ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 29/3/11 at 15:25 Reply With Quote

ตามรอยพระพุทธบาท "ลาวเหนือ" 15-19 ม.ค. 2544


เชียงของ – ลาวเหนือ

ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔
ประเทศ สปป.ลาว (บ่อแก้ว, หลวงน้ำทา, อุดมชัย)


๑. วัดจอมเขามณีรัตน์ ห้วยทราย บ่อแก้ว
๒. ผาพระ บ.ปากงาว ห้วยทราย บ่อแก้ว
๓. วัดแก้วโพนสวันทนาราม ห้วยทราย บ่อแก้ว
๔. วัดพระธาตุสุวรรณภูมิผ้าคำ ห้วยทราย บ่อแก้ว
๕. พระบาทเมืองกาง บ.พระบาท เมืองน้ำยู้ บ่อแก้ว
๖. วัดน้ำแก้วหลวง บ.น้ำแก้วหลวง เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา
๗. วัดพระธาตุจอมสิงห์ บ.บางขวาง เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา
๘. พุทธบัลลังก์ บ.มอม เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา
๙. พระธาตุเชียงทิม บ.ตีนธาตุ เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา
๑๐. วัดหลวงขอนรัตนาราม บ.หลวงขอน เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา
๑๑. พระธาตุชัยมงคลรัตนมิ่งเมือง เมืองไชย (ไซ) อุดมชัย
๑๒. รอยพระพุทธบาท บ.ลองยา เมืองไชย (ไซ) อุดมชัย
๑๓. วัดสิงห์คำ (พระพุทธรูปสิงห์คำ) เมืองล่า อุดมชัย




ประวัติเมืองเชียงของ และ เมืองคาง

ตามที่เล่าในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม ๓ ว่า...หลังจากที่ได้ทำพิธีบวงสรวง ณ วัดสวนดอก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แล้วได้ออกเดินทางต่อไปที่ วัดพระแก้ว ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทั้งนี้ เพื่อสืบหาสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จ หลังจากที่ได้เสวยพระกระยาหาร ณ บ้านสวนดอกแล้ว ตาม ตำนานพุทธพระเจ้าเลียบโลก (กัณฑ์ที่ ๓) เล่าต่อไปอีกว่า

“...พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่เมืองลาวเสด็จขึ้นมาสู่ต้นน้ำถึง เมืองเชียงของ ทรงประทานพระเกศาธาตุและประทับรอยพระพุทธบาท ที่ เมืองคาง ไว้ที่นั่งที่พิงเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง...”

ส่วน ตำนานโยนก เล่าว่า “...พระพุทธเจ้าได้สถิตยืนย่ำอยู่หลังผาก้อนหนึ่งแล้วกล่าวว่า ภิกขเว ดูราภิกขุทั้งหลายในยามปฐมกัปวันนั้น น้ำจากมหาสมุทรท่วม มาถึงที่นี้ ยามนั้นยังมีพระยาตนหนึ่งพร้อมกับ บริวารนำเรือมาถึง เวลานั้นแม่น้ำของยังไม่มีพระยามีชื่อว่า สิงหะ จึงได้พักค้างคืน ๑ คืน

(แม่น้ำของ หรือแม่น้ำโขง เกิดขึ้นโดย พญาศรีสัตนาคราช และ พญานหุตนาคราช ขุดจากหนองแส (ต้าลี่) ไหลลงมาสู่มหาสมุทร)

ในตอนกลางคืนน้ำสมุทรสาครก็แห้งลงพอถึงรุ่งเช้า พระยาสิงหะเห็นเรือของตนค้าง อยู่ยังหลังกระโดง จึงให้บริวารช่วยกันงัดเรือนั้นลงแล้ว แต่ว่าเรือนั้นก็ได้หักพังไปหมดสิ้นจึงต้องค้างอยู่ที่เกาะกลางน้ำที่นั้น แล้วต่างคน ต่างก็ว่ายน้ำหนีไป ฝ่ายพระยาก็ลอยไปทางทิศบูรพา ก็ไปค้างสิ้นพระชนม์อยู่ที่นั้น จึงได้ชื่อว่าเมืองค้าง หรือ เมืองคาง

บัดนี้ เรือนั้น คือว่าผานั้น พระตถาคต ย่ำอยู่นี้ จะได้ประทับไว้ที่นี้ ๑ รอย เพื่อให้เป็นผลบุญแก่พระยาตนนั้น และเพื่อให้เป็นที่ กราบไหว้และบูชาแก่คนและเทวดา มนุษยชาติ เมืองโยนกนครทั้งมวลแล แล้วพระพุทธเจ้าก็ ได้ตรัสพยากรณ์ว่า ต่อไปภายหน้าสถานที่นี้ จักได้ชื่อว่า พระบาทผาเรือ ดังนี้ (ปัจจุบันอยู่ ที่ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย)

คำว่า “เมืองคาง” หรือจะเป็น “เมืองกาง” ก็ได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องสืบเสาะ หากันอยู่นาน จนกระทั่งครั้งนี้ก็ได้มาถึง วัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงของ ข้อเท็จจริง ทั้งหลายจึงได้เปิดเผยจากเจ้าอาวาสคือ พระครูสิริรัตนานุรักษ์ หลังจากพวกเราได้ขอพักค้าง คืนที่นี่แล้ว จึงได้มาสนทนากับท่านภายในกุฏิ


(วัดพระแก้ว อ.เขียงของ จ.เชียงราย)

ในเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ขณะที่เดินเข้า มาในกุฏิของท่านนั้น ทางเดินจะมืดสักหน่อย พลันได้ยินเสียงกระทบจากหลังคา ปรากฏว่า เป็นละอองฝนโปรยลงมาชั่วขณะหนึ่ง ประมาณ ๒ นาที ทั้งที่เป็นหน้าหนาวของเดือนมกราคม ท่านพระครูเองถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า “คณะนี้มีบุญนะ ที่ฝนตกลงมาในตอนนี้”

พวกเราก็พนมมือตอบท่านว่า คงจะ เป็นเพราะอานุภาพของสถานที่นี้ เพราะเป็น ที่สำคัญบรรจุพระเกศาธาตุ ตามประวัติที่ท่าน ได้ให้ไว้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเนินเขาแห่งหนึ่ง ใกล้กับเมืองเมิงในเขตประเทศลาว ก่อนที่จะเสด็จจากที่นั้น พระองค์ได้ประทับรอย พระพุทธบาทเบื้องขวา ไว้บนก้อนหินใหญ่ที่ อยู่ริมหน้าถ้ำนั้น (ปัจจุบันเรียก “ถ้ำพระบาท” อยู่ในเมืองน้ำยู้ แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว)

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ริมแม่น้ำโขง ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และได้ไปประทับอยู่ที่ใต้ร่มต้นขนุนใหญ่ผัน พระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก แล้วจึงเสด็จไป สรงน้ำที่บนหินใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น หินใหญ่นี้มีสัณฐานดังรูปช้าง

(เวลานี้น้ำเซาะตลิ่งพังไปมาก หินรูปช้าง หรือ “ผาช้าง” ปัจจุบันเรียกว่า “พระบาทผา ช้าง” อยู่ระหว่างวัดหลวงกับวัดพระแก้ว อยู่ห่างฝั่งค่อนออกไปกลางแม่น้ำโขง ถ้าถึงฤดู แล้งน้ำลดลง ส่วนหนึ่งของผาช้างจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น จุดที่จะสังเกตได้ก็คือ มีป้ายสถานีเรือเชียงของ กองทัพเรือ ส่วนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงฝั่งโน้นเป็น บ้านห้วยทราย ประเทศลาว)


(แม่น้ำโขง ด้านหน้าวัดพระแก้ว)

เมื่อพระพุทธองค์สรงน้ำเสร็จก็กลับมาประทับอยู่ใต้ต้นขนุน แล้วได้ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดชาวบ้านทั้งหลาย จนเกิดความ เลื่อมใสศรัทธา พระองค์จึงได้ประทานพระเกศาธาตุให้ ๒ เส้นแก่นายบ้าน แล้วรับสั่งให้นำไปบรรจุไว้ในผอบๆละ ๑ เส้น แล้วให้วัดระยะทางจากที่พระองค์ประทับนั้น ไปทางขวาและทางซ้ายมือให้มีระยะทางห่างเท่าๆ กัน

ต่อจากนั้นได้ตรัสพยากรณ์ว่า ต่อไป สถานที่แห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง จะมีผู้มีบุญชื่อว่า พระยาไชยนารายณ์ มาสร้างบ้านสร้างเมือง และวัดวาอารามต่อไป หลังจากพระองค์เสด็จ ไปแล้ว นายบ้านและชาวบ้านจึงได้บรรจุพระเกศาธาตุไว้ในผอบทองคำหนัก ๕ บาท และให้ทำเรือทองคำหนัก ๒๕ บาท แล้วนำผอบ ๒ ผอบใส่ในเรือทั้งสองลำไว้

จากนั้นก็ให้วัดระยะทางจากต้นขนุนที่พระพุทธเจ้าประทับนั้นไปทางซ้ายและขวาระยะ ทางเท่าๆ กัน จึงให้ขุดหลุมลึกหลุมละ ๙ วา นำเรือทองคำลงวางไว้บนหลักใช้หินก่อทับ ๒ รอบ แล้วคละด้วยหินสูงขึ้น ๒ เท่า ปากบ่อให้สูงพ้นระดับดิน แล้วก่อให้สูงใหญ่เป็นรูป สถูป แล้วให้ช่างนำแผ่นกระดานหินกว้าง ๑ ศอก สูง ๒ ศอก มาจารึกคำทำนายของพระ พุทธเจ้าไว้ นำไปปักไว้ข้างสถูปแห่งละ ๑ หลัก

กาลเวลาผ่านไป หมู่บ้านทัมมิละก็ได้ กลายเป็นเมืองใหญ่ชื่อว่า “ขรราชนคร” ตาม ชื่อแม่น้ำ “ขรนที” ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “แม่น้ำของ” เมืองนี้จึงเรียกว่า “เมืองเชียงของ” ส่วนสถานที่ที่ชาวบ้านได้สร้างสถูปไว้ มีผู้มา สร้างเป็นอารามทางขวาของต้นขนุนมีชื่อว่าวัดศรีบุญยืน” ทางซ้ายชื่อว่า “วัดไชยสถาน”

ต่อมาในสมัยที่ เจ้าอริยะ ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองเชียงแสนได้มาปกครองเมืองเชียงของ ก็ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดทั้งสองแห่งนี้ แล้วให้เปลี่ยนชื่อวัดศรีบุญยืน เป็น “วัดพระแก้ว” ส่วนวัดไชยสถาน เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหลวง” มาตราบเท่าทุกวันนี้


(วัดหลวง อ.เชียงของ จ.เชียงราย)

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้มีฝรั่งชาวอเมริกันผู้หนึ่งมาเที่ยวเมืองเชียงของ เป็นผู้มีความรู้ภาษาโบราณ เห็นศิลาจารึกปักอยู่ข้างสถูป มีความสนใจอยากได้ จึงไปขอกับเจ้าราชวงค์บุญรังษี น้องเขยเจ้าหลวงจิตวงษ์วรยศวงรังษี เจ้าเมืองคนที่ ๘ โดยขอแลกกับปืนไรเฟิลชนิดสามลำกล้อง ขณะนั้นเจ้าหลวงไม่อยู่ ทางราชวงค์ยินยอมตกลง ฝรั่งจึงนำศิลาจารึก ที่ปักไว้กับสถูปวัดพระแก้วและวัดหลวงทั้งสองหลักลงเรือไปตั้งแต่บัดนั้น

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่สมบัติ อันล้ำค่าของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ได้ตกไปเป็นสมบัติ “สะสม” ของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก แล้วก็หายสาบสูญยากที่จะติดตาม คืนกลับมาได้อีกเลย ทิ้งแต่หลักฐานการบอกเล่าจากท่านเจ้าอาวาสวัดพระแก้วนี้ไว้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ก็จะยังได้ทราบประวัติของเมืองเชียงของ และ เส้นทางการเสด็จจาริกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราจะได้ติดตามให้ครบถ้วนตามตำนานที่เล่ามานี้ กันต่อไป แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปได้ครบถ้วนหรือไม่ เพราะตอนเย็นได้ไปติดต่อเช่ารถกระบะ ทางฝั่งลาวไว้ ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาหรือเปล่า

ซึ่งเขามักจะทักท้วงเรื่องการเดินทาง เพราะเหตุว่าหนทางยากลำบากมาก ต้องวิ่งไปตามภูเขา ซึ่งสภาพถนนย่ำแย่มาก เป็นลูกรัง ขรุขระตลอดทาง ฝุ่นก็หนาเป็นคืบ ใครที่นั่ง อยู่ข้างหลังรถกระบะ มีหวังกินฝุ่นกันตลอดทาง มีพวกเราบางคนใจคอไม่ดี แต่ก็ต้องกล้ำกลืน ฝืนทนเอาไว้ เมื่อมีฝนตกลงมาหน่อยก็ค่อยมี กำลังใจ จึงพักผ่อนหลับนอนกันตามอัธยาศัย



เชียงของ - ห้วยทราย (ลาวเหนือ)


(ผู้เขียนและคณะข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาวที่ชียงของ)


ในตอนเช้าวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔ ได้ทำหนังสือเดินทางที่ด่าน ต.ม. แล้ว จึงลงเรือหางยาวข้ามแม่น้ำโขง ในขณะนั้นเห็นลำแสงสีขาวพุ่งเป็นลำบนท้องฟ้า นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพียงไม่กี่นาทีเรือก็พาพวกเรา ทั้งสิบคนข้ามมาถึงฝั่งลาว

ในขณะที่ขึ้นมาบนฝั่ง สังเกตพบว่ามี ร่องรอยฝนตกเพิ่งผ่านไปไม่นานนี่เอง ถ้าแบบนี้พวกเราบางคนที่นั่งข้างหลังรถ คงจะคลายความวิตกกังวลเรื่องฝุ่นไปได้บ้าง แต่ก็ปรารภกันไปแล้วช่วยกันขนของเครื่องบูชา อันมีบายศรี ผ้าห่ม และเสบียงอาหาร เป็นต้น



(ภาพปัจจุบัน วัดจอมเขามณีรัตน์ แขวงห้วยทราย สปป.ลาว)



(ภาพอดีต เมื่อ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔)

เวลา ๐๙.๐๐ น. รถฟอร์ดเรนเจอร์ที่เช่าไว้ก็ได้นำพวกเรามาถึงจุดแรกคือ วัดจอมเขามณีรัตน์ อยู่ในเขตบ้านห้วยทรายเหนือ แขวงบ่อแก้ว ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่ควรกราบไหว้ ส่วนทางด้านขวามือจะมีภูเขาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยฆ้อง - ดอยกลอง” เพราะวันพระจะมีดวงแก้วลอยขึ้น และมีเสียงฆ้องเสียงกลองอีกด้วย



(สภาพรถฟอร์ดเรนเจอร์ ผู้ชายต้องนั่งกระบะหลัง โชคดีวันนี้ที่ไม่มีฝุ่น)

หลังจากถวายปัจจัยแก่พระภิกษุภายในวัดนี้ ๑๐๐ บาทแล้ว จึงเดินทางต่อไปที่ ผาพระ บ้านปากงาว เมืองห้วยทราย ซึ่งเป็นเส้นทางคดเคี้ยวไปตามลำน้ำโขง ครั้นมาถึงผาพระที่อยู่ริมโขง จะมองเห็นฝั่งไทยไม่ไกลนัก ส่วนด้านนี้จะมีก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งแกะสลักเป็น พระพุทธรูปยืนที่หน้าผา สันนิษฐานว่าเดิมคง จะเป็นพระฉายมาก่อน



บริเวณผาพระ (มองเห็นฝั่งเชียงของ) ณ บ้านปากงาว เมืองห้วยทราย


สำหรับทางเดินที่จะผ่านเข้ามาที่ผาพระนั้น เคยมีพระพุทธรูปทองคำตั้งอยู่ แต่ปัจจุบัน หายไปแล้ว นายบุญพรคนขับรถของลาวกล่าวว่า สายพระเนตรที่องค์พระมองนั้น จะทอดไปสู่ เกาะกลางแม่น้ำโขง โดยเฉพาะรูที่อยู่บนหิน ของเกาะนั้น คาดว่าจะมีเหล็กไหลอยู่ มีคนลาว มาสร้างของขลังและลงคาถาอาคมไว้ เหมือนเป็นการกั้นเขตแดนระหว่างประเทศ แต่มีคนไทยใจเด็ดลอบมาเอาเหล็กไหลไปสิบกว่าปีแล้ว

และตำแหน่งทางด้านเหนือจากจุดที่เรา ยืนนี้ จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่กลางแม่น้ำโขง ถ้าน้ำลดก็จะพบรอยพระพุทธบาท จากนั้นก็มาที่ วัดแก้วโพนสวันทนาราม บ้านห้วยทรายใต้ แต่เมื่อเข้าไปถึงจึงพบว่าเป็นพระธาตุสร้างใหม่เมื่อปี ค.ศ.๑๙๓๓ จึงได้สอบถามข้อมูลของสถานที่อื่นๆ ต่อไปอีก




คณะตามรอยพระพุทธบาท (ชุดใหญ่) ปัจจุบันเหลือแต่ (ชุดย่อย)

แล้วออกเดินทางต่อไป ณ วัดพระธาตุสุวรรณภูมิผ้าคำ (พระธาตุผ้าคำ) บ้านตีนธาตุ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สถานที่นี้จึงเป็นที่สำคัญมาก เพราะภายในพระเจดีย์เป็นที่บรรจุ พระเกศาธาตุ และ ผ้าอาบทองคำ ของพระพุทธเจ้า คล้ายกับที่จังหวัดน่าน ตามประวัติเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำที่บนก้อนหินริมแม่น้ำน่าน ต่อมาจึงได้บรรจุผ้าอาบน้ำทองคำและก้อนหินก้อนนั้นไว้

สำหรับสถานที่นี้ก็เช่นกัน ตามประวัติเล่าว่า เดิมชื่อ พระธาตุปากห้วยฮาย สมัยก่อน มีลาวลัวะมาดักสัตว์ป่าในน้ำห้วยฮายนี้ จึงได้ ขนานนามว่า ห้วยปากฮาย พระธาตุแห่งนี้เป็น ปูชนียสถานอันล้ำค่าและเก่าแก่ที่สุด มีอายุถึง ๙๗๑ ปี ในปี ค.ศ.๑๙๙๓ มีการบูรณะพระธาตุ ที่ผุพังลงไป โดยการสร้างคลุมองค์เดิมไว้

พระธาตุผ้าคำ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว



ก่อนที่จะสร้างก็มีการขุดพบวัตถุโบราณต่างๆ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกก็พบอุโมงค์น้อยๆมีก้อนหินบรรจุอยู่และแกะสลักลวดลายและข้อความเอาไว้ มีประตูหินปกปิด เมื่อเปิดประตู ก็พบผอบทองสำริด มีแกะสลักลายลักษณะเป็น จอมแหลมคล้ายพระธาตุ ซ้อนกันอยู่หลายชั้น

กล่าวคือเมื่อเปิดผอบทอง จะพบผอบเงิน เปิดผอบเงิน พบผอบคำ ซึ่งอยู่ในสภาพที่งามสะอาดตา ภายในบรรจุพระอัฐิธาตุจำนวน ๓๐ กว่าองค์ เป็นสัญลักษณ์การเก็บบูชาอย่างเคารพ และปรากฏหลักฐานการสร้างพระธาตุองค์นี้อยู่ที่ตีนธาตุ เป็นอักษรล้านนา บันทึก ในปีจุลศักราช ๓๘๔ ปีสร้างพระธาตุ คือปี พ.ศ. ๑๕๖๕ (ค.ศ.๑๐๒๒)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพชรนิลจินดา แก้วมณีอันมีค่า ดารดาษอยู่ทั่วไปใต้ดอยพระธาตุ ที่ปากน้ำห้วยฮายนี้ก็ยังมีลานหินใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ เรียกว่า ห“ผ้าคำ” ซึ่งได้รับการเล่าขานในตำนานว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสรงน้ำบนก้อนหินที่นี่ และทรงให้คนเอาผ้าอาบน้ำไป ตากไว้ ซึ่งพบว่าผ้าอาบได้กลายเป็นทองคำไป

แท่นหินที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาอาบน้ำที่ริมโขง



มีเรื่องแปลกที่จะเล่าอีกว่า ผู้เขียนได้รับ ข้อมูลก่อนที่จะเข้ามาที่ พระธาตุผ้าคำ แล้วว่าในการที่จะสืบหา พระพุทธบาทเมืองกาง จะต้องไปหา หลวงพ่อคำหล้า ที่เป็นเจ้าอาวาส ที่วัดน้ำครก ซึ่งจะต้องวางแผนไว้ว่า หลังจากที่ไหว้พระธาตุผ้าคำแล้วก็จะไปที่วัดน้ำครก

แต่เมื่อเข้ามาถึงก็ปรากฏว่า หลวงพ่อคำหล้ามาถึงที่วัดพระธาตุผ้าคำพอดี ก็เหมือนกับบังเอิญเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นการบังเอิญที่ไม่ค่อยจะธรรมดา คือจะเจอเรื่องแบบนี้บ่อยๆ แล้วท่านก็ยินดีที่จะพาไปที่พระบาทเมืองกาง



(หลวงพ่อแพง ห่มผ้าสีเหลือง ส่วนหลวงพ่อคำหล้า ห่มผ้าสีกลักแดง)

หลังจากที่สนทนากันแล้ว จึงได้ทำบุญ กับ หลวงพ่อแพง เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผ้าคำ เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท และ หลวงพ่อคำหล้า เพื่อสร้างกำแพง วัดน้ำครก อีก ๑,๐๐๐ บาท แล้วจึงได้กราบไหว้บูชาและเดินลงไปชมแท่ง หินผ้าคำที่อยู่ริมแม่น้ำโขง แต่ลงไปไม่ได้เพราะ สูงชันมาก ซึ่งอยู่ที่เชิงดอยวัดพระธาตุสุวรรณภูมิผ้าคำนี่เอง



คำไหว้พระธาตุผ้าคำ

สาธุ สาธุ จุลละปัพพะตา มันทะลัดทะ พุทเธ ทะเว ทะเว เจมะ ภุตตา วะละพุทธะ มาตุจิรา สุวัณณะภูมิ เจติยัง เกสา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา เตวะ เกสา เอวา สุวัณณะตุ รัตตะมัดตะยามัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ



(แจกลูกอมเด็กๆ ชาวลาว)

การเดินทางคราวนี้ก็ได้นำ “ลูกอม” ไว้ แจกพวกเด็กๆ อีกด้วย เจอเมื่อไหร่ก็แจกกัน เมื่อนั้นทันที จากนี้ก็เป็นจุดหมายที่สำคัญมาถึงแล้ว หลังจากสืบเสาะหากันมานานหลายปี ผู้เขียนและคณะตามรอยพระพุทธบาทก็จรลีกัน ต่อไป เดินทางจากพระธาตุผ้าคำประมาณ ๖๐ ก.ม. ใช้เวลา ๓ ชั่วโมงก็ถึงจุดหมาย ด้วยถนน ที่แสนจะหฤโหด

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นับว่ายังดีกว่าคนอื่น เพราะฝนเพิ่งตกลงมาเมื่อคืนนี้เอง ทั้งๆที่ เมื่อวานก่อนที่เราจะมากัน เขาบอกว่าฝุ่นตลบอบอวล เวลารถสวนกันในทางคับแคบนั้น แม้แต่ผ้ากันฝุ่นปิดจมูกก็กันไม่อยู่ แต่นี่กลับไม่มี สภาพเช่นนี้อย่างที่เขาเล่าให้ฟัง เพราะมองไป ทางไหนก็มีแต่ดินที่เปียกชื้น อากาศเย็นสบาย ไม่มีแดดอยู่เช่นนี้ตลอดการเดินทาง จนกระทั่ง ถึงวันสุดท้ายจึงเริ่มมีแดดออกมาบ้าง

ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกับที่เคยเดินทางเข้ามาประเทศลาวในครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นับตั้งแต่เวียงจันทน์, หลวงพระบาง, สุวรรณเขต และจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นอาณาเขตประเทศ ลาวกลางและลาวใต้ ในตอนนี้จึงเป็นลาวเหนือ นับว่าจะจบครบถ้วนทั่วประเทศลาวอยู่แล้ว


(ภาพจาก sites.google.com)

ถ้าจะดูตามแผนที่ก็จะเห็นได้ว่า การเดินทางตามรอยพระพุทธบาท นับตั้งแต่อาณาจักรสิบสองปันนามาจรดชายแดนทางลาวเหนือ ก็จะมาเชื่อมต่อกันพอดี โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ได้ข่าวว่าจีนกับลาวสร้างถนนต่อกันแล้ว แต่ทางลาวยังไม่ดีนัก ระหว่างเมืองเชียงรุ่ง (จิงหง)กับเมืองอุดมชัย แล้วเชื่อมต่อมาถึงประเทศไทย แต่ตอนนั้นที่ไปสภาพถนนแย่จริงๆ

การเดินทางมาลาวเหนือครั้งนี้ จึงนับว่าโชคดีที่ฝนตกหนักเสียก่อน ถือว่าเป็นฝน ที่ตกลงมานอกฤดูกาล ที่เกิดจากอานุภาพแห่งพุทธบารมี สร้างความร่มเย็นให้แก่ผืนแผ่นดิน อันรองรับไว้ซึ่งฝาพระบาทและพระเกศาธาตุ ของพระพุทธองค์ในขณะนั้น



(กำลังเดินไปที่รอยพระพุทธบาท "เมืองกาง" ที่ปัจจุบันเรียกว่า "ถ้ำพระบาทบ้านน้ำยู้")

โดยเฉพาะก่อนการเดินทาง สายฝนได้ พัดผ่านแม่น้ำโขงข้ามมาโปรยปรายให้พวกเรา ได้รับรู้ที่วัดพระแก้ว ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าฝนตกลงมาเป็นละอองแค่ ๒ นาทีเท่านั้น แต่พอข้ามมาถึงฝั่งลาว แล้วก็เดินทางลึกเข้าไปอีก จึงได้รู้ว่าฝนไม่ได้ตกลงมาเพียงแค่นี้ แต่ฝนได้ตกใหญ่ทั่วๆ ไปในเขตลาว

รถกระบะของลาวได้นำพวกเราเข้ามาถึงจุดหมาย ต้องจอดรถไว้และเดินลุยลำห้วยเข้า ไปในป่าอีกประมาณ ๒๐๐ เมตร พวกเราเดินถือของพะรุงพะรังกันเข้าไป ในใจก็อยากจะได้ พิสูจน์ว่ามีจริงหรือไม่ เพราะตามตำนานบอกไว้แล้วว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาไว้บนหินใหญ่ใกล้หน้าถ้ำ



ปรากฏพบว่า "รอยพระบาทขวา" อยู่ริมหน้าผาตรงตามตำนาน

ครั้นเดินเข้าป่ามาถึงแล้ว สุดแสนจะดี ใจกัน ถึงแม้ฝั่งไทยข้อมูลจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากชื่อสถานที่ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนกระทั่งเข้ามาถึงทางฝั่งลาวด้านห้วยทราย จึงพอจะได้เค้ามูลบ้าง โดยเริ่มแรกได้จากพระธุดงค์จากเมืองไทยที่ไปพบกัน ณ เมืองยอง ประเทศพม่า ที่ให้ข้อมูลมา แต่ท่านก็เรียกที่นี่ว่า “พระบาทเมืองกาง”



พวกเราสุดแสนจะดีใจ เริ่มจัดเครื่องพิธีบวงสรวงทันที

แต่เมื่อพวกเราได้มาถึงที่ และจนมาพบ หลวงพ่อคำหล้า องค์นี้จึงสามารถมาถูกที่จนได้และได้ทราบว่า ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า “พระบาทน้ำยู้” แถมทางเข้ายังติดป้ายเล็กๆ เอาไว้อีกว่า “ถ้ำพระบาท” เสียด้วย



ในตอนนี้ เสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น

ผลปรากฏว่าของจริงตรงกับตำนานที่ กล่าวไว้ทุกประการ นั่นก็คือเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ขนาดกว้าง ๔๗ ซ.ม. ยาว ๑๖๐ ซ.ม. ลึก ๑๐ ซ.ม. อยู่ที่ริมหน้าถ้ำ แถมยังพบ รอยนิ้วพระหัตถ์ ๓ รอย ที่ประทับบนผนังถ้ำ มีรอยก้นหอยอีกด้วย นับว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง



จากนั้นต้องปีนป่ายหน้าผาลงมาบูชาที่รอยพระพุทธหัตถ์



รอยนิ้วพระหัตถ์จะเห็นก้นหอยได้ชัดเจน

จึงได้ช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาด โดยเฉพาะที่รอยพระพุทธบาท เขาได้ก่อปูนเป็น คูหาเล็กๆ ครอบเอาไว้นานมากแล้ว พวกเราจึงได้ทำพิธีบวงสรวงด้วยเครื่องสักการบูชา เช่น ผ้าตุง ผ้าห่มสไบ ฉัตรเงิน ฉัตรทอง และพวงมาลัยดอกดาวเรือง เป็นต้น เมื่อได้พบสมความปรารถนาแล้ว จึงได้เดินทางย้อนกลับมาค้างคืน ที่วัดจอมเขามณีรัตน์ ใกล้ตลาดห้วยทราย

ห้วยทราย - เมืองสิงห์

วันอังคารที่ ๑๖ ม.ค. ๔๔ ฉันภัตตา หารเช้าแล้ว ได้ปรึกษากันว่าจะเดินทางต่อไป อีกหรือไม่ เพราะสงสารพวกเราบางคน ที่จะ ต้องทนนั่งอยู่บนกระบะด้านหลัง พื้นถนนก็แสนจะขรุขระ ต้องหาวัสดุรองนั่งกัน แต่ด้วยการตัดสินใจที่แน่วแน่ของพวกเรา คือไม่ถอยกลับและยอมเสียสละนั่งท้ายกระบะเช่นนี้ไป ตลอดการเดินทาง จึงเริ่มออกเดินทางต่อไปทันที



ต้องเดินข้ามแม่น้ำกันอย่างนี้แหละ

นับว่ามีจิตใจเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับหนทางที่แสนจะกันดาร แต่การต่อสู้มิใช่เกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ขณะที่เดินทางไปก็ได้เห็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้น ระหว่างกระบือหรือควายนั่นเอง ๒ ตัว ซึ่งแปลกกว่าควายธรรมดา นั่นก็คือเป็นควาย ตัวผู้สีดำกับสีขาวขวิดกัน เหมือนธรรมะกับ อธรรมะต่อสู้กัน หรือฝ่ายสัมมาทิฏฐิกับฝ่าย มิจฉาทิฏฐิ แต่ก็ไม่รู้ผลว่าฝ่ายใดจะชนะ เพราะว่าเราจะต้องรีบเดินทางไปไหว้พระบาทกันก่อน



ภาพการต่อสู้ระหว่างกระบือสีขาวกับสีดำ

พวกเรามิได้มาลาวเพื่อมาดูควายชนกัน มันไม่น่ามาชนกันตอนนี้เลยนะ หรือว่ามันมา ทำปริศนาให้พวกเราไว้ขบคิดกัน แต่ก็ผ่านไป เถอะนะ เพราะใกล้เวลาฉันอาหารเพลแล้ว จึงออกจากบ้านนาหลวง แล้วได้แวะฉันกันข้างถนนที่บ้านดอนใจ จากนั้นก็เดินทางต่อไปแวะชมเหมืองแร่ลิกไนต์ ณ เมืองเงิน

เดินชมกันไม่นานก็เดินทางต่อไปถึง วัดน้ำแก้วหลวง บ้านน้ำแก้วหลวง เมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทา ในเวลากลางคืนมีชาวบ้านมา นั่งคุยด้วยเกือบ ๑๐ คน พวกเขาแปลกใจที่พวกเราเข้ามาถึงที่นี่ เพราะปกติไม่ค่อยมีคนไทย เข้ามาลึกถึงขนาดนี้ เรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านบางคนที่นั่งอยู่ ซึ่งทราบภายหลังว่าเขา เป็นเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง

โดยเขาได้ขอตรวจหนังสือเดินทางของพวกเราทุกคน โชคดีที่พวกเราใช้พาสปอร์ต เป็นหนังสือผ่านแดน แต่เขาก็ไม่เข้าใจ คงไม่เคยเห็นมาก่อน อาจจะเคยเห็นแต่หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ที่เรียกกันว่าบรอดดิ้งพาสนั่นเองเขาเปิดไปเปิดมาแบบงงๆ จึงบอกไปด้วยความรำคาญว่า ขอให้เปิดไปดูหน้าอื่นๆ พวกเราเดินทางไปเกือบจะทั่วทุกประเทศอยู่แล้ว

แต่เขาก็ส่งกลับคืนมาแบบเง็งๆ อีกเช่นเคย จึงได้สอบถามเส้นทางชาวบ้านอีกคนหนึ่ง เพื่อให้เขารู้ว่าเราตั้งใจจะมากราบไหว้รอยพระ พุทธบาทกันจริงๆ ชาวบ้านคนนี้มีศรัทธาชื่อว่า นายแสงอ่อน ชัยวงศ์ จึงได้บอกข้อมูลที่จะไป พระธาตุเมืองสิงห์ พระบาทบ้านมอม พระธาตุเชียงตึม (ทิม) และบ่อน้ำทิพย์น้ำแก้วหลวง


เป็นอันว่า เราได้สถานที่งอกเงยเพิ่มไปอีกแล้ว จึงต้องตามหากันตั้งแต่เช้าวันพุธที่ ๑๗ ม.ค. ๔๔ โดยเริ่มจากเดินทางไปไหว้พระเกศาธาตุ ณ พระธาตุจอมสิงห์ บ้านบางขวาง ซึ่งเป็น พระธาตุที่ไม่มีพระเณรอยู่อาศัย ในบริเวณนั้น ยังมีศิลาจารึกแผ่นหนึ่งวางอยู่ นายแสงอ่อนจึง อ่านให้ฟังได้ใจความว่า


“...อ้ายตาน นายแสง ใหม่ อิน นำ ศิลาฤกษ์ของ ใหม่ อิน พญา เขียนใส่ไว้ใน เกศาคำธาตุจอมสิง แมนพุทธศักราช ๑๖๖๐ ปี สร้างองค์เดิม จุลศักราช... สถูปนี้สร้างขึ้นให้ ปี ศ.ก. ๑๓๖๕ ปี และสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ บันทึก ณ วันที่ ๓๐/๑๒/๑๙๙๗...”



จอดรถที่หมู่บ้านอีก้อก่อนเดินทางขึ้นเขา

จากนั้นจึงเดินทางไปฉันเพลที่ วัดบ้านมอม หลังจากนั้นออกเดินทางต่อ มีชาวบ้าน ติดตามเกือบ ๒๐ คน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง ชื่อว่า แสงจ้อย บุญทิวง และเจ้าอาวาสวัดบ้านมอม ชื่อว่า สาธุดงมา ที่ทางนี้เรียกว่า เจ้าหัววัด ติดตามมาด้วย หมู่บ้านตรงเชิงดอยที่จอด รถเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอีก้อ ซึ่งคนขับ รถของเราชื่อ "บุญพร" (บุญปอน) ต้องคอยเฝ้ารถ



พวกเราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับชาวลาวที่ติดตามไปด้วย

โดยคณะชาวไทยและชาวลาวทั้งหมดถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็สามารถเป็น มิตรไมตรีกันได้ แต่อย่าเรียกไทยลาวว่าเป็นพี่ น้องกันนะ เดี๋ยวหาว่าไม่เตือน ดีไม่ดีไม่ได้ กลับมานะจะบอกให้ เพราะถ้าไทยเป็นพี่ ลาว ก็ไม่ยอมที่จะเป็นน้อง ถ้าลาวเป็นพี่ ไทยก็ไม่ ยอมเป็นน้องอีกเช่นกัน เลยเป็นเพื่อนกันดีกว่า



ก้อนหินที่ประทับเหมือนรูปช้างหมอบ

จึงเดินทางมาด้วยความปลอดภัย ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกันว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง จนขึ้นมาถึงบนเขา ซึ่งมีก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง มีรูปร่างลักษณะเป็นรูปช้างหมอบคล้าย พุทธบัลลังก์ อาจจะเป็นแท่นที่ประทับนั่งแสดงธรรม หรือ ฉันภัตตาหารก็ได้ นอกจากนี้ยังมี รอยพระหัตถ์ลูบ, รอยเท้าเสือ และ บ่อน้ำทิพย์ อีกด้วย



ภาพถ่ายระยะไกล จะเห็นบริเวณโดยรอบของก้อนหินสำคัญแห่งนี้



เมื่อได้นำผ้าสีทองพาดบูชาแล้ว จึงได้ทำพิธีบวงสรวงบายศรีที่ได้จัดเตรียมไปจากเมืองไทย

ผู้เขียนได้พิจารณาและเสี่ยงอธิษฐานน่าจะเป็นรอยประทับนั่งของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ พวกเราดีใจกันทุกคน เพราะไม่นึก ว่าจะได้มาพบสถานที่สำคัญ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้ เรื่องกันมาก่อน โดยเฉพาะตำนานก็ไม่ปรากฏ หลักฐานอะไรไว้เลย แต่ก็พอจะเปรียบเทียบกับ พระบาทเฮียวหก สิบสองปันนา ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

((( โปรดติดตามตอน "พระถังซำจั๋ง ตามรอยพระพุทธบาทเช่นกัน" ต่อไป )))


◄ll กลับสู่สารบัญ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/4/11 at 10:13 Reply With Quote


พระถังซำจั๋ง "ตามรอยพระพุทธบาท" เช่นกัน


...แต่ทว่าที่คล้ายกันที่สุด และอยู่ห่างไกลกัน คนละยุคคนละสมัย ที่ผู้เขียนเพิ่งได้ค้นพบนั่น ก็คือ จดหมายเหตุการณ์เดินทางของพระถังซำจั๋ง เมื่อ ๑,๓๕๗ ปีมาแล้ว สรุปใจความได้ว่า ท่านได้เดินทางจาก เมืองซีอาน มาทางทิศตะวันตก ของประเทศอินเดีย สมัยนั้นพระพุทธปฏิมากรและผ้ากาสาวพัสตร์ของพระสงฆ์สาวก ก็ได้ โบกสะบัดไปทั่วทุกแว่นแคว้น

โดยเฉพาะท่านได้มาถึง แคว้นคุจี แล้ว ได้ถึงวัดแห่งหนึ่งชื่อว่า วัดจักราม มีพระพุทธ รูปอยู่ในอารามงดงามวิจิตรประณีต ยากที่จะ เชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวโลก ในโบสถ์จักราม ทางทิศตะวันออก มีหินหยกใหญ่ก้อนหนึ่งสีนวล ลักษณะคล้ายหอยกาบทะเล บนหินหยกมี รอยพระพุทธบาท ประทับติดอยู่ ในวันอุโบสถ (รอยพระพุทธบาท) จะเปล่งรัศมีมลังเมลือง เป็นเนืองนิตย์

ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางผ่านอีกหลายแว่นแคว้น จนมาถึง แคว้นพัลข์ มีอารามชื่อว่า นวสังฆาราม ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ กรุงราชคฤห์น้อย ในโบสถ์มีภาชนะบรรจุ น้ำ สรงของพระพุทธเจ้า มีสีสันงดงาม มีรัศมี เรืองรอง และยังมี พระเขี้ยวแก้ว ๑ องค์ สีนวล เนื้อเรียบเป็นมัน บริสุทธิ์หมดจด นอกจากนี้ ยังมี สัมมัชชนี (ไม้กวาด) แต่ครั้งพุทธกาล ด้ามประดับด้วยแก้วมณีต่างๆ

ในวันอุโบสถอันเป็นวันที่บรรพชิตและสามัญชนมาชุมนุมกัน ก็จะมีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๓ นี้ออกมาให้นมัสการ ของสามสิ่งนี้มัก จะปรากฏรัศมีให้เห็น ด้านเหนือของอารามมี สถูปองค์หนึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุ องค์เจดีย์ ประดับด้วยกากเพชรและอัญมณีต่างๆ มักจะ ปรากฏรัศมีให้เห็นเนืองๆ

พระถังซำจั๋งได้บันทึกเป็นภาษาจีนแต่โบราณ ได้แปลโดย ซิว ซูหลุน ต่อไปอีกว่า ในบริเวณใกล้เคียงมีเจดีย์หลายร้อยองค์ ในวัด มีพระสงฆ์กว่า ๑๐๐ รูป จากนั้นก็เดินทางสู่ เมืองตปุสสะ และ เมืองภัลลิกะ ทั้งสองเมืองมีสถูปสูง ๓๐ ตึ๋งเศษ (๑ ตึ๋ง มาตราจีนเท่ากับ ๓.๓ เซ็นติเมตร)

ผู้อ่านคงจะจำชื่อ ท่านตปุสสะ และ ท่านภัลลิกะ ได้ว่าทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ได้พบ พระพุทธเจ้าแล้วได้รับพระเกศาธาตุด้วย ต่อมาได้นำไปบรรจุไว้ ปัจจุบันคือ พระเจดีย์ชะเวดากอง ประเทศพม่านั่นเอง แต่ในบันทึกของพระถังซำจั๋งบอกว่า นอกจากได้รับพระเกศาแล้วยังได้รับ พระนขา คือเล็บของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ประการสำคัญที่เคยถามกันว่า ใครเป็น ผู้ออกแบบการสร้างพระเจดีย์เป็นคนแรกไว้ใน พระพุทธศาสนา ในบันทึกนี้ได้ตอบไว้อย่าง ชัดเจนอีกว่า เมื่อท่านตปุสสะและภัลลิกะจะกลับ คืนบ้านเมืองของตน จึงทูลถามการทำสักการ บูชาควรมีแบบแผนอย่างไร

องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงพับผ้า สังฆาฏิให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมปูลงกับพื้น ลำดับ ต่อมาทรงเปลื้องจีวรและผ้าอีกผืนหนึ่ง พับให้ เป็นอย่างเดียวกันและปูซ้อนลงไป จากนั้นก็ คว่ำบาตรลงบนจีวร และตั้งไม้ขักขระ (น่าจะ เป็นไม้เท้า) ไว้บนบาตรอีกชั้นหนึ่ง

ด้วยลำดับดังกล่าวนี้ก็ปรากฏเป็นรูปร่างของสถูปขึ้น (ปัจจุบันเรียกพระเจดีย์แบบนี้ว่า ทรงบาตรคว่ำ หรือทรงระฆังคว่ำนั่นเอง) แล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับไปสร้างพระเจดีย์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้ดู และนั่นก็คือพระสถูปแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระถังซำจั๋ง ท่านหมายถึง “ชะเวดากอง” นั่นเอง


ท่านได้เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก ห่างจากเมืองหลวงออกไป ๗๐ ลี้เศษ มีสถูป องค์หนึ่งที่สร้างขึ้นแต่กาลสมัยพระพุทธกัสสป แล้วก็ได้เดินทางถึง แคว้นพามิยาน (ปัจจุบัน อยู่ในเขตอัฟกานิสถาน ที่เรียกกันว่า “เมืองบามิยัน” ตามที่มีข่าวเมื่อปีก่อนโน้นว่า ก่อนพวกตาลีบัน จะโดนอเมริกันถล่ม พวกเขาก็ได้ยิงปืนใหญ่ทำลายพระพุทธรูปที่แกะสลักอยู่บนหน้าผาเสียหายยับเยิน เมื่อมีนาคม ๒๕๔๔)


แต่ในสมัยที่พระถังซำจั๋งไปถึงนั้น มี ผู้คนนับถือพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมาก หนักแน่นมั่นคงกว่าคนในเขตแคว้นใกล้เคียงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพระรัตนตรัยหรือเทพเจ้าอื่นๆ ต่าง ก็ได้เห็นเทพเจ้าสำแดงปาฏิหาริย์กันเสมอๆ ภายในแคว้นมีอารามหลายสิบแห่ง มีพระภิกษุหลายพันรูป (ภายหลังได้พบ “คัมภีร์พุทธ” ที่ เก่าแก่ที่สุดภายในถ้ำหลังพระพุทธรูปใหญ่นี้)


จากนั้นท่านเดินทางข้ามเทือกเขาหิมาลัย บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก พบวิหารหลังหนึ่งประดิษฐาน พระเขี้ยวแก้ว และ พระทันตธาตุ ของพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อต้นกัปนี้ และ ยังมี พระทันตธาตุ ของพระสุวรรณจักรพรรดิ และมี บาตรเหล็ก ของพระศาณกวาสะด้วย

วัตถุศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๓ สิ่งนี้ ห่อหุ้มรักษาด้วยแผ่นทองคำ นอกจากนี้ยังมีสังฆาฏิสีแดเข้มของ พระศาณกวาสะ องค์อรหันต์อีกด้วย พระเถระองค์นี้เป็นศิษย์ของ พระอานนท์ ชาติก่อนท่านได้ถวายเสื้อแด่พระภิกษุสงฆ์ ชาติต่อๆ มาอีก ๕๐๐ ชาติ เสื้อตัวนี้ก็ติดกายมาทุกภพ และขยายใหญ่ขึ้นตามสภาพการเจริญเติบโตของร่างกาย

ครั้นเมื่อพระอานนท์จัดการอุปสมบทให้พระศาณกวาสะ เสื้อตัวนี้ก็กลายเป็นผ้ากาสาวพัสตร์ ครั้นเข้าสู่พระนิพพาน ท่านก็ละจีวรตัวนี้ไว้ให้ตราบเท่าพุทธธรรมจะเสื่อมสูญไป จีวรจึงจะถึงแก่กาลสลาย เวลานี้จีวรผืนนี้เริ่มปรากฏรอยชำรุดให้เห็นบ้างแล้ว

จากนั้นก็เดินทางผ่านแคว้นต่างๆ อีก มากมายจนถึง แคว้นนครหาร มีสถูปองค์หนึ่งเป็นสถูปที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างไว้ ณ ที่นี้ เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็น สุเมธดาบส ได้ทอดร่างกายของตนเป็นสะพานให้ สมเด็จพระพุทธทีปังกร เสด็จดำเนินผ่านไป แล้วได้รับพุทธทำนายว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พระถังซำจั๋งท่านได้บันทึกตอนนี้ไว้ว่า แม้ว่าจะผ่านยุคที่โลกถูกทำลายด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ มาแล้ว แต่ร่องรอยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ยัง ปรากฏอยู่ มิได้เลือนหายไปแต่อย่างใด โดย เฉพาะในวันอุโบสถ จะมีดอกไม้สดโปรยปราย ลงมาจากเบื้องบนอากาศ

พระฉาย - พระบาท - พระเกศาธาตุ

จากนั้นท่านก็เดินทางมาถึงเนินเขาศิลา มีวัดวาอารามและสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้ แต่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่เลย ด้านตะวันตก เฉียงใต้ของอารามมีธารน้ำตก และถ้ำเป็นที่ อยู่ของ พญานาคโคปาล ในกาลก่อน พระพุทธ เจ้าได้เคยเสด็จมาโปรดและประทาน พระฉาย ให้ไว้แก่พญาโคปาลนาคราช

นอกประตูถ้ำพระฉายมีศิลาสี่เหลี่ยม ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งมี รอยพระบาท ของพระพุทธ เจ้า รอยจักร บนพระบาทยังเห็นได้ลางเลือน และมักเปล่งรัศมีอยู่เสมอ ทางด้านตะวันตก เฉียงเหนือของสถูป เป็นสถานที่พระตถาคตเจ้า ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ภายในสถูปเป็นที่ประ ดิษฐาน พระเกศา และ พระนขา ของพระองค์

ใกล้เคียงกันนี้ ยังมีสถูปอีกองค์หนึ่ง เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา ทาง ด้านตะวันตกของถ้ำพระฉาย มีศิลาก้อนมหึมาก้อนหนึ่ง เป็นที่ซักฟอกจีวรของพระตถาคตเจ้า รอยผ้าจีวร ยังพอให้เห็นได้

ออกจากเมืองนั้นก็ได้มาถึง เมืองหิฑฺฑะ ในเมืองมีหอสูง บนชั้นสองมีสถูปขนาดย่อมๆ องค์หนึ่ง ภายในสถูปเป็นที่ประดิษฐาน พระอุษณีษอัฐิธาตุ ของพระพุทธเจ้า ขุมเส้นเกศา ยังแลเห็นได้ชัดเจน เป็นสีนวล ยังมีสถูปเป็นที่ประดิษฐาน พระสีสกฏาหะ (หัวกระโหลก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายใบบัวและ มีสีเดียวกับพระอุษณีษอัฐิธาตุ

ในหอสูงยังมีสถูปเป็นที่ประดิษฐาน พระจักษุธาตุ ของพระพุทธเจ้า ผ้าสังฆาฏิ ของพระพุทธเจ้า เป็นผ้ากรรปาสิกเสื้อละเอียด สีเหลืองอมแดง ก็ได้บรรจุไว้ในกล่องเดียวกัน เนื่องด้วยกาลเวลาผ่านไปนานวัน จึงปรากฏร่องรอยชำรุดบ้างแล้ว ส่วน ไม้ขักขระ (น่าจะ เป็นไม้เท้า) ของพระพุทธองค์ ใช้ดีบุกทำเป็น ห่วงบนยอด ตัวไม้เป็นไม้จันทน์ เก็บรักษา ไว้ในหีบมีค่า

วัตถุศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ ชิ้นนี้ มีเรื่องราว ปาฏิหาริย์มากมาย ต้องมีคนดูแลรักษา มีคน มากราบไหว้บูชาเนืองแน่นมิได้ขาด เคยมีพระ ราชาองค์หนึ่ง ทรงทราบว่าสิ่งของเหล่านี้ ล้วน เป็นอัฏฐบริขารของพระพุทธเจ้า จึงยกกำลังรี้ พลมาแย่งชิงเอาไป ทว่าเวลาผ่านไปไม่ทันได้ ๑๒ วัน ของมีค่าเหล่านี้ก็หายไป จึงส่งคนออก ติดตามหา ปรากฏว่าสิ่งของทั้งหมด ได้กลับ มาประดิษฐาน ณ สถานที่เดิม

สมัยพระเจ้ากนิษกะราชา

จากที่นี่ออกเดินไปในหุบเขาราว ๕๐๐ ลี้ถึง แคว้นคันธาระ (อยู่ในเขตอินเดียเหนือ) เมืองหลวงชื่อ ปุรุษปะ ทางด้านตะวันตกเฉียง เหนือของเมืองหลวง มีฐานเก่าแก่ฐานหนึ่งเดิม เป็นแท่นที่ประดิษฐาน บาตร ของพระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว บาตรใบนี้ ก็ตกมาอยู่แคว้นนี้ หลายร้อยปีผ่านมา ผู้คนก็ ได้ดูแลรักษาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ต่อมา ภายหลังได้หมุนเวียนไปสู่แคว้นอื่น เวลานี้ตก ไปอยู่ที่แคว้นปารสิก (ตำนานพระเจ้าเลียบโลก บอกว่าอยูที่ เมืองมวร (มธุ) นคร)

ส่วนปัจจุบันนี้ ผู้เขียนได้ไปพบ บาตร และ ผ้าสังฆาฏิ ของพระพุทธเจ้าที่วัดแห่งหนึ่ง ในเมืองเสากวาน ประเทศจีน โดยท่านอาจารย์ตักม้อนำมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งรับช่วงต่อ มานับเป็นลำดับรุ่นที่ ๒๗ จาก พระอานนท์ ซึ่งเดิมเป็นของ พระมหากัสสป

นอกเมืองหลวงออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๘ - ๙ ลี้ มีต้นโพธิ์อยู่ต้นหนึ่งสูงใหญ่ มีใบปกคลุมหนาแน่นแผ่ออกไปกว้างขวาง พระ พุทธเจ้า ๔ พระองค์ในอดีต เคยประทับอยู่ใต้ ต้นโพธิ์นี้ ปัจจุบันยังคงมีพระพุทธรูปประดิษ ฐานอยู่ ๔ องค์ ในภัทรกัปนี้ยังมีพระพุทธเจ้า อีก ๙๙๖ องค์จะเสด็จมาประทับ ณ ที่นี้เช่นกัน

สมัยพระศากยมุนีเคยประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์นี้ ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อตถาคต ดับขันธปรินิพพานได้ ๔๐๐ ปีแล้ว จะมีพระ ราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระกนิษกะราชา พระองค์จะทรงสร้างสถูปไม่ห่างไปจากที่นี่นัก อัฐิธาตุและมังสะธาตุส่วนใหญ่ของตถาคต จะ ถูกนำมาเก็บไว้ในสถูปนี้

ต่อมาพระราชาก็ได้อุบัติขึ้น แล้วทรง สร้างพระมหาสถูปและสถูปเล็กรายล้อม ๑๐๐ สถูป พระตถาคตเจ้าเคยตรัสทำนายไว้ว่า มหา สถูปองค์นี้ ภายหลังจากถูกเผาผลาญไป ๗ ครา และสร้างใหม่ขึ้นอีก ๗ คราแล้ว พระพุทธ ศาสนาก็จะสิ้นสลายลง

ชาวท้องถิ่นเล่าว่า สถูปองค์นี้ถูกเผาผลาญไปแล้ว ๓ ครั้ง และสร้างขึ้นใหม่เป็น ครั้งที่ ๓ แล้ว เมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางมาถึง แคว้นนั้นก็พอดีกับสถูปเพิ่งถูกไฟเผาผลาญไป และขณะนั้นกำลังก่อสร้างใหม่อยู่ งานยังไม่ ทันแล้วเสร็จ



จาก “หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย” โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ กล่าวว่า...

ในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มากที่สุดคือในสมัย พระเจ้ากนิษกมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ พ.ศ. ๖๒๑ – ๖๔๔ พระ องค์มีเมืองหลวง ๒ แห่ง คือที่ ปุรุษปุระ ปัจจุบันคือ เปชวาร์ ของปากีสถาน และเมือง ชาลันธร หรือ จาลาลาบาด ในอัฟกานิสถาน ปัจจุบัน

ในยุคนี้ได้มีการสร้างพระอารามเกิด ขึ้นมาอย่างมากมาย รวมทั้งพระพุทธรูปยืนที่ หุบผาบามิยัน ด้วย (ห่างจากกรุงคาบูล เมือง หลวง ๑๔๕ ไมล์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) และในสมัยของพระองค์ได้เป็นองค์อุปถัมภ์ การทำสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่ชาลันธร หรือ จาลาลาบาดด้วย (บางตำราว่าที่แคว้นกัศมีระ)

พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในอัฟกานิสถาน นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อกันว่า เริ่มสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ราวพ.ศ. ๒๓๔ โดยพระองค์ ได้ส่งพระธรรมทูต ๙ สายออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสายที่ ๒ โดยการนำของ พระมัชฌันติกเถระ พร้อมคณะได้เดินทางไปกัศมีระและ คันธาระ

พระมหาเถระองค์นี้ตามประวัติ ท่าน เป็นศิษย์สายตรงของพระอานนท์ และอาณา จักรคันธาระก็ไม่ไกลจากอัฟกานิสถาน และ บางครั้งอาณาจักรก็ขยายครอบไปถึงอัฟกานิส ถานด้วย พระพุทธศาสนาจึงเป็นที่รู้จักของชาว อัฟกันตั้งแต่นั้นมาวาระสุดท้าย

พระพุทธศาสนาได้เข้าถึงยุคอวสานเมื่อพระศาสดา “นบีมูหัมหมัด” สถาปนาศาสนา อิสลามขึ้นที่ซาอุดิอารเบีย ต่อมาสาวกก็เริ่ม เผยแพร่ศาสนาโดยวิธีรุนแรง โดยตั้งกองทัพ เข้าโจมตีหลายแห่ง เช่น ยุโรป ยึดได้กรีก สเปน อิตาลี จนถึงครึ่งหนึ่งของยุโรป แต่ต่อมาก็ถูก ตีโต้กลับ

เมื่อสมรภูมิทางยุโรปหยุดชะงัก จึงเข้า โจมตีอาฟริกาเหนือ ยึดได้ลิเบีย อียิปต์ โมร็อกโค ต่อจากนั้นก็เดินทัพเข้าโจมตีเอเชียใต้ ยึดได้ เมโสโปเตเมีย (อิรัก) ยึดเปอร์เซีย (อิหร่าน) แม้นว่าชาวเปอร์เซียที่นับถือศาสนาโซโรอัส เตอร์ จะพยายามต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ท้ายสุด ก็พ่ายแพ้ กองทัพมุสลิมจึงยึดอาณาจักรเปอร์เซีย ได้เด็ดขาดราว พ.ศ. ๑๒๐๐

เมื่ออาณาจักรเปอร์เซียแตก อัฟกานิส ถานซึ่งอยู่ด้านบนจึงเป็นเป้าหมายต่อไป กอง ทัพมุสลิมได้เข้าโจมตีอย่างหนัก สุดท้ายอาณา จักรพุทธศาสนาในอัฟกานิสถานก็พังพินาศ วัดวาอาราม พระสงฆ์จึงถูกทำลายลงหมด แม่ ทัพมุสลิมที่เข้าโจมตีอัฟกานิสถาน มีนามว่า โกไลบาเบน ๑ ได้บังคับให้พุทธศาสนิกชนฮินดู และปาร์ซีนับถืออิสลาม

ในช่วงต้นอาจจะเป็นเพราะถูกบังคับ แต่เมื่อผ่านไปหลายรุ่น พวกเขาจึงเป็นอิสลาม ศาสนิกชนเต็มตัว แต่พุทธสถานบางแห่งยังพอหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันอันเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าบรรพบุรุษชาวอัฟกันนับถือพุทธศาสนามาก่อน บทวิเคราะห์ของท่านก็มีเพียงแค่นี้


แต่ที่สำคัญที่สุดและแปลกที่สุดนั่นก็คือ มีข่าวจาก คุณคณานันท์ ทวีโภค แจ้งว่าได้พบ ภาพนี้ทางอินเตอร์เนต คือเป็นรอยเท้าขนาด ใหญ่บนก้อนหินดำ ในวิหารกาบะ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย ตามที่อิสลามิกชนทั้ง หลาย จะต้องขวนขวายเดินทางไปกราบไหว้ ก้อนหินดำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ตามที่คุณคณานันท์เล่าให้ฟังว่า ได้ดูรายการเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกแล้ว จึงได้รู้ว่า แท่งหินดำนี้มีคนไหว้คนบูชากันมาก่อนจะตั้ง ศาสนาอิสลามนานแล้ว ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลาง ที่มีคนเคารพนับถือทั้งตะวันออกกลางมาแต่ โบราณกาล

จึงทำให้มีข้อคิดว่า ดินแดนที่พระถังซำจั๋งจาริกนั้น ได้พบกับรอยพระพุทธบาทหลายแห่ง ต่อมาก็ได้ถูกทำลายไปอย่างที่กล่าวแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ปูชนียสถานเหล่านี้อาจ จะมีการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะรอยเท้าขนาด ใหญ่นี้ มีลักษณะที่แตกหักแล้วนำมาต่อกันไว้

ซึ่งก่อนที่พระถังซำจั๋งจะเดินทางเข้ามา นั้น ได้มีคณะสงฆ์จีน ๒ ชุด ที่เดินทางเข้ามา ตอนเหนือของอัฟกานิสถานคือ พระฟาเหียน ได้ออกจาริกแสวงบุญจากแผ่นดินจีนตั้งแต่ พ.ศ. ๙๔๒ ท่านได้เขียนรายงานไว้ในจดหมายเหตุ ของท่านว่า

“ที่แคว้นอุทยาน (ตอนเหนือของอัฟกา นิสถาน และปากีสถาน) มีสังฆาราม ๕๐๐ แห่ง พระสงฆ์เป็นฝ่ายหินยานทั้งหมด มี รอยพระ พุทธบาท อยู่แห่งหนึ่ง และสถานที่อีกแห่งที่ เชื่อกันว่า พระพุทธองค์เคยตากผ้า ไว้เป็นศิลาสูง ๔๐ ศอก และที่แคว้นปุรุษปุระมีวัดมากมาย มีวัดใหญ่แห่งหนึ่งมีพระสงฆ์ ๗๐๐ รูป พระเจ้ากนิษกะได้สร้างสถูปหลายแห่งไว้เป็นที่สักการะ นอกนั้นยังมีบาตรของพระพุทธองค์อยู่ที่นี่ด้วย”

ต่อมาในยุคสมัยที่ พระถังซำจั๋ง หรือ พระเฮี้ยนจัง เดินทางมาราว พ.ศ. ๑๑๗๒ (ค.ศ.๖๒๙) เพื่อไปศึกษาและอัญเชิญพระ ธรรมคัมภีร์ ที่ขาดแคลนในเมืองจีนเวลานั้น พระเจ้าถังไทจง พระองค์นี้ เป็นปฐมกษัตริย์จีน ที่ทรงบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด

พระถังซำจั๋งเดินทางออกจากด่านเง็กนิ่งกวน ข้ามทะเลทรายมกฮ่อเอี๋ยง ผ่านเมือง อีอู๊ (ฮามิ อยู่ในมณฑลซินเกียง) ผ่านแคว้น เกาเชียง แล้วผ่านการาชาร์ แคว้นคุจี ข้ามเทือก เขาเทียนซาน ผ่านทะเลสาปอิสสิกุล แล้วผ่าน เข้าเตอรกีสถาน ผ่านแคว้นต่างๆ มีแคว้นสมาร กันด์เป็นต้น เข้าอาฟกานิสถานสู่อินเดีย

ท่องเที่ยวศึกษาพระธรรมวินัย และกราบไหว้ พระพุทธรูป พระพุทธบาท และพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ในอินเดียจนถึง พ.ศ. ๑๑๘๘ (ค.ศ. ๖๔๕) จึงกลับคืนนครซีอาน ท่านเดินทางกลับ ในเส้นทางเดิม บันทึกของพระถังซำจั๋งมีชื่อว่า “ไต้ถังไซฮกกี่” แปลว่า บันทึกเรื่องประเทศตะวันตก สมัยมหาราชวงศ์ถังถือว่าเป็นหนังสือ ที่ทรงคุณค่าและดังที่สุดในสมัยนั้น

ตอนนี้ขอย้อนกลับมาตอนที่พระถังซำจั๋งเดินทางไปถึง เมืองปุษกลาวตี ซึ่งอยู่ห่าง จากอารามกนิษกะราชา ๕๐ ลี้ มีสถูปองค์หนึ่ง สูงหลายร้อยเฉียะ พระเจ้าอโศกมหาราชทรง สร้างไว้ เมื่อครั้งศากยมุนีพุทธเจ้าทรงเสวย พระชาติเป็น พระราชา ของแคว้นนี้ ๑,๐๐๐ ชาติ และได้สละพระเนตรให้เป็นทานนั้นสิ้น ๑,๐๐๐ ชาติ

ต่อจากนั้นก็เดินทางผ่านอีกหลายเมืองจนถึง แคว้นอุทยาน (แคว้นนี้อยู่ในอาณาเขต อินเดียเหนือ ใกล้แคชเมียร์) ห่างออกไปทาง ด้านตะวันออกของเมืองมังคลี มีสถูปใหญ่องค์ หนึ่ง ศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวย พระชาติเป็น “กษานติวาทิน” คือเป็นฤาษีทีมี ขันติ สมัยนั้นพระเทวทัตเกิดเป็น กลิราชา ได้ทดสอบโดยสั่งบั่นมือและเท้าจนสิ้นพระชนม์ ณ สถานที่นี้

จากเมืองมังคลีต่อไปอีก ผ่านภูเขาใหญ่ ถึง “ตาน้ำอะปะลาล” ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำ ศุภวัสตุ นาคที่อาศัยอยู่ที่นี่กลับชาติเกิดเป็น มนุษย์ในสมัยพระพุทธกัสสป ชื่อว่า “คัณคิ” สามารถปราบนาคร้ายอื่นๆ มิให้ทำฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงให้เสบียงอาหารเป็นประจำ

ต่อมาบางครอบครัวหลีกเลี่ยงที่จะส่งเสบียงให้ต่อไป คัณคิตายแล้วจึงกลับไปเกิด เป็นนาคร้ายบันดาลให้แม่น้ำกลายเป็นสีขาวขุ่น สร้างความหายนะแก่พื้นดินและพืชผลในนา อย่างมหันต์ ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จโปรด จนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ถัดจากตาน้ำนี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐ ลี้เศษ ทางเหนือของฝั่งแม่น้ำ มีศิลาแบน ราบเรียบก้อนมหึมาก้อนหนึ่ง บนศิลามี รอยพระ พุทธบาท ซึ่งอาจวัดขนาดได้ยาวและสั้นแตกต่างกันไป สุดแท้แต่บุญวาสนาของผู้อธิษฐาน

รอยพระบาทนี้เป็นรอยพระบาทที่พระพุทธองค์ประทับไว้เมื่อครั้งเสด็จมาปราบ พญาอะปะลาลนาคราช คนรุ่นหลังจึงสร้างคูหาบน ศิลายักษ์นี้ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้และไกลพากันมา สักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม ล่องไปตามลำน้ำ ๓๐ ลี้เศษ มาถึงศิลาที่พระตถาคตเจ้า ซักฟอกจีวร รอยเส้นของจีวรยังเห็นได้ชัด เจน ประหนึ่งจำหลักไว้

(สถานที่สองแห่งนี้ หลวงจีนฟาเหียน ก็ได้มานมัสการแล้วเช่นกัน ซึ่งสถานที่เหล่านี้ มีคล้ายกับบ้านเรา คือที่ วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตามที่ผู้เขียนเคยเล่าไว้แล้ว)

จากนั้นพระถังซำจั๋งก็เดินทางไปถึง หิฑฺฑคีรี ขุนเขาสูงลิบคดเคี้ยวเลี้ยวลด มีดอก ไม้นานาพันธุ์ บางครั้งจะมีเสียงคนคุยกัน บาง ครั้งเป็นเสียงดนตรีแผ่วแว่วมา แท่นหินสี่เหลี่ยม คล้ายเตียงนอน เหมือนมีคนมาสร้างไว้ ตั้ง เรียงรายกันเป็นระยะๆ เต็มหุบเขา ที่นี่เคยเป็น ที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น ดาบส สละชีพ เพื่อขอฟังพระธรรมกถาอีกครึ่งบทให้จบ

หลังจากนั้นก็ไปถึงอารามชื่อ มหาวนา ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็น สวรทัตตะราชา ทรงสละราชสมบัติแล้ว พบคนยากจนผู้หนึ่งมาขอทาน แต่ไม่มีอะไรจะให้ จึงให้ มัดพระองค์ไปถวายพระราชาฝ่ายอริศัตรู เพื่อ รับเงินสินบน ถือว่าเป็นทานที่พระองค์มอบให้

จากอารามมหาวนาไปลงจากภูเขาเดิน ต่อไปอีกถึง อารามมยูขะ ในอารามมีศิลาสี่ เหลี่ยมก้อนมหึมาอยู่ใกล้ๆ สถูปเป็น รอยพระบาท ของพระพุทธองค์ประทับอยู่ จำเดิมเมื่อพระบาทของพระตถาคตเจ้าเหยียบลงบนศิลา ปรากฏเปลวรัศมีพวยพุ่งส่องสว่างรุ่งโรจน์ทั่วพิภพไพศาล พระองค์ทรงแสดงเทศนานิทานชาดกแก่มนุษย์และเทวดา

ภายในฐานสถูปนี้มีศิลาก้อนหนึ่ง สีนวล เป็นมันลื่น สีไม่เปลี่ยนแปลง ที่นี่เป็นที่ที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ ทรงใช้พระอัฐิธาตุของพระองค์เอง จารึกพระคัมภีร์ในขณะที่ทรงสดับพระสัทธรรม

ทางด้านตะวันตกของอารามมยูขะ มี สถูปซึ่งพระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น สิวิกราชา ทรงเฉือนพระมังสา (เนื้อ) ของพระองค์เป็นค่าไถ่นก พิราบจากปากเหยี่ยว เพื่อมุ่งหวังในพุทธผล จากสถูปนี้ไปอีกก็มีสถูปเมื่อครั้งเสวยพระชาติ เป็น ท้าวสักกเทวราช แล้วแปลงร่างลงมาเป็นงูเหลือม อุทิศเนื้อให้ผู้คนกินเพื่อหายจากโรค ระบาดและทุพภิกขภัยทั้งหลายในเวลานั้น

จำเนียรกาลเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น ราชาแห่งมยุรชาติ (เกิดเป็น พญานกยูงทอง) ได้มาถึงที่นี่พร้อมเหล่ามยุราทั้งปวง ด้วยความที่ ทั้งร้อนและกระหายน้ำ จึงใช้จงอยปากเจาะหิน ผาให้น้ำไหลออกมา ปัจจุบันที่ตรงนี้กลายเป็น สระน้ำ จะดื่มหรือใช้อาบก็รักษาโรคได้ จนบัดนี้ยังมี “รอยตีนนกยูง” ประทับอยู่บนศิลานั้น ดังนี้แล...

◄ll กลับสู่สารบัญ




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 3/4/11 at 10:18 Reply With Quote


รอยเท้าพระโพธิสัตว์ <*center>


...เป็นอันว่า เรื่องราวของ "พระถังซัมจั๋ง" ขอมายุติไว้เพียงแค่นี้ก่อน เพราะได้ดำเนินเรื่องมาถึง ตอนที่มี รอยเท้าพระโพธิสัตว์ ประทับอยู่บนหิน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกี่ยวเนื่องกันกับที่บ้านเรา รอยเท้านกยูงทองนี้ก็มีที่ วัดพระบาทตีนนก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ รอยอุ้งเท้าเสือ ที่ได้พบเห็นที่ก้อนหินใหญ่บนเขา บ้านมอม เมืองสิงห์ ประเทศลาว



รถวิ่งกลับมาที่หมู่บ้านมอมอีกครั้งหนึ่ง แจกลูกอมให้แก่เด็กๆ ก่อน


สรุปใจความได้ว่า ก้อนหินนี้คงจะเป็น แท่นประทับนั่ง ของพระพุทธเจ้า จึงได้บูชาด้วย ผ้าห่มสีทอง ดอกดาวเรือง และบายศรีดอกไม้ ที่เตรียมไปด้วย จากนั้นก็เดินกลับลงมาที่รถจอดอยู่ที่หมู่บ้านชาวเขา ได้แจกลูกท๊อฟฟี่ให้แก่เด็กๆ แล้ว จึงออกเดินทางต่อไปตามถนน ลูกรังในเวลาประมาณ ๑๔.๔๕ น.



สภาพถนนในระหว่างนี้ บางช่วงจะต้องข้ามสะพานไม้อย่างที่เห็นนี่แหละ


ตามที่ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า พระธาตุเชียงทิม (ตึม) บริเวณนี้พระพุทธเจ้าเคยเสด็จ มาฉันภัตตาหาร และบ้วนพระโอษฐ์ (ปาก) ไปทางหนองศาลา ต่อมามี พระยาตันไฮ ชาวอินเดียมาสร้างพระธาตุไว้พร้อมกับพระธาตุ หลวงเวียงจันทน์ สถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐาน ดังนี้

๑. พระบรมธาตุเอ็นไหล่ซ้าย, หินลับ มีด, มีดโกน, และกระดูกคอ
๒. พระแท่นที่ประทับนั่ง
๓. หนองศาลา ต้นไทรคู่
๔. ถ้ำลับแล บ่อน้ำกบเผือก
๕. บ่อน้ำทิพย์ “น้ำบ่อแก้วหลวง”




พระธาตุเชียงทิม (ตึม)



พระแท่นที่ประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ด้านหลังศาลา



จึงได้เข้าไปสำรวจใกล้ๆ



วางพวงมาลัยดาวเรืองบูชาไว้บนพระแท่น



ภาพรวมในระยะไกล



ภ่ายภาพหมู่กันที่ด้านหน้าพระธาตุเชียงทิมเป็นที่ระลึก เพราะโอกาสไปยากเหลือเกิน

พระธาตุเชียงทิมนี้ อยู่ที่บ้านตีนธาตุ เมืองสิงห์ หลวงน้ำทา ถ้าถนนหนทางดีกว่านี้ จะสามารถเดินทางสู่สิบสองปันนา ประเทศจีน ได้ พวกเราได้นำผ้าห่มที่องค์พระเจดีย์ที่ทาสี ทอง และบูชาพระแท่นประทับนั่ง, หนองศาลา และขึ้นบันได ๑๗๐ ขั้นไปที่บ่อน้ำทิพย์ หลัง จากทำพิธีบวงสรวงบูชาด้วยดอกไม้ของหอม ครบถ้วนแล้ว จึงออกเดินทางต่อไปอีก



หลังจากทำพิธีบวงสรวงแล้ว จึงได้เดินไปชม "หนองศาลา"



มองเห็นเป็นทุ่งหญ้ากว้าง



ปัจจุบันไม่มีน้ำเหลืออยู่ในหนองเลย



ที่หนองศาลามีต้นไทรคู่อยู่ตรงทางเข้า



จากนั้นเดินลงบันได ๑๗๐ ขั้น เพื่อไปที่บ่อน้ำทิพย์



ก้อนหินที่กลิ้งลงมาปิดปากถ้ำลับแล สรงน้ำหอมที่ปากถ้ำลับแลนี้ก่อน



แล้วบูชาด้วยดอกไม้และสรงน้ำหอมที่ "บ่อน้ำกบเผือก" ซึ่งปัจจุบันแห้งไปแล้ว



โปรยดอกไม้ที่ "บ่อน้ำทิพย์น้ำแก้วหลวง" ได้อธิษฐานดื่มกินด้วย


ในคืนนั้นได้มาค้างที่ วัดหลวงขอนรัตนาราม บ้านหลวงขอน หลวงน้ำทา ได้ร่วมกันถวายปัจจัย ๑,๐๐๐ บาท บูรณะซ่อมแซม พระธาตุปุ้มปุ๊ก ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุบรมธาตุ ส่วนก้นกบของพระพุทธเจ้า และสร้างโรงเรียน ในหมู่บ้านนี้อีกด้วย



กลับมาพักค้างคืนที่ วัดหลวงขอนรัตนาราม แขวงหลวงน้ำทา


หลวงน้ำทา - อุดมชัย


วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๔ ออกเดินทางเวลา ๐๖.๒๐ น. แวะที่ตลาดซื้อเสบียงอาหาร แล้วฉันเช้าไปบนรถ สภาพถนน ตอนนี้ดีขึ้น เป็นถนนลาดยางแต่ไม่ค่อยเรียบ ถนนแคบไม่กว้างเหมือนบ้านเรา เป็นถนนที่ วิ่งลงไปถึงหลวงพระบางและนครเวียงจันทน์



ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกบนพระธาตุมิ่งเมือง แขวงอุดมชัย

พวกเราได้อาศัยรถที่เช่าเดินทางมาถึงเมืองอุดมชัย หรือตามสำเนียงลาวว่า "อุดมไซ" นั่นเอง โชเฟอร์ชาว ลาวชื่อว่า "บุญปอน" (บุญพร) พาเข้าไปไหว้ พระธาตุชัยมงคลรัตนมิ่งเมือง (พระธาตุมิ่งเมือง) เป็นพระธาตุสร้างใหม่ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๗ โดยทางส่วนราชการ จะต้องเดินขึ้นไปบนพระธาตุ จึงจะเห็นวิวรอบเมืองอุดมชัยได้ ชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นจีนฮ่อไม่นับถือศาสนาพุทธ



บนพระธาตุได้แจกลูกอม แก่เด็กๆ ที่มาวิ่งเล่นแถวนั้นแล้ว

ครั้นได้กราบไหว้บูชาและแจกลูกอม แก่เด็กๆ ที่มาวิ่งเล่นแถวนั้นแล้ว จึงออกเดินทางต่อไป ณ บ้านลองยา เมืองไชย (เมืองไซ) แขวงอุดมชัย เพราะทราบว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็น จุดสำคัญที่พวกเราจะต้องไป เนื่องจากมีรอยพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์



แวะฉันเพลที่ริมลำธาร ก่อนถึงบ้านลองยา



นั่งทานอาหารกลางวันเคล้าบรรยากาศตามธรรมชาติ



แต่สภาพธรรมชาติในลาวก็เริ่มเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

ก่อนที่จะถึงได้แวะฉันเพลในระหว่าง ทางที่ริมลำธาร บรรยากาศธรรมชาติดี และได้พบสามเณรรูปหนึ่งชื่อ สามเณรคำผง นันทวงศ์ จึงชักชวนให้ช่วยนำทางไป จอดรถแล้วเดินเข้าไป มองเห็นมณฑปครอบพระพุทธบาทที่ก่อด้วยอิฐมอญ หลังคามุงกระเบื้องสีเทา



มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท บ้านลองยา

เมื่อเดินเข้าไปข้างในพบว่า มีก้อนหินวางเรียงกันอยู่ ๓ ก้อน เป็นรูปวงรี มีลักษณะเป็นรอยเบื้องซ้ายทั้งหมด แต่รอยที่อยู่ตรงกลาง มีรอยซ้อนกัน ๔ รอย มีเฉพาะครึ่งส้น พื้นสีของหินแต่ละรอยไม่เหมือนกัน



จอดรถไว้แล้ว ต้องเดินต่อไปที่รอยพระพุทธบาท



พบว่ารอยพระพุทธบางอยู่ในมณฑป เป็นก้อนหินธรรมชาติวางอยู่ ๓ ก้อน



คุณชวกานต์ (ปุ้ย) เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจเพื่อวัดขนาดรอยพระพุทธบาท







คุณน้อยและลูกสาว คือคุณกุ้ง และคุณทีน่า จดบันทึกข้อมูลและช่วยทำบายศรี



คุณอภิมุข (ตุ๊) บันทึกวีดีโอ ส่วนภาพนิ่ง คุณวัชรพล (บุ๋ม)
คุณอธิกกลับไปก่อน และคุณสุชัย (ท้ง) ไม่ได้ไปด้วย แต่เป็นเจ้าภาพจัดอัลบัมภาพทุกงาน

ได้สอบถามทราบว่า นายจันที เป็นผู้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทรอยที่อยู่ตรงกลาง ส่วนรอยที่อยู่ซ้ายขวานั้น ได้นำมาจากภูเขาใกล้ๆ แถวนั้น ซึ่งพวกเราก็ได้สำรวจดู นอกพระมณฑป พบว่ามีรอยเท้าสัตว์ที่ปรากฏ อยู่บนก้อนหินอีกด้วย จึงได้ไปหานายจันทีที่ บ้านแต่ก็ไม่พบ จึงได้ฝากเงินร่วมสร้างมณฑป เพิ่มเติมอีก ๒,๐๐๐ บาท



ด้านนอกมณฑปจะมีหินรอยเท้าของสัตว์ต่างๆ อีกด้วย



เมื่อพร้อมแล้วจึงได้ทำพิธีบวงสรวง แล้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึก


จากนั้นก็ได้บูชาด้วยผ้าห่มสีทองทั้ง ๓ รอย ซึ่งได้รับคำบอกเล่าว่า แต่ก่อนมีชาวบ้าน คิดที่จะขยับก้อนหินพระบาทนี้ (ก้อนกลาง) ต่อมาก็ได้ตายไปถึง ๔๐ คน ในวันพระจะมี ช้างป่ามาบูชาพระพุทธบาทและมีแสงขึ้นด้วย

พวกเรารู้สึกดีใจมาก ที่ได้มาพบสถาน ที่สำคัญในลาวเหนือครั้งนี้ จึงได้ทำความสะอาด ปัดกวาดกัน แล้วก็บูชาด้วยผ้าห่ม ดอกดาวเรือง โดยรอบ และบายศรีที่เตรียมไปด้วยทุกแห่ง พอดีนายบุญปอนเล่าเรื่อง “พระสิงห์คำ” ที่ ชาวบ้านบอกไว้ จึงสนใจขอให้นำไปทันที



นายบุญปอนเล่าเรื่อง "พระสิงห์คำ" ให้หลวงพี่ฟัง



จากนั้นไปที่บ้านนายจันที (ผู้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาท) แต่ไม่พบ



ระหว่างนี้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับไก่งวงที่หน้าบ้าน



คุยกับนายคำสิงห์ (โหรประจำหมู่บ้าน) ถวายน้ำชาให้ด้วย


"พระสิงห์คำ" พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาว



เมื่อไปถึง วัดพระสิงห์คำ เมืองล่า เข้าไปภายในพระวิหารแล้ว ได้กราบไหว้พระพุทธรูปศิลาสิงห์คำ ปางมารวิชัย หน้าตัก ๒๕ นิ้ว เดิมทรงเครื่อง ตามประวัติเล่าว่า

พญานาคราชเป็นผู้มาหล่อไว้ที่ประเทศศรีลังกา และพญานาคตนนี้นิพพานไปแล้วได้ ๑๐๐ กว่าปี เดิมนั้นเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง จักรพรรดิ คือบนพระเศียรสวมชฎา มีสร้อย สังวาลย์ กำไลข้อแขน และเครื่องประดับเป็น เพชรนิลจินดา คล้ายพระแก้วมรกต ส่วนองค์ ก็หล่อด้วยทองคำทั้งองค์ ทำให้เจ้าเมืองหลายเมืองคอยแย่งชิงพระพุทธรูปองค์นี้กันอยู่หลาย ศตวรรษ

พระพุทธรูปศิลาสิงห์คำประดิษฐานอยู่ที่นี่ ๔๐๐ กว่าปีแล้ว โดยชาวบ้านพบอยู่ใน แม่น้ำขณะที่ทอดแห แล้วพระพุทธรูปติดขึ้นมา สมัยก่อนนั้นหากเป็นวันอุโบสถ พระพุทธรูป จะหายไปและจะกลับมาอยู่ที่เดิมเอง เดี๋ยวนี้ไม่ หายไปแล้ว และพบว่าเครื่องประดับต่างๆ ที่มี อยู่ก็หายไปหมด เจ้าอาวาสเล่าว่ามีคนขโมยหัวใจกับเกศไป



"พระสิงห์คำ" ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังนี้



นายดวงจันทร์ (เสื้อแดง) เป็นอาจารย์วัด ได้มาเปิดประตูให้เข้าไปกราบถึงองค์พระ



ปกติจะปิดกุญแจ ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปด้านใน



ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับพระที่วัดและเจ้าหน้าที่ของวัด


คำไหว้พระสิงห์คำ


พุทธะ สีรัง สุวัณณะ ลังกา ทีเป ทิตัง มะหิงสา ปากะตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ

ข้อน้อยขอน้อมไหว้พระสิงห์คำ ที่ประ ดิษฐานสร้างอยู่ดอยลังกา และสถิตอยู่ภูควาย ที่นี่ตลอดกาลนานเทอญฯ

ครั้นได้กราบไหว้บูชาแล้ว จึงออกไป ชมบ่อน้ำร้อน ซึ่งมีรสเค็มเหมือนเกลือ เดิม ตั้งใจจะไปอาบกัน แต่เมื่อไปชมพบว่ามีเด็กและ มีชาวต่างประเทศอีกด้วย จึงเดินทางย้อนกลับ ไปพักค้างคืนที่หลวงน้ำทา



ก่อนหลับแวะชมบ่อน้ำร้อนที่เป็นบ่อเกลือ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดพระสิงห์คำ



นับว่าโชคดีที่ได้พบสถานที่สำคัญหลายแห่งของลาว เกินกว่าที่คิดไว้


หลวงน้ำทา - เชียงของ - อุทัยธานี



วันที่ ๑๙ ม.ค. ๔๔ ระหว่างเดินทางกลับ จอดรถเพื่อนำเสบียงลงมาจัดการกัน



แล้วปูผ้าพลาสติกถวายเพลหลวงพี่ และพวกเราก็รับประทานอาหารกัน



จากนั้นก็ข้ามฝั่งโขงที่ห้วยทราย เดินทางไปที่วัดพระแก้ว เชียงของ กันต่อไป

วันศุกร์ที่ ๑๙ จึงเดินทางข้ามแม่น้ำโขง กลับมาถึงเชียงของเวลา ๑๔.๐๓ น. โดยแวะพักฉันเพลกลางทางที่บ้านน้ำทุง แล้วเข้ามาที่ วัดพระแก้ว เพื่อกราบไหว้พระเกศาธาตุ จากนั้นเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เจ้าอาวาสฟัง โดยเฉพาะเรื่องฝนที่ตกลงมาปรอยๆ ที่วัดพระแก้วนั้น แต่ทางลาวฝนกลับตกใหญ่ในคืนที่จะออกเดินทาง หลังจากนั้นจึงกราบลาท่านออกเดินทางกลับวัด...สวัสดี

☺...จึงขอเชิญพบกับเรื่องราวการเดินทางย้อนกลับไปอีกในปี ๒๕๕๔ คลิกที่นี่




webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved