|
|
|
posted on 21/2/14 at 17:23 |
|
เล่าเรื่องการเดินทางไป "ภาคเหนือ" วันที่ 7-13 มกราคม 2557
เล่าเรื่องการเดินทางไป "ภาคเหนือ"
วันที่ 7 - 13 มกราคม 2557
๗ มกราคม ๒๕๕๗ (อุทัยธานี - กำแพงเพชร - ลำพูน)
๑. วัดศรีบุญส่ง หมู่ ๗ ต.หนองทอง อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร
......การเดินทางไปภาคเหนือในครั้งนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ อชิโต มีเป้าหมายที่จะไปร่วมงานฉลองการบูรณะ "พระเจดีย์องค์เล็ก" ๔ ทิศของ "พระธาตุจอมกิตติ"
และจะไปไหว้ "พระธาตุดอยตุง" ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗ แต่หลวงพี่มีกำหนดการที่จะออกเดินทางไปล่วงหน้าก่อนงาน
เนื่องจากมีภารกิจที่จะไปค้นหารอยพระพุทธบาทใหม่ที่ บ้านเมืองน้อย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ตามข้อมูลที่ครูบาแก้ว ประเทศพม่า ได้แจ้งหลวงพี่ไว้ ๒-๓ ปีแล้ว
เช้าวันนี้จึงเริ่มออกเดินทางจากวัดท่าซุงในตอนเช้ามืด ประมาณตีห้า ของวันที่ ๗ มกราคม ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่ได้พบบุญใหญ่
ประเดิมเสริมบุญบารมีในวันแรกของการเดินทาง ด้วยการพบอุปสรรคก่อน คือมีการปิดถนนของชาวนาระหว่างเส้นทางพิจิตร - พิษณุโลก หลวงพี่จำต้องเลี้ยวไปทางซ้ายมือ
แต่ว่าขณะที่เลี้ยวไปตามถนนสายพิจิตร - กำแพงเพชรนั้น ท่านได้มองเห็นป้ายสร้างพระใหญ่ จึงได้เลี้ยวเข้าไปทำบุญประเภทเจอบุญใหญ่โดยบังเอิญจริงๆ
เมื่อเข้าไปถึงก็ทำให้รู้สึกคุ้นๆ กับพระพุทธรูปที่กำลังสร้าง ครั้นได้พบกับพระหัวหน้างาน ซึ่งท่านมาจาก วัดสระพัง จ.นครปฐม
จึงได้ทราบว่าเป็นคณะเดียวกับที่ไปสร้างที่ วัดถ้ำใหญ่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งพวกเราเคยไปร่วมทำบุญเมื่อปลายปีที่แล้ว (ไปเวียนเทียนที่พระใหญ่
จ.ชุมพร และไปที่เกาะแก้วพิศดาร จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย. ๒๕๕๖)
พวกเราจึงได้สอบถามการสร้างพระองค์ต่อไปว่า ท่านจะไปสร้างที่ไหนอีก ท่านจึงให้แผ่นกระดาษตามที่เห็นอยู่นี้ พวกเราจึงได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพไว้ทันที
โดยตั้งใจว่าจะตามไปสร้างพระพุทธรูปองค์ต่อไปที่ อ.พาน จ.เชียงราย หลังจากนั้นจึงได้ถวายเงินทำบุญสร้างพระหน้าตัก ๑๑ เมตร สูง ๑๕ เมตร จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท
และถวายพระภิกษุที่ทำงานรวม ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
๒. วัดสันป่าเหียง ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน
ขณะเดินทางจากกำแพงเพชร - ตาก - ลำพูน ไปตามถนนสายเอเซียนั้น ระหว่างทางได้เข้าไปร่วมทำบุญสร้างพระใหญ่ ซึ่งเป็นแบบพิมพ์องค์เดียวกันกับที่กำแพงเพชร
จำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ก่อนที่่สร้างเสร็จแล้ว จากนั้นท่านจึงได้ไปสร้างที่วัดศรีบุญส่ง เรียกว่าพวกเราตามไปย้อนทำบุญ
"สร้างพระใหญ่" ให้ครบทุกองค์นั่นเอง
๘ มกราคม ๒๕๕๗ (ลำพูน -เชียงใหม่ - ปาย)
๓. วัดสันคอกช้าง ต.แม่ก๋า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
การเดินทางไปภาคเหนือ วันนี้นับเป็นวันที่สองของการเดินทาง ขณะที่จะเดินทางไปสันป่าตอง เพื่อไปแม่ริมสู่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
โดยมีเป้าหมายที่จะไปสืบหารอยพระพุทธบาท ระหว่างทางได้แวะเข้าไปกราบนมัสการ พระเจ้าตนหลวง
พระเจ้าตนหลวง หรือ พระพุทธสันติปารังกรศรีพิงนตร (ชื่อพระราชทาน) หน้าตักกว้าง ๑๘ เมตร สูง ๒๘ เมตร ยอดฉัตรบรรจุพระบรมธาตุ ๗๒ องค์
ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระเจ้าตนหลวง
ภายในวัดยังมีบ่อน้ำทิพย์อีกด้วย หลวงพี่จึงได้นำน้ำในบ่อน้ำทิตย์ไปด้วย เพื่อผสมกับน้ำทิพย์เดิมที่แจกให้คนที่บูชาหนังสือตามรอย (เล่มเล็ก)
ต่อจากนั้นท่านได้แวะเยี่ยมกัปตันแมว และคุณนกกระจิบที่ "หมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์" แต่ปรากฏว่าคุณนกกระจิบไม่อยู่ไปกรุงเทพฯ
หลังจากฉันเพลที่ร้านอาหารแถวนั้นแล้ว จึงออกเดินทางต่อไป โดยเข้าทางแม่มาลัยขึ้นเขาไปหลายลูก เดินทางช่วงนี้ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง
๔. พระธาตุแม่เย็น ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
จนกระทั่งเห็นป้ายทางไป "พระธาตุแม่เย็นนี้" ซึ่งหลวงพี่ได้เคยลงไว้ในบัญชีหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" นานแล้ว แต่ท่านยังไม่เคยไปสักครั้ง
การเดินทางวันนี้ท่านจึงได้เข้าไปกราบนมัสการองค์พระธาตุ ห่มผ้าพระเจดีย์ ประพรมน้ำหอมและปิดทอง
จากนั้นจึงได้เข้าไปทำบุญกับเจ้าอาวาส เพื่อร่วมสร้างพระพุทธรูปและบูรณะพระธาตุ จำนวนเงิน ๒,๕๕๗ บาท
ขณะเดียวกันก็ได้พบกับชาวบ้านคนหนึ่งโดยบังเอิญ ซึ่งเขากำลังนำนักท่องเที่ยวมาถึงที่นี่พอดี หลวงพี่ได้สอบถามทางไปรอยพระพุทธบาท บ้านเมืองน้อย
เขาบอกว่าอยู่ในเขตกะเหรี่ยงเป็นทางลูกรังตลอด ต้องใช้รถปิ๊กอัพเดินทางเข้าไป เขารับปากว่าจะหารถเช่าให้ไปในวันพรุ่งนี้อีกด้วย
จึงเป็นอันว่าโชคดีที่ได้มาพระธาตุแม่เย็น ทำให้พบกับคนที่จะนำทางไปสู่รอยพระพุทธบาท ตามเป้าหมายที่หลวงพี่เตรียมไว้ทุกอย่าง พวกเราจึงพากันโล่งใจไปด้วย
๕. วัดศรีดอนชัย ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
วัดศรีดอนชัยแห่งนี้หลวงพี่ยังไม่เคยไป เพราะไม่รู้ความสำคัญ ปรากฏว่าเป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอปาย ซึ่งบริเวณนี้เป็นเขตเมืองเดิม ยังมีซากกำแพงเมืองล้อมรอบ
วัดนี้จึงมีพระพุทธรูปสมัยล้านนา เก่าแก่อายุประมาณ ๗๐๐ ปี พวกเราจึงได้เข้าไปกราบไหว้และร่วมทำบุญเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท
การเดินทางไปอำเภอปายครั้งนี้ หลวงพี่บอกว่าแปลกตาไปมาก ถ้านับถอยหลังไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ปายเป็นเมืองที่เงียบสงบอยู่ภายในภูเขาที่โอบล้อมเกือบทุกด้าน
แต่ปัจจุบันนี้ปายได้เปลี่ยนไปมาก ไปทางไหนก็เจอแต่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติมีมากมาย บ้างก็เดินไปมา บ้างก็ขับรถมอเตอร์ไซด์เต็มไปหมด
๖. วัดพระพุทธบาทเวียงเหนือ ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
ความจริงสถานที่แห่งนี้ พวกเราคิดว่าจะไม่ได้ไปซะแล้ว ขับรถไปกะว่าจะกลับเข้าที่พักในตัวเมืองปาย แต่บังเอิญเห็นป้าย "วัดพระพุทธบาทเวียงเหนือ"
พวกเราถึงกับร้องออกมาด้วยความดีใจ เพราะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ คุณสุรศักดิ์ได้ส่งรูปผ่าน Line มาให้ดูกันแล้ว นึกไม่ถึงจริงๆ ว่าจะได้มากราบไหว้ทันเวลาพอดี
เพราะว่าขณะนั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ทางวัดกำลังปิดประตูพระวิหาร พวกเรารีบเข้าไปกราบเรียนเจ้าอาวาสทันที จากนั้นรีบเข้าไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาท
พร้อมทั้งถวายผ้าตุงที่มีรูปรอยพระพุทธบาท โดยคุณหนูเล็ก (แฟนคุณเล็ก) เย็บปักถักร้อยด้วยมือฝากมาถวายด้วย พร้อมกับทำบุญใส่ตู้รวมกัน ๕๐๐ บาท
๙ มกราคม ๒๕๕๗ (ตลาดปาย - บ้านเมืองน้อย)
๗. วัดพระธาตุเมืองน้อย บ.เมืองน้อย ต.เวียงชัย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (พบใหม่)
กำหนดการเดินทางไปไหว้รอยพระพุทธบาท บ้านเมืองน้อย จะต้องเช่ารถปิ๊กอัพและเตรียมอาหารกลางวันไปด้วย เมื่อรถที่เช่าไว้ได้มาถึงแล้ว
พวกเราเตรียมเครื่องบูชาขึ้นรถ พร้อมกับเข้าไปซื้ออาหารกลางวันในตลาด จากนั้นเดินทางไปตามถนนลูกรังสู่บ้านเมืองน้อยต่อไป
รถปิ๊กอัพได้ขับขึ้นเขาหลายลูก ประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่าก็ถึงสามแยก มีป้ายบอกระยะทางไว้ พวกเราจึงลงมาเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเล็กน้อย แล้วถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก
คนขับรถแนะนำให้ไปสืบถามที่วัดบ้านเมืองน้อย จึงขับรถเข้าไปแต่ยังไม่ทันที่จะเข้าไปในหมู่บ้าน พวกเราเห็นป้ายอยู่ข้างทาง
จึงได้จอดแวะเพื่อเข้าไปอ่านข้อความที่เขียนไว้ แต่น่าเสียดายที่ภาพเล็กเกินไป อาจจะอ่านข้อความไม่ชัดเจน แต่ได้เข้าไปค้นในเว็บไซด์ asiatips.wordpress.com
มีข้อความดังนี้ -
ชุมชนโบราณเมืองน้อย ปาย แม่อ่องสอน
........ชุมชนโบราณเมืองน้อยเป็นชุมชนที่พบหลักฐานทางด้านโบราณคดี หลักฐานตำนาน
และศิลาจารึกที่สะท้อนให้เห็นว่าเมืองน้อยเป็นเมืองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ ตำแหน่งละติจูดที่ 19 องศา 30 ลิปดา
58 พิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 30 ลิปดา 50 พิลิปดาตะวันออก ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร จากอำเภอปายไปทางทิศเหนือ เมื่อสองร้อยปีเศษมานี้
เมืองน้อยมีสภาพเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันได้มีชนเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เข้าไปจับจองอาศัยตั้งบ้านเรือนที่บ้านเมืองน้อย โดยมีชื่อใหม่หลายหมู่บ้าน คือ
บ้านหัวฝาย บ้านห้วยงู บ้ายห้วยเฮี้ย บ้านห้วยหก บ้านกิ่วหน่อ และบ้านมะเขือคัน
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวเมืองน้อยว่า ในรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช (พระญาติโลกราชะ) ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 1984-2030
พระองค์มีโอรสชื่อท้าวบุญเรืองหรือศรีบุญเรืองครองเมืองเชียงราย ต่อมาถูกแม่ท้าวหอมุกกล่าวโทษ จึงให้ท้าวบุญเรืองไปครองเมืองน้อย ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย[1]
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้ว โอรสของท้าวบุญเรือง ชื่อ พญายอดเชียงราย (พระยายอดเชียงราย) ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่
ปกครองได้ไม่นานถูกกล่าวหาว่า พระองค์ราชาภิเษกวันจันทร์ ถือว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ไม่ประพฤติอยู่ในขนบธรรมเนียมของท้าวพระญา
ไม่ประพฤติอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังมีใจฝักใฝ่ไมตรีกับฮ่อ เสนาอำมาตย์จึงได้ล้มราชบัลลังก์และได้อัญเชิญให้ไปครองเมืองน้อย ในปี พ.ศ. 2038
พญายอดเชียงรายประทับอยู่เมืองน้อยได้ 10 ปี ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2048 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา พญาเมืองแก้ว
(กษัตริย์เมืองเชียงใหม่และราชโอรสของพญายอดเชียงราย) ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระศพของพญายอดเชียงรายที่เมืองน้อย และสร้างอุโบสถครอบ
ครั้นพญาเมืองแก้วเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2068 เสนาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระอนุชาจากเมืองน้อยให้มาครองราชย์เชียงใหม่และราชาภิเษกเป็นพระเมืองเกษเกล้า
(พระญาเมืองเกส) ในปี พ.ศ. 2069
พระองค์ครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2081 (พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์เมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068-2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088)
เสนาอำมาตย์ไม่ชอบใจได้ปลดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ และอัญเชิญท้าวซายคำราชโอรสให้ครองราชย์แทนในปี พ.ศ. 2081 ท้าวซายคำประพฤติตนไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม
เสนาอำมาตย์ได้ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2086 และได้อัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าจากเมืองน้อยมาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2
บ้านเมืองน้อยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเจดีย์หลวง
เมื่อพวกเราได้ทราบประวัติความเป็นมาที่สำคัญเช่นนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือแต่ซากปรักหักพังไปแล้ว
จึงได้จอดรถแล้วขึ้นไปบนสำนักสงฆ์ ปรากฏว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ ที่หลวงพี่ขึ้นไปพบกับพระภิกษุสายอิสาน มีท่านอาจารย์นิยม เป็นต้น
ซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อน พระมีประมาณ ๔ - ๕ รูป ท่านก็เข้ามากราบนมัสการดีใจที่ได้พบหลวงพี่ จากนั้นได้สนทนากันถึงความเป็นมาว่ามาที่นี่ได้อย่างไร
ท่านบอกว่ามีผู้มาสร้างพระพุทธรูป (ตามภาพข้างบน) ไว้ในสำนักสงฆ์แห่งนี้ แต่องค์พระชำรุดทรุดโทรม ท่านจึงได้ซื้อสี - ปูนกันเอง
แล้วเข้ามาซ่อมแซมกันด้วยความศรัทธา
๘. รอยพระพุทธบาท บ้านเมืองน้อย ต.เวียงชัย อ.ปาย จ. แม่ฮ่องสอน (พบใหม่)
ต่อมาเมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินว่า หลวงพี่ต้องการมากราบไหว้รอยพระพุทธบาท ท่านจึงได้ชี้มือไปข้างหน้า บอกว่ารอยพระพุทธบาทอยู่บนภูเขาลูกนี้เอง
พวกเราถึงกับตื่นเต้นและดีใจ
ความมุ่งหมายเดิมที่จะเข้าไปสืบหาในหมู่บ้าน ตกลงไม่ต้องเข้าไปให้เสียเวลาแล้ว เพราะว่าพระท่านรับอาสาจะนำทางไปเอง ช่วงนี้เป็นเวลา ๙ โมงกว่าๆ แล้ว
ยังพอมีเวลาที่จะเดินขึ้นไป
เมื่อตกลงวางแผนกันเสร็จแล้ว จากนั้นพวกเราช่วยกันขนเครื่องบูชาลงจากรถ หลวงพี่สั่งให้เตรียมหิ้วอาหารเพลไปด้วย มีชาวบ้านช่วยนำทางไปสมทบอีก ๒-๓ คน
พระภิกษุรวมแล้วประมาณ ๔-๕ รูป ที่จะติดตามไปด้วย โดยไม่มีการนัดหมายมาก่อน นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ
การเดินทางด้วยเท้าจะต้องย้อนกลับไปประมาณกิโลเมตรเศษ แล้วจึงจะเดินขึ้นเขาด้านขวามือ ถ้ามองไปไกลๆ ก็ถือว่า "ดอยพระพุทธบาท" ยังไม่สูงมากนัก
แต่เมื่อเดินขึ้นไปก็เอาเรื่องเหมือนกัน ร่างกายเริ่มอบอุ่นขึ้น พอที่จะขับไล่ความหนาวเย็นออกไปได้บ้าง
ทั้งที่เมื่อคืนพักที่ในตัวเมืองปายอากาศหนาวเย็นพอสมควร อุณหภูมิประมาณ ๑๐ กว่าองศา
ความจริงในเขตอำเภอเมืองปาย หลวงพี่เคยเดินทางมาหลายครั้งแล้ว เพราะมีรอยพระพุทธบาทประมาณ ๓ แห่ง คือ รอยพระพุทธบาทเมืองแปง, รอยพระพุทธบาทเวียงเหนือ และ
รอยพระพุทธบาทบ้านป่ายางมูเซอ
เป็นอันว่า รอยพระพุทธบาทบ้านเมืองน้อย ก็เป็นแห่งที่ ๔ เท่าที่ได้สำรวจผ่านมาแล้ว นับว่าเป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง
อีกทั้งยังมีพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญอีกหลายแห่ง พร้อมทั้ง "พระพุทธรูปอุ่นเมือง" ณ วัดน้ำฮู ที่มีน้ำอยู่ในพระเศียรอีกด้วย
ขณะนี้รอยพระพุทธบาทก็ยังพบใหม่อยู่เรื่อยๆ ทั้งที่หลวงพี่ได้พิมพ์หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่มเล็กๆ แต่ก็ยังพบอยู่ตลอดเวลา
คิดว่าคงจะยังไม่หมดแน่นอน หลวงพี่ก็พยายามติดตามไปเรื่อยๆ เท่าที่่จะมีโอกาสเหมาะสม
พวกเราจึงนับว่าโชคดีที่ท่านยังไม่เลิกละพยายาม ทั้งๆ ที่ท่านก็มีอายุ ๖๕ ปีแล้ว บางครั้งก็ต้องหกล้มหัวเข่าถลอกปอกเปิก แต่ท่านก็เมตตาพาพวกเราไปหลายแห่ง
พวกเราจึงตั้งชื่อคณะใหม่ว่า "ตามรอยพระพุทธบาทเล็กๆ" แต่ท่านก็ไม่สามารถชักชวนมาได้ทุกคน ด้วยความยากลำบากเช่นนี้
ท่านจึงจำเป็นต้องมาก่อนล่วงหน้าแค่ไม่กี่คน
เมื่อปลายปีที่แล้วท่านก็ได้นำไปทางใต้ ต้นปีนี้ก็ไปภาคเหนือ เดือนกุมภาพันธ์ท่านก็นำไปภาคอีสาน ซึ่งจะพยายามนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
ตอนนี้ก็เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เพื่อให้เพลินกับการขึ้นเขา ตอนนี้ก็เริ่มหายใจแรงขึ้นอีกแล้ว
ทางขึ้นเขายังเป็นทางธรรมชาติ โชคดีที่ต้นไม้ไม่รกเกินไป ยังพอเดินไปได้สบายๆ แต่คุณลุงที่นำทางก็ช่วยเอามีดตัดกิ่งไม้ตลอดทาง
ทำให้พวกเราเดินตามหลังไปไม่ลำบากมากนัก
เดินขึ้นไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงยอดเขา มองเห็นเสาธงที่ปักไว้เดิม หลวงพี่บอกให้ช่วยกันเปลี่ยนเป็นผ้าสีทอง
พร้อมกันนั้นท่านก็ทำพิธีบวงสรวงเสียงทายวัดไม้วา ปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริงๆ เพราะรอยมีสภาพเสื่อมโทรมไปมากแล้ว แต่ก็ยังเห็นร่องรอยพอสมควร
ต่อจากนั้นหลวงพี่ได้นิมนต์ให้พระภิกษุสวดมนต์บท "อิติปิโส พาหุง" เพื่อเป็นการฉลองรอยพระพุทธบาท หลังจากนั้นท่านได้ถวายปัจจัยองค์ละ ๕๐๐ บาท
พร้อมกับร่วมทำบุญซ่อมพระพุทธรูป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙,๐๐๐ บาท
เสร็จพิธีกันแล้ว หลวงพี่จึงฉันเพลบริเวณนั้น แล้วเดินทางกลับลงมาในเวลาบ่ายๆ พร้อมทั้งโมทนาพระภิกษุทั้งหลายที่ได้ช่วยนำทาง
ซึ่งหลวงพี่ได้นิมนต์ให้ไปร่วมพิธีทำบุญอายุในปีหน้าที่พระธาตุพนม จ.นครพนม วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ เวลา ๑๗.๐๐ น.
หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับจากอำเภอปายไปตามถนนสายเชียงดาว - ฝาง - ท่าตอน ต่อไป เพราะถนนเส้นนี้หลวงพี่บอกว่าไม่ได้ไปหลายปีแล้ว สภาพถนนก็ดีกว่าเก่า
๑๐ มกราคม ๒๕๕๗ (ปาย - เชียงราย)
๙. วัดพระธาตุปู่ก่ำ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
วันนี้เป็นวันที่สามของการเดินทาง ในขณะที่ผ่านเชียงดาวได้เห็นป้ายสร้างร่วมพระพุทธรูป พวกเราจึงได้ขับรถเลี้ยวเข้าไปทาง "เมืองงาย" ทันที
แต่ว่าพระธาตุอยู่บนภูเขา จะต้องขับรถขึ้นไปข้างบน ได้พบกับพระที่เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมสมทบทุนสร้าง "พระพุทธยันตีศรีเมืองงาย" จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท
จากนั้นได้นำผ้าห่มสไบทองขึ้นไปห่มรอบองค์พระธาตุ
หลวงพี่ได้ถ่ายรูปกับพระที่เป็นเจ้าอาวาส ด้านหน้าฐานองค์พระที่กำลังสร้างอยู่ จากนั้นท่านก็ได้สรงน้ำ โปรยดอกไม้ และปิดทอง
เป็นการบูชาองค์พระธาตุจนครบถ้วน แล้วจึงออกเดินทางต่อไป ซึ่งจะนำไปเล่าในโอกาสต่อไป หวังว่าผู้อ่านคงได้ร่วมอนุโมทนาเช่นเคย เพราะหลวงพี่บอกว่ามีคนใส่ย่าม
แล้วก็ฝากเงินไปทำบุญกับท่านทุกครั้ง บางคนก็โอนเข้าบัญชีธนาคาร หลวงพี่ฝากบอกว่าขอให้อนุโมทนาทุกแห่ง ทั้งที่ทำไปแล้วก็ดี
หรือที่ท่านจะทำต่อไปก็ดีนะค่ะ..สวัสดีค่ะ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 24/2/14 at 18:54 |
|
(Update 5 มีนาคม 2557)
๑๐. วัดปัจจคนานุสรณ์ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่
......เมื่อตอนที่แล้วผู้เขียนได้เล่าเรื่องการเดินทางไปภาคเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะไปเชียงราย ปีนี้หลวงพี่ชัยวัฒน์บอกว่าไม่ได้เดินทางเส้นนี้มานานแล้ว
ท่านจึงให้ขับรถไปค้นหารอยพระพุทธบาทก่อนที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นก็ย้อนกลับออกมาตามถนนสายแม่ริม - เชียงดาว - ฝาง- ท่าตอน เพื่อตัดไปที่ อ.แม่จัน
จ.เชียงราย
วันนี้เป็นวันที่สามของการเดินทาง ระหว่างเชียงดาว - แม่อาย เห็นว่าวัดนี้กำลังสร้างพระเจดีย์ใกล้เสร็จแล้ว จึงได้ขับรถเข้าไปร่วมทำบุญสร้างพระเจดีย์
เป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท หลังจากได้มอบเงินให้กับคณะกรรมการวัดแล้ว จึงถ่ายรูปบริเวณวัดร่วมกันแล้วออกเดินทางต่อไป
๑๑. พระธาตุปูแช่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
วัดแห่งนี้มีพระธาตุเก่าแก่นับพันปี เป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับ วัดพระธาตุสบฝาง เป็นวัดที่มีพระธาตุเก่าแก่ ซึ่งเป็นที่ เคารพ
สักการะที่สำคัญขอชาวอำเภอแม่อาย ซึ่งจะมีประเพณีสรงน้ำและบูชาพระธาตุ เป็นประจำปีของทุกวันวิสาขบูชา
พระธาตุปูแช่มีอยู่ในบัญชี "พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง" ของหนังสือตามรอยพระพุทธบาทแล้ว หลวงพี่ก็เคยมานานแล้วเช่นกัน เมื่อรถวิ่งผ่านเห็นป้ายอยู่ข้างถนน
ท่านจึงบอกให้ขับรถเข้าไป เพื่อพวกเราที่ยังไม่เคยได้กราบไหว้กัน จึงได้เข้าไปกราบพระบรมธาตุ ประพรมน้ำหอมและปิดทอง ทำบุญ ๓๐๐ บาท
๑๒. วัดท่าตอน (พระอารามหลวง) ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
พระเจดีย์แก้ว (สร้างใหม่)
พวกเราได้ขับรถมาถึงท่าตอน เมื่อพบทางเข้าวัดแล้ว หลวงพี่บอกว่าให้ขับขึ้นไปบนเขา เพราะทางวัดได้สร้างพระเจดีย์และพระอุโบสถไว้ข้างบน
สมัยก่อนหลวงพี่เคยมาค้างคืนที่นี่ และได้กราบไหว้พระธาตุองค์เก่า (อยู่ข้างล่าง) ตามข้อมูลในหนังสือประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกไว้ว่า
ท่านได้เคยมาบูรณะพระธาตุแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้หลวงพี่จึงได้นำพระธาตุวัดท่าตอนเข้าไว้ในบัญชีหนังสือตามรอยพระพุทธบาท
แต่ปัจจุบันนี้มีการสร้่างพระเจดีย์องค์ใหม่บนเขา ทำให้คนที่มาเที่ยวไม่รู้ประวัติความเป็นมา ส่วนใหญ่จะขับรถผ่านไปทั้งนั้น ส่วนประวัติของวัดนี้เล่าว่า
วัดท่าตอนเดิมเคยเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี มีพระเจดีย์เก่าองค์หนึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด จากการสำรวจโบราณวัตถุภายในวัดของกรมศิลปากรพบว่า
พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณ ๘ องค์ ที่ประดิษฐานในศาลาการเปรียญของวัด เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน-ฝาง มีพุทธศิลป์งดงามและมีคุณค่า มีอายุประมาณ ๙๐๐-๑,๐๐๐
ปี
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า วัดท่าตอนสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๘๓ (สมัยเดียวกันที่พระเจ้าพรหมมหาราชสร้างวัดพระธาตุสบฝาง) พ.ศ.๒๔๗๔ ครูบาแก้ว กาวิชโย
และครูบาป่า วัดน้ำบ่อหลวง ได้มาจำพรรษาและบูรณะก่อสร้าง พ.ศ. ๒๔๘๑ ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ได้มาบูรณะใหม่และตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดจอมคีรีปังขอก
แต่ด้วยความที่ยังติดกับชื่อเดิมชาวบ้านก็ยังเรียกชื่อ "วัดท่าตอน" มาจนถึงบัดนี้
พระธาตุ (องค์เก่าชื่อว่า "พระธาตุจอมคีรีศรีเป็งขอก")
จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ ในยุคสมัยที่บ้านท่าตอนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ละท่านเห็นภาพแสงรังษีปาฏิหาริย์อย่างนี้ ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ วันแรม ๑๕
ค่ำ วันแรม ๑๔ ค่ำ โดยเฉพาะคุณตา คุณยาย พ่อและแม่ของผู้ดูแลเว็บฯ ก็เคยเห็นภาพปาฏิหาริย์ของ "พระธาตุจอมครีศรีเป็งขอก" ลักษณะนี้เป็นประจำ
แสงรังษีที่ออกจากองค์พระเจดีย์ฯ จะลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วลอยไปที่ "พระธาตุสบฝาง" ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของของวัดท่าตอน
พอเดินทางไปถึงพระธาตุสบฝาง แสงรังษีก็จะหายเข้าไปในเจดีย์ฯ ประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็จะปรากฏแสงรังษีลอยออกจากพระธาตุสบฝาง แล้วลอยกลับมายัง
"องค์พระธาตุจอมคีรีศรีเป็งขอก" แล้วก็หายเข้าไปในองค์พระธาตุ
และเช่นเดียวกันแสงรังษีนี้ก็จะปรากฏออกจากพระธาตุสบฝาง ลอยเดินทางทางอากาศมาที่พระธาตุจอมคีรีศรีเป็งขอก แสงหายไปในองค์เจดีย์ประมาณหนึ่งชั่วโมง
ก็จะออกจากพระธาตุจอมคีรีศรีเป็งขอกเดินทางกลับไปยังเจดีย์วัดพระธาตุสบฝาง ( ชาวบ้านเรียกว่าแสงธาตุไป - มาแอ่วหากัน )
พระธาตุสองแห่งนี้มีระยะทางโดยประมาณ ๕ กิโลเมตร (ทางตรง) ชาวบ้านพูดกันว่าพระธาตุสบฝางกับพระเจดีย์วัดท่าตอนฯ เป็นเจดีย์พี่กับน้อง
โดยเรียกพระธาตุสบฝาง เป็นองค์พี่ พระเจดีย์ฯวัดท่าตอนเป็นพระเจดีย์องค์น้อง ( เจดีย์สองพี่ - น้อง ) ที่มา - www.watthaton.org
พวกเราได้เดินชมทิวทัศน์บนยอดเขาสูง เพราะตอนที่อยู่ข้างล่างก็มองเห็นพระเจดีย์บนเขา จึงได้ร่วมทำบุญชื้อหลังคากระเบื้องมุงพระอุโบสถ และร่วมบูรณะพระธาตุ
เป็นเงิน ๑,๓๐๐ บาท จากนั้นก็เดินทางลงมาจากยอดเขาเข้าสู่ถนนสายเดิม ระหว่างที่เดินทางอยู่นั้น
สายตาเหลือบไปเห็นพระธาตุแห่งหนึ่งกำลังขึ้นนั่งร้านอยู่บนเขา
(ขอบคุณภาพจาก thaitripdd.com)
พวกเราจึงเลี้ยวรถเข้าไปทันที ซึ่งอยู่ไกลจากถนนใหญ่พอสมควร เมื่อเห็นป้ายทางเข้าวัดบอกชื่อว่า "พระธาตุสบฝาง" หลวงพี่ถึงกับตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่ง
ท่านบอกว่าการเดินทางครั้งนี้อยากจะแวะกราบไหว้สถานที่แห่งนี้อยู่แล้ว แต่ท่านก็จำทางไม่ได้ เพราะไม่ได้มานานแล้ว
๑๓. พระธาตุสบฝาง ต.แม่วาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
พวกเราทุกคนก็ดีใจเพราะยังไม่ได้เข้าไปเลย จึงไม่รอช้ารีบขึ้นไปร่วมทำบุญทันที โชคดีที่ได้พบกับเจ้าอาวาสพอดี ได้ถวายเงินร่วมบูรณะพระเจดีย์ ๓,๐๐๐ บาท
โดยเฉพาะหลวงพี่เคยธุดงค์มาทางภาคเหนือเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ท่านเล่าว่าสมัยนั้นยังไม่ได้สร้างถนนสายแม่จัน - ท่าตอน
ท่านพร้อมกับหลวงพ่อโอได้เดินธุดงค์จากแม่จันมาถึงท่าตอน แล้วได้แวะพักที่วัดพระธาตุสบฝางแห่งนี้
(องค์พระธาตุเดิมทาสีขาว)
ตามประวัติเล่าว่า พระธาตุสบฝาง ตั้งอยู่บนดอยสบฝาง บนฝั่งแม่น้ำกก ของอำเภอแม่อาย ห่างจากบ้านท่าตอนไปทางทิศตะวันออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร
ก่อสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๙๒๓ นับเป็นเวลา ๑,๖๐๐ กว่าปีมาแล้ว โดย พระเจ้าพรหมมหาราช เจ้าเมืองไชยปราการ ที่ได้สร้างเจดีย์เอาไว้บนยอดเขาดอยสบฝาง
เพื่อบรรจุพระนลาฏธาตุของพระพุทธเจ้า(กระดูกในส่วนหน้าผาก) ที่แบ่งมาจากการบรรจุพระธาตุลงในพระธาตุจอมกิตติ ของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน
โดยสมัยก่อนพระเจ้าพรหมมหาราชได้รับมาจากพระยาเรือนแก้วซึ่งเป็นบิดา ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระเจ้าพังคราช
สมัยนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ได้เดินทางไปศึกษาธรรมะจากประเทศศรีลังกา และกลับเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในอนาจักรพม่า มอญ สุโขทัยและโยนกนคร
โดยได้การกลับมาได้นำพระบรมธาตุมาถวายพระเจ้าพังคราช
ต่อมาพระเจ้าพรหมหาราชได้ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปด้วยทองสัมฤทธิ์จำนวนมาก ซึ่งปัจุบันหลังจากในปี ๒๔๗๖ ได้เกิดไฟไหม้และกระจายไปเก็บไว้ยังวัดต่างๆ
ของอำเภอแม่อายอยู่หลายแห่ง ในปี ๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้รับรู้ถึงตำนานของพระธาตุสบฝางจึงได้เดินทางมาบูรณะพระธาตุสบฝาง ในปี ๒๕๓๒
พระครูวุฒิญาณพิศิษฎ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่อายได้ทำการบูรณะพระเจดีย์อีกครั้ง โดยใช้ปูนฉาบทับพระเจดีย์องค์เดิม
ทำให้พระธาตุสบฝางเกิดความสวยงามจนถึงทุกวันนี้ - ทีมา mae-ai.ac.th
๑๔. พระธาตุแสงรุ้ง บ้านแม่เมืองน้อย ต.แม่วาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ระหว่างทางก็ยังได้พบป้ายบอกสร้างพระอีก จึงได้แวะเข้าไปทำบุญ ซึ่งช่วงนี้ใกล้ถึงวันเด็ก เห็นมีเด็กอยู่ในศาลาเป็นจำนวนมาก
ทราบว่าทางวัดจัดงานวันเด็กพร้อมกับมอบของขวัญให้เด็กๆ ด้วย
คุณมายินจึงได้แจกเงินให้กับเด็กหลายสิบคน พร้อมกับร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลก ขนาดองค์พระสูง ๓ เมตรจำนวน ๘ องค์
เพื่อจะนำไปประดิษฐานยังองค์พระทั้ง ๘ ทิศ ได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/4/14 at 09:56 |
|
(Update 7 เมษายน 2557)
๑๑ มกราคม ๒๕๕๗ (พระธาตุจอมกิตติ)
๑๕. พระธาตุจอมกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
พระเจดีย์องค์เล็ก ๔ ทิศของพระธาตุจอมกิตติ ที่ได้มีการซ่อมแซมใหม่
เจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาจัดเตรียมสถานที่ก่อนงาน
ทำความสะอาดและปัดกวาดลานพระเจดีย์ พร้อมทั้งเก็บผ้าห่มพระเจดีย์ที่บูชาไว้เป็นจำนวนมาก
ทีมงานจัดทำบายศรีวางเตรียมไว้ที่ด้านหน้าองค์พระธาตุ พร้อมกับปรึกษาหารือเรื่องที่จะปักเสาตุงโดยรอบ ซึ่งมี "คณะเชียงใหม่เจ๊า" (พี่นาย)
ร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยค่ะ
เวลาประมาณ ๗.๓๐ น. ท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมลและคณะติดตามเดินทางมาถึง พร้อมด้วย พระอาจารย์ชัยวัฒน์
ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องความเป็นมาของการสร้างพระธาตุจอมกิตติ และการบูรณะพระธาตุองค์เล็กทั้งสี่ ให้พวกเราศิษยานุศิษย์ได้ฟังกัน
โดยท่านได้เล่าและเปิดเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อไปด้วย เหมือนกับจะย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้พวกเราได้รับฟังกัน มีหลายคนต้องนั่งน้ำตาคลอกัน
คงจะซาบซึ้งถึงคำบอกเล่าที่ผ่านมาหลายสิบปีแล้วละค่ะ
เวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. เริ่มทำพิธีบวงสรวง ที่องค์พระธาตุและเจดีย์บริวารทั้ง ๔ ทิศ จบแล้วพระอาจารย์ชัยวัฒน์นำกราบสักการะองค์พระธาตุและขอขมาพระรัตนตรัย
สวดอิติปิโส คาถาเงินล้านพร้อมกัน เสร็จแล้ว เป็นการช่วยกันห่มผ้าพระธาตุและนั่งสมาธิ
หลังจากนั้นร่วมกันกล่าวคำถวายเครื่องบูชาพระธาตุจอมกิตติ และท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมลเข้าถวายดอกไม้และสรงน้ำองค์พระธาตุ
ตามด้วยคณะสงฆ์ที่มาร่วมงานทั้งหมด ติดตามด้วยพุทธบริษัททั้งหลาย
ตอนท้ายมีการเปิดเพลงต้นตระกูลไทย, ดุจบิดรมารดา และเพลงรำวงชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีหลายคนออกไปร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน
เพื่อเป็นการฉลององค์พระธาตุเล็กทั้งสี่ทิศ นับว่างานสำเร็จกิจด้วยความปลาบปลื้มใจของผู้ร่วมงานทุกคน
๑๖. วัดพระธาตุดอยกู่แก้ว บ้านป่าสักหลวง ต.จันจวาใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
ตอนบ่ายหลังจากทานอาหารกลางวันกันแล้ว พระอาจารย์ชัยวัฒน์ก็ได้นำไปกราบพระธาตุดอยกู่แก้ว ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนตาตุ่มขวา
ที่พระมหากัจจายนะอัญเชิญมา
แล้วร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนเงิน ๖,๕๐๐ บาท
๑๗. วัดพระพุทธทศพลญาณ (ป่าหมากหนอก) ต.จันจวา อ.แม่จัน จ.เชียงราย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระธาตุโยนกนคร แสงคำ
ตามประวัติเล่าว่าสถานที่นี้เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ขณะไปถึงพระธาตุกำลังบูรณะ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมทำบุญกัน ข้างๆ
พระธาตุมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ มีรูปพญานาครักษาบ่อน้ำ ท่านได้ตักนำในบ่อขึ้นมาแล้วประพรมเป็นน้ำพระพุทธมนต์
เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในปีใหม่ให้แก่พวกเราทุกคน
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/4/14 at 10:00 |
|
๑๒ มกราคม ๒๕๕๗ (พระธาตุดอยตุง)
๑๘. พระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่ฟ้าหลวง จ,เชียงราย
สถานที่นี้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนไหปลาร้าเบื้องซ้าย ในปีนี้ได้มีการแต่งกายกันอย่างสวยงาม
เพื่อบูชาพระบรมธาตุที่สร้างใหม่และยกฉัตรเสร็จเรียบร้อย ถือว่ามาเฉลิมฉลองกันย้อนหลัง ได้มีพิธีบวงสรวงโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุง
ก่อนหน้าได้มีการห่มผ้าพระธาตุ และภายหลังมีการประพรมน้ำหอมรอบพระบรมธาตุ
ก่อนพิธีบวงสรวงพระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำตุงมาแขวนไว้ที่บนรอยปักตุงตามตำนาน โดยมีคณะเชียงใหม่เจ๊า (พี่นาย) เป็นเจ้าภาพซื้อแล้วนำไปถวายให้ถึงวัด
รวมแล้วทั้งสองแห่ง คือ พระธาตุจอมกิตติและพระธาตุดอยตุง ประมาณนับร้อยผืน ขอโมทนาสาธุด้วยค่ะ
จากนั้นก็มีการประพรมน้ำหอมและปิดทองบริเวณนี้ด้วย มีพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ และรำถวายพระบรมธาตุ
คณะญาติโยมร่วมทำบุญกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุงตามอัธยาศัย
๑๙. วัดกู่แก้ว ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย
ในตอนบ่าย ล่องกลับกันมา พระอาจารย์ชัยวัฒน์นำไปที่วัดกู่แก้ว พร้อมกับร่วมทำบุญสร้างบันไดขึ้นพระธาตุ ๒,๔๐๐ บาท จากนั้นได้สอบถามเรื่องทางไป
"รอยพระพุทธบางคางควาย" เจ้าอาวาสท่านจึงได้ไปตามชาวบ้านมานำทาง
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 7/4/14 at 10:18 |
|
๒๐.รอยพระพุทธบาทคางควาย ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย (พบใหม่)
ปรากฏว่าข้อมูลรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในวัด แต่อยู่ห่างจากวัดกู่แก้วเข้าไปในป่าอีกประมาณ ๒ กิโล ต้องนำรถเข้าไปได้ประมาณ ๑ กิโลเมตร
นอกนั้นเดินเข้าไปในป่า
พวกเราต่างมองหน้ากันโชคดีอีกแล้ว ช่วงบ่ายต้องเดินเท้าต่อกันเข้าไป ส่วนพระอาจารย์ชัยวัฒน์ท่านนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ โดยชาวบ้านคนนี้ใจบุญมากๆ
เห็นบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ อบต. ทราบว่าทางหมู่บ้านจัดงานประเพณีสรงน้ำกราบไหว้กันทุกปี รถได้นำไปจอดที่ศาลาหลังหนึ่ง แล้วจึงเดินลงไปที่ลำธาร
คนไหนเดินเข้าไปถึงก่อนก็ช่วยกันปัดกวาดบริเวณสถานที่ ซึ่งเป็นลำธารมีน้ำไหลรินไม่มาก หลวงพี่เดินเข้าไปสำรวจลึกเข้าไปข้างในก่อน โดยมีชาวบ้านคนนี้นำไป
บอกว่ารอยคางควายมีอยู่บนก้อนหินใหญ่ ซึ่งบริเวณน้ันเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ สมัยก่อนเป็นที่ควายนอนแช่น้ำ แล้วเอาคางมาเกยเสียดสีนานๆ เข้าก็เป็นรอย
แต่หลวงพี่บอกว่าไม่มีรอยพระพุทธบาท มองดูแล้วไม่น่าใช่ แล้วท่านก็ย้อนกลับมาห่างประมาณสัก ๑๐๐ เมตร ก็จะเห็นก้อนหินเล็กกว่าก้อนเดิม
มองดูคล้ายเป็นรอยเท้าใหญ่มาก มีตะใคร่น้ำขึ้นเขียวเต็มก้อนหิน
ก้อนหินนี้อยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ แดดคงส่องไม่ถึง โชคดีที่น้ำไม่มาก จึงสามารถเดินข้ามก้อนหินเล็กน้อยไปได้สะดวก ช่วงนี้ลำธารน้ำแห้งไปเกือบหมดแล้ว
น่าเสียดายป่าไม้ถูกทำลายไปหมด
ครั้นได้กราบไหว้บูชากันแล้ว จึงเดินออกมากว่าจะถึงก็เหนื่อยพอสมควร แต่ทุกคนก็ดีใจที่ได้พบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้สมความปรารถนา ตอนแรกนึกว่าง่าย
พอได้ไปจริงๆ ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะตามข้อมูลที่ "ครูบาสันยาสี" แจ้งไว้กับพระอาจารย์ก็ยังมีอีกหลายแห่ง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแห่ง ตามที่ท่านได้นิมิตว่ามี "แม่นางจันทรา" กับ
"แม่นางแก้ว" ผู้เฝ้าดูแลเขาถ้ำพระ เขาจำปา บ้านทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เป็นผู้บอกรอยพระพุทธบาทเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้ง "เกาะกูด"
ที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์จะต้องเดินทางปลายเดือนมีนาคมนี้ด้วย
๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ (เชียงราย - พะเยา)
๒๑. วัดป่าพระธาตุหลวง บ้านดงดอนเต้า ต.แม่เย็น อ.พาน จ.เชียงราย
ก่อนเดินทางคณะของเราได้ทราบข่าวว่า (จำชื่อไม่ได้ว่าใครบอก) จะมีการสร้างพระใหญ่หน้าตัก ๑๑ เมตร สูง ๑๕ เมตร จึงได้สอบถามหาทางที่จะไป
แต่กว่าจะหาวัดเจอก็เสียเวลาหลงทางเข้าป่าไปไกล จึงต้องพักค้างคืน ๑ คืนก่อน
เช้าวันนี้คิดว่าจะท้อแล้วขับรถผ่านดีกว่า บังเอิญหลวงพี่เห็นป้ายข้างทาง จึงบอกให้พวกเราเลี้ยวเข้าไปทันที ทั้งๆ
ที่โทรศัพท์ติดต่อเจ้าอาวาสตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงวัดสักที เมื่อวานท่านอยู่วัด วันนี้ท่านบอกไม่อยู่ต้องไปกิจนิมนต์ที่อื่น
ซึ่งวัดนี้มีท่านอยู่องค์เดียวด้วย
แม้จะรู้ว่าท่านไม่อยู่ แต่ก็อยากสร้างพระใหญ่ จึงขอให้ท่านโทรบอกให้ชาวบ้านที่พอเชื่อใจได้มารับเงินแทน
ปรากฏว่าพอมาถึงได้สักครู่ก็มีคุณลุงคุณป้าเข้ามาทักทาย พวกเราจึงได้รวมเงินทำบุญสร้างพระใหญ่ ๑๕,๐๐๐ บาท โดยฝากไว้ให้กับท่านเจ้าอาวาส
พวกเราแสนจะดีใจจึงได้ถ่ายภาพกันเป็นที่ระลึก ซึ่งทางวัดกำลังเตรียมที่จะจัดสร้างพระใหญ่ตรงนี้ ต่อมาหลังจากกลับมาแล้ว ทางวัดก็มีการสร้างตามกำหนดการ
จะขอนำภาพจาก kapook.com มาให้ชื่นชมและอนุโมทนากันนะค่ะ
๒๒. วัดป่าแดงบุนนาค บ.ป่าแดง ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา
เมื่อได้ทำบุญสมความปรารถนาแล้ว จึงเดินทางล่องลงมาที่ตัวเมืองพะเยา เพราะได้ข่าวว่าทางวัดกำลังบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุเจดีย์มีสององค์
อีกองค์กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ บรรจุพระเกศาธาตุ องค์ละ ๑ เส้น ภายหลังมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนกกหูซ้าย-ขวา" ไว้อีกด้วย ชาวบ้าน (อดีต
ผอ.โรงเรียน) ที่มาต้อนรับเล่าว่า ปัจจุบันนี้ยังมีแสงพระธาตุลอยเสด็จหาถึงกันตลอด มีสีแดง ขาว เหลือง จึงได้ร่วมทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท กับเจ้าอาวาส
๒๓. วัดลี บ.หล่ายอิง ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา
พระธาตุเจดีย์แห่งนี้บรรจุ "พระเกศาธาตุ" เช่นกัน ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมาบูรณะด้วย ทราบจาหลวงพ่อเจ้าอาวาสว่ากำลังบูรณะองค์พระธาตุ จึงได้ร่วมทำบุญ
๕,๐๐๐ บาท ร่วมซื้อทองจังโกหุ้มองค์พระธาตุ และทำบุญร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ ๒,๐๐๐ บาท
๒๔. วัดพระธาตุจอมทอง ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา
สถานที่นี้เป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ พระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนแขนเบื้องซ้าย" จึงได้ถวายผ้าห่มพระธาตุ ประพรมน้ำหอมและปิดทอง ร่วมทำบุญ ๒,๐๐๐
บาท
ด้านข้างพระเจดีย์ยังมีต้นลั่นทมเก่าแก่อยู่ด้วย ส่วนองค์พระธาตุมีการบูรณะไปแล้ว
๒๕. รอยพระพุทธบาทคู่ พระธาตุจอมทอง ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา (พบใหม่)
พระอาจารย์ชัยวัฒน์ท่านบอกว่า เคยมาที่นี่หลายครั้งแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีรอยพระพุทธอยู่ตรงนี้ ซึ่งอยู่ข้างนอกเขตวัดแค่ ๕๐ เมตรเท่านั้น (อยู่ใกล้บันไดนาค)
ได้มีการสร้างมณฑปครอบรอยพระบาทเดิม และในมณฑปทำรอยพระบาทจำลองขึ้นมาใหม่ ด้านหลังมีรอยพระพุทธบาทอีกหนึ่งรอย แต่ไม่ชัดเจน
พระที่อยู่ในวัดท่านได้บอกว่าท่านเป็นคนพื้นที่นี้ เคยเห็นรอยพระพุทธบาทมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนชัดเจนมาก บริเวณนี้มีผีดุ ใครจะเอาของอะไรไปไม่ได้เลย
ต่อมารอยก็เลือนลางไปตามกาลเวลา
๒๖. พระธาตุขิงแกง ต.จุน อ.จุน จ.พะเยา
พระธาตุขิงแกงบรรจุ "พระเกศาธาตุ" ๓ เส้น และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนพระบาทขวา" และ "แขนซ้าย" พวกเราช่วยกันห่มผ้าพระเจดีย์
ประพรมน้ำหอมและปิดทอง และร่วมทำบุญ ๑,๕๐๐ บาท
๑๔ มกราคม ๒๕๕๗ (พิษณุโลก - อุทัยธานี)
๒๗. วัดดอนอภัย หมู่ ๑๐ ต.บ่อทอง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
สถานที่สุดท้ายของการเดินทางภาคเหนือครั้งนี้ ได้แวะร่วมสร้าง "หลวงพ่อสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ในภาคเหนือ" เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
สรุปรายการตั้งแต่วันที่ ๗ - ๑๓ มกราคม ๒๕๕๗
๑. ร่วมสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ๗ แห่ง
๒. ร่วมสร้างพระเจดีย์ ๘ แห่ง ส่วนใหญ่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ทั้งนั้น
๓. ห่มผ้าพระเจดีย์ ๗ แห่ง
๔. กราบรอยพระพุทธบาท ๔ แห่ง เป็นรอยพระพุทธบาทที่พบใหม่ ๓ แห่ง
รวมเงินทำบุญทั้งหมด ๘๘,๐๗๗ บาท ไม่นับรวมพระธาตุดอยตุงและพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งหลวงพี่ได้ถวายเงินกับพระที่มาทำงานอีกหลายรูปด้วย
จึงขอให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมอนุโมทนากัน..สวัสดีค่ะ
<< กลับสู่สารบัญ
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
posted on 12/4/14 at 11:51 |
|
|
|
|
Posts: 2040 |
Registered: 8/1/08 |
Member Is Offline |
|
|
|
|
|
"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player
ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป
ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved
|
|
|
|