ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 26/8/08 at 09:28 Reply With Quote

ประวัติ หลวงพ่อเล็ก เกสโร อดีตเจ้าอาวาส วัดบางนมโค


สำหรับ "ประวัติหลวงพ่อเล็ก เกสโร" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นการพิมพ์มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง โดยคุณ Ann_siriket เป็นผู้รับอาสาในการพิมพ์มาจากหนังสือที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ
หลวงพ่อเล็ก เกสโร
ซึ่งเป็น "พระหลวงลุง" ของหลวงพ่อฯ (เป็นพี่ชายของแม่ของหลวงพ่อ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ คือเป็น "พระคู่สวด" ของหลวงพ่อด้วย) หนังสือเล่มนี้หลวงพ่อเป็นผู้บันทึกและจัดพิมพ์มานานแล้ว เป็นหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่งที่หายาก หลวงพี่ชัยวัฒน์เป็นผู้เก็บรักษาเป็นมรดกตกทอดเอาไว้นานแล้วเช่นกัน

บัดนี้ พวกเราที่เป็นลูกหลานหลวงพ่อรุ่นหลัง นับว่าโชคดีที่จะได้มีโอกาสอ่านถ้อยคำของท่าน ที่ได้บันทึกเรื่องราวไว้ให้เป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะตอนท้ายประวัติจะเป็นการเขียนเรื่อง "อภิญญาปฏิบัติ" ซึ่งเป็นข้อเขียนที่ท่านยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอย่างในเวลานี้ ซึ่งสมัยนั้นท่านยังใช้นามปากกาว่า "พระมหาวีระ ถาวโร" จึงขอให้ทุกท่านได้ติดตามอ่านสำนวนของท่านในสมัยก่อนๆ ซึ่งจะทยอยลงไปเป็นตอนๆ จนกว่าจะครบถ้วน (ในสำนวนการพิมพ์สมัยนั้น อาจจะมีศัพท์ที่ไม่ตรงกับปัจจุบันนี้บ้าง)

สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
คำปรารภ
02. ประวัติหลวงพ่อเล็ก
03. อภิญญาปฏิบัติ
04. อุทุมพลิกาสูตร
05. ทำความเพียรสร้างกิเลสอีกอย่าง ๑
06. แวะคุยกันก่อน
07. กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต
08. เรื่องเบาสมอง
09. ตายครั้งที่ ๒
10. พระตาทิพย์
11. ตาทิพย์เมืองเหนือ
12. เรื่องของพระเก่า
13. งูกัดหลวงพ่อเนียม
14. ไปหาหลวงพ่อโหน่ง



เกสรานุสรณ์

พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ

หลวงพ่อเล็ก เกสโร



ณ เมรุวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

--------------------------

รวบรวมโดย

พระมหาวีระ ถาวโร

วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๐๘

--------------------------




หลวงพ่อเล็ก เกสโร

ชาตะ พ.ศ. ๒๔๒๘     มรณะ พ.ศ. ๒๕๐๗

พระผู้รักษาพระวินัย ยิ่งกว่าชีวิต





คำปรารภ

เนื่องในการประชุมเพลิงศพ หลวงพ่อเล็ก เกสโร อดีตเจ้าอาวาส วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ พระสมุห์อุไร เจ้าอาวาสวัดบางนมโคองค์ปัจจุบัน และ พระมหาเวก วัดดาวดึงสาวาส ธนบุรี ต่างฝ่ายต่างก็ส่งข่าวให้ข้าพเจ้าทราบ (หมายเหตุ พระมหาเวก เป็นพระน้องชายของหลวงพ่อฯ - ผู้พิมพ์)

และต่างฝ่ายก็ตั้งใจจะมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดงาน เจตนาอันดีของท่านทั้งสองนี้ ข้าพเจ้าขอเทิดทูนไว้เหนือความดีใด ๆ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ทรงไว้ซึ่งสัจจะธรรม มีอารมณ์ของจิตผ่องใสเปี่ยมไปด้วยกุศลเจตนา ประกอบไปด้วยอัปปัจจายนกรรม ตั้งใจยกย่องส่งเสริมในข้าพเจ้า

และน้ำจิตของท่านทั้งสองนี้ ยังเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีในท่านผู้ตาย เพราะต่างฝ่ายต่างแจ้งให้ทราบว่า จะจัดการงานศพคราวนี้ให้สมเกียรติ จิตสำนึกของท่านทั้งสองนี้ช่างเต็มไปด้วยมุทิตาธรรม น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง เมื่อข้าพเจ้าได้รับจดหมายจาก พระสมุห์อุไร และ พระมหาเวก แล้วรู้สึกเต็มตื้นและปลื้มใจในสามัคคี และกตัญญูของท่านทั้งสองฝ่าย แต่ก็ได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งผู้จัดงานไป เพราะข้าพเจ้าเวลานี้ไม่มีความเหมาะสมในตำแหน่งนี้เสียแล้ว เหตุผลก็คือ

๑. แก่เกินไปสำหรับตำแหน่งผู้จัดงาน

๒. ขาดทุนทรัพย์เพราะแต่ลำพังตัวเองก็เลี้ยงเกือบไม่ไหว

๓. มีสุขภาพไม่สมบูรณ์สามวันดีสี่วันไข้ บางวันอยู่ดี ๆ นึกจะป่วยขึ้นมา ก็ล้มฮวบฮาบหน้ามืดตามัวเอาเฉย ๆ รวมความแล้ว ข้าพเจ้าก็เหมือนซากศพที่เคลื่อนที่ได้นั่นเอง จึงได้ปฏิเสธเสียเพราะไม่เหมาะสมดังกล่าวมาแล้ว ได้แต่ยอมรับว่า เมื่อถึงวันเผาถ้าไม่ตายเสียก่อน หรือพอมีแรงจะทรงตัวได้ จะเดินทางมาร่วมเผาด้วย และรับจะพิมพ์หนังสือแจกชำร่วยในงานประมาณ ๓๐๐ เล่ม การพิมพ์ก็ต้องเป็นหนี้โรงพิมพ์เพราะไม่มีเงินสด

ในขณะที่หลวงพ่อเล็กกำลังป่วยอยู่นั้น คุณมหาเวกได้ส่งข่าวให้ทราบทางจดหมายบ้าง โทรเลขบ้าง ตัวเองไปพบบ้าง เวลานั้นข้าพเจ้าเองก็อยู่ในสภาพร่อแร่จะตายมิตายแหล่อยู่เหมือนกัน สตางค์ก็ไม่มีใช้ โรคภัยไข้เจ็บก็เล่นงานเอางอมแงมทีเดียว มีหลายครั้งที่คิดว่าจะชิงตำแหน่งผีก่อนหลวงพ่อเล็ก เขาว่าเคราะห์ดีผีคุ้มโบราณท่านว่า ถ้าไม่ถึงที่คงไม่ตายวายชีวาต ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ เป็นความจริงทีเดียว ขณะที่ป่วยอยู่ในสภาพรอความเป็นผีของข้าพเจ้าอยู่นั้น เงินจะซื้อยากินก็ไม่มี จะเหลียวซ้ายแลขวาหาญาติหรือก็ไม่มี เพราะมาอยู่ตามลำพัง

ครั้นจะขอพึ่งบารมีพวกเจริญวิปัสสนาแบบนิวเคลียร์หรือก็หมดหวัง เพราะ "วิปัสสนา" หรือ "วิปัสสะหนอ" นั้น เขาไม่ใช้พรหมวิหาร ๔ เพราะเขากลัวจะถ่วงหนักไปนิพพานไม่ได้ เขาเลยโละทิ้งไปเสีย เมื่อ "คณะวิปัสสนาหนอ" เขาไม่มีพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องนอนป่วยตามลำพัง จะเป็นจะตายเป็นเรื่องของข้าพเจ้า ส่วนพวกเขามุ่งพระนิพพานอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ไปถึงพระนิพพานกันหมดแล้วก็ไม่รู้ จากมาเสียหลายเดือนแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวเลย

เมื่อขณะป่วยหนักอยู่นั้น แขกไปมาหาสู่ก็เพิ่มขึ้นกว่าปกติ บางพวกรู้ว่าป่วยก็มาเยี่ยม บางพวกก็มาของให้ช่วยสงเคราะห์ ก็ได้พยายามอดกลั้นทุกขเวทนา ปกปิดอาการทุรนทุรายของสังขารเสีย ด้วยอธิวาทนะขันติธรรม ช่วยสงเคราะห์ไปตามหลักธรรมที่เรียนรู้และปฏิบัติได้ ได้ตัดสินใจเสียแล้วว่าโอกาสใดได้อนุเคราะห์ผู้มีทุกข์ด้วยธรรมแล้ว ถึงแม้จะต้องสิ้นลมปราณไปในขณะนั้นก็เต็มใจ เพราะการตายในระหว่างพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นการตายตามแบบของพุทธศาสนิกผู้กตัญญูต่อพระพุทธเจ้า แขกผู้มาหามาเยี่ยมแต่ละวัน ต้องรอคิวกันเข้าพบ เพราะสถานที่ไม่พอจะรับรองพร้อมกันได้

ในระยะนั้นเองก็ได้พบเทวดาชุบชีวิต เทวดา ๖ องค์นี้อยู่ไม่ไกล แต่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน พอเหมาะมาพบเข้าก็เกิดความสนิทสนมถูกอกถูกใจกันทันที ดูเหมือนกับเป็นพี่น้องคลานตามกันมา เมื่อทราบว่าป่วยก็เยี่ยมเช้าเยี่ยมเย็น ส่งอาหารที่เหมาะสมให้ทั้งเช้าทั้งเพล ทุกเย็นต้องออกไปเยี่ยม นำเครื่องดื่มที่สมควรเอาไปให้ จัดหายารักษาโรคให้ตามอาการของโรค ในที่สุดก็ถวายสังฆทานสร้างพระพุทธรูปแทนตัวให้ จนหายจากโรคพอมีชีวิตมาเขียนหนังสือนี้ได้ ก็เพราะอาศัยท่านทั้ง ๖ นี้เองชุบชีวิตไว้

เทวดาชุบชีวิตทั้ง ๖ นั้น ได้แก่

๑. ส.ต.อ.สง่า บัวเผือก
๒. แป้งล่ำ บัวเผือก
๓. คุณนายจันทร์นวล นาคนิยม
๔. สมบุญ กุหลาบศรี
๕. กิมลุ้ย แซ่ตั้ง


ทั้ง ๕ นี้เป็นชุดหนึ่ง และอีกท่านหนึ่งเป็นรายที่ ๖ ก็คือ เสริมศรี ส่งศิริ คนนี้ได้ส่งข้าวส่งน้ำให้ยารักษาโรคเหมือนกัน ในที่สุดได้ถวายสังฆทาน สร้างพระพุทธรูปแทนตัวให้ มาซื้อสัตว์ที่จะถูกฆ่ามาให้ปล่อย เป็นอันว่าทั้ง ๖ ท่านนี้เป็นคณะเทวดาชุบชีวิตของข้าพเจ้าร่วมกัน ที่เรียกว่า "เทวดา" ก็เพราะคณะทั้ง ๖ นี้ มีพรหมวิหาร ๔ เป็นคุณธรรมประจำใจ

ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตจนติดเป็นสันดานแล้ว เพียงเห็นกันครั้งเดียว คงไม่ลงทุนลงแรงเสียเงินเสียเวลามารักษาพยาบาลให้หมดเปลือง เพราะช่วยคนอย่างข้าพเจ้าจะเอาวัตถุอะไรตอบแทนได้ ตัวเองก็เต็มที่อยู่แล้ว จะใส่ปากใส่ท้องก็หาได้ยากเต็มทน

เมื่อสภาพของข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งว่าที่ผีอย่างนี้ ในสมัยเมื่อหลวงพ่อป่วยจึงไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติพยาบาล ได้แต่น้อมใจรำลึกถึง คิดอยู่เสมออยากจะไปเยี่ยมและพยาบาลด้วยตนเอง แต่ตนเองก็มีสภาพอย่างนั้น ในที่สุดก็ต้องเอาอารมณ์วิปัสสนาเข้าช่วย ไม่ใช่วิปัสสนาหนอนะ วิปัสสนาแบบของพระพุทธเจ้าในที่สุดก็ตัดใจได้หายกลุ้ม

เมื่อได้ข่าวการมรณะของท่าน กำลังเขียนเรื่องอุทุมพลิกาสูตร และตั้งใจจะเขียนกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์พร้อมด้วยมหาสติปัฏฐานสูตร และวิปัสสนาญาณโดยวิธีแก้ไขสำนวนให้อ่านง่าย เพราะตามแบบของท่านเป็นภาษาตำราอ่านยาก เพื่อประโยชน์แก่นักปฏิบัติ พอเขียนสูตรนั้นใกล้จะจบ ก็ได้ข่าวมรณภาพ เลยงดเขียนคำอธิบายและอย่างอื่น เพราะถ้าขืนเขียนตามแนวนั้น พ.ศ. นี้คงไม่ได้พิมพ์ จึงขอร้องให้บรรดาพวกเพื่อน ๆ ที่เกลียดบ้าน หันเข้าหาป่าเป็นเรือนตาย ช่วยกันเขียนตามกำลังและอารมณ์ ก็ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดี

แต่ครั้นเมื่อได้รับต้นฉบับครบ มาตรวจแล้ว ปรากฏว่าได้หนังสือเกินกว่า ๒๐ ยก ไปถามทางโรงพิมพ์ว่าจะทันไหม ทางโรงพิมพ์ตอบว่าไม่ทันแน่ เป็นอันว่าต้องตัดเอาพิมพ์เพียงเล็กน้อย ที่เหลือเอาไว้พิมพ์เล่มต่อไป เล่มนี้ขายผ้าเอาหน้ารอดไปคราวหนึ่งก่อน ขอท่านสหายที่รักโปรดทราบด้วย หนังสือเล่มหน้ามีแนวเขียนดังต่อไปนี้

๑. แก้ข้อสงสัยของผู้ถามปัญหามา ปัญหานี้มีเยอะแล้วไม่ต้องถามไปอีกก็ได้ คิดว่าตอบสัก ๑๐๐ หน้าก็เกือบไม่หมด
๒. บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๓. บารมี ๓๐ ทัศน์
๔. อุทุมพลิกาสูตร
๕. มหาสติปัฏฐานสูตร
๖. กรรมฐาน ๔๐ ทัศน์
๗. วิปัสสนาญาณ ๙

ประกอบไปด้วยการปฏิบัติเพื่อได้ฌาน ได้ญาณ และการใช้ญาณเพื่อประโยชน์แก่การตรวจโรค ตรวจกรรม การใช้กรรม การพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องนรก สวรรค์ พรหม พระนิพพาน ใช้ญาณเป็นเครื่องพิสูจน์ จะได้แนะนำวิธีที่จะนำญาณนั้นไปใช้เพื่อรู้ให้ละเอียดและง่ายที่สุด เท่าที่ความสามารถของข้าพเจ้าจะทำได้ ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เลิศ เป็นแต่เพียงพอทำได้บ้างเท่านั้น ท่านที่รู้ดีได้ดีกว่าข้าพเจ้าในปัจจุบันนี้มีอีกมาก หากท่านผู้อ่านไม่มองข้ามไปเสียแล้ว ก็คงจะพบท่านเหล่านั้นนานแล้ว

หนังสือเล่มหน้าตั้งใจว่าจะเขียนประมาณ ๔๐๐ หน้า ขนาด ๘ หน้ายก ปกแข็งเดินทอง ต้องใช้ทุนประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท ถ้าหากมีทุนพอเมื่อไร ก็จะเริ่มลงมือพิมพ์เมื่อนั้น พิมพ์แจกไม่ใช่พิมพ์ขาย ถ้าท่านผู้ใดประสงค์จะร่วมบำเพ็ญกุศลในส่วนธรรมทานแล้ว โปรดแจ้งตรงไปยังข้าพเจ้า คิดอัตราค่าพิมพ์เล่มละ ๓๐ บาท ท่านจะบำเพ็ญกุศลร่วมคนละกี่เล่มก็รับทั้งนั้น เมื่อพิมพ์เสร็จจะได้จารึกรายนามท่านผู้มีจิตเป็นกุศลร่วมออกทุนไว้ท้ายหนังสือ

พระมหาวีระ ถาวโร

ll กลับสู่ด้านบน






ประวัติหลวงพ่อเล็ก

หลวงพ่อเล็ก เกสโร เกิดปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ตำบลสาลี หมู่ที่ ๒ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ อ่อน มารดาชื่อ บุญมี มีพี่น้องร่วมท้องด้วยกัน ๙ คน คือ
๑. นางคล้าม
๒. นายเทศ
๓. นายไทย
๔. นายเล่
๕. หลวงพ่อเล็ก
๖. นางสมบุญ (โยมแม่ของหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร - ผู้พิมพ์เพิ่มเติมไปเอง)
๗. นางพลอย
๘ .นายช่วง
๙ .นางศาลา

อุปสมบท

อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดปากคลองบางยี่หน ใครเป็นอุปัชฌาย์นั้นจำไม่ได้ถนัด เคยได้ยินพูดว่าชื่อ "ทอง" หรืออย่างไรไม่ชัดเจน เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดสาลี อันเป็นวัดบ้านเกิดเมืองนอน ๑ พรรษา แล้วย้ายมาอยู่ วัดช่องลม ตำบลไผ่กองดิน ๑ พรรษา ในระยะ ๒ พรรษานี้มีความขยันหมั่นเพียรในการท่องหนังสือสวดมนต์เป็นอย่างดี พรรษาต้นได้ท่องจบเจ็ดตำนาน พรรษาที่ ๒ ท่องจบ "มหาสมัย" และ "ปาฏิโมกข์"

ในสมัยนั้นหาสถานศึกษายาก เมื่อท่องหนังสือสวดมนต์จบแล้วก็ไม่มีกิจอื่นอยู่กันเฉย ๆ เมื่อถึงเวลากลางคืนก็ซ้อมสวดมนต์แก้ว่างกันไป แบบทหารเมื่อฝึกวิชารบเป็นแล้ว ก็ซักซ้อมไว้เพื่อความชำนาญ ต่อมาได้คิดว่าถ้าอยู่เป็นพระแค่สวดมนต์อย่างนี้ คงไม่มีอะไรจะดีขึ้น ไม่สมกับบิดามารดาได้อุปถัมภ์เลี้ยงดูมา ได้ลงทุนลงแรงและสิ้นเปลืองทั้งทรัพย์และเวลา ควรจะหาสถานศึกษาเพื่อหาความรู้ใส่ตัว แล้วปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระธรรมวินัย เพราะพระนั้นถ้ารู้เพียงแค่สวดมนต์แล้ว อาจจะขาดจากความเป็นพระได้ไม่ยาก เพราะการที่ไม่ได้ศึกษาย่อมไม่รู้จักศีล

คำว่าพระมีศีล ๒๒๗ นั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วจะรู้ไม่ได้ เมื่อไม่รู้ว่าศีลคืออะไรก็ปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกศีลแล้วก็ไม่เป็นพระ ในปัจจุบันนี้พระประเภทหัวหลักหัวตอก็มีมาก ประเภทลิงหลอกจ้าวก็มีไม่น้อย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบวชไม่ได้เรียน พอบวชเข้ามาแล้วก็คิดว่าเมื่อไรจะออกพรรษา จะได้สึกออกจากพระ พระอย่างนี้เรียกว่าพระปลวก เป็นพวกเจาะไชพระศาสนาให้ทรุดโทรม ขอท่านผู้ปกครอง หรือบิดามารดาของกุลบุตรผู้จะบวช โปรดสังวรไว้ด้วย

ถ้าลูกของท่านบวชแล้วเป็นอย่างนั้น ท่านเองจะกลายเป็นผู้ลงทุนให้ลูกทำลายพระศาสนา แล้วผลที่ได้ก็คือลูกตกนรก พ่อแม่เสียเงินเสียทองเปล่า ๆ ดีไม่ดีก็พลอยตกนรกกับลูกไปด้วย เพราะเมื่อลูกทำผิดสมภารก็ต้องว่า เมื่อถูกสมภารว่าก็จะมาฟ้องพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ญาติพี่น้องพลอยโกรธเคืองสมภารผู้ทำถูกทำดีเพราะลูกไปฟ้องแล้ว พวกของท่านทั้งพวกก็จะกลายเป็นเหยื่อนรกทั้งหมดจงอย่าเกณฑ์ให้ลูกบวชตามประเพณี รอให้เขามีศรัทธาเสียก่อน แล้วคอยช่วยสมภารปราบด้วย จึงจะได้บุญ

พบหลวงพ่อปาน

เมื่อออกพรรษาที่ ๒ นั่นเอง ก็ได้พบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน ได้ติดตามมาอยู่วัดบางนมโค เรียนปริยัติธรรม สมัยนั้นหลวงพ่อปาน กับ อาจารย์เกี้ยวร่วมกันสอนบาลี ตามแบบสูตรและสนธิอยู่ท่านเรียนบาลีได้ดี เคยแปลหนังสือร่วมกับข้าพเจ้า ท่านแปลได้ไม่แพ้ข้าพเจ้าและดูเหมือนจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ

ในด้านการค้นคว้าในความรู้ทางพระศาสนามีความขยันค้นคว้ามาก ทุกวันเมื่อถึงเวลาบ่าง ๒ โมง เป็นต้องเข้าห้องดูหนังสือตลอดไปจนเย็น ต่อเมื่อถึง ๕ หรือ ๖ โมงเย็นแล้วจึงจะเลิก มีความชำนาญในวิสุทธิมรรคและอภิธรรมมาก จนกระทั่งเมื่อใกล้จะมรณภาพ เคยถามอภิธรรมแก่ท่าน ท่านว่าแบบอภิธรรมให้ฟัง ท่านจำได้ขึ้นใจคล้ายกับข้าพเจ้าจำยะถาสัพพี

จริยาวัตร

๑. ได้ปฏิญาณตนตั้งแต่วันแรกของวันบวช ว่าจะไม่ยอมด่าใคร ท่านรักษาสัจจะสำนึกนี้ไว้ได้ดีจนถึงมรณภาพ

๒. เคร่งครัดในพระวินัยมาก ไม่ยอมล่วงแม้แต่อาบัติเล็กน้อย

๓. มีพรหมวิหาร ๔ เป็นปุเรจาริก ห่วงหมาห่วงแมว ท่านเคยพูดว่าก็มันไม่มีไร่มีนากับเขา ถ้าเราไม่ให้ มันจะกินอะไร เรากับมันก็มีชีวิตเหมือนกัน เมื่อให้อาหารสัตว์ต้องหากับผสมจนพอใจ

๔. มีขันติธรรมเป็นอย่างเลิศ เคยถูกพวกเดียรถีย์ประนามให้อย่างหนักได้เคยออกปากชักชวนท่านให้ไปอยู่เสียที่อื่น ท่านพูดว่า เราดีเสียแล้ว ในโลกนี้ไม่มีใครเลว ท่านทนอยู่ได้ แต่ข้าพเจ้าเองกลับทนไม่ไหว ท่านดีกว่าข้าพเจ้าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

๕ มีสมณะธรรมสูงมาก เมื่ออยู่กันตามลำพัง เคยทดสอบสมณะธรรมร่วมกัน ปรากฏว่าญาณในสมณะหลายอย่าง เช่น เจโตปริยญาณ จุตูปปาตญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ยะถากรรมมุตาญาณ ท่านคล่องแคล่วมาก
ส่วนวิปัสสนาญาณนั้น ได้ถึงขั้นมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวใน "โลกธรรม" พูดตามอาการที่ปรากฏ แต่ส่วนแท้นั้นเป็นปัจจัตตัง ยากที่จะพูดให้ฟังตรง ๆ ได้ ขอให้เปรียบเทียบเอาเอง ฌานนั้นได้จบจตุถฌาน ส่วนอรูปฌานเจริญด้วยหรือไม่นั้นไม่เคยถาม

ท่านเป็นพระที่บัณฑิตสรรเสริญ แต่ไม่ถูกใจของคนพาล เพราะท่านไม่ยอมรับข้อเสนอเลว ๆ ของเหล่าพาล ฉะนั้นพวกเหล่าพาลจึงไม่รักและคอยนินทาว่าร้ายอยู่เสมอ ขณะนี้ท่านมรณภาพแล้ว ท่านพบความสุขอันแท้จริงอันเป็นผลเนื่องจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านแล้ว เหลือแต่พวกเราเดินดินที่มีความรักความอาลัยในท่าน รักด้วยความจริงใจบ้าง ทำเป็นรักต่อหน้าทาระกำนันบ้าง จะไปทางไหนกัน สวรรค์หรือนรกก็รู้ได้ยาก

พระมหาวีระ ถาวโร

ll กลับสู่ด้านบน

(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 5/9/08 at 08:52 Reply With Quote


<: หมายเหตุ :>


ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวต่อไป ผู้จำทำขอทำความเข้าใจต่อท่านผู้อ่านก่อนว่า ในสมัยก่อน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเฉพาะศิษย์ในกลุ่มของท่าน ซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก ต่อมาสมัยนี้ท่านก็ได้เขียนหนังสือ "คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน" ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่า และภายหลังท่านได้สอนวิชา "มโนมยิทธิ" อันเป็นวิธีการที่ลัดและง่ายกว่า แต่ถ้าจะปฏิบัติแบบ "สุกขวิปัสสโก" ก็ยังถือเป็นแนวปฏิบัติตามนี้ได้

ฉะนั้น การที่นำข้อเขียน "อภิญญาปฏิบัติ" ของท่านมาลงในเว็บนี้ เพื่อจะได้อ่านสำนวนของท่านสมัยก่อนเท่านั้น แต่การที่จะยึดถือแนวปฏิบัติ คงจะถือแนวปฏิบัติแบบเดิม คือเมื่อผึก "มโนมยิทธิ" ได้แล้ว ก็สามารถจะได้ญาณต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว จึงได้จำเป็นต้องย้อนกลับมาปฏิบัติแบบเดิมอีก เพราะการฝึกมโนมยิทธิเป็นทางลัดเข้าสู่ญาณทั้ง ๗ อันมี "ทิพยจักขุญาณ" เป็นต้น



อภิญญาปฏิบัติ

โดย

พระมหาวีระ ถาวโร




อภิญญา ๕

๑ อิทธิฤทธิญาณ มีความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๒ ทิพยโสตญาณ มีความรู้เหมือนหูทิพย์
๓ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของคนและสัตว์
๔ จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด
๕ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านรวมเรียกว่า “อภิญญา” เพราะมีความรู้เกินกว่าสามัญชนจะพึงรู้ได้ อภิญญาทั้ง ๕ นี้ เป็น “โลกียวิสัย” โลกียชนสามารถจะปฏิบัติ หรือ ฝึกหัดจิตของตนให้ได้ ให้ถึงได้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกวาสนาบารมี แต่เลือกเอาเฉพาะผู้ทำถูก ทำจริง และทำดี
ถ้าทำจริง ทำถูก และทำแต่พอดีแล้ว ได้เหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ท่านผู้รู้นอกลู่นอกทางเท่านั้น ที่จะทำไม่พบไม่ถึง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เมื่ออภิญญานี้เป็นของคนทุกชั้นทุกวรรณะแล้ว ทำไมนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้มีดื่น สำนักกรรมฐานก็ก่อตั้งกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด ทำไมเขาเหล่านั้นไม่มีใครได้อภิญญา?

ถ้าท่านถามอย่างนี้ ก็ขอตอบว่า ที่เขาได้เขาถึงในปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่กล้าแสดงตนให้ท่านทราบ เพราะดีไม่ดีท่านนั่นแหละจะหาว่าเขาบ้า ๆ บอ ๆ เสียก็ได้ ที่ปฏิบัติกันเกือบล้มเกือบตาย ไม่ได้ผลอะไรเลย แม้แต่ปฐมฌานก็มี ที่ไม่ปรากฏผลก็เพราะเขาปฏิบัติไม่ถูก
บางสำนักไม่แต่เพียงปฏิบัติไม่ถูกอย่างเดียว ยังแถมสร้างแบบสร้างแผนปฏิบัติเป็นของตนเอง แล้วแอบอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ทำการโฆษณาคุณภาพแล้วก็สอนกันไปตามอารมณ์ ตามความคิดความนึกของตัว พอทำกันไปไม่กี่วันก็มีการสอบเลื่อนชั้น เลื่อนลำดับ แล้วออกใบประกาศรับรองว่าคนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้

ครั้นพิสูจน์กันเข้าจริง ๆ ปรากฏว่าไม่ได้อะไรเลย แม้แต่อุปจาระฌานก็ไม่ได้ แล้วยังแถมมีจิตคิดผิด หลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก กรรมหนักแท้ ๆ ในบางสำนักก็ให้ชื่อสำนักของตนเป็นสำนักวิปัสสนา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามลัทธิของตน ถูกหรือผิดไม่รู้
แล้วแถมยังคุยเขื่องอีกว่าพวกฉันเป็นพวกวิปัสสนา ฉันไม่ใช่สมถะ พวกสมถะต่ำ ไปนิพพานยังไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาของฉันเป็นทางลัดไปนิพพานโดยตรงเลย น่าสงสารแท้ ๆ ช่างไม่รู้เก้ารู้สิบเอาเสียเลย ความรู้เรื่องไปนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ไม่ได้ปิดบังอำพลางแต่ประการใด

ท่านสอนว่า ผู้ที่มุ่งพระนิพพานนั้น ในขั้นต้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ที่เรียกว่า "อธิศีลสิกขา" เมื่อปรับปรุงศีลอันเป็นเครื่องระงับความชั่วทางกายวาจาได้แล้ว ก็ให้เข้ามาปรับปรุงใจ ใจนั้นมีสภาพดิ้นรน กลับกลอก ไม่อยู่นิ่ง คล้ายลิง ให้ผูกใจมัดใจให้มีสภาพคงที่มั่นคงเสียก่อน โดยหาอุบายฝึกใจให้จับอยู่ในอารมณ์เดียว คือคิดอะไรก็ให้อยู่ในวัตถุนั้น ไม่สอดส่ายไปในวัตถุอื่น ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือเรียกตามชื่อของกรรมฐานว่า สมถกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ การทำใจให้สงบนี้ จะโดยวิธีใดก็ตาม เรียกว่า “สมถะ” ทั้งนั้น

อุบาย ๗ กลุ่ม

อุบายที่ทำใจให้สงบระงับไม่ดิ้นรนนี้ พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ถึง ๔๐ แบบ จัดเป็นกลุ่มได้ ๗ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ เอาไว้ปราบพวกรักสวยรักงาม เรียกว่า ราคะจริต
กลุ่มที่ ๒ เอาไว้ปราบพวกใจร้ายใจอำมหิต เรียกว่า โทสะจริต
กลุ่มที่ ๓ เอาไว้ปราบพวกหลงงมงาย เรียกว่า โมหะจริต
กลุ่มที่ ๔ เอาไว้ปราบพวกเชื่อง่ายไม่มีเหตุผล เรียกว่า ศรัทธาจริต
กลุ่มที่ ๕ เอาไว้ปราบพวกช่างคิด ช่างนึก ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เรียกว่า วิตกจริต
กลุ่มที่ ๖ เอาไว้ปราบพวกฉลาดเฉียบแหลม เรียกว่า พุทธจริต
กลุ่มที่ ๗ เป็นกรรมฐานกลาง ปฏิบัติได้ทุกพวก

เมื่อสามารถระงับใจให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ พอจะใช้งานด้านวิปัสสนาได้ ที่เรียกว่าได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับอย่างนี้ เรียกว่า อธิจิตสิกขา เป็นการเตรียมการลำดับที่ ๒ แล้วจึงเอาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นจนถึงลำดับฌานแล้วนี่แหละ ไปวิจัยด้านวิปัสสนา

คำว่า “วิปัสสนา” นั้น แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง หรือถ้าจะพูดตามภาษานิยมก็เรียกว่า ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมดานั่นเองแล้วก็พวกวิปัสสนาลัดทุ่งลัดป่า ที่ไม่ยอมปรับปรุงศีล ไม่ปรับปรุงสมาธิ ที่เรียกว่าสมถะแล้ว เอาอะไรมาเป็นวิปัสสนา เห็นสำเร็จมรรคผล ซื้อไร่ ซื้อนา รับจำนำจำนองกันให้ยุ่งไปหมด อย่างนี้เรียกว่าถึงมรรคถึงผลแล้วหรือ น่าขายขี้หน้าชาวต่างชาติต่างศาสนา เขามาประเดี๋ยวเดียวเขาก็คว้าเอาของดีไปหมด เราอยู่ในเมืองพระพุทธศาสนา มัวทำตนเป็นปีศาจอย่างนี้ ในที่สุดก็ไปทำให้พระยายมมีงานมากขึ้น

ฝึกอภิญญาปฏิบัติ

เพื่อย่นเวลาอ่านให้สั้นเข้า จึงใคร่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้ได้เห็นวิธีฝึกใจเพื่อได้อภิญญาเสียเลย แล้วจึงจะได้เขียนถึงวิธีเตรียมการณ์ไว้ท้ายบท

อภิญญาที่ ๑ อิทธิฤทธิญาณ

อภิญญาที่ ๑ นี้ ผู้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนกสิณ ๑๐ ให้ชำนาญจากอาจารย์ผู้สอนเสียก่อน ถามวิธีฝึกและข้อเคล็ดลับต่าง ๆ ให้เข้าใจ เมื่อขณะฝึกนั้นถ้ามีอะไรสงสัยให้รีบหารืออาจารย์ อย่าตัดสินเองเป็นอันขาด ข้อสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเรียนนั้นดูอาจารย์เสียก่อนว่าได้แล้วหรือเปล่า ถ้าอาจารย์ไม่ได้ก็จงอย่าไปขอเรียนเลย เคยเห็นพาลูกศิษย์ลูกหาไปผิดลู่ผิดทาง เลอะเทอะกันมาแล้ว

เมื่อเห็นอาจารย์ได้จริงแล้วก็เรียนเถิด ท่านคงไม่พาเข้ารกเข้าป่า เมื่อทำกสิณได้ชำนาญทั้ง ๑๐ อย่างแล้ว ท่านให้พยายามเข้าฌานตามลำดับฌานแล้วเข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน แล้วเข้าฌานสลับกสิณ ทำให้คล่อง นึกจะเข้าเมื่อไรเข้าฌานได้ทันที นอนหลับพอรู้สึกตัวก็เข้าฌานได้ทันที กำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังพูด อ่านหนังสือ ดูมหรสพ หรือในกิจต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ เมื่อคิดว่าเราจะเข้าฌานละ ก็เข้าได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้อภิญญาที่ ๑ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ

อภิญญาที่ ๒ ทิพยโสตญาณ

ญาณหูทิพย์นี้ ท่านให้เข้าฌานในกรรมฐานกองใดกอง ๑ ก็ได้ เป็นกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกรรมฐานกองนี้ทรงคุณถึงฌานที่ ๔ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทรงคุณไม่เสมอกันหรืออย่างไร

ขอตอบว่ากำลังของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ไม่เท่ากัน เช่น อนุสติ ๓ คือ พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นต้น ทรงกำลังได้เพียงอุปจารฌาน กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ จตุธาตุ ๔ เป็นต้น ทรงกำลังได้ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้เป็นฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท เพราะทรงอภิญญาไว้ได้ กำลังของกรรมฐานไม่เท่ากันอย่างนี้ ท่านจึงให้เลือกกรรมฐานเข้าฌาน เข้าให้ถึงฌานที่ ๔ แล้ว ถอยจิตออกจากฌานให้ตั้งอยู่เพียงอุปจารฌาน

แล้วคิดคำนึงถึงเสียงที่ได้ยินมาแล้วในเวลาก่อน ๆ ในระยะแรกให้คำนึงถึงเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงหวูดรถไฟ เรือยนต์ แล้วค่อยคำนึงถึงเสียงที่เบาลงมาเป็นลำดับ จนถึงเสียงกระซิบ และเสียงมดปลวก ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ยินเสียงคำนึงด้วยจิตในสมาธิ จนเสียงนั้น ๆ ก้องอยู่ คล้ายกับเสียงนั้นปรากฏอยู่เฉพาะหน้าและใกล้หู ต่อไปก็คำนึงถึงเสียงที่อยู่ไกล ข้ามบ้าน ข้ามตำบล อำเภอ จังหวัด และเสียงที่บุคคลอื่นพูดแล้วในเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว เมื่อเสียงนั้น ๆ ปรากฏชัดแล้ว เป็นอันว่าได้ทิพยโสตญาณ หูทิพย์ ในอภิญญาที่ ๒

อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ

ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ในขณะนี้ หรือก่อน หรือในวันต่อไป เจโตปริยญาณก็ดี จุตูปปาตญาณก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพยจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพยจักขุฌาน คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ "เจโต" และ "จุตูปปาตญาณ" เอง ทิพยจักขุฌานนั้น เป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น

เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจาระฌาน คือเจริญ อาโลกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌานแล้ว กำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกัน

๑. การเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต เมื่อเพ่งนิมิต คือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์ หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้นเมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกอง ๑ ใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึก "ทิพยจักขุญาณ" ได้แล้ว ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑-๒-๓-๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์

๒. เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า "เจโตปริยญาณ"

๓. และรู้ต่อไปว่า สัตว์ตัวนี้ หรือคน ๆ นี้ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ"

๔. และรู้ต่อไปว่า สัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไร ที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากรรมมุตาญาณ"

๕. สามารถรู้เรื่องในอดีต คือ ที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ"

๖. รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังญาณ"

๗. และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสติญาณ"

รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่าง ๑ แล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก

ในหนังสือนี้จะเขียนแต่เพียงบอกทางปฏิบัติ หรือจะเรียกว่าแนะวิธีปฏิบัติก็ได้ จะไม่เขียนวิธีปฏิบัติไว้ให้ในปีนี้ ท่านผู้สนใจในกรรมฐาน ๔๐ ของพระพุทธเจ้า โปรดสละเงินสัก ๖๐ บาท ไปหาซื้อ "หนังสือวิสุทธิมรรค" จากร้านขายหนังสือ แล้วเอามาอ่านมาเรียนกันเอาเอง เมื่อไม่เข้าใจตอนไหนก็ไปถามท่านผู้รู้จริง ไม่ใช่รู้หลอกลวง แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านก็จะได้ผลสมความมุ่งหมาย

ปรับพื้นใจ

ไม่ว่าอะไร จะเป็นบ้าน ตึก เรือน โรง หรือถนนหนทางก็ตามทีก่อนจะสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ต้องปรับพื้น ตอกหลัก ปักเข็มกันซุดเสียก่อน แม้การเจริญอภิญญาปฏิบัติก็เหมือนกัน อยู่ ๆ จะมาปฏิบัติเพื่อทำให้ได้แบบชุบมือเปิบนั้น ไม่มีทางสำเร็จแน่ ต้องปรับปรุง กาย วาจา ใจ ให้เข้ามาตรฐานเสียก่อน

ถ้ายังรู้จักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ลูกเขาเมียคนอื่น โกหกตอแหล ดื่มเหล้าเมาสุรา หรือยังรู้จักอิจฉาริสยาชาวบ้านชาวเมือง สะสมกอบโกย กลั่นแกล้ง ตระหนี่ขี้เหนียวอยู่แล้ว อย่าคิดอย่าฝันเลย ว่าจะพบอภิญญากับเขา อภิญญารักคนดี เกลียดคนชั่ว

ฉะนั้นสมัยนี้พวกนักต่าง ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ หรือนักศาสตร์อื่น ๆ จนกระทั่งนักศาสตร์ขี้เหล้าเมายา ก็พากันวิภาควิจารณ์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ อยากจะรู้อยากจะเห็นด้วยตาตนเอง ถ้าอยากรู้อยากเห็นจริงแล้ว เชิญทดลองปฏิบัติได้เลย ขออย่างเดียวทำตนให้เข้ากับหลักสูตรให้ได้เสียก่อน

ถ้าทำตนของท่านให้เข้ากับหลักสูตรไม่ได้แล้ว ก็ควรเลิกฝอย เสียเวลาเปล่า ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาหรือนักอะไรทั้งนั้น ถ้าความประพฤติไม่ดีไม่เหมาะสมแล้ว โรงเรียนหรือสถานที่นั้น ๆ เขาก็คงไม่ต้องการ เรื่องความรู้หรือค่าแรงงานก็เป็นอันไม่ได้รับ

อภิญญานี้ก็เหมือนกัน ขอให้ทำตนให้เหมาะสมเสียก่อนแล้วจึงเข้ามาปฏิบัติ คำว่าทำตนให้เหมาะสมนี้ ท่านอย่าคิดนะว่า ถ้าได้โกนหัวห่มเหลืองแล้วจะใช้ได้ ชนิดโกนหัวห่มเหลืองนี้ ที่เป็นหนอนบ่อนไชพระพุทธศาสนาก็ไม่น้อย บวชแล้วแทนที่จะช่วยกันบำรุงพระศาสนา แต่กลับไปติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญเยินยอ ประกาศพระศาสนาแข่งกับพระพุทธเจ้า โปรดสังเกตดูเถอะหาไม่ยาก ฉะนั้นการทำตนให้เหมาะสมจึงไม่ใช่จะต้องบวช เอาเพียงประพฤติให้ถูกเท่านั้น เป็นพอดีแล้ว

ll กลับสู่ด้านบน

(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))

อุทุมพลิกาสูตร



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 13/9/08 at 09:57 Reply With Quote



(Update 13 ก.ย. 51)

อุทุมพลิกาสูตร

การทำถูกทำดีนั้นเขาทำกันอย่างไร ในหนังสือนี้ขอนำเอาพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของศาสนามาเล่าสู่กันฟังจะได้รู้ว่าการปฏิบัติเพื่ออภิญญา และพระนิพพานนั้น ในหลักสูตรของพระพุทธศาสนาท่านวางไว้อย่างไร ท่านผู้อ่านได้เคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม อาจไม่ใคร่ตรงกันหรือบางทีก็ไปพบเอาลัทธิของบรรดานักปราชญ์มือเปล่ากระเป๋าโบ๋เข้า แต่งหนังสือให้ชาวบ้านอ่านได้เป็นวรรคเป็นเวร แต่ตัวเองแม้แต่ศีล ๕ ก็รักษาไว้ไม่ได้ ดีไม่ดีแถมกินเหล้ากำลังมึนอยู่นั่นแหละ เขียนธรรมสอนชาวบ้าน เป็นอันว่าผู้อ่านก็อ่านคำสอนของขี้เมา

เมื่อคนเขียนเมา มือที่จับปากกาก็เมาไปด้วย เมื่อปากกาเมาแล้ว เส้นน้ำหมึกที่ไหลไปติดกระดาษก็เมา เมื่อน้ำหมึกเมาแล้ว ตัวอักษรที่เป็นข้อความนั้นก็เมา เมื่อตัวอักษรเมาคนอ่านก็พลอยเมาไปด้วย แล้วอะไรต่อไปล่ะ เมื่อคนอ่านบรรจุความเมาเข้าไปแล้ว ไปอยู่บ้านบ้านก็พลอยเมา หมายถึงคนในบ้านนั้นพลอยเมาไปด้วย เพราะเขาอ่านมาก เขาดูมาก เขาจำได้มาก ต้องเชื่อเขา เมื่อเชื่อคนเมาก็พลอยเมาตาม เมื่อความเมาขยายมาถึงขนาดนี้แล้ว ต่อไปในตำบลนั้นก็เมา เพราะความรู้เมา ๆ แพร่ไป แล้วก็ในเขตอำเภอ เขตจังหวัด เขตประเทศ เลยขยายไปประเทศนี้ แล้วก็ประเทศโน้น ในที่สุดขยายไปเต็มโลก เป็นอันว่าโลกนี้ทั้งโลกเมาหมด เพราะนักปราชญ์ขี้เมาคนเดียว

ทีนี้ถ้าตายไปแล้ว ไปโลกพระยายม ก็ทำให้โลกนั้นเมาไปด้วย เพราะพระยายมแกจะนั่งกะจู๋ กะจี๋กับเมียแกสบาย ๆ บ้าง พอดีพ่อนักปราชญ์เมาลงไปแกก็เลยต้องมาเมาสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงโทษ คราวนี้ความเมาก็เข้าไปถึงนายนิริยะบาล พอจะได้พักผ่อนหย่อนใจ ไปเที่ยวสงขลาหัวหินบ้างก็ไปไม่ได้ เมื่อได้รับคำสั่งแล้วก็ต้องเมาตามคำสั่ง ลากลู่ถูกังพาพ่อนักปราชญ์ขี้เมาลงหลุมนรกไป แล้วเริ่มเมาทิ่ม เมาแทง สับฟันพ่อนักปราชญ์ขี้เมานั้นให้ย่อยยับไป

เมื่อศาสดาขี้เมาลงไปก่อนแล้วในโอกาสต่อไป พวกสาวกขี้เมาก็ต้องลงตามไปเป็นลำดับ ทำให้เมืองนรกต้องเมาไม่สร่าง นี่แหละเพราะเมาเขียนหนังสือธรรมเมื่อขณะยังมึน เรื่องเมาของนักปราชญ์นี้ยังค้างให้อ่านอยู่ คือ เรื่องพระนิพพาน ท่านว่าไว้ว่า พระอรหันต์นิพพานแล้ว เหมือนควันไฟลอยไปในอากาศ ไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่หมาย พ่อคุณเถอะ..เขียนส่งเข้าไปได้ แล้วคนรุ่นหลังก็จดจำเข้าไว้ เมื่อข้าพเจ้าเรียนมาครูก็สอนแบบนั้น ต่อเมื่อมาค้นคว้าตามหลักพุทธศาสตร์ และพบในเรื่องยมกสูตร ในพระสุตตันตปิฎกตรงกัน ว่าการเข้าใจเช่นนั้นผิด ท่านหาว่าเป็นทิฏฐิชั่วหยาบ นี่แหละเป็นอย่างนี้

ก่อนเขียนไม่ค้นคว้าให้แน่นอน เขียนตามอารมณ์ความเมาทำให้เสียเรื่องเสียราวอย่างนี้แหละ ทำเอาคนที่หวังความดีต้องเสียผู้เสียคนไปเสียเยอะแยะ เหมือน ๆ กับพวกศาสดากรรมฐานยุคนิวเคลียร์นี่แหละ เมารู้ เมาสำเร็จ ประกาศกันโครมคราม สำนักฉันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แบบแผนของฉันวิเศษ ไม่มีของใครวิเศษเหมือน แล้วก็เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ลูกหางอมแงมไปตามกัน เสียทั้งเวลา เสียทั้งทรัพย์สินเงินทอง อะไรสักนิดก็ไม่ได้ ได้แต่ความโลภโมโทสันของอาจารย์เจ้าสำนัก นี่พูดถึงแต่สำนักที่เลวนะ ที่ดีก็มีเยอะ แต่ก็อ่อนโฆษณา เพราะว่าท่านถือว่าท่านทำถูกทำดี ท่านเลยเฉยเสีย ใครอยากกินยาพิษเชิญทางโน้น ใครอยากกินยารักษาโรคมาทางนี้ อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้ ของท่านดีเหมือนกัน

คราวนี้เราจะทำอย่างไรกันถึงจะรู้ว่า อาจารย์สำนักไหนถูกหรือผิด เพราะชาวบ้าน หรือพระบวชใหม่ไม่เคยรู้เคยเรียนมาก่อน เพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง และเลือกสำนักให้ได้ดี มีผลทางปฏิบัติ ขอแนะนำวิธีเลือกสำนักดังต่อไปนี้ สำนักใด ถ้ามีปฏิปทาตรงกับที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ในอุทุมพลิกาสูตรแล้ว ให้เข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาได้ ถ้าสำนักใดปฏิบัติไปตามแนวทาง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ว่าผิดทาง ไม่เป็นสาระแก่นสาร หรือเป็นปฏิปทาทำให้เกิดอุปกิเลสแล้ว ให้รีบหนีเสียโดยเร็วเถอะ ดีไม่ดีจะเป็นอย่าง พระเทวทัต กับ พระโกกาลิกะ เพราะต้นเหตุพระเทวทัตทำผิดคนเดียวทำเอา พระโกกาลิกะ ผู้ยอมตัวเป็นศิษย์ลงอเวจีไปด้วย

เอาละนะ..จะนำเรื่องใน อุทุมพลิกาสูตร มาเขียนให้อ่าน แต่กลับไปพูดเรื่องอะไรต่ออะไรเสียยาวเหยียด ขออภัยด้วย มันจำเป็นจะต้องเขียนไว้เพื่อกันความหลงผิด จะได้ปฏิบัติถูกลู่ถูกทางตามความตั้งใจ

ใจความใน "อุทุมพลิกาสูตร" มีดังนี้

สูตรนี้ มีมาใน คัมภีร์ทีฆนิกายปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่ม ๑๑ หน้า ๔๑

ในท้องเรื่องเล่าไว้ว่า ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับสำราญอิริยาบถอยู่ บนยอดภูเขาชื่อว่า "คิชฌกูฎ" (ภูเขาลูกนี้ตรงยอดมองดูไกลๆ แล้วเหมือนแร้งจับอยู่) ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์นัก พอไปในเมืองได้สะดวก ครั้งนั้นมีปริพาชกเจ้าสำนักชื่อว่า อุทุมพลิการาม คนหนึ่งชื่อว่า นิโครธปริพาชก มีปริพาชกบวชอยู่ในสำนักประมาณ ๓๐๐ คน พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกเป็นอันมากกำลังนั่งประชุมกันอยู่

เวลาเที่ยงวัน ๆ นั้น ท่านสัณฐานคฤหบดี สาวกของพระพุทธเจ้าออกจากบ้าน ประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม แต่พอเดินออกจากบ้าน ไปกระทบความร้อนเข้า ก็กลับคิดได้ว่า เออ..เวลานี้เป็นเวลาเที่ยงวัน พระท่านฉันเพลแล้วท่านจะได้พักผ่อนบ้าง ถ้าเราไปหาท่านเวลานี้จะเป็นการรบกวนเกินไป รอพอเวลาบ่ายลมโชยมาอ่อนๆ เมื่อพระท่านได้พักผ่อนพอสบาย อาหารย่อยดีแล้วเราจึงค่อยไปเฝ้าพระพุทธองค์ และไปหาพระสงฆ์บางรูปเพื่อท่านจะได้แสดงธรรมให้ฟัง

แล้วเขาก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราจะกลับเข้าบ้านในตัวเมือง ดีไม่มีไปพบธุระสำคัญ หรือเพื่อนบ้านมาหาเสีย ก็จะไม่มีเวลาได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เอาอย่างนี้ดีกว่า ไหน ๆ ก็เดินมาแล้ว และก็ใกล้วัดอุทุมพลิกาเข้าไปแล้ว ไถลเข้าไปคุยกับพวกปริพาชกเพื่อถ่วงเวลาสักครู่พอได้เวลาพอสมควรจึงค่อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อคิดและตัดสินใจแล้ว จึงได้มุ่งหน้าเดินเข้าไปในวัดอุทุมพลิกา ของนิโครธปริพาชก ได้ทักทายปราศรัยกับท่านสมภารใหญ่นิโครธะแล้ว ก็นั่งลงในที่อันสมควรแก่ตน เมื่อขณะนั่งคุยกันอยู่นั้น พวกปริพาชกไม่ได้พูดเรื่องธัมมะธัมโมเหมือนพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

มีแต่เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาพูดมาคุยนินทาคนโน้น ติเตียนคนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่มีระเบียบวินัย พูดหัวร่อต่อกระซิก เฮ ๆ ฮา ๆ ไม่เป็นสมณสารูป ไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าไหว้ ไม่น่าบูชา เอ..ก็สมัยนี้พระสงฆ์เราที่บวชเข้ามาในศาสนานี้ มีพวกเหล่ากอนิโครธปริพาชกมาบวชบ้างหรือเหล่าก็ไม่รู้ เคยเห็นชอบหาเรื่องหาราว ยุแยงตะแคงแสะ ยุให้รำตำให้รั่ว กินข้าวของชาวบ้านแล้วก็นินทาชาวบ้านก็มี อ้ายพวกสันดานเลว ๆ อย่างนี้ ถ้าจะเป็นเหล่ากอของนิโครธปริพาชกมาเกิด และปลอมเข้ามาบวช

สัณฐานคฤหบดีทนฟังอยู่เฉย ๆ ไม่ไหว ก็พูดขึ้นว่า เอ..นี่สำนักของท่านนี่ดูไม่เป็นเรื่องเลยนี่ ผมนั่งฟังอยู่นานแล้ว ไม่เห็นพูดในเรื่องที่เป็นสาระประโยชน์เลย มีแต่เรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ สู้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกไม่ได้ มีแต่เสด็จประทับอยู่ในที่สงัด อีตา..นิโครธปริพาชกสมภารใหญ่ พอได้ฟังท่านคฤหบดีว่าอย่างนั้น ต่อหน้าที่ประชุมก็โกรธ ได้พูดตอบว่า

พระสมณโคดมจะพูดจะคุยกับใครได้ หาความรู้ความฉลาดมาจากไหน ปัญญาของพระสมณโคดมหล่นหายเสียแล้ว ตามที่ว่างบ้านเรือนจึงไม่กล้าเข้าสู่ที่ประชุม ไม่อาจสนทนาปราศรัยกับใครได้ จึงได้ หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่แต่ในป่า มีกิริยาเหมือนโคตาบอดข้างเดียว เที่ยวหลบอยู่ตามชายป่าเท่านั้น ขอเชิญให้พระสมณโคดมมาที่ประชุมนี้หน่อยเถอะ เราจะถามปัญหาเพียงข้อเดียว จะให้พระสมณะโคดมนั่งก้มหน้านิ่ง เหมือนคว่ำหม้อเปล่าลงทีเดียว

ตามบาลีว่า ขณะที่ทั้งสองพูดกันอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงได้ยินเสียงของทั้งสองคนพูดกันด้วยทิพยโสต จึงได้เสด็จลงจากยอดเขาคิชฌกูฏ ทรงเดินจงกลมอยู่ในที่โมฬนิวาปวิหาร ริมแม่น้ำสุมาคธา ไม่ไกลจากที่ทั้งสองคนพูดคุยกันนัก พอเห็นกันได้ถนัด

ท่านสมภารนิโครธะแลเห็นเข้า ก็รีบบอกให้บริวารของตนเงียบเสียงแล้วพูดต่อไปว่า
นี่ขอเชิญให้พระสมณโคดมเข้ามาในที่ประชุมนี่ซิ เราจะถามปัญหาว่าพระองค์ทรงแนะนำด้วยธรรมใด พวกสาวกจึงถึงความยินดียืนยันอริยะมรรคธรรมนั้นเป็นอย่างไร เราจะถามพระสมณะโคดมอย่างนี้พวกเธอจงนิ่ง ปริพาชกลูกวัดพากันนิ่งเงียบตามคำสั่งสมภาร

พอเขาพูดจบ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมาสู่ที่ประชุม เขาทูลเชิญให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้รับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับนั่งแล้ว ได้ทรงตรัสถามว่า นิโครธะ เธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
ขอแวะตรงนี้อีกสักนิดเถอะ ท่านผู้อ่านเห็นหรือยังว่า พวกที่เขาได้อภิญญาอย่างพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเขาพูดเรื่องอะไร ก็ทำเป็นไม่รู้ ฉะนั้นพวกที่ทรงอภิญญาในสมัยปัจจุบันก็เหมือนกัน เขาก็ทำตนเหมือนคนไม่ได้อะไร เขาไม่เที่ยวแสดงสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนเถรตำราหรอก เล่าเรื่องพระสูตรต่อไปดีกว่า มันอดแวะข้างทางไม่ได้..ขอโทษด้วย !

นิโครธะตอบว่า เมื่อกี้นี้ขณะที่พระองค์เดินอยู่ ณ ที่โน้น ข้าฯ ได้พูดว่า เชิญพระสมณโคดมมานี่ซิ เราจะถามปัญหาว่า พระองค์ทรงแนะนำสาวกด้วยธรรมใด พวกสาวกจึงถึงความยินดี ยืนยันอริยะมรรคธรรมนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นถ้อยคำที่สนทนากันค้างอยู่ ก็พอดีพระองค์เสด็จมาถึง

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ..เธอมีทิฏฐิอย่าง ๑ มีความเห็นควรเห็นชอบอย่าง ๑ ไม่เหมือนกับของเรา ยากที่เธอจะรู้ได้ว่า เราแนะนำสาวกอย่างไร พวกสาวกที่เราแนะนำแล้ว ยืนยันพรหมจรรย์ต้นตามอัธยาศัยได้อย่างไร นอกจากลัทธิของเธอ นอกจากอาจารย์ของเธอ เพราะฉะนั้น เธอจงถามปัญหาเราในอธิเชคุจฉะ คือการเกลียดชังบาปด้วยความเพียร ซึ่งเป็นวาทะอาจารย์ของเธอว่า ตะโปชิคุจฉะ..คือการเกลียดชังบาปด้วยความเพียรชนิดไร..จึงชื่อว่าสมบูรณ์ ชนิดไร..จึงนับว่าไม่สมบูรณ์

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ พวกปริพาชกลูกวัดและบริวาร ก็พากันเปล่งเสียงดังขึ้นพร้อมกันว่า น่าอัศจรรย์ในการที่พระสมณโคดม ได้งดวาทะของตนไว้ ให้ถามด้วยวาทะของผู้อื่นอย่างนี้

นิโครธะสมภารใหญ่ สั่งให้ลูกวัดและลูกน้องหยุดเสียงดัง แล้วทูลตอบไปว่า พวกข้าพเจ้าเป็นตะโปชิคุจฉะวาทะ คือเป็นผู้เกลียดชังบาปด้วยความเพียร เป็นผู้ติดอยู่ในตะโปชิคุจฉะ คือในการเกลียดชังบาป งดเว้นบาปด้วยความเพียร ตะโปชิคุจฉะอย่างไรบริบูรณ์ คือบริสุทธิ์ อย่างไรไม่บริบูรณ์ คือไม่บริสุทธิ์ พระเจ้าข้า

บำเพ็ญความเพียรสร้างกิเลส ๑

พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า พวกทำตะบะ คือทำทุกกิริยาในลัทธิของพวกเธอนั้น ๑ ย่อมไม่นุ่งผ้า ๒ ปล่อยมรรยาท ๓ เช็ดอุจจาระด้วยมือ ๔ ไม่ยืนรับบิณฑบาตที่เขาบอกว่าจงมาทางนี้ ๕ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาบอกว่าจงหยุดก่อน ๖ ไม่รับบิณฑบาตที่เขานำมาให้เฉพาะ ๗ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาทำไว้เฉพาะตัว ๘ ไม่ยินดีต่อการนิมนต์ ๙ ไม่รับบิณฑบาตจากหม้อข้าว ๑๐ ไม่รับจากกระเช้าข้าว

๑๑ ไม่รับในระหว่างแกะ ๑๒ ไม่รับในระหว่างครกข้าว ๑๓ ไม่รับในระหว่างสากตำข้าว ๑๔ ไม่รับในระหว่างไม้ฆ้อน ๑๕ ไม่รับในระหว่างคนสองคนที่กำลังกินอยู่ ๑๖ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงครรภ์ ๑๗ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงแม่นม ๑๘ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงที่ไปสู่ระหว่างบุรุษ ๑๙ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาจำกัดไว้ ๒๐ ไม่รับบิณฑบาตในที่มีสุนัขอยู่

๒๑ ไม่รับบิณฑบาตในที่มีแมลงวันเกาะอยู่ ๒๒ ไม่กินปลา ๒๓ ไม่กินเนื้อ ๒๔ ไม่ดื่มสุรา ๒๕ ไม่ดื่มเมรัย ๒๖ ไม่ดื่มน้ำที่มีแกลบ ๒๗ รับเฉพาะเรือนหลังเดียวก็กินข้าวเพียงคำเดียว ๒๘ รับในเรือนสองหลังก็กินข้าวเพียงสองคำ ๒๙ รับในเรือนเจ็ดหลัง ก็กินข้าวเพียงเจ็ดคำ ๓๐ เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่หญิงคนเดียวให้ก็มี

๓๑ ด้วยอาหารที่หญิงสองคนให้ก็มี ๓๒ ด้วยอาหารที่หญิงสามคนให้ก็มี ๓๓ ด้วยอาหารที่หญิงเจ็ดคนให้ก็มี ๓๔ กินอาหารวันละครั้งก็มี ๓๕ กินอาหารสองวันต่อครั้งก็มี ๓๖ กินอาหารเจ็ดวันต่อครั้งก็มี ๓๗ กินอาหารสิบห้าวันต่อครั้งก็มี ๓๘ กินแต่ผักดองก็มี กินแต่ข้าวตังก็มี ๔๐ กินแต่ลูกเดือยก็มี

๔๑ กินแต่ข้าวนกก็มี ๔๒ กินแต่ข้าวเย็นก็มี ๔๓ กินแต่ข้าวหักก็มี ๔๔ กินแต่ยางไม้ก็มี ๔๕ กินแต่หญ้าก็มี ๔๖ กินแต่ขี้โคก็มี ๔๗ กินแต่หัวมันในป่าก็มี ๔๘ กินแต่ผลไม้ที่หล่นเองก็มี ๔๙ นุ่งแต่ผ้าป่านก็มี ๕๐ นุ่งแต่ผ้าเปลือกปอก็มี

๕๑ นุ่งแต่ผ้าห่อศพก็มี ๕๒ นุ่งแต่ผ้าที่เก็บมาจากกองหยักเยื่อก็มี ๕๓ นุ่งแต่ผ้าเปลือกไม้ก็มี ๕๔ นุ่งแต่ผ้าทอด้วยผมคนก็มี ๕๕ นุ่งแต่ผ้าทอด้วยขนสัตว์ร้ายก็มี ๕๖ นุ่งแต่ผ้าทอด้วยขนปีกนกเค้าก็มี ๕๗ ถอนผมและหนวดก็มี ๕๘ นั่งกับพื้นอย่างเดียว ไม่นั่งอาสนะเลยก็มี ๕๙ นั่งยอง ๆ อย่างเดียวก็มี ๖๐ นอนบนหนามก็มี

๖๑ นอนบนแผ่นกระดานก็มี ๖๒ นอนบนที่ปูด้วยหญ้าก็มี ๖๓ นอนตะแคงข้างเดียวก็มี ๖๔ ปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรมด้วยเหงื่อใคร ไม่อาบน้ำเลยก็มี ๖๕ อยู่แต่ในที่แจ้งอย่างเดียวก็มี ๖๖ นั่งตามแต่จะได้ก็มี ๖๗ กินแต่อาหารแปลก ๆ ก็มี ๖๘ ถือการลงอาบน้ำเป็นกิจวัตร วันละ ๓ ครั้งก็มี

นี่แน่ะ นิโครธะ เมื่อเป็นอย่างนี้ ตะโปชิคุจฉะ..บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์
เขาตอบว่า บริบูรณ์พระเจ้าข้า

พระองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ..ตะโปชิคุจฉะอันบริบรูณ์อย่างนี้ เราก็กล่าวว่า มีอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่มาก ไม่บริสุทธิ์เลย

◄ll กลับสู่ด้านบน

(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 20/9/08 at 08:10 Reply With Quote



(Update 13 ก.ย. 51)

ทำความเพียรสร้างกิเลสอีกอย่าง ๑

ครั้นเมื่อนิโครธะปริพาชกทูลถามต่อไปว่า อย่างไรพระองค์จึงกล่าวว่า ตะโปชิคุจฉะอันบริบูรณ์อย่างนี้ มีกิเลสอยู่มาก

พระองค์ทรงตรัสว่า นี่แน่ะ..นิโครธะ
๑ ผู้ทำตะบะ (คือความเพียร) ยึดมั่นตะบะ ดีใจด้วยตะบะ มีความดำริเต็มไปด้วยตะบะ นี่เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๒ ผู้ทำตะบะ ยกตนข่มผู้อื่น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๓ ผู้ทำตะบะ มัวเมาด้วยตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๔ ผู้ทำตะบะ ดีใจด้วยลาภสักการะและสรรเสริญ อันเกิดขึ้นด้วยตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๕ ผู้ทำตะบะ ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะที่เกิดจากตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๖ ผู้ทำตะบะ มัวเมาด้วยลาภสักการะสรรเสริญ อันเกิดด้วยตะบะนั้น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๗ ผู้ทำตะบะ เลือกอาหารว่าสิ่งนี้สมควรแก่เรา อย่างนี้ไม่สมควรแก่เรา แล้วทิ้งสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่สมควรเสีย ติดอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นว่าสมควร ไม่เห็นโทษในสิ่งนั้น ไม่มีปัญญาสละสิ่งนั้น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๘ ผู้ทำตะบะ ยึดมั่นตะบะ เพราะเห็นแก่ลาภสักการะสรรเสริญ ว่าพระราชา มหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จะทำสักการบูชาเรา เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๙ ผู้ทำตะบะ รุกราญสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งว่า อย่างไรท่านผู้นี้จึงมีอาชีพมาก กินไม่เลือก คือกินพืชอันเกิดจากราก เกิดจากลำต้น เกิดจากผล เกิดจากยอด เกิดจากพืช ฟันของเขาเคี้ยวไม่รู้จักหยุดจักหย่อนแต่ยังกล่าวว่าตนเป็นสมณะ เช่นนี้เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๐ ผู้ทำตะบะ ได้เห็นสมณะ หรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง มีผู้สักการะเคารพนับถึงบูชาในตระกูลทั้งหลาย ก็คิดว่าพวกนี้สักการะเคารพนับถือบูชา ผู้ที่มีการกินมาก ไม่สักการะเคารพนับถือ บูชาเราผู้ทำตะบะ ผู้เลี้ยงชีพอย่างลำบาก เขาทำให้เกิดอิจฉามัจฉะมัจฉริยะ ในตระกูลทั้งหลายอย่างนี้ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๑ ผู้มีตะบะ นั่งในที่คนทั้งหลายพึงเห็น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๒ ผู้มีตะบะ แสดงตนเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นตะบะของเรา สิ่งนั้นก็เป็นตะบะของเรา เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๓ ผู้ทำตะบะ ซ่อนโทษหรือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เวลาถูกถามว่าสิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ สิ่งที่ไม่ควรก็บอกว่าควร สิ่งที่ควรก็บอกว่าไม่ควร แกล้งกล่าวเท็จเสียอย่างนี้ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๔ ผู้ทำตะบะ ไม่เห็นดีต่อสิ่งที่ควรเห็นดี ในธรรมของพระตถาคตเจ้าหรือของพระสาวกของตถาคตเจ้า เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๕ ผู้ทำตะบะ เป็นคนมีความโกรธ มีความผูกโกรธ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๖ มีความลบหลู่ มีความดีเสมอ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๗ มีความริสยา มีความตะหนี่ ความโอ้อวด ความเจ้าเล่ย์ ความแข็งกระด้าง ความถือตัวเกินไป ความปรารถนาลามก ความเห็นผิด ประกอบด้วยความเห็นว่า โลกมีที่สุดเป็นต้น ไม่ยอมสละความเห็นของตน เหล่านี้เป็นอุปกิเลสแต่ละอย่าง ๆ
นิโครธะ เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะเหล่านี้ มีอุปกิเลสหรือไม่
เขาตอบว่า มีแน่พระเจ้าข้า ผู้ทำตะบะย่อมประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทำความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๑

เมื่อพระพุทธองค์ ทรงแสดงตะโปชิคุจฉะในพระพุทธศาสนา จึงตรัสว่านิโครธะ
๑ ผู้ทำตะบะในโลกนี้ ย่อมยึดมั่นตะบะ เขาไม่ดีใจ ไม่เต็มความประสงค์ด้วยตะบะนั้น การที่เขาเป็นอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นการบริสุทธิ์อย่าง ๑
๒ ยังมีความบริสุทธิ์อื่นอีกของผู้ทำตะบะ ซึ่งได้แก่ไม่ยกตนข่มผู้อื่น
๓ ไม่มัวเมาในตะบะ
๔ ไม่ยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๕ ไม่ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๖ ไม่มัวเมาด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๗ ไม่เลือกอาหาร
๘ ไม่คิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จะสักการะเรา
๙ ไม่รุกรานสมณะ หรือ พราหมณ์คนใดคนหนึ่งว่ากินไม่เลือก
๑๐ ได้เห็นสมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง มีผู้สักการะเคารพนับถือบูชา แล้วไม่คิดริสยาตระหนี่ ๑๑ ไม่นั่งในที่คนจะเห็น
๑๒ ไม่แสดงตน เที่ยวไปในตระกูลให้เขาเห็นว่าตนทำตะบะ
๑๓ ไม่ปิดบังโทษหรือทิฏฐิ เวลาถูกถามว่า สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ สิ่งที่ไม่ควรตอบว่าไม่ควร สิ่งที่ควรตอบว่าควร ไม่แกล้งกล่าวคำเท็จ
๑๔ เวลาพระตถาคตเจ้า หรือสาวกของพระตถาคตเจ้าแสดงธรรม ก็เห็นดีเห็นตาม
๑๕ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ
๑๖ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ
๑๗ ไม่ริสยา ไม่ตระหนี่
๑๘ ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์
๑๙ ไม่มีใจกระด้าง ไม่ถือตัวเกินไป
๒๐ ไม่มีความปรารถนาลามก
๒๑ ไม่มีความเห็นผิด
๒๒ ไม่ประกอบด้วยความเห็นว่า โลกมีที่สุดเป็นต้น
๒๓ ไม่ยึดมั่นความเห็นของตน
๒๔ สละความเห็นของตนได้ง่าย

เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะอย่างนี้ บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ เป็นของเลิศ เป็นของมีแก่นสารด้วย พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ ยังก่อน เพียงเท่านี้ ยังไม่ใช่เป็นของเลิศ ยังไม่ใช่เป็นของมีแก่นสาร ด้วยอาการเพียงเท่านี้ นี่เป็นเพียงสะเก็ดเท่านั้น
นิโครธะได้ทูลถามต่อไปว่า อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นของเลิศ ถึงแก่นสารพระเจ้าข้า

ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๒

ทรงตรัสว่า นิโครธะ..ผู้ทำตะบะย่อมสำรวมด้วยความสำรวมในยาม ๔ คือ
๑ ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นฆ่า
๒ ไม่ลักขโมยด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นลักขโมย ไม่ยินดีต่อการเห็นผู้อื่นลักขโมย
๓ ไม่กล่าวเท็จด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นกล่าวเท็จ
๔ ไม่หวังกามคุณด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นหวังกามคุณ ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นหวังกามคุณ

ผู้กระทำตะบะนั้น ทำตะบะเรื่อย ๆ ไป สึกเป็นฆราวาส อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าใหญ่ ที่แจ้ง ลอมฟาง เป็นต้น เวลากลับจากบิณฑบาต หลังอาหารแล้ว ก็นั่งตั้งกายให้ตรง ดำรงสติอันเป็นเครื่องกำหนดไว้ แล้วก็ละอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา

(ได้แก่การเพ่งเล็งแสวงหาโทษ คือความผิดของคนอื่น การจองเวร จองกรรม จองล้างจองผลาญ ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ ความสงสัยในผลที่จะพึงได้พึงถึง) ซึ่งเป็นนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว แผ่เมตตา (ความรัก) กรุณา (ความสงสาร) มุทุตา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) อุเบกขา (วางเฉยเมื่อเหลือวิสัยจะช่วยได้ไม่ซ้ำเติม) ไปในทิศทั้งปวง

เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะอย่างนี้ บริสุทธิ์หรือไม่
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ เป็นของเลิศ ทั้งเป็นของมีแก่นสาร พระเจ้าข้า
ทรงตรัสว่า ยังก่อน ยังไม่เลิศ ยังไม่เป็นแก่นสาร นี่เพียงเปลือกเท่านั้น
เขาทูลถามว่า อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นของเลิศ เป็นของถึงแก่นสารพระเจ้าข้า

ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๓

ทรงตรัสตอบว่า ผู้ทำตะบะสำรวมด้วยความสำรวมในยาม ๔ แล้ว ละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว แผ่เมตตา กรุณา มุทุตา อุเบกขา ไปทั่วทิศทั้งปวงแล้วได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ว่าชาติไหนเราเป็นอย่างไร
อย่างนี้เราขอถามว่า บริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้พระเจ้าข้า ทั้งเป็นของเลิศ ถึงแก่นด้วย
ทรงตรัสว่า ยังก่อนนิโครธะ ยังไม่ถึงแก่น นี่เพียงกระพี้เท่านั้น
เขาทูลเชิญให้ตรัสต่อไป
ทรงตรัสต่อไปว่า

ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔

นิโครธะ..ผู้ทำตะบะ เป็นผู้สำรวมในยาม ๔ อยู่ในเสนาสนะที่สงัด ละนิวรณ์ ๕ แผ่เมตตา กรุณา มุทุตา อุเบกขา ไปในทิศทั้งปวงแล้ว ได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณ บำเพ็ญทิพยจักขุญาณให้เกิดขึ้น เห็นสัตว์โลกทั้งหลายที่ ทำชั่ว ทำดี ไปเกิดในทุคติ สุคติได้แจ่มแจ้ง
ขอถามเธอว่า อย่างนี้บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ ถึงความเป็นของเลิศ และถึงแก่นสารด้วยพระเจ้าข้า

ทรงตรัสว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ ตะโปชิคุจฉะ (คือการเกลียดบาป) จึงถึงความเป็นของเลิศ และถึงแก่น เธอถามเราแล้วว่าเราแนะนำพวกสาวกด้วยธรรมใด พวกสาวกที่เราแนะนำด้วยธรรมใด จึงถึงความยินดี ยืนยันพรหมจรรย์ต้นได้ตามอัธยาศัย ธรรมนั้นได้แก่สิ่งใด นิโครธะ เราแนะนำสาวกด้วยธรรมใด สาวกที่เราแนะนำแล้วด้วยธรรมใด จึงถึงความยินดี ยืนยันพรหมจรรย์ต้นตามอัธยาศัย ธรรมนั้นยิ่งกว่านี้ดีกว่านี้

เมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นก็เปล่งเสียงขึ้นว่าพวกเราไม่เห็นคุณวิเศษเหล่านี้มีอยู่ในลัทธิของพวกเรา พวกเรารวมทั้งอาจารย์ก็ไม่เห็นคุณวิเศษ คือความสำรวมในยาม ๔ ความอยู่ในป่า ความละนิวรณ์ ๕ ความเจริญพรหมวิหาร ๔ ความสำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณเลย พวกเราจะมีทิพยจักขุญาณมาจากไหน พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายเสียแล้ว พวกเราไม่เคยได้ยินได้ฟังคุณวิเศษยิ่งกว่าทิพยจักขุญาณเลย พวกเราจะรู้คุณวิเศษยิ่งกว่านี้ได้อย่างไร

สัณฐานคฤหบดี ได้นั่งฟังอยู่ในที่นั้นด้วย รู้ว่าพวกปริพาชกตั้งใจฟังคำของพระพุทธเจ้า เพื่ออยากรู้จริงดังนั้นแล้ว จึงว่าแก่นิโครธะปริพาชกว่า ท่านได้พูดกับเราไว้ว่า พระสมณะโคดมจะพูดกับใครได้ จะมีความรู้มาจากไหน ปัญญาได้หล่นหายเสียแล้วในที่ว่างบ้านเรือน พระสมณะโคดมไม่เคยเข้าที่ประชุมหลบอยู่แต่ในป่า เหมือนแม่โคตาบอด ขอให้พระสมณะโคดมมาที่นี่ เราจะกดพระสมณะโคดมให้จมลง บัดนี้พระองค์เสด็จมาแล้ว ท่านจงทำอย่างนั้นเถิด

เมื่อสัณฐานคฤหบดีกล่าวอย่างนั้น เขาก็เป็นผู้เก้อ ก้มหน้า คอตก เหงื่อแตก ซบเซา หมดปฏิภาณจะโต้ตอบ
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า นิโครธะเธอพูดอย่างนั้นจริงหรือ
เขารับว่า พูดจริงพระเจ้าข้า ที่พูดไปนั้นก็เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของข้าพระองค์

พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อไปว่า นิโครธะ..เธอเคยได้ยินได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์ และเป็นอาจารย์ใหญ่มาว่าอย่างไร เธอเคยได้ยินหรือว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน มีแต่ประกอบดิรฉานคาถา (พูดไม่ประกอบด้วยธรรม คือ พูดเลอะเทอะไม่เป็นเรื่องเป็นราวเนือง ๆ) เหมือนเธอกับอาจารย์เดี๋ยวนี้

เขาตอบว่า ไม่เคยได้ยินพระเจ้าข้า
เธอเคยได้ยินหรือไม่ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมอยู่ในเสนาสนะสงัดเหมือนบัดนี้

นี่แน่ะ..นิโครธะ เธอผู้มีความรู้ เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้คิดเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงฝึกฝนพระองค์เอง สงบระงับแล้ว ข้ามโลกได้แล้ว ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ดี เพื่อความฝึกฝน เพื่อความสงบ เพื่อความก้าวล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ เพื่อความดับสนิทซึ่งกิเลสทั้งหลาย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชก ก็ทูลขอโทษ พระองค์จึงทรงตรัสว่า

นิโครธะ การที่เธอรู้สึกความผิด แล้วขอโทษเพื่อระวังต่อไปนี้ เป็นความดีความชอบ ตามวินัยของอริยะเจ้า แต่ว่าเราขอบอกว่า บุรุษผู้มีความรู้ ผู้ไม่มีความโอ้อวด ผู้ไม่มีมายา ผู้มีชาติตรง จงมาเถิดเราจะสอน เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

ผู้ปฏิบัติตามที่เราสอนอยู่เพียง ๗ ปี หรือ ๖-๕-๔-๓-๒-๑ ปี หรือ ๗ เดือน ๖-๕-๔-๓-๒-๑ เดือน หรือครึ่งเดือน หรือเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จพรหมจรรย์อย่างเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ต้องการของกุลบุตรทั้งหลาย ผู้บรรพชาในศาสนาของเรา เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมกล่าวอย่างนี้ เพราะอยากได้เราเป็นอันเตวาสิก เธอไม่ควรเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของเธอ ผู้นั้นก็จงเป็นอาจารย์ของเธอ

นี่แน่ะ.. นิโครธะ เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมพูดอย่างนี้ เพราะประสงค์จะให้เธอเคลื่อนจากอุเทศ เคลื่อนจากอาชีพ เธอไม่ควรเห็นอย่างนี้ เธอจงมีอุเทศ มีอาชีพตามเดิม
เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมกล่าวอย่างนี้ ประสงค์จะให้เราตั้งอยู่ในอกุศลธรรม อันเป็นอกุศล จะเปลื้องเราออกจากกุศล เธอไม่ควรคิดอย่างนี้

นี่แน่ะ..นิโครธะ สิ่งที่เป็นอกุศล เป็นของเศร้าหมอง เป็นของทำให้เกิดอีก เป็นของทำให้เกิดทุกข์ มีทุกข์เป็นวิบาก ทำให้เกิดแก่ตายต่อไปอีก เราแสดงธรรมเพื่อให้ละนั้นมีอยู่

ธรรมอันเศร้าหมองของผู้ปฏิบัติ ตามคำสอนของเราจักหายไป ธรรมอันผ่องใสบริสุทธิ์จักเจริญขึ้น เธอทั้งหลายจักรู้แจ้งเห็นจริงความบริบูรณ์แห่งปัญญาและความไพบูลย์ในอัตภาพนี้ด้วยตนเอง

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นก็พากันนิ่ง เก้อเขิน มีคอตก ก้มหน้าซบเซาอยู่ ไม่มีปัญญาจะโต้ตอบแต่อย่างไร ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยมารเข้าดลใจ จึงเป็นอย่างนั้น

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า พวกโมฆะบุรุษทั้งปวงนี้ ถูกมารผู้ลามกเข้าสิงใจแล้ว จึงไม่มีผู้ใดคิดสักคนว่า เราจักประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักพระสมณะโคดม เพื่อความรู้ให้ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จะเป็นอะไรไป

ครั้นทรงดำริแล้ว ก็ลอยขึ้นสู่เวหา ไปปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สัณฐานคฤหบดี ก็กลับเข้าสู่กรุงราชคฤห์ในขณะนั้น.

= จบอุทุมพลิกาสูตร =


◄ll กลับสู่ด้านบน



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 4/10/08 at 09:07 Reply With Quote



แวะคุยกันก่อน

"........เป็นอย่างไรท่านที่รัก ท่านเห็นแล้วหรือยังว่า ความรู้เรื่องพุทธศาสตร์นั้น ต่างจากศาสตร์อื่น ๆ ที่ท่านเรียนท่านศึกษามา เรื่องของศาสตร์หนึ่งจะเอาไปบวกกับอีกศาสตร์หนึ่งนั้นไม่ได้ ท่านศึกษาวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วท่านจะให้รู้ให้เข้าใจในพุทธศาสตร์ด้วยนั้นมันจะได้อย่างไร หรือโดยเฉพาะคณะนักคุยศาสตร์ นักโม้ศาสตร์ ขี้เมาศาสตร์ด้วยก็ยิ่งแล้วกันใหญ่ ไม่มีทางจะรู้จะเข้าใจเรื่องพุทธศาสตร์ได้เลย

.........เพราะแต่ละศาสตร์ก็มีความมุ่งหมายให้กว้างขวางไกลออกไปจากตน ส่วนพุทธศาสตร์นั้นเรียนเข้าหาตนแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสตร์ทางโลกมุ่งวัตถุเป็นสำคัญ ส่วนพุทธศาสตร์มุ่งนามเป็นสำคัญ ศาสตร์ทางโลกมุ่งสัญญา คือความจดจำเป็นสำคัญส่วนปัญญานั้นใช้บ้างแต่ในส่วนวิจัยตามสูตร และมุ่งวิจัยวัตถุ
ส่วนพุทธศาสตร์นั้นหนักไปในทางปัญญา ส่วนสัญญานั้นใช้บ้าง แต่ถือว่าไม่สำคัญนัก เพียงอาศัยเป็นเครื่องเกาะไปเพื่อช่วยพยุงปัญญาเท่านั้น เพราะเมื่อขณะใดนักปฏิบัติทางพุทธศาสตร์ยังอาศัยสัญญา เป็นกำลังอยู่ ก็ชื่อว่าเขาผู้นั้นยังเข้าไม่ถึง พุทธศาสตร์อย่างแท้จริง สัญญาให้ผลเพียงแต่โลกีย์วิสัย ผลที่ได้ทางโลกีย์นี้ จะเป็นฌานหรืออภิญญาก็ตาม

ย่อมยังอยู่ในเขตที่จะเสื่อมสูญได้ เพราะเป็นส่วนที่หยาบและยังไม่เข้าถึงจุดอิ่มของศาสตร์ ต่อเมื่อไรเขาผู้นั้นได้มีโอกาสใช้ปัญญา พิจารณาตามกฎของความเป็นจริง ในส่วนที่เป็นรูปและนาม คือรู้ชัดรู้แจ้งตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา จนจิตของตนไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแล้ว นั่นแหละ เขาผู้นั้นชื่อว่าถึงจุดอิ่มของพุทธศาสตร์ จะทรงความดีไว้ได้โดยไม่กลับเลื่อนถอยหลัง

ข้อเท็จจริงในพุทธศาสตร์เป็นอย่างนี้ ขอท่านผู้สนใจในพุทธศาสตร์ โปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ มิใช่ว่าท่านนั่งนึกนอนนึก ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ปรารภเรื่องสวรรค์นรก หรือตายแล้วไปไหน เกิดใหม่หรือไม่เกิด โลกหน้ามีจริงหรือไม่มี ทำอย่างไรจึงจะได้รู้ได้เห็นโลกใหม่ คนและสัตว์ตายแล้วไปไหน นรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ เรื่องอย่างนี้ ถ้าท่านเพียงสนใจแต่นึกคิด หรืออ่านตำรับตำราต่อให้ท่านอ่านพระไตรปิฎกขาดเป็นพัน ๆ ชุด ท่านก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลย

เพราะการนึกคิด และค้นคว้าแต่เพียงอ่านตำรานั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับแม่ครัวที่ซื้อตำรากับข้าวมาดูมาอ่านแล้วอ่านอีก จนตำราขาด แม้แต่ต้มยำ ต้มน้ำปลาซึ่งเป็นอาหารหญ้าปากคอกก็ไม่ได้กิน นั่งหิวนั่งอยากจนน้ำลายไหลแล้วไหลอีกอยู่นั่นเอง ผลที่จะได้กินอาหารนั้นต้องลองทำ ทำตามตำรานั่นแหละ และก็ระวังอย่าฝืนตำรา ในตำราเขาบอกว่าอยากจะกินรสเปรี้ยวให้ใส่ส้ม อยากกินรสเค็มให้ใส่เกลือหรือน้ำปลา อยากกินรสหวานให้ใส่น้ำตาล ถ้าเราฝืนตำราตรัสรู้เอาเอง อยากกินรสเค็มแอบเอาส้มไปใส่ อยากกินเปรี้ยวแอบเอาเกลือไปใส่ อยากกินหวานแอบเอาเกลือหรือส้มไปใส่ ลองหลับตานึกดูเถอะว่ารสอาหารมันจะเป็นอย่างไร

ในที่สุดก็เหนื่อยเปล่า ของก็เสีย เวลาก็เสีย กินก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เททิ้งเสียหมดทั้งเวลาและทรัพย์สมบัติ ถ้าปรุงอาหารรับแขกด้วย ก็เลยพาลเสียชื่อเสียเสียงอีกด้วย เสียกันใหญ่ใช้อะไรไม่ได้ เรื่องศาสตร์ทางพระศาสนาก็เหมือนกัน เมื่อท่านประสงค์จะเรียนรู้ปฏิบัติให้ถึงแล้ว ต้องเลือกตำราให้ถูกต้อง ถ้าจะเรียนกับครูบาอาจารย์ ก็ควรเรียนกับครูบาอาจารย์ชนิดที่เขาทำได้ผลมาแล้ว อย่าไปหลงลิ้นหลงลมพวกเถนตำรา หรือพวกสร้างสำนักตักลาภตักผล เมื่อท่านเข้าไปสำนักใดเพื่อมอบกายถวายชีวิต จะมอบตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา ให้เฝ้าสังเกตตรวจตราเสียให้แน่นอนเสียก่อน

ถ้าเอาอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ไม่ได้ ก็เอาอุทุมพลิกาสูตร หรือวิสุทธิมรรคเป็นปรอดสำหรับวัด ดูองค์อาจารย์เสียก่อนว่า ยังรู้จักอิจฉาริสยาชาวบ้านไหม? ยังชอบสะสมทรัพย์สมบัติไหม ? ยังมีจิตพยาบาทคนอื่นไหม ? เจรจาโดยธรรมหรือไม่ มีความเมตตาปราณีในคนและสัตว์เท่ากับเมตตาตัวเองหรือไม่ เผื่อแผ่เกื้อกูลคนและสัตว์หรือไม่

แล้วถามเรื่องกรรมฐานว่า ท่านมีกรรมฐานกี่แบบ การให้กรรมฐานท่านให้เหมือนกันหมดทุกคน หรือ ให้กรรมฐานตามอุปนิสัย ถ้ามีแต่เพียงกรรมฐานอย่างเดียว กี่คน ๆ ก็ให้เหมือนกัน ไม่แยกกรรมฐานตามจริต หรือยังรู้จักอิจฉาริสยา ยังโลภโมโทสันสะสมทรัพย์สมบัติ ขาดเมตตาปราณีแล้ว รีบถอยกลับเถอะอย่าอยู่ช้าเลย ท่านหนีเสือไปพบจระเข้เข้าแล้ว ดีไม่ดีอ้ายด่างเกยชัยมันจะตะครุบเอาตาย

และก็ผลที่จะรู้โลกอื่นก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านได้อาจารย์ที่ดีแล้ว ท่านก็ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำแนะนำของอาจารย์ ถ้าทำได้ตามนัยนั้น หมายถึงการเตรียมตัวตามอุทุมพลิกาสูตร เว้นในส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เว้นทำตามในส่วนที่พระองค์แนะนำให้ทำ อย่าให้ขาดตกบกพร่องเพียง ๙๐ วันเท่านั้น มีหวังที่ท่านจะพบกับทิพจักขุญาณเบื้องต้น

แล้วท่านไม่ละวิริยะอุสาหะ อภิญญาจะเป็นของท่านทั้งหมดภายใน ๓ ปี ต่อจากนั้นท่านก็ศึกษาวิปัสนาญาณต่อไป แล้วอาศัยอภิญญาเป็นเพื่อนช่วยวิจัยด้านวิปัสสนา อย่างช้า ๗ ปี ท่านจะจบกิจในพระศาสนา คือ ถึงพระนิพพาน ขอให้ทำจริงเถอะ อย่าจริงแต่พูด อย่ามัวเมาในลาภยศสรรเสริญสุข แล้วจะพบของจริง ถ้าท่านดีแต่พูดดีแต่วิจารณ์ มันก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขเห็นข้าวเปลือก

เดิมทีเดียวคิดไว้ว่า หนังสือเล่มนี้จะนำกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ และวิปัสสนาญาณมาเขียนย่อ ๆ ให้จบ เป็นที่น่าเสียดายที่จะทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะมีเวลาเขียนน้อย เพราะหนังสือนี้จะต้องออกให้ทันงาน และก็มีบทความอย่างอื่น ที่ผู้อื่นเขียนมาลงในหนังสือนี้ ซึ่งเป็นบทความเบาสมอง จึงของดไม่เขียนให้จบ แต่จะบอกแนวทางส่วนที่สำคัญไว้เพื่อศึกษา ความจริงการเขียนไว้สั้น ๆ นั้นก็ดีเหมือนกัน ปีนี้แนะนำชี้แจงให้เตรียมเนื้อเตรียมตัวเสียก่อน ฝึกหัดตามแบบฝึกหัดบทต้น ๆ ที่เบา ๆ ไว้ก่อน

ปีหน้าจะได้เขียนกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ลงให้ครบ เพื่อให้โอกาสแก่ท่านได้ฝึกหัดต่อไปเป็นอันดับที่ ๒ แล้วปี ๒๕๑๐ จะได้แนะวิปัสนาญาณทั้ง ๙ พร้อมทั้งเคล็ดลับ ในการปฏิบัติวิปัสสนาให้ครบถ้วน จนถึงจุดจบ เพื่อป้องกันการเบื่อหน่าย เล่มนี้จะได้แนะนำกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ ว่าอย่างไหนใช้อย่างไร เพื่อปราบกิเลสชนิดไหน เพื่อให้เป็นแนวทางไว้ก่อน และจะได้แนะวิธีฝึกในกสิณ ๓ อย่างไว้เพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างทิพจักขุญาณไว้เสียด้วย เพื่อว่าท่านที่คิดจะทำจริงไม่ดีแต่พูด ดีแต่วิภาควิจารณ์ จะได้ฝึกฝนไปเลย ดีไม่พอถึง พ.ศ.ใหม่อาจได้ทิพจักขุญาณเสียเลยก็เป็นได้

ความจริงทิพจักขุญาณนี้ มิใช่ว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบกสิณอย่างเดียวจึงจะได้ จะปฏิบัติในกรรมฐาน ๔๐ กองใดกอง ๑ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติต้องฉลาด หรือมีอาจารย์ผู้แนะนำที่ถูกต้อง เมื่อได้กรรมฐานถึงอุปจารสมาธิแล้ว ให้ฝึกในสายทิพจักขุญาณเลย ภายใน ๑ เดือนก็จะใช้งานได้บ้างถึงแม้ยังไม่ถึงที่สุด ก็พอแก้ความสงสัยเสียได้.

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอน กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 14/10/08 at 16:20 Reply With Quote



กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต

ได้บอกท่านไว้แต่ในตอนต้นแล้วว่า ถ้าอยากรู้ กรรมฐาน ๔๐ ทัศละเอียด ให้ไปซื้อหนังสือ "วิสุทธิมรรค" มาอ่าน ถ้าสตางค์มีน้อยก็ไปซื้อเฉพาะวิสุทธิมรรค สมาธินิเทศ ราคาเล่มละ ๒๐ บาทเท่านั้น ถ้าซื้อแบบ ๓ เล่มติดกัน คือ ศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ เขาเย็บรวมกันเป็นเล่มเดียว ราคาประมาณเล่มละ ๕๐ บาท สบายใจดีกว่า เราเลือกอ่านเลือกดูเอาตามสบายใจ

(หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้ท่านบอกว่าไม่ต้องอ่าน "วิสุทธิมรรค" แล้ว ขอให้ไปอ่าน "คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน" ก็เหมือนกัน)

ในตอนนี้จะบอกชื่อกรรมฐาน ๔๐ อย่างชนิดประมวลก่อน จะไม่แยกออกเพราะยังไม่จำเป็น เล่มหน้าจึงจะเขียนแยกออกให้ละเอียด กรรมฐาน ๔๐ นั้นมีชื่อโดยประมวลดังต่อไปนี้ คือ

๑. กสิณ ๑๐
๒. อสุภ ๑๐
๓. อนุสติ ๑๐
๔. อาหารปฏิกูลสัญญา
๕. จตุธาตุวัตถาน ๑
๖. พรหมวิหาร ๔
๗. อรูป ๔
รวมเป็น ๔๐ ทัศ พอดี


ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า กรรมฐาน ๔๐ ทัศนี้ แบ่งออกเป็น ๗ กอง เพื่อปราบกิเลสที่เข้ามารบกวนใจ แต่ละอย่างตามความสามารถของกรรมฐานนั้น ๆ ต่อไปนี้จะได้บอกชื่อ และอาการของจริตนั้น ๆ ดังต่อไปนี้

๑. ราคะจริต จริตนี้ถ้าสิงใจใครแล้ว ทำให้เขาผู้นั้นรักสวยรักงาม ไม่ว่าอะไรต้องสวยต้องสะอาดทั้งนั้น เลอะเทอะมอมแมมไม่ได้ แม้แต่เขาจะไปทำงานทำการ ซึ่งไม่ใช่เวลาอวดสวยอวดงาม แต่พวกมีราคะจริตสิงใจนี้ ก็ต้องหวีผมให้เรียบ รีดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย รองเท้าต้องขัดให้เป็นมัน แต่งหน้าด้วยแป้งหอมน้ำมันหอมไปทำงาน อาการเขาเป็นอย่างนี้
เมื่อจิตใจชอบอย่างนี้มันเป็นกิเลสเครื่องผูกเครื่องเกาะ กีดกันความดี ท่านให้หากรรมฐานที่มีกำลัง พอจะปราบจริตนี้ด้วยกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภทั้ง ๑๐ อย่าง และแถม กายคตาสติอีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่าง

๒. โทสะจริต จริตนี้เมื่อสิงใจแล้ว จะกลายเป็นคนพื้นเสียเสมอ ๆ โกรธกริ้วคิ้วขมวด ใจคอหงุดหงิดอะไรนิดก็โกรธ อะไรหน่อยก็โกรธ เป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำงานทำการหยาบ เอาละเอียดถี่ถ้วนไม่ได้ เดินแรงพูดเสียงดัง ท่านให้ปราบกิเลสประเภทโทสะนี้ด้วย พรหมวิหาร ๔ และวรรณกสิณ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง

๓. โมหะจริต มีอาการหลงใหลใฝ่ฝัน ขี้หลงขี้ลืม หวงแหน เก็บเล็กเก็บน้อย หยุม ๆ หยิม ๆ แม้แต่เศษกระดาษหรือฝอยไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เก็บ เรื่องข้าวของแล้วช่างจดช่างจำ มีความเสียดมเสียดาย เป็นเจ้าเรือนผ้าขี้ริ้วหายไปผืนเดียว บ่นได้ ๓ วัน ๓ คืน

๔. วิตกจริต เป็นคนช่างตริช่างตรอง ช่างคิดช่างนึก มีเรื่องอะไรสักนิดก็คิดก็นึก พูดแล้วพูดอีกจนชาวบ้านรำคาญ ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้ถ้าเป็นหมอคนไข้ตายหมด เพราะไม่แน่ใจว่าจะวางยาอะไรดี มัวคิดมัวนึกเสียจนสายเกินควร ถ้าเป็นหัวหน้าฝ่ายดับเพลิง ไฟก็ไหม้หมดโลก
เพราะถ้าได้ข่าวว่าไฟไหม้ก็จะมัวกะการ วางแผนเสียจนไฟโซมไปเอง เชื่องช้าไม่ปราดเปรียวใครได้ไว้เป็นสามีหรือภรรยา ก็ต้องเป็นคนอารมณ์เย็นจริง ๆ มิฉะนั้นแล้วมีหวังแยกทางกันเดิน จริตทั้ง ๒ นี้ ท่านให้แก้ด้วยอานาปานุสติกรรมฐาน

๕. ศรัทธาจริต จริตนี้เมื่อเข้าสิงใจใคร คนนั้นจะกลายเป็นคนเชื่อง่าย เชื่อไม่มีเหตุมีผล มี ลักษณะตรงกันข้ามกับวิตกจริต รายนั้นไม่ใคร่เชื่อใคร แต่รายนี้เชื่อไม่มีหูรูด ใครพูดให้ฟังเป็นเชื่อทั้งนั้น เชื่อโดยปราศจากเหตุผล ที่ถูกหลอกถูกต้มก็คนแบบนี้แหละ จริตนี้ท่านให้เจริญอนุสติ ๖ ประการ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ และเทวตานุสติ รวม ๖ ประการด้วยกัน

๖. พุทธจริต จริตนี้ทำจิตใจให้ฉลาดเฉียบแหลม เพียงใครพูดอะไรก็ตาม หรือครูอธิบายในวิทยาการเพียงแต่หัวข้อ คนที่มีจริตนี้ก็เข้าใจความได้เลย สามารถอธิบายความพิสดารในหัวข้อนั้นได้ โดยมิต้องอาศัยตำหรับตำรา จริตนี้ท่านให้เจริญ มรณานุสติ อุปมานุสติ อาหารปฏิกูลสัญญา จตุธาตุวัตถาน ๔

เหลือกรรมฐานอีก ๑๐ อย่าง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ๔ อาโปกสิณ ๑ และอากาศกสิณ ๑ รวมเป็น ๑๐ เหมาะแก่จริตทุกจริต ไม่เลือกคน ใครจะเจริญ คือนำไปปฏิบัติก็ได้ มีหวังสำเร็จทั้งนั้น

ที่เขียนถึงเรื่องจริต และกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตมานี้ ยังไม่ได้คิดจะให้รู้ละเอียด ประสงค์เพียงให้รู้ไว้เป็นเครื่องมือวัดอาจารย์ หรือสำนักที่จะเข้าไปศึกษา ถ้าเขามีความรู้ตามนี้ และสามารถให้กรรมฐานได้ถูกต้องตามนี้ ก็เรียนกับเขาได้ ถ้าถามเรื่องจริตไม่รู้ กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตก็ไม่เข้าใจ มีกรรมฐานอย่างเดียว ใครจะมีจริตอะไรก็ตาม ให้กรรมฐานอย่างเดียว

แต่ถ้าเขาให้กรรมฐานเป็นกรรมฐานกลางก็พอใช้ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะให้กรรมฐานกลางได้ แต่ไม่เข้าใจแก้อารมณ์ของใจตามอำนาจจริตแล้ว ก็อย่าเข้าไปเรียนเลยเสียเวลาเปล่า ต่อให้เรียนอยู่ด้วยสักหมื่นชาติก็จะไม่ได้ดีอะไร นอกจากเสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะพาให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลยลงนรกไปก็ได้ ตัวอย่างในปัจจุบันนี้มีเยอะ ลองสอบถามดูเถอะจะพบไม่น้อยทีเดียว

กสิณ ๓ เป็นบาทของทิพยจักขุญาณ

ต่อไปนี้จะได้แนะถึงวิธีปฏิบัติ ในกสิณ ๓ อย่าง คือ เตโชกสิณ โอทากสิณ อาโลกสิณ กสิณ ๓ อย่างนี้ แต่เพียงพอเป็นทางปฏิบัติ เพื่อบำเพ็ญเพื่อได้ทิพยจักขุญาณ แต่ท่านอย่าลืมนะว่า การปฏิบัติกรรมฐานจะต้องหาครูผู้สอน ถ้าทำเองโดยไม่มีใครแนะนำและควบคุมแล้ว ดีไม่ดีจะเกิดสำเร็จเร็วกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างในปัจจุบันมีไม่น้อย พอเห็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คิดว่าสำเร็จเสียแล้ว เลยไม่พบดีกัน

ขณะที่เขียนหนังสือนี้อยู่ มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งมาถามว่า ฉันได้ไปสอบกับครูผู้สอน คุณครูบอกว่าได้องค์ธรรมแล้ว ท่านช่วยตรวจด้วยเถอะว่าฉันได้แค่ไหนแล้ว ทำเอาข้าพเจ้างงงันคอแข็งไปเลย ไม่มีแบบมีแผนที่ไหน ที่ผู้ปฏิบัติถึงธรรมแล้ว กลับไม่รู้ว่าตัวได้แปลกมาก ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง เมื่อได้แล้วต้องรู้เอง ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนอื่นช่วยบอก แล้วครูเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าลูกศิษย์ได้ดวงธรรม ในเมื่อเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวสักนิด

ข้าพเจ้าได้วินิจฉัยดูเห็นว่า ก. ข. ยังไม่กระดิกหูเลย จึงย้อนถามว่าใครเป็นครู ท่านกลุ่มนั้นก็บอกครูและสำนัก (ขอสงวน) ถามถึงระเบียบการสอนก็บอกให้ทราบ ดูแล้วช่างไม่ถูกไม่ตรงเสียเลย เสียดายธรรมของพระพุทธเจ้า สงสารพระพุทธเจ้า อุตส่าห์พร่ำสอนเสียเป็นวรรคเป็นเวร เกือบล้มเกือบตายแต่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เชื่อฟัง กลับเอาลัทธิหลอกลวงมาใช้ แล้วแอบอ้างเอาพระนามของพระองค์มารับรอง

น่าสงสารแท้ ๆ ธรรมที่ว่าสอบได้นั้น เขาบอกว่าเห็นดวงเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นพระบ้าง โธ่..น่าสงสาร ของเท่านี้ยังไกลต่อคำว่าได้อีกหลายล้านเท่า ท่านระวังไว้นะ ดีไม่ดีจะไปพบครูจรเข้แบบนี้เข้าจะลำบาก

ทิพยจักขุญาณนี้ ความจริงแล้วอาจจะได้จากกรรมฐานกองอื่นก็ได้ ไม่เฉพาะกสิณ ๓ อย่างนี้ เมื่อทำสมาธิถึงแล้ว และรู้จักวิธีปฏิบัติแม้กรรมฐานกองอื่นก็ทำทิพยจักขุญาณให้บังเกิดได้ แต่ที่แนะนำไว้ในที่นี้ว่า ให้ปฏิบัติในกสิณ ๓ ก็เพราะว่ากสิณ ๓ นี้เป็นบาทของทิพยจักขุญาณโดยตรง แนะตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็เขียนไปตามท่าน แต่ถ้าใครตามได้คนนั้นก็ได้ทิพยจักขุญาณจริง

อาโลกสิณ

กสิณกองนี้ ตามในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า เป็นกสิณที่เหมาะแก่ทิพยจักขุญาณที่สุด มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ใดที่เคยเจริญอาโลกสิณมาแต่ชาติก่อน ชาตินี้แม้เพียงแลดูแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดช่องฝามาเท่านั้น ก็สำเร็จอุคหะนิมิต (คือรูปนั้นติดตาแม้หลับตาแล้วก็ยังเป็นภาพนั้นติดหูติดตาอยู่ เรียกว่าอุคหะนิมิต) และปฏิภาคนิมิต (คือเห็นแสงนั้นสว่างไสวคล้ายแสงดาวประกายพรึก สว่างจ้าเหมือนลืมตาเห็นดวงอาทิตย์) ได้ง่ายดาย

สำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่นั้นท่านให้เพ่งดูแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ที่ส่องลงมาตามช่องฝาเป็นแสงกลม ลืมตามองดูแล้วตั้งใจจดจำไว้ว่า แสงที่ส่องลงมานั้นเป็นอย่างไร มีรูป คือ ลักษณะช่องกลมอย่างไร แล้วบริกรรมว่า โอภาโส ๆ หรือจะภาวนาว่า อาโลโก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จนกว่าภาพนั้นจะติดตา คือภาวนาไปด้วย นึกถึงภาพนั้นไปด้วย เมื่อภาพนั้นติดตาแล้ว ก็ให้กำหนดใจว่าขอภาพนั้นจงใหญ่ขึ้น เมื่อภาพนั้นใหญ่ขึ้น ก็นึกให้เล็กลง ภาพนั้นก็เล็กลง นึกว่าภาพนี้จงสูงขึ้น ภาพนั้นก็สูงขึ้น

นึกว่าขอภาพนี้จงต่ำลง ภาพนั้นก็ต่ำลง อย่างนี้เรียกว่าได้อุคหะนิมิต เป็นอุปจาระสมาธิ ถึงอุปจาระฌาน ต้องให้ได้จริง ๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรต้องเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แม้ไม่มีแสงให้ดูภาพนั้นก็ยังติดตาติดใจอยู่ และเมื่อต้องการจะเห็นภาพนั้นเมื่อไร คือ เมื่อกำลังง่วง ต้องการเห็นต้องการบังคับ ก็เห็นได้บังคับได้ เมื่อกำลังเหนื่อย เมื่อหิว เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ เห็นได้บังคับได้ทุกขณะทุกเวลา จึงชื่อว่าได้อุคหะนิมิตที่แท้

ต่อไปให้ฝึกอย่างนั้นจนชำนาญ จนได้ปฏิภาคนิมิต คือ เห็นแสงสว่างผ่องใส เป็นแท่งหนาทึบ คล้ายแสงมากองรวมกันอยู่ คล้ายดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ที่มองเห็นในขณะลืมตา อย่างนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็ชื่อว่าจิตสมควรแก่การที่จะได้ทิพยจักขุญาณ เมื่อประสงค์จะเห็นอะไร ให้เพ่งนิมิตนั้นก่อน เมื่อเห็นนิมิตชัดเจนแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอภาพนิมิตจงหายไป ภาพที่ต้องการจงปรากฏขึ้น

เพียงเท่านี้ภาพที่ต้องการก็ปรากฏขึ้น จะเป็นภาพนรกสวรรค์พรหมโลก หรือญาติที่ตายไปและจะเป็นอะไรก็ได้ เมื่อได้แล้วให้ฝึกไว้เสมอ ๆ จะได้ชำนาญและคล่องแคล่ว ใช้งานได้ทุกขณะ สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหัดให้คล่องทั้งลืมตาและหลับตา เพราะจะเป็นประโยชน์มาก เพื่อว่าถ้าเราอยากจะรู้อะไร ในขณะที่คุยกับเพื่อนหรือไปในระหว่างคนมากถ้ามัวไปหลับตาอยู่ เขาจะคิดว่าเรานี่ท่าทางลมจะไม่ใคร่ตรง ดีไม่ดีพวกจะพาส่งโรงพยาบาลบ้าเสียก็ได้ เพราะฉะนั้นควรฝึกให้คล่อง เสียทั้งสองอย่าง ทั้งลืมตาและหลับตา

เอาละนะ แนะนำไว้แบบเดียวก็พอจะได้ไม่ยุ่ง ทิพยจักขุญาณนี้มีประโยชน์มาก เหมาะแก่การพิสูจน์ประวัติต่าง ๆ เช่น พระพุทธบาท ปฐมเจดีย์ หรือเรื่องราวเก่า ๆ ที่สงสัย ถ้าปรารถนาจะรู้แล้วจะรู้ได้เลย ภาพเก่า ๆ จะปรากฏคล้ายดูภาพยนตร์ พร้อมทั้งรู้เรื่องรู้ชื่อคน ชื่อสถานที่ไปในตัวเสร็จ แต่ระวังใช้ให้ถูกทาง อย่านำไปใช้ในทางลามก ถ้าทำอย่างนั้นจะเสื่อมเร็ว

พอกันทีนะ ปีนี้ขอลาก่อน ปีหน้าพบกันใหม่ เรื่องเดียวกัน แต่พิสดารกว่าปีนี้


ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน


ส วั ส ดี.

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอน เรื่องเบาสมอง ของท่านต่อไป )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 31/10/08 at 05:55 Reply With Quote



เรื่องเบาสมอง

ด้อม ๆ มอง ๆ

โดย..งู ดิน

เรื่องเบาสมองของข้าพเจ้า ไม่หนักสมอง หนักจิต หนักใจ เหมือนเรื่องไปนิพพานของท่าน "มหาวีระ” ท่านเป็นพระเป็นสงฆ์ ท่านก็มุ่งตัดกิเลส เหมือน "พระเวสสันดร” ไม่ว่าหนาวหรือร้อนท่านก็นอนของท่านองค์เดียว ท่านไม่ง้อใคร ไม่เหมือนข้าพเจ้า พอร้อนก็อยากจะจรหัวหิน บางแสน แต่พอหนาวเข้า ผ้าห่มที่บ้านไม่มีเป็นประจำ ทั้งนี้ไม่ใช่ไม่อยากมี ความจริงแล้วอยากจะมีประจำ แต่หาไม่ได้ เมื่อมันหนาวเหน็บเจ็บทรวงหนักเข้า ทนไม่ไหวจริง ๆ

ก็ต้องไปเช่าผ้าห่มตามโรงแรมห่ม มันนิ่ม ๆ และก็อบอุ่นเป็นสุขดีเหมือนกัน แต่พอนอนตื่นลืมความฝันแล้วสิ เกิดทุกข์ใจเรื่องเงินค่าเช่าเฮ้ออย่าพูดเลย เจ็บใจนัก เสียเงินค่าเช่าเท่านั้นยังไม่พอ แถมยังต้องเสียเงินค่ายารักษาหิตอีก ไม่ไหวแล้ว ลูกกลัวแล้วโรงแรมจ๋า กลัวแล้วจ๊ะ กลัวจริง ๆ เรื่องส่วนตัวทิ้งไว้เสียเถอะนะ

เรามาเริ่มด้อม ๆ มอง ๆ กันดีกว่า จะไปทางไหนดีนะ เดี๋ยวนึกดูก่อน อ้อเอาอย่างนี้ดีกว่า เที่ยวเมืองมนุษย์ก็เที่ยวมามากแล้ว ลองเที่ยวเมืองผีดูบ้างเถอะ จะมีอะไรแปลก ๆ บ้าง เอาละคอยตามข้าพเจ้ามา เราไปเริ่มต้นเดินทางกันที่เมืองสุพรรณบุรีโน่น ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า เอาละนะ ออกเดินไปรวมกันที่นั่นได้แล้ว

คนเดียวเคยตายมาแล้ว ๓ ครั้ง

ณ ตำบลสาลี หมู่ที่ ๒ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่นั่นมีหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง ในหมู่นั้นมีประมาณ ๔-๕ หลังคาเรือน ขณะที่พูดถึงนี้คนในหมู่บ้านนี้อยู่ในบ้านไม่ครบจำนวน เพราะต่างก็อพยพไปทำมาหากินกันในทางทิศเหนือ เพื่อจับจองที่ดินเป็นการขยายฐานะให้มั่นคงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตัวเอกของเรื่องอยู่ในหมู่บ้านนี้ เป็นเรือนใหญ่กว่าหลังอื่น เขาอยู่สองคนกับแม่ อ้อ..เขาเป็นผู้ชายวัยรุ่น ผิวเนื้อดำแดง ขณะนั้นเขามีอายุได้ ๑๗ ปี

เขาเป็นลูกคนกลาง เพราะท้องเขามี ๕ คน คือ พี่ ๒ คน น้อง ๒ คน แม่จึงเรียกเขาว่า ”พ่อกลาง” ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๗ ในแถวย่านบ้านนั้นเกิดโรคระบาด ชาวบ้านเรียกว่าโรคห่าลง หมอหลวงไม่เคยโผล่ไปถึง ใครเจ็บใครป่วยก็รักษากันด้วยยาโบราณ เมื่อโรคจับทีแรกโรคกินไก่กินเป็ดก่อน คืนหนึ่ง ๆ ไก่ตายมาก ๆ เพียง ๓-๔ วัน

ในตำบลนั้นก็ไม่มีไก่ขัน เมื่อกินไก่หมด โรคก็เริ่มกินควาย ควายเป็นโรคท้องเดินตายวันละมาก ๆ เนื้อไก่เนื้อควายกินกันจนเบื่อ ขายก็ไม่มีใครซื้อ บอกให้เฉย ๆ ก็ไม่มีใครอยากได้ เจ้าของต้องทำเนื้อเค็มตากแห้งไว้เพราะไม่รู้จะทำอะไรให้ดีกว่านั้น

เมื่อเจ้าโรคร้าย หรือพวกห่าที่มากินควายกินไก่ เบื่อไก่เบื่อควายแล้วก็เริ่มหันเข้ามากินคน พอเริ่มจับกินคนไหนคนนั้นเป็นต้องตาย วัดไม่มีป่าช้าพอให้ฝัง ตายวันละหลาย ๆ คน ผัวตาย พอนำผัวไปฝังเสร็จ กลับมาบ้านไม่ทันข้ามวันเมียก็ตายตามผัวไป แล้วก็ลูก แล้วก็หลาน ตายกันเป็นว่าเล่น เขาป่วยเขาตายกันหมู่อื่น แต่หมู่ของพ่อกลางยังเงียบอยู่ เมื่อเวลาพลบค่ำ คนในหมู่มานั่งจับกลุ่มรวมกันบนเรือนใหญ่ของพ่อกลาง ซึ่งมีท่านแม่ของพ่อกลางเป็นคนปลอบใจ

เพราะพวกนั้นพากันสั่นสะท้าน สยดสยองเพราะเสียงสุนัขทั้งเห่าทั้งหอนตลอดคืน บางคืนได้ยินเสียงคนพูดดังชัดเจน เหมือนกับเขาเดินมาใกล้เรือนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เป็นข้างขึ้นเดือนหงาย คณะที่นั่งอยู่นั้นพากันมองดูก็ไม่เห็น เมื่อนอนก็สุมกันนอน คอยจับกันไว้เพื่อความอุ่นใจ เพราะความกลัวปีศาจ พอถึงวันที่ ๔ “พ่อกลาง”เริ่มป่วยเป็นโรคท้องเดิน ถ่ายอุจจาระครั้งแรกออกเหมือนน้ำไหลจากท่อ ท่านแม่พอรู้ก็ตกใจ รีบจัดหายาให้กิน แล้วใช้คนในบ้านให้รีบไปตามลุงของพ่อกลาง

ซึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงอยู่ในตำบลนั้น กว่าลุงจะมาก็ท้องเดินอีก ๑ ครั้ง คราวนี้รู้สึกว่าที่หน้าท้องเจ็บมาก จนขมวดผ้านุ่งไม่ได้ต้องเอาผ้าวางไว้เฉย ๆ เมื่อลุงมาถึงก็วางยาหยุดถ่ายแล้วลุงให้กินยาบำรุงหัวใจ พอชักใจสบายขึ้นบ้าง เสียงแม่บอกว่า “พ่อกลาง” นึกถึง ”พระพุทโธ” ไว้นะ ภาวนาไว้ลูก..พุทโธ ๆ พระจะช่วยลูกให้หายได้ “พ่อกลาง”รับคำแล้วภาวนาไว้ บางครั้งจะได้ยินเสียงว่า ”พุทโธ “ๆ เบา ๆ แล้วต่อมาเพราะความอ่อนเพลียที่ท้องเดิน ”พ่อกลาง” ก็หลับ

แต่ท่านที่รัก.. แกหลับอะไรอย่างนั้น หลับตั้งแต่ประมาณ ๑๕.๐๐ น. แกไปตื่นเอา ๔.๐๐ น. ขณะนั้นไม่เห็นแกหายใจ ทุกคนว่าแกตาย แต่ลุงที่เป็นหมอบอกว่ายังพอมีทาง แล้วแกก็ทำตามเรื่องของแก อย่าเล่าเรื่องพิธีหมอเลยช้าเปล่า ๆ เป็นอันว่าพ่อกลางแกตื่นตี ๔ แกขอน้ำกิน บอกว่าคอแห้ง เมื่อกินน้ำแล้วแกก็ลุกขึ้นคุย อาการเหมือนไม่ได้เป็นอะไรเลยท่านแม่และท่านลุงห้ามไม่ให้ออกแรงกลัวเป็นลม

แต่พ่อกลางแกกลับพูดว่าไม่เป็นไรครับผมไม่ตายแล้ว เขาเอาผมมาส่งครับ เท่านั้นเอง เรียกความสนใจของทุกคนให้มารวมกลุ่มกันถามเรื่องราว พ่อกลางแกได้เริ่มเล่าเรื่องของแกว่า เมื่อแกหลับนั้น ความจริงแกว่าแกไม่ได้หลับ แกว่าแกเดินออกจากร่างเหลียวมาดูแกก็รู้ว่าร่างของแกนอนอยู่ แต่ตัวแกเองเกิดมีขึ้นมาอีกคนหนึ่งรูปร่างเหมือนกัน มีผ้าผ่อนนุ่งห่มเหมือนกัน เหมือนกับผ้าที่นุ่งเมื่อนอนป่วย

แกไม่สนใจใยดีกับร่างของแก แกเดินไปทักแม่ ทักลุง ทักพี่ยวง ทักป้าใย ไม่มีใครเขาพูดด้วย แกเลยหลีกพวกนั้นเดินลงใต้ถุนไป ไปยืนอยู่ที่ข้างทางเดินหลังบ้าน เป็นเส้นทางเชื่อมตำบล ขณะที่ยืนตากลมเล่นเย็น ๆ ใจนั้น แกเล่าว่าเห็นคนแถวยาวเหยียดนับร้อยเดินมาตามทาง คนนำหน้ารูปร่างสูงใหญ่มาก พวกที่เดินตามมาหัวเพียงแค่เอวของคนหน้าเท่านั้น แกคิดว่าพวกนี้คงจะไปดูงานวัด

เมื่อเขาเข้ามาใกล้ จึงยกมือไหว้คนใหญ่นำหน้า แล้วถามว่า คุณลุงจะไปไหนครับ ผมไปด้วยคนได้ไหม ? คุณลุงแกหยุดมองดูแล้วเปิดสมุดข่อยในมือแกดูแล้วบอกว่า พ่อหนูไปกับลุงไม่ได้ เข้าบ้านเสียเถอะแม่จะบ่นหา หนูไม่มีชื่อในบัญชี แล้วแกก็นำหน้าพวกนั้นเดินต่อไป เมื่อคนที่ตามเดินผ่านไป พ่อกลางแกบอกว่าคนที่รู้จักก็มี ไม่รู้จักก็มี มีทั้งเด็กคนแก่ คนท้อง และหนุ่มคนที่รู้จักเขาเดินผ่านไป ทักเขา ๆ ก็ไม่พูดด้วย ทุกคนหน้าซีดเซียว

ทุกคนที่รู้จักนั้นแกบอกว่ารู้เหมือนกันว่าเขาตายไปแล้ว ตามความรู้สึกว่าสงสัยเหมือนกันว่าพวกนี้ตายไปแล้วทำไมจึงมาเดินตามกันเป็นแถว ๆ พอกลางขบวนมาถึงก็พบคนใหญ่อีก ขออนุญาตตามเขา เขาก็ห้ามและบอกให้เข้าบ้านเหมือนคนหน้า ในที่สุดก็สุดแถว ท้ายแถวมีคนคุมอีก เขาฉุดมือให้พ่อกลางเข้าบ้าน เขาห้ามไม่ให้ไป เมื่อเขาไม่ยอมให้ไป ด้วยความสงสัยอยากจะรู้ว่าเขาไปไหนกัน เมื่อท้ายแถวไกลไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็เดินตามไปห่าง ๆ

เขาพากันจากทุ่งโล่งไปทางทิศเหนือ เข้าป่าไผ่เดินตามทางเล็ก ๆ ข้ามภูเขาเล็ก ๆ ไปประมาณ ๑๐ ลูก จึงถึงเขาใหญ่ เขาลูกนี้ใหญ่และสูงมาก ยาวเหยียดมองแล้วไม่รู้ไปสุดที่ไหน คนหัวหน้าพาขึ้นยอดเขา พอถึงยอดสุดแกก็กางบัญชีสำรวจคน เมื่อครบแล้วก็สั่งให้ลงจากเขาไปด้านโน้น พ่อกลางไปถึงเมื่อพวกคนที่เขาพาไปนั้นลงไปหมดแล้ว แกเล่าว่าขึ้นเขาลงเขาเหนื่อยเหลือเกิน ที่พยายามตามไปก็เพราะอยากจะรู้ว่าเขาพากันไปไหน

พวก ๔ คนที่คุมคนนั้นยังยืนรออยู่ เมื่อถึงลุงคนใหญ่หัวหน้าถามว่า อ้ายหนู ลุงให้เข้าบ้านแล้วทำไมจึงตามมาอีก แกตอบเขาว่าผมสงสัยครับ ว่าคุณลุงพาพวกนั้นไปไหน แกพูดว่าอยากรู้หรือได้ซิ แล้วแกก็ชี้มือให้ดูด้านโน้นของภูเขา มองเห็นมีอาคารคล้ายศาลาวัด และมีตัวเรือนย่อมกว่าอีก ๒ หลังรวมเป็น ๓ หลัง บริเวณนั้นมีคนชุมนุมกันอยู่นับพัน ถามเขาว่าพวกนั้นมาประชุมทำอะไรกัน พ่อลุงตอบว่าเขามารอให้พระยายมตัดสิน

ถามว่าเขามีผิดอะไร แกบอกว่าพวกนี้มีบาปมาก กรรมแต่ชาติก่อนยังไม่หมด แล้วมาสร้างบาปในชาตินี้อีก เขาจึงไปเอาตัวมาลงโทษ โน่นดูทางด้านขวามือโน่น มองตามไปเห็นแสงไฟพวยพุ่งขึ้นจับท้องฟ้า มองไปจนสุดสายตาก็ยังไม่ถึงที่สุดของแสง แกบอกว่าพวกนี้ต้องถูกลงโทษ เผาในทะเลเพลิงนั้นทุกคน สำหรับหนูเขาไม่เอาเพราะคนที่ภาวนาว่า ”พุทโธ” หรือ ”อรหัง” อย่างหนูเขาไม่เอา ถามเขาว่า แล้วผมขออนุญาตไปดูใกล้ ๆ ได้หรือไม่

เขาบอกว่าไปไม่ได้ ถ้าหนูลงไปลุงมีความผิด เพราะบัญชีของหนูในเมืองนรกนี้ไม่มี ถ้าลุงเอาคนนอกบัญชีลงไปแล้ว ลุงเองจะถูกพระยายมลงโทษ เขาบอกว่าหนูกลับเถอะ แม่จะคอย ประเดี๋ยวเขาเผาร่างเสีย จะเข้าร่างไม่ได้ จะลำบากแล้วเขาให้คนที่คุมหลังสุดมาส่ง เจ้านั่นโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ มันคว้าพ่อกลางขึ้นบ่าได้ มันวิ่งใหญ่ ขึ้นเขาลงเขาพักเดียวถึงประตูบ้าน มันเอาหัวทิ่มพรวดเข้าประตู ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นมาเล่าเรื่องให้ฟัง

ต่อมาเมื่อชาวบ้านรู้ว่าพ่อกลางฟื้นแล้ว ได้ยินข่าวว่า ทางเมืองนรกเขาไม่เอาคนภาวนาว่า "พุทโธ" หรือ "อรหัง" มีคนกลัวตายมาขอเรียนจากท่านแม่ของ "พ่อกลาง" วันละมาก ๆ พ่อกลางเองก็ต้องคอยนั่งเล่าเรื่องให้ฟังวันแล้ววันเล่าท่านแม่เลยกลายเป็นอาจารย์ "พุทโธ..อรหัง" ไปพักหนึ่ง..

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอน ตายครั้งที่ ๒ )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 10/11/08 at 04:07 Reply With Quote



ตายครั้งที่ ๒

พ่อกลางหลังจากแกไปนรกมาแล้ว ต่อมาแกไม่ยอมทำบาปเอาเลย ปกติก่อนไปนรกแกก็ไม่ทำอยู่แล้ว จะทำบ้างก็เมื่อผู้ใหญ่สั่งให้ทุบปลาแกงเท่านั้น เรื่องหาเองแกไม่เคยทำมาเลย เป็นกำไรชีวิตแท้ของแก

เมื่ออายุครบบวช "พ่อกลาง"ได้บวชอยู่กับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อบวชวันแรกนั้นเอง หลวงพ่อปานก็ให้เรียนกรรมฐาน เป็นที่รักของหลวงพ่อปาน เพราะปฏิบัติพระกรรมฐานได้เป็นที่พอใจของท่าน เมื่อบวชได้พรรษาแรก หลวงพ่อพยากรณ์ไว้ว่า สิ่งที่เธอตั้งใจไว้นี้ พรรษาที่ ๒๐ จะได้ครบทุกอย่าง แต่พรรษาที่ ๗ กับพรรษาที่ ๑๙ เธอมีเคราะห์เพราะกรรมเก่ารบกวน

ดีไม่ดีอาจตายอายุ ๒๗ หรือ ๓๙ ขอให้ต่ออายุเสีย โดยให้ปล่อยปลา ท่านว่าตัว ๑ ต่อได้ ๑ ปี พระกลางได้ทำอย่างนั้นแล้วปีอายุ ๒๗ อยู่ที่วัดประยูรวงศาวาสธนบุรี ป่วยจริงตามคำหลวงพ่อบอก เป็นโรคท้องเดินอีก คราวนี้ตายอีกครั้ง แต่การตายคราวนี้วิญญานไม่ได้ออกจากร่าง ขั้นแรกเริ่มเพลียกำลังถอยไปทีละน้อย ๆ สายตาเริ่มพร่าลงทีละน้อย ๆ จนสามเณรละม่อมนั่งพยาบาลอยู่ชิดตัวก็มองไม่เห็น แล้วความรู้สึกก็มาหยุดอยู่แต่ภายในทรวงอก

คนพูดได้ยิน แต่ตาไม่เห็นพูดไม่ได้ อวัยวะทุกส่วนใช้ไม่ได้เลย ตามความรู้สึกคล้ายกับไปนั่งอยู่กลางบ้าน ร่างกายเวลานั้นดูมันใหญ่เหลือเกิน สติมั่นคงอยู่ในฌานเสมอ ไม่มีเวทนาเมื่อขณะนั้น คิดในใจว่าเราควรจะไปหรือจะอยู่ ทั้งสองอย่างเราพร้อมแล้ว จึงคิดว่า ถ้าอยู่จะดีกว่านี้แล้วเราจะอยู่ ถ้าอยู่เอาดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว เราจะไปเลยไปตามทางที่เคยตกลงไว้ว่าจะไปอยู่ จึงอธิษฐานว่า ถ้าข้าควรไปก็ขออย่าให้มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าควรอยู่แล้วขอให้มีแสง ๓ ประการพุ่งมาให้ปรากฏ

เมื่ออธิษฐานจบแสง ๓ ประการ ก็ปรากฏพุ่งมาหยุดอยู่เบื้องบนเหมือนเพดาน ครู่หนึ่งก็หายไป จึงอธิษฐานว่า ความตั้งใจในอันดับสูงของข้าจะได้ จะได้สมประสงค์หรือไม่ ถ้าได้สมประสงค์ขอให้แสง ๓ ประการพุ่งมาใหม่ แล้ววนเป็นทักษิณาวัตร พออธิษฐานเสร็จแสงก็พุ่งมาใหม่ วนเป็นทักษิณาวัตรครู่หนึ่งก็หายไป พร้อมกันนั้นก็มีคนนุ่งขาวห่มขาวเอายามาให้ฉัน บอกว่าเป็นพระอินทร์ แต่ทำไมตัวไม่เขียวก็ไม่รู้ เมื่อให้ยาแล้วบอกว่านิมนต์ฉันแล้วไม่ต้องฉันยาอะไรอีก รุ่งขึ้นจะมีกำลังเป็นปกติตามเดิม แล้วก็เป็นจริงตามนั้น

ตายครั้งที่ ๓

หลังจากนั้นมา พระกลางก็มุ่งมั่นในกรรมฐานหนักขึ้น และทำทุกอย่าง เช่นรับบวชกุลบุตรที่ครบบวชแต่บิดามารดาไม่สามารถจะบวชให้ มีจำนวนทั้งหมดเกินกว่า ๑๐๐ องค์ ทอดกฐินมาแล้วเกินกว่า ๒๐ วัด สร้างอาคารในพุทธศาสนา เช่น โบสถ์ ศาลามาแล้วหลายหลัง ปรุงยาแจกแก่ผู้ป่วยไข้ ทอดผ้าป่าให้ทานนับไม่ได้ พอย่างเข้าอายุ ๓๙ ปี ก็เริ่มป่วยตามคำอาจารย์บอก ป่วยคราวนี้ต้องนอนป่วยอยู่ถึง ๒ ปี

เมื่อเริ่มป่วยมีเงินติดตัวอยู่ ๒๐ บาท ค้นได้ตามที่ซุก ๆ ซ่อน ๆ อยู่โดยไม่ได้ตั้งใจจะซุกอีก ๑๘๐ บาท เมื่อขณะป่วยได้รับอุปการะจากคนไกลเกินคาด คิดจำนวนเงินแล้วเกินกว่า ๔๐,๐๐๐ บาท แต่คนที่เคยได้รับอุปการะจากพระกลางไม่เคยสงเคราะห์ตอบ น่าคิดเหมือนกัน คนประเภทนี้เลวยิ่งกว่าหมา เพราะหมาเลี้ยงมันแล้วมันยังกตัญญู เฝ้าของให้ยอมตายแทน แต่คนอย่างนี้ดีแต่อาศัยผู้อื่น แต่ท่านก็ไม่ว่า ไม่เคยบ่นไม่เคยพูดถึง

เมื่อเริ่มป่วยระยะแรกอาการหนักมาก วันที่ ๓ ของวันป่วยท่านพยุงกายขึ้นนั่งพิงพนักเตียง เจริญพระกรรมฐานจนถึงขั้นที่สุด ปลงจิตทอดอาลัยในสังขาร ตัดความอาลัยอาวรณ์ในทุกอย่างหมด มุ่งจิตตรงต่อพระนิพพาน ขณะนั้นเองก็ปรากฏตัวว่า ตัวของตัวเองเดินเข้าไปในวัด ๆ หนึ่ง มีบริเวณกว้างขวางมีกำแพงล้อมรอบ มีโบสถ์ มีศาลา มีกุฏิ มีหอระฆัง ทั้งกำแพงและสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนพื้นที่รองรับ ดูระยับสวยสดงดงาม เหมือนทองผสมแก้ว

วัดนี้เงียบสงัดไม่มีใครเลย ในจิตคิดว่านี่ที่ไหนหนอ สวรรค์หรือพรหมเราก็เคยพบแล้ว ไม่สวยอย่างนี้ ที่นี่เขาเรียกอะไร เดินไปรู้สึกเพลียหมดกำลัง จึงหันเข้าไปนอนพักที่ฐานหอระฆัง หันหน้าไปทางตะวันออก ในขณะนั้นเอง ได้เห็นพระองค์หนึ่ง เดินมามีรัศมีพุ่งออกจากกายขึ้นเบื้องบน สวยงามมาก จิตสำนึกบอกว่า นั่นคือพระพุทธเจ้า ท่านเดินมาหา มายืนอยู่ที่นอนพักอยู่ พระกลางลุกขึ้นแล้วกราบลงที่พระบาท

ท่านยิ้มแล้วถามว่า เธอรู้ไหมที่นี่เขาเรียกอะไร ตอบว่าไม่รู้ ท่านบอกว่านี่เขาเรียกนิพพาน เธอคิดจะมานิพพานไหม ตอบว่าไม่เคยคิด ท่านถามว่าทำไมจึงไม่คิดจะมา ตอบว่าพระนิพพานมาไม่ได้ เพราะวิปัสสนาญาณไม่แจ่มแจ้งและเป็นของยาก ท่านบอกว่า เธอหลอกตัวเอง การที่เธอปลงสังขารตัดอาลัยนั่นแหละ เป็นที่สุดของวิปัสสนา เมื่อตัดใจได้เด็ดขาดเป็นเอกคตารมณ์แล้ว โดยไม่ต้องระวัง ความพอใจในโลกไม่เกิดขึ้นแก่ใจแล้ว เธอก็มานิพพานได้

ถึงแม้ท่านจะพูดอย่างนี้ก็ยังไม่ยอมรับว่าจะไปนิพพาน เพราะไม่มีกำลังใจจริง ๆ ท่านจึงเนรมิตไม้ขึ้น ๑๐ ท่อน แล้วบอกว่าถ้าใครยกไม้นี้ขึ้นคนนั้นก็มานิพพานได้ ไม้นั้นท่อนไม่โตยาวประมาณ ๒ ฟุต ใหญ่ขนาดไม้ไผ่ธรรมดา บางก็แสนบาง แล้วท่านให้สัญญาเรียกพระมา ๙ องค์ ทุกองค์มาหยิบไม้ยกขึ้นบ่า แล้วก็เดินหายไป บรรดาพระที่มานั้นปรากฏว่าหลวงพ่อปานอาจารย์มาหยิบไม้ยกขึ้นบ่าเป็นองค์ที่ ๔ ท่านมองหน้าพระกลางแล้วก็ยิ้ม แต่ไม่พูดอะไร

เมื่อพระ ๙ องค์ยกไม้ ๙ ท่อนแล้ว เหลืออีก ๑ ท่อนเป็นของพระกลาง ท่านสั่งให้ยก ท่านพระกลางบอกว่าเวลานั้นกำลังใจไม่มีเลย คิดว่ายกไม่ขึ้นจะไม่ยกก็เกรงบารมี เข้าไปยกตั้งท่าตั้งทางเสียเกือบแย่ พอหยิบยกขึ้นรู้สึกเบามีกำลังใจยกใส่บ่า เดินไปได้ ๒-๓ ก้าว ท่านเรียกให้เอาไม้มาวาง แล้วยิ้มกับพระกลาง บอกว่าเธอมีบารมีพอมาได้แต่เธอไม่กล้าขอให้กลับไป แล้วตัดสินใจเสียใหม่ว่า เราจะไปพระนิพพานในชาตินี้ แล้วเจริญวิปัสสนาตัวยอดเลยทีเดียว

เพราะส่วนสมาธิเธอได้สูงแล้วและมีกำลังสูงพอ ไม่จำเป็นต้องเจริญวิปัสสนาตามลำดับ ให้เห็นโทษของวัฏฏะและตัดความรักความอาลัยในโลกนี้เสียให้สิ้น ให้เห็นว่าทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเป็นสุข มีแต่โทษและความทุกข์ หมั่นปลงสังขารเสมอ ๆ อย่าให้ขาด แล้วภายในไม่ช้า เธอจะได้มาอยู่ที่นี้ ที่นี่เป็นที่อยู่ของเธอ มีขึ้นเพราะอานิสงค์สร้างวิหารทาน แล้วท่านก็ส่งกลับ รู้สึกตัวเอาเมื่อเวลาเลยไปแล้ว ๑๓ ชั่วโมง คนแน่นที่ หมอเต็มไปหมด

เมื่อฟื้นแล้วต้องทรมานตัวป่วยต่อไปอีก ๒ ปี แต่ก็ไม่มีเวทนาอะไรมาก เป็นแต่หมอไม่ยอมปล่อย เดี๋ยวนี้ท่านพระกลางตัดหมดแล้ว ตำแหน่งหน้าที่ยศศักดิ์ไม่มีแล้ว ไม่มีใครถอดท่านถอดตัวเองและถอดหมดทุกอย่าง ยังไม่ถอดอยู่อย่างเดียว คือ ลมหายใจ

เรื่องนี้ท่านประสพมาจริง แต่ความเห็นของท่านผู้อ่านจะเห็นอย่างไรตามใจท่าน

จบเรื่องเที่ยวเมืองผี

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 20/11/08 at 15:16 Reply With Quote



พระตาทิพย์

บทก่อน..ชวนท่านไปเที่ยวกับ พระกลาง เริ่มเดินทางจากสุพรรณบุรี เรื่องไปจบเอานิพพาน ท่านแปลกใจไหม ใคร ๆ เขาก็ว่านิพพานไม่มีตัวมีตนกันทั้งนั้น พระเทศน์ก็แบบนั้น หนังสือที่อ่านก็อย่างนั้น เขาว่าหาตัวหาตนไม่ได้ เข้าทำนองตายแล้วสูญ แต่พระกลางท่านฝันว่าไปพบนิพพาน น่าแปลกใจนะ แต่ถ้าพิสูตรตามพระไตรปิฎก หรือตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็เห็นว่าไม่แปลก เพราะผู้ที่เข้าใจว่าตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิใน 'ยมกสูตร'

พระยมก ท่านพูดว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ ไม่มีที่เกาะที่หมายเหมือนควันไฟลอยไปในอากาศ พระอรหันต์สมัยนั้น มี พระสารีบุตร เป็นหัวหน้า ค้านว่าไม่ใช่อย่างนั้น แล้วประนามว่าพระยมกมีทิฏฐิชั่วหยาบ ขอให้ทำความเห็นเสียใหม่ ต่อเมื่อพระสารีบุตรอธิบายให้ฟังจนท่านยมกเข้าใจแล้ว เลยได้บรรลุอรหันต์ผล

ท่านบอกว่าผมเข้าใจแล้วครับ ความเห็นเดิมของผมผิดจริง ขอนักปราชญ์โปรดช่วยกันค้นคว้าเรื่องพระนิพพานเสียให้ถูกให้ตรงทีเถอะ จะได้มีคนอยากไป และไปถึงกันง่ายและเร็วกว่าปัจจุบัน

ว่าจะชวนท่านไปชม "พระตาทิพย์" แอบมาฟุ้งเรื่องพระนิพพานเสียเพลินไป ขอโทษด้วยนะครับ อ้ายผมมันอย่างนี้แหละ ด่อม ๆ มอง ๆ บางคราวก็มองพอดีบางทีก็มองเลยเถิดไปเสียเหมือนกัน เอาละ..ท่านตามข้าพเจ้ามา คราวนี้ไปตั้งต้นกันเมืองธนบุรีเลย เอากันในเขตอำเภอบางกอกน้อยนี่แหละ พระตาทิพย์อยู่วัดระฆัง ฯ เดี๋ยวนี้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ฯ ชื่อตามราชทินนามว่า เจ้าคุณเทพประสิทธินายก ก่อนเล่าเรื่องของท่าน ขอเล่าประวัติเดิมสักนิด

ท่านเจ้าคุณเทพ ฯ เป็นศิษย์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้วิเศษสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เมื่อสมเด็จยังอยู่ท่านเป็นเด็กเล็ก ยังเอาไว้หางเปีย เขาพูดกันว่าถั่วตามพันธุ์ มันตามเถา อยู่ใกล้คนเช่นไร เป็นเหมือนคนเช่นนั้น ถ้าจะจริง ท่านเจ้าคุณคลุกคลีอยู่กับสมเด็จ (โต) น้ำลายไอปาก ความรักความพอใจในปฏิปทานั้นก็ย่อมมีขึ้นในใจได้เป็นธรรมดา ขอเล่าเรื่องของท่านเลย

เรื่องรถยนต์หาย

พันเอก กมล วิจิตรคดีพล เป็นผู้บังคับกองพัน และรองผู้บังคับการทหารช่างรักษาพระองค์ กรมทหารช่างที่ ๑ สวนอนันต์ธนบุรี วันหนึ่งได้นำรถจิ๊บของทางราชการไปจอดไว้หน้าโรงหนังคิงส์ ฝั่งพระนคร แล้วเข้าไปดูหนัง พอหนังเลิกออกมาที่รถ ไม่พบรถเสียแล้ว ถามใครก็ไม่ทราบว่ารถหายไปไหน กลับมากองพัน ร.อ. ไพบูลย์ นายทหารใต้บังคับบัญชา ทราบเรื่องเข้า จึงเข้าไปในวัดชิโนรสาราม ไปหา พระมหาวีระ ขณะนั้นจำพรรษาอยู่วัดนั้น

ขอให้ช่วยดูให้ด้วยว่ารถหายไปไหน พระมหาวีระไม่ตรวจให้ และได้บอกว่าท่านอยู่ใกล้ท่านผู้วิเศษจะมาหาฉันทำไม จะให้แน่นอนแล้ว ไปหาท่านเจ้าคุณเทพ ฯ วัดระฆังดีกว่าเพราะท่านดีกว่าฉันหลายพันเท่า และแน่นอนด้วย ร.อ. ไพบูลย์ ฯ จึงพา พ.อ. กมล ฯ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน ตามระเบียบไปหาท่านเจ้าคุณตั้งใจจะไปให้ท่านพยากรณ์ว่ารถหายไปไหน พอไปถึงประเคนดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ก้มลงกราบ ๓ ลาตามธรรมเนียมพระพุทธศาสนา

พอเงยหน้าขึ้นหวังจะเรียนถามเรื่องรถ ไม่ทันพูดไม่ทันถาม ท่านพูดเสียก่อนเลยว่า รถของคุณไม่ไปไหน พรุ่งนี้เวลาประมาณ ๕ โมงเย็นจะมีคนนำมาให้ ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร แต่อาจต้องเสียสุราเพื่อเลี้ยงดูกันเล็กน้อย แล้วถามว่าคุณมีธุระอะไรอีก สองนายทหารต้องกราบอีกครั้ง เรียนท่านว่ามาธุระเท่านั้นเองครับ แล้วต่างก็ลากลับ รุ่งขึ้นเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ตำรวจเอารถมาให้ และบอกว่าดักจับได้ปลายทางด้านเหนือของพระนคร

แปลกไหมท่าน..เขาไม่ทันพูดทันบอก ท่านรู้แล้ว และพูดตรงเรื่อง พยากรณ์ได้ตรงความจริง อย่างนี้เขาเรียกว่าพระใจทิพย์ ที่เราเรียกกันว่าทิพยจักขุญาณ อยากรู้จักตัวเชิญไปพบที่วัดระฆัง ฯ

ขโมยลักพระ

ร.ต.ท. ชาติ (ยศเมื่อ ๒๔๙๘) นายตำรวจสถานีตำรวจอัมรินทร์ อำเภอบางกอกน้อย ถูกคนขโมยพระพุทธรูปขนาด ๕ นิ้วไป เจ็บใจนักเพราะตนเป็นตำรวจ และสมัยนั้นตำรวจกำลังเฟื่องฟู เพราะเป็นสมัยอธิบดีเผ่า คิดในใจว่า ขอให้รู้ตัวแน่นอนเถอะ จะต้องยิงเสียให้ดับหนอยแน่ อยู่ดีไม่ว่าดีแอบเอามือมาล้วงดูงูเห่าหลับได้

ว่าแล้วก็คว้าดอกไม้ธูปเทียนไปหาท่านเจ้าคุณเทพ ฯ พอไปถึงถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้วกราบ พอเงยหน้าขึ้นไม่ทันพูด ท่านเจ้าคุณก็พูดก่อนเหมือนรายแรก แต่รายนี้ไม่ใช่บอก กลายเป็นเทศน์ไป ท่านกล่าวว่า คุณจะไปยิงไปฆ่าเขาทำไม พระพุทธรูปราคาไม่เกิน ๓๐๐ บาท เงินเดือนคุณมากกว่านั้นเยอะถ้าไปฆ่าเขาตาย คุณจะถูกจับติดคุกติดตะราง แล้วเงินเดือนจะไม่ได้ เงินเดือน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งได้เท่าไร ถ้าเรามีชีวิตต่อไปอีก ๒๐ ปี

ลองคิดดูทีหรือว่าจะสูญเสียเงินไปเท่าไร ถูกถอดยศ เสียชื่อเสียง เสียผลประโยชน์ หมดอิสสระภาพ ลูกเมียจะพลอยลำบาก เพราะพระพุทธรูปราคาไม่เกิน ๓๐๐ บาท คุณคิดดีแล้วหรือ เลิกคิดเสียเถอะ แล้วถามว่าคุณมาธุระอะไร ฉันมันคนแก่พูดจาเลอะเทอะตามภาษาคนแก่ พ่อนั่นเลยหมดฤทธิ์ บอกว่าเรื่องที่หลวงพ่อพูดมานั้นตรงแล้วครับ ผมเลิกคิดฆ่าเขาแล้วครับ แล้วก็ลากลับ

นี่เป็นเรื่องที่ ๒ ในจำนวนพัน ๆ เรื่อง ท่านผู้อ่านเห็นแล้วหรือยังว่า "เจโตปริยญาณ" หรือที่เรียกว่า "ทิพยจักขุญาณ" นั้น เดี๋ยวนี้ยังมีผู้ได้อยู่ แต่ทว่าท่านจะมีหัววิทยาศาสตร์เกินไปเท่านั้นแหละ จึงจะมองไม่เห็น

นายพลตาทิพย์

ขอเล่าต่อกันเลย เพราะท่านทั้งสองนี้อยู่ใกล้กัน ท่านผู้นี้ คือ พลเรือตรี หลวงสุวิชชาญแพทย์ อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ท่านบิดาเหล่างูดิน เพราะคำขวัญของทหารเรือมีอยู่ และพูดกันจนติดปากว่า เหล่าทหารเรือที่มีพิษมีสงมากก็คือปล่องเหลี่ยม (กรมอู่) งูดิน (กรมแพทย์) พิณ ๓ สาย (ดุริยาง) สามเหล่านี้ เป็นเหล่าที่มีฤทธิ์มีเดชมาก นายด้อม ๆ มอง ๆ ที่เขียนหนังสือนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เหล่ากอของงูดินนั่นเอง

ท่านนักวิทยาศาสตร์ นักเรียน นักศึกษาทั้งหลายถ้าท่านสงสัยเรื่องโลกอื่น เรื่องฌานเรื่องญาณในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้เจริญรอยตามคุณหลวงเจ้ากรมแพทย์ เพราะท่านเจ้ากรมก็เป็นคนหัวฝรั่งอย่างพวกท่านนี้แหละ แต่ท่านไม่ใช่คนขี้สงสัยแต่ไม่ทำ ท่านสงสัยแล้วไม่นิ่งดูดาย ไม่ไปเที่ยวกวนใจชาวบ้านชาววัด ไม่เข็นให้เขาจับผีจับเทวดาให้ดู เพราะพวกนั้นเป็นพวกวิญญาณ ไม่มีอะไรจะไปผูกไปมัดมาได้ กล้องจุลทัศน์ ที่ขยายส่วนได้ตั้งหมื่น ๆ เท่า ก็ขยายดูผีดูเทวดาไม่ได้

เพราะส่วนที่กล้องจุลทัศน์ขยายให้โตได้นั้น เป็นวัตถุ ไม่ใช่นามอย่างวิญญาณ ท่านเจ้ากรมเมื่อท่านสงสัย ท่านก็ไม่ยอมโง่ โดยเอาแต่ถามคนนั้นคนนี้ ท่านเริ่มเรียน เริ่มฝึกด้านสมาธิตั้งแต่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ในที่สุดความหวังก็สมความปรารถนา ได้ฌานได้ญาณ รู้เห็นเหตุอันเป็นอดีต อนาคต และพวกเทพนิกาย และชาวยมโลกได้ ใครสงสัยเชิญไปพบท่านได้

บ้านท่านเจ้ากรมอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟฝั่งวัดดุสิต ถึงแถวนั้นแล้วถามใคร ๆ ก็ได้ แม้แต่เด็กอมมือก็รู้จัก เชิญได้เลยจ๊ะ ทุกวันอาทิตย์ท่านใช้ญาณตรวจกรรมของคนให้ทุก ๆ วันอาทิตย์ไม่เอาเงินเอาทอง เอาดอกไม้ธูปเทียนไปก็แล้วกัน วันหนึ่งท่านตรวจไม่เกิน ๑๕๐ คน เฉพาะวันอาทิตย์นะ วันอื่นท่านตรวจหรือไม่ ๆ ทราบ จะเอาเรื่องของท่านมาเล่าให้ฟังสัก ๒ เรื่อง

ผีฝรั่งในเรือประแสร์

เรือประแสร์ เป็นเรือพิฆาตตอปิโด เรือประแสร์ลำแรกไปปรับปรุงให้มีอาวุธและเรด้าทันสมัยที่อเมริกาแล้ว ไปร่วมรบกับสหประชาชาติ ในน่านน้ำเกาหลี เพราะไม่ชำนาญในภูมิประเทศ เรือประแสร์ลำนั้นได้วิ่งไปเกยตื้น ไม่สามารถจะถอนตัวออกให้พ้นตื้นได้ แม้แต่จะขยับขะเยื่อนตัวเองก็ไม่ได้ ใช้เรืออื่นมาดึงมาลากก็แล้วไม่ออก เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ข้าศึก ผู้บังคับการเรือจึงได้ออกคำสั่งให้ทำลายเรือเสีย

ก่อนทำลายเรือ ได้รำเรียงลูกเรือไปขึ้นเรือลำอื่น เมื่อเรือประแสร์ลำนั้นถูกทำลายแล้ว รัฐบาลอเมริกาได้มอบเรือรบให้ใหม่ขนาดใหญ่ยาวกว่าเรือประแสร์ แต่ทางกองทัพเรือเราให้ชื่อว่า “ประแสร์” แทนเรือประแสร์ที่ถูกทำลายตัวเอง

เรือประแสร์ลำนี้หลังจากได้มาแล้ว ลูกเรือไม่มีความสุข ในเวลากลางคืนผีหลอกลูกเรือเรื่อยมา ขณะที่นำเรือกลับประเทศไทย เมื่อสงครามเกาหลีสงบ ขณะวิ่งมาในระหว่างทาง ลูกเรือกำลังนอนหลับก็ถูกผีจับลูกเรือโยนลงทะเล ต้องถอยหลังเรือรับ เมื่อผีในเรืออาระวาดอย่างนี้

พอเรือถึงกรุงเทพฯ ผู้บังคับการเรือได้ไปพบท่านเจ้ากรม ที่กรมแพทย์เวลาเที่ยง ถามถึงเรื่องผีว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ผีสงบได้ ท่านเจ้ากรมหยุดแล้วก้มหน้าลงนิดหนึ่ง มือถือปากกาเคาะก๊อก ๆ ประมาณ ๑ นาที ท่านเงยหน้าขึ้นแล้วบอกว่า

คุณกลับไปเรือให้ทหารขึ้นไปดูบนยอดเสากระโดงหลัง บนนั้นมีห่อผ้าขาวอยู่ ๑ ห่อ ในห่อผ้านั้นมีกระดูกผีฝรั่ง ให้เอาโยนทิ้งน้ำเสีย เรื่องผีดุจะสงบเอง ผู้บังคับการเรือได้กลับไป ให้ทหารขึ้นไปดูพบผ้าขาวห่อกระดูกจริง จึงให้เอากระดูกและผ้าโยนทิ้งน้ำตามท่านเจ้ากรมสั่ง เรื่องผีในเรือประแสร์ก็สงบ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

เรื่องนายทหารเรือลาออก

อีกเรื่องหนึ่งของคุณหลวง วันหนึ่งเมื่อท่านเจ้ากรมเข้าที่ทำงาน มีนายทหารเรือฝ่ายพรรคนาวินขอเข้าพบ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นายทหารผู้นั้นได้เข้าพบท่าน เขาผู้นั้นมียศเป็นนายเรือเอก เมื่อเข้าไปถึงทำความเคารพและนั่งในที่อันสมควรแล้ว

ท่านถามว่า คุณมาธุระอะไร เขาเรียนตอบว่า เกล้า ฯ อยากจะลาออกจากกองทัพ ไปหากินส่วนตัว เพราะมีลูกตั้ง ๓ คนเงินเดือนไม่พอใช้ อยากจะขอความกรุณาท่านช่วยตรวจดูว่า เมื่อเกล้า ฯ ออกไปแล้วจะมีทางหากินเอาตัวรอดได้หรือไม่

ถ้าไม่มีทางก็จะทนรับราชการต่อไป ท่านเจ้ากรมก้มหน้านิดหนึ่ง ประมาณ ๑ นาทีแล้วเงยหน้าขึ้นพูดว่า คุณลาออกได้ เมื่อลาออกแล้วคุณทนลำบากเอาสัก ๒ เดือนนะ เมื่อคุณลาออกแล้วถ้ามีคนมาชวนทำงานรายแรกนั้นขอให้คุณปฏิเสธ อย่ารับนะ รอไปอีกประมาณไม่เกินเดือน จะมาชวนคุณอีกราย รายหลังนี้รับได้คุณจะเอาตัวรอด เขากลับไปลาออก เมื่อออกได้แล้วประมาณ ๒ อาทิตย์

มีบริษัทเดินเรือทะเลมาชวนให้ไปทำงานด้วย เขาให้เงินเดือน ๆ ละ ๗,๐๐๐ บาท (เจ็ดพันบาท) เขาก็ปฏิเสธตามท่านเจ้ากรมสั่ง ต่อมาอีกประมาณเกือบเดือน มีเจ้าของเรือเดินต่างประเทศมาขอให้ไปทำงานร่วมในตำแหน่งกัปตันเรือ ให้เงินเดือน ๑ หมื่นบาท และให้หุ้นลมอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โชคช่างดีอะไรอย่างนั้น

เอาละท่านที่รัก..เรื่องของท่านเจ้ากรมเล่าเท่าไรก็ไม่จบ เอามาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างเพื่อให้รู้ว่า แม้นายทหารผู้ใหญ่ ที่เคยไปนอกไปนามาแล้ว เขาไม่ยอมโง่ เที่ยวได้ถามคนโน้น..ขู่คนนี้ บังคับให้เขาเอาโลกอื่นบ้าง ผีบ้าง เทวดาบ้างเอามาให้ดูอย่างโง่ ๆ อะไรถ้าสงสัยก็ค้นคว้ากันจริง ๆ แล้วก็จะรู้ผลเองอย่างนี้จึงจะชื่อว่าคนฉลาดแท้..!

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/11/08 at 10:32 Reply With Quote



ตาทิพย์เมืองเหนือ

ได้พูดถึงผู้วิเศษเมืองกลาง (ธนบุรี) มาพอควรแล้ว ความจริงภาคกลางนี้มีผู้ได้ทิพยจักขุญาณเยอะ ขอนำมาเล่าให้ฟังเพียงสองท่าน ก็เพื่อจะให้รู้ว่าไม่ใช่แต่พระเท่านั้น ที่จะสร้างทิพยจักขุญาณได้ ฆราวาสที่มีลูกมีเมีย กินข้าวเย็น ก็สามารถทำทิพยจักขุญาณให้เกิดได้

เมื่อพูดถึงคนเมืองกลางมีตาทิพย์ได้ จะไม่พูดถึงคนภาคเหนือบ้าง เดี๋ยวพี่น้องชาวเหนือจะน้อยใจ หาว่าลำเอียง เอาละเมื่อรักก็ต้องรักเท่ากันเมืองกลางเมืองเหนือ

คนดีเมืองลำพูน

ปี ๒๕๐๔ ได้มีโอกาสไปเที่ยว ด้อม ๆ มอง ๆ เมืองเหนือ พอไปถึงเชียงใหม่แล้ว เห็นเพื่อน ๆ กันเขาพากันพูดว่า ใครมาเชียงใหม่แล้ว ถ้าไม่ได้ไปป่าซางลำพูนแล้ว ก็เสียทีเปล่า เพราะที่ป่าซางมีสาวสวย ๆ เยอะ และใจก็ดีเสียด้วย ใจบุญยิ้มสวย

พอได้ยินเข้าแบบนี้ใจคอชักเต้นระทึกตึ๊กตั๊ก นึกอยากจะอู้สาวชาวป่าซางสักนิด เพื่อจะพบสาวสวยตามัวหาผัวยากมารักเข้าสักคน ก็เป็นโชคดีเหลือ เพราะข้าพเจ้าเองก็กำพร้าเมียมาตั้งแต่เกิด จึงจับรถเก๋งเดินทางจากเชียงใหม่ย้อนไปลำพูน เมื่อถึงลำพูนแล้ว ไปพบอดีตอนามัยจังหวัดเชียงใหม่เข้า

อนามัยตาทิพย์

ท่านอนามัยคนนี้ มียศเป็นขุน จำไม่ได้ว่าราชทินนามว่าอย่างไร ขณะนี้ตั้งร้านขายยาอยู่ในตลาดตัวเมืองลำพูน ท่านเป็นคนอยุธยา ภรรยาท่านเป็นคนอ่างทอง เมื่อรู้ว่าเป็นชาวเมืองใต้เหมือนกันเข้า ก็คุยกันถูกคอคุยกันไปคุยกันมา คิดอยากจะทาบทามให้เป็นเถ้าแก่พูดสาวลำพูน ให้สักคนก็ไม่มีโอกาส เพราะสองสามีภรรยาไม่ได้พูดเรื่องทางโลกเลย พอไปพบเข้า ท่านเจ้าบ้านก็งัดเอากรรมฐานขึ้นมาพูดเลย

เอาละเมื่อเจ้าของบ้านกรรมฐาน ข้า ฯ ก็กรรมฐานบ้าง ทั้ง ๆ ที่กรรมฐานของข้า ฯ ไม่ใคร่จะกระดิกหู เมื่อเขาชอบคุยแบบนั้นก็ต้องคุยกันตามใจเจ้าบ้าน ขืนขัดใจดีไม่ดีอาจเคราะห์ร้ายก็ได้ โบราณท่านว่า อยู่แป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ดีไม่ดีแป๊ะอาจยกลูกสาวให้ก็ได้ บ๊ะ..เอาเข้านั่น มันอาจจะจริงได้เหมือนกันนะ จะทำเล่นไป

ท่านขุนเล่าให้ฟังว่า ผมเป็นหมอแผนปัจจุบัน แต่เดี๋ยวนี้เป็นทุกอย่าง คือ หมอแบบฝรั่ง แบบไทย แบบลาว และแบบคาถาอาคม ถึงตอนนี้ข้าฯ ชักสงสัยว่า เอ..ลุงขุนนี้ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์หัวนอกหัวนา ทำไมมาเล่นคาถาเหตุมันต้องมี จึงถามเหตุท่าน ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เมื่อผมรับราชการผมก็ไม่เชื่อเหมือนกัน เมื่อออกแล้วได้มาเรียนกรรมฐาน กับพระเมืองใต้ท่านขึ้นมา ไม่ใช่หนอนะครับ ผมพวก "พุทโธ" ท่านขุนเล่า

ชักสงสัยจึงถามว่า "หนอ" กับ "พุทโธ" ต่างกันหรือครับ ท่านตอบว่าต่างกันมาก แต่ผมไม่เลื่อมใสเพราะ ผมได้ทางนี้เสียแล้ว ทางโน้นไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จากนั้นได้พูดว่าแปลกครับผมทำสมาธิไป ฯ คนไข้มาหาผมเป็นอะไรผมรู้ได้เลย โดยไม่ต้องลงมือตรวจ บางครั้งตรวจแล้วยังสู้รู้ด้วยใจไม่ได้ ละเอียดกว่า และรู้ต่อไปด้วย ว่าโรคนี้ต้องใช้ยาอะไร ยาฝรั่ง หรือยาไทย ยาลาว น้ำมนต์ รักษาตามนั้น แล้วหายจริง ๆ ถ้าไข้จะตายก็รู้ เมื่อเจ้าของไข้มาหา

บางครั้งคนไข้ยังแข็งแรงเดินได้ ทำงานได้ แต่ใจคิดว่าตาย และไม่ช้าเขาก็ตายจริง ๆ ถามว่าน้ำมนต์เรียนจากใคร ท่านขุนบอกว่าได้เอง ทำสมาธิก็มีคนมาบอกให้เอง มีหลายครั้งที่หมอฝรั่ง ร.พ.เชียงใหม่ไม่รับ บอกว่าตาย เมื่อมาถึงผมในใจคิดว่าหายแต่รักษาด้วยยาฝรั่งไม่ได้ ต้องใช้ยาไทย หรือยาลาว หรือน้ำมนต์ ผมรักษาตามความรู้สึกนั้นก็หายจริง ๆ เห็นไหมล่ะ เมืองเหนือก็มีคนดี อย่างนี้ทางพระท่านเรียกทิพยจักขุญาณ มีความรู้ทางใจคล้ายตาทิพย์

ท่านนักเรียนนักศึกษาเห็นหรือยัง ท่านอนามัยคนนี้เคยไปเรียนต่อเมืองนอก แต่เขาก็ไม่ได้ลืมของดีเมืองไทย เขากลับมาฝึกฝนจนได้ทิพยจักขุญาณ แล้วท่านล่ะเมื่อไรจะทำเองเสียสักที จะได้ไม่ต้องเที่ยวถามชาวบ้านเขา

เพชรน้ำหนึ่งป่าซาง (จังหวัดลำพูน)

ข้าพเจ้าเป็นโรคกำพร้าเมียมาตั้งแต่เกิด มาเที่ยวเมืองเหนือคิดว่าจะมีโอกาสได้ประสพพบขวัญใจกับเขาบ้าง แต่แล้วก็กลับมาพบเรื่อง ธัมมะธัมโมเข้า ก็ต้องเลยตามเลย เลิกคิดเลิกนึกเรื่องอู้สาว หันคว้าเอาเรื่องหูทิพย์ตาทิพย์ไปตามชะตา

วันรุ่งขึ้นเพื่อนพาไปป่าซาง ถามว่าจะอู้สาวไหม ตอบว่าไม่อู้ไม่แอ้ละ ไปอู้พระดีกว่า แกเห็นพระวัดไหนน่าอู้บ้าง ก็พากันไปวัดนั้นดีกว่า เพื่อนบอกว่าพระดีมี ที่วัดพระบาทตากผ้า

เรื่อง "พระบาทตากผ้า" เขาเล่าให้ฟังเหมือนกัน แต่จำไม่ได้ วัดนี้สวยงามมาก ไปดูมณฑปที่ ครูบาศรีวิชัย สร้างไว้ ใหญ่โตและสวยงาม เพื่อนพาไปท่านเจ้าอาวาส ท่านมียศเป็นพระครู ออกมานั่งหลับตาปี๋ ท่าทางสงบเสงี่ยม ผิวสวยน่าไหว้น่าบูชา ไม่มีอาการแสดงให้เห็นว่าถือยศถืออย่างเลย พระวัดนี้มีจำนวนถ้าจำไม่พลาดก็ประมาณ ๖๐ รูป ไปคุยกับท่านสมภารได้ความรู้พิเศษ ท่านเล่าให้ฟังว่า

ตั้งแต่บวชมาไม่เคยได้อยู่วัดประจำกับเขาเลย ธุดงค์ตลอดตั้งแต่พรรษาแรก จนอายุเข้า ๕๕ ปี เพิ่งมาหยุดธุดงค์เพียง ๕ ปีเท่านั้น ปัจจุบัน ๒๕๐๔ ท่านอายุย่างเข้า ๖๐ ปี ท่านธุดงค์ไม่เหมือนพระธุดงค์ที่เราเห็นกัน ท่านไม่มีกรด ท่านมีเพียงสบงจีวรและบาตร เดินไปเรื่อยไป เหมาะที่ไหนพักที่นั่น อยู่ป่าอยู่เขาจนชินเวลาเข้าพรรษา ถ้าใกล้วัดไหน ก็อาศัยเขาเข้าพรรษาตามพระวินัย ออกพรรษาแล้วก็ลาเข้าป่าไป

เรื่องอัศจรรย์ก็คือ ข้าพเจ้าคิดอะไรไว้ในใจไม่ได้ พอคิดเรื่องอะไร ท่านเป็นพูดเรื่องนั้นทุกที ครั้งหนึ่งขณะคุยไปลองนึกถามทางใจ พอนึกถามเท่านั้น ท่านพูดทันทีเหมือนกัน แปลกแท้ ๆ ครั้นถามว่า เคยเรียนกรรมฐานจากไหน และใช้แบบอะไร เพราะแบบกรรมฐานดูดื่นไปหมดไม่ใคร่จะเหมือนกัน ท่านบอกว่าท่านเดินตามแนว "วิสุทธิมรรค"

ครั้นถามว่า แบบของวัดมหาธาตุ "ยุบหนอ..พองหนอ" เห็นเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าเขาเกณฑ์ให้ไปเรียนกับเขาเหมือนกัน แต่รู้แล้วก็ไม่ได้ติดใจเอามาใช้ ครั้นเรียนถามว่าไม่ดีหรือ ท่านไม่ตอบ แต่พูดว่าเราปล่อยให้ใจว่างไปเลยดีกว่านะ อย่าไปยุ่งกับแบบแผนของใครเลย ของพระพุทธเจ้าเราดีถมไป สำเร็จไปนับไม่ถ้วนแล้ว ไม่ต้องดัดแปลงแก้ไข

สิ่งที่ได้จากท่านก็ คือ เป็นพระมรรคน้อยสันโดษ จริยาสงบเสงี่ยม สิ่งที่ไม่ชอบเช่นแบบยุบหนอพองหนอท่านก็ไม่กล่าวโทษ แต่ตอบแบบนักปราชญ์ แสดงว่าไม่เป็นเรื่อง ให้ถือเอาของพระพุทธเจ้าดีกว่า ก็แสดงว่าแบบนั้นอาจมีสนิม ข้อสำคัญที่สุดก็คือ นึกอะไรไม่ได้ รู้หมด และพูดให้รู้เสียด้วยว่าท่านรู้ตามใจนึก ครั้นถามว่าความรู้ทางพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติถึงแล้วรู้ใจคนเหมือนกันทุกองค์ไหม ท่านตอบว่า ถ้าทำให้ถึงก็รู้เหมือนกัน

ครั้นถามคุณค่าของการได้ธรรมจนรู้ใจคน และวางจิตให้ว่างในทุกสิ่งในโลกอย่างนี้ กับยศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเป็นสมเด็จ เมื่อตายแล้วใครจะดีกว่ากัน ท่านตอบว่าดีคนละอย่าง ผู้ได้ธรรมตายแล้วชาวบ้านไม่ลำบากมาก เพราะไม่มีเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ให้แห่ ส่วนท่านที่ได้ยศสูง ๆ ตายแล้วก็ดี เพราะมีขบวนแห่สมเกียรติ พูดแล้วก็หัวเราะ

เป็นอันว่าฝ่ายหนึ่งติดโลก ฝ่ายหนึ่งติดธรรมเทียบกันไม่ได้ ท่านผู้อ่านอยากรู้จักพระได้อภิญญา ถ้าอยู่ทางเหนือก็ไปวัดพระบาทตากผ้า ถ้าอยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ ก็ไปวัดระฆัง เรื่อง "พระตาทิพย์" ขอพักไว้เพียงเท่านี้

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 11/12/08 at 06:01 Reply With Quote



เรื่องของพระเก่า

ต่อไปจะด้อม ๆ มอง ๆ ไปค้นคว้าเรื่องราวของพระเก่า ๆ มาเล่าให้ฟัง เก่าพระสงฆ์นะ ไม่ใช่เก่าพระเครื่อง


เรื่องจากหลวงพ่อปาน

วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เรื่องจากหลวงพ่อปานนี้ เป็นเรื่องที่รับฟังจากตัวท่านเอง เพราะเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบท ได้ไปอุปสมบทที่นั่น ได้รับการอบรมและศึกษาจากตัวท่านเอง ฉะนั้นเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่รับฟังจากท่านโดยตรง

เรียนกรรมฐาน

”หลวงพ่อปาน”เป็นคนตำบลบางนมโค เคยเรียนหนังสือจากวัดจ้าวเจ็ดใน เมื่อจบจากวัดจ้าวเจ็ดแล้ว ไปเรียนต่อที่วัดสระเกศ เรียนจบการแปลหนังสือถึงอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรประโยค ๙ สมัยนี้ เมื่อเรียนจบแล้ว ได้กลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม เป็นนักเทศน์ที่มีลีลาการเทศน์เพราะจับใจมาก ทั้งเสียงก็กังวานไพเราะ จนแก่อายุ ๖๐ ปีแล้ว

เมื่อข้าพเจ้าบวชอายุ ๒๐ ปีเศษ เสียงสู้ท่านไม่ได้ เป็นคนเฉลียวฉลาดทันสมัยเสมอ รับแขกได้ทุกชั้นไม่เก้อเขิน ท่านสนใจในการสงเคราะห์คนและสัตว์เป็นพิเศษ เป็นนักเสียสละไม่สระสมมุ่งพระนิพพานเป็นสำคัญ คุณสมบัติทางสมถะจบสมาบัติแปด ส่วนวิปัสสนานั้นรู้ไม่ได้ เพราะท่านไม่บอก ท่านได้ครูดีจึงได้ธรรมสูง

เรียนกรรมฐาน "วัดน้อย" สุพรรณบุรี


ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อเลิกจากเรียนหนังสือแล้วสนใจในกรรมฐาน ได้เสาะแสวงหาอาจารย์ เรียนและทำเรื่อยมาพอไปได้บ้าง แต่ก็ไม่พอกินพอใช้ ได้เพียงสมาธิต้น เห็นนั่นเห็นนี่นิด ๆ หน่อย ๆ อย่างนักกรรมฐานสมัยนี้เขาว่าได้ดวงธรรมนั่นแหละ เอาเรื่องเอาราวไม่ได้ ได้ยินข่าวว่า “หลวงพ่อเนียม” วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเก่ง รู้ใจคน คนตายแล้วก็รู้ว่าไปเกิดหรือยัง เกิดเป็นอะไรก็รู้ ท่านพยายามไปหา สมัยนั้นเรือยนต์รถยนต์ไม่มีต้องเดิน จึงเดินแบบธุดงค์

เมื่อไปถึงแล้วเห็นสภาพของอาจารย์ ถ้าดูกันแต่ภายนอกแล้ว ไม่น่าเลื่อมใสเลย วันทั้งวันหาจีวรติดตัวได้ยาก ทรงผ้าอาบน้ำหนึ่งผืนแถมห้อยคอหนึ่งผืน พูดจาเอะอะโวยวาย ไม่สุภาพนิ่มนวล ฉันข้าวไม่รวมกับใครแยกฉันองค์เดียว มีโต๊ะสูงนั่ง มีกับข้าววางบนนั้น เวลาฉันข้าวหมาแวดล้อมรอบ มีทั้งแมวดีหมาดี และหมาแมวขี้เรื้อน ท่านเปิบฉันคำหนึ่งป้อนหมาคำ ตัวนั้นบ้างตัวนี้บ้าง ฉันไปคุยกับหมากับแมวไปตามอารมณ์

เมื่อเข้าไปหาขอเรียนพระกรรมฐาน ท่านไม่ยอมรับสอน กลับด่าพ่อล่อแม่เอะอะโวยวาย แถมไล่ให้กลับไม่ยอมให้พักอยู่ในวัด แต่ท่านเองก็พยายามทนเพราะอยากได้ของดี จนวันที่ ๓ ถูกด่าอีก เมื่อเห็นว่าไม่ยอมกลับและทนสู้จะเรียนจริงแล้ว ก็พูดว่า เออ..อ้ายคนกรุงเก่านี้มันหัวดื้อจริงนะ เอามันอยากจะบ้าอย่างกูก็เอา คนบ้านนี้เขาว่ากูบ้ากันทั้งนั้น อ้ายนี่มันสมัครเป็นลูกศิษย์คนบ้า ไม่ช้ามันก็จะบ้าเหมือนกู ว่าแล้วก็หัวเราะ และสั่งว่ารอให้ค่ำเสียก่อน ให้เข้าไปหาภายในห้อง

ท่านเล่าว่า ตอนค่ำเมื่อเข้าไปหา มองดูแล้วสงสัย ต้องขยี้ตาแล้วขยี้ตาอีก เพราะภาพที่เห็นนั้น ท่านนุ่งสบงทรงจีวรพาดสังฆาฏิ นั่งสงบเสงี่ยมราวกับพระพุทธ หน้าตาแช่มชื่นอิ่มเอิบ สุ่มเสียงไพเราะ ไม่เหมือนองค์เมื่อตอนกลางวัน หลวงพ่อเนียมยิ้มแล้วถามว่า เธอสงสัยหรือ องค์เดียวกันนั่นแหละ ฉันเป็นอย่างนี้เอง รูปร่างมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงได้ บางวันมันขาว บางวันดำ เอาแน่ไม่ได้ เอาแต่ธรรมเถอะนะ อย่าไปสนใจรูปเลย

ตอนนี้หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อเนียมได้อิทธิฤทธิญาณ แสดงฤทธิ์ เปลี่ยนรูปเปลี่ยนสีได้ แล้วท่านก็เริ่มสอนกรรมฐาน พูดจาไพเราะฟังง่ายเข้าใจสะดวก สอนข้อเคล็ดลับให้ทุกอย่าง ท่านเรียนและฝึกร่วมอยู่ ๓ เดือน ท่านว่าช่างรวดเร็วอะไรอย่างนั้น กรรมฐานแต่ละกองได้ง่ายดายจริง ๆ กลางคืนสงสัยอะไร ไม่ต้องไปถาม พอคิดว่าอย่างนี้จะแก้อย่างไร ท่านร้องบอกมาเลย ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก

อีไฝไปเกิดเป็นคน

วันหนึ่งท่านนั่งฉันข้าวอยู่ ท่านหัวเราะขึ้นมาเฉย ๆ แล้วพูดว่า เอออีไฝลูกกูมันมีบุญนะ (หมายถึงแมวมีไฝที่ปาก ท่านให้ชื่อว่า "อีไฝ") แหม..มันไปเกิดเป็นคนที่ข้างตลาดโควัง เป็นผู้หญิงเสียด้วย ออกเมื่อวานนี้เอง บอกชื่อพ่อแม่เสร็จ และก็ว่ามันยังมีไฝที่ปากอีกนั่นแหละ พระที่นั่งฉันข้าวอยู่ใกล้ ๆ พวกพระลูกวัดอยากจะสืบให้รู้ รุ่งขึ้นพากันไปตลาดโควัง ไปถามชื่อคนที่เป็นพ่อแม่อีไฝ แล้วเข้าไปในบ้านบอกว่า

หลวงพ่อเนียมให้มาเยี่ยมลูกสาวท่าน ท่านว่าแมวของท่านตายมาเกิดเป็นคน เป็นลูกสาวบ้านนี้ มีไฝที่ปากเกิดได้ ๓ วันทั้งวันนี้ เรื่องมันก็ตรงกันทุกอย่าง พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของเด็ก ดีอกดีใจสั่งพระมาว่า ท่านกลับไปแล้วบอกหลวงพ่อด้วย รอให้แม่มันออกไฟเสียก่อน จะพาไปไหว้หลวงพ่อ พระก็กลับ

ต่อมาประมาณเกือบเดือน เขาพาเด็กมาหาหลวงพ่อถวายให้เป็นลูก และเล่าเรื่องให้ฟัง หลวงพ่อเอะอะใหญ่ ว่าข้าไม่ได้ใช้มันแม่มันไม่เชื่อข้า แล้วเรียกพระสององค์นั้นให้มาหา แต่พระสององค์นั้นหนีไปอยู่เสียหลังวัดแล้ว จึงใช้ให้พระไปตาม

พอพระไปตามพบ พระสององค์นั้น พูดกับพระที่ไปตามว่า ท่านไปบอกหลวงพ่อว่าไม่พบก็แล้วกัน ผมจะไปพักที่วัดลานคาสักหนึ่งคืนจึงจะกลับ เมื่อพระมาบอกว่าไม่พบ ท่านพูดว่า ทำไมจะไม่พบ ก็มันบอกมึงมาว่า บอกหลวงพ่อว่าไม่พบ แล้วมันบอกว่ามันจะไปนอนวัดลานคาสักคืนหนึ่งใช่ไหม ? พระที่ตามรับว่าใช่ แล้วท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก

เล่าเรื่องเทศน์กับอาจารย์แสง

”หลวงพ่อเนียม” เป็นนักเทศน์ คู่เทศน์องค์สำคัญก็คือ “หลวงพ่อแสง” วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม หลวงพ่อเนียมเล่าให้หลวงพ่อปานฟังว่า อ้ายท่านแสงเทศน์กับมันคราวไร มันไร่ข้าย่ำแย่ทุกที แต่ข้าก็แก้มันได้ทุกที เหตุที่มันจะยอมข้านั้น เขานิมนต์ไปเทศน์ที่วัดปากคลองบางยี่หน ข้าไปถึงก่อนข้านอนอยู่ตอนหัวอาสน์สงฆ์ เขาเอาหมากพลูมาให้ข้า ๆ ฉันหมากแล้วก็นอนพักผ่อน เรามันแก่นั่งนอน ๆ ทนไม่ค่อยไหว

สักครู่หนึ่งอ้ายท่านแสงมันมาถึง ข้าเรียกให้มานั่งรวมกัน มันไม่ยอมมานั่งรวม มันนั่งอยู่ท้ายอาสน์สงฆ์ พวกฆราวาสล้อมรอบ เขาคุยกันฮา ๆ ตอนหนึ่งอ้ายท่านแสงมันพูดว่า หลวงพ่อวัดน้อยคุยว่ารู้ใจคนก็คุณธรรมอย่างนี้ เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ คนไม่ได้จริงอวดแบบนี้เป็นการอวดอุตริมนุษย์ธรรม ขาดจากความเป็นพระ เขาพูดจบลูกคู่เขาฮาครืน พวกผู้หญิงที่เอาหมากมาให้ข้าฉัน เขาถามว่ายังไงหลวงพ่อ ปล่อยให้อาจารย์แสงว่าได้ว่าเอา ทำไมไม่แก้เขามั่ง

เรื่องของผู้หญิงมันเป็นอย่างนั้นแหละ มันไม่ใคร่ยอมใคร มันถึงได้ทะเลาะกันทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อข้ารำคาญหนักเข้า ข้าก็ลุกขึ้นมาเรียกให้ท่านแสงให้มาหา เมื่อท่านแสงมันมาหาแล้ว ข้าพูดว่าแสงแกว่าข้าไม่รู้ใจคนและสัตว์หรือ ท่านแสงมันว่าใช่ ถ้าท่านรู้จริงแล้ว โปรดบอกมาดูทีหรือว่า ขณะนี้ผมมีสุขหรือมีทุกข์ในใจ ข้าจึงย้อนไปว่า แกต้องรับตรง ๆ นะ อย่าอายชาวบ้านแล้วซ่อนเร้นความรู้สึกนะ ท่านแสงมันยอมรับแล้ว ข้าก็บอกว่า แสงเวลานี้แกกำลังไม่สบายใจ

แกขอยืมเรือมาศใหญ่ขนาด ๔ แจวเขามาใช้ เวลานี้เรือลำนั้นหายไป เขาจะเอาแก ๘๐๐ บาท แกยังหาเงินให้เขาไม่ได้ แกกำลังมีทุกข์ใจเพราะเรื่องนี้ใช่ไหม ? ท่านแสงมันก้มกราบข้าเลย แล้วรับว่าจริง ข้าสงสารมัน อยากให้มันหมดทุกข์ จึงบอกวิธีมันว่า แสงแกมันโง่ ถ้าแกฉลาดจริงแล้ว ป่านนี้แกก็มีเงินใช้เขาแล้ว เรือลำนี้แกไม่ได้ขอยืมมาใช้เป็นส่วนตัว แกเอามาขนทรายเพื่อสร้างโบสถ์เมื่อเรือหายควรบอกชาวบ้านเขาว่า ขณะนี้เรือขอยืมเขามาบรรทุกทรายมันหายไป

ขอแรงชาวบ้านเขาช่วยกันตัดฟืนขายเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ เท่านี้แหละแกจะใช้หนี้เขาได้ และจะมีกำไรด้วยฟืนก็ไม่ต้องตัด เขาจะสงสารแกเอามาให้คนละเล็กละน้อยเลย ๘๐๐ บาทเสียอีก ท่านแสงมันกลับไปถึงวัด ไปประกาศตามข้าว่าในที่สุดชาวบ้านเข้าช่วย ได้เงินตั้ง ๑,๕๐๐ บาท เกินกว่าหนี้สินตั้ง ๗๐๐ บาท ตั้งแต่วันนั้นมา มันไม่ยอมไล่ข้าอีกเลย เทศน์สบาย พบกันทีไรมันเคารพนบนอบดี ไม่อวดหยิ่งเหมือนก่อน.

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 30/12/08 at 12:19 Reply With Quote



งูกัดหลวงพ่อเนียม

ท่านจะเป็นผู้วิเศษมาเพียงใดก็ตาม ก็ไม่มีผู้วิเศษท่านใดหนีกรรมพ้น พระโมคคัลลาน์เป็นผู้มีฤทธิ์มากกว่าใคร ๆ ในศาสนานี้ ก็ต้องยอมให้กรรมเก่าสนอง คือยอมให้โจร ๕๐๐ ทุบ พระพุทธเจ้าเป็นจอมศาสดาในโลก ก่อนนิพพานกรรมเล็กน้อย เพียงเปลี่ยนที่ให้โคกินน้ำด้วยความหวังดี ยังตามมาเล่นงาน มีคนจำนวนมาก เข้าใจผิดว่าทำบุญมาก ๆ แล้วจะไม่มีเคราะห์กรรม เป็นการเข้าใจผิดแท้ ๆ

หลวงพ่อเนียมก็เหมือนกัน รู้อดีต รู้อนาคต รู้ว่าคนและสัตว์ตายไปแล้วไปเกิดเป็นอะไร เพราะกรรมอะไร แต่แล้วท่านก็ถูกงูกัด เมื่อถูกงูกัดแล้ว ท่านไม่ยอมให้ใครรักษา ท่านเดินเข้ากุฏิลงกลอน นั่งเสกนั่งเป่าอยู่ครู่หนึ่งก็ออกมา หายปวด ครั้นถามว่าหลวงพ่อใช้คาถาบทไหน ท่านกลับตอบว่า "เจ็ดตำนานทั้งเล่ม" มันดีทุกบทแหละวะมันสำคัญที่ใจ ต่อไปแกก็เหมือนข้า..

สั่งให้เรียนต่อ

ท่านสั่งหลวงพ่อปานไว้ว่า ต่อไปถ้าข้าตายแล้ว แกสงสัยอะไรในเรื่องกรรมฐานแล้ว แกไปถาม ”ท่านโหน่ง” วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อไปท่านโหน่งมันจะเหมือนข้า มันจะแทนข้าได้ เมื่อเรียนอยู่ ๓ เดือน ท่านก็ส่งกลับ บอกว่ากลับทีเถอะ..แกเอาตัวรอดได้แล้ว แล้วหลวงพ่อปานก็ลากลับ

หลวงพ่อโหน่ง
วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี



หลวงพ่อโหน่งองค์นี้ เรียนหนังสือไทยจากวัดพออ่านได้เล็กน้อยไม่แตกฉาน เมื่อครบบวช ท่านบวชที่วัดคลองมะดัน เมื่อบวชแล้วลาสมภารไปวัดเชตุพน (วัดโพธิ์) กรุงเทพ ฯ ไปหาหลวงน้าซึ่งเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดนั้น ประสงค์จะไปขอเรียนหนังสือ (ธรรมวินัย)

เมื่อไปถึงแล้ว หลวงน้าต้อนรับดี ดีใจว่าหลานชายสนใจในการศึกษา อธิบายให้ฟังว่า เอาเถอะเธอจะเรียนถึงไหนก็ได้ หลวงน้าสนับสนุนไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก หลวงน้าอุปการะเอง

เมื่อคุยกันเป็นที่ถูกใจแล้ว ท่านถามหลวงน้าขึ้นว่า หลวงน้าครับหลวงน้าเรียนถึงประโยค ๙ และเป็นพระราชาคณะด้วย อย่างนี้ละกิเลสได้หมดหรือยังครับ พอท่านถามดังนี้ หลวงน้าหัวเราะชอบใจ ไม่ตอบว่าอย่างไร แต่บอกว่าแกเข้าไปในกุฏิฉันซิ ไปดูข้างในทีหรือว่ามีอะไรอยู่บ้าง

ท่านเข้าไปภายในเห็นของมีราคาเยอะแล้วก็ออกมา หลวงน้าถามว่า แกเห็นอะไรบ้าง ท่านตอบว่า ผมเห็นของราคาแพง ๆ เยอะแยะ งาช้างสวย ๆ มีหลายงา โต๊ะหมู่ทอง โต๊ะหมู่มุข และมีอะไรต่ออะไรที่ราคาแพง ๆ อีกเยอะแยะ เมื่อท่านพูดจบ

หลวงน้าจึงพูดว่า เธอถามว่าฉันละกิเลสได้หมดหรือยัง ถ้าฉันละกิเลสได้หมดแล้ว ของเหล่านี้มันมีไม่ได้ ถ้ามีมันก็ต้องไม่ใช่ของฉัน มันต้องเป็นของสงฆ์ ก็ของในกุฏิมันเป็นของฉัน กิเลสมันก็ยังไม่หมด ถ้าเธอจะดูพระว่ามีกิเลสมากน้อยเพียงใด ขอให้ดูสมบัติ องค์ไหนกิเลสมาก สมบัติก็มากตามกิเลส เพราะการสะสมนั้น สะสมตามกิเลสบัญชา ท่านที่หมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีสมบัติ ถ้ามีก็เป็นของกลางไม่ใช่ส่วนตัว

เมื่อหลวงน้าพูดอย่างนี้ ท่านก็กราบเรียนหลวงน้าว่า การเรียนมากและมียศไม่ทำให้กิเลสหมดไป กลับเป็นการเพิ่มพูนกิเลสอย่างนี้ ผมไม่เรียนละครับ กลับไปฝึกหัดปฏิบัติเพื่อละกิเลสดีกว่า วันรุ่งขึ้นก็ลาหลวงน้ากลับ แล้วมาเรียนกรรมฐานกับ "หลวงพ่อเนียม" วัดน้อย

พบพระบรมธาตุ

เมื่อเรียนกรรมฐานแล้ว ก็กลับไปวัด ไปเลือกสถานที่ด้านทิศตะวันออกของวัด ใกล้ป่าไผ่ ที่นั้นมีน้ำชื้นอยู่ตลอดปี แม้จะแล้งเพียงใดก็ตาม ที่อื่นดินร้าวแตกระแหง แต่ที่ตรงนั้นมีน้ำชื้นอยู่น่าอัศจรรย์ ท่านไปเจริญกรรมฐานตรงนั้นทุกคืน คืนวันหนึ่งขณะที่ทำสมาธิพอใจสงบ เห็นพระสงฆ์องค์หนึ่งรูปสวย มีรัศมีกายพุ่งออกสวยงามมาก ท่านมายืนตรงหน้า แล้วพูดว่า

"โหน่ง..เธอมีบุญมากพยายามเถอะนะจะได้สิ้นชาติสิ้นภพเสียที ชาตินี้เป็นชาติที่สุดของเธอแล้ว..!"

ตรงที่เธอนั่งนี้มีพระบรมสารีริกธาตุ มีขันทองคำใบใหญ่ ในขันนั้นมีน้ำเต็มแล้วมีเรือสำเภาทองคำลอยอยู่ในขัน ภายในเรือสำเภามีโกฏทองคำ และมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในโกฏนั้น เธออย่าขุดเลยนะ เธอจงสร้างวิหารทับที่นี้ไว้ แล้วเธอจะถึงชาติที่สุด

ท่านถามว่า ก็ข้า ฯ บวชได้พรรษาเดียวจะทำอย่างไร บอกบุญใครเขาจะเชื่อ ทำเองก็ไม่เป็น จะได้ช่างที่ไหนมาทำ ท่านบอกว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้ฉันข้าวเช้าแล้วเรียกทายกมา บอกว่าจะสร้างวิหาร

เท่านั้นแหละจะได้ของพอ เมื่อได้วัตถุพอแล้ว จงไปหาช่างที่เมืองกรุงเก่า ธุดงค์ไปปักกรดที่หลังวัดประดู่ทรงธรรม ตอนเช้าถ้ามีคนนุ่งขาวห่มขาว ถือขันข้าวลูกเดียวไม่มีกับข้าวมาแล้ว ให้บอกให้เขามาช่วยทำ เขาเป็นช่างจะทำให้สำเร็จเรียบร้อยทุกอย่าง เมื่อท่านรับคำแล้ว พระองค์นั้นก็หายไป รุ่งเช้าท่านทำตามสั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เรียบร้อย เมื่อได้ของเรียบร้อยแล้ว จึงออกธุดงค์ไปอยุธยา ไปปักกรดหลังวัดประดู่ทรงธรรม

รุ่งขึ้นเช้ามีคนนุ่งขาวห่มขาว ถือขันข้าวใบเดียวมาก่อนคนอื่น ท่านขอร้องให้เขาช่วยสร้างวิหาร เขาก็รับคำ ท่านฉันเสร็จก็ถอนกรดกลับ พอมาถึงปรากฏว่าช่างมาถึงก่อน ช่างทำวิหารอยู่ประมาณ ๓ เดือนก็สำเร็จ แล้วสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ ๖ ศอก ไว้ให้ ๑ องค์ ตรงที่ตั้งพระบรมสารีริกธาตุพอดี ทำเสร็จแล้วช่างก็หายไป ไปไม่ได้บอกลา ค่าจ้างก็ยังไม่ได้จ่ายเลย ท่านร้อนใจต้องธุดงค์ไปวัดประดู่ทรงธรรมอีกครั้ง เพื่อไปหาช่างจะได้ดูว่าจะเอาค่าจ้างเท่าไร

ครั้นพอรุ่งเช้าชาวบ้านมาทำบุญ ถามหาช่างก็ไม่มีใครรู้จัก เขาบอกว่าเมื่อ ๓ เดือนก่อน ที่ท่านมาเขาเห็นเหมือนกัน เข้าใจว่าเป็นคนบ้านอื่น หรือคนจรเพราะไม่เคยเห็นในแถวนี้ ช่างคนนี้เป็นใคร ขอให้ท่านผู้อ่านวินิจฉัยเอาเอง..?

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนจบ )))



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 15/1/09 at 15:07 Reply With Quote



(Update 15 ม.ค. 51 ตอนจบ)

ไปหาหลวงพ่อโหน่ง

ในกาลต่อมา เมื่อ”หลวงพ่อเนียม”มรณภาพแล้ว “หลวงพ่อปาน”ได้ไปหา ”หลวงพ่อโหน่ง” เดินธุดงค์ไปเมื่อไปถึงหลังวัด มีต้นพุดซาใหญ่อยู่ห่างวัดประมาณ ๕ เส้น ท่านเข้าไปพักผ่อน คิดว่าพอให้หายร้อนเหงื่อแห้งเสียก่อนแล้วจึงเข้าไปหา พอหย่อนก้นลงนั่ง หลวงพ่อโหน่งก็เปิดหน้าต่างกวักมือเรียก เมื่อท่านเดินเข้าไปใกล้หลวงพ่อโหน่งพูดว่า เราหรือตั้งใจคอยมาตั้งแต่วานนี้แล้ว รู้ว่าจะมาอุตส่าห์ให้พระจัดแจงที่ทางไว้ให้ กลับมานั่งถ่วงเวลาเสียได้

เมื่อนั่งสนทนาปราศรัยพอสมควร ให้สรงน้ำสรงท่าสบายดีแล้ว ก็เกิดขอเรียนกรรมฐานกันขึ้น พระที่ท่านได้แล้วท่านต้องสอบกันเสียก่อนว่าใครมีอะไรบ้าง วิธีสอบนั้นไม่ใช่ถามกันไปถามกันมา เขาสอบกันด้วยกรรมฐาน ๔๐ คราวละ ๑ กองไปจนครบ ๔๐ แล้วสอบวิปัสสนากันทีละขั้น หลับตากันไปหลับตากันมาอย่างนั้น ในที่สุดหลวงพ่อโหน่งก็บอกว่า ผมหมดเท่านี้ หลวงพ่อปานก็บอกว่า ผมก็หมดเท่านี้เป็นอันเจ๊ากัน ไม่ได้ไม่เสีย

ขอแวะเรื่องการสอบกรรมฐานสักหน่อย สมัยนี้เห็นเขาสอบกันโดยวิธีเรียกลูกศิษย์มาถาม ลูกศิษย์บอกอย่างไร อาจารย์ก็พะยักพะเยิดไปตามลูกศิษย์นั้น มันจะแน่นอนหรือ ถ้าลูกศิษย์รู้แกวโกหกเอาจะว่าอย่างไร ธรรมดาอาจารย์กรรมฐานนั้น เขาต้องได้เจโตปริยญาณเสียก่อน ถ้าไม่ได้ไม่ควรรับเป็นอาจารย์

ที่หลวงพ่อโหน่งรู้ว่าหลวงพ่อไปหา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้บอกเล่ากันเลยนั้น รู้ด้วยอำนาจทิพยจักขุญาณ พระเก่า ๆ ท่านทำถึงอย่างนี้จึงได้จึงถึง แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะท่านอาจารย์ครับ สำเร็จกันแค่ไหน เห็นสำเร็จกันเร็ว ๆ นัก ชักหนักใจเกรงว่าจะไปนิพพานเสียหมด จะไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนข้าพเจ้า

คุณสมบัติพิเศษ

คุณสมบัติพิเศษ ของหลวงพ่อโหน่งมีอยู่อย่างหนึ่ง คือท่านไม่เคยเรียนพระธรรมวินัยเหมือนพระอื่น ๆ เพราะพอเริ่มบวชก็เริ่มปฏิบัติ ไม่ได้เล่าเรียนกับเขา แต่ทุกวันเมื่อฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านต้องเทศน์โปรดโยมหญิง ๑ กัณฑ์ เทศน์ปฏิภาณ เมื่อใครไปนิมนต์ท่านเทศน์ ท่านบอกว่าต้องถามพระก่อน ถ้าพระให้เทศน์ก็รับได้ ถ้าพระไม่ให้เทศน์ก็รับไม่ได้ ถามท่านว่าเพราะเหตุไรเมื่อพระไม่รับทำไมจึงไม่เทศน์

ท่านบอกว่าถ้าพระไม่รับท่านก็เทศน์ไม่ได้ ไม่รู้จะเทศน์อย่างไร เพราะไม่เคยเล่าเรียนมาก่อน ถ้าพระท่านรับพระท่านก็เทศน์เอง เพียงแต่อาศัยปากและสียงของหลวงพ่อโหน่งเท่านั้น ไม่ว่าใครเมื่อไปหาท่าน ท่านต้องให้บูชาพระเสียก่อน เมื่อบูชาพระแล้วถามท่านตามต้องการจะรู้ ท่านก็ถามพระอีกต่อหนึ่ง แล้วก็บอกให้ถ้าเรื่องใดที่มีผู้ไปถาม ถ้าพระไม่บอก ท่านก็ว่าพระไม่บอก หรือพระบอกอย่างไร ท่านก็บอกว่า พระท่านว่าอย่างนั้นอย่างนี้

เรื่องผูกโบสถ์วัดบางสะแก

สมัยนั้นสมเด็จวรรณรัตน์ (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะใหญ่ สมเด็จองค์นี้ใคร ๆ ก็เกรงบารมี เพราะเป็นปราชญ์ทรงพระไตรปิฎก ทั้งเคร่งครัดในระเบียบวินัย ท่านมีอำนาจในทางดี ไม่ชอบปลาแห้งปลาย่างของใคร ใครดีก็ว่าดี ใครเลวก็ว่าเลว ใครจะปลาแห้งปลาย่างไปแลกคำชม หรือซื้อยศซื้อตำแหน่งท่านไม่เอาด้วย นับว่าเป็นพระแท้ที่ควรเคารพบูชาได้องค์หนึ่ง

ในงานผูกพัทธสีมาวัดบางสะแก ท่านสมเด็จมาเป็นประธาน งานนั้นเขานิมนต์หลวงพ่อโหน่งไปร่วมด้วย แต่พอถึงวันผูกพัทธสีมา พระอื่นมาพร้อมกันหมด สมเด็จก็กำหนดตัวพระไว้เรียบร้อย กันหน้าที่ไว้ให้หลวงพ่อโหน่ง ๑ ตำแหน่ง คอยแล้วคอยอีกจนเวลาล่วงเลยไปถึง ๒๔ น. หลวงพ่อโหน่งก็ไม่มา เป็นอันว่าวันนั้นไม่ได้ผูกพัทธสีมา สมเด็จท่านก็ว่าเมื่อหลวงพ่อโหน่งไม่มา พวกเราก็ควรงดไว้ก่อน รอไปก่อนกว่าท่านจะมา

พอรุ่งเช้าหลวงพ่อโหน่งไปถึงแต่เช้า เข้าไปหาสมเด็จ สมเด็จรูปนี้ท่านไม่เหมือนสมเด็จอื่น ท่านไม่ถือยศเป็นสำคัญ ท่านถือวินัยสำคัญกว่ายศ เมื่อท่านอ่อนพรรษากว่าท่านกราบหลวงพ่อโหน่งก่อน แล้วถามว่าเมื่อวานทำไมหลวงพ่อไม่มา พระทุกรูปมาพร้อมกันแล้ว เลยไม่ได้ผูกพัทธสีมา

หลวงพ่อตอบว่ามาไม่ได้ เพราะพระท่านไม่ให้มา พระท่านบอกว่าวิธีที่เตรียมไว้นั้นไม่ถูก ถ้าทำไปก็เสียกรรมไม่ได้ผลสมความตั้งใจ สมเด็จได้ถามต่อไปว่าแล้วพระท่านให้ทำอย่างไร หลวงพ่อโหน่งก็อธิบายตามพระบอก สมเด็จก็ทำตามนั้นทุกประการ

ท่านผู้อ่าน..นั่นดีแต่เป็นสมเด็จเฮงนะ ถ้าเป็นสมเด็จอื่นที่ไม่ค่อยจะเฮง อย่างในสมัยพระเหาแล้ว แกคงจะถือยศเป็นสำคัญ คงไม่ถือญาณอภิญญา เพราะแกถือกันว่าเมื่อยศใหญ่แล้วคุ้มนรกได้ เข้าใจว่าท่านผู้ใหญ่สมัยหลังนี้คงจะดีน่าเคารพน่าไหว้น่าบูชาอย่างสมเด็จเฮงทุก ๆ องค์ เพราะต่างก็ได้รู้ได้เห็นปฏิปทาของท่านมาแล้วทุกรูป

มรณภาพ

หลวงพ่อโหน่งมีอายุเท่าไรไม่ได้ถามหลวงพ่อปาน มีเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อโหน่งเมื่อตายท่านนอนตะแคงขวา มือทั้งสองพนมเสมอหน้า แล้วสิ้นใจอย่างคนหลับสนิท เขาเก็บศพท่านไว้ ๑๓ เดือน เมื่อเปิดศพออกมาตรวจเพื่อเตรียมการเผา สภาพของศพยังคงสภาพปกติ ไม่เน่า ไม่เสีย สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง น่าเสียดายที่คณะกรรมการจัดงานโง่กว่าศพ ยังสู้อุตส่าห์เผาเสียได้ ถ้าปล่อยให้คงสภาพไว้ ป่านนี้วัดคลองมะดันก็จะเจริญถึงขนาด เพราะเงินจะหลั่งไหลเข้าวัดนับไม่ได้

เรื่องนี้มีสิ่งน่าสนใจคือ ท่านทำกรรมฐานอย่างไร พระจึงคอยบอกคอยสอนท่าน ท่านรู้อะไรได้ทุกอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียน ควรที่นักกรรมฐาน นักเรียน นักศึกษาจะช่วยกันค้นคว้าต่อไป.

◄ll กลับสู่ด้านบน

(จบบริบูรณ์)



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2034
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved