ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 22/6/09 at 08:49 Reply With Quote

ประวัติพุทธสาวก เรื่อง.. พระพิมพาเถรี


(เริ่มลงตอนแรก วันที่ 22 มิถุนายน 2552 ตรงกับวันพระ แรม 15 ค่ำ เดือน 7)

ประวัติพุทธสาวก


สำหรับเรื่องประวัติพุทธสาวกนี้ เคยลงในหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" เมื่อหลายปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ พอดีคุณวัชรพล (ปุ๋ม) ศรีขวัญ มีความศรัทธาในเรื่องนี้ จึงพร้อมกับน้องสาว คือ คุณทวีทรัพย์ (จ๋า) ศรีขวัญ รับอาสาช่วยพิมพ์ลงในเว็บนี้

แต่ผู้จัดทำเห็นว่าน่าจะเพิ่มเติมข้อมูลไปบ้าง และมีรูปภาพประกอบ พร้อมกับมีเสียงบรรยายไปด้วย จะช่วยเพิ่มพูนอรรถรสยิ่งขึ้น เรื่องราวของพุทธสาวกในตอนแรกนี้ จะเริ่มต้นด้วยเรื่องของ พระนางพิมพา อัครมเหสีของเจ้าชายสิตธัตถะ ต่อมาได้ออกผนวชตามพระสวามี แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา

ในเรื่องราวของท่านมีมากมาย นับตั้งแต่ชาติปางก่อนที่ปรารถนาเป็นคู่ชายาของพระโพธิสัตว์ ในแต่ละชาติท่านจะระลึกชาติ แล้วได้กราบขอขมากรรมในแต่ละชาตินั้นๆ อ่านหรือฟังแล้วจะซาบซึ้งเป็นอย่างมาก สำหรับตอนต้นจะเป็นเสียงบรรยายจาก "วิมุตติรัตนมาลี" และตอนต่อไปจะเป็นเสียงบรรยายจาก "นางแก้วคู่บารมี" ทั้งนี้ ต้องขออนุโมทนาผู้ที่จัดพิมพ์เรื่องนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย


พระพิมพาเถรี




ฟังเสียงบรรยาย "ประวัติพระพิมพาเถรี" จาก..วิมุตติรัตนมาลี

ตอนที่ 1 


ตอนที่ 2


ตอนที่ 3

 

(คลิปวีดีโอ จาก You Tube)


คลิป 1 - คลิป 2 - คลิป 3


สมัยสมเด็จพระพุทธทีปังกร


พระนางพิมพาได้ตั้งความปรารถนาเป็นพระสาวิกา ตั้งแต่สมัยเมื่อ ๔ อสงไขยล่วงมาแล้ว โดยสมัยนั้น พระนางได้เกิดเป็นกุมารีนางหนึ่ง ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นโสภาอายุได้ ๑๖ ปี เป็นบุตรีของคฤหบดีชาวปัจจันตคาม วันนั้นเมื่อมีการประกาศว่า ให้มหาชนช่วยกันแผ้วถางทางเพื่อรับเสด็จ สมเด็จพระทีปังกรบรมโลกนาถเจ้า ก็มีศรัทธามาร่วมถากทางกับชาวบ้านปัจจันตคามทั้งหลายด้วย ครั้นได้ทอดทัศนาเห็น สุเมธฤาษี ผู้มีฤทธิ์เหาะมาจากป่าใหญ่ ก็ให้มีความแปลกประหลาดใจเป็นอันมาก

กาลต่อมา เมื่อเห็นมหาชนพากันแกล้งชี้มือบอกฤาษีผู้ขออนุญาตให้ไปทำทาง ณ บริเวณที่เต็มไปด้วยโคลนเลน ซึ่งเป็นสถานที่จะทำให้สำเร็จได้ยากลำบาก แต่ฤาษีผู้มีฤทธิ์ ก็รับทำจำยอมแต่โดยดี เจ้าสุมิตตากุมารี ก็มีความเห็นใจแลสงสารท่านฤาษี จึงช่วยแผ้วถางและขนดินจากที่อื่นมาเทถมในที่นั้นด้วยใจภักดี แล้วก็คอยชำเลืองดูร่างฤาษีผู้ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เหาะเหิรเดินอากาศได้อยู่ไปมา

แต่พอได้เสวนาการพระพุทธฎีกา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรบรมศาสดา ทรงประกาศแก่ปวงมหาชนว่า สุเมธฤาษีจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลอีกนานหนักหนา สุมิตตากุมารีก็บังเกิดความยินดีปรีดา รีบวิ่งไปแสวงหาดอกไม้ ได้ดอกอุบลสดใหม่มา ๘ ดอก แล้วจึงซบกายถวายบังคมลงตรงเบื้องพระพักตร์กระทำการสักการะบูชาสมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าววาจาตั้งปณิธานตามความประสาใจของนางในขณะนั้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นพระบรมโลกุตมาจารย์ ด้วยเดชาอานิสงส์ที่ข้าพระบาทได้กระทำสักการะบูชาแก่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าในกาลบัดนี้ ขอให้สุเมธฤาษี จงเป็นสามีของข้าพระบาทสมใจปรารถนาในภายภาคหน้าด้วยเถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บุญกุศลใดๆ อันเกิดจากพลีกำลังกายถากถางทางเพื่อเสด็จพระพุทธดำเนินในครั้งนี้ก็ดี และบุญกุศลที่ได้ถวายสักการบูชาสมเด็จพระทศพลด้วยดอกอุบลอันงามนี้ ก็ดี ขอให้สุเมธฤาษีนี้จงได้เป็นสามีร่วมรักแห่งข้าพระบาทผู้มีวาสนาน้อย ในอนาคตด้วยเถิด”

สุเมธฤาษีโพธิสัตว์ผู้ซึ่งได้รับคำพยากรณ์จากพระโอษฐ์ แห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์ทีปังกรเจ้า ว่าจักได้สำเร็จซึ่งพระพุทธภูมิในอนาคตภายภาคหน้า ครั้นได้เสวนาการกุมารีงามโสภาชาวปัจจันตคาม เจ้ามาตั้งความปรารถนาและจะได้ตนเป็นสามี เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าอย่างตรงแท้ตามประสาใจนางเช่นนั้น ก็ให้พลันสะดุ้งตกใจเป็นล้นพ้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในขณะนั้นตนเป็นผู้ได้บรรลุถึงฝั่งแห่งฌานสมาบัติ อันจัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติ กิเลสราคะสงบซบอยู่ด้วยอำนาจแห่งกำลังฌาน จะได้มีตัณหาความยากได้ใคร่ดีในนางกุมารีน้อยแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้ ดังนั้น ท่านสุเมธฤาษีผู้มีฤทธิ์จึงมีวาจากล่าวห้ามปรามความปรารถนาแห่งเจ้าสุมิตตากุมารีขึ้นว่า

“ดูกร เจ้าซึ่งมีพักตร์อันเจริญ อันความปรารถนาแห่งเจ้าที่จะได้เราเป็นสามีนี้ แม้จะเป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราจะได้ชอบใจไปด้วยแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้ ขอเจ้าจงถอนความปรารถนาเช่นนั้นเสียในกาลบัดนี้ ขอเจ้าอย่าพึงกระทำความปรารถนาอย่างนั้นเลย จงปรารถนาอย่างอื่นเถิด”

สุมิตตากุมารีสาวงามแห่งปัจจันตคาม ซึ่งมีความปรารถนาในใจอันมั่นคงแรงกล้า แม้จะถูกฤาษีออกวาจากล่าวห้ามปรามฉะนี้เป็นหลายหนหลายครั้ง นางก็ยังยึดมั่นอยู่ในความปรารถนาดั้งเดิม หาแปรไปเป็นอื่นไม่

สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถทีปังกรบรมศาสดาจารย์ พระองค์ผู้ทรงมีพระญาณอันไม่ขัดข้องในทุกกรณี เมื่อทรงอาวัชนาการดูแลเหตุอันจักพึงมีในอนาคตกาลแจ้งประจักษ์ใน พระญาณ จึงทรงมีพระมหากรุณาตรัสแก่สุเมธดาบสว่า

“ดูกร สุเมธดาบสเอ๋ย ตัวท่านอย่าได้ห้ามซึ่งความปรารถนาแห่งกุมารีน้อยนี้เลย ด้วยว่าในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อตัวท่านบำเพ็ญพุทธบารมีธรรมเพื่อบ่มพระบรมโพธิญาณให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์นั้น กุมารีมีจิตมั่นคงนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่าน และท่านจักได้บำเพ็ญบารมีเป็นภริยาทานบริจาคในกาลภายหน้าได้ ก็โดยอาศัยกุมารีนี้แลเป็นปัจจัยสำคัญ

ดูกร สุเมธดาบสเอ๋ย ถึงเราตถาคตนี้เมื่อยังสร้างพระบารมีท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏสงสาร ได้อาศัยสตรีภาพจึงมีโอกาสบำเพ็ญภริยาทานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอท่านจงอย่าห้ามความปรารถนาแห่งนาง จงปล่อยให้เป็นไปตามประสาแห่งใจนางในกาลบัดนี้เถิด”

สุเมธฤาษีได้สวนาการพระพุทธฎีกา แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์ฉะนี้ ก็มีความเลื่อมใสเชื่อฟังด้วยดี น้อมเศียรศิโรตม์อันทรงไว้ซึ่งชฎา รับพระพุทธฎีกา สาธุ สาธุ สาธุ ดังนี้แล้วก็ค่อยคลานออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงพาพระภิกษุสงฆ์ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปัจจันตคามตามคำอาราธนาของชาวประชาต่อไป



สมัยพุทธกาลนี้


......ปรากฏว่าเป็นเวลามากมายหลายชาติทีเดียว ในกาลครั้งยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เพื่ออบรมบ่มพระสัมโพธิญาณพุทธบารมีอยู่นี้ ที่อดีตสุเมธฤาษีได้เป็นสามีร่วมรักกับเจ้าสุมิตตากุมารี ตามแรงอธิษฐานของนาง เมื่อครั้งถวายดอกอุบล ๘ ดอก แด่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้า

......บางคราวเกิดเป็นมนุษย์บุรุษสตรี ทั้งสองก็ต้องเป็นคู่สามีภริยากัน แม้บางคราวจะเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ก็ได้เป็นคู่สู่สมภิรมย์รักไม่พรากจากกันไปได้ตลอดกาลอันแสนจะยาวนานถึง ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป นี้

ในชาติอันเป็นที่ปัจฉิมสุดท้าย สุเมธฤาษีและสุมิตตากุมารี บุรุษสตรีซึ่งเป็นสามีภรรยาคู่สร้างกันมาแต่ปางบรรพ์ สุดที่จะนับประมาณชาติที่เกิดได้นั้น ต่างก็พากันมาบังเกิดในมนุษยโลกเรานี้ โดยสุเมธฤาษีได้มาอุบัติในขัตติยะตระกูล ณ กรุงกบิลพัสดุ์บุรี ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายอังคีรสราชกุมาร หรืออีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร

ส่วนสุมิตตากุมารีสาวโสภาแห่งปัจจันตคามคู่สร้าง ได้มาบังเกิดในขัตติยะตระกูล ณ กรุงเทวทหนคร เป็นเจ้าหญิงทรงโฉมวิไลลักษณ์ เมื่อทรงจำเริญวัฒนาแล้วก็ได้เป็นเอกอัครมเหสีของเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร แห่งกรุงกบิลพัสดุ์บุรี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพิมพายโสธราเทวี

......ราตรีกาลวันหนึ่ง เจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ผู้มีพระพุทธบารมีเต็มเปี่ยมในขันธสันดานอยู่แล้วทรงฟื้นจากนิทรารมณ์สถิตนั่งบนบัลลังก์อาสน์ อันมีความวิเศษประการหนึ่งทิพยบัลลังก์ แห่งสมเด็จพระอมรินทราธิราช ได้ทอดทัศนาเห็นอาการวิปลาสของคณานางบริจาริกราชนารีทั้งหลาย ให้มีพระทัยสังเวชยิ่งนัก พิจารณาเห็นสังสารโทษเป็นอันมาก ทรงปรารถนาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในราตรีนั้น

จึงตรัสสั่งฉันนะให้ไปผูกพญาม้ากัณฐกอัศวราช ซึ่งเป็นม้าพระที่นั่งเตรียมไว้แล้ว ทรงมีพระประสงค์จะไปทอดพระเนตรเจ้าราหุลโอรส ซึ่งประสูติแด่พระนางพิมพายโสธราเทวีเมื่อไม่นาน จึงอุฏฐาการเสด็จบทจรสู่ห้องสิริคัพภไสยาสน์แห่งพระอัครมเหสีพิมพายโสธรา เผยทวารห้องเห็นแสงประทีปชวาลาส่องสว่างทอดทัศนา

เห็นเจ้าพิมพาราชเทวีบรรทมหลับสนิทเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ อันดาษไปด้วยสุคนธมาลาประมาณอัมพณะหนึ่ง คือ ๑๒๗ ทะนาน และพระพิมพาราชเทวีนั้น ทอดพระกรประดิษฐานเหนือพระเศียรพระราชโอรสบ่มิได้รู้สึกพระองค์ ทรงหยุดยืนเหยียบพระบาทบนธรณีพระทวาร เล็งแลพระราชบุตรและพระราชเทวี แล้วทรงรำพึงว่า

“หากอาตมะจะยกหัตถ์เจ้าพิมพา เพื่อจักอุ้มอำลาเจ้าราหุลโอรสรัก ก็น่าที่เจ้าพิมพาจักตื่นฟื้นจากนิทรารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อันตรายแห่งมหาภิเนษกรมณ์ก็จะพึงมี อย่ากระนั้นเลย อาตมะจักอดใจไว้ก่อน ต่อเมื่อได้สำเร็จแก่พระสรรเพชุดาญาณอันบวรแล้ว จึงจะกลับมาทัศนาพระลูกแก้วและเจ้าพิมพาเมื่อภายหลัง”

เมื่อเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมารบรมโพธิสัตว์ ผู้มีพระอรหัตคุณพุทธบารมีญาณแก่กล้า กำหนดพิจารณาระงับเสียซึ่งความเสน่หาในโอรสและเจ้าพิมพาคู่สร้างบารมีฉะนี้ แล้วก็ตัดสินพระทัยยกย่างพระบาทจากธรณีพระทวารเสด็จคมนาการโดยด่วนออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เพื่อแสวงหาซึ่งวิมุตติธรรมความหลุดพ้นเป็นเวลาช้านานถึง ๖ พรรษา

ทรงละการบำเพ็ญทุกกรกิริยา อันมิใช่ทางหลุดพ้น ทรงบำเพ็ญทางสายกลาง ก็ได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นเอกองค์บรมศาสดาจารย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดม สมจริงตามพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ทำนายไว้แต่ปางบรรพ์

กาลครั้งนั้น ฝ่ายเจ้าสุมิตตากุมารีสาวโสภาแห่งปัจจันตคาม คู่สร้างบารมีแห่งองค์สมเด็จพระชินวร แต่ครั้งศาสนาพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกลับชาติมาเกิดเป็นเจ้าหญิงพิมพาราชเทวีชนนี แห่งพระราหุลขัตติยราชกุมาร เมื่อได้เสาวนาการเสียงโกลาหลสำเนียงเสียงสนั่นลั่นถึงพระโสตดั่งนั้น พระนางเจ้าจึงมีเสาวนีย์ตรัสถามนางสนมกำนัลว่า

“ดูกร เจ้าทั้งหลาย อันว่าเสียงโกลาหลวุ่นวายนั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุปรากฏมีเป็นไฉน?”

นางกำนัลทั้งหลาย ออกไปสืบได้ความมาแล้วจึงทูลว่า
“ข้าแต่พระแม่เจ้า กาลบัดนี้ พระราชาสวามีของพระแม่เจ้าเสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยเพศสมณะครองผ้ากาสาวพัสตร์ พระหัตถ์ทรงซึ่งบาตรบทจรลีลาศ เที่ยวภิกขาจารชนทั้งหลายซึ่งเป็นชาวเมืองได้ทอดทัศนาการเห็นแปลกประหลาด จึงเกิดเอิกเกริกโกลาหลขึ้น เหตุเป็นดั่งนี้แลพระแม่เจ้า”

เมื่อองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่พระประยูรญาติอันมีพระราชบิดาคือ พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช เป็นประธานแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงระลึกถึงพระนางพิมพาที่เป็นคู่บารมีกันมา นับตั้งแต่เอนกชาติคือตั้งแต่เริ่มต้น ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงปรารถนาพระโพธิญาณ พระนางพิมพาก็เข้าไปตั้งปณิธานปรารถนา ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นั้นว่า ปรารถนาเป็นคู่บารมีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ จนกว่าจะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ

และก็พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชกับพระนางสิริมหามายาราชเทวี เวลานั้นก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ต่างคนต่างก็เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นว่า ขอเป็นพระพุทธบิดา ขอเป็นพระพุทธมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีเด็กชายคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์นั้นว่าขอเป็นราชโอรส เป็นลูกติดตาม....




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 6/7/09 at 20:48 Reply With Quote


(Update 6 ก.ค. 52)

เสด็จโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

นี่เป็นอันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบความจริงว่า ยอดหญิงพิมพาเป็นคู่บารมีกันมาตั้งแต่ต้นจนอวสาน การแสดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่พระประยูรญาติ และสมเด็จพระราชบิดาคราวนั้น ปรากฏว่าพระนางพิมพาไม่ยอมไปฟังเทศน์ มีคนไปกราบทูลให้ทรงทราบพระนางก็ตรัสว่า

“ในเมื่อพระลูกเจ้าเสด็จมาถึงประเทศนี้แล้ว และองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงรู้จักตำหนักนี้ดี เคยอยู่มาก่อน ถ้าองค์สมเด็จพระชินวรไม่เสด็จมาโปรดเราถึงที่ เราก็ไม่ไป”

นี่เพราะอาศัยน้ำใจที่พระนางมีความรัก ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติแต่ครั้นองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เสด็จมา พระนางก็เกิดการน้อยใจว่า ตำหนักนี้เคยอยู่ ทำไมองค์สมเด็จพระบรมครูจึงไม่มาเทศน์โปรดสอนเราถึงตำหนัก เมื่อท่านไม่มาเราก็ไม่ไป

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงรู้น้ำพระทัยของพระนางพิมพาดี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงตั้งใจไปโปรดพระนางพิมพาถึงตำหนักที่อยู่ และองค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงทราบว่า การไปคราวนี้ พระนางพิมพาอาศัยที่มีความรักความอาลัยอยู่เดิม จะเข้ามากอดที่ขาของพระองค์แล้วก็พร่ำรำพันถึงความทุกข์และความรักในอดีต

กิจนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสตรี แต่ถ้าเราจะห้ามพิมพาไม่ให้ทำอย่างนี้ การบำเพ็ญบารมีมาถึงสี่อสงไขยกับแสนกัป ความจริงพระนางพิมพาไม่เคยทำบุญด้วยตนเองเลย มีอย่างเดียวเราทำอะไร เธอยินดีด้วยช่วยโมทนาเป็นปัตตานุโมทนามัย หากว่าเราห้ามพิมพาไม่ให้มากอดขาเราแล้วไซร้ พิมพาจะอกแตกตายไม่ได้บรรลุมรรคผล เป็นอันว่าผลที่ติดตามมาถึงสี่อสงไขยกับแสนกัปจะไม่เกิดผล ถ้าเราห้ามเธอไม่ให้มากอดขาเรา

เมื่อองค์สมเด็จพระทศพลตัดสินพระทัยว่าเรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาก็ไม่เป็นไร เพราะจิตใจของเราไม่มีกิเลสแล้ว แต่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงมี ความไม่ประมาท องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ทรงชวนพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ๒ ท่านไปเป็นเพื่อน เพื่อเป็นพยาน คือให้ทั้งสองท่านรับทราบไว้ด้วย จะได้ช่วยแก้ความเข้าใจผิดของคนต่อภายหลัง ขณะที่เดินไประหว่างทางยังไม่ถึงตำหนักของพระนางพิมพาราชเทวี สมเด็จพระชินสีห์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

“พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลาน์ ถ้าเราทั้งสามเข้าไปในตำหนักของพระนางพิมพาแล้ว ถ้าพระนางพิมพาจะมากอดขาเรา ขอเธอทั้งสองจงอย่าห้าม และขอเธอจงเข้าใจว่า เวลานี้จิตใจของตถาคตน่ะไม่มีอะไรแล้ว แต่ทว่ามีความห่วงใยในพระนางพิมพา ถ้าเธอทั้งสองห้าม เธอไม่มีโอกาสเข้ามากอดขาเรา เธอจะอกแตกตาย เพราะการบำเพ็ญบารมีมาในกาลก่อนไซร้ เธอไม่ได้ทำเอง มีหน้าที่อย่างเดียวคือโมทนาความดีที่ตถาคตทำ ฉะนั้นการบรรลุมรรคผลของพระนางพิมพาจึงต้องเนื่องด้วยตถาคต จะหาทางช่วยตนเองให้บรรลุมรรคผลนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้”

เมื่อพระนางพิมพาทราบจากเจ้าพนักงาน ก่อนที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารจะเสด็จไป พระนางพิมพาก็ดีใจ หายจากความทุกข์โศก ชำระร่างกายให้สะอาดและทราบว่าสมเด็จพระบรมโลกนาถยังทรงเครื่องย้อมน้ำฝาด พระนางนาถก็ทรงแต่งตามนั้น แล้วโกนศีรษะเหมือนกับพระทุกท่าน ดูๆ ไปก็คล้ายกับนางภิกษุณี แต่ตอนนั้นยังไม่มี เมื่อพระนางทราบข่าวว่าสมเด็จพระชินสีห์จะเสด็จไปก็ให้นางสาวใช้ทำสถานที่ให้สะอาด มีอะไรบ้างที่องค์สมเด็จพระชินวรเคยชอบใจในกาลก่อน พระนางก็สั่งทำเพื่อองค์สมเด็จพระชินวรทั้งหมด


ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระบรมสุคตเสด็จเข้าไปแล้ว นางแก้วก็เข้ามากอดขาร้องไห้เหมือนกันตามที่องค์สมเด็จพระภควันต์ตรัสไว้ เมื่อพระนางสร่างจากความโศกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้มีพระพุทธฎีกาสั่งสอนพระนางพิมพาว่า

“เธออย่าคิดอาลัยในร่างกายและชีวิต เพราะที่ตถาคตออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดเธอ แต่มีความหวังอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าเราจะทรงชีวิตตามธรรมดาของบุคคลธรรมดา เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แบบนี้ มันจะหาที่สุดไม่ได้

ทั้งนี้ เพราะการเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ มันก็มีสภาพไม่พ้นเหมือนบุคคลธรรมดา คือกษัตริย์ก็ดี ยาจกเข็ญใจก็ดี คนธรรมดาก็ดี มีความเกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น ร่างกายก็เสื่อมโทรมไปตามลำดับในท่ามกลาง ในที่สุดต่างคนก็ต่างตายเหมือนกัน ชีวิตการเกิดและการตายของสองเรานี้นั้นนับชาติไม่ถ้วนล้วนแล้วแต่การเกิดมาครั้งใด ก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยร่างกาย เหน็ดเหนื่อยใจ และในที่สุดเราก็ต้องตายกัน ถ้าหากเราจะต้องเกิดมาแล้ว ก็ตายกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หาที่สิ้นสุดไม่ได้แล้ว ขึ้นชื่อว่า “ความสุขใจ” มันก็ไม่มี

เวลานี้พี่..คือตถาคตได้เข้าถึงการจบแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คือ “โมกขธรรม” ได้แก่ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากความตาย ต่อจากนี้ไปการเวียนตายเวียนเกิดสำหรับตถาคตไม่มี แดนที่จะพึงไปคือ “พระนิพพาน” เป็นแดนอมตะ หาความตายไม่ได้ และเป็นแดนที่มีความสุขที่สุดที่เรียกว่า “เอกันตบรมสุข” เป็นความสุขอย่างเลิศประเสริฐกว่าความสุขใดๆ ที่จะพึงหาได้ในวัฏสงสาร คือ ความสุขในการเป็นมนุษย์ก็ดี ความสุขในการเป็นเทวดาก็ดี ความสุขในการเป็นพรหมก็ดี ยังสุขไม่เท่ากับความสุขในพระนิพพาน

ฉะนั้น ขอน้องหญิงพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นคู่บารมีของตถาคตมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขอเธอจงทรงไว้ซึ่งสัจธรรมคือความดี ตอนต้นให้คิดถึงกฎของธรรมดา มองดูร่างกายของเรา ร่างกายของเธอ เมื่อก่อนนี้เป็นเด็ก ต่อมาเป็นวัยสาว เวลานั้นสวยสดงดงามเป็นอย่างยิ่ง จะหาหญิงใดมีผิวพรรณผุดผ่องสวยงามเสมอเหมือนไม่มี แต่ทว่าเวลานี้เราสองคนด้วยกันต่างก็อายุเกินกว่า ๓๐ ปี และจะ ๔๐ ปีแล้ว จงมาดูว่าเราสองคนนี่ ยังคงสดสวย มีผิวพรรณผ่องใส ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวเหมือนสมัยก่อนหรือไม่”

ขณะเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงเทศน์ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ก็มีการแสดงภาพของพระองค์ให้เศร้าหมอง พระนางพิมพาก็มองหน้าพระพุทธเจ้า มองทั่วทั้งพระวรกาย เห็นว่าพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาค่อยๆ เหี่ยว ค่อยๆ แห้งลงมา ทีละน้อยๆ ก็สลดใจ

แล้วก็มองดูกายของพระนางเองเล่าก็พบว่า โอหนอ..กายของเรานี้ก่อนที่องค์สมเด็จพระชินสีห์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ร่างกายของเราเป็นที่น่านิยม น่าชื่นชม มีความน่ารัก น่าชื่นใจ เพราะมีความผ่องใสในผิวพรรณ และเนื้อหนังนี้นั้นก็เต็มไปด้วยความอวบอัดเต่งตึงน่ารัก แต่ว่าระหว่างนี้ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายขององค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ดี รู้สึกว่าเศร้าหมองลงไปมาก ฉะนั้น พระธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเคยเป็นพระสวามีเรานี้เทศน์เป็นความจริง

เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นพิมพายอดหญิง มองเห็นตามความเป็นจริงแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้กล่าวต่อไปว่า

“พิมพา... เราไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วแก่เท่านี้ จงดูหมู่พระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเรา ดูชั้นปู่ ชั้นย่า ชั้นตา ชั้นยาย ไปถึงชั้นทวดของเราก็ได้ ที่เรารู้จักชื่อท่านทั้งหลายนั้น ร่างกายของท่านอยู่ที่ไหน ในที่สุดท่านก็ต้องตาย ฉะนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอพิมพาน้องหญิง จงอย่าสนใจในร่างกายของพี่ และก็จงอย่าสนใจในร่างกายของเธอ และก็จงอย่าสนใจในร่างกายของบุคคลใดทั้งหมด จงกำหนดจิตว่า ร่างกายนี้ไม่ช้าก็ต้องสลายตัว

เพื่อทำให้กำลังใจเป็นสุข พิมพาจงนึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ สามประการนี้ให้ประจำใจของพิมพาราชเทวี เธอจะมีความสุขและหลังจากนั้นจงปฏิบัติในศีล ๕ ประการให้เคร่งครัด และปฏิบัติให้เป็นอัตโนมัติคือเป็นปกติ จิตนี้คิดไว้เสมอว่า ถ้าตายจากชาตินี้ไปแล้ว ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่มีสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องการนั่นก็คือ พระนิพพาน”

เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์จบ ก็ปรากฏว่า พระนางพิมพาราชเทวีได้บรรลุ พระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา อารมณ์แห่งความข้องใจที่คิดว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทอดทิ้งพระนางก็หมดไป กราบขอขมาโทษต่อองค์สมเด็จพระจอมไตรในการที่พระนางล่วงเกินด้วยประการทั้งปวง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีพระพุทธอภัยให้แก่พระนางพิมพา

สำหรับ พระราหุล ราชโอรสนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ทรงให้บวชเณร และต่อมาก็บรรลุอรหัตผลและก็เข้าพระนิพพานก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระนางพิมพาทรงเสด็จออกผนวช


กลับมากล่าวถึงสมเด็จพระนางพิมพาราชเทวี ซึ่งทรงคุณวิเศษในพระพุทธศาสนาเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล และทรงเป็นพระราชชนนีของพระราหุลอรหันต์ วันหนึ่งพระนางเจ้าทรงจินตนาการรำพึงว่า

“ธรรมดาราชสมบัติขัตติยสุขในสกลปฐพี ย่อมมีแต่จะถึงซึ่งความหวั่นไหวแปรปรวนไป มิได้เที่ยงว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของ ครุวนาดุจยางขมิ้นย่อมจะพลันสิ้นสีมิได้ติดอยู่นาน อันราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์นี้ เป็นของพระราชสวามีที่รักแห่งพิมพา ในระยะเวลาที่ยังดำรงชีวาเห็น ๆ อยู่ ก็ยังตกเป็นของท่านผู้อื่นได้

ด้วยว่าสมเด็จพระภัสดาแห่งพิมพานี้มิได้มีความอาลัยเอื้อเฟื้อ ทรงสละเสียดุจก้อนเขฬะ เสด็จออกบรรพชาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พึ่งแห่งเหล่าประชาสัตว์ ทั้งทรงชักนำให้เจ้าราหุลบวรดนัยได้บรรพชาสำเร็จพระอรหันต์ทรงคุณใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่พิมพาต่อการที่จะอยู่ในฆราวาสวิสัย ควรที่พิมพานี้จะสละสมบัติออกบรรพชาเป็นพระภิกษุณีตามเสด็จพระภัสดาแลเจ้าราหุลอรหันต์ จึงจะเป็นการดีเลิศประเสริฐนัก”

ทรงจินตนาการเห็นคุณแห่งบรรพชาฉะนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพิมพาราชเทวี จึงเสด็จบทจรลีลาไปสู่ที่เฝ้าแห่งพระราชาธิบดีกรุงกบิลพัสดุ์บุรีพระองค์ใหม่ ถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้ามหานามราชาธิบดี แล้วก็พานางศักยราชนารีกับทั้งอเนกสุรางคนิกรบริวารเสด็จคมนาการออกจากรุงกบิลพัสดุ์ไปสู่เมืองสาวัตถี ครั้งถึงจึงถวายอัญชลีสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าทูลขอบรรพชา ก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานภิกษุณีอุปสมบทกรรมด้วยอัฏฐครุธรรม ๘ ประการ พร้อมกับนารีที่เป็นบริวารสมตามความปรารถนา

ต่อมา รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าและเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง ๑๕ วัน ก็บรรลุพระอรหัต พระนางเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลายระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป โดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว

ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททากัจจานาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่ คำว่า "ได้อภิญญาใหญ่" นั้น หมายถึงพระสาวกผู้ที่ได้อภิญญาและสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป ในขณะที่พระสาวกผู้ที่มิได้อภิญญาใหญ่นั้นสามารถระลึกชาติได้ไม่เกินแสนกัปเท่านั้น

ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่านนั้นก็คือ คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และ พระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้.


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/7/09 at 10:29 Reply With Quote


(Update 17 ก.ค. 52)

พระพิมพาเถรีอาพาธ

สมัยหนึ่ง เมื่อพระเถรีบวชแล้วอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ครั้นวันหนึ่ง ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเถรีนั้นไม่สามารถจะออกมาพบได้ ภิกษุณีอื่นๆ จึงมาบอกว่า พระเถรีไม่สบาย

ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า พระองค์ควรจะได้ยาอะไร ?

พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ...ในคราวยังครองเรือน มารดาดื่มรสมะม่วง ที่เขาปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด เป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน

ราหุลสามเณรทูลว่า เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา แล้วก็ออกไป

ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ มีพระอานันทเถระเป็นอาว์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า ดูก่อนราหุล เหตุไรหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่ ราหุลสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โรคลมในท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม กำเริบขึ้น พระเถระถามว่า ได้อะไรจึงจะควร ? ราหุลสามเณรเรียนว่า พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด

พระเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักได้มา เธออย่าคิดไปเลย

ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุมยานบาล (ผู้รักษาอุทยาน) นำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงจำนวนห่อหนึ่งมาถวาย พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำด้วยพระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร

พระเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า เธอจงนำรสมะม่วงนั้นไปให้มารดาของเธอ ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว พอพระเถรีบริโภคแล้วเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบ

ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระ-เถระให้ใคร ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

พระราชาทรงพระดำริว่าถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักรวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่ จำเดิมแต่นั้น พระเจ้าโกศลรับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ



พระพิมพาเถรีทูลลานิพพาน



ครั้นเมื่อพระเถรีมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา พระเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบถวายบังคมลา เพื่อเสด็จดับขันธ์นิพพานในคืนวันนั้น

ครั้นสมเด็จพระพิมพาภิกษุณี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์มหาขีณาสวเจ้า ทรงคุณวิเศษในพระพุทธศาสนาขั้นสูงสุด เสวยวิมุตติธรรมอยู่ควรแก่กาลแล้ว วันหนึ่ง พระเถรีมีจิตผ่องแผ้วอธิษฐานเข้าฌานสมาบัติเป็นผาสุกวิหาร ออกจากฌานแล้วจึงอาวัชนาการพิจารณาดูอายุสังขารแห่งตน ก็เห็นแจ้งประจักษ์ชัดด้วยอำนาจญาณวิเศษว่า อายุสังขารนั้นจะพลันสิ้นเสียแล้ว จึงอุฏฐาการลุกขึ้นโดยพลัน

ชวนพระภิกษุณีที่เป็นบริวาร คมนาการไปสู่สำนักสมเด็จพระจอมจักรสัมมาสัมพุทธเจ้า ประณตน้อมถวายวันทาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ สถิตนั่งอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทอดพระเนตรเล็งแลดูพระพักตร์มณฑลแห่งพระจันทร์อันงามยิ่ง เฝ้าเล็งแลดูนิ่งนานเป็นที่ผิดสังเกตไม่เหมือนทุกวันแต่กาลก่อน

สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งสัพพัญญุตญาณทรงทัศนา เห็นพระพิมพาภิกษุณีอรหันต์มีอาการผิดแปลกเช่นนั้น ก็ทรงพิจารณาเห็นอย่างแจ่มแจ้งในญาณแห่งพระสัพสัญญูว่า พระพิมพาภิกษุณีนี้ถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร จะมาลาตถาคตดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ในกาลวันนี้ ควรที่ตถาคตจักสำแดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่เจ้าพิมพาในวาระสุดท้ายนี้โดยยิ่ง

สมเด็จพระมิ่งมงกุฎบรมศาสดาทรงอาวัชนาการฉะนี้แล้ว ก็ทรงเปล่งพระรัศมีแห่งพระวรกายให้เป็นไปโดยงดงามหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ บางรัศมีที่ปรากฏออกจากพระวรกายในขณะนั้น ปรากฏดุจรัศมีแห่งพระอาทิตย์เมื่อแรกอุทัย บางรัศมีปรากฏดุจสายรุ้งและดอกอุบลสีแดง มีพรรณรายเลื่อมระยับแสงเล่นวนเวียนห้อมล้อมพระองค์แลดูรุ่งเรืองโอภาสงดงามสุดประมาณ

สมเด็จพระพิมพาเถรีอรหันต์ ทอดทัศนาพระวรกายแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งโอภาสรุ่งเรืองไปด้วยพระรัศมีงามต่างๆ ดั่งนั้น ก็พลันบังเกิดธรรมสังเวชในพระทัยแล้วจึงตัดสินใจกราบทูลพระกรุณาขึ้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงามและประทับไปด้วยพระรัศมี พระองค์ได้ทรงพระอุตสาหะสั่งสอนอบรมพระพุทธบารมีมาแต่อดีตชาติหลายอสงไขยโน้นก็ดี พระองค์ก็ได้ทรงเป็นสวามีแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ นับพระชาติไม่ถ้วนตลอดมา ตราบเท่าได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในกาลบัดนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระพุทธบารมี จำเดิมแต่นี้ไป อันตัวพิมพาข้าพระบาทนี้ จักมีโอกาสได้ทอดทัศนาพระองค์ผู้เคยทรงเป็นพระภัสดาก็หามิได้อีกแล้ว จะได้วิสาสะคุ้นเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระองค์อีกเหมือนกาลก่อนนั้นก็หามิได้อีกแล้ว ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับทราบไว้เถิดว่า

พิมพาข้าพระบาทนี้จะมีโอกาสได้เห็นพระรูปโฉมพระสิริวิลาส เสาวภาคลักษณะของพระองค์ก็คงครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุดแล้ว จะได้ถวายนมัสการยินดีต่อองค์พระประทีปแก้ว ก็คงครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุดอยู่แล้ว จะได้กระทำสัจจะคาระวะพระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีสุดที่รัก ก็คงจักครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุด ด้วยว่าข้าพระบาทพิมพามีวาสนาสิ้นสุด จักขอพระบรมพุทธานุญาตทูลลาดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานเพราะสิ้นชนมายุสังขารในวันนี้แล้วพระเจ้าข้า”

ได้ทรงสดับคำกราบบังคมลาเข้าสู่นิพพานของสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีซึ่งเคยเป็นคู่สร้างพระบารมีฉะนี้ สมเด็จพระชินสีห์พุทธเจ้าก็ทรงบังเกิดธรรมสังเวชในความเป็นไปแห่งอายุสังขาร จึงได้ประทานอนุญาตด้วยพระพุทธฎีกาว่า

“ดูกร เจ้าพิมพาที่เคยมีคุณแก่ตถาคตเอ๋ย หากเจ้ากำหนดกาลอันควรแล้ว ก็จงเคลื่อนแคล้วดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นอมตสุขไปตามอัธยาศัยของเจ้าเถิด เราตถาคตอนุญาต”

เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตด้วยพระพุทธฎีกาดั่งนี้ พระพิมพาภิกษุณีเถรีเจ้าที่จะเข้าสู่นิพพาน ก็นิสัชนาการนิ่งนึกตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกราบบังคมทูลขึ้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงาม กาลเมื่อพระองค์ทรงสร้างพระพุทธบารมีเพื่อโพธิญาณ ท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏสงสารกับพิมพา ข้าพระบาทนี้ด้วยกันมา ตั้งแต่ครั้งศาสนาสมเด็จทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนตราบเท่าจวบถึงกาลปัจฉิมชาตินี้ จะได้ขาดไมตรีจิตวิสาสะคุ้นเคยนั้นก็หาไม่ พระองค์เสวยพระชาติเป็นอะไร พิมพาข้าพระบาทนี้ก็เสวยชาติเป็นเช่นนั้นด้วย เป็นอย่างนี้เกือบทุกชาติมา ในกาลครั้งนี้แล

พิมพาข้าพระบาทจักขาดไมตรีวิสาสะคุ้นเคยกันกับสมเด็จพระองค์เจ้า ด้วยว่าวันนี้เข้าถึงอุโบสถเพ็ญเดือน ๔ ข้าพระบาทที่ชื่อว่า พิมพาเถรีภิกษุณี จะขอถวายนมัสการฝ่าพระบาทยุคลทั้งคู่ของสมเด็จพระสรรเพชญพุทธสัพปัญญูเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นการสมควรที่พิมพาข้าพระบาท จักขอถือโอกาสขมาโทษานุโทษต่อพระองค์เสียในครั้งนี้ เพราะสืบไปเบื้องหน้าจะได้มีโอกาสกราบทูลพระกรุณาขอขมาโทษานุโทษก็หาไม่อีกแล้ว ขอองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงทรงพระกรุณารับขอขมาโทษ อันพิมพาข้าพระบาทนี้ได้เคยมีความผิดต่อพระองค์มาแต่บุพพชาติที่แล้วมาด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

กราบบังคมทูลเพื่อให้ทรงรับคำขอขมาโทษฉะนี้แล้ว สมเด็จพระพิมพาภิกษุณีอรหันต์ทรงฌานอภิญญาแก่กล้าก็รำลึกถึงชาติหนหลังด้วยพระบุพเพนิวาสานุสสติญาณ นำมากราบทูลพระกรุณาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ประมาณได้หลายภพหลายชาตินักหนา โดยมีใจความเป็นตัวอย่างบางภพบางชาติ ซึ่งเป็นอดีตประวัติที่ออกมาจากพระโอษฐ์องค์สมเด็จพระพิมพาเถรี ดังต่อไปนี้

สรุปท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น

เกิดเป็นมารดาของเนื้อชื่อ ลักขณะ และ กาฬะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบิดา ในลักขณชาดก

เกิดเป็นสุภัททาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใน มหาสุทัสสนชาดก

เกิดเป็นกาชื่อ สุปัสสา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกาชื่อ สุปัตตะ ใน สุปัตตชาดก

เกิดเป็นภรรยาของเศรษฐี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น วิสัยหเศรษฐี ใน วิสัยหชาดก

เกิดเป็นพระมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก

เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ใน อัพภันตรชาดก

เกิดเป็นนางสัมมิลลหาสินี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น ดาบส ใน อนนุโสจิยชาดก

เกิดเป็นธิดาของหัวหน้าช่างเหล็ก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น หัวหน้าช่างเหล็ก ใน สูจิชาดก

เกิดเป็นแม่ของสิงห์โตชื่อ มโนชะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อ ใน มโนชชาดก

เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าสุสีมะ ใน สุสีมชาดก

เกิดเป็นพระราชเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระราชา ใน กุมมาสปิณฑชาดก

เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าอุทัยราช ใน คังคมาลชาดก

เกิดเป็นพระสุททวิชยาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าเภรุวราช ใน อาทิตตชาดก

เกิดเป็นนางนกจักรพราก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น นกจักรพราก ใน จักกวากชาดก

เกิดเป็นนางปริพพาชิกา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น ปริพพาชก ใน จุลลโพธิชาดก

เกิดเป็นจันทากินรี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น จันทกินนร.ในจันทกินนรชาดก

เกิดเป็นนางนาคกัญญาสุมนาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น จัมเปยยนาคราช ในจัมเปยยชาดก

เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น อลีนสัตตุราชกุมาร ในชัยทิสชาดก

เกิดเป็นพระนางประภาวดี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุสราช ในกุสชาดก

เกิดเป็นสีวลีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระมหาชนกนรินทรราช ใน มหาชนกชาดก

เกิดเป็นพระนางจันทาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระจันทกุมาร ในจันทกุมารชาดก

เกิดเป็นภริยาใหญ่ของบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น วิธุรบัณฑิต ในวิธุรชาดก

เกิดเป็นพระนางมัทรีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดรราช ใน เวสสันดรชาดก

เกิดเป็นนางอมรา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น มโหสถบัณฑิต ใน มโหสถชาดกบัณฑิต



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 24/7/09 at 09:02 Reply With Quote


(Update 24 ก.ค. 52)



ฟังเสียงบรรยาย "พระนางพิมพา..นางแก้วคู่บารมี" จาก..อังคาร

บทที่ 1


บทที่ 2


บทที่ 3

 


บทที่ 1 คำปรารภนางแก้วคู่บารมี
บทที่ 2 นางแก้วคู่บารมี /พระนางพิมพา
บทที่ 3 สุมิตตราพราหมณี /ปฐมจิตอธิษฐาน
บทที่ 4 เจ้าหญิงประภาวดี /ด้วยจิตคิดเกลียดชัง
บทที่ 5 นางสุชาดา /รูปสมบัติเป็นทุกข์ภัย
บทที่ 6 วิสัยหเศรษฐีภริยา /เกี่ยวหญ้าทำทานยามไร้สมบัติ
บทที่ 7 ภริยาช่างหม้อ /หนีสามีออกบวช
บทที่ 8 สัมมิลลหาสินีกุมารี /ทิ้งทรัพย์บวชเป็นดาบสสีนี
บทที่ 9 จอมนางแห่งพาราณสี /ลวงพระสวามีด้วยผมหงอก
บทที่ 10 พระราชธิดาพระเจ้าโกศล /จากนางทาสีเป็นมเหสีพระราชา

(บทที่ 11-24 ยังไม่มีคลิปเสียง)
บทที่ 11 พระสมุททวิชยาเทวี /อัญเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้า
บทที่ 12 นางสีดา /ชายาพระราม
บทที่ 13 โพธิปริพพาชิกา /ผู้ไม่ข้องในเมถุนธรรม
บทที่ 14 พระนางอุทัยภัทรา /ถือพรหมจรรย์ตามสู่สวรรค์
บทที่ 15 จันทกินรี /ผู้ไม่มีใจออกห่าง
บทที่ 16 สุภัททาเทวี /นางแก้ว
บทที่ 17 พระนางจันทราเทวี /พระมเหสีพระเจ้าสุตโสม
บทที่ 18 นางพระยานาคกัญญา
บทที่ 19 สีวลีเทวี /คู่บารมีพระมหาชนก
บทที่ 20 นางอมรา /ภริยามโหสถ
บทที่ 21 พระนางจันทราเทวี /ใช้สัจจะช่วยพระสวามี
บทที่ 22 พระนางมัทรี /มเหสีผู้เป็นมหาทาน
บทที่ 23 พระนางยโสธราพิมพา
บทที่ 24 บทสรุป คู่รัก-คู่บารมี

อติทุกขกุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นพระบรมโลกนายก ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนา พระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเกิดในตระกูลทุกขตะเข็ญใจ มีนามว่า อติทุกขมาณพ ข้าพระบาทที่ชื่อว่า "พิมพา" นี้ก็ได้เกิดเป็นนางกุมารี ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งตามประสายาก

กาลวันหนึ่ง อติทุกขมาณพเข้าไปสู่ป่าปรารถนาเพื่อจะตัดฟืนมาขาย ได้ไปพบพระอัครสาวกแห่งพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง จึงบังเกิดโสมนัสยินดียิ่งหนักหนา รีบกลับบ้านร้องเรียกข้าพระบาท ซึ่งเป็นภรรยามาปรึกษาพร้อมใจกันแล้ว ก็นำพิมพาข้าพระบาทไปขายฝากไว้ ได้ทรัพย์มาแล้วจึงซื้อไม้และเสาทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ไปปลูกสร้างเป็นกุฏิ ถวายแก่พระอัครสาวกอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษนั้น

แล้วนิมนต์ให้ขึ้นครองกุฏิที่สร้างใหม่ ด้วยน้ำใจเลื่อมใสศรัทธา เดชะผลานิสงส์แห่งการถวายกุฏิทาน แด่พระอัครสาวกทรงคุณวิเศษของสมเด็จพระพุทธเจ้าในกาลครั้งนั้น อันเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลแรงกล้า จึงบันดาลให้อติทุกขมาณพประสบโชคร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีขึ้น

ต่อกาลในไม่ช้า ฝ่ายข้าพระบาทพิมพาซึ่งเป็นภรรยา ก็ดีอกดีใจตั้งตนเป็นใหญ่ในสมบัติเศรษฐีนั้น คราใดเกิดโมหันธ์ไม่พอใจท่านเศรษฐีใหม่ขึ้นมาก็กล่าวคำหยาบช้าว่า ปราสาทเศรษฐีก็ดี ทรัพย์สมบัติอื่นใดก็ดี จะบังเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะบุญของข้า เหตุว่านำข้าไปขาย จึงได้ทรัพย์มาทำกุฏิถวายแก่พระอัครสาวกจนได้เป็นเศรษฐี

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้หากจักพึงมีในชาตินี้ โดยการกระทำตัวเป็นใหญ่ ทำมายากล่าวถ้อยคำหยาบช้าอันมิควรแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



พระนางนันทาเทวี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกเช่นนั้น กาลครั้งนั้นพระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีทรงพระนามว่า พระเจ้านันทราช ส่วนตัวพิมพาข้าพระบาทนี้ ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระเจ้านันทราชนั้นโดยมีนามปรากฏว่า พระนางนันทาเทวี

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้านันทราชบรมกษัตริย์ทรงว่างราชกิจ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปชมสวนอุทยานพร้อมทั้งพระอัครมเหสีแลเสนีรี้พลพหลโยธาเป็นอันมาก ครั้งนั้นพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีได้ทอดพระเนตรเห็นดอกรังงามตระการเป็นที่เจริญตาเจริญใจ น้ำพระทัยนางปรารถนาจะใคร่ได้ดอกรังมาเชยชม

ขณะนั้นหมู่อำมาตย์ราชเสนาซึ่งตามเสด็จไปก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่นางพระยาเจ้าจะได้มีเสาวนีย์รับสั่งใช้ผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้ กลับมีพระทัยเจาะจงกราบทูลพระราชสวามีขึ้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์จงได้ทรงพระกรุณาเถิด คือขอพระองค์จงเสด็จขึ้นไปสู่ต้นรัง เลือกเก็บเอาดอกรังเฉพาะที่งาม ๆ ลงมาพระราชทานให้แก่กระหม่อมฉันได้ชมเล่นในกาลบัดนี้

โดยเหตุที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีความเสน่หารักใคร่ในพระอัครมเหสีนั้นหนักหนา เมื่อได้ทรงเสวนาการนางพระยาเจ้าใช้ให้เสด็จขึ้นไปเอาดอกรังมาด้วยพระองค์เองนั้น ก็มิได้รอช้า ทรงรีบป่ายปีนขึ้นไปบนต้นรังเลือกเก็บดอกเฉพาะที่งาม ๆ ไว้เป็นอันมากแล้วก็เสด็จลงมาพระราชทานให้แก่พระอัครมเหสีตามความปรารถนา พระนางนันทาเทวี เมื่อได้ดอกรังที่พระราชสวามีประทานให้ก็ดีพระทัยยิ่งหนักหนา นางจึงร้อยเป็นมาลาแล้วปักที่พระเกษาและประดับประดาพระวรกายด้วยโสมนัสยินดีตามวิสัยสตรี

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยใช้ให้เสด็จขึ้นไปนำเอาดอกรังมาประทาน ซึ่งเป็นการลำบากแก่พระองค์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า "พิมพา" ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/7/09 at 10:44 Reply With Quote


(Update 27 ก.ค. 52)

ฟังเสียงบรรยาย "พระนางพิมพา...นางแก้วคู่พระบารมี"

บทที่ 3


บทที่ 4


บทที่ 5

 




นาคีกุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลังครั้งศาสนาพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นดาบสฤาษีทรงมีฌานอภิญญา ส่วนตัวพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นหญิงสาวชาวบ้านใกล้ป่านามว่า [นาคีกุมารี

กาลวันหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงเป็นฤาษีนั้น มีความประสงค์จะอบรมฌานให้แก่กล้าจึงเข้าฌานอธิษฐานอภิญญาแล้วเหาะมาโดยนภาดลเวหา ส่วนนางนาคีกุมารีออกจากบ้านเที่ยวเก็บผักหักฟืนอยู่ในป่าพลาง และร้องรำทำเพลงไปพลาง ตามประสาของนาง ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นดรุณี เมื่อพระฤาษีเหาะมาตรงสถานที่นั้น ได้สดับเสียงแห่งนางกุมารีร้องเพลงกำหนดว่าเป็นเสียงไพเราะจับใจ ให้บังเกิดความรักใคร่ยินดีในเสียงสตรี ฌานที่ได้ก็พลันเสื่อมทันที ทำให้พระฤาษีตกลงมายังพื้นพสุธา จำเพาะต่อหน้านางนาคีกุมารีเจ้าของคีตลีลา

ครั้นได้ทอดทัศนารูปโฉมนางดรุณีจนทั่วสรรพางค์กาย หฤทัยของพระฤาษีก็ยิ่งกำเริบรักนางขึ้นอีกเป็นทับทวี ดำริว่า เพราะเหตุด้วยสตรีคนนี้ อาตมาจึงเสื่อมจากฌานที่ได้โดยยาก ถ้ากระไรอาตมาจะผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากันกับสตรีนี้เถิด ดำริฉะนี้แล้วก็เอ่ยวจีขอผูกพันเป็นกามสันถวะ จนได้เป็นสามีภรรยากันในชาตินั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยการทำลายพระองค์ผู้ทรงเป็นฤาษีให้เสื่อมจากฌานสมาบัติแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า "พิมพา" ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า



นางพญาปลาดุก


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญาปลาดุก ฝ่ายตัวพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นปลาดุกตัวเมีย ได้สมัครรักใคร่ผูกพันเป็นสามีภรรยา อาศัยอยู่ในท้องนทีแห่งหนึ่งเป็นสุขอยู่ตามประสาสัตว์เดรัจฉาน

กาลวันหนึ่ง เป็นเทศกาลวสันตฤดู เมื่อฝนตกใหญ่ท้องนทีเอ่อนองท่วมท้นไปด้วยอุทกวารี นางพญาปลาดุกก็ถึงคราวมีครรภ์ ให้มีอันเป็นอยากจะกินซึ่งหญ้าอ่อนเขียวขจีเพิ่งระบัดใหม่ๆ พญาปลาดุกผู้เป็นสามีรู้อัธยาศัยด้วยความรักใคร่ในภรรยา ก็อุตส่าห์ไปเที่ยวแสวงหาพยายามแหวกว่ายอุทกวารีไปในที่ต่างๆ เพื่อจะนำเอาหญ้าอ่อนมาให้นางพญาปลาดุกที่ทรงครรภ์ดั้นด้นมาจนถึงแดนมนุษย์

พวกเด็กโคบาลทั้งหลายเห็นปลาดุกตัวใหญ่ก็ดีใจใคร่จะได้เป็นอาหาร จึงชวนกันไล่ตีด้วยไม้ปฏัก ตีถูกหางพญาปลาดุกนั้น จนขาดเป็นแผลโลหิตไหลได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ถึงกระนั้น ก็สู้อดกลั้นคาบหญ้าอ่อนรีบแหวกว่ายอุทกวารีหนีมาส่งให้ภรรยาจนได้ นางพญาปลาดุกกินซึ่งหญ้าอ่อนสมความปรารถนาก็ดีเนื้อดีใจ

ส่วนพญาปลาดุกเมื่อส่งหญ้าอ่อนให้แก่ภรรยา แล้วก็เฝ้าแลดูหน้านางปลาด้วยนัยนาที่เศร้าโศกาเต็มไปด้วยทุกขเวทนาเจ็บปวด เพราะบาดแผลที่หางนั้นเป็นที่ยิ่ง เมื่อเห็นนางปลากินหญ้าอ่อนเสร็จสิ้นสมความปรารถนาแล้ว จึงหันหางไปไว้ตรงหน้านางปลา ประดุจดังจะชี้ให้ภรรยาดูบาดแผลที่หางแล้วก็ถึงแก่วิสัญญีภาพ นางพญาปลาดุกเห็นสามีต้องอันตราย โลหิตไหลออกมาจากหางมิได้ขาดสาย จนถึงแก่วิสัญญีภาพไปเพราะตนเป็นเหตุเช่นนั้น ก็พลันบังเกิดความเสียใจ ร่ำไห้รำพันอยู่ด้วยความสงสารสามีนั้นยิ่งนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยทำความลำบากยากเย็นเป็นสาหัสให้เกิดขึ้นกับพระองค์ เพียงประสงค์จะได้กินซึ่งหญ้าอ่อนระบัดใบ ในขณะทรงครรภ์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า




มกฏนารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ก็เกิดเป็นมกฏนารี และได้สมัครสังวาสเป็นสามีภรรยากันกับพญาวานรนั้น

กาลวันหนึ่ง นางพญาวานรซึ่งเป็นภรรยาอยากจะบริโภคผลมะเดื่อสุกยิ่งหนักหนา พญาวานรรู้อัธยาศัยแห่งภรรยาในขณะนั้น ด้วยความผูกพันรักใคร่เสน่หาในภรรยาเป็นอันมาก ก็อุตสาหะไปเที่ยวเสาะแสวงหาผลมะเดื่อสุก เพื่อจะนำเอามาให้ภรรยาเคี้ยวกินให้สมอยาก ในที่สุดได้ไปพบมะเดื่อต้นหนึ่ง ซึ่งทรงผลงามสุกอร่ามสมความปรารถนา พญาวานรก็ดีเนื้อดีใจ โลดโผนปีนป่ายขึ้นไปบนต้นมะเดื่อทันที

ครั้งนั้น ยังมีเสือโคร่งตัวหนึ่งเห็นพญาวานรซึ่งอยู่บนต้นมะเดื่อนั้น ก็รีบหมอบแอบอยู่ที่สุมทุมพุ่มไม้ป่าชัฏ เพ่งมองมุ่งหมายเขม้นตาปรารถนาจะกินเนื้อพญาวานรเป็นอาหาร ครั้นพญาวานรเลือกเก็บลูกมะเดื่อสุกได้ตามความต้องการแล้ว ก็ค่อยขยับกายลงมาจะได้รู้ว่าเสือร้ายหมอบมองเขม้นหมายอยู่ก็หามิได้ เมื่อไต่ลงมาเกือบใกล้จะถึงพื้นปฐพี เสือร้ายซึ่งคอยทีอยู่เห็นเป็นโอกาสแล้ว ก็กระโดดโผนขึ้นไปจับพญาวานรนั้นตะปบให้ถึงตาย ถลกหนังศีรษะแล้วก็ดูดดื่มซึ่งโลหิต และบริโภคซึ่งเนื้อเป็นอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้วก็จากไป

ฝ่ายนางพญาวานรที่เป็นภรรยาอยู่ข้างหลัง จะได้รู้ว่าพญาวานรผู้เป็นสามีเกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิตไปแล้วก็หามิได้ จึงเฝ้าแต่คอยหายๆ ด้วยความห่วงใย ตกถึงสายันตสมัยตะวันเย็นลงรอนๆ นางพญาวานรตั้งใจคอยสามี มิได้เห็นกลับมา ก็ให้สังหรณ์ใจว่าจะเกิดอันตราย จึงร้องไห้รำพันหาสามีไปทุกแห่งหนตำบล เที่ยวค้นเที่ยวเสาะหาอยู่จนสิ้นยามราตรี แต่จะได้พบเห็นหน้าสามีสุดที่รักก็หามิได้ เห็นฝูงเนื้อฝูงนกที่สัญจรไปมาในป่าใหญ่ก็ร้องไห้ถามหาสามีแห่งตน แต่ก็ได้รับคำบอกเล่าว่ามิได้เห็นทุกรายไป เจ้าก็ให้ระทมทุกข์ปานประหนึ่งว่าจะขาดใจตาย ร้องกรีดกริ่งตะโกนก้องตระเวนหาด้วยคำรำพันว่า

“โอ้พญาวานรผู้เป็นสามีของน้องนี่เอ๋ย ช่างกระไรเลยมาลับกายหายหน้าไปเสียเฉยๆ ไปอยู่ในสถานที่ใด ได้สุขทุกข์ภัยประการใด ไฉนจึงไม่ขานตอบน้องเสียเลยแต่สักทีเล่า”

เจ้าเฝ้ารำพันเดินร้องไห้ไปในอรัญ มิได้หยุดยั้ง จนเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลังล้มพับลงไปกับพื้นปฐพี แต่จะได้พบเห็นพญาวานรสามี หรือจะได้ยินเสียงร้องรับกู่ขานนั้นก็หามิได้ ในที่สุดนางจึงมาหวนจิตคิดระแวงแล้วรำพันว่า

“โอ้พญาวานรผู้เป็นสามีของน้องนี่เอ๋ย กระไรเลยช่างมาตัดอาลัยทิ้งน้องไปได้ ชะรอยจะไปพานพบคบหากันด้วยนางวานรอื่นๆ เป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจแล้วก็พากันไปสู่ที่สำราญสบายแล้ว ปล่อยให้น้องแก้วเฝ้าคอยหา ประกอบด้วยทุกขเวทนาชอกช้ำระกำใจปานฉะนี้”

มกฏนารีเจ้าร้องไห้ร่ำไรคร่ำครวญไปมา นัยนาทั้งสองนองด้วยน้ำตา กอปรด้วยโศกาลัยสะอื้นไห้ ปริเวทนาการอยู่จนขาดใจตายไป ณ สถานที่กลางอรัญนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเหตุทำให้พระองค์ต้องถึงแก่ความตายเพราะเสือร้าย แล้วมิได้รู้แจ้งความจริง กลับเกิดวิหิงสาคิดระแวงไปตามประสาสตรีแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



ปัญญากุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมารหนุ่มน้อย ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระบวรพุทธศาสนา นามว่า เจ้าธรรมรักขิตสามเณร ฝ่ายว่าตัวพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นกุมารีที่หมู่บ้านใกล้อารามนามว่า ปัญญากุมารี

กาลวันหนึ่ง ที่อารามนั้นมีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านทั้งปวงล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันไปบำเพ็ญกองการกุศล คือสรงน้ำพระพุทธปฏิมาและพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดจนสรงน้ำพระสงฆ์สามเณรด้วยเลื่อมใสศรัทธา เจ้าปัญญากุมารีมีความรักใคร่ในธรรมรักขิตสามเณรมานาน เห็นเป็นโอกาสดี ก็กระทำอิตถีมายาให้สามเณรรู้ว่าตนมีความเสน่หา สรงน้ำพระสงฆ์แต่พอเป็นกิริยาแล้ว เจ้าก็ถือขันน้ำเจาะจงไปจะสรงน้ำสามเณรผู้เป็นที่รัก

เจ้าธรรมรักขิตสามเณรก็ยกหัตถ์ขึ้นจับมือนางด้วยความยินดีรักใคร่ เป็นเหตุให้มีโทษถึงกับต้องถูกสึกในวันนั้น แล้วก็มาอยู่กินเป็นสามีภรรยากันได้ ๗ วัน กลับเข้าไปบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑ พรรษา ครั้นปวารณาแล้วก็รีบสึกออกมาครองเรือนเป็นสามีภรรยากันกับปัญญากุมารี ด้วยอานุภาพแห่งความรักใคร่เสน่หา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยทำลายพระองค์ให้ขาดจากบรรพชิตภาวะ ไม่มีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดไปแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



โกกิลนารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกดุเหว่า ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้เล่า ก็ได้เกิดเป็นนางนกดุเหว่ามีความสมัครรักใคร่ได้เป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ที่รังซึ่งมีอยู่บนยอดไม้ในป่าใหญ่ เป็นสุขสำราญตามวิสัยเดียรัจฉาน

กาลครั้งหนึ่งพญานกดุเหว่าผู้ภัสดาไปเที่ยวแสวงหาอาหาร ได้ไปพบผลมะม่วงสุกเหลือเดนกากินอยู่ครึ่งลูก ก็อุตส่าห์คาบมาสู่รังเพื่อให้นางนกที่เป็นภรรยาด้วยความเสน่หารักใคร่ในนางหนักหนา ฝ่ายว่านางนกที่เป็นภรรยาเมื่อเห็นสามีคาบเอาผลมะม่วงสุกมาให้ดั่งนั้น แทนที่จะดีเนื้อดีใจเห็นในความดี กลับมีจิตคิดโกรธโดยความเข้าใจผิดว่า พญานกดุเหว่าสามีนั้นนำเอาผลมะม่วงสุก ซึ่งเป็นเดนอันตนกินเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งมาให้ มิทันได้ไต่ถามให้แจ้งในความเป็นไป ด้วยอารมณ์ที่น้อยใจและโกรธเคือง ก็จิกเอาศีรษะสามีด้วยจะงอยปากตนโดยพลัน เท่านั้นยังมิหนำซ้ำเอาเท้าตีที่อกแห่งพญานกดุเหว่าสามีอีกสองสามที แต่ว่าพญานกดุเหว่านั้นมีความรักใคร่ในภรรยาตนเป็นอันมาก แม้จะถูกนางนกกระทำร้ายเอาถึงเพียงนี้ก็หามี ความโกรธเคืองภรรยาแม้แต่สักนิดหนึ่งไม่

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยลุแก่อำนาจโมหันธ์ กระทำร้ายแก่พระองค์ซึ่งทรงพระมหากรุณา และหาความผิดมิได้แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


นางกินรี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระบรมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครกุมภวดี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าวังคราช ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ ถือกำเนิดเป็นนางกินรีอยู่ที่สุวรรณคูหาถ้ำทองอันประเสริฐ ณ หิมวันตประเทศ

กาลวันหนึ่ง เจ้ากินรีสาวโสภา ออกจากสุวรรณคูหาไปเที่ยวเก็บบุปผชาติเกสรดอกไม้ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลากสีเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ในหิมวันตประเทศ แล้วก็บังเอิญให้เกิดเหตุร้ายหลงไปติดอยู่ในข่ายที่นายพรานใจฉกาจดักไว้ วันนั้นสมเด็จพระเจ้าวังคราชผู้เป็นใหญ่ในกุมภวดีนคร เสด็จบทจรประพาสป่าและหลงทิศหาทางออกไม่ได้ เที่ยววนเวียนไปมาทางโน้นทางนี้ จนมาพบนางกินรีสาวโสภา ซึ่งปริเวทนาด้วยติดอยู่ในข่ายไปไม่ได้

พระองค์จึงทรงเข้าช่วยทำลายข่ายนั้น นำเอานางกินรีออกมาได้สำเร็จ แล้วทั้งสองก็ผูกสมัครรักใคร่ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส สมเด็จพระเจ้าวังคราชจึงทรงพยายามพานางกินรีดั้นด้นมาจนถึงพระนคร แล้วก็ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งที่เอกอัครมเหสี สร้างพระตำหนักให้ประทับอยู่ที่พระราชอุทยานอันเต็มไปด้วยพฤกษาที่มีดอกและใบ ด้วยทรงดำริในพระทัยของพระองค์ว่า ธรรมดาวิสัยของนางกินรี ย่อมมีใจชื่นชมยินดีพอใจในบุปผชาติทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ ครั้นว่าจะรับเข้าไปอยู่ในพระบรมราชวังเล่า ก็ให้เกรงไปว่านางจะเศร้าโศกหงอยเหงา เพราะไม่มีบุปผามาลัยเป็นที่เจริญใจ

มีพระบรมราชโองการแห่งพระเจ้าวังคราชผู้เป็นใหญ่ ให้เจ้าพนักงานนำบุปผชาติและเกสรดอกไม้ไปถวายพระอัครมเหสีซึ่งมีชาติเป็นกินรี จากป่าหิมพานต์จงทุกวัน อย่าให้ขาดได้ ในไม่ช้าก็ปรากฏว่าดอกไม้และเกสรดอกไม้ในพระนครนั้นถึงความหมดสิ้น พระอัครมเหสีกินรีเจ้าเมื่อขาดดอกไม้ก็มีแต่ความโศกเศร้าหงอยเหงาอยู่ทุกวารวัน ปราศจากความสุขชื่นบาน ด้วยความสงสารและเสน่หาอาลัยในองค์อัครมเหสี

สมเด็จพระเจ้าวังคราชาธิบดีจึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ พาเอานางกินรีอัครมเหสีกลับไปสู่หิมวันตประเทศเสด็จยับยั้งรั้งแรมอยู่ในป่าไพร กับด้วยนางซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าดวงหฤทัย ตราบเท่าถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร ก็เสด็จสวรรคตที่กลางป่าหิมพานต์นั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทรงลำบาก ถึงกับสละราชสมบัติอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลายจนดับขันธ์สวรรคตในกลางป่าหิมพานต์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



วิมลาเทวี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระสุมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนาคาธิบดี มีนามว่า พญาอดุลนาคราช ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนี้ได้เกิดเป็นมเหสีสุดที่รักของพญานาคาธิบดี มีนามว่า วิมลาเทวี เสวยนาคสมบัติเป็นสุขอยู่ในนาคพิภพเป็นเวลาช้านาน

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณาแสดงพระสัทธรรมเทศนากึกก้องกังวานแผ่ไปไกล ได้ยินตลอดไปจนถึงนาคพิภพ พญาอดุลนาคราชผู้เป็นใหญ่ในภพแห่งนาค ได้สดับพระสุรเสียงแสดงธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเลื่อมใสศรัทธายินดี จึงชวนเจ้าวิมลาเทวีพร้อมด้วยนาคบริวารทั้งหลายถือเอาข้าวตอกดอกไม้ทิพย์ รีบด่วนจรจากนาคพิภพชำแรกปฐพีขึ้นมายังมนุษยโลก เข้าไปสู่สำนักสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถวายนมัสการแล้วกระทำสักการะบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์อันเป็นทิพย์ทั้งหลายพร้อมตั้งใจที่จะสมาทานเบญจศีลไปจนตราบเท่าชั่วอายุขัย

สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถสุมนบรมศาสดา ทรงอาวัชนาการด้วยพระสัพพัญญุตญาณอันวิเศษแล้ว ก็ทรงมีพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า พระอดุลนาคราชนี้จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเป็นเที่ยงแท้ แต่พอได้สดับพระพุทธฎีกาว่า พระอดุลนาคาธิบดีก็มีพระทัยโสมนัสยินดี ถึงกับน้ำพระเนตรหลั่งไหลไม่ขาดสาย ถวายอภิวันทนาการสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์อยู่หนักหนาหลายครั้งหลายครา

ฝ่ายว่าเจ้าวิมลาเทวีอัครมเหสีก็เกิดปีติยินดีในพุทธฎีกาถึงกับคายพิษแห่งนางนาคาออกมาจนหมดสิ้น แล้วก็กรายกรฟ้อนรำถวายสมเด็จพระจอมไตรโลกนาถสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั้น บังเอิญนิ้วพระหัตถ์ของพระนางกรายไปต้องพระเศียรเกล้าแห่งพญาอดุลนาคราชเจ้าผู้เป็นพระสวามีเข้าหน่อยหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้พระนางจะได้มีเจตนาร้ายอันใดก็หามิได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยมีความประมาทพลาดพลั้งในขณะฟ้อนรำตามครรลองกรายกรไปต้องพระเศียรเกล้าแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



กัลยาณีกุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่ม เห็นโทษในฆราวาสวิสัยและปรารถนาจักประพฤติพรหมจรรย์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี จึงกล่าว คำขออนุญาตภรรยาซึ่งชื่อว่า กัลยาณีกุมารี ออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์สาวกในพระศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีนามปรากฏว่า พระอัญญาโกณฑัญญะภิกขุ

ส่วนว่าพิมพาข้าพระบาทที่เกิดเป็นหญิงนามว่า "กัลยาณีกุมารี" เมื่ออนุญาตให้สามีบวชด้วยความจำเป็นจำใจอนุญาตแล้ว ก็ให้นึกโทมนัสขัดเคืองระคนน้อยใจในสามีนั้นหนักหนา โดยคิดว่าสามีเป็นคนเห็นแก่ความสบาย ไม่นึกถึงความรักความใคร่ปล่อยให้ภรรยาว้าเหว่เอกาอยู่ในโลกฆราวาส นึกโทมนัสน้อยใจอยู่อย่างนี้จนถึงแก่ชีพิตักษัย ขาดใจตายด้วยอารมณ์ไม่ผ่องใสนั้น

กาลวันหนึ่ง เป็นยามราตรีมีฝนพรำเงียบสงัดกำดัดดึก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะภิกษุหนุ่ม สาวกแห่งองค์พระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สดับเสียงร้องครวญครางแปลกประหลาดประดุจคนได้ทุกขเวทนาแทบจะขาดใจตายในที่ใกล้กุฏิ ก็ให้มีความอัศจรรย์ใจยิ่ง หนักหนา ด้วยว่าแต่ก่อนร่อนชะไร จะเคยได้ยินเสียงร้องไห้ครวญครางดั่งนี้ก็หามิได้ พระผู้เป็นเจ้าจึงร้องถามไปว่า ใครมาร้องไห้ครวญครางอยู่ที่นี้ แล้วก็เปิดกุฏิออกมาดูเพื่อให้รู้แน่ ก็ได้แลเห็นเปรตมีลักษณาการแสนทุเรศ ปรากฏแก่คลองจักษุ ก็ถามย้ำซ้ำอีกว่า นั่น...ท่านเป็นใคร? และเหตุใดจึงมาร้องไห้ครวญครางอยู่ใกล้กุฏิของเราอยู่อย่างนี้

เปรตเพศหญิงเมื่อได้ยินพระอัญญาโกณฑัญญะภิกษุถามดั่งนั้น ก็หยุดร้องไห้ฉับพลันด้วยความดีอกดีใจ แล้วกราบเรียนขึ้นในความมืดแห่งราตรีนั้นว่า

“ข้าแต่ท่านผู้ทรงศีล อันว่าตัวดิฉันนี้หาใช่คนอื่นไกลที่ใดไม่ โดยที่แท้ก็คือนางกัลยาณีกุมารีรูปสวยโสภา ซึ่งเคยเป็นภรรยาของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง เหตุที่มาอุบัติบังเกิดเป็นเปรตแสนทุเรศเช่นนี้ ก็คือว่าเมื่อพระผู้เป็นเจ้าออกมาบวชในศาสนา ข้าพเจ้านี้ถึงแม้จะแสดงความชื่นชมยินดีต่อหน้าคนทั้งหลาย แต่ภายในใจนั่นสิ เต็มไปด้วยความโทมนัสขัดเคืองคิดน้อยอกน้อยใจอยู่ตลอดเวลา

ว่าสามีของข้าเป็นคนด้อยปัญญา ไม่รู้ซึ่งถึงคุณค่าแห่งความรักที่ภรรยามีต่อตน และเป็นคนเห็นแก่ตัวปลีกมาหาความสบายในศาสนา ทอดทิ้งให้ภรรยาว้าเหว่เอกาอยู่ในโลกฆราวาสแต่ลำพัง ทั้งเป็นคนมีใจดำเหี้ยมเกรียมหนักหนา ไม่เห็นอกเห็นใจภรรยาเลยว่าจะเป็นเช่นใด เฝ้านึกน้อยใจอยู่อย่างนี้ จนถึงแก่ชีพิตักษัยด้วยอารมณ์ตรอมตรมไม่ผ่องใส จึงได้ไปเกิดในกำเนิดแห่งเปรตมีแต่ความทุกข์ทรมาน และอุตส่าห์เดินโซเซมายังสถานที่อยู่แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เคยเป็นสามี ด้วยอานุภาพแห่งใจรักชักพาให้มาในกาลบัดนี้”

อัญญาโกณฑัญญะภิกษุหนุ่มได้สดับวาจาแห่งนางเปรตกัลยาณีกุมารีฉะนี้ ก็มีความสงสารนางที่เคยเป็นภรรยาจับใจ ปรารถนาที่จะช่วยสงเคราะห์ให้นางพ้นจากความเป็นเปรต จึงบอกให้นางคุกเข่าและก้มศีรษะเข้ามาใกล้ๆ แล้วพระผู้เป็นเจ้าก็ยื่นไม้เท้าจรดที่กลางกระหม่อมแห่งนางเปรตนั้น พร้อมกับกล่าวว่า

“ดูกร กัลยาณีกุมารีที่เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของอาตมาเอ๋ย ตั้งแต่อาตมาได้บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระพุทธเจ้านามว่า พระสุมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เจ้าก็สู้อุตส่าห์นำมาซึ่งอาหารบิณฑบาต จีวรและสิ่งอื่นๆ อันควรแก่สมณบริโภคทูนเหนือศีรษะมาถวายเป็นอันมาก ทั้งยังได้สมาทานรักษาศีลตามคำแนะนำของอาตมาทุกวัน

บัดนี้ขอเจ้าจงตั้งใจให้ดีแล้วระลึกถึงผลทานผลศีล ที่เจ้าเคยบำเพ็ญมานั่นเถิด อนึ่งบุญกุศลใดที่อาตมาพระอัญญาโกณฑัญญะได้บำเพ็ญมาในพระศาสนาทั้งหมด อาตมาขออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้า ขอให้เจ้าซึ่งเคยเป็นโยมอุปัฏฐากจงรับและจงอนุโมทนาส่วนกุศลนั้นในกาลบัดนี้”

กัลยาณีกุมารีเปรต ได้สดับโอวาทและคำอุทิศส่วนกุศลในที่เฉพาะหน้าตนดั่งนี้ก็มีจิตยินดีรำลึกถึงผลทานผลศีลที่ตนได้เคยบำเพ็ญมา และยกหัตถ์ขึ้นอนุโมทนาส่วนกุศลแห่งพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เคยเป็นสามีสุดที่รัก ในขณะนั้น ก็เกิดเป็นมหากุศลดลบันดาลให้นางจุติจากอัตภาพแห่งเปรตไปอุบัติเกิดเป็นเทพนารีสถิตเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ ดาวดึงสเทวโลกฉับพลันทันใด

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยความสำคัญผิดคิดว่าพระองค์เป็นคนด้อยปัญญา เห็นแต่ความสุขสบายแห่งตนเป็นที่ตั้ง ทอดทิ้งภรรยาตน ทั้งที่นางยังมีใจรักภักดี ออกไปบวชในศาสนาของพระชินสีห์เจ้าแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



จันทมาลากุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระโสภิตะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มรูปงามนามว่า อทุฏฐมาณพ ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นบุตรีของชาวชนบทปลายแดนนามว่า จันทมาลากุมารี มีชีวิตเป็นสุขอยู่ตามประสาชาวป่าซึ่งห่างไกลจากพระมหานคร

กาลวันหนึ่ง มีข้าศึกยกจาตุรงคเสนาโยธามาห้อมล้อมพระมหานครไว้ด้วยกำลังใหญ่ เที่ยวไล่ฆ่าฟันผู้คนชาวพระนครเป็นอันมาก เจ้าอทุฏฐมาณพซึ่งเป็นชาวพระนคร เห็นว่าเหลือกำลังที่จะสู้ข้าศึกศัตรูได้แล้วจึงลอบหนีออกมาจากเมืองเดินทางมาจนถึงปัจจันตชนบทชายแดน อันเป็นถิ่นกำเนิดของจันทมาลากุมารี ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส คนทั้งสองผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน

เดิมทีที่หนีออกมาจากพระนครนั้น เจ้าอทุฏฐมาณพตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า จักอาศัยหลบหนีอยู่ในชนบทชายแดนเพียงชั่วคราว เมื่อมีกำลังพลเพียงพอแล้ว จักรวบรวมเป็นกองทัพกลับเข้าไปยังพระนครอีก แต่เมื่อได้จันทมาลากุมารีเป็นภรรยา ก็เกิดเสน่หารักใคร่ในนางเป็นอันมาก เลิกล้มความคิดที่จะจากไปและมีชีวิตอยู่ในปัจจันตชนบทนั้น จนตราบเท่าถึงวันตาย

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเหตุที่ทำให้พระองค์ต้องหลงใหลอยู่ในปัจจันตคามชนบทชายแดนจนสิ้นอายุขัย กระทำกาลกิริยาตายในที่อันมิใช่ถิ่นที่เกิดของพระองค์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



มังคลีกุมารี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระพรหมชาลสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมาร ภายหลังได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา นามว่า เจ้านิโครธสามเณร ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นกุมารีบุตรีชาวบ้านตระกูลมั่งคั่งแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่สืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน โดยมีนามปรากฏว่า มังคลีกุมารี

กาลวันหนึ่ง เป็นยามราตรีเงียบสงัดกำดัดดึก มังคลีกุมารีสาวโสภาซึ่งมีอายุได้ ๑๖ พรรษา เจ้าเข้าสู่นิทราหลับใหล แล้วให้บังเกิดนิมิตฝันอันเป็นมงคลว่า ตนได้บุตรชายสุดที่รัก ครั้นตื่นขึ้นมาเพลารุ่งเช้าจึงจัดแจงข้าวตอกดอกไม้เข้าไปสู่สำนักแห่งท่านผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งเป็นเนมิตกาจารย์ทำนายฝัน แล้วก็เล่านิมิตนั้นให้ท่านฟัง ส่วนว่าท่านที่เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้นิมิตชั่วดี เมื่อได้ฟังเจ้ามังคลีกุมารีเล่าซึ่งสุบินฉะนี้ จึงทำนายว่า

“ดูกร เจ้ามังคลีกุมารี อันนิมิตฝันของเจ้านี้ดีหนักหนา จะเป็นอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งก็หามิได้ ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจะได้ซึ่งบุตรสุดที่รักสมตามความฝันนั้นแล”

กาลครั้งนั้น เจ้ามังคลีกุมารีเมื่อได้ฟังคำทำนายแล้วก็ให้นึกขำขันอยู่แต่ในใจว่า “เออ เรานี้ก็ยังเป็นสาวโสภาหาสามีบ่มิได้ แล้วจะได้บุตรสุดที่รักตามทำนายได้อย่างไร” คิดไม่เชื่อในคำทำนายของราชบัณฑิตนั้นแล้ว ก็กราบไหว้ท่านลากลับเดินทางไปบ้าน

วันนั้น เจ้านิโครธสามเณรในศาสนาแห่งสมเด็จพระพรหมชาลสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในบ้านแล้วเดินทางจะกลับไปยังวิหาร สวนทางกับมังคลีสาวน้อยที่ชายป่าแห่งหนึ่ง เมื่อประสบพบกันเข้าแล้ว ทั้งสองต่างก็มีจิตคิดรักใคร่ในกันและกันหนักหนาด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส แต่มิอาจประพฤติการอันใดให้เป็นที่เสียหาย เพราะเจ้าสามเณรนั้นเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเพศพรหมจรรย์และมั่นในศีลสิกขาบท ได้แต่สนทนาปราศรัยกันไปมา แล้วมังคลีกุมารีสาวน้อยเจ้าจึงแกล้งว่า

“อันตัวเรานี้ เป็นผู้ใหญ่แล้ว และมีจิตรักใคร่ในตัวพ่อสามเณร ประหนึ่งว่ามารดารักใคร่ในบุตรดอก มิใช่ว่าเรานี้จะรักใคร่สามเณรเหมือนหญิงสาวรักชายหนุ่มก็หามิได้ ว่าอย่างไรเล่าเจ้าสามเณร จะยอมให้เราเป็นมารดาหรือไม่”

“จะเป็นไรไปเล่า เรานี้ก็มีความรักใคร่ในตัวท่าน ประหนึ่งว่าเป็นมารดาซึ่งให้อาหารบิณฑบาตเลี้ยงชีพพอกันตายไปทุกวันนี้ ขอให้ท่านเป็นมารดาของเราเถิด เรานี้จะได้ตั้งใจรักมารดาของเราแต่เพียงผู้เดียวในชาตินี้”

เจ้านิโครธสามเณรแกล้งตอบไปตามกล แล้วคนทั้งสองก็จำใจต้องจากกัน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทั้งเจ้ามังคลีสาวน้อยและเจ้านิโครธสามเณรในศาสนาแห่งพระพุทธองค์เจ้า ต่างก็เฝ้ารำพึงคะนึงหาถึงกันด้วยความทุกข์ทรมานใจ

ในไม่ช้า สาวโสภามังคลีกุมารีก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยความทรมานใจนั้น อาการแห่งโรคกำเริบขึ้นเรื่อยๆ แล้วมังคลีสาวที่น่าสงสารก็สลบหลับนิ่ง นอนอยู่บนเตียงที่ตายเห็นนิมิตร้ายเป็นไฟนรกรุ่งโรจน์ขึ้นมา แล้วลามเลียมาเรื่อยๆ เกือบจะเผากายแห่งนางด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อนๆ ตามมาทัน เพื่อจะบันดาลให้นางไปบังเกิดในนรกอันเป็นอบายภูมิ

แต่ทว่าด้วยเสน่หานุภาพอันฝังลึกในดวงจิตที่เจ้านึกคิดถึงนิโครธสามเณรอยู่ตลอดเวลา จึงในขณะที่เห็นเปลวไฟนรกนิมิตร้าย ซึ่งมีสีเหลืองคล้ายสีชายจีวรทรงของสามเณรที่รักปานดวงใจ เจ้าก็ยึดเอาชายจีวรนั้นเป็นนิมิตครั้งสุดท้าย แล้วก็หลับตาตายอย่างสุขใจ จุติไปอุบัติเกิดเป็นเทพนารีงามโสภา เสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยแกล้งกล่าวเป็นกลอุบายตามวิสัยหญิงสาวว่ารักใคร่พระองค์ประหนึ่งมารดารักใคร่บุตร ซึ่งเป็นการล่วงเกินพระองค์อยู่หนักหนาแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



มงคลเทวี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลังครั้งศาสนาพระธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดิน ณ คิรีบูรณมหานคร ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดี ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นสตรี แล้วต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอภินันทรัฐนั้น มีนามว่า นางพระยามงคลเทวี

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระชินสีห์พุทธธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระพุทธดำเนินมาโปรดเวไนยสัตว์จนถึงเมืองคิรีบูรณมหานคร ครั้นทรงพักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาอันวิจิตรพิสดารยิ่งหนักหนา สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดีทรงสดับแล้ว ก็ทรงพระโสมนัสยินดีในรสพระสัทธรรมเทศนานั้นสุดประมาณ จูงพระกรพระอัครมเหสีนั้นให้เป็นไทยทานเครื่องสักการะบูชาพระสัทธรรมเทศนา แล้วทรงออกพระวาจาตั้งความปรารถนาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก ข้าพระบาทขอยกพระอัครมเหสีที่รักปานดวงใจ ให้เป็นทานในกาลบัดนี้อันเป็นทานบารมีที่บุคคลทำได้โดยยาก ด้วยอานุภาพแห่งทานบารมีที่บุคคลทำได้โดยยากนี้ ขอให้ข้าพระบาทได้มีโอกาสตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นด้วยเถิด

อนึ่ง เมื่อข้าพระบาทจะเกิดอีกในชาติต่อไปแล้วไซร้ ขอให้นางพระยามงคลเทวีที่เป็นอัครมเหสี จงมีโอกาสเกิดเป็นอัครมเหสีของข้าพระบาทด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระเจ้าอภินันทรัฐราชาธิบดีทรงกระทำพระวจีปณิธานฉะนี้แล้ว ก็ทรงมีพระทัยผ่องแผ้วโสมนัสศรัทธา ใคร่จะได้เป็นญาติในพระบวรพุทธศาสนา จึงทรงสละราชสมบัติเป็นการชั่วคราวแล้วเข้าไปขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเพศเป็นพระภิกษุแล้ว พระนางก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาอุตสาหะนำเอาจตุปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช มาถวายแก่พระภิกษุบุราณสวามีทุกวันมิได้ขาดเลย

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอภินันทรัฐทรงสละราชสมบัติผนวชเป็นพระภิกษุทรงสิกขาอยู่นั้น กาลวันหนึ่งเกิดมีเหตุอาเพศอันไม่ควรจะเป็น กล่าวคือได้มีนางทาสีของคฤหบดีคนหนึ่ง ซึ่งมีความผิดเกรงว่านายจักฆ่าตี จึงหลบหนีมาในยามราตรี แล้วแอบไปซ่อนตัวอยู่ใต้กุฏิที่พระภิกษุราชาธิบดีประทับอยู่นั้น

ครั้นถึงเพลาเช้าตรู่ ได้เวลาที่เจ้ามงคลเทวีจะออกไปสู่อารามแล้ว นางแก้วซึ่งมีพระทัยห่วงใยในพระภิกษุบุราณราชสวามี ก็มิได้รอช้านำเอาภัตตาหารซึ่งเตรียมไว้เสด็จออกไปสู่อาราม ก็ได้ทอดทัศนาเห็นนางทาสีเจ้ากรรมนอนหลับเพลินอยู่ใต้กุฏิ นางพระยาก็ให้บังเกิดความหึงหวงและโกรธเคืองพระชีต้น คือพระภิกษุราชาธิบดี ว่าคงจะทรงล่วงสิกขาบท ลอบรักสมัครสังวาสกับนางหญิงที่นอนอยู่ใต้ถุนกุฏินี้ ในยามราตรีที่ปลอดผู้คนเป็นแม่นมั่น

เจ้าเกิดความสำคัญผิดคิดหวาดระแวงไป ตามวิสัยสตรีที่รักสามีฉะนี้ แล้วก็บังเกิดความโกรธหนักหนา โยนทิ้งภัตตาหารที่นำมาให้ตกลงกับพื้นพสุธาหน้ากุฏิ แล้วก็ขึ้นไปชั้นบนเห็นพระชีต้นเธอกำลังนั่งสมาธิอยู่ตามสมณวิสัย ก็เข้าใจว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นเล่ห์หลอกลวงตน นางพระยาจึงตรงเข้าไปดึงเอาจีวรออกจากวรกายแห่งพระชีต้นแล้วก็ฉีกสลัดให้ขาดจนหาชิ้นดีมิได้

แม้พระภิกษุอภินันทรัฐบุราณราชสวามี ซึ่งไม่ทราบเรื่องอันใด จะได้เฝ้าไต่ถามถึงเหตุว่า ไฉนนางพระยาจึงมีอาการดุร้ายเช่นนี้ เจ้ามงคลเทวีก็หาตอบไม่ เมื่อฉีกจีวรและร้องไห้จนหนำใจแล้ว ก็กลับไปสู่พระบรมมหาราชวังด้วยความคั่งแค้นในพระหฤทัย ไม่เสวยพระกระยาหารแต่อย่างใดเลย ในไม่ช้านางพระยามงคลเทวีก็ถึงแก่ชีพิตักษัยไปด้วยเหตุที่ขาดอาหารนั้น แล้วพลันไปอุบัติเหตุเกิดในนิรยภูมิ เพราะเหตุที่เจ้าทำกาลกิริยาไปในขณะที่จิตกอปรด้วยโทสะ เป็นสัตว์นรกร่างร้ายได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสอยู่ในนิรยภูมิ สิ้นกาลช้านาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยเกิดความสำคัญผิดแล้วยื้อยุดดึงจีวรออกจากพระวรกายและฉีกทิ้งให้ย่อยยับเสียหายแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



นางพญาหงส์ทอง


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงหน้าแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ทอง ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ ก็ได้เกิดเป็นนางหงส์ซึ่งเป็นภรรยาของพญาหงส์ทองนั้น เฝ้าผูกพันรักใคร่กันอยู่พร้อมกับหมู่หงส์ที่เป็นบริวารในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง

สมัยนั้น สมเด็จพระราชีนีเขมเทวีเจ้าซึ่งเป็นนางกษัตริย์ในมหานครนั้น ทรงมีพระอัธยาศัยใคร่เสด็จประพาสป่าอยู่เนืองๆ ได้ทรงพบสระน้ำใหญ่ชายป่าเข้า พระนางเจ้าจึงรับสั่งให้ปลูกบุปผาชาติบัวหลวงไว้ในสระนั้น จนออกดอกใบวิจิตรรจนา งามตระการตาแลดูน่ารื่นรมย์แห่งใจ แล้วทรงตั้งนายพรานผู้หนึ่งไว้ ให้มีหน้าที่บำรุงรักษาสระ คอยระวังซึ่งหมู่สิงห์สัตว์นกเนื้อทั้งหลาย มิให้มากล้ำกลายกระทำอันตรายสระวิเศษนั้นได้เป็นอันขาด

เจ้าพรานไพรเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่เช่นนั้น ก็มิได้มีความประมาท ตั้งใจทะนุบำรุงและระวังรักษาสระด้วยดี ครั้นเห็นเหล่าปักษีชาติทั้งหลายพากันร่อนลงเล่นในสระบ่อยๆ แม้จะตะโกนไล่อย่างไรก็ไม่หมดสิ้นไปสักที เจ็บใจขึ้นมาจึงคิดกระทำบ่วงดักเรี่ยรายไว้ในสระนั้นเป็นอันมาก

ฝ่ายว่าพญาหงส์ทอง ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ได้ยินกิตติศัพท์แห่งสระงามวิจิตรตระการตา ที่เหล่านกทั้งหลายพากันเล่าบอกสืบๆ มาว่า สระโบกขรณีชายป่าของนางพระยาเขมเทวีเป็นสระที่งามตระการตาน่ารื่นรมย์แห่งใจ และน่าลงเล่นให้เป็นที่สนุกสบายหนักหนา ก็พานางพญาหงส์ทองที่เป็นภรรยากับฝูงหงส์บริวารเป็นอันมากออกจากที่อยู่อาศัยว่ายฟ้าบินมาโดยนภากาศเป็นหมู่ใหญ่

ครั้นถึงแล้วพญาหงส์ทองจึงบินลงสู่สระนั้นก่อน ก็ต้องบ่วงที่พรานไพรดักไว้นั้นทันใด เมื่อรู้ว่าตนเคราะห์ร้ายต้องบ่วงหนีไปไม่ได้แล้ว ด้วยความกรุณาและเป็นห่วงนางพญาหงส์ทองภรรยาและบรรดาบริวารแห่งตน พญาหงส์ทองจึงร้องบอกให้หงส์ทั้งหลายรีบหนีไปโดยเร็ว เพราะภัยปรากฏขึ้นแล้ว อย่ารอช้า นางพญาหงส์และบริวารได้ยินเสียงร้องบอกดั่งนั้น ด้วยความตกใจไม่ทันพิจารณาว่าพญาหงส์จะเป็นอย่างไร ต่างก็พากันรีบบินหนีไปโดยเร็ว ปล่อยให้พญาหงส์ทองต้องทนทุกข์ทรมานในบ่วงแห่งพรานไพรนั้นแต่ลำพัง

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยการบินหนีไปพร้อมกับหงส์ที่เป็นบริวารด้วยความตกอกตกใจ จนลืมนึกถึงพระองค์ผู้ทรงเป็นประธานาธิบดี ปล่อยให้ติดอยู่ที่บ่วงอันพรานไพรดักไว้ตามลำพังแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



ธรรมิกราชธิดา


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมารรูปงามภายหลังได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนามีนามว่า นันทสามเณร ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้อุบัติเกิดในพระราชตระกูลทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดา

กาลวันหนึ่ง เป็นเทศกาลถวายผ้าพระกฐิน เจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดามีจิตศรัทธานำ พระกฐินไปถวาย ณ อารามที่นันทสามเณรจำพรรษาอยู่ ขณะที่เข้าสู่กุศลพิธี เจ้าฟ้าหญิง ธรรมิกราชกุมารีนั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งคนทั้งหลาย ทอดสายตาแลไปที่อาสนสงฆ์ เห็นนันทสามเณรนั่งอยู่เป็นรูปสุดท้าย ก็ให้มีจิตคิดปฏิพัทธ์รักใคร่หนักหนา ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส แม้นันทสามเณรก็มีจิตคิดพิศวาสรักใคร่ ในพระราชกุมารีสูงศักดิ์เช่นกัน

ดังนั้นเมื่อถึงคราวถวายไทยทาน เจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชธิดาเจ้าภาพสาว ก็ถวายตั้งแต่พระสังฆเถระเป็นลำดับไปจนถึงรูปสุดท้าย คือ "นันทสามเณร" แล้วก็ถือเครื่องไทยทานชะงักยืนเพ่งพักตร์อยู่ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าตนมีใจรัก แล้วยื่นเครื่องไทยทานน้อมเข้าไปถวาย นันทสามเณรก็สุดที่จะหักใจได้ ให้หลงลืมสติไปในขณะนั้น พลันยกหัตถ์ขึ้นจับข้อพระกรแห่งพระราชธิดาไว้มั่นเป็นสัญญา ให้รู้ว่าตนก็มีใจรัก แล้วจึงรับเครื่องไทยทานต่อภายหลัง

เหตุการณ์อันไม่งามนี้ปรากฏขึ้นในที่ชุมนุมชน จะได้รอดพ้นไปจากสายตาของคนทั้งหลายก็หามิได้ ชนที่เป็นผู้ใหญ่มั่นคงในศาสนา ต่างก็นินทาว่ากล่าวทั้งเจ้านันทสามเณรและเจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดาไปต่างๆ นานา แล้วว่าจะนำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จพระราชบิดาให้ทรงจัดการลงโทษ ในกรณีที่ประพฤติการอันเป็นบาปหยาบช้าผิดพระราชประเพณี

เจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดา ได้เสาวนาการผู้คนทั้งหลายกล่าวด้วยความเคืองใจฉะนี้ ก็ให้ตกพระทัย ครั้นจะกลับไปสู่ปรางค์ปราสาท ก็ให้มีจิตคิดเกรงกลัวพระราชอาญาแห่งสมเด็จ พระราชบิดา นางจึงตัดสินพระทัยหนีออกจากเขตพระนครนั้น ไปอาศัยอยู่ที่ปัจจันตชนบทชายแดนแห่งหนึ่ง เจ้านันทสามเณรซึ่งมีความผิดเช่นกัน ครั้นได้ทราบว่า เจ้าฟ้าธรรมิกราชกุมารีสุดที่รักเสด็จหนีจากพระนคร ก็ให้ร้อนอกร้อนใจจึงสึกออกเป็นฆราวาส แล้วรีบเดินทางติดตามไปด้วยอำนาจแห่งความรัก ในที่สุดก็ได้อยู่ร่วมรักสมัครสังวาสกับนางที่ปัจจันตชนบทนั้นสมความปรารถนา

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสึกจากสามเณรในพระพุทธศาสนา ทำให้เสียเวลาประพฤติพรหมจรรย์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ ข้าพระบาทชื่อว่า "พิมพา" ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/8/09 at 08:43 Reply With Quote


(Update 3 ส.ค. 52)

ฟังเสียงบรรยาย "พระนางพิมพา...นางแก้วคู่พระบารมี"

บทที่ 8
 

บทที่ 6


บทที่ 7




นางพญาสกุณี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระเรวัตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญาสกุณา มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าบรรดานกทั้งหลาย ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ ได้เกิดเป็นนางพญาสกุณีอาศัยอยู่ที่หิมวันตประเทศ

กาลวันหนึ่ง เกิดอาเพศบันดาลให้นางพญาสกุณีมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ดื่มน้ำในสระอโนดาตที่นำมาโดยจะงอยปากของพญานกผู้ภัสดา หาไม่แล้วตนจะต้องวายชีวาลงเป็นแน่แท้ จึงบอกความข้อนั้นแก่พญานกให้รู้ความเป็นไป พญานกผู้สามีก็มิได้รอช้า รีบผกโผบินจากรวงรังที่อาศัยทะยานขึ้นไปสู่ท้องฟ้า โดยบ่ายโฉมหน้าไปสู่อโนดาตสระศรี ประสงค์ที่จะนำเอาน้ำในสระอโนดาตมาให้นางสุดที่รัก ครั้นถึงจึงเอาจะงอยปากดูดเอาน้ำอมไว้ ได้น้ำสมความปรารถนาก็บินกลับมา

แต่เพราะเหตุที่เป็นระยะไกลหนักหนาบินมายังไม่ถึงรวงรังที่อาศัย น้ำในปากที่อมมานั้น ก็พลันแห้งหายเข้าไปในคอของพญานกเสียสิ้น พญานกจึงบินกลับไปสู่อโนดาตสระศรีนั้นอีก อมน้ำจนเห็นว่ามากพอแก่ความต้องการ ก็บินกลับมา แต่เหตุการณ์ก็เป็นดั่งเช่นเดิมคือ บินมายังไม่ถึงรังที่อาศัย น้ำในปากที่อมมาก็ปลาศนาการหายแห้งเข้าไปในคอของพญานกนั้นอีกเล่า

พญานกเฝ้าบินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง แต่จะได้น้ำมาจนถึงภรรยาก็หามิได้ พยายามจนอ่อนอกอ่อนใจแล้ว ก็กลับมาแจ้งความจำเป็นแก่นางพญาสกุณีที่รวงรัง พอนางได้ฟังแทนที่จักเห็นใจ ในความจำเป็นอันเหลือวิสัยกลับบังเกิดโทสะร้ายว่าพญานกสามีไปหลงใหลในนางสกุณีอื่นแล้วจะแกล้งให้ตนถึงซึ่งความตาย เจ็บใจขึ้นมาก็เข้าทำร้ายพญานก จิกด้วยปากบ้าง ตีด้วยเท้าและปีกบ้าง เป็นพัลวัน พญานกผู้สามีนั้น แม้จะถูกนางพญาสกุณีที่เป็นภรรยากระทำเอาถึงเพียงนี้ แต่จะได้มีความโกรธแก่นางมาตรว่าสักนิดหนึ่งก็หามิได้ ทั้งนี้ก็อาศัยด้วยเหตุที่มีความเสน่หารักใคร่ในภรรยาของตนยิ่งหนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยที่กอปรด้วยโมหันธ์ ไม่ฟังเหตุผลประการใด แล้วเข้าทำร้ายพระองค์ด้วยเท้าและด้วยปีก ทั้งจิกด้วยปากให้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า



พระนางมัทรี


ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง ครั้งสุดท้ายเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญพระพุทธบารมีใกล้จักสมบูรณ์เต็มที่ เสวยพระชาติเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเวสสันดร ทรงบุญราศี ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เป็นพระอัครมเหสีนามว่า พระนางมัทรี ยอดเยาวมาลย์ กาลนั้นเราทั้งสองได้ครองกรุงอดุลยเดชในเชตุอุดรธานีบุรีเมศร์มีพระปิโยรสอัครเรศสองพระองค์ทรงนามว่า เจ้าชาลีและกัณหา

กาลครั้งนั้น พระองค์ซึ่งทรงเป็นพระเวสสันดร ทรงพระราชศรัทธาใคร่บริจาคทาน จึงทรงพระราชทานกุญชรชาติเผือกผู้เป็นทานแก่พราหมณ์เมืองกลิงครัฐ ชาวพระนครพากันยกขึ้นเป็นอธิกรณ์แล้วขับให้ออกไปจากเมือง พระองค์จึงทรงพาพระนางมัทรีและเจ้าชาลีกัณหาออกไปทรงพรต ณ เขาวงกตแห่งห้องหิมเวศ

แล้วยังมีพราหมณ์ชีเชษฐ์ชื่อว่า ชูชก ตามออกไปทูลขอสองดรุณทารก เพื่อเอามาเป็นทาสีทาสา พระองค์ก็ทรงพระราชศรัทธาบริจาค พรากพระลูกรักทั้งสองให้เป็นทาน หวังจักแลกเอาพระโพธิญาณในอนาคตกาลเบื้องหน้า ธชีชราก็พาสองโอรสเร่งรีบหนีกลัวนางพระยามัทรีจะมาทันและขัดขวางไม่ให้สมปรารถนา

เพลาวันนั้นพระนางมัทรีเข้าไปสู่หิมวันต์ไพรสณฑ์เพื่อแสวงหาผลาผล ครั้นย่ำค่ำสิ้นแสงพระสุริยน ก็จรดลกลับมายังบรรณศาลา มิได้ทัศนาเห็นสองปิโยรสก็ให้ระทดพระทัยจะทูลถามพระราชสวามีสักเท่าใด พระองค์ก็มิได้ตรัสให้แจ้งคดี นางพระยามัทรีก็ยิ่งมีความโศกเศร้าโศกา อุตส่าห์เที่ยวตามหาสองกุมาร พร้อมกับทรงพระกรรแสงสะอึกสะอื้นในคืนนั้นเหลือกำลัง ตั้งตาสอดส่ายลัดเลี้ยวเที่ยวหาสิ้นมรรคาถึง ๑๕ โยชน์ จนพระสุริยารุ่งโรจน์วิวรรณ ก็กลับมาถึงบรรณศาลาและสิ้นกำลังจึงถึงซึ่งวิสัญญีภาพสลบไป ณ ใกล้พระคันธกุฎี

พระเวสสันดรราชฤาษีทอดพระเนตรเห็นเหตุร้ายนั้น ก็ให้ทรงตะลึงงัน มิอาจที่จะกำหนดว่าตนเป็นดาบสบรรพชิตวิ่งเข้ามาด้วยกำลังพระกรุณาสงสาร ยกพระเศียรเกล้าของเจ้ามัทรีขึ้นวางเหนือพระเพลา แล้วทรงเอาอุทกวารีมาสรงพระพักตร์ให้เย็นชื่น เมื่อเจ้ามัทรีฟื้นคืนสมปฤดีรู้สึกกายละอายแก่บาป จึงค่อยถอยถดลดพระองค์ลงมาถวายบังคม แล้วก็ทูลถามถึงความเป็นไปของเจ้าชาลีกัณหา

พระดาบสราชสวามีก็แจ้งว่าทรงบริจาคให้เป็นทานแก่ธชีชูชกพราหมณ์ชรา เพื่อผลพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า นางพระยามัทรีทรงทราบเหตุผลฉะนี้ ก็ทรงมีพระทัยเกษมศรีภิรมย์ กระทำอนุโมทนาชื่นชมซึ่งปิยปุตตทานบารมียิ่งหนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุให้พระองค์ทรงพระกรุณาสงสาร จนตะลึงงันมิอาจที่จะกำหนดว่าเป็นดาบสบรรพชิต รีบวิ่งเข้ามายกเศียรเกล้าของข้าพระบาทซึ่งเป็นสตรีวางไว้เหนือพระเพลา ทำให้พรหมจรรย์ของพระองค์เศร้าหมองไปชั่วขณะหนึ่งแล้วไซร้ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

สมเด็จพระพิมพาภิกษุณีรำลึกอดีตชาติหนหลัง เฉพาะชาติที่ตนเคยพลั้งพลาดอาจมีโทษผิด ต่อองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ด้วยอำนาจแห่งบุพเพนิวาสานุสสติญาณแล้วนำเอามากราบทูลพระกรุณา เพื่อให้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอดโทษเป็นขมาปนกรรม

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ แต่ปางก่อนที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร พระองค์กับพิมพาข้าพระบาทจะได้ขาดวิสาสะคุ้นเคยกันก็หามิได้ ด้วยเป็นที่สบอัธยาศัยพอใจและมีความเสน่หาอาลัยรักใคร่กันมานานช้า ตั้งแต่นี้ไปจะสิ้นวิสาสะกัน ความสัมพันธ์อันเคยมีแต่ปางก่อนก็จะขาดสะบั้นลงเสียแล้ว ด้วยว่าข้าพระบาทที่ชื่อว่าพิมพานี้จะขอกราบถวายนมัสการลาฝ่าพระบาทยุคลทั้งคู่ของสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ดับขันธ์เข้าสู่เมืองแก้ว กล่าวคือ พระอมตมหานฤพาน

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระสัพพัญญุตญาณ กาลนี้ก็เป็นกาลอันควรที่จะไปสถานที่ดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว พิมพาข้าพระบาทขอฝากพระลูกแก้วราหุลด้วย ขอพระองค์จงทรงช่วยอภิบาลบำรุงรักษา พิมพาข้าพระบาทนี้ขอกราบทูลลาพระองค์แล้ว

เมื่อสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี ถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายฉะนี้ สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงทรงมีพระมหากรุณาตรัสถามว่า

“ดูกร เจ้าพิมพาเอ๋ย เจ้าจะไปดับขันธ์นิพพาน ณ สถานที่ใดเล่า?”

“พิมพาข้าพระบาทนี้ จะไปดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่อารามพระภิกษุณี ซึ่งมีอยู่ข้างทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรีกราบทูลดั่งนี้แล้ว ก็เฝ้าถวายบังคมที่แทบพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระประทีปแก้วอยู่หลายครั้งหลายหนหนักหนา แล้วจึงค่อยถดถอยออกมา พาพระภิกษุณีที่เป็นบริวารออกจากที่เฝ้าแต่กาลนั้น ซึ่งเป็นเพลาปัจจุสมัยใกล้จะรุ่งสางสว่างแล้ว



พระพิมพาดับขันธนิพพาน


สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราชได้ทรงเสาวนาการว่าพระนางพิมพาภิกษุณีจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพานก็เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังมาเฝ้าคอยอยู่ที่บริเวณพระมหาว ิหารเป็นเวลานาน ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระนางออกมาจากที่เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุณีสงฆ์บริวาร จึงทรงกรากเข้าไปถวายนมัสการแล้วอาราธนาว่า

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ปราสาทยอดของโยมนี้สร้างไว้ที่ริมพระเชตวันมหาวิหาร อันมีชื่อว่ากูฏาคาร ที่นั่นเป็นสถานที่สบายนัก ขออาราธนาสมเด็จพระแม่เจ้าจงไปเข้าสู่นิพพาน ณ ที่นั่นเถิด”

“ดูกร มหาบพิตรพระองค์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ กูฏาคารนั้นมิใช่สถานที่อันควรแก่การที่ภิกษุณีสงฆ์จักเข้าสู่พระนิพพาน ด้วยว่ากูฏาคารนั้นเป็นพุทธสถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เคยประทับ ไม่ควรแก่อาตมภาพซึ่งเป็นสตรี ขอถวายพระพร” สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีทูลตอบพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราชว่าดังนี้

ลำดับนั้น บรรดามหาเศรษฐีและคฤหบดีทั้งหลาย ซึ่งมีความเคารพเลื่อมใสใน พระนาง ทั้งล้วนเป็นอุปัฏฐากใหญ่ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางสุปวาสามหาอุบาสิกา แม้ว่าแพทย์หลวงหมอชีวกโกมารภัจ ซึ่งมีศรัทธาปรารถนาจักให้สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าไปเข้าสู่นิพพานในอารามที่ตนสร้างไว้ จึงต่างคนต่างเข้าไปถวายนมัสการที่พระบาทแล้วทูลอาราธนา

แต่ก็ถูกสมเด็จพระนางปฏิเสธเสียสิ้น โดยอ้างว่าเป็นพุทธสถานไม่ควรแก่การที่พระภิกษุณี จักเข้าไปใช้ร่วม แม้จะเป็นการดับขันธ์เข้าสู่นิพพานก็ตามที แล้วพระนางก็ค่อยจรลีโดยบ่ายพระพักตร์ไปยังอารามของนางภิกษุณี ซึ่งเป็นสถานที่อันตั้งหฤทัยว่าจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่นั่น

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระมหากรุณาดำรัสสั่งพระเจ้า ปเสนทิโกศลมหาราชในขณะนั้นว่า

“ดูกร มหาบพิตรพระราชสมภาร ขอพระองคพร้อมกับอำมาตย์ราชบริพารจงรีบเสด็จไปก่อนเจ้าพิมพา จงไปจัดการตกแต่งประดับประดา ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพิมพาจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่อารามของนางภิกษุณีให้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนเจ้าพิมพาไปถึงจึงจะควรนะมหาบพิตร แล้วเราตถาคตจะติดตามไปในภายหลัง”

ได้ทรงสดับพระพุทธดำรัสสั่งดั่งนั้น สมเด็จพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราช ก็ทรงน้อมพระองค์ลงถวายนมัสการที่พระยุคลบาทของสมเด็จพระชินวร แล้วก็รีบเสด็จพาอำมาตย์บริพารด่วนจรไปยังอารามนางภิกษุณี โดยมีบรรดามหาเศรษฐีคฤหบดีและพราหมณ์มหาศาลตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึงแล้ว ต่างคนต่างก็เร่งรัดจัดการตกแต่งเครื่องสักการะบูชา เป็นต้นว่าประทีปธูปเทียนธงฉัตรและดอกไม้ ให้เป็นสถานที่อันวิจิตรอลังการควรแก่เป็นสถานที่ดับขันธ์ปรินิพพานสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีซึ่งมีบุญใหญ่ แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระนางเจ้าเป็นอันมาก จึงมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้ปูลาดด้วยสุจหนี่ยี่ภู่พระเขนยทอง เบื้องบนให้ดาดเพดานห้อยย้อยไปด้วยบุปผาชาติอันมีกลิ่นหอมสุมาลัย

แล้วให้วงด้วยพระวิสูตรสุวรรณรัตนะ ตามด้วยอัจกลับประทีปแก้ว แล้วรายราชวัตรฉัตรธง ประดับด้วยเครื่องสูงสำหรับขัตติยะมหาศาล แล้วให้ตั้งพานพนมแก้ว พนมทองและพนมบุปผาชาติต่างๆ มีทั้งธูปเทียนชวาลา ไว้คอยท่ารับเสด็จจนเสร็จเรียบร้อยเป็นอันดี

ก็เป็นเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าพิมพาเถรี ซึ่งมีพระภิกษุณีสงฆ์พันหนึ่งแวดล้อมเดินทางมาถึงพอดี สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์ จึงสั่งให้มหาอุบาสก ๒ คน คือ อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีและจุลอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี กับมหาอุบาสิกา ๒ คน คือนางวิสาขามหาอุบาสิกา และนางสุปวาสามหาอุบาสิกา ให้ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าเข้าไปภายใน

ครั้นเสด็จเข้าไปถึงแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาราธนาให้เสด็จขึ้นไปสู่พระแท่นที่บรรทม สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณี ให้เสาวนาการคำอาราธนาของพระราชาธิบดีแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่พระแท่นที่บรรทม เอนพระองค์ลงไสยาสน์เหนืออาสนะอันวิจิตรอลังการนั้น มหัศจรรย์ก็ดลบันดาลบังเกิดมีเป็นประการต่างๆ ไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก

หมู่เทพเจ้าในฉกามาพจรสวรรค์และบรรดามหาพรหมทั้งหลาย ครั้นได้ทราบความว่าสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า จะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนั้น ต่างองค์ต่างก็จัดแจงซึ่งเครื่องสักการะบูชา รีบออกจากเทพยวิมานเมืองสวรรค์ชั้นฟ้าลงมาสู่อารามภิกษุณี เมืองสาวัตถีมหานคร ใช่แต่เทวดาอินทร์พรหมเท่านั้นก็หามิได้ แม้แต่เหล่าทิพยกายผู้วิเศษทั้งหลาย คือ ยักษ์ นาค สุบรรณ และคนธรรพ์ ฤาษีสิทธิ์วิทยธรทั้งหลายบรรดาที่มีใจเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อได้ทราบความต่างก็พากันมาจนเต็มไปทั้งห้องนภาดล

ขณะนั้น สมเด็จพระนางพิมพาเถรีจึงทูลถามพระราชาธิบดีปเสนทิโกศลขึ้นว่า
“ดูกร มหาบพิตรพระราชสมภาร ขณะนี้เป็นเวลาประมาณสักเท่าใด?”

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ขณะนี้เป็นเวลาสายัณห์ พระอาทิตย์จวนจะอัสดงคตแล้ว เจ้าข้า”

“ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร บัดนี้สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาเสด็จมาถึงหรือยังเล่า ?”

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า สมเด็จพระมหากรุณาสัพพัญญูเจ้า ยังหาเสด็จมาถึงไม่ แม้สมเด็จพระราหุล บวรดนัยก็ยังไม่เสด็จมา เจ้าข้า”

“ดูกร มหาบพิตรพระราชสมภาร ถ้าเช่นนั้นพิมพานี้จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานต่อเพลาปัจจุบันสมัยใกล้รุ่ง”

สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าตรัสฉะนี้ ก็ฝืนพระทัยพยุงกายลุกขึ้นแล้วก็แสดงพระธรรมเทศนาให้โอวาทแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายไปจนสิ้นปฐมยาม เสร็จแล้วจึงเรียกให้ภิกษุณีสงฆ์มาประชุมกัน ประทานโอวาทโดยนัยอันวิจิตรพิสดารจนสิ้นมัชฌิมยาม

ครั้นล่วงเข้าปัจฉิมยามจวนถึงปัจจุสมัย สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถบรมศาสดากับพระราหุลอรหันต์ก็พาพระภิกษุสงฆ์บริวารเสด็จมาถึงพอดี สมเด็จพระนางพิมพาเถรีถวายนมัสการพระชินสีห์เจ้าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก็อธิษฐานเข้าฌานสมาบัติเป็นลำดับไป ตั้งต้นแต่ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมา พอถึงเพลาปัจจุสมัยใกล้อรุณรุ่ง จึงอธิษฐานเข้าและออกจากจตุตตถฌานสมาบัติ แล้วสมเด็จพระนางแก้วพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า ก็ดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานทันใด...

ฟังเสียงบรรยาย "พระนางพิมพา...นางแก้วคู่พระบารมี"

บทที่ 10


บทที่ 9



ขอบคุณที่มา - fungdham.com และ mblog.manager.co.th/tawanrorn/th-34166/



praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved