ตามรอยพระพุทธบาท

พระคาถาจาก "พระสูตร" ในยุคข้าวยากหมากแพง
webmaster - 26/5/08 at 07:06

ในภาวะข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ขอนำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ประทานให้กับฆราวาสผู้ครองเรือน ซึ่งนำมาใช้ได้ทุกกาลทุกสมัย ยิ่งในช่วงสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จึงขออาราธนาอัญเชิญมาให้พวกเราได้นำไปปฏิบัติกันต่อไป...

หัวใจเศรษฐี (อุ - อา - กะ - สะ)

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะ ชื่อว่า "กักกรปัตตะ" ในครั้งนั้น มีชายคนหนึ่งชื่อทีฆชาณุ หรืออีกนามหนึ่งว่า "พยัคฆปัชชะ" ได้เข้าไปเฝ้า แล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์เจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน ยังยินดีทองและเงินอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรม ที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์และความสุขในภายหน้าเถิด พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
“พยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร คือ

๑. อุฏฐานะสัมปะทา
๒. อารักขะสัมปะทา
๓. กัลยาณะมิตตะตา
๔. สะมะชีวิตา...”

(จาก..ทีฆชาณุสูตร ๒๓/๒๕๖)


ลายแทง ๔ ข้อนี้ จัดว่าเป็น “หัวใจเศรษฐี” ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่ "ทีฆชาณุ" ที่เราเอามาย่อว่า "อุ - อา - กะ - สะ" มีคำอธิบายโดยย่อ ดังนี้

1. "อุ" ย่อมาจากคำว่า "อุฏฐานสัมปะทา" แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ หนักเอาเบาสู้ในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย กิจการทั้งหลายต้องรู้จักรับผิดชอบ
โบราณกล่าวว่า "ทรัพย์นี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน ทั่วแคว้นแดนดินมีสิ้นทุกสถาน ผู้ใดเกียจคร้าน บ่พานพบนา"
ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองมีอยู่ทุกหนแห่ง ขออย่างเดียวอย่าเกียจคร้านให้ลงมือทำงานทุกชนิด อย่างจริงจังตั้งใจ งาน คือ ชีวิต ชีวิต คือ งานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน มิใช่รอความสุขจากความสำเร็จของงานอย่างเดียว ขาดทุนและขอให้ถือคติว่า ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง ขี้หึ้งเป็นแมลงป่อง จองหองเป็นกิ่งก่า

ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร หมายถึง ถ้าอยากเป็นเศรษฐี ก่อนอื่นต้องมีความขยันหมั่นเพียร เริ่มตั้งแต่ต้องขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ วิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนรู้วิชาชีพ ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบหรือที่ได้รับมอบหมายให้กระทำโดยไม่บกพร่อง

และพยายามแก้ไขการงานที่ได้รับมอบหมายหรือที่กระทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การงานมีประสิทธิภาพและได้ผลดีที่สุด ต้องขยันทำมาหากิน โดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคที่ต้องเผชิญหน้า ตลอดจนต้องคอยศึกษาหาความรู้สำหรับใช้รักษาตัวเองและครอบครัวมิให้เกิดการเจ็บป่วยด้วย

2. "อา" ความถึงพร้อมด้วยการความหมั่นรักษา หมายถึง เมื่อได้รับมอบหมายการงานอะไรให้กระทำ หรือเมื่อได้ดำเนินกิจการงานอะไร ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือของคนอื่นก็ดี ต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบในการงานหรือกิจการนั้น ๆ มิให้บกพร่องต่อหน้าที่ อะไรที่ยังทำไม่ดีก็พยายามทำให้ดี อะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดี

เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานต้องหมั่นดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา โดยไม่ปล่อยปะละเลย เช่น มีอะไรชำรุดเสียหายก็แก้ไขให้ดี ตลอดไปจนถึงต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินเงินทองที่เกิดจากการปฏบัติงาน เกิดจากการทำมาหากินหรือที่รับผิดชอบอยู่มิให้สูญเสียหรือใช้ไปให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ หรือปราศจากเหตุผลอันสมควรหน้าที่การงานที่กระทำอยู่ หรือกิจการส่วนตัวที่ดำเนินอยู่ก็อย่าให้ต้องหลุดมือไปง่าย ๆ

เพราะการงานที่ทำแต่ละอย่างไม่ใช่จะหาได้ง่ายนัก ฉะนั้น เมื่อได้การงานใด ๆ แล้ว ก็อย่าทำให้งานที่ทำนั้นต้องหลุดไป นอกจากกรณีที่เราได้งานหรือกิจการใหม่ที่เราพิจารณาเห็นชัดแล้วว่าจะต้องทำให้เราดีกว่าเดิมได้ จึงค่อยพิจารณาเปลี่ยนแปลง ถ้าการงานหรือกิจการที่ดำเนินการอยู่ดีอยู่แล้ว ต้องพยายามรักษาให้ดีที่สุด และต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ

และประการสำคัญไม่ว่าจะทำงานกับใครที่ไหนก็ตามต้องถือว่างานนั้นเป็นงานของเราเอง เพราะถ้ากิจการของเขาเจริญขึ้น เราก็จะพลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย ถ้ากิจการของเขาเลวลง เราก็จะต้องพลอยลำบากไปด้วย

3. "กะ" ย่อมาจากคำว่า "กัลยาณะมิตตะตา" แปลว่า การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว เพราะคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล คบคนจึงต้องดูหน้าว่าเพื่อนเป็นคนดีที่มีลักษณะไม่เป็นคนปอกลอก ไม่ดีแต่พูด ไม่ประจบ และไม่เป็นคนชักชวน ไปในทางฉิบหาย มีการดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน มั่วเมาในการเล่นและผีการพนันเข้าสิงจิตใจ และขอให้ถือคติว่า มีเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา เหมือนมีเกลือนิดหน่อยด้อยราคา ดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

กัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ

องค์คุณของ "กัลยาณมิตร" คุณสมบัติของ "มิตรดี" หรือ "มิตรแท้" คือ ท่านที่คบหรือเข้าหาแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภท "ครู" หรือ "พี่เลี้ยง" เป็นสำคัญ

1. น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม (ปิโย )

2. น่าเคารพ ในฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย (คะระ)

3. น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ ( ภาวะนีโย)

4. รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี ( วัตตา จะ)

5. อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ชักถาม คำเสนอ และวิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อไม่ฉุนเฉียว ( วะจะนักขะโม)

6. แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ่งยิ่งขึ้นไป

7. ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย (โน จัฏฺฐาเน นิโยชะเย)


"มิตรเทียม 4 ประการ"

มิตรปะฏะริรูปก์ หรือ "มิตรเทียม 4" คนเทียมมิตร คนที่พึงทราบว่าเป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร

1. คนปอกลอก คนขนเอาของเพื่อนไปฝ่ายเดียว (อัญญะทัตถุหะระ มีลักษณะ 4) คือ

1.1 คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

1.2 ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก

1.3 ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน

1.4 คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

2. คนดีแต่พูด (วจีบรม มีลักษณะ 4) คือ

2.1 ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย

2.2 ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย

2.3 สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้

2.4 เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

3. คนหัวประจบ (อนุปะปิยะภาณี มีลักษณะ 4) คือ

3.1 จะทำชั่วก็เออออ

3.2 จะทำดีก็เออออ

3.3 ต่อหน้าสรรเสริญ

3.4 ลับหลังนินทา

4. คนชวนฉิบหาย (อะปายะสหายะ มีลักษณะ 4) คือ

4.1 คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา

4.2 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน

4.3 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น

4.4 คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน


4. "สะ" ย่อมาจากคำว่า "สะมะชีวิตา" แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไปให้รู้จักออมเงิน ออมเงินเอาไว้ ฉุกเฉินเมื่อไร จะได้ใช้เงินออม และขอให้ถือคติว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ แม้มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

โดยทุกวันนี้ สินค้า "ส่วนเกินของชีวิต" มีมาก ต้องมีปัญญาประกบความคิดด้วย ต้องแยกให้ออกด้วยว่า อะไรเป็นสิ่งบำรุง ? อะไรเป็นสิ่งบำเรอ ? อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นแก่ชีวิต ? เป็นต้น
ถ้ามีแต่ความคิด มีแต่ความขยันหาเงินเก่ง แต่ขาดปัญญา ที่จะช่วยวินิจฉัยว่า สิ่งใดควรหรือสิ่งใดไม่ควร ? ชีวิตนี้ก็จะ "ถมไม่รู้จักเต็ม" หาเงินกันจนตาย ก็ไม่พบความสุข หรือมีเงินมากมายเท่าไร ก็ไม่พบความสุข !

ผู้ที่รู้จักการครองเรือนที่ถูกต้อง แม้มีรายได้น้อย มีความรู้น้อยก็มีความสุขได้ ตรงกันข้าม ผู้ที่ครองเรือนไม่เป็น หรือครองเรือนไม่ถูกต้อง มีความรู้สูง มีเงินมาก เงินนั่นแหละมันจะกลายเป็น "เพชฌฆาตความสุข" เสียเอง...

อีเมล์มาจาก - apimook888@hotmail.com


nangfah - 26/5/08 at 15:48

:s motanasathu ka...


noi - 29/7/08 at 13:52

ขอบคุณครับ


กระดิ่งทอง - 29/7/09 at 17:48

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ สาธุ


aneeko - 29/7/09 at 22:30

สาธุ


จับปูใส่กระด้ง - 16/9/10 at 09:46

สาธุครับ