ตามรอยพระพุทธบาท

นวตกรรมใหม่ '‘โรบอตเทคโนโลยี' ตรวจมะเร็งปากมดลูก
webmaster - 21/3/11 at 09:02

สถาบันมะเร็งฯ เปิดตัวนวตกรรมใหม่ ‘โรบอตเทคโนโลยี’ ตรวจมะเร็งปากมดลูก


หนังสือพิมพ์แนวหน้า | อังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 | 12:54:05 น.

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยความสำเร็จครั้งล่าสุดพร้อมเปิดตัวนวัตกรรม ‘โรบอตเทคโนโลยี’ เทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เครื่องแรกในประเทศไทย โดยการตรวจคัดกรองด้วยเครื่อง ThinPrep Imager system ที่สามารถลดข้อจำกัดขอการตรวจแพพสเมียร์ในแบบเดิมๆ




(ภาพจาก bangkokbiznews.com)


☺.....นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในกลุ่มผู้หญิงอายุ 35-50 ปี โดยมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 2 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก ประกอบกับการเกิดมะเร็งชนิดนี้มีสาเหตุหลักจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมักกลัว หรืออายที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อมะเร็ง ดังนั้นส่วนใหญ่เมื่อร่างกายแสดงอาการผิดปกติขึ้น ก็มักจะอยู่ในระยะที่ความรุนแรงของโรคลุกลามไปมากแล้ว

“ไวรัสเอชพีวีมีอยู่กว่าร้อยชนิด แต่ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้มีประมาณ 30-40 ชนิด ซึ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีนั้นดำเนินได้ง่าย เพราะเชื้อชนิดนี้ทนทานต่อความร้อนและความแห้งได้ดี โดยอาจเกาะติดตามผิวหนัง เสื้อผ้า อวัยวะเพศ หรือกระจายอยู่รอบตัวในลักษณะของละอองฝุ่น อย่างไรก็ตามการติดเชื้อมักหายได้เองด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่การติดเชื้อยังคงดำเนินต่อ สร้างความผิดปกติให้มดลูก และกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ทั้งนี้หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนก่อตัวเป็นมะเร็งปากมดลูก จะกินเวลาประมาณ 10-15 ปี”

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยอีกว่า อาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้น โดยทั่วไปในระยะแรกจะไม่ปรากฏอาการใดๆ จนถึงระยะต่อมา ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการตกขาว มีเลือดออกแบบผิดปกติทางช่องคลอด และตรวจพบแผลหรือก้อนที่ปากมดลูก โดยอาการตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบมากที่สุดราวร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วย ลักษณะของเลือดที่ออกจะกะปริบกระปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ก็จะมีอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดหลัง ขาบวม ปวดก้นกบ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ฯลฯ

ในส่วนของการรักษา นพ.ธีรวุฒิ บอกว่า มะเร็งปากมดลูกอาจรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะแรก ทั้งนี้ วิธีการรักษาจึงแตกต่างกันไปตามระยะอาการ ตั้งแต่การผ่าตัด การฝังแร่ การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายไปว่าผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีใด


(ภาพจาก women.mthai.com)

“ผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทุกคน ควรได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่าแปบสเมียร์ (PapSear) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สำหรับคนที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป ซึ่งในกรณีที่เริ่มพบความผิดปกติ แพทย์อาจนัดตรวจถี่ขึ้นตามที่เห็นสมควร

แปปสเมียร์ เป็นวิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูกที่ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาไม่นาน และช่วยลดความเสี่ยงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถทำควบคู่ไปกับการตรวจภายใน โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เป็นไม้ขนาดเล็กที่ใช้ขูดเพื่อเก็บเซลล์มาป้ายบนแผ่นกระจกเพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติ ผู้รับการตรวจควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรตรวจระหว่างมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด หรือการสอดยาใดๆ ก่อนเข้าทำการตรวจ”

ล่าสุด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม ‘โรบอตเทคโนโลยี’ เทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเครื่องแรกในประเทศไทย โดยการตรวจคัดกรองด้วยเครื่อง ThinPrep Imager system ที่สามารถลดข้อจำกัดของการตรวจแพพสเมียร์ในแบบเดิมๆ ซึ่งในบางครั้งอาจเกิดผลลบลวงขึ้นได้ในระหว่างขั้นตอนการเก็บเซลล์จากปากมดลูก หรือในขั้นตอนการอ่านและการแปลผล

ThinPrep System เป็นระบบสมบูรณ์แบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทั้งในขั้นตอนการเตรียมเซลล์ให้เป็นแผ่นบางบนแผ่นกระจกแก้ว (Slide) โดยใช้เครื่อง ThinPrep 2000 และ ThinPrep 5000 และในขั้นตอนการอ่านผลแบบ Dual review ด้วย ThinPrep Imaging system ซึ่งจะทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สามารถหวังผลได้ถึง 100% และด้วยนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ทำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกลดลงได้

สำหรับประเทศไทยเราพบว่าในช่วงปี ค.ศ. 2001-2003 มีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 1 แต่ในอนาคต เมื่อ ThinPrep Imager System เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และด้วยนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ทำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกลดลงได้ ขณะนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำในการตรวจหามะเร็งปากมดลูก พร้อมแล้วในการนำนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ "โรบอตเทคโนโลยี" นี้มาใช้ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามมาตรฐานสากล