ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 30/5/08 at 05:13 Reply With Quote

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 1)


l 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »


วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง) ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
พระธรรมธรวันชัย ฐานวโร เจ้าอาวาส
โทรศัพท์ 086-440-2968
Web site : www.siriket.com
E-mail : watsiriket@yahoo.co.th

ททท. จังหวัดสุโขทัย แจ้งข่าว

เส้นทางสักการะ 9 มงคลเมืองมรดกโลก สุโขทัย


เส้นทาง " สักการะ 9 มงคลเมืองมรดกโลก สุโขทัย " จะนำท่านย้อนสู่อดีตสัมผัสความเชื่อมั่นที่มีมาแต่โบราณไปทำบุญ ทำกุศล เสริมสิริมงคล อธิฐานขอพรให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว หน้าที่การงาน โชคลาภและความรัก ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนสถานและเทวสถานสำคัญทั่วเมืองสุโขทัย " ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง " บูชาที่ควรบูชาเป็นมงคลอย่างหนึ่ง

1. ศาลพระแม่ย่า
2. หลวงพ่อเป่า วัดราชธานี
3. หลวงพ่อโ หลวงพ่องาม วัดไทยชุมพล (วัดบางแก้ว)
4. พระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
5. พระอจนะ วัดศรีชุม (พระพูดได้)
6. หลวงพ่อขาว และ รอยพระพุทธบาท วัดตระพังทอง
7. หลวงพ่อสองพี่น้อง วัดหนองโว้ง
8. สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระนิพพาน วัดสิริเขตคีรี
9. หลวงพ่อศิลา วัดทุ่งเสลี่ยง




บริเวณสวนหย่อม ด้านหน้า พระจุฬามณี





พระมณฑป ๒ หลัง ข้างพระจุฬามณี คือ มณฑปพระร่วง และ พระมเหสี






พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พระนางวิสุทธิเทวี






บริเวณ พระอุโบสถ จะมองเห็น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี"
นับเป็นพระพุทธรูปใหญ่ องค์ที่ ๔ (ประตูทิศเหนือ) ของประเทศไทยส่วนทิศอื่นๆ มีดังนี้
ทิศใต้ อยู่ที่ วัดแหลมสน ต.ปากน้ำ อ.หลังสวน จ.ชุมพร
ทิศตะวันตก อยู่ที่ วัดเขาดินเหนือ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ วัดพระบาทบ้านหลักศิลา อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ






พระอุโบสถ อยู่ชั้นบน ส่วนชั้นล่าง คือ ศาลาพระราชพรหมยานเถระ






รอบพระอุโบสถ จะมี มณฑปเล็กๆ ๔ ทิศ มีรูปปั้น หลวงปู่ปาน,
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน, พระปัจเจกพุทธเจ้า, และ พระศรีอาริย์ เป็นต้น






บันไดนาค ๗ เศียร ทางขึ้นพระจุฬามณี ซึ่งมีรูปปั้นท้าวมหาราชทั้ง ๔ยืนอารักขาทั้ง ๔ ทิศ ของพระจุฬามณี





ทิวทัศน์รอบบริเวณพระจุฬามณี ในยามหน้าแล้ง ก่อนที่จะสร้างพระอุโบสถ






พระพุทธรูป "สมเด็จองค์ปฐม ปางประทับรอยพระพุทธบาท" ประดิษฐานอยู่ภายในพระจุฬามณี
สร้างเป็น องค์ที่ ๒ องค์แรกอยู่ที่ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต






"...พระประธานในพระอุโบสถ ณ วัดสิริเขตคีรี.." สมเด็จองค์ปฐม พร้อมพระอัครสาวก "ทรงเครื่องพระนิพพาน" นับเป็นองค์แรกในโลกที่ได้สร้างในลักษณะทรงเครื่องพระนิพพาน ทั้งพระพุทธเจ้าและพระอัตรสาวกทั้งสอง เป็นศิลปะร่วมสมัย คือ สมัยรัตนโกสินทร์ ร่วมกับ สุโขทัย เป็นความหมายของการสร้างของผู้ร่วมสร้างร่วมสมัยเดียวกันในอดีต ที่จะต้องย้อนกลับมาร่วมกันสร้างวัดพระร่วง แห่งนี้ให้ปรากฏอยู่ใน เมืองสัชนาลัย

ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้เคยเล่าไว้ว่า พระเจ้าพรหมมหาราช ได้ทรงยกทัพมาล้อมเมืองสัชนาลัย จึงได้พร้อมกันทั้งสอง ม. คือ ม. เมือง และ ม. เมีย

พวกเราชาวเมืองสัชนาลัยในอดีต จึงได้มาร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้ และ สร้าง พระบรมรูปของท่านทั้งสอง ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งการเกิด นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ จึงมีผู้คนมาร่วมงานกันมากมายทุกครั้ง ปัจจุบันได้ทำพิธี ฝังลูกนิมิต เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขออนุโมทนาความดีผู้ร่วมสร้าง ทั้งหลายไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ส่วนผู้ที่ทราบภายหลัง การสร้างวัดนี้ขึ้นมาโดยใช้เวลารวดเร็วภายใน 7 ปี (ปีพ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๙) สมกับดินแดนพระร่วงวาจาสิทธิ์จริงๆ ขอทุกท่านพึงตั้งจิตอนุโมทนาในด้วยทุกท่านทุกคนเทอญ..สาธุ..สาธุ..สาธุ..อนุโมทามิ..นิพพานะ..ปัจจะโย โหตุ..เต..ฯ





งานพิธีบวงสรวง ณ เมืองเก่าศรีสัชนาลัย


จาก...หนังสือตามรอยพระพุทธบาท รวมเล่ม ๒



ในตอนนี้ ขอเล่าเรื่องการสร้าง วัดสิริเขตคีรี เดิมไม่คิดว่าจะต้องไปสร้างวัดแห่งนี้ จนเป็นที่สวยงามและรู้จักกันเป็นอย่างดี ก่อนอื่นก็เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นก่อนว่า เริ่มต้น ปี ๒๕๔๒ หลังจากไปทอดกฐินและพักค้างคืนที่แห่งนี้แล้ว รุ่งเช้าวันที่ ๒๑ พ.ย. ๔๒ พวกเราก็ต้องทำพิธีบวงสรวงที่บริเวณ "เมืองเก่า" คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยทำพิธีกันที่ วัดเจดีย์เจ็ดแถว และผู้เขียนได้บรรยายไปตามประวัติว่า

“...บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมายืนอยู่ ณ ที่นี้ ในเวลานี้นั้น เป็นการ "ตามรอยพ่อ" ต่อมาจาก งานพิธีสุโขทัย ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่ได้จัดงานย้อนยุคผ่านไปแล้ว การที่ได้มีโอกาสเดินทางมาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานตอนสุดท้าย เพราะตอนแรกคนมีจำนวนมาก ไม่สามารถมาทำพิธี ณ ที่นี้ได้ จึงจำเป็นต้องตัด ตอนมาครั้งนี้ ด้วยจำนวนคนที่พอเหมาะพอดี

ทั้งนี้ เพื่อความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง จึงได้จัดงานด้วยหวังว่า ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกันมากับท่านในอดีต อันเป็นผืนแผ่นดินที่ท่านเคยสร้างมาก่อนกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะสมัยที่หลวงพ่อฯ ท่านมีชีวิตอยู่ หลังจากเดินทางลงมาจากจังหวัดน่าน แล้วผ่านภายใน "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย" ที่ พระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ท่านก็จะต้องแวะที่ "ศรีสัชนาลัย" อยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นในปี ๒๕๔๑ ที่ผู้เขียนได้จัดงานผ่านมานั้น จึงไม่สามารถแวะที่นี้ได้ วันนี้และเวลานี้ที่จะต้องรอคอยโอกาสก็ได้มาถึงแล้ว นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันกับที่ "พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ" เคยพาคณะศิษย์มาแล้ว ซึ่งในจำนวนที่มาในครั้งนั้น จะมีศิษย์ที่มีอาวุโสหลายท่านที่มาด้วยในครั้งนี้

ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า แผ่นดินนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เดิมเรียกกันว่า “ชะเลียง” ต่อมาก็เรียกกันว่า “ศรีสัชนาลัย” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่ของคนดี” เป็นเมืองที่ตั้งก่อนสุโขทัย ประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ ราว พ.ศ.๑๔๐๐ ท่านฤาษีสัชนาลัย กับ ท่านฤาษีสิทธิมงคล เป็นผู้แนะนำสถานที่ให้สร้างบ้านเมืองบริเวณเมืองชะเลียงเดิม แล้วให้นามเมืองใหม่นี้ว่า “สวรรคโลก” อันมี พระยาธรรมราชา เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง แล้วท่านฤาษีได้สั่งสอนบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายว่า

“สูเจ้าทั้งหลายอย่าประมาทลืมตน อย่าได้เมามัวแก่ตัณหา ปู่จะสั่งสอนเจ้าไว้”

ในราว พ.ศ.๑๔๓๘ พระยาธรรมราชา ได้โปรดให้สร้าง เมืองศรีสัชนาลัย ขึ้นใกล้กับ เมืองสวรรคโลก เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมถูกน้ำเซาะ จึงเสด็จไปเสวยราชย์ที่เมืองศรีสัชนาลัย แล้วได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ จนถึง พระยาอภัยคามินี



ประวัติพระร่วงโรจนฤทธิ์


ต่อมาพระองค์ได้เสด็จมาถือศีลภาวนา อยู่ในป่าที่ “เขาหลวง” แล้วทรงได้หญิงสาวชาวป่าชื่อ “นางนาค” เป็นชายา เมื่อจะเสด็จกลับพระนครก็ได้ทรงมอบ "ผ้ากำพล" กับ "พระธำรงค์" ไว้เป็นที่ระลึก และรับสั่งว่าจะมารับนางเข้าเมืองทีหลัง ต่อมานางก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา แล้วคลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย

เพราะฉะนั้น หลังจากการตายของ พระเจ้าพรหมมหาราช ผ่านไป ๘๐๐ ปีท่านจึงได้จุติจากพรหม ลงมาเกิดเป็นลูกชายของ "นางนาค" กับ "พระยาอภัยคามินี" และการที่ถูกแม่ทิ้งไว้ที่เขาหลวง แต่มีงูใหญ่แผ่แม่เบี้ยรองรับไว้ ท่านบอกว่าเป็นเพราะจากกรรมที่ตีขอมฆ่าขอมระเนระนาด ทำให้เขาต้องพลัดพรากจากกัน แต่ก็ยังมีผลบุญที่ตามมาส่งผล จึงทำให้มีคนช่วยเหลือภายหลัง

คือต่อมามีพรานป่าได้มาพบทารกแล้ว จึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หลายปีต่อมา พระยาอภัยคามินีได้โปรดให้เกณฑ์ชาวบ้านตัดไม้ ในป่า เพื่อนำมาสร้างปราสาท ณ บริเวณวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย พรานป่าได้พากุมารน้อยมาด้วย

ขณะทำงานก็เอาเด็กไปนอนไว้ในที่ร่ม ที่ปราสาทยังสร้างไม่เสร็จ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ปราสาทโอนไปเอียงมาเหมือนมีลมแรงพัดหวั่นไหวไปทั้งหลัง พระยาอภัยคามินี ทรงทราบข่าว จึงรับสั่งให้เอาตัวนายพรานมาถาม จนทราบเรื่องราวแล้วก็ทรงจำผ้ากำพลกับแหวนนั้นได้ จึงทรงขอมาเลี้ยงไว้ แล้วให้นามว่า “อรุณกุมาร”

และพระมเหสีองค์ใหม่ประสูติราชโอรสอีกองค์หนึ่ง จึงให้นามว่า “ฤทธิกุมาร” ในตอนนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าว่า พี่น้องสองคนนี้รักกันมาก ต่อมาอรุณกุมารก็มีนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์” ส่วนฤทธิกุมารมีนามว่า “พระลือ" ต่อมาพระลือได้มาครองเมืองนครสวรรค์ และ พระร่วง ก็ได้อภิเษกกับราชธิดาเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย

เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว จึงได้ทรงสร้างพระมหาวิหารและพระพุทธรูปไว้หน้า "พระมหาธาตุ" คือเจดีย์องค์ใหญ่แถวใกล้ๆ วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ แล้วสร้างพระอุโบสถ สร้างวิหาร เจดีย์ที่ต้นรังให้ชื่อว่า วัดเขารังแร้ง ณ วัดโคกสิงคาราม ซึ่งเป็นวัดที่ พระนางพสุจเทวีอัครมเหสี (พระนางวิสุทธิเทวี) ทรงสร้างไว้ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย

ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระอัฐิธาตุ" ของพระราชวงศ์สุโขทัย ภายหลังบ้านเมืองรกร้าง สมัยนี้จึงเรียกว่า “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” โดยมีรูปทรงแบบเดียวกับ วัดมหาธาตุ สุโขทัย ที่เราเคยไปทำพิธีมาเมื่อปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้จัดจึงเลือกสถานที่นี้ เป็นที่กระทำพิธีกัน เนื่องจากเห็นว่ามีความเก่าแก่กว่า วัดช้างล้อม ที่สร้างสมัย พ่อขุนรามคำแหง

เป็นอันว่า ในดินแดนนี้ที่เรียกว่า “แคว้นชะเลียง” ท่านก็ได้ลงมาเกิดติดต่อกันถึง ๒ ชาติ คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พ่อขุนศรีเมืองมาน ดังที่ได้เคยจัดงานพิธี ณ กรุงสุโขทัยมาแล้ว การที่พวกเรามาในครั้งนี้ ก็ถือว่ามาย้อนงานแผ่นดินพ่อจนครบถ้วนทั้งสองสมัย นับเป็นบุญวาสนาบารมีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกคนตัดสินใจมาด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่แจ้งรายละเอียดให้ทราบไว้ก่อน

ถือว่าเป็นการคัดเลือกหรือจัดสรร ด้วยอำนาจของบุพกรรมเดิมโดยแท้ และที่ยังมาไม่ได้ก็มีอีกมากมาย จึงคิดว่าพวกเราอาจจะเคยเกิดร่วมสมัยกับท่านมาก็ได้ จึงมีเหตุดลใจให้ตัดสินใจมาด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง

จึงขอให้ทุกคนตั้งใจอาราธนาท่านผู้ครองนครทั้งหลายในอดีต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด อันมี "พระร่วง และ พระลือ" เป็นต้น ขอได้โปรดเสด็จมาเพื่อเป็นสักขีพยาน ณ ที่นี้ ขอความศักดิ์สิทธิ์และอานุภาพทั้งปวง จงได้คุ้มครองรักษาและมีความคล่องตัว จะพูดจะทำการสิ่งใด ข อให้ได้ผลไปตามวาจาสิทธิ์ของท่านทุกประการเทอญ.."

หลังจากเล่าประวัติจบแล้ว เสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ชุมนุมเทวดาก็ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น หลังจากที่ หลวงพี่โอ เป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี ทุกคนที่นั่งรายล้อมอยู่บริเวณเมืองเก่า ต่างก็นั่งพนมมือหลับตาตั้งจิตอธิษฐานไป ตามกระแสเสียงของท่าน เพื่อเป็นการย้อนรำลึกนึกถึงท่านผู้ทรงคุณความดีทั้งหลายในอดีต

ต่อมาได้สรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว พวกเราได้ออกมารำถวายมือที่ชื่อว่า “ดาวดึงสเทวโลก” พร้อมทั้งผู้เขียนได้บรรยายต่อไปอีกว่า

“พระร่วงโรจนฤทธิ์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ประเทศน้อยใหญ่พากันมาสวามิภักดิ์ พอมีพระชนมายุ ๔๐ พรรษา ทรงได้ ช้างเผือกงาดำ และ เขี้ยวงูใหญ่ เท่าผลกล้วยเป็นคู่บารมี เรื่องนี้ตามตำนานบอกว่า ด้วยอานิสงส์ที่ทรงสร้างหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้ามาแต่ชาติก่อน

ต่อมาพระองค์ได้โปรดให้เชิญเจ้าเมืองมอญ พม่า และขอม มาร่วมงานพระราชพิธีลบศักราช โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป มี พระพุทธโฆษาจารย์ แห่ง วัดเขารังแร้ง เป็นประธาน

นอกจากนั้นพระร่วงยังโปรดให้สร้าง "ถนนพระร่วง" จากศรีสัชนาลัยมายังสุโขทัย พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง ที่เมืองพิษณุโลก สวรรคโลก และสุโขทัย ต่อมา พระร่วงกับพระลือก็ได้เสด็จไปเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนได้ถวายพระธิดาชื่อว่า พระนางวิสุทธิเทวี ให้เป็นพระมเหสีของพระร่วงด้วย และยังให้ชาวจีนอีก ๕๐๐ คน มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ที่เรียกว่า “เตาทุเรียง”

ในตอนนี้ท่านถึงกับปรารภออกมาว่า “เกิดคราวไรไม่ค่อยพ้นลูกสาวเจ๊กสักที ก็เพราะมีเชื้ออยู่นี่เอง..”





พระร่วงเวลานั้นมีวิชาความรู้มากมาย เช่น วิชากำบังล่องหนหายตัว มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ คือมีฤทธิ์สมกับพระนามของพระองค์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่ากฎของธรรมดา บุคคลคนเดียวกันนี้ คือ พระเจ้ามังรายมหาราช (ผู้สร้างพระธาตุดอยตุง) ที่ได้ลงมาเกิดเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ สร้างความเจริญมั่นคง ขยายอาณาเขตออกไปครองมอญ พม่า ข อมไว้ได้หมด อาณาจักรยาวเหยียด แต่ในที่สุดพระองค์ก็สวรรคต เพราะเหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้กับลูกๆ ตอนหนึ่งว่า

“เห็นไหมลูกรักของพ่อ ถ้าตัณหามันยังไม่หมดเพียงใดก็ต้องเกิดอีก ตัณหาคือ ความรักติดอยู่ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ "ความโลภ" อยากจะรวย อยากจะเป็นใหญ่ ความบ้าอยากจะมีอำนาจเหนือคน "ความหลง" คิดว่ามันจะไม่แก่ไม่ตาย นี่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์

ฉะนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหมด จงอย่ามีความปรารถนาตามนั้น ลืมมันเสียเรื่องขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา..ลูกรัก! ถ้ามันเป็นเรา เป็นของเราจริง ก็ดูตัวอย่าง พระเจ้ามังราย ระยะเวลาเพียงสองพันปีก็เกิดถึง ๔ วาระแล้ว นี่แค่สมัยความเป็นคนไทย สมัยอื่นท่านจะไปเกิดที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ

ทั้งนี้ เนื่องจากทนไม่ไหวเพราะพวกลูกๆ หลานๆ ไม่สามารถรักษาความเป็นไทยไว้ได้ ถึงแม้จะเหนื่อยเพื่อคนไทยมามาก แต่ก็วางมือไม่ได้ วางมือทีไรยุ่งทุกที ในฐานะที่ปรารถนาพระโพธิญาณนี่ ต้องต่อสู้กับความทุกข์ เพื่อให้ความสุขแก่คนอื่น จะมัวมานั่งแช่มชื่นมีความสุขนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระโพธิสัตว์...”

นี่คือความทุกข์ยากในใจของบุคคลผู้เป็นพ่อของคนไทยทั้งหลายในกาลก่อน วันนั้น พวกเราจึงร่วมกันร้องเพลง “พ่อ” เพื่ออุทิศให้แด่พ่อของเราที่มีน้ำใจอันประเสริฐต่อลูกของท่านทุกคน มีบางคนน้ำตาไหลเมื่อได้ยินเสียงเพลงนี้

“...เมื่อก่อนครั้งฉันเป็นเด็กน้อยคอยแต่คลาน พ่อหัดตั้งไข่ให้จนฉันเดินเป็น..เตาะแตะ ก้าว..ทีละน้อย ค่อยๆ เข็น จับเกาะพ่อเดินเล่นตามประสาเยาว์วัย พ่อถอดรองเท้าไว้ให้เห็นตรงนอกชาน ฉันเจ้าเด็กน้อยลองใส่สวยเดินภูมิใจ อยากใส่ไว้ให้เหมือน แม้จะหนักยังเดินไหว พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...

ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน ลูกเหยียบย่างไม่ห่างเหินเดินตาม ย่ำบุกป่าเขาลำเนาไพรไม่ครั่นคร้าม เด็กน้อยตามอย่างพ่อ ไม่ท้อเดินไป เติบใหญ่ถึงวันนี้ พบชีวิตที่ผกผัน ฉันจึงได้รู้ว่าการเดินไม่ง่ายดังใจ วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน รองเท้าพ่อคู่ใหญ่ยังสอนใจเรา วันที่ถูกทุกข์ทับถมขมขื่นใจสักเพียงไหน พ่อยิ่งใหญ่เหมือนภูเขาเราจะตาม...”

เมื่อจบเพลงนี้แล้ว หลายคนที่จะต้องซับน้ำตา เพราะความซาบซึ้งในพระคุณอันใหญ่หลวงของพ่อ ต่อจากนั้นพวกเราก็ออกมาร่วมกันรำ เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จของท่านพ่อและท่านแม่ ตลอดถึงท่านปู่ท่านย่าอีกด้วยไว้ เป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดิน ณ เมืองศรีสัชนาลัย เพื่อขออำลาอาลัยแผ่นดินไทยทั้งหลาย ที่ได้เคยเกิดมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ได้บันทึกอยู่ในความทรงจำของทุกคน เพราะหลังจากการทำพิธีบวงสรวงพลี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาท่านพ่อขุนไทยทั้งหลายแล้ว ต่อมามีพวกท่าชัย ๓ - ๔ คน ที่อยู่ในพิธีครั้งนั้น ได้มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า



ในขณะที่กำลังฟ้อนรำสมโภชกันอยู่นั้น ปรากฏว่ามีละอองฝนโปรยปรายอยู่เฉพาะรอบนอก ส่วนพวกเราที่อยู่ในพิธีหน้าพระเจดีย์เจ็ด แถวนั้นกลับไม่มีฝนเลย และในจำนวนนั้นที่นั่งอยู่ห่างๆ รอบนอก บางคนก็ได้มองเห็น "เกล็ดสีเงิน" ลอยลงมาจากท้องฟ้าเป็นระยิบระยับไปหมด ผู้เขียนได้ฟังแล้วก็แปลกใจ จึงย้อนถามกลับไปว่า

โยมมองเห็นด้วยทิพจักขุญาณ หรือมองเห็นด้วยตาเปล่าละ โยมคนนั้นก็บอกว่า มองเห็นด้วยตาเนื้อนี่แหละเจ้าค่ะ เมื่อถามคนอื่นๆ อีก คนที่เห็นก็บอกเหมือนกันหมด ผู้เขียนจึงปักใจเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะเราก็ไม่ได้เห็นเอง ครั้นจะนำมาเล่าให้คนอื่นฟัง ประเดี๋ยวจะหาว่าผู้เขียนชอบเล่าแต่เรื่องปาฏิหาริย์ แต่ถ้าไม่นำมาเล่า คนที่รู้จริงก็จะตำหนิได้เหมือนกัน

เพราะคนที่มองเห็นอยู่เวลานั้น จึงได้ลุกขึ้นไปเพื่อจะหยิบขึ้นมาดู แต่กลับปรากฏว่าเกล็ดสีเงินที่ร่วงหล่นลงมานั้น พอตกลงมาถึงพื้นก็หายไปหมดสิ้น นี่เป็นเรื่องที่ญาติโยมนำมาเล่าให้ฟัง ส่วนผู้เขียนและคนที่ร่วมพิธีด้านในต่างก็ไม่ทราบเรื่อง คิดว่าท่านคงจะบอกเหตุอะไรสักอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ต่อมาก็ได้ทราบปริศนานั้นว่า

สถานที่แห่งนี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาแค่ ๓ - ๔ ปี เท่านั้น ทั้งนี้บริเวณนี้แต่ก่อนเป็นแค่ป่าเขาธรรมดา น้ำไฟก็ยังไม่มี ต้องเริ่มต้นใหม่กันหมดทุกอย่าง การที่ท่านแสดงเหตุให้เห็นเช่นนี้ในปีแรกที่ไปถึงนั้น ท่านคงจะรู้เหตุล่วงหน้าแล้วว่า พวกเราจะกลับมาช่วยกันสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นที่นี้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้อำนวยอวยพรด้วยการโปรยดอกไม้เงินที่เป็นทิพย์ลงมาให้เห็นเป็นที่อัศจรรย์ โดยเฉพาะได้แสดงปาฏิหาริย์ให้เฉพาะเจ้าของถิ่นได้เห็นกัน

คิดว่าท่านคงจะให้กำลังใจ เพราะเหตุการณ์ต่อมาก็ได้มีการจัดงานทอดกฐินติดต่อกันถึง ๓ ปีซ้อน เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของถิ่นที่จะต้องเตรียมการต้อนรับ ทั้งเรื่องสถานที่พักและอาหาร ตลอดถึงการงานต่างๆ ภายในสำนัก เช่น การทำบายศรี พานเครื่องกฐิน เป็นต้น ทุกคนต่างก็ช่วยเหลือกัน ผลออกมาคนที่ไปต่างก็ชมว่าสวยงามมาก และทำได้คือสร้างได้รวดเร็วทันใจเหมือนกับเนรมิต

หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงที่เมืองเก่ากันแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาที่ พุทธอุทยาน พระร่วงผดุงธรรม เพื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินกัน โดยรวบรวมเงินกันทำบุญทั้งสิ้น ๕๒๕,๗๕๗ บาท ซึ่งยังมียอดเงินที่สมทบภายหลังอีกบ้าง จึงถือว่าได้ปลดหนี้ปลดภาระให้แก่ท่านวันชัยไปด้วย

ญาติโยมที่ทำบุญจึงได้อานิสงส์จากวิหารทาน โดยเฉพาะศาลาปฏิบัติธรรมหลังนี้ มีผู้มาเจริญพระกรรมฐานในเวลา ๒๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. พร้อมทั้งเปิดวีดิทัศน์การสอนพระกรรมฐานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทุกวัน เป็นอันว่าผู้ที่ได้บำเพ็ญกุศลครั้งนี้ ก็มีอานิสงส์จากธรรมทานอีกด้วย เพราะช่วยให้ชาวบ้านได้ มีสถานที่ปฏิบัติธรรม หลังเสร็จภารกิจจากการงานประจำวันกันแล้ว.

l 1 l 2 l 3 l 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved