ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 11/2/08 at 20:52 Reply With Quote

เนื้อหาสาระ.."หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 4 (ตอนที่ 1)


◄ll ย้อนอ่าน ตอนที่ 2 คลิกที่นี่
◄ll ย้อนอ่าน ตอนที่ 3 คลิกที่นี่



สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
หน้าโรงแรมเอเซีย
02. อุทัยธานี - ลพบุรี - สระบุรี
03. นครราชสีมา - ศรีสะเกษ - ร้อยเอ็ด
04. วัดเกาะบ่อพันขัน
05. ร้อยเอ็ด - มหาสารคาม - กาฬสินธุ์



รอยพระพุทธบาทในกรุงเทพฯ

".....เป็นอันว่ารอยพระพุทธบาทในกรุงเทพฯ จากเดิมมี ๒ แห่ง คือที่ สนามกีฬาแห่งชาติ และที่โรงแรมเอเซีย ในตอนนี้เพิ่มเป็น ๓ แห่ง คือที่ บ้านถนนทรงวาด แห่งนี้ ลักษณะเป็นรอยนิ้วเท้า แต่ที่สนามศุภชลาลัยมีเรื่องแปลกที่เกิด ขึ้นพอจะเล่าสู่กันฟังไว้เป็นหลักฐาน
(อธิบายภาพ..คุณธนวิสุทธิ์ถ่ายรูปมีดวงแสงขึ้นที่หน้าศาลก่อน แล้วต่อมา นสพ.สยามกีฬา จึงนำไปลงข่าวเรื่องรอยพระพุทธบาท)



คือ คุณธนวิสุทธิ์ สุวรรณาพรหม (เว็บมาสเตอร์แดนนิพพาน) ได้ไปสืบหาพระพุทธบาทตามหนังสือรวมเล่ม ๑ (ผู้ค้นพบคือ คุณ อภิชัย คณะของคุณศราวุธ ราชบุรี) แต่แทนที่จะไปพบกับรอยเดิมที่อยู่ด้านขวาข้างประตูใหญ่ กลับไปพบรอยใหม่ด้านซ้ายอีกที่หนึ่ง วางกองอยู่ข้างสนามเทพหัสดินฯ นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดจริงๆ ที่ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่า ก้อนหินนี้มีรอยเท้าอยู่นานแล้ว



ก้อนหินเหล่านี้ถูกวางระเกะระกะอยู่ข้างสนามเทพหัสดินฯ จนมีคนเอาเสื้อผ้าไปตากไว้บนก้อนหิน



สอบถามจากเจ้าหน้าที่ภายในสนามศุภชลาศัยบอกว่า บริเวณนี้เดิมเป็นวังเก่า ก้อนหินนี้มีมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว และไม่สามารถระบุว่าหินก้อนนี้ได้แต่ใดมา คณะคุณธนวิสุทธิ์จึงได้ประสานกับคณะผู้บริหารการกีฬาภายในนั้น คือ ผู้ช่วย ผอ. อานุภาพ เกษรสุวรรณ ทำการย้ายเข้าไปไว้ที่หน้าศาลหลวงศุภชลาศัย แล้วจะได้ทำการสร้างมณฑปเป็นการถาวรต่อไป (ภาพนี้ คุณอภิชัย คณะของ คุณศราวุธ ราชบุรี ได้เล่าเรื่องที่ได้พบเป็นคนแรก)



หลังจากนั้นได้อัญเชิญมาไว้ที่หน้าศาลฯ คณะทีมงานเว็บแดนพระนิพพาน เป็นผู้ประสานงานจนเป็นผลสำเร็จ



วันที่อัญเชิญเข้ามาก็มีอานุภาพสมกับชื่อ ผู้ช่วย ผอ. สพก. คือมีเจ้าหน้าที่บางคน ก็ได้ลาภจากตัวเลข ๒๕ จากจำนวนคนที่เข้ามาช่วยยกด้วย เป็นต้น ส่วนผลจะเป็นประการใดแล้วแต่ความเชื่อถือ ก่อนที่จะเชื่อก็มีความไม่แน่ใจเป็นธรรมดา ดังเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมาที่ โรงแรมเอเซีย ราชเทวี

หน้าโรงแรมเอเซีย

เพราะว่าหลังจากที่ สนามศุภชลาศัย ลงตัวไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มีคนไปไหว้ก้อนหินที่สวนหย่อมหน้า โรงแรมเอเซีย อยู่เสมอ จนเป็นเหตุให้ผู้เป็นเจ้าของมีความมั่นใจยิ่งขึ้น ในขณะที่ พระอาจารย์อริยะวังโส อธิษฐานจิตที่ก้อนหินนี้

ปรากฏว่าหลายคนถ่ายรูปไม่ติด มีแต่ คุณอารีย์ เตชะหรูวิจิตร ถ่ายได้แต่ผู้เดียว แล้วก็ได้ภาพที่ผิดปกติธรรมดาด้วย นั่นก็คือมีดวงแสงสว่างตรงที่ก้อนหินนั้น นับว่าเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนที่ร่วมพิธี จนเป็นเหตุให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ โดยการย้ายขึ้นมาไว้บนแท่นและทำกระจกครอบ แล้วทำการสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทแห่งนี้สืบต่อไป

รวมความว่า รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ใจกลางเมืองหลวง มีอานุภาพคล้ายๆ กัน แล้วก็มีการสร้างมณฑปครอบในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี ผู้เขียนก็มีส่วนร่วมบุญไปด้วยแล้วทั้งสองแห่ง อีกทั้งมีเรื่องราวคล้ายๆ กันคือ

เดิม คุณอภิชัย ได้พบแล้วแจ้งกับผู้เขียนว่า มีก้อนหินสำคัญอยู่ในสวนหย่อม ๒ แห่ง คือที่ปทุมวันและราชเทวี พร้อมส่งภาพถ่ายและข้อมูลมาให้ว่า ตนเองได้ไปขอซื้อก้อนหินนี้ (เรื่องซื้อก้อนหินนี้ มีความคิดเหมือนกับคุณ ธนวิสุทธิ์) แต่เจ้าของบอกว่า

คุณรู้หรือเปล่าว่าหินนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ถึงจะให้ราคาถึง ๑๐ ล้าน ก็ไม่ขาย เจ้าของก็ได้เล่าต่อไปอีกว่า เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มสร้างโรงแรมมีปัญหามาก ไม่สามารถสร้างต่อไปได้ จนได้รับคำแนะนำจากผู้รู้บางท่าน จึงได้ไปซื้อหินที่เขาขายเพื่อประดับสวนหย่อม

ต่อมาก็ได้นำหินมาแล้วทำพิธีบวงสรวง ขณะนั้นได้มีฝนโปรยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ ทำให้การสร้างโรงแรมสำเร็จลุล่วง กิจการดำเนินได้ดีจนถึงปัจจุบัน ตอนสร้างรถไฟฟ้าก็มีปัญหาเกิดขึ้น คือไม่สามารถทำการสร้างรางรถไฟฟ้า ผ่านจุดนี้ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย

จนผู้สร้างรถไฟฟ้าเข้ามาคุยกับทางโรงแรม จึงได้ทำพิธีขอขมาลาโทษ และทำการสร้างต่อไปได้จนสำเร็จ ซึ่งหลังจากสร้างรถไฟฟ้าเสร็จแล้ว ได้มีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่ตรงรางรถไฟฟ้าในบริเวณนี้อยู่โดยตลอด นี่เป็นบันทึกที่ คุณอภิชัย นำมาให้ไว้นานแล้ว

และบางครั้ง เมื่อจะทำการย้ายก้อนหินภายในสวนหย่อม ก้อนอื่นๆ ถึงแม้จะใหญ่กว่า ก็ทำการเคลื่อนย้ายไปได้ แต่ก้อนหินรอยพระบาทนี้ จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ ทั้งที ก้อนอื่นมีน้ำหนักมากกว่า

เรื่องนี้ได้ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะข่าวที่ลงไปแล้วนั้น ทางผู้สื่อข่าวก็จะลงบทความของผู้อื่นสรุปไปด้วย คล้ายกับจะเตือนสติไม่ให้งมงายจนเกินไปนั่นเอง นับว่าเป็นการเตือนด้วยความหวังดี ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนาด้วย แต่ที่บอกว่า

ยามที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานจิตให้เกิดรอยพระพุทธบาทขึ้นมานั้น ทันทีที่พระบาทของพระพุทธองค์สัมผัสกับแผ่นหิน จะทำให้แผ่นหินอ่อนตัวเหมือนดินเหนียว และขยายเป็นวงใหญ่ พร้อมกับเกิดรอยธรรมจักรปรากฏอยู่ตรงกลางอย่างน่าอัศจรรย์

กระนั้นอย่าลืมว่า ทุกรอยที่พบก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรอยพระพุทธบาทเสียทั้งหมด เพราะหากพิจารณาให้ดีแล้ว ร่องรอยบนหินบางก้อน ก็อาจเกิดจากการกัดเซาะของน้ำก็เป็นได้..”

เรื่องนี้ผู้เขียนพอจะชี้แจงได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่แท้จริง ตามที่คนไทยเชื่อถือ คงมีเหตุจากการสร้าง พระพุทธบาทจำลอง ซึ่งมีรอยนิ้วเท้า ตรงกลางมีธรรมจักร และลายลักษณ์ ๑๐๘ ประการ ตามความนิยมมาตั้งแต่โบราณ

แม้แต่ที่ พระพุทธบาทสระบุรี ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามถึงเรื่องนี้ ท่านเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบอกว่า ท่านอยู่ที่นี่ตั้งแต่เป็นเด็ก ยังไม่เคยเห็นของจริงเลย แต่ใน ประวัติหลวงพ่อปาน บอกว่า มีรอยจำลองทับของจริงไว้ และข้างในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์

เพราะฉะนั้น คนไทยก็ยังไม่เคยได้เห็นของจริงที่อยู่ข้างล่าง ว่ามีสภาพเป็นเช่นไร คงเป็นปริศนาทิ้งไว้ให้ชาวไทยทั้งหลายเข้าใจว่า รอยพระพุทธบาทต้องมีลักษณะเป็นเช่นนี้ คือ ที่เป็นศิลปกรรมในการสร้างว่า ฝ่าพระบาทของพระศาสดาประกอบไปด้วยมงคล ๑๐๘ ประการ

นั่นเป็นแนวคิดการจัดสร้างของช่างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการทำพระพุทธบาทจำลองให้มีลักษณะเช่นนั้นไว้กราบไหว้บูชา แต่ถ้ามีคนตั้งคำถามว่า แล้วรอยพระพุทธบาท ที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไรละ

เรื่องนี้ก็ไม่ยากที่จะค้นคว้าหามาได้ นั่นก็คือ รอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมหลักฐานตามวัดต่างๆ ที่มีรอยพระพุทธบาท เช่น วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ. ป่าซาง จ.ลำพูน และอีกหลายๆ แห่งที่บันทึกไว้ในหนังสือชีวประวัติ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เช่น วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น สถานที่เหล่านี้จะไม่มีการสร้างพระพุทธบาทจำลองทับไว้

ฉะนั้น ท่านผู้รู้ที่สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ น่าจะได้ไปสำรวจดูบ้างว่า สถานที่ต่างๆ นี้ จะถือว่าเป็นร่องรอยที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำหรือไม่ และจะมีลายลักษณ์ทั้ง ๑๐๘ ประการที่ฝ่าพระบาททุกแห่งด้วยหรือเปล่า

สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งนี้ นับว่ามีจำนวนมากมาย แต่เดิมที่รู้จักกันแค่ ๕ แห่ง แต่ปัจจุบันนี้ได้พบถึง ๕๐๐ กว่าแห่งแล้ว ส่วนใหญ่ผู้เขียนมิได้ไปตั้งเอาเองว่าเป็นรอยนั่นรอยนี่ แต่ข้อเท็จจริงชาวบ้านเขากราบไหว้มาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว ผู้เขียนเพียงแต่ไป นำเอาข้อมูลแล้วบันทึกรวบรวมไว้เท่านั้นเอง

และคงจะมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วส่วนที่พบใหม่ละ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยพระพุทธบาท เรื่องนี้ก็คงไม่ยากจากการศึกษามาสิบกว่าปีนี้ เพราะได้ศึกษาจากรอยจำลองบ้างว่า มีอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งมีผู้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้หนังสือนี้มีชื่อว่า รอยพระพุทธบาทในประเทศไทย โดย คุณมณเฑียร ศุภลักษณ์ และหนังสือ FOOT PRINTS OT THE BUDDHAS OF THIS ERA IN THAILAND ที่ชาวต่างประเทศคนหนึ่ง รวบรวมไว้ชื่อว่า Viginia McKeen Di Crocco

เพราะฉะนั้น เรื่องการสำรวจรอยพระพุทธบาท จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะถือเอาสถานที่เหล่านี้ไว้เป็นแบบอย่าง พอที่จะเปรียบเทียบกัน ได้ว่าที่ไหนเป็นของจำลอง ที่ไหนเป็นของจริงบ้าง แล้วก็ทำการบันทึกข้อมูลจากชาวบ้าน แต่ละแห่งแต่ละสถานที่ไว้เป็นรูปถ่ายและเป็นภาพวีดีโอด้วย

ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ เขาก็ไม่ได้ไหว้เพื่อ หวังจะร่ำรวย ไม่ได้หวังโชคลาภจะลอยมาด้วยการอ้อนวอนขอ เขาก็ได้มาจากกำลังใจในการกราบไหว้บูชา แล้วก็ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นับว่าอยู่ในข้อปฏิบัติตามหลัก อัตตา หิ อัตตโน นาโถ อยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนั้นเขาก็มิได้อยู่ในวงเหล้า ไม่ได้อยู่ในบ่อนการพนัน เขาไม่ได้คดโกงใคร ศีลก็บริสุทธิ์ดีอยู่แล้ว และขณะที่กราบไหว้บูชา ก็มีการสวดมนต์ไหว้พระ แล้วทำสมาธิจิต ต่อมาเมื่อมีการสร้างมณฑป ก็มีการบริจาคปัจจัยร่วมกัน อย่างนี้จะได้ชื่อว่า ปฏิบัติอยู่ใน ทาน ศีล ภาวนา หรือไม่

ทำไมผู้ทรงคุณวุฒิสมัยนี้ จึงมักจะกลัวว่าคนที่กราบไหว้ก้อนหินก้อนดินเหล่านี้ จะงม งายไปทั้งหมดละ ทั้งที่เขาไหว้ก้อนหิน สมมุติว่าเป็นรอยน้ำเซาะตามธรรมชาติ ถามว่ามันเป็นบาปตรงไหนบ้างละ ในเมื่อจิตใจเขานึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันเป็น พุทธานุสสติ อยู่แล้วนี่ ถึงเขาจะอธิษฐานขอ นั่นมันเป็นเรื่องกำลังใจของคนที่มีความเลื่อมใส

ถ้าเขาเกิดมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียร เขาก็ ร่ำรวยขึ้นมาได้ ที่เกิดจากการอธิษฐานขอนั่นเอง แล้วบางคนก็เกิดมีโชคมีลาภ บางทีก็ได้ ตัวเลขจากก้อนหินนั้น บางครั้งก็ถ่ายรูปเกิดมีแสงสีรัศมีต่างๆ จะว่าเป็นการงมงายก็ไม่ได้ ในเมื่อเขาเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นจริง และบุคคลเหล่านี้ก็มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ มีตำแหน่ง หน้าที่การงานในระดับผู้บริหารทั้งสิ้น

ผู้เขียนจึงมีความคิดว่า น่าจะให้สติแก่ผู้ที่ยังสงสัยให้เกิดความเลื่อมใส ผู้ที่ยังไม่เข้าใจให้เกิดความมั่นใจ ตามข้อมูลที่รวบรวมมา แล้วก็ควรสนับสนุนผู้ที่เลื่อมใสและมั่นใจแล้ว ให้มีกิจกรรมที่เป็นบุญกุศลต่อไปจะดีกว่า..."

รวมความว่า สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ ได้มีการยอมรับนับถือกันแล้ว จึงมีการสร้างมณฑปกัน ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ กำลังดำเนินการก่อสร้าง ผช.ผอ.อานุภาพ เป็นผู้ออกแบบแปลนเอง ขณะนี้ยังมีผู้ร่วมสมทบทุนบริจาคสร้างมณฑปกันเรื่อยๆ



ส่วนที่หน้าโรงแรมเอเซีย ขณะที่สร้างเสร็จแล้ว ดังที่เห็นตามรูปภาพนี้

◄ll กลับสู่ด้านบน





(ต่อจากตอนที่แล้ว)

อุทัยธานี - ลพบุรี - สระบุรี


ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ได้มีการเดินทางทุกเดือน เพื่อเร่งสำรวจรอยพระพุทธบาทให้หมดสิ้นในปีนี้ ฉะนั้น เดือนมีนาคมนี้ หลังจากกลับมาจาก "ภาคกลาง" เว้นระยะแค่ไม่กี่วัน พอถึงวันที่ ๑๔ มี.ค. ๔๘ ก็เดินทางต่อไป เนื่องจากมีข้อมูลและนัดกับ "พระสายอีสาน" ไว้แล้ว

ในตอนเช้า เริ่มออกเดินทางจากวัดไปที่ เขาฟ้าแลบ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี เพื่อขึ้นไปที่แอ่งน้ำใต้ต้นไม้ แต่ทางขึ้นเขาเป็นทางธรรมชาติลื่นมาก จึงไม่สามารถขึ้นไปบนยอดเขาได้ จำต้องเลยไปที่ วัดเนินรังวรปัญญาราม (ลานนางฟ้า) อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี พบพระพุทธบาทหลายรอยภายในมณฑป ซึ่งยังสร้างค้างอยู่



เมื่อ ๒ - ๓ ปีก่อนเคยมาครั้งหนึ่งแล้ว ได้พบกับ พระนราธิป (อดีตเคยอยู่วงชาตรี ปัจจุบันนี้ลาสิกขาบทไปแล้ว) ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะพบรอยพระพุทธบาท กลางคืนได้เห็น ดวงไฟลอยขึ้นที่บริเวณนี้ พอตอนเช้าซึ่งเป็นวันพระพอดี จึงได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้



ต่อมาก็ได้เริ่มสร้างมณฑปครอบ ผู้เขียนจึงได้ร่วมทำบุญไปด้วย ในตอนนี้ก็นำมาเพิ่ม อีก ๑,๐๐๐ บาท แล้วจึงกราบไหว้รอยพระพุทธบาท ในลานหินเดียวกันมีทั้งหมดประมาณ ๕ รอย จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปที่ บ้านโคกดินแดง ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี



เรื่องนี้เป็นข่าวทางหน้า นสพ.เดลินิวส์ เมื่อปลายปี ๒๕๔๗ ว่ามีการพบรอยพระพุทธบาทบนลานหิน กลางทุ่งนาร้าง ในท้องที่บ้านโคกดินแดง เผยพระธุดงค์เป็นผู้ค้นพบเมื่อ ๗๒ ปีก่อนขณะมาปักกลดค้างแรม สุดเฮี้ยนหากใครลบหลู่เจอดีทุกราย

วันที่ ๑๓ พ.ย. ผู้ สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ชาวบ้านโคกดินแดงกำลังแตกตื่นกับการพบรอยพระพุทธบาทรอยใหม่บริเวณทุ่งนาร้าง ห่างจากถนนลูกรังในหมู่บ้านประมาณ ๑๐๐ เมตร จึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมด้วย น.ส.นภาภรณ์ อาสานอก ปลัดอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

เมื่อไปถึงพบชาวบ้านหลายคนกำลังจับกลุ่มจุดธูปเทียนกราบไหว้ รอยลึกบนหินมี ลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์ ( รอยพระพุทธบาท) มีความยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๑ เมตร ลึกประมาณ ๕๐ ซ.ม. ภายในมีน้ำขังอยู่

ขณะนั้นมีชาวบ้านบางรายนำขวดน้ำพลาสติกมาตักน้ำใส่ขวดกลับไปบ้าน เพราะ เชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ บางรายนำน้ำมาลูบที่ศีรษะ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นยัง มีกลุ่มคอหวยพยายามขัดถูบริเวณขอบรอยพระพุทธบาท เพื่อหาเลขเด็ดไปแทงหวย

ทางด้าน นายบุญเรือง มหาวงศ์น้อย อายุ ๖๓ ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ เปิดเผยว่าผืนดินที่พบรอยพระพุทธบาทเป็นที่ดินของ นางสนิท ฟองสมุทร ปัจจุบันย้ายถิ่นไปอยู่กับลูกที่ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นดินดาน เพราะปลูกไม่ขึ้นจึงปล่อยให้เป็นที่รกร้าง

ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นปู่ย่าตายายในหมู่บ้านบอกว่า รอยพระพุทธบาทดังกล่าว ถูกค้นพบประมาณปี ๒๔๗๕ โดยพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งมาปักกลดในบริเวณนี้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่มีใครสนใจจะพัฒนาพื้นที่ เพราะเป็นผืนดินที่มีเจ้าของครอบครอง

อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ เล่าต่อว่า ตามความเชื่อของชาวบ้าน คาดว่าน่าจะเป็นรอยพระพุทธบาท ที่สืบเนื่องจากรอยพระพุทธบาทที่พบริเวณ เขาพระพุทธบาทน้อย ในเขตอำเภอแก่งคอย ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๓ กม. เคยมีชาวบ้านบางคนอยากทดสอบหรืออยากลองดี ต้องเจอวิบากกรรมแตกต่างกัน เช่น

มีสองสามีภรรยาถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตพร้อมกระบือที่นำมาเลี้ยง เนื่องจากให้กระบือมากินน้ำในรอยพระพุทธบาท ด้าน น.ส.นภาภรณ์ ปลัดอำเภอเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ข่าวหนังสือพิมพ์มีเพียงแค่นี้ ที่ผู้เขียนตัดเก็บเอาไว้เพื่อสืบหาต่อไป ใช้เวลาค้นหาไม่นาน โดยการสอบถามจากชาวบ้าน ผลที่สุดก็ไปถึง บ้านโคกดินแดง หมู่ ๗ (เข้าทาง ซอยอดิเลกสาร ๓) ได้พบชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทเล่าว่า

รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ถึงแม้จะรู้จักกันมานาน ๗๒ ปีแล้ว ตั้งแต่คนรุ่นปู่ย่าตายาย แต่คนสมัยนี้ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง จนมีวันหนึ่งได้นำรถไถเข้ามาปรับพื้นที่ แล้วจึงได้พบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เรื่องเล่าคงมีแค่นี้



ครั้นได้เข้าไปสำรวจแล้ว ผู้เขียนจึงบอกคนที่เฝ้าว่า รอยนี้เป็นเบื้องขวาที่ซ้อนกัน ๓ รอย ไม่ใช่รอยเดียวอย่างที่เข้าใจ และยังมีรอยเกือกแก้วเล็กๆ อีกรอยหนึ่งที่อยู่ด้านข้าง เมื่อทราบว่าทางคณะกรรมการจะสร้างมณฑปครอบ จึงได้ร่วมทำบุญด้วย เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นก็ไปพักค้างคืนที่บ้าน คุณภูษิต - คุณ ซิ้ม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านได้สร้างศาลาครอบพระพุทธบาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว "คณะตามรอยพระพุทธบาท" ได้ไปเป็นเจ้าภาพทาสี และอัญเชิญพระพุทธรูป 30 นิ้ว ไปถวายไว้ด้วย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ก่อนวันมาฆบูชาเพียงวันเดียว


(((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป)))))))


◄ll กลับสู่ด้านบน




(Update 19 มี.ค. 2551)

นครราชสีมา - ศรีสะเกษ - ร้อยเอ็ด


    
    เช้าวันที่ ๑๕ มี.ค. เป็นวันที่สองของการเดินทาง ได้ออกเดินทางแต่เช้ามืด แล้วแวะที่ปั๊มน้ำมันพีที อ.สูงเนิน เพราะมีก้อนหินอยู่หน้าปั๊ม เป็นก้อนหินที่มีรอยซ้อนสี่รอย อยากจะขอมาเก็บไว้ในที่สมควร การเจรจายังไม่คืบหน้าแต่ประการใด


     
   แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่อยากได้ แต่อยากให้คนรู้ค่า หากเข้าใจแล้วเราก็ไม่ต้องการแล้วละ ฉะนั้นได้กราบไหว้บูชาก็พอใจแล้ว พอเริ่มสว่างก็เดินทางต่อไปที่ วัดพระพุทธบาท (แก่งพระพุทธบาท) บ.เปือย ต.ส้มป่อยใหญ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หรือจะเข้าที่ บ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพรพิสัย ก็ได้

   
     แต่พวกเราไปทางบ้านเปือย เพราะพบป้ายบอกทางว่าไปแม่น้ำมูล แก่งพระพุทธบาท ๔ ก.ม. จึงขับรถไปจอดที่ริมแม่น้ำ วันนี้อากาศครึ้มเย็นสบาย จึงเดินลงไปแล้วข้ามแม่น้ำมูล แหม..ฟังดูยังจะข้ามได้ง่ายๆ เชียวนะ หรือถ้าผู้เขียนมีฤทธิ์คงจะเหาะไปแล้ว

    
    แต่ความจริงไม่ใช่นะ มันเป็นเรื่องของน้ำที่แห้งนะ มีเฉพาะบางช่วงที่ยังมีกระแสน้ำไหลอยู่บ้าง เราก็เดินสำรวจดูตามแก่งหิน เพราะเข้าใจว่าพระพุทธบาทอยู่ในแม่น้ำแต่ก็ยังไม่พบ จึงได้เดินขึ้นไปสอบถามชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่ง ถึงได้รู้ว่ารอยพระพุทธบาทอยู่ภายในวัดแล้ว


       
 พวกเราจึงเดินไปตามทางริมแม่น้ำจนถึง วัดพระพุทธบาท จึงได้รู้ความจริงที่พระในวัดเล่าว่า เดิมก้อนหินนี้แช่อยู่ในน้ำที่ส้มป่อยใหญ่ ต่อมาเกิดฝนแล้งจึงได้ลอยมาที่หน้าวัด ทางวัดจึงได้สร้างมณฑปครอบเอาไว้ ปัจจุบันมีการแกะสลักรอยพระพุทธบาทไปแล้ว



      
  เมื่อได้กราบไหว้เสร็จแล้ว จึงเดินทางต่อไปตามป้ายบอกทางไป พระธาตุเรืองรอง ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพระธาตุสร้างใหม่สวยงาม เป็นวัดที่ หลวงปู่ธัมมาพิทักษา วัดใหม่ยายมอญ ธนบุรี เป็นผู้สร้าง ขณะนั้นทางวัดกำลังซ่อมแซมพอดี จึงได้ร่วม ทำบุญ ๕๐๐ บาท แล้วจึงออกเดินทางต่อไป


       
 ในระหว่างทาง เห็นชาวบ้านกำลังสร้างองค์พระธาตุใหม่ครอบองค์เดิม ชื่อว่า พระธาตุสีดา เป็นพระธาตุเก่าแก่ในหมู่บ้านธาตุเจริญ ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จึงได้ร่วมทำบุญ ๕๐๐ บาท ชาวบ้านหลายคนแปลกใจที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ทำไมจึงเข้ามาทำบุญได้

   
     จึงบอกว่าชอบสร้างพระธาตุ ถ้าเดินทางผ่านไปที่ไหน ได้เห็นไม้นั่งร้านขึ้นล้อมรอบ จะต้องบอกรถให้แวะเข้าไปทำบุญทันที ชาวบ้านที่นี่อัธยาศัยดีต่างก็เข้ามานั่งสนทนาด้วย หลังจากนั้นก็ขออำลาเดินทางต่อไป พอดีผ่านหน้า วัดกู่คันธนาม ต.ยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เห็นกู่เก่าแก่มาก จึงบอกให้รถเลี้ยวเข้าไปอีก


    
    คำว่า "กู่ " หมายถึง "พระเจดีย์" หรือ "พระธาตุ" สร้างด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือแค่ซากปรักหักพัง ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีคำอธิบายไว้ด้านหน้าว่า เป็นศิลปสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ศิลปเขมรแบบบายน อายุราวต้นพุทธศวรรษที่ ๑๘ จึงได้เข้าไปกราบนมัสการ แล้วทำบุญใส่ตู้สร้างพระอุโบสถกันตามอัธยาศัย

   
     ต่อจากนั้นจึงเดินทางไปที่ สำนักสงฆ์ดอนธาตุป่าวิเศษ กิ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด เดิมที่นี่เป็นป่าช้าเก่า มีพระสายอาจารย์หนุนมาอาศัยและสร้าง "สมเด็จองค์ปฐม" ไว้ที่นี่ ภายในบริเวณนี้ก็มีพระธาตุเก่าแก่เหลือแค่ฐานเช่นกัน จึงได้นำผ้าห่มไปบูชา แล้วเดินมาที่ศาลา ภายในประดิษฐาน สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระนิพพาน ที่ได้ถอดแบบมาจาก วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย


     
   ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ออกทุนค่าใช้จ่ายในการทำแบบใหม่ประมาณ ๘ หมื่นบาทเศษ โดย ท่านประทักษ์ (ตุ๋ย) พร้อมด้วยเพื่อนพระภิกษุ วัดพุทธโมกข์ จ.สกลนคร หลังจากแบบเสร็จแล้วก็ได้นำมาหล่อที่นี่เป็นองค์ที่ ๓ โดยมี คุณทรงศักดิ์ - คุณบงกช เทวธีระรัตน์ เป็นเจ้าภาพ

 
       ในปัจจุบันนี้ ได้มีการสร้างสมเด็จองค์ปฐม "ทรงเครื่องนิพพาน" นี้ไปแล้วประมาณ ๘ องค์ คือ องค์แรกที่ วัดป่าสุทธิธรรมวิเวก อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด มี ท่านกิตติพงษ์ เป็นเจ้า สำนัก โดยมี คุณประไพ เหตระกูล - คุณวรการ ทรงคุ้มครอง และครอบครัว, คุณคชาธร - คุณศุภฤกษ์ - คุณชนินทร เหตระกูล เป็นเจ้าภาพ

    
    องค์ที่ ๒ สร้างที่ วัดป่าโคกดินแดง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ท่านไพรวัลย์ เป็นเจ้าสำนัก มีเจ้าภาพเป็นคนพิษณุโลก แต่ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้นะ องค์ต่อมาที่ วัดดานขุมคำ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร แล้วก็ไปที่กาฬสินธุ์ ส่วนองค์ที่ ๖ นั้น สร้างที่ วัดโคศุภราช อ.เมือง จ.อ่างทอง มี ท่านวิชาญ เป็นเจ้าอาวาส

  
      ส่วนเจ้าภาพมี ๒ คณะ คือ นพ.จรัสศักดิ์ (หมอน้อย) - อาภารวี (อุมา) เรืองพีระกุล กรุงเทพฯ และ คุณไชยพร ลิ้มปัญญาเลิศ พร้อมครอบครัว จ.ลพบุรี โดยมี ท่านมหาเพิ่มทรัพย์ จ.สุพรรณบุรี เป็นผู้ประสานงานให้

     
   ในเวลานี้ อาจารย์ตุ๋ย ก็ได้สร้างไปได้ ๘ องค์แล้ว โดยมี คุณทรงศักดิ์ และภรรยา เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทำแบบใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงขออนุโมทนาทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ที่ทุกท่านมีส่วนช่วยกันสร้าง สมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องพระนิพพาน เพื่อเป็นสิริมงคลไว้ตาม สถานที่ต่างๆ ของประเทศไทย

◄ll กลับสู่ด้านบน

(((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 26 มี.ค. 2551)))))))





(Update 26 มี.ค. 2551)


ในตอนนี้ จะขอเล่าเรื่องต่อไปว่า หลังจากออกมาจาก วัดดอนธาตุป่าวิเศษ แล้วจึงไปที่ วัดป่าหนองฮี กิ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด โดยนัดหมายไว้กับ ท่านประทักษ์ (อ.ตุ๋ย) แล้วก็ ท่านสุพจน์ และ ท่านน้อย จากสกลนคร ให้มาพบกันที่นี่ ซึ่งมี ท่านอุดม สิริภัทโท เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหนองฮี


ทั้งนี้ เพื่อจะนำทางไปสถานที่สำคัญในเขตนี้ คือ วัดเกาะบ่อพันขัน ก่อนที่จะออกเดินทางก็ได้ถวายสังฆทาน ๓ ชุด พร้อมกับปัจจัย ๓,๐๐๐ บาท จากนั้นท่านอุดมก็นำไปที่บ่อพันขัน ซึ่งชื่อนี้มีความหมายอย่างไร ท่านอุดมก็เล่าให้ฟัง


แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงความสำคัญนั้น ในขณะที่เข้ามาถึงภายในบริเวณวัด พลันก็มีม้าตัวหนึ่งวิ่งมาแต่ไกล เห็นตอนแรกนึกว่าม้าวิ่งหนีไปที่อื่น แต่พอเข้ามาใกล้ปรากฏว่าม้ามาหยุดตรงที่พวกเรายืนอยู่ และที่แปลกมากก็คือว่าม้าได้เอาปากมาดุนที่แขนของผู้เขียน จึงยกมือลูบหัวม้าเบาๆ เขาคงจะเข้ามาทักทายนั่นเอง

จากนั้นก็เดินไปที่กลางน้ำ แต่ก่อนนี้น้ำยังไม่ท่วมจะเป็นนาเกลือ ชาวบ้านละแวกนี้ มีอาชีพทำนาเกลือ ต่อมาปี ๒๕๒๕ มีการ สร้างเขื่อนน้ำจึงท่วมบริเวณนี้กลายเป็นเกาะ วัดนี้จึงมีชื่อว่า “วัดเกาะบ่อพันขัน”

ฉะนั้นพื้นที่เดิมจึงเป็นแก่งหินทรายแดง มีลักษณะเป็นลายเส้นสี่เหลี่ยม คล้ายผ้าจีวรปูลาดลงไป ชาวบ้านแถวนี้เรียก “หินตากผ้า” บริเวณนี้เคยมีรอยพระพุทธบาททั้งซ้ายและขวาแต่อยู่คนละด้านของวัด

ส่วนคำว่า “บ่อพันขัน” นั้น ชาวบ้านเชื่อกันตามตำราสุวรรณภูมิเดิมเล่าว่า พระโมคคัลลานะ ได้มาปราบพญานาคตนหนึ่ง ซึ่งได้มาโผล่ขึ้นมาทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ด้วยการเอาผ้ามาปิดบ่อน้ำ ไม่ให้ชาวบ้านใช้สอยบริโภคน้ำนี้ และน้ำในบ่อก็จะแห้งไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้เอานิ้วมือจิ้มลงไปแล้วอธิษฐานว่า ถ้าจะให้น้ำในบ่อนี้เหือดแห้ง จะต้องให้คนมาตักพร้อมกันถึง ๑,๐๐๐ คน ด้วยเหตุอัศจรรย์นี้น้ำจึงขึ้นมาจากบ่อนี้ตลอด ทั้งที่บริเวณรอบข้างจะเป็นน้ำเค็มต้มเกลือได้ แต่เฉพาะตรงบ่อนี้น้ำจะจืด ซึ่งปากบ่อก็แคบนิดเดียว ชาวบ้านจึงมาตักไปใช้ดื่มกินได้ จึงเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

เป็นอันว่า เราไม่สามารถจะมองเห็น "รอยพระพุทธบาท" และ "รอยตากผ้าจีวร" ได้ ท่านอุดมบอกว่าแต่ก่อนจะมีธงปักเอาไว้อยู่กลางน้ำ จึงได้แต่ยืนอธิษฐานจิตไว้อยู่แค่ริมน้ำ แล้วจึงเดินมาที่บ่อพันขัน มีป้ายบอกว่าเป็น “บ่อน้ำมหัศจรรย์” และด้านข้างภูเขาก็มีศาลเจ้าพ่อพันขันด้วย


ครั้นพวกเราได้มาถึงแล้ว นับว่ามหัศจรรย์สมชื่อจริงๆ สมกับป้ายที่เขาเขียนไว้ใกล้ บ่อว่า บ่อพันขัน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำใสไหลไม่ หยุด..พิสูจน์ได้ที่นี่ นับว่าโชคดีที่เรามาครั้งนี้ เป็นเวลาที่เขาสูบน้ำในอ่างน้ำออกไป เพื่อกั้นบ่อน้ำไว้ให้มองเห็นเด่นชัด

ท่านอุดมเล่าต่อไปว่าก่อนที่น้ำจะท่วม บริเวณนี้ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือของชาวบ้านและเห็นกับตาด้วย เช่น คนที่จะเดินผ่านในบริเวณนี้ จะกางร่มเข้ามาไม่ได้ จะมีเหตุให้เกิดลมพายุพัดมาอย่างรุนแรง บางคนถึงกับมีอาการป่วยไข้ไม่สบายทันที

เมื่อผู้เขียนถามว่าเคยมีคนเห็นแสงขึ้นแถวนี้บ้างไหม ท่านอุดมบอกว่าเป็นเรื่องปกติ คือจะมีคนเห็นกันบ่อยๆ ดวงไฟจะลอยไปหากัน ๓ จุด คือ จากศาลเจ้าพ่อพันขัน เดิมจะเป็นเนินดินแล้วไปทางที่เก่าแก่อีกด้านหนึ่งที่เรียกว่า “เนินขันหมาก” จะเห็นหินสี่เหลี่ยมคล้ายขันหมาก มีกู่เก่าๆ และซากกำแพงเป็นศิลาแลง น่าจะเป็นโบราณสถานอยู่แถวนั้น

แต่พวกเราก็ไม่ได้ไปดู เพราะอยู่ห่างไกลกัน ได้แต่เดินไปที่บ่อน้ำพันขัน ซึ่งมีน้ำใสอยู่เต็มปากบ่อ พอที่จะมองเห็นรอยนิ้วมือที่จิ้มลงไปในหินทรายแดงอย่างชัดเจน แต่เป็นรอยนิ้วที่ใหญ่กว่าคนธรรมดานะ คนที่ไม่เชื่ออ่านตรงนี้แล้ว คงจะคิดจนฟุ้งซ่านนะ

เรื่องแบบนี้อย่าไปคิดมาก เพราะอิทธิฤทธิ์ท่านบอกว่าเป็นเรื่อง "อจินไตย" คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด คิดแล้วเป็นบ้าตาย ท่านคงจะอธิษฐานให้เล็กให้ใหญ่ได้ แต่เท่าที่ได้เห็น บ่อน้ำนี้กว้างประมาณสักคืบกว่าๆ เห็นจะได้ เมื่อได้ชิมดูแล้วน้ำใสเย็นและจืดสนิท มีรสชาติดี


ฉะนั้น ชาวบ้านที่ทำนาเกลือแถวนี้ ได้อาศัยบ่อน้ำเล็กๆ นี่แหละ ซึ่งผุดขึ้นมาตลอดเวลาไม่มีวันหยุด ขณะที่พวกเราไปถึงนั้น ถือว่าโชคดีที่ผู้ว่าฯ ได้สั่งให้สูบน้ำในฝายออกจนหมด จึงสามารถมองเห็นได้ ถ้ามาก่อนหน้านี้น้ำจะท่วมบ่อไปหมดสิ้น มองไม่เห็นอะไรเลย

แล้วท่านอุดมก็ได้ชี้มือไปอีกด้านหนึ่งพร้อมกับบอกว่า ตอนนี้เขากักน้ำไว้อีกด้านหนึ่ง ขอให้สังเกตน้ำที่อยู่ด้านโน้น จะมีระดับสูงกว่าทางด้านนี้หลายเมตร แต่ที่แปลกก็คือว่า น้ำจะไม่ไหลซึมเข้ามาทางบ่อพันขันนี้เลย


เมื่อหลายสิบปีก่อน มีผู้สร้างภาพยนต์เรื่อง “ทุ่งกุลาร้องไห้” จะมาตั้งกองถ่ายที่นี่ ในตอนนั้นยังไม่ได้ทำเขื่อนเก็บกักน้ำ จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีดาราที่มีชื่อเสียงมาหลายคน ปรากฏว่าถ่ายภาพไม่ติด เกิดอาเพศลมพัดจนกระจุยกระจาย ผลสุดท้ายต้องย้ายกองถ่ายไป

รวมความว่า กิ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ตามที่เล่ามานี้ คงจะมีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่บ่อน้ำจืดเล็กๆ สามารถเกิดขึ้นอยู่ท่ามกลางนาเกลือนับแสนไร่ได้ ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะไปพิสูจน์กันบ้างนะ อย่าอ่านแล้วเดากันไปส่งเดช เพราะแค่อ่านจะใกล้ความจริงไม่ถึงครึ่งเปอร์เซนต์

เรื่องนี้ต้องขออนุโมทนาพระภิกษุชุดนี้ ที่ได้แจ้งข่าวแล้วก็นำมาพบของจริงกัน คงจะเข้าใจคำว่า “บ่อพันขัน” กันดีแล้ว อย่าว่าแต่พันขันหรือพันคนเลย ถ้าน้ำไหลไม่มีวันหยุดอย่างนี้ ต่อให้คนหมื่นคนแสนคนหรือล้านคน เข้ามาตักก็ไม่มีวันหมดอย่างแน่นอน


สถานที่สำคัญในเขตนี้ยังมีอีกนะ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งหลับ ขอให้เดินทางไปด้วยกันที่ พระธาตุพันขัน อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เดิมชื่อว่า พระธาตุจำปาขันธ์ ตามชื่อเมืองเดิม ซึ่งถือเป็นเมืองพี่ และมีนครจำปาศรีเป็นเมืองน้อง โดยมี พระธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล

ในขณะที่ไปถึงนั้น ทางกรมศิลปากรกำลังทำการบูรณะองค์พระธาตุ ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมานาน เจ้าหน้าที่บอกว่ามีอายุเก่าแก่ประ มาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ ปี มีการสร้างซ้อนกัน ๒ สมัย เมื่อได้เดินชมโดยรอบแล้วก็ได้เห็นต้นลั่นทมใหญ่ จึงได้รู้ว่าทางอีสานเรียกว่า "ต้นจำปา" เป็นที่มาของคำว่า "จำปาขันธ์" นั่นเอง


ต่อจากนั้นพระสายอีสานก็ได้นำไปที่ วัดบ้านยางเครือ ต.เมืองทุ่ง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่ง จึงได้เข้าไปกราบนมัสการชาวบ้านเรียกกันว่า “พระเจ้าใหญ่ยางเครือ” เมื่อได้ถวายผ้าสไบทอง แล้วจึงไปที่ วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร

ขณะที่ไปถึงก็เป็นเวลาค่ำแล้ว แต่ก็ต้องกราบไหว้ให้ครบถ้วน เพราะสถานที่นี้เป็นที่สำคัญนั่นก็คือ องค์พระธาตุบรรจุพระธาตุของพระอานนท์ไว้ จึงได้ชื่อว่า พระธาตุอานนท์ ตามประวัติเล่าว่า

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ทางวัดได้มีการ บูรณะกำแพงแก้วรอบฐานพระธาตุ ได้พบกับ ตำนานของพระธาตุอานนท์บรรจุอยู่ในขวดสี เขียว ยาวประมาณ ๑ ศอก ฝังอยู่ใต้ดิน เขียนเป็นภาษาไทยน้อยลงในใบลาน ซึ่งใบลานดังกล่าวกรมศิลปากรได้นำไปที่กรุงเทพฯ และยังมิได้นำกลับคืนมาไว้ที่จังหวัด


จากตำนานเล่าว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๘ โดย เจตตานุวิน กับ จินดาชานุ ชาวเมืองเวียงจันทน์กับ เอียงเวธา เจ้าบ้านซึ่งเป็นขอม ได้พระธาตุมาจาก เทวทหนคร ประเทศอินเดีย ซึ่งในระหว่างนั้น เจตตานุวิน ลูกผู้พี่ และ จินดาชานุ ลูกผู้น้อง อุปสมบทได้ ๓๐ ปี จึงได้เดินธุดงค์ไปที่ประเทศอินเดีย ใช้เวลา ๒ ปี ๑๐ เดือน ๑๑ วัน

เห็นชาวเมืองกำลังสร้างเจดีย์องค์ใหม่ เพื่อที่จะย้ายอัฐิพระอานนท์จากเจดีย์เก่า ซึ่งประดิษฐานไม่เหมาะสมไปยังที่เหมาะสม ทั้งสองได้อธิษฐานจิตและอ้อนวอนขอแบ่งอัฐิธาตุอยู่หลายวัน จึงได้ผงธุลีประมาณเปลือกไข่นกกระเรียน กับธาตุประมาณเท่าดอกสังวาล แล้วกลับมาที่เวียงจันทน์ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงไปหา เอียงเวธา อาศัยอยู่กับชาวขอม ๓ ปี ได้สร้างพระธาตุขึ้นสิ้นเวลา ๘ เดือน ๒๕ วัน

พระธาตุแห่งนี้ ถึงแม้จะมิได้บรรจุพระบรมธาตุของพระศาสดา แต่ก็ได้บรรจุพระธาตุของพระสาวกองค์สำคัญ พวกเราจึงได้กราบไหว้บูชาพระคุณความดีของท่าน และตั้งจิตขออนุโมทนาท่านผู้ร่วมสร้างและผู้ร่วมบูรณะทั้งหลาย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้

ครั้นได้อธิษฐานตามความปรารถนากันแล้ว พระทั้ง ๔ รูป คือ ผู้เขียน, ท่านประทักษ์, ท่านสุพจน์, ท่านน้อย และทีมงาน จึงเดินทางไปพักค้างคืนที่ วัดป่าสันติวนาวาส บ.หนองกุง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เจ้าสำนักนี้มีชื่อว่า ท่านประพล อติพโล วัดนี้เป็นพระสายท่านอาจารย์หนุนเช่นกัน

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 2 เม.ย. 2551 )))))))




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 1/4/08 at 22:54 Reply With Quote



(Update วันที่ 2 เม.ย. 2551)

ร้อยเอ็ด - มหาสารคาม - กาฬสินธุ์



วัดป่าสันติวนาวาส ในตอนเช้าวันที่ ๑๖ มี.ค. ๔๘ ก่อนจะออกเดินทาง ทางวัดกำลังสร้างพระเจดีย์อยู่สูง ๓๐ เมตร ภายในประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐม จึงทำบุญร่วมสร้าง ๓,๔๐๐ บาท พร้อมสังฆทาน ๔ ชุด แล้วเดินทางไปสืบหา ลานหินร่อง พอดีมาถึงหน้า วนอุทยานโกสัมพี อ. โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จึงเข้าไปไหว้พระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่เรียกกันว่า พระมิ่งเมือง


พระพุทธรูปองค์นี้เป็น “ปางขอฝน” ซึ่งจะมีเพียงครึ่งองค์ช่วงบน ส่วนช่วงล่างได้ก่อปูนยึดติดไว้กับพื้น ตามประวัติชาวบ้านเล่ากันว่า เดิมเมืองนี้แห้งแล้งมาก เมื่อพระพุทธ เจ้าเสด็จมา ชาวบ้านจึงทูลขอฝน พระพุทธองค์ทรงเปลี่ยนผ้าอาบน้ำฝน แล้วทรงยกพระหัตถ์ชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า ฝนก็ตกลงมาทันที

ต่อมาชาวเมืองได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ คร่อมตรงที่พระพุทธเจ้าประทับยืน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พวกเราจึงได้มีโอกาสถวายผ้าสไบทอง สรงด้วยน้ำหอมและปิดทอง แล้วจึงสืบหาสถานที่อื่นต่อไป


สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ผู้อ่านจะเริ่มสังเกตได้ว่า ผู้เขียนได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณที่สำคัญๆ ต่อไปก็ยังได้พบกับความศักดิ์สิทธิ์กันอีก ขอให้ติดตามกันต่อไป ในระหว่างนี้ กำลังสอบถามชาวบ้านว่า ลานหินร่อง ต. ดอนกลาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม อยู่ที่ไหนกันแน่.. จึงให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลตำบล และนายก อบต.ดอนกลาง นำทางเข้ามาประมาณ ๓ กิโลเมตร ถนนเพิ่งลาดยางเสร็จพอดี


ตามข้อมูล คุณอชิระ (ซ้ง) ได้ข่าวมาจาก "ห้องข่าว ๑๐ โมงเช้า ทางทีวีช่อง ๕" เมื่อ วันที่ ๕ พ.ย. ๒๕๔๗ พบรอยเท้าคนโบราณที่ก้าวเดินไปตามลานหินร่องนี้ ผู้เขียนจึงถามว่า ทำไมเรียกว่า “หินร่อง” นายก อบต. บอกว่าบริเวณลานหินนี้มีแอ่งน้ำเล็กๆ เต็มไปหมด เนื้อที่ประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ส่วนหนึ่งได้มีพระสายธรรมยุตมาตั้งเป็นสำนักสงฆ์แล้ว


เจ้าหน้าที่ได้นำมาที่ลานหิน แล้วชี้บอกว่ามีรอยย่างก้าว ๔ รอย เป็นรอยนิ้วเท้าเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ที่นักโบราณคดี นักธรณี วิทยา รวมทั้งสื่อมวลชน ได้มาทำสารคดีกันแล้ว ถ้ายังเห็นเป็นน้ำเซาะตามธรรมชาติ คงจะเสียสติไปแล้วนะ เพราะแต่ละรอยขนาดเท่ากันทั้งเบื้องขวาและซ้าย คือ กว้างประมาณ ๑๔ ซ.ม. ยาว ๔๔ ซ.ม.

นับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนธรรมดาทั่วไป เพราะลานหินกว้างใหญ่ แต่ทำไมรอยเท้าจึงปรากฏเพียงแค่ ๔ รอยเท่านั้น อยู่กลางลานหิน ทั้งๆ ที่ยังมีพื้นหินพอที่จะเดินอีกไกล จึงมีปัญหาว่าแล้วจุดเริ่มต้นเดินละมาจากไหน และไปสิ้นสุดกันตรงไหน


นี่เป็นปริศนาของเราที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นภูตผีปีศาจละ หากมาเดินแบบนี้โดยไม่เห็นตัว คงจะวิ่งหนีกันแน่ ถ้ายังงั้นบุคคลใดกันแน่ ที่สามารถจะเดินให้เห็นรอยก็ได้ ไม่ให้เห็นรอยก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าตามความเชื่อของคนไทย คงจะพูดเหมือนกันว่า หากเป็นรอยพระพุทธบาทจริง ต้องมีรอยธรรมจักรกลางฝ่าพระบาท

แต่ที่นี่ได้สำรวจตรวจดูแล้ว เห็นรอยเท้าและนิ้วเท้าชัดเจน แต่ไม่เห็นมีอะไรตรงกลางเท้าเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยของใครกันแน่ นับว่าเป็นปริศนาของคนที่เชื่อ และเป็นที่สงสัยของคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อ

แล้วมีคำถามต่อมาว่า ผู้เขียนละเข้าใจว่าเป็นรอยของใคร แต่ถ้าจะย้อนถามผู้อ่านบ้างละ ว่าได้ไปอ่านหนังสือรวมเล่ม ๑ - ๓ ที่ผ่านมาแล้วหรือยัง เพราะในรูปภาพทั้งหมดนั้น จะเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจได้ว่าเป็นของผู้ใดกันแน่

แต่คิดว่าคนโบราณ ถ้าเป็นคนธรรมดา คงเหยียบหินให้เป็นรอยไม่ได้ นอกจากผู้ที่มีบุญญาธิการเท่านั้น แล้วเดินมาตั้งไกลสามารถเหยียบให้เห็นเพียงแค่ ๔ รอย นี่ก็แปลก เอาละ...จะแปลกยังไงก็ยังมีข้อมูลอีกนิด

คือก่อนที่จะกลับมีผู้รับเหมาสร้างถนน เส้นนี้เข้ามาคุยด้วยบอกว่า ตนเองได้ยินชาวบ้านเล่าว่า เคยมีพระภิกษุนำญาติโยมมาขอหวยที่นี่ ในขณะที่นั่งทำพิธีกันอยู่นั้น แต่ละคนก็แสดงอาการเหมือนกับว่ายน้ำ ผู้เขียนได้ยินเล่าดังนั้น จึงบอกว่าโบราณเขาเรียกว่า “ว่ายบก” โดยเฉพาะพวกนิยมลอบไปขุดขโมยของโบราณที่ มักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระแสน้ำพัดไป

อานุภาพ "พระพุทธรูปยืน" สมัยโบราณ ๒ องค์


ตอนนี้ขอเดินทางต่อไป เพื่อจะไหว้พระพุทธรูปยืนสำคัญที่ วัดพุทธมงคล บ้านสระ ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม รถเข้ามาจอดภายในวัดแล้ว จึงเดินเข้าไปพบป้ายบอกว่า เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง ๔ เมตร ศิลปะทวาราวดี สลักจากหินทรายสีแดง เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม

มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับ "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" วัดสุวรรณาวาส ตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปทั้งสององค์ สร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อครั้งที่อำเภอกันทรวิชัยเกิดฝนแล้ง ผู้ชายได้สร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ส่วนผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ทำการฉลองอย่างมโหฬาร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล

นี่เป็นข้อความที่บอกไว้ ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน มิได้อยู่ในวิหารเหมือนที่อื่นๆ แต่กลับยืนอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ คือถูกฝังจมอยู่ที่โคนโพธิ์ หมายถึงองค์พระมีอยู่ก่อน ภายหลังต้นโพธิ์ขึ้นมาโอบล้อมไว้นั่นเอง ต้นโพธิ์ก็ใหญ่โตมาก แสดงถึงกาลเวลาผ่านไปนานแล้ว

เมื่อได้ถวายผ้าห่มและร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาสแล้ว จึงเดินทางไปที่พระพุทธรูปยืนอีกองค์หนึ่ง คือ พระพุทธมิ่งเมือง ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณกิโลเมตรเศษ ในระหว่างที่รถจะเลี้ยวเข้ามาใน วัดสุวรรณาวาส ปรากฏมีละอองฝนปรอยลงมาที่กระจกหน้ารถทีละหยด ๓ หยด ทั้งที่ไม่มีเค้าว่าฝนจะตก พอเข้ามาถึงมณฑป พระพุทธมิ่งเมือง ฝนก็โปรยลงมาอีกนิดหน่อย (ตามภาพอาจจะเห็นเม็ดฝนไม่ชัด แต่ถ้าขยายภาพจะเห็นได้ชัดเจน)


วัดนี้พระสายท่านอาจารย์หนุน ชื่อว่า ท่านสุรชัย นาถปุญโญ วัดป่าอนุรักษ์ ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย เป็นผู้เล่าประวัติพระพุทธรูปยืนทั้งสององค์ให้ฟังว่า ตามหลักฐานยืนยันได้จากใบเสมาที่ฝั่งอยู่ใกล้พระ จารึกเป็นอักษรขอมว่า “สร้างปี ฮวยสะง่า (ปีระกา) พุทธศักราช ๑๓๙๙”

ปัจจุบันยังมีตัวอักษรปรากฏอยู่ที่ใบเสมา แต่ก็เลอะเลือนมากแล้ว ตามคำบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า ที่เดิมแถบนี้ขอมได้ครอบครองมาก่อน ต่อมาทางนครเวียงจันทน์มีอำนาจครอบครองจากขอม มีเจ้าเมืองปกครองอิสระ เรียกกันว่า เมืองกันทาง หรือ เมืองคันธาธิราช

ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่ง หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ได้กล่าวไว้ว่า เมืองคันธาธิราชตั้งขึ้นเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๔๗ (ปี พ.ศ. ๑๓๒๘) เมืองนี้ตั้งอยู่นานนับพันปี จนถึงผู้ครองเมืองคนสุดท้าย มีนามว่า ท้าวลินจง มีมเหสีชื่อว่า บัวคำ ต่อมามีโอรสคนหนึ่งชื่อว่า ท้าวลินทอง

พระโอรสองค์นี้มีนิสัยดุร้าย ต่อมาได้ข่าวว่าพระบิดาจะไม่ให้ตนขึ้นครองเมืองต่อ จึงจับขังทรมานด้วยวิธีการต่างๆ จนพระบิดาสิ้นพระชนม์ แต่ก่อนที่จะสิ้นใจไปพระองค์ได้สาปแช่งไว้ และพระมารดาก็ได้ต่อว่า ท้าวลินทองไม่พอใจ จึงสั่งฆ่าพระมารดาอีกคนหนึ่ง

หลังจากท้าวลินจงกับพระนางบัวคำสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวลินทองก็ได้ปกครองเมือง คันธาธิราชสืบมา แต่ประชาราษฎร์ได้รับแต่ความเดือดร้อน โทรหลวงจึงแนะนำว่า พระ องค์ได้ทำบาปทำกรรมมหันตโทษ และเป็นผลจากการอธิษฐานจิตของพระบิดาที่ได้สาปแช่งเอาไว้ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจ ควรที่จะสร้างพระพุทธรูป เพื่อทดแทนบาปกรรมที่กระทำไว้


ดังนั้นท้าวลินทองจึงได้สร้างพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ ขึ้นไว้เพื่อทดแทนคุณบิดาและ มารดา พระพุทธรูปยืนที่ วัดบ้านสระ สร้างเพื่ออุทิศให้พระบิดา มีชื่อว่า พระพุทธมงคล ส่วนพระพุทธรูปยืน วัดสุวรรณาวาส สร้างอุทิศเพื่อพระมารดา ชื่อว่า พระพุทธมิ่งเมือง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า คงจะเล่าไว้เพียงแค่นี้ จึงได้เข้าไปบูชาสักการะด้วยผ้าห่ม แล้วพบป้ายคำจารึกข้างองค์พระว่า
“เดิมพระพุทธรูปองค์นี้จมอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน ต่อมานายอำเภอและเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการ พ่อค้าประชาชนทั้งหลาย ร่วมกันสร้างพระมณฑป แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๓”

◄ll กลับสู่ด้านบน

((( โปรดติดตามตอนที่ 2 วันที่ 9 เม.ย. 2551 คลิกที่นี่ )))




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2040
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved