ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 29/10/08 at 10:28 Reply With Quote

อีเมล์จากผู้อ่าน และคำถามเรื่อง "รอยพระพุทธบาท" จากเวปอื่น


☺.....ผู้จัดทำได้รับอีเมล์ฉบับนี้มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่เพิ่งจะนำมาลงเพื่อเป็นกำลังใจกัน ทั้งนี้เพราะได้ไปพบคำถามเรื่อง "รอยพระพุทธบาท" ในเวปดังแห่งหนึ่ง จึงได้นำมาถามตอบกันเองในเวปของเรา ก่อนอื่นอ่านอีเมล์ฉบับนี้กันก่อน

จาก : ss_intimate@hotmail.com
ถึง : webmaster@tamroiphrabuddhabat.com
หัวเรื่อง : Online Form: ขอบคุณและขออนุโมทนาสาธุกับท่านผู้จัดทำเวบนี้ค่ะ
วันที่ : 19/08/10 20:21


อยากขอบคุณผู้จัดทำเวบไซต์นี้และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดค่ะ

ได้ฟังธรรมเรื่องประวัติพระนางพิมพาเถรี แล้วรู้สึกขนลุกและปลาบปลื้มมากๆ

ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าสิ่งที่เราเคยได้เรียน ได้รับรู้มานั้น มันช่างเล็กน้อยมากที่สุด เมื่อเทียบกับบารมีทั้งหมดที่พระองค์ได้บำเพ็ญมา

ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้และศึกษาประวัติของพระสาวกองค์อื่นๆด้วย

ขอบคุณเวบไซต์นี้ที่ช่วยจุดประกายดีๆให้กับชีวิตนะคะ

ขอให้กำลังใจและขอสนับสนุนให้ทำเวบนี้ต่อไปเพื่อประโยชน์อีกมากมายที่คนอื่นๆจะได้รับต่อไปค่ะ

สาธุด้วยค่ะ




จาก : aun-2511@hotmail.com
ถึง : webmaster@tamroiphrabuddhabat.com
หัวเรื่อง : Online Form: ถามข้อคล่องใจ
วันที่ : 02/07/10 13:38


เป็นชาวพุทธมาแต่กำเนิดแต่ปัจจุบันแต่งงานกับสามีที่นับถือศาสนาอิสลาม แอบทำบุญ แอบสวดมนต์ ทั้งที่รู้ว่าถ้าสามีรู้ก็ต้องจากไป
คำถาม...
1. การสวดมนต์ไม่ว่าจะบทใดก็ตามหากอ่านผิดไปบ้าง(เพราะรีบร้อน) จะได้บุญหรือไม่ สวดเสร็จก็กรวดนำเลยค่ะ บางครั้งก็ไม่มีโอกาสได้กรวด
2. ถ้ามีเวลาน้อยมักจะเปิดฟังบทสวดมนต์ต่างๆจากอินเตอร์เน็ต อย่างนี้ได้บุญหรือไม่ และฟังไปก็ทำงานบ้านไปและทำของขายด้วยค่ะ

ขอขอบคุณท่านที่จัดทำเวปนี้เข้าชมแล้วมีความสุขมากค่ะ




สอบถาม รอยพระพุทธบาท (บทความนี้ภายหลังถูกลบไปแล้ว)
จากเวป www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9500576/Y9500576.html


☻....สงสัยการสร้างรอยพระพุทธบาท มีคติการสร้างอย่างไรครับ และรอยพระพุทธบาทมีความหมายที่สื่อกับพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าอย่างไรครับ

และเหตุใดจึงต้องสร้างพระมณฑปเพื่อคลุมพระพุทธบาท อย่างเช่น มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี และมณฑปพระพุทธบาทเขาดีสลัก

จากคุณ : โพธานพ
เขียนเมื่อ : 22 ก.ค. 53 21:58:09





(มณฑปพระพุทธบาทเขาดีสลัก จ.สุพรรณบุรี)

ความคิดเห็นที่ 1

ความหมายของรอยพระพุทธบาท ที่สื่อไปสู่ชนรุ่นหลัง คือ เป็นอุบายคำสอนให้เราฝึกปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดา หรือครูบาอาจารย์ที่ได้เดินทางผ่านไปแล้ว ให้เราเดินตามรอยของท่าน คือฝึกไปตามที่ท่านสั่งสอนไว้ เพื่อได้บรรลุผลตามท่านไป คำสอนและหลักปฏิบัติต่างๆ นั่นแหละเปรียบเสมือนรอยเท้าที่ท่านทิ้งไว้ต่างหน้า ..นัยะของรอยพระพุทบาท ก็อยู่ตรงนี้เอง ต้องใช้ปัญญาขบคิดบ้าง ไม่ใช่เจอรอยพระพุทธก็กราบๆ เอาแค่บุญเบื้องต้นโดยไม่สนใจความหมายที่ลึกกว่านั้น...

รอยพระพุทธบาท ตามปกติจะไม่มีการสร้างโดยมนุษย์ทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการบันดาลให้เกิดขึ้นมาจากแรงอธิษฐานจิตด้วยอิทธาภิสังขารของพระพุทธเจ้า เมื่อมนุษย์ไปพบเห็นก็ทำการสักการะบูชา เมื่อมีการสักการะบูชาก็มีการสร้างสิ่งประกอบต่างๆมาแวดล้อม เช่นสร้างหลังคา มณฑป ต่างๆมาปกคลุม มีแท่นบูชาต่างๆตามมา

ตามตำรา รอยพระพุทธบาทในเมืองไทย มีเพียงแห่งเดียวคือที่สระบุรีนั่นแหละ(พบสมัยพระเจ้าทรงธรรม ตอนยุคสมัยปลายๆของกรุงศรีอยุธยา) แต่รอยอื่นๆที่มีการพบภายหลังบ้าง นั่นแล้วแต่ความเชื่อของบุคคล อาจจะเป็นรอยอะไรก็ได้ หรือรอยที่ผู้มีฤทธิ์อื่นๆทำขึ้นก็ได้ ..แต่ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือปลอม ในเมื่อมีการบูชาเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ...(รอยพระพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ในโลกนี้มีรวมทั้งหมด ๕ รอย)

และมีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นมาอีกมากมาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถือคล้ายๆกับสร้างพระพุทธรูปนั่นเอง คือเพื่อเป็นพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

จากคุณ : ศิษย์พระป่า
เขียนเมื่อ : 23 ก.ค. 53 05:19:57





(พระวิหารครอบ "พระพุทธบาทสี่รอย" อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)

ความคิดเห็นที่ 2

มีพระพุทธบาทสี่รอยที่เชียงใหม่อีกที่ครับ กระทู้ล่างๆมีบอกประวัติไว้ครับ

จากคุณ : Arrow frog
เขียนเมื่อ : 23 ก.ค. 53 11:53:41

แล้วแต่จะเข้าใจกันนะครับ ผมว่าเป็นบุญทั้งนั้น จะกราบรอยจริงหรือรอยจำลอง ถ้าเจตนาไหว้พระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ แต่ทำไมต้องติในส่วนบุญแม้เพียงเล็กน้อยที่ว่า..
...ไม่ใช่เจอรอยพระพุทธก็กราบๆ เอาแค่บุญเบื้องต้นโดยไม่สนใจความหมายที่ลึกกว่านั้น...

แม้บุญเบื้องต้น แต่องค์สมเด็จพระสมณโคดมก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยบุญเล็กน้อยจากถวายเข็มและด้ายเท่านั้น ในคราวที่เกิดเป็นมหาทุคคตะ คือเป็นคนที่ยากจนที่สุด



kittinaja
Super Administrator
*********
Posts: 192
Registered: 10/2/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 17/9/10 at 09:16 Reply With Quote




(พระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)

☺....ผู้จัดทำได้ลองย้อนเข้าไปอ่านในกระทู้นี้ ปรากฏว่าข้อความนี้ได้ถูกลบไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำถามและคำตอบเหล่านี้ อยากจะนำมาสะท้อนอีกครั้งหนึ่ง คงจะเป็นความเห็นกันแต่ละมุมมอง ถึงอย่างไรก็คงเป็นบุญกุศลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม จะเป็นบุญเบื้องต้นหรือเบื้องปลาย ย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้บรรลุมรรคผลทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ตอบที่ใช้นามว่า "ศิษย์พระป่า" มีความเห็นว่ารอยพระพุทธบาทมีแต่ที่สระบุรีเพียงแห่งเดียว นั่นเป็นความเห็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งหากว่าได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เราจะพบได้อีกหลายแห่งและหลายประเทศในชมพูทวีป ซึ่งหลักฐานได้ปรากฏอยู่ในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศศรีลังกา พม่า ลาว เขมร และสิบสองปันนา แต่ถ้าไม่เชื่อก็จบกันแค่นี้

ส่วนคำถามแรกของคุณโพธานพว่า "...การสร้างรอยพระพุทธบาท มีคติการสร้างอย่างไรครับ และรอยพระพุทธบาทมีความหมายที่สื่อกับพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าอย่างไรครับ..?"

ประเด็นคำถามนี้มุ่งหมายถามถึงเรื่องการสร้าง "รอยพระพุทธบาทจำลอง" มากกว่า ไม่ได้มุ่งถามเรื่อง "รอยพระพุทธบาทจริง" แต่ผู้ใช้นามว่า "ศิษย์พระป่า" ตอบรวมๆ กันโดยเตือนว่าให้ใช้ปัญญา ไม่ใช่กราบด้วยความเขลาหรืองมงาย นี่ผู้จัดทำแปลความหมายเอาเองนะ ซึ่งคุณ Arrow frog ก็พูดว่า "ทำไมต้องติในส่วนบุญแม้เพียงเล็กน้อย?" อ่านคำถามและคำตอบแล้ว ทางผู้จัดทำก็เป็นทีมงานที่สำรวจรอยพระพุทธบาทโดยตรง ไม่รู้ว่ากระทบกระเทือนมาถึงบ้างหรือเปล่า เพราะพวกเราก็เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องพระธาตุและรอยพระพุทธบาทกันโดยเฉพาะ

ในที่นี้ทางเราถือว่ามีข้อมูลและประสบการณ์พร้อมกับหลักฐานชัดเจนกว่า ผู้จัดทำจึงขอตอบไปตามความประสงค์ของผู้ถามว่า คติการสร้าง "รอยพระพุทธบาทจำลอง" มีมานานแล้ว ตามที่ค้นพบวัตถุโบราณเหล่านี้ ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ส่วนใหญ่จะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระองค์ได้สร้างเป็น "พระพุทธบาทสี่รอย" ภายในมีลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการ ถือว่าเป็นศิลปกรรมงานสร้างที่นิยมสมัยนั้น

สำหรับคติการสร้างของคนสมัยนั้น คิดว่าท่านคงมีความศรัทธาเชื่อถือว่า มีอานิสงส์เหมือนกับสร้างสถานที่เคารพ แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเช่นกับสร้างพระพุทธรูป สร้างพระเจดีย์เป็นต้น แต่ตามความเห็นของผู้จัดทำ อาจจะคิดลึกเลยไปอีกว่า ตามธรรมเนียมคนไทยมักถือหัวถือเท้า ไม่เหมือนชาวต่างชาติ เขาตบหัวหรือวางเท้าบนที่สูงกันได้ แต่คนไทยถือว่าหัวอยู่บนที่สูง เท้าอยู่ต่ำ ถ้าใครตบหัว หรือยกเท้าให้ ถือว่าดูถูกเหยียดหยามกัน

แต่ในทางตรงกันข้ามนั้น ถ้าคนไทยจะเคารพใครสักคน ผู้นั้นก็จะยกมือและก้มหัวให้ทันที โดยเฉพาะบุคคลที่เคารพนนับถือ อย่างเช่นพระสงฆ์หากยกมือลูบหัวหรือเป่าหัวให้ จะดีใจถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ประการสำคัญหากคนไทยเลื่อมใสผู้ใดเป็นอย่างสูง ก็จะทำความเคารพไปที่เท้าผู้นั้นทันที ธรรมเนียมการกราบเท้าแก่ผู้ที่เคารพนี้ มีอยู่เฉพาะคนไทยเท่านั้น อย่างเช่นกราบเท้าพ่อแม่เป็นต้น

ด้วยเหตุที่คนไทยมีประเพณีที่ดีงาม พระพุทธเจ้าคงเล็งเห็นอุปนิสัยเช่นนี้ จึงได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้มากมาย โดยเฉพาะ ท่านครูบาศรีวิชัย ท่านครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้า ท่านครูบาชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม ท่านครูบาขาวปี วัดพระบาทผาหนาม เป็นต้น ส่วนภาคอีสานไม่ทราบว่า "ศิษย์พระป่า" สายไหน แต่คงจะเลื่อมใสสายหลวงปู่มั่น สมัยก่อนท่านเองก็เดินทางธุดงค์ไปที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

เนื่องจากบริเวณนี้มีรอยพระพุทธบาทจริงหลายแห่ง เช่น พระพุทธบาทบัวบก, พระพุทธบาทบัวบาน, พระพุทธบาทหลังเต่า เป็นต้น (อ่านประวัติได้ คลิกที่นี่) ถ้าหากเป็น "ศิษย์พระป่า" จริง ไม่ใช่เป็นแค่ปาก คงไม่ปฏิเสธ "ตำนานพระธาตุพนม" เพราะในอุรังคนิทานนี้ยังได้บอกว่า พระพุทธเจ้าไปประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ "พระธาตุเชิงชุม" จ.สกลนคร อีกด้วย อ่านประวัติได้ คลิกที่นี่



(ประวัติพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร เป็นที่ชุมรอยพระพุทธบาททั้งสี่พระองค์)

ฉะนั้นประเพณีการกราบไหว้รอยพระพุทธบาท คนไทยจึงนิยมไปกราบไหว้บูชากันมานานแล้ว แต่สมัยก่อนรอยพระพุทธบาทจริงอยู่ในป่า บางสมัยบ้านเมืองเสื่อมโทรมไปก็หาไม่เจอ จึงมีความคิดที่จะสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง แล้วเสริมสร้างไปด้วยศิลปะของแต่ละสมัย ให้มีความหมายหรือเป็นสื่อในทางพระพุทธศาสนา ตามนัยยะดังกล่าวแล้วว่าเหมือนกับสร้างพระพุทธรูป จึงได้นิยมสร้างมณฑปครอบไว้ ถือว่าเป็นการสร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้านั่นเอง ถือว่ามีอานิสงส์ในการสร้าง "วิหารทาน" อันยอดเยี่ยม

สำหรับที่ "ศิษย์พระป่า" ตอบว่า "....ความหมายของรอยพระพุทธบาท ที่สื่อไปสู่ชนรุ่นหลัง คือ เป็นอุบายคำสอนให้เราฝึกปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดา หรือครูบาอาจารย์ที่ได้เดินทางผ่านไปแล้ว ให้เราเดินตามรอยของท่าน คือฝึกไปตามที่ท่านสั่งสอนไว้ เพื่อได้บรรลุผลตามท่านไป คำสอนและหลักปฏิบัติต่างๆ นั่นแหละเปรียบเสมือนรอยเท้าที่ท่านทิ้งไว้ต่างหน้า ..นัยะของรอยพระพุทบาท ก็อยู่ตรงนี้เอง ต้องใช้ปัญญาขบคิดบ้าง ไม่ใช่เจอรอยพระพุทธก็กราบๆ เอาแค่บุญเบื้องต้นโดยไม่สนใจความหมายที่ลึกกว่านั้น..."

ซึ่งความเห็นเช่นนี้ถือว่าถูกต้องโดยหลักการ แต่นัยยะของรอยพระพุทธบาท ให้ใช้ปัญญาขบคิดนั้น ผู้จัดทำคิดว่าคนที่จะไปกราบไหว้ได้ จะต้องมี "พุทธานุสติกรรมฐาน" อยู่ในใจตลอดเวลา เพราะกรรมฐานกองนี้มีความสำคัญยิ่งตามที่ "ศิษย์พระป่า" พูดไว้แล้ว แต่คำพูดเช่นนี้น่าจะหมายถึงครูบาอาจารย์สมัยก่อนด้วย เพราะสมัยนั้นบ้านเมืองยังไม่เจริญ ท่านก็ต้องจารึกธุดงค์ไปตามป่าเขา เพื่อกราบไหว้รอยพระพุทธบาทที่อยู่ในป่าลึก ถ้าคิดแบบ "ศิษย์พระป่า" ว่าเช่นนี้ คงหมายเตือนสติครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ด้วยนะซิ ที่ว่า...

"....เจอรอยพระพุทธก็กราบๆ เอาแค่บุญเบื้องต้นโดยไม่สนใจความหมายที่ลึกกว่านั้น..!!!

อย่าลืมว่า หลวงปู่มั่น ผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายพระป่า มีลูกศิษย์มากมายที่มีประสบการณ์กับรอยพระพุทธบาท เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ และโดยเฉพาะ หลวงปู่สิม ท่านก็ไม่เคยบอกว่ามีเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีแห่งเดียว เนื่องจากในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของท่าน มีผู้นำคำพูดของท่านมาลงพิมพ์ไว้ว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเหยียบพระบาทไว้ ณ วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

“....ในเขตเชียงใหม่นี้ ยังมีพระบาทสี่รอยอยูในเขตอำเภอแม่ริม แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขา หลวงปู่ผู้เทศน์ไปกราบไหว้มาแล้ว มันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นไปอยู่ข้างริมแม่น้ำ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ได้มาตรัสรู้ในโลก ท่านก็มาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ในยอดก้อนหินนั้น.."

นอกจากนี้ยังได้รับคำยืนยันรับรองของ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก จ.นครพนม ว่ารอยพระพุทธบาทดังกล่าวเป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอย ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ในมหาภัทรกัปนี้จริง (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14761)

หลวงปู่ตื้อธุดงค์ไปกราบไหว้ "รอยพระพุทธบาท" ที่แม่ฮ่องสอน

สำหรับประวัติ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโมท่านได้เคยเดินทางไปดูรอยพระพุทธบาทเช่นกัน ตามประวัติเล่าว่า มีวิญญาณที่มาในรูปชีปะขาวหนุ่มได้เล่าเรื่องราวในอดีตของตนถวายหลวงปู่ว่า

“แต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นพระราชาอยู่เมืองตองฮู้ ระยะแรกได้เมินเฉยต่อพระธรรมคำสอน เพราะโลภมากในทรัพย์สมบัติ แต่ระยะหลังๆ ตอนบั้นปลายของชีวิตได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรด ข้าพเจ้าก็ได้รับศีลรับพรจากท่าน ได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่ชาวเมือง

พระองค์ได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้อยู่ห่างจากที่นี่ไม่ไกล อยู่กลางแม่น้ำที่พนังหินกลางแม่น้ำ แม่น้ำนี้ลึกท่วมหลังช้างเท่านั้น ไม่ลึกมากเท่าไรแม่น้ำนี้อยู่ใกล้เมืองประดู่ขาว ปัจจุบันแม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า "แม่น้ำปอน" และ "เมืองประดู่ขาว" เปลี่ยนเป็น "เมืองรัว"”

วิญญาณนั้นบอกย้ำอีกว่า “รอยพระพุทธบาทนั้นอยู่กลางแม่น้ำนั้น นิมนต์ท่านไปดูและนมัสการด้วย ถ้าท่านนับถือพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วก็จะบอกหนทางเดินให้ แต่ท่านอย่าลืมว่าตรงปากทางเข้าไปจะถึงแม่น้ำนั้น จะมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง เมื่อเข้าไปในถ้ำนั้นจะเห็นหินยาวรีมีลักษณะคล้ายงู แต่เป็นก้อนหินธรรมดา มนุษย์ทั่วไปเข้าใจว่าเป็นงูเพราะมีแต่ความกลัวเป็นใหญ่

ให้ท่านเดินข้ามไปหรือเหยียบไปเลยก็ได้ และภายใต้หินก้อนนั้นมีไหเงินและทองคำอยู่ ๔ ไห ถ้าหากท่านพระอาจารย์จะเอาไปเพื่อเป็นการเมตตาต่อข้าพเจ้าแล้วก็ขอน้อมถวายท่านเลย” เมื่อพูดเพียงนี้แล้ว ชีปะขาวหนุ่มนั้นก็กราบลาแล้วก็หายไป ท่านได้พักภาวนาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางเพื่อไปดูรอยพระพุทธบาท ตามที่วิญญาณอดีตพระราชาเมืองตองฮู้ ได้บอกไว้เมื่อคืนก่อน

หลวงปู่เล่าว่า ท่านใช้เวลาเดินทางตามที่วิญญาณบอก ๑ วันเต็มๆ ก็ไปถึงปากถ้ำทางเข้าไปเพื่อดูรอยพระพุทธบาทนั้น ท่านได้พบก้อนหินยาวเหมือนรูปงูจริงๆ ซึ่งมันก็เป็นก้อนหินธรรมดานั่นเอง เดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงริมแม่น้ำ ก็มองเห็นหินก้อนใหญ่เหมือนภูเขาทั้งลูกตั้งอยู่กลางแม่น้ำเลย และก็ได้พบรอยพระพุทธบาทตามคำบอกเล่าจริงๆ รอยพระพุทธบาทนี้ยาวประมาณ ๘ ศอก กว้าง ๖ ศอก สูง ๔ ศอก โดยประมาณเห็นจะได้

เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ประทับไว้จริงๆ หลวงปู่ จึงได้กระทำการสักการะ แล้วก็จากสถานที่นั้นไป ขณะที่หลวงปู่ตื้ออยู่ปฏิบัติภาวนาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามดอยตามป่าต่างๆ นั้น ท่านมักจะเจอกับพวกกายทิพย์ และมีเหตุการณ์แปลกๆ มารบกวนการบำเพ็ญภาวนาของท่านเสมอ หลวงปู่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นเอาชนะด้วยการบำเพ็ญภาวนาไปทุกครั้ง

พวกวิญญาณหรือกายทิพย์ทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนมากมักจะเป็นพวกที่อยู่เฝ้าสมบัติมีค่าต่างๆ เมื่อได้ทดสอบความมั่นคงทางจิตใจของหลวงปู่แล้ว วิญญาณเหล่านั้นก็จะบอกถวายสมบัติที่พวกเขารักษานั้นให้ แต่หลวงปู่ก็ไม่เคยสนใจ คงมุ่งหน้าแต่การปฏิบัติพระธรรมกรรมฐานเพียงอย่างเดียว


อ้างอิง www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

☺....ฉะนั้นถ้าหาก " "ศิษย์พระป่า" มีความเห็นเช่นนี้ มิใช่ไปคัดแย้งกับครูบาอาจารย์ "สายพระป่า" กระนั้นหรือ หรือว่าเป็น "ศิษย์พระป่า" จอมปลอม ที่มิได้ศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วนำความเห็นของตัวเองออกมาให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย แล้วอยากจะถามต่อไปตามที่บอกไว้ว่า

"......พระพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ในโลกนี้มีรวมทั้งหมด ๕ รอยนั้น"

......ประการแรก ขอถามว่าทั้ง ๕ รอยนั้น "ศิษย์พระป่า" รู้ไหมว่าอยู่ที่ไหนบ้าง เคยไปมาแล้วหรือยัง หรือว่านั่งคิดเองแล้วอวดว่ามีปัญญา ใช้วาจาข่มบุคคลที่ไปกราบไหว้ จึงอยากแนะนำว่าไปให้ครบถ้วนทั้ง ๕ แห่งเสียก่อน โดยเฉพาะพระพุทธบาท "เขาสุมนกูฏ" อยู่บนยอดเขาสูงในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ แห่งนั้น ท่านได้ใช้ปัญญาไปมาแล้วหรือยัง ?



(พระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ ประเทศศรีลังกา นับเป็นรอยที่สูงที่สุดในโลก)

......ประการที่ ๒ การเดินทางไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทนั้น อยากจะถามว่าบารมีทั้ง ๑๐ ประการเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะขณะที่ไปนั้น เช่น ทานการเสียสละต้องมี เพราะบางแห่งมีภัยอันตราย จะต้องเสี่ยงต่อชีวิตร่างกาย, แม้ศีลก็ไม่ขาด, ปัญญาก็ต้องใช้พิจารณา, ขันติต้องอดทน, วิริยะต้องมีความเพียร, สัจจะต้องตั้งใจจริง เป็นต้น บารมีทั้ง ๑๐ เกิดขึ้นอย่างนี้ จะชื่อว่าได้บุญเพียงเบื้องต้นแค่นั้นหรือ ?



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved