ตามรอยพระพุทธบาท

ประวัติพุทธสาวก เรื่อง พระมหากัสสปเถระ (ตอนจบ)
praew - 13/11/09 at 10:58

พระมหากัสสปเถระ


ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมมุตระ พระเถระนี้ได้เป็นกฎุมพี สมบัติ ๘๐ โกฏิ นามว่า เวเทหะ ในหังสวดีนคร ท่านเป็นอุบาสก พุทธมามกะ ธรรมมามกะ สังฆมามกะอยู่

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง เขาบริโภคอาหารดีแต่เช้าตรู่ อธิษฐานองค์แห่งอุโบสถ ถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังวิหาร บูชาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็ในขณะนั้น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ในเอตทัคคะว่า

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้ถือธุดงค์นี้ นิสภะเป็นเลิศ

อุบาสกได้ฟังดังนั้น จึงเลื่อมใส ในเวลาจบธรรมกถา เมื่อมหาชนลุกไป จึงถวายบังคมพระศาสดา เชื้อเชิญว่า พรุ่งนี้ขอพระองค์จงทรงรับภิกษาของข้าพระองค์เถิด พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก ภิกษุสงฆ์มีมากแล เขาทูลถามว่า มีเท่าไรพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า มี ๖๘๐,๐๐๐ รูป เขาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ อย่าเหลือไว้ในวิหารแม้สามเณรรูปเดียว พระศาสดาทรงรับแล้ว อุบาสกทราบว่า พระศาสดาทรงรับแล้ว จึงไปยังเรือนจัดแจงมหาทาน

วันรุ่งขึ้น จึงกราบทูลกาลแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวรแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังเรือนอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้ในเวลาจบอนุโมทนา ทรงรับข้าวยาคู เป็นต้น ได้ทรงกระทำการแจกภัต แม้อุบาสกก็ได้นั่งอยู่ในสำนักพระศาสดา

ในระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระกำลังเที่ยวบิณฑบาต ดำเนินไปตามถนนนั้นนั่นแล อุบาสกเห็นเข้า ลุกไปไหว้พระเถระ กล่าวว่า จงให้บาตรเถิดขอรับ พระเถระได้ให้แล้ว อุบาสกกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเข้าไปในที่นี้แหละ แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน พระเถระกล่าวว่า จักไม่สมควร อุบาสกเขารับบาตรของพระเถระแล้ว บรรจุบิณฑบาตให้เต็มแล้วได้ถวาย

ลำดับนั้น เขาตามส่งพระเถระ กลับแล้วนั่งในสำนักพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระ แม้เมื่อข้าพระองค์กล่าวว่า แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน ก็ไม่ปรารถนาจะเข้าไป ท่านมีคุณยิ่งกว่าคุณของพระองค์หรือ”

จริงอยู่ ความตระหนี่คุณย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสอย่างนี้ว่า

“อุบาสก พวกเรารอภิกษาอยู่ จึงนั่งอยู่ในเรือน ก็ภิกษุนั้นไม่นั่งเพ่งเล็งภิกษาอยู่อย่างนี้ พวกเราอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน เธออยู่ในป่าเท่านั้น พวกเราอยู่ในที่มุงบัง เธออยู่แต่ในกลางแจ้งเท่านั้น”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ข้อนี้และข้อนี้เป็นคุณของเธอดังนี้แล้ว จึงเป็นเสมือนยังมหาสมุทรให้เต็ม ทรงแสดงคุณของเธอ

แม้ตามปกติ อุบาสกเป็นผู้เลื่อมใสด้วยดียิ่งนัก เหมือนประทีปกำลังโพลงซึ่งลาดด้วยน้ำมัน คิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยสมบัติอย่างอื่น ในอนาคตเราจะตั้งความปรารถนา เพื่อความเป็นเลิศกว่าผู้ถือธุดงค์ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

เธอนิมนต์พระศาสดาอีก ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน โดยทำนองนั้นนั่นแล ในวันที่ถวายไตรจีวรแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน นั่งแทบพระบาทมูลของพระศาสดา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถวายทานตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์ได้เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีเมตตาเป็นอารมณ์ ด้วยบุญกรรมนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาเทวสมบัติ สักกสมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติอย่างอื่น ก็กรรมของข้าพระองค์นี้จงเป็นบุญญาธิการ เพื่อความเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุตำแหน่งที่พระมหานิสภเถระปรารถนาไว้ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต”

พระศาสดาทรงตรวจดูว่า อุบาสกนี้ปรารถนาตำแหน่งใหญ่ เธอจักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเห็นว่าจะสำเร็จ จึงตรัสพยากรณ์ว่า

เธอปรารถนาตำแหน่งน่าชอบใจในอนาคตในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม จักเสด็จอุบัติ เธอจักเป็นสาวกที่ ๓ ของพระองค์มีนามว่า พระมหากัสสปเถระ


praew - 15/1/10 at 08:53

อุบาสกได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่าถ้อยคำเป็นสองย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงได้สำคัญสมบัตินั้น เหมือนจะพึงได้ในวันรุ่งขึ้น เธอถวายทานจนตลอดอายุ สมาทานรักษาศีล กระทำกัลยาณกรรมมีประการต่างๆ ทำกาละแล้วบังเกิดในสวรรค์

จำเดิมแต่นั้นมา เธอเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จเข้าไปอาศัยพันธุมวดีนคร ประทับอยู่ในมฤคทายวันอันเกษม เธอจุติจากเทวโลกแล้ว บังเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่แห่งหนึ่ง

ก็ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงแสดงธรรมทุกๆ ๗ ปี ได้มีความเอิกเกริกอย่างใหญ่ เทวดาในชมพูทวีปทั้งสิ้นบอกว่า พระศาสดาจักแสดงธรรม พราหมณ์ได้ฟังข่าวนั้นแล้วก็ท่านได้มีผ้านุ่งอยู่ผืนเดียวเท่านั้น นางพราหมณีก็เหมือนกัน แต่ท่านทั้งสองมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น เขาปรากฏในพระนครทั้งสิ้นว่า เอกสาฎกพราหมณ์ เมื่อมีการประชุมด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของพวกพราหมณ์ พราหมณ์นั้นจึงพักนางพราหมณีไว้ในเรือน ส่วนตนเองห่มผ้านั้นไป

ก็วันนั้นพราหมณ์กล่าวกะนางพราหมณีว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอจักฟังธรรมในกลางคืนหรือในกลางวัน นางพราหมณีกล่าวว่า พวกเราชื่อว่าเกิดเป็นผู้หญิง ไม่ปรารถนาจะฟังในกลางคืน จักฟังในกลางวัน จึงได้พักพราหมณ์ไว้ในเรือน แล้วห่มผ้าพร้อมด้วยอุบาสิกาไปในเวลากลางวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ฟังธรรมแล้วได้กลับมาพร้อมด้วยอุบาสิกาทั้งหลายนั่นแล ลำดับนั้น พราหมณ์จึงพักนางพราหมณีไว้ในเรือน ห่มผ้านั้นไปวิหาร

สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ ที่เขาประดับแล้วในท่ามกลางบริษัท จับพัดวิชนีแสดงธรรมกถา ประหนึ่งเทวดาผู้วิเศษ หยั่งลงสู่แม่น้ำในอากาศหรือเหมือนทำเขาสิเนรุให้เป็นข้าวตูก้อนแล้วกดลงสู่สาครฉะนั้น

เมื่อพราหมณ์นั่งอยู่ที่ท้ายบริษัทฟังธรรมอยู่ ในปฐมยามนั้นเอง ปีติมีวรรณะ ๕ เกิดขึ้น ทำสรีระทั้งสิ้นให้เต็ม เขาม้วนผ้าที่ตนห่มแล้วคิดว่า จักถวายแด่พระทศพล

ลำดับนั้น ความตระหนี่อันแสดงโทษตั้งพัน เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว เขาคิดว่านางพราหมณีและเราก็มีผ้าผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่มอะไรอื่นไม่มี ก็ธรรมดาว่าเราจะไม่ห่มแล้ว ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ได้เป็นผู้ใคร่จะไม่ให้โดยประการทั้งปวง ครั้นปฐมยามทั้งมัชฌิมยามผ่านไป ปีติก็เกิดขึ้นแก่เขาเช่นนั้นเหมือนกัน

ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ไม่ปรารถนาจะให้เหมือนกัน ในกาลนั้นเขาคิดว่า เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งยกไว้ก่อน เราจักรู้ในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงม้วนผ้าวางไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา ลำดับนั้น เขาจึงคู้มือซ้ายปรบด้วยมือขวาขึ้น ๓ ครั้ง บันลือขึ้นทั้งสามครั้งว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว


praew - 26/1/10 at 08:22

ก็สมัยนั้น พระจ้าพันธุมราช ประทับนั่งฟังธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ก็ธรรมดาว่า เสียงว่า เราชนะแล้ว ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของพระราชา ท้าวเธอทรงส่งบุรุษไปให้รู้ว่า เธอจงไป จึงถามบุรุษนั่น เขากล่าวกระไร? เขาอันบุรุษนั้นไปถามแล้วจึงตอบว่า พวกคนที่เหลือนี้ขึ้นสู่ยานช้างเป็นต้น ถือเอาดาบและโล่หนังเป็นต้นชนะเสนาอื่น ข้อนั้นไม่น่าอัศจรรย์ แต่เราย่ำยีจิตคือความตระหนี่แล้ว ถวายผ้าห่มแด่พระทศพลเหมือนคนเอาค้อนทุบศีรษะโคโกง ผู้มาข้างหลังแล้วให้มันหนีไป ข้อที่เราชนะความตระหนี่นั้นอัศจรรย์

บุรุษนั้นกลับมากราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า พนายพวกเราไม่รู้กรรมอันสมควรแด่พระทศพล พราหมณ์รู้ดังนี้ ได้ส่งคู่ผ้าไปให้แล้ว พราหมณ์เห็นดังนั้นจึงคิดว่า พระราชานี้ไม่ได้ให้อะไรๆ ก่อนแก่เราผู้นั่งนิ่ง ต่อเมื่อเรากล่าวคุณของพระศาสดา จึงได้ให้ ก็จะประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยวัตถุที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยคุณของพระศาสดา ดังนี้แล้วได้ถวายคู่ผ้าแม้นั้นแด่พระทศพลเท่านั้น

ฝ่ายพระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอะไร? ครั้นทรงสดับว่า พราหมณ์นั้นถวายคู่ผ้าแม้นั้นแด่พระตถาคตนั่นแล จึงประทานคู่ผ้า ๒ คู่แม้อื่นไปให้แล้ว พราหมณ์นั้นได้ถวายคู่ผ้าแม้อื่น ๔ คู่ ถึง ๓๒ คู่ ลำดับนั้นพราหมณ์คิดว่า นี้เป็นเหมือนรับเพิ่มขึ้น จึงรับคู่ผ้าไว้ ๒ คู่ คือเพื่อประโยชน์แก่ตนคู่หนึ่ง แก่พราหมณีคู่หนึ่ง แล้วได้ถวายคู่ผ้าทั้ง ๓๒ คู่แด่พระตถาคตนั่นแหละ ก็จำเดิมแต่นั้นเธอได้เป็นผู้คุ้นเคยต่อพระศาสดา

ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเห็นเขาฟังธรรมอยู่ในสำนักพระศาสดาในฤดูหนาว จึงประทานผ้ากัมพลแดงที่พระองค์ทรงห่มมีราคาหนึ่งแสน แล้วตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป เธอจงห่มผ้านี้ฟังธรรม เขาคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยผ้ากัมพลนี้ ที่จะนำเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงได้ไปกระทำเป็นเพดานในเบื้องบนเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี

ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปยังพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในสำนักของพระศาสดา ภายในพระคันธกุฎี ก็สมัยนั้น พระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ กระทบผ้ากัมพล ผ้ากัมพลรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง พระราชาทรงแหงนดู ทรงจำได้จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นผ้ากัมพลของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ให้เอกสาฎกพราหมณ์

พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร มหาบพิตรบูชาพราหมณ์ เป็นอันพราหมณ์บูชาเราแล้ว”

พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้ถึงสิ่งที่ควร เราไม่รู้ จึงทรงกระทำสิ่งซึ่งเป็นอุปการะแก่พวกมนุษย์ทั้งหมดให้เป็นอย่างละ ๘ แล้วได้ให้ทานชื่อหมวด ๘ ของสิ่งทั้งหมด แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

ฝ่ายปุโรหิตนั้นคิดว่า ชื่อว่าสิ่งอย่างละ ๘ ๆ รวม ๖๔ ได้ผูกสลากภัต ๖๔ ที่เป็นประจำแล้วถวายทานรักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในสวรรค์

เขาจุติจากอัตภาพนั้นอีก ในกัปนี้จึงบังเกิดในเรือนแห่งกฎุมพี ในกรุงพาราณสีในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าทั้งสอง คือ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ และ พระกัสสปทศพล


praew - 28/2/10 at 07:50

เขาเจริญวัยแล้ว อยู่ครองเรือน วันหนึ่งเที่ยวไปสู่สังฆวิหารในป่า ก็สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า กระทำจีวรกรรมที่ฝั่งแม่น้ำ เริ่มจะรวบรวมผ้าอนุวาตที่ไม่เพียงพอวางไว้ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไรท่านจึงรวบรวมวางไว้”

พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “ผ้าอนุวาตไม่เพียงพอ”

เขากล่าวว่า “ท่านจงกระทำด้วยผ้านี้เถิดขอรับ” แล้วได้ถวายผ้าอุตรสาฎกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า

“ขอความเสื่อมเพราะสิ่งอะไรๆ จงอย่ามีแก่เราในที่เราเกิดแล้วๆ”

เมื่อภรรยากับน้องสาวของเรากระทำความทะเลาะแม้ในเรือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต ลำดับนั้น น้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายเอาภรรยาของเขา จึงตั้งความปรารถนาว่า เราพึงเว้นคนพาลเห็นปานนี้จากที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ นางยืนอยู่ที่ลานเรือนได้ยินเข้าจึงคิดว่าขอพระปัจเจกพุทธเจ้าจงอย่าบริโภคภัตที่น้องสาวนี้ให้ จึงเทบิณฑบาตทิ้ง แล้วได้ให้เต็มด้วยเปือกตม

ฝ่ายน้องสาวกล่าวว่า “ดูก่อนคนพาล เจ้าจงด่า จงประหารเราก่อนเถิด การที่เจ้าเทภัตจากบาตรของท่านผู้เห็นปานนี้ ผู้บำเพ็ญบารมีมาสิ้น ๒ อสงไขย แล้วให้เปือกตมไม่ควรเลย”

ลำดับนั้น การพิจารณาได้เกิดขึ้นแก่ภรรยาของเขา นางกล่าวว่า “จงหยุดเถิดเจ้าข้า” ดังนี้แล้วเทเปือกตม ล้างบาตรขัดสีด้วยจุณหอม บรรจุให้เต็มด้วยภัตอันประณีตแล้วด้วยอาหารมีรสอร่อย ๔ อย่าง แล้ววางสิ่งที่รุ่งเรืองด้วยเนยใส มีสีดังกลีบปทุมที่เขาราดไว้ในเบื้องบนไว้ในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า บิณฑบาตรนี้มีแสงสว่างฉันใด สรีระของเราจงมีแสงสว่างฉันนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้ว จึงเหาะไป

ฝ่ายเมียและผัวทั้งสอง บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต บังเกิดในสวรรค์จุติจากอัตภาพนั้นอีกเป็นอุบาสก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ บังเกิดเป็นบุตรแห่งเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในกรุงพาราณสี ฝ่ายภรรยาบังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีนั้นนั่นแล

เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว ญาติทั้งหลายได้นำธิดาเศรษฐีนั้นนั่นแลมาให้ พอเมื่อนางเข้าไปสู่ตระกูลสามี ด้วยอานุภาพของบาปกรรม ที่มีผลไม่น่าปรารถนาในกาลก่อนสรีระทั้งสิ้นได้เกิดมีกลิ่นเหม็น เหมือนเวจกุฎีที่เขาปิดไว้ที่ธรณีประตู เศรษฐีกุมารถามว่านี้กลิ่นอะไร? ทราบว่าเป็นกลิ่นของเศรษฐีธิดาแล้วส่งไปเรือนแห่งตระกูล โดยทำนองที่เขานำมาว่า “จงนำออกไป จงนำออกไป” นางนั้นอันสามีนั้นนั่นแหละ ขับไล่แล้วให้นำกลับมา ๗ ครั้ง

ก็สมัยนั้น องค์สมเด็จพระกัสสปทศพลปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้พากันสร้างเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ถวายพระองค์ด้วยอิฐแล้วด้วยทองสีแดง มีราคาหนึ่งแสนบุให้แท่งทึบ เมื่อเขาสร้างเจดีย์นั้น เศรษฐีธิดานั้นคิดว่า เราถูกนำกลับมาถึง ๗ ครั้ง จะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของเราดังนี้แล้ว จึงให้ทำลายเครื่องอาภรณ์ของตนให้ก่ออิฐแล้วด้วยทอง อันเป็นก่อเกิดแห่งรัตนะ กว้างหนึ่งคืบ สูงสี่นิ้ว ลำดับนั้นจึงถือเอาก้อนหรดาลและมโนศิลา แล้วถือเอาดอกอุบล ๘ กำไปยังที่กระทำเจดีย์

ก็ในขณะนั้น แนวอิฐที่วงล้อมเจดีย์ขาดไป ๑ ก้อน ธิดาเศรษฐีจึงกล่าวกะนายช่างว่า ท่านจงวางแผ่นอิฐนี้ไว้ในที่ว่างนี้ นายช่างกล่าวว่า ดูก่อนแม่นางผู้เจริญ ท่านมาทันเวลา จงวางเองเถิด นางขึ้นไปแล้วประกอบก้อนหรดาลและมโนศิลาด้วยน้ำมัน วางก้อนอิฐให้ติดกับเครื่องเชื่อมนั้น กระทำการบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบน ไหว้แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอกลิ่นจันทร์จงฟุ้งออกจากกายของเรา ขอกลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก ในที่ที่เกิดแล้วๆ ดังนี้แล้วไหว้เจดีย์กระทำประทักษิณได้ไปแล้ว

ครั้นในขณะนั้นนั่นเอง เศรษฐีบุตรได้นำนางไปสู่เรือนคราวก่อน ความระลึกถึงเพราะปรารภนางเกิดขึ้นแล้วแก่เศรษฐีนั้น แม้ในพระนครเขาก็ป่าวร้องเล่นนักษัตร เขากล่าวกะอุปัฏฐากว่า “ในกาลนั้นเขานำธิดาเศรษฐีมาในที่นี้ นางไปไหน?”

นางตอบว่า “เธออยู่ในเรือนของตระกูล”

เขากล่าวว่า “ท่านจงนำนางมาเถิด เราจักเล่นนักษัตร”

อุปัฏฐากเหล่านั้นไปยืนไหว้นาง ถูกนางถามว่า “พ่อทั้งหลายพวกท่านมาทำไม” จึงแจ้งเรื่องนั้น นางกล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย ฉันบูชาพระเจดีย์ด้วยเครื่องอาภรณ์ ฉันไม่มีเครื่องอาภรณ์” อุปัฏฐากเหล่านั้นไปบอกบุตรเศรษฐี บุตรเศรษฐีกล่าวว่า “พวกท่านจงนำนางมา นางจักได้เครื่องประดับ” อุปัฏฐากเหล่านั้นนำมาแล้ว กลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกอุบลเขียวฟุ้งไปทั่วเรือนพร้อมด้วยการเข้าไปสู่เรือนของนาง เศรษฐีบุตรถามนางว่า “ครั้งก่อนกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากร่างกายของเจ้า แต่บัดนี้ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกายและกลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเจ้า นี้เป็นเพราะเหตุอะไร?”

นางบอกกรรมที่ตนทำตั้งแต่ต้น บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริงหนอ จึงล้อมสุวรรณเจดีย์ประมาณโยชน์หนึ่งด้วยผ้าคลุมอันทำด้วยผ้ากัมพล แล้วประดับด้วยดอกปทุมทองประมาณเท่าล้อรถ ในที่นั้นๆ ดอกปทุมทองเหล่านั้น ได้ห้อยลงประมาณ ๑๒ ศอก

เขาดำรงอยู่ในที่นั้นจนตลอดอายุแล้วบังเกิดในสวรรค์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่งในที่ประมาณโยชน์หนึ่ง แต่กรุงสาวัตถี แม้ธิดาเศรษฐีจุติจากเทวโลกแล้ว บังเกิดเป็นธิดาคนโตในราชตระกูล เมี่อคนทั้งสองนั้นเจริญแล้ว ในบ้านที่อยู่ของกุมาร เขาป่าวร้องการเล่นนักษัตร เขากล่าวกะมารดาว่า

“ดูก่อนแม่ ขอแม่จงให้ผ้าสาฎกแก่ฉัน ฉันจักเล่นนักษัตร”

นางนำผ้าที่ชำระแล้วได้ให้ไป เขากล่าว่า “แม่ นี้เป็นผ้าเนื้อหยาบ” นางได้นำผ้าอื่นให้ไป แม้ผ้านั้นเขาก็ห้าม

ลำดับนั้น มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า “ดูก่อนพ่อ เราเกิดในเรือนเช่นใด บุญเพื่อได้ผ้าเนื้อละเอียดจากที่นี้ ย่อมไม่มีแก่พวกเรา”

เขากล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ฉันจะไปสู่ที่ๆ จะได้ผ้าจ้ะแม่”

นางกล่าวว่า “ลูก วันนี้แหละ แม่ปรารถนาจะให้เจ้าได้รับราชสมบัติในกรุงพาราณสี” เขาไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า “ฉันจะไปละแม่”

นางกล่าวว่า “ไปเถิดลูก”

ได้ยินว่า มารดาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า บุตรจักไปในที่ไหน บุตรจักนั่งอยู่ในที่นี้หรือที่ในเรือน ก็เขาออกแล้วไปด้วยการกำหนดแห่งบุญ ไปยังกรุงพาราณสี นอนคลุมโปงอยู่ที่แผ่นมงคลศิลาในอุทยาน และวันนั้นเป็นวันที่ ๗ ที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคต


praew - 8/3/10 at 08:26

อำมาตย์ทั้งหลายจัดถวายพระเพลิงสรีระของพระราชาแล้ว นั่งอยู่ที่พระลานหลวง ปรึกษากันว่า พระราชามีแต่พระธิดาองค์หนึ่งเท่านั้น แต่ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติอันไม่มีพระราชาจักพินาศ ใครจักเป็นพระราชา ดังนี้แล้ว จงกล่าวกันว่าท่านจงเป็นพระราชา ท่านจงเป็นพระราชา

ปุโรหิตกล่าวว่า การคัดเลือกโดยไม่กำหนด การเห็นแก่หน้ากันมากไปย่อมไม่สมควร เราจักปล่อยรถขาวเสี่ยงทายไป อำมาตย์เหล่านั้นจึงเทียมม้าสินธพ ๔ ม้า มีสีดังดอกโกมุท แล้ววางราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ และเศวตฉัตรไว้บนรถนั่นเอง จึงปล่อยรถประโคมดุริยางค์ตามหลังไป รถออกทางด้านทิศตะวันออกมุ่งหน้าไปอุทยาน อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถมุ่งหน้าไปทางอุทยานด้านที่คุ้นเคย พวกเราจงให้กลับ ปุโรหิตกล่าวว่า ท่านอย่าให้กลับเลย

รถทำประทักษิณกุมารแล้วได้หยุดรอให้ขึ้นไป ปุโรหิตเลิกชายผ้าแลดูพื้นเท้าพลางกล่าวว่า ทวีปนี้จงยกไว้ บรรดาทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มี ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร ผู้นี้ควรครองราชสมบัติ แล้วกล่าวว่าท่านจงประโคมดนตรีแม้อีก จงประโคมดนตรีแม้อีกดังนี้แล้ว จึงให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง

ลำดับนั้น กุมารเปิดหน้าแลดู กล่าวว่า “ท่านมาด้วยกรรมอะไร?”

พวกเขากล่าวว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ราชสมบัติถึงแก่ท่าน”

กุมารถามว่า “พระราชาอยู่ที่ไหน?”

อำมาตย์กล่าวว่า “พระองค์สวรรคตแล้วนาย”

กุมารถามว่า “ล่วงไปกี่วันแล้ว”

อำมาตย์กล่าวว่า “วันนี้เป็นวันที่ ๗”

กุมารถามว่า “พระโอรสและพระธิดาไม่มีหรือ?”

อำมาตย์ทูลว่า “พระธิดามีพระเจ้าข้า แต่พระโอรสไม่มี”

กุมารกล่าวว่า “เราจักครองราชสมบัติ”

ในขณะนั้น อำมาตย์เหล่านั้น จึงสร้างมณฑปอภิเษก ประดับราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แล้วนำมายังพระอุทยาน กระทำอภิเษกแก่กุมาร

ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้น้อมนำผ้ามีราคาหนึ่งแสน เข้าไปให้แก่กุมารผู้ได้อภิเษก

กุมารกล่าวว่า “นี่อะไรกันพ่อ”

อำมาตย์ทูลว่า “ผ้าสำหรับนุ่ง”

กุมารถามว่า “พ่อทั้งหลาย หยาบไปมิใช่หรือ?”

อำมาตย์ทูลว่า “ไม่มีผ้าที่ละเอียดกว่านี้ ในบรรดาผ้าเครื่องใช้สอยของพวกมนุษย์ พระเจ้าข้า”

กุมารกล่าวว่า “พระราชาของท่านนุ่งผ้าเห็นปานนี้หรือ”

อำมาตย์ทูลว่า “อย่างนั้นพระเจ้าข้า”

กุมารกล่าวว่า “ชะรอยว่าพระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ ท่านจงนำเหยือกน้ำทองคำมาให้เรา เราจักได้ผ้า”

อำมาตย์นำเหยือกน้ำทองคำมาแล้ว กุมารนั้นลุกขึ้นล้างมือ บ้วนปาก เอามือวักน้ำประพรมในปุรัตถิมทิศ ขณะนั้นนั่นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ผุดขึ้นทำลายแผ่นดินเป็นแท่งทึบ กุมารวักน้ำประพรมทั้ง ๔ ทิศอย่างนี้อีก คือในทิศทักษิณ ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ต้นกัลปพฤกษ์ ๓๒ ต้นผุดขึ้น กระทำให้เป็นกลุ่มละ ๘ ต้น ในทุกทิศ กุมารนั้นนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่งแล้วกล่าวว่า

“พวกท่านจงพากันตีกลอง ร้องประกาศอย่างนี้ว่า หญิงทั้งหลายผู้ปั่นด้าย อย่าปั่นด้าย ในแว่นแคว้นของพระเจ้านันทะ และให้ยกฉัตรประดับตกแต่งอยู่บนคอช้างตัวประเสริฐ เข้าไปยังพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทแล้วเสวยมหาสมบัติ”


((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


praew - 18/3/10 at 08:14

เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ วันหนึ่งพระเทวีทรงเห็นมหาสมบัติของพระราชา จึงแสดงอาการความเป็นผู้กรุณาว่า น่าอัศจรรย์ พระองค์มีตบะ ก็เมื่อถูกถามว่านี้อะไรกันเทวี จึงทูลว่า “สมบัติของพระองค์มีมากพระเจ้าข้า ในอดีตกาลพระองค์ทรงเชื่อต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้กระทำกัลยาณกรรม บัดนี้ ไม่ทรงทำกุศลอันเป็นปัจจัยแก่อนาคตหรือ”

พระราชาตรัสว่า “จะให้แก่ใคร บุคคลผู้มีศีลไม่มี”

พระเทวีทูลว่า “พระเจ้าข้า ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ขอพระองค์จงให้จัดแจงทานเท่านั้น เราจะได้พระอรหันต์ทั้งหลาย”

วันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้จัดแจงทาน ที่ประตูด้านทิศตะวันออก พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถแต่เช้าตรู่ หมอบลงบ่ายหน้าต่อทิศบูรพา ในปราสาทชั้นบนตรัสว่า ถ้าพระอรหันต์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศนี้ไซร้ พรุ่งนี้แหละ ขอพระอรหันต์ทั้งหลายจงมารับภิกษุของพวกเราทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีในทิศนั้น จึงได้ให้เครื่องสักการะแก่คนกำพร้าและยาจกทั้งหลาย

วันรุ่งขึ้นพระเทวีทรงจัดแจงทานที่ประตูด้านทักษิณ ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น วันรุ่งขึ้นได้กระทำที่ประตูด้านทิศปัจฉิม แต่ในวันที่จัดแจงที่ประตูด้านทิศอุดร เมื่อพระเทวีเชื้อเชิญเหมือนอย่างนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้ามหาปทุมะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ บุตรของ พระนางปทุมวดี ผู้อยู่ที่หิมวันตประเทศ จึงเรียกพี่น้องชายทั้งหลายมาว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระเจ้านันทะเชื้อเชิญพวกท่าน พวกท่านจงรับทานของพระองค์เถิด” พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว

วันรุ่งขึ้น จึงล้างหน้าที่สระอโนดาตแล้วมาทางอากาศ ลงที่ประตูด้านทิศอุดร มนุษย์ทั้งหลายเห็นแล้วไปกราบทูลพระราชาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ มา พระเจ้าข้า พระราชาพร้อมกับเทวีไปไหว้แล้วรับบาตร ให้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในที่นั้น ในที่สุดแห่งภัตกิจ พระราชาถวายแก่พระสังฆเถระ

พระเทวีหมอบลงแทบเท้าของพระสังฆนวกะ ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ และกระทำปฏิญญาว่า

“พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักไม่ลำบากด้วยปัจจัย พวกเราจักไม่เสื่อมจากบุญ” จึงจัดแจงที่เป็นที่อยู่โดยอาการทั้งปวงในพระอุทยาน คือบรรณศาลา ๕๐๐ ที่ จงกรม ๕๐๐ แล้วให้อยู่ในที่นั้น

เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ ปัจจันตชนบทของพระราชากำเริบ พระราชาให้โอวาทพระเทวีว่า “เราจะไปปราบปัจจันตชนบทให้สงบ เจ้าอย่าประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย”

เมื่อพระราชายังไม่เสด็จกลับมานั่นแล อายุสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นไป พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเข้าเข้าฌานตลอดยาม ๓ แห่งราตรี จึงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานเป็นที่ยึดหน่วงแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในเวลาอรุณขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงได้ยืนยึดหน่วงแผ่นกระดานที่เหลือด้วยอุบายนี้ปรินิพพานแล้ว

วันรุ่งขึ้น พระเทวีให้สร้างที่เป็นที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เกลี่ยดอกไม้ถวายธูป นั่งคอยดูการมาของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งบุรุษไปว่า “ไปเถิดพ่อ จงรู้พระผู้เป็นเจ้าคงจะมีความไม่ผาสุกอะไรๆ บ้างกระมัง”

บุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้ามหาปทุมะ เมื่อไม่เห็นในที่นั้น จึงไปสู่ที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึดหน่วง ไหว้แล้วกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วขอรับ สรีระปริพพานจักกล่าวอะไร? เขาคิดว่าชะรอยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะหลับ จึงไปเอามือลูบหลังเท้า ทราบว่าท่านปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าเย็นและแข็งกระด้าง จึงได้ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปที่ ๒ ไปยังสำนักพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปที่ ๓ ด้วยอาการฉะนั้น ทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดปรินิพพานแล้ว พระเทวีทรงกันแสง ออกไปพร้อมกับชาวพระนคร ไปในที่นั้น ให้กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้ถือเอาพระธาตุสร้างพระเจดีย์ไว้

พระราชา ครั้นปราบปัจจันตชนบทให้สงบแล้ว จึงเสด็จมาตรัสถามพระเทวีผู้กระทำการต้อนรับว่า

“นางผู้เจริญ เจ้าไม่ประมาทต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือ? พระผู้เป็นเจ้าไม่มีโรคหรือ?”

พระเทวีทูลว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว”

พระราชาทรงพระดำริว่า มรณะย่อมเกิดขึ้นแก่บัณฑิตแม้เห็นปานนี้ ความพ้นของเราจักมีแต่ที่ไหน พระองค์ไม่เสด็จไปพระนคร เสด็จไปยังพระอุทยานเท่านั้น รับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์โตมา แล้วมอบราชสมบัติแก่เธอ พระองค์เองบวชเป็นสมณะ

ฝ่ายเทวี ทรงดำริว่า เมื่อพระราชานี้บวชแล้ว เราจักทำอะไร จึงบวชในอุทยานนั้นนั่นเอง แม้ทั้งสองพระองค์ยังฌานให้เกิดขึ้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในพรหมโลก

เมื่อทั้งสองอยู่ในที่นั้นนั่นเอง พระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ประกาศธรรมจักรอันบวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปในกรุงราชคฤห์นั้น ปิปผลิมาณพ นี้บังเกิดในท้องของพระอัครมเหสีของกบิลพราหมณ์ ในมหาติตถพราหมณคาม ในมคธรัฐ นางภัททกาปิลานี นี้ บังเกิดในท้องของอัครมเหสีของโกสิยโคตรพราหมณ์ ในสาคลนคร ในมคธรัฐ เมื่อท่านเหล่านั้นเจริญโดยลำดับ เมื่อปิปผลมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปี นางภัททามีอายุครบ ๑๖ ปี มารดาบิดาแลดูบุตรแล้วคาดคั้นอย่างหนักว่า

“ดูก่อนพ่อ เจ้าเจริญวัยแล้ว ชื่อว่าวงศ์ตระกูลจะต้องดำรงไว้”

มาณพกล่าวว่า “ท่านอย่ากล่าวถ้อยคำเห็นป่านนี้ในคลองแห่งโสตประสาทของฉัน ฉันจักปรนนิบัติท่านตลอดเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยกาลล่วงไปแห่งท่าน ฉันจักออกบวช”

โดยล่วงไป ๒ – ๓ วัน ท่านทั้งสองก็กล่าวอีก แม้ท่านก็ปฏิเสธเหมือนอย่างนั้นนั่นเอง จำเดิมแต่นั้นมาท่านก็กล่าวอย่างนั้นไม่ขาดระยะเลย

มาณพคิดว่า เราจักให้มารดาของเรายินยอม จึงให้แท่งทองสุกปลั่ง ๑,๐๐๐ แท่ง อันช่างทองคำทำให้อ่อนตามต้องการทั้งปวงแล้ว สร้างรูปหญิงรูปหนึ่ง ในเวลาสิ้นสุดแห่งกรรม มีการเช็ดและบุเป็นต้นของแท่งทองนั้น ก็ให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้สมบูรณ์ด้วยดี และเครื่องประดับต่างๆ ให้เรียกมารดามากล่าวว่า

“แม่ เมื่อฉันได้อารมณ์เห็นปานนี้จักอยู่ครองเรือน เมื่อไม่ได้จักไม่อยู่”

นางพราหมณีผู้เป็นบัณฑิตคิดว่า “บุตรของเรามีบุญ ได้เคยให้ทาน เคยทำอภินิหารไว้ เมื่อทำบุญ ไม่ได้เป็นผู้ๆ เดียวกระทำ โดยที่แท้เคยทำบุญร่วมกับเขาไว้ จึงเป็นผู้มีส่วนเปรียบด้วยรูปทอง” ดังนี้แล้วจึงให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๘ คนมา ให้อิ่มหนำด้วยกามทั้งปวง ให้ยกรูปทองขึ้นสู่รถส่งไปเพื่อให้รู้ว่า

“พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไปในตระกูลที่เสมอกันโดยชาติโคตรและโภคะของเรา จงดูนางทาริกาเป็นปานนี้ จงกระทำรูปทองนี้แหละให้เป็นเครื่องบรรณาการแล้วจงกลับ”

พรหมณ์เหล่านั้น ออกไปด้วยคิดว่านี้เป็นกรรม ชื่อของพวกเรา คิดว่าเราจักไปในที่ไหน จึงคิดว่า ชื่อ มัททรัฐ เป็นบ่อเกิดแห่งหญิง เราจักไปมัททรัฐ ดังนี้แล้ว ได้ไปสาคลนคร ในมัททรัฐ ได้วางรูปทองนั้นไว้ที่ท่าอาบน้ำในสาคลนครนั้น แล้วได้นั่งที่ควรข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำ แล้วประดับ ให้นั่งในห้องอันประกอบด้วยสิริ ตนเองก็ไปยังท่าน้ำเพื่ออาบน้ำ ได้เห็นรูปทองนั้นในที่นั้น คิดว่าธิดานี้ใครๆ ไม่ได้นำมา มาอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร? จึงได้แตะดูข้างหลังรู้ว่ารูปทอง จึงกล่าวว่า เราให้เกิดความสำคัญขึ้นว่า นี้ธิดาแม่เจ้าของเรา แต่นี้ไม่เหมือนธิดาแม่เจ้าของเรา แม้ผู้รับเครื่องนุ่งห่ม

ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงพากันห้อมล้อมรูปนั้นแล้วถามว่า รูปเห็นปานนี้เป็นธิดาของท่านหรือ? พี่เลี้ยงกล่าวว่า นี้อะไรกัน ธิดาแม่เจ้าของเรา ยังงามกว่ารูปทองเปรียบนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก กิจด้วยประทีปย่อมไม่มี แม่เจ้าย่อมกำจัดความมืด โดยแสงสว่างแห่งสรีระนั้นเอง พวกเขาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นจงมาเถิด แล้วพาคนค่อมนั้น ยกรูปทองขึ้นบนรถ ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร จึงได้แจ้งการมาให้ทราบ

พราหมณ์ปฏิสันถารแล้วถามว่า “พวกท่านมาจากไหน?”

พวกพราหมณ์กล่าวว่า “มาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ในมหาติตถคาม มคธรัฐ”

พราหมณ์ถามว่า “มาเพราะเหตุอะไร?”

พวกพราหมณ์ตอบว่า “เพราะเหตุชื่อนี้”

พราหมณ์กล่าวว่า “เป็นกรรมดีละพ่อทั้งหลาย พราหมณ์ของพวกเรามีชาติโคตรและสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา” ดังนี้แล้วรับเอาเครื่องบรรณาการไว้

พวกเขาได้ส่งสาส์นไปให้แก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้นางทาริกาแล้ว นางจงกระทำสิ่งที่ควรทำ คนทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้นแล้ว จึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบว่า ได้ยินว่า ได้นางทาริกาแล้ว มาณพคิดว่า เราคิดว่าจักไม่ได้ พวกเหล่านี้กล่าวว่าได้แล้ว เราไม่มีความต้องการ จักส่งหนังสือไป ดังนี้แล้ว ได้อยู่ในที่ลับเขียนหนังสือส่งไปว่า ขอนางภัททาจงได้ครองเรือน อันสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย

ฝ่ายนางภัททาได้สดับว่า บิดาประสงค์จะให้เราแก่ชายโน้น จึงคิดว่าเราจักส่งหนังสือไปดังนี้แล้ว ได้อยู่ในที่ลับเขียนหนังสือส่งไปว่า พระลูกเจ้า พระลูกเจ้าจงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด ดิฉันจักบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย

หนังสือทั้งสองได้มาประจวบกันในระหว่างทาง ถามว่า เป็นหนังสือของใคร เมื่อได้คำตอบว่า เป็นหนังสือที่ปิปผลิมาณพส่งหนังสือถึงนางภัททา ก็เมื่อกล่าวว่า นางภัททาก็ส่งหนังสือถึงปิปผลิมาณพ คนทั้งหลายได้อ่านหนังสือทั้งสองฉบับแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงดูกรรมของเด็กทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ก็ฉีกทิ้งเสียในป่า จึงเขียนหนังสือแห่งคนทั้งสองผู้ไม่ปรารถนาอยู่นั่นแหละ เพราะหนังสือที่เหมือนกัน ที่เกื้อกูลแก่ความยินดีทางโลกเท่านั้นของกุมารกับกุมาริกา ได้มีแล้วด้วยประการฉะนี้


((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


praew - 31/3/10 at 08:13

ในวันนั้นนั่นเอง ปิปผลมาณพให้ร้อยพวงดอกไม้พวกหนึ่ง แม้นางภัททาก็ร้อย คนทั้งสองวางพวกดอกไม้ไว้บนท่ามกลางที่นอน บริโภคอาหารเย็นแล้ว คิดว่า เราจักขึ้นสู่ที่นอน มาณพขึ้นสู่ที่นอนโดยทางข้างขวา นางภัททาขึ้นทางซ้าย แล้วกล่าวว่า เราจักรู้ว่าดอกไม้ย่อมเหี่ยว ณ ข้างของผู้ใด ราคะจิตเกิดแล้วแก่ผู้นั้น พวงดอกไม้นี้ไม่พึงเป็นดอกไม้สด คนทั้งสองนั้นไม่ก้าวล่วงลงสู่ความหลับเลย ปล่อยให้ ๓ ยามแห่งราตรีล่วงไป เพราะกลัวแต่สัมผัสแห่งร่างกายของกันและกัน

ส่วนในเวลากลางวันแม้เพียงยิ้มแย้มก็ไม่มี คนทั้งสองนั้นไม่ได้คลุกคลีด้วยโลกามิส ไม่ได้พิจารณาถึงขุมทรัพย์ตลอดเวลาที่มารดาบิดายังดำรงชีพอยู่ คนทั้งสองก็อยู่ร่วมกันอย่างพรหมจรรย์ ไม่ได้ร่วมรักกันแบบสามีภรรยาปกติ ทรงพรหมจรรย์มาตลอด ต่อเมื่อบิดาและมารดาของทั้งสองฝ่ายตายหมด จึงมาปรารภกันว่าการครองเรือนมีแต่ความลำบาก มีแต่ความทุกข์

ปิปผลิมาณพจึงได้กล่าวกับภัททกาปิลานีภรรยาว่า

“สมบัติที่เป็นของบิดามารดาของเจ้าก็ดี สมบัติที่บิดามารดาของเรามอบให้ก็ดี ทั้งหมดนี้ฉันขอมอบให้เธอ ฉันจะบวช เพราะว่า การครองเรือนมันลำบาก มีแต่ความทุกข์”

นางภัททกาปิลานีจึงกล่าวว่า “ฉันก็มองไม่เห็นความสุขในการครองเรือนเหมือนกัน ฉันก็จะบวชเหมือนกัน”

แต่ความจริงท่านทั้งสองไม่เคยทราบว่า องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก นึกเอาในใจว่า เราจะรักษาพรหมจรรย์ ท่านทั้งสองจึงเอาสมบัติมาแบ่งปันให้คนรับใช้และคนยากจนทั้งหลายจนหมดสิ้น ท่านทั้งสองไม่เคยรู้ว่ามีพระ และพระเขาแต่งตัวกันยังไงไม่ทราบ แต่จิตใจมีความต้องการว่า ผมเป็นของไม่ดีโกนมันทิ้งเสีย ในสมัยนั้นเขาถือว่า คนโกนผมเป็นคนจัญไร เป็นคนกาลกิณี คนทั้งสองก็เลยโกนแล้วห่มผ้าย้อมน้ำฝาด

เมื่อคนทั้งสองนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด มุ่งหน้าเข้าไปในป่าโดยเฉพาะตั้งใจว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บันดาลให้คนทั้งหลายหมดทุกข์ มีแต่ความสุขในการเปลื้องกิเลส พระองค์มีอยู่ ณ ที่ใด ข้าพเจ้าทั้งสองขอถึงองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะ

พระเถระไปข้างหน้ากลับเหลียวมาดูคิดว่า นางภัททกาปิลานีนี้ เป็นหญิงมีค่าในชมพูทวีปทั้งสิ้นมาข้างหลังเรา ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า คนทั้งสองนี้ แม้บวชแล้วไม่อาจพรากจากกันได้ กระทำไม่สมควร ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เกิดความคิดขึ้นว่าใครๆ พึงคิดประทุษร้ายด้วยความชั่ว พึงเป็นผู้แออัดในอบาย การที่เราละผู้นี้ไปจึงควร ท่านไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง ได้หยุดอยู่ในที่สุดแห่งทางนั้น แล้วกล่าวว่า

“เธอจงเลือกเอาว่าจะไปทางซ้ายหรือทางขวา แยกทางกันเดิน”

นางภัททาปิลานีกล่าวว่า “ขอท่านไปทางขวา ฉันจะไปทางซ้าย ไปตามกำลังใจของฉัน”

ก็เป็นการบังเอิญนางภัททกาปิลานีก็ไปสู่สำนักของนางภิกษุณี ขออุปสมบทเป็นนางภิกษุณี สำหรับพระมหากัสสปก็เดินตรงไปสู่สำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออุปสมบทบรรพชา พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตรับเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เป็นอันว่า ทั้งสองฝ่ายก็ได้บวชสมความปรารถนา

พระมหากัสสปเถระ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อในสำนักของพระพุทธเจ้า ได้เป็นปุถุชนเพียง ๗ วัน ในวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมดัวยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ท่านกล่าวไว้ว่า

ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลกผู้คงที่ เป็นนาถะของโลก นิพพานแล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา หมู่ชนมีจิตร่าเริงเบิกบานบันเทิง เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความสังเวชปีติย่อมเกิดขึ้นแก่เรา เราประชุมญาติและมิตรแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว เชิญเรามาทำการบูชากันเถิด พวกเขารับคำว่า สาธุ แล้วทำความร่าเริงให้เกิดแก่เราอย่างยิ่งว่า พวกเราทำการก่อสร้างบุญ ในพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก เราได้สร้างเจดีย์อันมีค่าทำอย่างเรียบร้อย สูงร้อยศอก สร้างปราสาทสูงร้อยห้าสิบศอก สูงจรดท้องฟ้า

ครั้นสร้างเจดีย์อันมีค่างดงามด้วยระเบียบอันดีไว้ที่นั้นแล้ว ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใสบูชาเจดีย์อันอุดมปราสาทย่อมรุ่งเรือง ดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ เช่นพญารังกำลังดอกบานย่อมสว่างจ้าทั่วสี่ทิศ เหมือนสายฟ้าในอากาศ เรายังจิตให้เลื่อมใสในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึกถึงกรรมเก่าแล้ว ได้เข้าถึงไตรทศ เราอยู่บนยานทิพย์ อันเทียมด้วยม้าสินธพพันตัว วิมานของเราสูงตระหง่านสูงสุดเจ็ดชั้น กูฎาคาร (ปราสาท) พันหนึ่งสำเร็จด้วยทองคำล้วนย่อมรุ่งเรือง ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ด้วยเดชของตน

ในกาลนั้น ศาลาหน้ามุขแม้เหล่าอื่นอันสำเร็จด้วยแก้วมณีมีอยู่ แม้ศาลาหน้ามุขเหล่านั้นก็โชติช่วงด้วยรัศมีทั่ว ๔ ทิศ โดยรอบกูฎาคารอันบังเกิดขึ้นด้วยกรรม อันบุญกรรมเนรมิตได้เรียบร้อย สำเร็จด้วยแก้วมณีโชติช่วง ทั่วทิศน้อยทิศใหญ่โดยรอบ โอภาสแห่งกูฎาคารอันโชติช่วงอยู่เหล่านั้นเป็นสิ่งไพบูลย์ เราย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม เราได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิครอบครองแผ่นดิน มีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เราเกิดเป็นกษัตริย์ นามว่า อุพพิทธะ ชนะประเทศในที่สุดทิศทั้งสี่ ครอบครองแผ่นดินอยู่ในกัปที่หกหมื่น ในภัทรกัปนี้

เราได้เป็นเหมือนอย่างนั้น ๓๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก ยินดีในกรรมของตน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ในครั้งนั้นปราสาทของเราสว่างไสวดังสายฟ้า ด้านยาว ๒๔ โยชน์ ด้านกว้าง ๑๒ โยชน์ พระนครชื่อ รัมมณะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง ด้านยาว ๕๐๐ โยชน์ ด้านกว้าง ๒๕๐ โยชน์ คับคั่งด้วยหมู่ชน เหมือนเทพนครของชาวไตรทศ เข็ม ๒๕ เล่ม เขาใส่ไว้ในกล่องเข็ม ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ฉันใด แม้นครของเราก็ฉันนั้น เกลื่อนด้วยช้าง ม้า และรถ คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ น่ารื่นรมย์ เป็นนครอุดม เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้น แล้วไปเกิดเป็นเทวดาอีกในภพที่สุด กุศลสมบัติได้มีแล้วแก่เรา เราสมภพในสกุลพราหมณ์สั่งสมรัตนะมาก ละเงินประมาณ ๘๐ โกฏิเสียแล้วออกบวช คุณวิเศษเหล่านี้คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงสรรเสริญพระมหากัสสปเถระนั้น โดยนัยมีอาทิว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูลไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทนงตัวในตระกูล” ภายหลังนั่งในท่ามกลางแห่งหมู่พระอริยะ ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศ แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้ถือธุดงค์ มหากัสสปะเป็นเลิศ”

ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยระบุการยินดียิ่งในวิเวก เมื่อประกาศการปฏิบัติตน จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

“ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่านได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบากดังนี้ จึงไม่ชอบใจหมู่คณะ นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่านได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูลมักติดรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้

นักปราชญ์กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่าเป็นเปือกตม และเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง เราลงจากเสนาสนะแล้วก็เข้าไปบิณฑบาตยังนคร เราได้เข้าไปหาบุรุษโรคเรื้อนผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยความอ่อนน้อม บุรุษโรคเรื้อนนั้นได้น้อมเข้าซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน เมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรานี้ เราอาศัยชายคาเรือนฉันข้าวนั้นอยู่ ในเวลาที่กำลังฉันข้าวและฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความเกลียดชังเลย ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหารบิณฑบาตที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑ เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ ภิกษุนั้นแลสามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้”

ในเวลาแก่ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขาย่อมลำบาก แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ แม้ในเวลาแก่ก็เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้ตามสบาย พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้ดับไฟได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจแล้วไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่

ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้องด้วยเสียงช้าง น่ารื่นรมย์ล้วนแล้วด้วยภูเขาย่อมทำให้เรายินดี ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆงดงาม มีธานน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษไปด้วยหญ้ามีสีเหมือนแมลงค่อมทอง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชอุ่ม เปรียบปานดังปราสาท กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์นัก ย่อมยังเราให้ยินดี ภูเขาที่ฝนตกรดแล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์เป็นที่อาศัยของเหล่าฤาษีเซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ สถานที่เหล่านั้นเหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่งฌาน มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตนดีแล้ว ผู้เห็นภัยในภัยวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาประกอบความเพียร มีใจแน่วแน่ ศึกษาอยู่ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบนท้องฟ้า เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอันไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัยดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่นด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ เราผู้มีจิตมั่นคง พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มีความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น

ภิกษุไม่ควรทำงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้ไม่ใช่กัลยณมิตรเสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ปฏิบัติเช่นนั้นย่อมจะต้องขวนขวายและติดในรสอาหารย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้

ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการทำงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกายลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความสงบใจ

ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่า การท่องบ่นพุทธวจนะย่อมท่องเที่ยวชูคอสำคัญตนว่าประเสริฐกว่าผู้อื่น ผู้ใดไม่ประเสริฐเป็นพาล แต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย

ผู้ใดไม่หวั่นไหวเพราะ มานะ ๓ อย่าง คือ ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละว่า เป็นผู้มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบด้วยความสงบใจ ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมห่างเหินจากพระสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้ง หิริ และ โอตตัปปะ ไว้ชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์อันงอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว ภิกษุผู้มีใจฟุ้งซ่านกลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุนั้นย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือนกับวานรคลุมด้วยหนังราชสีห์ฉะนั้น

ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่านไม่กลับกลอก มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะผ้าบังสุกุล ดังราชสีห์ในถ้ำฉะนั้น

เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์มีเกียรติยศเป็นอันมากประมาณหมื่นและพรหมทั้งปวง ได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น เปล่งวาจาว่าข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอน้อบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่ เพราะอาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้นของท่าน น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลมดังนายขมังธนูก็ยังไม่รู้ถึง ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแก่ท่าน พระมหากัสสปะเถระ เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่สักการบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชาอยู่เช่นนั้นในเวลานั้นตลอดทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นแต่สมเด็จพระมหามุนีองค์เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงค์คุณ ไม่มีใครเทียมเท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสละภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรงติดอยู่ด้วยจีวร บิณฑบาต และเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉะนั้น พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสและกองทุกข์ตลอดกาลเมื่อ..


((( โปรดติดตามตอนต่อไป พระมหากัสสปเถรนิพพาน )))


praew - 7/4/10 at 09:00

พระมหากัสสปเถรนิพพาน


อันว่า พระมหากัสสปเถระผู้มีอายุ ครั้นเมื่อพระสัพพัญญูเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระอุตส่าห์กระทำการสังคายนาร้อยกรองพระไตรปิฎก แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่ล้วนเป็นคำสั่งสอนของสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า ร้อยกรองเข้าไว้ให้เป็นหมวดเป็นหมู่เป็นแผนก พระวินัยปิฎกจัดเข้าไว้เป็นพวกวินัย พระสูตรจัดเข้าไว้ตามพวกพระสูตร พระอภิธรรมตามพวกพระอภิธรรม กระทำให้ถูกต้องตามพระพุทธฎีกา ครั้นสำเร็จการปฐมสังคายนาแล้ว พระมหากัสสปะเถระผู้เป็นเจ้าผู้มีอายุ ก็สำราญอิริยาบถอยู่ในเวฬุวันวนาราม อุตส่าห์ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระพุทธเจ้ามิได้ประมาท ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิสสานุสิสผู้ใหญ่ผู้น้อยมาสิ้นกาลช้านาน

พระมหากัสสปเถระผู้เป็นเจ้า อยู่สำราญใจในเวฬุวันมหาวิหาร เป็นที่สำราญใจอยู่มาโดยนิยมดังนี้ อยู่มาเพลาเที่ยงคืนวันหนึ่งนั้น พระมหากัสสปเถระท่านจึงเข้าฌานสมาบัติเป็นที่สบายแห่งพระอริยเจ้า แล้วจึงออกจากผลสมาบัติพิจารณาดูอายุสังขารว่า

ตัวอาตมานี้เล่าก็ชรา มีชนมพรรษาอายุได้ ร้อยยี่สิบปีแล้ว เอออาตมาจะมีอายุยั่งยืนไปอีกสักเท่าใด

พระผู้เป็นเจ้าเล็งแลดูไป ก็เห็นว่าอายุของอาตมาสิ้นแล้วเออ ก็อาตมาจะมาเข้านิพพานเมื่อใดเล่า เพลารุ่งพรุ่งนี้แหละอาตมาจะปรินิพพาน เออก็อาตมาจะนิพพานที่ไหนหนอ เออ อาตมาจะนิพพานในระหว่างภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต อันปรากฏอยู่ในที่ใกล้เมืองราชคฤห์มหานคร

พระมหากัสสปเถระ ท่านพิจารณาเห็นฉะนี้แล้ว ครั้นเพลารุ่งเช้า พระผู้เป็นเจ้าจึงชำระกายสรงพระพักตร์บ้วนพระโอษฐ์ ออกชำระปัดกวาดบริเวณวิหารสำเร็จแล้วจึงให้ประชุมสงฆ์ทั้งหลายพร้อมกันแล้ว จึงมีเถรบัญชาสั่งสอนว่า

“ดูกรสงฆ์ทั้งหลาย ท่านอย่าประมาทอุตส่าห์พยายามอย่าให้ขาดเวลา จงอุตส่าห์ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ตัวของเรานี้สิ้นอายุแล้ว จะนิพพาน ณ เพลาเย็นวันนี้แล้ว”

ฝ่ายพระภิกษุทั้งหลายใดๆ แต่บรรดาเป็นปุถุชน ครั้นได้ฟังวาจาพระมหากัสสปเถระท่านบอกแจ้งว่า จะเข้านิพพาน ณ ครั้งนั้น ก็ชวนกันเสียใจไม่สามารถทรงกายได้ ก็ร่ำร้องไห้พิไรบ่นว่า

ตัวอาตมาน่าเสียดาย เออก็เป็นกรรมสิ่งใดเล่า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็เข้าพระนิพพานแล้ว ได้เห็นแต่พระมหากัสสปเถระท่านยังอยู่ ปานประหนึ่งว่าพระสัพพัญญูยังมีพระชนม์ ท่านได้สั่งสอนเราทุกคนมิได้ขาดวัน มาบัดนี้ พระมหากัสสปเถระท่านจะนิพพานเสียแล้ว ตัวใครเล่าจะเทศนาสั่งสอนเราสืบต่อไป

ภิกษุเหล่านั้นก็ร่ำไห้ อนึ่งเล่า ท่านพระขีณาสพทั้งหลาย ครั้งแจ้งเหตุว่าพระมหากัสสปท่านจะเข้านิพพาน ต่างองค์ต่างก็สังเวชว่า

เกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารแล้ว มีแต่จะดับสิ้นสูญไปเป็นที่สุด เกิดแล้วดับไปๆ ถ้าแม้นระงับสังขารธรรมลงเสียได้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นบรมสุข อันเกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารไม่เที่ยงแท้ มีแต่สิ้นไปสูญไปมิได้ตั้งอยู่นาน แต่ล้วนเป็นเครื่องสาธารณ์ปรวนแปรไปเป็นธรรมดา

ท่านพระขีณาสพเจ้าทั้งหลาย ได้ธรรมสังเวชฉะนี้ ฝ่ายพระมหากัสสปเถระเห็นพระภิกษุทั้งหลายโศกเศร้าเสียใจ ท่านจะประโลมปลอบให้ชอบธรรมตามพระพุทธฎีกาว่า

“ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อันเกิดมาเป็นสังขารแล้วไม่เที่ยงแท้ ย่อมปรวนแปรไปมา สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ตรัสในอดีตและอนาคตปัจจุบันนั้น ย่อมเทศนาไว้ทุกๆ พระองค์ว่า เกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารแล้วไม่แคล้วอนิจจังเลย มหาชนทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ ได้เห็นกันดีๆ อยู่ในเพลาเช้า ครั้นเพลาเย็นลงค่ำลงเล่าก็สูญหายไป บางทีเล่ามหาชนทั้งหลายได้พบเห็นเจรจากันอยู่ในเพลาเย็น เพลาเช้าขึ้นก็สูญหายไปก็มี ตกว่าคนทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ ย่อมเป็นอนิจจังนั้นแหละเป็นเบื้องหน้า บุคคลผู้ดังฤาจะรู้แท้แน่นอนในใจว่า อนิจจังย่อมเป็นไปทุกตัวสัตว์

เมื่อเห็นชัดฉะนี้แล้วพึงเร่งกระทำเพียรพยายามยกตนให้พ้นอนิจจังให้จงได้ อันพระยามัจจุราชนี้ไซร้ยากที่บุคคลจะข้ามพ้น เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลที่ท่านสำเร็จพระนิพพาน แต่บรรดาโลกียสัตว์เกิดมาในสงสารสิ้นด้วยกันที่จะพ้นอำนาจพระยามัจจุราชนั้นไม่มี อันพระยามัจจุราชนั้น ย่อมประกอบไปด้วยรี้พลสกลโยธานั้นมากมาย ย่อมเข้าไปต่อยุทธให้ปราชัย ซึ่งบุคคลจะต่อตีด้วยรี้พลช้างม้า ก็จะมีแต่ปราชัย แม้นจะมีมหิทธิฤทธิ์ศักดาเดชเท่าใดๆ ก็คงจะพ่ายแพ้พระยามัจจุราชสิ้นทั้งนั้น

อาวุโสทั้งหลายอย่าเศร้าโศกเสียใจ อนิจจังนี้เป็นธรรมดาโลก ย่อมมีทั่วไปทุกสัตว์ทุกสังขาร สมด้วยพระพุทธฎีกาพระพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดประทานพระธรรมเทศนาไว้ อาวุโสทั้งหลายจงเร่งอุตส่าห์อย่าประมาท เร่งขวนขวายยกตนให้พ้นพระยามัจจุราชให้จงได้

อนึ่งเล่าพระภิกษุทั้งหลาย จะใคร่เห็นเราในขณะเมื่อเข้าสู่พระนิพพาน จงชวนกันไปประชุมอยู่แทบเชิงแห่งภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตนั้นเถิด จะได้เห็นเราเข้านิพพานในเพลาเย็นวันนี้”

พระมหากัสสปเถระพระผู้เป็นเจ้าบอกเล่าพระสงฆ์ฉะนี้แล้ว เพลานั้นเล่าก็ควรจะบิณฑบาต พระมหาเถระจึงลุกขึ้นจากอาสน์นุ่งห่มจีวร มีสีสันปานประหนึ่งว่าสายฟ้าแลบ แล้วจึงทรงมหาบังสุกุลจีวรทอด้วยเส้นป่าน ที่พระทศพลญาณชักบังสุกุลได้มาแต่นางปุณทาสี มหาปฐพีไหวถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์เอามาเย็บย้อมเป็นจีวรทรงมาช้านาน พระพุทธเจ้าจึงประทานให้แก่พระมหากัสสปเถระ พระเป็นเจ้าจึงทรงบาตร แล้วออกจากเวฬุวนารามเพื่อจะไปบิณฑบาต พระผู้เป็นเจ้าก็เดินเข้าสู่เมืองราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตโดยลำดับตรอก ได้จังหันพอเป็นยาปนมัตรแล้ว หลีกออกจากบิณฑบาตกลับมาสู่ที่สำราญ จึงกระทำภัตตกิจฉันจังหันตามสบายของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว

ครั้งนั้นฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็เอิกเกริกวุ่นวายทุกอาวาส ปรารถนาจะไปดูพระมหากัสสปเถระท่านเข้านิพพาน ต่างองค์ก็นำไปซึ่งเครื่องบูชาพากันไปสู่กุกกุฏสัมปาตบรรพต อันมีอยู่แทบใกล้เมืองราชคฤห์มหานคร ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็มาประชุมกันแทบเชิงกุกกุฏสัมปาตบรรพต เพื่อจะเห็นพระมหากัสสปเถรเจ้าเข้าสู่พระนิพพานครั้งนั้น

ฝ่ายพระมหากัสสปเถระผู้เป็นเจ้ากระทำภัตตกิจจังหันสำเร็จแล้วจึงดำริอยู่ในใจว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนี้ เธอมีอุปการคุณกับอาตมาเป็นอันมาก เธอศรัทธาอุตส่าห์บริจาคจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์มิได้ขาด เคารพนบนอบพระรัตนตรัย ได้ช่วยอาตมายกย่องพระศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าในการปฐมสังคายนา จำอาตมาจะไปบอกกล่าวเล่าลาให้พระเจ้าอชาติศัตรูรู้จึงจะสมควร พรมหากัสสปเถระคิดอย่างนี้แล้วจึงลุกจากอาสน์เข้าไปสู่เมืองราชคฤห์มหานคร ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยง พระมหาเถรเจ้าจึงเข้าไปสู่หน้าพระลานหลวง เพลานั้นเป็นกาลบรมกษัตริย์เสด็จเข้าสู่ที่บรรทม

อำมาตย์ทั้งหลาย แลเห็นพระมหาเถรเจ้าท่านเข้ามาในพระราชวัง จึงชวนกันคิดอยู่ในใจว่า เออก็เหตุไฉน พระมหากัสสปท่านจึงเข้ามาในพระราชวังมาผิดเพลาฉะนี้ ชะรอยเหตุจะมีเป็นมั่นคง อันอำมาตย์ทั้งหลายคิดแล้ว จึงเดินออกไปต้อนรับพระมหาเถระ ครั้นถึงจึงถวายอภิวาทพระมหาเถระแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร พระมหาเถระจึงถามไปว่า

“ดูกร อุบาสก บัดนี้บรมกษัตริย์เธอเสด็จอยู่ที่ไหน”

อำมาตย์จึงบอกมหาเถระไปว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บรมกษัตริย์ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ที่บรรทมแล้ว”

อำมาตย์ทั้งหลายบอกความเท่านั้นจึงถามพระมหาเถระว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เข้ามาทั้งนี้จะมีประสงค์สิ่งใด”

พระมหาเถระจึงตอบว่า “ดูกรอุบาสก เรามาทั้งนี้จะประสงค์จะลาบรมกษัตริย์เข้าสู่นิพพาน ณ เพลาเย็นวันนี้แล้ว”

อำมาตย์ทั้งหลายตอบไปว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะเข้าพระนิพพานที่ไหนเล่า”

พระมหาเถระจึงบอกว่า “เราจะเข้านิพพานในระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตภูเขาทั้งสามลูกในเพลาเย็นวันนี้แล้ว”

พระมหาเถระบอกเล่าเท่านี้แล้ว ก็กลับสู่เวฬุวันมหาวิหาร ครั้นถึงจึงจับกวาดเที่ยวปัดกวาดบริเวณวิหาร ทั้งน้ำใช้และน้ำฉันตั้งไว้เป็นปกติดังเก่า ทั้งเสนาสนะเครื่องบริขารก็เก็บไว้ในที่สมควร วัตรปฏิบัติสิ่งใดควรที่จะกระทำ พระมหากัสสปะเถระท่านก็ทำเสร็จทุกประการ พระผู้เป็นเจ้าออกจากเวฬุวันมหาวิหาร พระสงฆ์บริวารแวดล้อมเป็นอันมาก มุ่งไปทางทิศที่ภูเขาทั้งสามลูกตั้งอยู่ พระมหาเถระภิกษุสงฆ์ไปถึงภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต เพลานั้นก็เย็นจวนจะค่ำอยู่รอนๆ

ท่านพระมหากัสสปเถระท่านจึงเหาะขึ้นไปในอากาศสูง ๗ ชั่วลำตาล จึงสำแดงพระปาฏิหาริย์ให้ปรากฏ เป็นท่อเพลิงท่อน้ำพลุ่งออกจากกาย กายเบื้องซ้ายเป็นท่อน้ำ กายเบื้องขวาเป็นท่อเพลิง กายเบื้องซ้ายเป็นท่อเพลิง กายเบื้องขวาเป็นท่อน้ำ กายเบื้องบนเป็นท่อน้ำ กายเบื้องต่ำเป็นท่อเพลิง ท่อเพลิงกับท่อน้ำออกเป็นคู่ๆ บางทีปรากฏเป็นเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชติไปทั้งกาย บางทีก็เป็นกระแสสายน้ำพลุ่งออกทั่วทั้งองค์ พระมหากัสสปะเถระกระทำปาฏิหาริย์พลางเทศนา สำแดงกายให้ปรากฏเป็นบรมจักรพัตรา บางทีพระมหาเถระประดับประดาไปด้วยเครื่องทรงสำหรับองค์บรมจักร มีจตุรงเสนาแห่ห้อมล้อมไสว บางทีพระมหาเถระมีปริมณฑลกว้างขวางได้ ๑๒ โยชน์ ให้ปรากฏแก่มหาชน

บางทีสำแดงองค์เป็นท้าวโกสีย์เทวราช มีพระองค์สูงสามร้อยเส้นโดยคณนา ประดับไปด้วยทิพยสรรพาภรณ์ บางทีสำแดงกายเป็นท้าวมหาพรหมสูงสามโยชน์ มีมหาพรหมเป็นบริวารแวดล้อมแลไสว สำแดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย แล้วจึงเทศนาโปรดประชาชนทั้งปวง ให้ลุล่วงเข้าสู่พระอริยภูมิเป็นอันมาก จึงลงมาจากอากาศ อำลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า

“ดูกรอาวุโสทั้งหลาย แต่บรรดามาประชุมกัน จงค่อยอยู่เป็นสุขเถิด อุตส่าห์เจริญสมณธรรม อย่าประมาทในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู เราจะลาอาวุโสทั้งหลายเข้าพระนิพพานแล้ว” พระมหากัสสปเถระอำลาพระสงฆ์ทั้งหลายแล้ว จึงเข้าไปสู่ระหว่างภูเขาทั้งสามลูกแล้ว จึงคิดอยู่ในใจว่า

อาตมานี้ไซร้จะนิพพานในที่นี้ ขณะนั้นเทพยดาทั้งหลายรู้จิตแห่งพระผู้เป็นเจ้า จึงจัดแจงแต่งอาสนะที่ไสยาสน์ปูลาดไปด้วยผ้าทิพย์ แล้วจึงเอาดอกอุบลมีสีเขียวขาวแดงประดับประดาโดยรอบแท่นที่จะนิพพาน ทั้งหม้อน้ำตั้งเต็มไปด้วยอุทกวารีเป็นระเบียบกัน มุมแท่นทั้งสี่มุมตั้งกระถางธูปตามบูชา แล้วปักเทียนตามถวายไว้ทั้งสี่มุมแท่น ทั้งเครื่องสักการบูชาบุปผามาลัย ประทีปน้อยใหญ่แต่งไว้ในที่จะเข้านิพพานนั้น งามตระการไปด้วยเครื่อง”

พระมหากัสสปเถระจึงขึ้นไปสู่ที่ไสยาสน์นั่งพับพะแนงเชิงเข้าสู่ผลสมาบัติเป็นบรมสุข ไม่ช้าก็ออกจากผลสมาบัติจึงตั้งจิตอธิษฐานไว้ฉะนี้ว่า

ถ้าแหละอาตมาดับสูญสิ้นอายุสังขารเข้าสู่นิพพานแล้วเมื่อใด ภูเขาทั้งสามนี้ไซร้ จงมาประชุมกันเป็นลูกเดียว ให้ปรากฏเป็นห้องหับอยู่ในภายในภูเขาอุปมาดังห้องที่ไสยาสน์ อันมีศิริในกาลเมื่อนั้น

อนึ่งเล่า บุปผามาลีแต่ล้วนสดชื่นชะอุ่ม ทั้งบานทั้งตูมผลิกลีบดูไสว อย่าได้เหี่ยวแห้งไปให้สดชื่นอยู่เป็นปกติ ดังนี้ อนึ่ง เทียนทั้งสี่เล่มและกระถางธูปทั้งสี่มุมนี้ไซร้อย่าดับอย่าสิ้นลงไป ให้ตั้งเป็นปกติอยู่ในกาลบัดนี้เถิด

พระมหากัสสปเถระจึงตั้งอธิษฐานอีกเล่าว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป มนุษย์ทั้งหลายอายุจะน้อยถอยลงทุกที จนกระทั่งอายุถึง ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ตอนนี้เกิดมิคสัญญีไม่มีการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน จะรบราฆ่าฟันกันมาก พระอาทิตย์จะโผล่ทีละ ๒ ดวง ๓ ดวง ๔ ดวง ตายหมด ทีนี้ถึง ๗ ดวง น้ำในมหาสมุทรก็แห้ง ต้นไม้แห้งกรอบจัด ผลที่สุดเป็นไฟลุกไหม้ ไฟไม่ได้มาจากไหน อาศัยน้ำแห้ง ต้นไม้แห้งกรอบเต็มที่ ความร้อนหนัก ก็เกิดไฟลุกขึ้นก็ล้างกันเสียทีหนึ่ง

โลกจะร้างไม่มีต้นหญ้ากอไม้ แม้แต่น้ำในมหาสมุทรก็ไม่มีไปครบ ๑,๐๐๐ ปี หลังจากนั้นแล้วจะมีฝนใหญ่ตกลงในมนุษยโลก แม่น้ำและมหาสมุทรจะเต็มไปด้วยน้ำ พื้นโลกจะชุ่มชื่น ต้นหญ้าต้นไม้จะเริ่มงอกงามขึ้นเป็นลำดับ จนโลกทั้งโลกกลายเป็นป่าไม้

หลังจากโลกที่เขียวชอุ่มไปด้วยต้นหญ้าใบไม้นั้นทิ้งระยะนาน ๑ หมื่นปี สัตว์โลกเริ่มเกิด สัตว์และคนที่มาเกิดยุคต้นนั้นไม่ได้อาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด มาเกิดแบบโอปปาติกะ คือมาเกิดด้วยอำนาจกรรม คือ

เป็นตัวตนขึ้น จะยังไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ส่องแสง มีแสงสว่างเกิดจากอำนาจบุญของแต่ละบุคคล คือมีแสงสว่างออกจากตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องอาหารนั้น ในระยะแรกยังไม่ต้องการอาหาร มีความอิ่มด้วยธรรมปีติ เพราะแต่ละคนที่มาเกิดล้วนแต่มาจากเทวดาหรือพรหมทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์นรกหรือเปรตเจือปน โลกจึงเต็มไปด้วยความสุข หาความทุกข์ไม่ได้ นอกจากกฎธรรมดา คือความเสื่อมของสังขาร เรื่องการทะเลาะยื้อแย่งไม่มี คนทุกคนเป็นคนสวยหมด มีผิวขาวเหลืองละเอียดทั้งหญิงและชาย มีแต่คนรวย ไม่มีใครจน มีแต่คนใจบุญ ไม่มีใครใจบาป

เมื่อโลกมนุษย์และสัตว์บริบูรณ์ มีดวงจันทร์ มีดวงอาทิตย์ระยะเวลานับแต่มีสัตว์โลก เกิดในโลก เวลาล่วงมาได้ล้านปี คนสมัยนั้นมีอายุครองตนเองได้ ๔ หมื่นปีเป็นอายุขัย

ในกาลนั้นครั้งนั้นไซร้ชมพูทวีปที่เราอยู่บัดนี้ ก็ราบรื่นเสมอสมานปานประหนึ่งหน้ากลอง ทั้งบ้านช่องชนบท ราชธานีน้อยใหญ่ ก็มั่งคั่งไปด้วยเศรษฐีคหบดี สรรพจะมีไพบูลย์ทุกสิ่งทุกประการ ในกาลครั้งนั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตตรัย ก็ลงมาตรัสในโลกนี้

พระศรีอาริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว จึงเทศนาพระธรรมจักรโปรดเวไนยสัตว์ให้สำเร็จมรรคผลเป็นอันมาก พระองค์จะเสด็จมาสู่ที่อันนี้ มีบริษัทแห่ห้อมล้อมพระองค์มามีปริมณฑล ๑๒ โยชน์ องค์พระศรีอาริยเมตตรัยนั้น จะทรงเอาพระหัตถ์เบื้องขวาซ้อนเอาซากศพของอาตมา ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์อันกอบด้วยจักรลักขณะ แล้วจึงตรัสบอกแก่พระสงฆ์ว่า

“ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านจงเล็งแลดูซากศพนี้ คือเป็นพี่ชายของพระตถาคตเป็นสาวกใหญ่ ในศาสดาพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามปรากฏชื่อว่า อริยกัสสปเถระ ถือธุดงค์ได้สิ้นทั้ง ๑๓ ประการ ตราบเท่าสิ้นชีวิตของท่าน”

“พระอริยกัสสปองค์นี้ ถือบังสุกุลิกธุดงค์ได้ทราบเท่าสิ้นชีวิต ถือเตจีวริกธุดงค์ ถือบิณฑปาติกธุดงค์ ถือสัปปทานจาริกธุดงค์ ถือเอกาสนิกธุดงค์ ถือปัตตบิณฑิกธุดงค์ ถือขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์ ถืออารัญญิกธุดงค์ ถือรุกขมูลิกธดุงค์ ถืออัพโภกาสิกธุดงค์ ถือโสสานิกธุดงค์ ถือยถาสันตติกธุดงค์ ถือเนสัชชิกธุดงค์ ถือไว้ไม่เอนหลังนอนเลย ตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบเท่าถึงวันเข้าพระนิพพาน”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยกัสสปเถระองค์นี้มีปกติถือธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการเป็นอย่างอุกฤษฏ์ ประเสริฐกว่าพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่บรรดาสาวกแห่งพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มักน้อยขัดเกลาเสียซึ่งบาปกรรม มิได้ติดต้องอยู่ในตระกูลทั้งหาย จะเลี้ยงชีวิตก็บริสุทธิ์ปราศจากโทษ พระอริยกัสสปะองค์นี้ย่อมปรากฏชื่อลือนามในพระศาสนา อุปมาดังพระจันทร์เทวบุตรในวันเพ็ญผ่องแผ้วอยู่ในพื้นนภาลัย”

องค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสรรเสริญคุณเราว่าลึกซึ้งแน่นหนา อุปมาดังเมทนีดล และน้ำในวังวนท้องทะเลหลวงและเขาสิเนรุราชบรรพตย่อมปรากฏสูงใหญ่กว่าภูเขาทั้งหลายในโลก องค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสรรเสริญคุณเราให้ปรากฏ ในท่ามกลางสงฆ์ด้วยประการฉะนี้แล้ว

ขณะนั้นเปลวเพลิงจึงบันดาลเกิดขึ้นในกายของอาตมา จึงสังหารซากศพนั้นให้สูญสิ้นนามบัญญัติเหนือฝ่าพระหัตถ์พระศรีอาริยเมตตรัยสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อพระมหากัสสปเถระท่านตั้งอธิษฐานฉะนี้แล้ว จึงอธิษฐานต่อไปอีกเล่า

ถ้าแหละพระเจ้าอชาติศัตรูบรมกษัตริย์ เธอรู้ว่าอาตมาเข้าสู่พระนิพพานจะเสด็จมากระทำสักการบูชาด้วยภักดี ภูเขาทั้งสามลูกนี้จงหลีกออกไปให้โอกาสแก่พระเจ้าอชาติศัตรูเธอกระทำนมัสการสักการบูชา ครั้นสิ้นเสร็จสักการบูชาแห่งพระเจ้าอชาติศัตรูแล้ว ภูเขาทั้งสามลูกนี้จงมาประชุมกัน ปกปิดกายของอาตมานั้นให้มิดชิดดังเก่านั้นเถิด

เมื่อพระมหากัสสปเถระ ครั้นอธิษฐานด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงเอนองค์ลงเหนือแท่นที่ไสยาสน์โดยบุรพเบื้องทักขิณา ลำดับหัตถ์บาทาเป็นระเบียบ บ่ายพระเศียรสู่อุดรทิศา ก็ดับเบญจขันธ์เข้าสู่พระอมตมหานิพพาน สูญสิ้นทั้งวิบากขันธ์และกรรมมัชรูปไม่เหลือหลอ มิได้สืบต่อรูปกายให้ปรากฏในภพหน้า ก็ปรากฏชื่อว่า อนุปาทิเสสปรินิพพาน

ขณะเมื่อพระมหากัสสปเถระท่านนิพพานแล้ว ภูเขาทั้ง ๓ ลูกนั้นก็มาประชุมกันเข้า เหมือนพระผู้เป็นเจ้าอธิษฐานไว้ ปิดปกรูปกายสนิทสนมเป็นศิลาแท่งเดียวมีอาการดุจภาชนะตั้งลงไว้สนิทแน่น ภายในที่แท่นเป็นห้องหับ ประดับประดาด้วยเครื่องต่างๆ

ดูกรสัปบุรุษทั้งหลาย อันประกอบไปด้วยศรัทธา เมื่อมีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่าเกิดมาในสังสารวัฏ มีแต่พรากพลัดกระจัดกระจายถึงแก่ความตายเป็นต้น เป็นประธาน อนิจจังตามล้างผลาญทุกตัวตน ไม่มีใครพ้นอนิจจังเลย จะว่าไปใยถึงท่านทั้งหลายเป็นโลกิยชน แต่ท่านที่เป็นอริยบุคคลอันประเสริฐ เหมือนหนึ่งว่าพระมหากัสสปเถระ ก็ไม่อาจจะพ้นอำนาจอนิจจัง ยังรู้ชรา ยังรู้มรณะ ดับสูญสิ้นพระชนม์

สาธุสัปบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาพิจารณา เห็นความอนิจจังดังกล่าวมาฉะนี้ จงมีสติอุตส่าห์ขวนขวายหาสิ่งอันเป็นแก่นสารคือรักษาศีล บำเพ็ญทานการกุศลสุจริต ให้ตั้งจิตจำเริญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อย่าพึงเกียจคร้านในกองการกุศลมีผลในภพหน้า จงอุตส่าห์สร้างสมไปอย่าได้ขาด เหมือนภาชนะตั้งไว้กลางแจ้ง ยามฝนและยามแล้งรองน้ำฝน น้ำฝนนั้นตกทีละน้อยๆ เป็นนิจไป ภาชนะนั้นไซร้ก็เต็มไปด้วยน้ำฝน

เหมือนดังคนมีปัญญาเขาอุตส่าห์สร้างกุศลประสมไว้นานไปก็มีบริบูรณ์ด้วยกุศล จะเป็นเสบียงเลี้ยงตนไปในมรรคาอันไกลคือ วัฏฏสงสาร ตราบเท่าสำเร็จพระนิพพานเป็นที่สุดความปรารถนา ครั้นสิ้นชนม์วรรษาลงในชาตินั้นไซร้ ก็จะตรงไปเมืองแก้ว คือ พระมหานิพพาน ดับชาติกันดารชรากันดารมิได้รู้เกิดไปในภพหน้า จะเป็นมหาบรมสุขสิ้นทุกข์ สิ้นภัยอุปัทวะไม่แผ้วพาน ปานดังพระอริยบุคคลแต่ก่อนปราศจากทุกข์ จะเป็นบรมสุขในเมืองแก้วกล่าวแล้ว คือ พระมหานครนิพพาน