ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 9/5/08 at 08:05 Reply With Quote

ประวัติการสร้าง "พระศรีอาริยเมตไตรย" วัดท่าซุง (ตอนที่ 2)


« l 1 l 2 l 3 l »


พระอนาคตวงศ์


บัดนี้ จะได้วิสัชนาในเรื่อง "พระอนาคตวงศ์" โดยพุทธ ภาษิตปริยาย มีเนื้อความตามพระบาลีว่า

เอกัง สะมะยัง... ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสรรเพชรพุทธเจ้า เสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานครวะสันโต.. เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพระพรรษาอยู่ในบุพพาราม อัน นางวิสาขา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ ๒๗ โกฏิฯ

ครั้งนั้นพระองค์ทรงปรารภซึ่ง พระอชิตเถระ ผู้เป็นหน่อบรมพุทธางกูร "อาริยเมตไตรยเจ้า" ให้เป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชฏฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนาแสดง ซึ่งพระโพธิสัตว์ ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ครั้งนั้นพระธรรมเสนา สารีบุตรเถรเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่ง "อดีตนิทาน" แห่งองค์สมเด็จพระพิชิตมารทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาลเบื้องหน้าต่อไปเป็นใจ ความว่า (บางคำ "ผู้เขียน" ขอเกลาสำนวนที่ฟุ่มเฟือยออกไปบ้าง)

"...เมื่อศาสนาพระตถาคตครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุ ถอยลงคงอยู่ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล... จะบังเกิดมหาภัยเป็นอันมาก มี "สัตถันตรกัป" คือเป็นกัปที่มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับไม้และใบหญ้าก็กลายกลับเป็นหอกดาบแหลนหลาว อาวุธน้อยใหญ่ไล่ทิ่มแทงกัน ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญา ก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วยหุบเขา จะเหลืออยู่ก็แต่มนุษย์ที่มีปัญญา นอกกว่านั้นแล้วก็ถึงซึ่งพินาศฉิบหายเป็นอันมาก

เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่ซ่อนเร้นอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่กันเป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัด ร้องไห้กันไปมา บังเกิดมีความเมตตากรุณากันมากขึ้นไป ครั้นตั้งอยู่ใน "เมตตาพรหมวิหาร" แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญ กรรมฐานภาวนาว่า

"อะยัง อัตตะภาโว.. อันว่ากายของอาตมานี้ อนิจจัง.. หาจริงมิได้ ทุกขัง... เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว หาสัญญาสำคัญมั่น หมายมิได้ ด้วยกายอาตมาไม่มีแก่นสาร..."

เมื่อมนุษย์ทั้งหลายปลงปัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนือง ๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็วัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นทุกชั้น จนอายุได้ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง

ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อายุก็ถอยน้อย ลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็ตกเป็นฤดูคือ ๕ วันตก ๑๐ วันตก ใน "ชมพูทวีป" ทั้งปวงมีพื้นแผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอ เป็นอันดี



เกตุมดีราชธานี


ครั้งนั้น กรุงพาราณสี เปลี่ยนนาม ชื่อว่า เกตุมดี โดย ยาวได้ ๑๖ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑ โยชน์ มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ ประกอบเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร

ครั้งนั้น มหานฬการเทพบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขจักรพรรดิ เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมดีราชธานี เป็นพระราชาที่ทรงธรรม ครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต และในท่ามกลางพระนครนั้นมี "ปราสาท" อันสำเร็จแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาจากมหาคงคา ลอยขึ้นมายังนภากาศ มาตั้งอยู่ในท่ามกลางพระนคร ปราสาทแก้วนี้ ในสมัยพุทธกาลเป็นปราสาทแห่ง "พระเจ้ามหาปนาท" (ในตอนนี้ จะขอแทรกประวัติไว้ด้วยดังนี้)



ประวัติพระเจ้ามหาปนาท


อันว่าปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทนั้น เป็นปราสาทที่ท้าวสักกเทวราช ตรัสสั่ง วิษณุกรรมเทพบุตร ลงมาสร้างถวายพระราชา กล่าวคือ..สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นนั้น ยังมีช่างเสื่อลำแพน ๒ คนพ่อลูก ได้พากันสร้างบรรณศาลาแล้วด้วย ไม้อ้อและไม้มะเดื่อ เพื่อถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วทั้ง ๒ คนก็ช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นด้วยปัจจัย ๔

ครั้นพ่อลูก ๒ คนนั้นตายแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในเทวโลก ส่วนบิดายังอยู่ในเทวโลก ฝ่ายบุตรได้จุติจากเทวโลก ลงมาเกิดเป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าสุรุจิ และ พระนางสุเมธาเทวี มี พระนามว่า มหาปนาทกุมาร เวลาได้เสวยราชย์แล้ว จึงมีพระนามว่า พระเจ้ามหาปนาท ต่อมาท้าวสักกเทวราชได้ตรัสสั่งให้วิษณุ กรรมเทพบุตรลงมาสร้างปราสาทถวายแก่พระเจ้ามหาปนาทนั้น

ทั้งนี้ ด้วยอำนาจแห่งบุญญาธิการที่ได้เคยสร้างบรรณศาลาถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ปราสาทแก้ว ๗ ประการนี้ สูง ๒๕ โยชน์ จำนวน ๗ ชั้น ยาว ๙ โยชน์ กว้าง ๘ โยชน์

ครั้นพระเจ้ามหาปนาทสวรรคตแล้ว ปราสาทนั้นก็ได้เลื่อนลงไปสู่กระแสมหาคงคา ในที่ตั้งบันไดปราสาทนั้นได้กลายเป็น บ้านเมืองขึ้นเมืองหนึ่งชื่อว่า ปยาคปติฏฐนคร ที่ตรงยอดปราสาทนั้นได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อว่า โกฏิคาม

ในเวลาต่อมา เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง พระนามว่า พระสมณโคดม อุบัติขึ้นในโลกแล้ว เทพบุตรองค์นี้ ซึ่งมีนามว่า นฬการเทพบุตร จึงได้จุติลงมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีนามว่า ภัททชิ เป็นผู้มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีปราสาทถึง ๓ หลัง เป็นที่ยับยั้งอยู่ในฤดูทั้ง ๓

หลังจากได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อกราบทูลขอบรรพชาแล้ว จึงเข้าไปนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝ่ายชาวบ้านโกฏิคามได้ยกเรือทานถวายพระภิกษุสงฆ์ เวลาสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จลงประทับในเรือแล้ว โปรดให้พระภัททชิไปในเรือลำเดียวกันด้วย พอไปถึงกลางแม่น้ำคงคา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า

"ดูก่อน...ภัททชิ.! ปราสาทแก้วที่เธอเคยอยู่ในเมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาปนาทนั้นอยู่ที่ไหน?"

พระภัททชิกราบทูลว่า "จมอยู่ตรงนี้...พระเจ้าข้า"

บรรดาภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชนก็พากันร้องกล่าวโทษว่าพระภัททชิอวดมรรคผล องค์สมเด็จพระทศพลจึงตรัสบอกพระภัททชิให้แก้ความสงสัยของภิกษุทั้งหลาย พระเถระถวายบังคมแล้วก็บันดาลปลายนิ้วเท้าลงไปคีบยอดปราสาทอันสูงได้ ๒๕ โยชน์นั้นขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา ไปปรากฏอยู่บนอากาศสูงจากพื้น น้ำได้ถึง ๓ โยชน์ แล้วปล่อยไปในแม่น้ำคงคา มหาชนทั้งหลายก็หมดความสงสัย องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสว่า ปราสาท หลังนี้ พระภัททชิ เคยอยู่มาตั้งแต่ครั้งเป็นพระเจ้ามหาปนาท

มีคำถามว่า เพราะเหตุใด ปราสาทหลังนั้นจึงยังไม่อันตรธาน

มีคำแก้ว่า เป็นเพราะอานุภาพแห่งช่างเสื่อลำแพน ซึ่งเป็นบิดาในชาติปางก่อน อันมีนามกรว่า มหานฬการเทพบุตร จะจุติ ลงมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขจักร แล้วพระพุทธองค์จึงทรงตรัสต่อไปว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตไตรย อุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระองค์จักแสดงธรรมมีคุณอันดีในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ จักประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และจักปกครอง พระภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนกันกับเราตถาคตในบัดนี้

พระเจ้าสังขจักรนั้น จักเสวยราชย์อยู่ที่ปราสาทของพระเจ้ามหาปนาท อันมีมาในอดีตกาลนั้น แล้วจักทรงสละปราสาทนั้น ให้เป็นทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล คนขอ ทานทั้งหลาย แล้วจักปลงผมและหนวด นุ่มห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกบรรพชาในสำนักของพระศาสดาผู้ทรงพระนามว่า พระเมตไตรย แล้วจักออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว จักไม่ประมาท จะมีความ เพียร จะมีใจตั้งมั่น แล้วจะสำเร็จที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันเป็น สิ่งยอดเยี่ยมและปรารถนาของกุลบุตรทั้งหลายผู้บรรพชาในไม่ช้า"

สมัยต่อมาพระเจ้าสังขจักรได้เสวยราชสมบัติในเกตุมดีนั้น ปราสาทแก้วก็ผุดขึ้นมาแต่แม่น้ำคงคา ด้วยอานุภาพแห่งผลบุญที่เคยร่วมกันกับลูกชาย ถวายภัตตาหาร ผ้าไตรจีวร และสร้างบรรณศาลาถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มีความสุขสบาย ด้วยอานิสงส์มหาศาลนี้ จึงได้เกิดมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประดับไป ด้วยหมู่พระสนม แสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ มีพระราชโอรสมากกว่า ๑ พันพระองค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ แกล้วกล้า สามารถย่ำยีเสียซึ่งเสนาของผู้อื่น



แก้ว ๗ ประการ


พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า อชิตราชกุมารเจ้า อชิตราชกุมารนั้น ดำรงตำแหน่งเป็น ปรินายกแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดา ผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไปด้วยแก้ว ๗ ประการคือ จักรแก้ว ๑ นางแก้ว ๑ แก้วมณีโชติ ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ คหบดีแก้ว ๑ ปรินายกแก้ว ๑ อันว่าสมบัติของ พระเจ้าจักรพรรดินั้น ย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ ยิ่งนักเหลือที่จะพรรณนาได้ในกาลนั้น

ฝ่ายว่า มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า สุตพราหมณ์ นางพราหมณี ผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า นางพราหมณวดี

ในกาลนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรย รับอาราธนาจากบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายแล้ว ก็จุติลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาถือกำเนิดในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิต พราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันเพ็ญเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ

คือเหล่าเทพยดาพากันกระทำสักการบูชา ดังห่าฝนตกลง ในกลางอากาศ แล้วมีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้ เป็นที่สำราญแห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ปราสาทหลังที่ ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ ปราสาทหลังที่ ๒ ชื่อว่า สิทธัตถะ ปราสาทหลังที่ ๓ ชื่อว่า จันทกะ ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิ มงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวง พระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษ ไปด้วยนางนาฏพระสนม ประมาณ ๗ แสนคน

ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระนางจันทมุขี เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้งหลาย ๗แสน มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร

เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐทรงพระเกษมสำราญอยู่ใน ปราสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้ จนพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริหา เสมอมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตร เห็นนิมิตรทั้ง ๔ ประการนี้เป็น "เทวทูต" ยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัย น้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์

ในขณะนั้น อันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญ ยับยั้งอยู่นั้นก็ลอยไปในอากาศ พร้อมทั้งพระราชโอรสและหมู่ นางกัลยาทั้งหลายไปกับปรางค์ปราสาท ครั้งนั้นเปรียบประดุจดังว่า พญาหงส์ทองบินไปในเวหา ฝ่ายฝูงเทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา ต่างเหาะตามมากระทำ สักการบูชาในอากาศ เนืองแน่นกันมากเป็นอเนกอนันต์ บรรดา ท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พันพระนครก็ดี และชาวนิคมชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนมากระทำสักการบูชาด้วย ดอกไม้และของหอมมีประการต่าง ๆ เต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อน ไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลายก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษา ปรางค์ปราสาท

ฝ่ายพญานาคราชนั้นกระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พญาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี อันเป็นเครื่องประดับตน เหล่าคนธรรพ์ทั้งหลายนั้นกระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ฟ้อนรำมีประการต่าง ๆ

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้า เสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์พรหม ยมยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ฝ่าย พระเจ้าสังขจักรพร้อมด้วยข้าราชบริพารทั้งหลาย ก็ได้เสด็จไป ที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้ง ปวง มีความปรารถนาจะบรรพชา แล้วก็พากันลอยไปในอากาศ พร้อมด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์นั้น

ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ คือ ไม้กากะทิง แล้วปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑล ไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศาให้ขาดแล้ว ก็โยนขึ้นไปในอากาศ ก็ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายนั้น ก็ชวนกันบวชตาม สมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก

ฝ่ายพระมหาบุรุษราชองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระมหาโพธิสิ้นประมาณ ๗ วัน ใน เมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ คือพระที่นั่งแก้ว แล้วทรงระลึกชาติของพระองค์ด้วย ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ได้ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยาม

ครั้งล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่งการเกิดและตายแห่งสัตว์ทั้งหลายด้วย ทิพจักขุญาณ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม ที่เรียกว่า อาสวักขยญาณ คือบรรลุอภิเษกสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรส คือพระ สัทธรรม เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและ ผลหาประมาณมิได้



พระพุทธลักษณะ


สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยมีพระรูปพระโฉมงดงาม ตามพระพุทธลักษณะครบถ้วนทุกประการ คือพระองค์มีพระ วรกายสูงได้ ๘๘ ศอก พระองค์ใหญ่กว้างได้ ๒๕ ศอก ตั้งแต่ ฝ่าพระบาทถึงพระชานุ (เข่า) มีประมาณ ๒๒ ศอก ตั้งแต่พระ ชานุขึ้นไปถึงพระนาภี (ท้อง) ประมาณ ๒๒ ศอก ตั้งแต่พระ นาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้าที่สุดยอดพระ

อุณหิตเปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ ส่วน พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้ายขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก ใน ระหว่างภายในแห่งพระพาหา (แขน) ทั้ง ๒ ซ้ายขวานั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก พระอังคุลี (นิ้ว) แต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก ฝ่าพระหัตถ์ แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก พระศอ (คอ) โดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอก

พระโอษฐ์ (ปาก) เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอก เสมอ กันเป็นอันดี พระชิวหา (ลิ้น) อยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก พระนาสิก (จมูก) สูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก แววพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง ที่ดำกลมเป็น ปริมณฑลอยู่นั้นมีประมาณ ๕ ศอก พระขนง (คิ้ว) แต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก พระ กรรณ (หู) ทั้ง ๒ แต่ละข้างยาวได้ ๗ ศอก ดวงพระพักตร์นั้น เป็นปริมณฑลกลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญมีประมาณ กลมได้ ๒๕ ศอก.

« l 1 l 2 l 3 l »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2043
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved