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ" อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ จะได้สังเกตและค้นคว้ามา เขียนเรื่องราว
ในสมัยดึกดำบรรพ์ของแหลมทองสู่กันฟังประดับสติปัญญา นับถอยหลังคืนไปจากปัจจุบันนี้ ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี
แผ่นดินที่รู้กันว่าสุวรรณภูมินี้ มีอาณาเขตตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ไปจดฝั่งอ่าวตังเกี๋ย ด้านเหนือสุดจด
ถึงเทือกเขาหิมาลัย ด้านตะวันออกด้านใต้จดถึงชวา มลายู
ดินแดนภายในเขตที่กำหนดนี้ เป็นที่อยู่ของชนชาติเผ่าผิวเหลืองหรือขาวใส รูปร่าง สันทัดหน้ารูปไข่
ผิวพรรณละเอียดเกลี้ยงเกลา มีชื่อเรียกว่า มงเก่า บาลีเรียกว่า อริยกชาติ ประชาชนพูดภาษาเป็นคำพยางค์เดียว
โดดๆ แต่ละคำมีความหมายตายตัว เป็นถ้อย คำฟังเข้าใจง่ายและไพเราะสละสลวย มีหลักภาษาเป็นระเบียบแบบแผน
สำหรับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า
"ถ้าจะกล่าวกันไปจริงๆ ละก้อ คนไทย สายเหนือที่เข้ามาจากประเทศจีน จะถือว่าตามประวัติศาสตร์บอกว่า
"คนไทยตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ประเทศจีน" อันนี้ไม่จริง สัญลักษณ์แห่งนิมิต ท่านบอกว่าสมัยนั้น คนไทยอยู่เรี่ยราด
กันไปหมด พื้นฐานถิ่นเดิมจริง ๆ คนไทยอยู่ชายทะเลฝั่งแหลมทอง และก็เรี่ยราดกันไปหากินกันเรื่อยไป
ในที่สุดก็ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นการขยายเขตอยู่แถวประเทศจีน คือไปจากเขตเดิม
แต่ก็ไม่ได้ไปหมด เป็นแต่เพียงไปหากินกันเท่านั้น เวลานั้นยังไม่รวมกลุ่มยังไม่รวมก้อน จัดเป็นเมือง
เป็นแต่เพียงว่าเป็นบุคคลบางเผ่าบางพวก ถือสัญชาติถือพรรคถือพวก มีสัญชาติเดียวกัน พูดเหมือนกัน มีวัฒนธรรม
อย่างเดียวกัน ถ้าจะกล่าวกันไปอีกทีก็เรียกว่า "เป็นตระกูลเดียวกัน" นั่นเอง ขยายเขตขึ้นไปถึงประเทศจีน เมื่อทางโน้น
เกิดการหากินไม่ดี มีความเป็นอยู่ไม่เป็นสุขก็ขยับขยายลงมา แต่ว่าเวลาเป็นร้อยๆ ปี คนเก่าที่ไปก็ตายหมด ทีหลังก็เลย
ปรากฏคิดกันว่า คนไทยอยู่ในเขตของประเทศจีนมาก่อน ที่เรียกว่า เก่าที่ไปก็ตายหมด ทีหลัง เป็นคนไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน
สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน
ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ดร. เดือน บุนนาค โดย "หลานย่า" (คุณเดือนฉาย คอมันตร์)
ท่านได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้
"สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ คำว่า สุวรรณภูมิ
หรือ สุวัณณภูมิ แปลตามศัพท์ว่า แผ่นดินทอง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ในพงศาวดารพม่าอ้าง
จาก "จารึกกัลยาณี" ซึ่งเป็นภาษามคธ และ "คัมภีร์ศาสนวงศ์" ระบุไว้ว่า สุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในประเทศพม่าตอนใต้
คือ
เมืองสุธรรมวดี หรือ เมืองสะเทิม ตลอดถึง เมืองพะโค (หงสาวดี) และมะละแหม่ง
ส่วนพงศาวดารลังกาอ้างจาก คัมภีร์สีหลวัตถุปกรณ์ เชื่อกันว่า "สุวรรณภูมิ" อยู่ ในแหลมมะลายูแต่คำว่า
"สุวรรณภูมิ" ปรากฎใน "นิทานชาดก" ของพระพุทธ ศาสนาหลายเรื่อง เช่น
ใน มหาชนกชาดก เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ขออนุญาตมารดาไปเสี่ยงโชคยัง "สุวรรณภูมิ" แล้วเรือแตกกลางทะเล
ใน "สังขพราหมณ์ชาดก" เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ลงเรือไปค้าขายหากินทาง "สุวรรณภูมิ" เพื่อนำมาบริจาคทาน
ลูกสุกรเกิดในสุวรรณภูมิ
ในตอนนี้ ผู้เขียนขอนำเรื่องนี้มาแทรกไว้ด้วย เป็นเรื่องที่มีมาใน "ธรรมบทขุททกนิกาย" มีใจความว่า
เมื่อสมเด็จพระบรมสุคตประทับอยู่ที่พระเวฬุวนาราม ทรงตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังถึงลูกสุกรกินคูถ (ขี้)
ตัวหนึ่งว่า ลูกสุกรตัวนั้นได้เป็น "แม่ไก่" อยู่ที่ใกล้หอฉันหลังหนึ่งในครั้งศาสนา สมเด็จพระกกุสันโธ แม่ไก่นั้น
ได้ฟัง
เสียงสาธยายธรรมของพระภิกษุองค์หนึ่ง ซึ่งสาธยายวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยอานิสงส์เพียงแค่นี้ เวลาจุติจากชาตินั้นแล้ว
ก็ได้เกิดในราชตระกูล เป็นราชธิดาชื่อว่า "อุพพรี"
ต่อมาภายหลัง "อุพพรีราชธิดา" นั้น ก็เข้าไปที่ส้วมเห็นกองหนอน ก็ทำให้เกิด ปุฬวกสัญญา
คือเห็นเป็นสิ่งสกปรกในกองหนอนนั้น แล้วก็ได้ปฐมฌาน เมื่อตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ก็วนเวียนไปมาด้วยอำนาจคติ
แล้วได้มาเกิดในกำเนิดสุกรนี้
ฝ่ายลูกสุกรจุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในราชตระกูลที่ "สุวรรณภูมิ" จุติจากราชตระกูลนั้นแล้วเกิดที่ เมืองพาราณสี
เหมือนอย่างนั้นอีก จุติจากชาตินั้นแล้ว ไปเกิดในเรือน พ่อค้าม้า ที่ท่าเรืออันชื่อว่า สุปารกะ จุติจากชาตินั้นแล้ว
ได้เกิดในเรือนแห่ง พ่อค้าเรือ ที่ท่าเรือ คาวิระ จุติจากนั้นแล้วเกิดในเรือนผู้เป็นใหญ่ที่ อนุราชบุรี
(ลังกา) จุติจากนั้นแล้ว เกิดเป็นธิดาชื่อว่า "สุมนา" ในเรือนแห่งกฎุมพีผู้ชื่อว่า "สุมนะ"
ใน บ้านเภกันตะ ในด้านทิศใต้แห่งอนุราชบุรีนั้น
ครั้งนั้น บิดาของนางสุมนานั้น เมื่อคนทั้งหลายในบ้านก็ได้ไปที่แว่นแคว้นทีฆวาปี อยู่ในบ้านที่ชื่อว่า
มหามุนีคาม อำมาตย์ของ พระเจ้าทุฏฐคามณี (ครอง ลังกาประมาณ พ.ศ. ๓๘๒) ผู้มีชื่อว่า
"ลกุณฏกอติมพระ" ได้ไปที่มหามุนีคามนั้น ด้วยกิจธุระอย่างหนึ่ง ได้พบเห็นนางสุมนานั้นแล้ว ก็กระทำมงคลใหญ่ (แต่งงาน) นำนางสุมนานั้นไปที่บ้านมหาปุณณคาม
ครั้งนั้น พระมหาอตุลเถระ ผู้อยู่ที่โกฏิปัพพตมหาวิหาร (ประเทศลังกา) เมื่อเที่ยวบิณฑบาตในบ้านนั้น
ก็ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนแห่งนางสุมนานั้น ได้เห็นนางสุมนานั้นแล้วก็กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ลูกสุกร.. ได้ถึงความเป็นภรรยาแห่งมหาอำมาตย์ ผู้ชื่อว่า ลกุณฏกอติมพระ น่าอัศจรรย์หนอ..."
นางสุมนาได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ระลึกชาติก่อนได้ นางเกิดความสลดใจขึ้นในขณะนั้น ได้อ้อนวอนสามี
แล้วบรรพชาในสำนักของพระเถรีทั้งหลาย ได้ฟัง มหาสติปัฏฐานสูตร ในติสสมหาวิหาร แล้วก็ตั้งอยู่ใน โสดาปัตติผล
ภายหลังเมื่อทางราชการมีการปราบปรามพวกทมิฬแล้ว นางสุมนาเถรีนั้นก็ได้ไปที่ บ้านเภกันตะ
อันเป็นที่อยู่แห่งมารดาบิดา เมื่ออยู่ในที่นั้นได้ฟัง อาสีวิสูปมสูตร ในกัลลกมหาวิหารก็ได้สำเร็จ พระอรหัตผล
ชาติสุดท้ายของการเกิด
ในวันจะปรินิพพานมีนางภิกษุณีทั้งหลายถามถึงเรื่องนี้ พระสุมนาเถรีจึงได้เล่าเรื่องของตนเองให้ฟังว่า
เมื่อก่อนข้าพเจ้าจุติจากกำเนิดมนุษย์ แล้วได้เกิดเป็น "แม่ไก่" อยู่ใกล้หอฉัน ต่อมาได้ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวจนหัวขา จึงได้ไปเกิดใน
กรุงราชคฤห์ ได้บรรพชาอยู่ในสำนักนางปริพาชิกา แล้วเกิดในพรหมโลกในชั้นปฐมฌาน จุติจากนั้นแล้วเกิดในตระกูล เศรษฐี ไม่ช้าก็จุติไปสู่
กำเนิดสุกร
จุติจากที่นั้นแล้วก็ไปเกิดที่ "สุวรรณภูมิ"
จากสุวรรณภูมิไป พาราณสี
จากพาราณสีไป ท่าเรือสุปารกะ
จากท่าเรือสุปารกะไป ท่าเรือคาวิระ
จากท่าเรือคาวิระไป อนุราชบุรี (ลังกา)
จากอนุราชบุรีไป เภกันตคาม
ข้าพเจ้าได้เกิดในชาติที่แตกต่างกันถึง ๑๓ ชาติแล้ว บัดนี้ได้เกิดในชาติสูงสุด (ได้บรรพชา)
ขอท่านทั้งปวงจงทำประโยชน์ให้สำเร็จ ไปด้วยความไม่ประมาทเถิด..."
ท่านทำให้ประชุมชนทั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) เกิดความสลดใจ ในความทุกข์ อันเนื่องจาก
ความเกิดที่ไม่แน่นอน ดังนี้ แล้วก็ปรินิพพานไป
เป็นอันว่าชื่อ "สุวรรณภูมิ" ได้ถูกกล่าว ถึงในที่หลายแห่ง ตามที่ "หลานย่า" ได้กล่าวอ้างมานี้
ต่อไปในหนังสือ หน้าที่ ๒๙ มีใจความอีกว่า...
"จากจดหมายเหตุจีน ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ ได้กล่าวถึงดินแดนทองในภูมิประเทศแถบนี้ และเรียกชื่อ
ดินแดนนั้นว่า"กิมหลิน" ว่าอยู่เลยอาณาจักรฟูนันไปทางตะวันตก ประเทศกิมหลินมีบ่อเงิน บ่อทอง มีเพนียดช้างด้วย
นอกจากนี้ชื่อจังหวัดในประเทศไทย ที่มีความหมายว่า "ทอง" หรือ "โภคทรัพย์" ก็มีหลายจังหวัด
และเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น
และในหนังสือ "พุทธสาสนสุวรรณภูมิปกรณ" อ้างถึงเมืองบริเวณ "คูบัว" ในจังหวัดกาญจนบุรี มีอาณาเขตตลอดเพชรบุรี
ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ถึงนครปฐม..."
เนื่องจากบทวิเคราะห์จาก "หลานย่า" ยังมีอีกมาก แต่เวลาหมดแล้ว จึงขอนำข้อสรุปความเห็นเรื่อง
"สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน" มาปิดท้ายไว้ดังนี้
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และ โบราณคดี ตลอดจนโบราณวัตถุสภาพการณ์แสดงให้เห็นว่า
ดินแดน "สุวรรณภูมิ" หรือส่วนหนึ่งที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มิใช่มีเพียงแต่อารยธรรมสมัยสุโขทัย อยุธยา
และรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ระยะเวลาก่อน สุโขทัยขึ้นไป จนกระทั่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีการปฏิรูปสังคม
และสืบทอดวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเวลาช้านานแล้ว..."
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๑๕
มีนาคม...สวัสดี...
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 14/3/08 at 20:49 |
|
ตอนที่ ๒ พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี เรื่องราวที่ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้วนั้น
เป็นการเสนอข้อคิดเห็นจากพระมหาเถระที่มีความรู้ด้านนี้บ้าง จากนักค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานทางด้านเอกสาร เช่น
พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ พอจะลำดับตามยุคสมัยได้ดังนี้
เริ่มตั้งแต่ภัทรกัปหลังจากน้ำท่วมโลก ครั้งใหญ่แล้ว ในปลายสมัยศาสนา สมเด็จพระโกนาคมน์ ได้มีมนุษย์มาตั้งบ้านเรือนขึ้น
สืบทอดมาหลายชั่วคนเรียกว่า "แคว้นสุวรรณโคมคำ" ต่อมาเป็น "แคว้นโยนกนคร" แล้วก็มาถึง "แคว้นหริภุญชัย" สมัย พระนางจามะเทวี
"แคว้นลานนาไทย" มาจนถึง "แคว้นสุโขทัย" ตามลำดับ
แม้แต่ตำนานพระธาตุต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ได้กล่าวไว้ ว่าสมัยสมเด็จองค์ปัจจุบันยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เคยเสด็จมายังดินแดนนี้หลายวาระแล้ว
เช่นมาประทับรอยพระบาทบ้าง มาโปรดแสดงพระธรรมเทศนาบ้าง และ พระสาวกที่มีฤทธิ์เช่น พระมหาโมคคัลลาน์ หรือ พระมหากัสสป
ต่างก็ได้เคยมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน
ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เราจึงมีหลักฐานพออ้างอิงได้ แต่เฉพาะดินแดนทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วน อาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือ
อาณาจักรทวารวดี ที่มีศูนย์กลางอยู่ทางภาคกลางนั้น เราได้ยินแต่เพียงชื่อเท่านั้น แต่หามีหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสารไม่
นอกจากจะขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ แล้วจึงจะเทียบตามยุคสมัยนั้นได้ ในโอกาสหน้าเราจะมาศึกษาในด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุกันต่อไป
แต่ตอนนี้ขอเชิญพบกับการค้นคว้าทางด้าน เอกสาร กันก่อนจึงจะไปค้นคว้าหลักฐานที่เป็น วัตถุ สำหรับต่อไปนี้จะขอนำเอกสารที่สำคัญชิ้นหนึ่ง
ที่มีค่าสูงและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทย นั่นก็คือการค้นพบบันทึกสมุดข่อย พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี
ที่ถ้ำเทือกเขาขุนตาล ในเขตจังหวัดลำพูน ต้นฉบับเป็นอักษรลานนา ได้ค้นพบโดย คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ เมื่อประมาณพ.ศ.๒๕๐๘
เนื้อเรื่องทั้งหมดได้จัดพิมพ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง วรอุไร อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕
เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกบันทึกไว้ จากผู้ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในสมัยนั้น เรียกว่าทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ฟังเขาเล่าว่าเท่านั้น
นับว่าเป็นหลักฐานที่หายากและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้จึงขออนุญาตนำมาเป็นตัวอย่างเฉพาะบางตอน เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์
สมัยย้อนหลังไปประมาณพันปีเศษว่า คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เป็นชนชาติใดภาษาใด สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีมีศาสนาอะไรประจำใจ..?
เมื่ออ่านไปแล้วก็คงจะจำได้ว่า ไม่ใช่ใครที่ไหน คงจะเป็นพี่ไทย...นี่เอง ไม่ได้เป็นจีน ไม่ได้เป็นแขก ไม่ได้เป็นขอมแต่อย่างใด เพราะข้อความต่อไปนี้
เป็นบันทึกของ พระพี่เลี้ยงพระแม่เจ้า ซึ่งอุปภิเษกสมรสร่วม พระแม่เจ้าจามะเทวี ซึ่งอ่านโดยมิได้เรียบเรียงใหม่
คงให้ตามเดิมเพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นว่า คำพูดสมัยพันกว่าปีใช้สำนวนอย่างนี้
บันทึกของพระพี่เลี้ยงปทุมวดี
เราคือ ปทุมวดี และน้องเราคือ เกษวดี เจ้าลุง พระเจ้านพรัตน์ เจ้าแม่มัณฑนาเทวี ให้เราและน้องเราเป็นพี่เลี้ยง เทวี
ที่เจ้าลุงและเจ้าป้ารับมาเป็นราชธิดาท่านฤาษีส่งมาจาก ระมิงค์นคร เมื่อพุทธศก ๑๑๙๐ อันตัวเราและน้องเรา เป็นธิดา เจ้าพ่อทศราช
เจ้าแม่ผกาเทวี เจ้าลุงนพรัตน์เป็นพี่แห่งเจ้าแม่เราเราทั้งสองยังมีพี่น้องชายหญิงอีกสี่คน น้องเรานั้นอยู่กับเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ง รัตนปุระนคร
เราและน้องเราอยู่กับเจ้าลุงและเจ้าป้า แต่ยังเล็ก ๆ อันเทวีน้อยนี้ เจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามว่า เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี
รัตนกัญญา ลวะบุรีราเมศวร เราเป็นผู้สอนอักขระและการหัตถกรรม ส่วน น้องเราให้วิชาตำรับพิชัยสงครามและเพลงอาวุธ น้องหญิงจามะเทวีฯ
เป็นดาบคู่และธนูไม่แพ้ชาย ยังชำนาญในพิณอย่างยิ่ง
น้องหญิงจามะเทวีฯ มาอยู่กรุงละโว้เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ รอบ จึงเมื่อพระราชธิดาเจริญวัยได้ ๒๒ รอบ จึงอุปภิเษกสมรสกับ เจ้าราม
ผู้เป็นโอรสผู้พี่แห่งบิดาเราเมื่อปีพุทธศกได้ ๑๑๙๘ ตัวเราและน้องเราก็อุปภิเษกกับเจ้าราม พร้อมกับน้องหญิงจามะเทวีฯ ขณะนั้น เราได้ ๒๘ รอบน้องเรา ๒๖
รอบ
จวบกระทั่งน้องหญิงจามะเทวีฯ ถูกรับไปครอง นครหริภุญชัย เมื่อพุทธศกได้ ๑๒๐๑ น้องหญิงพระชนม์ได้ ๒๕ รอบ ท่านฤาษีเฉลิมนามน้องหญิงว่า
เจ้าแม่จามะเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ปิ่นธานีหริภุญชัย
เราทั้งสองได้ติดตามมายังนครหริภุญชัย เจ้าแม่ให้กำเนิดโอรสฝาแฝดแต่ นครละโว้ ซึ่งเจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามโอรสผู้พี่ว่า มหันตยศฯ
และโอรสผู้น้องว่า อนันตยศฯ โอรสทั้งสองมาสู่หริภุญชัยด้วยเจ้าแม่
และเราให้กำเนิด เจ้าชัยรัตน์ฯ ซึ่งเป็น พญาโหราธิบดินทร์ ในแผ่นดินเจ้าเกษวดีน้องเราให้กำเนิดกุมารีแฝดคือ เจ้าจันทราฯ และ
ผกามาศฯ เจ้าแม่ให้อุปภิเษกเจ้ามหันตยศฯ ด้วยจันทราฯ และอนันตยศฯ ด้วยผกามาศฯ เราและน้องเราอยู่กับเจ้าแม่จนสิ้นสังขาร
ข้อความจากภาษาลานนานี้ หนานทา เป็นผู้อ่านให้ คุณสุทธวารี ฟังพอจะสรุปได้ว่า เจ้ารามราช ทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ
พระแม่เจ้าจามะเทวี พระนางปทุมวดี และพระนางเกษวดีพระแม่เจ้า ได้ศึกษาวิชาการรบไม่แพ้ชาย เก่งในเพลงดาบคู่และธนู
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน โดยท่านผู้ทรงคุณพิเศษเล่าไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ว่า
บันทึกพิเศษ
โดยเฉพาะ แม่ศรี แล้ว เรื่องการรบ แกเป็นหัวเรือใหญ่จริง ๆ เก่งในเพลงอาวุธหลายอย่าง การยิงธนูคราวละ ๓ - ๔ ดอกพร้อมกัน
เพื่อให้ถูกจุดหมายดอกละจุด แกเก่งมาก เมื่อมีสงคราม แกออกสงครามคู่กับฉันทุกคราว เวลาออกรบ แกแต่งตัวเป็นชายชอบใช้ชุดสีเหลืองโพกผ้าเหลือง สะพายดาบคู่
หอกซัด ธนูคู่ชีพ และมีดสั้นอาวุธประเภทนี้ แกเก่งมาก กำลังในการรบก็เก่ง ชายสองสามคน ล้อมแกแกก็จัดการเสียสิ้นไปในชั่วครู่ แกเคยถูกล้อมกรอบบ่อย ๆ
แต่ไม่ทันเหนื่อย เจ้าพวกนั้นก็เป็นเหยื่อคมดาบของแกสิ้น
ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังรบกับข้าศึกที่ท้ารบ ตัวต่อตัว ข้าศึกเล่นไม่ซื่อลอบยิงธนูมาทางหลัง หวังสังหารฉัน แม่ศรีแกก็ยิงธนู ๓ ดอก
สวนลูกธนูของข้าศึก ดอกหนึ่งถูกลูกธนูของข้าศึกหัก เป็นการตัดอาวุธที่มาทำลายชีวิตอีกดอกหนึ่งถูกตัวคนยิงตาย อีกดอกหนึ่งถูกคู่รบกับฉันตาย รวมความว่า
แกยิงคราวเดียวได้ผล ๓ อย่าง คนที่รบกับฉันเป็นแม่ทัพเมื่อแม่ทัพตายก็เป็นอันเสร็จศึก
ขอย้อนเรื่อง บันทึกพระแม่เจ้าจามะเทวี ต่อไป ตามที่ได้กล่าวถึง ท่านฤาษี นั้นท่านเป็นใคร โปรดอ่านข้อความที่ท่านบันทึกไว้ด้วยตนเองเช่นกัน
เป็นข้อความที่ได้บันทึกไว้กับ เด็กหญิงวี และให้ไว้ในสุพรรณบัฏ
บันทึกของท่านสุเทพฤาษี
เรา สุเทพฤาษี แห่ง อุจฉุตบรรพต ณ ระมิงค์นคร ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า วี มาให้มวลนิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้
กุมารีน้อยนี้ พญาสกุณาพามาจาก บุรพนคร เราจึงช่วงชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาสกุณาได้ปล่อยกุมารี
ตกลงมาท่ามกลางกอปทุมมาแห่งสระหลวง เราจึงสักการะอธิษฐาน กุมารีน้อยจึงลอยขึ้นบน วี ที่คอยรองรับ เราจึงขนานนามว่า วี ณ
วันนี้เป็นวันบุรณมีดิถีเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง แห่ง ศุกลปักษ์ คุรุวารแห่งเดือนจิตตมาศ ศตวรรษแห่งนาคะลังกาเพลาสายัณห์ พุทธศก ๑๑๗๖
กุมารีนี้ประมาณชันษาได้สามเดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลขนานนามตามกำเนิด เพื่อเป็นศิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า กุมารีนี้เป็นบุตรีของ
ชาวหนองดู่ ใน บุรพนคร เราจึงมอบให้กากะวานรและบริวาร เลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต...
(อธิบายคำต่อไปนี้ ๑. อุจฉุตบรรพต - ดอยสุเทพ ๒. ระมิงค์นคร - เชียงใหม่ ๓. บุรพนคร - ลำพูน ๔. สุวรรณบรรพต - ดอยคำ ๕. วี -
ภาษาเหนือหมายถึง พัด ๖. ศุกลปักษ์ - วันพฤหัส กลางเดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ ๗. หนองดู่ - ปัจจุบันคือ บ้านหนองดู่ อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง จ.
ลำพูน )
ข้อความดังกล่าวนี้ ท่านสุเทพฤาษีบันทึกมากับ เด็กหญิงวี อาศัยนาวายนต์ลอยมาจาก ดอยคำ มาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล ( ปัจจุบัน เป็นท่าฉนวน
หน้าวัดเชิงท่า อ. เมือง จ. ลพบุรี ) ซึ่งเป็นท่าโดยเสด็จทางชลมารคของกษัตริย์ละโว้สมัยนั้น อีก ๓ วัน ถึงวันสำคัญ
จึงขอนำเหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้โดยละเอียดเพื่อจะได้ทราบว่า ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นนี้ ได้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว...
พระราชพิธีสถาปนาและเจิมพระขวัญ
วันสำคัญในนครละโว้ก็มาถึง ภายในพระราชวังประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟบริเวณรอบพระราชวังสว่างไสวดุจกลางวัน ประชาชนต่างมากันล้นหลาม เพื่อชมการเล่นต่าง
ๆ โรงมหรสพต่างประกวดประชันการเล่นกันสุดความสามารถ ห้างร้านตบแต่งกันงดงาม บรรดาหญิงสาวแต่งกายกันด้วยวัฒนธรรม
ครั้นได้เวลาล่วงเข้ายาม ๑ เศษ เวลา ( ๑๙.๐๐ น. ) ภายในท้องพระโรงแห่งวังหลัง พระเจ้าละโว้และพระมเหสีทรงเป็นประธาน
พรั่งพร้อมไปด้วยบรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระมหาอุปราช หมู่ปุโรหิต เสนาข้าราชบริพาร หมู่สนมกำนัล และ คุณท้าว ก็มาสพรั่งพร้อม
และแล้วกุมารีน้อยในชุดสีขาวยาวกรอมข้อเท้า แลดูเยี่ยงชาวภารตะ สรวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่องแสงแวววาว เดินเยื้องกายมาพร้อมพระพี่เลี้ยง
ตรงมายังแท่นประทับของจอมคนแห่งละโว้และพระมเหสี ได้หมอบลงกราบถวายบังคม แทบเบื้องพระยุคลบาทของสองกษัตริย์
ครานั้น พระเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี พร้อมพระประยูรญาติ ก็เข้าประทับล้อมรอบกุมารีน้อย ฆ้องชัยต่างประโคมกระหึ่ม
พระมหากษัตริย์ทรงจุดเทียนไชยเวียนรอบกุมารีน้อย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา
พราหมณ์ปุโรหิตอ่านโองการของพระศิวะผู้เป็นเจ้าโลกมโหรีปี่พาทย์บรรเลงเพลงชัยถวายพระพร
ดวงหน้าของกุมารีน้อยถูกบ่มด้วยโลหิตสีแดงเรื่อ ดุจสีของดอกกุหลาบ ณ ท่ามกลาง หมู่เทพยาดาอารักษ์ และดวงพระวิญญาณของอดีตพระประมุขกษัตริย์ละโว้
จึงพระเจ้าอยู่หัวก็ประกาศก้องด้วยพระสุรเสียงอันกังวานว่า
ด้วยบัดนี้เราและพระมเหสีขอแจ้งให้ ทราบทั่วกันว่า เราสถาปนากุมารีนี้เป็นเอกราช ธิดาแห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนาม ลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า
เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญาลวะบุรีราเมศวร ( ต้นฉบับอ่านแม่นางจามะเตวีฯ) เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้ ในวารดิถี
คุรุวาร ชุณหปักษ์ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐
สิ้นพระกระแสพระราชดำรัส ก็ได้ยินแต่เสียงถวายพระพรพระราชธิดากันเซ็งแซร่ จากนั้นเหล่าบรรดาแขกเมืองได้เข้าถวายพระพร จวบกระทั่งเวลาล่วงเข้ายาม ๒ (
เวลา ๒๑.๐๐ น. ล่วงแล้ว ) พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เจ้าหญิงจามะเทวีฯ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น การเล่นต่าง ๆ
ได้แข่งประชันกันเต็มที่ เป็นที่สนุกสนานแก่ประชาชนละโว้ยิ่งนัก ในวันรุ่งขึ้นพระราชธิดามีหมายกำหนดการ จะทรงมีพระดำรัสปราศรัยกับไพร่ฟ้า
และเสด็จพระราชดำเนินรอบพระนคร
เมื่อพระราชธิดาทรงพระเจริญวัยขึ้นเป็นลำดับ ก็มาถึงพระราชพิธีที่สำคัญสำหรับชีวิต ที่เรียกกันว่า แต่งงาน นั่นเอง...
พระราชพิธีอภิเษกสมรส
วันจันทร์เดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระราชพิธีสำคัญในนครละโว้ก็ได้ถูก จัดขึ้น คือกษัตริย์ละโว้องค์ใหม่ ( เจ้ารามราช )
เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงจามะเทวีฯ และเจ้าหญิงพระพี่เลี้ยงทั้งสองคือ เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี
เครื่องราชบรรณาการถูกส่งมาจากที่ต่าง ๆ ประมาณมูลค่ามิได้ พระขนิษฐาของเจ้าชายโกสัมภีได้เสด็จมาในราชพิธีนี้ด้วย ฉะนั้นภายในพระราชวังละโว้คืนนั้น
สว่างไสวด้วยประทีปโคมไฟ ณ เพลาบ่ายแก่ของวันนั้น เจ้าชายและเจ้าหญิงทั้งหมดภายใต้ด้ายมงคลบนพระเศียร น้ำสังข์หยดแรกจากพระหัตถ์ของพระราชบิดา
ก็หยดรินสู่พระหัตถ์ที่ประนมเป็นรูปดอกบัวตูมของเจ้าหญิง สายธารแห่งน้ำสังข์เย็นเยือกถึงส่วนลึกแห่งดวงใจ
สมเด็จพระสังฆราช สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ก็ประกอบพิธีมงคลเสียงมโหรีปี่พาทย์ บรรเลงเพลงอยู่เจื้อยแจ้ว ตราบกระทั่งล่วงเข้ายาม ๑
กลางคืนเสียงมโหรีก็คลายด้วยทำนองเพลงพระบรรทม ดังกังวานขึ้นช้า ๆ ฟังแล้วทำให้ดวงใจทุกผู้มีชีวิตชีวา
ครั้นงานพระราชพิธีผ่านไปได้ ๓ วันพระเจ้าละโว้พระองค์ใหม่พร้อมทั้งพระมเหสี ทั้งหมดได้เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค ตามพระราชประเพณี
หลังจากนั้นเจ้าหญิงที่ทรงระหกระเหิรไปจากระมิงค์นคร ได้เสวยสุขกับพระราชสวามีทุกนิรันดร์วันคืนและในปีนี้พระราชินีจามะเทวีฯ
ทรงโปรดให้สร้างนครอันสวยงามขึ้นที่สุวรรณบรรพตนคร แล้วทรงตั้งนามให้ใหม่ว่า นครงามฟ้า หรือ นครฟ้างาม ( เขาทอง จ. นครสวรรค์ )
เป็นนครที่สวยงามโอ่อ่า มีปราสาทราชวังดุจเมืองสวรรค์
จากพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว พอจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยแท้ ๆ ที่ได้รับสืบทอดกันมาช้านานแล้ว สังเกตพิธีกรรมได้ กล่าวถึง สมเด็จพระสังฆราช
ด้วยแสดงว่าพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง คนสมัยนั้นจึงมีศีลธรรมอันดีงาม สมกับที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา บ้านเมืองจึงมีความสงบสุข
แต่ที่มีการกล่าวถึง พระขนิษฐา หมายถึงน้องสาวของเจ้าชายกรุงโกสัมภี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดศึกสงครามขึ้น ก่อนที่จะมี พระราชพิธีอภิเษกสมรส
เนื่องจากเจ้าชายโกสัมภีทรงพอใจพระรูปพระโฉมของพระราชธิดาจามะเทวี เมื่อไม่สมอารมณ์หมายก็ยกทัพมาประชิดติดพระนคร พระราชธิดาจึงอาสาทรงนำทัพเอง
ในที่สุดก็สามารถปราบปรามข้าศึกอย่างราบคาบ นับว่าเป็นการออกศึกที่มีชัยชนะเป็นครั้งแรกของพระแม่เจ้า และสถานที่เจ้าชายต่างเมืองต้องมาสิ้นพระชนม์
จึงให้ชื่อว่า วังเจ้า ( จ. ตาก ) มาตั้งแต่บัดนั้น
ll กลับสู่ด้านบน
((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 22 มี.ค. 51 )))))
Update 22 มี.ค. 51
ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัย
ตามพระราชชีวประวัติได้เล่าต่อไปว่า ในปลายปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ทูตจากนครหริภุญชัย แจ้งว่า บุรพนคร( ลำพูน )ได้ล่มแล้ว
พระฤาษีทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างพระนครใหม่นามว่า นครหริภุญชัย จึงขอพระราชทานพระราชินีจามะเทวี เสด็จไปครองนครหริภุญชัย ครั้นถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ
เดือน ๘ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑พระนางจามะเทวี พร้อมด้วยเสนาข้าราชบริพาร เศรษฐีและนักปราชญ์ ช่างต่าง ๆ ช้างม้า เป็นต้น อีกทั้งพระ
สงฆ์สามเณรร่วมติดตามเป็นอันมาก ได้เสด็จเป็นขบวนเรือทางชลมารค
ครั้นถึง นครงามฟ้า ทรงถวายไตรจีวร แก่พระมหาสมณะยังพระอารามหลวง และทรงอำลาพระประธานคู่เวียง เสร็จแล้วได้เสด็จต่อไปกระทั่งถึง
นครชุมรุม ( เดิมชื่อ นครเขื่อนขันธ์ เมื่อเสร็จศึกสงครามทรงเปลี่ยนชื่อเป็น นครชุมรุม ปัจจุบันเรียก นครชุม
ได้ทรงปราศรัยแก่ประชาราษฎร์ที่มาส่งเสด็จ แล้วได้เสด็จต่อไปจนกระทั่งถึง วังเจ้า ทรงหยุดไหว้เจ้าทั้งมวล ครั้นแล้วได้เสด็จต่อไปเรื่อย ๆ
ตามรายทางที่มีหมู่บ้านชาวประชา ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้มาเฝ้ารับเสด็จ และถวายแก้วแหวนอัญมณีต่าง ๆ
ชาวโกสัมภีที่มาค้าขายอยู่ ณ รามบุรี ( เมืองของเจ้ารามราช ปัจจุบันเป็นบริเวณ อ. แม่สอด จ. ตาก )ได้นำหยกและจันทน์แดงมาถวาย ณ
เวียงระแกง ( ต่อมาเรียกเวียงระแหง ปัจจุบันเป็นจังหวัดตาก ) เนื่องจากขบวนทางเรือตรากตรำมาหลายเพลา จึงหยุดยั้งพัก ณ หมู่บ้านเหนือเวียงระแกง
เช้าขึ้นได้พักเพื่อทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องใช้แล้วได้นำออกตากแดด ดูเต็มไป หมดในอาณาเขตกว้างใหญ่ สถานที่นี้ให้เรียกว่า เวียงกะทิกะ ( ปัจจุบัน
อ. บ้านตาก )
นับเวลาที่ได้เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่หมู่บ้านกว้างขวาง ได้ให้หยุดยั้งพักแรมไพร่พล และก็เห็นสถานที่นี้ประหลาดนัก
จึงกราบทูลพระราชสวามีว่า จะต้องสร้างนครไว้ที่นี้ ให้เป็นที่ระลึกในการที่ เราทั้งสองจะต้องจากกันด้วยภารกิจ และมิทราบว่าวิถีชีวิตจะได้บรรจบหรือไม่
ครั้นแล้วการสร้างเวียงก็เริ่มต้น ทรงสร้างอาราม ๔ อาราม สร้างพระประธานและพระเจดีย์ทุกอาราม มีอารามหนึ่งสร้างพระเจดีย์ทองคำไว้ภายในเจดีย์ใหญ่ด้วย
ทรงสร้างค่ายคูหอรบประจำเวียงไว้พร้อมสรรพ จนกระทั่งวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๐๑ ทั้งอารามและเวียงก็เรียบร้อย เพราะประชาราษฎร์ที่ทราบว่า
พระมหากษัตริย์แห่งหริภุญชัยเสด็จมาแต่ละโว้ ต่างก็หลั่งไหลมาช่วย
นับเวลาสร้างได้ ๔ เดือนเศษ จึงทำการสมโภช ๗ วัน ๗ คืนได้ทรงขนานนามว่า พิศดารนคร ( ปัจจุบันอยู่ใน อ. ฮอด จ.เชียงใหม่ )
จากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองก็จะต้องจากกัน ต่อมาพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทูลขอให้พระมหาเถระที่มาด้วย ให้อนุญาตให้พระนางเป็นชีผ้าขาว
ซึ่งวันรุ่งขึ้นพระมหากษัตริย์ละโว้ทรงถวายไทยทานแด่ชีผ้าขาวแล้ว ก็จากเสด็จกลับละโว้เพลานั้น
เมื่อออกจากพิสดารนครแล้ว เริ่มเข้าสู่เขตแดน หริภุญชัย ทรงอยากจะสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
จึงให้หยุดยั้งไพร่พลแล้วให้คนทั้งมวลสร้างและขนานนามสถานที่นั้นว่า ปะวีสิถะเจดีย์ ( ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ. เชียงใหม่ )
ต่อมาได้เสด็จมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง จึงได้เริ่มสร้างพระอาราม ทรงสร้างพระเจดีย์ทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระองค์
หมู่เศรษฐีที่ติดตามมาได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ทรงขนานนามว่า พระอารามรามัญ ( ปัจจุบันคือ วัดกู่ละมัก จ.ลำพูน )
ทั้งสองแห่งได้ทรงทำการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน เช่นกัน
หลังจากได้ลาสิกขาบทแล้ว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนครหริภุญชัย ในวัน ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมียพุทธศก ๑๒๐๒ เช้าตรู่วันขึ้น ๔ ค่ำ
จึงได้มีพระราชพิธีเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัยพระองค์แรก และเป็นต้นราชวงศ์ จามะเทวี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
คนไทยคือเจ้าของแหลมทอง
ตามที่นำมากล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในครั้งนั้นชนชาติไทยทางนคร ลำพูน กับชนชาติไทยใน นครละโว้ ได้ติดต่อกันใกล้ชิดสนิทสนม
และระยะทางก็ไกลกัน ถ้าคิดเป็นทางรถไฟขณะนี้ก็ร่วม ๗๐๐ กิโลเมตร ถ้าคิดเป็นทางคนเดิน ที่จำเป็นต้องอ้อมไปอ้อมมาแล้ว ก็นับเป็น ๑,๐๐๐ กิโลเมตรขึ้นไป
บ้านต่าง ๆ ตำบลต่าง ๆ นครต่าง ๆ ที่พระนางจามะเทวีเสด็จพักหรือผ่านมา ถ้าให้สันนิษฐานก็ต้องว่าเป็นคนไทย ตำบลคนไทย นครของเจ้าไทยวงศ์ต่าง ๆ
ซึ่งคุ้นเคยกับพระนางทั้งสิ้น มิฉะนั้นพระนางจะเสด็จผ่านมาได้อย่างสะดวกสบายอย่างไร และดินแดนเหล่านี้อาจ
เป็นดินแดนอยู่ในอาณาจักรของละโว้นครครั้งนั้นก็ได้ สำหรับพระนางที่ว่า มีเชื้อรามัญนั้น ก็อาจจะจริงทางมารดา แต่ว่านครละโว้ก็ดี นครลำพูนก็ดี ประชาชนก็ดี
คงเป็นไทยทั้'สิ้นโดยเฉพาะนครลำพูนบ่งบอกว่าเป็นไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เราก็คงเห็นชัดแล้วว่า ในครั้งนั้นดินแดนอันยาวตั้ง ๑,๐๐๐ กิโลเมตรนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบ้านเมืองของคนไทยที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นแบบแผนของตนเอง
มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังที่มีมาในพระราชชีวประวัติดังกล่าวแล้ว
จึงเป็นการยืนยันว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมานั้น ไทยเราก็มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแหลมทองแล้ว ไม่มีรายงานว่าอพยพมาจากไหนเลย
พระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่นานแล้ว แต่ถ้าจะย้อนลงไปก่อนนั้น จะต้องหาหลักฐานมาแสดงกันในโอกาสต่อไปนี้
พระแม่เจ้าฯ เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรลานนา
หลังจากทรงดำเนินงานในการก่อสร้างอาราม บูรณะพระนคร สร้างเวียงหน้าด่านสถาปนากองทัพม้า กองทัพเรือ จัดระบบหน่วยงานการปกครอง ตั้งผู้ครองนคร
เวียงแขวงบ้าน จ่าบ้าน ผู้ครองนครเป็นพระยา ผู้ครองเวียงเป็นจ่าเวียง
ครั้นในด้านสร้างพระอาราม กุฏิ พระเจดีย์ พอเข้ารูปแล้ว จึงทรงจินตนาการว่า อักขระทั้งหลาย ที่ใช้กันในขณะนี้ยุ่งยากมาก เพราะต่างคนต่างใช้
เช่นทาง ระมิงค์ (เชียงใหม่) ใช้ อักษรฝักขาม ซึ่งพระองค์ได้ศึกษาจากท่านฤาษีสุเทพ ทางละโว้ใช้อักขระของต้นวงศ์คือ
พระเจ้ากอมมันตราช ผู้ซึ่งสถาปนานครละโว้( ปัจจุบันเรียก อักขระขอม )
จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ จึงอาราธนาท่านสุเทพฤาษี พระอาจารย์นครโกโตทะนะ ( ชาวผิวขาว ) ซึ่งได้ถวายอักขระแด่พระองค์เมื่อนครละโว้
พระอาจารย์นครโทโตทะนะ ( ธิเบต ) พระอาจารย์นครโคโตทะนะ ( เขมร )
พระอาจารย์ดังกล่าวทั้ง ๓ นคร เป็นผู้ถวายอักขระแด่พระแม่เจ้าเมื่อครั้งอยู่ละโว้ และ ได้ติดตามมายังนครหริภุญชัยด้วย
แล้วทรงปรารภว่าอักขระฝักขามนั้นใช้ทาง นครโทโตทะนะ และ อุชเชนี และ ระมิงค์นคร
ส่วน นครโคโตทะนะ อักขระใช้อย่างเดียวกับ ละโว้ ขณะนี้เกิดความยุ่งยากหลายประการ จึงมีพระราชประสงค์จะนำอักขระ ทั้งหมดมาเป็นแบบฉบับ
แล้วตราเป็นอักขระขึ้นใหม่ให้เรียกว่า อักขระรามัญ ( ปัจจุบันเรียก อักขระลานนา ) จึงขอเชิญพระอาจารย์ทั้งมวลร่วมกันดัดแปลง
ซึ่งพระองค์จะพยายามแก้ไขขอให้พระอาจารย์ทั้งมวลคอยให้ความเห็นแนะนำ
การดัดแปลงอักขระนี้ พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทรงร่างไว้คร่าว ๆ แล้วจึงที่ประชุมพระอาจารย์ก็ปรึกษาแก้ไขดัดแปลงให้ง่าย เพื่อจะได้ตราไว้เป็นแบบฉบับ
และแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีพยัญชนะ สระและตัวเลข ซึ่งทั้งหมดได้แยกไปจากพยัญชนะนั่นเอง การพิจารณาอักขระต่าง ๆ ครั้งนี้ใช้เวลา ๒ เดือนเต็ม จากวันเริ่มขึ้น ๑
ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ ตราบถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕
อีกทั้งยกเลิกการเรียกนามปี ซึ่งแต่เดิม ปีชวด เรียก มุสิกสังกา ให้เรียกเสียใหม่ว่า
ไจ้ เป้า ยี เหม้า สี ไส้ สง้า เม็ด สัน เร้า เส็ด ไก๊ ส่วนเวลาข้างขึ้นให้เรียก ออก ข้างแรมให้เรียก ดับ
( จากนี้ขอคัดคำพูดตอนที่คิดอักขระเรียบร้อยแล้วดังนี้ )
ถ้วนมาสต่าง ๆ เป๋นบัวละมวลได้ว่า เพลาแห่งเซี่ยงกิ๊ดอักขาระนี้ ถ้วนสิ้นได้ ๘ เพลาธรรมสวนะ จึ๋งให้ตราไว้หมายจำฮอมเข้า กับเพลาต้นกิ๊ดอักขาระ
ว๋าระนี้ให้ค้าย ( ย้าย ) ถ้วนมาสก๋าได้ว่า ( เดือนที่สิ้นเต็ม เรียก ถ้วนมาส ใช้ในคำเหนือโบราณเพลาดับ ๑๕ ถ้วนมาส ๘ ปี๋เร้า พุทธศก ๑๒๐๕
ในวันแรกที่ทรงประกาศอักขระรามัญ ก็พอดี พระเจ้ารามราช เสด็จจากละโว้ถึงหริภุญชัยพอดี
เพราะพระแม่เจ้าได้มีบัญชาให้ทหารไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ตั้งแต่วันเริ่มคิดตัวอักขระจากวันประกาศใช้ระเบียบตัวอักขระแล้ว
ทรงรับสั่งให้บันทึกประวัติของแต่ละนครใส่ลานทอง โดยจักกล่าวถึงนครละโว้ก่อน ฉบับที่จารึกเรื่องราวของนครละโว้นั้นมีว่า
ประวัตินครละโว้ ลพบุรี
ในกาลที่พระบรมศาสดาได้เสด็จนิพพานไปได้ ๒๐๐ พรรษาเศษ มีพระยาท่านหนึ่งหนีมาจาก นครอโยธยา ( เข้าใจว่าเป็นอยุธยา
)ได้พาข้าราชบริพารมาหนึ่งหมื่นเศษ เมื่อมาถึง สถานที่แห่งหนึ่ง เห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะสมก็ยั้งไพร่พลทั้งมวล แล้วก็พากันสร้างนครขึ้น ได้สร้างถึง ๓ ปี
จึงแล้วเสร็จ จึงได้ขนานนครว่า นครกะมะละ (หมายถึงละโว้ ) แล้วพระยาผู้นั้นได้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ากอมมันตราช
เป็นปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์กอม
ชนทั้งหลายนิยมชมชื่นมาสวามิภักดิ์เป็นอันมาก จนกลายเป็นนครใหญ่รุ่งเรืองวิทยาการ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ได้เคยไปเรียนวิทยาการจากพระดาบส ณ
กาลิงครัฐฝูงชนทั้งหลายขนานนามว่า นครกอม บ้าง ก๋อม บ้าง ( คำพูดนี้อาจฟังเป็น ขอม ก็ได้ )
พระเจ้ากอมมันตราชเสวยราชสมบัติได้ ๔๐ ปี ก็สวรรคต พระราชโอรสทรงเสวยสืบแทน จวบกระทั่งเป็นเวลาพันปีกว่า ซึ่ง พระเจ้านพรัตนราช
ครองราชย์สมบัติสืบแทน นับ เป็นราชวงศ์กอมลำดับที่ ๓๕ จวบกระทั่งถึง พระเจ้ารามราช สืบราชสมบัติต่อไปในปีพุทธ ศก ๑๑๙๘ ก็เปลี่ยนจากราชวงศ์กอมเป็น
รามะวงศ์ อันเหตุความเป็นมาดังนี้
พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ จึงได้ทรงกำหนดเรื่องราวไว้ ให้ฝูงชนได้ทราบสิ้นในลานทอง และได้จารึกไว้พร้อมกับถวายแก่พระราชสวามี เพื่อให้ทรงนำไปประดับ ณ
นครละโว้ด้วย
( เป็นอันว่า ตามที่ได้พยายามค้นหาหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสาร เกี่ยวกับชนชาติไทยทางภาคกลาง
ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวถึงอาณาจักรบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็พอจะทราบความเป็นมาของ อาณาจักรละโว้ ซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางเหมือนกัน
ได้สืบสันตติวงศ์โดยคนไทยตลอดมา
ฉะนั้น คำว่า ขอม อาจจะเพี้ยนมาจาก ก๋อม ก็ได้ และเมืองนี้ได้ใช้ อักษรขอม มาตั้งแต่สมัย พระเจ้ากอมมันตราช
แสดงว่าอักษรขอมได้มีมานานแล้ว ส่วนใครเป็นผู้ประดิษฐ์ จะได้ทราบจากจารึก กระเบื้องจาร ในตอนต่อ ๆ ไป... )
ประวัตินครระมิงค์ ( เชียงใหม่ ) อันระมิงค์นครนี้ แต่เดิมมาท่านฤาษีผู้หนึ่ง
ได้เลี้ยงกุมารผู้หนึ่ง และกุมารีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในรอยเท้าช้าง แล้วให้นามกุมารชายว่า อุปะติ ให้นามกุมารีหญิงว่า กุนารีสิ
ต่อเมื่อกุมารทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นมาก็ได้สร้างนครให้ ณ เบื้องล่างอุจฉุตบรรพต ในเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปีเศษ
จึงเมื่อสร้างนครแล้วก็ขนานนามนครว่า นครทัมมิฬะ แต่ฝูงชนบางหมู่ก็เรียก นครทัมมิลวะชน บางหมู่ก็เรียก นครมิรังคะกุระ
และให้กุมารและกุมารีเป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าอุปะติราช และให้กุมารีกุนารีสิเป็นพระมเหสี ทรงพระนามว่า
พระนางกุนารีสิ พระมหากษัตริย์ทั้งสองได้เสวยราชย์ จนสิ้นพระชนม์ พระราชโอรสก็เสวยราชย์สืบต่อ ๆ กัน ตราบกระทั่งพุทธศักราชได้ ๗๐๐ ปีเศษ
ก็สิ้นวงศ์อุปะติ ซึ่งได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๑๘ พระองค์
ต่อมาอำมาตย์ กุนาระนาท แย่งราชสมบัติ ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระเจ้ากุนาระราชา เมื่อพระเจ้ากุนาระราชาสิ้นไปแล้ว
ราชโอรสเสวยราชสมบัติสืบมา ในขณะนั้นพระเจ้ากุนาระราชาได้เปลี่ยนนามนครเป็น ระมิงค์นคร ซึ่งในขณะนี้กษัตริย์วงศ์กุนาระที่ ๑๓ ทรงพระนาม วิลังคะ
กำลังเสวยราชสมบัติอยู่ จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป
ประวัตินครหริภุญชัย ( ลำพูน )
เมื่อพุทธศกได้ ๑๕๕ กษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า กุนาริโกระ มาแต่ นครละกอน (ต่อมาเปลี่ยนเป็น นคร
เขลางค์ ปัจจุบันคือ ลำปาง ) เข้าทำศึกกับ นครราชมะกะ ( ต่อมาเปลี่ยนเป็น บุรพนคร หริภุญชัย ปัจจุบันก็คือ ลำพูน
)
กษัตริย์นครราชมะกะแพ้หนีไปนครอุชเชนี จึงพระเจ้ากุนาริโกระเสวยราชสมบัติ แล้ว ทรงเปลี่ยนนามนครว่า บุรพนคร
พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีบุญญาธิการแก่กล้า และยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ได้สร้างอารามและพระเจดีย์ไว้มากมาย
ทรงรวบรวมอักขระฤาษีและอักขระฝักขามไว้เป็นหมวดหมู่ ปรับปรุงนครให้เหมาะสม บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติได้ ๒๒
ปีก็เสด็จสู่สวรรคาลัย พระราชบุตรได้สืบราชสมบัติต่อมา
ราชวงศ์กุนาริโกระสืบต่อ ๆ กันมาได้ ๔๘ พระองค์ ก็ถึง พระเจ้าสิโรระราชะ ซึ่งได้เสวยราชย์แต่พุทธศก ๑๑๙๐ พอถึง พุทธศก ๑๑๙๘ เดือน ๔ (
คือเดือนยี่ ใต้ ) ได้เกิดวาตภัย อุทกภัยพระคงคาท่วมพระราชวังประชาราษฎร์ต่างก็หนีระส่ำระสายพระมหากษัตริย์ก็หายไปกับแม่พระคงคา
ท่านบิดาสุเทพฤาษี ท่านฤาษีสุกันต์ ท่านฤาษีสุทันต์ ท่านฤาษีสุพราหมณ์ และท่านฤาษีต่างๆ อีก ๑๐๐ รูป
ได้ร่วมกับฝูงชนทั้งหลายสร้างพระนครขึ้นใหม่ ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล พุทธศก ๑๑๙๘ และแล้วเสร็จในกลางปีพุทธศก ๑๒๐๐ได้ขนานนามว่า นครหริภุญชัย
จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป ให้จารึกเรื่องราวความเป็นมาของ ๓
นครนี้ไว้ให้ประชาชนได้รู้แจ้ง
ครั้นกำหนดประวัติศาสตร์นครทั้งหมด แต่วันประกาศอักขระเป็นต้นมา ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ก็ทรงให้ตราประวัติศาสตร์ในวันนี้เลย
จึงกำหนด วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ให้มีพระราชพิธีฉลองหนังสืออักขระและหนังสือประวัติศาสตร์ ๑๕ วัน ๑๕ คืน
เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระเจ้ารามราชาก็เสด็จกลับนครละโว้ด้วยเหตุพระแม่เจ้าทรงให้ปุโรหิตสำเนากำหนดอักขระและประวัติศาสตร์ไว้หลายชุดก็ได้มอบให้พระราชสวามีนำไป
นครละโว้หนึ่งชุดพระเจ้าละโว้ทรงรับสั่งกับพระอัครมเหสีว่า
อีก ๓ ปีข้างหน้า จะทรงลาจากราชสมบัติ และจะทรงผนวช...
กระทำสังคายนา
เนื่องจากพระพุทธศาสนาสับสนอลเวง การปฏิบัติก็กระทำกันไปต่าง ๆ นานาจึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกาพุทธศก ๑๒๐๕ ให้เริ่มกระทำสังคายนพระพุทธศาสนา
เป็นเวลา ๒ เดือนเศษก็แล้วสิ้น ทรงสร้างสำนักศึกษาปริยัติธรรม ณ พระอารามจามะเทวี พระอารามอัมภวนาราม ทรงสร้างสถานที่ศึกษาอักขระรามัญ ณ พระอารามทั้งสองนี้
ให้ขุนนางข้าราชบริพารเริ่มศึกษาอักขระรามัญกันทั่วทุกคน ระหว่างนี้พระพี่เลี้ยงทั้งสองทรงพระครรภ์
ระยะนี้ทรงเร่งปรับปรุงพระนคร และเวียงต่าง ๆ สร้างพระอารามเพิ่มจัดระบบ การศึกษาทั้งภิกษุสามเณรและประชาชน เร่งให้ฝึกทหารม้าที่อยู่เวียงหน้าด่าน
จัดระบบทัพเรือ ณ เวียงหนองดู่ สร้างนครใต้พิภพ สร้างทางใต้ดินจากพระราชวัง ให้มีทางถึงปากน้ำสบทา จวบกระทั่งพุทธศก ๑๒๑๐ กลางปี
ก็สำเร็จสิ้นภาระกิจด้านนี้
สรุปความ
เรื่องนี้ทำให้เราได้ทราบว่า หนังสือประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดยคนไทย ผู้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย อาจจะเป็นฉบับแรกของโลกก็ได้
ที่ยืนยันว่าบรรพบุรุษของเรา มีเชื้อชาติ มีเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรมเดียวกัน อันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยควรที่เราจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่ ๒ ทำให้เราได้รู้ว่าสมัยโบราณ ได้มีการใช้ตัวหนังสือกันมานานแล้วและมีใช้หลายแบบด้วย
ประการที่ ๓ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ในหัวใจคนไทยนานแล้ว คัมภีร์ทางพระศาสนาคงมีครบถ้วน แต่การประพฤติยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน
พระสงฆ์จึงได้ทำสังคายนาทบทวนพระพุทธวจนะกันใหม่ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มิได้ถูกบันทึกไว้ก่อนเลย
พระแม่เจ้าคงจะทราบได้ดีว่า ลูกหลานรุ่นหลังอาจจะสับสนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติของตน จึงได้จารึกไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนไทย
ให้ระลึกถึงคุณค่าของแผ่นดินไทยว่าเป็นของเรามาช้านานแล้ว เราจะได้รู้จักรักษาและหวงแหนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
ประการสุดท้ายทำให้นึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อนำมาแนะนำไว้เสมอ ที่ให้ดูคนที่ตายแล้วเป็นตัวอย่าง บุคคลในประวัติก็ดี
ทรัพย์สมบัติที่สร้างเอาไว้ก็ดี ผลสุดท้ายก็พังสลายไปในที่สุด เราผู้อ่านก็คงจะมีสภาพเช่นเดียวกับท่านสู้ตัดสินใจไปนิพพานเลยดีกว่า
จะได้ไม่ต้องเกิดมามีร่างกายที่แสนทุกข์อย่างนี้อีก
ใจความที่ยกมาเป็นตัวอย่างธรรมะนี้ ในฉบับหน้าจะมีโอวาทของท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติและท่านผู้อ่านจะได้พบกับการถามปัญหาธรรมระหว่าง
สมเด็จพระสังฆราช แห่งนครละโว้ กับนครหริภุญชัยจะมีเนื้อหาน่าสนใจแค่ไหน ไว้คอยติดตามกันต่อไป..สวัสดี..
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๒๙ มีนาคม..
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 29/3/08 at 06:12 |
|
Update 29 มีนาคม 2551
การเฉลยปัญหาธรรม ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ นครหริภุญชัยได้ต้อนรับคณะราชทูต จากนครละโว้
พร้อมกับพระสังฆราชละโว้ พระมหาเถระสักกายะ ทางหริภุญชัยได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ
คณะราชทูตละโว้ได้แจ้งข้อราชการว่า พระเจ้ารามราช พระมหากษัตริย์แห่งละโว้ ได้ลาออกจากราชสมบัติ
และได้ทรงผนวช เวลานี้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระเจ้าจักรราช ได้ให้คณะทูตมาขอเมตตาเจริญธรรมปัญญา
มาตรว่าทางละโว้มิสามารถแก้ปัญหาได้ ก็ขอเป็นเมืองออก
เนื่องด้วยเหตุนี้ พระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้สร้างพลับพลาใหญ่ มีอาสนะประดับมณีสีต่าง ๆ ๒ อาศรม ณ ที่อาราม
จามะเทวี และให้แจ้งเหตุให้พสกนิกรทราบ ให้มาร่วมฟังการเฉลยปัญหาในครั้งนี้
ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ ณ พลับพลาบริเวณอาราม จามะเทวี เนืองนองด้วยพสกนิกร
ใกล้ไกล เสนาข้าราชบริพาร พระฤาษีสุเทพ และบรรดาฤาษีทั้งปวงก็มาประชุมพร้อมพรั่ง เบื้องพระพักตร์พระแม่เจ้า
ครั้นได้เวลามหาฤกษ์ พระสังฆราชละโว้ พระมหาเถระสักกายะ เสด็จขึ้นบนธรรมาสน์ก่อน แล้วพระสังฆราช
หริภุญชัย พระมหาเถระอุบาลี เสด็จขึ้นตาม
พระมหาเถระสักกายะเริ่มวิสัชนาว่า
อันนครหริภุญชัยนี้มีความผาสุขร่มเย็น ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าแม่จามะเทวีฯ หมู่พสกนิกรก็เบิกบาน ประกอบด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
กระผมเดินทางบุกป่าฝ่าดงมาครั้งนี้ ก็อยากขอความเมตตาพระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย
ได้ประทานความรู้บางข้อ ของข้อปลีกย่อยแห่งธรรม โดยนัยนี้
กระผมขอถามสัก ๒ ข้อ และนัยเดียวกันก็ขอให้พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย ได้แนะนำสั่งสอนกระผม ๒ ข้อ เช่น
เดียวกัน ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยข้อใดข้อหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ข้อได้ก็ถือว่าแพ้ ยินดีนำนครละโว้เป็นเมืองออก มิทราบว่า
พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย จักเมตตาประการใด?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
พระคุณเจ้าแห่งละโว้มีพระทัยเมตตาบุกป่าฝ่าดงมา กระผมแสนจะปีติในดวงใจ ก็ขอรับข้อธรรมซึ่งพระคุณเจ้าจักเมตตาสั่งสอน และก็นัยเดียวกัน
ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยปัญหาใดได้ กระผมก็ขอยอมแพ้ และตกลงให้นครหริภุญชัยเป็นเมืองออก และก็ขออาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าละโว้ เป็นผู้แสดงก่อนด้วยเถิด
พระมหาเถระสักกายะถามว่า
กระผมอยากจะเรียนถามว่า พระมหาจักรพรรดิ ต้องมีสิ่งใดเป็นเครื่องหุ้มห่อ จึงจะคงทนถาวร?
พระมหาเถระอุบาลีตอบ
อันว่าพระมหาจักราธิราชย่อมต้องมีแก้ว ๓ ประการเป็นเครื่องหุ้มห่อ คือ
๑. แก้วกาย ย่อมหาเวลาให้เสนาข้าราชบริพารและพสกนิกรเห็นว่า ถ้าหุ้มห่อพระวรกายเยี่ยงเสนาหรือพสกนิกร
ก็อยู่ได้เยี่ยงฝูงชนทั้งหลาย
๒. แก้ววาจา ต้องประกอบด้วยสัมมาวาจา ทรงมีพระวาจาสัจจะ
๓. แก้วใจ ต้องมีพระทัยเต็มไปด้วย สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ด้วยการระลึกสิ่งที่ถูกต้อง
และพระทัยตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว
มิทราบว่า ข้อเฉลยของกระผมจะตรงเป้าของพระคุณเจ้าหรือเปล่า ขอได้โปรดเมตตาด้วยเถิด
พระมหาเถระสักกายะรับว่า
ตรงเผ็งทีเดียวพระคุณเจ้า เลิศแท้หนอ...หริภุญชัย แต่เดี๋ยวกระผมขอถามอีก ๑ ข้อก่อน
พระมหาเถระสักกายะทรงถามปัญหาต่อว่า
ปัญหาข้อที่ ๒ เอ๊ะ! พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย อันปัญหาข้อนี้จะให้กระผมเสนอเลยหรือรอไว้ก่อน?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
มีพระวาจามาเลยพระคุณเจ้า เมื่อน้าวสายธนูแล้วปล่อยลูกเลย กระผมหลบลูกธนูไม่ได้ วันนี้ก็ขอเอาร่าง
สังเวยกันละ
พระมหาเถระสักกายะจึงว่า
โอ๊ะ! พระคุณเจ้านี่เด็ดแท้อย่างนี้นี่เล่า หริภุญชัยถึงรุ่งเรืองในอักษรศาสตร์ เอาละครับ..ปัญหาข้อที่ ๒
ขอเรียนถามดังนี้
เมื่อว่าองค์พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วขณะที่ทรงไปยังฝั่งมหานที ก็มีสัตว์ ๔ เหล่า คือ เต่า ปู ปลา หอย
มานมัสการ จึงพระบรมศาสดาก็ทรงเปล่งพระวาจาประทานแด่เทพยดาอารักษ์ และฝูงเวไนยสัตว์ทั้งหลายว่า
เออหนอ...ถ้าแม้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย จะเป็นชนก็ดี ฝูงสัตว์ก็ดี ถ้าตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม สัจจธรรมแล้ว
ก็จุ่งมีชีวิตอันเลอเลิศดุจสัตว์ทั้ง ๔ นี้เถิด
ด้วยเหตุใดพระองค์จึงตรัสดังนั้น อย่างไรพระคุณเจ้าหริภุญชัย ถ้าจะไม่ตอบก็ได้นะ กระผมจะแก้แทน
พระมหาเถระอุบาลีจึงตอบว่า
เอ...วันนี้อากาศก็เย็น เหตุดังฤาพระคุณเจ้าละโว้ร้อนรุ่มเหลือหลาย กระผมเพียงคลางแคลงว่า ทำไม
พระบรมศาสดาจึงยกยอสัตว์ ทั้ง ๔ นี้มากมาย ปัญหาข้อนี้เห็นทีจะมีเนื้อความลึกซึ้ง หรือจะเป็นเส้นผมบังภูเขา
เสียกระมัง เอ้า... บรรดาศรัทธาญาติโยม แต่ละท่านมีความเห็นฉันใด?
พระมหาเถระสักกายะจึงกล่าวว่า
ยอมหรือยังพระคุณเจ้า บรรดาศรัทธานักบุญเขาก็ไม่มีความเห็นจะให้
พระมหาเถระอุบาลีบอกว่า
เดี๋ยว ๆ พระคุณเจ้า พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้ กระผมต้องท้วงติงบ้าง เปรียบดังนักมวยพอระฆังเก๊งก็
ตลุยเอา ๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นนกกระจอกน้ำน่ะนา เอาละผิดถูกกระผมขอเฉลยว่า
การที่พระบรมศาสดาให้พรว่า
ถ้าผู้ใดมั่นในศีลสัจจะแล้ว ให้มีความเป็นอยู่เยี่ยงสัตว์ประเสริฐ ๔ เหล่านี้ เพราะเหตุว่า
๑. ให้บุคคลท่านนั้น มีอายุยืนยาวดุจดัง เต่า
๒. ให้มีวรรณะหรือผิวพรรณงดงามดุจดัง ปู คือว่าปูนั้น ยามเล็กอองปู ( เปลือกนอก ปู )
ขรุขระไม่งดงาม
แต่เมื่อแก่ตัวกลับเป็นมันเลื่อมสีสดสวย
๓. ให้มีความสุขดุจดัง ปลา จะฝนตกแดดออก หน้าร้อนหน้าหนาว ปลามีความสุขอยู่เสมอ
๔. ให้มีพละดุจดัง หอย มิว่ายอดเขาหรือใต้มหาสมุทร หอยก็สามารถไปได้ทั่วจักรวาล ไม่เหนื่อยเมื่อยล้า
ความรู้กระผมก็ได้แค่นี้ มิทราบว่าพระคุณเจ้าละโว้จะเมตตาธรรมประการใด?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
ประเสริฐแท้ ๆ หริภุญชัยจักรุ่งเรืองวัฒนาถาวร ก็ด้วยความปราชญ์เปรื่องของพระคุณเจ้าเป็นแน่แท้
เอาละขอได้เมตตาถามกระผมมาเลย
พระมหาเถระอุบาลีจึงถามว่า
พละกำลังของสิ่งต่าง ๆ ที่ล้อมรับโลกให้สดชื่น หรือสั่นสะเทือน หรือทั้งยุ่งเหยิงวุ่นวาย เรียกว่าถึงกับ
ว่า โลกนี้จะแตกระเบิดเป็นผุยผง ความเป็นไปเหล่านี้ จักด้วยดวงอาทิตย์หรือ ดวงจันทร์ หรือมหาสมุทร หรือ
อะไรกันแน่?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เปล่าเลยพระคุณเจ้า พระอาทิตย์ก็ดี พระจันทร์ก็ดี สมณชีพราหมณ์ก็ดี มหาสมุทร หรือฝั่งมหานทีก็ดี
สิ่งเหล่านี้มีกำลังมากก็จริง แต่ก็หาสามารถจะให้โลกสั่นสะเทือน ถึงกับวุ่นวายเท่าใดไม่ แต่สตรีกลับมีกำลังสามารถ
ให้โลกโกลาหล รบราฆ่าฟัน ทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัว
อย่างเช่นในเวลานี้มวลชนทั้งหลายเสพย์ พืชผักส้มสูกลูกไม้ หัวเผือกหัวมันเป็นอาหาร จะเสพย์สัตว์มีชีวิตก็เพียงเล็กน้อย
มวลสตรีทั้งหลายก็มิใคร่มีบุตรธิดา ถึงจะมีก็น้อยมาก
แต่ต่อไปภายหน้ามวลชนจะเสพย์เนื้อ สัตว์มากกว่าพืชผัก เหล่าสตรีก็จะให้กำเนิด บุตรธิดากันมากหลาย
จนต้องแก่งแย่งฆ่าฟัน ทั้งที่เกิดมาแล้วและยังไม่เกิด พละกำลังที่สตรี มี จึงจักทำให้โลกวุ่นวาย อุปมาดังที่พระพุทธองค์
ได้ตรัสไว้ว่า พลังจันโท พลังสุริโย พลังสมณพราหมณา พลังเวลา สมุทัสสพลาติ พลังมิ ตาถิโย
แปลความว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ สมณพราหมณ์ และฝั่งทะเล ต่างมีกำลัง แต่สตรีมีกำลังมากกว่า จะถูกหรือผิดนะพระคุณเจ้า
พระมหาเถระอุบาลีชี้แจงว่า
ประเสริฐ ๆ ใช่แล้วพระคุณเจ้า ถ้ากระไรกระผมจะขอถามปัญหาข้อ ๒ อันว่า มนุษย์ก็ดี สัตว์โลกก็ดี
พืชผลก็ดี ก่อกำเนิดด้วยอะไรก่อน? อย่าครับ อย่าเพิ่งท้วงว่า ไม่เห็นเกี่ยวกับธรรมนะขอรับกระผม ขอพระคุณเจ้าละโว้พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เดี๋ยวนะพระคุณเจ้า คิดก่อน เอ... มนุษย์เราเป็นตัวขึ้นมา แล้วก็มีบุตรหลานตามมา สัตว์ที่ไข่ ไข่แล้ว
กลายเป็นตัว ตัวก็ไข่อีก เป็นตัวอีก เอ๊ะ! ใครเกิดก่อนใครล่ะ ต้นไม้ล่ะ เป็นต้นมีผล ผลกลายเป็นต้น ดูมันยุ่งเหยิง
เหลือเกิน เอาละ...กระผมขอเฉลยปัญหาว่า
สัตว์โลกที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มิว่ามนุษย์ หรือสัตว์ และสัตว์โลกที่มีไข่ หรือต้นไม้นั้น ปฐมแรกคือกำเนิดเป็นตัวตนก่อน แล้วได้รับธาตุ
๔ ก็เจริญวัยขึ้น เมื่อได้เสพย์อาหาร ต่าง ๆ อาหารเหล่านั้นก็ไปทำให้เกิดเชื้อบ้าง จุลินทรีย์
บ้าง ที่มองเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง
ถ้ามนุษย์ก็ทำให้เกิดเชื้อมนุษย์ ถ้าเป็นพยาธิก็บังเกิดสืบพันธุ์ต่อไปอีก เหมือนต้นเห็ด เดิมก็เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง
เมื่อเห็ดถูกผิวอากาศเป็นอาหาร รากกินจุลินทรีย์ในดินเป็นอาหาร ก็เกิดแพร่พันธุ์แยกเผ่าไปได้อีก ถ้าอาหาร
แปลกออกไป ถ้าต้นใดไม่มีอาหารกินก็เหี่ยวแห้งก่อนที่จะใหญ่โต
สัตว์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าว่าอาหารที่มวลมนุษย์และสัตว์กินนี้เปลี่ยนไป รูปร่างการสืบพันธุ์ก็เปลี่ยนไป
เช่นมนุษย์เสพย์อาหารที่มีเนื้อสัตว์กันเป็นหลัก ก็ย่อมเกิดบุตรมาก และจิตใจก็ต่ำลงต่างก็ประหัตประหารกัน มิว่าบิดาหรือบุตร
พระมหาเถระอุบาลีจึงว่า
กระผมขอติงสักหน่อยเถิด คือว่าเหตุใด...หรืออาหารจะเป็นต้นเหตุให้แพร่พันธุ์ได้ และให้พันธุ์มากน้อยได้?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เป็นได้ซิพระคุณเจ้า ดูแต่ต้นผลไม้ซิ ไม่มีผลหรือผลไม่ดก เขาก็ริดกิ่งริดใบแล้วใส่อาหาร เช่น มูลสัตว์ ปัสสาวะ ใบไม้ใบหญ้าต่าง ๆ
ตลอดจนเถ้าถ่าน ผลไม้นั้นย่อมมีผล ที่ผลน้อยก็ดกขึ้น คือว่าให้อาหารด้วยขยุกขยิก
ตัดใบริดทอนกิ่งด้วย
พระมหาเถระอุบาลีแย้งว่า
เอ๊ะ! ให้อาหารยังไม่พอ ยังต้องไปขยุกขยิกต้นใบด้วยหรือนี่
พระมหาเถระสักกายะพูดว่า
อ้าว...ให้อาหารอย่างเดียวจะไปได้อย่างไรก็พระคุณเจ้า ถามศรัทธานักบุญทั้งหลายดูทีหรือว่า เขาทั้งหลาย
แต่งงานอยู่กินด้วยกัน เขาบำรุงด้วยอาหารอย่างเดียว หรือว่าต้องมี อย่างอื่นด้วยจึงจะบังเกิดบุตรขึ้นมาหรืออย่างไร
ศรัทธานักบุญทั้งหลาย ช่วยไขความให้พระคุณเจ้าหริภุญชัยหายข้องใจหน่อยเถิด
บรรดาศรัทธานักบุญต่างก็อมยิ้มมิได้กล่าวเยี่ยงไร
พระมหาเถระอุบาลีจึงกล่าวว่า
ก็เป็นอันว่า มนุษย์และสัตว์ที่เกิดเป็นตัว ย่อมบังเกิดเป็นร่างกายด้วยธาตุทั้ง ๔ แล้วได้เสพย์ซึ่งอาหาร
ก็ทำให้บังเกิดมีเชื้อสืบพันธุ์ขึ้นภายหลัง ส่วนที่เป็นไข่ก็เกิดตัวขึ้นก่อนเยี่ยงด้วยกัน แล้วจึงเจริญเติบโตต่อไป ออกไข่
แพร่พันธุ์ไป อีกทั้งต้นไม้นานาก็เช่นกันหรือ พระคุณเจ้า?
พระมหาเถระสักกายะรับว่า
เช่นนั้นสิ พระคุณเจ้า อันมวลมนุษย์และสัตว์ที่เสพย์เนื้อหนังมังสาก็เกิดพันธุ์มาก อย่างคชสาร โค กระบือ เสพย์แต่หญ้าก็แพร่พันธุ์น้อย
แต่ลูกที่เกิดมาต้องแข็งแรง หมู ไก่ ปลา ที่เสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารก็แพร่พันธุ์มาก แต่ทว่ามิใคร่แข็งแรง
อันมวลมนุษย์ยุคนี้ ต้องการความแข็งแรงของบุตรที่จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติ บิดามารดาย่อมเสพย์พืชผักเป็นอาหาร แต่ถ้าภายภาคหน้าวิถีของโลกเปลี่ยนไป
มวลมนุษย์อาจเสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารสำคัญ เสพย์พืชน้อยลง ก็ย่อมจักเกิดมนุษย์มาก สติปัญญาพละ ของบุคคลยุคนั้นย่อมเปลี่ยนไป มีการรบราฆ่าฟัน
เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อาจก่อบาปก่อเวร
นับตั้งแต่สัตว์โลกทั้งหลายยังอยู่ในครรภ์ หรือกระทั่งยังอยู่ในอาการริเริ่ม ก็แหละว่าปัญหาข้อนี้พระคุณเจ้าที่เมตตาถามมา
ยังมิทราบว่ากระผมได้แก้ตรงเป้าหมายหรือไม่?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง พระคุณเจ้าชี้แนวแสงสว่างแก่สัตว์โลก ก็ขอเชิญบรรดาศรัทธาสาธุชนได้ใคร่ครวญ
และแก้ไขเหตุการณ์ในครอบครัวว่า สิ่งใดที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายในภายภาคหน้าได้ ดังที่สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ได้ทรงเมตตาชี้ทางเดินให้ท่านทั้งหลาย
ส่วนผู้ใดจะเลือกเดินสายใดก็แล้วแต่ปรารถนา อันปัญหาต่าง ๆ ที่ได้วิสัชนา ณ ที่นี้ก็สมควรแก่เวลาด้วยประการนี้ ขออายุ วรรณะ สุขะ พละ
จงบังเกิดแด่ทุกท่านเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ...
บรรดาผู้ฟังทั้งหลาย ต่างก็โมทนาสาธุกันแซ็งแซ่
สรุปการสนทนาธรรมครั้งนี้ มิมีแพ้มิมีชนะ แต่ทว่าฝูงชนทั้งหลายได้อิ่มเอม ด้วยข้อความอันมีสาระสำคัญ
จักแก้ไขเหตุต่าง ๆ
( หมายเหตุ ผู้จัดทำหนังสือนี้ได้ชี้แจงว่า การเฉลยปัญหาธรรมนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตใช้คำพูดปลีกย่อย
พอสมกับคำพูดสภาพปัจจุบัน ส่วนข้อความสำคัญยึดเอาต้นฉบับเป็นหลัก )
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๕ เมษายน..
Update 5 เมษายน 2551
ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา
พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ รับสั่งให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองสืบชะตา สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ซึ่งได้ทรงพระอุตสาหะ มาแสดงปัญหาธรรมในครั้งนี้ มีมหรสพสมโภช ๓
วัน ๓ คืน นับตั้งแต่นั้นมา จึงมีพิธีสืบชะตาพระภิกษุสืบกันมา ณ ครั้งนี้เป็นปฐม ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕
ทรงสถาปนานครเขลางค์
ราวเดือน ๑๒ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ พระมหากษัตริย์ นครละกอน ให้ทูตถือพระราชสาส์นมาทูลเชิญพระแม่เจ้าเสด็จไปนครละกอน
เพื่อให้ทรงวางรากฐานหนังสืออักขระรามัญ เพื่อให้ร่ำเรียนกันทั่วหน้า
ในครั้งนี้ เจ้ามหันตยศฯ และ เจ้าอนันตยศฯ ร่วมเสด็จด้วย เพื่อไปศึกษาวิชาการจาก ท่านฤาษีสุพราหมณ์ ผู้น้องฤาษีสุเทพ
ระหว่างเปิดการเรียนอักขระรามัญ แก่บรรดาข้าราชบริพาร ก็ได้ทรงสถาปนานครละกอนใหม่เป็น
นครเขลางค์ ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเดียวกัน
ทรงสร้างพระอารามไว้ ณ นครเขลางค์ โดยพระราชทานทุนทรัพย์ทั้งหมด แล้วเสด็จไปพักผ่อน ณ นครแปร (แพร่) เสร็จพระราชกิจแล้ว
ทรงเสด็จกลับนครหริภุญชัย ในเดือน ๔ ส่วนพระราชโอรสทั้งสองยังไม่กลับ
พระแม่เจ้าทรงประทานพระโอวาท
ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๒๔ มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายทั้งสองและเจ้าหญิง ทั้ง ๕ พระองค์ ณ นครหริภุญชัย
พระแม่เจ้าทรงประทานโอวาท แด่พระราชโอรสและพระวรชายาว่า
ลูกรักของมารดา เมื่อว่าลูกได้ร่วมชีวิตเข้าเป็นสามีภรรยานั้น มิว่าจ้าวว่าไพร่ย่อมต้องระลึกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องระลึกถึงหน้าที่ยิ่งกว่าสิ่งใด
สามีย่อมปฏิบัติหน้าที่ของสามี ภรรยาย่อมปฏิบัติหน้าที่ของภรรยา และทั้งสองต้องระลึกถึงเกียรติอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ข้อสำคัญต้องระลึกว่า
สามีคือช้างเท้าหน้า ภรรยาคือช้างเท้าหลัง
อันความข้อนี้จำแนกออกว่า มิใช่ว่าสามีทำอะไร ภรรยาจะต้องทำอย่างนั้น ตามอย่างกันไปเรื่อย ๆ แต่หมายว่า สามีนั้นเปรียบดังเท้าช้างคู่หน้า ก้าวไปก่อน
บังเอิญว่าไปพลาดพลั้ง ถลำหล่มหรือหลุม เท้าหลังต้องรีบยันไว้ให้มั่น อย่าให้ถลำไปทั้งตัว เฉกเช่นสามีออกหาเลี้ยงชีวิต อาจประมาทพลาดพลั้ง
จะด้วยเหตุใดก็ตาม ภรรยาต้องตั้งหลักมั่นคง อาจให้สติ หรือแก้ไขความผิดพลาดนั้น มิใช่ผิดก็ผิดไปด้วยกัน
อนึ่ง กิจการใด ๆ ต้องรีบกระทำ เมื่อนึกคิดแล้ว อย่าผัดเวลาหรืออายุ โดยอ้างว่าเด็กไปบ้าง แก่ไปบ้าง มนุษย์และสัตว์ ตลอดจนพืชดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔
มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าธาตุเหล่านี้หมดสิ้นไป ให้อายุเท่าไรก็มิมีความหมาย เพราะวันเดือนปีเราตั้งขึ้นมา เป็นการสมมุติ
จงตรวจตัวของเราว่า ขาดธาตุอะไรก็ เติมธาตุนั้น ใครผู้ใดจะมัวหลงงมงาย ว่าอายุเท่านั้นจะเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปเอาเยี่ยงเขา เพราะเราไม่เหมือนเขา
ขอลูกทั้งมวล จงจดจำคำที่มารดากล่าวนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์เถิด...
พระโอวาทของท่านมีเพียงแค่นี้ แต่ก็มีคุณค่ามหาศาล หวังว่าสุภาษิตโบราณที่สอนไว้คงจะยังไม่ล้าสมัยจนเกินไป ทำให้เราได้เข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้ง
ของคำว่า ช้างเท้าหน้า และ ช้างเท้าหลัง เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสำหรับชีวิตของการครองเรือน ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านมานานนับพันปี
แต่ข้อปฏิบัติที่ท่านสอนไว้ ยังทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านสอนแฝงด้วยคติธรรม ในพระพุทธศาสนานั่นเอง
สำหรับเหตุการณ์ต่อไป ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๒๗ ก็มีการทำศึกสงครามกับ ขุนวิลังคะ กษัตริย์แห่งระมิงค์นคร
ที่มีความพอใจพระรูปพระโฉมพระแม่เจ้า แต่พระราชโอรสทั้งสองทรงอาสาทำศึก ในครั้งนี้ จนได้รับชัยชนะในที่สุด ในปี พ.ศ. ๑๒๓๑ ทรงมอบให้ พระเจ้ามหันตยศ
ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน และให้ พระเจ้าอนันตยศ ไปครองนครเขลางค์ ต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน
นับแต่พระเจ้าอนันตยศเสวยราชสมบัติ ทรงเร่งสร้างพระอารามต่าง ๆ โดยพระราชชนนีจามะเทวีทรงอยู่ช่วย ทรงจัดระบบการปกครอง ทรงเปิดสถานศึกษาอักขระรามัญ
ทรงสร้างอาราม ณ นครแปร (แพร่) พระราชชนีทรงเสด็จไปมา ระหว่าง ๒ พระนคร แต่จำต้องช่วยพระมหากษัตริย์ เขลางค์พระองค์ใหม่ในระยะแรก
ทั้งนี้เพราะทางหริภุญชัย มีระเบียบแบบแผนดีแล้ว
ต้นปีพุทธศก ๑๒๓๒ เจ้าคุณโหราธิบดี แห่งนครหริภุญชัยสิ้นชีพตักษัย จึงทรงแต่งตั้ง เจ้าชัยรัตนกุมาร พระโอรสของ พระเจ้ารามราช
ซึ่งเกิดจาก พระแม่นางปทุมวดี เป็น พระยาโหราธิบดินทร์ สืบแทน
( เหตุการณ์สืบแต่นี้ไป พระยาโหราธิบดินทร์ ทรงบันทึกต่อมีใจความว่า )
ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (เดือน ๑๒ใต้) ปีกุน พุทธศก ๑๒๓๒ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระอุบาลี พระชนม์ ๑๐๒ พรรษา สิ้นพระชนม์ ทรงบรรจุพระศพไว้ ๑
ปี พระมหาเถระอุปะกายะ รองสังฆราช แห่ง อารามอัมภวนาราม ( ปัจจุบัน วัดทุ่งตูม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ) ได้รับตำแหน่งสม
เด็จพระสังฆราชสืบต่อ
ทางเดินบั้นปลายของชีวิต
กาลเวลาผ่านมา จากวันเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ของพระเจ้ามหันตยศได้ ๕ ปี ย่างเข้าปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖ พระราชินีทั้งสอง ( เจ้าหญิงจันทราฯ และ
เจ้าหญิงประกาย คำ) ของหริภุญชัย ประสูตรพระราชโอรส ๑ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ พระราชโอรสทรงพระนามว่า เจ้ากัมมันทะกุมาร
พระราชธิดาทรงพระนามว่า เจ้าหญิงกาบทิพย์ ฝ่ายเขลางค์ ประสูตรพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ ( พระราชินี ๓ พระองค์ คือ
เจ้าหญิงผกามาศ เจ้าหญิงประกายฟ้า เจ้าหญิงจิระประภา )
เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุข พระเจ้ามหันตยศ ทรงเปลี่ยนผู้ครองเวียงจาก นัก เป็น ขุนเวียง ภายในเวียงแบ่งเป็นแคว้น ๆ มีหัวหน้าเรียก
จ่าแคว้น ทางศาสนาให้มีตำแหน่ง "ตู้หลวง" ( คงเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาส เมืองเหนือเรียก เจ้าอาวาสว่า ตุ๊หลวง ในสมัยนั้นคงเรียกวัดว่า
อาราม )
เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖ สมเด็จพระราชชนนีจามะเทวีฯ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
พระชนนีปทุมวดีพระชนมายุ ๖๖ พรรษา พระชนนีเกษวดีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา ทั้ง ๓ พระองค์ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว แม่ชีจามะเทวีทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ
สำนักอารามจามะเทวี ส่วนแม่ชีปทุมวดีและแม่ชีเกษวดี ทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ อารามศิวะการาม ที่เวียงหน้าด่าน
นับจำนวนอารามที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ได้ทรงสร้างไว้ตั้งแต่อยู่ละโว้ และเสด็จมา ครองนครหริภุญชัย สร้างอารามที่สุโขทัย ละโว้ สวรรคโลก นครงามฟ้า
นครสุวรรณบรรพต นครชุมรุม เรื่อยมาจนถึงนครพิสดาร หริภุญชัย ระมิงค์ เขลางค์ แปรได้ ๒,๕๐๐ วัด สร้างกุฏิได้ ๑๐,๐๐๐ จวบพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงสละเพศ
เป็นชีผ้าขาวก็ยุติการสร้าง บำเพ็ญธรรมอย่างเดียว
วาระสุดท้ายของชีวิต
ในปลายปีมะโรง พุทธศก ๑๒๗๒ แม่ชีปทุมวดีและแม่ชีเกษวดีได้ถึงแก่มรณะ ในเวลาไล่เลี่ยกันไม่กี่วัน ทรงสิ้นในขณะครองผ้าขาว ในครั้งนี้พระราชโอรสทั้ง ๓
คือ พระมหากษัตริย์มหันตยศฯ พระมหากษัตริย์อนันตยศฯ พระยาโหราธิบดินทร์ ได้รักษาศพไว้ ๑ ปี ได้กระทำฌาปนกิจในปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๗๓
วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พุทธศก ๑๒๗๔ ฝูงชนทั่วนครหริภุญชัย พบกับความทุกข์อันสุดจะบรรยาย แม่ชี จามะเทวีฯ ได้ถึงแก่มรณะ
ชั่วเช้าตรู่ของวันพระ ๘ ค่ำ โดยปราศจากโรคใด ๆ เมื่อทำวัตรตั้งแต่แสงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ได้นั่งหลับเนตรตลอดกาล ข่าวมรณะถูกประกาศอย่างรวดเร็ว
การรื่นเริงชะงักงัน ดวงใจทุกผู้แทบขาดรอน พระองค์เสด็จไปแล้ว ข้าบาทฯทั้งหลายมีแต่โศกาอาดูร สิ้นซึ่งน้ำหล่อเลี้ยง ขอพระองค์เสด็จสู่ทิพย์วิมานเถิด
และเหตุดั่งนี้ศพถูกเปลี่ยนจากชุดชีผ้าขาว โดยนำเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ มา สรวมใส่อย่างรีบด่วน บรรดานครต่าง ๆ ก็ได้รับข่าวในเวลารวดเร็ว
อีกครั้งหนึ่งที่ฝูงชนหลั่งไหลมาทั่วทิศมืดฟ้ามัวดิน แต่ละสีหน้าเนืองนองด้วยน้ำตา มิว่าเด็กผู้ใหญ่แก่ชราพึมพำงึมงำ...
โอ้...พระร่มโพธิไทรเสด็จจากไปเสีย แล้ว พระชนมายุเพียง ๙๘ พรรษา มิน่าเลย...
เมื่อพระมหากษัตริย์เขลางค์มาถึง พร้อมพระประยูรญาติอีกเวลาไม่นาน นครต่าง ๆ ก็ทะยอยมาทั่วทุกนคร หริภุญชัย, ระมิงค์, เขลางค์
เป็นเจ้าภาพเช่นเดิม นครอุชเชนี นำปรอทมาสำหรับใส่พระบรมศพ กำหนดสวดพระอภิธรรม ๑ เดือน รักษาพระบรมศพไว้ ๒ ปี
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เดือน ๖ ปีวอก พุทธศก ๑๒๗๖ นับจากปีที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ประสูติ ตราบถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงนับได้ ๑๐๐ ปี
ในวันนี้ฝูงชนยิ่งแน่นขนัดไม่มีอะไรเปรียบ นครหริภุญชัย นครระมิงค์ ดูเล็กไป ณ แผ่นพื้นปฐพีเนืองแน่นด้วยฝูงชน
พระมหากษัตริย์อัญเชิญพระบรมศพขึ้นสู่ราชรถ พระบรมศพจะอัญเชิญไปนครพิศดารก่อนวันถวายพระเพลิง และพสกนิกรได้อัญเชิญพระบรมศพออกจาก
นครพิศดาร แค่ยามสองเพลากลางคืน (๒๒.๐๐ น.) ของวันก่อนถวายพระเพลิง คือวันแรม ๒ ค่ำ เพราะวันรุ่งขึ้นแรม ๓ ค่ำ เป็นวันถวายพระเพลิง
ครั้นได้เวลา ขบวนแห่พระบรมศพจากพิศดารนคร ได้มาถึงท่าน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำน้อย สามารถข้ามได้ โดยมิต้องใช้เรือ ได้ข้ามลำน้ำระมิงค์
เพื่อเดินเส้นทางตะวันออกของลำน้ำ เพราะพระศพจะได้ผ่านเวียงการ้อง อันขบวนพระบรมศพนั้นกล่าวว่า หัวขบวนถึงท่าน้ำ แต่ท้ายขบวนเพิ่งพ้นเขตเวียง
มิทันเวลาอาหารเช้าก็ถึงเวียงการ้อง ขบวนแห่พระศพถึงนครหริภุญชัยประมาณ ๑๘ นาฬิกา และก็ตรงไปยังพระเมรุ ณ เชตุวันพนาเวศ (
ปัจจุบันเป็น วัดเชตวัน จ.ลำพูน ) หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตรีย์แล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามะเทวี (ปัจจุบันเรียกเจดีย์กู่กุด
วัดจามเทวี จ.ลำพูน) ครั้งนี้นครหริภุญชัย, เขลางค์, และ ระมิงค์ พากันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ ปี
ต่อมาปีพุทธศก ๑๒๙๑ พระเจ้าระมิงค์ พระองค์ใหม่สิ้นพระชนม์ และไม่มีรัชทายาท พระเจ้ามหันตยศจึงประชุมมุขอำมาตย์ และได้เห็นพ้องต้องกันว่า
ควรรวมพระนครทั้งสองเป็นนครเดียวกันเสีย หมู่เสนาข้าราชบริพารไปอยู่หริภุญชัยให้หมด ประชาชนผู้ใดชอบอยู่ทางใดก็อยู่กันไป จึงทำให้ชนชาวลั๊วะ
ได้อยู่ทั่วเขตหริภุญชัย
ในกลางปีพุทธศก ๑๒๙๑ ปีกุน พระเจ้าอนันตยศ แห่งนครเขลางค์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทน ทรงพระนาม
พระเจ้าปริกะราชา ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พุทธศก ๑๒๙๒ พระเจ้ามหันตยศ แห่งนครหริภุญชัย ได้เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา
ทรงมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชโอรสทรงพระนาม กัมมันทะกุมาร ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ แทนเป็นราชวงศ์จามะเทวีฯ ที่ ๓
( สิ้นสุดพระราชชีวประวัติที่แปลจากต้นฉบับเพียงแค่นี้ )
เรื่องนี้มีความยาวมาก แต่ต้องคัดมาเฉพาะบางตอน จึงต้องขอขอบคุณ และ อนุโมทนาผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
ที่มีความอุตสาหะพยายามนำมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้โดยทั่วกัน " ธัมมวิโมกข์ " จึงขอมีโอกาสได้เป็นสื่อบ้าง ถึงแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย
แต่ก็ถือว่าได้รักษามรดกของไทยไว้เช่นกัน
ถึงเวลาหน้ากระดาษหมดพอดี จึงขอจบด้วย " บันทึกพิเศษ " ต่อจากฉบับที่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของพระแม่เจ้าจามะเทวี แต่ประการใด
แต่ก็เหมือนกันในทัศนะของธรรมะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
บันทึกพิเศษนี้ท่านได้บันทึกไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๑๒ เวลานั้น ยังไม่ได้ฝึกมโนมยิทธิกัน ลองมาฟังสำนวนของท่านในครั้งนั้นกันบ้าง ตามบันทึกในตอนต้น
ท่านได้เล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง ส่วนในตอนนี้จะเป็นตอนจบพอดี...
โอวาทของท่านแม่
...แม่เขามาบอกว่า เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ ไม่ใช่เล่าให้ฟังเพื่อทะนงว่า ตนเคยเป็นบุตรกษัตริย์ หรือเคยเป็นนักรบ เล่าให้ฟังเพื่อรู้
ตามความเป็นจริงว่า
เครื่องเพชรเครื่องทอง สมัยเป็นลูกกษัตริย์นั้น มีนับไม่ถ้วน จะเอาอย่างไรก็ได้ อย่างนั้น รูปร่างทรวดทรงหรือก็สวยสดงดงามมาก ดาราสมัยนี้
ไม่มีทางทาบติด ผิวก็สวย ทรงก็งาม มรรยาทก็นิ่มนวล ความสามารถดีทุกอย่าง รบก็เก่ง ศักดิ์ก็สูง
แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งเหล่านั้นมีอะไรเหลือบ้าง แม้แต่ชื่อก็จำไม่ได้ เกิดใหม่ตระกูลต่างมาจากเดิม ความเป็นอยู่ต่างกัน เคยมีคนรับใช้ แม้แต่น้ำล้างหน้า
ก็เกือบไม่ต้องหยิบ มีคนคอยหยิบส่งให้ เดี๋ยวนี้ต้องทำเองหมด แม้ท่านพ่อที่เป็นกษัตริย์มาเองก็เช่นกัน ไม่มีอะไรเหลือ
จงเห็นตามความเป็นจริงของโลกว่า โลกไม่มีอะไรแน่นอน การเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ลูกเกิดมาหลายร้อยวาระ แต่ความเป็นกษัตริย์เดี๋ยวนี้ไม่มี มันหายไปไหน
ใครทำให้มันหาย ทั้งนี้ไม่ต้องโทษใคร โทษโลก โลกมันทำให้หาย โลกมันทำให้สิ้นสภาพ โลกมันทำลายทุกสิ่งทุกอย่างหมด
แม้แต่แม่รักลูกเหมือนแก้วตา ก็ต้องอยู่ห่างจากลูก ลูกเป็นมนุษย์ แม่เป็นเทวดา ที่ต้องแยกกันอย่างนี้ ก็เพราะเราหลงว่าโลกเป็นของดี
ลูกอย่าหลงโลกมันต่อไปเลย มุ่งเอา " พระนิพพาน " เป็นที่ตั้ง ปลดความรัดรึงในโลกเสียให้หมด ความสบายใจจะมีแก่ลูก
การที่เล่าเรื่องในอดีต ให้ฟังก็เพื่อจะได้รู้ว่า เราสร้างวีรกรรมที่ชาวโลกสรรเสริญไว้มาก การรบเก่ง โลกยกย่อง แต่ตามกฎของกรรม กลับลงโทษเรา
บางครั้งสุข บางคราวมีทุกข์ บางคนเราทำดีแก่เขา แต่เขาไม่เห็นความดี กรรมอย่างนี้มาจากสงครามเดิม เป็นผลกฎของกรรมตามสนอง
แต่ที่ลูกมีผลในด้านความเป็นอยู่พอสมควร ก็เพราะผลทานที่สร้างร่วมกับแม่และพ่อมา จึงช่วยพยุงตัวไม่ให้ล่มจม
การที่มีอายุยืน เพราะเหตุที่เกื้อกูลแก่พระศาสนา มีการรักษาศีล บำรุงพระศาสนาเป็นเหตุ ลูกจึงมีบุญเข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็ว อีกชาติเดียว
ลูกจะถึงความสุขแล้ว เดิมแม่คิดไม่ออกว่าลูกจะมีโอกาสหรือ เพราะเห็นภาระหนัก เมื่อลูกตัดสินใจเด็ดขาด ตามแบบฉบับเดิมได้ แม่ดีใจมาก
แม่ดีใจด้วยกับลูกแม่มา ลูกไม่เห็น จึงต้องอาศัยพ่อเป็นล่าม แต่ก็จัดว่าลูกมีบุญ ที่รู้เรื่องอดีตได้อย่างไม่ผิดพลาด
ต่างกับคนหลายพันเปอร์เซ็นต์ที่รู้อะไรไม่ได้เลย แม้แต่กินเหล้าเมาแล้วยังไม่รู้ว่าตัวเมา
ขอลูกของแม่จงสุขสบายในธรรมของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิตเถิด... แม่ขอให้พ่อลงชื่อแม่ว่า...
" รัตนาวดีศรีโสภาค " ( พ่อเขาเรียกแม่ว่า.. .แม่ศรี )
สาธุ...ถึงแม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังประทับใจในโอวาทของท่านแม่ ใช่ไหม ล่ะ...ท่านผู้อ่านทุกท่าน สำหรับเรื่องต่อไปจะเป็นการ
"พลิกประวัติศาสตร์" ทางด้าน โบราณสถานและโบราณวัตถุ ส่วนเรื่องทางด้าน "เอกสาร" ก็ต้องยุติไว้เพียงแค่นี้... สวัสดี
ll กลับสู่ด้านบน
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 18/4/08 at 23:03 |
|
Update 18 เม.ย. 51
ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย
พบกันในฉบับนี้ ตามที่ได้เกริ่นจากฉบับก่อนแล้วว่า ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ในระยะ พ.ศ. ๑๐๐๐ - ๑๘๐๐ เศษ มีเรื่องของ
พระแม่เจ้าจามะเทวี เรื่องเดียวที่ครองติดต่อกันนานควรจะเชื่อถือได้
เพราะนับตั้งแต่นั้นมา มีพระมหากษัตริย์ปกครองนครหริภุญชัยติดต่อกัน จนมาถึง ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ อาณาจักรหริภุญชัย จึงตกเป็นของ
พระเจ้าเม็งรายมหาราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ กลายมาเป็นยุคของ อาณาจักรลานนาไทย ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับ
พ่อขุนรามคำแหง ครอง อาณาจักรสุโขทัย
เป็นอันว่า เราได้ศึกษาจากหลักฐานที่ได้บันทึกไว้ว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ตั้งแต่ภาคเหนือมาถึงภาคกลาง และคิดว่าคงจะมีคนไทยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ถ้าเราจะย้อนรอยถอยหลังลงไปอีกว่า " อาณาจักรสุวรรณภูมิ " มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดกันแน่...?
คราวนี้ก็ต้องหาหลักฐานจาก "ปูชนียสถาน" กันบ้าง โดยวิธีการหันหน้าเข้าวัดเช่นเคย เพราะวัดก็คือ "มหาวิทยาลัย" ของบรรพบุรุษของเรา
วัดเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง ของชาติไทยมานาน เป็นแหล่งศึกษาวิชาการ "ทั้งทางโลก" และ "ทางธรรม" เพราะฉะนั้น
วัดจึงเป็นศิลาจารึกทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย เจดียสถานองค์ใด...ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เจดียสถานองค์นั้น..ย่อมจารึกเรื่องราวในอดีตของชาติไทยไว้มากเท่านั้น
พระปฐมเจดีย์
ในประเทศไทย จึงมีเจดีย์ที่องค์ใหญ่ และสำคัญที่สุด และก็ลึกลับที่สุด เพราะเคยเป็นเจดีย์ร้างอยู่ในป่าตั้งหลายร้อยปี เห็นจะร่วมพันปี พึ่งมาค้นพบโดย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ได้เดินธุดงค์ไปปักกลดอยู่ในป่าแถวเมือง
"นครไชยศรี"
( ตอนนั้น ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า นครปฐม ราวๆ พ.ศ. ๒๔๐๐ ) ขณะที่ทรงตรวจบริเวณรอบ ๆ ที่นั้นเพื่อปักกลด ก็ทรงพบว่าในบริเวณนั้น
มีฐานดินแห่งหนึ่ง ใหญ่โตมโหฬาร ดังหนึ่งภูเขาน้อย ๆ ทรงตรวจโดยรอบ ก็ทรงทราบแน่ชัดว่า สิ่งที่ทรงพบนั้น เป็นเจดีย์ร้างอยู่กลางป่า
ไม่ทราบว่าร้างมาแต่ยุคไหน ถามชาวบ้านแถบนั้นดู ก็ได้แต่บอกว่า พระเจดีย์นี้ผู้เฒ่าผู้แก่เคย เรียกว่า พระประธม หมายถึงที่
"บรรทม" ของพระพุทธเจ้าคราวนิพพาน
และยังมีเจดีย์อีกองค์หนึ่งเรียกว่า พระประโทณ หมายถึง โทณพราหมณ์ เมื่อได้ ทะนาน
ที่ตวงพระธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็นำเอาทะนานมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ก่อไว้นี้ ความที่ทรงทราบก็มีเพียงเท่านี้
( ในตอนนี้ ขอนำเรื่องในตำนานที่ได้เล่าเกี่ยวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ) เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
โทณพราหมณ์ ซึ่งเป็นปุโรหิตแห่งกรุงกุสินารามหานคร ได้เป็นผู้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
โดยใช้ทะนานทองเป็นที่ตวงให้แก่บรรดากษัตริย์หัวเมืองต่าง ๆ โทณพราหมณ์อยากได้ พระเขี้ยวแก้ว แต่พระอินทร์ท่านไม่ยอม แอบนำไปเสียก่อน
โทณพราหมณ์ จึงขอทะนานทองนั้นไปไว้บูชา แล้วจึงเดินทาง กลับมายังหมู่บ้านพราหมณ์ ซึ่งเป็นญาติของตน ณ
เมืองทวารวดี ในสุวรรณภูมิ
หมู่บ้านพราหมณ์ ซึ่งโทณพราหมณ์มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ และคนเคยไปมาหาสู่เสมอนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณพระประโทน ( นครปฐม )
โทณพราหมณ์ได้ก่อเจดีย์ย่อม ๆ บรรจุทะนานทองนั้นไว้บูชา
พระแท่นดงรัง
ก่อนอื่นขอแทรกเรื่อง เมืองกุสินารา ไว้สักเล็กน้อย ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้ จะเป็นจริงแค่ไหนไม่ขอยืนยัน เพราะเพียงแต่รับทราบ จาก
พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นความรู้ที่ท่านได้จากอภิญญาสมาบัติหรือไม่
จึงไม่ขอรับรองเพราะอาจจะไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ก็ได้ อย่าได้ถือเป็นข้อขัดแย้งกัน อ่านเล่นเพื่อสนุกเท่านั้น ท่านได้บอกกับผู้เขียนไว้นานแล้วว่า
ตามที่ พระมหากัสสป เดินทางจาก ปาวาลเจดีย์. นั้น ท่านบอกว่าคือ ดงพระยาไฟ (
สมัยนี้เปลี่ยนเป็น ดงพระยาเย็น ) มาถวายบังคมพระพุทธสรีระ ที่ พระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี นี่เอง
เรื่องนี้บังเอิญตรงกันกับในหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า
มีท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง ในกรุงเทพฯ ได้แต่งหนังสืออันเนื่องด้วย "พุทธประวัติ" จนเสด็จเข้าปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรัง แต่สมเด็จ ฯ
ท่านไม่ได้ระบุว่า ท่านเจ้าคุณ องค์นั้น มีราชทินนามว่าอย่างไร อยู่วัดไหน เพียงแต่กล่าวว่าเป็น "พระราชาคณะชั้นสามัญ"
เท่านั้น
ต่อมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปสำรวจที่นั่น ปรากฏว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาก ตัวอย่างเช่น
๑. พระแท่นดงรัง เป็นหินแท่งทึบ หน้าลาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รูปคล้ายแท่นหรือเตียงนอน ต่ำข้างหนึ่งสูงข้างหนึ่ง ราว ๑๑ ศอก ๑
คืบ กว้าง ๔ ศอกเศษ เดิมมีต้นรังขึ้นอยู่ริมพระแท่นข้างละต้น โน้มยอดเข้าหากัน สภาพบริเวณทั่วไป เป็นป่าไม้เต็งไม้รังที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ
๒. บ่อบ้วนพระโอษฐ์ อยู่ด้านหลังพระแท่น มีเทือกเขาเตี้ย ๆ ลาดไปทางเหนือ มีก้อนศิลาตั้งอยู่ท่ามกลางดงไม้ มีบ่อน้ำเล็ก ๆ ปากบ่อกว้าง
๑๕ ซม. ลึกประมาณ ๗๕ ซม. เชื่อกันว่าเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงลงพระโลหิตก่อนปรินิพพาน และได้บ้วนพระโอษฐ์ที่บ่อนี้
๓. ปล่องพญานาค จากพระแท่นไปทางทิศใต้ ( อยู่ข้างประตูวัดด้านใน ) มีบ่อลึก ๑ บ่อ กล่าวกันว่าบ่อแห่งนี้เป็น ปล่องพญานาค
ที่มานมัสการเชิงตะกอนที่ถวายพระเพลิง บนเขาถวายพระเพลิง
๔. สวนนายจุนทะ อยู่ทางทิศเหนือขององค์พระแท่น ระยะห่าง ๕๐๐ เมตร มีบริเวณป่าลักษณะเป็นสวน มีต้นไม้ เช่น มะม่วง มะตูมตาล
อยู่ในปัจจุบัน โดยกล่าวกันว่า เป็นสวนของ นายจุนทะ กุมารบุตร ผู้ถวายเนื้อสุกรอ่อนแก่พระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน
๕. เขาถวายพระเพลิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระแท่น เป็นเขาลูกรังยอดสูง ๕๕ เมตร มีมณฑปสร้างครอบเชิงตะกอน ที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
เมื่อเสด็จดับขันธ ปรินิพพาน ( ตามพุทธประวัติเรียกว่า มกุฏพันธนเจดีย์ )( หากจะนำภาพ จากประเทศอินเดีย มาเปรียบเทียบกัน
ท่านผู้อ่านก็คงจะพอตัดสินได้ว่า สถานที่ใดที่เหมาะสมกว่ากันแน่
( ต้นไม้ที่เห็นไม่ใช่ต้นรัง แต่เป็นต้นไม้อื่น ) เรื่องนี้ได้รายละเอียดจากหนังสือ ประวัติพระแท่นดงรัง ถ้าหากว่าเป็นจริง
ตามความเชื่อถือของคนโบราณ พอจะสันนิษฐานในลักษณะเดียว กับที่พระพุทธเจ้า ทรงมอบผ้าสังฆาฏิ ให้แก่พระมหากัสสป
พระโบราณาจารย์ จึงกล่าวว่า เปรียบเหมือนกับพระราชาที่ได้ทรงพระราชทานอิสริยยศ ให้แก่พระโอรสฉะนั้น เพราะต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว
พระมหากัสสปได้เป็นพระสาวกผู้ใหญ่ ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมพระธรรมวินัย
จึงเหมือนกับพระราชโอรสที่ได้รักษาราชสมบัติไว้สืบไป เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรง กระทำนิมิตหมายไว้ โดยนัยตามที่กล่าวนี้ ฉะนั้น
การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ และ ตรัสรู้ ที่ชมพูทวีปนั้น เป็นการอุบัติของพระองค์เพื่อวางรากฐานพระพุทธศาสนา
โดยได้โปรดสั่งสอนเวไนยสัตว์ในเขตนั้นตลอด ๔๕ พรรษา
แต่พระพุทธศาสนาจะต้องสืบต่อถึง ๕,๐๐๐ ปี องค์สมเด็จพระชินสีห์ จะต้องทรงทราบดีว่า ประเทศไหนพอที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ฉะนั้น
การที่พระองค์ทรงเสด็จมาปรินิพพาน น่าจะเป็นนิมิตหมายว่า พระองค์จะทรงฝากพระพุทธศาสนา ให้มาดำรงอยู่ในอาณาเขตนี้สืบไป ดังที่เราจะเห็นกันในปัจจุบันนี้
ประเทศอินเดีย ที่เป็นต้นกำเนิด ประเทศลังกา ที่เป็นสองรองจากอินเดีย หรือประเทศเพื่อนบ้านของเรา ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว
ประเทศของเราน่าจะเป็นประเทศที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคงถาวรเป็นที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ทางด้าน โบราณวัตถุ ยังมีปรากฏเป็นหลักฐาน ซึ่ง อดีตท่านเจ้าคุณ พระราชกวี วัดโสมนัส ท่านแสดงความเห็น
ในเรื่องนี้ไว้ว่า ในทางเหนือเส้นเขตแดน จ.ราชบุรี และ เข้าไปถึง จ.กาญจนบุรี มีซากโบราณเป็นเมืองอยู่ ชื่อว่า โกสินราย
ซึ่งใกล้กับชื่อว่า กุสินารา อันเป็นเมืองเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทั้งมี พระแท่นดงรัง ซึ่งสมมติเป็นพระแท่นปรินิพพานนั้น
ก็ยิ่งใกล้เคียงมาก กับมีวัดชื่อว่า โกสินารายณ์ ด้วยก็สมคล้องมาก
เมืองโกสินรายนี้ คงตั้งขึ้นและเป็นอยู่นาน จึงมีรากฐานเมือง, คู, สระน้ำ, และ วัด เช่น วัดดงสัก วัดโกสิน
ครั้นต่อมาเพื่อให้ใกล้กับกรุงกุสินารา จึงเรียก โกสินรายณ์ อันไหนจะจริงก็ตาม แต่รากฐานของเมือง, วัดสระโกสินราย มีอยู่แล้ว...
ป่าเลไลยกะ
และมีเรื่องที่น่าคิดอีกเรื่องหนึ่ง พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านนี้ยังได้เคยเล่าไว้ในเรื่อง สอนลูกภาคใต้ อีกว่า
..พระพุทธเจ้าทรงหนีพวกภิกษุโกสัมพี ที่ทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน พระพุทธเจ้ามาจำพรรษา ๑ พรรษา เป็นแดนไกลมาก ในพระบาลีท่านไม่ได้บอกว่าที่ไหน
เป็นแดนที่คนและพระทั้งหลายไม่สามารถจะไปถึง แต่ทว่า "ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ" ท่านบอกว่า แดนป่าเลไลยกะจริง ๆ ก็คือที่ "วัดป่า เลไลยก์" นี่เอง
ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น...
รวมความว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของแปลก เพราะในสมัยนั้นการเดินทางติดต่อถึงกันหมด ความจริงของดีอยู่ในประเทศของเรามากมาย เช่นที่พระพุทธบาทสระบุรี
เป็นต้น
พระพุทธบาทสระบุรี
เรื่องนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเล่าไว้แล้ว แม้แต่พระสงฆ์ที่อยู่แดนไกล ท่านยังยืนยันเหมือนกัน ตามหนังสือ พระราชพงศาวดาร
ที่กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า ในรัชกาล พระเจ้าทรงธรรม มีพระภิกษุ สงฆ์ไทยพวกหนึ่งออกไปถึง ลังกาทวีป
จะไปบูชารอยพระพุทธบาทที่ เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกา ถามว่า..
รอยพระบาทที่มีอยู่ ๕ รอยนั้น รอยหนึ่งอยู่ที่ สุวรรณบรรพต ซึ่งอยู่ในประเทศไทย คนไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทที่นั่นดอก หรือ
จึงต้องออกไปบูชาถึงลังกาทวีป ?
พระภิกษุสงฆ์พวกนั้นก็นำความมาทูล พระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดให้มีตราสั่งหัวเมือง ให้เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่า จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่แห่งใดหรือไม่
ครั้งนั้น ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้ความจาก พรานบุญ ว่า ได้ไปล่าเนื้อ ในป่าเชิงเขาแห่งหนึ่ง ยิงถูกเนื้อเจ็บลำบาก
หนีขึ้นไปบนไหล่เขา เข้าเชิงไม้ไป พอบัดเดี๋ยวเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้ไปเป็นปกติดังเก่า
พรานบุญนึกหลากใจ จึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้าคน ขนาดยาวสักศอกเศษ และมีน้ำขังอยู่ในนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดแผล
เพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองทาตัวดู กลากเกลื้อนที่เป็นอยู่ นานก็หายหมด
ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีไปตรวจ เห็นรอยมีจริงดังพรานบุญว่า จึงบอกเข้ามายัง กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมเสด็จออกไปทอดพระเนตร ทรงพระราชดำริว่า
คงเป็น รอยพระพุทธบาท ตรงตามที่ ลังกาบอกมา เป็นแน่แท้ ก็ทรงโสมนัสศรัทธา ด้วยเห็นว่าเป็น บริโภคเจดีย์
เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธองค์ประเสริฐกว่า อุเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูปและพระสถูปเจดีย์ ซึ่งเป็นของสร้างขึ้นโดยสมมติ
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ จึงโปรดให้สร้างเป็น มหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอย รอยพระพุทธบาท และสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่
และทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่งโดยรอบพระพุทธบาท ได้ทรงมอบหมายให้มีผู้ปฏิบัติ รักษาพระพุทธบาท ที่บริเวณนั้นจึงได้นามว่า เมืองปรันตปะ
เรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองพระพุทธบาท
นับแต่นั้นมา พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการบูชา และ
ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระพุทธบาท เป็นประจำสืบมา จนมีสภาพงดงาม เป็นที่ชื่นชมของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายใน ปัจจุบันนี้
พระพุทธบาท ๕ แห่ง
พระพุทธองค์ให้ทรงประดิษฐานรอย พระพุทธบาทไว้ ๕ แห่ง มีเนื้อความปรากฏมาในพระบาลีดังนี้ว่า
๑. สุวัณณมาลิเก คือ รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ที่ ยอดเขาในลังกา ทวีปแห่งหนึ่ง
๒. สุวัณณปัพพเต รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานไว้ที่ ยอดเขาสุวรรณบรรพต ( ในสยามประเทศนี้ ) แห่งหนึ่ง
๓. สุมนกูเฏ รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานไว้ ยอดเขาสุมนกูฏ แห่งหนึ่ง
๔. โยนกปุเร ประดิษฐานไว้ในโยนก ประเทศหนึ่ง
๕. นัมมาทายะ นทิยา ประดิษฐานไว้ในแม่น้ำนัมมทานที แห่งหนึ่ง
ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธบาทที่ประดิษฐานบน ยอดเขาสุมนกูฏ ในประเทศลังกานั้น ฝ่าพระบาทยาว ๓ ศอก กว้างศอก คืบ ลึก ๔ นิ้ว
ปลายพระบาท บ่ายไปข้างทิศตะวันตก แต่ลายลักษณะนั้นหามิได้ ด้วยว่าครั้งหนึ่ง พวกโปตุเกต ได้กินเมืองลังกาแล้ว จึงให้คนเอาสังข์ไปขัดสีตีต่อย
จนลายนั้นเลือนลบหายไปสิ้น
ส่วน รอยพระพุทธบาทที่สระบุรี นั้น พระพุทธองค์ทรงเหยียบรอบพระบาทเบื้องขวา ได้ประดิษฐานอยู่เหนือแผ่นศิลานั้น ( เวลานี้
ได้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลองทับไว้ ) สันพระบาทนั้น อยู่ทางทิศตะวันออก ปลายพระบาทนั้นอยู่ทางทิศตะวันตก ยาว ๓ ศอก กว้าง ๑ ศอกกับ ๘ นิ้ว ลึก ๔ นิ้ว
ในรอยพระพุทธบาทนั้นมีรอยลักษณะ ๑๐๘ ประการครบบริบูรณ์
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านต่อไป สวัสดี...
Update 1 พฤษภาคม 51
ประวัติ "รอยพระพุทธบาท" ที่สระบุรีและภูเก็ต
ในตอนนี้เห็นว่ามีความสำคัญ จึงขอแทรกคำจารึกจากกระเบื้องจาร อ่านโดยอดีต พระราชกวี วัดโสมนัส
โดยคัดมาจากหนังสือพุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ เพื่อจะได้ทราบว่า สมัยโบราณใช้คำพูดอย่างไร ทั้งหมดเป็นคำเดิม
มิได้ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงคำไหนเลย ซึ่งมีใจความว่า
บุญมุนี อยู่ถ้ำฤษี ผู้นำพุทธ สู่เกาะคน ชาวน้ำ หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม
พุทธสอนมาก หมู่คนขอรอยตีน ไว้ ชายทเล พุทธเหยียบดิน ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า เมื่อขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒
พุทธ ปุณณ เดินทาง ไปเขา สัจจพันธ พาสัจจพันธ ไปส่งเขาสัจจพันธ อันสัจจพัน ภิกขุ วอนขอ รอยตีน อันเหยียบหินในวันขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เหยียบหิน เชิงเขานั้น พุทธสร้างรอยตีน ณ หิน ทำรอยใหญ่ กว่า ๓ เท่า เถรเดินภุ่มมือตลอดนั้น เสดแล้ว พระภิกขุพัน หมอบกราบพุทธ พุทธว่าเขา
ตีนพุทธ ( ถ้าใช้สำนวนในปัจจุบันอ่านได้ดังนี้ )
พระปุณณะ อยู่ถ้ำฤษี ( เขางู จ.ราชบุรี ) ผู้นำพระพุทธเจ้า สู่เกาะคนชาวน้ำ ( ชาวเล ) หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้
ห้อมล้อมพระพุทธเจ้าสอนมาก หมู่คนขอรอยเท้าไว้ชายทะเล พระพุทธเจ้าและพระปุณณะ เดินทาง ไปเขาสัจจพันธ ( สระบุรี ) พาสัจจพันธ ไปส่งเขาสัจจพันธ
อันสัจจพันภิกขุ วอนขอรอยเท้า อันเหยียบหินในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เหยียบหินเชิงเขานั้น
พระพุทธเจ้าสร้างรอยเท้าที่แผ่นหิน ทำรอยใหญ่กว่า ๓ เท่า พระเถระเดินพนมมือ ตลอดนั้น เสร็จแล้ว พระภิกขุพันหมอบกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
ต่อไป เรียกว่า เขาพระพุทธบาท
ท่านเจ้าคุณพระราชกวี ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้อีกว่า เท่าที่ปรากฏรอยตีนพุทธนี้ ย่อมทรง แสดงให้เห็นหลักฐานว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่า ได้เสด็จตั้งแต่ใต้สุดถึงเหนือสุด ของดินแดน สุวัณณภูมิ
จึงเสด็จเพื่อทรงเหยียบแสดงรอยพระบาทเป็นประจักษ์พยาน ไว้ ณ สัจจพันธคีรี ( สระบุรี ) และที่ เกาะแก้ว ( เกาะแก้วพิสดาร
? ) หรือ นิมมทานที ( ไทย ว่า...นัมทา ) ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมานาน กระทั่งถึงต่างประเทศ คือลังกาและชมพูทวีป เพราะ คำใน อรรถกถา
ยืนยันอยู่...
เกาะเแก้วพิสดาร
เมื่อผู้เขียนได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ประมาณต้นปี ๒๕๓๔ จึงได้มีโอกาสไปยัง สถานที่แห่งนี้ ได้เดินไปสำรวจตามก้อนหิน ที่อยู่ริมทะเล
พบรอยพระพุทธบาทประทับ อยู่ตรงกลางก้อนหินก้อนหนึ่ง ลักษณะรอยพระพุทธบาทชัดเจนมาก สันพระบาทนั้นอยู่ทางทิศตะวันตก ปลายพระ บาทนั้นอยู่ทางทิศตะวันออก
เป็นพระบาทเบื้องขวาใหญ่มาก มีขนาดไล่เลี่ยกับรอยพระบาทที่ สระบุรี และมีกงจักรอยู่ตรงกลางฝ่าพระบาท
ต่อมาได้มีโอกาสสอบถามคนที่เคยไปที่นั่น ปรากฏว่าบางคนเคยเห็นบ้าง บางคนไป แล้วไม่ได้เห็นบ้าง เห็นชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง บางคนไปไม่ถึงก็มี เพราะลมแรงบ้าง
น้ำทะเลท่วม พระบาทบ้าง เป็นต้น บางคนเล่าว่า สมัยก่อน เคยเห็นปลาเงินปลาทอง และน้ำเค็มที่บริเวณพระบาทจะจืดด้วย
มีคุณลุงคนหนึ่งเป็นชาวภูเก็ตเล่าว่า เวลานี้แกมีอายุประมาณ ๗๐ ปีเศษ ไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นรอยพระบาทเลย แกได้เล่าต่อไปว่า สมัยยังเป็นหนุ่ม
พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน อ.จันดี จ.นครศรีธรรมราช ได้ไปประชุมชาวบ้านที่นั่น เพื่อสร้างรอยพระบาท จำลองไว้ เพื่อรักษาศรัทธาคนที่ไปถึงแล้ว
แต่ไม่มีโอกาสได้เห็นรอยพระบาทจริง แกจึงได้ถามท่านว่า รอยพระบาทที่นี่จริงไหม ?
พ่อท่านคล้ายตอบว่า รอยพระบาทที่นี่เป็นของจริง และมีพระอาคันตุกะที่มาอยู่ธุดงค์องค์หนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อฟัก
วัดเขาวงพระ จันทร์ จ. ลพบุรี ก็ได้ยืนยันว่า รอยพระบาทที่พระพุทธเจ้าประทับไว้ ณ ริมฝั่งน้ำ "นัมทา" นั้น อยู่ที่ "เกาะแก้ว" จ.ภูเก็ต นี่เอง
ถ้าหากเป็นรอยพระบาทที่นี่จริง ก็นับว่าเป็นบุญของชาวใต้ ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปให้ถึงสระบุรี เพราะเป็นรอยพระบาทที่เกิดขึ้นก่อนสระบุรีเพียง ๒ วัน
คือพระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่นี่ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำจึงเสด็จกลับไปประทับรอยพระบาทที่สระบุรี เพราะฉะนั้น รอยพระ บาทที่ปักษ์ใต้ จึงเป็นรอยแรกในประเทศไทย ทั้งยังจารึกไว้ในพระไตรปิฎก
( มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ) แต่ยังไม่มีใครเปิดเผยเป็นทางการมาก่อน ยังคงเป็นเรื่องลี้ลับ เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่า
อาจจะอยู่ที่ลังกาหรืออินเดีย ถ้าจะลองวิเคราะห์ว่าอยู่ในประเทศอื่น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรอยพระบาท ๒ แห่งนี้ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ควรจะเป็น
สถานที่ใกล้เคียงกัน เพราะตามเรื่องที่ปรากฏในพระสูตรนั้น มีโดยย่อว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดชาวสุวรรณภูมิ
ในเช้าวันหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาค เจ้า พร้อมกับพระอัครสาวก และพระสาวก ๔๙๙ รูป ได้เสด็จออกมาจากพระเชตวัน ( อินเดีย )
ขึ้นสู่เรือนยอดอัน วิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตถวาย ๕๐๐ หลัง ( อีกหลังหนึ่งว่างเปล่า ) โดยทางอากาศ ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ( ๔,๘๐๐
ก.ม.) เพื่อทรงโปรด ท่านสัจจพันธฤาษี ( สระบุรี ) ให้เป็นอรหันต์แล้ว จึงเสด็จมาบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่บ้านน้องชายของ
พระปุณณะ ซึ่งเป็นชาวเมืองสุนาปรันตะ ( เพชรบุรี )
เมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่นั้น ประมาณ ๒ - ๓ วัน จึงได้เสด็จไปโปรด นิมมทานาคราช พร้อมกับประทับรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำ
นิมมทา ( คำว่า นาค ในอุทานวรรคตรัสว่า เป็น คนทะเล ) ตาม
อรรถกถาปุณโณวาทสูตร กล่าวต่อไปว่า รอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด
กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่ ( แต่ที่แปลกมากก็คือว่า น้ำตรงบริเวณ ด้านรอยพระบาทนั้น จะเป็นน้ำวน ไม่มีใครกล้าเข้าไปหาปลา
สงสัยจะเป็น...วังบาดาล )
เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้ว ก็ เสด็จถึง ภูเขาสัจจพันธ์ ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบ เหมือนประทับตรา
ไว้บนก้อนดินเหนียวสด ๆ ฉะนั้น ต่อจากนั้น ก็เสด็จไปถึงพระเชตวันทีเดียว.. แสดงว่ารอยพระบาททั้งสองแห่งนี้ มิได้อยู่ที่อินเดียแน่นอน
แต่ถ้าจะคิดว่ารอยพระบาท ณ นัมทานที อยู่ที่ลังกา ก็ไม่น่าจะเป็นได้ เพราะเสด็จมาถึงสุนาปรันตะ สิ้นระยะทาง ๓๐๐ โยชน์
ก็จะต้องย้อนกลับไปกลับมาหลายครั้ง ทั้งที่ลังกาก็ไม่ปรากฏว่าพบรอยพระบาท ที่อยู่ริมทะเลยอย่างนี้มาก่อน
เพราะฉะนั้น รอยพระบาททั้งสองแห่งนี้ จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ถ้าเชื่อว่า รอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นของจริง รอยพระพุทธบาทที่ภูเก็ต
ก็ต้องเป็นของจริงเช่นกัน โดยเฉพาะรอยพระบาทที่นี่ กิตติศัทพ์ความพิสดารเป็นที่เล่าลือกันมาก ชาวภูเก็ตเอง คงจะรู้เรื่องดี คิดว่าน่าจะเป็น
รอยพระบาทที่ ๕ ตามที่เราถือประเพณี ลอยกระทง เพื่อบูชารอยพระบาทกัน ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร
ช่วยเขียนเล่าส่งมายัง ผู้เขียน ด้วย
ขอเชิญฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
สำหรับประเพณี ลอยกระทง นี้ เท่าที่สังเกตดูในสมัยปัจจุบันนี้ มักจะจัดงานรูปแบบในเชิงการท่องเที่ยว เช่นมีการจัดขบวนแห่กระทง
ประกวดนางนพมาศ และจุดพลุไฟ เป็นต้น เพื่อความสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น เนื่องในโอกาส ปี ๒๕๓๗ เป็น ปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ผู้เขียนจึงใคร่ขอ
เชิญชวนพุทธบริษัททั้งหลาย ร่วมกันสนอง นโยบายของคณะรัฐบาล โดยช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมของไทยที่สืบมาแต่โบราณ ไว้เป็น แบบอย่างในสมัยปัจจุบันนี้
มิฉะนั้นประเพณี ที่เป็นของไทยแท้ ๆ ก็จะถูกลบเลือน หรือถูก สอดแทรกด้วยเรื่องที่มิใช่เป็นของไทย
ขอยกตัวอย่างประเพณี ลอยกระทง ความจริงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในทางพระพุทธ ศาสนา เพราะการที่ นางนพมาศ
ได้ประดิษฐ์ กระทง ให้มีลักษณะเป็นรูป ดอกบัว นั้น เพื่อเป็นเครื่องสักการะสำหรับลอยไปบูชา รอยพระพุทธบาท
โดยฝากไปกับพระแม่คงคา ( ส่วนเรื่องที่มีคนให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า เป็นการลอยเคราะห์กรรมนั้น ถ้าคติทางพระ พุทธศาสนาถือว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
จะลอยไปสักกี่ปีกี่ครั้ง ก็ยังไม่พ้น กฎของกรรม นอกจากลอยให้เป็นบุญเท่านั้น )
เนื่องจาก ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์โดย เฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านผู้อ่าน จะสังเกตได้ว่า พระพุทธรูปปางลีลาทุกองค์
มักจะสร้างเป็นรูป ดอกบัว ไว้เพื่อรองรับฝ่า พระบาททั้งสองข้าง ฉะนั้น กระทง จึงมีความ หมายโดยนัยตามที่กล่าวมานี้ ดังนั้น
ถ้าทางเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองหรือ ผู้จัดงาน ลอยกระทง ( ทราบว่าปีนี้จะไปจัดที่ออสเตรเลียอีกด้วย ) จะเน้นตรงจุดที่มีความสำคัญว่า
ลอยเพื่อประสงค์อย่างไร จึงจะไดับุญได้กุศล ตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะผสมผสานกับความสนุกสนาน ไปด้วยก็ไม่เป็นไร
แต่ขอให้เน้นว่าเป็นการบูชารอยพระบาท ณ ริมฝั่งน้ำ นัมทา ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สมกับเจตนารมย์ของท่านผู้คิดประดิษฐ์ กระทง
พร้อมกับได้ชื่อว่า ช่วยกันรณรงค์ วัฒนธรรมไทย อย่างแท้จริง
ขอเชิญอ่านรายละเอียดเรื่อง "ลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร" ได้ในกระทู้.. http://tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=35
ขอย้อนกลับมาถึงเรื่อง ปฐมเจดีย์ กันต่อไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพบในสมัยยังทรงผนวชอยู่ ทรงมั่นพระทัยว่า พระเจดีย์นี้ไม่มีเจดีย์องค์ใดในสยามนี้
จะใหญ่โตเท่า ต้องเป็นเจดีย์ที่พระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งมีมหานครอันรุ่งเรืองและมั่งคั่งทรงสร้างไว้ และทรงดำริว่า พระเจดีย์นี้ในอดีต
คงจักเป็นที่บรรจุพระบรม สารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแน่แท้ ภายหลังเมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ๒ ปี ก็ทรงสั่งให้บูรณะพระเจดีย์เป็น
การใหญ่ และทรงให้เรียกเจดีย์นั้นว่า พระปฐมเจดีย์ แต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในเรื่องนี้ กรมพระยาปวเรศวจริยาลงกรณ์
ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
...เมื่อได้เสวยราชย์ได้ ๒ ปี ก็ทรงให้บูรณะพระปฐมเจดีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อทำการในพระปฐมเจดีย์มานั้น ได้ของแปลกกว่า ของสามัญ
ควรจะเชื่อเป็นพยานได้ ๔ อย่าง ได้ในพระปฐมเจดีย์นั้นบ้าง ได้ในวัดอื่นใน เมืองนครไชยศรีนั้นบ้าง
เป็นพระยืนรูปเทวดายืนแอบอยู่ข้างละองค์ แล้วมีหนังสือบูราณแกะในพิมพ์ติดอยู่ข้างหน้า ๒ บรรทัดบ้าง จารึกไว้ข้างหลัง ๔ บรรทัดบ้างทุกองค์ไป
เป็นหนังสืออันมนุษย์ไทยอ่านไม่ออกอย่างหนึ่งได้เป็นแผ่นอิฐ แผ่นศิลาจารึกเป็หนังสือเช่นนั้นบรรจุไว้ในเจดีย์ ในหนังสือนั้นว่า เย ธัมมา
เหตุปัปภวา... เป็นต้น จน ถึง ...มหาสะมะโณ เป็นที่สุด เหมือนกันกับหนังสือที่องค์พระ
จงจำไว้อันนี้เป็นธรรมเนียมเก่าเขาใช้ในเมืองนั้น ที่เป็นเหตุให้ได้ความสำคัญสังเกตรู้ว่า พระเจดีย์นี้ได้ประดิษฐานตั้งอยู่ก่อนเจดีย์ทั้งปวง
บรรดามีในสยามราชอาณาเขต
อีกอย่างหนึ่งเขาขุดได้จักรศิลา ( ธรรมจักร ) ที่คนแต่ก่อนทำบูชาพระไว้ในวัดเก่า ๆ จมอยู่ใต้ดินมีอยู่หลายอัน ( ๒๑ อัน )
นี่ก็ได้รู้ว่าเมืองนี้แต่ก่อนนั้น เห็นจะเป็นเมืองโตใหญ่ไพบูลย์ด้วยโภไคยไอสวรรค์สมบัติ เป็นเมืองอันพระมหากษัตริย์ได้ครอบครอง จักรศิลานี้ ส่อให้รู้ว่า
เมืองนี้ได้ดำรงคง ตั้งมาช้านานแล้ว เป็นมหานครใหญ่ไพศาลไม่ขึ้นแก่ผู้ใด...
เหมือนกับ "เจติยบรรพต" ในลังกา
บัดนี้เราก็ได้หลักฐานชัดแจ้งขึ้นอีก แต่สำหรับอายุกาล เราก็ยังไม่ทราบชัดอยู่นั่นเอง ทีนี้เราลองมาเทียบกับของที่เรามีคือ
โบราณสถานของประเทศลังกา. ที่สำคัญที่สุดก็คือ เจติยบรรพต ซึ่ง พระมหินทเถระ
ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ตามที่ได้เสนอท่านผู้ อ่านไปแล้ว
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ได้ทำการก่อสร้างสถูปเช่นนี้ทุก ๆ แห่ง ตามที่ คณะสมณทูต เดินทางไป
จะต้องมีช่างและวัสดุก่อสร้างที่พระองค์ส่งไปด้วย จะสังเกตได้จากฝีมือการก่อสร้าง และวัตถุโบราณที่เหลืออยู่ เช่น จักรศิลา เป็นต้น
ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ จึงเป็นของที่ไม่มีในประเทศอื่น นอกจากจะสร้างในอินเดียครั้งนั้นแล้วส่งมา และเป็นของที่เหมือนกันทุกแห่ง
ที่มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น นอกจากว่าจะถูกทำลายจนหมดเกลี้ยงเท่านั้น
ในกาลครั้งนั้น มีประเทศอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า สุวรรณภูมิ ที่พระโสณะและพระอุตตระมา แต่เราไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหน
ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงและสันนิษฐานกันตลอดมา ฉะนั้นเมื่อมีอะไรเข้าเค้าเราก็ลองเปรียบเทียบดู ในจดหมายเหตุ ร.๔ มีกล่าวว่า
....พระเจดีย์บูราณเช่นพระปฐมเจดีย์นี้มีอยู่ในลังกาประเทศอีกองค์หนึ่ง พวกเองกฤศห์ ( อังกฤษ ) เห็นประหลาดจึงชักรูปตีพิมพ์ไว้ องค์นั้นยอดยังดีอยู่
เป็นแต่บิ่นแตกไปบ้าง มีองค์เดียวเท่านั้น แปลกกว่าพระเจดีย์ในลังกา.."
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
เมื่อทูตไทยออกไปได้เข้ามาถวายใน แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าสยาม ลวดลายเหมือนกัน เห็นเข้าก็รู้ทีจักเดียว พระเจดีย์เช่นนี้เป็นของหายาก
ที่ยังเหลือมาให้เรา ท่านได้ประสบนี้ จะหาเจดียสถานอื่นทั้งเก่าใหม่ใหญ่เล็ก แต่บรรดามีในราชอาณาเขตแว่นแคว้นสยาม รัฐมณฑลนี้
มาเปรียบเทียบกับพระปฐมเจดีย์ไม่มีเลย เป็นอัศจรรย์เงียบ ๆ ด้วยประการ ดังนี้...
เมื่อเราได้เห็นรูป เจติยบรรพต ก็ดี ถ้าเห็นรูป พระปฐมเจดีย์ ครั้งแรกที่ยังไม่บูรณะก็ดี
เราจะรู้ได้ทันทีเช่นเดียวกับที่เขียนไว้ใน จดหมายเหตุ ร.๔ ว่าเป็นของที่สร้างในสมัยเดียวกัน ลักษณะลวดลายจึงเหมือนกัน
และประวัติความเป็นมาก็ยืนยันถูกต้องว่า พระมหินทเถระถูกส่งไปลังกา พระโสณะกับพระอุตตระถูกส่งมาสุวรรณภูมิ แต่ท่านผู้อ่านโปรดทราบด้วยว่า
คณะสมณทูต สายที่ ๙ ที่มานั้น ท่านไม่ได้มาเพียง ๒ องค์ ลองติดตามบันทึกเหล่านี้ดู
ตามจดหมายเหตุ ร.๔ เลขที่ ๒๒๕ ขอนำมาโดยย่อดังนี้ ...เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๐๗ หมอเองกฤศห์ ( อังกฤษ ) ชื่อ
ยอนศะกว๊าด มาแต่เมืองบู๊ทธขยา ( พุทธคยา ) ที่มีไม้พระมหาโพธิได้ตรัสรู้ นำเอาสิ่งของที่เนื่องพุทธศาสนาเข้ามาถวายคือ
กิ่งใบมหาโพธินั้นอย่างหนึ่ง ศิลาให้จำ หลักเป็นรูปพระสมาธิ ๓ แถว ๆ ละ ๙ องค์ สูง ๒ นิ้ว เขาทำประดับไว้ที่แท่นพุทธอาสน์แผ่นหนึ่ง กับเจดีย์ดินเล็ก ๆ ๒
องค์ ว่าข้างในมีแผ่นอักษรบรรจุไว้ ก็แผ่นอักษรทำด้วยดินเช่นนั้น มีมาข้างนอก ๕ แผ่น
เขาเล่าว่า นี่ของสำหรับอยู่ในพระเจดีย์นั้น แล้วเขากราบทูลว่า ของเหล่านี้อยู่มาได้สองพันปีเศษแล้ว ถ้าจริงดังนั้นก็เห็นจะเป็นพระเจดีย์เก่า
ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้สร้างเป็นมั่นคง ครั้นคิดคำนวณขึ้นไปก็ได้ความว่า เมื่อ
พระเจ้าอโศก ดำรงราชสมบัติทรงเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาให้สร้างอารามวิหารเจดียสถาน ๘๔,๐๐๐ นั้น นับแต่ปีพุทธปรินิพพานมาได้ ๒๒๒ ปี
มาจนถึงกาลบัดนี้ก็ได้ ๒๑๘๕ ปี สมกับคำ "หมอยอนศะกว๊าด" ว่าเห็นไม่ผิด
อันนี้ควรที่บัณฑิตจะก่อให้เกิดความ เลื่อมใสว่า ของนี้ที่เขานำมาแต่ไกลได้มาเป็น พยานว่า ปฐมเจดีย์ ก็เป็นของนานเหมือนดังนั้น
เพราะของที่ทำไว้เป็นเครื่องสังเกตสำคัญ ก็คล้ายกับข้างโน้น ทำเป็นพระรูปเจดีย์ต่าง ๆ ข้างนี้ทำเป็นรูปพระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ
มีอักษรสำหรับก็เรื่องเดียวกัน แต่รูปหนังสือเหมือนกันบ้าง แปลกกันบ้าง ดังหนังสือลาวกับหนังสือมอญ แต่ว่าพอรู้ว่าของแบบเดียวกัน ดูเหมือนจะสั่งจะแนะ
นัดกันให้ทำเช่นนั้น ตัดใจความว่า พระปฐม เจดีย์" นี้เป็นของเก่าแท้...
เรื่องนี้ใน สาสน์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า ...ครั้นเมื่อหม่อมฉันอำนวยการสร้าง เมืองนครปฐม ได้เห็นของโบราณต่าง
ๆ ซึ่งขุดพบ ณ ที่นั้น จึงเริ่มเอาใจใส่สืบสวนเรื่องตำนานเมืองนครปฐม ครั้งหนึ่งได้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์ เงินเหรียญตราสังข์
ซึ่งมักขุดพบในแถวพระปฐมเจดีย์ ( กับที่เมืองอู่ทองอีกแห่งหนึ่ง )
เหรียญเงินตราสังข์
เมื่อได้ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์สถานอังกฤษ ถามผู้ชำนาญว่า เงินตราอย่างนั้น เขารู้หรือไม่ว่า เป็นเงินตราของประเทศไหน ได้รับตอบมาว่า เงินตราอย่างนั้น
ขุดพบแต่ เมืองพุกาม แห่งเดียว หามีที่อื่นไม่ ก็สะดุดใจหม่อมฉันขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่า
เมืองนครปฐมน่าจะเคยเกี่ยวข้องกับเมืองพุกามแต่ก่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมาได้เห็นพระพิมพ์เผาที่ทำพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทอย่างนั่งเก้าอี้
มีรูปปรางค์พุทธคยาอยู่เบื้องบนพบที่ พระปฐมเจดีย์ กับที่พงตึก (คือบริเวณสระโกสินรายณ์) เป็นแบบเดียวกันกับที่เมืองพุกามอีกอย่างหนึ่ง
และที่สุดได้อ่านหนังสือเมืองพม่า ซึ่ง เซอร์ เจมสก้อต แต่งออกความเห็นว่า พระเจ้าอนุรุทธเห็นจะรับพระพุทธศาสนาไปจาก
นครธม เมืองเขมร หม่อมฉันจึงกล้าอ้างว่าที่จริงได้ไปจาก เมืองนครปฐม นี่เอง
( เกี่ยวกับเมืองอู่ทองท่านทรงวินิจฉัยว่า ) เมืองอู่ทองเป็นเมืองโบราณ สร้างแต่สมัยเมื่อยังมีลำน้ำใหญ่เป็นทางคมนาคม ลงมาออกทะเลที่ จ.นครปฐม บัดนี้
บางทีจะเคยเป็นราชธานีเมื่อย้ายจากนครปฐม จึงเป็นเมืองใหญ่โตกว่าเมืองที่ใกล้เคียงกัน ว่าถึงโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองนคร ปฐมพึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า
ที่ไม่มีของแบบขอม เช่นที่เมืองลพบุรี ของที่พบ ณ เมืองนครปฐม เป็นแบบอย่างทางอินเดียทั้งนั้น...
ใน ตำนานพุทธเจดีย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์สรุปความเรื่องนี้ว่า ..ถ้าว่าตามหลักฐานอันมีโบราณวัตถุ
ปรากฏประกอบกับเรื่องพงศาวดาร รู้ได้แน่ชัดว่า พระพุทธศาสนามาประดิษฐานในยาม ประเทศ แต่สมัยเมื่อยังเป็นถิ่นฐานของชนชาติลาว ( ละว้า ) ราชธานีตั้งอยู่ ณ
เมืองนครปฐม
( ตามศิลาจารึกภาษามอญ ) ซึ่งเรียกนามในสมัยนั้นว่า เมืองทวารวดี ( นามนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุจีนแต่โบราณว่า จุยล่อพัดติ
) ด้วยมีพระพุทธเจดีย์ใหญ่น้อย เช่น พระปฐมเจดีย์เป็นต้น ปรากฏอยู่เป็นลำดับ แสดงว่าพระพุทธศาสนาซึ่งแรกมาประดิษฐานในประเทศสยาม
เป็นลัทธิเถรวาทอย่างเช่นที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เที่ยวสั่งสอนยังนานาประเทศ
อนึ่ง ในสมัยนั้นดูเหมือนจะเป็นเวลาที่กรุงทวารวดีกำลังเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยโบราณวัตถุเช่นที่มีอยู่ในแขวงจังหวัดนครปฐม
มีแพร่หลายตลอดไปจนแขวงราชบุรี และแขวง จ.สุพรรณบุรี จ.ลพบุรี และ จ.นครราชสีมา ชวนให้เห็นว่า อาณาขตทวารวดีแผ่ออกไปจนถึง จ.นครราชสีมาในสมัยนั้น
พระธรรมเจดีย์ในสมัยทวารวดีชอบ จารึกคาถาอริยสัจ เย ธัมมา เป็นภาษา มคธในเจดีย์วัตถุต่าง ๆ แม้จนจารึกแผ่นอิฐซึ่ง
ใช้ก่อสร้างพระสถูป ในสมัยก่อนมีพระพุทธรูป ชอบทำเป็นรูปกงจักร และมีรูปกวางหมอบ เหลียวหลังตั้งประกอบ ตามแบบที่ทำในอินเดีย
ครั้งแรกสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
( ศิลากงจักรนี้ไม่ปรากฏว่ามีในประเทศพม่า รามัญหรือเขมร แม้ในประเทศสยามก็พบแต่ที่ จ.นครปฐม กับได้ยินว่ามีทาง จ.นครราชสีมาบ้าง
แต่จังหวัดอื่นหาปรากฏว่ามีไม่ ) ส่วนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิประเทศ นั้น พวกพม่ามอญอ้างเอาว่าเป็นเมืองสะเทิม
อันเป็นเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งสำคัญอันใดสมกับคำอ้าง
ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าอ้างเอาเมืองที่ พระปฐมเจดีย์ ยิ่งกว่า เพราะมีโบราณวัตถุ เช่น ศิลาธรรมจักร เป็นต้น ทันชั้นสมัยพระเจ้าอโศก
และมีชื่อเมือง สุพรรณบุรี อยู่เป็น สำคัญ แต่คำที่เรียกว่า สุวรรณภูมิประเทศ ครั้งนั้น
จะหมายรวมดินแดนที่มาเป็นประเทศมอญ และไทยภายหลังทั้งหมด เหมือนอย่างเราเรียก อินเดีย ก็เป็นได้...
เรื่องนี้ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง พระพุทธรูปปางต่าง ๆ มีใจความว่า
...บางท่านเห็นว่า เมืองนครปฐมนี้เองน่าจะเป็นราชธานีของอาณาจักรสุวรรณภูมิในครั้งนั้น ที่สันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะว่า
มีจดหมายเหตุจีนกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าจะไปเมืองพม่าจากเมืองเขมร จะต้องแล่นเรือผ่าน เมืองทอง ( สุวรรณภูมิ ) ก่อน
พระปฐมเจดีย์จำลององค์เก่าเดิม
ในขณะนั้นเมืองนครปฐมตั้งอยู่ริมทะเล และยังมีหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้อีกเป็นต้นว่า พระปฐมเจดีย์องค์เดิม
ซึ่งยังมีรูปจำลองให้เห็นอยู่ทางด้านใต้ขององค์ปัจจุบัน ถ้าตัดเอาพระปรางค์ข้างบน ซึ่งเป็นของสร้างเพิ่มเติม ในสมัยหลังออกเสียแล้ว จะเห็นว่ารูปคล้าย สถูป
เมืองสาญจิ ซึ่งสร้างขึ้นในประเทศ อินเดียราวพุทธศตวรรษที่ ๕ มาก
พระสถูป เมืองสาญจิ อินเดีย
สถูปแบบนี้สร้างเป็นของใหญ่โต และมีอยู่หลายแห่งในบริเวณจังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังมีรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น รอยพระพุทธบาท แท่นหินอันเป็นอาสนะบูชา
เสมา ธรรมจักรกับกวาง อันหมายถึงปาง "พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา" ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี มีอยู่เป็นจำนวนมากมาย
การที่ชาวทวารวดียังคงนับถือพุทธ ศาสนาลัทธิหินยานอยู่ ก็เป็นพยานสนับสนุนอย่างหนึ่งว่า ดินแดนแถบนี้คงได้รับพุทธศาสนามาครั้งพระเจ้าอโศก...
จากหนังสือ พระพุทธศาสนาสำหรับประชาชน กรมการศาสนาจัดพิมพ์ แสดงความเห็นไว้ว่า ...การขุดค้นที่ตำบลพงตึก อำเภอบ้านโป่ง และที่
จ.นครปฐม นักโบราณคดีได้พบโคมของพวกโรมันที่ จ.นครปฐม และขุดได้ตะเกียงแบบโรมันด้วย
แสดงว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นเมืองท่าในยุคโบราณจดหมายเหตุของกรีกกล่าวถึงดินแดนทองว่า ไครเส ซึ่งคงหมายถึง สุวรรณภูมิ
ชาวชมพูทวีปส่วนใหญ่พากันอพยพมาสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิ กำหนดว่าเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนที่มหาราชพระองค์นั้น กรีฑาทัพเข้าตีแคว้นกาลิงคะ
ชาวแคว้นกาลิงคะหนีภัยสงคราม ลงเรือจำนวนหลายร้อยลำ แล่นใบมาสู่สุวรรณภูมิ ตำนานพื้นเมืองของชาติต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิมักจะเล่าถึงปฐมวงศ์ของตนว่า
เป็นขัตติยะมาจากชมพูทวีป คนเหล่านี้ได้มาสอนความเจริญให้แก่สุวรรณภูมิ
เมื่อ พระโสณะ และ พระอุตตระ ธรรมทูต ของพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งนำพระพุทธศาสนา มาเผยแผ่เป็นคณะแรก ก็สามารถพูดจา เทศนาธรรม
ให้แก่ชาวสุวรรณภูมิเหล่านั้นก่อน แล้วจึงเผยแพร่พุทธธรรมออกไปถึงชาวพื้นเมืองเดิม มีมอญโบราณ ละว้า เป็นพวกแรก ในสุวรรณภูมิที่นับถือพระพุทธศาสนา...
จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ดร.เดือน บุนนาค โดย หลานย่า (คุณเดือนฉาย คอมันตร์) ได้กล่าวไว้ว่า
...อย่างไรก็ดีจากการค้นพบ เหรียญเงิน ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๒ - ๑.๕ ซม. ที่ ต.พระประโทน จ.นครปฐม มีจารึกเป็นภาษาสันสฤตว่า
ศรีทวารวติศวรปุณยะ แปลเป็นไทยว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี ซึ่งเป็นการยืนยันว่า
อาณาจักรทวารวดี นั้นมีอยู่ และอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ราชธานีตั้งอยู่ ณ ที่ใด ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด
อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่นักโบราณคดีลงความเห็นว่า อาณาจักรทวารวดี ควรจะอยู่บริเวณ กาญจนบุรี ราชบุรี พรรณบุรี นครปฐม
ตลอดถึงลพบุรี จากบรรดาศิลาจารึก และโบราณวัตถุที่พบในบริเวณดังกล่าว ส่วนมากเป็นโบราณวัตถุเกี่ยวกับพระศาสนาทั้งสิ้น...
บทสรุปความ
...นี่คือที่มาของหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งดูก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อันส่อว่ามีปูมหลังน่าจะเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้น
สิ่งเหล่านี้จะมาหลงเหลืออยู่ในถิ่นนี้ได้อย่างไร ในที่สุดเราก็ได้ติดตามเรื่องราวของมนุษยชาติชาติหนึ่ง คือชาติไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นแหลมทอง
ที่เป็นราชอาณาจักรของไทยบ้าง ไม่ใช่ของไทยบ้าง ในเนื้อที่เกือบ ๓ แสนตารางไมล์ คิดเป็นระยะทางจากเหนือถึงใต้ จาก ตะวันตกถึงตะวันออกเป็นระยะยาวเกือบ ๓
พันไมล์
คิดระยะเวลาท่องเที่ยวทั้งเกิดและตายสืบต่อกันมาเป็นระยะขวบปี ก็น่าจะจารึกลงได้แล้วว่า แหลมทองก็คือแหลมไทย ไทยเกิดที่แหลมทองนี้ ตายที่แหลมทองนี้
ไทยเป็น เจ้าของแหลมทองนี้ เพียงพอแล้วสำหรับการอยู่ได้อย่างยืนยาว
ที่ยากนักจักมีมนุษย์เผ่าใดชนชาติใดยืนหยัดได้มั่นคงและยืนยงได้เท่านี้...
นี่เป็นข้อสรุปของ คุณกฤษณา เกษมศิลป์ นักค้นคว้าอีกท่านหนึ่ง เป็นอันว่าข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ทั้งหลาย
ตามที่ได้นำมาเสนอท่านผู้อ่านนี้ ขอท่านผู้อ่านได้โปรดสังเกตไว้ด้วย เมื่อถึง ตอนสำคัญในจารึก กระเบื้องจาร จะได้ทราบความจริงทั้งหมด
ตามที่ได้รับทราบจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง เพราะผู้ที่มีความสามารถนี้ได้ จะต้องมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ท่านยังบอกอีกว่า
ท่านผู้นี้มีปฏิปทาคล้าย พระโพธิสัตว์ ที่จะมาตรัสรู้เป็นองค์สุดท้ายในกัปนี้ด้วย พบกันฉบับหน้า.. สวัสดี...
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านต่อไป
*************************
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 26/5/08 at 07:38 |
|
Update 26 พฤษภาคม 2551
ชาติไทยกับพระพุทธศาสนา
คราวที่แล้วได้ค้นหาหลักฐานที่จะเป็นศูนย์กลางของ "สุวรรณภูมิ" โดยใช้วิธีพิสูจน์ในด้านโบราณวัตถุ ตามความเห็นของนักโบราณคดี
ต่างมีความเห็นว่า "พระปฐมเจดีย์" เป็นศิลปกรรมสมัยเดียวกับ "เจติยบรรพต" ที่ พระมหินทเถระ
สร้างไว้ในประเทศศรีลังกา
อีกทั้งโบราณวัตถุที่พบในประเทศอินเดีย ฝรั่งได้นํามาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระองค์ทรงวินิจฉัยว่า เป็นศิลปสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งมีลักษณะคล้าย กับที่พบในพระปฐมเจดีย์เช่นกัน
จึงเป็นอันทราบได้ว่า การค้นหาความเป็นมาของบรรพบุรุษของเรานั้น อาศัย "ปูชนียสถาน" เป็นหลักฐานได้ชัดเจนที่สุด
เพราะชาติและศาสนาเป็นสิ่งที่พัฒนามาด้วยกันดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ . . .
ในหนังสือ "๒๔๐๐ ปีในแหลมทอง" ได้ให้ทัศนะเรื่องนี้ว่า ". . .สิ่งหนึ่งที่เราจะละเว้นเสียมิได้ เมื่อกล่าวถึงชนชาติไทย
ก็ต้องกล่าวถึงพระพุทธศาสนาด้วย เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติไทยมา พร้อม ๆ กับที่ไทยตั้งอาณาจักรมาทีเดียว
เมื่อก่อนเรารู้แค่ว่าชาติไทยเริ่มตั้งอาณาจักรไทยครั้งแรก เมื่อประมาณ พ .ศ . ๑๘๐๐ ในสมัย พ่อขุนรามคําแหง แต่บัดนี้เราได้
ติดตามเรื่องราวของชนชาติไทย ลึกเข้าไปสู่ถิ่น ดั้งเดิมดึกดําบรรพ์
เราได้เค้าเงื่อนว่า ชนชาติไทยเราไม่ได้ อพยพมาจากไหน เราอยู่ในแหลมทองมานาน แล้ว ดั่งเรื่องราวหลักฐานที่อ้างมาในบทก่อน
และในสมัยเดียวกันพระพุทธศาสนาก็ได้มา สู่ชนชาติไทย จะว่าไปตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรง พระชนม์อยู่ด้วยซ้ำ
ฉะนั้น เมื่อผู้ใดยังเข้าใจว่า ในสมัยพุทธกาลเรายังอยู่ที่เสฉวนในเมืองจีนโน้นแล้ว ก็ย่อยงงงวยแน่ แต่ถ้าผู้ใดเข้าใจว่าแม้ครั้ง พุทธกาล
เราก็ได้อยู่ในสุวรรณภูมิแล้ว ดัง ปรากฏเรื่องราวในบทก่อนก็ย่อมจะเข้าใจ ความจริงว่า อาจเป็นได้เพราะดินแดนของสุวรรณภูมิ นี้ใกล้กับอินเดียตอนใต้
แม้ในครั้งโบราณก็มีคนแล่นเรือไปมาค้าขายกันแล้ว
ในครั้งแรกเรายังได้หลักฐานว่า "ลัทธิมหายาน" ได้แพร่หลายมาในสุวรรณภูมินี้ก่อน ต่อภายหลังเมื่อประมาณพันปีมานี้เอง
"ลัทธิหินยาน" จึงได้มาตั้งมั่นแพร่หลายในประเทศ ไทย ตั้งแต่ภาคใต้สุดไปจนเหนือสุด
ฉะนั้น บรรดาศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งส่วนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์ จึงมักมีแพร่หลายตามวัดต่าง ๆ หรือตามโบสถ์ ตามปราสาทเก่า ๆ
ซึ่งเราเข้า ใจผิดว่าเป็นเทวสถาน ซึ่งแท้จริงบางแห่งก็เป็นรูปพระโพธิสัตว์แท้ ๆ เป็นวัดทางพุทธศาสนาแท้ ๆ แต่เพราะเราสำคัญรูปเหล่านั้นผิดไป
จึงไปเข้าใจว่าเป็น ปราสาทเขมรบ้าง เป็นเทวสถานของพราหมณ์ บ้าง ถึงกับตีความยกบ้านยกเมืองให้เขาว่า เราเคยเป็นเมืองขึ้นเขาในยุคโน้นบ้าง ยุคนี้บ้าง
เพราะไปเข้าใจผิดเห็นรูปพระโพธิสัตว์เป็นรูปเทวดาไป
ฉะนั้น เพื่อยืนยันเรื่องนี้ จึงขอคัดคำ กราบบังคมทูลของ กรมพระยานริศรานุวัติ วงศ์ ต่อ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสอินเดีย ทูลถามและทรงตอบกันเรื่องความเป็นมาของศาสนาพุทธว่า
"ลัทธิหินยานมาเมืองไทยก่อน หรือลัทธิมหายานมาก่อน" ( จึงขอนำมาโดยย่อดังนี้ )
. . .ครั้งเมื่อไปตรวจราชการโทรเลข ได้ พบในเมืองตรังและพัทลุง มีพิมพ์เทวรูปบ้าง พิมพ์โพธิสัตว์บ้าง ให้ออกสงสัยว่า ลัทธิมหา
ยานจะมีลามเข้ามาถึงเมืองไทยทีเดียวฤา
มาเมื่อเดือนก่อนนี้ กรมหลวงนเรศร์ รับสั่งถึงปราสาทศิลาที่พิมายว่า ลายเป็นรูปพระกับเทวรูปปนกันยุ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็ตกใจทีเดียว
ด้วยมาสำคัญอยู่แต่ก่อนว่า ปราสาท เขมรเหล่านั้นเป็นเทวสถาน เขาว่ากันว่าเป็นวัด ไม่ลงเชื่อใจ
เห็นเป็นอันแน่แล้วที่ใกล้ฝั่งทะเลทั้งสองฟากของประเทศนี้ เคยเป็นมหายานมาแต่ก่อน จึงทําให้ระลึกได้แต่เพียงว่า ลพบุรีมีปราสาท อย่างเขมร
เมืองแถบเหนือนั้นถึงว่าจะไม่ได้ หลักฐาน จะยืนยันว่าเป็นมหายานได้แน่ก็ดี
แต่เมื่อมีสิ่งก่อสร้างเอาอย่างเขมร ฤา เขมรได้เคยปกครองอยู่แลทําขึ้น ก็ต้องถือว่า ทางศาสนาก็คงเอาอย่าง ฤาบังคับให้ทําให้ถือ อย่างเดียวกัน . . .
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงตอบและเล่าสิ่งที่พระองค์ได้พบเห็นได้ฟังมาในอินเดียครั้งนั้นว่า
. . .เวลาที่หีนยานเข้ามาในประเทศแถบ เรานี้ ไม่ช้านานอันใดเลย คือคราว ท่านมหาสามีสังฆราช ก่อนอายุหนังสือ
"ชินกาลมาลินี" ( แต่งพ .ศ .๒๐๖๐ ) สัก ๑๐๐ ปี ชั่วพอศาสนาตั้งมั่น
ท่านผู้นี้มาจากลังกา มานครศรีธรรมราช แล้วมาอยุธยาไปสุโขทัย แล้วขึ้นไปนครลําพูน เชียงใหม่ แล้วกลับออกไปเมืองลังกา ดูเหมือน จะทางเมืองมอญ
แล้วท่านองค์นั้นกลับมาเอง ฤาผู้อื่นที่เป็นศิษย์เข้ามาอีก หนุนเนื่องกันมา แยกไปเมืองเขมรบ้าง
ถ้าจะใคร่รู้เรื่องท่านสามีสังฆราชให้ดู "คัมภีร์ชินกาลมาลินี พงศาวดารเชียงแสน เชียงใหม่ พงศาวดารหริภุญไชย
หนังสือทั้งหลายเหล่านี้ แต่งเป็นภาษามคธทั้งหมด ศิษย์ท่านสามีสังฆราชเป็นผู้แต่ง
ยังมีที่จะตรวจได้อีก คําจารึกเสาศิลา สุโขทัยที่อยู่ในวัดพระแก้วต้นหนึ่ง เป็นเรื่อง ท่านสามีสังฆราชเข้าไปตั้งอยู่ในสุโขทัย
พระบาทกมรเดงอัญศรีสุริยะพงศามหาธรรม ราชาธิราช ( พระเจ้าลิไทย ) ทรงผนวชใน
สํานักสามีสังฆราช
แต่ข้างพงศาวดารเชียงใหม่เขาเยาะว่า เมืองสุโขทัยนับถือไม่พอ ท่านสามีสังฆราชจึง ได้ขึ้นไปเชียงใหม่ ท่านองค์นี้เอาพระธาตุมา เป็นถุง ๆ
เที่ยวได้บรรจุไว้เป็นหลายแห่ง ประมาณเวลาที่ท่านสามีสังฆราชเข้ามาไม่มาก กว่า ๘๐๐ ปีนัก อย่างยิ่งก็ ๑,๐๐๐ ปี
ในหนังสือกล่าวต่าง ๆ กัน แปลว่าเรา เข้ารีตเป็นหีนยานมาได้เท่านั้น เวลานั้นนคร ไชยศรีหมดแล้ว แต่เพชรบุรี นครศรีธรรมราช
ได้อยู่จนถึงตกอยู่ในอํานาจพระราชาธิบดี ( พระเจ้าอู่ทอง ) กรุงอยุธยากล่าวไว้ในคําจารึก วัดเชียงมั่น
ข้อซึ่งเธอคิดเห็นว่า หีนยานจะคิดขึ้น ใหม่อย่างธรรมยุตินั้นเดาผิด เรื่องของญี่ปุ่นเอง ตั้งแต่ปฐมสังคยนาเป็นสังคยนาของพวกหีนยาน
แล้วจึงตั้งโรงเรียนเป็น ๘ ฤา ๑๖ ตําบลจํา ไม่ถนัด มาจนถึงตติยสังคยนา พวกโรงเรียนเหล่านั้น ต่างคนต่างถือลัทธิแยกกันไปจึงได้เกิดสังคยนาครั้งที่ ๒ ขึ้น
ในครั้งนั้นฤาใกล้กันราวนั้น พวกที่แพ้ จึงไปพบพระไตรปิฎกจารึกไว้ในถ้ำ เกิดสอน ลัทธิใหม่ขึ้นเป็นมหายาน พวกเก่าเป็นหีนยาน
เพราะเหตุว่าพวกมหายานได้ปรู๊ปคัมภีร์ที่เขียน ไว้ในถ้ำ แต่เมื่อพุทธปรินิพพานใหม่ ๆ มีตัวหนังสือเป็นหลัก
ถ้าจะคิดเทียบดูเวลา ก็จะถึง พระเจ้าศรีธรรมาโศก พอดีกัน จึงสอบกับหนังสือเรื่อง "ปาฏลีบุตร" เขากล่าวว่า
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกเป็นเจ้าแผ่นดินนั้น พุทธศาสนาไม่เป็น ศาสนาที่สอนคนทีเดียว เพราะไม่มีผู้ใดถือ นอกจากภิกษุประมาณสัก ๕ - ๖๐๐
ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ มีอุปคุปตะเป็นหัวหน้า ฤาเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อน
ครั้นได้อ่านหนังสือทั้งปวงเข้า ปรากฏว่าศาสนานี้ มันมีมาเสียแต่ก่อนพระเจ้าอโศก ยกย่องพุทธศาสนาแล้ว ในเวลาปัจจุบันนี้ที่ฝรั่งไปพบเมืองปาฏลีบุตรนั้น
ได้พบ วัดเชน สร้างอยู่บนโคกที่เป็นพระเจดีย์มีคําจารึก แต่ เทียบดูกับคริสตศักราชเป็น ๑๗๙๑ เท่านั้น คนทั้งเมืองเดี๋ยวนี้ถือศาสนาเชน
จึงคะเนเอาว่า พระสงฆ์ที่เป็น ๒ นิกาย นั้น น่าจะเป็นมาเสียช้านานนักหนาแล้ว มหายานคงจะหันเหียนเข้าหาเชน พวก หีนยานคงจะเสื่อมสูญหมดในอินเดียไม่ช้าเลย
ได้ค้นเรื่องตัวอย่างที่มีมาในบาลีประกอบ จึงลงสันนิษฐานกันว่า ข้อที่แบ่งเป็นพวกเป็นหมู่นี้ ได้มีมาเสียแต่พระพุทธเจ้ายังเสด็จอยู่แล้ว . . .
ในตอนสุดท้ายทรงกล่าวว่า . . .เมืองปาฏลีบุตรของพระเจ้าอโศก ก่อนคริสตศักราชเล็กน้อย ก็มีอันต้องลงทะเลไป เพราะตั้งอยู่ในที่น้ำเซาะ
ครั้นภายหลังพวกแขกมะหะหมัดเข้ามาตี เมื่อคริสตศักราช ๑๒๐๐ ได้ตัดทอนเลิกพระพุทธศาสนาขาดไม่มีเหลือในประเทศอินเดีย แม้แต่ชื่อแลที่ตั้ง
เมืองปาฏลีบุตรอยู่แห่งใดก็ไม่มีใครรู้ พึ่งมารู้เมื่อฝรั่งมาสืบเมื่อคริสตศักราช ๑๘๐๐ . . .
เท่าที่ยกพระราชาธิบายมายืดยาวนี้ ก็ เพราะไม่เห็นที่เล่าเรื่องความเป็นมาของพระพุทธศาสนา นับแต่เริ่มต้นและเสื่อมลงในประเทศ
อินเดียได้ถูกต้องชัดเจนเท่านี้ฉะนั้น เมื่อพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นใน ประเทศไทยได้ยืนยาวถึง ๒๔๐๐ ปี คือนับ แต่สมัยสร้างพระปฐมเจดีย์มาดังกล่าวแล้ว
ก็เป็นเครื่องแสดงว่าชาติไทยและพระมหา กษัตริย์ของไทย ล้วนเป็นบุคคลที่ประเสริฐ และปรีชาสามารถยิ่งนัก
ที่ทํานุบํารุงรักษาพระพุทธศาสนามาได้ตราบเท่าทุกวันนี้
รวมความว่า ชนชาติไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามาแต่พุทธกาล แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
หลังจากพระองค์ได้เสด็จประพาสอินเดีย ทรงศึกษาดูข้อเท็จจริงทุกแง่ทุกมุมแล้ว ยังทรงยืนยันว่า พระพุทธศาสนาเห็นจะมาถึงเมืองไทยเรา
ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
ชนชาติไทยกับภาษาไทย
จากคําพูดที่ว่า... ชนชาติใดภาษาใด นี้ เป็นคําที่กล่าวถึงคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมใช้ สื่อความหมายกันด้วย " ภาษา " คือคําพูด
ถ้าพูดเหมือนกัน ถือว่าเป็นเผ่าเดียวกันหรือชาติ เดียวกัน และชาติเดียวกันอาจมีภาษาพูดมากมายก็ได้ เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งมีชนเผ่าต่าง ๆ
รวมอยู่ในประเทศเดียวกัน
ส่วนภาษาของชาติไทยมีภาษาแน่นอน ไม่ว่าไทยน้อย ไทยเหนือ ไทยลื้อ ไทยฉาน ไทยลาว เป็นต้น ล้วนแต่พูดภาษาไทยอย่าง เดียวกัน
แต่ก็มีเพี้ยนไปบ้างตามท้องถิ่นนับแต่ภาคใต้ของยูนนานในจีนลงมาจน สุดแดนมลายู และตั้งแต่ภาคเหนือของพม่ามา ทางตะวันออกจนจรดแดนตังเกี๋ยของญวน
ล้วนเป็นถิ่นที่อยู่ของคนไทย และก็พูดภาษาไทยทั้งสิ้น
ฉะนั้น ไทยจึงนับว่าเป็นชนชาติใหญ่ที่สุด ในแหลมทองนี้ เรามีภาษาของตนเองอยู่ดั้งเดิม จึงควรจะต้องรักษาภาษาไทยของเราไว้ แต่ใน
ปัจจุบันนี้ปรากฏว่าภาษาไทยของเรา นิยมเอา ภาษาสันสกฤตบ้าง มอญบ้าง เขมรบ้าง อังกฤษ บ้าง มาปะปนใช้ในภาษาของเรา เรื่องนี้ได้เป็น มานานแล้วยากที่จะแก้ไข
( ในที่นี้ขอนําคําบรรยายเรื่อง ภาษาไทย ของ "ขุนวิจิตรมาตรา" มาให้ทราบโดยย่อดังนี้ )
ไทยที่อยู่ในแหลมอินโดจีนจะเป็นไทยดึกดําบรรพ์ หรือที่อพยพลงมาก็ตาม มีภาษา ใช้พูดแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น ๒ ภาษา คือ ภาษาไทยของตนเองพวกหนึ่ง
กับภาษาต่างชาติ เข้ามาปนอีกพวกหนึ่ง ในปัจจุบันเราแยกเป็นภาษาของเราเป็น ๒ พวก คือ ภาษาไทยกลาง ที่พูดกันเป็นส่วนมากพวกหนึ่งกับ
ภาษาท้องถิ่น ที่พูดกันในถิ่นต่าง ๆ อีกพวกหนึ่ง
ภาษาท้องถิ่นนั้นความจริงก็คือ ภาษาเดิม หรือภาษาเก่าของเรานั่นเอง แต่เราไทยกลาง มาได้ภาษาใหม่ ก็เลยลืมภาษาเก่าก็ทําให้งงไม่ เข้าใจ...
( ในโอกาสนี้ขอนําพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราช ( จวน อุฎฐายี ) มาไว้เป็นข้อคิดอีกว่า )
. . .ภาษาของชาติ การละทิ้งภาษาของตน เสีย หันไปนิยมพูดและใช้ภาษาของชนชาติอื่น เป็นเหตุให้ภาษาประจําชาติของตนตายด้าน คือที่มีอยู่แล้วก็ลบเลือนไป
เพราะไม่ค่อยได้ใช้ คําใหม่ก็ไม่บังเกิดขึ้น เพราะไม่บัญญัติ เพิ่มเติมขึ้นสําหรับใช้กัน เมื่อของที่มีแล้วก็ เลิกไป ของใหม่ก็ไม่หามาเพิ่มเติม
ก็มีแต่จะหมดไปสูญสิ้นไปเท่านั้นเอง...
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
************************
Update 10 มิ.ย. 51
ชาติไทยกับหนังสือไทย
เมื่อว่ากันถึงเรื่อง ภาษา คือการแสดง ให้รู้ด้วยการพูด ก็ต้องมีภาษา คือแสดงให้รู้ ด้วยการเขียนและการอ่าน ที่เรียกว่า
ตัว อักษร หรือ ตัวหนังสือ
ในหนังสือ "ตํานานอักษรไทย" โดย ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ได้อ้างคําบรรยาย ของ
"สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ" ที่ทรงแสดงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ว่า
. . .อันตัวอักษรไทยมักเข้าใจกันว่า พระเจ้ารามคําแหงมหาราช หรือที่เรียกในศิลา จารึกว่า พ่อขุนรามคําแหง
ซึ่งครองกรุงสุโขทัยทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ .ศ .๑๘๒๘ ด้วย ในศิลาจารึกของพระองค์ กล่าวความไว้แห่ง หนึ่งว่า
เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ( มหา ) ศักราช ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคําแหงหาใคร่ ใจในใจ และใส่ลายสือไทย ลายสือไทยนี้ จึง มีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้
ถ้าสังเกตคําที่ใช้ในจารึกจะเห็นได้ว่า มี คํา นี้ อยู่ต่อคํา ลายสือ ทุกแห่ง หมายความว่า
หนังสือไทยอย่างนี้ มิได้ประสงค์จะแสดงว่า หนังสือของชนชาติไทยเพึ่งมีขึ้นต่อเมื่อ พ .ศ .๑๘๒๘ . . .
( ในตอนท้ายทรงสรุปความเห็นว่า )
. . .นอกจากสยามประเทศ ยังมีไทยอยู่ ในจีน แดนตังเกี๋ย แดนพม่า ตลอดจน มณฑลอัสสัมแดนอินเดีย ยังพูดภาษาไทยด้วย กันทั้งสิ้น
เป็นแต่สําเนียงเพี้ยนกัน
ส่วนอักษรซึ่งพวกไทยใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็มี หลายอย่างมีเค้ามูลต่าง ๆ กัน แบบอักษรไทย ซึ่งพระเจ้ารามคําแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ ขึ้นนั้น
เป็นอักษรของพวกไทยกลาง ยังมี อักษรพวกไทยใหญ่ และของพวกไทยเหนือ อีกต่างหาก . . .
เป็นอันทราบได้ว่า ลายสือไทย หรือ หนังสือไทย ได้มีมาช้านานแล้ว แต่จะนานแค่ ไหน ตามข้อสันนิษฐานของนักค้นคว้าสมัย ก่อน มีความเห็นว่าเราอาศัย
อักษรพราหมี ครั้งพระเจ้าอโศกมาเป็นต้นแบบ
โดยอาศัย โบราณวัตถุ ที่ปฐมเจดีย์ และในประเทศพม่า ประเทศเขมร ซึ่งตัวอักษร จารึกทั้ง ๓ แห่งนี้ เป็นอักษรชนิดเดียวกัน
และเหมือนกับอักษรสมัย ราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งมีอํานาจในอินเดียราว พ .ศ .๖๐๐ ๘๐๐
ผู้เขียนจึงขอนำตัวอักษร มาเปรียบเทียบระหว่าง อักษรพราหมี กับ อักษรปัลลวะ
(ภาพตัวอักษรจะขอนำมาลงภายหลัง)
เมื่อเทียบแล้ว ก็คือลูกศิษย์กับอาจารย์ เป็นเพียงการปรับปรุงให้เขียนสะดวกขึ้น แล้วนำ อักษรขอม หรือที่เรียกว่า
อักษรธรรม ไทยใต้ ถ้าเทียบดูตัวต่อตัวอีกก็พบความจริงว่า เป็นการลอกแบบประกบตัวกันทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทําให้นักวิเคราะห์สับสน ไม่รู้ว่าเราลอกมาจากเขา หรือว่าเขาลอกไปจากเรากันแน่ ทําให้สงสัยว่า
ราชวงศ์ปัลลวะ นั้นเป็น ใครมาจากไหน ขอท่านผู้อ่านโปรดสังเกตคํา ลงท้ายว่า ลวะ
ซึ่งเป็นคําที่คุ้นอยู่ในประวัติ ศาสตร์ของชาติไทย เช่น ลวะรัฐ ละโว้ ละว้า ล๊วะ เป็นต้น
แต่ทว่าเมื่อได้อ่านพบในจารึก กระเบื้อง จาร จึงหมดสงสัยทันที ปรากฏว่าเป็นคนไทย ชื่อ ปั่น
ที่ไปจากสุวรรณภูมิเมื่อ พ .ศ .๒๗๐ ในสมัยพระเจ้าอโศกนี่เอง เรื่องอย่างนี้คงคาด ไม่ถึงกันมาก่อน
เพราะฉะนั้น อักษรปัลลวะ ก็คือ อักษรขอม ที่คนไทยใช้อยู่เดิมนั่นเอง คนอินเดีย จึงเรียก "ปัลลวะ"
คงหมายถึง คนไทยที่ชื่อ ปั่น นี่เอง ทั้งนี้ก็เหมือนกับเราเรียกชาวอินเดีย ว่า แขก
คนอินเดียสมัยนั้นคงจะเรียก คนไทยว่า
ลวะ สังเกตุดูคนไทยเวลาพูดกันชอบลงท้าย คําว่า ละวะ . .! เช่น กูไปละวะ . .! ดังนี้เสมอ
คนชาติอื่นได้ยินแต่เขาฟังไม่รู้เรื่อง จึงเรียก พวกเราว่า พวกลวะ ไป
โดยเฉพาะก่อนหน้านั้น พวกพราหมณ์หวงตัว อักษรเทวนาครี พระเจ้าอโศกจึงให้ วิษณุคุปตะ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธคิด
อักษรพราหมี
ต่อมา ครูปั่น ได้รับหน้าที่สอน หนังสือขอมให้แก่ชาวเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย ซึ่งต่อมาลูกหลาน คงจะมีโอกาสขึ้นเป็นใหญ่ ในอินเดีย
เรียกว่า ราชวงศ์ปัลลวะ หลังจาก นั้นได้ถูกโค่นล้มไปในที่สุด
แต่เรื่องนี้ได้ความตรงกันกับ พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ที่พระแม่เจ้าได้จารึกประวัติเมืองละโว้ไว้ว่า
พระเจ้ากอมมันตราช ได้เป็นผู้สร้างเมืองราว พ .ศ .๒๐๐ เศษ ได้ใช้ อักษรขอม มาตั้งแต่ครั้งนั้น แล้ว
อาจจะใช้มาก่อนหน้านั้นก็ได้ ทําให้เรารู้ว่า เรามีภาษาพูดภาษาเขียนของตนเองมานานแล้ว
เรื่องนี้ถ้านักค้นคว้าได้พบหลักฐานเช่นนี้ ก็คงจะภูมิใจในความสามารถของคนไทย เพราะตามที่ได้ทราบกันแล้วว่า ชาติไทยเป็น
ชนชาติที่เก่าแก่มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของ ตนเอง ทั้งได้อาศัยอยู่ในแหลมทองมานานแล้ว
ฉะนั้น ชนชาติที่เจริญด้วยอารยธรรมมี ความสามารถทุกด้าน ทั้งในด้านการปกครอง การทหาร การทํามาหากินต่าง ๆ และมีความ รอบรู้ในศิลปะทุกแขนง
จึงเป็นชาติที่มีอํานาจ และศักดิ์ศรี สามารถทรงความเป็นเอกราชมา ตราบเท่าทุกวันนี้ จะเป็นไปได้หรือที่ไม่สามารถ บัญญัติตัวอักษรขึ้นเป็นของตนเองบ้าง . . .
รวมความว่า หนังสือขอมมีมานานแล้ว แต่จะนานแค่ไหน ก็ยังเป็นปัญหาสําหรับนักค้นคว้าต่อไป เรื่องการสืบหาต้นกําเนิดจริง ๆ ทางด้าน ตํานาน
คงจะหายาก เราลองมา ศึกษาทางด้าน ศิลาจารึก กันบ้าง ในเรื่องนี้ คุณกฤษณา เกษมศิลป์ มีความเห็นพอจะ
สรุปความได้ดังนี้
ศิลาจารึกของชนชาติไทย
. . .ศิลาจารึกโบราณของชนชาติไทย ซึ่ง ส่วนมากจารึกเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งนิยม จารึกเป็นหนังสือขอม อันหนังสือขอม ( ไม่ใช่ เขมร )
เป็นหนังสือที่พระสงฆ์ไทยฝ่ายใต้ ก็คือ ภาคกลางของเรานี่เอง นิยมใช้กันมาแต่โบราณ ไม่ใช่พบจารึกเป็นภาษาขอมแล้ว หมายความว่า เป็นดินแดนของขอม ที่ขุดได้ใน
ดินแดนประเทศไทยฝ่ายใต้และแถว ๆ ภาค กลาง ขณะนี้ ( พ .ศ .๒๕๑๖ ) ขุดได้แล้วประมาณ ๓๐ หลัก แต่ที่จารึกเป็นอักษรไทยก็มี เป็นอักษร สันสกฤต ก็มี
ส่วนที่จารึกเป็นอักษรมอญ โบราณที่พบได้มี ๒ แห่ง คือที่ ลพบุรี และ วัดโพร้าง จ .นครปฐม . . .
เรื่องนี้คุณกฤษณากล่าวว่า เกือบทําให้ไขว้เขวไปเหมือนกัน เดิมเชื่อว่า อาณาจักร ทวารวดี เป็นคนไทย แต่เมื่อขุนพบอักษร
รุ่นเก่านี้เข้า จึงได้มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็น อาณาจักรมอญ ก็ได้
แต่บังเอิญขณะนี้ มีผู้ยืนยันว่า อักษรมอญนั้น เหมือนกับอักษรของคนไทยภาคเหนือ เพราะในครั้งนั้น คนมอญก็ยังมิได้มีอักษรของตนใช้
แต่มีผู้เชี่ยวชาญภาษามอญอีกท่านหนึ่ง ยืนยันว่า จารึกที่วัดโพร้างนี้ หาใช่ของมอญไม่ ท่านเข้าใจว่ายืมมาจากอินเดียฝ่ายใต้ คือ อักษรคฤนห์
หรือ ครนถ์ มาใช้
จึงได้ถามว่า เมื่ออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ยืมภาษาเขามาจารึกไว้ ให้ใครอ่านเล่า ?
ตอนนี้คงไม่มีใครตอบได้ ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง เราก็จะพบว่าอาณาจักรทวารวดี ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย บัดนี้
มอญหรือชาติมอญไม่ได้มีส่วนเกี่ยวเลย . . .
จึขอเปรียบเทียบระหว่าง อักษรมอญ หรือรามัญ กับอักษรไทยเหนือ ว่าจะมีลักษณะพอสมเหตุสมผลกันหรือไม่
ในตอนนี้ผู้เขียนขอแทรกความเห็นบ้าง ทั้งที่ไม่ค่อยจะถนัด และท่านผู้อ่านก็คงจะสงสัยเช่นเดียวกันว่า อักษรมอญโบราณ มาปรากฏอยู่ทางเขตนี้ได้อย่างไร
ทีนี้ก็ต้องย้อน กลับไปที่ บันทึกสมุดข่อย ของพระแม่เจ้าจามะเทวี ตามที่ได้เสนอผ่านไปแล้วนั้น ก็จะพบ คําตอบได้ดีที่สุด
เนื่องจากศิลาจารึกที่พบใน จ .ลพบุรี นั้น นักค้นคว้าคงจะลืมไปว่า เป็นสมัยใกล้เคียงกับที่พระแม่เจ้า ซึ่งเป็นคนไทยเหนืออาศัยมาก่อน
หลังจากที่ได้ขึ้นไปครองนครหริภุญชัยแล้ว ภายหลังได้ทรงตรา อักษรรามัญ ( ลานนา ) ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก และคงจะแพร่
หลายลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย
รวมความว่า ท่านผู้อ่านได้ทราบกําเนิด อักษรรามัญ หรือว่าลานนาแล้ว ส่วนกําเนิดอักษรขอม และอักษรไทยมีประวัติอย่างไร
ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เป็นคนแรก ขอทิ้งปัญหาไว้เพียงแค่นี้ก่อน
ต่อไปจะนํามาให้อ่านกัน แต่อาจจะไม่ ตรงกับ ตํานานอักษรไทย ที่ฝรั่งพิมพ์ไว้ ตั้งแต่ พ .ศ .๒๔๗๒ ก็ได้ แต่ท่านผู้นั้นก็ให้
ข้อคิดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า
. . .ชาวอินเดียเห็นจะเริ่มมีมาตั้งภูมิลําเนา อยู่ในประเทศนี้ และได้เป็นครูของชาวเมือง ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอโศก
แต่นักปราชญ์ผู้ศึกษาโบราณคดียังไม่ได้พบหลักฐาน จะเป็น จารึก หรือ หนังสือ อย่างใด ๆ ซึ่ง ชาว
อินเดีย หรือ คนพื้นเมือง เขียนไว้แต่ครั้ง โน้นเลย . . .
ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าหากจะนับเวลา ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงที่ขุดพบกระเบื้องจารได้ เมื่อ ปี ๒๕๐๖ ประมาณเกือบ ๔๐ ปีล่วงมาแล้ว
ถ้าท่านผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะดีใจ ที่ได้ทราบ เรื่องราวโดยความเป็นจริงทุกอย่างว่า
กําเนิดอักษรไทยก็มาจากคนไทย อักษรขอมก็มาจากคนไทย ที่ได้คิดประดิษฐ์ด้วย ความสามารถของตนเอง ในผืนแผ่นดินไทย นี้มาช้านานแล้ว มิได้ถือต้นกําเนิดจาก
อักษร เฟนิเซียน แต่ประการใด
โดยเฉพาะ "แหลมทอง" หรือ สุวรรณภูมิ นี้ มิเคยเป็นของชนชาติใดมาก่อน เราได้รักษา เอกราช
และ
เอกลักษณ์ ตั้งแต่โบราณกาล มาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้ เราคนไทยจึงได้ ภูมิใจว่า มิได้ลอกแบบใคร มิได้อพยพมาจากไหน เราเป็น..
พวกกันละวะ กันมาช้านานแล้ว
จึงขอนำตัวอย่างที่คนสมัยนั้นจารึกไว้ใน กระเบื้องจาร มายืนยันให้ทราบสักแผ่นหนึ่ง ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราว
ที่จะต้องถอยหลังไปนาน นับพันปี เกินกว่าที่ฝรั่ง คาดคิดเอาไว้เสียอีก โดยผู้ขุดพบได้อธิบายไว้ดังนี้
. . .ลายสือไทย และตน ( ตัว ) เลขไทย แผ่นที่ ๒๔๔ หน้า ๒ ขุนเลกไทย เขียนไว้ เมื่อปีอิน ๑๒๗๗ คือเมื่อ ๖,๘๘๔ ปีมาแล้ว (
แผ่นจารึกอยู่หน้าถัดไป )
.........( บรรทัด ๑ )
ก ขซ คค ฆ ง ฉ
..........( บรรทัด ๒ ) ช ซ ญ ฎ ฏ ฐ ฑฒ
..........( บรรทัด ๓ ) ณ ดต ถน ทธ บป ผฝ
..........( บรรทัด ๔ ) พ ฟ ภ ม อ ย
..........( บรรทัด ๕ ) รล ส ห ร ๑ ๒ ๓
..........( บรรทัด ๖ ) ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๑๐
ลายนี้มีเพียงเค้า ๆ เท่านั้น ตัวเลขก็เขียนซ้อนกัน ๔ ๕ ดูเหมือนกัน สิ่งที่ต้นไทยกระทำไว้ ลูกหลานต่อ ๆ มาจึงอ่านออกและรู้ความได้ บัดนี้
ได้ปรากฏแล้ว . . .
ll กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 20/6/08 at 19:13 |
|
Update 20 มิ.ย. 51
สุวัณณภูมิฟื้นชื่อ
กาลภายหลังพุทธปรินิพพาน ได้ดําเนิน เรื่องราวการทํา สังคายนา ที่ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ครั้งที่ ๑
ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ส่วน ครั้งที่ ๔ พระมหินทเถระ คณะสมณทูตสาย ที่ ๘ จัดทําที่ประเทศลังกา ต่อมาได้เริ่มเรื่อง พระโสณะ
พระอุตตระ คณะสมณทูตสายที่ ๙ เดินทางมาประกาศ พระศาสนาที่ สุวัณณภูมิ แต่ตามหลักฐานใน
อรรถกถา มิได้ระบุชัดว่าอยู่ที่ไหน และมากันจํานวนเท่าใด
ผู้เขียนจึงได้ลําดับความเรื่อง พลิกประวัติ ศาสตร์และโบราณคดี โดยค้นคว้าหาหลักฐานอ้างอิงจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ
ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งที่เป็นพระเถระและเป็นคฤหัสถ์ จนได้ข้อสรุปอย่างแน่ชัดว่า สุวัณณภูมิ
นั้นมีอาณาเขตอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทยนี่เอง
สําหรับปัจจุบันนี้ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดใด ผู้เขียนใคร่ขอนําหลักฐานชิ้นสําคัญทางประวัติศาสตร์ อันจารึกไว้ในกระเบื้องจาร ของคนโบราณ
ซึ่งรวบรวมโดย พระราชกวี (อ่ำ) ธมฺมทตฺโต ปธ.๖ วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ หนังสือเล่มนี้มีชื่อเต็มว่า
พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ ราชบุรีวัตถุกถา ตํานานเมืองขุนไทย
(ในภาพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ( ปุ่น ปุณณสิริ ) วัดพระ เชตุพน ฯ
เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด วชิระปราสาท พิพิธภัณฑ์วัดเพชรพลี
ในขณะนี้ พระธรรมวงศ์เวที ( อ่ำ ) กำลังอ่านตัวลายสือไทยในกระเบื้องจาร ในหนังสือที่ระลึกเสด็จเปิด ฯ ล ฯ ได้ชี้ เดือน
และ สุวัณณภูมิ หลังจากพระองค์เสด็จดำเนินทรง ชมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุแล้ว พระองค์ตรัสพระดำรัสไว้ตอนหนึ่งว่า
ลายสือไทยมีอยู่แล้ว แต่โบราณกาลนับพันปี ผู้อ่านไม่ออกไม่ใช่ความผิดของหนังสือ เมื่อมีผู้อ่านออก พวกเราควรรับฟัง ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย
และสำนึกรู้ในเหตุผล วัตถุสถานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรา และของพระพุทธศาสนาในแดน สุวัณณภูมิ เด่นชัดขึ้น อีกเราเห็นที่นี่แล้วรู้สึกว่า อู่ทอง
สุพรรณ กาญจนบุรี ด้อยลงไปมาก. )
คลิปวีดีโอ "ตามรอยสุวัณณภูมิ"
สำหรับเนื้อความในหนังสือเล่มนี้มีมากมาย ก่อนที่จะติดตามรายละเอียดของเนื้อเรื่อง ขอสรุปความโดยย่อให้ทราบไว้ก่อน เพื่อการจดจําได้ง่ายขึ้น
ราชบุรีในชื่อต่าง ๆ
ตามความในหนังสือเล่มนี้ได้ระบุไว้ว่า สุวัณณภูมิ มีศูนย์กลางที่ จ. ราชบุรี คํานี้ถึงจะเป็นชื่อไทยก็จริงอยู่
แต่มาจากคํามคธว่า ราชบุรี เมื่อมาเป็นคําไทยจึงเรียก ราดบุรี และ ราดชะบุรี บ้าง ราชบุรี จึงแปลว่า
เมืองพระราชา คือ เมืองขุนไทย
ชื่อเมืองราชบุรี ( เป็นชื่อครั้งที่ ๗ ) อันมีชื่ออยู่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และศิลาจารึกสุโขทัย หลัก ๑ พ.ศ. ๑๘๒๖
กับจารึกปราสาทพระขรรค์ พ.ศ. ๑๗๓๔ ส่วนในอดีตกาลเคยมีชื่อต่าง ๆ ปรากฏมาแล้วดังต่อไปนี้คือ
ราชพลี
เมื่อพ.ศ. ๑๐๓๐ ขุนหาญบุญไทย ขุนหญิงดวงขวัญใจ และ ขุนหญิงกองแก้วฟ้า ( ฐานะ ขุน สมัยนั้นเป็นพระราชาเอกราช )
ย้ายมาจาก สุวัณณภูมิเดิม คือที่ คูบัว มา สร้างเมืองหน้า เขางู ให้ชื่อว่า ราชพลี คู่ พริบพลี ( เพชรบุรี
)
สุวัณณภูมิ
สุวัณณภูมิ ชื่อเดิมว่า เมืองทอง ขุนทอง จอมฟ้า จารึกไว้ว่า ปีโล ๑๑๙๐ ถึง ๑๑๙๕ ( คือ พ.ศ.๑ ถึง พ.ศ.๕ ) กระทําอยู่ ๕ ปี ที่
หนองยาว ซึ่งย้ายจาก บ้านหัวดอน หรือ ดอนโตนด สุวัณณภูมิเมืองทองเดิมนั้น ได้ดํารงอยู่นานถึง ๑๐๓๐ ปี ขุนอินไสเรนทร
ย้ายลงไปสร้างเมืองที่ นครศรีธรรมราช ขุนหาญบุญไทยจึงได้ย้ายมาสร้างเมืองหน้า
เขางู
สุวัณณภูมิ มีสถานที่ตั้งเมือง และดํารงอยู่นานมา นับแต่ก่อนก็เป็นที่มา - ไปของพระอรหันต์ทั้งหลาย แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
พร้อมกับพระอรหันต์สงฆ์ ๕๐๐ มา ก็เป็นที่รับ และเป็นที่ประทับแรมคืนกับประทับพระฉายใน ถ้ำ
เขางู พระมหาปุณณเถระ ได้สลักเป็นพระ พุทธฉาย และจารึกชื่อไว้ด้วยเมื่อพุทธพรรษา ๔๔ ( ก่อนปรินิพพาน ๑ ปี )
พ.ศ. ๒๓๕ พระเถรปัญจวัคคะ มี พระโสณเถระ เป็นต้น ได้มาประดิษฐานพระ พุทธศาสนา ได้สร้างวัด มีนิมิตสีมา
พ.ศ. ๓๐๐ พระเจ้าตวันอธิราช ได้สร้าง วัดสุวรรณภูมิ ทําฐานและพระเจดีย์บรรจุอัฏฐิธาตุพระอรหันต์ ๕ องค์ที่มานั้น
จึงมี วัดโขง สุวัณณภูมิ และอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่มากมาย
เมืองแมน
ปีอินล่วงได้ ๔๑๔๘ ขุนโลลาย ครองเมืองแมน ยังไม่มีเมีย ทราบว่า ขุนหญิงโห่มาดี แม่อยู่หัวเมืองนองทอง ( กาญจนบุรี )
จึงมีลายสือไปขอแก่ ขุนไทยคนอง ผู้เป็นน้องไม่ยอมให้ จึงให้ ขุนคนอง คุมกองทัพไปตีเมืองนองทองได้
ขุนโลลายไปจึงได้ขุนหญิงโห่มาดีมา
เมื่อกลับมาจึงสร้างเรือนหอใหม่ที่ดอน โตนด เป็นเรือน ๕ หลัง เอาหัวสางขึ้นเป็น ป้านลม จั่ว หลังคา เอาทองผงประสมรักทา เหลืองทองคําทั้ง ๕ หลัง
พอดีขุนหญิงโห่มาดี มีครรภ์และคลอดลูกชายชื่อ ไทยลว้า
พอดีปีอินเต็ม ๔๑๕๐ ปี ขุนโลลายจึงตั้ง ชื่อเรือนทอง ๕ หลังนั้นว่า เมืองทอง พร้อม กับเปลี่ยนชื่อ ปีอิน เป็น
ปีโล ๑ จากนั้นก็ ใช้ปีโลกันมา ต่อมาขุนหญิงโห่มาดีได้ไปนํา ขุนหญิงแห่ขวัญมา มามอบให้อีก
ชื่อ เมืองทอง ได้ดํารงเรื่อยมากระทั่ง ปีโลล่วงมาได้ ๑๑๗๐ ปี ขุนทับไทยทอง หรือ
พระเจ้าทับไทยทอง ได้นําชื่อ สุวัณณภูมิ มาตั้งซ้อนลงไปใน เมืองทอง จึงปรากฏชื่อว่า เมืองทองสุวัณณภูมิ
บ้าง สุวัณณภูมิเมืองทอง บ้าง สุวัณณภูมิ เฉย ๆ บ้าง ตั้งในปีโล ๑๑๗๐ ตรงกับพระ พุทธพรรษา ๒๕
ล่วงมาอีก ๒๐ ปี พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงเปลี่ยน ปีโล ๑๑๙๐ ที่เต็มแล้ว เป็น พุทธกาลนิพพาน ๑ สืบมา
กระทั่งถึงสุโขทัยใช้ มหาศักราช และ จุลศักราช
ก่อน พ.ศ. ๑ ขึ้นไปเป็น ปีโล นั้น เป็น กาลสร้าง เมืองทอง และตั้งชื่อและตั้งศักราช ปีโล ๑
เป็นครั้งที่ ๕ ว่ามาจากครั้งที่ ๔ คือ เมืองแมน ปีอิน ชื่อมีหลักฐานเพียงชื่อขุน และเรื่องเล่าปรากฏต่อมา แม้มีชื่อว่า เมืองแมน
ก็เป็นเพียงคําพังเพย และ ขุนอิน กับ นางกวัก ก็มีรูปเคารพและมีมนต์นางกวัก
ที่ไทยเดิมท้องถิ่นนี้เคารพนับถือท่องจํากันมา
พวก นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ทุกคนล้วนเป็นพวกที่วิ่งหนีมาจากเมืองจีน หรือมีชาติเป็นจีน ไม่รู้จักก็เลยไม่เชื่อ จึงเอาชื่อจีนมาเป็น ต้นไทย
ชื่อไทย ๆ ก็หายไป เช่น ขุนอิน สิบสองพัน เลยเป็น อึ่งตี่ เป็นต้น
ทีนี้จะเล่าเรื่องของไทยอันมีอยู่ในไทย และสืบกันเรื่อยมา และครั้งที่ ๔ มีเรื่องเล่าว่า เมืองแมน มีมาก่อน
เมืองทอง ๔๑๕๐ ปี เปลี่ยนชื่อและปีโลอีก ๑๑๙๐ จึงก่อน พ.ศ. ๕๓๔๐ ปี รวมกับ พ.ศ. ล่วงมาแล้ว ๒๕๑๗ ปี จึงล่วงมาแล้ว ๗๘๕๗ ปี ในราว ๘๐๐๐ ปี
และก่อนขึ้นไปมีชื่อว่า เมืองแผน มีเรื่อง เล่าและจารึกกล่าวว่า
เมืองแผน
ขุนอิน ครอง เมืองแผน มีน้องสาวชื่อ นางฟ้าอยู่เรือน ทั้งคู่ยังไม่มีคู่ครอง น้องได้กล่าวชื่อ
นางกวัก หรือ กวักทองมา ลูกสาวคนเดียวของ ขุนเขาเขียว และ นางขวัญ ทองมา
เจ้าเมืองอินว่าสวยงาม
ขุนอินจึงทําตัวเป็น ขอม คือผู้มีความรู้ไปเที่ยว ได้พบกันเมื่อนางกับเพื่อนสาวอาบและเล่นน้ำริมบึงใหญ่ ขุนอินจึงลงมุดไปโผล่จับตัว ได้เกิดรักกัน
เพื่อน ๆ สาวก็รู้จึงหลบไป นางพาขุนอินไปอยู่ในถ้ำห้องของตัว ขุนเขาเขียวและขุนหญิงแม่รู้ เข้าไปจับขังไว้ กลางคืนกวักทองมาได้ไปเปิดแก้ปล่อย
ได้ร่วมกันเดินทางมาเมืองแผน
รุ่งเช้า ขุนเขาเขียวพาพรรคพวกตามมาพบกันแล้ว ต่างถือท่อนไม้เข้าสู้กัน เมื่อขุนเขาเขียวเสียท่า ขุนอินเงื้อท่อนไม้จะฟาด นางกวักร้องว่าอย่าฆ่าผัว
ขุนเขาเขียวยั้งมือไว้ ร้องถามลูกว่า มึงได้ผัวแล้วหรือ นางรับว่า ได้หลายครั้งแล้ว ทั้งคู่เข้าไปก้มไหว้
ขุนเขาเขียวรับขุนอินเป็นลูกโดยตั้งชื่อให้ว่า ขุนอินเขาเขียว เอาชื่อตัวต่อให้หมายว่า ยอมรับเป็นผู้สืบไปในข้างหน้า ขุนอินเขาเขียว
จึงเรียกปีนั้นว่า ปีอิน ๑ และกลับมาเมืองแผน ตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองแมน ด้วยความรักกัน อยู่มาจึงมีลูกด้วยกันเป็นชาย ๑๓
หญิง ๗
คนแรกชื่อ อู่ทอง นางกวักขอผัวเอาไป ยกให้แก่ขุนเขาเขียวและขวัญทองมา เพื่อเป็นขุนต่อไปเหลือ ๑๙ คน
ขุนอินเขาเขียวตั้งชื่อไว้ แล้วเอามาตั้งชื่อเดือนปีจึงคงอยู่ว่า เดือนอ้าย ปีชวด เดือนยี่ ปีฉลู เดือนสาม ปีขาล เดือนสี่
ปีเถาะ เดือนห้า ปีมะโรง เดือนหก ปี มะเส็ง เดือนเจ็ด ปีมะเมีย เดือนแปด ปี มะแม เดือนเก้า ปีวอก เดือนสิบ ปีระกา เดือนสิบเอ็ด ปีจอม ( จอ
) เดือนสิบสอง ปีกุน ลูกหญิง ๗ คน ตั้งเป็นชื่อวันว่า ๑ วันอา ๒ วันอัน ๓ วันอาง ๔ วันอุ่น ๕ วัน เอือย ๖ วันอู่ ๗ วันอี่
และร่วมวิวัฒนาการ ตอนนี้มา จึงมีชื่อ ปี เดือน วัน ใช้
ครั้นขุนอินเขาเขียวตาย ขุนห้ามะโรง หรือ หัวร่วง ตั้งปีตายนั้นว่า ๓๕๐ เป็นหลักฐาน นับกันมา กระทั่งปีอินได้ ๔๑๕๐
ปี ขุนโลลาย จึงเปลี่ยนเป็น ปีโล ๑ และเป็น เมืองทอง ชื่อ เมืองแมน ก็หายไป
เมืองแมน ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก เมืองแผน นั้น ไม่แน่ว่าอยู่ตรงไหน เพราะกาลเวลานานมาถึง ๘,๐๐๐ ปีนั้น
ดูตามระยะที่ขุนอินเดินทางไปก็ไม่แน่นัก ส่วนเมืองนางกวักคงอยู่ที่เขาเขียว เพราะชื่อขุนเขาเขียวยืนยันอยู่ เมืองแมนอาจอยู่ส่วนใต้ลงมา
ตั้งแต่เมืองกาญจน์ลงมา เช่น ขุนอู่ทอง ผู้สร้างกระเบื้องหนาก่อตึกอยู่ในป่า จึงตั้งชื่อว่า พงตึก
อ้ายชวด และ อ้ายจอ มาอยู่ที่เทือกภูเขาหลวงเหนือ จึงตั้งชื่อว่า เขาอ้ายช่วย หรือ อ้ายชวด และ เขาอ้ายจอ
เจ็ดมะเมีย ไปอยู่จึงตั้งชื่อว่า เจ็ดมะเมีย คือ เจ็ดเสมียน สิบสองกุน ไปอยู่จึงตั้งชื่อ บ้านมกุน
ห้ามะโรง ไปอยู่ จึงตั้งชื่อ หัวร่วง หรือ ห้วยโรง สิบระกา ไปอยู่ จึงตั้งชื่อว่า ป่าไก่
ที่คูบัวไปอยู่กันหลายคน สามขาน ไปอยู่ จึงตั้งชื่อว่า สามขัน หกมะเส็ง ไปอยู่เป็นหมอ จึงตั้งชื่อ บ้านหมอเส็ง
เก้าวอก ไปอยู่ จึงตั้งชื่อว่า นาวอก สี่ถอ ไปอยู่ จึงตั้งชื่อว่า ถอ หรือ ธ่อ คือ ปากธ่อ ฯ ล ฯ
ฉะนี้
เมืองแมน อาจกว้างขวาง และระยะ กาลที่ยืนยาวมาถึง ๔,๑๕๐ ปี คงสร้างไว้หลายแห่ง แต่ที่สืบต่อกันเรื่อย ๆ มา คงจะเป็นที่
คูบัว อันเป็นถิ่นที่ ขุนโลลาย ลงไว้ว่า สร้าง เมืองทอง ที่ดอนโตนด ที่เป็น เมืองแมน
และ
ปีอินนี้ เป็นกาลครั้งที่ ๓ ภายในชื่อครั้งที่ ๒ ที่มีชื่อมาว่า เมืองแผน และ ขุนแผนเมืองฟ้า
เมืองแผน จึงเกิดมาเมื่อก่อน ๘ พันปีมาแล้ว และเกินไปกว่านั้นอีกมาก ซึ่งเป็นของคนที่เกิดและตายไปแล้ว สูญทั้งชีวิต ประวัติ
และชื่อ เป็นยุคชาดก คือ ผู้เกิดมาแล้ว อันตรงกับปาง ต้นไทย หรือ ต้นผี ซึ่งเป็นแต่เพียงนิยายเล่ากัน
จึงไม่ต้องมีหลักฐาน แต่ที่เขาถือกันว่าเป็นหลักฐานก็เพียงอ้างคําฝรั่งที่เขียนกันไว้
เวลานี้ฝรั่งได้ขุดพบโครง กระดูกหิน คือ ซากหินที่ จาโคบี เรียกว่า จาโคบีแมน ว่า มีอายุ ๑ ล้าน ๘ แสนปี พบ ที่ เอธิโอเปีย
แต่ฝรั่งยังไม่ยอมให้เป็นคน บอกว่าเป็นคนลิง ได้กล่าวว่า มีอายุถึง ๔๕ ล้านปี ก็ยังเชื่อกันตลอด กระทั่งมีพวกถือกําเนิดลิงนั้น
เอามาเป็นวัฒนธรรมประพฤติกันในปัจจุบัน จนกระทั่งเปลือยกายอย่างลิงกันแล้ว ยังเชื่อกันได้
ในฐานะเป็นไทยพุทธศาสนา มีพระพุทธพจน์ตรัสถึง มหาภัททกัปนี้ มีคนมนุษยชาติ มาแล้วตลอดกาล ๔ พุทธันดร ที่ไม่เชื่อ..ทําไม
จึงทําใจและความรู้ของจริงได้ ก็ทําใจเชื่อและรู้ของจริงบ้าง มันจะผิดที่ตรงไหน จึงเอาความเชื่อไทยพุทธศาสนามารับรอง
เมืองแผน และขุนแผนเมืองฟ้า ตั้งแต่พุทธันดรที่ ๔ ขึ้นไปถึงพุทธันดรที่ ๓ และเลย เข้าไปถึงระยะพุทธันดร
ที่ ๒ ยุคชาดกสมัย เมืองแผน จึงเริ่มตั้งแต่ ๘ พันปีขึ้นไปถึง พุทธันดรที่ ๓ เป็นครั้งที่ ๓ ทั้งชื่อและเมือง พร้อมกับคนอันมีชื่อว่า ขุนแผน และ
ยุคแผน นี้ว่า เปลี่ยนมาจาก แถน
เมืองแถน
ชื่อขุนแถนเทียนฟ้าและเมืองแถน เป็นยุคหรือปางครั้งที่ ๒ สืบขึ้นไปจากพุทธันดรที่ ๓ ครึ่งต้นเรื่อยขึ้นไปถึงพุทธันดรที่ ๒
และสืบขึ้นไปถึงครึ่งหลังพุทธันดรที่ ๑ ถึงจะนานถึงขนาดนั้น แต่ชื่อก็คงอยู่สืบมา อันแสดงว่ามีคนมาแล้วใน
ยุคนิยาย หรือ ยุคชาดก และขุนแถนเทียนฟ้านี้ ว่าสืบมาจากสมัย สรวงสาง หรือ สรวงสวรรค์
ll กลับสู่ด้านบน
**โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป**
Update 4 กรกฎาคม 2551
เมืองสรวง (สมัยพระกุกกุสันโธพุทธเจ้า)
ชื่อเมืองสรวง และขุนสรวงกับขุนนางสาง ประกาศว่าเป็นต้นคนไทย จึงเป็นปางครั้งที่ ๑ เล่าว่า นอนหลับตื่นขึ้นเห็นทุกอย่างมีอยู่แล้ว
ต่อมาได้เห็นผีฟ้าแสงลอยมาปรากฏตัว กินง้วนดินแล้วหลับไป เข้าไปมองดูเห็นแปลกกว่าตัวเอง ก็เข้าไปจับตัวไว้ จึงเริ่มคําพูดกันขึ้น ต่อมานาน
จึงรู้สืบพันธุ์มีลูกชายหญิง เล่าว่า ได้สืบสายเชื้อไว้ในเลือด ทั้งส่วนขุนสรวง และ
ขุนนางสาง รวมเป็น ๓๒
ถ้าขุนสรวง ๒๐ ขุนนางสาง ๑๒ จะเป็นชาย ส่วนของขุนสรวง ๑๒ ขุนนางสาง ๒๐ จะเป็นหญิง ถ้าเท่ากันจะเป็นกะเทย ๒ เพศ และได้สืบต่อกันเรื่อย ๆ มา
พันธุ์เผ่าคนไทยลวะ จึงมาจาก อาภัสสรกาย และ ปภัสสรจิต จึง เป็น ยุคต้นผี เป็นกาลต้นมหาภัททกัปตลอด มาถึงพุทธันดรที่
๑ และล่วงมาถึงระยะกาล ยุคสัตว์ คือ มิคสัญญี และสืบกันเรื่อยมา พุทธันดรที่ ๒ ยุคแถน พุทธันดรที่ ๓ ยุคแผน
เข้าถึง พุทธันดรที่ ๔ ก่อนพุทธกาล ลุถึงสมัย เมืองแมน เมืองทอง
สุวัณณภูมิ ถึง ราชพลี ก็ดํารงชื่อ ขุน ตลอดมา และชื่อ ขุน ขุน นาง หรือ ขุนหญิง มีฐานะเป็นกษัตริยราชา
และเทวีราชินี
เมื่อเรียกชื่อเมืองกรุงจึงใช้ว่า ราชบุรี แปล ได้ตรงว่า เมืองพระราชา คือ ขุน ครั้น
ต่อมามีขุนเมืองออก ได้ขึ้นสู่ฐานะเป็น มหาขุน เอกราช จึงเอาชื่อ พระร่วง มาใช้เป็น หลวง หรือ ในหลวง
หลวง นี้ คนจีนเขาออกว่า อ๋อง บ้าง หว่าง บ้าง ฮ่อง บ้าง ขะแมเรียกว่า กรมเตงอัญ คือพระเจ้ากรุง เช่น
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมัยสุโขทัยเห็นว่าดี จึงนํามาใช้ นักรู้ สมัยนี้เลยยก ไทย ไปเป็นขี้ข้า ขะแม บ้าง ร่วมกับคนไทยแปลงเป็น จีน บ้าง
และได้เปลี่ยนเป็นชื่อ แขก หรือคํามคธ ไทย เช่น "รามาธิบดี" หรือ "พระราม" เลยกลายเป็นแขกอินเดีย ปัจจุบันจึงเปลี่ยนกันใหม่ว่า สมเด็จพระ
ก็ยังไม่ค่อยเชื่อกันนักว่าเป็น ไทย
ราชบุรี แปลว่า เมืองพระราชา คือ เมือง ขุนไทย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัย
ขุนสรวง ถึง ปัจจุบันนี้ ชื่อไทย ยุคสรวง ยุคแถน และ ยุคแผน นี้เป็น ยุคชาดก
ต่างเป็นปางผีสางต้นไทย ไปแล้ว แต่ชื่อยังเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่คนไทย ทุกเผ่า อันเป็นหลักฐานว่ามีมาแล้ว และยังได้ แผ่ไปทั่วอย่างกว้างขวาง
ทั้งยังเป็นที่รู้จักกัน เป็นสวรรค์ชั้นฟ้าตลอด เช่น สรวง จะเป็นชื่อว่า สรวงสวรรค์
แต่ในไทย เป็นชื่ออยู่กับคน และชื่อ แผ่นดิน เช่น ในพระราชพิธีประกาศโองการ แช่งน้ำว่า โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว ในโองการ
นี้จะเห็นเปลี่ยน สาง เป็น ศรี ที่เป็นถิ่นแดน เหนือมีว่า สรวงสร้างฟ้า ว้าสร้างดิน และออก ไปเป็นชื่อ สาง ณ อีสานใช้ว่า
ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ก็ยังเป็นชื่อ สัง และมีชื่อว่า ซัง เซียน เซนต ซึ่งยืนยันว่ามีมานานแล้ว ทั้งยังได้แผ่ไปในหมู่เผ่าชนชาติอื่น
ๆ เกือบทั่วไป
จะอย่างไรก็ตาม คําชื่อไทยว่า สรวงสาง นี้มีอยู่ในคําไทยเฉพาะชื่อว่า สรวง เป็นชื่อ คนผู้ชายและผู้หญิง ส่วน
สาง นั้น เป็นชื่อ ของคนที่ตายไปแล้ว และเป็นชื่อ ฟ้าสาง เป็นชื่อความรู้ไทย เช่น วิชาสางใส หรือ ไสยศาสตร์ เมื่อรวมเข้าว่า สรวงสาง
ก็คือต้นคนไทย ซึ่งเป็นชายชื่อว่า สรวง และเป็นหญิงชื่อว่า สาง ซึ่งเป็นแบบคนไทยมาตั้งแต่ต้นมหาภัทกัป
แถน ชื่อเต็ม ๆ ว่า แถนเทียนฟ้า และ สีทองงาม ณ ถิ่นแดนตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ และ
ลําปาง ใช้ชื่อว่า ปู่แถน ย่าแถน ขึ้นไปอีกเป็น เทียน ได้ขึ้นเป็นต้นผี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือบูชาสักการะระลึกถึงยิ่ง กว่าเทพ
เช่น อิศวร นารายณ์ แต่ ณ ถิ่น ดินแดนนั้น ๆ เป็นตอนที่ สรวงสร้างฟ้า แล้ว ขุนแถน จึงเป็นพวก ว้าสร้างดิน
แผน ขุนแผนเมืองฟ้า และ ดวง ขวัญใจ ชื่อ แผน หรือ พูมแผน แผนพูม ก็ตาม รู้กันว่าเป็นคราวปางที่เจริญ
และใน ระยะใกล้อาจพอรู้กันได้ อย่างที่กล่าวไว้ใน ประกาศแช่งน้ำว่า ขุนแผนแรกเอาดินดูที่.... และในระยะกาลต่อมา ได้มาเป็นชื่อ
แผนที่ แผนการณ์ ส่วนชื่อ แม่นางดวงขวัญใจ ก็เป็นคู่ชีวิต หรือเป็นชื่อชีวิต จึงยืนอยู่ในความรู้ของคนไทย ไทยได้ใช้กันมาจึงเป็น
จ้าว หรือ ผีต้นไทยมา แล้ว
ผู้ให้กำเนิดลายสือ
ปางยุคนี้ ขุนสือไทย และ ขอมฟ้าไทย ได้คิดลายสือ และลายร่าง ได้บันทึกใน กระเบื้องจาร ได้จารทั้งเรื่อง และร่าง
คือจารึก เล่าเรื่องคนเหลือง ( พระพุทธเจ้า ) ๑, ๒, ๓, แต่ทํารอยร่างไว้ ณ มุมเป็น ๑ รอยขีด ๒ รอยขีด ๓ รอยขีด เป็นระยะกาลพุทธันดรที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ (
จะพบในข้างหน้า ) ซึ่งตรงกัน อันยืนยันว่า ต้นไทยนั้น ๆ รู้จักกาลเหล่านั้น จึงได้เล่าบอกให้ทราบกันต่อ ๆ มา
ชื่อนั้น ๆ จะปรากฏในบรรดาเผ่าไทย ทุก ๆ เผ่า และได้เคารพนับถือกันมาแล้ว พร้อมกับได้สร้าง ร่าง คือ รูป เคารพไว้ให้ เป็นแบบตกทอดกันมาอีก
และยังมี เรือนสาง หรือ ศาลพระภูมิ ปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นอันว่า ขุนสือไทยฟ้า กับ นางไทย งาม เป็นผู้คิดประดิษฐ์
ลายสือไทย โดยได้แนวคิดประดิษฐ์ตัวอักษรจากลายผ้าที่นาง ไทยงามทอ
ขุนขอมไทยฟ้า ซึ่งเป็นน้องชายของ ขุนสือไทยฟ้า เป็นผู้คิด ลายสือขอม
ขุนเลกไทย กับ นางงามตน เป็นผู้คิด ประดิษฐ์ ตัวเลข
ผู้ให้กำเนิดกฎหมายต่าง ๆ
ในกาลเวลาต่อมา หลานของ ขุนอินเขาเขียว หลายคน ได้เป็นต้นคิดและวางระเบียบ การดำเนินชีวิต การปกครอง ตลอดจนการอยู่ ร่วมกันในสังคม
เช่น
ขุนสืออินไทย กับ นางรินเลืองระรื่น เป็นผู้กําหนด กฎหมายผัวเมีย ฉบับแรก
ขุนลือต้นไทยทอง กับ นางโพสบ เป็นผู้วางระบบ การทํานา และ กฎหมายที่ดิน
ขุนร่วงลายไทย กับ แม่นางเบิกไพร เป็นผู้กําหนด การใช้สัตว์ชนิดใดเลี้ยงหรือใช้ งาน และ
การตั้งชื่อต้นไม้
ขุนร่วงเมืองไทย กับ แม่ย่าชื้อนาง เป็นผู้เริ่มประเพณี การเลี้ยงเด็ก หรือ ทารก สงเคราะห์
ขุนอินร่วงไทย กับ แม่นางทับทิมทอง เป็นผู้วางระบบ การค้าขาย และ มูลค่าของเงิน
ตราที่ใช้ในตลาด
ขุนถิ่นทอง ออกกฎหมาย ห้ามฆ่าคน ห้ามกินคน และคุ้มครองชีวิตคน เป็นต้น
( ความถึงตอนนี้ในหนังสืออนุสรณ์ในงาน พระราชทานเพลิงศพ นายเดือน บุนนาค โดย หลานย่า (คุณเดือนฉาย คอมันตร์)
ได้สรุปไว้ดังนี้ว่า )
ก่อน พ.ศ. ๑๑๙๐ ปี ขุนโลลาย และ นางโห่มาดี สร้าง เมืองทอง และเปลี่ยนศักราช ปีอิน เป็น
ปีโล ในจารึกยังเล่าว่า ขุนเรือง เลอลว้า หลานขุนโลลาย ได้ใช้ช่างทํามีดพก หรือมีดประแดะเล่มหนึ่ง พร้อมทั้งจารึกชื่อแล้ว ส่งไปถวาย
เจ้าราชวงศ์ชาง ที่ประเทศจีน เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๐๑๐ ปี ( ปัจจุบันมีดเล่มนี้ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานไต้หวัน )
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไทยทวาลาว ใน ภาคกลางของประเทศกับพวกไต - จีน มีความ สัมพันธ์กันทางการทูตมาก่อนพุทธกาลแล้ว
อีกทั้งการอพยพเคลื่อนย้ายของชนชาติ จาก เหนือลงใต้ และจากใต้ขึ้นเหนือ ต่อเนื่องกัน มานาน จนเป็นเหตุให้ศิลปวัฒนธรรมกระจาย ออกไป
จนคนส่วนมากเข้าใจกันว่าไทยได้รับ อารยธรรมมาจากจีน แต่ในทางตรงข้ามจีนได้ รับอารยธรรมจากไทย เช่น การเขียนลายกนก ลายก้านขด ลายเต๋าเตี๊ยะ
บนเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องโลหะ เป็นต้น
การที่เราเชื่อกันว่าประเพณีและวัฒนธรรม ไทยนั้น สืบเนื่องมาจากจีนก็เพราะเราได้รับรู้ จากจดหมายเหตุของจีนที่จารและจารึกบันทึก ไว้มากมายเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อน จากความจริงไปบ้างก็ได้ ส่วนหลักฐานที่จารึกเรื่องราวของไทยแต่ สมัยโบราณกาลนั้นมีน้อยมาก และเป็นภาษา ไทยในแต่ละท้องถิ่น
ขาดผู้ที่สนใจจะค้นคว้า ศึกษาอ่านอย่างจริงจัง จึงดูเหมือนว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยส่วนมากนั้น เอามาจากประเทศใกล้เคียง
เมื่อ ๔๐ ปี ก่อนพุทธกาล ขุนทับไทยทอง ครอง เมืองทอง ( เมืองแมนเดิม ) ตลอดถึง เมืองในบริเวณ ปราน
หรือในพระสูตรเรียกว่า สุนาปรันตชนบท และในสมัยพุทธกาลจึงได้ เปลี่ยนชื่อ เมืองทอง เป็น
สุวัณณภูมิ
ขุนทับไทยทอง ครองสุวัณณภูมิตรงกับ สมัย พระเจ้าพิมพิสาร ครองราชย์ใน แคว้นมคธ เล่ากันว่า
พระปุณณเถระ หรือ ปุญญะ - ฤษี แห่ง ถ้ำเขางู ราชบุรี ได้อาสาพาพระเจ้าทับไทยทองเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ แคว้น มคธ
เพื่อให้พาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้าในการศึกษาพระธรรม หลังจากได้นําพระธรรมนั้นมา เผยแพร่ความรู้ให้แก่ชาวไทยลว้า จนพวกสุนาปรันตะ -
ชนบทรู้แจ้งในพระธรรมมรรคผลนิพพาน ได้ ร่วมสร้างอุโบสถ คือ วัดปุญญาราม ถวายแก่ ปุญญเถระ เมื่อ พ.ศ. ๒๔
( รูปพระปุณณเถระ หรือ ปุญญฤาษี สลักหินไว้ที่ ถ้ำฤาษี เขางู และใต้ฐานได้จารึกไว้ว่า ชื่อบุญวรฤษี งู คิรฺสมาธิ คุปต
แปลว่า ชื่อบุญพระฤษี คุ้มครองสมาธิ ณ เขางู พุทธพัสสา ๔๔ ) (ผู้เขียน - น่าเสียดาย "อักษรไทย" ตรงนี้
ถูกทำลายหลักฐานไปหมดสิ้นแล้ว เพราะเหตุไร..ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน)
พระปุณณเถระ หรือ พระบุญ วรอิสิ ( พระฤษี ) ได้บรรพชากับ พระอานนทเถระ ได้อุปสมบทด้วยตรัสว่า
เอหิภิกขุ เป็นต้นเหตุให้ตรัสจึงมี ปุณโณวาทสูตร ได้ มาบรรลุ อรหัต ณ เพชรบุรี ( พริบพลี )
ขุนทับไทยทองมีลูกหลานครองเมือง สุวัณณภูมิสืบต่อมาจนถึงสมัย พระเจ้าโลกลว้า ใน พ.ศ. ๒๒๐ ได้อภิเษกสมรสกับ พระนาง ก้านตาเทวี
ธิดา
ขุนเมืองอู่ทอง และมีโอรส ชื่อ ตวันทับฟ้า ขุนเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.๒๒๓
ในสมัยพระเจ้าโลกลว้า หรือ โลกกนลว้า นี้ ตรงกับสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช แห่ง แคว้นมคธ พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้ ทํา
ตติยสังคายนา ( ครั้งที่ ๓ ) ในปี พ.ศ. ๒๓๕ และได้ส่งสมณทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวัณณภูมิ
คณะของพระโสณเถระมีพระอรหันต์ ๕ องค์ คือ พระโสณะ พระอุตตระ พระฌานียะ พระภูริยะ พระมูนียะ และได้มาแสดงพระ ธรรมเทศนา ณ
วัดปุญญารามก่อน มีผู้เลื่อมใส ออกบวชเป็นภิกษุและชีหลายร้อยคน พระเจ้าโลกกนลว้าได้ขอให้ทําพิธีทอด ผ้าพระกฐิน และสร้าง วัดศรีมหาธาตุ
เป็น พุทธบูชา พระราชทานวิสุงคามสีมาให้โอรสและ ธิดาได้บวชเรียนศึกษาธรรมะอย่างแตกฉาน ได้โปรดให้จารึกพระไตรปิฎกลงบนหินด้วย คาถา เย ธัมมา...
ฯลฯ และให้สร้างรูป พระธรรมจักรกับกวางหมอบ
พระภิกษุองค์แรกที่ได้รับการแต่งตั้ง ประจําสังฆมณฑลได้แก่ พระญาณจรณะ ในปี พ.ศ. ๒๔๕ เจ้าตวันทับฟ้าได้ขึ้นครองราชย์ต่อ จากพระราชบิดา
ได้ราชาภิเษกทรงพระนามว่า พระเจ้าตวันอธิราช มีพระชายาชื่อ พระนาง สิริงามตัว ธิดา ขุนเมืองพริบพลี (
เพชรบุรี ) และมีพระราชโอรสชื่อ เดือนเด่นฟ้า และ ดาวเด่นฟ้า
ในปี พ.ศ. ๒๕๒ พระเจ้าตวันอธิราช ได้โปรดให้พระญาณจรนะนิมนต์พระโสณเถระ และคณะไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนทางใต้ตามคําเชิญของเจ้าเมืองชวา
หรือชวกะ
พ.ศ.๒๖๔ พระเจ้าตวันอธิราชได้โปรด ให้ตั้งเจ้าเดือนเด่นฟ้าเป็น ขุนเมืองทอง ได้ทรง สร้างและปฏิสังขรเมืองเถือมทอง ( นครปฐม )
เมืองอู่ทอง ( สุพรรณบุรี ) เมืองนองทอง ( กาญจนบุรี ) เมืองพริบพลี ( เพชรบุรี ) เมือง ช้างค่อม ( นครศรีธรรมราช ) เมืองพุนพิน ( สุราษฎร์ธานี ) ตามลําดับ
เจ้าเดือนเด่นฟ้าได้รับมอบให้ทําหน้าที่ ปกครองหัวเมืองใหญ่แทนพระราชบิดา และ ได้ทรงจัดคณะทูตเดินทางบก ทางเรือ ไปทํา
สัมพันธไมตรียังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ผู้ริเริ่มสร้างพระปฐมเจดีย์
เจ้าเดือนเด่นฟ้าได้โปรดให้สร้าง พระ เจดีย์ใหญ่ ริมทะเลที่ เมืองเถือมทอง ( นคร ปฐม ) อัญเชิญ
พระภูริยเถระ ผูกลูกนิมิต พัทธสีมา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุใส่ในพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ และสร้างวงล้อธรรมจักร
กับกวางหมอบตั้งหน้าพระอุโบสถ
นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้าง วัดมหาธาตุ ณ เมืองอู่ทอง เมืองพริบพลี เมืองนองทอง ( พงตึก - กาญจนบุรี ) เมืองช้างค่อม ( นครศรีธรรมราช ต.
ท่าเรือ ) ด้วย นอกจากการพระศาสนาแล้ว เจ้าเดือนเด่นฟ้ายังสนพระทัยในการปกครอง บ้านเมือง ได้โปรดให้ฝึกขุนศึกทั้งกองทัพบก และกองทัพเรืออีกด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๗๗ เจ้าเดือนเด่นฟ้าได้ ติดตาม พระมูนียเถระ ไปเผยแพร่พระพุทธ ศาสนาที่ ชวา-บาหลี เล่าว่า ในถิ่นนี้มีพวก
มนุษย์กินคนด้วย แต่ได้ไปถึง เกาะมลก ( แถบ ช่องแคบมะละกา ) และ เกาะชวา
ส่วนพระเจ้าตวันอธิราชนั้นได้เสด็จ ประพาสขึ้นเหนือไปดินแดนของ พวกพนม เมืองอ๊วด เมืองสิบสองปันนา เมืองลาวไตหย่า เมืองลื้อ
เมืองข่าลาย เป็นต้น
พระเจ้าเดือนเด่นฟ้าได้ขึ้นครองเมือง "สุวัณณภูมิ" แทนพระเจ้าตวันอธิราช ใน พ.ศ. ๓๐๔ มีชายาองค์แรกชื่อ แม่นางศรีสาย ทองงาม
ชายาองค์ที่ ๒ ชื่อ เฆื่อมสุนาขัลลตู ซึ่งเดิมเป็นนางพญาแห่งแคว้นชวกะ ซึ่งยกทัพ มาตีเมืองพริบพลี ทําสงคราม ๒ ปี จึงยอมแพ้
ตกเป็นเมืองขึ้น ใน พ.ศ. ๓๐๘ และยอมเป็น ชายาของพระเจ้าเดือนเด่นฟ้า ๆ ได้ส่งพระอนุชา คือ เจ้าดาวเด่นฟ้าไปปกครองเมืองชวกะแทน
พ.ศ. ๓๒๖ พระเจ้าเดือนเด่นฟ้ามีศรัทธา สละราชสมบัติออกบวชเป็นภิกษุ ณ วัดศรี พุทธาราม เจ้าไทยสรวงฟ้า ราชโอรส ได้ครอง ราชย์ต่อมา
จนถึงสมัย ศรีอาทิตยอธิราชเจ้า เกิดศึกกับพวกขแม จึงโปรดให้ ขุนต้นเทียน ไทย ยกกองทัพผ่านทางเมืองอู่หิน ( พิมาย )
ไปรบกับพวกขแม
นางไม้ไผ่ ลูกสาวเจ้าเมืองขแม ได้ยกทัพ เรือทัพบก ใช้พลธนูยิงรบ แต่ในที่สุดก็แพ้แก่ ขุนต้นเทียนไทย พระเจ้าศรีอาทิตยอธิราช
ได้ยกนางไม้ไผ่ให้กับขุนต้นเทียนไทย และให้ไปครอง เมืองพนม ดินแดนขแม
( ตํานานตอนนี้คล้ายกับเรื่อง โกณทัญญะพราหมณ์ รบกับ นางหลิวเหย่ หรือนางไม้ไผ่
มีชัยชนะได้เป็นปฐมกษัตริย์ครองอาณาจักรฟูนัน ราว พ.ศ. ๔๘๐ )
เมืองสุวัณณภูมิมีกษัตริย์ปกครองเชื้อสาย "พระเจ้าตวันอธิราช" อีกหลายชั่วพระองค์ จนถึง พ.ศ. ๑๐๑๘ เมื่อ พระเจ้าจันทรภาณุ
ครองเมืองสุวัณณภูมิ โอรสของพระองค์ชื่อ ขุนอินไสเรนทร เห็นว่าเมืองธัมมราชนั้นดีพร้อมทุกประการ จึงขออพยพย้ายผู้คนไปสร้างเมือง
ใหม่ทางใต้
(หมายเหตุ ประวัติตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ นั่นก็คือ "ท้าวจาตุคามรามเทพ" เพราะ
"ขุนอินไสเรนทร" คือ "ท้าวจาตุคาม" ส่วน "ขุนอินเขาเขียว" ผู้เป็นน้องชาย คือ "ท้าวรามเทพ" ทั้งสองพระองค์เป็นโอรสของ "พระเจ้าจันทรภาณุ"
ได้ย้ายเมืองจากราชบุรีไปอยู่ที่นครราชศรีธรรมราช หมายความว่า "อาณาจักรสุวัณณภูมิ" ล่มสลายกลายไปเป็น "อาณาจักรศรีวิชัย" แทนนั่นเอง)
ดังนั้นเมื่อพระเจ้าจันทรภาณุสิ้นแล้ว ขุนหาญบุญไทย พระอนุชาได้ครองสุวัณณภูมิ ต่อมา และได้ย้ายเมืองหลวงมาสร้างเมืองใหม่ หน้า
เขางู ให้ชื่อว่า ราชพลี คู่กับ พริบพลี ใน พ.ศ. ๑๐๓๐
เมืองสุวัณณภูมิจึงหมดความสําคัญไปในเวลาต่อมา...
บทสรุป
รวมความคำว่า สุวัณณภูมิ ได้จารึกไว้ที่ต่าง ๆ เป็นหลักฐานปรากฏอยู่ ซึ่งค้นพบ
ได้ในอาณาเขตประเทศไทยนี้ ตามที่ได้เสนอ ภาพประกอบดังกล่าวแล้วนั้น นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญยิ่ง ในการที่จะย้อนรอยถอยหลัง เพื่อบอกความเป็นมาของ
ต้นตระกูลไทย ให้ลูกหลานได้รับทราบไว้อย่างถูกต้อง ฉะนั้น การสืบทอดวัฒนธรรม ตามแบบของ ไทย จึงต่อเนื่องกันมานานยาก
ที่จะค้นหาต้นกำเนิดเดิมได้ บัดนี้ ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
ขอท่านทั้งหลายจงสนใจ เพื่อเอาไว้สั่งสอนคนไทยรุ่นหลังกันต่อไป...สวัสดี!
ll กลับสู่ด้านบน
**โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป**
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 11/7/08 at 23:18 |
|
พุทธศาสนารุ่งเรืองในสุวรรณภูมิ
ในเรื่องนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ได้เล่าไว้ใน สอนลูกภาคใต้ ว่า
. . .จังหวัดนครปฐม หรือที่เรียกว่า เมืองทวารวดี ก็ต้องถือว่าเป็นเมืองแม่ ในการประกาศพระศาสนา รู้จักกับ
พระพุทธเจ้า รู้จักกับพระอรหันต์ รู้จักกับพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่ มีเรื่องสําคัญอีกเรื่องหนึ่ง สมัย พระ มหินท์
ประกาศพระศาสนา พระโสณะ และ พระอุตตระ ก็เดินทางมาขึ้นที่จังหวัดนครปฐม ก่อนเป็นจุดแรก
ความจริงพระพุทธศาสนามีมาก่อนนั้น ถอยหลังลงไป ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็มีพระมาจําพรรษา ตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทย ถึงภาคเหนือ . . .
เรื่องนี้ก็ได้ปรากฏในหนังสือ ทิพยอํานาจ เช่นกัน โดย อดีตพระอริยคุณาธาร ( เส็ง ปุสโส ) เรียบเรียงไว้เมื่อ พ
.ศ .๒๔๙๓ ท่านได้มีความเห็นเหมือนกันว่า
. . .ตั้งแต่พระพุทธศักราชประมาณ ๒๓๖ ปีเศษ มีโบราณวัตถุสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นสักขีพยานในโบราณสถานนั้น ๆ เช่นพระ ปฐมเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐม
มีวงล้อธรรมจักร ทําด้วยศิลาขนาดใหญ่โตมาก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เพราะยังไม่เกิดประเพณีสร้างพระพุทธรูป
ที่เมืองเสมา ( ร้าง ) ในจังหวัดนครราชสีมา ก็มีวงล้อธรรมจักรทําด้วยศิลาขนาดเดียวกัน กับที่นครปฐม และที่ตําบลฟ้าแดดสูงบาง จังหวัดกาฬสินธุ์
มีภาพสลักศิลาเป็นเรื่อง พุทธประวัติ ซึ่งเป็นพยานว่าพระพุทธศาสนา ได้เจริญรุ่งเรือง ณ แหลมทอง โดยเฉพาะที่ นครปฐมและนครราชสีมาในสมัยเดียวกัน . . .
ต้องขอยุติไว้เพียงแค่นี้ พอดีกับหน้ากระดาษจะหมดลง ทั้งเป็นตอนสุดท้ายของ เรื่อง พลิกประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในเรื่อง
สุวรรณภูมิ ไว้เพียงแค่นี้ เพราะเราพอจะได้ข้อมูลเพียงพอแล้วว่า มีศูนย์กลางอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี่เอง
แต่ประวัติศาสตร์หายไปตั้งแต่ พ .ศ . ๑๐๐๐ จนถึงบัดนี้ ไม่มีเหลือให้ศึกษาไว้เลย อาจจะถูกพม่าเผาหมด ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นได้
แต่ก็นับเป็นโชคดีของคนไทย ที่มีบุญพอให้ทราบเรื่องราวบรรพบุรุษของตน ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ที่บังเอิญมีผู้รู้เรื่องราวจากจารึกไว้ใน
กระเบื้องจาร ที่ขุดพบได้ จากบ้านคูบัว จ .ราชบุรีและที่อื่น ๆ อีกมากมาย
อีกทั้งท่านผู้อ่านก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทาง ด้านอักษรศาสตร์ ทั้งสมัยโบราณมาจนถึงสมัย ปัจจุบัน ส่วนที่จะเชื่อถือได้แค่ไหนก็แล้วแต่ วิจารณญาณของผู้อ่าน
เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ ทรงสมณศักดิ์ในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็น ความรู้ความสามารถที่ได้จาก ศาลาวัด เท่านั้น มิได้มีเกียรตินิยมจากทางโลกแต่ประการใด
เท่าที่มีเกียรติอยู่ก็ที่ ผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็น ธงชัยของพระอรหันต์เท่านั้นเป็นเครื่องรับรอง
ผลงานของท่านชิ้นนี้ถือว่าเป็น มรดก ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้เป็นอย่างดี เพราะกว่าจะสําเร็จออกมาได้
และกว่าจะมีผู้ยอมรับความจริง ในด้านประวัติศาสตร์ของชาติไทย ท่านก็ต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ
บัดนี้ จึงเป็นที่ยืนยันได้อย่างเต็มภาคภูมิ จากหลักฐานดังกล่าวแล้วว่า ดินแดนแหลมทอง หรือ สุวรรณภูมิ
นี้ก็คือผืนแผ่นดินที่อยู่ในพระ ราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันนี้ได้สืบทอดเชื้อสาย มาจากต้นตระกูลไทย ได้วิวัฒนาการสังคม และจารีตประเพณีเป็นของตนเอง
มีความเชี่ยวชาญในด้านศิลปกรรมและ ประติมากรรม ทั้งในด้านอักษรศาสตร์ก็ สามารถคิด ลายสือไทย ขึ้นใช้ มีภาษาพูดที่
ไพเราะนุ่มนวลสละสลวย แล้วจะเป็นไปได้ หรือ ในเมื่อคนไทยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย จะไปจารึกที่ไม่ใช่ภาษาของตนไว้ให้ใครอ่าน
หรือจะให้ไว้คนต่างชาติมาอ่านให้ฟัง แล้วบอกว่าไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาอินเดียฝ่ายใต้ คืออักษรคฤนถ์บ้าง หรืออพยพมาจากจีนบ้าง รวมความว่า
ชี้นําให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองเลย เป็นชาติที่เร่ร่อนต้องมาอาศัยแผ่นดินเขาอยู่ ต้องมาลอกแบบลอกภาษาของผู้อื่น
แม้จารึกที่ใต้ฐานพระในถ้ำฤาษีเขางู จ .ราชบุรี ก็ถูกยกให้เป็นหนังสือของชาติอื่น ทั้ง ๆ ที่ พระปุณณะ ท่านเป็นคนแถวนั้น
ได้จารึกไว้ตั้งแต่ พุทธพัสสา ๔๔ ซึ่งคํานี้ก็ถูกลบเลือนไปแล้ว
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะกลัวว่าคนไทยจะไปรู้ทัน นักรู้ ทั้งหลายว่า พลาดประวัติศาสตร์ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีผู้ชี้ข้อมูลให้ใหม่ก็ไม่ยอมรับ ความจริง
จึงเข้าทํานองว่าไหน ๆ ก็โง่ไปแล้ว ก็ให้คนอื่นโง่ตามไปด้วยก็แล้วกัน จึงได้ยกป้ายบอกความโง่ประจานไว้ ถึงบัดนี้
เรื่องนี้จึงต้องย้อนพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงตรัสว่า พระสงฆ์ที่เป็น
บัณฑิตมาแต่โบราณ หมายความว่าต้อง อาศัยความรู้จาก ศาลาวัด ดีกว่า
ขอยกตัวอย่างที่ได้จารึกคําพยากรณ์ของ พระโสณะ ในวันที่จะปรินิพพานในสมัยนั้น พระเจ้าตะวันอธิราช
ผู้เป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าเดือนเด่นฟ้า ครองสุวรรณภูมิ ซึ่ง ตรงกับรัชสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ครอง
เมืองปาตลีบุตร ได้จารึกไว้ในแผ่นหินทราย เรียกว่า กระเบื้องจาร ได้จารึกไว้ ณ วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ พ .ศ .๒๖๔
( หมายเหตุ กระเบื้องจารแผ่นนี้ คงสมเหตุสมผลตามที่ฝรั่งคาดการณ์เอาไว้ก่อน แล้ว ตามที่กล่าวเอาไว้ใน
ตำนานอักษรไทย ที่ผู้เขียนได้นำมากล่าวไว้แล้วในหน้าก่อนนั้น )
.........( บรรทัด ๑ ) ตวัน ต่อ คํา โสณ
..........( บรรทัด ๒ ) เดือน ไป เกิด เปน
..........( บรรทัด ๓ ) ภ.........
..........( บรรทัด ๔ ) กรุง เทพมหา น
..........( บรรทัด ๕ ) ตร เมื่อ นั้น สุวัณณภูมิ
..........( บรรทัด ๖ ) ฟื้น ชื่อ มี คน รู้ ทั่ว
( ขอขยายความตามคำสมัยนี้ว่า )
........... พระเจ้าตวันอธิราชรับทราบจากพระโสณะว่า พระเจ้าเดือนเด่นฟ้าจะไปเกิดเป็น..ภ... ( ขอสงวนไว้ ) ที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อนั้นคําว่า สุวัณณภูมิ จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
(เรื่องนี้เราคงจะพอจำกันได้ว่า "สนามบินงูเห่า" ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สนามบินสุวรรณภูมิ" คงจะฟื้นชื่อสมดังคำทำนายจริงๆ)
จากแผ่นที่ ๑๖๔ / ๒ ท่านได้ให้โอวาทในวินาทีสุดท้ายว่า
โสณเถรกล่าว ( ก่อนนิพพาน ) ปวงสัตต เกิดและตาย คู่กันมาทั่วทั้งหมด อย่าควนปมาทแล้ว ตายเมือนสัตตาย... (
อ่านพอได้ใจความว่า )
พระโสณเถระกล่าวก่อนที่จะนิพพานว่า คนเราทั้งหลาย เกิดและตายเป็นของคู่กันมาทั้งหมด แล้วอย่าควรประมาท
เพราะจะต้องตายเหมือนสัตว์ตาย
ในเรื่องนี้ต้องขอยุติไว้เพียงแค่นี้ก่อน ไว้คอยติดตามเรื่องราวที่เป็นความรู้ของชนชาติไทย กับการสร้างถิ่นฐาน สร้างขนบธรรมเนียมประเพณี
สร้างอักษรศาสตร์และศาสนากันต่อไป จากหนังสือ พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์ โดย พระราชกวี ( อ่ำ ธัมมทัตโต )
วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพฯ สวัสดี...
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
****************************
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 21/8/08 at 13:28 |
|
Update 21 ส.ค. 51
โลกวิทยา
สำหรับตอนนี้เป็นตอน "โลกวิทยา" คือ "ความรู้เรื่องโลก" ส่วนตอนที่แล้วเป็นตอน "สุวัณณภูมิฟื้นชื่อ" โดยฟื้นมาเป็น
"ราชบุรี" ในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าจะย้อนรอยถอยหลังไป ในอดีตมีชื่อต่าง ๆ พอจะลําดับได้ดังนี้ คือ ราชพลี สุวัณณภูมิ เมืองทอง เมืองแมน เมืองแถน
และ เมืองสรวง
เมืองสรวงนี้ ขุนสรวง กับ นางสาง ประกาศว่า เป็นต้นคนไทย เดิมเป็น "ผีฟ้าแสง" ( อาภัสสรพรหม ) ลงมากินง้วนดินแล้วกลับที่
เดิมไม่ได้ จึงเป็นมนุษย์คู่แรกที่อุบัติขึ้นในเขต นี้ ซึ่งตรงกับกาลสมัย พระพุทธกุกกุสันโธ
เรื่องนี้จึงสมกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" ( สูตรว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเดิม ) เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมานี้เอง ซึ่งอาจจะไม่
ตรงกับทฤษฎีของชาวโลกเท่าใดนัก โดยเฉพาะ ตําราวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โลกนี้แต่ก่อนเป็นกลุ่มหมอกมหึมา ลอยอยู่กลางอากาศอันไม่มีสิ้นสุดนั้น
ซึ่งเรียกว่า "เนบูลา" เมื่อรวมกลุ่มเป็นโลกแล้วมีอายุ ๔ ,๕๐๐ ล้านปี แต่เล่าว่าตะกั่วมีอายุมากกว่า ๕๐๐ ล้านปี ตัวเลขเรโชแสดงให้ทราบ
เอกสารกรมทรัพยากรธรณีว่า มีอายุ ๕ ,๔๐๐ ล้านปี และ ๕ ,๕๐๐ ล้านปี ตอนนั้น ยังลุกเป็นกลุ่มไฟมหึมาลอยอยู่กลางอากาศ มีอาย " ออกซิเยน " คือ
อากาศดีที่หายใจกันอยู่ เพิ่งเริ่มเย็นและเย็นเป็นโลกเมื่อ ๑ ,๗๕๐ ล้านปี มานี่เอง ได้อ้างอายุตะกั่วซึ่งแจ้งเป็นเลขเรโช เช่นเดียวกัน
ครั้นต่อมา เมื่อสร้างยานอวกาศเดินทาง ไปลงที่ ดวงจันทร์ ได้นําทรายจากที่นั้นมา พิเคราะห์กันขึ้นทราบว่า มีอายุถึง ๔ พัน ๖ ร้อยล้านปี
ซึ่งกาลนั้น โลกนี้ยังลุกเป็นไฟอยู่ ส่วนพื้นที่โลกเล่าว่า ตรงมหาสมุทรแปซิฟิกได้ แตกเป็นชิ้นกลมออกไปลอยเป็นดวงจันทร์อยู่ เกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น
เมื่อ ๔ พัน ๖ ร้อยล้านปี โลกยังลุกเป็น ไฟ แร่ธาตุทุกชนิดละลายเป็นเปลวไฟอยู่ จะมี เม็ดทรายได้อย่างไร จึงต้องเลื่อนอายุโลกขึ้น ไปเป็น ๕๕ ,๐๐๐ ( จาก๕
พัน ๕ ร้อยล้านปี ขึ้นไปมีอายุ ๕ หมื่น ๕ พันล้านปี ) โลกจึงเย็น เมื่อ ๑ หมื่น ๗ พัน ๕ ร้อยล้านปีแล้ว จึง มีทรายเกิดขึ้นทันกาล
ที่พื้นดินตอนนั้นแตกกะเทาะออกไปเป็น ดวงจันทร์ คือดวงเดือน ถ้าเลื่อนขึ้นไปจริง ก็ขอเลื่อนขึ้นไปตามด้วย เพียงเติม ๐ อีก ๑ เท่านั้น ง่ายมาก
ขณะนี้จะเล่าตามเอกสารกรมทรัพยากรธรณีที่มีอยู่แล้ว
จากตัวเลขปี ๑ ,๗๕๐ ล้านปีมา โลกเย็นลง ธรรมชาติดั้งเดิมก็งวดตัวแข็ง เป็นพื้นดิน เป็นทราย แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นภูเขาต่าง ๆ อากาศเย็น อากาศร้อน
หรืออายดิน อายฟ้า ประสมกันก็เกิดเป็นชีวิตินทรีย์ต่าง ๆ ตั้งแต่ พืชพันธุ์ ต้นไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ทุกชนิดขึ้น
พันธุ์ ต้นคน เขาเขียนรูปไว้เดิมเหมือน ต้นไม้ เพิ่งมีขึ้นเมื่อ ๗๕ ล้านปีมา วิวัฒนาการ เป็นโครงสร้าง คนลิง เมื่อ ๔๕ ล้านปี ตาม
ที่เจอโครงกระดูกและฟันแหลมซากหินเป็น เขี้ยวแก้วทั้ง ๔ นั่นแหละ เพิ่งเป็นคน มีภาษา และสมองสติปัญญาเมื่อ ๑ ,๘๐๐ ,๐๐๐ ปีมา
ตามที่คณะฝรั่งขุดค้นพบโครงกระดูกซากหิน ( Fossils ) ที่จาโคบี ซึ่งเรียกกันว่า "จาโคบี แมน" เล่าไว้และฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ช่อง ๗ (
ล่าสุดว่า ๔ ล้านปี ลงมาถึง ๑ ล้านปี )
รอยตีนคนนีนเดอร์แทล ซึ่งเหยียบบนดินดานที่ยังเปียก อยู่ ( Wet Clay ) ณ ผาอิตาเลียนว่ามีอายุสี่หมื่นปี ถึงหนึ่งแสนปี ซึ่งเขาถือกันว่า
เป็นต้นคน พวกที่เป็นชาวยุโรป เอเซีย แอฟริกา ดูตามในรูปที่เขา จินตนาการ ตามรูปกระดูกโครงหน้า แล้วเขียนขึ้นคล้าย นโปเลียน โปนาปารุต รอยตีนนี้
ก็ไม่ได้บอกว่าใหญ่ยาวเท่าไร ได้ถ่ายและพิมพ์ ลงหนังสือ เห็นมีกาลอายุเป็นแสนปีจึงนำเอามาเป็นหลักฐาน
ตำราพุทธศาสตร์
ตามที่เล่ามาจะเห็นว่า ทางของไทยและ ทางของยุโรปนั้น กล่าวกําเนิดโลกและพันธุ์พืช สัตว์คนต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน พระพุทธศาสนา
กล่าวว่าโลกงวดเข้าเป็นน้ำอย่างเดียวก่อน จึง เกิดรสปฐวีขึ้นเป็นต้นดิน และมี พวกอาภัสสร กาย หรือ อาภัสสรเทพพรหม ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่
ก่อนโลกวิวัฏฏกัป ซึ่งเคยเป็นคนมนุษยชาติมา ตั้งแต่กัปก่อน ๆ ไปเกิดเป็นอาภัสสรกายเทพ มหาพรหม ได้เที่ยวมากินรสปฐวี ( ง้วนดิน )
จึงกลายเป็นมนุษยชนคนขึ้นก่อนกว่าอย่างอื่น มีสัตว์และพฤกษพันธุ์ เป็นต้น
โลกวิทยาเล่าว่า คล้ายที่เป็นชัชฏากาศ " เนบูลา " เมื่อเป็นโลกก็ลุกเป็นไฟดวงมหึมาอยู่ ก่อนถึง ๓ ,๐๐๐ ล้านปีกว่า กระนั้น ยังกล่าวว่า มีไอน้ำ
เป็นธรรมชาติดั้งเดิมอยู่ จึงพอไปได้ กับที่ว่าเป็นน้ำอย่างเดียว เมื่อเย็นลงแล้วมี พืชพันธุ์ต่าง ๆ ก่อน จึงมีชีวิตินทรีย์ก่อนแล้ว
จึงมีวิญญาณสัตว์ขึ้นเฉพาะพันธุ์มนุษยชาติ หรือคนนั้นมีทีหลังกว่าชีวิตินทรีย์วิญญาณรูปอื่น ๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน สิ่งต่าง ๆ ที่มีมาก่อนโลก
หรือเกิดมาพร้อมโลกนั้น ที่อื่นมีอยู่ ที่ "ราชบุรี นี้ก็มีอยู่เหมือนกัน
( มาถึงตอนนี้ท่านได้อ้าง "อัคคัญญสูตร" คือเรื่องความเป็นมาของโลก ได้เล่าแต่เพียงโดยย่อ ผู้เขียนจึงขอนำรายละเอียดมาให้ทราบดังนี้ )
พงศาวดาร มนุษย์ดึกดำบรรพ์เริ่มสร้างโลก
จาก อัคคัญญสูตร ปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง ปรารภกับสามเณร ชื่อว่า "วาเสฏฐะ" และ "ภารทวาชะ"
เมื่อคราวประทับอยู่ที่ปราสาท ของ นางวิสาขา ในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีใจความว่า "ดูก่อนเธอทั้งสอง ตั้งแต่กาลสมัยดึก ดําบรรพ์นานมาแล้ว
โลกนี้ย่อมมีเสื่อม มีเจริญ หมุนเวียนกันไป เมื่อคราวที่โลกเสื่อม สัตวโลก โดยมากย่อมไปเกิดในชั้น อาภัสสรพรหมโลก ( พรหมชั้นที่ ๖ ) สําเร็จด้วยใจ
มีปีติเป็นอาหาร มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปในอากาศได้ ดํารง อยู่ในวิมานอันสวยงามสิ้นกาลนานนักหนา
ครั้นนานมาโลกนี้ก็เจริญขึ้น ในคราวที่โลกเจริญนี้ พวกสัตว์โดยมากก็จุติเคลื่อนจาก อาภัสสรพรหม มาเกิดในมนุษยโลกนี้ เมื่อมา
เกิดในมนุษยโลกอย่างนี้แล้ว ก็ยังสําเร็จกิจด้วย ใจอยู่ เหมือนครั้งเป็นพรหมทุกอย่าง"
สภาพเดิมของโลก
"ในเวลานั้นโลกนี้เป็นน้ำไปสิ้น มืดมิดไป ทั่วทุกทิศ ไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หมู่ ดวงดาวนักขัตตฤกษ์ ก็ไม่ปรากฏ คืน วัน เดือนหนึ่ง หรือครึ่งเดือน
ตลอดทั้งฤดูและปี ก็ไม่ปรากฏมี เพศหญิง เพศชายก็ไม่มีปรากฏ
พวกสัตวโลกคราวนั้น มีชื่อแต่เพียงว่า สัตว์ เหมือนกันหมด
สัตวโลกกินง้วนดินเป็นอาหาร
"ครั้นกาลล่วงมานานหนักหนา ก็มีรสดิน ( ง้วนดิน ) เกิดปรากฏขึ้นบนน้ำ เพื่อเป็น อาหารของสัตว์เหล่านั้นเหมือนน้ำนม ( ฝ้า ) ที่
ลอยอยู่บนน้ำที่เคี่ยวให้งวดไปฉะนั้น มีสีงาม กลิ่นหอม รสดี เหมือนกับเนยใส เนยข้น หรือน้ำผึ้งฉะนั้น
คราวนั้นยังมีสัตว์ตนหนึ่ง มีนิสัยซุกซน คิดว่า นี่...อะไรกันนะ ครั้นแล้วจึงได้เอานิ้วมือ จิ้ม " ง้วนดิน " มาลิ้มเลีย รสง้วนดินก็ได้ซาบซ่าน จับใจ
เขาก็ได้เกิดตัณหาความอยากขึ้น ต่อมา สัตว์อื่น ๆ ก็ได้ทําตามอย่างเขา ตัณหา คือ ความอยากในรส ก็ได้เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น ตั้งแต่กาลบัดนั้นมา
ครั้นกาลต่อมาอีกสัตว์เหล่านั้นได้พยายาม เอามือปั้นง้วนดินเป็นคํา ๆ แล้วบริโภค เมื่อสัตว์ เหล่านั้นบริโภคง้วนดินเป็นคํา ๆ อยู่ รัศมีคือ
แสงสว่างในตัวก็อันตรธานหายไป เมื่อแสงสว่างของตนหายไป ก็มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดวงนักขัตตฤกษ์ กลางวัน กลางคืน เดือนหนึ่ง กึ่งเดือน ตลอดถึงฤดู ปี
ก็มีขึ้น โลกนี้ก็กลับเจริญขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ "
ง้วนดินหายไป
"พวกสัตว์ที่กินง้วนดินเป็นอาหารอยู่นั้น เป็นเวลาล่วงมานานนักหนา และร่างกายของ สัตว์เหล่านั้น ก็เกิดแข็งกระด้างขึ้น ทั้งผิวพรรณ ก็เกิดต่างกันขึ้น
คือมีผิวดีและผิวไม่ดี พวกที่มีผิวดี ก็ตําหนิติเตียนผู้ที่มีผิวพรรณไม่ดี เมื่อพวกนั้นถือตัวและดูหมิ่นกัน เพราะถือผิวพรรณเป็นเหตุอยู่เช่นนี้ ง้วนดิน
ที่ตนเคยได้กินอยู่นั้นก็อันตรธานไป และสัตว์เหล่านั้น ต่างก็พากันบ่นเสียใจเป็นอันมาก เพราะง้วนดินหายไป
ครั้นต่อมาในบัดนี้ คนทั้งหลายเมื่อได้ อะไรที่รสดี ๆ ก็ชอบพูด " รสดีจริง รสดีจริง... " ดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงเรื่องโลกเท่านี้ (
คือระลึกได้ถึงความเกิดขึ้นของโลกนานมา แล้ว ) แต่ไม่รู้อรรถาธิบาย
กินสะเก็ดดินเป็นอาหาร
"ในเมื่อ "ง้วนดิน" หายไป เกิดกะเทาะพื้นดินสูงขึ้นเหมือนร่มงู หรือที่เรียกว่า "สะเก็ด ดิน"
ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้น มีสีงาม กลิ่นหอม รสดี เหมือนเนยใส และ เนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภคสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหารอยู่ ก็ได้ล่วงเลยมานานนักหนา ทั้งร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็เกิดแข็งแรงขึ้น และมีการดูหมิ่นดูถูกกัน
เพราะเหตุผิวพรรณดังกล่าวมาแล้ว
กินเครือดินเป็นอาหาร
เมื่อพวกสัตว์ดูหมิ่นดูถูกกันอยู่อย่างนั้น "สะเก็ดดิน" หายไป "เครือดิน" ( เถาไม้ที่ใช้กิน เป็นอาหารได้ ) ก็ปรากฏขึ้น
เพื่อเป็นอาหาร ของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งมีสัณฐานเหมือนดอกผักบุ้ง มีสีงาม กลิ่นหอม รสดีเหมือนเนยใส เนยข้น ดังที่กล่าวมาแล้ว
พวกนั้นก็ได้พยายามบริโภคเครือดินอยู่ ตลอดสิ้นกาลนาน ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น ทั้ง ผิวพรรณก็เกิดต่างกันขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้าง ต้นนั้นทุกอย่าง
ครั้นต่อมาเมื่อเครือดินนั้นหาย ไป พวกสัตว์เหล่านั้นก็พากันบ่นรําพันถึงว่า ของเรามีแล้ว บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.. ดังนี้
เพราะฉะนั้น คนเราทุกวันนี้ เมื่อได้รับทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแล้ว ก็ชอบพูดว่า "โอ...พวกเราเต็มทีแล้ว"
ดังนี้พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงโลกเพียงเท่านี้ แต่ไม่รู้จักอรรถาธิบาย
กินข้าวสาลีเป็นอาหาร เพศหญิงเพศชายก็ปรากฏขึ้น
"ครั้นเมื่อ "เครือดิน" หายไปแล้ว ก็มี "ข้าวสาลี" งอกขึ้นเองในที่มิได้ไถหว่าน ไม่มีรํา ไม่มีแกลบ เป็นข้าวขาว มีกลิ่นหอม
ก็เกิดขึ้น เพื่อเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้น ในที่ ๆ พวก สัตว์นําข้าวสาลีมาบริโภคในเวลาเย็น
ครั้นรุ่งเช้าที่ ๆ เขานําไปนั้น กลับงอก สุกเต็มอยู่อย่างเดิม ( คือเวลาตวงไปกิน ที่ ๆ ตักตวงไปนั้นก็เต็มบริบูรณ์อยู่ตามเดิมไม่พร่อง เลย )
เมื่อพวกนั้นบริโภคข้าวสาลีที่เกิดเองนั้น อยู่ตลอดกาลนาน ร่างกายก็แข็งแรงมากขึ้น ทั้งมีผิวพรรณวรรณะก็ต่างกันมากขึ้น ต่อแต่ นั้น เพศหญิง และ
เพศชาย ก็ปรากฏขึ้น ตั้งแต่กาลบัดนั้นมา"
เพศหญิงและเพศชายสมสู่กันเอง
"ได้ยินมาว่า สัตว์ที่เป็นเพศหญิงและเพศชายนั้น ต่างก็ได้จ้องมองดูกัน เมื่อจ้องดูกันและกันนานขึ้น ความกําหนัดในเรื่องเพศก็เกิดขึ้น
เพราะความเร่าร้อนในกายนั้น จึงได้เสพเมถุนธรรมต่อกันตั้งแต่กาลบัดนั้นมา เมื่อสัตว์พวกนั้นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ สัตว์พวกอื่นก็ได้พบเห็นเข้า (
เห็นเป็นสิ่งที่ หยาบโลน ) จึงได้เอาฝุ่นบ้าง ก้อนดิน และ มูลโคบ้าง โยนทิ้งใส่ไป พร้อมกับด่าว่า "ฉิบหาย ๆ คนชั่วร้าย เหตุไรจึงทำกัน อย่างนี้ ?
แม้ทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง ก็ยังมีหมู่คนนิยมประพฤติกันเช่นนั้นอยู่ พวกพราหมณ์รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโลกเพียงเท่านี้ แต่ไม่รู้จักอรรถาธิบาย
สร้างบ้านเพื่อปิดบังเมถุนธรรม
"คราวนั้น สิ่งที่เขาสมมติกันว่าไม่เป็นธรรม แต่มาบัดนี้เขาสมมติกันว่าเป็นธรรม ครั้นกาลต่อมาพวกสัตว์ที่เสพเมถุนธรรมต่อกันนั้น
ไม่กล้าเข้าที่ประชุมตั้ง ๒-๓ เดือนก็มี เมื่อต้องการเสพเมถุนธรรมให้ได้มาก ๆ จึงได้พยายามพากันสร้างบ้านเรือนขึ้น ปิดบังการกระทำสิ่งที่ น่าละอาย
เพื่อไม่ให้ใครมาพบเห็นเข้า"
ข้าวสาลีกลับกลายเป็นข้าวที่มีแกลบและรํา
"คราวนั้น มีคนขี้เกียจคนหนึ่งคิดว่า เราต้องลําบากมากเพราะต้องไปเก็บข้าวสาลีมากิน ทั้งเช้าทั้งเย็น เป็นการเหน็ดเหนื่อยมาก
เราควรจะนํามาให้พอทั้งสองเวลา จึงจะเป็นการดี ไม่ต้องไปบ่อย ๆ ครั้นแล้วจึงได้ไปนําข้าวสาลีมาให้พอทั้งสองเวลาดังคิดไว้
ต่อมามีเพื่อนคนหนึ่งไปชวนเขาเพื่อไปเก็บข้าวสาลีมาไว้ เขาบอกเพื่อน ว่าเราได้เก็บมาไว้พอ ๒ เวลาแล้ว คนที่เป็นเพื่อนก็เอาอย่างเขา
แต่เก็บมาครั้งเดียวให้พอ ๒ วัน มากกว่าคนแรกนั้น ต่อมาก็มีเพื่อนคนที่ ๓ ที่ ๔ เอาอย่าง คนที่ ๒ ที่ ๓ ไปเก็บมาให้พอเป็นทวีคูณถึง ๘ วัน
เพราะเห็นว่าเป็นการดีไม่ต้องไปบ่อย ครั้งให้ลําบากเปล่า ๆ
เพราะเหตุที่พวกนั้นไปเก็บข้าวสาลีมาสะสมไว้มาก และนานวันข้าวสาลีนั้น จึงได้กลายเป็นข้าวที่มีแกลบมีรํา และสถานที่เก็บแล้ว ก็ไม่งอกขึ้นตามเดิมอีก
ได้มีรอยเก็บปรากฏอยู่ และได้มีข้าวสาลีงอกอยู่เป็นหย่อมๆ ( ไม่แน่นทึบเหมือนแต่ก่อน ) "
ปักปันเขตแดนไร่ข้าวสาลีเพื่อป้องกันขโมย
"คราวนั้น พวกนั้นปรึกษารําพันว่า พวกเราทั้งหลาย ได้ประพฤติความชั่วช้าลามกมากขึ้น
แล้ว ซึ่งเมื่อก่อนพวกเราเคยคิดอะไร ก็สมใจนึกทุกอย่าง อยู่ด้วยปีติเป็นอาหาร มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปในอากาศก็ได้
ทั้งได้อยู่ในวิมานอันสวยงามสิ้นกาลนานแล้ว ครั้นกาลต่อมา ง้วนดินก็ดี สะเก็ดดินก็ดี เครือดินก็ดี ที่มีสีงาม กลิ่นหอม รสดี ซึ่งพวกเราเคยบริโภคมาแต่ก่อน
ก็ได้หายไปจากพวกเราโดยลําดับแล้ว ทั้งแสงรัศมีในกายพวกเราก็ได้หายไป
และมาบัดนี้ ข้าวสาลีก็ได้กลับกลายเกิด มีแกลบมีรําหุ้มห่อขึ้น ในที่ ๆ พวกเราไปเก็บมา ก็ไม่งอกขึ้นเหมือนเดิม มิหนําซ้ำยังจะมีผู้ไป ลักขโมยกันขึ้นอีก
นี้เพราะความชั่วช้าลามกได้ เกิดขึ้นในหมู่พวกเราแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเราควรปักปันเขตแดน ไร่ข้าวสาลีไว้เป็นส่วน ๆ ว่า เป็นของใคร จึง จะเป็นการดี
ครั้นแล้ว ก็ได้พากันแบ่งส่วนแห่ง ข้าวสาลีและปักปันเขตแดนไว้ ตามที่ได้ตกลง กันทุกประการ"
เริ่มตั้งผู้ปกครอง เพราะมีการลักขโมย
"ครั้นกาลต่อมาก็ได้มีคนนิสัยโลภคนหนึ่ง ได้ลักขโมยของผู้อื่นมาบริโภคทั้ง ๆ ที่ของ ๆ ตนก็มีอยู่ คนทั้งหลายก็ได้ว่ากล่าวตักเตือน เขาถึง ๒-๓ ครั้ง
แต่บางพวกได้ใช้มือตบเขาบ้าง ใช้ก้อนดิน ท่อนไม้ ทุบตีเขาบ้าง
อทินนาทาน การลักขโมยก็ดี ความติเตียนก็ดี มุสาวาท การพูดเท็จก็ดี การถือ ท่อนไม้ก็ดี ได้มีขึ้นตั้งแต่กาลครั้งนั้นมาจนทุก วันนี้
เมื่อเหตุการณ์คือการลักขโมยเป็นต้น เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้เรื่อยมา พวกสัตว์เหล่านั้น จึงปรึกษาหารือกันว่า พวกเราควรจะสมมติตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง
ให้เป็นผู้ปกครองรับผิดชอบเรื่อง ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่นประกาศกำจัดคนที่ควรกําจัด ตําหนิผู้ที่ควรตําหนิ เนรเทศผู้ที่ควรเนรเทศ โดยชอบธรรม
ส่วนพวกเราจักแบ่ง ข้าวสาลี อันเป็นรายได้ของพวกเราให้แก่ผู้ที่ เป็นหัวหน้านั้น
ครั้นตกลงกันดังนั้นแล้ว จึงได้พากันเข้าไปเลือกหาผู้มีรูปร่างงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส ทั้งมีเดชศักดามากกว่าตน
แล้วจึงได้อ้อนวอนตั้งผู้นั้นให้เป็นหัวหน้าดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เป็นหัวหน้านั้น ก็ได้รับทํากิจทุกวิถีทาง อันเป็นการชอบธรรม ทั้งได้รับส่วนแบ่งจาก
ผู้อยู่ใต้ปกครองโดยสมบูรณ์พูนสุข"
คําว่าสมมติก็ดี กษัตริย์ก็ดี ราชาก็ดี ได้เกิดขึ้นในโลกครั้งแรก
"ด้วยเหตุนี้แหละ คําว่า มหาสมมติ จึง ได้เกิดเป็นสําเนียงพูด ( อักษร ) กันขึ้นครั้งแรก ในโลก ซึ่งเพี้ยนมาจากคําว่า มหาชนสมมติ
ซึ่งแปลว่า ผู้ที่มหาชนได้พร้อมเพียงกันสมมติ แต่งตั้งขึ้น
ผู้ที่เป็นเจ้าแห่งนาทั้งหลาย เรียกว่า กษัตริย์ คําว่า "กษัตริย์" นั้น ได้เกิดเป็นที่ ๒ รองจากคําว่า "มหาสมมติ"
ผู้ที่ทําให้คนเหล่าอื่นดีใจรักใคร่โดยชอบ ธรรม เรียกว่า พระราชา คําว่า "พระราชา" ได้เกิดเป็นที่ ๓ ต่อจากคําว่า "กษัตริย์" (
มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ) เป็นอันได้ใจความว่า ความเกิดขึ้นแห่งวงศ์กษัตริย์ ต้นเดิมได้มีมาแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัตว์ผู้เป็นกษัตริย์
เหล่านั้น ได้มีติดต่อกันมาถึงพวกที่เหมือนกัน โดยชอบธรรม เพราะว่า "ธรรมะ" เป็นของประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
พราหมณ์ ผู้ลอยบาปก็ดี ผู้เจริญฌานก็ดี เกิดขึ้นในโลกครั้งแรก
"ครั้นกาลต่อมา คนบางพวกมีความคิดเห็นว่า ความชั่วช้าลามกทั้งหลายเป็นต้นว่า การลักขโมย ความครหานินทา และมุสาวาท การพูดเท็จ
ได้เกิดขึ้นในหมู่พวกเรามากมาย ควรที่พวกเราจะลอยบาปอกุศลธรรมนั้นเสีย จะได้อยู่ เป็นสุขกันต่อไป
ครั้นแล้วก็ได้พากันทิ้งบาปอกุศลธรรมนั้นเสีย พวกที่ลอยบาปเหล่านั้นจึงมีชื่อว่า "พราหมณ์" ที่แปลว่า ผู้ลอยบาป ได้เกิดขึ้นใน
โลกเป็นครั้งแรก ( ตั้งแต่กาลบัดนั้นมา ) พวกพราหมณ์เหล่านั้น สร้างกระท่อมใบไม้อยู่ในราวป่า เพ่งฌาน เจริญฌาน อยู่บนกระท่อมนั้น ไม่มีการหุงต้มอาหาร
ทั้งไม่มีการตําข้าว อาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีวิต คือเที่ยวภิกษาจารตามแต่จะได้ ท่านเหล่านั้นจึงมีชื่อเกิดขึ้น เป็นครั้งที่ ๒ ตามที่มหาชนขนานนามเรียกว่า
"ฌายิกา" ผู้เพ่งฌาน ผู้เจริญฌาน ดังนี้
อนึ่งบรรดาท่านเหล่านั้น บางพวกไม่อาจเจริญฌานอยู่ในราวป่าได้ เป็นแต่ได้เข้าไปยังละแวกบ้านและเมืองแล้วได้ตกแต่งคัมภีร์ จึงมีชื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งที่
๓ ตามที่มหาชนขนานนามเรียกว่า "อัชฌายิกา" คือผู้มิได้เพ่งฌาน มิได้เจริญฌาน ดังนี้ ความเป็นมาแห่งพราหมณ์และผู้เจริญฌาน ผู้แต่งคัมภีร์นั้น
ย่อมมีติดต่อกันมาด้วยชอบ ธรรมจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น จึงว่า "ธรรมะ" เท่านั้นจึงชื่อว่าเป็นของประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
พวกเวศย์และพวกศูทรเกิดขึ้นในโลกครั้งแรก
"ในคราวนั้น คนบางจำพวกก็พากันส้องเสพเมถุนธรรม และมีการประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน พวกนั้นจึงได้นามว่า "เวศย์" ซึ่งได้แก่ จําพวกพลเรือน
ผู้มีธุระทางทํานาค้าขาย ครั้นต่อมา คนบางจำพวกก็ได้ประพฤติตนเหมือนพวก "เวศย์" ดังกล่าวแล้วนั้น พวกนั้นจึงได้นามว่า "ศูทร" ซึ่งได้แก่พวกคนงาน
ผู้มีธุระทางรับจ้างทํา การทําของพวกเวศย์และ ศูทรตั้งแต่ครั้งกระโน้น ได้สืบสายติดต่อกัน มาจนกระทั่งทุกวันนี้"
"วรรณะ ๔ เหล่าคือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ และ ศูทร ได้เกิดสืบสายติดต่อกันมาในโลกโดยความชอบธรรมทีเดียว หาใช่ไม่ชอบ ธรรมไม่
เพราะฉะนั้น "ธรรมะ" เท่านั้นจึงชื่อว่า ป็นของประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
ความไม่ต่างกันแห่งวรรณะ ๔ เหล่า
ต่อไปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงความไม่แตกต่างกันแห่งวรรณะ ๔ เหล่า ในการทําความชั่วหรือทําความดี ทางกาย วาจา ใจ
ย่อมได้รับผลเสมอกันดังต่อไปนี้
"ดูก่อนเธอทั้งสอง กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี เวศย์ก็ดี ศูทรก็ดี ผู้ที่ปลีกตัวออกไปบวช เป็นสมณะก็ดี ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ แล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ
มีความเห็นผิดเป็นต้น แล้วเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเสมอกันหมด ไม่มียกเว้น ส่วนผู้ที่ทำความดี และเป็นสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นชอบตามทํานองคลองธรรมแล้ว เมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น
อนึ่ง ผู้ที่ทํากรรมสองอย่างปนคละกันไป คือทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว ตลอดทั้งมีความเห็นดี และชั่วปะปนกัน เวลาตายไปย่อมได้เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง
เหมือนกันทั้งนั้น และผู้ที่สํารวมกาย วาจา ใจ อบรมตน ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ( มีมหาสติ ปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ) จนได้บรรลุธรรมถึงที่สุด คือมรรคผลแล้ว
ย่อมปรินิพพานในปัจจุบัน ภพนี้เหมือนกันหมด"
อนึ่ง ในที่สุดแห่งพระสูตร พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า "สมณะ" คือพระอริยบุคคลที่ แยกออกมาบวชจาก วรรณะ ๔ นั้น โดยไม่ จํากัดชาติชั้นวรรณะ
เมื่อสําเร็จกิจพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสหมดแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นผู้เลิศสูงสุดกว่าวรรณะเดิมทั้ง ๔ ของตนนั้น เพราะฉะนั้น "ธรรมะ"
เท่านั้น จึงชื่อว่าเป็น ของประเสริฐสูงสุดในหมู่มนุษย์ทั้งในโลกนี้และ โลกหน้า สมดังคําที่ สนังกุมารพรหม ได้กล่าว ไว้ว่า
"กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ ที่มีความรังเกียจกันด้วยโคตรตระกูล แต่ผู้ที่ สมบูรณ์ด้วยความรู้ ( วิชชา ๓-๘ ) และจรณะ (
ความประพฤติ ) เป็นผู้ประเสริฐสุดในเหล่า เทวดาและมนุษย์" ดังนี้
"ข้อที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ดังนี้ เราตถาคตก็เห็นชอบด้วย เพราะเป็นคําที่กล่าวไว้ ถูกต้องแล้ว ถึงเราตถาคตจะกล่าว ก็ต้อง
กล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน"
ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระสูตรนี้จบลงแล้ว สามเณรวาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ ก็เพลิดเพลินยินดีต่อพระพุทธ ภาษิต
ด้วยประการฉะนี้
อรรถาธิบาย
คำว่า "ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์" นั้น พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ โดยตั้งคำถามว่า
อย่างไหนเกิดก่อนกัน?
มีคำแก้ไขว่า "ดวงอาทิตย์" เกิดขึ้นก่อน คือเมื่อแสงสว่างที่ออกจากตัวของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดความมืดขึ้น พวกนั้นก็กลัว
ได้พากันนึกว่า ถ้าแสงสว่างเกิดขึ้นจะดีมาก
ลำดับนั้น สุริยมณฑล คือดวงอาทิตย์ ที่ทำความแกล้วกล้าแก่พวกนั้นก็เกิดขึ้น ดวง อาทิตย์นั้นจึงได้นามว่า "สุริยะ" เมื่อดวงอาทิตย์
นั้นทำให้สว่างอยู่ตลอดวันแล้วกลับหายไป ความมืดก็เกิดขึ้นอีก พวกนั้นก็คิดว่า จะเป็น การดีมากถ้าแสงสว่างอย่างอื่นจะเกิดขึ้น
ฉันทัง ญัตวา จันทะมัณฑะลัง พอจันทมณฑลรู้จักความพอใจของพวกนั้นแล้วก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีชื่อว่า "ดวงจันทร์" คือแปลงตัว
"ฉ" เป็นตัว "จ" เพราะเหตุว่า เดิมทีออกจากคำว่า "ฉันทะ" ที่แปลว่า พอใจ แล้วเรียกเพี้ยนไปว่า "ดวงจันทร์"
ส่วนผู้ที่ได้รับเป็น พระเจ้ามหาสมมติ ในครั้งแรกนั้นคือ พระโพธิสัตว์เจ้า ของเราทั้งหลาย และคำว่า
"แต่งคัมภีร์" นั้น ได้แก่ แต่งไตรเพท และบอกไตรเพท
ll กลับสู่ด้านบน
ยุคที่ ๑ ขุนสรวง และ นางสาง
..........เหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระสูตรนี้ ก็ป็นเพราะว่าสมัยพุทธกาลนั้น
พวกพราหมณ์ถือชาติ ถือตระกูล ถือว่าเป็นพวกประเสริฐ พวกอื่นเป็นพวกเลวทราม ถือว่าพราหมณ์เป็น โอรสของพรหม เป็นผู้เกิดจากปากพรหม แต่ความเป็นจริงนั้น
ผู้ที่อุบัติขึ้นในโลกนี้ มีสภาพเหมือนกันหมด ดังเช่นเรื่องราวที่เกิด ขึ้นในบ้านเมืองของเรา ก็มีเรื่องราวการสร้าง โลกดังรายละเอียดต่อไปนี้
...........จริงอยู่ รูปนี้หล่อทําชั้นหลังมามาก แต่คงทําเลียนแบบเก่า ลักษณะแบบเปลือย ทํามือ เท้าเป็นแผ่น ๆ แม้รูปใหญ่ ๆ ก็เห็นทําเป็นแผ่น ๆ
คล้ายตีนเป็ด ซึ่งเป็นเครื่องหมายรู้ว่า ขุนสรวง ขุนนางสาง ยุคสมัย เมืองสรวง อีสาน เรียก "ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี" มีชื่อว่า
"สัง" หรือ "สาง" เหมือนกัน
...........รูปอย่างนี้พบทั่วไปยืนยันนับถือผีสางเหมือนกัน ซึ่งเป็นคนสมัยต้นภัททกัป ถึงสมัย พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธ สําหรับผีฟ้าคล้าย
อาภัสสรเทพพรหม ต่างเพียงมีเพศหญิงเท่านั้น อาภัสสรพรหมว่ามีแต่เพศชาย และรูปเคารพนี้ ที่ราชบุรีหมอไทยเอาขึ้นตั้งในพานแก้วทั้งคู่ ขุนสรวง ชื่อว่า
"พ่อหมอ" ขุนหญิงนางสาง เรียกชื่อ "แม่มด" คือ "หมอมดลูก"
............ขุนสรวงและนางสางนี้ "เป็นต้นผีไทย" เมื่อมาเป็นมนุษย์ตามที่ปรากฏเรื่องนั้น เป็น ต้นคนไทย คือเป็นต้นชายหญิงไทย เมื่อตาย
ไปเป็นผีอยู่ในสรวงสวรรค์ ก็ได้เป็น ผีฟ้า หรือ จ้าวฟ้า เป็นต้นผีไทย แม้ในระยะกาล ยาวนานหนักหนา ถึงกระนั้นก็ยังระลึกเคารพ บูชากัน
กระทั่งเป็นประเพณีแบบไทย เช่นชื่อ บวงสรวง เซ่นสรวง เซ่นไหว้ กันมา คนไทย ได้รักษากันตลอดกาล จึงอยู่กับไทยได้ทั้งคน กับทั้งจ้าวผีทั้งหลาย
..........ที่เป็นยอดสุดก็คือ สร้างแบบอย่างไทยกัน ไว้ได้ปฏิบัติกันมา กระทั่งเป็นประเพณีในทุกๆ อย่าง และคงสืบกันมา จึงชื่อว่าเป็นของที่อยู่แก่ คนไทย
ยืนยันว่าไทยมีอยู่นานสมัยโบราณกาล มาแล้ว และไทยทําเป็นกันมาจนกระทั่งเป็น สายเลือด สายจิตใจไทย นี่แล ที่เป็นไทยมีอยู่ แก่ไทยและคงไทยมาถึงปัจจุบัน
เมื่อ ต้นขุนสรวง และ นางสาง ได้ตั้ง เป็นต้นแรกแล้ว เป็นประเพณีแบบอย่างบวง สรวงกันมา ต่อมาคนไทยเกิดมาแล้ว เป็นคน ค้นทําอะไรขึ้น
เมื่อตายไปก็ขึ้นเป็นผีต้น เช่น ขุนอิน นางกวัก เป็นต้นความเจริญ ตั้งความ เจริญ ตั้งกาลเวลา ปี เดือน วัน นี้เป็นต้นผี
ขอมฟ้าไทย ขุนสือไทย ขุนเลกไทย ขุนหญิงไทยงาม เป็นผู้สร้างลายสือ และลาย เลข อ่านรู้เรื่องก็ขึ้น เป็นต้นครูบาอาจารย์
เมื่อตายไปก็ขึ้นเป็นต้นผีครูบาอาจารย์ ฯลฯ
"เมื่อถึงกาล "ขอม" คือ ครอบ ก็มาทรง สรรสร้างให้ขลัง ศักดิ์สิทธิ์เป็นขึ้น แม้จะล่วงไป นานแล้ว ก็ยังอนุเคราะห์มาสืบสาย
"สาง" ไว้ ไทยจึงต้องมีแบบไทย คือ มีขุน มีขอม เป็น แบบไทย คือมีผี มีต้นจ้าวขุน มีขอมคือ ครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งของขลัง คือ ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งคนได้จากสาง คือ จ้าว ในสรวงสวรรค์ ชั้นหนหาวนั้น อันยืนยันว่า แบบไทยมีโลกนี้ โลกหน้า โลกคนสร้าง สางสรรทรง ทั้งนี้มีอยู่
และเป็นแบบไทยที่คงมาถึงปัจจุบัน
ต้นกำเนิดชายหญิง
ขุนสรวง เดิมเป็นผีฟ้าแสง ( อาภัสสรกาย ชั้นอาภัสสรเทพ พรหม ) ได้เที่ยวมาสู่หล้านี้ ได้กลิ่นอาย "ง้วนดิน" หอมติดใจ จึงลงมาและ
ใช้มือจับกินเข้าไป มีรสอร่อยหวานมัน กลืนเข้า ไป เข้าไปมากกระทั่งอิ่ม เกิดง่วงนอนจึงนอน หลับ ด้วยอํานาจธรรมชาติอายดิน และอายฟ้า
กระทําร่างผีฟ้าแสงให้กลับเป็นร่างคนแล้ว ได้เปลี่ยนให้ลืมหมดในขณะหลับนั้น
นานเท่าไรไม่ปรากฏ เมื่อตื่นขึ้นกลับรู้สึก สมบูรณ์แล้ว ได้มองดูรอบ ๆ รู้แต่ว่าอยู่ที่ ภูเขาเป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบ มีกลางคืน กลาง วัน มีนก
ปลาอยู่แล้ว และที่มีอยู่คนเดียว ขุนสรวงจึงยังไม่มีคําพูด และไม่มีข้อคิดละอาย จึงอยู่อย่างธรรมชาติ คือไม่มีเครื่องแต่งตัว
เมื่อหนาว เข้าถ้ำหินดิน เมื่อร้อน เข้าร่มไม้ เข้าเพิง เมื่อหิวกินดิน กินไม้ กินมะ ( ลูกไม้ ) กินน้ำ กินปลา กินไข่นก มีผีฟ้าแสงมาเที่ยว หลายคราว
แต่ไม่มีคําพูดได้แต่นึก ไม่รู้จัก เพียงว่าเขามาเที่ยวแล้วก็จากไป นานเนิ่นมา นาน มีผีฟ้าแสงมาหลายคราว และหลายผู้ และนานเท่าไรไม่รู้
เที่ยวไปทางไหนบ้างก็จํา ไม่ได้ พักอยู่หลายแห่งหน
กระทั่งคราวหนึ่ง มีผีฟ้าเหลืองทองพุ่ง ลอยมาลงอยู่ ณ พื้นราบขาวสะอาด ขุนสรวง แฝงร่างเข้าไปดูมองเห็นผีฟ้าแสงนั้นคุกเข่า ใช้สองมือควัก "ง้วนดิน"
กินอย่างเอร็ดอร่อย จึงนึกเรื่องของตัวได้ว่า ตัวเองก็เคยเป็นผีฟ้าแสงอย่างนี้ และมากินง้วนดินอย่างนี้ จึงง่วงและหลับไป พลังแสงหายหมด จึงกลับไปที่เดิม
ไม่ได้ เมื่อนึกรู้แล้ว นึกว่าคงจะกินมากแล้วจะหลับ พลานุภาพแสงนั้นจะหายหมด และกลับไม่ได้ จะได้อยู่เป็นเพื่อนกัน จึงสงบนิ่งมองดูอยู่
ผีฟ้าแสงเหลืองทองนั้น เมื่อกินง้วนดิน นั้น ได้เกิดติดรสอร่อยหวานมันนั้น ก็กินเข้าไป กินเข้าไปชนิดเพลิดเพลิน กระทั่งอิ่มและบังเกิดง่วงนอนโงกไปมา
ที่สุดแสงแดดอ่อนลงก็ล้มตัวลงนอนหงายเหมือนรูปกองไฟมีแสงกระจ่างออก เมื่อตะวันลับไปก็ยังปรากฏแสงกระจ่างโพลงอยู่อย่างนั้น
ขุนสรวงมองดูอยู่กระทั่งรุ่งขึ้น ผีฟ้านั้นก็ยังหลับอยู่ตามเดิม เข้าคืนที่ ๒ แสงค่อย จางและหรี่ลง ปรากฏร่างขึ้น มีเงาที่อกทั้งสอง ข้างสูง
ขุนสรวงมองดูทั้งของผีฟ้าและของตัว ปรากฏว่าไม่เหมือนกัน กระทั่งตะวันขึ้น แสงนั้นจางลงไปมาก แต่ก็ยังหลับอยู่ เมื่อเข้าคืนที่ ๓
แสงนั้นมีอาการหรี่และโพลงขึ้นเป็นระยะ ๆ ร่างก็ชัดเจนขึ้นปรากฏพร้อม กระทั่งรุ่งเช้า แสงจางไปเกือบหมด เมื่อแสงแดดกระทบร่างแผดส่องอยู่นาน
แสงเดิมก็ค่อยหายไปในแสงแดด และผีฟ้านั้นสะดุ้งตื่นขึ้น
เมื่อมองดูตัวแล้ว ไม่มีแสงอาภรณ์ประดับอยู่ ได้ทะลึ่งลุกขึ้นกระโดดเพื่อลอยไปก็ไม่ได้ กลับลงมาตามเดิม ขุนสรวงคิดว่านางจะหนีไป
จึงวิ่งออกไปกระโดดจับไว้ เมื่อจับถูกตัวนาง ปรากฏว่านิ่มมือ นางหลับตากระโดดจะเหาะลอยหนีก็ไม่ขึ้น เมื่อถูกจับยึดไว้ได้ตกใจร้อง ดุว่า "อะ...อ้า..!"
ซึ่งเป็นคําต้นที่พูดกันในกาล นั้น เมื่อนั้นยังไม่มีชื่อและคําพูดใดอื่น
ต้นกำเนิดการเรียกชื่อ
เมื่อขุนสรวงจับยึดไว้ นางคุ้นเข้าก็เลยหยุดนิ่ง และยอมอยู่ด้วย ขุนสรวงมองดูตัวเห็นยังมีแสงเลือง ๆ อยู่บ้างจึงเรียกว่า "สาง"
และนางก็ทํามือให้รู้ว่าขุนสรวงสูงกว่า จึงเรียกว่า "สรวง" จากนั้นก็เรียก ปาก จมูก หน้า ตัว และเรียก ต้นไม้ ดิน ลม น้ำ ไฟ เท่าที่คิดได้
และใช้เรียกกันมา ได้อยู่กันอย่างสนุกสนาน อุ้มลงอาบน้ำ เริงเล่นแสงแดด นั่งตากลม เมื่อหิวก็หยิบดินแบ่งกันกิน หรือจับปลา จับ นก เด็ดลูกไม้กินกัน
ตอนนั้นมีเกลื่อนกลาด ไม่ต้องทํา มีตลอด ไป และอยู่ด้วยกันมานาน ไม่รู้จักการเป็นผัว เป็นเมียกัน ไม่มีการนับปี เดือน วัน รู้เพียง มืด สว่าง หรือคืน
วัน จึงไม่รู้ว่าอยู่กันมากี่ปี และไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ได้เที่ยวตามผา เขา อยู่ ถ้ำได้ทุกวัน ถ้ามีงูก็จับคอหรือหางไปปล่อยที่อื่น เสือ ช้าง หมี แรด
ก็ตั้งชื่อเรียกกัน และอยู่ ด้วยกันได้ ต่างไม่ทําอะไรกัน
ต้นกำเนิดการสืบพันธุ์
นานนัก "ผีฟ้าแสง" มาสอนให้รู้ บอกว่า ให้มาอยู่เป็น "ต้นคน" จะได้มีคนอยู่ที่นี้เหมือน อื่นเขามีแล้ว สอนให้รู้รักกันทําท่าให้ดู
และ บอกให้ดูของกันและกัน
"กูมองสาง และสางมองดูยิ้มหัวเราะกัน แล้วได้เข้ากอด รู้รอดเสิงสราญหร่อยรักแล้ว ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้เบื่อ ใคร่ใกล้ชิด ใคร่กอด ใคร่ถูก
ใคร่รักรอดเสิงสราญอ่อยหร่อย มื้อห่าง ไห้หา มื้อไกล ใคร่กลับ มื้อใกล้ใจชุ่มชื่นเสริงสราญ นานนักมักหลาย กินคืน กลืนวัน... "
สางท้องโตขึ้น ทั้งคู่ไม่รู้เรื่องลูก เมื่อคราวคลอด เจ็บปวดร้องคราง ขุนสรวงช่วยด้วยสงสาร เมื่อขุนสรวงจับดึงออกมา ทําให้สางเจ็บปวดร้องดัง
จึงฉีกกินและให้สางกินบ้าง สางไม่รู้ก็กินด้วย ลูกคนแรกนั้นเป็นชาย เมื่อ มีคนที่ ๒ เป็นหญิง ขุนสรวงว่าของสางที่รัก ของตน จึงฉีกกินอีก
และให้สางกินด้วยกัน
เมื่อคลอดคนที่ ๓ เป็นชาย ขุนสรวง จะฉีกกินอีก ตอนนี้สางชํานาญออกลูกแล้ว ได้ร้องขอขุนสรวงเอาไว้ดู แม้ "ผีฟ้าแสง" ก็มาห้าม
ทั้งกล่าวว่าให้มาอยู่เป็นต้นคนหญิงชาย สืบต่อกันไปให้มาก ขุนสรวงเป็นชายมีเชื้อ "เลื้อ" สางเป็นหญิงมี "มดมะ" ( ต่อมและรังไข่เชื้อเลี้ยงลูก )
สรวงมีกุ่มเกือะ สางมีกกกลุ่ม มื้อเกือะ ก้ำกก เชื้อเลื้อสรวง ๓๒ แบ่งออกไปให้ ๒๐ กกสาง ๓๒ แบ่งให้ก้ำ ๑๒ มะเป็นชาย เชื้อเลื้อ ๑๒ กก ๒๐ มะเป็นหญิง มื้อมึง
กินกันจะหมดไม่มีเหลือต่อ และกูผีฟ้าแสง จะกินขุนสรวงด้วย ขุนสรวงจึงยั้งไว้
ต้นกำเนิดแม่ "นม"
เมื่อสางเลี้ยงลูกก็ไม่รู้ ครั้นหิวร้องขึ้น สางอุ้มขึ้นแนบอก ปากลูกถูกหัวนมขวาอ้าปาก จะร้อง พอหัวนมเข้าปาก ก็หยุดร้องและดูดกิน
สางมองดูและเอาออกก็เห็นน้ำนมไหล จึงรู้ว่าเลี้ยงลูกได้ เมื่อมองเต้าซ้ายเห็นกลมตั้งอยู่ ได้กลับลูกให้ดูดดื่ม ก็มีน้ำนมให้ดื่มได้ จึงรู้ชัด
จากนั้นและบอกว่า "นม" แก่ลูก จึงเรียกชื่อ "นม" กันมา ( คําไทยลวะเดิม ลูกเรียกแม่ว่า "นม" ตลอด ) และสางเกิดความรักความเอ็นดู
ลูกนั้นจึงอยากมีอีก
เมื่อใกล้ขุนสรวงก็บอก ขุนสรวงห้ามว่า อย่ามีอีกเลย สางเจ็บปวดมากนัก แต่สางกลับ กล่าวว่าจะเจ็บปวดเล็กน้อยประเดี๋ยวเดียว พอ ออกมาก็หายหมด
ได้เข้ากอดลูบคลําเล่น ขุนสรวงเลยลืมที่ห้าม ได้เสิงสราญรัก สางรู้ เช่นนั้น ต่อมาได้เข้าใกล้กระทําอย่างนั้น และ มีลูกชายและหญิงสลับกันเป็น ๘ คน จากที่มี
อยู่คนละอย่าง จึงตั้งชื่อว่า "ชาย, ญิง"
สางเล่า เมื่อมีลูกเช่นนั้น จึงนึกถึงดั้งเดิม ได้ เมื่ออยู่สรวงฟ้า อยากมีลูกก็จับเอาที่น่อง และเรียกชายหญิงมาก่อนแล้ว และเป็นเด็กอยู่
ตามเดิม เมื่อมาอยู่ดิน ( โลก ) มีลูกในท้อง และมีทางออก ครั้นลูกหลานใหญ่โตจึงสอนเป็นธรรมเนียม ของ "ชาวไทยละว้า" กันมาว่า สมัยต้นมีลูกที่ น่อง
และใหญ่โตเองไม่ต้องเลี้ยง ทั้งสอนลูก ชายให้รู้เรื่องรักสืบพันธุ์ สอนลูกหญิงให้รู้เลี้ยง คลอด ให้นมเลี้ยงลูกกันมา เมื่อมีลูกชายหญิง ถึง ๘ คน
เลยตั้งชื่อว่า "จอมฟ้า จอมดิน จอมลม จอมไฟ" ตั้งชื่อลูกหญิงว่า "แก้วสี กอทอง ดงทอง น้ำทอง
เมื่อลูกเข้าใหญ่ เล่าว่ารู้ได้ด้วยเห็นลูกสาว ทั้ง ๔ มีนมใหญ่เหมือนสางจึงรู้ ทั้งขุนสรวงและสางนั้นก็ไม่มีลูกอีก และเข้าใจเอาเองว่า
เมื่อก่อนก็มีเพียงสอง เมื่อรู้ร่วมรอดเสิงสราญแล้ว ก็มีลูกเพิ่มมาอีก ๘ ทั้งที่อยู่กินด้วยเป็น ๑๐ ต่อไปทั้ง ๘ ถ้ามีลูกอีกก็คงจะเพิ่มมากขึ้น
และตอนนั้นยังไม่มีคนพวกอื่น
ต้นกำเนิดการแต่งงาน
ขุนสรวงสอนลูกหญิง นางสางสอนลูกชายให้รู้ อาศัยชื่อที่ตั้งไว้ตามลําดับที่เกิดมา
ให้ จอมฟ้า คู่กับ แก้วสี ไปเป็นชื่อ "ขุนฟ้า" "จอมไฟ" ไปร่วมกันยอดเขา
ให้ จอมดิน คู่ กอทอง ไปเป็น "ขุนดิน" "จอมดิน" ร่วมกัน ณ พื้นดิน
ให้ จอมลม คู่ ดงทอง เป็น "ขุนลม" "จอมลม" ไปร่วมกันถิ่นช่องลม และ
ให้ จอมไฟ คู่ น้ำทอง เป็น "ขุนไฟ" และ "จอมน้ำ" ไปร่วมกันเล่นน้ำ ตั้งชื่อ "ผัว เมีย พี่น้อง" กันมา
เมื่อต่างมีลูก สางไปสอนให้รู้จักเลี้ยงให้นมลูกกิน ให้ชายผัวไปหากล้วย อ้อย ปลา ปู มาเลี้ยงน้องที่มีลูกอ่อน ครั้นนานมาจึงถือว่าเป็นพี่น้องกัน
จึงต่างไปมาหากันมีการเปลี่ยนกัน และเกิดทะเลาะกัน ขุนสรวงและนางสางจึงสอนให้รู้จักของตัว และเอาไปให้เป็นของตัวจึงเป็นต้นรู้พี่ รู้น้อง รู้ผัว รู้เมีย
รู้คู่ของตน รู้ถิ่นที่ทางของตน ไป มาหากันได้ และคู่ลูกนั้นมีลูกเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒ มีสลับกัน คือ
จอมฟ้า กับ แก้วสี มีชายล้วน ๘ คน
จอมดิน กับ กอทอง มีลูกหญิงล้วน ๑๐ คน
จอมลม กับ ดงทอง มีชาย ๓ มีหญิง ๒
จอมไฟ กับ น้ำทอง มีชาย ๕ หญิง ๔ คน
เมื่อหลานเหล่านั้นขึ้นหนุ่มสาวทั่วกันแล้ว ต่างอยากมีลูก แต่ตกลงเป็นพี่น้องไม่พอกัน จึงพากันไปหาขุนสรวงและนางสาง นี่แลเป็น ต้นหาผู้ใหญ่
ถามและขออนุญาต
ขุนสรวงขอลูกหญิงให้แก่ชาย นางสางขอลูกชายแก่หญิงครบกัน เป็นต้นของ "การสู่ขอ" และแยกพี่น้อง แต่ก็มีบางคู่ไม่ชอบกันตามนั้น จึงให้เลือกกันเอง
เป็นต้นของ "การเลือกคู่"
เมื่อครบกันแล้วต่างพากันไปเที่ยวหาลูกไม้ ปลา ปู ตัวนก เนื้อ ไข่ นํามากองลานหน้าถ้ำ ตบมือ ร้อง หัวเราะกลางแสงแดดตอนเย็น ลงเล่นน้ำ แล้วขึ้นมาตากลม
เมื่อเดือนสว่างเริงเล่นกันกลางแสงเดือนเป็นต้น "การแต่งงาน" เริ่มชีวิตการเป็นครอบครัว เมื่อยเข้าก็นอนกัน กับพื้นหญ้า
จากนั้นต่างก็พากันไปอยู่ถ้ำที่ได้ ไปพบกันแล้ว
เหตุที่มาของคำว่า "ต้น"
ขุนสรวง กับ นางสาง มีอายุยืนนาน กระทั่งหลานเหล่านั้นมีลูกกัน ต่างพากันมาหา ได้เอาลูกมาให้รับใช้หาของเลี้ยง ตอนนี้ขุนสรวง
และนางสางเฒ่ามากแล้ว เมื่อเหลนเหล่านั้นขึ้น วัยหนุ่มสาว ขุนสรวงและนางสางก็บอกเป็นผัวเมียกัน ต่างมีลูกได้นํามาให้ และบอกว่า "นี่...ต้น! "
จึงมีชื่อว่า "ต้น" กันมา
"สองต้น" เฒ่าลงไปมากนัก ตอนนี้แผ่นดินได้โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว ที่ก็ติดต่อกันพวก "หลาน" และ "ลื่อ" มีกําลังดีจึงเที่ยวไป
พบคนพวกอื่นที่มีอยู่แล้ว ได้จับเอาให้ขุนสรวงและนางสางได้ ทุบแล้วฉีกให้กิน นั่นเป็นต้นของการ จับคนกิน กันมา
ขุนสรวงนางสางได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนก็เคยกินมาแล้ว ถ้าขืนฆ่ากันกินอย่างนี้ จะไม่มีคนอื่นเหลืออยู่ ได้ห้าม บางคนก็เชื่อ บางคนไม่เชื่อ
จึงกินคนกันมา
ขุนสรวงและนางสางเฒ่ามาก จํา "หลาน เหลน ลื่อ" ไม่ได้ วันหนึ่งเลื่อนลงจากถ้ำลงมาถึงพื้นดิน นั่งหอบเหนื่อยนึกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงกาลต้องไปเป็น
"ผีฟ้า" ลูกหลานเหลนลื่อต่างพากันมา ขุนสรวงมองเห็นลาง ๆ พวกนั้น ได้ไปอุ้มนางสางลงมา ขุนสรวงบอกลาไปเป็น "ผีฟ้า" แล้วนั่งนิ่ง
เมื่อถูกสางเขย่าตัวก็บอกให้สงบ เหมือนง่วงเผลอหมดความรู้สึก พอรู้ตัวปรากฏออก มาอยู่ข้างนอก ตัวเดิมนั้นผงะหงายนอนเหยียดอยู่ สางปลุกเขย่าให้พูดก็ไม่พูด
ต้นกำเนิดการเผาผี
ขุนสรวงออกมาอยู่ข้างนอกแล้วสบายไม่เหนื่อยอ่อน ร้องบอกแต่สางไม่ได้ยิน เห็นนางร้องไห้กอดผีอยู่หลายวัน กระทั่งเน่าเปื่อย "จ้าว ขุนสรวง"
จึงแสดงร่างให้ปรากฏ เอื้อมมือมารับ ผี "สาง " ลุกขึ้นจากร่างเดิมเลื่อนขึ้นยืนคู่อยู่ กับ "จ้าวขุนสรวง" คิดว่าร่างเดิมนั้นเป็นร่าง
"ผีฟ้าแสง" มา ที่หนัก แก่ ตาย ก็เพราะกิน ดิน กินมะ ( ลูกไม้ ) ตัวจึงหนักและเน่าเปื่อย จึงตั้งคิดให้ทั้งคู่ลุกขึ้นยืนแล้ว
จ้าวขุนสรวงและขุนหญิงสางแสดงร่าง "ผีฟ้าแสง" ให้เห็นได้ เดินเข้าไปในร่างเดิมนั้นบอกว่า
"สางกูเป็นปอบพ่อแม่นมของปู่ย่า มื้อนี้ ตายแล้ว ตัวนั้นจะเน่าเหม็น พวกมึงไปหาไม้ แห้งมากองให้มาก เอาตัวกูนี้วางบนเผาไฟเถิด จะได้ไม่เหม็นเน่า"
พวกหนึ่งไปหาไม้แห้งมา ที่เหลือบอกให้เอามือกอบน้ำบ่อใกล้ ๆ นั้นมา อาบน้ำทําให้สะอาด เอาดินขาวประแล้วให้ไปฉีกใบตองแห้งมานุ่งห่ม ห่อร่างทั้งคู่นั้น
จึงให้ยกขึ้นวางบนกองฟืน ให้เอาไม้แห้งถูกันให้ร้อนไหม้ คุ ลุกไฟแล้ว สุมไว้ก่อน ให้ไปเก็บดอกไม้หอม ๆ มาวางรอบ เหลนบอกว่า ไม้หอมมีอยู่จุดไฟหอม
ไปถอนมาแล้ววางสุมไฟลุกแล้วให้นําเข้าจุดกองฟืน
จ้าวขุนสรวงสางยืนอยู่ เมื่อไฟลุกไม้ไหม้ร่างได้ลอยขึ้นสูง ลูก หลาน เหลน ลื่อ ร้องไห้ ร้องเรียก จ้าวสรวงสางหยุดแล้วแสดงส่วน "ผีฟ้าแสง" คือ หัวยอด
มีสายสะพาน มีผืนนุ่ง มีแท่นนั่ง ลูกหลาน เหลน ลื่อ มองเห็นกลับมา ได้แสดงความดีใจ เต้น ร้อง รํา ที่เป็นผัวเมีย ก็กอดกัน คุยกันให้ปอบดูเป็นต้น
"ตายบํา บวงผี เผาผี"
ต้นกำเนิดการถือผี
เมื่ออยู่กันตลอดคืน เช้าไฟมอดหมดฟืน หมู่นั้น กินดิน กินมะ กินน้ำ น้ำที่มีเอาไปให้ผีก่อนแล้วกิน พูดกันว่า ต้นปอบ พ่อเทียด ปู่ทวด ยังอยู่ดอม
ควรก่อรูปผี จ้าวขุนปอบว่า เอาดินใต้น้ำคลุกทราย เอาเถ้า ก้อนดูก ปนก่อ แท่นก่อน ตรงที่ตาย ที่เผานั้น เอาดินก่อพอก ขึ้นเป็นร่าง "สรวง-สาง"
นั่งคู่ หมู่ชายทํารูป ขุนสรวงนั่งขัด ( ตะหมาดราบ ) หมู่หญิงปั้น แม่สางนั่งพับเพียบท่านว่าดี ให้ตีนบังท้องน้อย ให้รู้ว่า ต้นผีมีอาย
ว่าเล็กแลนั่งห่างกัน ได้เอา ดินปนทรายพอกให้ใหญ่ นั่งให้ใหญ่กว่าตัว นั่งเข่าติดกัน
เสร็จแล้ว ขุนสรวงสางให้ขุดรางยาวเอาดินขึ้นพูนเป็นฝากั้น ให้ขนไม้แห้งมาวางรอบ ให้จุดไฟเผาให้ดินสุกแข็ง ทนน้ำ ทนฝน ๗ วัน ๗ คืน แข็งดีแล้ว
ปล่อยให้เย็นหลายมื้อ เสร็จแล้วหาดอกไม้มากองหน้า หามะ ( ลูกไม้ ) หาตัวมาวาง เลี้ยงกัน เต้น รํา ร้อง เป็นต้น "ถือผี" กันมา
จ้าวขุนสรวง และ ขุนนางสาง มอง เห็นลูกหลานพร้อมเพียงกันดี บอกให้ทําอะไร ก็ทําตาม จึงเกิดความเป็นห่วงขึ้นได้เข้าพัก
อาศัยในร่างปั้นนั้น พิทักษ์รักษาคุ้มครอง สอนวงศ์วานเครือเถาต่อมา
ต้นกำเนิดการเข้าทรง
เมื่อ ๖๖๐๐ ปี เศษมาแล้ว ขุนสือไทย และ ขอมฟ้าไทย คิดสร้าง ลายสือ ได้แล้ว จึงเชิญ จ้าวขุนสรวง จ้าวนางสาง
มาทรงเมียให้เล่าต้น ได้จดลงแผ่นกเบื้องไว้ ทําเครื่องหมาย จ่าหน้าให้รู้ เช่น
สมัย เมืองสรวง "พระพุทธกุกกุสันธ กาล" มีขีดเส้น ๑ เส้น เพื่อรู้ยุคสมัย หรือ พุทธันดรที่ ๑ ได้จดไว้อย่างนี้ คัดมาเฉพาะเรื่อง
จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม ยุคนี้ ตรงกับคติ ทางพระพุทธศาสนา พุทธันดรที่ ๑ ซึ่งตาม อัคคัญญสูตร ได้เล่าถึงยุคต้น คือ พวกอาภัสสรกาย
มากินรสแผ่นดิน เสื่อมหายฐานะอันดี จึงเปลี่ยนจากทิพยกาย เป็นมนุษย์ต้นเผ่าต่างๆ
ตอนนั้นว่าไม่แก่ไม่ตาย มีอายุยืนเป็นอสงไขย ( นับไม่ได้ ) คงจะเป็นได้ เพราะยังไม่มีการกําหนดนับกาล เมื่อเกิดมัวเมาประมาท จึงต่างประพฤติอกุศลกรรม
อายุก็ลดถอยลง กระทั่งมีอายุวัย ๔ หมื่นปี พระกุกกุสันธโพธิสัตว์ จึงได้อุบัติ ครองสมบัติอยู่ ๔ พันปี จึง ออกมหาภิเนษกรมณ์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมา
สัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทรงอยู่ ๔ หมื่นปี จึงดับขันธปรินิพพาน
จากนั้นอายุก็ลดลงกระทั่งถึง ๑๐ ขวบ ถึงกาล "มิคสัญญี" คือ เห็นเป็นสัตว์เนื้อ ต่าง ประหัตประหารกัน ที่เห็นภัยก็หลบเข้าถ้ำ ป่า เขา
เมื่อตายกันหมดแล้ว จึงออกมาเริ่มชีวิต กันใหม่ เป็นกาลสุดพุทธันดรที่ ๑ เริ่มพุทธันดร ที่ ๒
กลับสู่ด้านบน
( หมายเหตุ : คนเหลืองที่ ๑ หมายถึง พระพุทธกุกกุสันโธ ซึ่งมีต่อไปในตอนหน้า )
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/9/08 at 19:08 |
|
Update 7 ก.ย. 51
"อนาคตวงศ์"
พบกันในฉบับนี้ มีเรื่องที่จะต้องย้อนจาก ตอนที่แล้วว่า ขุนสือไทย ได้จดไว้ในแผ่นกระ เบื้องหินทราย พอจะได้ใจความว่า "ขุนสรวง เข้าทรง
ไทยงาม (ภรรยาของ ขุนสือไทย) เล่าว่า สมัย พระพุทธกุกกุสันโธ เมื่อนานมาแล้วนี้ มีคนชื่อ "สรวง-สาง" และ เมืองสรวง
เมื่อก่อนมีพระพุทธเจ้า เรานี้รู้จักสร้างบ้านเรือน ผ้านุ่งห่ม ข้าว ปลา มีลายดู รู้กฏหมาย ดูผิดถูก
เมื่อพระพุทธกุกกุสันโธเกิดแล้ว มาสอน หมู่เราให้เข้าถึงพระพุทธศาสนามากหลาย แล้ว เข้า "ดวงแสง" เมื่อนั้น "สาง" แล "กู" มั่งคั่ง
เหลืออยู่นั้นยังมาเกิดอีก... "
สำนวนสมัยโบราณอาจจะยากสักหน่อย แต่ก็เป็นสำนวนของ "ไทย" แท้ ๆ ซึ่งตาม ความต่อไปในหนังสือ "ตำนานเมืองขุนไทย""หลวงพ่ออ่ำ
ท่านเล่าไว้ว่า
พระพุทธกุกกุสันธกาล (ยุคไทยขุนสรวง, สาง)
เรื่องทั้งนี้ ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นถึง พระพุทธันดรทั้ง ๓ ที่มีมาแล้ว และมีเรื่อง ปรากฏอยู่เฉพาะเท่านั้น ได้นํามาเป็นหลักฐาน ๓ พุทธันดร
และ ไทย ๓ กาล ที่ปรากฏอยู่ ณ ยุคขุนสรวง นางสางนั้น อันตรงกับพุทธันดร พระกุกกุ สันธสัมมาสัมพุทธองค์ ซึ่งมีเรื่องพระ เจ้าจักรพรรดิ
มีนามชื่อว่า พระมหาปนาท บรมจักรพรรดิ ซึ่งมีปรากฏใน อนาคตวงศ์ ว่า
ในสมัยพระพุทธกาลนั้น ได้มาเกิดเป็น ช้างป่าชื่อ "ปาลิไลยยกะ" ได้ทะนุบํารุงพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน ณ พระพุทธพรรษาที่ ๑๐ นั้น
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส พยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์พระองค์หนึ่งเป็นที่ ๑๐ มีพระนามว่า พระสุมงคละ สัมมาสัมพุทธองค์
ในอนาคตกาลอีกด้วย พอเป็นเรื่องอ้างขึ้นได้ จึงนํามาอ้างเพื่อรู้ยุคระยะกาลสมัยดึกดําบรรพ์นั้น
เฉพาะ "ไทย" นี้ มีเพียงชื่อที่ยังคงอยู่ใน ความรู้ของไทย เมื่อมีเรื่องอยู่ก็จะได้มีเค้าความ จะได้ความสําคัญขึ้น
เฉพาะก็คือ.มีเล่าถึงการคิดตัว "หนังสือ" อ่านได้ และเป็นเรื่องที่พระ พุทธเจ้าตรัสไว้ จะอย่างไรก็ตามเรื่องที่มีมาแล้ว และ พระคันถรจนาจารย์
ท่านได้จารึกลงในใบลาน กระทั่งเป็น "คัมภีร์" ที่ยืนยงคงมาแล้ว อย่างน้อยก็เกือบ ๒,๐๐๐ ปี หรือกว่า ดียิ่งกว่าฝรั่งที่เขียนกันในเร็ว ๆ นี้
ซึ่งยืนยันว่า หลักฐานนี้มีมานานแล้ว และพระคันถรจนา จารย์ ท่านเขียนสืบต่อกันมา ก็คงจะหลายสิบองค์ จึงยั่งยืนอยู่มาได้ถึงบัดนี้
เมืองทอง
ในกาลก่อน กระทั่งถึงกาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น ในกาลนั้น ชมพูทวีป มีชื่อว่า "โสฬสนคร" (๑๖ นคร) ซึ่งปรากฏใน
อนาคตวงศ์ ระบุถึงต้น ภัทรกัป เป็นยุคสมัย พระพุทธองค์ทรงพระนามว่า พระกุกกุสันธะอันตรงกับยุคสมัย "ขุนสรวง" และ
เมืองสรวง ไทย" ก็คือ "เมืองทอง" และ "สุวรรณภูมิรัฐ" ประเทศไทยนี้ ซึ่งยุคสมัยเดิมนั้นชื่อว่า เมือง สรวง
ก็กาลที่มีอายุเจริญขึ้นไปถึงอสงขัยแล้ว ลดลงมาถึง ๔ หมื่นปีเป็นอายุขัยนั้น ชมพูทวีป หรือ มัชฌิมชนบท ซึ่งยุคสมัยนั้นเป็น โสฬสนคร
คือเมือง ๑๖ นั้น ส่วนทางช่วงแหลมทอง ก็มีชื่อว่า สุวรรณทวีป ก็คือ เมืองทอง หรือ เมืองถิ่นทอง ซึ่งเป็นชื่อที่ต่าง ๆ
อยู่ในเมืองสรวงนั้น ได้มีมาตั้งแต่ขุนสรวงและนางสาง ได้ มีลูกหลานแผ่เชื้อสายสืบต่อกันตลอดมา จึง เจริญขึ้นกระทั่งนับไม่ได้ ก็คือกาลดึกดําบรรพ์ นั้น
ครั้นอายุลดลงมาถึงกาล ๔ หมื่นปีเป็น อายุขัย ซึ่งเป็นกาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธ องค์นั้น แหลมทอง มีชื่อว่า เมืองทอง
ครั้นกาลเวลาล่วงมามาก ๆ เข้า ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีชื่อต่าง ๆ ขึ้น เช่นชื่อ เมืองทอง เมือง แก้ว, เมืองพริบ คือเมืองเพชร, เมืองพลี คือ เมืองแก้วแสง
ก็คือ เมืองไพลิน หรือ เมืองพลิน บางทีก็ชื่อ กรุงพาลี
เมืองแก้ว
ถ้าเป็นชื่อ พ่อขุน-แม่ขุน ก็มีชื่อว่า "ท้าวกรุงพาลี" จ้าวแม่ หรือ นางพระยากรุง พาลี ชาวเมืองก็เรียกชื่อ "ชาวเมืองพาลี ชาว
กรุงพาลี หรือชาวพาลี ชาวพลิน ชาวไพลิน" โดยเฉพาะชื่อว่า เมืองแก้ว และ ขุนแก้ว นั้นว่า มีสืบมาจาก เมืองสรวง และ เมืองทอง
แต่ก่อนกาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น พ่อขุนแก้วไทยฟ้า กับ นางพระยา ก่องแก้ว มีลูกชายทรงโปรดปรานมากจึงตั้งชื่อ ว่า
ยอดแก้วไทย ทั้งได้แก้วหินสุกสว่างก้อน หนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อ เมืองทอง ขนานชื่อตามแก้ว แสงก้อนใหญ่นั้นว่า เมืองแก้ว พริบพลี และ
พระลูกเจ้าพ่อขุนยอดแก้วไทยฟ้านี้ เมื่อทรง เป็นมหาขุนได้มีเนมิตนามชื่อว่า "พระเจ้ามหา ปนาทบรมจักรพรรดิ"
ใน พระพุทธวงศ์ และ อนาคตวงศ์ ซึ่ง เป็นพระพุทธพจน์ตรัสแก่ พระสารีบุตรเถระ ทรงตรัสไว้ตั้งแต่สมัยปฐมโพธิกาล ณ คราว
ที่เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ในพระพุทธ พรรษา ที่ ๓ ได้ทรงกระทําตามพระพุทธวงศ์ ก็คือพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสรู้มาแล้ว และได้ตรัส อนาคตวงศ์
ก็คือ พระพุทธองค์ที่จะได้ตรัสรู้ ในอนาคตกาลอีก ๑๐ พระองค์
อนาคตวงศ์ทรงปรารภ พระนางมหา ปชาบดีโคตมี และ อชิตภิกขุ จึงตรัส ทักขิณา วิภังคสูตร ต่อมา พระสารีบุตรเถระ ได้ทูลถาม
จึงตรัส อนาคตวงศ์ จะได้ย่อพอได้ความ เพื่อเป็นหลักฐานในยุคสมัย ขุนสรวง-นางสาง และพระพุทธันดรพระกุกกุสันธพุทธกาลนั้น
รัตนสมบัติ ๗ ประการ
ในกาลที่อายุมนุษย์ลดลงมาเหลือเพียง ๔ หมื่นปีนั้น ชมพูทวีปได้มีชื่อว่า โสฬสนคร ใน ส่วนอื่นมีชื่อว่า เมืองทอง และ เมืองแก้ว ปน
ปนกันอยู่ หรือ กรุงพลิน กรุงพาลี บ้าง
ช้างป่า ชื่อ ปาลิไลยยกะ ซึ่งเป็นพระ บรมโพธิสัตว์ วิริยาธิกะพุทธภูมิ ได้เกิดเป็น สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิราชา ธิราชเจ้า
ทรงมีบรมเดชานุภาพตลอดทวีปทั้ง ๔ ทรงมี "สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ" กับมี คทาใหญ่ สถิต ณ เชิงรองซึ่งตั้งบนพานทอง ใหญ่
อันเป็นนิมิตสมบัติจักรพรรดิชุดบก และ เป็นเนมิตนามชื่อว่า มหาปนาทจักรพรรดิ เป็น ประจํามา
ก็ สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ นั้น คือ ๑. จักกรัตนะ จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ ช้าง แก้ว ๓. อัสสรัตนะ ม้าแก้ว ๔.
มณีรัตนะ มณีแก้ว แก้วทับทิม ๕ .อิตถีรัตนะ นางแก้ว ๖. คปหติรัตนะ ขุนคลังแก้ว ๗. ปรินายกรัตนะ ขุนพลแก้ว
ทั้งนี้ มีอยู่ ๒ ชุด ชุดบก และ ชุดน้ำ ถ้ามี พระคทาใหญ่ (กระบองยอด) สถิต ณ เชิงตั้งบนพานทองใหญ่ เพราะมหาคทานั้นเป็น
นิมิตที่ระบุนามชื่อว่า มหาปนาทบรมจักรพรรดิ จึงเป็น ชุดบก หรือ ชุดแผ่นดิน
และสัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการนั้น แต่มี สังข์ใหญ่ หรือมหาสังข์ สถิต ณ เชิงตั้ง บนพานทองใหญ่ เพราะมหาสังข์สถิต ณ เชิง ตั้งบนพานทองใหญ่
อันเป็นนิมิตสมบัติจักร พรรดิชุดน้ำ และเป็นเนมิตนามชื่อว่า "มหาสังขจักรพรรดิ" เป็นประจํามา เพราะมหาสังข์นั้น เป็นนิมิตที่ระบุนามชื่อว่า
มหาสังข์บรมจักรพรรดิ และชุดนี้เป็น ชุดน้ำ หรือ ชุดทะเล ซึ่งคู่กับ ชุดบกนั้น และทั้งสองชุดนั้น ก็มี ปราสาทแก้ว ปราสาททอง
หรือรัตนปราสาท สุวรรณปราสาท พร้อมกับมีแก้ว, ทอง, เงิน, แร่ธาตุต่าง ๆ ประดับพร้อมทุกประการ
ประดิษฐ์ลายสือ
ในพระพุทธันดรต้นภัทรกัปนี้ พระเจ้า มหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้อุบัติขึ้นแล้ว ณ เมืองแก้ว มีนามว่า ยอดแก้วไทย ครั้นเจริญ
ถึงอายุกาลแล้ว จึงมีปราสาทแก้วปรากฏขึ้น แม้ภูเขาใหญ่ ๆ ก็กลายเป็นปราสาทขึ้น บ้างก็ เกิดเป็นพื้นทองขึ้นเป็นสิริเกียรติสมบัติ บริชน และพาหนะก็เป็นรัตนะ
จึงเป็นสัตตรัตนสมบัติ มีมหาคทาสถิตเป็นสิริบรมจักรพรรดิราชสมบัติ พร้อมทุกประการแล้วได้เป็นจักรพรรดิราชา ภิเษกเสวยราชสมบัติ ณ ทวีปทั้ง ๔ มีทวีป น้อย ๒
พันเป็นบริวาร ทรงสําราญเป็นปกติ ตลอดกาลนาน
ในกาลชนม์ชีพนั้นทรงชํานาญศิลปวิทยา การตลอดทุกชนิด ได้ทรงประดิษฐ์และสร้างเสก สรรเครื่องกลต่าง ๆ ได้ และ ปรินายก ช่วย ทําขึ้นตามประสงค์ บางที
ช้างแก้ว ม้าแก้ว นํามาให้ บางอย่าง จักรแก้ว บันดาลให้ เช่น ดวงแก้วลอยในท้องฟ้าส่องให้มองเห็นได้ทั่ว ทุกทวีปใหญ่น้อย หลายอย่างที่
แก้วมณีรัตนะ ดลดาลให้ เช่น ไฟฟ้า และ เสียงสายฟ้า ที่ ทรงคิดเป็นพิเศษก็คือ ลายสือ ซึ่งทรงคิดว่า ถ้าเอา เสียงคําพูด กับ
จํานวนนับเข้าลาย เส้นได้ คงจะคงที่และอยู่ได้นาน ทั้งจะนําไป ไหนก็ได้
เมื่อครุ่นคิดอยู่นั้น ด้วยบุญญานุภาพพระ บารมี ๑๐ ทั้งรัตนะ ๗ และเทพโพธิสัตว์ มิตรสหายทั้งหลาย ก็ร่วมกันส่งแสงสว่างเป็น ญาณปัญญาบารมีพร้อมพลัน
ก็บันดาลให้เกิด ปัญญาญาณสว่างแจ้งส่องให้เห็น ก. กา. ข. ขา. ข่า. ข้า เป็นต้น และอินทรีย์ทั้งปวงก็ คล่องแคล่วจึงใช้มือเขียนได้ ใช้เสียงและปาก
อ่านได้ ใช้ปัญญาส่องทราบได้ว่าถูกและผิด
เมื่อทรงคิดได้ เขียนได้ อ่านได้คงที่ และชํานาญแล้ว จึงสอน ขุนคลังแก้ว ให้ทํา บัญชี สอน ขุนพลแก้ว ให้เขียนวิชาสอนทหาร และเขียนกฏหมาย
และสอนชาวเมืองให้เขียน วิชาต่าง ๆ ให้ นางแก้ว ทั้งบริวารเรียนเขียน จดคําสอน คําเพลง คํากลอน และข้อความ ทําดีให้จํา ทําชั่วให้ละเว้น
มีการประพฤติผิด ลักฉ้อ ทําร้ายฆ่าฟัน กล่าวเท็จหลอกลวง กินดื่มของมึนเมา และ ติดตัง เอื้อเอ็นดู ช่วย เหลือกัน ซื่อตรงต่อกัน อ่อนน้อมผู้ใหญ่พ่อแม่
ผู้ชายให้รู้ต่อสู้ทํางาน ป้องกันตัว คุ้มครอง สินตน ผู้หญิงเรียนรู้การครัว การเรือน เลี้ยงลูก คุ้มครองสินสาวตัวตน
ตลอดถึงทุกคนให้รู้เซ่นสรวงอํานวยอวยผีต้น ฯลฯ
พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก
ครั้นล่วงมาถึงกาล สมเด็จพระกุกกุสันธะ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธองค์แล้ว และได้เสด็จไปแสดง พระธรรมจักกัปป วัตตนสูตร
จบแล้ว เทพพรหมตลอดสุดนั้น ได้เปล่งเสียงรับต่อ ๆ กัน ทั้งได้เกิดมหัศจรรย์ให้หมื่นโลกธาตุสะท้านสะเทือนหวั่นไหวตลอด ถึง เมืองแก้ว
ซึ่งกระทําให้ "มหาคทา" นั้น พลัดตกจากเชิงกระเด็นลง ณ พื้นปราสาท แต่ไม่แตกหัก จึงทรงดําริถึงบุญบารมี มหาคทาก็ลอยขึ้นสถิต ณ เชิงตามเดิม
ครั้นได้ทรงเห็นเช่นนั้นทรงดําริ ก็ทรง ทราบด้วยญาณปัญญาว่า พระมหาบุรุษรัตนะ ได้อุบัติแล้วได้ตรัสรู้ กับได้ทรงแสดง ธัมมจัก
กัปปวัฏฏนสูตร จบแล้ว เป็นกาลถึงพร้อม พระรัตนตรัยแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัส ประกาศให้ไปนํารัตนะนั้น ๆ มาถวายให้ตลอด ได้ทรงสําราญประทับอยู่โดยปกติ
พระพุทธกาลที่ได้ตรัสรู้นั้นได้ล่วงไปนาน กระทั่งพระปัญญาบารมีแก่กล้าที่จะเพิ่มขึ้นอีก ทรงระลึกได้ จึงตรัสสั่ง ขุนคลังแก้ว ว่า "ท่านจงไปสู่
โสฬสมหานคร นั้น นําเอามณีรัตนมาให้เรา" ขุนคลังแก้วได้รับโองการแล้ว เพราะเป็น "คหปติรัตนะ" จึงมีอิทธิพลสมบูรณ์ ได้เหาะขึ้นไปยัง
"โสฬสมหานคร" ทางอากาศ
ณ ปัจจุสมัยเช้าตรู่วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า กุกกุสันธะ นั้น ทรงทอดพระเนตร ตรวจโลกได้ทรงเห็นและทรงทราบแล้ว มี พระพุทธประสงค์ทรงโปรด
พระอนาคตพุทธองค์ทั้งสอง นั้น และวันนั้นเป็นวันอุโบสถและ วันฟังธรรม ประชาชนต่างหลั่งไหลไปสู่มหาวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับในมหาวิหารนั้น
ได้ประทับอยู่ในสมาธิ ทรงอธิษฐานพระพุทธ รัศมีให้แผ่ซ่านสว่างไปในอากาศ ให้เห็นได้ เฉพาะ คหบดีรัตนะ ก็ได้เห็นในอากาศนั้น แต่ที่ห่างไกล
คหบดีรัตนะได้ลงสู่พื้นก็ได้เห็นหมู่ชน หญิงชาย ต่างหลั่งไหลเข้าสู่มหาวิหารเพื่อรักษา อุโบสถและฟังธรรม ก็เข้าไปด้วย ครั้นเข้าไป แล้วก็ได้เห็น
พระกุกกุสันธะ ซึ่งประทับนั่ง ณ พระพุทธอาสน์ก็มิได้รู้จัก ได้กระทําเคารพ กราบไหว้แล้วจึงถามว่า
"มาณพผู้เจริญ ท่านมีนามชื่อว่าอะไร จึงมีรูปโฉมเป็นอันดี? "
ได้ฟังตรัสตอบว่า "คหบดีรัตนะ เราชื่อว่า พุทธศาสดาจารย์"
ซักต่อไปว่า "ท่านชื่อว่าพระศาสดาจารย์ เพราะอะไร? "
ได้ฟังตรัสตอบว่า "เราชื่อว่าศาสดาจารย์นั้น ก็เพราะประกอบด้วยอาจริยคุณ ๓๑ ว่า อิติปิโส ภควา" (พระพุทธคุณนี้ นับเป็นตัวอักษรได้ ๕๖ นับเป็นศัพท์ได้
๓๑ จึงเป็นคุณ ๓๑) ขุนคลังแก้วจึงจดจารึกเป็นลายสือลงบน แผ่นทองคํา แล้วจดจารึกอาการ ๓๒ คือ เกสา โลมา ฯลฯ มุตตัง มัตถเก มัตถลุงคัง (ผม ขน ฯลฯ มูต
มันสมอง) กับจดจารึก ทวัตติงสมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และ จดจารึกกําหนด อนุพยัญชนะ ๘๐ กับทั้งวาดเขียน พระรูปโฉมส่วนสัด ๖๐ ศอก
ลงในแผ่นทองคําทั้งสอง
เสร็จแล้วได้กราบทูลลาเหาะลอยกลับมา ยังพระราชสํานักสมเด็จพระมหาปนาทบรม จักรพรรดิ ได้ถวายพระสุพรรณบัฏทั้งสองนั้น ให้ทอดจักษุญาณพิจารณาพระคุณพิเศษ
และ พระสิริลักษณะพระรูปโฉมส่วนสัดพระองค์สูง ๖๐ ศอกของ พระกุกกุสันธพุทธองค์ นั้น พร้อมกับตัวสือจารึกพระพุทธคุณ ๓๑ และอาการ ๓๒ ทั้งสองอย่างนั้น
เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้วมิได้รู้จัก และ มิได้ทราบแจ้งพระพุทธคุณนั้น ๆ จึงตรัสถาม ปุโรหิตพราหมณ์ซึ่งเฝ้าอยู่นั้น ก็ได้ทรงสดับคํา ทูลว่า
อักษรลายสือจารึกนี้เป็นพระพุทธคุณ เที่ยงแท้แล้ว ดังนี้ สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้สดับแล้ว เกิดปีติโสมนัสปลาบปลื้มพระทัย สลบลงกับที่
ครั้นทรงฟื้นขึ้นแล้วจึงตรัสถาม อีก ได้สดับคําทูลว่า พระคุณวิเศษนี้ เป็นพระ พุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเที่ยงแท้แล้ว ดังนี้
ก็ทรงปีติโสมนัสปลาบปลื้มพระทัยสลบ ลงอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่สอง
ll กลับสู่ด้านบน
ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชา
ครั้นทรงฟื้นขึ้นแล้วก็ได้ตรัสถามถึงภาพ วาดเขียนพระรูปโฉมสิริลักษณ์วรกายนั้น เป็น อย่างพระพุทธรูปจริงหรือประการใด ก็ได้สดับ คําทูลว่า
พระรูปโฉมที่วาดมานี้เป็นพระรูปโฉม ของสมเด็จพระพุทธองค์เที่ยงแท้ ดังนี้แล้ว ก็ได้ ทรงปีติโสมนัสปลาบปลื้มพระทัยสลบลงเป็น คํารพที่ ๓
ครั้นทรงฟื้นขึ้นแล้วได้ตรัสว่า บัดนี้เรา ได้ฟังประพฤติเหตุแห่งสมเด็จพระพุทธองค์ อัน เป็นดวงแก้วหาค่ามิได้ เพราะตัวท่านอันเราใช้ ให้ไป
จึงได้รู้แจ้งพระพุทธรัตนะนั้น เครื่อง สักการะบูชาอื่น ๆ หาควรกระทําสักการะบูชา แก่ท่านไม่ สมบัติจักรพรรดิทั้งหมดนี้จึงควรแก่ ท่าน ดังนี้แล้ว
ได้ทรงกระทําราชาภิเษก คหบดีรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) ให้เสวยสิริราชสมบัติจักรพรรดิ กับได้ทรงอธิษฐานสัตรัตน สมบัติ
ทั้งพระมหาคทาให้คงอยู่เพื่อดํารงสิริ สมบัตินั้น ๆ ให้ครอบครองสืบต่อไปแล้ว
สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ทรงสละจักรพรรดิราชสมบัติแล้ว พระองค์ เดียวเสด็จไปทางทิศภาคที่สมเด็จพระกุกกุสันธ บรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ
โสฬสมหานคร นั้น ด้วยพระตนุกานุภาพพระเจ้าจักรพรรดิ อันมี ฉลองพระบาทแก้ว และ พระมหามงกุฏ แก้ว นั้น ซึ่งประจําพระองค์อยู่ จึงส่งให้เสด็จ
ได้เร็วและเสด็จได้ไกล
ครั้นเสด็จถึงมหานิโครธ (ไทร) ใหญ่ ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปอาศัยประทับนั่งในร่มไทรใหญ่ นั้น พอบรรเทาเหน็ดเหนื่อยแล้ว ทรงสบายพระวรกายแล้ว
ก็ทรงกระทํานมัสการลงด้วย เบญจางคประดิษฐ์ไปในทางที่พระพุทธองค์ ประทับอยู่นั้นแล้ว ทรงกระทําอธิษฐานปรารถนา ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดให้ปีติโสมนัส
ในพระองค์เกิดแก่ข้าพระองค์แล้ว ด้วยเดชะ ความสัตย์นี้ ขอ บริขาร ๘ อันเป็นทรัพย์มรดก ของพระภิกขุสงฆ์จงเลื่อนลอยมาเถิด"
ครั้งนั้น สมเด็จพระสัพพัญญกุกกุสันธะ ทรงทราบวาระจิตแล้ว จึงตรัสให้บริขาร ๘ นั้น ลอยมาตกลงตรงพระพักตร์พระเจ้า มหาปนาทบรมจักรพรรดินั้น ด้วยพระพุทธา
นุภาพ สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นมหัศจรรย์แล้วได้ใช้พระหัตถ์ทั้งคู่นั้น ประคองบริขาร ๘ ยกขึ้นเหนือเศียรเกล้าตรัสว่า
"บริขาร ๘ เราจักอาศัยท่านออกจาก สังสารทุกข์ ให้ได้พบพระนิพพานอันประเสริฐ สุดวิสัย ตรัสเสร็จแล้วทรงเปลื้องเครื่องราช
อิสริยาภรณ์ออกจากพระวรกายแล้ว ได้ครอง สบงทรงจีวรซ้อนสังฆาฏิพาดคาดกายพันมั่นคง ทรงเพศบรรพชิตอุปสมบทเป็นภิกขุภาวะสําเร็จ แล้ว
จึงเอาพระมหามงกุฏแก้ววางลงในฝ่า พระหัตถ์แล้วตรัสว่า
"มงกุฏแก้ว..! จงไปสู่สํานักสมเด็จพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระองค์ว่า บัดนี้พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิเสียสละราชสมบัติ
ออกทรงเพศบรรพชิตเป็นพระภิกขุในพระพุทธ ศาสนาแล้ว มีความปรารถนาเพื่อจะมายังสํานัก สมเด็จพระทศพลญาณ ท่านจงไปกราบทูลดังนี้"
แล้วมหามงกุฏแก้วก็เลื่อนลอยไปใน อากาศเวหา ประดุจว่าพระยาราชหงส์ ถึงแล้ว จึงลงยังสํานักแล้วตั้งอยู่แทบพระบาท ได้กราบ ทูลดุจมีวิญญาณ
สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ได้ตรัสรับ ว่า "สาธุ..!" แล้ว ลําดับนั้น สมเด็จพระเจ้า มหาปนาทบรมจักรพรรดิ ซึ่งสําเร็จเพศเป็น
พระภิกขุด้วยพระพุทธดํารัสว่า "สาธุ" ดังนี้แล้ว จึงเป็นอุปสมบทสมบูรณ์แล้วด้วย
พระองค์ก็เที่ยวโคจรบิณฑบาตไปตาม ละแวกบ้าน ได้อาหารบิณฑบาตพอเป็นยา "ปนมัต" ก็บริโภคฉันพอทรงพระชนม์ชีพ สําเร็จแล้ว ก็เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในที่อัน
สมควร พิจารณาซึ่ง พระพุทธคุณ ว่า "อิติปิโส ภควา.. " เป็นอาทิ และ เจริญ กายคตาสติ กัมมัฏฐาน ว่า "เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ" (ผม ขน
เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ) เป็นต้น
ทรงเจริญไปด้วยอุตสาหะตลอดอย่างนั้น ได้ยัง โลกียฌาน และ อภิญญา ๕ ให้บังเกิด ขึ้นด้วยพระบารมีที่สร้างสมมานานแล้วนั้น จึง
เหาะลอยขึ้นไปโดยทางอากาศเวหา กระทั่งถึง สํานักสมเด็จพระพุทธเจ้า พอได้โอกาสจึงเข้า เฝ้าได้ทัสนาการพระรูปโฉมและพระสิริลักษณะ
ของสมเด็จพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์
อันประดับด้วยพระมหาปุริสลักขณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ อันงามบริบูรณ์ครบทุก ประการแจ่มแจ้งแล้ว ก็บังเกิดปีติโสมนัสปลาบ
ปลื้มเต็มเปี่ยมซาบซ่านทั่วสรพางค์ ตลอดสกล กายแล้วก็สลบลง ณ ที่นั้น
สมเด็จพระภควันต์ทรงเอาอุทกวารีประ พรมลงเหนือพระอุระ ก็ทรงฟื้นสมประฤดีขึ้น มาแล้ว พระองค์จึงถวายนมัสการกราบลงด้วย เบญจางคประดิษฐ์แทบพระบาท กราบทูล
อาราธนาให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงประทาน พระสัทธรรมเทศนา
ครั้งนั้น สมเด็จพระกุกกุสันธทศพลบรม ศาสดาจารย์ ก็ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนา ว่า "ภิกขุ..ท่านจงพิจารณาซึ่งสภาวธรรม
ที่จะนําตนไปสู่พระนิพพานด้วยตนเองเถิด"
พระภิกขุมหาปนาทฯ บรมโพธิสัตว์วร พุทธางกูร ได้สดับกระแสพระพุทธดํารัสตรัส เป็นนัยดังนั้นแล้ว พระองค์ก็ปีติโสมนัสอิ่มอาบ ซาบซ่านทั่วสรพางค์กาย
จึงทรงอธิษฐานให้เล็บ ของพระองค์ ให้คมดุจมีดโกนเด็ดเศียรเกล้า ตรงคอให้ขาด แล้วจับยกขึ้นกระทําสักการะบูชา
ฝ่ายเศียรเกล้านั้นได้กราบทูลว่า "พระองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ ได้โอกาสโปรดฝูงสัตว์ทั้งหลายก่อน ข้าพระองค์
มีความปรารถนาเป็นพระพุทธองค์เมื่อภายหลัง ด้วยผลศีลทานของข้าพระองค์ในครั้งนี้ ขอ เชิญองค์พระอัครมุนีพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรด เสด็จสู่พระนิพพานก่อนเถิด
ข้าพระองค์ขอตาม เสด็จพระพุทธองค์เข้าสู่พระนิพพานต่อภายหลัง"
พอขาดคําแล้ว พระภิกขุมหาปนาทบรม จักรพรรดิ ก็ดับขันธ์สิ้นชีวิตินทรีย์ และพลัน นั้น พระเศียรซึ่งตั้งบนฝ่าหัตถ์ทั้งคู่ก็เกร็งแข็ง ด้วยอานุภาพ
"อธิษฐาน" ชูบูชาอยู่ตามเดิมนั้น ก็ลุกโพลงขึ้นตลอดถึงพระสรีรสรพางค์ เป็นดวง ประทีปเทียนสักการะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์, พระธรรม, พระสงฆ์, ตามธรรมนิยม มีกลิ่นหอมเป็นทิพย์ มีสว่างกระจ่างแจ่มแจ้ง ไม่มีควันอบอวล ไม่ ร้อนอบอ้าว
เป็นดวงสุกโพลงเฉพาะ ไม่ไหม้ ลุกลามไปอื่น ทั้งนั้น เป็นไปตามพระพุทธานุภาพ ที่ได้ทรงโปรดประทาน
ส่วนพระภิกขุพระเจ้ามหาปนาทบรม จักรพรรดินั้นก็จุติไปอุบัติเกิด ณ ดุสิตสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขสถาพร พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดินี้ ใน
เรื่องว่าครองอาณาจักรวรรติ หรือจักรพรรติ ราชสมบัตินั้น ซึ่งมีทวีปใหญ่ทั้ง ๔ จะเห็นใน ปัจจุบันนี้มีก็คือ
ชมพูทวีป คือ ทวีปเอเซียยุโรป ๑
กาฬทวีป ทวีปดํา คือ แอฟริกา ชาวคนดํา เป็น ๒
กัทมทวีป ทวีปเทา คือ โปลา ออสเตรเลีย ชาวคนเทา เป็น ๓
ปภัสรทวีป ทวีปแสงแดง หรือ ปุพวิเทหะ คือ ทวีปตะวันออก ก็คือ เอมุก, อมริกะ, อเมริกา, ไทยว่า "มริกัน"
เป็นที่ ๔
จึงทรงอํานาจมาก ในระยะที่ ขุนคลัง แก้ว ไปนั้นต้องเหาะไป แม้เสด็จไปเอง ก็ต้อง ทําฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นเป็นพลัง หรือเป็น อิทธิพล
(กําลังแรงฤทธิ) จึงเสด็จเหาะลอยลิ่ว ไปได้ และมีชื่อ "แก้ว" (รัตนะ) ตลอดทั้งหมด นั้น กับคนไทยนี้ก็ไปอยู่ทั่วมาแล้ว จึงเห็นว่า เป็นไปได้
ได้นํามาอ้างขึ้นตามต้นเรื่องนั้น ทั้ง "อนาคตวงศ์" นี้ก็เป็นต้นเรื่องดึกดําบรรพ์ ทั้ง ในอดีตและอนาคต และทั้งทวีปใหญ่ในโบราณ ก็มี ๔ ชื่อ คือ
๑. ชมพูทวีป ๒. อุตรกุรุทวีป ๓. ปุพพ วิเทหทวีป ที่ใกล้กับไทยก็ลงไปถึงออสเตรเลีย ๔. อมรโคยานทวีป ชื่อก็ใกล้กับเอมุก
อมริกะ อเมริกา ก็มีทางอยู่อย่างนี้
สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ราชาธิราชเจ้า ซึ่งได้ทรงกระทําปรมัตถทานบารมี ในครั้งนั้นทรงสละหมดทุกอย่าง ตั้งแต่จักร พรรดิราชสมบัติอันเกิดเอง
และพระราชโอรส ธิดา พระมเหษี หรือจักรพรรดินี
อิตถีรัตนะ คือ นางแก้วนั้น ได้ทรง อธิษฐานให้ทรงสภาพอยู่ตามเดิม ได้สละให้ ขุนคลังแก้ว ทรงประกาศและกระทําพระราช
พิธีราชาภิเษกให้เป็นจักรพรรดิแทน เป็นการ สักการะบูชาที่ขุนคลังแก้วนําข่าว กับจดจารึก คุณและวาดเขียนพระรูปโฉมพระผู้มีพระภาค
เจ้ามาถวายให้ทอดพระเนตรทรงทราบแน่ชัด แล้ว
ครั้นเมื่อได้เสด็จไปถึงเข้าเฝ้าได้ทอด พระเนตรเห็นพระคุณพิเศษ พระสิริลักษณะ พระอาการ ๓๒ ชัดเจนแล้วได้ถวายพระเศียร เกล้า
และพระสรีรสรพางค์กายจุดเป็นประทีป เป็นแสงสว่างถวายเป็นพระพุทธบูชา,พระธรรม บูชา, พระสงฆบูชา ในครั้งนั้น จึงเป็น ปรมัตถบารมี ยอดสุดทุกชนิด
เมื่อดับขันธ์ไปแล้ว ก็ไปอุบัติ ณ ดุสิตภพ ในภายหลังต่อมา ก็มาอุบัติเพื่อเสริมสร้างและ รวมช่วยพระอนาคตวงศ์ด้วยกัน ณ
พระศาสนาพระโคนาคมสัมมาสัมพุทธองค์ พระกัสสปสัมมาสัมพุทธองค์
ช้างปาลิไลยกะ
ในกาล พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ ได้มาเกิดเป็นช้างป่า "ปาลิไลยกะ" แม้เป็นเจ้าโขลงก็ได้หลีกออกจากโขลง เพราะเบื่อหน่าย
ได้มาพบพระบรมศาสดา ณ ปาลิไลยกวัน ก็เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระอาคณะ สงฆ์ที่ทะเลาะกันถึงแตกเป็น ๒ ฝ่าย
พระองค์สอนเท่าไรก็ไม่เชื่อฟัง จึงเสด็จ เฉพาะพระองค์เดียวหลีกออกไปยังป่าปาจีนวังสะ และเสด็จสู่ป่าปาลิไลยยกะประทับ ณ ถ้ำผา เชิงเขาในป่านั้น
ช้างป่านี้ได้พบและได้อภิบาล รักษา ทั้งเที่ยวเสาะหาผลไม้มาถวายเป็นอาหาร บิณฑบาตตลอดกาล ๓ เดือนพรรษา เป็นพระพุทธพรรษาที่ ๑๐ นั้น
ต่อมาป่านี้จึงมีชื่ออีกว่า "รักขิตวัน" ป่า อันช้างรักษาแล้ว ช้างป่านั้น ได้อภิบาลกระทํา อุปัฏฐากตลอด ๓ เดือน ณ พรรษาที่ ๑๐ นั้น
ในกาลออกพรรษา พระอานนทเถระและ คณะสงฆ์ได้ไปเฝ้ากราบทูลข่าวอาราธนาให้ เสด็จกลับ ทรงรับแล้วและชวนให้โปรดช้าง
ในกลางคืนนั้น ช้างได้ไปหาผลไม้มากพอ รุ่งเช้าได้ถวายเป็นอาหารบิณฑบาต เสร็จเรียบ ร้อยแล้วจึงเสด็จกลับ ช้างได้ตามส่งเสด็จถึง แดนมนุษย์ ตรัสให้กลับ
ได้ยืนร้องไห้น้ำตา ไหล มองดูกระทั่งลับสายตา พลันหทัยแตก จึงเคลื่อนไปเกิดเป็น "ปาลิไลยกเทพบุตร" มีอัปษรเป็นอันมากเป็นบริวาร ณ วิมานทอง
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ภพ
ครั้งนั้นก็เป็นบารมี ๑๐ เพราะมีใจนึก ซึ่งให้พระองค์รู้ได้ จึงเป็น สัจจาธิษฐานบารมี ได้ที่ยอดสุดก็คือ ความเลื่อมใสกระทั่งหทัยแตก
ซึ่งได้เปลี่ยนอัตภาพช้างไปเป็นเทพบุตร นั้น
อนาคตวงศ์
ภายหลังแต่นั้นมา พระสารีบุตรเถระ ได้เข้าเฝ้าและทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เล่าแสดงแก่พระเถระแล้ว พระเถระได้รวบรวม พระดํารัสตรัสเล่าทั้ง
๑๐ พระองค์นั้นเป็น ส่วนหนึ่ง หรือเป็นคัมภีร์ ๑ ชื่อเรียกว่า "คัมภีร์ อนาคตวงศ์"
ในอนาคตวงศ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ตรัสเล่าให้พระสารีบุตรฟังว่า ช้างปาลิไลยยกะ นี้ ในกาลพระศาสนา พระกุกกุสันธสัมมาสัม พุทธองค์
นั้น ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีนามชื่อว่า สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้ทรงบําเพ็ญ ปรมัตถทานบารมี ยอดสุดแล้ว
จึงตรัสพยากรณ์แก่พระสารีบุตรเถระว่า
ด้วยอานิสงส์ที่ได้บําเพ็ญบารมี ๑๐ ใน ฐานะ วิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธภูมิ นั้น จึงมี ผลให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ให้ได้พบพระ
กุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น และมีโอกาส ให้ได้กระทํา "ปรมัตถทานบารมี" ยอดสูงสุด แล้ว ซึ่งไม่มีเทียบเท่าในสมัยนั้น ก็ได้เป็น นิยตโพธิสัตว์
ซึ่งเที่ยงแท้แน่นอนว่า จะได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธองค์ มีนามชื่อว่า พระสุมงคลสัมมาสัมพุทธองค์ เป็นพระองค์ ที่ ๑๐ ในอนาคตกาล
ซึ่งยังมีกาลอีก ๕ อสงขัย ๔ แสนกัป ที่ยังไม่ถึงนั้น
พระศรีอาริย์
และในอนาคตวงศ์นั้น ยังมีตรัสเล่าเรื่อง เบื้องต้นก่อนกว่านั้นอีก ซึ่งย้อนลึกเข้าไปถึง กัปก่อนนั้นประมาณ ๑๐ อสงขัย ๒ แสนกัป ในจํานวน ๑๖ อสงขัย ๔
แสนกัป อันเป็น ระยะกาล "นิยตโพธิสัตว์" ครั้งนั้น ก็คือสมัย กาลที่ พระสิริอริยเมตเตยนิยตบรมโพธิสัตว์ หรือที่ไทยเรียกว่า พระศรีอาริย์
ซึ่งทรงบําเพ็ญ เป็นพระวิริยาธิกสัมมาสัมพุทธภูมินั้น ได้ทรง กระทําเป็นปรมัตถทานบารมียอดสูงสุดนั้น ซึ่ง
พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิก็ได้เป็นผู้นําข่าว, รับผลสละ, จึงชื่อว่าเป็นผู้ร่วม และส่งให้ ทรงกระทํากระทั่งสําเร็จในครั้งนั้นเช่นเดียวกัน
ในกาลที่พระสิริอริยเมตเตยยบรมโพธิ สัตว์ได้กระทําปรมัตถบารมียอดสูงสุดนั้น เป็น อดีตกาลประมาณถึง ๑๐ อสงขัย ๔ แสนกัป ล่วงมาแล้ว ได้อุบัติเป็น
พระเจ้ามหาสังขบรม จักรพรรติราชเจ้า ณ อินทปัตตมหานคร
แต่ในกาลนั้น มีพระนามขนานว่า พระเจ้า บรมสังขจักรพรรติราชาธิราชเจ้า ทรงสมบูรณ์ ด้วยรัตนสมบัติ, สุวรรณสมบัติ, และราชสมบัติ ทุกประการ
สําหรับสัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ นั้น เป็นชุดน้ำอันมีมหาสังขทักขิณาวัตเวียน ขวา สถิต ณ เชิงตั้งบนพานทองใหญ่เป็นนิมิต หมายรู้
พระองค์เสวยราชสมบัติอยู่พร้อมด้วย ผาสุขเกษมสําราญตลอดกาลนาน ทรงมีพระ สติสัมปชัญญะ ทรงระลึกได้จึงทราบถึงพระ สัมมาสัมโพธิญาณบารมี ๑๐
ซึ่งได้ทรงบําเพ็ญ มาแล้ว ในชาตินั้นก็จะต้องทําชั้นยอดสูงสุด นั้นอีก
ณ วันหนึ่ง ทรงประทับนั่งภายใต้พระ เศวตรฉัตรแล้วทรงดําริว่า ใครนําข่าวพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มาบอกให้ทราบแล้ว
ต้องทรงสละจักรพรรดิราชสมบัติให้แก่ผู้นั้น จะเสด็จออกบวช จึงเสด็จไปประทับ ณ ที่ประตู พระราชวังนั้น
ก็กาลนั้น เป็นกาลพระศาสนาของ สมเด็จ พระสิริมิตสัมมาสัมพุทธองค์ ซึ่งได้เสด็จอุบัติ ณ อุตรประเทศ คือ พาราณสี ซึ่งกาลนั้นมี
ชื่อว่า "อุตระ" ซึ่งเป็นทั้งชื่อประเทศ และเป็นชื่อ ทิศทางด้วย
ครั้นถึงกาลก็ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสิริมิตสัมมาสัมพุทธ องค์แล้วทั้งได้ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัฏฏน สูตรจบแล้ว
ซึ่งให้เกิดมหัศจรรย์มีหมื่นโลกธาตุ สั่นสะท้านสะเทือนหวั่นไหว กระทั่งรัตนปราสาท และมหาสังข์ก็หวั่นไหวสั่นสะเทือน แต่มิแตก ร้าวแลพลัดตก
ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้า บรมสังขจักรพรรดิทรงทราบ และระลึกได้ จึง คอยฟังข่าวอยู่ตลอดกาลนาน กระทั่งถึงวันที่ พระองค์ทรงดํารินั้น และสมเด็จพระสิริมิต
อรหันตสัมมาสัมพุทธองค์ ได้ทรงวางพระพุทธ ศาสนาแล้ว กระทั่งมีบริษัท ๔ ครบบริบูรณ์แล้ว
สามเณรปนาท
ในกาลนั้น บุรุษเข็นใจชื่อว่า ปนาท ได้ ออกบวชเป็นสามเณร แต่แม่นั้นได้เป็นข้าทาสี เขาอยู่ สามเณรปนาท มีความตั้งใจจะแสวงหา ทรัพย์มาถ่าย
ครั้นได้ทราบข่าวนั้นแล้ว พอมี หวังว่าคงจะได้ทรัพย์ถ่ายได้ จึงเดินทางไป อินทปัตตมหานคร ซึ่งมีระยะทาง ๑๖ โยชน์ ถึงอินทปัตตมหานคร
ในวันที่สมเด็จพระบรม สังขจักรพรรดิเสด็จไปประทับ ณ ประตูพระ ราชวังนั้นพอดี
สามเณรซึ่งครองเพศอย่างนั้นจะเข้าไป ทวยชนชาวพระมหานครไม่รู้จักสามเณร เพราะ ไม่เคยเห็น จึงสําคัญว่าเป็น "มหายักษ์" จึงใช้ ไม้ไล่ทุบตี
สามเณรจึงวิ่งไปถึงประตูมหาราชวัง ตรงพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าบรมสังขจักรพรรดิ พอดี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็มิได้ ทรงรู้จัก
เพราะได้ทรงพบเห็นเป็นครั้งแรก จึง ตรัสถามว่าเจ้าเป็นอะไร ก็ทรงได้ฟังคําตอบว่า "เป็นสามเณร"
ตรัสถามต่อไปว่า "หมายความว่าอย่างไร" ทรงฟังคําตอบว่า "สงบบาปภายนอกแล้ว ตั้งอยู่ ภายในกุศล ทั้งชื่อนี้มาจากพระภิกขุ ซึ่งเป็น พระสงฆรัตนะ"
ดังนี้แล้ว ก็ทรงชื่นชมยินดีเป็น ปีติโสมนัสอิ่มอาบปลาบปลื้ม
พอคิดว่าจะไปไหว้สามเณร พระองค์ก็ ลอยตรงไปตกลงตรงหน้าสามเณร พลันนั้น ก็ดลบันดาลให้ดอกปทุมชาติใหญ่ผุดขึ้นบาน กลีบออกรองรับพระองค์ไว้
จึงมิได้เป็นอันตราย ได้ทรุดพระองค์ลงถวายนมัสการด้วยเบญจางค ประดิษฐ์ จึงตรัสถามต่อไปอีก ก็ได้ทรงสดับว่า พระสงฆรัตนะนั้น ได้ประทานจากพระโอษฐ์
สมเด็จพระสิริมิตสัมมาสัมพุทธองค์ ซึ่งตรัส ประทานให้
พอได้สดับพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธ องค์เท่านั้น ก็พลันสลบลง ครั้นทรงได้พระสติ สัมปชัญญะฟื้นคืนขึ้นแล้ว จึงตรัสถามต่อไปว่า
พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่ไหน ได้สดับว่า เสด็จประทับอยู่ ณ ปุพพารามมหาวิหาร ทาง ทิศเหนือ ห่างจากนี้ไป ๑๖ โยชน์
เมื่อได้สดับข่าวรู้แจ้งเช่นนั้นแล้ว หาได้ อาลัยในสิริจักรพรรดิราชสมบัติไม่ ตรัสว่า ทรัพย์ที่เป็นค่าถ่ายนั้น มีค่าเล็กน้อยไม่คู่ควร
แก่สามเณรผู้นําข่าวพระพุทธ พระธรรม พระ สงฆ์ มาให้ทราบ จักรพรรดิสมบัติทั้งหมดนี้ จึงควรขอถวายเป็นเครื่องสักการะบูชา จะใช้เป็นค่าถ่ายเท่าไรก็ได้
ให้สามเณรลาสิกขาสึกแล้ว ได้ทรงอธิษฐานจักรพรรดิสมบัติทั้งหมดนั้น ให้คงอยู่ตามสภาพเดิม แล้วราชาภิเษกให้เป็น บรมจักรพรรดิปกครองแทน และให้ทรงมีนาม ว่า
บรมสังขจักรพรรดิ จนกว่าอายุขัย
พระเจ้าบรมสังขจักรพรรดินั้นทรงสละ พระมงกุฏก็ทรงถอดสรวมให้ ฉลองพระบาท แก้วก็ทรงถอดแต่งให้ จึงทรงเหลือแต่พระองค์ และฉลองพระองค์เท่านั้น
พระองค์เดียวได้ เสด็จออกเพื่อสู่สํานักพระสิริมิตสัมมาสัมพุทธ องค์
เพราะทรงสละสิริราชสมบัติจักรพรรดิ หมดแล้ว จึงเสด็จอย่างสามัญด้วยประสงค์ทรง บําเพ็ญวิริยบารมี ตามสถานะศักดิ์วิริยาธิกสัม มาสัมโพธิญาณ
จึงตั้งพระทัยจะเสด็จให้ตลอด ทาง ๑๖ โยชน์นั้น ได้เสด็จด้วยพระบาทเปล่า และพละกําลังพระองค์ เพราะเสด็จพระบาท เปล่าตลอดทางไกลมาก ฝ่าพระบาททั้งสองจึง
แตกให้เลือดไหลกระจายออก
เมื่อเจ็บปวดมากไม่คลายความเพียร ทรง ใช้ฝ่ามือและเข่าทั้งสองคลานไป กระทั่งฝ่ามือ และเข่าทั้งสองแตกเลือดสาดไปตามแผ่นดิน ใช้ไม่ได้แล้ว
จึงทรงใช้ทรวงอกถัดกระเถิบไป กระทั่งแตกเลือดสาดไป ใช้ไม่ได้แล้วก็ยังไม่ หมดความเพียร จึงกลิ้งไปในทางนั้น ทรงระลึก เพียงเพื่อให้ถึง
เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่
พระพุทธเจ้าทรงแปลงเป็นสารถี
ณ เช้าตรู่คืนนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธ องค์สิริมิตได้ทอดพระญาณเห็นแล้ว ในเวลา รุ่งพระองค์จึงทรงกลับกลายเป็นมาณพแล้ว ทรง เป็นสารถีขับรถทอง
อาสนะร้อนขึ้น ท้าวสักก เทวานมินทร ทรงทอดทิพเนตรเห็นแล้วพร้อม สุชาดาเทวี นำโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้ง น้ำทิพย์
เสด็จถึงพร้อมรถนั้น ถึงแล้ว พระสารถี จึงตรัสว่า ใครขวางทางรถจงหลีกไป ถ้าไม่หลีก ก็จงขับไปบนหลังเราเถิด
พระสารถีแปลงนั้นได้ตรัสว่า ถ้าท่านจะ ไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วจงขึ้นรถ พระสารถีก็ ขับมาตามทางได้ครึ่งทาง ก็พบกับท้าวอมรินทร และ "สุชาดา" ได้ยก
"สุทธาทิพ" ขึ้นแล้ว ตรัสว่า ท่านสารถี...ถ้าต้องการอาหารแล้ว จง โปรดรับเถิด พระสารถีจึงตรัสว่า เราต้องการ มีคนป่วยทุพพลภาพอยู่ จะให้บริโภค ได้ทรง
รับแล้วส่งให้พระเจ้าบรมสังขจักรพรรดิ ทรงรับ แล้วพอเสวยเท่านั้น อาพาธทั้งปวงก็ระงับหาย หมด สรีรสรพางค์กายก็ปกติตามเดิม
ครั้นเสด็จถึงแล้วได้พักรถตรงหน้าปุพพา รามมหาวิหารนั้น ตรัสว่า พระพุทธองค์สิริมิต สัพพัญญูประทับอยู่ข้างใน จงเข้าไปเถิดดังนี้ แล้ว
สารถีได้เสด็จลงจากรถ พอลับตาจึงทรง เป็นพระองค์สิริมิตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่ง พระพุทธรัศมีประทับนั่งคอยอยู่แล้ว
สมเด็จพระบรมสังขจักรได้ลงจากรถ ได้ เข้าไปในปุพพารามมหาวิหารแล้ว ได้เข้าถึงที่ ประทับได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าสิริมิตสัมมา สัมพุทธองค์
ซึ่งประทับเปล่งพระพุทธรัศมีอยู่ ณ พระพุทธอาสน์เช่นนั้น ได้ทอดพระเนตร เห็นพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า อันประกอบ ด้วย ทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ
และอสีติอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
ทั้งพระพุทธรัศมีโอภาสสว่างรุ่งเรือง อัน เปล่งออกจากพระบวรกายที่ประทับนั่งอยู่ ณ พระพุทธอาสน์นั้น ก็ทรงเกิดปีติปราโมทย์ โสมนัส
อิ่มอาบซาบซ่านปลาบปลื้มเต็มเปี่ยม จึงถึงวิสัญญีภาพสลบลงแล้ว ณ ที่ตรงพระ พักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น และพระ
องค์สัพพัญญูสัมมาสัมพุทธองค์ได้ตรัสเรียกว่า "มหาบุรุษราชผู้ประเสริฐ ตถาคตอยู่ที่นี่ แล้ว"
ครั้นสมเด็จพระบรมสังขจักรได้พระสติ และลมหายใจเข้าออกคืนแล้ว ด้วยปีติยินดี จึงคลานเข้าไปใกล้ ได้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร แล้ว
จึงยกพระกรขึ้นประนมบังคมเหนือศิโรตม์ กระทําอภิวาทนมัสการกราบทูลว่า "สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าผู้เจริญ บัดนี้ ข้าพระองค์มาถึงสํานักพระองค์เจ้าแล้ว ขอจง
ทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์ ได้โปรด ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนาอันอุดมให้ข้า พระองค์ฟัง ณ กาลบัดนี้"
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "มหาบพิตรผู้ประเสริฐ จงตั้งโสตประสาท สดับรสพระธรรมเทศนาของตถาคตแล้ว พิจารณาธรรมกถา อันกล่าวคุณพระนิพพาน
บัดนี้" ดังนี้แล...
ll กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/9/08 at 19:13 |
|
ถวายเศียรเกล้าบูชาธรรม
สมเด็จพระบรมสังขจักรพรรดิได้ทรง สดับพระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งสิ้นเนื้อความแล้ว จึงทรงทูลห้ามเพียงแค่นั้น เพราะทรงคิดว่าพระองค์สละหมดทุกอย่างแล้ว
เหลือเพียงเศียรเกล้า และพระสรีรสรพางค์กายเท่านั้น มีคุณค่าพอแก่พระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งเท่านั้น จึงทูลห้ามและได้กราบทูลว่า
"ข้าพระองค์ได้ฟังพระสัทธรรมของพระ องค์ในกาลบัดนี้ พระองค์ทรงแสดงพระนิพพาน อันเดียวเป็นที่สุดพระสัทธรรมอยู่แล้ว ข้าพระ องค์จะตัดเศียรเกล้า
อันเป็นที่สุดสรีรกายแห่ง ข้าพระองค์ ออกกระทําสักการะบูชาพระสัท ธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ก่อน"
ตรัสแล้ว พระเจ้าบรมมหาสังขจักรผู้มี อัธยาศัยอันยิ่ง จึงทรงอธิษฐานขอให้เล็บคมดัง พระแสงดาบ ใช้ตัดพระศอให้ขาดแล้ววางบน ฝ่าพระหัตถ์
ตั้งปณิธานปรารถนาว่า "พระองค์ผู้ทรงสิริเป็นที่เฉลิมโลก เชิญพระองค์เสด็จสู่เมืองแก้ว คือพระอมตมหานิพพานอันเกษมสานติ์สําราญก่อน ข้าพระองค์
จะขอตามเสด็จสู่พระนิพพานภายหลัง ด้วย ข้าพระองค์ได้ถวายเศียรเกล้าบูชาพระสัทธรรม เทศนาของพระองค์ในกาลบัดนี้"
พอสุดเสียงปณิธานลง พระบรมโพธิ สัตว์ก็จุติจิตสิ้นชีวิตไปบังเกิด ณ ดุสิตภพ สวรรค์แล้ว ส่วนเศียรเกล้าและสรีรสรพางค์กาย
ซึ่งหัตถ์ประคองเศียรเกล้าชูขึ้นสักการบูชา นั้น ก็แข็งทรงไว้พร้อมกับมีเปลวไฟลุกโพลง ขึ้นตลอดลงมาถึงสรีรกาย เป็นดวงประทีปสว่าง
รุ่งเรืองด้วยพระพุทธานุภาพทรงโปรดอนุเคราะห์ ให้มีขึ้นเฉพาะ ไม่ลุกลามไหม้ไปที่อื่น ไม่มีควัน ไม่อบอ้าว มีกลิ่นหอมเป็นทิพสุคนธ์ ซึ่งเป็น
ขึ้นตามธรรมนิยมแห่งปรมัตถบารมียอดสูงสุด นั้น
ในอนาคตวงศ์มีว่า สมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเจ้าพระสมณโคดมบรมศาสดาจารย์ของเรา ได้ทรงแสดงคุณานิสงส์ผลแห่งปรมัตถบารมี ยอดสูงสุดนั้นแก่ พระสารีบุตรเถระ
ว่าด้วย ปรมัตถบารมี ๑๐ ยอดสูงสุดซึ่งได้บําเพ็ญ ในก่อน ๆ
และในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมสังข จักรจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ องค์ ทรงพระนามว่า พระสิริอริยเมตเตยยสัมมาสัมพุทธองค์
เป็นพระองค์ที่ ๕ ใน ภัทรกัปนี้ ในอนาคตกาล และเป็นพระพุทธกาลที่ ๕ จึงเป็นองค์ที่ ๑ ในอนาคตนั้น
ด้วยเหตุที่พระองค์มีพระสติปัญญา และพระหทัยจิตอธิษฐานมั่นคงต่อพระสัมมาสัม โพธิญาณจึงเป็นความเชื่อมั่นคง และมีความ เลื่อมใสผ่องใสเสมอไม่เสื่อมคลาย
เป็นศีลบารมี เป็นขันติบารมีเป็นนิจ จึงส่งให้มีพระสิริผ่องใส ทรงบําเพ็ญศีลบารมี วิริยบารมี ทานบารมี ตลอด จึงไม่มีข้าศึก และเจริญด้วยความดีเสมอ
จึงส่งให้มีเป็น "อารยัน อริยะ"
ทรงเจริญเมตตาเป็นประธานเป็นนิจ และ ทรงสุภาพอ่อนโยน อ่อนน้อมตลอด จึงส่งให้ เป็นที่ชื่นชมยินดีปรีดามหานิยม ได้เป็นนามซึ่ง ประจําว่า "เมตเตยยะ"
หรือ "เมตไตร" จึงเป็นนามประจําว่า "สิริอริยเมตเตยยะ" (ออกเป็น ไ-ว่า "ไตย" บ้าง)
ด้วยผลที่ทรงตัดเศียรเกล้า และอุทิศสรีรร่างเป็นประทีปต้นสักการบูชา ซึ่งเสกสรรให้ทรงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประกอบด้วย ฉัพพัณณรังสีพระพุทธรัศมี ๖
สีสว่างออก จากพระสรีรกาย งามดุจสายน้ำทองอันไหลหลั่ง ออกมาตลอดทุกเมื่อ ด้วยผลที่เสด็จเดิน, คลาน, กลิ้ง, ไป และหนังเนื้อเส้นเอ็นแตกให้เลือด
ไหลกระจายไปตามทางนั้น ดลบันดาลให้เกิด เนื้อข้าวสาลีเกิดเองตลอดใช้บริโภคได้ และ ให้เกิดต้นกามพฤกษ์อํานวยสิ่งประสงค์เครื่อง เลี้ยงชาวโลกได้ตลอดกาล
ในกาลพระศาสนา ของสมเด็จพระสิริอริยเมตเตยยสัมมาสัมพุทธ องค์ ในอนาคตกาลนั้น
ส่วน ปนาทสามเณร นั้น ซึ่งเป็นผู้นําข่าวพระสิริมิตสัมมาสัมพุทธองค์ไปแจ้งแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมสังขจักรพรรดิ และสมเด็จ
พระเจ้าบรมสังขจักรพรรดิได้สละราชสมบัติ สักการะบูชาข่าว และได้ให้สามเณรลาสิกขา แล้วจึงกระทําราชาภิเษกให้เป็นสมเด็จพระเจ้า บรมจักรพรรดิแทนพระองค์
และได้ทรง อธิษฐานสัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ ตลอด กระทั่งสมบัติอื่น ๆ ให้คงอยู่ ทรงมอบให้ พระเจ้าจักรพรรดิปกครองแทนทั้งหมดแล้ว
และได้เสด็จออกไปยังสํานักพระสิริมิตสัมมา สัมพุทธองค์แล้ว
ครั้งล่วงเวลาไปพอสมควร สมเด็จพระ เจ้าจักรพรรดิทรงเห็นพระราชบริพาร และ รัตนสมบัติทั้งหมดนั้น พร้อมเพรียงกันเรียบ ราบตลอด ตามที่ทรงมอบหมายแล้ว
ต่างก็ เคารพแวดล้อมกระทําตามทุกประการ ครั้งแรก ได้ทรงมีบัญชาให้ ขุนคลังแก้ว คือ คหปติรัตนะ นําเงินทองไปเป็นค่าถ่าย และรางวัลเพื่อถ่าย มารดา
และทรงบัญชาสั่ง ขุนพลแก้ว คือ ปรินายกรัตนะให้นําขบวนไปแก่มารดามายัง อินทปัตตมหานคร ขุนแก้วทั้งสองก็ได้กระทํา ตามครบตามบัญชาทุกประการ
ครั้นมารดามาแล้ว จึงกระทําพิธีสถาปนา เป็น สมเด็จพระเจ้าแม่แก้ว คือสมเด็จพระ บรมราชชนนีรัตนะ เชิญขึ้นนั่ง ณ แท่นสุวรรณ รัตนะ
แล้วทรงออกพระโอษฐ์ว่า เพราะผลกรรม ดลบันดาลให้สมเด็จพระเจ้าแม่แก้วพระบรม ราชชนนีรัตนะ ไปเป็นทาสีมีค่าตัว เป็นเหตุให้
สามเณรลูกชายคิดใคร่หาทรัพย์เป็นค่าถ่าย จึงเดินทางมาได้พบสมเด็จพระเจ้าบรมสังข จักรพรรดิ ได้ทูลข่าว พระพุทธรัตนะ, พระธรรม รัตนะ, พระสงฆรัตนะ,
ได้อุบัติขึ้นพร้อมแล้วให้ทรงทราบแล้ว
พระองค์ได้ทรงสละพระสิริบรมจักรพรรดิ ราชสมบัติทุกประการทั้งหมดเป็นเครื่องสักการะบูชา ได้ราชาภิเษกให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองแทนแล้ว
จึงมีทรัพย์เป็นค่าถ่ายพระเจ้า แม่ ได้ตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าแม่แก้วด้วย สัจจาบารมี นี้ กับกตัญญูอันเป็น เมตตาบารมี
ทั้งตั้งใจอันเป็น อธิษฐานบารมี กับบารมีอื่น พร้อมกับด้วยพระบรมบารมีพลานุภาพ สมเด็จ พระบรมสังขจักรพรรดิได้โปรดดลบันดาลให้
สมเด็จพระเจ้าแม่แก้วทรงเจริญชนมายุเกษม สําราญ ปลอดโรคภัยอุปัทวันตรายได้สุข สมบูรณ์ตลอดไป ดังนี้แล้ว ก็ประทับอยู่ด้วย เกษมสําราญ
ต่อมาเพราะเหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิพระราชสวามี ได้ทรงสั่งไว้เพื่อป้องกันห่วงอาลัย ให้ปรนนิบัติ เป็นการสอนให้รู้ทิพรสสัมผัสใน ทิพกายของพระนางแก้วนั้น
ได้ทรงแจ้งว่า องค์ใหม่นี้ก็เป็น "โพธิสัตว์" เท่าฐานะเช่นกัน แต่ยังมิได้รับพระพุทธพยากรณ์เท่านั้น
ฉะนี้ พระนางแก้ว หรือ สมเด็จพระนางเจ้ามหาสังขจักรพรรดินี กับ นางสนองโอษฐ์ชื่อ มงคลราสินี ได้เข้าถึงที่บรรทม คราวแรก
พระเจ้าจักรพรรดิก็เคารพยําเกรงจึงไม่ประสงค์ เพราะคําสั่งเดิมนั้น ทั้งยังระลึกคํารับรองว่าจะ ไม่มีโอรสธิดา เนื้อคู่ของเขา คือ "มงคลราสินี"
ซึ่งจะมีลูก ๒ คน แต่ไม่มีบุญเป็นบุตรรัตนะ คือลูกแก้ว และสมเด็จพระนางเจ้ายังทรงระลึก ได้ว่า พระนางมีพระราชโอรสธิดาด้วย "ปรามาส" คือ ลูบคํานาภี (ท้อง)
ทั้งสององค์
ต่อมาวันหนึ่ง ได้ทรงพระเครื่องต้น สมเด็จพระนางเจ้าพระจักรพรรดินี และ พระองค์เดียวได้เสด็จทรงเล่าพระดํารัสสั่งนั้น ได้ประทานทิพยสัมผัส
กระแสทิพได้แผ่ซาบซ่าน ไปตลอดทั้งพระทัยและวรกาย ให้เคลิบเคลิ้ม สุขโสมนัสสําราญหลับไป
ครั้นตื่นขึ้นมาก็ทรงระลึกได้ถึงทิพยรส สัมผัสนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนั้นติดประจําอยู่ จึง ทรงลุ่มหลงเริงสําราญทิพยรสสัมผัสนั้นตลอด กาล
แม้สมเด็จพระนางเจ้าได้ทรงนํานางสนอง พระโอษฐ์ "มงคลราสินี" อุปภิเษกเป็นพระจักรพรรดินีราชินี ก็รับสนองในภายในก็จริง ถึงมี พระราชโอรส ธิดา ๒ องค์แล้ว
ก็ยังลุ่มหลงอยู่ สมเด็จพระนางได้ทรงเตือนเป็นอาทีนพโทษ (ความไม่ดี) และทรงหวังว่าเมื่อทรงเห็นอาทีนพโทษ แล้วจะได้เป็นอุปนิสัยแห่ง เนกขัมมบารมี
ที่แท้
แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระสิริมิต กับพระอรหันต์สงฆ์สาวกได้เสด็จมาโปรด ก็ได้ ทรงสร้าง "ทักขิณมหาวิหาร" ถวาย ถึงกระนั้น
ก็ยังคลายลุ่มหลงทิพยรสสัมผัสนั้นไม่ได้ สมเด็จพระนางมีพระสติสัมปชัญญะ จึงทรง สิริสุขเกษมสําราญ ส่วนพระเจ้าจักรพรรดิทรง ทรุดโทรมลงทั้งลุ่มหลงอย่างนั้น
ได้สิ้นพระชนม์ เพราะหมดพลังกาย
ครั้นจุติแล้วได้ไปอุบัติใน ตาปะนรก ซึ่ง มีพื้นร้อนระอุตลอดแต่ไม่ถึงลุกไหม้ จึงถูกพื้นระอุร้อนนั้นอบอวลระอุร้อนด้วยราคัคคิ
ไฟรักระอุเผาอยู่ตลอดกาลนั้น ครั้นได้สติรู้สึกแล้ว ได้ระลึกถึงเหตุก็ทรงทราบว่า เพราะลุ่มหลง รสทิพยสัมผัสนั้น ทั้งระลึกถึงกระแสพระดํารัส
ที่สมเด็จพระนางเจ้า ซึ่งทรงเล่าพระดํารัสบัญชา ให้กระทํา เพื่อสอนให้รู้อาทีนพโทษได้
ครั้นระลึกได้แล้ว ก็ทรงโทษตนเองทั้ง ที่รู้อยู่ก็ยังลุ่มหลงจนได้ เท่าที่เป็นขึ้นนั้นก็เป็น ธรรมดานิยมแห่งบุญญานุภาพให้มีขึ้นเท่านั้น เอง
วัตถุกามและกิเลสกามก็มีอยู่ตามธรรมดา โลกที่ไปลุ่มหลงก็เพราะ อวิชชา ไม่รู้เท่านั้นเอง
พระเจ้าบรมสังขจักรซึ่งจุติขึ้นไปอุบัติ ณ ดุสิตภพทรงชื่อว่า เมตเตยยโพธิสัตว์ แล้วได้ ทอดทิพญาณดูตลอด ทรงทราบวาระจิตนั้นแล้ว
ทรงเพศอย่างนั้นเสด็จพลันถึง ทรงเห็นยกมือ ไหว้ และรู้สึกว่าพื้นนั้นเริ่มเย็นแล้ว จึงลุกขึ้น กระพุ่มสองมือขึ้นไหว้ แล้วลดลงกราบกับพื้น ๓ คาบ
พระเทพเจ้าบรมโพธิสัตว์ตรัสว่า
"น้องเรา...มิใช่เป็นผู้ทรามแท้จริง ก็มีฐานะ "วิริยาธิกะ" เท่ากัน เพียงว่าทําทีหลังหรืออ่อนกว่า เท่านั้น ถ้าเช่นนั้นจะทรงฐานะเช่นนั้นไม่ได้
จึงมีโอกาสนําข่าวมาแจ้งเราได้สักการะบูชา ด้วยหวัง ว่าจะสอนให้รู้แจ้งสุขเกษมสําราญแห่งจักร พรรดิราชสมบัติ และรสทิพยสุขกับมนุษยสุข
ทั้งคุณประโยชน์และอาทีนพโทษ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตลอดแล้ว
ที่มารับผลนี้เป็นผลต้องถูกเผาด้วย ราคัคคิ คือ ไฟรัก โทสัคคิ ไฟโกรธ โมหัคคิ ไฟหลง เป็นเครื่องสอนให้รู้เท่านั้น ครั้นเบื่อ หน่ายในกาลใดนั้น
จะเป็นเนกขัมมบารมีที่แท้ ซึ่งก็มีมาแล้ว จึงมีสติสัมปชัญญะระลึกลม หายใจเข้าออกอันเป็น อากาสกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ ได้จะกระทําให้เย็นดับร้อนได้
และให้พ้นมลทินบาปนั้นได้"
ll กลับสู่ด้านบน
ช้างปาลิไลยกะ
พระเจ้าจักรพรรดิได้คิดและเจริญอานาปานสติเป็นลม, น้ำ, ก็ดับร้อนได้ ฌานก็พลันเกิดขึ้น จึงลอยขึ้นตามไปได้ผ่านมาทางอินทปัตตะนั้น
สมเด็จพระนางเจ้าจักรพรรดินีหมดภาระธุระแล้ว ได้จุติมารออยู่แล้ว จึงร่วมไปสู่ดุสิตสวรรค์
และเพราะเหตุนั้นได้เป็นนิสัยและอุปนิสัยให้ระอาเบื่อหน่ายให้หลีกออกเสมอมาแล้ว กับทั้งหมดอายุกาลแล้วราชอาณาจักรพรรดิ พร้อมทั้งสัตตรัตนสมบัติ ๗
ประการนั้น ก็กลับสู่ที่เดิม ปรินายกรัตนะ คือขุนพลแก้วได้ครอง ราชสมบัติต่อมา มีนามชื่อว่า ปรินายกราชา
ปนาทสามเณร ซึ่งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิสถาปนาขึ้นนั้น ได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏบําเพ็ญบารมีได้เป็นอันมาก กระทั่งถึงกาล
พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์ นั้น ได้มา เกิดเป็น สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ แล้ว นางสนองพระโอษฐ์ มงคลราสินี ได้มาเป็น
อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) สุมงคลาณี จักรพรรดินี
คหบดีรัตนะ ก็ได้มาเป็นคหบดีรัตนะ คือขุนพลแก้วอีกด้วย ด้วยผลวิบากอํานวย อานิสงส์แห่งกุศลกรรม ที่กระทําให้เป็นบารมีในครั้งนั้น
และในกาลต่อมาได้ส่งให้มาเกิดเป็นขึ้น ขุนคลังแก้วได้นําข่าวมาแจ้งแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิได้สละราชจักรพรรดิสมบัติทั้งหมดออก ผนวชเป็นภิกขุ ด้วยพระวาจาว่า
"สาธุ" ได้เสด็จเข้าฟังพระสัจธรรมแล้ว ทรงเอาพระชนม์ชีพ ถวายเป็นพระพุทธบูชา
และในพระพุทธกาลนี้ ได้มาเกิดเป็น ช้างปาลิไลยกะ ได้ทนุบํารุง พระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน พรรษาแล้ว เมื่อเสด็จกลับตรัสห้ามแล้ว ได้มีจิตใจ
เลื่อมใสสุดขีด ได้ยืนร้องไห้น้ำตาไหลมองดูอยู่ นั้น ครั้นลับสายตาก็หทัยแตกได้ไปเกิดเป็น ปาลิไลยยกเทพบุตร แล้ว
อย่างนี้ใน อนาคตวงศ์ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรําพันคุณพิเศษว่า ด้วยอํานาจพระ ชนม์ชีพ และพระเศียรเกล้ากับพระสรีรกาย
ได้ทรงอธิษฐานให้ประทีปลุกขึ้นเปล่งแสงสว่าง เป็นพระพุทธบูชานั้น มีอานิสงส์ให้ได้ตรัสรู้เป็น พระสุมงคลสัมมาสัมพุทธองค์
ทรงประดับด้วยพระพุทธรัศมีฉัพพัณรังสีรุ่งเรืองสว่าง ดังสีทอง อันงามทั้งกลางวันและกลางคืน กลางคืนก็ดุจกลางวัน
ด้วยความเลื่อมใสเต็มเปี่ยมกระทั่งหทัยแตกนั้น มีอานิสงส์ให้มีผู้เลื่อมใสตลอดกาล ด้วยอํานาจสละราชสมบัติ กับเสด็จออกด้วย
เรี่ยวแรงได้ทรงผนวชแล้วให้ฌานอภิญญา ๕ เกิดขึ้น จึงมีอานิสงส์เป็นอานุภาพบันดาลให้มี "กามพฤกษ์" เกิดขึ้นต้นหนึ่ง ซึ่งมีผลเป็นเครื่องประดับ
เป็นเครื่องบริโภค อุปโภคทุกชนิด
ทวยมนุษย์ชนทั้งหลายไม่ต้องทําอาชีพ ใด ๆ อาศัย "กามพฤกษ์" นั้นเป็นอยู่ได้ตลอด กาล มีความสุขสบายเกษมสําราญ ทําแต่แต่ง ตัว, ฟ้อนรํา, ขับร้อง
เสมือนเทพบุตรเทพธิดาได้ซึ่งทิพยสมบัติในเทวโลก
ฉะนั้นสมเด็จพระสุมงคลสัมมาสัมพุทธ องค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก ทรงมีพระชนมายุแสนปี เป็นพระองค์ที่ ๑๐ ใน อนาคตกาล อีก ๕ อสงขัย ๔ แสนกัป
ส่วน คหบดีรัตนะ คือ ขุนคลังแก้วนั้น เป็นฐานะชื่อตําแหน่งบรรดาศักดิ์ประจําของ พระเจ้าจักรพรรดิทั้งสองพระนามนั้น สําหรับ ชื่อรัตนะ ๗
ประการนี้เป็นอย่างเดียวกัน ที่จะ มีโอกาสอํานวยให้นั้น ก็ต้องมีบุญบารมีมาด้วย ฉะนั้นคหบดีรัตนะ ขุนคลังแก้ว ก็ได้บําเพ็ญ บารมี ๑๐
เพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณมามาก แล้ว จึงเป็นบารมีหนุนให้ขึ้นเป็นขุนคลังแก้วได้ ก็พระพุทธภูมินี้มีอยู่ ๓ คือ
๑) ท่านที่เป็น อุคฆติตัญญู คือผู้รู้พลัน พอยกข้อความขึ้นก็รู้พลัน จึงบําเพ็ญ ปัญญา บารมี มากและเข้มแข็ง บําเพ็ญบารมี ๑๐ นั้น
ตลอดเฉพาะ "ออกคําตั้งปณิธาน" และได้รับ พระพุทธพยากรณ์เป็น นิยตะ คือแน่นอนแล้ว ต้องบําเพ็ญมีระยะกาล ๔ อสงขัย ๑ แสนกัป จึงมีชื่อว่า
พระปัญญาธิกพุทธภูมินิยตบรมโพธิสัตว์
๒) ท่านที่เป็น วิปจิตัญญู คือผู้รู้ด้วย ฟังอธิบาย จึงได้สร้างสมขึ้นให้แจ่มแจ้ง จึงมี ศรัทธาความเชื่อมั่น บําเพ็ญบารมี ๑๐ ตาม สมควรไม่หยุด
เฉพาะกาลออกคําตั้งปณิธาน และได้รับพระพุทธพยากรณ์เป็นนิยตะแน่นอน แล้วมีระยะกาลถึง ๘ อสงขัย ๒ แสนกัป จึงมีชื่อว่า
พระสัทธาธิกพุทธภูมินิยตบรมโพธิสัตว์
๓) ท่านที่เป็น เนยยะ คือผู้พอนําได้มี เพียรมั่นคงบําเพ็ญบารมี ๑๐ ได้มากอย่างสบาย เพราะผ่านสิ่งกีดขวางได้หมด จึงเป็นผู้ ยิ่งด้วยวิริยะ
ความเพียรเฉพาะกาลออกคํา ปณิธาน และได้รับพระพุทธพยากรณ์เป็นนิยตะ แน่นอนแล้ว ต้องบําเพ็ญมีระยะกาล ๑๖ อสงขัย ๔ แสนกัป จึงได้มีชื่อว่า
พระวิริยาธิกพุทธภูมิ นิยตบรมโพธิสัตว์
ขุนคลังแก้วนั้นเป็นพระสัทธาธิกพุทธภูมิ บรมโพธิสัตว์ เมื่อลุเป็นขุนคลังแก้วแล้ว ได้ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด ทั้งแก่พระเจ้าบรมสังข จักรพรรดิ
และพระเจ้าจักรพรรดิสถาปนานั้น ถ้ามิเช่นนั้นจะรับได้ไม่ไหว ครั้นหมดอายุกาล แล้ว ได้เคลื่อนไปตลอด ได้ร่วมกันสร้างสม บารมีเสมอมาไม่ขาดสาย
กระทั่งถึงกาลพระ ศาสนา พระกุกกุสันธะ ก็ได้เป็นขุนคลังแก้วของ พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้เป็นผู้นํา ข่าวพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์
มาทูลให้ ทราบทั้งไปและกลับ ได้เหาะลอยไปในทาง อากาศ จึงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้เสวยราชสมบัติจักรพรรดินั้นเป็นสุขเกษม สําราญ
พระกุกกุสันธะและพระอรหันตสาวก ได้มาโปรด จึงสร้าง วัดจักรวรรดิรัตนารามมหา วิหาร ถวาย ซึ่งใหญ่โตมาก พระกุกกุสันธะ ได้เสด็จมาประทับฉลองศรัทธา
และทรงปรารภ เหตุนี้จึงตรัสพยากรณ์เป็นอนุโมทนาแล้ว ได้ เคลื่อนจากนั้นแล้วมาเกิดในกาลศาสนา พระ โคนาคมสัมพุทธองค์ ได้เกิดเป็น พระเจ้า
ธรรมเสนราชา (จะมีในยุคขุนแถน)
ในกาลพระศาสนาของพระโคดมสัมมา สัมพุทธเจ้านี้ ได้เกิดเป็นพระยาช้างสงครามชื่อ นาฬาคีรี ได้ถูก พระเทวทัต เอาเหล้ามอม ๑๖ กะออมปล่อยให้ชน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแผ่เมตตาปราบสิ้นมัวเมาแล้วตรัสว่า เพราะ จะประทุษร้ายเรานี้จะไปสู่นรก ทรงพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ
องค์พระนามว่า ติสสะสัมมาสัมพุทธะ เป็น พระองค์ที่ ๙ ในอนาคตกาล
ส่วน พระเจ้าบรมสังขจักรพรรดิ นั้น ด้วยประการที่ทรงบําเพ็ญพระบารมีสูงสุดยอด ในพระพุทธศาสนา พระสิริมิตสัมมาสัมพุทธ องค์ แล้ว
ทรงผ่านพระพุทธองค์มาตลอด แม้ ในพระพุทธกาลพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้มาอุบัติเป็นพระโอรสของ พระเจ้าอชาต ศัตรู และ พระนางกาญจนาเทวี
พระอัครมเหสี พระนามว่า "อชิตกุมาร"
ครั้นเจริญวัยแล้ว จึงได้อุปสมบทเป็น พระภิกขุในพระพุทธศาสนา ใน ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ว่า ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งที่ ๒ ในครั้งนี้ ท่านเป็นพระภิกขุ ใหม่เป็นองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุให้มีปรากฏ
การณ์ขึ้นตามต้นเรื่องนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมารดาเลี้ยงทรงพหูปการคุณยิ่งนัก ได้ทรงพบเห็นพระพุทธองค์เสด็จในครั้งแรกนั้น ทรงปรีดาปราโมทย์
ทั้งทรงมีพระทัยผูกพัน รําลึกเป็นประจําว่า
พระลูกเจ้าของเราทรงเห็นพระรูปทรงสิริ รัศมีฉัพพัณรังสีซึ่งประดับ ด้วยพระมหาปุริส ลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ นั้น ซึ่ง สวยงามยิ่งนัก
จึงทรงดําริว่าจะถวายจีวรผ้าเนื้อทองคํา
ทรงดําริฉะนี้แล้ว จึงให้ช่างทองคําจัดทํา อ่างทองคําสุก ๗ อ่าง ทรงให้กรางทองคําเป็น ผงละเอียด ป่นประสมดินเหนียว เปลือกเครื่อง หอม ใส่เต็มอ่างทั้ง ๗
แล้ว เอาเมล็ดฝ้ายเพาะ ลงในอ่างนั้น รดด้วยนมโคเจือกรางทองนั้น
ครั้นฝ้ายออกปอยปุยเหลืองดังสีทองคํา ธรรมชาติแล้ว พระนางมหาปชาบดีทรงเลือก เก็บฝ้ายนั้น ทรงดีด, ปั่น, ชักเส้น เป็นต้น ด้วยตนเอง
เส้นด้ายละเอียดมีสีเหลืองอร่าม ดุจทองคํา จึงให้หาช่างหูกฝีมือเอกให้ทอใน โรงหูก พระนางได้เสด็จทอดพระเนตรทุกวัน จนสําเร็จเป็นผ้าสาฎก ๒ ผืนยาว ๑๔ ศอก
เสมอกัน มีสีเหลืองอร่ามดุจทองคํา เนื้อ ละเอียดอ่อนนุ่ม ได้พับใส่ผอบทอง ให้จัดผ้า อื่นใส่ผอบทองอีกแสนผืน ใส่ผอบเงินอีกพันผืน พร้อมเครื่องสักการบูชา
พระนางจึงยกผอบบรรจุผ้าคู่นั้น ขึ้นทูลเหนือพระเศียรเกล้า เสด็จพร้อมศักยราชกัญญา และราชบริพาร ซึ่งถือเครื่องบูชาสักการะ กับถือ ผอบผ้าอื่น ๆ
ไปสู่นิโครธารามแล้ว ได้เข้าไป สู่สํานักพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งประทับ ณ พุทธ อาสน์ ซึ่งแวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวก
ทรงเปิดผอบนําผ้าคู่นั้นออกประคองยกขึ้นทูล ถวายได้ตรัสว่า ขอพระองค์ทรงรับเพื่อประโยชน์ สุขตลอดกาลนาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้ถวายสงฆ์ถึง ๓ ครั้ง ซึ่งพระนางก็ทรงโทมนัส จึงเข้าไปถาม พระอานนท์ตรัสเล่าแล้ว พระเถระเข้าไปทูล ความนั้น จึงตรัสแสดง
ทักขิณาวิภังคสูตร จบแล้ว พระนางก็เกิดปรีดาปราโมทย์เป็นกําลัง จึงถือผ้าคู่นั้นเข้าไปถวาย พระสารีบุตรเถระ ก็มิได้รับ กระทั่งถึง
พระอชิตภิกขุ สุดท้าย ได้รับไว้แล้ว
พระนางก็ทรงโทมนัสจนน้ำพระเนตรตก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นแล้ว จึงตรัสให้ พระอานนท์นําบาตรมาถวายทรงแล้ว และทรง อธิษฐานแล้วจึงทรงโยนไปในอากาศ
บาตรนั้น ลอยหายไปในกลีบเมฆ พระอัครสาวกและพระ สาวกอื่นได้รับอาสาเหาะไปตามก็มิได้มา ก็ถึง พระอชิตภิกขุใหม่ไม่มีฤทธิฌานสมาบัติใดเลย
จึงยืนขึ้นกระทําสัตยาธิษฐานว่า "อาตมาได้อุปสมบทเพื่อได้ตรัสรู้เป็นพระ สัพพัญญูพุทธองค์ในอนาคต จะพึงสําเร็จได้ ขอบาตรทรงของพระองค์จงลอยมาประดิษฐาน
ในมือพลันเถิด... "
บาตรทรงนั้นก็ลอยมาสถิต ณ คู่มือซึ่ง ประคองรับอยู่นั้น เสมือนกับกล่าวว่า บาตรทรง นี้เป็นของพระพุทธเจ้า ได้มาสู่ท่านผู้จะได้
ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต ดังนี้ แล้ว ท่านอชิตภิกขุได้ประคองเข้าถวายพร้อม กับเกิดมหัศจรรย์ต่าง ๆ
เมื่อพระนางมหาปชาบดีได้ทรงเห็นแล้ว ก็ทรงเกิดปีติโสมนัสเป็นกําลังจนน้ำพระเนตร ไหลลงแล้ว ได้ยกพระหัตถ์ประนมนมัสการพระศาสดาเนือง ๆ
แล้วเสด็จคืนเข้าพระราช นิเวศน์
ลําดับนั้น พระอชิตภิกขุเกิดจิตคิดว่าจะ เอาผ้าคู่อันอุดมนี้ กระทําพระพุทธบูชาจึงจะ สมควร จึงได้นําผ้าฝืนหนึ่งเข้าไปดาดเป็น เพดาน
กั้นเบื้องบนพระคันธกุฎี ฉีกออกเป็น ๔ ท่อน ทําเป็นม่านห้อยลงในที่ ๔ มุม แห่งเพดานนั้น
ท่านได้มองเห็นผ้าเหลืองทองนั้นเรืองอร่าม งามยิ่งนัก ก็เกิดปลื้มปีติโสมนัส เมื่อจะกล่าว ปณิธานหมายประโยชน์เป็นพระพุทธองค์ทรง สัพพัญญุตญาณ
จึงเข้าไปสู่สํานักพระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้อภิวาทตรงพระพักตร์ ๓ คาบแล้ว ได้ออกคํากล่าวตั้งปณิธานว่า "ด้วยอานิสงส์แห่งวัตถุบูชานี้ ได้เป็น
ประโยชน์สําเร็จพระสัพพัญญุตญาณ เพื่อรื้อ ขนสัตว์ให้พ้นสงสารวัฏในอนาคตกาลเถิด... "
ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอด พระเนตรเห็นแล้ว ได้ทรงกระทําพระอาการ แย้มให้ปรากฏ พระอานนทเถระได้เห็นแล้ว ได้ทูลถามจึงตรัสพยากรณ์ว่า
"อชิตภิกขุนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์ พระองค์ที่ ๕ มีนามว่า "เมตไตย" ในอนาคต ภาคหน้าในมหาภัทกัปนี้ ทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระชนมายุ
๘๐,๐๐๐ ปี ทรงครองเรือนอยู่ ๓๕,๐๐๐ ปี จึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์สู่ควงต้นกากทิงเป็นมหาโพธิพฤกษ์ ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า
เมตไตยสัมมาสัมพุทธองค์ ทรงโปรดสัตว์อยู่ ครบแล้วก็ปรินิพพาน
ในกาลต่อมาอีกนานปี ใน อนาคตวงศ์ กล่าวว่า พระศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ซึ่ง นางวิสาขามหาอุบาสิกา สละ ทรัพย์ ๒๗
โกฏิให้สร้างถวายแล้ว เพราะใน เรื่องปรากฏมีการกล่าวถึงการฉลอง และตรัส บุรพกรรมที่ได้ปรารถนามาเป็นเหตุ ให้พระ สารีบุตรเถระเข้าเฝ้าทูลถาม ได้ตรัสแสดงต้น
เหตุ พระสารีบุตรเถระ จึงนํามาเรียบเรียงเรื่อง มูลเหตุทั้งหมด ๑๐ องค์นั้นเป็นคัมภีร์ ๑ ขนานชื่อว่า "อนาคตวงศ์"
ซึ่งได้ตรัสแสดงว่า อชิตภิกขุ นี้จะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์ทรง พระนามว่า เมตไตย สัมมาสัมพุทธองค์ หรือพระนามเต็ม พระสิริ
อริยเมตไตยสัมมาสัมพุทธองค์ หรือพระนาม ย่อว่า พระศรีอารย์ ในอนาคตกาล เป็นเรื่องที่ ๑ และเป็นพระองค์ที่ ๑ ในอนาคตวงศ์ ซึ่งมี ๑๐ พระองค์นั้น
ซึ่งพระเถรานุเถระได้ทรงจํา กันมาจนถึงสมัยพระคันถรจนาจารย์ จึงได้ จารึกลงในใบลาน หรือในคัมภีร์, ปกรณ์, คันถะ, เรื่องหรืออนาคตวงศ์จึงยืนยงคงมาได้ถึงกาล
บัดนี้
ต้นเรื่อง ติโรกุฑฑสูตร เล่าว่า พระผู้มี พระภาคตรัสแก่ พระเจ้าพิมพิสาร ราชามคธรัฐ เล่าในกาล พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธะ หมู่
เปรตเข้าไปทูลถาม พระกุกกุสันธะตรัสว่า "อนาคตแผ่นดินใหญ่สูงขึ้นประมาณ ๑ โยชน์ พระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธะจักอุบัติ" ไม่ทรงกําหนดกาลตามพระพุทธพจน์นั้น
ได้กาล แผ่นดินสูง ๑ โยชน์ ๑๖ ก.ม. ถึง ยุคมิคสัญญี ก็ได้ครึ่งโยชน์ ๘ ก.ม.
(ตามระยะเดิมว่า ๔๐๐ เส้น เป็น ๑ โยชน์ จึงเทียบง่าย ๆ ว่า ๒๕ เส้นเป็น ๑ ก.ม. ๔๐๐ เส้น จึงได้ ๑๖ ก.ม. และบัดนี้ใช้ ก.ม. ตลอดไทยแล้ว
ต่อไปจะสูญหายแน่จึงทําไว้)
"โลกวิทยา" ว่าโลกมีอายุ ๕,๕๐๐ ล้านปี (ถ้าเลื่อนขึ้นไป ๕๕,๐๐๐ ล้านปี ก็เลื่อนขึ้นไป ด้วยใส่ ๐ เข้าไปข้างท้ายอีก ๐ เดียวไม่ยากอะไร) จากกาล
ผีฟ้าแสง (อาภัสสรกาย) ถึงพระพุทธกุกกุสันธกาล ตลอดถึงยุคมิคสัญญี ซึ่ง กาลนี้ "โลกวิทยา" กล่าวว่า ยังลุกเป็นดวงไฟมหึมาอยู่
ของเราเย็นเป็นแผ่นดินโลกมาแล้วมี อายุล่วงมาได้ ๕๐๐ กับ ๑,๐๐๐ ล้านปีที่ ๑ ตรงกับยุค ขุนสรวง กําหนดกันง่าย ๆ ว่ายุคสรวง "พุทธันดรที่ ๑"
กาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธะ เท่ากับ ๕ ร้อยล้านปี กับพันล้านปีที่ ๑ คร่อมเข้าพันล้านปีที่ ๒ แผ่นดินสูง ๑ โยชน์ (๑๖ ก.ม.) ตรงกับสมัย "สรวง"
ll กลับสู่ด้านบน
(ในตอนหน้าขอเชิญพบกับ "พุทธันดรที่ ๒" สมัยสมเด็จพระพุทธโกนาคม ซึ่งตรงกับ ไทยยุค "ขุนแถนเทียนฟ้า สีทองงาม"
ไว้ ติดตามต่อไปในฉบับหน้า สวัสดี...)
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 21/9/08 at 10:26 |
|
Update 21 ก.ย. 51
ท่านผู้อ่านได้ทราบความจากตอนที่แล้ว ว่า สมัยพุทธันดรที่ ๑ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเป็นพระองค์แรกในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า
"สมเด็จพระกุกกุสันโธ" ซึ่งตรงกับ "ยุคไทยขุนสรวง-นางสาง"
ต่อไปจะเป็นกาลที่ สมเด็จพระโกนาคมน์ ทรงอุบัติขึ้นเป็นองค์ที่ ๒ ซึ่งจะเป็นยุคไทยสมัยไหน ขอเชิญติดตามได้ในโอกาสบัดนี้ . . .
ยุค ๒ (พุทธันดรที่ ๒) ขุนแถนเทียนฟ้า-สีทองงาม
"กาล" และ ขุนแถนเทียนฟ้า กับขุนนาง สีทองงาม หรือ "ปู่แถน-ย่าแถน" นี้ ซึ่งเป็น "ขุนต้นผี" ที่ยั่งยืนมาก ณ เชียงใหม่และลําปาง
ในทางภาคกลางนี้มีเพียงชื่อ ยิ่งนํามาตั้งชื่อคน หรือสถานที่แล้วก็เป็นของธรรมดาไป เฉพาะในทางพระพุทธศาสนามี "กาลพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธ"
ในส่วนของไทยนั้นมีเพียงชื่อ "แถน" ทั้งไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นจุดให้คงความสําคัญ จึงเป็นของเร้นลับ หรือเพียงคําพังเพยกันเท่านั้น
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีรูปคนเคารพ ปรากฏอย่างที่ได้พิมพ์มานี้
เมื่อมาได้จารึกกระเบื้องจารได้ทราบเรื่องแล้ว จึงได้รู้เรื่องและได้ยืนยันพระพุทธันดรที่ ๒ นั้น คนไทยเราก็มีอยู่แล้วในชื่อและกาลสมัยว่า "เมืองแถน"
"ขุนแถน" แล "ชาวแถน" จึงเป็นที่รับรองชื่อซึ่งคงอยู่มา โดยชาวเชียงใหม่ ลําปาง ได้เคารพนับถือเป็น "ต้น" หรือเป็น "ต้นผี" ได้เคยเห็นรูปเคารพ
ทําเป็นเปลือยก็มี ทำเป็นคู่สร้างบุตรผลก็มี อันเป็นเรื่องของ "ต้น" ทั้ง "ต้นคน" และ "ต้นผี" จึงได้ทํารูปเคารพขึ้นไว้ ได้เคารพนับถือระลึกถึงกันมา
ปู่แถน-ย่าแถน จึงได้อยู่ยงคงสถานะต้นตระกูลมาถึงกาลบัดนี้
สมัยกาลนี้ ยังเป็นยุคดึกดําบรรพ์ หรือระยะกาลสืบต่อกันมาจากยุคต้น ไม่มีเรื่องมากนัก เพราะมีมาแล้วคือ เข้าไปหลบซ่อนเมื่อหมดภัยแล้ว
ก็ออกมาสืบต่อเริ่มชีวิตกันใหม่ อย่างที่ จ้าวขุนสรวง เล่าว่า บ้านเมืองสิ้น ผ้าหาย ลืมทํา เอาใบไม้นุ่งห่มกันมา
แผ่นจารึกลําดับอ่านที่ ๗๑๗ หน้า ๑ ขุนสือไทย และ ขอมฟ้าไทย ได้บันทึกคําเล่าของ ขุนสรวง ซึ่งมาทรง ไทยงาม ลงกระเบื้องจาร
ยังได้ทําเส้นหนักให้เห็นเป็นเลข ๒ พออ่านได้ อันหมายถึง พุทธันดรที่ ๒ และไทย
นับได้ว่าเป็นยอดของไทย ที่มีหลักฐานคือ รูปเคารพประเพณี และการกระทําอันสืบเนื่องกันมา ได้คิดสร้าง ลายสือไทย ขึ้นใช้จดจารึก
ไว้เป็นหลักฐานอันยืนยาวมาได้ ถึงแม้ว่ากาลสมัยใหม่ได้เข้ามา และไทยจะละเลิกไปบ้าง ถึงกระนั้นก็ยังมีอยู่ เช่น พิธีเซ่นไหว้ พิธีไหว้ผี พิธีขึ้นครูบา
โดยเฉพาะพิธีไหว้ครูลายสือ และ พิธีตั้งศาลเพียงตาครอบ พิธีคนปลุกกําลัง พลานุภาพ ตนุกานุภาพ ขึ้นพิธีคงขลัง และ เฉพาะเชิญทรง
อันเป็นพิธีติดต่อโลกนี้และโลกอื่น หรือคนกับจ้าว พิธีทั้งหมดนี้ไทยยังมีอยู่ จึงยังเป็นไทยชัดเจนอยู่อย่างทุกวันนี้
คำอ่านเต็มแผ่นจารึก
คนเหลืองสอง เมื่อหมู่คนยังหลาย หมู่คนนี้รวมเข้าหมู่คนเมือง นานมาเกิดหลาย คนเมืองชื่อ แถนไทยลวะ ต้นใหญ่ชื่อ ขุน
สมัยที่ ๒ คือ ยุคสมัยแถน จารึกอ่านแล้ว ตัวลายเลือนลางมาก ถึงกระนั้นก็ได้ความว่า
แถนไทย เมียชื่อ สีทองงาม กูช่วยให้รู้อู่ รู้ผี รู้ฟ้า ข้าว บ้าน เรือน กดหมาย ลายอ่าน
เมืองแถน ข้าวล้นคนหลาย ถือผีพ่อแม่ ยืนนาน คนเหลืองสองเกิดขึ้น (รู้ทําเป็นผีฟ้า แสง) มาเมืองแถน สอนหมู่เราเข้าเป็นคนเหลืองมาก
(เข้าบวชเป็นภิกษุสงฆ์)
คนเหลืองอยู่ดอมเราหลาย ไปหนหาย (นิพพาน) อยู่เรายังเมืองแถน มีคนล้นหลาย รู้คิด รู้สร้างมาก นานเข้ามิเอาคําผี มิเชื่อถือ คําคนเหลือง เอาร้าย
ฆ่ากันตาย ผู้กลัวเข้าถ้ำ ป่า เขา (ตอนนั้น) เข้ารวมหมู่ตั้งชื่อ "คนแถน"
เทียบกับหลักฐานทางพระพุทธศาสนา
ตอนนี้เรื่องในพระพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อ ยุคมิคสัญญี ผ่านไปแล้ว พุทธันดรที่ ๑ ล่วงไป หมู่คนที่หลบภัยได้ออกมาสั่งสอนกันเอง
จึงเริ่มประพฤติดี อายุกาลก็เริ่มมากขึ้น กระทั่งถึงอสงไขย ไม่เห็นแก่ตายจึงกระทําอกุศลกรรมกันอีก อายุเริ่มลดลงกระทั่งถึงกาลมีอายุ ๓ หมื่นปี
พระโกนาคมน์โพธิสัตว์ อุบัติ ครองเรือนอยู่ ๓ พันปี ออกมหาภิเนษกรมณ์ได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงพระชนม์ชีพอยู่ ๓ หมื่นปี
ดับขันธปรินิพพาน
จากนั้นอายุก็ลดลงกระทั่งถึงมิคสัญญี ต่างประหัตประหารกัน ที่เห็นภัยก็หลบเข้าถ้ำ ป่าเขา เมื่อตายกันหมดสงบเงียบแล้ว ต่างออกมาเริ่มชีวิตกันใหม่
เป็นกาลสุดพุทธันดรที่ ๒ และเริ่มพุทธันดรที่ ๓
พระพุทธโกนาคมนกาล (ยุคไทย ขุนแถน)
ในยุคไทย-ขุนแถนนั้น ตรงกับพุทธันดรพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์ ก็มีเรื่อง พระเจ้าธรรมเสนราชา ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า
พระติสสสัมมาสัมพุทธองค์ เป็นพระองค์ที่ ๙ ในอนาคตกาลนั้น
ก็ในกาลก่อน กระทั่งถึงพระพุทธกาล พระโคนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์นั้น จากกาลมิคสัญญีนั้นก็ได้เจริญขึ้น โสฬสมหานคร ก็ได้เปลี่ยนเป็น
มัชฌิมประเทศ หรือเป็น มัธยมประเทศ แล้ว ซึ่งมีชื่อรวมว่า ชมพูทวีป แล้ว และมีกาลน้ำท่วมโลก ซึ่งเป็นยุคสมัย มัตสยาวตารที่ ๑
นั้น ที่รอดอุทกภัยได้ในครั้งนั้น ก็คือ มนูชนก หรือ ไววัสวัต อันมีพระนามว่า สัตยพรต ซึ่งเป็นมนูที่ ๗ ที่ได้มีสืบต่อมาแต่มนูที่
๑
ส่วนทาง เมืองทอง เมืองแก้ว นี้ได้ล่วงผ่านยุคสมัย ขุนสรวง มาแล้ว ไทยทอง ได้มี ขุนไทยแก้ว แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็น
ไทยแก้ว ครั้นมิคสัญญีคนผู้ดีได้หลบภัยเข้าอยู่อาศัยตามถ้ำ เมื่อหมดภัยแล้วผู้ที่ยังเหลืออยู่ ต่างได้ออกมาพบเห็นกัน จึงรวมกันแล้วให้
แถนเทียนฟ้า เป็น ขุนแถน ขึ้น ได้ร่วมช่วยกันสร้างบ้านเมืองกันสืบต่อมา
ครั้นขุนต้นล่วงไปแล้วที่ ๒ ก็ได้แต่งตั้งสถาปนาตามชื่อต้นนั้นว่า แถนเทียนฟ้า เช่นเดียวกันจึงมีชื่อว่า ไทยแถน หรือ ยุคแถน
เป็นที่ ๒ จาก ยุคขุนสรวง นั้น
กาลเวลาได้ล่วงมาตลอดหลายชั่วขุน พระธรรมคําสั่งสอนของ พระกุกกุสันธพระ พุทธองค์ ก็ยังเหลือคงอยู่บ้าง ได้จํากันไว้บ้าง
กาลนานมากเข้าก็เลือนลางจางหายไป ทั้งการประพฤติปฏิบัติกับทั้งพระศาสนธรรมก็สูญหายไปทั้งหมด ชาวชนทั้งนั้นประพฤติแต่อกุศลกรรม
ขวบกาลที่ไขขึ้นเจริญยืนยาวจึงค่อยลดลง แม้ ขุนสรวง และ ขุนแก้ว ผู้ต้นก็ยังอยู่คอยคุ้มครองป้องกันอยู่ จึงชื่อว่ายังเคารพนับถือ บําบวง
บวงสรวง "ต้นผี" กันมา
บอกวิธีแก้ปัญหา "น้ำท่วมโลก"
ครั้นเมื่อขวบกาลอายุลดลงมาเหลือเพียง ๗ หมื่นปี ขุนสรวง และ ขุนแก้ว ได้มาบอกว่าอีก ๑๐ ปีจะมีฝนหนัก
ทั้งน้ำแข็งก็ละลายเป็นน้ำล้นท่วมโลกหล้า ชาวชนและปวงสัตว์จะตายหมด พวกเจ้าขุนแถนหัวหน้า พร้อมกับหมู่คนชาวเมือง จงร่วมช่วยกันสร้างเรือใหญ่หลายลํา
จงใช้แผ่นเหล็กปลอดตอกประสักขันเกลียว ตรึงให้แน่นแข็งแรงทุกลํา ทําทุ่นให้มากขนาบ ตลอดมัดให้ติดกันเป็นกลุ่มเรือพวง
เอาเสาเท่า ๆ กันวางขนาบบนกลาบ และใต้ท้องเรือเจาะรูใหญ่ให้ตลอดคานที่วางขนาบ ทั้งบนและล่างทุกตัว แล้วเอาท่อนประสักใส่ตรึงบนกับล่าง
ใช้หัวเกลียวขันหรือผ่า แล้วตอกลิ่มประสักตรึงให้แน่นแข็งแรงก็ได้ ใช้กระดานแผ่นหนาปูบนเป็นพื้น เอายางรักประสมชันและปูนยาให้ทั่ว ทํากลาบนอกให้สูง
พอเจาะรูพอให้น้ำไหลออกได้
ทําห้องติดกลาบเรือนั้น มีหลังคาแค่กลาบนั้น ให้ตลอดทุกลําจะได้พออยู่ ตรงส่วนกลางทําเป็นพื้นดินปลูกไม้เล็กและผักหญ้า ทําคอก งัว, ควาย, ช้าง, ม้า,
เก้ง, กวาง, ฬา, ฬ่อ อย่างละคู่ มากนักคงไม่พอ ทําให้เสร็จใน ๙ ปี
อีก ๑ ปีให้จับสัตว์ต่าง ๆ มาขังฝึกหัด และปลูกต้นไม้ผักหญ้า เรือทุ่นที่ทําเสร็จแล้วให้คงที่ไว้บนคานนั้น ถึงคราวน้ำท่วมท้นขึ้นมาพอ
ก็จะเคลื่อนลอยไปได้เอง
ต้นกำเนิด "แม่ย่านางเรือ"
และสั่งว่าพอน้ำท่วมท้นแล้ว "ขุนสรวง" และ "ขุนแก้ว" จะมาเป็น เจ้าพ่อทะเล "แม่สาง" และ "แม่แก้วขวัญฟ้า" จะเป็น
แม่ย่านาง หรือเป็น จ้าวแม่ทะเล ช่วยกันประคับประคองเรือให้โต้คลื่นลมพายุได้ ซึ่งจะประคับประคอง พร้อมกับจะคอยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายให้
กระทั่งปลอดภัยพิบัติเพราะน้ำท่วมโลกนั้น
ถ้ายังเหลืออยู่อีก ก็บอกให้มารวมกันที่ใกล้เรือ ทั้งช้างม้าวัวควายเก้งกวางหมาแมว ก็นํามาอย่างละคู่ เรือทุ่นกลุ่มนั้นใหญ่และสูง
จึงทําสะพานบันไดทอดขึ้นลง พอฝนตกหนักเข้าก็ลงไม่ได้ ต่างก็หลบฝนอยู่ในห้องประทุนเรือนั้น และช่วยกันต้อนสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นเรือทุ่นนั้น
พวกช่างต่างตรวจดูเรือและเตรียมเครื่องมือวัตถุซ่อมแซมไว้พร้อม ในภายในใต้ท้องเรือทุ่นนั้น ทุกอย่างจึงครบบริบูรณ์
น้ำเริ่มสูงขึ้นได้ท้นท่วมที่ลุ่มราบหมด และเอ่อสูงขึ้นท่วมคาน แล้วหนุนเรือกลุ่มให้ลอยอยู่บนพื้นน้ำ คนสัตว์ที่เหลือต่างก็ปีนขึ้นต้นไม้ ขึ้นหลังคา
ขึ้นดอน และปีนขึ้นภูเขา ครั้นท่วมท้นกระทั่งยอดมอและยอดไม้จมอยู่ใต้น้ำ แม้ยอดภูเขาเทือกย่อมก็จมน้ำ แม้ยอดเขาอีโก้ก็ปริ่มน้ำแล้ว
ที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นได้ ลมก็แรง
บางคราวก็เป็นพายุ ฝนก็ตกกระหน่ำหนัก คลื่นก็ลูกใหญ่ซัดกระแทกตลอด ในกลางวันทั่วท้องฟ้าก็มืดมัวไม่มีแสงแดด กลางคืนก็ยิ่งมืดคลึ้มทึบตลอด
ทั้งคนสัตว์ที่เหลืออยู่กับพื้น ก็ได้ว่ายน้ำหาที่พักอาศัย พอหมดแรงต่างก็จมน้ำตายหมด แม้คนทั้งหลายในเรือทุ่นก็ไม่มีหวังรอดพ้นภัยนั้น
คราวแรกเรือทุ่นกลุ่มนั้น ซึ่งได้ใช้พวนผูกตรึงโยงไว้กับต้นตอไม้ใหญ่ ๆ นึกว่าพอจะอยู่ได้ กระนั้นเมื่อลมคลื่นซัดพัดกระพือกระแทกบ่อย ๆ
ตลอดวันคืนไม่หยุดหย่อนผ่อนเบา แม้ ขุนสรวง ขุนแก้ว กับ แม่สาง แม่แก้วย่านาง จะมาควบคุมคุ้มครองอยู่ ณ หัวเรือและเสากระโดง
พวนที่มัดล่ามโยงผูกตรึงไว้นั้นก็ขาดหมด เรือทุ่นกลุ่มนั้นก็เลื่อนลอยไปตามกระแสคลื่นลม
หมู่คนสัตว์ที่เหลืออยู่ในเรือนี้ พอมีหวังว่าจะอยู่รอดได้ กระนั้นเฉพาะหมู่คนก็อยู่ไปวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น ที่มีโอกาสรู้และทําสร้างเรือนั้น
มีอยู่หลายหมู่ แต่ก็ทําเรือได้ไม่ใหญ่โต และไม่มั่นคงแข็งแรงพอ ก็ถูกลมคลื่นซัดกระแทกแตกเสียหายจมน้ำตายไปเป็นส่วนมาก
ยังมีที่เหลืออยู่ที่เรือไม่แตก หรือที่แตกแต่ไม่กระจาย และที่ทะลุก็ยังเป็นที่พยุงตัวอยู่ได้ ก็ถูกคลื่นลมซัดกระพือไปไม่จํากัดทิศทาง
ไปถึงบริเวณน้ำแข็ง ณ ทะเลเหนือ ใกล้ขั้วโลกเหนือก็มี ไปถึงแผ่นดินอื่นคือ อมริกะ ก็มี ทั้งไปใต้ถึง
โปลา และ ไนไตลนี ก็มี
เฉพาะ "แถนไทย" ด้วยอานุภาพ พ่อขุนสรวง และ พ่อขุนแก้ว กับ แม่นางสาง และ แม่แก้วขวัญฟ้า ซึ่งได้เป็น
"จ้าวพ่อทะเล" และ "จ้าวแม่ทะเล" หรือ "แม่ย่านาง" ในกาลนั้น ได้รักษาคุ้มครองเรือทุ่นนั้น ให้เลื่อนลอยวนเวียนเป็นวงกว้างอยู่ ณ
บริเวณนั้นเป็นแรมเดือน
เมื่อน้ำลดลงเหลือครึ่งขุนเขานั้น เรือนั้นได้ถูกลมคลื่นพัดซัดกระหน่ำ ให้วิ่งไปในห้วงน้ำ เป็นวงกว้างนั้น แล้วก็ได้วนเข้ามา ณ บริเวณ เดิมนั้น
ก็ได้ถูกคลื่นลมพัดซัดกระแทกเรือทุ่นกลุ่มนั้น ให้หัวเรือพุ่งเข้าชนคอภูเขาลูกหนึ่ง กระทั่งคอเขานั้นทะลุ ภูเขานั้นจึงมีชื่อว่า "เขาทะลุ"
ได้เรียกกันมาทุกวันนี้
เรือนั้นได้กระดอนเซออกมากระแทกกับคอภูเขาอีกลูกหนึ่ง กระทั่งคอยอดบิ่นกระเด็นบินออกไป ภูเขานั้นจึงมีชื่อว่า "เขาบิ่น" และ "เขาบิน"
เวลานี้เรียกกันว่า "เขาบิน" เป็นประจํา เรือนั้นจึงเฉียดไม่กระแทกจนแตกแล้ว ได้ลมแรงกระพือพัดหนุนท้ายให้แล่นไปทางตะวันตกถึงห้วงบึงใหญ่
ส่วนนั้นเป็นแถบถิ่นดินสูงและน้ำลดลงมากแล้ว ท้องฟ้าก็แจ้งแดดออกให้ความอบอุ่นบ้างแล้ว
เรือได้เกยตอม่อหินใต้น้ำก็แตกกระจายออก ส่วนหัวได้พุ่งไปเกยตื้นเชิงเขาลูกหนึ่ง ทั้งคนและสัตว์ได้ขึ้นบกอยู่อาศัย ณ ภูเขานั้น
ต่อมาจึงสร้างเมืองขึ้นรอบภูเขานั้น ภูเขานั้นจึงมีชื่อว่า "เขากลางเมือง" ใช้เป็นชื่อเรียกกันมาตลอดกาลนาน กระทั่ง พ .ศ . ๒๔๓๘
พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ได้เสด็จประพาส ได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า "เขาถ้ำจอมพล" จึงเปลี่ยนเป็น "เขาถ้ำจอมพล" กระทั่งกาลบัดนี้
และในถ้ำภูเขานี้ซึ่งเป็นถ้ำภูเขาหินปูน จึงมีหินงอกและหินย้อยทั้งถ้ำ ณ พื้นถ้ำซึ่งเป็นหินปูน โคลนเมื่อยังเป็นดินโคลนอยู่นั้น
อย่างน้อยสุดก็มีอายุถึง ๒ แสนปี ซึ่งยืนยันว่ามีคนอยู่มาแล้ว จึงมีรอยเท้าหรือรอยตีนใหญ่ที่ชัดเจนปรากฏอยู่ถึง ๕ รอย เป็นรอยใหญ่โต มาก ซึ่งยาวถึง ๓๖
นิ้วฟุต กว้าง ๑๘ นิ้วฟุต ที่ไม่ชัดเจนเช่นมีเพียงหนึ่ง กับรอยเล็ก ๆ อีก เป็นจํานวนมาก ทั้งก้าวก็ปรากฏยาวกว่าคนสมัย นี้
เมื่อลองดูยังต้องกระโดดจึงถึงคงเป็นหลักฐาน ยุคสมัยขุนแถนไทย อันตรงกับกาล พระโคนาคมน์ ได้
และก็ส่วนกลางของเรือทุ่นกลุ่มนั้น ซึ่งขาดออกกระดอนออกมา จมลงตรงกลางห้วงบึงน้ำใหญ่ เสากระโดงยังคงตั้งอยู่ ฉะนี้ห้วงบึงใหญ่นี้ จึงมีชื่อว่า
"บึงจมเรือ" หรือ "บึงเรือจม" ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อว่า "จอมบึง" ให้เหมือนชื่อพระราชทานว่า "ถ้ำจอมพล"
ทุกวันนี้จึงเรียกกันเป็นประจําว่า "จอมบึง" ในกาลประมาณก่อน พ .ศ .๒๔๗๐ ยังมีผู้เห็นตอเสานี้โผล่อยู่กลางบึงนั้น ยังเล่ากันเสมอว่าไม่รู้ว่าใครปักไว้
ส่วนท้ายเรือได้ลอยไปเกยอยู่กับพื้นตื้นเชิงเขาลูกหนึ่ง ผู้คนได้ขึ้นไปอยู่อาศัย ณ ภูเขานั้น เมื่อเจริญขึ้นทําผลได้แล้ว จึงนํามาเป็นสินค้าซื้อขายกัน
ต่างได้ตั้งชื่อภูเขานี้ว่า "เขากลางตลาด"
ก็กาลที่น้ำท่วมโลกนั้นได้ท่วมท้นอยู่นาน พอลดลงมากแล้ว ณ ที่สูง ๆ ซึ่งเปียกชื้นอยู่แล้ว ทั้งมีฝนตกมาบ้าง พืชพรรณผักหญ้ากับต้นและย่านพุ่มป่า
ก็งอกงามเจริญขึ้นทั่วไป สัตว์ที่เหลืออยู่ครั้นเรือแตกแล้วต่างก็ขึ้นบก จึงได้อาศัยพืชพรรณผักหญ้าใบไม้นั้น ๆ เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต
คนที่ขึ้นจากเรือนั้นก็ขึ้นอยู่อาศัยตามเพิงผาถ้ำภูเขา ที่ขึ้นอยู่ตามเนินโคก ก็เอาต้นไม้เป็นตอตายเพราะถูกน้ำท่วม เอามาทําเสาตั้งขึ้น แล้วเอาไม้ไผ่
ทําขื่อ แป อกไก่ ตง รอด ใช้ ใบไม้และคา มุงโดยเกลี่ยใช้ไม้ขนาบใช้เถาวัลย์ผูกมัด ใช้ไม้ไผ่ผ่าสับเป็นฟาก ปูเป็นพื้นอยู่อาศัยกัน
พอน้ำแห้งตลอดพื้นที่ราบ ที่เป็นโคลนตม ก็แข็งแน่นแล้ว ต่างก็ออกมาจากถ้ำ ได้ช่วยกันปลูกสร้างเรือนบ้าน แบ่งที่ที่ใกล้หนอง, บึง, ห้วย, คลอง, แม่น้ำ,
ทํานา สวน ไร่ ทุ่ง ทํานา ปลูกข้าว ทําสวนต้นไม้ จึงเป็นบ้านเมือง ตลาด สนาม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ฉะนี้
ถิ่นแดนแถบนั้น จึงมีธรรมชาติซึ่งมีชื่อประจําเนิ่นนานมาแล้วจนชิน และรู้ตลอดไปแล้วว่า เขาทะลุ เขาบิ่น เขากลางเมือง เขากลาง ตลาด บึงจม,บึงจมเรือ หรือ
บึงเรือจม (จอมบึง) ทุ่งหลวง ทุ่งหญ้า สนามหญ้า ฯลฯ ประจําอยู่ แล้ว ชาวชนต่างได้ฟังและรู้เรื่องกันมา จึงต่างได้กระทํากราบไหว้ บวงสรวง บําบวง ต้นผีสาง
ไทยกันมา และกระทําเป็นประจํามา
ครั้นกาลล่วงนานมา กระทั่งถึง ขุนแถน เทียนฟ้า กลุ่มหมู่เลาว๊ะ หรือ เราว๊ะ คือ เลาลวั๊ะ เราลวะ ลว้า ฉะนี้ จึงมีชื่อ แถนเทียนฟ้า ลว้าไทยโท้
หรือ พ่อขุนไทยโท้ นั้น ก็ได้ฟังเรื่องน้ำท่วมโลก ซึ่ง พ่อขุนสรวง-นางสาง พ่อขุนแก้ว-แม่แก้วขวัญฟ้า ซึ่งได้มาบอกแจ้ง
แล้วให้สร้างเรือทุ่นกลุ่มได้อาศัยอยู่ จึงรอดพ้นภัยน้ำท่วมนั้น และท่านต้นทั้ง ๔ นั้นจึงขึ้นเป็น "จ้าวพ่อทะเล" และ "จ้าวแม่ทะเล" หรือ
"จ้าวแม่ย่านาง"
ต้นกำเนิดการทรงจ้าว (พระเคราะห์)
ในส่วนบกหรือส่วนโลกนี้ ได้ยกขึ้นเป็น จ้าวพ่อทรง-จ้าวแม่ทรื้อ (จ้าวแม่ซื้อ) หรือ แม่เชื้อ บัดนี้ได้เปลี่ยนเป็น "เทวะ" ว่า
"เทวเคราะห์" หรือ "พระเคราะห์" อันแปลว่า "พระเทพเจ้าผู้ถือชีวิต" หรือ "พระผู้ถือเอา" ก็คือ "ทรง" นั้นจึงเรียกตามชื่อไทยเดิมว่า
พ่อทรง แม่ทรื้อ เพราะเป็นที่เคารพนับถือสักการะบูชา หรือบวงสรวงขอพรกัน จึงใส่ชื่อว่า "พระ" นํา หน้าว่า "พระทรง พระทรื้อ" อันตรงกับคําชื่อว่า
"พระเคราะห์"
สําหรับ "แม่ทรื้อ" นั้นไม่มีคําตั้งใช้กันมา จึงใช้เป็นศัพท์ชื่อว่า "พระเคราะหิณี" แต่คงจะ ไม่มีคําบูชา ในพิธีจึงคงไม่มีใช้กันแน่นอน
ที่ทําไว้เพื่อของไทยได้คงอยู่คู่ไทยต่อไป
ความหมายของคำว่า "แก้ว"
ขุนแก้ว หรือ พ่อขุนยอดแก้ว นั้นคําชื่อ ว่า "แก้ว" นี้เป็นชื่อเรียกรวมทั้งหมดว่า "แก้ว" ซึ่งแยกออกเป็นชนิดหรือขนาดเป็น ๔
คือ
๑) พริบ ก็คือเพชร
๒) พลี แก้วแสงเปราะกว่าเพชร
๓) พลอย ขุ่นทึบมีแสงน้อย
๔) กระจก เป็นหินแผ่นลอกเป็นแผ่นได้ ที่เคยเห็นอ่อนโค้งงอได้ และแก้วกระจก และ แก้วเครื่องใช้
เฉพาะคําชื่อ "แก้ว" ที่มีชื่อไทยเรียกว่า "พลี" คําชื่อไทยว่า "พลี" ซึ่งเป็นชื่อหินแก้วแสง มีรุ้งแจ่มกระจ่างยิ่งกว่า
แต่เปราะกว่าเพชร จึงใช้เจาะหินไม่ได้นั้น ซึ่งเป็นชื่อเรียกแก้วแสงว่า "พลี" นั้นก็คือ "พลิน ไพลิน" ฉะนี้
คําว่า "พลี นอกจากจะเป็นชื่อหินแก้ว แสงว่า "พลี" แล้ว ยังตรงกับคํามคธว่า "พลี" อันแปลว่า "มีกําลัง" หรือให้กําลัง จึงเป็นพระธรรม คือ
"ปัญจพลี ๕"
นารายณ์ ปางที่ ๕
ในสันสกฤตอันเป็นเรื่อง นารายณ์ ๑๐ ปาง ปางที่ ๕ วามนาวตาร "พลี" เป็นชื่อ ขุนแทตยราชา ว่าเป็นชื่อ อสุรแทตย์ตัวดี ชื่อพลีฤทธิรุท
บุตรวิโรจน์เรืองยศโอรสท้าวแทตย์ประหลาท และท้าวพลีอสูรแทตย์นี้ ได้กระทํายัญพิธีชุบชีวิต และประกอบกิจพิธีเสริมฤทธิ์เดชแทตย์สําเร็จสมบูรณ์
จึ่งทรงพลฤทธิ์เดชตลอดสามภพ
เดิมเป็นราชาธิราชครองภพบาดาลแล้วขึ้นมาครองมนุษยภพ แล้วยกขึ้นยึดครองสวรรค์ภพ ซึ่งท้าวสักรินทรเทวราชได้ยกพลเทพหนีไปแล้ว
ท้าวพลีจึงทรงราชาภิเษกเป็นราชาธิราชครองสามภพ ฉะนี้ ท้าวขุนพลีจึงทรงมหิทฤทธิ์อิทธิเดชพลานุภาพมากปกครองได้ถึงสามภพ สักเทวราชได้ไปสู่เขาเหมกูฏ
เข้าเฝ้าพระกัศยปมุนี และพระอทิติประชาบดีทรงพรต ณ วิสุทธิอาศรมรัตน์ ทูลให้ทรงช่วย จึงอวยพรให้เชิญพระนารายณพิษณุ ซึ่งได้เสด็จอุบัติเป็น วามนาวตาร
เป็นพราหมณ์เตี้ยแล้วไปขอที่เพียง ๓ ก้าว ซึ่งท้าวพลีราชก็ถวาย
และได้ทรงให้องค์ใหญ่โตได้ก้าวเหยียบมนุษยภพ ซึ่งอยู่บนบาดาลภพเป็นก้าวที่ ๑ ก้าวที่ ๒ ก็เหยียบลงบนสวรรค์ภพ ก็ยังเหลือก้าวที่ ๓ อีกก้าวหนึ่ง
ยังไม่ได้เหยียบ จึงเป่าสังข์เรียกเทพเจ้าให้กลับมาครองตามเดิมแล้ว ให้ท้าวพลีไปครองบาดาลต่ำสุด
ต่อมาจ้าวแม่พระศรีโลกมารดาลักษมีได้ทูลขอ จึงทรงโปรดให้ท้าวพลีขึ้นมาครองเขตสุตลแดนต่อมนุษย์สวรรค์เป็นอสูรธรรมราชา เป็นสุขสนุกแม้นแดนสวรรค์
ท้าวพลีนี้จึงมีชื่อว่า "ท้าวพาลี" หรือ "ท้าวกรุงพาลี" จึงอาจเป็นเรื่อง "ขุนแก้ว" หรือ "มหาปนาทบรมจักรพรรดิ"
ซึ่งทรงพลานุภาพตลอดสุดท้าย ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทรงสดับพระสัทธรรม จึงเอาพระเศียรเกล้า
พร้อมกับพระสรีรกายให้ลุกเป็นประทีปต้นสักการะบูชา จึงเคลื่อนไปอุบัติ ณ ดุสิตภพสวรรค์ แล้วนั้นเช่นนี้
ในยุคแถนไทย พ่อขุนแถนเทียนฟ้า ไทยโท้ ผู้สืบมานั้นได้ทราบแจ่มแจ้ง จึงยกต้น ขุนยอดแก้ว นั้นขึ้นเป็น "ท้าวกรุงพาลี" ส่วน
นางแก้ว ก็ได้ยก "พระนางพระยากรุงพาลี" หรือ "พระนางท้าวกรุงพาลี" ซึ่งเป็นท้าวพลังเมืองกรุง เป็นต้นจ้าวแผ่นดิน แต่เป็นผู้ล่วงลับไปแล้ว
พ่อขุนไทยโท้นั้นเป็นขุนแผ่นดิน หรือเป็นจ้าวแผ่นดินอยู่แล้ว ทรงพละกําลัง ทั้งเฉลียวฉลาดหลักแหลมรอบรู้ตลอด ขยายบ้านเมืองสร้างถิ่นฐานเป็นอันมาก
ทั้งมีนางแท่นคําเป็นขุนหญิง หรือพระนางพระยาอยู่ด้วย จึงเป็นเจ้าแผ่นดิน และเป็นเจ้าแม่แผ่นดิน ซึ่งยังเป็นคนอยู่ ณ กรุงพาลีนั้น จึงมีชื่อว่า
พระเจ้ากรุงพาลีและพระนางเจ้ากรุงพาลี
พ่อขุนไทยโท้นั้น ได้ตั้งต้นต่าง ๆ ขึ้นอีก เท่าที่ตนมีอํานาจตั้งขึ้นได้ จากนั้นจึงตั้งลูกของท้าวกรุงพาลี ซึ่งมีชื่อในสมัยกาลครองนั้นว่า
"พ่อขุนทัด" หรือ "กายทัต" อีกชื่อหนึ่งว่า "ทด" หรือ "ทศราช" มีเจ้าแม่แท่นคํา ชื่อ "สัน" หรือ "สันทาธิบดี" เฉพาะลูกที่มีชื่อว่า
"พ่อขุนพล" นั้นมี ๙ ชื่อ เป็น ๑๐ "ขุนสูญย์" หรือ "ขุนตาย" คือ จ้าวพ่อเจตภุก (เจตภูต) หรือ "มัจจุราช" และกับด้วย "ขุนยมกาฬ"
จ้าวกาลเวลากัดกินชีพทั้งวันคืน คือ "กาฬไชยศรี" ในลําดับเรียง รูปเคารพ ได้เรียงเป็นที่ ๑๑ กับ ๑๒ คือ ทรงเมือง และทั้ง ๑๓ คือ
เสื้อเมือง
ชื่อและหน้าที่ของพระภูมิ
ส่วนพ่อขุนพลทั้ง ๙ นั้นก็คือ พระภูมิ หรือ "ภุมมัฏฐเทพเจ้า" ซึ่งมีชื่อและหน้าที่ต่าง ๆ กันคือ
๑. พระชัยมงคล พระนางชื่อ พูมไชยา ปกครองสถานบ้านเรือน, โรง, ร้าน, ต่าง ๆ ตลอดบริเวณรอบ ๆ นั้นด้วย
๒. พระนครราช พระนางชื่อ ภูมิมาลา ปกครองประตู กําแพง สถานที่ต่าง ๆ ป้อม, ค่าย, หอรบ, บันได, ตลอดถึงกระโจมไฟ และโดม
๓. พระเยาวแผ้ว หรือ "พระเทเพล" พระนางชื่อ ทิพมาลี ปกครองโรงเลี้ยงคนสัตว์ เช่น โรงพยาบาลคนสัตว์, โรงสถานที่พักฟื้น, ที่คนชรา,
กําพร้า, อนาถชน, เรือนจํา, ค่ายกักกัน, คอก, เล้า, สนามเลี้ยง, เล่น, ฝึก, หัด, ซ้อม, ต่าง ๆ
๔. พระสัพคนธรรพ หรือ "ชัยศพณ์" พระนางชื่อ ศรีประภา ปกครองคลัง, ธนาคาร, หอเก็บ, พัสดุเสบียง, ยุ้ง, ฉาง
๕. พระคนธรรพ์ พระนางชื่อ สุปริยา ปกครองท้องพระโรง, โรงพิธีกร, เหม, เรือน ยอดสร้างต่าง ๆ, โรงพิธีแต่งงาน, เรือนหอ
๖. พระธรรมโหร หรือ "พระนาคราช" พระนางชื่อ ขวัญข้าวกร้า ปกครองเรือกสวน, ไร่, นา, ทุ่งหญ้า, ทุ่งเลี้ยงสัตว์, ป่าเลี้ยงสัตว์,
ป่าเปิด, ป่าแต่ง
๗. พระไวยทัต หรือ "พระเทวเถร" พระนางชื่อ ดอกไม้ทอง ปกครองวัดวา, อาราม, ตําหนัก, ปูชนียสถาน, พระเจดีย์, พระสถูป, พระปรางค์,
พระธาตุ, พระพุทธรูป, อนุสาวรีย์, ศาลจ้าว, ต่าง ๆ
๘. พระธรรมิกราช พระนางชื่อ พุ่มไม้ ไพร ปกครองพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ นา ปลากุ้ง, นาผัก, หนองบัว, นากระจับ
๙. พระธาตุธาร หรือ "พระธาตุธารา" พระนางชื่อ รินระรื่น ปกครองห้วย, หนอง, คลอง, บึง, บ่อ, ลําธาร, ห้วยละหาน, แม่น้ำ,
ทะเลถึงอ่าว, ทะเลหลวง
๑๐. หรือ ๐ พระจ้าวตาย หรือ "พ่อขุนตาย" หรือ "เจ็ตภุก" คือ "พระยามัจจุราช" "มฤตยูราช" บางที่ว่า "ยุตติธรรมราช"
ซึ่งทรงอํานาจตลอด แม้ตัวเองถึงคราวแล้วไม่ขัดขืน จึงชื่อ "ยุตติธรรมราช" ท่านยุตติธรรมราชนี้ ในตํานานเทวกําเนิด ว่ามีชายา ๑๒ พระนาง
ในที่นี้ขอเรียกรวมว่า มารศรี คือ พระศรีของผู้ให้ตายได้ และมีว่า "มัจจุรานี" หรือ "มัจจุราชินี" บ้าง
๑๑. พระกาฬไชยศรี หรือ "พระกาล ไชยศรี" ซึ่งทรงเป็นจ้าวแห่งกาลเวลา ซึ่งดํารงอํานาจกัดกินชีวิตคนสัตว์ทั้งวันคืนทุกเวลานั่นเอง
ตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย ตามพระพุทธพจน์ตรัสว่า กัดกินจนกระทั่งตัวเอง พระนางมีชื่อ ตําแหน่งว่า พระนางมาริสา ก็คือนางผู้มีอํานาจให้ตายได้
ร่วมกันปกครองเวลาให้เป็นไปตามกาลนั้น
๑๒. พระทรงเมือง ตั้งต้นผู้ล่วงไปแล้ว ขึ้นเป็น "จ้าวฟ้าจ้าวดิน" หรือ "จ้าวต้น" ซึ่งได้ครองมาก่อนนั้น ซึ่งในบัดนี้เรียกว่า "พระจ้าวต้น"
หรือ "พระเทวาธิราช" ส่วนพระนางนั้นเมื่อเป็นมนุษย์ชื่ออะไร ก็ใช้อย่างนั้น ถ้าเป็นชื่อรวมก็เรียกตามมีอยู่ เช่น "พระอิน" ก็เรียก "นางกวัก"
เป็นต้น
๑๓. พระเสื้อเมือง ได้ตั้งต้นองค์รอง ขึ้นเป็น "พระทรงรองเมือง" คือพระเสื้อเมืองนั้น อันหมายว่า "เสื้อเกราะ"
ซึ่งเป็นเครื่องสวมใส่ป้องกันภยันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นที่คุ้มครองป้องกันตัวเองได้ ก็คือ "พระอุปราชพระบวรราชเจ้า" "พระบัณฑูรราชเจ้า"
ตามตําแหน่งหน้าที่ก็รับบัญชา จึงมีพระราชอาญาสิทธิ์นําพลทัพป้องกัน, คุ้มครอง, ปราบปราม ทั้งภัยภายนอกในตลอดไป
จึงเป็นเสื้อเกราะรักษาคุ้มครองให้ปลอดภัย ก็คือจอมพลแม่ทัพ ในปัจจุบันก็เป็นจอมพลทั้ง ๓ กองทัพ และเป็น ๔ ทั้งพลเรือน คือตํารวจและกลุ่มอาสา
เวลานี้เรียกว่า "พระเทพารักษ์" หรือ "พระไทย เทพารักษ์" มีพระนางชื่อ ท้าวจอมหม่อมแม่ แท่นคํารักษิณี
ต่อจากนั้น พ่อขุนแถนไทยโท้ นั้นก็ได้ตั้งจ้าวต่าง ๆ ขึ้นทําเนียบอีก เดิมนั้นต่างก็มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ยกฐานะศักดิ์เข้าตําแหน่งทําเนียบ
ก็ได้ยกขึ้นต่อไปอีก ในครั้งนี้จะแต่งรําพันคุณ เป็นคําร่ายเพื่อจําง่ายก่อน ซึ่งมีเค้าความตามที่ระบุขึ้นเป็นต้นต่อไปอย่างนี้ . . .
๑๔ . ยศรุ่งเรือง-จ้าวเขา ๑๕ . เย็นร่มเงา-จ้าวไม้ ๑๖ . ยอดท้าวไท้-จ้าวป่า ๑๗ . ยกขึ้นค่า-จ้าวท่า ๑๘ . ไปมาพาหน์-จ้าวทาง ๑๙ . ผู้ขลังวาง-จ้าวไทย ๒๐
. หลักจิตใจ-จ้าวพระ ประจักษ์หลักใสเสร้น-สางสรวง บําบวงบนหมอ ไทย จอมไทยโท้ขุนแถน ครองแดนไทยขึ้นที่พ่อเมืองเนือง ๆ นึกที่เคารพนอบนบเป็นหลักในใจ
ขุนไทยจึงแต่งตั้งตราบเท่ามีเย้มยั้ง ทั้งนอบนําแน่แท้ แม้ล่วงลับ, ยังอยู่พร้อม ร่วมกราบไหว้คมค้อม นอบน้อม นับถือ ตลอดกัน
พ่อขุนแถนไทยมากมายหลายหลาก ต่างชื่อกันบ้าง มีชื่อซ้ำกันบ้าง ได้ปกครองอาณาจักรแถนไทยสืบต่อกันมา ต่างก็ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองมากบ้างน้อยบ้าง
ตามระบบแบบไทยตลอดมา ทั้งได้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนความเจริญแก่กันและกัน อันเป็นสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามระบอบ พ่อเมือง ซึ่งเป็น
ระบบไทย มาตั้งแต่มีคนไทย จึงรุ่งเรือง มาตลอด
"รู้สือไทย"
โดยเฉพาะก็คือ การเรียนสือไทย หรือ ลายสือไทย ได้มีการสอนกันมาก แม้สํานักใหญ่เช่น เรือนหลวง จวนลูกขุนมูลนาย หรือ วัง ทําเนียบ
ได้ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นทุกแห่ง การเรียนจึงแพร่หลายให้รู้สือ อ่านออก, จด, เขียน, ได้ และได้ตั้งเป็นหลักรู้ เป็นตําราไทยจึงมีชื่อประจําว่า
รู้สือไทย (อักษรศาสตร์) จด, เขียน, แต่ง, เพลงกล่อม เพลงร้อง เพลงเรื่อง จดแต่งตํานานเรื่องไทย จดเขียนกฏหมายให้ดู, อ่าน, รู้ทั่วกัน
จดเขียนระเบียบแบบปกครองแยกออกเป็นหมู่บ้าน, ตําบล, แขวง, หรืออําเภอ, เมือง, เมืองกรุง หรือกรุง, ชุมชนก็เป็นลูกบ้าน ผู้ใหญ่บ้านคุมหมู่บ้าน
กํานันคุมตําบล นายแขวงคุมแขวง นายอําเภอคุมอําเภอ เจ้าคุมเมืองชื่อ เจ้าเมือง (ผู้ว่า)
ตำราพิชัยสงคราม
"ในหลวง" หรือ "พระเจ้าคุมกรุง" ปกครองสิทธิ์ขาดทั้งประเทศ ตลอดถึงกองศึก หรือกองทัพ ก็มีระเบียบแบบจํานวน ๑๐ คนเป็น ลูกหมู่ คือ พลกําลัง
หัวหมู่ ผู้หมู่ นายหมู่ หรือ นายสิบ เป็นผู้ปกครอง "หมู่" สิบหมู่ เป็น หมวด หรือเป็น "กอง" ก็คือ กองร้อย ผู้หมวด ผู้กอง ก็คือนายร้อย
เป็นผู้คุมบัญชา "กอง" สิบกองร้อยเป็น "กองพัน"
ผู้พันหรือนายพันเป็นผู้คุมบังคับบัญชา กองพัน สามกองพันเป็น "กรม" หรือ "กรมการ" ผู้พันจึงเป็น "ผู้การ" หรือ "ผู้บัญชาการ"
ควบคุมบังคับบัญชาการกรมการนั้น ๆ และสิบกองพันเป็น กองพล หรือ กองทัพ เช่นทัพหน้า ทัพปีกขวา ทัพปีกซ้าย ทัพหลัง และทัพหลวง อยู่กลาง
ที่เป็น "กรมการ" นั้น ทุกทัพ เฉพาะทัพหน้านั้น มีหมวดกองหรือกองสู้ กองบุกทําลาย หรือกองจู่โจม หนึ่งพันเป็นหัวยอดลูกศร อีกหนึ่งพันเป็นบ่าขวา
อีกหนึ่งพันเป็นบ่าซ้าย กับอีก ๗ พันนั้น ๓ พันตั้งคอยหนุนบ่าขวา และ ๓ พันตั้งคอยหนุนบ่าซ้าย อีก ๑ พันตั้งคอยหนุนหัวศร
พอเคลื่อนหนุนแล้ว กองหนุนขวาจะพลัน เคลื่อนขยายเรียงเป็น ๓ กองคอยหนุน ส่วนกองหนุนซ้ายจะพลันขยายเป็น ๓ กองคอยหนุนกองหน้านั้น เฉพาะแม่ทัพหน้านั้น
จะไปบัญชาการรบ ณ หัวศรนั้น หรือไม่ก็เป็นผู้นําบุกหรือจู่โจม ถ้ารับก็เป็นต้นรับทันที
นี้เป็นวิธีจัดทัพรุกรับ ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาวีรราชเจ้า ทรงจัดฝึกหัดซ้อมชํานาญตลอดกาล จึงมีชัยชนะตลอดรัชกาล
ทั้งนี้ก็เพราะทรงระลึกถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใน สมัยเป็น ขุนแก้ว ทั้งสมัยเป็น ขุนแถนไทย อีกด้วย จึงจัดเป็น "ตําราพิชัยสงคราม"
และในยุคกาล อาณาจักรแถน พ่อขุน แถนไทยต่าง ๆ ได้สร้างวิทยาการกับฝีมือ ทั้งด้านความคิด, สติปัญญา, ใช้สมองเป็นผู้แจ้ง เรือนโครงสร้าง
ก็ได้เขียนจดจารึก จํา เช่น คําเตือน, คําดี, (สุภาษิต) จึงต้องใช้ "ลายสือ" หรือ "สือไทย" นั้นมาตลอดทั่วทุกแห่ง ทั้งมีขึ้นแล้วก็ได้เผยแพร่ออกไป
ที่ที่อื่นมีก็ได้แลกเปลี่ยนเอาใช้ในถิ่นที่อยู่ก็ได้แจกจ่ายไป
ฉะนี้ จึงเจริญรุ่งเรืองไปตลอดทั่วถึงบ้านในทางบ้านเมือง และพ่อขุนกษัตริยราชเจ้าต่างก็เป็นสัมพันธไมตรี มีมิตรภาพสนิทสนมคบหาสมาคม
ไปมาหาสู่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันตลอดกาล และตลอดถึงจัมปากรัฐ จรดถึงชมพูทวีปมัชฌิม ชนบท หรือมัธยมประเทศตลอดด้วย
พระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ณ มัชฌิมชนบทประเทศนั้น พระองค์ทรงเป็นพระบรมโพธิสัตว์ครองเรือน อยู่ ๓,๐๐๐ ปี
จึงเสด็จออกเป็นมหาภิเนษกรมณ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธองค์ แล้วได้ทรงแสดง "พระธรรมจักกัปปวัตนสูตร" ปฐมเทศนาจบแล้ว จึงประทาน "เอหิ"
ให้คู่ พระอัครสาวก และพระอรหันตสาวกสงฆ์บริวารมีพร้อมแล้ว จึงเสด็จโปรดชาวโลกตลอดชมพูทวีป และถึงจัมปากรัฐ
พระเจ้ากรุงจัมปากะ ทรงพระนามว่า พระเจ้าธรรมราชาธิราช ก็ทรงเลื่อมใส ได้ตรัสถึงเป็นสรณะด้วยความเคารพนับถือ ทั้งได้ส่งข่าวพระพุทธ, พระธรรม,
พระสงฆ์, สมภพมี พร้อมแล้วให้ พ่อขุนแถน ผู้บุรพสหายเมืองได้ทราบ
ครั้นทรงทราบแล้ว พ่อขุนแถนไทย จึงได้เสด็จจัมปากรัฐ แล้วพากันไปเฝ้าถึงพระมหาวิหารเป็นสํานักที่ประทับ
ต่อมาพระผู้มีพระภาคโคนาคมน์ก็ได้เสด็จโปรดถึงอาณาจักรแถนไทย ด้วยพระโกนาคมน์ทรงพระชนม์อยู่ ๓ หมื่นปี จึงปรินิพพาน
ในกาลก่อนสมัยพระพุทธกาลนั้น ณ ราชอาณาจักรจัมปากรัฐนั้น ก็เป็นสมัยพระเจ้าธรรมราชาธิราชเจ้าทรงครองราชสมบัติ พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม
อันเป็นมรดกตกทอดมาจากพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น จึงทรงมีมิตรสัมพันธไมตรีตลอดทุกอาณาจักรประเทศ และก็ถึงอาณาจักรประเทศแถนไทยด้วย
อนาคตวงศ์
ก็ในกาลนี้ใน "อนาคตวงศ์" มีเรื่องอันเป็นพระพุทธพจน์ตรัสเล่าแสดงแก่ พระสารีบุตร เถระ จึงเป็นเรื่องในสมัยพระพุทธกาล
พระสมณโคดมของเรานี้มีว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสเล่าว่า พระยาช้างนาฬาคิรี ซึ่งเป็นบรมโพธิสัตว์นี้
ได้ไปบังเกิดเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของ พระเจ้าธรรมราชาธิราช นั้นซึ่งมีนามว่า ธรรมเสนกุมาร เป็นที่ ๑ กับมีพระอนุชาอีก ๔ องค์ คือที่ ๒
มีนามว่า ภัททกุมาร ที่ ๓ มีนามว่า รามกุมาร ที่ ๔ มี นามว่า ปมาทกุมาร ที่ ๕ มีนามว่า ธัชชกุมาร
ต่างได้ไปเรียนสําเร็จศิลปศาสตร์ในสํานักทิสาปาโมกขาจารย์ ณ ตักกสิลาพร้อมกัน
พระธรรมเสนกุมาร นั้น สําเร็จ "ทานศีล ธรรมศาสตร์" พระภัททกุมาร สําเร็จ "ธนูศรพิษศิลปศาสตร์" พระรามกุมาร สําเร็จ
"วิชาดอกไม้ไฟศิลปศาสตร์" พระปมาทกุมาร สําเร็จวิชา "ช่างทองศิลปศาสตร์" พระธัชชกุมาร สําเร็จวิชา "บําราบอสรพิษศิลปศาสตร์"
ครั้นสําเร็จแล้วก็กลับมาพร้อมกัน และพร้อมกันเข้าเฝ้า จึงสําแดงศิลปศาสตร์ที่สําเร็จมานั้นให้ทอดพระเนตรเห็นประจักษ์แจ้งทุกพระองค์
พระเจ้าธรรมราชาธิราชพระราชบิดาได้ตรัสสรรเสริญเป็นอันมาก
เมื่อจะทรงยกราชสมบัติให้ครองนั้น ได้ทรงพระราชดําริแล้ว ทั้งทรงพินิจพิจารณาประจักษ์แจ้งชัดแล้ว จึงตรัสสั่งทั้ง ๕ พระองค์นั้น ให้ไปแสดงศิลปศาสตร์ ณ
ถิ่นเมืองอื่น ใครได้ชมเชยมาก ก็จะยกให้ผู้นั้นได้ครองต่อไป ได้ทรงจัดเรือให้เสด็จรอนแรมไปตามห้วงมหาสมุทรใหญ่ เรือใช้ใบแล่นไปในห้วงมหาสมุทร
กระทั่งกลางคืน เจ้ากุมารอนุชาทั้ง ๔ ได้หลงใหลไปในท้องมหาสมุทร
ครั้งนั้น เจ้าภัททกุมาร คิดว่า ลูกศรอันมีพิษมีอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร หวังจะได้จึงกระโจนลงไปในห้วง ได้ถูกปลาใหญ่กัดกินตายไปแล้ว
เรือแล่นไปถึงเวลาเที่ยงคืน ละลอกน้ำเกิดเป็นประกายสีพรายเหมือนดอกไม้ไฟ เจ้ารามกุมาร สําคัญว่าดอกไม้ไฟมีอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร
หวังจะได้จึงกระโจนลงไปในห้วงน้ำ ก็ถูกปลาใหญ่กัดกินตายไปอีก
เรือแล่นไปถึงเวลาเช้าก่อนเที่ยง เจ้าปมาทกุมาร เห็นดวงอาทิตย์โผล่ขึ้น ณ เขิบน้ำขอบฟ้า ตะวันออกส่งแสงเป็นดวง ปรากฏในท้องมหาสมุทร
ก็สําคัญว่าทองเนื้อบริสุทธิ์ปราศจากราคีมีอยู่ในน้ำนั้น หวังจะได้จึงกระโจนลงไปในห้วงน้ำนั้น ก็ถูกปลาใหญ่กัดกินตายไปอีก
เรือได้แล่นไปถึงเมืองหนึ่งแล้วได้แวะจอดพัก ณ เมืองนั้น เจ้าธัชชกุมาร ได้ขึ้นไปเที่ยวดูชม ณ เมืองนั้น ได้เข้าไปในประชุมชนที่ชุมนุมกันอยู่
คิดหวังจะได้ชื่อเสียงชื่นชมศิลปศาสตร์ที่สําเร็จมา จึงสําแดงศิลปศาสตร์ได้แปลงกายเป็นอสรพิษเลื้อยไปในท่ามกลางมหาชนชุมนุมกันนั้น
ชาวชนเห็นเข้าก็หวาดกลัวภัยอสรพิษนั้น จึงคว้าจับท่อนไม้พลองเป็นอาวุธไล่ทุบตีกระทั่งอสรพิษนั้นตายไปอีก จึงเหลือแต่ เจ้าธรรมเสนกุมาร องค์เดียว ณ
เมืองนั้นได้กลับไปเรือ สั่งให้คอยอยู่ ๒-๓ วัน ไม่เห็นกลับมา ก็ให้นําเรือกลับไปจัมปากะบ้านเมืองเดิม สั่งแล้วพระองค์เดียวได้เสด็จเที่ยวไปในเมืองนั้น
พระดาบสธรรมเสน
ในกาลนั้นมีพระฤษีประมาณ ๘ หมื่นองค์ มาแต่ป่าหิมพานต์ เหาะลอยมาทางอากาศเวหาลงมา ณ เมืองนั้น แล้วเข้าไปโคจรบิณฑบาตในท่ามกลางเมือง
เจ้ากุมารธรรมเสนนั้นได้เห็นตลอดแล้ว จึงคิดว่า ศิลปวิทยาและศิลปศาสตร์เป็นอันมากที่สําเร็จมาแล้ว ล้วนเหาะเหินเดินอากาศไม่ได้
พระดาบสทั้งนี้เหาะลอยไปได้ทุกองค์ คิดหวังอยากจะเรียนวิชาเหาะนั้น จึงเข้าถามและฟังตอบได้ทราบความแล้ว จึงสมัครเป็นศิษย์
พระดาบสได้เอ็นดูกรุณารับแล้ว ได้แสดงอิทธิฤทธิ์พาเจ้าธรรมเสนกุมารนั้น เหาะไปยังป่าหิมพานต์ จึงให้เจ้าธรรมเสนกุมารบวชเป็นดาบสแล้ว
ให้กระทําสมณบริกรรมภาวนา ให้เจริญฌานยังอภิญญา ๕ ให้บังเกิดขึ้นบริบูรณ์แล้ว ได้ตาทิพย์, หูทิพย์, รู้จิตผู้อื่น, ระลึกชาติ หนหลังได้
จึงทรงอิทธิฤทธิ์เป็นศิลปะศาสตร์อันประเสริฐ
ครั้นได้คุณวิเศษแล้ว พระดาบสธรรมเสนกุมารนั้น คิดใคร่ไปแสดงแก่พระราชบิดา จึงเข้าลาพระอาจารย์เพื่อกลับไปจัมปากนคร ได้แสดงคุณวิเศษแห่งฌานอภิญญา
อันเป็นศิลปศาสตร์พิเศษสุดนั้น ได้เหาะลอยไปกรุงจัมปากะ ถึงแล้วจึงลอยลงตรงพระพักตร์ ให้พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นชัดเจน
และทั่วไปต่างก็ได้เห็นประจักษ์กับตาตลอดกัน
พระเจ้าธรรมราชาธิราชทรงโปรดปรานชื่นชมโสมนัสยิ่งแล้ว ได้ตรัสถามก็ทรงสดับทราบถึงเจ้าน้องทั้ง ๔ องค์นั้นสิ้นชนม์หมด
แล้วพระเจ้าธรรมราชาธิราชเจ้าผู้พระราชบิดาจึงทรงยกราชสมบัติให้ครอบครองสืบต่อไป ทรงกําหนดพิธีราชาภิเษกขึ้น
พระเจ้าธรรมเสนราชานั้นทรงหมายว่า จะทรงบําเพ็ญ ปรมัตถบารมี สละลูกเมีย และราชสมบัติ จึงทรงรับราชสมบัตินั้นจากพระราชบิดา
พระเจ้าธรรมราชาธิราชเจ้าซึ่งพระ ราชทานยกให้ครอบครองสืบต่อไป ได้ทรงลาเพศพระดาบส เปลื้องบริขารพระดาบสออกแล้ว ทรงสั่งไปสถิต ณ สํานักพระดาบสตามเดิม
เครื่องบริขารก็ไปตามสั่งนั้น
เมื่อถึงกําหนดกาลพระเจ้าธรรมราชาธิราช เจ้าทรงให้ประกาศให้ประชุมชาวเมืองแล้ว ก็ ทรงกระทําพระราชพิธีราชาภิเษกและอุปภิเษก ให้เป็น
พระเจ้าธรรมเสนราชา กับ พระนาง ลัมภุสสราชเทวี ครอบครองกรุงนครจัมปากรัฐ สืบต่อจากพระองค์
พระเจ้าธรรมเสนราชาได้ทรงเป็นผู้ทรงธรรมสืบจากพระราชบิดานั้นทุกประการ จึงเจริญสุขเกษมสําราญตลอด ได้ทรงทนุบํารุง จัมปากรัฐและประชาชนชาวราษฎร
ให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกัน
ล่วงกาลมานาน พระนางลัมภุสสราชเทวี ผู้เอกอัครมเหสีนั้น ได้ทรงครรภ์ครบทศมาสแล้ว จึงประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก พระราชทานชื่อว่า
"เจ้าธรรมสารกุมาร" เมื่อพระราชโอรสบทจรยกย่างได้ถนัดแล้ว พระนางพระราชเทวีก็ทรงครรภ์ครบถ้วนแล้ว ก็ได้ประสูติพระราชธิดาเป็นที่ ๒ พระราชทาน
ชื่อว่า "สาริณีกุมารี"
ทรงสละลูกเมียเป็นทาน
ครั้นพระราชโอรสธิดาพอเสด็จบทจรได้ถนัดทั้งคู่ พระเจ้าธรรมเสนราชาทรงแสวงหาพระบริพารทุกหมู่เหล่า ได้ออกประพาสนอกพระนคร เพื่อลงสรงสาครให้สุขสําราญ
ทั้งหมดนั้นก็พร้อมกันลงสรงสาคร เป็นที่สําเริงสําราญสนุกสนานหรรษาทั่วกัน
ครั้นนั้นมียักษ์ตนหนึ่ง ได้มองเห็นพระราชกุมารทั้งสองนั้น มีความหิวกระหายบังเกิดขึ้น จึงสําแดงกายตนให้ปรากฏแก่พระเจ้าธรรมเสนราชานั้น
ได้ออกคําขอพระราชกุมารทั้งสองนั้นเพื่อเป็นภักษาหาร ทรงสดับแล้วจึงตรัสว่า . "ยักษ์ . . .ท่านกล่าวคํานี้เป็นการดียิ่งนัก"
จึงจับหัตถ์พระลูกทั้งสองนั้น จูงไปพระราชทานแก่ยักษ์ตรัสว่า "เชิญท่านมารับเอาปิยบุตรทาน ของเรา" แล้วจับพระเต้าทองหลั่งน้ำลง พร้อมกับตรัสประกาศว่า
"ด้วยเดชะผลทานที่สละราชกุมารทั้งสองนี้ ขอให้เกิดผลเป็นที่สุดถึงพระสัพพัญญู สรรเพชรดาญาณ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าเถิด"
พระองค์ตรัสประกาศแก่เทพยดาแล้ว ก็ดลบันดาลให้เกิดมหัศจรรย์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า แผ่นดินไหวทั่วโลกธาตุ ส่วนยักษ์ได้รับแล้วก็ กินกุมารทั้งสอง
แล้วก็เข้าไปในป่าแดนของตน
พระเจ้าธรรมเสนบรมกษัตริย์กับพระราชเทวี ได้ทรงนําพระราชบริพารเสด็จกลับพระนคร เมื่อถึงประตูเมืองได้ทรงเห็นชายแก่ชราคนหนึ่งนั่งเป็นทุกข์อยู่
จึงตรัสถามได้สดับว่า ตั้งแต่เกิดมากระทั้งกาลบัดนี้บุตรภรรยาหามีไม่ จึงนั่งเศร้าโศกอยู่ในที่นี้ ได้สดับแล้วตรัสว่า เราจะยกมเหสีให้เป็นทานบารมี
แล้วทรงจับพระหัตถ์จูงพระนางลัมภุสสราชเทวีลงจากพระยาน แล้วนําไปมอบแก่ชายแก่นั้น พร้อมกับตรัสว่า เรายกให้เป็นทานแก่ท่าน ณ บัดนี้
ได้จับพระเต้าทองหลั่งน้ำให้แล้วตรัสว่า
"เดชะผลทานที่ยกอัครมเหสีในครั้งนี้ จงเป็นปัจจัยแก่พระสรรเพชรดาญาณเถิด"
ดังนี้แล้ว ก็เกิดมหัศจรรย์ต่าง ๆ เหมือนครั้งแรก ชายแก่นั้นจึงกล่าวว่า เราแก่เฒ่าทรัพย์สมบัติก็ไม่มี จะอยู่ได้อย่างไร
พระเจ้าธรรมเสนราชาได้ทรงสดับแล้ว จึงทรงดําริว่า เราจะสละราชสมบัติให้แก่ชายแก่นี้แล้วจะบวชเป็นดาบส เห็นว่าประเสริฐแล้ว จึงตรัสเรียกบุรุษแก่นั้นมา
จึงทรงยกราชสมบัติพระราชทานให้แล้ว และได้ทรงกระทําพระราชพิธีราชาภิเษก และอุปภิเษกสถาปนา พระนาม ว่า พระเจ้ามหาฉัตตธรรมราชา ให้ปกครองสืบต่อไป
แล้วก็ตรัสประกาศเพื่อสําเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ก็บังเกิดมหัศจรรย์ต่าง ๆ เหมือนครั้งแรก เป็นครั้งที่ ๓
ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงอธิษฐานเรียกบริขารทั้ง ๘ นั้น ก็ได้เลื่อนลอยมาตกลงตรงพระพักตร์พระเจ้าธรรมเสนบรมโพธิสัตว์ ได้ทรงครองบริขารนั้น
สําเร็จเพศบรรพชาเป็นพระดาบสฤษีแล้ว ทรงเจริญบริกรรมภาวนา กระทําฌานสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ทรงเหาะไปในอากาศเวหาลงยังป่าหิมพานต์
เข้าไปสู่สํานักพระฤษีทั้งหลายและอยู่ ณ ที่นั้น
ทรงตัดพระเศียรถวายเป็นพุทธบูชา
ในกาลนั้น พระอริยสาวกสงฆ์องค์หนึ่งของพระโคนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์ ได้เข้าพักอยู่สุขสําราญในป่าหิมพานต์นั้น พระฤษีทั้งหลายได้พบเห็นพระอรหันต์แล้ว
ก็มีความเชื่อและเลื่อมใส ได้เข้าไปไหว้กราบสักการะบูชา พระอริยสาวกนั้น นิมนต์ให้ยับยั้งอยู่ ๑ ราตรี
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระอริยสาวกอรหันต์ก็ได้พาพระดาบสธรรมเสนบรมโพธิสัตว์เหาะมา ได้เข้าไปในสํานักพระมหาวิหาร
และเข้าเฝ้าพระโคนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์นั้น พระดาบสธรรมเสนได้เข้าไปกราบนมัสการแทบพระบาท มูลพระสัพพัญญูเจ้า ได้พิจารณาดูพระทวัตติงส มหาปุริสลักษณะ ๓๒
ชัดเจนแล้ว ก็ได้เกิดปีติโสมนัสขึ้น จึงได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้แสดงพระสัทธรรมเทศนา
สมเด็จพระโคนาคมน์สัมมาสัมพุทธองค์ ทรงพระกรุณาตรัสว่า ดาบสธรรมเสนผู้เจริญ บัดนี้ตัวท่านสมควรจะพิจารณา ซึ่งกิริยาที่จะให้ไปถึงเมืองแก้ว
คือพระอมตมหานครนิพพาน จึงจะชอบแก่ตัวด้วยตัวเองเถิด
พระดาบสบรมโพธิสัตว์ได้สดับพระพุทธฎีกาเป็นนัยเช่นนั้น ก็บังเกิดความเชื่อเลื่อมใสขั้นสัทธาปสาทะเต็มเปี่ยมแล้ว ก็ได้อธิษฐานเล็บของพระองค์ให้คมดุจดาบ
ได้ใช้ตัดเศียรเกล้าตรงพระศอให้ขาดแล้วใช้พระหัตถ์ทั้งสองรับ ประคองยกขึ้นกระทําสักการะบูชาสมเด็จพระพุทธองค์ และได้กล่าวตั้งความปรารถนาว่า
"พระองค์สมเด็จพระโกนาคมน์ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ถึงพระนิพพานก่อนแล้ว
ข้าพระองค์ก็ปรารถนาสําเร็จเป็นพระศรีสรรเพชญ์สัมพุทธองค์พระองค์หนึ่ง
อนึ่ง พระองค์ได้เสด็จไปสู่เมืองแก้วก่อน ข้าพระองค์ขอสําเร็จพระนิพพานในเบื้องหน้าในภายหลัง"
ได้กล่าวคาถาเป็นใจความ ๒ ข้อดังนี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์ธรรมเสนดาบสนั้น ก็จุติเคลื่อนไปอุบัติ ณ ดุสิตสวรรค์แล้ว ส่วนพระ เศียรเกล้าพระสรีรกายนั้น
ก็ลุกเป็นเพลิงเสมือนเทียนประทีปบูชา มีกลิ่นหอมเป็นสุคนธ์ทิพบูชา ลุกเป็นประทีปต้นเฉพาะไม่ลุกลามไหม้ไปที่อื่น ด้วยพระพุทธานุภาพ
และด้วยอํานาจอธิษฐานบารมีกระทั่งหมดสิ้น...
กลับสู่ด้านบน
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 21/9/08 at 10:27 |
|
|
|
|
Posts: 192 |
Registered: 10/2/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|