ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 28/4/10 at 10:34 Reply With Quote

ประวัติพุทธสาวก เรื่อง พระรัฏฐปาลเถระ


พระรัฏฐปาลเถระ


ได้ยินว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมมุตตระจะเสด็จอุบัติ พระเถระบังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล ในนครหังสวดี เติบโตแล้ว เมื่อบิดาล่วงลับไป ก็ครอบครองบ้านเรือน ได้เห็นทรัพย์ที่ตกทอดมาตามวงศ์ตระกูลนับประมาณไม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาคลังรัตนะแสดงให้ดู จึงคิดว่า บรรพชนมีบิดา ปู่ และปู่ทวดเป็นต้นของเรา ไม่สามารถพาเอากองทรัพย์สินมีประมาณเท่านี้ไปกับตนได้ แต่เราควรจะพาเอาไป จึงได้ให้มหาทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้าเป็นต้น

ท่านได้อุปัฏฐากดาบสรูปหนึ่งผู้ได้อภิญญา อันดาบสนั้นชักนำในความเป็นใหญ่ในเทวโลก จึงได้บำเพ็ญบุญมากมายจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติ ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นตลอดกาลกำหนดของอายุ จุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นบุตรคนเดียวของตระกูลที่สามารถรวบรวมรัฐซึ่งต่างแบ่งแยกกันในมนุษย์โลกไว้

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ยังเวไนยสัตว์ให้ลุถึงภูมิอันเกษม กล่าวคือ มหานครนิพพาน ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นรู้เดียงสาโดยลำดับ วันหนึ่งไปวิหารกับพวกอุบาสก เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรม มีจิตเลื่อมใสจึงนั่งลง ณ ท้ายบริษัท

ก็สมัยนั้นแล พระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา เขาเห็นดังนั้นมีจิตเลื่อมใส จึงตั้งจิตไว้เพื่อต้องการตำแหน่งนั้น แล้วบำเพ็ญมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อันภิกษุหนึ่งแสนรูปห้อมล้อม ด้วยสักการะใหญ่ตลอด ๗ วัน แล้วได้กระทำความปรารถนาไว้

พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนานั้นสำเร็จโดยไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล กุลบุตรผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โคดม

เขาถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระภิกษุสงฆ์แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป เขาทำบุญมากหลายในอัตภาพนั้นตลอดชั่วอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ผุสสะ เมื่อราชบุตร ๓ พระองค์ผู้เป็นพระภาดาต่างพระชนนีกันกับพระศาสดา ทรงอุปัฏฐากพระศาสดาอยู่ ได้กระทำกิจแห่งบุญกิริยาของราชบุตรเหล่านั้น

เขาสั่งสมกุศลต่างๆ เป็นอันมากในภพนั้นๆ อย่างนี้ ท่องเที่ยวอยู่แต่เฉพาะสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของ รัฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิกนิคม ในกุรุรัฐ จึงได้นามตามตระกูลวงศ์ว่า รัฐปาละ

รัฐปาละนั้นเจริญด้วยบริวารเป็นอันมาก ถึงความเป็นหนุ่มโดยลำดับ บิดามารดาจึงหาภรรยาที่สมควรให้ และให้ดำรงอยู่ในยศใหญ่ เสวยเฉพาะสมบัติดุจสมบัติทิพย์

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จจาริกไปยังชนบทในแคว้นกุรุรัฐเสด็จถึงถุลลโกฏฐิกนิคมโดยลำดับ รัฐปาลกุลบุตรได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วได้ศรัทธาประสงค์จะบวช ได้ทำการอดอาหาร ๗ วัน ให้บิดามารดาอนุญาตเพื่อจะบวชอย่างแสนยากลำบาก เมื่อบิดามารดาอนุญาตแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา ได้บวชในสำนักของพระเถระรูปหนึ่ง โดยอาณัต (คำสั่ง) ของพระศาสดา กระทำกรรมโดยโยนิโสมนสิกา เจริญวิปัสสนาญาณ บรรลุพระอรหัตแล้ว ด้วยเหตุนี้ท่านกล่าวว่า

เราได้ถวายช้างตัวประเสริฐมีงางอน ควรเป็นราชพาหนะ ทั้งลูกช้างอันงาม มีเครื่องหัตถาลังการ กั้นฉัตรขาว แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เชษฐบุรุษโลก ผู้คงที่ เราซื้อสถานที่ทั้งหมดนั้นแล้วได้ให้สร้างอารามถวายแก่สงฆ์ ได้ให้สร้างปราสาทไว้ในภายในวิหารนั้น ๕๔,๐๐๐ หลัง ได้ทำทานดุจห้วงน้ำใหญ่มอบถวายแด่พระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระประทีปแก้วผู้เป็นอัครบุคคลทรงอนุโมทนา ทรงยังชนทั้งหมดให้ร่าเริง ทรงแสดงอมตบท พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายก พระนามว่า ปทุมุตตระทรงกระทำผลบุญที่เราทำแล้วนั้นให้แจ้งชัดแล้ว ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

“ผู้นี้ได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง เราจักแสดงวิบากของคนผู้นี้ ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว กุฏาคาร (เรือน) หมื่นแปดพันหลังจักมีแก่ผู้นี้ และกุฏาคารเหล่านี้สำเร็จด้วยทองล้วน เกิดในวิมานอันอุดม ผู้นี้จักเป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติ ๕๐ ครั้ง และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ครั้ง

ในกัปที่แสน พระศาสดาพระนามว่า โคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้อันกุศลมูลกระตุ้นเตือนแล้ว จักจุติจากเทวโลก ไปบังเกิดในสกุลที่เจริญมีโภคสมบัติมาก ภายหลังอันกุศลมูลกระตุ้นเตือนจักบวช จักได้เป็นสาวกของพระองค์ โดยมีชื่อว่า รัฐปาละ เขามีใจตั้งมั่นในความเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิกิเลส จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วไม่มีอาสวะ นิพพาน ดังนี้

เราจึงลุกขึ้นแล้วสละโภคทรัพย์ออกบวช ความรักในโภคสมบัติอันเปรียบด้วยก้อนเขฬะ ไม่มีแก่เรา เรามีความเพียรอันนำไปซึ่งธุระ เป็นเครื่องนำเอาธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะมา เราทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุดในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราทำเสร็จแล้ว

ก็ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว ทูลขออนุญาตพระศาสดา ไปยังถุลลโกฏฐิกนิคม เพื่อเยี่ยมบิดามารดา ท่านก็เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตตามลำดับตรอกไปในถุลลโกฏฐิกนิคม และได้ซึ่งขนมกุมาสบูดอันประกอบด้วยโทษยิ่งนักในเรือนแห่งบิดา เมื่อท่านฉันขนมกุมาสบูดนั้น ปราศจากความรังเกียจเกลียดอาย อย่างประหนึ่งว่าฉันน้ำอมฤตฉะนั้น ครั้นบิดาอาราธนา จึงรับนิมนต์เพื่อจะฉันในวันรุ่งขึ้น

ในวันที่ ๒ จึงฉันบิณฑบาตในนิเวศน์ของบิดา เมื่อหญิงในเรือนตกแต่งประดับประดาแล้ว เข้าไปหากล่าวคำมีอาทิว่า “พระลูกเจ้า นางฟ้าเหล่านั้นเป็นเช่นไร อันเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์” ดังนี้แล้ว เริ่มกระทำการประเล้าประโลม จึงได้เปลี่ยนกลับความประสงค์ของเธอเสีย ท่านรัฐปาลเถระเมื่อจะแสดงธรรมเทศนาด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า

“เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย คนพาลดำริหวังกันมาก ไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑลหุ้มด้วยหนัง มีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยผง สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำผู้แสวงหาความหลุดพ้นคือพระนิพพาน ให้ลุ่มหลงได้

ผมทั้งหลายอันบุคคลตกแต่งเป็นลอนคล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตาทั้งสองหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำผู้แสวงหาความหลุดพ้นคือพระนิพพาน ให้ลุ่มหลงได้

กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตกแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาตาใหม่ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาความหลุดพ้นคือพระนิพพานให้ลุ่มหลงได้

นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป

เมื่อพรานเนื้อดักบ่วงมีด้ามเพื่อต้องการฆ่าพวกเนื้อ เอาเหยื่อโปรยที่บ่วงนั้นแล้วแอบซุ่มอยู่ เนื้อตัวหนึ่งในป่านั้นฉลาดสมบูรณ์ด้วยเชาวน์และความพยายามไม่กระทบบ่วงเลย เคี้ยวกินเหยื่อตามสบาย เมื่อนายพรานเนื้อรู้ว่า เนื้อมันลวง จึงร้องขึ้น ก็ไปเสียฉันใด เนื้อตัวอื่นมีกำลัง ฉลาดสมบูรณ์มีเชาวน์ ไปในที่นั้นเคี้ยวกินเหยื่อทำบ่วงในที่นั้นๆ ให้ขาด เมื่อนายพรานเนื้อรู้ว่า เนื้อมันฉลาด ทำบ่วงขาด เศร้าโศกอยู่ ก็ไปเสียฉันใด

แม้เราทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อก่อนในคราวเป็นปุถุชน บริโภคโภคะที่บิดามารดามอบให้ เพื่อให้ติดข้องอยู่ ไม่ติดข้องในโภคะนั้นๆ ออกไปเสีย ก็บัดนี้ เราทั้งหลายตัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว เป็นผู้ไม่มีบ่วง บริโภคโภชนะที่บิดามารดาเหล่านั้นให้ เมื่อท่านทั้งสองเศร้าโศกอยู่นั้นแล ก็ไปเสีย”

พระเถระแสดงบิดามารดากระทำให้เป็นเสมือนพรานเนื้อ กระทำเงินทองและเรือนหญิงให้เป็นดุจบ่วง กระทำโภคะที่ตนใช้สอยในกาลก่อน และโภชนะที่ตนบริโภคในกาลนี้ ให้เป็นดุจเหยื่อคือหญ้า และกรทำให้เป็นดุจเนื้อใหญ่ ท่านกล่าวคาถานี้แล้ว เหาะขึ้นสู่อากาศไป นั่งอยู่ที่แผ่นศิลาอันเป็นมงคลของ พระเจ้าโกรพยะ ในมิคาชินอุทยาน

ได้ยินว่า โยมบิดาของพระเถระให้ใส่ดาลที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ แห่ง แล้วสั่งคนให้ปล้ำไว้ว่า อย่าให้ออกไป จงดึงผ้ากาสายะออกให้นุ่งผ้าขาว เพราะฉะนั้น พระเถระจึงไปทางอากาศ

ลำดับนั้น พระเจ้าโกรพยะ ทรงสดับว่า พระเถระนั่งอยู่ที่นั้น จึงเสด็จเข้าไปหา ทรงทำสัมโมทนียคาถาอันเป็นเครื่องระลึกถึงกันให้ผ่านไปแล้ว จึงตรัสถามว่า

“ท่านรัฐปาละผู้เจริญ บุคคลผู้จะบวชในโลกนี้ เป็นผู้ประสบความเสื่อมเพราะเป็นโรคหรือความเสื่อมเพราะชรา โภคะและญาติ จึงออกบวช ส่วนตัวท่านไม่ประสบความเสื่อมอะไรๆ เลย เพราะเหตุไร จึงออกบวช”

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวถึงตนผู้มีภาวะอันวิเวกต่อ ธัมมุทเทส ๔ ประการนี้ แด่พระราชาว่า

“โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน โลกไม่เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสตัณหา” ดังนี้ เมื่อจะกล่าวการร้อยกรองตามลำดับแห่งเทศนานี้ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

“เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสั่งสมไว้ และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้วไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาจักครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหาย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป”

“ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลกเลย ความอิ่มด้วยวัตถุกามทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่คนผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา มีความปรารถนาในกามทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด หมู่ญาติพากันสยองผมร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้นและรำพันว่า ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้ว ก็เอาผ้าห่อนำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาว เผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป เมื่อบุคคลจะตายย่อมไม่มีญาติหรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภรรยา ทรัพย์ แว่นแคว้น สิ่งใดๆ จะติดตามไปได้เลย บุคคลจะได้มีอายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความแก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่”

“นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั่นแลว่าเป็นของน้อยไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา มีการสลายตัวไปในที่สุด ทั้งคนมั่งมีและคนยากจนย่อมถูกต้องผัสสะอันน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเหมือนกัน ทั้งคนพาลและคนฉลาดก็ถูกต้องผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเบียดเบียน ย่อมเป็นทุกข์ หมุนมาหมุนไปทางโน้นทางนี้ ร้อนใจ หวั่นไหวอยู่ เพราะความเป็นคนพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นแล ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน

แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยและภพใหญ่ เพราะความหลง ผู้ใดทำกรรมชั่ว กระทำบาปทั้งหลายแล้ว ถึงการท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ย่อมเข้าถึงครรภ์และโลกหน้า คือย่อมไม่พ้นไปจากการนอนอยู่ในครรภ์และการเกิดขึ้นในโลกหน้า ผู้นั้นจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารร่ำไป

บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของบุคคลผู้ทำกรรมชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน

โจรผู้มีอธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมของกลางย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในปรโลก คือ นรก เป็นต้น เพราะกรรมชั่วของตนฉันนั้น

“กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย น่ารื่นรมย์ใจ เพราะมีอาการน่าปรารถนา ด้วยอำนาจความยินดีแห่งชาวโลก ทำให้จิตใจของพวกพาลปุถุชนให้ยินดี ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูก่อนมหาบพิตร เพราะอาตมภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวช สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ผลไม้ทั้งหลายในเวลาสุกและเวลายังไม่สุก ย่อมตกไปในที่ใดที่หนึ่ง โดยความพยายามของคนอื่น หรือโดยหน้าที่ของตน ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น จะเป็นคนหนุ่มและคนแก่ ย่อมตกไปเหมือนกัน เพราะร่างกายแตกเหมือนผลไม้หล่นฉะนั้น”

“ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยงแม้ข้อนี้ จึงออกบวช ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั่นแลประเสริฐ อาตมภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาขององค์สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรพชาของอาตมภาพไม่มีโทษ อาตมภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ บริโภคโดยความเป็นเจ้าของด้วยอำนาจความหมดกิเลส อาตมภาพเห็นกามทั้งหลายโดยเป็นของอันติดไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาสตรา เพราะเป็นของนำความพินาศมา เห็นทุกข์อันเกิดจากความเป็นไปในสงสารทั้งปวง จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ที่จะรับในมหานรกทั้ง ๘ ขุม พร้อมด้วยอุสสุทนรก นรกที่เป็นบริวารในที่ทุกแห่ง จึงออกบวช อาตมภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้น ในเวลาที่อาตมภาพเป็นคฤหัสถ์นั้น อาตมภาพเป็นผู้ถูกลูกศร คือราคะ เป็นต้น เสียบแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว พระศาสดาอันอาตมภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อาตมภาพทำเสร็จแล้ว อาตมภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว”

พระเถระครั้นแสดงธรรมแก่พระเจ้าโกรพยะอย่างนี้แล้ว ไปเฝ้าพระศาสดาทีเดียว และในกาลต่อมา พระศาสดาทรงประทับนั่งในท่ามกลางพระอริยสงฆ์สาวกแล้ว จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ใน ตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา

เมื่อพระรัฏฐปาลเถระมีพระชนม์อยู่ครบจำนวนถ้วนกาลกำหนดแล้ว ก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานด้วย อนุปาทิเสสปรินิพพานธาตุ ดับกรรมชรูปและวิบากขันธ์สิ้นเสร็จหาเศษมิได้ด้วยประการฉะนี้แล


praew
Super Administrator
*********
Posts: 462
Registered: 12/3/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved