ตามรอยพระพุทธบาท

เล่าเรื่องจากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 1 (ตอน 2)
webmaster - 8/3/08 at 20:52

◄ll ตอนที่ 1 การเดินทางไป ภาคเหนือ-ภาคใต้ ปี 2536-2537
◄ll ตอนที่ 3 การเดินทางไป ภาคกลาง ปี 2538
◄ll ตอนที่ 4 การเดินทางไป งานรวมภาค ปี 2539



สารบัญ

01.
ประวัติรอยพระพุทธบาทภูสิงห์
02. วัดพระธาตุพนม
03. พระธาตุเชิงชุม



การเดินทางไปภาคอีสาน เมื่อปี 2538



ชมคลิปวีดีโอ ภาคอีสาน (ครั้งที่ 1) เมื่อปี 2538 คลิกชม ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2


สำหรับการเดินทางไปจัดงานทำพิธี “ลอยกระทง” เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ เกาะแก้วพิสดาร และในตอนกลางคืนก็ได้จัดงาน “ลอยโคมไฟ” เพื่อบูชาพระจุฬามณี ณ แหลมพรหมเทพ พร้อมทั้งจุดพลุในยามค่ำคืนด้วยทั้ง ๒ แห่ง คือทั้งที่แหลมพรหมเทพและที่เกาะแก้ว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน

ปรากฏการณ์พิเศษได้เกิดขึ้น ท่ามกลางสายตาของพวกเราทุกคน ต่างก็ได้เห็น “โคม ลอย”เดินเรียงแถวไปหากันอย่างน่าอัศจรรย์ ใจ โดยที่ “โคมลอย” จากแหลมพรหมเทพ ได้ลอยเป็นแถวไปหา “โคมลอย”ที่ปล่อยมาจากเกาะแก้วพิสดาร แล้วเข้าต่อแถวเรียงกันไปในอากาศ ซึ่งลอยออกไปในกลางทะเล

เมื่องานทาง "ภาคใต้" จบตอนลงไปแล้ว จึงคิดว่าเราน่าจะไหว้พระพุทธบาทให้ครบ ๔ ทิศเลยดีกว่า นี่เพียงแค่นิดเดียวนะ ต่อมาก็มีเหตุให้ต้องวนไปวนมาตั้ง ๑๐ กว่าปี อย่างที่เห็นนี่แหละ ครั้นถึงปี ๒๕๓๘ ก็เป็นงานทาง “ภาคอีสาน”
จึงได้เดินทางไปเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม เพื่อฟื้นฟู รอยพระพุทธบาทภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีประวัติบันทึกไว้ดังต่อไปนี้



ประวัติรอยพระพุทธบาทภูสิงห์


ตามประวัติที่ หลวงพ่อศรีนวนเจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ ท่านได้เล่าไว้เมื่อตอนพบรอยพระพุทธบาทใหม่ๆ โดยนายสร้อย โพธิ์สาชัยเป็นผู้บันทึกไว้เมื่อปี ๒๕๒๗ มีใจความว่า

“...รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เดิมมีชื่อว่า “รอยพระพุทธบาทเขาน้ำพุ” ซึ่งเป็นเขาเตี้ยๆ สูงประมาณ ๕๐ กว่าเมตร จากพื้นดินโดยประมาณ ด้านหนึ่งเป็นหน้าผา อีกด้านหนึ่งเป็นเนินเขา ตรงที่นำรถขึ้นมานี่แหละ.. เป็นภูเขาลักษณะหินปนทราย บนเนินเขาและบริเวณรอบๆ ปกคลุมไปด้วยหมู่ไม้นานาชนิด

ทั้งหมดมีเนื้อที่โดยรอบประมาณ ๓ พันกว่าไร่ มียอดเขาที่ต่อเนื่อง ๓ ลูกด้วยกันคือยอดเขาภูสิงห์ ยอดเขาน้ำพุ และยอดเขาตาโพก ภูเขา แต่ละลูกรวมเป็นเทือกเขาเทือกหนึ่ง คู่ขนานกับเทือกเขาดงแร็ก ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับเขมร อันธรรมขาติแบ่งปันไว้ให้

(แสดงให้เห็นว่า ในสมัยครั้งพุทธกาลยังไม่มีเส้นกั้นเขตแดนว่าเป็นของใคร ทั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจพระพุทธญาณ พระองค์จึงได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชายแดนทาง “อีสานตอนล่าง” ของประเทศไทย)

ตามประวัติการพบรอยพระพุทธบาทนั้นผู้พบเห็นรอยพระพุทธบาทเป็นคนแรกคือ แม่ชีมาก บุญประสิทธิ์ อายุ ๖๗ ปี เป็นคนในละแวกนี้โดยกำเนิด ได้ออกจาริกไปปฏิบัติพระกรรมฐานตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับเพื่อนแม่ชีมีชื่อว่า แม่ชีพร รัตนพันธ์ อายุก็รุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อปี ๒๕๒๕ ก็ได้จำพรรษาอยู่เขาตาโพก อันเป็นเขาบริวารของภูเขาน้ำพุ

อยู่มาถึงคืนวันหนึ่ง แม่ชีมากพร้อมด้วยเพื่อนแม่ชี ได้นั่งสมาธิภาวนาอย่างที่เคยปฏิบัติมา ปรากฏว่ามี “ชีผ้าขาว” คนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ เข้ามาสู่นิมิตพร้อมกับกล่าวว่า

“ทำไมเธอไม่ไปนมัสการและบูรณะรักษารอยพระพุทธบาทที่เขาน้ำพุที่ลานที่ปรากฏอยู่...?”

แม่ชีมากเองก็คิดว่าเป็นความฝันหรือเป็นอุปาทานของตัวเอง จึงได้วางเฉยเสีย เมื่อออกพรรษาแล้ว ย่างเข้าวันเพ็ญเดือน ๑๒ ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งนับเป็นวันที่พบรอยพระพุทธบาท

แม่ชีมากพร้อมด้วยแม่ชีพร ได้ชวนกันไปถวายจังหันพระที่เขาน้ำพุ ณ ที่เขาน้ำพุนั้น เป็นสำนักสงฆ์โดยอาศัยเงื้อมเขาเป็นที่พำนักมี “หลวงตาอ้วน” ซึ่งเป็นพระบวชเมื่อแก่ เป็นลูกหลาน “ชาวบ้านศาลา” นั่นเอง เป็นหัวหน้าสงฆ์ที่นั่น มีพระสงฆ์ประมาณ ๔-๕ รูป

พอถวายจังหันพระฉันเสร็จแล้ว แม่ชีมากได้เล่าเหตุการณ์ที่เป็นมาในระหว่างพรรษา ให้หลวงตาอ้วนฟังดังกล่าวแล้วข้างต้น หลวงตาอ้วนเกิดความสนใจเป็นอันมาก จึงได้ตกลงกันแยกย้ายค้นหาตามผลาญหิน ซึ่งมีมากมายบนเขาน้ำพุนั้น และยังรกรุงรังปกคลุมไปด้วยใบไม้ใบหญ้า ตลอดจนวัชพืชต่างๆ หนาแน่นยากแก่การที่จะเห็นได้

ขณะที่เดินไปมาพร้อมกับความหวังอันเลือนลางนั้น แม่ชีมากก็ได้มองไปเห็นรอยมีลักษณะเป็นหลุม ๔ - ๕ หลุม ดูผิดปกติเรียงกันอยู่ จึงได้เอาไม้เขี่ยดู เขี่ยไปเขี่ยมาก็ปรากฏว่าเป็นรอยฝ่าเท้าขนาดใหญ่ ยังความปีติโสมนัส แก่ผู้ร่วมเสาะหาเป็นอย่างยิ่ง จึงพากันทำความ สะอาด เก็บก้อนหินมาเรียงกั้นไว้ จุดธูปเทียน บูชาตามความเชื่อที่มีอยู่

ตั้งแต่นั้นมาข่าวว่าพบรอยเท้าขนาดใหญ่ ที่เขาน้ำพุ ก็แผ่ขยายออกไป แต่ก็ปรากฏเป็นข่าวเฉพาะในหมู่ชนละแวกนั้นเท่านั้น แท้จริงแล้วรอยเท้าขนาดใหญ่นี้ เมื่ออาตมาผู้เล่ายังเป็นเด็กอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า มีรอยเท้าขนาดใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของอำเภอขุขันธ์ แต่เขาไม่ได้เรียกว่า “รอยพระพุทธบาท” เขาเรียกกันว่า “รอยเท้าของตาเบาะตาพรหม” ซึ่งเป็นคนพิเศษรูปร่างใหญ่โต แข็งแรง บึกบึนซึ่งคำนี้เป็นปรัมปราเล่ากันมาช้านานแล้ว เมื่ออาตมาโตขึ้นมาแล้ว คำนั้นไม่ได้ยินอีกเลย

ต่อไปนี้อาตมาขอลำดับเรื่องเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท นับแต่ได้ไปชมและเกี่ยวข้องมาโดยตลอด อาตมาได้รับข่าวพบรอยพระพุทธบาทนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๒๖ โดยพระครูปลัดสาย เจ้าอาวาสวัดตะเคียนรามเป็นผู้เล่าให้ฟัง ครั้นได้ไปธุระที่ “บ้านศาลา” จึงถือโอกาสไปเยี่ยมชมบ้าง

เมื่อดูเรียบร้อยแล้วก็ได้วัดดูขนาดของรอยเท้า ปรากฏว่ายาว ๑.๔๖ เมตร กว้าง ๖๖ ซ.ม. ความลึก ๓ ซ.ม. เป็นรอยเท้าด้านซ้าย ลักษณะเรียบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรอยเงากงจักรท่ามกลางพระบาท ปรากฏให้เห็นด้วยอย่างชัดเจน ภายหลังประชาชนไปนมัสการเป็นจำนวนมาก ได้พากันขูดเอาน้ำมนต์ในรอยพระพุทธบาทและอะไรต่อมิอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักษณะอันนั้นเลยหายไป แต่ความศักดิ์สิทธิ์นั้นมีเล่าว่า

นายอำเภอขุขันธ์นำน้ำจากรอยพระพุทธบาทไปทาที่แขนทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นเม็ดผื่นคันรักษาไม่หาย ปรากฏว่าโรคคันได้หายไปโดยเร็วและมีบุคคลอื่นหายจากป่วยเจ็บ จากน้ำในรอยพระพุทธบาทเช่นกัน แม้กับสัตว์เลี้ยง น้ำในรอยพระพุทธบาทก็รักษาหายได้

ต่อมาได้ประกาศให้ประชาชนและพระภิกษุสามเณรให้รับทราบ เมื่อเดินทางไปนมัสการ ต่างก็พรรณนาความงามแห่งรอยเท้าว่ามีลักษณะเป็นที่น่าเลื่อมใส และไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่น่าเชื่อว่าปุถุชนคนสามัญ จะสามารถสะกดรอยเท้าให้ปรากฏบนแผ่นหินอันแข็งกระด้างนี้ได้ พระภิกษุบางพวกก็พรรณนาว่าชรอยจะเป็นรอยเท้าของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างแน่นอน ตั้งแต่นั้นมาข่าวคราวก็ได้แพร่สะพัดไปทั่วทิศานุทิศ...”

ครั้นได้เล่าประวัติรอยพระพุทธบาทจบ ดังนี้แล้ว พระครูสมุห์พิชิต ประธานในพิธีจึงได้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง พระภิกษุทุกรูปนั่งล้อมรอบรอยพระพุทธบาท ต่างก็ช่วยกันจุดธูปเทียนเช่นเดียวกัน ส่วนท่านญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันนั่งล้อมรอบบนผลาญ หิน บ้างก็นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไปทั่ว เมื่อมองดูจึงเห็นชุดขาวสะอาดตา นั่งอยู่เต็มรอบบริเวณนั้น

ครั้นหันกลับมาดูภายในมณฑปรอยพระพุทธบาท เห็นเปลวเทียนที่อยู่บนเชิงเทียนทุก เล่มส่องแสงสว่างไสวไปรอบรอยพระพุทธบาท ซึ่งวางอยู่บนแท่นล้อมรอบรอยพระพุทธบาท ส่วนแท่นโดยรอบทำยกพื้นสูงประมาณ ๑ ฟุต แล้วปูพื้นแท่นด้วยผ้าสีทองแวววาว ประดับด้วยดิ้นมีลวดลาย พร้อมห้อยพวงภู่ดูระย้าสวยงาม

บนแท่นมีบายศรีวางไว้ ๓ ด้านๆ ละต้น พร้อมฉัตรเงินฉัตรทอง และพุ่มเงินพุ่มทองวางสลับกันกับเชิงเทียนดูสวยงามกระจ่างตา เป็นเครื่องสักการบูชา ที่พวกเราจัดสรรหามาประดับรอยพระพุทธบาท เพื่อให้สมพระเกียรติคุณขององค์พระบรมครูผู้เป็นพระศาสดา

หลังจากเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อบวงสรวงและนำบูชาพระรัตนตรัยจบแล้ว พวกเราผู้เป็นลูกแก้วทั้งหลายที่ได้เดินทางหลาย จังหวัด โดยได้รับความสะดวกสบายจากลูกแก้ว ทั้งหลายของหลวงพ่อฯ ที่รออยู่ทางภาคอีสาน เลี้ยงอาหารทั้งเช้าและเพล แถมเอาข้าวเหนียวและหมูยอมาดักรอส่งรถตอนขากลับอีกด้วย

ด้วยน้ำใจไมตรีจิตเช่นนี้ ทำให้พวกเราที่เดินทางเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งคืน ก็ฟื้นขึ้นมีกำลังวังชาทำให้อารมณ์แจ่มใสเหมือนเดิม เสียงการสวดสรรเสริญพระพุทธคุณดังก้องไปทั่ว บอกถึงความมีศรัทธาในคุณพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นไม่คลอนแคลน รำลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดาที่ได้ทรงเมตตาอุตสาหะ เสด็จมาประทานรอยพระบาทไว้ให้ชาวอีสานตอนล่าง รวมทั้งคนไทยทั่วประเทศ ในฐานะที่เป็นเจ้าของรอยพระพุทธบาทเช่นกัน ให้ได้กราบไหว้บูชากัน

การเดินทางไปในคราวนั้น นับเป็นการเดินทางกราบนมัสการรอบพระพุทธบาทเป็นรอยที่ ๓ และ ภาคที่ ๓ ของประเทศไทย ซึ่งได้วางกำหนดไว้แล้ว จะไปให้ครบทุกภาคของประเทศในปี ๒๕๔๒ เป็นการไหว้รอยพระพุทธบาททั้ง ๔ ทิศ นี่เป็นความดำริตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ต้องใช้เวลาหลายปี และกว่าจะจัดงานได้แต่ละ ครั้งไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องเดินทางประสานงานกับลูกศิษย์ของหลวงพ่อในแต่ละภาค

เพราะฉะนั้น การไปแต่ละครั้งมักจะไม่ไปซ้ำ จัดงานแล้วก็เลยไป..ไม่ทวนอีก ส่วนที่ไปแล้วนั้น ถ้าใครชวนท่านไป บอกว่าจะไปด้วยขอให้โปรดเข้าใจว่าไปแต่ชื่อเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จ ที่จะต้องไปกราบไหว้...ไปแนะนำให้คนรู้จัก...รู้คุณค่า..!

การจัดงานที่ผ่านมาแต่ละครั้งต้องขออภัยด้วย ที่ไม่ได้บอกกล่าวกันทั่วไป เพราะเห็นว่าทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังยกย่องพระคุณหลวงพ่อทั่วสารทิศ หวังเชิดชูรอยพระพุทธบาทให้คนไทยรู้คุณค่า หวังความสามัคคีเท่านั้นที่จะเป็นพลังให้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทรงอยู่คู่ เมืองไทยได้ตลอดไป

ทั้งนี้ ด้วยพระคุณความมีน้ำใจอันดีที่ ช่วยสนับสนุน และช่วยแนะนำงานที่จะต้องทำ จากพระภิกษุภายในวัด อันมี ท่านพระครูปลัดอนันต์และ พระครูสมุห์พิชิตเป็นต้น โดยเฉพาะญาติโยมที่เดินทางไป เมื่อกลับมาทุกครั้งก็ถ่ายทอดให้ผู้ที่มิได้ร่วมเดินทางไปด้วยรับทราบ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงทุกอย่าง

และเมื่อถึงเวลาเสร็จภาระ..หมดหน้าที่ใครจะชวนให้ทำอีก...คงจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครเขาช่วย งานที่สำเร็จราบรื่นทุกครั้ง ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยทุกอย่าง ทั้งที่เห็นตัวและไม่ เห็นตัว เพราะลำพังตัวเองก็เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว

นี่แสดงให้เห็นถึง คุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมบุญบารมีเป็นเอนกอนันต์มาแล้วกับหลวงพ่อ ถ้าจะนับเวลาคงจะเป็นหลายอสงไขย ถ้าจะนับชาติก็คงจะประมาณมิได้ ถ้าจะนับผลบุญ ก็ต้องวัดด้วยกำลังใจเช่นนี้ คือแสดงออกด้วยการเสียสละทุกอย่าง บางครั้งงานทางบ้าน... งานทางครอบครัว... ของดไว้ชั่วคราว ขอช่วยงานวัดก่อน กำลังใจเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ ถ้าไม่ไปนิพพานในชาตินี้ แล้วจะไป ชาติหนใดกันละ...ท่านเอ๋ย...!

ครั้นเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงและสักการบูชา ด้วยการเปิดโอกาสให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้ากราบไหว้ด้วยธูปเทียนปิดทองคำเปลว สรงด้วยน้ำหอม นับเป็นที่อัศจรรย์แก่สายตาของคนที่ได้เห็น ปรากฏ “ลายกงจักร” ขึ้น เป็นเงาๆ ท่ามกลางฝ่าพระบาท ที่ได้เคยถูกขูดเอาน้ำมนต์จนลบเลือนไปนานหลายปีแล้ว

ย่อมเป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งทุกคนจึงพร้อมใจกัน ถวายเงินไว้ในฝ่าพระบาท บ้างก็เอาไปชุบกับน้ำมันจันทน์ในรอยพระพุทธบาท เพื่อนำไปเก็บไว้เป็นสิริมงคลในกระเป๋าสตางค์ของตน

เมื่อทุกคนได้เข้าไปกราบไหว้เป็นที่ชื่นใจแล้วก็เป็นการฟ้อนรำชุด ปราสาทหิน และชุด มาไยสลับกับการแสดง กันตรึมเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา แล้วก็พากันไปรวมตัวที่ศาลา เพื่อร่วมกันกระทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และถวายผ้าป่าเป็นการสมทบทุนสร้างศาลาให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งทำห้องส้วมอีก ๑๓ ห้อง รวบรวมเงินได้ทั้งสิ้น ๑๘๐,๐๐๐ บาทเศษ

นอกจากนี้ยังได้นำพระพุทธรูป ๕๐ นิ้ว พร้อมพระอัครสาวกทั้งสอง, ระฆัง, โต๊ะหมู่บูชา และเครื่องบูชาครบชุด ถวายไว้ประจำศาลาหลังนั้น และมีผู้นำเครื่องสังฆทานร่วมกันถวายอีกหลายชุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๓ หมื่นบาท แต่ก่อนที่จะถวายผ้าป่านั้น ก็มีการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ แล้วจึงอัญเชิญขึ้นบรรจุในพระเศียรพระพุทธรูปต่อจากนั้นจึงได้ถวายผ้าป่า พระสงฆ์ให้พรจบ เป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันกันเสร็จ เข้าห้องน้ำเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็อำลา เจ้าอาวาส และญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย พร้อมทั้งขอบคุณและอนุโมทนาในไมตรีจิต การต้อนรับในครั้งนั้นเป็นที่ประทับใจไปนาน แสนนาน

เพราะถ้าไม่ได้ท่านทั้งหลายช่วยเหลืองานคราวนั้นคงจะสำเร็จได้ยาก ถ้าจะลงชื่อกันทั้งหมดก็คงจะไม่ครบถ้วน ถึงอย่างไรก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะคุณปรีชาสามีที่ล่วงลับไปแล้วของ คุณโสภิณ ประยูรสุรกิจจาก ร้านผ่านฟ้าวีดีโอ จังหวัดศรีสะเกษพร้อมทั้งสองสามีภรรยาจาก ร้านอาหารไพลิน จ.สุรินทร์ ส่วนที่อำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ก็มี คุณวรเทพ และ อ.เบญจพร เอี่ยมแสงธรรมพร้อมด้วยคณะ อ.สมชัย แสงสว่าง ร่วมประสานงานทุกอย่าง รวมทั้งอาจารย์และนักเรียน โรงเรียนขุขันธ์วิทยาด้วย

เมื่อเสร็จพิธีเรียบร้อยแล้ว รถบัสทั้ง ๑๒ คัน และขบวนรถตู้อีกหลายสิบคัน ต่างทยอยรับข้าวเหนียวและหมูยอจาก คุณพงศ์พร จึงธนวงศ์, อ.ณรงค์ หาญชนะอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่มายืนคอยดักรถแจกในระหว่าง ออกมาจากวัด ด้วยเหตุนี้ จึงมีที่มาของชื่อ คณะนี้ว่า “คณะหมูยอ”นับตั้งแต่บัดนั้น

ในขณะที่รถทุกคันกำลังเคลื่อนขบวน ปรากฏเสียงดังกึกก้องขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการบอกลาด้วยเสียง “บั้งไฟ”ที่ถูกจุดขึ้นตามประเพณีชาวอีสาน มองเห็นเปลวควันพุ่งทยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ควันสีขาวพวยพุ่งเป็นลำยาวตัดกับเมฆหมอกบนท้องฟ้า ค่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดสายตา

บั้งไฟชุดที่ ๒ ชุดที่ ๓ ก็ทยานติดตาม ขึ้นไปเหมือนกับจรวดไอพ่น ที่คนไทยในสมัย โบราณคิดทำได้มานานแล้ว แต่ปัจจุบันนี้เราไม่ทันฝรั่งเสียแล้ว เพราะคนบริหารมัวแต่ทะเลาะ กัน จึงไม่รู้ว่าอีกสักกี่ปี...ถึงจะเป็นประชาธิปไตยตามที่ต้องการ

ขณะที่ออกเดินทางนั้นได้ยินเสียงบั้งไฟ ดังสนั่นหวั่นไหว ประเพณีจุด“บั้งไฟ”ในครั้งนี้ ถือว่าจุดเป็น “พุทธบูชา” เป็นชุดสุดท้าย โดย “ชุดแรก” นั้นได้จุดไปตั้งแต่ตอนเช้า เรียกกันว่าชุด “ตะไล”ลักษณะคล้ายกงเกวียนขึ้นไปสูงมาก โดยมีควันพวยพุ่งเป็นทางยาวขึ้นไป

นั่นเป็นชุดแรกที่จุดต้อนรับกับขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และพระอัครสาวก ตลอดถึงขบวนแห่เครื่องสักการบูชาทั้งหลาย โดยมีพระภิกษุสามเณรนำหน้าตามด้วยบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มองเห็นชุดขาวยาวเหยียดไปตามถนน ทุกคนต่างน้อมจิตน้อมใจ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา หลังจากนั้นก็ได้กระทำพิธีจนเสร็จสิ้นดังที่กล่าวแล้ว

◄ll กลับสู่ด้านบน


praew - 10/3/09 at 15:16


วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


การเดินทางในวันนั้น มีกำหนดจะไปค้างคืนที่วัดพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม ในขณะที่รถวิ่งเข้าเขตตัวเมือง มองออกไปภายนอกหน้าต่างรถ เห็นองค์พระธาตุพนมสูงตระหง่านแต่ไกล แต่ที่ต้องแปลกใจก็เป็นเพราะว่าองค์พระเจดีย์ที่สูงเด่นเป็นสง่ามานาน บัดนี้ กลับมีไม้นั่งร้านอยู่รายรอบองค์พระเจดีย์ หลังจากที่เคยล้มลงไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ทางวัด ก็ได้จัดสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ในขณะที่พวกเรา ไปถึงนั้น ทางวัดกำลังจะบูรณะอีกครั้งหนึ่งพอดี โชคดีที่จะได้ร่วมบุญอันเป็นมหากุศลในครั้งนี้

เมื่อเห็นภาพนี้แล้ว ทำให้คิดถึงภาพของ องค์พระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ที่พวกเราได้มีโอกาสไปร่วมบูรณะกันมาแล้ว เมื่อไปทางภาคอีสานในครั้งนี้ ทั้งที่ไปติดต่อประสานงานกับทางวัดไว้ก่อนล้วงหน้าถึง ๒ ครั้ง ก็ไม่ทราบว่าทางวัดกำลังจะบูรณะพระธาตุ ทราบแต่เพียงว่ากำลังจะบูรณะวิหารรอบองค์พระธาตุ และพื้นบริเวณรอบองค์พระธาตุ การเดินทาง ครั้งนี้ จึงได้มีโอกาสร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ได้ครบถ้วนทุกประการ

ครั้นมาถึงทางวัดก็ได้จัดเตรียมสถานที่พัก และจัดเลี้ยงอาหารเย็นไว้ด้วย โดยการจัดทำจากคณะอาจารย์และนักเรียน โรงเรียนวัดพระธาตุพนมศาลาการเปรียญหลังใหญ่ทั้ง ๓ ชั้น ถูกพวกเราเข้าไปนอนพักจนแน่นขนัด บางคนต้องออกไปนอนตามวิหารรอบองค์พระธาตุพนม หลังจากพักผ่อนหลับนอนกันด้วย ความอ่อนเพลีย ทั้งที่บางคนนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะคืนนั้นต้องช่วยกันจัดสถานที่ ช่วยกันจัด ทำบายศรี เพื่อในวันรุ่งขึ้นจะได้ไม่ขลุกขลัก

ตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นเวลาเช้าที่อากาศสดชื่น ท้องฟ้ากลับแจ่มใส ไม่มีทีท่าว่าฝนจะตก ทั้งที่ก่อนเดินทางไป พระทางวัดพระธาตุพนมได้โทรศัพท์แจ้งมาว่า ทางวัดฝนตกหนักมาหลายวันแล้ว เกรงว่าพวกเราจะจัดงานไม่ได้

ผู้เขียนจึงได้ตอบว่า ถ้าองค์พระธาตุพนมศักดิ์สิทธิ์จริงดังคำเล่าลือ คงจะเดินทาง
ไปกราบไหว้ได้โดยไม่มีอุปสรรค แต่พอไปถึงวัดจริงๆ ทางวัดกลับจัดสถานที่ไว้ให้พวกเราในศาลา ไม่ได้จัดเตรียมไว้ที่หน้าองค์พระธาตุเพราะเกรงว่าฝนจะตกลงมาเสียก่อน

เพราะฉะนั้น พวกเราจึงต้องช่วยกันย้ายสิ่งของมาจัดกันใหม่ที่กลางแจ้งหน้าองค์ พระธาตุ เมื่อทุกคนทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงได้ไปจัดตั้งขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะที่ ริมแม่น้ำโขง โดยมีผู้สมมุติแต่งกายย้อนยุค สมัยเจ้าพระยาทั้ง ๕ นคร ที่เป็นผู้ร่วมสร้างองค์พระธาตุพนม ซึ่งตามประวัติเล่าไว้

ตาม “อุรังคนิทาน”หรือ “ตำนานพระธาตุพนม”ได้จารึกไว้ว่า นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานไปแล้ว ๘ ปี พระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้อัญเชิญ พระอุรังคธาตุหรือพระบรมธาตุส่วนหน้าอกมาประดิษฐานไว้ที่แห่งนี้อันมีชื่อเดิมว่า “ภูกำพร้า” ซึ่งมีพระยาทั้ง ๕ นคร พร้อมด้วยพสกนิกรต่างได้มาร่วมสร้างอุโมงค์เป็นที่บรรจุไว้ พระยาทั้ง ๕ นคร คือ

๑. พระยาสุวรรณภิงคารผู้ครองเมืองหนองหารหลวง (สกลนคร) ซึ่งพระองค์ได้เป็นผู้ทรงสร้างองค์พระธาตุเชิงชุม สวมรอยพระบาทไว้ด้วย
๒. พระยาจุลณีพรหมทัตครองแคว้นจุลณี ที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง
๓. พระยาอินทปัฐนครครองแคว้นอินทปัฐนคร เวลานี้อยู่ในเขตเขมร
๔. พระยาคำแดงซึ่งเป็นน้องของพระยาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหารน้อย(อุดรธานี)
๕. พระยานันทเสนผู้ครองมรุกขนคร(ศรีโคตรบูรเดิม) อันเป็นแคว้นที่ประดิษฐานพระธาตุพนม

ก่อนที่จะถึงเรื่องราวการสร้างพระธาตุพนม ต้องขอย้อนกล่าวถึงเรื่องราวในสมัยพุทธกาลว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ในคราวนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูทรงพิจารณาเห็นโบราณประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ที่เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ คือ สมเด็จพระกุกกุสันโธ พระโกนาคม และพระพุทธกัสสปก็ได้เคยมาประดิษฐานไว้ที่“ภูกำพร้า”อันมีอยู่ใกล้เมืองศรีโคตบุรีนี้

ครั้นพระองค์ทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงเสด็จออกจากพระเชตวันพร้อมด้วยพระอานนท์ตามพุทธลีลามาทางอากาศ ได้เสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่“โพนฉัน”และ “เวินปลา”จากนั้นจึงประทับค้างคืนที่นี้ ซึ่งมี พระอินทร์และ วิษณุกรรมเทพบุตรเป็นผู้คอยอุปัฏฐาก

ในตอนเช้าจึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตเพื่อทรงโปรด พระยาศรีโคตบูร ให้ได้รับทราบภารกิจของพระองค์ว่า การเสด็จมาครั้งนี้ เพราะทรงอาศัยเหตุอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์เมื่อทรงเข้าสู่พระปรินิพพานไปแล้วนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอัญเชิญพระบรมสารีริก ธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น มาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้านี้ เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของท้าวพระยา เหล่าเทพเทวา และมนุษย์ทั้งหลายในภายภาคหน้า อันนี้เป็นประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสืบๆ กันมามิได้ขาด

ในตอนนี้ พระอินทร์จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลาย และเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายเรียกว่า “เมืองโคตโม” เพราะเหตุพระองค์ทรงพระนามว่า“โคตมะ”เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระยาศรีโคตบูร ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงเรียกดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า...”

ในขณะนั้นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เทพเจ้าผู้มีมเหศักดิ์ทั้งหลาย อันสิงสถิตในราวป่าบริเวณนั้น จึงได้เปล่งเสียงสาธุการขึ้นพร้อมกัน แล้วพระองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า

“ดูก่อนอานนท์ พระยาศรีโคตบูรองค์นี้ จะจุติไปเกิดในเมืองสาเกตุนคร (ร้อยเอ็ด)มีนามว่า“สุริยกุมาร”เมืองศรีโคตบูรนี้ จักย้ายไปตั้งที่ป่าไม้รวกมีนามว่า “มรุกขนคร"จุติจากชาตินั้นแล้ว จะได้มาเกิดเป็น พระยาสุมิตธรรมวงศาครองมรุกขนครแล้ว จะได้ปฏิสังขรณ์อุรังคธาตุของตถาคตไว้ที่ภูกำพร้านี้”

ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงได้เสด็จไปประทับรอยพระบาทที่เมืองหนองหารหลวง (พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร) แล้วได้เสด็จไปประทับที่ดอยแท่น(พระธาตุภูเพ็ก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) ทรงระลึกถึง พระมหากัสสปเมื่อพระเถระทราบพระปริวิตก ดังนั้นแล้ว จึงมาเข้าเฝ้าตามพุทธประสงค์ทันที

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

“ดูก่อนกัสสป ตถาคตนิพพานไปแล้วเธอจงนำอุรังคธาตุของตถาคตมาไว้ที่ภูกำพร้านี้”

เพราะฉะนั้น ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพพระอุรังคธาตุ ที่หุ้มห่อด้วยผ้ากัมพลก็ปาฏิหาริย์เสด็จออกจากพระหีบทอง มาประดิษฐานอยู่เหนือฝ่ามือเบื้องขวาของพระ มหากัสสปเถระ

ครั้งนั้นท้าวพระยาทั้งหลาย อันมีพระยาจุลณีพรหมทัต พระยาอินทปัฐนคร พระยาสุวรรณภิงคาร พระยาคำแดงและ พระยานันทเสน (เมื่อพระยาศรีโคตบูรสวรรคต พระยานันทเสนน้องชายได้ครองต่อมาอีก ๑๓ ปี พระศาสดาจึงปรินิพพาน)

เมื่อพระยาทั้ง ๕ นคร รู้ข่าวว่าพระมหากัสสปเถระจะนำพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า มาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ดังนั้น พระยาจุลณี พรหมทัต พระยาอินทปัฐนคร และพระยานันทเสน ทั้ง ๓ พระองค์ พร้อมด้วยไพร่พลโยธาเสด็จมาประทับและพักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใต้ปากเซ ตรัสสั่งไพร่พลช่วยกันสกัด “หินมุก” มาสร้างอารามไว้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ

ส่วนพระยาสุวรรณภิงคารและ พระยาคำแดง ตรัสสั่งให้ไพร่พลโยธาสกัด “หินมุกหินแลง” มากองไว้เป็นกองๆ สำหรับก่ออุโมงค์บนยอด “ดอยแท่น” ที่พระศาสดาเสด็จมาประทับแต่ครั้งก่อนโน้น

ต่อมาพระมหากัสสปพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาถึงเมืองหนองหารหลวง แล้วได้นำขึ้นไปประดิษฐานไว้บนแท่นอุโมงค์ที่ยังไม่เสร็จนั้นก่อนแล้วเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ท้าวพระยาทั้งสองพร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลายพากันใส่บาตร แล้วได้จัดเครื่องสักการบูชา ขึ้นไปบนเขานมัสการและสรงน้ำพระอุรังคธาตุ

ขณะนั้น พระยาสุวรรณภิงคารทอดพระเนตรอุโมงค์นั้น เห็นยังไม่เสร็จจึงทรงพระพิโรธโกรธจัด พระมหากัสสปจึงคิดที่จะเตือนสติพระราชา จึงได้ถามปัญหาธรรมว่า

“อะไรร้อนยิ่งกว่าไฟ อะไรใสยิ่งกว่าแก้วมณี อะไรบ่มีแข้ว (เขี้ยว) รู้กัดคนกินได้ อะไรบ่มีตนตัว รู้เดินเที่ยวไปมาได้นั้นเล่า...พระมหาบพิตร..? เมื่อพระยาสุวรรณภิงคารไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ พระเถระจึงอธิบายต่อไปว่า สิ่งที่ร้อนกว่าไฟนั้นได้แก่ “ราคะ ตัณหา” สิ่งที่ใสสว่างยิ่งกว่าแก้วมณีนั้น ได้แก่ “สติ และ ปัญญา” สิ่งที่บ่มีแข้ว รู้กัดกินคนได้นั้น ได้แก่ “ความแก่เฒ่า” สิ่งที่บ่มีตัวตน รู้เดินเที่ยวไป มาได้นั้น ได้แก่ “จิต”

ครั้นพระยาสุวรรณภิงคารได้สดับพุทธภาษิตก็มีจิตใจหายขุ่นมัว จึงขอสถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ ณ ที่นี้ แต่พระมหาเถระได้ทูลห้ามว่า พระองค์อย่าได้ฝ่าฝืนพระพุทธบัญชาเลย แล้วพระยาทั้งสองจึงอัญเชิญพระอุรังคธาตุ ขึ้นสู่ปราสาท พร้อมขบวนพสกนิกรใส่ชุดขาว แห่พระอุรังคธาตุไปสู่ภูกำพร้า พร้อมไปด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย

เมื่อมาถึงแล้ว พระมหาเถระจึงแนะนำให้พระยาทั้ง ๕ ได้รู้จักกัน และแนะนำให้ปั้นดินดิบแล้วเอาไฟเผาก่อเป็นอุโมงค์ พระยาทั้ง ๕ ได้สดับคำดังนี้แล้ว จึงตกลงสั่งให้คนทั้งหลายปั้นดินดิบ ส่วนแม่พิมพ์ดินนั้น เอาฝ่ามือ พระมหาเถระเป็นแบบกว้างยาว

ต่อจากนั้นพระยาทั้ง ๕ และเสนาข้าราชบริพารพร้อมด้วยประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงได้ทำการขุดหลุมและก่อเป็นอุโมงค์ เพื่อเป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ขณะอัญเชิญพระอุรังคธาตุนั้น พระอุรังคธาตุที่หุ้มห่อไว้ด้วยผ้ากัมพล ก็กระทำปาฏิหาริย์เสด็จออกมาประดิษฐานอยู่ บนฝ่ามือข้างขวาพระมหากัสสป

พระอรหันต์ทั้งหลายพร้อมด้วยพระยาทั้ง ๕ กับทั้งเสนาอำมาตย์ประชาราษฎร์ทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังนั้น จึงเปล่งเสียงสาธุการ ขึ้นพร้อมกัน จากนั้นก็ปาฏิหาริย์เสด็จกลับเข้า ไปที่เดิม

หลังจากพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุไว้ใน อุโมงค์แล้ว พระยาทั้ง ๕ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ต่างๆ เป็นอันมาก เช่น แก้ว แหวนเงิน ทอง เป็นต้น แล้วช่วยกันสร้างบานประตูคนละด้าน แล้วให้คนนำเอาหินจากอินเดียและลังกามาฝังไว้ทั้งสี่มุม ในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่

เมื่อเสร็จแล้วจึงทำพิธีสักการบูชาเวียนรอบองค์พระธาตุ พระยาทั้ง ๕ อธิษฐานขอให้ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคตกาลนั้นเทอญ พระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ มีพระมหากัสสปเป็นประธาน จึงพร้อมกันอนุโมทนาในความปรารถนาของ พระยาทั้ง ๕ นั้นว่า

“ขอให้ความปรารถนานั้นๆ ของมหาราชเจ้าทั้งมวล จงสำเร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์ทุกประการเทอญ...”
หลังจากพระอรหันต์ทั้งหลายและพระยาทั้ง ๕ ต่างแยกย้ายกลับไปแล้ว ท้าวสักกะ พร้อมด้วยเหล่าเทพเจ้าทั้งหลายได้ทรงเครื่อง ชุดขาว เสด็จลงมากระทำสักการบูชาพระอุรังคธาตุ ด้วยการจัดเป็นขบวนแห่เครื่องบูชาทั้งหลายแล้ววิษณุกรรมเทพบุตรได้แกะสลักเป็นรูปเทวดาเป็นรูปม้า และรูปพระพุทธเจ้าไว้อย่างสวยงาม แล้วจัดให้เทวดารักษาพระอุรังคธาตุ พร้อมด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านั้น

ครั้งนั้น พระอุรังคธาตุเสด็จออกกระทำปาฏิหาริย์ แต่ละด้านเสด็จออกมาถึง ๖ องค์วกเวียนเสด็จขึ้นมารวมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งอยู่บนอากาศเสมอยอดอุโมงค์ระยะ ๑๐๐ วา แล้วเสด็จออกจากยอดอุโมงค์ ๒ องค์ เสด็จขึ้นไปเบื้องบน แล้วเสด็จลงมารวมกันเป็นองค์เดียว โตเท่าลูกมะพร้าว แล้วประทักษิณไปทางขวา ๓ รอบ ประดิษฐานอยู่ที่ประตูทิศตะวันออก เฉพาะพระพักตร์ของท้าวสักกเทวรา เหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงได้เปล่งเสียงสาธุการขึ้นตลอดไปทั่วบริเวณ คนธรรพ์ทั้งปวงประโคมด้วยดุริยดนตรี เหล่าเทพอัปสรทั้งหลายต่างก็ฟ้อนรำขับร้องถวายบูชา พระอุรังคธาตุเสด็จเข้าไปประดิษฐานภายในอุโมงค์ทางประตูด้านทิศตะวันออก ประตูก็ปิดเข้าไปพร้อมกัน เหล่าเทพเจ้าทั้งหลายจึงเสด็จกลับ

เมื่อพระมหากัสสปกลับไปแล้ว ก็ได้เลือกสามเณรมา ๓ รูป ชื่อว่า พุทธรักขิตะ ธรรมรักขิตะ และ สังฆรักขิตะ สามเณรทั้ง ๓ องค์นี้ ต่อมาภายหลังเมื่ออายุครบบวชเป็นภิกษุแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

กาลเวลาผ่านไป ฝ่ายว่าพระยาสุวรรณภิงคารเมืองหนองหารหลวง จุติมาถือกำเนิดในครรถ์แห่งพระนางเทวี เมืองอินทปัฐนครมีนามว่า มหารัตนกุมารต่อมาพระยาคำแดงเมืองหนองหารน้อย ก็จุติมาถือกำเนิดร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก มีนามว่าจุลรัตนกุมาร

ครั้นเมื่อ ๒ กุมารประสูติมาได้ขวบหนึ่งนั้น พระยาจุลณีพรหมทัตและพระยาอินทปัฐนครจุติพร้อมกัน มาถือกำเนิดในครรภ์แห่ง นางปัจฉิมกุมารีพระมเหสีของเจ้าราชบุตร ผู้เป็นโอรสพระยาจุลณีพรหมทัต

ครั้นนางปัจฉิมราชกุมารีทรงครรถ์ถ้วนทศมาส ก็ประสูติราชกุมารฝาแฝดพร้อมกันในวันเดียว พระราชบิดาจึงขนานนามกุมารผู้พี่มีชื่อว่า มหาสุวรรณปราสาท ผู้น้องชื่อว่า จุลสุวรรณปราสาท

ส่วนพระยานันทเสนแห่งเมืองศรีโคตบูรก็จุติไปถือกำเนิดในครรภ์แห่ง พระนางศรีรัตนเทวีพระราชเทวีของ พระยาสุริยวงศา เมืองร้อยเอ็ดประตู ครั้นพระนางประสูติราชโอรสออกมาได้ ๗ วันก็สวรรคตไป ส่วนพระราชกุมารที่เป็นโอรสนั้น นางสนมเอาไปเลี้ยงไว้ เมื่อพระชนมายุได้ขวบหนึ่งจึงได้ขนานนามว่า เจ้าสังขวิชชากุมาร

หลังจากถวายพระเพลิงพระยานันทเสน แล้วเสนาอำมาตย์พร้อมด้วยชาวเมืองศรีโคตบูร จึงพร้อมกันย้ายเมืองไปที่ป่าไม้รวก และได้ราชาภิเษก พระอนุชา ของพระยานันทเสน ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า พระยา มรุกขนคร

ต่อมา พระยาสุริยวงศาเมืองร้อยเอ็ดประตู จุติถือกำเนิดในครรภ์แห่งพระราชเทวีเมืองมรุกขนคร พระราชบิดาจึงขนานนามว่าเจ้าสุมิตวงศากุมารเมื่อพระราชกุมารทรงเจริญวัยได้ ๑๓ พรรษา พระชนกชนนีก็สวรรคตไปทั้งสองพระองค์ จึงได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดา มีพระนามว่า พระยาสุมิตวงศาราชามรุกขนคร

ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเป็นครั้งแรก ตามพระพุทธพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ตรัสทำนายไว้กับ พระยาศรีโคตบูร ซึ่งจุติจากชาตินั้นแล้วไปเกิดเป็น พระยาสุริยวงศา จุติจากพระยาสุริยวงศาก็มาเป็น พระยาสุมิตวงศา

ในคราวครั้งนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๓ ที่เป็นศิษย์ของพระมหากัสสป คือ พระพุทธรักขิตะ พระธรรมรักขิตะ และ พระสังฆรักขิตะซึ่งบรรพชามาตั้งแต่เป็นสามเณร ได้มาแต่เมืองราชคฤห์ แล้วได้นำราชกุมารทั้ง ๕ นั้นมาบวช ในพระพุทธศาสนา

ครั้นราชกุมารทั้ง ๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ฝึกฝนพระกรรมฐานจากพระ อาจารย์ทั้ง ๓ จนกระทั่งได้บวชเป็นภิกษุแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์โดยลำดับสมกับความปรารถนาที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ใน ชาติก่อน ตอนที่เป็นท้าวพระยาทั้ง ๕ โน้น

ครั้นต่อมาพระอรหันต์ทั้ง ๕ ระลึกถึง “คาถา ๔ บาท” ที่พระมหากัสสปเคยแสดงไว้แต่ชาติปางก่อนนั้นว่า "คัจฉันติ นรคัจฉันติ..”เป็นต้น (ตอนที่พระยาทั้ง ๕ จะพบกัน ต่างก็ใคร่จะได้เป็นผู้สร้างพระธาตุพนม จนพระมหากัสสปต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยด้วยหลักธรรม จึงได้ร่วมกันสร้างจนสำเร็จ) ดังมีใจความว่า

ผู้ประเสริฐต่อผู้ประเสริฐ เดินทางมาพบกันเข้า ซ้ำประเสริฐยิ่งกว่าเก่า
ผู้ฉลาดต่อผู้ฉลาด เดินทางมาพบกันเข้า ก็ยิ่งฉลาดกว่าแต่ก่อน
ผู้รู้ต่อผู้รู้ เดินทางมาพบกันเข้า ก็ยิ่งรู้หลักนักปราชญ์เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ผู้รักกันต่อผู้รักกัน เดินทางมาพบกันเข้า ก็ยิ่งซ้ำรักกันกว่าแต่ก่อน...ดังนี้

พระเถระทั้ง ๕ หวลนึกถึงคติธรรมทั้ง ๔ บาทนี้ ก็มีความซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก จึงใคร่บูรณะพระอุรังคธาตุที่ภูกำพร้าอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ปรึกษาหารือกันที่จะไปสู่เมืองมรุกขนคร เพื่อถวายพระพรแก่ พระยาสุมิตธรรมวงศาให้ช่วยทรงอุปถัมภ์ แล้วจึงแยกย้ายกันไปบิณฑบาตในเมืองของตน เพื่อชักชวนพระบิดาและพระมารดา มาร่วมกันปฏิสังขรณ์พระอุรังคธาตุร่วมกับพระยาสุมิตธรรมวงศา โดยเฉพาะ พระสังขวิชชา ท่านได้เล่าถึงความเป็นมาในชาติ ปางหลังให้พระยาสุมิตธรรมวงศาทราบ แล้ว พระราชาและพระราชเทวีจึงตรัสถามว่า

“ท่านเป็นอรหันต์แล้วหรือ?”
เมื่อพระเถระถวายพระพรว่า“ถูกแล้ว”ดังนี้ ก็มีอัศจรรย์บังเกิดขึ้น คือเทพยดาที่รักษาเศวตฉัตรของพระองค์ และเทวดาที่รักษาภูกำพร้าทั้งสิ้น ต่างพากันเป่าหอยสังข์ขึ้นประโคมทั่ว ในพระราชฐานและในที่นั้นๆ เป็นที่สนุกสนาน ยิ่งนัก คนทั้งหลายได้ยินแต่เสียงสังข์ หาได้ เห็นเทวดาไม่ จึงพร้อมกันให้เสียงสาธุการเซ็ง แซ่ทั่วไปทั้งพระนคร แล้วพระเถระจึงถวาย พระพรต่อไปอีกว่า

เมื่อชาติก่อนโน้น มหาราชได้เป็น พระยาศรีโคตบูรครั้งเมื่อพระศาสดายังมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาในเมืองศรีโคตบูร มหาราชได้ถวายบิณฑบาตแล้ว ปรารถนาค้ำชูพระศาสนาครั้งนั้น อาตมาเป็น พระยานันทเสน น้องของมหาบพิตร

เมื่อมหาบพิตรจุติจากชาตินั้น จึงได้ไปเกิดในเมืองร้อยเอ็ดประตู ส่วนอาตมภาพได้เสวยราชสมบัติ ๑๓ ปี พระศาสดาจึงเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน แล้วพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ มี พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน นำเอาพระบรมธาตุหัวอกของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า

อาตมภาพและพระยาทั้ง ๔ ได้พร้อมกันก่ออุโมงค์ไว้เป็นที่บรรจุ ครั้งนั้นได้พร้อมกันอธิษฐานให้ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้วให้ได้สำเร็จพระอรหันต์ เฉพาะหน้าพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ นั้น พระเถระทั้งหลายพร้อมกันอนุโมทนาในความปรารถนาทุกองค์ อาตมา จึงได้มาบวชและได้สำเร็จพระอรหันต์ในชาตินี้

เมื่ออาตมภาพจุติจากชาติอันเป็นพระยานันทเสน ได้ไปเกิดในท้องแห่ง นางศรีรัตนเทวี พระราชเทวีพระยาร้อยเอ็ดประตู ก็คือมหาราช เจ้ากับพระนางเทวีแก้วบัดนี้แล เมื่อพระนาง ประสูติอาตมภาพได้ ๗ วัน นางก็จุติมาเกิด ในวงศ์ พระยามรุกขนครส่วนมหาราชเจ้าจุติ มาบังเกิดเป็นพระราชโอรสพระยามรุกขนคร แต่ชาติก่อนนั้น มหาราชเจ้าและพระนางเทวีแก้ว เป็นพระบิดาและพระมารดาของอาตมภาพอย่าง แท้จริง ด้วยเหตุนี้ อาตมภาพจึงได้เรียกมหา ราชเจ้าทั้งสองว่า เป็นพระบิดาและพระมารดา หลงมาอยู่ในที่นี้ทั้งสองพระองค์

เมื่อได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาเรื่องอดีตชาติจากพระเถระแล้ว จึงมีพระทัยประดุจดังว่า ระลึกได้ยังพระชาติหนหลัง มีน้ำพระเนตร ตกลงมาเฉพาะหน้าพระเถระ ขณะนั้นอำมาตย์ และข้าทาสบริวารทั้งหลาย ได้เห็นน้ำพระเนตร ของมหาราชเจ้าทั้งสองหยดย้อยตกลงมามิได้ ขาด ก็บังเกิดโสมนัสร่ำร้องไห้ไปด้วยกัน

นางเทวีแก้วจึงไหว้พระเถระแล้วถามว่าเมื่อโยมจุติทิ้งท่านไปเสียแต่เมื่อยังเยาว์อยู่นั้น ใครผู้ใดเป็นผู้เลี้ยงดูท่านเล่า พระเถระจึงทูลว่า น้าเลี้ยงพ่อนมพร้อมทั้งนางสนมทั้งหลายเป็น ผู้เลี้ยงดูสืบต่อมา เมื่อบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญขึ้น ครั้งนั้นนางทั้งหลายบางคนก็ตาย บางคนก็หนี กลับคืนสู่บ้านเมืองเดิม น้าเลี้ยงพ่อนมจึงได้ นำเอาอาตมภาพอพยพหนีมาอยู่ที่ เมืองสุวรรณภูมิ แต่ยังเล็กอยู่แล้ว พระสังฆรักขิตเถระ จึงได้นำเอาอาตมาไปบวช และสั่งสอนจนได้ สำเร็จพระอรหันต์

ในขณะที่พระเถระกำลังกล่าวอยู่นั้นเองพระเถระอีก ๔ องค์ ที่มาจากเมืองอินทปัฐ นครและเมืองจุลณีพรหมทัต ก็เข้ามาสู่ปรางค์ ปราสาทกับด้วยพระสังฆวิชชานั้น แล้วจึงทูลว่ามหาบพิตรทรงปรารถนาค้ำชูพระศาสนาตราบ เท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา และพระยาทั้ง ๕ ก็คืออาตมภาพทั้ง ๕ ในบัดนี้

ดังนี้แล้ว ทั้งพระเถระทั้ง ๕ และพระยาทั้ง ๓ คือ พระยาสุมิตธรรมวงศา พระยาปุตตจุลณีพรหมทัต พระยาจุลอินทปัฐนครได้พากันไปบูรณะพระอุรังคธาตุที่ภูกำพร้านั้น อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุก็ได้แสดง ปาฏิหาริย์ เหมือนเมื่อครั้งท้าวสักกเทวราชลง มาบูชากระนั้น

ในครั้งนั้น ได้มีการบรรจุพระอุรังคธาตุ ใหม่ จึงมีเหตุอัศจรรย์ฝนตกลงมาถูกต้องบุคคล นั้น บุคคลจำพวกใดที่ไม่ชอบฝน ก็ไม่ตกลง มาถูกต้อง ส่วนบุคคลที่เป็นโรคหูหนวก ตาบอด ทูต เรื้อน เมื่อได้เข้าร่วมในการกุศลนั้นๆ โรค ร้ายต่างๆ ก็หายสิ้น เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลาย ต่างก็เริ่มโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ทิพย์ลงมา สักการบูชาทั่วบริเวณภูกำพร้าทั้งสิ้นแล

ฝายพระยาสุมิตธรรมบรมโพธิสัตว์ จึงได้ตั้งความปรารถนาให้ได้เสวยราชสมบัติทั่วทุกพระนคร ที่มีในชมพูทวีปทั้งสิ้น และให้ได้เป็นผู้ค้ำชูพระพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ พระวรรษา ครั้นจุติให้ได้เสวยสุขในสวรรค์ชั้นดุสิต จะลง มาพร้อมด้วย พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ส่วนพระยาปุตตจุลณีพรหมทัตและพระยาจุล อินทปัฐนคร ปรารถนาเป็นพระอัครสาวก

ส่วนพระราชเทวีและเสนาอำมาตย์ ข้า ราชบริพารทั้งหลาย ต่างก็ปรารถนาเป็นพระสาวกในตำแหน่งต่างๆ ต่อไป ในสมัยที่พระยาสุมิตธรรมวงศาจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระอรหันต์ทั้ง ๕ จึงได้พร้อมกัน อนุโมทนาในความปรารถนา และก็ขอให้ได้สำเร็จตามความประสงค์ทุกประการเทอญ

เป็นอันว่า หลังจากท้าวพระยาทั้ง ๓ได้ร่วมกันบูรณะเมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐ และสิ้นพระชนม์ไปแล้ว บรรดาพระโอรสต่างๆ ก็ ขึ้นครองเมืองแทน แล้วได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อๆ กันมาจนตราบเท่าถึงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ พระธาตุพนมก็ได้โค่นล้มลงมา จึงได้สร้างขึ้น มาใหม่อีก เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๒๒

จนกระทั่งถึงวันที่พวกเราเดินทางไปถึงจึงได้เห็นภาพองค์พระธาตุพนมถูกห้อมล้อมด้วยไม้นั่งร้านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการบูรณะปิดทององค์พระธาตุใหม่ และซ่อมแซมวิหารและพื้นทางเดินรอบองค์พระธาตุ เป็นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ต้องใช้เงินทุนหลายล้านบาท เงินของพวกเราที่ได้รวบรวมเป็นการสมทบทุนในวันนั้น เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๔๐,๘๘๐ บาท

ทั้งนี้ ไม่รวมมูลค่าสิ่งของที่ถวายเป็นสังฆทานอีกมากมาย หลังจากถวายผ้าป่าเสร็จแล้ว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสท่านก็ได้เล่าประวัติที่น่าพิศวงขององค์พระธาตุต่อไป โดยกล่าวว่า องค์พระธาตุพนมมักจะมี เลข ๘ มาเกี่ยวข้องอยู่เสมอเช่น...

พระมหากัสสปนำพระบรมธาตุมา๘ องค์นำมาเมื่อ พ.ศ.๘บรรจุอยู่ใน ผอบ ๘ ชั้น จะสร้างต่อเติมก็จะใช้ระยะ๘ ศอกหรือ ๘ วาเป็นต้น โดยนิยมแต่ เลข ๘ เป็นสำคัญและเมื่อถึงวันล้มก็ล้มตรงกับปี ๒๕๑๘ พอดีและเราไปกันวันนั้นก็ตรงกับ วันแรม ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๕๓๘ พอดีกับเลข ๘ เช่นกัน แถมเงินที่ทำบุญก็บังเอิญลงเศษเป็น เลข ๘ อีก จึงขอให้อนุโมทนาร่วมกันนะ เพื่อสมความ ปรารถนาเช่นเดียวกับท้าวพระยาทั้ง ๕

ครั้นได้เล่าประวัติจบแล้ว จึงได้เริ่ม พิธีบวงสรวงบูชาสักการะ ตามประเพณีที่ได้ ปฏิบัติมา เนื่องจากเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่มานาน อันเป็นที่เคารพนับถือของชาว ไทยและชาวลาวตลอดมา

การเดินทางของพวกเราในนาม“คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน”จึงได้จัดพิธีสักการะอย่างเต็มที่ หลังจากพิธีบวงสรวงแล้วก็จะเป็น “ฟ้อนรำบวงสรวง” ในชุดตำนานพระธาตุพนมโดยนักเรียน โรงเรียนวัดพระธาตุพนม เห็นเด็กสาวชาวอีสานอยู่ในชุดไทยสีชมพู ๒๕ คน ต่างฟ้อนรำไปตามเนื้อร้องทำนองเพลงที่เอื้อนเอ่ยถึงประวัติการสร้างพระธาตุพนมผสมผสานด้วยการบรรเลงเพลง “โปงลาง”ของ “ศูนย์วัฒนธรรมพระธาตุพนม”พวกเราฟังดู แล้วรู้สึกประทับใจไปกับการฟ้อนรำ

ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีเทิดพระเกียรติคุณท้าวพระยาทั้ง ๕ โดยตัวแทนทั้ง ๕ คนของพวกเราที่ได้แต่งกายสมมุติกัน ออกมากล่าวถวายพระราชสดุดีทีละคนไปจนจบ หลังจากนั้น จึงทำพิธีทอดผ้าป่าเพื่อบูรณะองค์พระธาตุพนม พร้อมทั้งวิหารคตและพื้นรอบบริเวณนั้น

ครั้นอุทิศส่วนกุศลแล้ว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมจึงกล่าวสัมโมทนียกถา เล่าความเป็นมาขององค์พระธาตุพนมว่า มักจะมีความเกี่ยวพันกับเลข ๘ ในขณะที่ท่านเล่าไปนั้น มีหลายคนที่ได้ยินเสียงเหมือนท้องฟ้าคำราม ๒ - ๓ ครั้ง ทั้งๆ ที่มิได้มีเค้าของเมฆฝนที่ จะตกลงมา เพราะอากาศในตอนนั้นท้องฟ้า แจ่มใสใกล้เวลาเพล

เมื่อจบพิธีกรรมทั้งหมดแล้ว จึงเป็นการฟ้อนรำสมโภชชุด ศรีโคตบูรด้วยการแต่งกายชุดไทยอีสานโบราณสีดำและเกล้าผมมวยแสดงลีลาท่าทางอ่อนช้อยงดงาม บอกถึงความมีวัฒนธรรมประเพณีที่มีมานาน เรียกเสียงปรบมือได้พอสมควร

หลังจากนั้นจึงอุทิศส่วนกุศล พระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธี ต่างก็แยกย้ายกันไปฉันเพล และญาติโยมทานอาหารกลางวันกันต่อไป..

◄ll กลับสู่ด้านบน


praew - 10/3/09 at 15:19



วัดพระธาตุเชิงชุม

อ.เมือง จ.สกลนคร


เป็นอันว่าพิธีกรรมต่างๆ ได้เสร็จสิ้นไป เมื่อรับประทานอาหารกลางวันแล้ว จึงเดินทางต่อไปด้วยความปลื้มใจ เพราะยังมีสถานที่สำคัญที่จังหวัดสกลนคร นั่นคือ พระธาตุเชิงชุม ที่มีความเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน

เมื่อเดินทางไปถึงตัวเมืองสกลนครแล้วจึงเริ่มจัดขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ โดยการนำขบวนวงโยธวาทิตของคณะนักเรียน โรงเรียนสกลราช จ.สกลนคร ทุกคนเดินไปด้วยความพร้อมเพรียงจนถึงจุดหมายปลายทาง

ครั้นขบวนแห่มาถึงประตูวัดแล้ว ก็ได้พบกับการโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่ตั้งแถวรอต้อน รับอยู่สองข้างทางเข้าวัดของชาวพระธาตุเชิงชุม เสมือนตัวแทนชาว “หนองหารหลวง” ในอดีต ด้วยเครื่องแต่งกายในชุดผ้าไหมหลายหลากสี พร้อมกับรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าทั้งชายและหญิง

ขณะที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องบายศรีอยู่นั้น จึงได้เข้าไปกราบไหว้ท่านเจ้าอาวาส และทักทายกับลูกศิษย์ของหลวงพ่อที่รออยู่ที่นั่น จนสมควรแก่เวลาแล้ว ผู้ที่ได้แต่งกายสมมุติ เป็นท้าวพระยาทั้งสองพี่น้อง คือ พระยาสุวรรณ ภิงคารและ พระยาคำแดง ซึ่งเป็นผู้ร่วมสร้าง สถานที่สำคัญแห่งนี้ เป็นผู้เล่าประวัติวัดพระธาตุเชิงชุม

โดยเฉพาะองค์พระธาตุที่เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นพระเจดีย์ที่สร้างใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิม ไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่จะสร้างครอบไว้สมัยใดไม่มี หลักฐานบอกไว้ ส่วนชื่อของพระเจดีย์องค์นี้ แยกเป็น ๓ พยางค์ คือ ธาตุ - เชิง - ชุม
คำว่า “ธาตุ” หมายถึงพระเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ

คำว่า “เชิง”เป็นคำสุภาพทั่วไป ที่เรียกว่า “ตีน” เช่นตีนภูเขาเรียกว่า “เชิงเขา” ตีนหีบว่า “เชิงหีบ” เป็นต้น

ส่วนคำว่า “ชุม”ย่อมาจากคำว่า “ประชุม” หรือ “ชุมนุม” หมายถึงมารวมกัน

เมื่อรวมทั้ง ๓ พยางค์เข้าด้วยกันเป็นคำเดียวว่า “ธาตุเชิงชุม” ก็หมายความว่า“เป็นที่รวมแห่งรอยเท้า” แต่เป็นปัญหาว่ารอยเท้าของใครที่มารวมกันอยู่ในเจดีย์ ที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้ จึงจำต้องอาศัย “ตำนาน” ที่เล่าไว้เป็นหลักฐานใน “ประวัติพระธาตุพนม” พอได้ใจความดังนี้



ประวัติเมืองสกลนคร


ในตอนต้นพุทธกาล พระเจ้าอินทปัฐนครได้แต่งตั้งให้ ขุนขอมราชนัดดา ยกพลมาตั้งเมืองขึ้นที่ฝั่งหนองหารหลวงตรงท่านางอาบ ให้ชื่อว่า “เมืองหนองหารหลวง” เพื่อให้ควบคุมบ้านเล็กเมืองน้อยบนที่ราบสูงลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ขุนขอมมีโอรสองค์หนึ่งชื่อว่า เจ้าสุรอุทกกุมาร พอพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา พระราชบิดาก็สิ้นพระชนม์ จึงได้ขึ้นเป็นพระยา เสวยราชสมบัติต่อมา พระยาสุรอุทกมีโอรส ๒ องค์ คือ เจ้าภิงคาร ๑ เจ้าคำแดง ๑

หลังจากเมืองถล่มและพระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว พระกุมารทั้งสองจึงได้พาไพร่พลที่เหลือจากจมน้ำตายไปอาศัยที่ ดอนโพนเมืองริมฝั่งหนองหารด้านตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ พอถึง “ภูน้ำรอด”ริมฝั่งหนองหาร (คือวัดพระธาตุเชิงชุมปัจจุบันนี้) เห็นว่าสมควรตั้งบ้านเมืองได้ จึงตั้งที่สักการบูชาพระภูมิเจ้าที่ พร้อมตั้งสัตยาธิษฐานว่า

“ข้าพเจ้าจะสร้างบ้านแปลงเมือง ณ ที่นี้ขอเทวาอารักษ์ผู้พิทักษ์สถานที่นี้ จงอภิบาล คุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เป็นสุขสืบไป”

ในขณะนั้น พญาสุวรรณนาคราชผู้มีเกล็ดเป็นทองคำก็สำแดงตัวให้ปรากฏ ถือน้ำเต้า ทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอมอันเป็นทิพย์บอกว่า

“ข้าพเจ้าเป็นสุวรรณนาคราชเฝ้าพิทักษ์รอยพระพุทธบาทอยู่ที่ภูน้ำรอดนี้”

ดังนี้แล้วจึงเอาน้ำหอมรดสรงอภิเษกเจ้าภิงคารให้เป็นพระยาเสวยเมืองมีชื่อว่า พระยาสุวรรณภิงคารแล้วพระบาทท้าวเธอจึงพาไพร่พลสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้นเรียกว่า "เมืองหนอง หารหลวง"สืบมา

ใน อุรังคนิทานคือ “ตำนานพระธาตุพนม” กล่าวต่อไปว่า เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงเมืองหนองหารหลวง พระยาสุวรรณภิงคาร มีความเลื่อมใสจึงทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเข้าไปฉันภัตตาหารในปรางค์ปราสาทของพระองค์

ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงมีพุทธฎีกาตรัสเทศนาสั่งสอนพระราชา แล้ว จึงเสด็จลงจากพระราชวังแสดงรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ต่อพระพักตร์พระยาสุวรรณภิงคาร แล้วทรงกระทำปาฏิหารย์ให้เป็น “แก้วมณี” ออกจากพระบาท ๓ ลูกโดยลำดับ ซึ่งทรงกระทำปาฏิหารย์ให้ออกมาอีกลูกหนึ่งเป็นลูกที่ ๔

เมื่อพระยาสุวรรณภิงคารทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็บังเกิดอัศจรรย์ยิ่งนึกว่าเหตุใดหนอ แก้วมณีจึงออกมาจากพระบาทของพระศาสดา ได้ ในขณะนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรม ศาสดาจึงตรัสว่า

“ดูรา...มหาราช! สถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ แก้วมณีจึงออกมาจากที่นี้ ๓ ลูก คือ รอยพระบาทของ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์นี้ ได้เสด็จไปรับข้าวบิณฑบาตใน เมืองศรีโคตบูร แล้วมาฉันที่ ภูกำพร้า(พระธาตุพนม) แล้วจึงเสด็จมาประดิษฐานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ ส่วนแก้วมณี ลูกที่ ๔ นั้น คือตถาคตนี้เอง เมื่อตถาคตได้ มาแสดงรอยพระบาทรวมอยู่ในที่นี้ และเข้าสู่ นิพพานไปแล้ว ดังนั้นในที่นี้จักเป็นที่ว่างเปล่า

เมื่อพระราชาได้ทรงสดับพระพุทธวาจาดังนี้แล้ว จึงถวายบังคมแล้วกราบทูลถามองค์ สมเด็จประทีปแก้วว่าถ้าเป็นเช่นนั้นพระองค์ จักประดิษฐานรอยพระบาทไว้ด้วยเหตุอันใด พระพุทธเจ้าข้า?

ดูก่อน... พระมหาบพิตร สถานที่เป็นบ้านเป็นเมืองตั้งพระพุทธศาสนาอยู่ได้นั้น แม้มีเหตุควรไว้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็หามีไว้ไม่ ด้วยเหตุว่าเป็นที่หวงแหนแห่งหมู่เทวดาและ พญานาคทั้งหลาย และบ้านเมืองก็จักเสื่อมสูญ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไว้ยังรอยพระบาท ให้ไกลบ้านเมือง พระพุทธศาสนาก็จักตั้งอยู่ระหว่างท้ายเมืองและหัวเมือง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ไว้รอยพระบาทที่ท้ายเมืองใต้นั้น พระพุทธศาสนาจักตั้งรุ่งเรือง ในเมืองนั้นก่อน แล้วจึงย้ายห่างมาใต้ตามรอยพระบาท เมื่อไว้รอยพระบาทระหว่างหัวเมือง พระพุทธศาสนาก็จักตั้งในเมืองนั้น แล้วจึงย้าย ห่างไปทางเหนือ ที่รอยพระบาทอันพระพุทธเจ้าได้ประดิษฐานไว้นั้นก็ไปตั้งเป็นเมือง คนทั้งหลายจึงจักตั้งอยู่เป็นปกติ

ส่วนเมืองหนองหารหลวงนี้ (สกลนคร) เมื่อพระพุทธเจ้าได้มาชุมรอยพระบาทไว้ สมัย พระยาองค์ใดเสวยราชสมบัติ พระยาองค์นั้น ได้สร้างบุญสมภารมาแล้วตั้งแสนกัปทุกๆ พระ องค์ ถึงเมืองหนองหารน้อย (อุดรธานี) ก็ดุจเดียวกัน และทั้งสองเมืองนี้เมื่อตั้งก็เกิดพร้อมกัน ด้วยเหตุที่เสด็จมาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ครั้นสิ้นชั่วพระยาทั้งสองเมืองนี้ เทวดาและนาคทั้งหลายที่รักษา “หนองหารหลวง”และ “หนองหารน้อย”ก็จักได้ให้น้ำไหลนองเข้ามาหากัน ท่วมรอยพระบาทและบ้านเมือง คน ทั้งหลายจึงได้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นเมืองเล็ก เมืองน้อยตามริมหนองนั้น จักได้ไปรับเอาจารีต ประเพณี และกิจการบ้านเมืองในราชธานีใหญ่ ที่พระพุทธศาสนาตั้งรุ่งเรืองอยู่ ณ ที่นั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จเข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายจักได้นำ เอาพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้ริมแม่น้ำธนนที (แม่น้ำโขง) บ้านเมืองพระพุทธ ศาสนาจักตั้ง รุ่งเรืองไปตามริมแม่น้ำอันนั้น

เมืองฝ่ายเหนือกลับไปตั้งอยู่ฝ่ายใต้ ส่วนฝ่ายใต้กลับไปตั้งอยู่ฝ่ายเหนือ เมืองที่ตั้ง อยู่ท่ามกลางนั้นประเสริฐมีอานุภาพยิ่งนัก ท้าวพระยาทั้งหลายที่มีบุญสมภารจักได้เสวยราชสมบัติ บ้านเมืองค้ำชูพระพุทธศาสนาแห่งพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย

ครั้นสิ้นพระพุทธศาสนาแล้ว ราชธานี บ้านเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำฝ่ายเหนือก็กลับไปฝ่าย เหนือ เมืองราชธานีอันเป็นที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้นว่า เมืองศรีโคตรบูร ก็กลับมาตั้งอยู่ที่เก่า เมืองราชธานี ที่ตั้งอยู่ ณ ท่ามกลางนั้น ก็กลับมาตั้งอยู่ริม หนองหารดังเก่า เพื่อรอท่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ครั้งนั้น ท้าวพระยาทั้งหลายที่มีบุญ สมภาร ก็บังเกิดขึ้นตามราชธานีนั้นๆ อันนี้หาก เป็นจารีตประเพณีสืบๆ มาแห่งแม่น้ำธนนที พระพุทธศาสนาก็จักตั้งอยู่แต่ทิศเบื้องเหนือ และทิศเบื้องใต้ ส่วนทิศตะวันตกและทิศตะวัน ออกไปตามริมแม่น้ำอยู่เป็นปกติ

ดูรา...มหาราช! ตถาคตเทศนา “ศาสนา นครนิทาน”ดังกล่าวมาแล้ว เพื่อเหตุนั้นจึงได้ ว่าไม่มีคนอยู่ในเมืองหนองหาร แม้ว่ามีคนอยู่ ในริมหนองหารทั้งสองนั้น ท้าวพระยาที่มีบุญ สมภารเป็นเอกราชนั้น จักตั้งอาณานิคมในพระ พุทธศาสนาอันใหญ่นั้นก็ไม่มี เท่าที่มีก็เป็นแต่ ปลายเขตแดนพุทธศาสนาตามกาลสมัยนั้นๆ

เมื่อพระยาสุวรรณภิงคารได้ทรงสดับรัตนปัญหาดังนั้น ก็ทรงโสมนัสซาบซึ้งในพระ ทัยยิ่งนัก และมีพระราชประสงค์จะตัดยังพระ เศียรของพระองค์ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ทันใดนั้น พระนางเทวีได้เข้าไปทูลห้ามไว้ว่า
“เมื่อมหาราชเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ จัก ได้สร้างพระราชกุศลเพิ่มเติมต่อไป ไม่ควรที่ พระองค์จะมาทรงกระทำเช่นนี้...”

เมื่อพระบาทท้าวเธอได้ทรงสดับพระ วาจาของพระนางเทวีตรัสห้าม ดังนั้นจึงถอด พระมงกุฎออกมาบูชา พระศาสดาจึงตรัสซ้ำ พระสัทธรรมเทศนาโปรดเป็นครั้งที่สองอีกว่า

“ดูรา...มหาราช! รอยพระบาทอันพระ ตถาคตได้ไว้ให้แก่พญานาคราชที่ แผ่นกระดานหินฝั่งแม่น้ำใหญ่ ชั่วช้างร้องและงัวร้อง ได้ยิน เพื่อหมายแห่งหัวเมืองและท้ายเมือง อันจักเป็นราชธานี พระพุทธศาสนาก็จักรุ่งเรือง ยิ่งใหญ่นักในที่นั้น...”

(คำว่า “ฝั่งแม่น้ำใหญ่”อาจจะเป็นทะเล คงจะเป็นที่ “เกาะแก้วพิสดาร” แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าถึงการประทานรอยพระบาทไว้ ที่บนเขา คือวัดพระพุทธบาทสี่รอยอีกด้วย ตามที่เล่าไปแล้วตอนภาคเหนือ)

เมื่อพระยาสุวรรณภิงคารพร้อมด้วยพระราชเทวี ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนาเรื่อง “พระบาทลักษณ์”จึงทรงมีพระปีติปราโมทย์ ยิ่งนัก แล้วทรงสร้างอุโมงค์ด้วยหินปิดรอยพระ พุทธบาทพร้อมทั้งมงกุฎ เหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า พระธาตุเชิงชุม มาเท่าถึงกาลบัดนี้

เมื่อเล่าประวัติวัดพระธาตุเชิงชุมจบแล้ว ผู้แต่งกายสมมุติเป็นพระยาทั้งสอง จึงได้ออก ไปจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี หลังจากหลวงพ่อ บวงสรวงและนำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ตัวแทน พระยาทั้งสองจึงได้โปรยข้าวตอกดอกไม้ สรง ด้วยน้ำหอมรอบองค์พระธาตุ โดยมีพระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถาตลอดพิธี

ต่อจากนั้นจึงเป็น ชุดบูชาพระธาตุของคณะนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร ทั้งหญิงชายแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยอีสาน โบราณสวยงาม พร้อมทั้งมีพานพุ่มพานโตกดอก ไม้หลายหลากสีถืออยู่ในมือทั้งสอง แล้วเดิน รอบองค์พระธาตุอย่างเชื่องช้าและสง่างาม พวก เราทุกคนต่างจ้องมองดูกันอย่างเงียบสงบ

ครั้นชมครบทั้ง ๓ รอบแล้ว จึงได้ชักชวน ให้พวกเราเข้าไปในวิหาร แต่มีหลายคนได้เข้า ไปรออยู่แล้ว เพราะทางเจ้าหน้าที่ของวัดได้เปิด อุโมงค์ภายในพระธาตุให้ชมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่ง จะแลเห็นยอดพระธาตุองค์เล็กอยู่ภายในนี้ มีหลายคนบอกว่าภายในมีกลิ่นหอม ทั้งๆ ที่ มิได้นำน้ำหอมเข้าไปสรงแต่อย่างใด จึงสร้าง ความปีติแก่พวกเราเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพวกเราพร้อมกันทุกคนแล้ว จึงเริ่มพิธีถวายผ้าป่าเพื่อสร้างศาลาที่ค้างอยู่นั้น โดยรวบรวมเงินถวายไปทั้งสิ้น ๑๑๔,๔๘๐ บาทเมื่อพระสงฆ์วัดพระธาตุเชิงชุมให้พรจบลงแล้ว จึงออกมาภายนอกวิหาร เพื่อชมการฟ้อนรำ สมโภชองค์พระธาตุกันต่อไป จนกระทั่งเสร็จ พิธีแล้ว พวกเราก็รับประทานอาหารเย็นที่ทางวัดจัดเลี้ยง หลังจากได้ร่ำลากันแล้วจึงเดินทางกลับทันที...สวัสดี.

◄ll กลับสู่ด้านบน