ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 27/9/10 at 14:25 Reply With Quote

ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคอีสาน - ลาว" (ครั้งพิเศษ) 20-30 มิ.ย.2541


ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคอีสาน-ประเทศลาว" (ครั้งพิเศษ)


วันที่ ๒๗ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑



(รอยพระพุทธบาท ณ ปราสาทวัดพู นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว)

ตามที่ได้เกริ่นเอาไว้เมื่อฉบับที่แล้วว่า จะ เล่าเรื่องการไปอีสานต่อจากคราวที่แล้ว เพราะปี ๒๕๔๑ ได้มีโอกาสเดินทางไปภาคอีสาน ๓ ครั้ง พอที่จะสรุปได้ดังนี้ คือ....

ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๔๑
ครั้งที่ ๒ (พิเศษ) วันที่ ๒๐ - ๓๐ มิ.ย. ๔๑ และ
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๓ - ๒๕ ต.ค. ๔๑

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าเหตุการณ์เดินทางเมื่อ วันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๔๑ ผ่านไปแล้ว ถือเป็นภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ โดยการทำพิธีต่อจากภาคอีสาน ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๓๘ ส่วนฉบับนี้เป็นเรื่องของภาคอีสาน ครั้งพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๐ - ๓๐ มิ.ย. ๔๑ ปรากฏว่ามีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น จึงมีการเดินทางไปภาคอีสานอีกเป็น ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ ต.ค. ๔๑ จึงเป็นการทำพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติ ครบถ้วนภาคอีสานทั้งหมดคือ ภาคอีสาน ตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน และภาคอีสาน ตอนกลางทั้งหมด พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ

ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๙ - ๒๑ พ.ค. ๓๘
๑. รอยพระพุทธบาทภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ
๒. พระธาตุพนม จ.นครพนม
๓. พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๒ - ๑๔ มิ.ย. ๔๑
๑. รอยพระพุทธบาท ณ กลางดง จ.นครราชสีมา
๒. รอยพระพุทธบาท จ.หนองบัวลำภู
๓. พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
๔. พระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
๕. พระพุทธบาทภูควายเงิน อ.เชียงคาน จ.เลย
๖. พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย

ครั้งพิเศษ วันที่ ๒๐ - ๓๐ มิ.ย. ๔๑
๑. พระพุทธบาทถ้ำผาทอง อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
๒. พระพุทธบาทเขาเหล็ก อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
๓. พระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
๔. พระพุทธบาทภูผาแดง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
๕. พระพุทธบาทคอแก่ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๖. พระพุทธบาทวัดสร้างฤาษี อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๗. พระธาตุบุ (โพนจิกเวียงงัว) อ.เมือง จ.หนองคาย

ข้ามไปประเทศลาวทางหนองคาย
๘. พระพุทธบาทโพนสวรรค์ เวียงจันทน์
๙. พระพุทธบาทโพนฆ้อง เวียงจันทน์
๑๐. วัดพระบาทใต้ หลวงพระบาง
๑๑. ถ้ำติ่ง หลวงพระบาง
๑๒. พระพุทธบาทพูสี หลวงพระบาง
๑๓. วัดโพนพะเนา เวียงจันทน์
๑๔. พระพุทธบาทภูเขาควาย เวียงจันทน์
๑๕. พระพุทธบาทเอวขัน เวียงจันทน์
๑๖. พระธาตุหลวง เวียงจันทน์
๑๗. พระพุทธบาทโพนฉัน บริคำไซ

เดินทางกลับมาฝั่งไทยอีก
๑๘. พระพุทธบาทนาหงส์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
๑๙. วัดทุ่งธาตุ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

ข้ามไปลาวทางมุกดาหาร
๒๐. พระธาตุอิงรัง (ฮัง) สุวรรณเขต
๒๑. พระพุทธบาทถ้ำพระ สุวรรณเขต

เดินทางกลับมาฝั่งไทยอีก
๒๒. พุทธอุทยานดานพระบาท จ.อำนาจเจริญ
๒๓. วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสา จ.อุบลราชธานี

ข้ามไปลาวทางช่องเม็ก
๒๔. วัดสีพระบาท ปากเซ จำปาศักดิ์
๒๕. วัดพู (ภูพระบาท) จำปาศักดิ์

เดินทางกลับมาฝั่งไทยอีก
๒๕. ปรางค์กู่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
๒๖. พระพุทธบาทภูแฝด อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
๒๗. พระธาตุหนองสามหมื่น อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
๒๘. พระพุทธบาทเขายายหอม อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ ต.ค. ๔๑
๑. พระพุทธบาทเขาเหล็ก อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
๒. พระพุทธบาทหินลาด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
๓. พระธาตุขามแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น
๔. พระพุทธบาทภูพานคำ อ.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
๕. พระพุทธบาทภูแฝด อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
๖. พระพุทธบาทเขายายหอม อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ



การเดินทางไปภาคอีสาน (ครั้งพิเศษ)

เมื่อวันที่ ๒๐ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑

(จาก หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑)

ตามที่ได้สรุปรายการมานี้ ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่าฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงการทำพิธีบวงสรวง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๑ ปรากฏว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเย็น ขณะที่พระอาทิตย์ตกดินแล้ว คือมีลำแสงพุ่งกระจาย ขึ้นสู่ท้องฟ้าทางทิศตะวันออก แล้วได้มาบรรจบกับลำแสงที่พุ่งขึ้นมาทางทิศตะวันตก ณ พระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ต้องมีการเดินทางไปภาคอีสานอีกเป็น “ครั้งพิเศษ” เมื่อวันที่ ๒๐ - ๓๐ มิ.ย. ๔๑ ด้วยจำนวนคนเพียง ๗ - ๘ คน เท่านั้น จึงขออธิบายคำว่า “ครั้งพิเศษ” สักเล็ก น้อยว่า การจัดงานไหว้พระบาท ก่อนอื่นต้องมี การสำรวจก่อน โดยมีผู้ติดตามเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะสถานที่บางแห่งต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไป บางครั้งก็ต้องขึ้นไปถึงยอดเขา ซึ่งเป็นหนทาง ที่ยากลำบาก ต้องเสี่ยงอันตรายบ้างในบางครั้ง จึงไม่สะดวกที่จะนำคนไปเป็นจำนวนมาก ๆ

ที่นี้ถ้าหากไปที่ตรงไหน แล้วบังเอิญมีพระอาทิตย์ทรงกลดเกิดขึ้น ในระหว่างที่เดินทางไปก็ดี หรือขณะทำพิธีก็ดี ก็เป็นอันว่าจะต้องชวนคนมากราบไหว้อีกครั้งหนึ่ง เพราะเคยสังเกตมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งมีพยานยืนยันหลายคน

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน คณะสำรวจได้ออกจากวัดในตอนเช้าตรู่สู่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ได้มาถึง บ้านผาทอง แวะทานข้าวเช้า แต่หาร้านอาหารในตลาดไม่ได้ ต้องมานั่งทานอาหาร ตรงที่มีโยมผู้ชายแก่ๆ คนหนึ่งนั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างร้านอาหาร

ในระหว่างนั้น ลุงก็เข้ามาคุยด้วย จึงบอกว่าจะไปไหว้พระบาทที่ชนแดน แกจึงบอกว่าที่นี่ก็มี แล้วแกก็บอกบุคคลและสถานที่โดยละเอียด ในที่สุดจึงถามว่า แล้วโยมบ้านอยู่ตรงนี้หรือ แกก็บอกว่าบ้านอยู่ที่อื่น แต่วันนี้อยากจะมานั่งเล่นตรงนี้ จึงคิดในใจว่าแปลกดี เหมือนกับมีใครมาดลใจให้บอกทางเราไปรอยพระพุทธบาทที่เราไม่ทราบมาก่อน หมายถึงไม่มีในบัญชีสำรวจของเรา

ค้นพบรอยพระพุทธบาท "เกือกแก้ว" เป็นแห่งแรก


เมื่อคณะทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงย้อนกลับไปทางเขาเหล็ก โดยไปตามหา ผู้ใหญ่สวัสดิ์ ให้ช่วยนำทาง เพราะรอยพระพุทธบาทอยู่ในเขตพื้นที่ทำเหมืองแร่ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก เจ้าของเสียก่อน ระหว่างทางขึ้นเขาเป็นป่าธรรมชาติ บางช่วงเป็นหน้าผาสูงชัน ต้องใช้มีดพร้าฟันกิ่งไม้ไปตลอดทาง จนกระทั่งได้พบรอยพระพุทธบาทอยู่บนก้อนหินไหล่เขา บริเวณนั้นแคบมาก ถ้าพลาดก็ตกลงไปข้างล่างอย่างแน่นอน

สถานที่นี้ได้ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ สมัยก่อนชาวบ้านจะเห็นช้างหักดอกไม้ป่ามาถวาย รอยพระพุทธบาทเสมอ ซึ่งสภาพของรอยพระ พุทธบาทยังอยู่ในสภาพเดิมๆ เป็นธรรมชาติ ไม่ปรากฏว่ามีใครมาตกแต่งแต่อย่างใด เห็นแล้วจึงเข้าไปกราบไหว้บูชาด้วยความปลาบปลื้มใจกัน


ในระหว่างนี้ จะมีพระอาทิตย์ทรงกลดอยู่ตลอดเวลา ทั้งก่อนและหลังประกอบพิธีบูชารอยพระพุทธบาท รัศมีได้ส่องสว่างกว้างๆ รอบพระอาทิตย์ จึงคิดว่าถ้ามีโอกาส เราอยากจะนำญาติโยมมาได้พบเห็นบ้าง คงจะเกิดปีติยินดีเช่นกัน แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะทางขึ้นลำบากมาก

ในตอนนั้นผู้ใหญ่สวัสดิ์ก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาจากที่อื่น ได้มาพบรอยพระพุทธบาทแล้ว ปรารภว่าอยากจะนำก้อนหินก้อนนี้ไปไว้ที่วัดของตน ด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ หลังจาก นั้นเพียงไม่กี่วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินบิณฑบาต ได้ล้มลงไปชักดิ้นชักงอสิ้นใจตายอยู่ตรงนั้นเอง ข้าวสุกจากบาตรก็หล่นกระจายไปทั่วบริเวณนั้น เมื่อชาวบ้านเข้าไปดูศพ เห็นลำคอมีรอยเขียวช้ำ

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้อีกเลย คงปล่อยให้รอยพระพุทธบาทอยู่ตามเดิม เพราะชาวบ้านแถวนั้นก็ไม่แน่ใจนักว่าจะใช่หรือไม่ เนื่องจากรอยเหมือนกับรองเท้าฟองน้ำ ต่อเมื่อ ผู้เขียนไปเห็น จึงบอกเขาว่ารอยพระพุทธบาท เช่นนี้เขาเรียก “รอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว” ทรงอธิษฐานจิตขณะประทับในลักษณะ “ปางพระนิพพาน” คือ สวมรองเท้าปลายงอน จะไม่เห็นนิ้วเท้าเหมือนรอยพระพุทธบาททั่วไป

.....เพราะฉะนั้น ถ้ามองลงไปในส่วนลึกของขอบล่างรอยพระพุทธบาท จะเห็นเหมือนรองเท้าฟองน้ำ แต่ถ้ามองขอบรอบพระบาทส่วนบน จะเห็นพระพุทธบาทปลายแหลมดังเหมือนหัวเรือสำเภา ซึ่งเป็นรอยพุทธบาทข้างซ้าย พวกเราจึงน้อมกราบพระบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วปิดทองสรงน้ำหอม พร้อมทั้งโปรยดอกไม้ไว้โดยรอบ

......หลังจากนั้น ก็ได้พบกับ คุณเฉลิม ซึ่งเป็นน้องชายของผู้ใหญ่สวัสดิ์ แล้วได้ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ เผื่อว่าจะกลับมาอีก ต่อจากนั้นก็เดินทางไปที่บ้าน อ.สันต์ ภู่กร เพื่อสมทบกับคณะ ของเจ้าอาวาส โดยมาเยี่ยนเยียนคณะพิษณุโลกเป็นประจำปีในวันที่ ๒๑ มิ.ย. ๔๑ ซึ่งเป็นปี สุดท้ายของโยม เพราะเดือนตุลาคม อ.สันต์ ก็ได้จากพวกเราไป และเป็นความประสงค์ของโยมที่ได้จัดบ้านไว้ต้อนรับ ท่านพระครูปลัดอนันต์ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะล่วงลับไปในที่สุด

.....แต่ผู้เขียนก็เสียดายที่ อ.สันต์ มิได้อยู่ร่วมปิดงานที่ “อยุธยา” และ “วัดสระเกศ” เป็นภาคสุดท้าย เพราะเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ภาคแรก คือภาคเหนือที่..พระพุทธบาทสี่รอย แต่ก็ดีใจที่ภรรยา คือ อ.เกษริน ภู่กร เป็นผู้จัดนำคณะมาร่วมปิดงานจนเป็นผลสำเร็จ

ฉะนั้น หลังจากเสร็จงานที่บ้าน อ.สันต์ แล้วผู้เขียนก็ขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส เพื่อเดินทางไปสำรวจรอยพระพุทธบาทต่อไป จากนั้นก็ตรงไปทาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อกราบ รอยพระพุทธบาทเขาน้อย (ซึ่งแม่ชีอยู่ที่นั่นเล่าว่า เคยแอบดูฝูงลิงออกมาจากป่า ในมือถือกิ่งดอกไม้ป่าเพื่อนำมาบูชารอยพระพุทธบาท) และต่อไปที่ รอยพระพุทธบาทโปร่งพลู แล้วไปพักค้างคืนที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

ตอนเช้าวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๔๑ เดินทางไปกราบ รอยพระพุทธบาทบ้านนาลานข้าว ที่วัดไทรย้อย อ.นครชุม เขาเล่ากันว่าเมื่อก่อนรอยพระพุทธบาทนี้อยู่ริมแม่น้ำสองคอน อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓ - ๔ ก.ม. เวลาน้ำขึ้นก็จะท่วมรอยพระพุทธบาท ต่อมามีพระจากที่อื่นนำชาวบ้านนาลานข้าวไปตัดหินรอยพระพุทธบาทแล้วยกหินทั้งก้อนมาไว้ที่วัด หลังจากตัดมาแล้วเกิดอาเพทพายุพัดถล่มหมู่บ้านนั้น ปรากฏว่าบ้านพังเสียหายไป ๔๐ กว่าหลังคาเรือน

เมื่อออกจากที่นั้น แล้วก็เดินทางต่อไปจากวัดไทรย้อยอีกประมาณ ๗-๘ ก.ม. ถึง “บ้านน้ำกุ่ม” จอดรถไว้แล้วเดินเข้าไปในป่าเดินลัดเลาะ ไปตามลำธารประมาณ ๔๕ นาที โดยมีชาวบ้าน ช่วยนำทางไปจนถึงรอยพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่บนลานหินกลางธารน้ำตก เมื่อก่อนชาวบ้านเขาเรียกว่า “รอยผีตีนเดียว” จึงได้แวะฉันเพลกลางป่าที่นี่ ด้วยเสบียงอาหารที่เตรียมไปด้วย

จากนั้นก็เดินทางต่อไปสู่ วัดถ้ำผาบิ้ง อ. วังสะพุง จ.เลย เข้าไปกราบรอยพระพุทธบาทที่ประทับอยู่บนผนังถ้ำ, รอยพระพุทธบาทภูผาแดง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี, รอยพระพุทธบาทคอแก่ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นต้น ซึ่ง จะขอเล่าลัดๆ ว่า ในระหว่างทางได้ผ่านวัดหลาย แห่ง มีการทำบุญสร้างวัดทุกแห่งที่ผ่านไป จนมาถึง พระธาตุบุ หรือว่า “โพนจิกเวียงงัว” อ.เมือง จ.หนองคาย





ประวัติพระมหาธาตุเจดีย์ ๔ แห่ง

เมื่อกล่าวมาถึง “โพนจิกเวียงงัว” ท่าน ผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ผู้เขียนได้เล่าไปในฉบับที่ แล้วว่า พระอรหันต์ ๕ องค์ที่เป็นศิษย์ของ พระมหากัสสป ได้นำพระบรมธาตุหัวเหน่า ๒๙ องค์มาบรรจุไว้ ณ พระธาตุบังพวน จ.หนองคาย เมื่อ พ.ศ. ๑๙

นั่นเป็นการเล่ายังไม่ครบถ้วน จึงขอเล่าตาม ตำนานพระธาตุพนม ต่อไปอีกว่า นอกจากจะนำพระบรมธาตุบรรจุไว้ที่ พระธาตุบังพวน แล้ว ท่านก็ยังได้นำ พระบรมธาตุฝ่าพระบาทข้างขวา ๙ องค์ ไปบรรจุไว้ที่ วัดธาตุ เมืองหนองคาย ปัจจุบันนี้จะมองเห็นซากพระเจดีย์ จมอยู่กลางลำน้ำโขงในเมืองหนองคาย

....และนำ พระบรมธาตุเขี้ยวฝาง (ฟันกราม) ๓ องค์ ไปบรรจุไว้ที่ โพนจิกเวียงงัว เรียกว่า “พระธาตุบุ” ต.เวียงคุก จ.หนองคาย พร้อมกับนำพระบรมธาตุเขี้ยวฝางอีก ๔ องค์ ประดิษฐาน ไว้ ณ พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ ประเทศลาว

.....ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา ณ สถานที่นี้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้ศึกษาตาม ตำนาน พระธาตุพนม จึงได้เดินทางไปสืบหาค้นคว้าตาม สถานที่จริงตามที่กล่าวไว้ แต่กว่าจะได้พบทุกแห่งก็ใช้เวลาหลายปี จนครบถ้วนในปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นเพราะความสับสนเรื่อง “ชื่อ” ของสถานที่

.....แต่ก็สืบสาวราวเรื่องจนได้ความกระจ่าง ชัด ยกตัวอย่างเช่นในตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่ “ดอนกอนเนา” เมื่อผู้เขียนได้ ไปสืบหาที่เวียงจันทน์ จึงได้รู้ว่า วัดโพนพะเนา (แปลว่า เนินพระอยู่) เจ้าอาวาสที่นั่นเล่าว่า

“พระพุทธเจ้ามาพักที่บริเวณนี้กับพระอานนท์ก่อน แล้วจึงออกไปบิณฑบาตที่ หนองคันแท (คันนา) เสื้อน้ำ (หนองนี้มีผีเสื้อน้ำอาศัย อยู่) ปัจจุบันคือ พระธาตุหลวง แล้วกลับมาฉัน ภัตตาหารที่นี่ ซึ่งในบริเวณนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ นี่เป็นตำนานทางภาคอีสาน แต่ถ้าเป็นภาคเหนือ จะใช้ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นข้อมูลในการสำรวจ ซึ่งจะเล่าในโอกาสต่อไปข้างหน้า


พระธาตุบุ (โพนจิกเวียงงัว)





เส้นทางที่พระพุทธเสด็จ ตาม “ตำนานพระธาตุพนม”

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเดินทางข้ามไปที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว ทางด้านหนองคาย เพราะตามตำนานเล่าว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปที่พระธาตุพนม พระองค์ได้เสด็จไปที่เวียงจันทน์ก่อน คือ ดอนกอนเนา (วัดโพนพะเนา) และ หนองคันแทเสื้อน้ำ (พระธาตุหลวง)

(สถานที่ หนองคันแทเสื้อน้ำ นี้ ผู้เขียนสืบหามานาน ปรากฏว่าคือ พระธาตุหลวง นี่เอง ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเวียงจันทน์ ถือว่าเป็นพระธาตุ คู่บ้านคู่เมืองของชาวเวียงจันทน์ เมื่อไปสอบถาม จึงได้ทราบความจริงว่า แต่ก่อนนี้ก็มีสระน้ำใหญ่อยู่ตรงบริเวณนั้น ต่อมาทางการลาวได้ถมดินไป เวลานี้จึงเป็นที่อาศัยของชาวบ้านหลังพระธาตุหลวง)

แล้วพระพุทธองค์ได้ไปประทับที่ โพนจิกเวียงงัว (ธาตุบุ) และ ภูเขาลวง (พระธาตุบังพวน) แล้วไปฉันเพลที่ใกล้ “เวินหลอด” คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั่นว่า “เวินเพล” เมื่อฉันเพลแล้ว พญาสุกขหัตถีนาคราช เนรมิตเป็นช้างถือดอกไม้มาขอรอยพระพุทธบาท พระองค์ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่แผ่นหินใกล้ ริมแม่น้ำ ชั่วเสียงช้างร้องได้ยิน บัดนี้เรียกว่า “พระบาทโพนฉัน” แขวงบริคำไซ ประเทศลาว




พระพุทธบาทเวินปลา จ.นครพนม

แต่นั้นพระองค์ก็เสด็จไปสู่เมืองศรีโคตบอง (นครพนม) มีพญาปลาตัวหนึ่งได้เห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้า จึงมาวนเวียนขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา พระพุทธองค์ทรงเห็นอาการดังนั้นจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ ทูลถามถึงเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ตถาคตเห็นพญาปลาตัวหนึ่งพาบริวาร ตามมาถึงฝั่งน้ำที่นี้ พญาปลาตัวนี้ แต่ก่อนเป็นมนุษย์ได้บวชในศาสนาของ พระพุทธกัสสป ได้มาถึงแม่น้ำที่นี้ แล้วภิกษุรูปนั้นได้เด็ดใบไม้กรองน้ำฉัน แต่ไม่ได้แสดงอาบัติ ครั้นใกล้จุติมีความกินแหนงในการกระทำนั้น จึงได้มาเกิดเป็นพญาปลาอยู่ในที่นี้

เมื่อมันได้เห็นรัศมีและได้ยินเสียงฆ้องกลองและฉาบ จึงได้ออกมาจากที่อยู่เป็นอาจิณ ด้วยเหตุมันเคยได้สัมผัสอารมณ์ทางรูปและเสียง อย่างนี้มาแต่กาลก่อน พญาปลาตัวนี้จักมีอายุยืนตลอดถึง พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงจักได้จุติจากชาติอันเป็นปลามาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จักได้ออกบวชเป็นภิกษุในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล”

ครั้นพญาปลาตัวนั้นได้ยินพระพุทธพยากรณ์ดังนี้ ก็ชื่นชมยินดีมากนัก คิดอยากจะได้รอยพระพุทธบาทไว้เป็นที่สักการบูชา พระพุทธองค์จึงทรงพระเมตตาอธิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้บนก้อนหินในน้ำที่นั้น คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า “พระบาทเวินปลา” มาเท่ากาลบัดนี้

สำหรับสถานที่นี้ ผู้เขียนเคยไป ๒ ครั้ง แล้ว ปรากฏว่ารอยพระพุทธบาทอยู่กลางแม่น้ำโขง (เหนือบ้านสำราญ อำเภอเมืองนครพนม) ต้องไปช่วงเดือนเมษายน จึงจะมีโอกาสเห็นรอยพระพุทธบาท ถ้าเป็นเดือนอื่นๆ น้ำจะท่วมรอยพระพุทธบาท ไม่สามารถจะมองเห็นได้



พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต

.....ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จมาทางอากาศประทับแรมที่ ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) หนึ่งคืน ตอนเช้าได้เสด็จไปสีพระทนต์และชำระพระพักตร์ ณ ริมน้ำก่ำ บ้านแก่งโพธิ์ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม (ห่างจากพระธาตุพนมไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒-๓ ก.ม. ผู้เขียนเคยไปพบรอยพระพุทธบาทในแม่น้ำก่ำ แต่ปัจจุบันได้สร้างมีการเขื่อน จึงไม่เห็นรอยพระพุทธบาทแล้ว) จากนั้นจึงเสด็จไปอิงต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต ประเทศลาว) แล้ว เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองศรีโคตบอง

ครั้งนั้น เจ้าเมืองศรีโคตบองมีนามว่า พระยาศรีโคตบูร ได้เห็นพระศาสดาเสด็จมาดังนั้น จึงทูลอาราธนาให้พระองค์เข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชฐาน เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงรับข้าวบิณฑบาตแล้วก็ส่งบาตรให้พระยาศรีโคตบูร เพื่อเสด็จมาประทับที่ใต้ต้นรังดังเดิม

ฝ่ายเจ้าเมืองเมื่อรับเอาบาตรจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ยกขึ้นเหนือพระเศียรทำความปรารถนา แล้วจึงนำบาตรไปถวายพระองค์ที่ประทับอยู่ พระพุทธองค์ทรงรับบาตรแล้วเสด็จกลับมาทาง อากาศที่ภูกำพร้า เพื่อกระทำภัตกิจ ณ สถานที่นั้น

เมื่อพระยาศรีโคตบูรได้ทอดพระเนตรพระพุทธองค์เสด็จไปทางอากาศดังนั้น ก็ทรงปีติยกพระหัตถ์ขึ้นประนมทอดพระเนตรพระศาสดาจนสุดสายตา จึงคำนึงในพระทัยว่า อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ดังนี้แล้ว จึงเสด็จกลับคืนสู่พระราชนิเวศน์

ต่อจากนั้น พระศาสดาก็ได้พยากรณ์ว่า หลังจากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระมหากัสสป จะนำ พระอุรังคธาตุ มาบรรจุไว้ที่นี้ ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จไปสู่เมืองหนองหารหลวง แล้วประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร



พระธาตุภูเพ็ก (ดอยแท่น) ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

แล้วจึงเสด็จต่อไปที่ ดอยแท่น (พระธาตุภูเพ็ก) แล้วไปทรมานพญานาคที่ ภูกูเวียน ได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระพุทธบาทบัวบก, บัวบาน, ผาแดง (ในเขตอุดรธานี) เป็นต้น ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์จึงเสด็จ ไปสู่ ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์ แต่ก่อนมีพญานาคตัวหนึ่ง ๗ เศียร ชื่อว่า “ศรีสัตตนาค” เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้



"ดอยนันทกังรี" อยู่ที่ไหน..?


เมื่อผู้อ่านได้เห็นคำว่า “ดอยนันทกังรี” ก็คงจะงง เพราะชื่อนี้ในปัจจุบันนี้ไม่มีใครกล่าวถึงแล้ว แม้ผู้เขียนเองก็สืบหาจ้าละหวั่น จนไปถึงประเทศลาวโน่น จึงได้คำตอบว่า คือ เมืองหลวงพระบาง นั่นเอง และผู้เขียนก็ได้ไปสำรวจมาแล้ว พบว่าหลวงพระบางมีรอยพระพุทธบาทถึง ๓ แห่งด้วยกัน เรามาฟังเรื่องราวจากตำนานกันต่อไปว่า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็เสด็จย่ำพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอยข้างขวา แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถามพระศาสดาจึงตรัสว่า

“..เราเห็นนาค ๗ หัวเป็นนิมิต ต่อไปภายหน้านี้ จักบังเกิดเป็นเมืองมีนามว่า “เมืองศรีสัตตนาค” และที่พญานาคได้ให้ความสวัสดี แก่ พระยาจันทบุรี (เจ้าผู้นครเวียงจันทน์สมัยนั้น) จักร้างเสื่อมสูญไป...”

ตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จลงไปไว้รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายที่แผ่นหินอันจมอยู่ในกลาง แม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายไม่สามารถจะมองเห็นได้ แล้วจึงเสด็จไปบนดอยนันทกังรี อธิษฐานให้เป็นรอยพระบาททับหงอนนาคไว้ ซึ่งพญาศรี สัตตนาคได้สมมุติดอยนันทกังรีให้เป็นหงอน แห่งตน เพื่อมิให้ท้าวพญาในเมืองนั้นทำยุทธ กรรมกัน จักแพ้พระพุทธศาสนาบ้านเมือง แล้วพระศาสดาก็เสด็จกลับสู่กรุงสาวัตถี

เป็นอันว่า เส้นทางที่พระพุทธองค์เสด็จมาตามที่พระอรหันต์บันทึกไว้ใน ตำนานพระธาตุพนม จะสรุปได้ว่าพระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีมาสู่ เวียงจันทน์ ก่อนแล้วจึงเสด็จมาทางภาคอีสานของไทย ก่อนที่จะกลับก็ได้เสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาทที่หลวงพระบาง



การเดินทางไปประเทศลาว
โดยเริ่มต้นกันที่ "เวียงจันทน์" ก่อน

แต่กว่าที่จะสืบหาได้ครบถ้วน ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ จนถึงปี ๒๕๔๑ จึงได้เดินทางไปกราบไหว้ครบถ้วนตามตามตำนาน เว้นไว้แต่ทางประเทศลาว จนกระทั่งมีแสงสว่างพุ่งจากลาวมาบรรจบกับไทยในเวลาเย็น ขณะทำพิธีที่ วัดพระพุทธบาทบัวบก เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๔๑ เพราะฉะนั้นอีก ๗ วัน ต่อมาปริศนาทั้งหมดก็ได้ไปเฉลยกันถึงประเทศ ลาวดังที่จะเล่าต่อไปนี้

วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๔๑ ผู้เขียนพร้อมกับคณะอีกประมาณ ๖ คน ก็ได้เดินทางข้ามไปฝั่งลาว ทางด้านหนองคาย หลังจากไปทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้ พระบรมธาตุเขี้ยวฝางวัดพระธาตุบุ (โพนจิกเวียงงัว) อ.เมือง จ.หนองคาย แล้วได้ร่วมทำบุญทุกอย่างแก่เจ้าอาวาสเป็นเงิน ๑,๐๕๐ บาท

เมื่อข้ามไปทางฝั่งลาวแล้ว รถตู้ที่เช่าไว้ก็มารับโดยการประสานงานจากทัวร์ที่หนองคาย ไกด์สตรีก็ได้นำไปที่ พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ ซึ่งวันนั้นมิได้ตรงกับวันหยุด แต่ปรากฏว่าเขาปิด ไม่ให้เข้า สอบถามได้ความว่าเจ้าหน้าที่ไปประชุมกันหมด

พวกเราจึงไปกราบสถานที่อื่นแทน เช่น พระพุทธบาทพรสวรรค์ และ พระพุทธบาทโพนฆ้อง เมืองทุละคม เวียงจันทน์ เป็นพระบาทเบื้องซ้าย แล้วกลับมาค้างคืนอยู่ที่ วัดพระโพธิสาราช ซึ่งเป็นพระนามของเจ้านครเวียงจันทน์ ผู้เป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ผู้สร้างพระเจดีย์ “ศรีสองรัก” ร่วมกับ พระมหาจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง)



เดินทางไป "หลวงพระบาง" โดยมิได้คาดฝัน



พักค้างที่วัดพระโพธิสาราช เมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๔๑

ในตอนเช้า วันที่ ๒๕ มิ.ย. ๔๑ ผู้เขียน ตื่นขึ้นมาเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ออกมายืนหน้าวัด มองเห็นวัดๆ หนึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับถนน ชื่อว่า วัดพระไชยเชษฐาธิราช เรียกว่า “วัดพ่อ” กับ “วัดลูก” อยู่ใกล้กัน จึงเดินเข้าไปในบริเวณวัด เห็นพระหลวงตาองค์หนึ่งกำลังจะไปบิณฑบาต เมื่อเข้าไปทักทายท่านแล้ว ได้ทราบว่าท่านเป็น ชาวเมืองหลวงพระบาง จึงถามว่าที่นั่นมีรอยพระพุทธบาทไหม ท่านตอบว่ามี..เขาเรียกว่า พระบาทพูสี (ภูศรี) ได้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ผู้เขียนจึงเดินกลับไปยังวัดพระโพธิสาราช ชักชวนคณะเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ส่วนที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ไว้ค่อยกลับมาไหว้ภายหลัง แต่ก็ฉงนใจเหมือนกันว่าทำไมถึง ยังเข้าไปไหว้ไม่ได้ คนอื่นเขามากันเขาก็ได้เข้า ไป พอพวกเราไปบ้างก็ได้แต่ยืนมองอยู่ด้าน นอกเท่านั้น

ครั้นเมื่อฉันเช้าแล้ว เวลา ๐๘.๓๐ น. จึง ได้ปรึกษากันตัดสินใจออกเดินทางต่อไปโดยรถตู้ถึงหลวงพระบางเวลา ๑๗.๐๐ น. ระยะทาง ๓๘๗ ก.ม. แม้จะเป็นทางลาดยาง แต่เป็นทางขึ้นเขาสูงชันสลับซับซ้อน ต้องวิ่งเลี้ยวไปเลี้ยวมาตลอดเส้นทาง (ยิ่งกว่าทางไปแม่ฮ่องสอนอีก)

การเดินทางไปครั้งนี้ มีเจ้าอาวาสวัดพระโพธิสาราช ชื่อ “อาจารย์กิ” ร่วมเดินทางไปด้วย มองดูทิวทัศน์ระหว่างทาง สวยงามตามธรรมชาติ บรรยากาศก็ร่มรื่น อากาศคลึ้มเย็นสบาย มีฝน ปรอยๆ ลงมาเป็นระยะๆ ทุกคนมีความสุขใจ ไม่มีความอ่อนเพลียแต่อย่างใด

ฉะนั้น เมื่อไปถึงหลวงพระบาง จึงตรงไปที่ วัดพระบาทใต้ ซึ่งตามประวัติที่ได้เล่าไปแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในแม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายจะมองไม่เห็น เพราะ ฉะนั้นทางวัดจึงได้สร้างพระพุทธบาทจำลองไว้บนลานหินริม “แม่น้ำคาน” (แม่น้ำโขง) พอถึงกลางพรรษาน้ำจะท่วมรอยพระบาทนี้เช่นกัน


รอยพระพุทธบาท ณ วัดพระบาทใต้ อยู่ริมแม่น้ำคาน ผู้เขียนและอาจารย์กิยืนอยู่ริมแม่น้ำ

ส่วนพื้นน้ำบริเวณหน้ารอยพระบาทเรียกว่า หนองยอก แปลว่า “วังน้ำวน” และวันที่ไปเห็นน้ำวนจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นที่อาศัยของพญานาคที่เรียกว่า “เมืองบาดาล” ก็ได้

ท่านเจ้าอาวาสวัดพระบาทใต้ได้เล่าให้ฟัง พร้อมกับชี้มือไปข้างหน้า พวกเรามองตามไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำคาน มองเห็นทิวเขาอยู่เบื้องหน้า แล้วมีทางลงมาที่แม่น้ำซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่พวกเรายืนอยู่ ขณะนั้นลมพัดเย็นสบายๆ ท่านได้กล่าวว่า สมัยนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จบิณฑบาตที่ด้านโน้น แล้วข้ามมายังฝั่งนี้ มีพญานาคชื่อว่า “ใจจำนง” เป็นผู้รักษารอยพระบาท

วัดพระบาท ( ใต้ )หลวงพระบาง วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองชั้นในของหลวงพระบาง ห่างจากวัดธาตุหลวงประมาณ 200 เมตร (ทางไปน้ำตกตาดกวางซี) วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้าสามแสนไท

ต่อมามีการบูรณะวัดซึ่งเจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นชาวเวียดนามที่เกิดและอาศัยอยู่ในเมือหลวงพระบาง ได้รวมชาวบ้านชาวเวียดนามมาบูรณะวัด ทำให้เกิดศิลปะแบบจีนผสมเวียดนาม ซึ่งไม่ค่อยจะเห็นกันสักเท่าไหร่ในเมืองหลวงพระบางแห่งนี้ ชาวลาวเรียกว่า วัดเวียด

วัดพระบาทใต้ แห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงทำให้ เป็นสถานที่หนึ่งที่ชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามจุดนึงของเมืองหลวงพระบาง

เมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำ พวกเราก็ทำบุญแล้วลาท่านมาค้างคืนที่ วัดปากคาน อยู่ริมแม่น้ำคานเช่นกัน แต่อยู่ใกล้ตลาดพอที่ฆราวาสจะไปหา อาหารรับประทานในเวลาเย็นได้



ผู้เขียนและคณะกำลังลงเรือหางยาวไปถ้ำติ่ง

ในตอนเช้า จึงนั่งเรือหางยาวไปที่ ถ้ำติ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำโขงประมาณ ๒๐ นาที ซึ่งสถานที่นี้ สมเด็จพระเทพ ฯ เคยเสด็จมาที่ถ้ำนี้ ถ้ำจะอยู่ริมแม่น้ำ ภายในมีพระพุทธรูปยืน ปางเปิดโลก อยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าองค์ แต่เดิมเคยมีมากกว่านี้ คงจะถูกขโมยไปบ้างเป็นธรรมดา



จอดเรือไว้จะมองเห็นปากทางเข้าหน้าถ้ำติ่ง

คนที่เฝ้าเล่าว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เคยเสด็จมาที่นี่ ดังจะเห็นได้ว่าชาวลาวมีความศรัทธาพระพุทธรูปยืน “ปางเปิดโลก” จึงได้นำมาถวายไว้ในถ้ำมากมายหลายสมัย และพวกเราก็มีโอกาสได้สร้างพระพุทธรูปยืน “ปางเปิดโลก” เช่นเดียวกับชาวลาวเหมือนกัน นั่นก็คือที่วัดพระ พุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี ตามที่เล่าไปแล้วนั้น

สำหรับ “ถ้ำติ่ง” นี้ ยังมีทางไปถ้ำใหญ่อีก คนเฝ้าบอกว่าภายในถ้ำใหญ่ลึกไปไกลเกือบ ๕๐ เมตร เป็นถ้ำกว้างมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นถ้ำที่ใช้ขัง นางสิบสอง ไว้ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น พระรุทธเสน ตามที่เล่าไว้ ในฉบับที่แล้วเช่นกัน ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก

เพราะฉะนั้น เมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นทางหลวงพระบาง ประเทศลาว จึงมีลำแสงพุ่งขึ้นบนท้องฟ้าทางด้านลาวดังกล่าวแล้ว ปริศนาในวันนั้นจึงได้มาเฉลยในครั้งนี้ คือผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางมาถึงสถานที่นี้โดยที่มิได้คาดคิดมาก่อน

เดิมคิดว่าจะมาค้างเวียงจันทน์เพียง ๑ วัน เท่านั้น แต่ก็มีเหตุให้เข้าไปใน พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ไม่ได้ ทำให้คิดว่านั่นเป็นเมือง หลวงใหม่ เราจะต้องเดินทางมาที่เมืองหลวง เก่าก่อนจึงจะสมควร บายศรีที่เตรียมไว้จึงต้อง มาไหว้สถานที่นี้ก่อน



ผู้เขียนและคณะถ่ายภาพภายในถ้ำติ่งไว้เป็นที่ระลึก ภายในมีพระพุทธรูปมากมาย
(ภายหลังปี ๒๕๕๓ ได้มีโอกาสกลับไปเยือนอีกครั้งหนึ่ง)

และเมื่อมาถึงหลวงพระบางแล้ว ครั้นเดิน ทางกลับมาจากถ้ำติ่งแล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเลย ถ้ำติ่งไปหน่อย จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนเขา แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่มีเวลา จึงยังไม่มีโอกาสได้ไปเห็น เพราะทราบมาจากตำนานพระธาตุพนม ว่าเมืองหลวงพระบางมีรอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง

นี่เป็นอันว่าเราทราบ ๒ แห่งแล้ว ยังเหลืออีกหนึ่งแห่ง จึงได้เดินทางกลับมายังตัวเมือง ซึ่งทางลาวยังอนุรักษ์บ้านเมืองไว้แบบโบราณ ชาวเมืองหลวงพระบาง โดยเฉพาะสตรีก็ยังนุ่งผ้าถุงแบบเดิม ไม่มีใครนุ่งกางเกง เมืองหลวงพระบางจึงได้รับการยกย่องเป็น “มรดกโลก” อีกแห่งหนึ่ง บ้านเมืองก็ยังสงบเงียบ ไม่วุ่นวายเหมือนกับในเวียงจันทน์ (ปัจจุบันปี ๒๕๕๓ ได้กลับไปอีกครั้ง ปรากฏว่าวุ่นวายไม่สงบเหมือนเดิมเสียแล้ว)

ก่อนจะเข้ามาในตัวเมือง มองเห็นพระเจดีย์สีทองตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาน้อยๆ แต่ไกล ซึ่งอยู่ใจกลางตัวเมือง ได้จอดรถไว้แล้วเดินขึ้นบันได มองเห็นป้าย วัดสีพระพุทธบาท (พระบาทพูสี) ถ้าขึ้นอีกทางหนึ่ง จะตรงไปทาง พระธาตุพูสี ซึ่งอยู่สูงกว่ารอยพระพุทธบาท



มองเห็นยอด "พระธาตุพูสี" (พระธาตุจอมศรี) อยู่บนเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง

รอยพระบาทแห่งนี้ บางทีเรียกว่า “พระบาทเหนือ” ซึ่งอยู่บนภูเขาใจกลางเมืองหลวงพระบาง ส่วน “พระบาทใต้” อยู่ในแม่น้ำคานเบื้องล่าง (ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงแถววัดเชียงทอง) ถ้าจะวิเคราะห์ตามหลักภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงวางเขตแดนพระพุทธศาสนา ไว้ครบทั้งหัวเมืองและท้ายเมือง เพราะเป็นเมืองที่พระองค์เคยเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน แล้วได้เสวยราชย์ในเมืองนี้

ฉะนั้น ตามตำนานที่กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ ดอยนันทกังรี นั้น ตามที่ผู้เขียนได้ติดตามหามานาน เมื่อขึ้นมาถึงรอยพระพุทธบาทพูสีแล้ว ได้เห็นก้อนหินบริเวณนี้ มีลักษณะริ้วรอยหยัก ๆ เหมือนกับหงอนไก่


รอยพระพุทธบาทอยู่ภายในมณฑปเล็กๆ ที่สร้างครอบไว้เข้าไปกราบได้ทีละคน

ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับหงอนนาคไว้ ซึ่ง พญาศรีสัตต นาค ได้สมมุติ ดอยนันทกังรี ให้เป็นหงอนแห่งตน ข้อนี้มีหลักฐานสอดคล้องกันมาก จึงสร้างความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่นึกว่าจะมาได้ครบถ้วนตามตำนาน ข้อข้องใจที่ว่าเราจะไม่ สามารถสืบหา บัดนี้ก็ได้มาถึงแล้ว ดอยนันทกังรี ก็คือ หลวงพระบาง นั่นเอง

สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ก็เป็นรอยพระบาทเบื้องซ้าย เช่นเดียวกันกับรอยพระบาทใต้ แต่ส้นพระบาทกดลึกลงไปมากกว่าปลายพระบาท จึงได้ทำพิธีบวงสรวงบายศรี ในระหว่างนี้ มีละอองฝนปรอยขณะทำพิธีหลายหน

ในขณะนั้นได้พบกับเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมทำบุญสร้างวิหารด้วย แล้วเดินขึ้นเขาต่อไปอีก จึงจะถึง พระมหาธาตุเจดีย์พูสี (พระธาตุจอมศรี) ตามที่ได้มองเห็นเมื่อตอนอยู่ข้างล่าง ครั้นได้กราบไหว้สักการบูชาแล้ว จึงเดินทางลงมาจากยอดเขาแล้วไปเที่ยว วัดเชียงทอง แล้วเดินทางกลับถึงเวียงจันทน์ มาค้างคืนที่วัดพระโพธิสาราชตามเคย

.....วันรุ่งขึ้นที่ ๒๗ มิ.ย. ๔๑ จึงเดินทางไปที่ วัดโพนพะเนา แล้วไปที่ วัดป่าสวรรค์ภูเขาควาย หรือที่เรียกว่า พระพุทธบาทนายางเก่า เข้าทางด่านช้างเทวดา บ้านนายาง เมืองทุระคม แล้วเดินทางต่อไปที่ พระพุทธบาทเอวขัน บ.นาคาย เมืองไชยธานี เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา

...ในเวลานั้น อากาศที่คลึ้มอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่วันเริ่มเดินทาง ไม่ได้เห็นแสงอาทิตย์มาหลายวันแล้ว มีความร่มเย็นสบายไปตลอดทาง แต่พอมาถึงสถานที่นี้ พอจะเลี้ยวเข้าไป เมฆที่เคยปกคลุมก็กระจายออก มองเห็นพระอาทิตย์กำลังทรงกลดพอดี จนกระทั่งพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว เมฆก็กระจายเข้าบดบังแสงอาทิตย์อีกต่อไป

...เวลานั้น มองเห็นดอกไม้บายศรีเริ่มเหี่ยวแห้ง เพราะผ่านมานาน ๓ - ๔ วันแล้ว หลังจากมีเหตุเข้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ไม่ได้ จำต้องไปกราบไหว้ที่หลวงพระบาง ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อนเวียงจันทน์ เพราะฉะนั้นบายศรีพานนี้ จึงจะต้องมาทำพิธีบวงสรวงเป็นสถานที่สุดท้ายไว้ที่ พระธาตุหลวง อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นพระธาตุที่อยู่ใจกลางนครเวียงจันทน์

....การบวงสรวงในครั้งนี้ พวกเราจึงตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดคุ้มครองรักษาชาวลาวให้มีความสุขและปลอดภัย อีกทั้งรู้สึกดีใจด้วยที่ได้มาสรุป ณ สถานที่นี้ อันเป็นสถานที่สำคัญตาม ที่กล่าวไว้ในตำนานว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาที่ ริมหนองคันแทเสื้อน้ำ สถานที่นั้นก็คือ พระธาตุหลวง นี่เอง บัดนี้หนองนั้นได้ถูกถมไปเกือบหมดสิ้นแล้ว

พระธาตุหลวงเวียงจันทร์




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 27/9/10 at 14:34 Reply With Quote


เดินทางไป "แขวงบริคำไซ" ประเทศลาว


หลังจากได้ไปเที่ยวชม “หอพระแก้ว” อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” มาก่อน คือก่อนที่ รัชกาลที่ ๑ จะทรงอัญเชิญมาไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว จึงเดินทางออกจากประเทศลาวข้าม “สะพานมิตรภาพไทยลาว” กลับมาขึ้นรถจากหนองคายไป “โพนพิสัย” เข้าทาง “บ้านโพนแพง” แล้วนั่งเรือประมงข้ามแม่ น้ำโขงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปกราบ พระพุทธบาทโพนฉัน ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า “บ้านท่าพระบาท” แขวงบริคำไซ ประเทศลาว ตามที่ได้เล่าไปแล้วนั้น

ถ้าพูดถึงเรือหางยาวที่นั่งไปแล้วละก็นับว่าตื่นเต้นดีพอสมควร เพราะเป็นเรือยาวจริงๆ แต่แคบมาก ขยับนิดเดียวก็เอียงแล้ว ยิ่งมองเห็นแม่น้ำโขงกว้างใหญ่ก็ยิ่งตื่นเต้น ได้แต่ผ่อนลมหายใจเบาๆ ไม่กล้าหายใจแรง กลัวเรือจะสั่น..ว่างั้น เลยนะ แหม..จะโม้มากไปหน่อย!

.....เมื่อเรือข้ามไปถึงฝั่ง ก็เดินไปขึ้นรถสกายแล็บ ฟังแล้วทันสมัยดี แต่พอไปเห็นที่ไหนได้กลายเป็นรถสามล้อเครื่องนั่นเอง ก็ปุเรงๆ ไปจนถึงวัด พระพุทธบาทโพนฉัน มองเห็นพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทสูงเด่น มีลักษณะเหมือนกับพระเจดีย์ที่ วัดพระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี

......ครั้นได้เข้าไปกราบรอยพระบาท และได้สนทนากับเจ้าอาวาสแล้ว จึงได้ทราบประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้ว่า ท่านอาจารย์ศรีทัต ได้เป็นผู้สร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นองค์เดียวกันกับที่ สร้างพระเจดีย์พระพุทธบาทบัวบก ตามที่เล่าไปในฉบับที่แล้ว เพราะฉะนั้น แสงที่พุ่งมาบรรจบกลางอากาศในขณะที่ทำพิธี ก็น่าจะเป็นความหมายถึงผู้สร้างทั้งสองแห่งนี้เป็นองค์เดียวกัน นี่เป็นข้อสันนิษฐานอีกกรณีหนึ่ง

......เสร็จแล้วผู้เขียนพร้อมกับคณะก็ได้ข้ามเรือกลับมาในเวลาเย็นเดินทางไปไหว้ พระพุทธบาทนาหงส์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และไปที่ วัดทุ่งธาตุซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยเดียวกับ พระธาตุพนม มีผู้เล่าว่า สมัยก่อนพอถึงวันพระ กลางเดือน มักจะมีลูกแก้วลอยขึ้นไปที่ต้นโพธิ์ในบริเวณวัด จึงได้ห่มผ้าและบูชาพระธาตุในยามค่ำคืน พร้อมกับถวายเงินไว้บูรณะพระธาตุ

พระพุทธบาทโพนฉัน บริคำไซ





เดินทางไป "แขวงสุวรรณเขต" ประเทศลาว

แล้วออกเดินทางต่อไปถึงมุกดาหาร ประ มาณ ๐๔.๐๐ น. ติดต่อทำหนังสือผ่านแดนแล้ว จึงลงเรือข้ามฟากในเวลา ๑๐.๓๐ น. ประมาณ ๑๐ นาที จึงถึงบ้านโพนสิน แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว ต่อด้วยรถสกายแล็บอีก ๑๕ นาที ได้มีละอองฝนขณะเดินทางจนถึง พระธาตุอิงรัง (อิงฮัง) จึงได้นำบายศรีไปทำพิธีบวงสรวง ขณะเดินเวียนเทียนมีฝนเม็ดใหญ่ตกลงมาด้วย ช่วยให้มีความเชื่อมั่นว่า จะต้องเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพิงต้นรังจริง แต่เวลานี้ไม่มีต้นรังเหลืออยู่แล้ว

...ต่อจากนั้น จึงได้เดินทางต่อไปที่ พระพุทธบาทถ้ำพระ (วัดป่าถ้ำฤาษี) บ้านบึงทะเล แขวงสุวรรณเขต ห่างจากท่าเรือประมาณ ๑๗ ก.ม. ได้พบรอยพระบาทศิลาจำลองขนาดใหญ่วางอยู่บนลานหิน มีร่องรอยของมณฑปเก่าอยู่ คาดว่าจะวางครอบรอยพระพุทธบาทจริงเอาไว้ เพราะในขณะที่เดินทางไปบูชารอยพระพุทธบาท นั้น เกิดมีพระอาทิตย์ทรงกลดตลอดเส้นทาง

...ได้เดินทางออกจากสุวรรณเขต แล้วกลับถึงมุกดาหารเวลา ๑๕.๐๐ น. จึงได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดอำนาจเจริญแวะที่ พุทธอุทยานดานพระบาท ซึ่งอยู่ข้างทางเข้าไปกราบพระพุทธรูป ใหญ่ มีชื่อว่า “พระมงคลมิ่งเมือง” ได้เห็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายอยู่บนผลาญหินตามธรรมชาติ

...แล้วมาค้างคืนที่ วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี และได้เห็นรอยพระบาท ซึ่งประทับอยู่บนก้อนหินธรรมชาติ เหตุที่มามีว่าชาวบ้านจากฝั่งลาวขึ้นไปตัดไม้บนภูเขาที่ ปากเซ ประเทศลาว แล้วได้พบรอยพระพุทธ บาทอยู่ในป่า จึงได้มาแจ้ง ท่านอาจารย์โชติ

ต่อมาท่านก็ได้นำมาไว้ที่วัด แต่น่าเสียดายว่ารอยพระพุทธบาทได้หักเป็นสองส่วน แล้ววางอยู่กลางแจ้งโดยไม่มีใครสนใจ พวกเราจึงโชคดี ที่รู้ค่าได้สักการบูชารอยพระพุทธบาท โดยไม่ต้องบุกเข้าไปในป่าปากเซให้เหนื่อยแรงกัน ปรากฏเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาตามธรรมชาติ
พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต





เดินทางไป "ปากเซ" นครจำปาศักดิ์



สภาพรถแท็กซี่ที่เช่าไปปากเซ

วันที่ ๒๙ มิ.ย. ๔๑ ออกเดินทางสู่ ช่องเม็ก โดยทำหนังสือผ่านแดนที่ว่าการอำเภอ สิรินธร แล้วเดินทางด้วยรถแท็กซี่ที่จะพังแหล่ มิพังแหล่อีก ๓๙ ก.ม. ไปยังท่าเรือข้ามฟาก พอขึ้นจากเรือก็ต่อด้วยรถสกายแล็บอีกตรงไปยัง วัดสีพระบาท อยู่ในตัวเมืองปากเซ (คำว่า “สี” ก็คือ “ศรี” ของไทยนั่นเอง)


เมื่อกราบไหว้บูชารอยพระบาทเบื้องซ้าย และทำบุญกับเจ้าอาวาสแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังท่าเรืออีกประมาณ ๓๕ ก.ม. ด้วยรถสกายแล็บคันเดิม นำรถขึ้นแพข้ามแม่น้ำโขงไปยังเขตอำเภอจำปาศักดิ์ เดินทางต่อไปอีก ๑๐ ก.ม. จึงถึงบริเวณปราสาท “วัดพู” (ภูพระบาท) ได้เกิดละอองฝนปรอย ลงมาที่รถสองครั้ง


ขณะที่เดินทางสู่ภูพระบาท ได้มองเห็นซากโบราณสถานแต่ไกล มีร่องรอยที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่กาลก่อนนานนับพันปี มีลักษณะเป็น “ปราสาทหิน” ที่กว้างใหญ่มาก ระหว่างเดินขึ้นเนินไป จะพบกำแพงอยู่รายรอบเป็นชั้นๆ โดยมีตัวปราสาทโดดเด่นอยู่ท่ามกลาง นับว่าบริเวณ “ภูพระบาท” เป็นปราสาทที่เก่าแก่มาก ยังคงทิ้งร่องรอยของสถาปัตยกรรมอันค้ำล่าไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังไว้ศึกษา ดังที่จะเห็นได้ว่ายังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยว “ปราสาทวัดพู” กันอยู่เสมอ

เมื่อพวกเราเดินผ่านปราสาทไปทางภูเขา มีป่าไม้ตามธรรมชาติอยู่สองข้างทาง มองเห็น รอยพระพุทธบาทอยู่บนหน้าผาสูงพอสมควร จึงได้ปีนป่ายขึ้นไป พร้อมกันช่วยดึง ช่วยกันขน เครื่องบูชา อันมีบายศรีและผ้าห่มสไบ เป็นต้น ทุลักทุเลพอสมควรกว่าจะขึ้นไปถึง

...แต่ก็น่าชื่นใจหายเหนื่อย เพราะก้อนหินที่หล่นลงมาจากชง่อนผา ได้หล่นลงมาตั้งตะแคงอยู่ ริมหน้าผาพอดี พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้อง ขวา และมีรอยพระหัตถ์เบื้องซ้ายอยู่ด้วย ประทับ รวมกันไว้บนแผ่นหินขนาดใหญ่ แต่มีผู้เอาสีมา เขียนไว้ทั้งสองรอย คงจะเป็นที่สังเกตสำหรับผู้ที่ขึ้นมาไม่ไหว จะได้มองดูอยู่ข้างล่าง

...การเดินทางมานครจำปาศักดิ์ครั้งนี้ นับว่า มีค่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากเมืองนี้เคยเป็นของไทยมาก่อน ซึ่งเป็นดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ชาวนครจำปาศักดิ์ในปัจจุบันนี้ ก็มีความเป็นอยู่อย่างสงบ ถ้าจะย้อนไปในอดีตว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนหรือไม่ ก็จะต้องสังเกตปราสาทหิน “ภูพระบาท” เป็นองค์ประกอบว่า

...นครจำปาศักดิ์สมัยโบราณ จะต้องมีความยิ่งใหญ่มาก่อน จึงสามารถรวบรวมคนสร้างสรร ช่างที่มีฝีมือดีมาร่วมกันสร้างปราสาทหินได้ยิ่งใหญ่ สมกับสถานที่นี้มีรอยพระพุทธบาท แสดงให้เห็นว่าคนสมัยโบราณมีความเคารพนับถือรอยพระพุทธบาทมากมายเพียงใด ต้องดูถึงสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ไปด้วย

เดิมไม่ได้ตั้งใจจะมาที่นี้ แต่มีเหตุบังเอิญไปรู้จักกับเจ้าอาวาส วัดโพธิสาราช เวียงจันทน์ ซึ่งท่านเป็นคนจำปาศักดิ์ได้เล่าว่า เมื่อตอนเด็กๆ เคยเห็นดวงไฟลอยจากภูพระบาทขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วจะลอยกลับในเวลาใกล้รุ่ง ชาวบ้านแถวนั้น ล้วนเคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ แต่จะเห็นได้เฉพาะวันพระเท่านั้น
"รอยพระบาท" และ "รอยพระหัตถ์" วัดพู

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงสอบถามถึงเส้นทางที่จะไป แล้วก็ได้มาถึงสมความตั้งใจทุกประการ พร้อมกับได้กราบได้ลูบคลำรอยพระพุทธบาทและ รอยพระหัตถ์ ด้วยหน้าผากและมือทั้งสองข้าง เพราะก้อนหินพระพุทธบาทที่หล่นลงมา จึงตั้ง ตะแคงได้พอเหมาะพอเจาะดีเหลือเกิน





ภายในบริเวณ "ปราสาทวัดพู" ส่วนรอยพระหัตถ์อยู่ด้านหลังปราสาท


ปรากฎว่าที่นี่เป็นวัดร้างไปแล้ว จึงไม่มีพระสงฆ์ให้ทำบุญ เมื่อเดินกลับลงมาจึงได้แวะเข้าไปในปราสาท นมัสการพระประธานแล้วจึงเดินทางกลับมาถึงช่องเม็กเวลา ๑๘.๒๐ น. ปรากฏว่าด่านปิด เลยต้องมุดรั้วข้ามกลับฝั่งไทย แวะอาบน้ำที่วัดภูเขาแก้ว แล้วเดินทางกลับไปถึงจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ตี ๓ ของวันรุ่งขึ้น จอดรถนอนที่ปั๊มน้ำมันกัน

พอสว่างดีแล้ว จึงเข้าไปในตัวเมือง ฉันเช้าแล้วก็ไปไหว้ ปรางค์กู่ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ของชาวชัยภูมิ วันนี้เป็นวันที่ ๓๐ มิ.ย. เป็นวันที่จะเดินทางกลับ ปรากฏว่าอากาศเริ่มร้อน ไม่เหมือนกับวันที่กำลังเดินทางอยู่นั้น ท้องฟ้าจะคลึ้มเย็นสบายตลอดเส้นทาง ร่างกายจึงไม่อ่อนเพลีย ทำให้การสำรวจรอยพระพุทธบาท ซึ่งแต่ ละแห่งมีความยากลำบาก ถ้ามิได้พุทธานุภาพเช่นนี้ ไหนเลยจะสามารถไปได้ครบถ้วนทุกแห่ง

เป็นอันว่า การไปครั้งนี้ได้ทำบายศรีไป ๓ ชุด หลังจากทำพิธีบวงสรวงแล้ว บายศรีทั้งหมดจึงสถิตไว้ในประเทศลาวทั้ง ๓ จุด ทั้งนี้ เพื่อเป็น สิริมงคลแก่ประเทศของเขา ฉะนั้น เมื่อกลับมาถึงชัยภูมิ จึงไม่มีบายศรีกราบไหว้ แต่ก็ยังมีดอกไม้ ธูปเทียนและผ้าห่มพระเจดีย์ที่ยังพอหาได้บ้าง

ต่อจากนั้น จึงได้เดินไปยัง พระพุทธบาทภูแฝด แล้วไปที่ พระธาตุหนองสามหมื่น อ.ภูเขียว เป็นพระธาตุเก่าแก่ของชาวภูเขียวเช่นกัน ได้ห่มผ้า พระธาตุแล้วจึงเดินทางกลับมาทาง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ แวะกราบไหว้ พระพุทธบาทเขายายเหม็น (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เขายายหอม” )...สวัสดี.




praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member
[*] posted on 24/1/11 at 10:03 Reply With Quote


(Update 24-01-54)


webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved